รากฐานพุทธจริยศาสตร์สำหรับสังคมไทยร่วมสมัย

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

รากฐานพุทธจริยศาสตร์ทางสังคม เพื่อสังคมไทยร่วมสมัย

จาก Foundations of Buddhist Social Ethics for Contemporary Thailand1

ข้อพิจารณาเบื้องต้นบางประการ

ทุกวันนี้หัวข้อบรรยาย อันเกี่ยวกับพุทธจริยศาสตร์ เป็นเรื่องที่มีผู้ถกเถียง บรรยาย ขีดเขียน หรือพูดคุยถึงในหนังสือ ปาฐกถา และสนทนาในที่ต่างๆ กันมาก แต่แล้วเราก็พบอยู่บ่อยๆ ว่า ความคิดของผู้เขียน หรือผู้พูดดังกล่าว แม้ที่เป็นปราชญ์ในทางพุทธวิทยาก็ตามที มักมีพื้นฐานมาแต่การรับรู้อย่างผิดๆ หรือทัศนะอันลำเอียง หาไม่ก็พิจารณากันอย่างไม่ตลอดทั่วถึง นี้ย่อมพาให้ผู้อ่านหรือผู้ฟังเข้าใจไขว้เขวไปได้มาก ดังนั้น เพื่อประโยชน์ในอันที่จะพิจารณาพุทธจริยศาสตร์ได้อย่างถ่องแท้ เราควรจะให้แน่ใจกันเสียแต่ต้นมือว่า เราได้กันข้อผิดพลาดดังกล่าว ออกไปแล้ว

ประการแรก หลายต่อหลายคนจัดให้พุทธศาสนาเป็นหนึ่งในบรรดาศาสนานักพรต (Ascetic Religion) โดยความเป็นจริงแล้ว การบำเพ็ญพรตนั้นเป็นสิ่งที่มีมาก่อนพุทธกาล และพระพุทธเจ้าเองก็ได้ทรงลองปฏิบัติและปฏิเสธมาแล้ว ก่อนหน้าที่พระองค์จะตรัสรู้ อันที่จริง คำว่า “ลัทธินักพรต” (Asceticism) ก็เป็นคำที่มีความหมายกำกวมอยู่แล้ว และเมื่อนำมาเกี่ยวพันกับพุทธศาสนา ก็ควรจะนิยามกันให้ชัดเจนจำเพาะลงไป

ในทำนองเดียวกัน เมื่อเอาศัพท์ตะวันตกที่ว่า “อารามิกนิยม” (Monasticism) มาใช้กับวิถีชีวิต และวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ชาวพุทธ หรือที่เรียกตามศัพท์บาลีว่า “ภิกขุ” ก็มักเป็นที่เข้าใจกันไขว้เขวว่าเป็นการอยู่แยกตัวแต่ลำพังจากโลก ซึ่งอย่างน้อยก็โดยหลักการแล้ว พระสงฆ์ชาวพุทธหรือพระภิกษุ ย่อมไม่สามารถดำรงชีวิตแม้วันหนึ่ง โดยมิได้พบปะกับคฤหัสถ์ชาวบ้านเลย

ใช่แต่เท่านั้น บางคนก็ทึกทักเอาว่า วิถีชีวิตและวัตรปฏิบัติของภิกขุหรือพระเท่านั้น ที่เป็นสาระทั้งหมดหรือเป็นมาตรฐานแต่ประการเดียวของพุทธจริยศาสตร์ ในขณะที่จริงๆ แล้ว พระเป็นเพียงส่วนหนึ่งของพุทธบริษัท และจริยธรรมที่ท่านถือปฏิบัติก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของพุทธจริยศาสตร์ อันอาจถือเป็นส่วนเติมเต็มหรือส่วนสุดยอดก็ว่าได้ จริงๆ แล้ว พุทธศาสนานั้นมิได้เป็นเพียงศาสนาหรือวิถีชีวิตสำหรับพระสงฆ์แต่ฝ่ายเดียว หากรวมถึงคฤหัสถ์ด้วย

ในทัศนะของอาตมภาพ หนังสือส่วนใหญ่อันเกี่ยวกับพุทธธรรมคำสอนที่เขียนโดยปราชญ์ตะวันตก มักมุ่งประเด็นที่คำสอนในทางอภิปรัชญา และจิตวิญญาณ หรือในทางจิตและการบำเพ็ญภาวนาเป็นสำคัญ น้อยนักที่จะมีที่ว่างให้จริยธรรมสำหรับชีวิตประจำวันของสามัญชน ที่เป็นเช่นนี้ อาจเป็นเพราะว่าคำสอนในทางอภิปรัชญาและจิตวิญญาณนี้ เป็นสิ่งที่ทำให้พุทธศาสนาแปลกหรือต่างจากศาสนา หรือระบบปรัชญาอื่นก็ได้ หรืออาจเป็นเพราะว่าผู้เขียนสนใจแต่คำสอนประเภทนั้นก็ได้ ทั้งนี้และทั้งนั้น การณ์ดังว่าได้ยังผลให้คนเป็นอันมากเชื่อกันว่า พุทธศาสนาเป็นเพียงจริยศาสตร์สำหรับจิตใจ แต่ขาดจริยศาสตร์ในทางสังคมและสวัสดิภาพทางวัตถุ โดยที่จริงๆ แล้ว นอกเหนือไปจากการเน้นที่จิตใจ อันเป็นส่วนที่ลึกซึ้งและสลับซับซ้อนที่สุดของมนุษย์ ที่ทำให้มนุษยภาวะเป็นสิ่งพิเศษ ไม่มีใดเหมือน พุทธศาสนายังสอนว่า มนุษย์นั้นประกอบด้วยใจและกาย และกล่าวตรงๆ เลยว่า การเป็นอยู่ที่ดีในทางวัตถุ และทางสังคมในระดับพื้นฐานระดับหนึ่ง เป็นปัจจัยที่จำเป็นต่อความก้าวหน้าทางจิตวิญญาณทีเดียว

เมื่อว่าถึงพุทธจริยศาสตร์ นักปราชญ์และผู้ตีความเกี่ยวกับพุทธศาสนา มักมีความคิดจำกัดอยู่แต่ในกรอบบัญญัติทางธรรมหรือคำสอน ทั้งๆ ที่พระปาพจน์ในพุทธศาสนานั้น ย่อมมีทั้งธรรมและวินัยเป็นส่วนประกอบ กล่าวอีกนัยหนึ่ง ธรรมหรือคำสอน และวินัยหรือระเบียบปฏิบัติรวมกันเข้า จึงนับเป็นพุทธจริยศาสตร์ทั้งหมด ธรรมนั้นว่าด้วยอุดมคติและหลักการ ส่วนวินัยนั้นว่าด้วยสภาพเงื่อนไขทางวัตถุและทางสังคม ที่เอื้อต่อการปฏิบัติตาม และการบรรลุถึงอุดมคติและหลักการดังกล่าวนั้น วินัยในที่นี้ มิได้หมายเพียงระเบียบปฏิบัติสำหรับภิกษุและภิกษุณีเท่านั้น หากรวมถึงแก่นสารของข้อกำหนดกฎเกณฑ์ และการจัดองค์กรทางวัตถุและทางสังคมดังกล่าวด้วย โดยนัยนี้ ย่อมไม่มีความคิดความอ่านใดๆ อันเกี่ยวกับพุทธจริยศาสตร์จะสมบูรณ์ได้ ถ้าไม่ได้พิจารณากันให้ครบทั้งในแง่ธรรมและในแง่วินัย

ปราชญ์บางท่านมักให้ความสำคัญแก่สิ่งที่แสดงไว้ในคัมภีร์วิสุทธิมัคค์ ว่าเป็นบทย่นย่อที่ได้มาตรฐาน หรือเป็นบทจำแนกที่สมบูรณ์ของพุทธจริยศาสตร์ ซึ่งอันที่จริง คัมภีร์วิสุทธิมัคค์ก็เป็นเพียงคัมภีร์มาตรฐานสำหรับพระโยคาวจร หรือพระผู้มุ่งบำเพ็ญเพียรทางจิต การที่จะรวบรัดเอาสารัตถะในคัมภีร์วิสุทธิมัคค์ของพระพุทธโฆษาจารย์หรืองานเขียนทำนองเดียวกัน ว่าเป็นใจความทั้งหมดของพุทธจริยศาสตร์ ย่อมเป็นข้อวินิจฉัยที่พร่องและชวนให้ไขว้เขวได้

คำสอนและข้อปฏิบัติในทางพุทธศาสนานั้น ดูเหมือนจะมีข้อตรงข้ามกันอยู่หลายประการดังเช่น โลกียธรรมกับโลกุตตรธรรม และคฤหัสถ์กับบรรพชิต บางคนอาจคิดไปว่า ข้อตรงข้ามกันนี้ขัดแย้งและเข้ากันไม่ได้ ซึ่งที่จริง ข้อตรงข้ามเหล่านี้ล้วนเสริมกันหรือประกอบกันเข้าให้เกิดความสมบูรณ์ทั่วถึง ข้อตรงข้ามบางประการก็เป็นกฎธรรมชาติ บางประการก็เป็นข้อปฏิบัติสำหรับมนุษย์ ในอันที่จะดำรงตนให้เข้ากับกฎธรรมชาตินั้น

ความข้อนี้ ขอเกริ่นนำไว้แต่เพียงนี้ก่อน ส่วนรายละเอียดและหลักฐานอ้างอิงโดยพิสดารจะเอ่ยถึงภายหลัง ในขั้นเริ่มต้นนี้ จะขอกล่าวถึงพุทธธรรมบางหมวด ที่อาจช่วยให้เข้าใจคติทางพุทธศาสนา ที่มีต่อความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกบุคคลกับสังคมได้แจ่มแจ้งขึ้น

พุทธจริยศาสตร์ทั้งหมด ประมวลลงได้ในมัชฌิมาปฏิปทาและบุพภาคแห่งมัชฌิมาปฏิปทานั้น มัชฌิมาปฏิปทาสอนให้เราเลี่ยงทั้งข้อปฏิบัติอันสุดโต่งอย่างนักพรต และการปรนเปรออามิสสุขอย่างสุดโต่ง ทั้งยังแสดงให้เห็นว่า แม้ชีวิตและข้อปฏิบัติของพระ ซึ่งถือกันว่าเคร่งครัดที่สุดในหมู่พุทธบริษัทด้วยกัน ก็ไม่ควรให้บีบคั้นจนเป็นการทรมานตนเอง ส่วนฝ่ายคฤหัสถ์ชาวพุทธนั้นเล่า แม้ผู้ที่ดำรงตนเองตามสบายที่สุด ก็ไม่ควรใฝ่หาความเพลิดเพลินกันจนเป็นอาการยึดติด หรือหลงใหลไปกับความสุขทางเนื้อหนัง2 อันตาหรือที่สุดทั้งสองอย่างนี้ ย่อมจัดเป็นอาการหมกมุ่นกับตัวเอง และเห็นแก่ตัวเป็นที่สุดได้ในทั้งสองกรณี โดยที่ฝ่ายแรก ก็ง่วนอยู่กับการบีบบังคับทรมานตนเอง และฝ่ายหลัง ก็ใส่ใจแต่การปรนเปรอผัสสะของตน เมื่อหลีกเลี่ยงที่สุดสองประการนี้ได้แล้ว มัชฌิมาปฏิปทาจะมีขอบข่ายกว้างขวางและยืดหยุ่นได้ ทั้งนี้ ย่อมขึ้นอยู่กับสภาพเงื่อนไขต่างๆ เช่นว่า เราได้ปฏิบัติถึงระดับไหน หรือจุดไหนในมรรควิถี หรือได้บรรลุโลกุตตรผลในขั้นใดแล้ว

ข้อแตกต่างทางระดับภูมิธรรม อันมีขอบข่ายกว้างขวางนี้ นำมาประยุกต์ใช้ได้ ทั้งกับความรับผิดชอบส่วนตน และกับสายสัมพันธ์ทางสังคม จริงอยู่ บางสิ่งบางอย่างนั้น ผู้อื่นหรืออำนาจภายนอกใดๆ ไม่อาจทำให้แก่ตนได้ ทั้งในแง่ชีวิตประจำวัน เช่น การเดิน การกิน การฟัง และการหลับนอน และในแง่การบรรลุธรรม เช่น การประยุกต์เอาสติปัฏฐานธรรมมาใช้ การปรุงแต่งของจิตไปในทางดีและชั่ว การบำเพ็ญสมาธิและวิปัสสนาภาวนา แต่ขณะเดียวกัน หลายสิ่งหลายอย่างก็เป็นสิ่งที่เราต้องพึ่งผู้อื่น เราอาจกระทำเพื่อผู้อื่น และผู้อื่นก็สามารถกระทำเพื่อเราได้ แม้ในแง่การเจริญธรรมส่วนบุคคล หลายสิ่งหลายอย่างก็เป็นเรื่องที่กัลยาณมิตรอาจช่วยผู้อื่นได้ ทั้งในการพัฒนาคุณภาพจิต การปฏิบัติสมาธิภาวนา การพัฒนาปัญญาญาณ และอื่นๆ เช่นว่า สอน ชักจูง แนะนำ และโดยอุบายวิธีอื่นๆ

ใช่แต่เท่านั้น พัฒนาการและการบรรลุธรรมของปัจเจกบุคคล ยังเกี่ยวพันและพึ่งพาอาศัยกันอย่างแน่นแฟ้นกับประโยชน์ส่วนรวม ตัวอย่างเช่น สังคมที่สมาชิกแต่ละคนต่างพึ่งตนเองได้หรือยังชีพด้วยตนเองได้ จัดว่าเป็นสังคมที่สงบสุขและมั่นคงได้ในระดับหนึ่งทีเดียว ในทำนองเดียวกัน สังคมที่มั่นคงและสุขสงบ ก็เป็นปัจจัยเกื้อกูลต่อการเจริญสติปัญญา และศาสนธรรมของแต่ละบุคคล ในแง่นี้ จุดยืนของชาวพุทธก็คือ แต่ละคนต่างต้องมีความรับผิดชอบต่อตนเองในการพัฒนาชีวิตส่วนบุคคลในระดับหนึ่ง และขณะเดียวกัน ก็ต้องบำรุงรักษาความรับผิดชอบ และความสัมพันธ์ทางสังคมในระดับหนึ่งด้วย พ้นระดับขั้นต้นนี้แล้ว ข้อแตกต่างและความหลากหลายย่อมกว้างขวางออกไป ตามแต่ฐานะของแต่ละคนในสังคม ตามแต่สถานะของแต่ละคนในสายสัมพันธ์ต่อผู้อื่น ตามแต่ความถนัดและจริตของแต่ละบุคคล

เราอาจถือได้ว่า พระเป็นผู้ที่อยู่ห่างจากสังคมมากที่สุดในบรรดาชาวพุทธด้วยกัน ประกอบด้วยผู้ที่ใฝ่ใจที่สุด หรือพร้อมที่สุดสำหรับชีวิตอันวิเวกและสงบ กระนั้นก็ดี ในบรรดาพระด้วยกันก็ยังมีที่ต่างกันออกไป นับแต่พระเมือง ซึ่งต้องสัมพันธ์ใกล้ชิดอยู่เป็นนิจกับผู้คนทุกหมู่เหล่า ไปจนถึงพระป่าซึ่งดำรงชีวิตอยู่โดยลำพังเกือบตลอดชีพ และแม้พระป่าที่อยู่อย่างโดดเดี่ยวที่สุด ในด้านหนึ่ง ก็ยังต้องติดต่อเกี่ยวข้องอยู่เสมอกับสงฆ์ และร่วมรับผิดชอบต่อความเรียบร้อยดีงามของสงฆ์ อีกด้านหนึ่ง ก็ต้องออกมาพบปะกับชาวชนบทในการบิณฑบาตประจำวัน และเปิดโอกาสให้เขาเหล่านั้น ได้รับอานิสงส์จากการบรรลุธรรมของตน ด้วยการสั่งสอนตามควร

ชุมชนชาวพุทธหรือพุทธบริษัท ประกอบด้วยบริษัทสี่ กล่าวคือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสกและอุบาสิกา พระภิกษุและคฤหัสถ์ ถือวัตรปฏิบัติประจำวันต่างกัน มีภาระและความรับผิดชอบต่างกัน และยินดีในความสุขต่างประเภทกัน ก็อีกนั่นแหละ ในหมู่พระและคฤหัสถ์ด้วยกันเอง ก็มีข้อแตกต่างหลากหลายกันออกไป พุทธบัญญัติว่าด้วยบริษัทสี่3นี้ ย่อมแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ที่เรียกกันว่า ภาวะตรงกันข้ามระหว่างพระกับคฤหัสถ์นั้น เป็นสิ่งที่ท่านจงใจให้มีขึ้น และระดับภูมิธรรมที่ต่างกัน ก็เป็นสิ่งที่ยอมรับได้ เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้โดยธรรมชาติอยู่แล้ว ที่ในขณะหนึ่งขณะใดมนุษย์ (จะ) ล้วนบรรลุภูมิธรรมอยู่ในระดับเดียวกันและเจริญธรรมอยู่ในขั้นเดียวกันทั้งหมด แต่ก็เป็นความจริงโดยธรรมชาติที่มนุษย์นั้นล้วนเป็นเวไนยสัตว์ มนุษย์ทุกคนจึงควรได้รับและควรมีโอกาสได้รับการอบรมสั่งสอน เขาควรมีโอกาสเติบโตและบรรลุมรรคผลตามระดับการฝึกฝนอบรมตน และตามภูมิธรรมของตน การดังนี้จึงเป็นเรื่องของอเนกภาพในเอกภาพ อเนกภาพหรือความหลายหลากอันประสานกลมกลืนกันนี้ต่างหาก ที่ก่อให้เกิดบูรณภาพที่พร้อมมูล ว่าโดยย่อ หากงดพูดถึงข้อปลีกย่อยต่างๆ เสีย พิจารณาแม้เพียงวิถีชีวิตที่ต่างกันโดยหลักสองประการนี้ ก็จะเห็นได้ว่า ล้วนมุ่งที่จะดำเนินควบคู่พร้อมไปกับสังคมโดยส่วนรวม และอาศัยการสืบเนื่องของวิถีชีวิตทั้งสองแบบนี้นี่เอง ที่สังคมที่ดีจะดำรงคงอยู่ได้

กล่าวโดยหลัก เรื่องนี้จึงมิใช่เรื่องของข้อขัดแย้งกัน เมื่อเปรียบเทียบกับสังคมส่วนรวม สงฆ์หรือภิกษุบริษัทจึงเป็นชุมชนขนาดเล็ก ซึ่งท่านมุ่งหมายให้เป็นส่วนสำเร็จหรือส่วนเติมเต็มสมบูรณ์ของสังคม เป็นชุมชนอิสระที่ดำรงอยู่อย่างลอยพ้นสังคมส่วนรวม และธำรงรักษาธรรมะให้แก่สังคม

ความสัมพันธ์และความรับผิดชอบทางสังคม

ดังได้กล่าวแล้ว พระภิกษุในพุทธศาสนาไม่อาจดำรงชีวิตอย่างตัดขาดจากโลกภายนอกได้ ด้วยวินัยบังคับอยู่ ให้บำรุงรักษาความสัมพันธ์ที่ดีทั้งต่อพระสงฆ์ด้วยกันและต่อสังคมคฤหัสถ์ ในหมู่พระด้วยกัน ชีวิตภิกษุแต่ละรูปต้องขึ้นต่อสงฆ์หรือชุมชนภิกษุซึ่งมีพระวินัยเป็นกฎเกณฑ์ เพื่อที่ภิกษุจะอยู่ร่วมกันได้โดยสมานฉันท์และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ภิกษุแต่ละรูปจะเคารพรูปอื่นตามลำดับอาวุโสของสมาชิกภาพในคณะสงฆ์ ข้าวของต่างๆ ที่ได้รับมา ก็จะแบ่งกันในหมู่สมาชิกอย่างเท่าเทียม อธิกรณ์ต่างๆ จะได้รับการตัดสินกันอย่างยุติธรรม และอำนาจสูงสุดจะอยู่ในมือของสงฆ์ หรือการประชุมของชุมชนสงฆ์ทั้งหมด แม้แต่ภิกษุผู้อยู่วิเวก ที่สุดก็ต้องมาร่วมประชุมสงฆ์ อย่างน้อยที่สุดทุกปักษ์4 และทุกครั้งที่มีการประชุมเพื่อประกอบสังฆกรรม5 แก่นสารของพระวินัยที่ได้รับการตอกย้ำมากที่สุดคือ การถือสงฆ์เป็นใหญ่6 และความสมานฉันท์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายในสงฆ์ (สังฆสามัคคี)7เอง การก่อสังฆเภท จัดว่าเป็นอนันตริยกรรมอย่างหนึ่งทีเดียว8 พระพุทธองค์ก็ทรงเคารพสงฆ์ ในสมัยเมื่อสงฆ์ขยายตัวออกไป9 ทั้งยังทรงมอบอำนาจของพระองค์ในกิจต่างๆ แก่สงฆ์ด้วย เช่น ในอุปสมบทพิธี10 เป็นต้น ความข้อนี้ยังจะเห็นได้จากสาราณียธรรม ๖ ประการ ดังต่อไปนี้

๑. มีเมตตาในกายกรรมต่อกันและกัน ทั้งต่อหน้าและลับหลัง

๒. มีเมตตาในวจีกรรมต่อกันและกัน ทั้งต่อหน้าและลับหลัง

๓. มีเมตตาในมโนกรรมต่อกันและกัน ทั้งต่อหน้าและลับหลัง

๔. แบ่งปันข้าวของที่ได้มาแก่เพื่อนร่วมพรหมจรรย์

๕. รักษาศีลให้บริสุทธิ์เสมอกัน ทั้งต่อหน้าและลับหลัง11

๖. มีความเห็นชอบเสมอกัน ทั้งต่อหน้าและลับหลัง

นอกจากนี้ ยังจะเห็นได้จากอปริหานิยธรรม ๗ ประการ ดังต่อไปนี้

๑. หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์

๒. พร้อมเพรียงกันประชุม พร้อมเพรียงกันเลิกประชุม และพร้อมเพรียงกันทำกิจและกรณีย์ของสงฆ์

๓. ไม่บัญญัติสิ่งที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงบัญญัติ ไม่ล้มล้างสิ่งที่พระองค์ทรงบัญญัติไว้ สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลายตามที่พระองค์ทรงบัญญัติไว้

๔. ภิกษุเหล่าใดเป็นผู้ใหญ่ เป็นสังฆบิดร เป็นสังฆปรินายก พึงเคารพนับถือภิกษุเหล่านั้น เห็นถ้อยคำของท่านว่าเป็นสิ่งอันควรรับฟัง

๕. ไม่ลุอำนาจตัณหาที่เกิดขึ้น

๖. ยินดีในเสนาสนะป่า

๗. ตั้งสติระลึกไว้ในใจว่า เพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย ผู้มีศีลงาม ซึ่งยังไม่มา ขอให้มา ที่มาแล้ว ขอให้อยู่ผาสุก12

ภิกษุกับคฤหัสถ์

ตามพระวินัย ชีวิตภิกษุย่อมอาศัยคฤหัสถ์ในด้านภัตตาหารและบริขารต่างๆ โดยหลักการแล้ว ภิกษุจะได้รับภัตตาหารประจำวันมาโดยการออกบิณฑบาต แต่อาจรับนิมนต์ไปฉันที่บ้านทายกทายิกา หรือฝ่ายหลังจะมาถวายภัตตาหารที่วัดก็ได้13 การปฏิบัติเช่นนี้ ย่อมทำให้ชีวิตภิกษุต้องขึ้นอยู่กับสังคมคฤหัสถ์ และควบคุมให้ภิกษุต้องพบปะกับชาวบ้านทุกวัน ภิกษุจะต้องพึงพิจารณาอยู่เนืองนิตย์ ดังพระพุทธพจน์ที่ว่า “ความเป็นอยู่ของเราเนื่องด้วยผู้อื่น14 เพื่อที่จะได้ปฏิบัติจริงจัง ทั้งต่อความเพียรในธรรมสมบัติส่วนตน และต่อการบำเพ็ญประโยชน์แก่คฤหัสถ์ กิจประการหลังอันมีลักษณะเป็นการให้และรับซึ่งกันและกันนี้ ภิกษุย่อมกระทำได้โดยตรงเมื่อออกบิณฑบาต15 และในโอกาสอื่นๆ ตามควร ความสัมพันธ์อันเกื้อกูลแก่กันและกัน ระหว่างภิกษุกับคฤหัสถ์นี้ พระพุทธเจ้าได้ทรงย้ำไว้ดังนี้

“ภิกษุทั้งหลาย เหล่าพราหมณ์และผู้ครองเรือน ย่อมเป็นผู้มีอุปการะอย่างมากแก่เธอทั้งหลาย เพราะเขาเหล่านั้นย่อมอุปถัมภ์เธอด้วยจีวรและบิณฑบาต ทั้งเสนาสนะและหยูกยา อันจำเป็นในยามเจ็บไข้ ฉันใดก็ฉันนั้น เธอทั้งหลายก็ย่อมเป็นผู้มีอุปการะอย่างมากแก่เหล่าพราหมณ์และผู้ครองเรือน เพราะเธอย่อมสั่งสอนธรรมอันไพเราะแก่เขาเหล่านั้น...ดังนี้แล ภิกษุทั้งหลาย พรหมจรรย์นี้จึงอยู่บำเพ็ญด้วยการอาศัยซึ่งกันและกัน เพื่อกระทำที่สุดแห่งทุกข์ทั้งปวง”16

อันที่จริง ภิกษุควรทำประโยชน์แก่ชุมชนคฤหัสถ์ มิใช่เพียงเพื่อเป็นการตอบแทนคุณแก่กันเท่านั้น แต่การกระทำเช่นนี้ เป็นสิ่งที่ภิกษุควรกระทำด้วยอำนาจคุณธรรม คือเมตตากรุณาแก่ชนทั้งหลายโดยตรงทีเดียว ดังที่ พระพุทธองค์ทรงย้ำอย่างหนักแน่น เมื่อครั้งที่ทรงส่งพระสาวกรุ่นแรกออกไปประกาศพระศาสนาในพรรษาแรกแห่งพุทธกิจ ดังความในพระบาลีว่า

“ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย จงจาริกไป เพื่อประโยชน์ของชนหมู่มาก เพื่อความสุขของชนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูล และความสุข แก่เทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย”17

กิจของภิกษุในการทำประโยชน์ต่อชนทั้งหลาย ทั้งในแง่เป็นการเจริญเมตตา และในแง่การให้และรับซึ่งกันและกัน จะเห็น ได้ชัดยิ่งในคำเทศนา ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่สิงคาลมาณพ ดังปรากฏในสิคาโลวาทสูตรว่า

“คฤหัสถ์ย่อมบำรุงภิกษุสมณะดั่งทิศเบื้องบนดังนี้

๑. จะทำสิ่งใด ก็ทำด้วยเมตตา

๒. จะพูดสิ่งใด ก็พูดด้วยเมตตา

๓. จะคิดสิ่งใด ก็คิดด้วยเมตตา

๔. ต้อนรับด้วยความเต็มใจ

๕. อุปถัมภ์ด้วยปัจจัย ๔

ภิกษุสมณะย่อมอนุเคราะห์คฤหัสถ์ในฐานะที่เป็นทิศเบื้องบน ดังนี้

๑. ห้ามปรามจากความชั่ว

๒. ให้ตั้งอยู่ในความดี

๓. อนุเคราะห์ด้วยความปรารถนาดี

๔. ให้ได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง

๕. ทำสิ่งที่เคยฟังแล้วให้แจ่มแจ้ง

๖. บอกทางสวรรค์ คือวิธีสร้างความสุขความเจริญให้18

คฤหัสถ์ กับคฤหัสถ์

ข้อแนะนำในทางปฏิบัติ สำหรับจัดระเบียบคณะสงฆ์นั้น ปรากฏอยู่ในพระวินัยปิฎกโดยเฉพาะ แต่สำหรับสังคมคฤหัสถ์ หามีหมวดใดรวบรวมข้อแนะนำไว้ให้โดยเฉพาะไม่ ถึงแม้ว่าศีลห้าที่ให้เว้นจากการฆ่า การลักขโมย การประพฤติผิดทางกาม การกล่าวเท็จ และการเสพสิ่งมึนเมา จะเป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นกฎเกณฑ์ทางศีลธรรมขั้นพื้นฐานสำหรับคฤหัสถ์ก็ตาม แต่หากจะกำหนดรวบรวมข้อปฏิบัติสำหรับคฤหัสถ์กันขึ้น ศีลห้านี้ก็จัดเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น จนแม้พระพุทธพจน์ใน สิคาโลวาทสูตร ที่พระพุทธโฆษาจารย์ พระอรรถกถาจารย์คนสำคัญ จัดให้เป็นวินัยบัญญัติสำหรับคฤหัสถ์ (คิหิวินัย) ก็เป็นเพียงพระสูตรที่ทรงแสดงแก่บุคคลผู้หนึ่งเพียงในวาระหนึ่งโดยเฉพาะ และไม่ครบถ้วนสิ้นเชิงพอที่จะเป็นประมวลวินัยบัญญัติสำหรับคฤหัสถ์ได้ คำสอนทำนองเดียวกันก็ปรากฏอยู่ทั่วไปในส่วนอื่นๆ ของพระสุตตันตปิฎก ที่สำคัญที่สุดก็คือ พระธรรมเทศนาในสิคาโลวาทสูตรนี้ พระองค์มิได้ทรงบัญญัติขึ้นด้วยพระพุทธอาณา ดั่งในกรณีวินัยสงฆ์ ความทั้งหมดนี้ ย่อมสนับสนุนสมมติฐานที่ว่า สังคมคฤหัสถ์ที่ครอบคลุมกว้างขวางกว่านั้น ย่อมเปิดกว้างเกินไปต่อสภาพอันแปรเปลี่ยนของกาลเทศะ พุทธศาสนาจึงไม่เห็นควร ที่จะให้ตกอยู่ในอาณัติของกฎเกณฑ์ตายตัวใดๆ นี่ย่อมหมายความว่า ควรจะกำหนดแต่กฎเกณฑ์พื้นฐานและความคิดหลักการอย่างกว้างๆ ส่วนที่พ้นจากนี้ไป ควรให้ผู้คนกำหนดกฎเกณฑ์รายละเอียดกันเอง ตามแต่สภาพการณ์ที่ต่างกันออกไป โดยมีพื้นฐานอยู่บนกฎเกณฑ์ พื้นฐานความคิด และหลักการดังกล่าว เพื่อให้เหมาะสมกับสังคมของตน

อันที่จริง พุทธจริยศาสตร์ในระดับศีลธรรมและสังคมนั้น มิได้ลงรายละเอียด ดังในระดับความหลุดพ้นส่วนบุคคล ซึ่งเป็นส่วนจบสิ้นสมบูรณ์หรือส่วนสำเร็จ ตลอดทุกยุคทุกสมัยในประวัติศาสตร์ มนุษย์ต่างประสบสิ่งต่างๆ ผิดแผกกันออกไปมากมายหลายด้าน ฉะนั้น พุทธจริยศาสตร์ทางศีลธรรมและสังคมจึงอาศัยมรดกต่างๆ ในทางจริยธรรมเข้ามาประกอบได้มากมาย โดยปรับปรุงประยุกต์จารีตประเพณีทั้งหลายมาใช้ ดังที่พระพุทธเจ้าทรงยอมรับจริยธรรมในอดีตอันปรากฏอยู่ในนิทานชาดกต่างๆ การจะผนวกเอาจารีตประเพณีมาใช้นี้ ย่อมต้องอาศัยทั้งการขัดเกลา ปรับปรุง เสริมให้สมบูรณ์ ตลอดจนจัดแจงกำหนด ความคิด ค่านิยม และการปฏิบัติอย่างเก่า ให้เข้ารูปเข้ารอยกับกระบวนพัฒนาการทางจริยธรรมของชาวพุทธ โดยวิธีเหล่านี้ สิ่งเก่าก็จะถูกประมวลลงในกฎเกณฑ์พื้นฐาน ความคิดและหลักการของพุทธจริยศาสตร์ การที่จะทำเช่นนี้ได้ ไม่ใช่เรื่องง่าย ย่อมต้องอาศัยมาตรฐานและหลักเกณฑ์ที่รัดกุมในการวินิจฉัย ความข้อนี้เราจะพิจารณากันภายหลัง

กล่าวโดยสรุป ชาดกทั้งหลายย่อมเป็นแหล่งสำคัญ ที่คฤหัสถ์จะได้เรียนรู้พุทธจริยศาสตร์ทางสังคม กระนั้นก็ดี คำสอนที่ปรากฏในชาดกก็กระจัดกระจายและไม่เป็นระบบพอ นอกเหนือไปจากแหล่งอื่นๆ แหล่งที่พอจะใช้เป็นเกณฑ์ในการวินิจฉัยความคิดหลักทางพุทธจริยศาสตร์ได้ ก็เห็นจะเป็นสิคาโลวาทสูตร ที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ คำสอนในพระสูตรนี้มีสาระสำคัญดังนี้19

๑. เว้นจากการประพฤติผิด (กรรมกิเลส) ๔ ประการ (ตรงกับศีล ๔ ข้อต้น)

๒. เว้นจากการประกอบอกุศลกรรม อันมีมูลมาแต่ อคติทั้งสี่ ได้แก่ ฉันทาคติ โทสาคติ โมหาคติ และภยาคติ

๓. เว้นจากอบายมุข ๖ อัน ได้แก่ ติดสิ่งมึนเมา เที่ยวกลางคืน เที่ยวดูการละเล่น เล่นการพนัน คบเพื่อนชั่ว และเกียจคร้าน

๔. รู้จักแยกแยะมิตรเทียม อันได้แก่ มิตรปอกลอก มิตรประจบ มิตรสอพลอ และมิตรพาสู่อบาย และมิตรแท้อันได้แก่ มิตรสงเคราะห์ มิตรร่วมทุกข์ร่วมสุข มิตรแนะประโยชน์ และมิตรมีน้ำใจ

๕. รู้จักสะสมทรัพย์ และแบ่งใช้เป็นสี่ส่วน ส่วนหนึ่งสำหรับการกินอยู่และบำเพ็ญกิจหน้าที่ต่อผู้อื่น สองส่วนสำหรับประกอบอาชีพตน และอีกส่วนหนึ่งสำหรับยามคับขัน

๖. รู้จักปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ถูกต้องตามฐานะในระบบความสัมพันธ์ต่างๆ อันได้แก่ บุตร-บิดามารดา ศิษย์-ครู ภรรยา-สามี มิตร-มิตร บ่าว-นาย หรือลูกจ้าง-นายจ้าง ตลอดจน พระ-คฤหัสถ์

๗. รู้จักดำรงตนให้ตั้งมั่นตามหลักความประสานกลมกลืนในสังคม (สังคหวัตถุ) อันได้แก่ ทาน ปิยวาจา อัตถจริยา และ สมานัตตตา

ที่น่าสังเกตเป็นพิเศษก็คือ พระพุทธองค์ทรงเอ่ยถึงมิตรและการสมาคมไว้บ่อยครั้งด้วยกัน เพียงในพระสูตรข้างต้น คำว่า "มิตรและการสมาคม" มีปรากฏอยู่ถึง ๕ แห่ง ได้แก่ การคบมิตรชั่วเป็นอบายมุข การแยกแยะระหว่างมิตรแท้และมิตรเทียม ความสัมพันธ์ระหว่างมิตรต่อมิตร ในฐานะข้อปฏิบัติต่อทิศเบื้องซ้าย การที่พระสงฆ์ในฐานะทิศเบื้องบน พึงปฏิบัติต่อบุคคลดังมิตรแนะประโยชน์ (ข้อแตกต่างมีเพียงว่า ในกรณีของพระสงฆ์มีข้อปฏิบัติเพิ่มอีก ๒ ประการ) ตลอดจนพื้นฐาน ๔ ประการ แห่งสามัคคีธรรมในสังคม (สังคหวัตถุ) ซึ่งสอดคล้องกับหลักการอันมิตรพึงปฏิบัติต่อกันในฐานะทิศเบื้องซ้าย คำแนะนำเกี่ยวกับการคบมิตรและการสมาคมนี้ ยังพบได้หลายแห่งในชาดก หากพิจารณาความข้างต้น ควบคู่ไปกับความสำคัญของกัลยาณมิตรในการเจริญมรรคมีองค์แปด20แล้ว จะเห็นได้ว่า การสมาคมกับบัณฑิตก็ดี กัลยาณมิตรก็ดี การอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมทางสังคมที่ดีก็ดี ล้วนเป็นสิ่งสำคัญในพุทธจริยศาสตร์ ทั้งในระดับศีลธรรม ทางสังคม และในระดับการเจริญโลกุตตรมรรคส่วนบุคคล

ยิ่งไปกว่านั้น ที่พึงสังเกตอีกประการหนึ่งก็คือ การที่ข้อปฏิบัติของสงฆ์ต่อคฤหัสถ์ สอดคล้องต้องกันกับข้อปฏิบัติของมิตรแนะประโยชน์ กับการที่หลัก ๔ ประการแห่งความประสานกลมกลืนในสังคม ต้องกับข้อปฏิบัติอันคฤหัสถ์พึงกระทำต่อมิตรของตน ประการต้นย่อมมีนัยว่า พระสงฆ์ก็เป็นดั่งกัลยาณมิตรสำหรับคฤหัสถ์ ส่วนประการหลังย่อมช่วยให้เราสรุปได้ว่า ในพุทธจริยศาสตร์ มนุษย์ล้วนเป็นมิตรต่อกัน และแต่ละคนพึงปฏิบัติต่อคนอื่นเยี่ยงมิตรปฏิบัติต่อมิตร

การพึ่งพาอาศัยกันระหว่างการบรรลุธรรมส่วนบุคคลกับความดีงามทางสังคม

ดังที่ได้เอ่ยไว้แต่ต้นแล้วว่า การบรรลุธรรมส่วนบุคคลกับความดีงามทางสังคมนั้น ย่อมพึ่งพาอาศัยกันและกัน สังคมซึ่งประกอบด้วยผู้คนที่สามารถพึ่งตนเองได้ เช่นในทางเศรษฐกิจหรือในทางสติปัญญา ย่อมดำรงอยู่ได้โดยสงบสุข ราบรื่น และมั่นคง ในทำนองเดียวกัน สังคมที่สงบสุข ราบรื่น และมั่นคง ย่อมเอื้อประโยชน์อย่างเลิศต่อความพากเพียรในการเจริญ การพัฒนา หรือบรรลุธรรมส่วนบุคคล ในทางตรงกันข้าม หากสังคมอยู่ในภาวะยุ่งเหยิง ปั่นป่วนและสั่นคลอน แม้พระสงฆ์ผู้มุ่งเอาการบรรลุธรรมส่วนตนเป็นที่ตั้ง ก็อาจจะต้องหยุดยั้ง หรือรามือจากความพยายามดังกล่าว มิไยต้องเอ่ยถึงสามัญชนที่ต้องเกี่ยวพันกับโลกธรรมต่างๆ ความข้อนี้มีในพระบาลีดังนี้

“ภิกษุทั้งหลาย มีสมัยอยู่ ๕ สมัย ที่ไม่เอื้อต่อการบำเพ็ญเพียร (ทางโลกุตตรธรรม) สมัยใดบ้างหรือ คือ เมื่อภิกษุแก่ชรา...เมื่อภิกษุเจ็บไข้...เมื่อเกิดทุพภิกขภัย...เมื่อภัยคุกคาม โจรผู้ร้ายชุกชุม ชาวบ้านต่างพากันย้ายหนี...เมื่อสงฆ์แตกแยก...มีการด่าว่า บริภาษใส่ร้ายกัน...ทะเลาะเบาะแว้งกัน ทอดทิ้งซึ่งกันและกัน...

“ภิกษุทั้งหลาย มีสมัยอยู่ ๕ สมัย ที่เอื้อต่อการบำเพ็ญเพียร (ทางโลกุตตรธรรม) สมัยใดบ้างหรือ คือ เมื่อภิกษุยังหนุ่มแน่น...เมื่อภิกษุมีสุขภาพเป็นอยู่ดี...เมื่อปราศจากทุพภิกขภัย พืชพันธุ์อุดม อาหารหาได้โดยง่าย...เมื่อผู้คนต่างพร้อมเพรียงอยู่ร่วมกันฉันมิตร...เมื่อสงฆ์สามัคคีปรองดองกันอยู่อย่างสมัครสมาน”21

บางสิ่งบางอย่างนั้น ผู้อื่นจะกระทำให้แก่ตนหาได้ไม่ แต่ละบุคคลต้องรับผิดชอบด้วยตนเอง ในทำนองเดียวกัน หลายต่อหลายอย่าง แต่ละบุคคลย่อมกระทำเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่นได้ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทุกคนพึงมีส่วนรับผิดชอบในการบำรุงรักษาสังคมของตน ให้อยู่ในภาวะอันเอื้อต่อความเป็นอยู่ที่ดี และต่อการพัฒนา ตลอดจนการบรรลุธรรมของบุคคลโดยส่วนรวม ถึงตรงนี้ ข้อปฏิบัติและความรับผิดชอบของแต่ละคน ย่อมต่างกันออกไป ตามแต่ระดับขั้นและลักษณะของกิจและกรณีย์ อันขึ้นอยู่กับปัจจัยน้อยใหญ่ ซึ่งรวมถึงจริตและการตัดสินใจเลือก ของแต่ละบุคคล กระนั้นก็ดี อย่างน้อยที่สุด แต่ละคนย่อมต้องรับผิดชอบต่อความเป็นอยู่และการบำเพ็ญเพียรทางธรรมส่วนตน เพื่อที่จะดำรงตนเป็นหน่วยย่อยที่ดี อันจะช่วยให้สังคมงอกงาม ถึงจุดนี้แหละ ที่ต้องการหลักทางพุทธว่าด้วยตนเป็นสรณะแห่งตน (อัตตนาถะ) และหลักการบำเพ็ญฝึกฝนหรือกล่อมเกลา (ทมะ) ที่ว่าตนพึงเป็นสรณะแห่งตนนั้น ในอันที่ตนจะเป็นสรณะแห่งตนได้ ตนต้องทำตนให้เป็นที่พึ่งได้ และที่จะทำตนให้เป็นที่พึ่งได้ ตนจะต้องฝึกฝนตนเองในกุศลธรรม ในการเรียนรู้ ในความบากบั่นพากเพียร ในสติ ในปัญญา และอื่นๆ ทั้งควรคบหากัลยาณมิตร ทำตนให้พร้อมที่จะรับคำท้วงติงแก้ไข ตลอดจนให้พร้อมที่จะช่วยเหลือกิจการของหมู่เหล่า 22 จุดนี้แหละ ที่ความรับผิดชอบส่วนตนกับความสัมพันธ์ทางสังคมเกี่ยวพันและพึ่งพาอาศัยกันอย่างแน่นแฟ้น นอกจากนี้ การที่จะช่วยเหลือผู้อื่นได้ ตนยังต้องเป็นที่พึ่งให้แก่ผู้อื่นได้ หรือไม่ได้อยู่ในฐานะที่ต้องพึ่งผู้อื่นโดยต้องอาศัยความช่วยเหลือนั้น

ในแง่นี้มีความในพระพุทธพจน์ว่า “อย่างไรเล่า ภิกษุทั้งหลาย จึงเรียกว่า รักษาตนเท่ากับรักษาผู้อื่น โดยปฏิบัติ โดยเจริญ โดยบำเพ็ญให้มาก ซึ่งกุศลธรรมทั้งหลาย ดังนี้แล ภิกษุทั้งหลาย เมื่อรักษาตนก็ย่อมรักษาผู้อื่น และอย่างไรเล่าภิกษุทั้งหลาย จึงเรียกว่า รักษาผู้อื่นเท่ากับรักษาตน โดยความมีขันติ โดยอวิหิงสา โดยความมีใจประกอบด้วยเมตตา โดยความเอาใจใส่เอื้อกรุณา ดังนี้แลภิกษุทั้งหลาย เมื่อรักษาผู้อื่น ก็ย่อมรักษาตนด้วย”23

แม้พระสงฆ์ผู้พอใจในความวิเวกอย่างที่สุด เมื่อท่านออกบิณฑบาต ท่านย่อมได้พบปะกับสังคมคฤหัสถ์เป็นประจำทุกวัน เมื่อท่านสั่งสอนธรรมแก่ชาวบ้าน ก็เท่ากับว่าทุกขั้นตอนที่ท่านเจริญก้าวหน้าไปในการบำเพ็ญธรรม ย่อมอำนวยประโยชน์แก่สังคม กล่าวอีกนัยหนึ่ง เพียงในระดับน้อยที่สุดนี้ ท่านก็ทำให้การบรรลุธรรมส่วนตนกับความดีงามของสังคมก้าวหน้าไปด้วยกัน ยิ่งไปกว่านั้น บิณฑบาตที่คฤหัสถ์ถวายพระนั้น หาได้อำนวยประโยชน์ต่อพระเท่านั้นไม่ ผู้คนซึ่งมาอาศัยร่มเย็นของวัดเป็นที่พึ่ง ก็ย่อมได้ประโยชน์เช่นเดียวกัน ประเพณีดังว่านี้ มีมาแต่สมัยพุทธกาล24 และเมื่อเวลาล่วงไป ดังที่ปรากฏในเมืองไทยเรา วัดก็ได้กลายเป็นสถานสำหรับให้คนยากไร้ เด็กกำพร้า และศิษย์วัด ได้พึ่งพิงทั้งในทางอาหาร ที่อยู่อาศัย ตลอดจนการศึกษาเล่าเรียนทั้งทางโลกและทางธรรม การปรับปรุงและแปรเปลี่ยนประเพณีดังกล่าวนี้ให้รับกับสภาพการณ์ปัจจุบัน ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ และพึงกระทำอย่างยิ่ง

ในแง่ของพระ ความรับผิดชอบของท่านที่มีต่อสังคมนั้น โดยส่วนใหญ่ก็อยู่ที่ การสั่งสอนคนทั่วไป ให้รู้จักวิธีดำเนินชีวิตให้ดีงาม และรู้จักปฏิบัติตนให้เป็นสมาชิกที่ดีของสังคม การแนะแนวแก่ผู้ปกครองและผู้บริหารรัฐ ให้ดำรงตนอยู่ในคุณธรรมและปฏิบัติหน้าที่ของตนโดยชอบ เพื่ออำนวยประโยชน์แก่ราษฎร ตลอดจนการบำเพ็ญปฏิบัติภารกิจในการบรรลุธรรมของตนโดยชอบ ในแง่ของผู้ปกครองและผู้บริหารรัฐ ก็พึงปฏิบัติกิจและคุณธรรมของตนให้เต็มเม็ดเต็มหน่วยเพื่อผลประโยชน์แก่ราษฎร และกระทำการเพื่อให้สังคมดีงาม อันจะเอื้อต่อการเจริญธรรมและการบรรลุธรรมของสมาชิกทั้งหลายในสังคม

โดยธรรมเนียมทางพุทธของไทย ผู้ปกครองพึงปฏิบัติและสั่งสมธรรมและคุณสมบัติ ๔ หมวดด้วยกัน หมวดแรกมีชื่อว่า ราชธรรม ๑๐ หรือทศพิธราชธรรม (ธรรมของผู้ปกครองสิบประการ) อันได้แก่ ทาน ศีล ความเสียสละ ความซื่อตรง ความมีอัธยาศัยงดงามละมุนละไม ความรู้จักข่มกิเลสไม่หมกมุ่นในความสุขสำราญ ความไม่โกรธ ความไม่ข่มเหงเบียดเบียน ความอดทน และความหนักแน่นไม่คลาดจากธรรม25 ในบรรดาธรรมทั้งสี่หมวดของผู้ปกครอง หมวดนี้จัดว่าเป็นหมวดที่รู้จักกันแพร่หลายที่สุด และถือกันว่าสำคัญที่สุด ดังที่พระราชาผู้กอปรด้วยราชธรรมทั้งสิบประการนี้ ย่อมได้ชื่อว่า เป็นพระราชาผู้ทรงธรรม

หมวดที่สอง มีชื่อว่า จักรวรรดิวัตรสิบสอง ประกอบด้วยกิจ ๑๒ ประการ อันพระมหาจักรพรรดิ ตามคุณลักษณ์ที่บรรยายไว้ในจักกวัตติสีหนาทสูตร พึ่งบำเพ็ญสั่งสม ได้แก่ความถือธรรมเป็นใหญ่ จัดการรักษาป้องกันและคุ้มครองอันชอบธรรมแก่ เหล่าชนฝ่ายในหนึ่ง เสนาทหารหนึ่ง เจ้าเมืองขึ้นหนึ่ง ข้าราชบริพารทั้งปวงหนึ่ง ผู้ทำพิธี ครู อาจารย์ ตลอดจนผู้ประกอบอาชีพค้าขาย การฝีมือต่างๆ หนึ่ง ราษฎรชาวถิ่นชาวชนบททั้งปวงหนึ่ง พระสงฆ์และบรรพชิตทั้งปวงหนึ่ง และแก่สัตว์อันพึงสงวนทั้งหลาย แก้ไขป้องกันอาชญากรรมทั้งปวง ปันทรัพย์เฉลี่ยแก่ผู้ยากไร้ ปรึกษาสอบถามผู้รู้อยู่เนืองๆ หักห้ามตนได้จากราคะอันไม่ชอบธรรม และสละความโลภที่ไม่เป็นธรรม มีข้อน่าสังเกตอยู่ ๒ ประการในที่นี้ ประการแรก ธรรมเนียมของไทยว่าด้วยจักรวรรดิวัตรนี้ ได้มาจากใจความรุ่นหลัง ซึ่งปรากฏในทีฆนิกายอรรถกถา26 ข้อ ๑ ถึงข้อ ๑๐ เอาของเดิมที่มีมาในจักกวัตติสูตร27 มาจัดข้อใหม่ ส่วนข้อ ๑๑ และข้อ ๑๒ พระอรรถกถาจารย์เพิ่มเข้าไปใหม่ โดยอาศัยความตอนอื่นๆ ในพระสูตรเดียวกัน ประการที่สอง ความถือธรรมเป็นใหญ่ของผู้ปกครอง ซึ่งในพระสูตร ท่านเน้นให้เด่นมาก ดูจะด้อยความสำคัญลง ในขณะที่ตามใจความเดิมในพระสูตรนั้น มหาราชจัดเป็นธรรมาธิปัตย์ (คือ ผู้ถือธรรมเป็นใหญ่ หรือผู้ซึ่งยึดเหนี่ยวในความเป็นใหญ่แห่งธรรม) เลยทีเดียว

หมวดที่สาม มีชื่อว่า ราชสังคหวัตถุสี่ (กิจ ๔ ประการของผู้ปกครอง เพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทางสังคม) ประกอบด้วย ความฉลาดในการทำนุบำรุงเกษตรกรรม ความฉลาดในการเกื้อหนุนข้ารัฐการ การยึดเหนี่ยวน้ำใจราษฎรด้วยการสนับสนุนงานอาชีพต่างๆ และการกล่าววาจาไพเราะก่อประโยชน์28

หมวดที่สี่ มีชื่อว่า ขัตติยพละห้า (กำลังทั้ง ๕ ของผู้ปกครอง) อันได้แก่ กำลังในการป้องกัน กำลังในทางเศรษฐกิจ กำลังอำมาตย์มนตรี กำลังราชตระกูล และกำลังภูมิปัญญา ในบรรดาห้าอย่างนี้ ประการสุดท้ายอันได้แก่ กำลังภูมิปัญญา จัดเป็นคุณสมบัติที่สำคัญที่สุด29

ที่น่าสังเกตเป็นพิเศษเกี่ยวกับธรรมและภารกิจเหล่านี้ก็คือ การเน้นย้ำถึงความปราศจากความยากจน ความยากจนนั้นจัดเป็นสาเหตุใหญ่ของอาชญากรรมและความวุ่นวายทั้งปวง30 เช่นเดียวกับความโลภ31 ความปราศจากความยากจนก็ดี ความมั่งคั่งก็ดี การพึ่งตนเองได้ในทางเศรษฐกิจก็ดี ล้วนเป็นพื้นฐานที่จะทำให้สังคมเป็นสุข มั่นคง และราบรื่น อันจะเอื้อต่อการเจริญและบรรลุธรรมของบุคคล ทั้งนี้ย่อมเป็นภารกิจของผู้ปกครอง ที่จะยังให้สภาพดังกล่าวงอกงามทั่วแว่นแคว้นของตน

ในแง่ของบุคคล ในฐานะพลเมืองหรือสมาชิกของสังคม ย่อมต้องรับผิดชอบ ทั้งต่อการบรรลุธรรมส่วนตนและความดีงามในสังคม โดยพัฒนาตนเองทั้งทางโลกและทางธรรม ตลอดจนช่วยปลูกฝังความสัมพันธ์อันดีงามในสังคม และให้ความช่วยเหลือแก่ผู้อื่น แรกทีเดียว บุคคลควรหาทางพึ่งตนเองให้ได้ในทางเศรษฐกิจ สติปัญญา และจริยธรรม เพื่อดำรงตนเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม ที่จะทำเช่นนี้ได้พึงปฏิบัติตามธรรมต่างๆ ดังต่อไปนี้ตามควร

ธรรมสี่ประการเพื่อประโยชน์สุขในปัจจุบัน อันประกอบด้วย มีความพากเพียร ขยันขันแข็งและชำนิชำนาญในกิจการต่างๆ กอปรด้วยความระวังรักษา คบหากัลยาณมิตร และดำรงชีวิตอย่างได้สมดุลย์32

ธรรมสี่ประการอันเป็นจักรหมุนนำไปสู่ความรุ่งเรือง อันประกอบด้วย การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม คบหากัลยาณมิตร ตั้งตนไว้ในทางที่ชอบ และเตรียมตัวไว้ให้มีภูมิหลังที่ดี33

ธรรมสี่ประการสำหรับชีวิตคฤหัสถ์ที่ดี อันได้แก่ สัจจะและความซื่อสัตย์ การฝึกฝนและรู้จักปรับตัว ความมีใจหนักแน่นอดทน ตลอดทั้งความมีใจเอื้อเฟื้อเสียสละ34

สุขสี่ประการอันชอบธรรมของคฤหัสถ์ อันได้แก่ สุขเกิดแต่การมีทรัพย์ สุขเกิดแต่การรู้จักใช้จ่ายโภคทรัพย์ สุขเกิดแต่การปลอดหนี้ และสุขเกิดแต่การมีความประพฤติ ที่ปราศจากข้อครหาใดๆ35

ธรรมสี่ประการอันนำไปสู่ประโยชน์สุขทางจิตใจ ได้แก่ ความเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา ความมั่นใจ ด้วยศีล ด้วยความเอื้ออารี ให้ปัน และด้วยปัญญา36

ในทางสังคม บุคคลพึงบำรุงรักษาความสัมพันธ์อันดีงามกับผู้อื่น และช่วยรักษาสรรค์สร้างสังคมให้สงบสุขน่าอยู่ ด้วยการปฏิบัติธรรม อันเป็นพื้นฐานแห่งความประสานกลมกลืนในสังคม หรือที่เรียกว่า หลักสี่ประการแห่งสามัคคีธรรมในสังคม (สังคหวัตถุ) ซึ่งประกอบด้วย ทาน (การให้และสงเคราะห์ผู้อื่นด้วยทรัพย์) ปิยวาจา (การกล่าวคำไพเราะก่อประโยชน์) อัตถจริยา (การสงเคราะห์บริการผู้อื่นด้วยการกระทำ) และสมานัตตตา (การมีตนเสมอ ไม่ลำเอียง และร่วมทุกข์ร่วมสุข)37

ทัศนะต่อความยากจนและความร่ำรวย

คำว่า “ความยากจน” บางครั้งก็ก่อให้เกิดความไขว้เขวได้ บัญญัติที่มักคุ้นกันในทางพุทธน่าจะได้แก่ ความสันโดษ (สันตุฏฐี) หรือความมักน้อย (อัปปิจฉตา) ส่วนความยากจน (ทลิททิยะ) นั้น หาได้รับการยกย่องหรือสนับสนุนในทางพุทธแต่ประการใดไม่ ดังพระพุทธพจน์ที่ว่า “ความยากจนเป็นทุกข์ในโลกสำหรับคฤหัสถ์” และ “สิ่งที่น่ารันทดใจในโลกคือความยากจนและหนี้สิน”38 ถึงแม้ว่าพระจะไม่ควรเห็นความยากจนว่าเป็นความทุกข์สำหรับตน และแม้ว่าพระควรจะสันโดษและปรารถนาแต่น้อย แต่ความยากจนก็หาได้เป็นสิ่งพึงสนับสนุนแม้สำหรับพระไม่

ในทางตรงกันข้าม กลับมีปรากฏอยู่บ่อยครั้งในพระบาลี ที่พระราชาหรือคฤหัสถ์ที่มีฐานะร่ำรวย ได้รับคำยกย่องสนับสนุน กล่าวอีกนัยหนึ่ง โภคทรัพย์เป็นสิ่งพึงแสวงหาและเพิ่มพูน ในบรรดาสาวกฝ่ายคฤหัสถ์ของพระพุทธเจ้า ผู้ที่มีชื่อเสียง เป็นทายกทายิกาชั้นเอก และมักได้รับคำยกย่อง มักเป็นคนมั่งมี ดังเช่นอนาถบิณฑิกเศรษฐี ส่วนในแง่ของพระ แม้พระจะไม่พึงแสวงหาโภคทรัพย์ แต่การที่ได้รับจตุปัจจัยบริบูรณ์ ก็จัดเป็นคุณสมบัติอันดีประการหนึ่ง ระหว่างพระสององค์ซึ่งเสมอกันในทางธรรมและในทางวุฒิประการอื่นๆ ท่านที่ได้รับจตุปัจจัยบริบูรณ์มักเป็นที่ยกย่องมากกว่า ในการเฟ้นสาวกผู้เอตทัคคะในด้านต่างๆ พระพุทธองค์ถึงกับทรงจัดตำแหน่งให้แก่ผู้เป็นเลิศในทางปัจจัยลาภเลยทีเดียว ดังคำของพระองค์ที่ว่า “ในบรรดาสาวกของตถาคต ผู้เป็นเอตทัคคะในบรรดาผู้มีลาภได้แก่ พระสิวลี”39 อย่างไรก็ดี คำวินิจฉัยเหล่านี้ของอาตมภาพ พึงได้รับการจำแนกชี้แจงให้ชัดเจน

ประเด็นสำคัญในที่นี้ก็คือ สิ่งที่น่ายกย่องหรือตำหนินั้น หาใช่โภคทรัพย์หรือลาภโดยตัวของมันเองไม่ วิธีแสวงหาและวิธีจัดแจงสิ่งที่ได้มาต่างหาก ที่กำหนดข้อแตกต่างว่าดีหรือเลว

ดังที่ได้กล่าวข้างต้นแล้ว ว่าในแง่ของพระ สิ่งที่ถูกตำหนินั้น หาใช่การได้ลาภไม่ และสิ่งที่ได้รับคำยกย่อง ก็หาใช่ความยากจนไม่ สิ่งที่ถูกตำหนินั้นได้แก่ความโลภในลาภ ความตระหนี่ และความติดยึดในลาภ ตลอดจนการสั่งสมลาภต่างหาก การได้ลาภซึ่งเป็นคุณต่อการเจริญอริยมรรค หรือก่อให้เกิดประโยชน์แก่สมาชิกในหมู่คณะนั้น ย่อมเป็นที่ยอมรับได้ แต่นี่ไม่ได้หมายความว่าจะสนับสนุนให้พระสั่งสม ข้อปฏิบัติที่ถูกต้องก็คือ พระจะไม่ครอบครองสิ่งอื่นใด นอกจากปัจจัยพื้นฐานจำนวนน้อยที่สุดสำหรับชีวิต ประเด็นนี้ไม่ได้สำคัญที่รวยหรือจน แต่อยู่ที่สาระของการมีภาระส่วนตนแต่น้อย มีความคล่องตัวสูง และปราศจากความติดยืด ซึ่งได้แก่ ใจที่รู้จักสันโดษ และใจที่รู้จักระงับความปรารถนา ทั้งนี้ โดยที่ชีวิตพระเป็นชีวิตที่ต้องพึ่งพิงผู้อื่นทางวัตถุ พระจึงควรกระทำตนให้เป็นผู้เลี้ยงง่าย และโดยที่พระไม่ต้องกังวลกับภาระต่างๆ และมีความคล่องตัวสูง พระจึงสามารถสละเวลาและพลังงานส่วนใหญ่ของตน ให้กับการบำเพ็ญธรรมส่วนตน และอุทิศตนให้กับความดีงามของสังคมได้อย่างเต็มที่

ดังนั้น สิ่งที่ได้รับการยกย่องในที่นี้ก็คือ การเจริญกุศลธรรม และการละอกุศลธรรม กล่าวอีกนัยหนึ่ง ความปรารถนาแต่น้อยและความพอใจในปัจจัยพื้นฐานจำนวนน้อยที่สุดนี้ ย่อมทำให้พระอุทิศตนต่อการบำเพ็ญกิจกรณีย์ของตนได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย แทนที่จะต้องไปเสียเวลาและกำลังงานกับการไขว่คว้าลาภ และความเพลิดเพลินทางอายตนะทั้งหลาย ด้วยเหตุนี้เอง หลักใหญ่ใจความจึงอยู่ห่างไกลจากลำพังความยากจน แม้ความสันโดษและความปรารถนาแต่น้อยก็เถิด ก็มีลักษณะจำเพาะของมันอยู่ กล่าวคือ คุณลักษณะสองประการนี้จะต้องควบคู่ไปกับความขยันหมั่นเพียร หาได้ควบคู่ไปกับความเพิกเฉยเกียจคร้านไม่

หากวกกลับไปที่ประเด็นข้างต้น ยังมีข้อเสริมอีกว่า ตามพระวินัย ลาภต่างๆ ที่พระได้มานั้น จะถือว่าชอบธรรมก็ต่อเมื่อ เมื่อได้ลาภมาแล้ว ลาภนั้นตกเป็นของกลางของสงฆ์ แต่ถ้าพระรูปนั้นติดร่ำรวยด้วยลาภส่วนตน แม้ลาภเหล่านั้นจะได้มาโดยชอบตามหลักพระวินัย ก็ไม่อาจจัดได้ว่า พระรูปนั้นประพฤติตนตามหลักพุทธธรรม เพราะลาภนั้นๆ ย่อมเป็นหลักฐานบ่งชี้ถึงความโลภและความติดยึด

ข้อสรุปดังกล่าวอาจอ้างพระพุทธพจน์ที่มีมาในพระบาลีได้ดังนี้

“ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เถระมีธรรมอยู่ ๕ ประการ ย่อมชื่อว่าบำเพ็ญตน เพื่อประโยชน์ของชนหมู่มาก เพื่อความสุขของชนหมู่มาก เพื่อความดีงามของชนหมู่มาก และเพื่อประโยชน์สุขของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการใดหรือ

“ภิกษุผู้เถระ ถึงพร้อมด้วยวุฒิโดยพรรษกาล ดำรงอยู่ในบรรพชิตเพศมานาน (นี้ประการหนึ่ง) มีชื่อเสียงเกียรติคุณ พรั่งพร้อมด้วยสานุศิษย์ทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต (นี้ประการหนึ่ง) เป็นผู้พร้อมด้วยจตุปัจจัย อันได้แก่ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และยารักษาโรค (นี้ประการหนึ่ง) เป็นพหูสูต ทรงจำความได้แม่นยำกว้างขวาง และแตกฉานในธรรมวินัยอันไพเราะทั้งปวง (นี้ประการหนึ่ง) ประกอบด้วยสัมมาทิฏฐิไม่วิปลาศ (นี้ประการหนึ่ง) เธอทำหน้าที่ชักจูงชนทั้งปวง ออกจากสิ่งที่มิใช่ธรรมแท้ และช่วยให้เขาเหล่านั้นตั้งมั่นในกัลยาณธรรม...”40

“(นี่คือ) อริยวงศ์ทั้งสี่ ท่านทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้สันโดษในจีวรตามที่ได้ (ที่ท่านมี) สรรเสริญความสันโดษดังนี้ และไม่แสวงหาจีวรโดยหนทางอันมิชอบ ไม่หดหู่เมื่อไม่ได้จีวร และเมื่อได้มา ก็ไม่โลภ ไม่หลง ไม่ติด ท่านย่อมใช้จีวรนั้นๆ อย่างเข้าใจในคุณประโยชน์ที่มุ่งหมาย และเห็นโทษที่อาจตามมา ทั้งไม่กระหยิ่มใจในความสันโดษของตน หรือทับถมผู้อื่น ท่านทั้งหลาย ภิกษุรูปใดก็ตามที่คล่องในกิจดังนี้ ไม่เกียจคร้าน หากมีสติและมุ่งเกื้อกูล ย่อมยืนหยัดอยู่ในอริยวงศ์ที่ดั้งเดิมแท้ ในทำนองเดียวกัน ภิกษุเป็นผู้สันโดษในบิณฑบาตตามที่ได้...ในที่พำนักอาศัยตามที่ได้... และที่สุด ท่านทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้ยินดีในการละ (อกุศล) และยินดีในการเจริญ (กุศล)...”41

“ใช่แต่เท่านั้น ท่านทั้งหลาย เขาย่อมสันโดษในปัจจัยตามที่ได้ ไม่ว่าจะเป็นจีวร บิณฑบาต ที่พำนักอาศัย หยูกยาป้องกันรักษาโรค ใช่แต่เท่านั้น ท่านทั้งหลาย เขาย่อมพากเพียรอยู่เป็นนิจ ในอันที่จะกำจัดอกุศลธรรม ปลูกฝังกุศลธรรม เจริญกุศลกิจทั้งปวงอย่างกวดขัน ไม่ลดละ และไม่ทอดทิ้งภารกิจดังกล่าว”42

“ภิกษุย่อมสันโดษในจีวร อันพอเพียงแก่การปกคลุมร่างกาย ในบิณฑบาต อันพอเพียงแก่ความต้องการของร่างกาย ย่อมจาริกท่องไป ดั่งนกที่มีปีกย่อมบินไป โดยเอาเพียงปีกของตนไปด้วย ฉะนั้น”43

“ภิกษุทั้งหลาย พรหมจรรย์นี้ หาได้เป็นทางดำเนินเพื่อหลอกลวงชาวบ้านไม่ หาได้เป็นไปเพื่อลาภ กำไร หรือชื่อเสียงไม่ หาได้เกี่ยวข้องกับการซุบซิบเล่าลือ หรือความคิดว่า “ขอคนทั้งหลายจงรู้จักฉันว่าเป็นดังนี้ๆ” ไม่ เปล่าเลย ภิกษุทั้งหลาย พรหมจรรย์นี้ย่อมเป็นทางดำเนินไปสู่การรู้จักควบคุมตนเอง การละอกุศล เพื่อความหน่าย เพื่อความสิ้นไป (แห่งทุกข์) ต่างหาก”44

“ภิกษุทั้งหลาย คุณลักษณะสี่ประการนี้ ย่อมสอดคล้องกับธรรมที่แท้ ประการใดบ้างหรือ ความเห็นแก่ธรรมที่แท้ มิใช่เห็นแก่พยาบาท ความเห็นแก่ธรรมที่แท้ มิใช่เห็นแก่มารยา ความเห็นแก่ธรรมที่แท้ มิใช่เห็นแก่ลาภ ความเห็นแก่ธรรมที่แท้ มิใช่เห็นแก่ชื่อเสียงเกียรติคุณ”45

“ภิกษุทั้งหลาย ลาภ ยศ สรรเสริญ เป็นของทารุณ หยาบ เผ็ดร้อน ด้วยเหตุที่ต่างก็เป็นเครื่องกีดขวางต่อการบรรลุธรรมอันปลอดโปร่งยิ่ง (คือนิพพาน) ฉะนั้น ภิกษุทั้งหลาย ขอเธอจงฝึกฝนตน ว่าเราจะปล่อยวางลาภ ยศ และสรรเสริญ อันบังเกิดมีขึ้นแล้ว และลาภก็ดี ยศก็ดี สรรเสริญก็ดี อันบังเกิดมีขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตใจของเรา...”

“ด้วยผู้ใดก็ตาม ที่มีจิตใจไม่หวั่นไหว ไม่ว่าจะได้รับยศ หรือหาไม่ก็ตาม ผู้รู้ย่อมสรรเสริญผู้นั้น ว่าเป็นสัตบุรุษ”46

“ทางหนึ่งนำสู่ความมั่งคั่ง อีกทางหนึ่งพารอดสู่นิพพาน หากภิกษุผู้เป็นศิษย์พระพุทธองค์ได้เรียนรู้ดังนี้ เขาย่อมไม่ไขว่คว้าหายศ เขาย่อมยินดีในการเจริญวิเวกธรรม”47

“ความมั่งคั่งย่อมทำลายคนเขลา แม้จะไม่อาจทำประการใดต่อผู้แสวงนิพพาน”48

ดังได้กล่าวไว้ข้างต้นแล้วว่า สำหรับคฤหัสถ์ ความยากจนหาได้รับการส่งเสริมไม่ ในทางตรงกันข้าม มีความในพระบาลีอยู่หลายตอนที่สนับสนุน ให้คฤหัสถ์แสวงหาและเพิ่มพูนโภคทรัพย์ในทางที่ถูกที่ควร นอกจากนี้ ผลานิสงส์ประการหนึ่งของการประกอบกรรมดี ก็คือ การเป็นผู้อุดมด้วยโภคทรัพย์49 ข้อที่ควรตำหนิในส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับความมั่งคั่ง ก็คือ ประการแรก การหามาโดยไม่ชอบธรรม ที่น่าตำหนิประการต่อไปก็คือ เมื่อบุคคลได้โภคทรัพย์มาแล้ว กลับตกเป็นทาสโดยยึดติดกับมันและเป็นทุกข์ ที่น่าตำหนิไม่น้อยไปกว่าการหามาโดยมิชอบก็คือ การพอกพูนโภคทรัพย์ และตระหนี่ถี่เหนียว ไม่ยอมใช้จ่ายทรัพย์ให้เป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนเอง แก่บริวาร และคนอื่นๆ ในทำนองเดียวกัน การใช้จ่ายทรัพย์อย่างสุรุ่ยสุร่าย อย่างไม่ยั้งคิด หรือเป็นไปในทางสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น ก็จัดเป็นอกุศลประการหนึ่ง

“และอะไรเล่า อุชชัย คือความถึงพร้อมด้วยความขยันหมั่นเพียร บุคคลในตระกูลประกอบกิจต่างๆ เพื่อดำรงชีพ ไม่ว่าจะโดยการหว่านไถ การค้าขายหรือปศุสัตว์ เป็นนายขมังธนู รับราชการ หรือโดยงานฝีมือต่างๆ...เขาย่อมคล่องในกิจ ไม่ท้อถอย รู้จักพิจารณาคิดหามรรควิธีแห่งกิจนั้นๆ สามารถจัดแจง และประกอบการงานให้ลุล่วงไปได้ นี้แล คือความถึงพร้อมด้วยความขยันหมั่นเพียร”50

“และอะไรเล่า คือสุขอันเกิดแต่โภคทรัพย์ ดูกรคหบดี กุลบุตร หาทรัพย์มาได้โดยบากบั่น เพิ่มพูนทรัพย์ด้วยกำลังแขนของตน ได้มาโดยหยาดเหงื่อของตนโดยชอบธรรม เขาย่อมเสวยโภคทรัพย์ของตน และอาศัยโภคทรัพย์นั้นประกอบกุศลกรรมต่างๆ”51

“ดังนี้ ท่านผู้เป็นพ่อบ้าน ด้วยโภคทรัพย์อันได้มาด้วยความพากเพียรบากบั่น...และได้มาโดยชอบ ผู้เป็นอริยสาวกย่อมกระทำตนให้เป็นสุขและเบิกบาน เขาย่อมแสวงหาความสุขโดยชอบ และบำรุงมารดาบิดา บุตรภรรยา คนรับใช้และบริวาร ตลอดจนมิตรสหายให้เบิกบานและเป็นสุข เขาย่อมแสวงหาความสุขโดยชอบ นี้แล ท่านผู้เป็นพ่อบ้าน คือ โอกาสแรกอันเขาได้มา แล้วแปรให้เป็นกุศลกรรม โดยรู้จักใช้โอกาสนั้นอย่างเหมาะสม”52

“ภิกษุทั้งหลาย หากชนทั้งหลายได้ล่วงรู้ ดังที่ตถาคตได้ล่วงรู้ ถึงผลานิสงส์แห่งการรู้จักแบ่งปันลาภ เขาเหล่านั้นย่อมไม่เสพเสวยลาภโดยมิได้แบ่งปันให้ผู้อื่น ทั้งความตระหนี่ถี่เหนียวก็ไม่อาจรัดรึงจิตใจเขาได้ และแม้ลาภนั้นๆ จะเป็นสมบัติชิ้นสุดท้ายที่เขาเหลืออยู่ แม้จะเป็นอาหารที่เขามีเหลืออยู่เพียงน้อยนิด เขาย่อมไม่อาจเสพเสวยสิ่งเหล่านั้นได้ หากมิได้แบ่งปันกับผู้อื่น ซึ่งสมควรจะได้รับส่วนแบ่งปันนั้น”53

“โภคทรัพย์ของชนผู้มีใจหยาบ ย่อมหมดสิ้นไปเสียเปล่า ดั่งแหล่งน้ำอันชุ่มชื่น ที่ผุดขึ้นกลางดงดิบ หามีผู้ใดได้ดื่มกินไม่ จะใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ตนเองหรือ ก็เปล่า จะปันส่วนเป็นทานหรือ ก็หาไม่ ส่วนชนผู้ฉลาด มีใจหนักแน่น เมื่อได้โภคทรัพย์มา เขาย่อมใช้ให้เป็นประโยชน์ กระทำภาระของตนให้สำเร็จ บำรุงเครือญาติและเหล่ามิตรสหายให้เป็นสุข ดังนี้ เขาย่อมได้ชื่อว่ามีใจสูง ไร้ข้อพึงตำหนิ ครั้นเบื้องหน้าแต่ตายเมื่อกายแตก เขาย่อมไปสู่สุคติ”54

“คนตระหนี่จะไปสู่สุคติ หาได้ไม่ คนเขลาย่อมไม่รู้จักสรรเสริญความมีใจเอื้อเฟื้อแบ่งปัน”55

ดังนั้น ผู้อุดมด้วยโภคทรัพย์ที่ควรได้รับการสรรเสริญ ก็คือ ผู้ที่รู้จักแสวงหาโภคทรัพย์ในทางที่ชอบ และรู้จักใช้โภคทรัพย์นั้นๆ ไปในทางที่เป็นประโยชน์ และเป็นไปเพื่อความสุขทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น ฉะนั้น พุทธสาวกฝ่ายฆราวาส เมื่ออุดมด้วยโภคทรัพย์แล้ว ก็ย่อมสละโภคทรัพย์นั้นเป็นจำนวนมาก หรือโดยส่วนใหญ่ เพื่อสนับสนุนกิจของสงฆ์ และเพื่อบำบัดความทุกข์และความยากจนของผู้อื่น ตัวอย่างก็คือ อนาถบิณฑิกเศรษฐี ซึ่งในอรรถกถาธรรมบทบรรยายไว้ว่า เป็นผู้ที่ใช้เงินเป็นจำนวนมากทุกวัน เพื่อใส่บาตรพระจำนวนร้อย และเลี้ยงดูคนยากจนจำนวนร้อย56 อย่างไรก็ดี ในสังคมอุดมคติซึ่งผู้ปกครองเป็นผู้ทรงธรรม ทั้งระบบบริหารรัฐก็เป็นไปโดยชอบและมีประสิทธิภาพ ย่อมปราศจากคนยากจน เพราะอย่างน้อยที่สุด ราษฎรทุกคนย่อมสามารถเลี้ยงตัวเองได้ จะมีก็เพียงพระสงฆ์เท่านั้น ซึ่งเป็นชุมชนอิสระเพียงชุมชนเดียว ที่ท่านจงใจจัดให้ต้องอาศัยโภคทรัพย์ส่วนเกิน จากสังคมคฤหัสถ์ในการยังชีพ

คฤหัสถ์ชาวพุทธที่แท้ เป็นผู้ซึ่งไม่เพียงแต่แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบ และใช้จ่ายโภคทรัพย์นั้น เพื่อประโยชน์ทั้งปวง หากเป็นอิสระทางจิตวิญญาณในแง่ที่ไม่ยึดติด หมกมุ่น หรือตกเป็นทาสของโภคทรัพย์นั้นๆ ด้วย ตรงนี้เอง ที่โลกียธรรมและโลกุตตรธรรมจะเชื่อมโยงและดำเนินไปด้วยกัน พระพุทธเจ้าทรงแบ่งคฤหัสถ์หรือผู้เสพอามิสสุขออกเป็นสิบจำพวกด้วยกัน เกณฑ์ในการแบ่งนี้ประกอบด้วย การแสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบหรือมิชอบ การใช้จ่ายโภคทรัพย์นั้นๆ เพื่อประโยชน์สุขของตนเอง ผู้อื่น และเพื่อกุศลกรรมทั้งปวง หรือหาไม่ ตลอดจนท่าทีที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับโภคทรัพย์นั้นๆ ว่าเป็นไปโดยความโลภ ความติดยึด หรือเป็นไปโดยชอบด้วยปัญญาอย่างเป็นอิสระทางจิตวิญญาณ ในบรรดาประเภทของคฤหัสถ์นี้ จำพวกที่สิบ พระพุทธเจ้าทรงจัดว่าเป็นชาวบ้านชนิดที่เลิศ ประเสริฐ และเป็นอุดมบุคคล อันควรแก่การสรรเสริญ เพราะเป็นผู้ที่ดำรงชีวิตได้อย่างเป็นสุขเบิกบาน ทั้งทางโลกียวิสัยและโลกุตตรวิสัย คุณสมบัติของคฤหัสถ์ดังกล่าว ประกอบด้วยรายละเอียดสี่ประการ ดังนี้

ก) โลกียวิสัย

    ๑. แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบ มิใช่โดยทุจริต
    ๒. ใช้จ่ายโภคทรัพย์นั้น เพื่อเลี้ยงตนให้เป็นสุขและเบิกบาน
    ๓. แบ่งปันโภคทรัพย์แก่ผู้อื่น และใช้ในการประกอบกุศลกรรมทั้งปวง

ข) โลกุตตรวิสัย

    ๔. ยิ่งไปกว่านั้น ยังใช้โภคทรัพย์ให้เป็นประโยชน์ อย่างไม่โลภ ไม่ตระหนี่ถี่เหนียว ไม่หมกมุ่นติดยึด ทั้งยังมีสติเท่าทันเห็นโทษภัย กอปรด้วยปัญญาอันช่วยให้ครองตนได้อย่างเป็นอิสระทางจิตวิญญาณ57

บุคคลดังนี้แหละ ที่ได้ชื่อว่าเป็นอริยสาวก กล่าวคือ เป็นบุคคลผู้เจริญการบรรลุธรรมส่วนตนได้มาก ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น ก็คือ การที่โลกียธรรมและโลกุตตรธรรมดำเนินไปด้วยกันอย่างสอดคล้อง เสริมสร้างให้บุคคลเป็นผู้เต็มพร้อม และประกอบกันเข้าเป็นสาระทั้งหมดของพุทธจริยศาสตร์ที่เป็นเอกภาพ โดยมีโลกุตตรธรรมเป็นส่วนสมบูรณ์หรือเป็นปริโยสาน

อย่างไรก็ตาม แม้โภคทรัพย์จะประกอบด้วยอรรถประโยชน์ถึงเพียงนี้ ก็ไม่ควรให้ความสำคัญกันจนเกินไป เพราะอรรถประโยชน์ของโภคทรัพย์นั้น เมื่อโยงให้สัมพันธ์กับการบรรลุจุดมุ่งหมายในระดับปรมัตถ์แล้ว ย่อมมีขีดจำกัดอันพึงตราไว้ด้วย กล่าวคือ แม้ความยากจนจะเป็นสิ่งที่พึงกำจัดไปจากสังคม ก็หาได้หมายความว่า คนยากจนจะไม่มีวิธีบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเองและสังคมได้ จริงอยู่ หนทางแห่งการประกอบกรรมดี (บุญกิริยาวัตถุ ๑๐) นั้นเริ่มต้นด้วย ทาน หรือการบริจาค แต่ถึงกระนั้น หนทางนี้ยังรวมถึงข้อประพฤติปฏิบัติทางศีล การเจริญคุณภาพของจิต และปัญญา การบริการรับใช้ ตลอดจนการสั่งสอนธรรมด้วย ความยากจนย่อมทำให้บุคคลต้องกังวลอยู่กับการดิ้นรนอยู่รอด ฉะนั้นจึงไม่สามารถเจริญธรรมในส่วนตนได้ ในหลายกรณี อาจต้องกลายเป็นบุคคลผู้ก่อความเดือดร้อนแก่สังคม และอาจก่อให้เกิดความยุ่งยากแก่ผู้อื่น ในอันที่จะเพียรบำเพ็ญธรรมส่วนตนได้ แต่เมื่อเขาพร้อมด้วยปัจจัยพื้นฐานแล้ว ซึ่งอาจจะสำเร็จได้ด้วยความช่วยเหลือของผู้อื่น หรือของสังคม และหากเขาฉลาดพอ มีจิตพร้อม และเพียรพยายาม ก็ย่อมไม่มีเหตุอันใดที่จะขัดขวางไม่ให้บรรลุธรรมส่วนตนได้ โภคทรัพย์ในฐานะที่เป็นพื้นฐานในการทำประโยชน์ส่วนรวม ย่อมช่วยให้เกิดเงื่อนไขที่จะสนับสนุนการบรรลุธรรมส่วนตนได้

กระนั้นก็ดี หากกล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว การเจริญจิตเจริญปัญญาที่แก่กล้าสุกงอมแล้วต่างหาก ที่ทำให้บุคคลบรรลุปรมัตถธรรม หาใช่โภคทรัพย์ไม่ ในทางตรงกันข้าม การไม่รู้จักใช้โภคทรัพย์ หรือการใช้โภคทรัพย์ไปในทางที่ผิดนั้น ไม่เพียงแต่จะกีดขวางการพัฒนาธรรมส่วนตนเท่านั้น หากในหลายกรณี ยังเป็นอันตรายต่อความดีงามของสังคมด้วย คนมั่งมีย่อมกระทำทั้งคุณและโทษต่อสังคมได้มากกว่าคนยากจน โภคทรัพย์ของคนดีย่อมเป็นโภคทรัพย์ของสังคม ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นทางให้เกิดความดีงามในสังคมได้ และเท่ากับเป็นทรัพย์ที่เป็นทุนสำหรับสมาชิกทั้งหมดของสังคม กล่าวอีกนัยหนึ่ง ย่อมเป็นเรื่องไม่เสียหายหากโภคทรัพย์ที่มากขึ้นของบุคคล หมายถึงชีวิตที่ดีของชุมชนและสังคมที่เขาอาศัยอยู่ แต่หากโภคทรัพย์นั้นพอกพูนขึ้นด้วยการก่อความเสียหายแก่เพื่อนร่วมสังคม โภคทรัพย์นั้นย่อมเป็นอันตราย และกลับกลายเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข หากโภคทรัพย์ส่วนบุคคลมิได้เป็นโภคทรัพย์ของสังคม และไม่เป็นทางอันนำมาซึ่งความดีงามในสังคม สังคมอาจจะต้องหาวิธีจัดสรรการถือครองโภคทรัพย์กันเสียใหม่ และกระจายโภคทรัพย์ที่มีอยู่ เพื่อยังให้เกิดความดีงามและความอุดมด้วยโภคทรัพย์อย่างทั่วถึง อันจะเป็นรากฐานต่อการพัฒนา และการบรรลุธรรมส่วนบุคคล แก่สมาชิกทั้งมวลของสังคมต่อไป

กล่าวโดยสรุป ท่าทีของพุทธศาสนาที่มีต่อโภคทรัพย์นั้น ย่อมเหมือนกับท่าทีที่มีต่ออำนาจ ชื่อเสียง และยศศักดิ์ ความข้อนี้ ปรากฏชัดในพระดำรัสของพระเจ้าอโศกบนจารึกศิลา โองการที่ ๑๐ ที่ว่า “พระเจ้าปิยทัสสี ผู้เป็นที่รักของเทพทั้งปวง หาได้ถือว่ายศถาบรรดาศักดิ์ และความรุ่งเรืองทั้งปวง มีความหมายอันใดไม่ หากการแสวงหายศและความรุ่งเรืองนั้นๆ มิได้เป็นไปเพื่อว่า ราษฎรทั้งปวงจะได้สดับในธรรมประกาศ และสามารถดำรงตนในธรรมปฏิบัตินั้นๆ ได้”

ระบบพุทธจริยศาสตร์

เราจะเข้าใจจริยศาสตร์ทางสังคมแบบพุทธได้ชัดขึ้น หากพิจารณาโดยโยงถึงระบบพุทธจริยศาสตร์ทั้งหมด ดังได้กล่าวแต่ต้นแล้วว่า พุทธจริยศาสตร์ทั้งหมดนั้นประกอบด้วยอริยมรรคแปด และบุพภาคแห่งอริยมรรค อริยมรรคคงเป็นที่รู้จักกันดีแล้ว แต่บุพภาคแห่งอริยมรรคเล่า คืออะไร ในเรื่องนี้ มีพระพุทธพจน์อยู่ว่า

“ภิกษุทั้งหลาย มีปัจจัยอยู่สองประการอันเป็นเครื่องยังให้เกิดสัมมาทิฏฐิ ปัจจัยสองประการใดหรือ นั่นคือการชักนำโดยผู้อื่น และการทำในใจโดยแยบคาย”58

เงื่อนไขหรือปัจจัยประการแรก มักปรากฏในนามของการเสวนาสัตบุรุษหรือการมีกัลยาณมิตร (กัลยาณมิตตตา) ซึ่งจัดว่าเป็นปัจจัยจากสิ่งแวดล้อมภายนอก ในขณะที่ปัจจัยประการที่สอง เป็นปัจจัยส่วนบุคคลหรือปัจจัยภายใน พระพุทธองค์ทรงเน้นย้ำถึงความสำคัญของปัจจัยหรือบุพภาคแห่งอริยมรรคนี้เสมอ

“ภิกษุทั้งหลาย เมื่อดวงอาทิตย์อุทัยอยู่ ย่อมมีแสงอรุณขึ้นมาก่อนเป็นบุพนิมิต ฉันใด ความมีกัลยาณมิตรก็เป็นตัวนำ เป็นบุพนิมิต แห่งการเกิดขึ้นของอริยอัษฎางคิกมรรค ฉันนั้น”59

“ภิกษุทั้งหลาย เมื่อดวงอาทิตย์อุทัยอยู่ ย่อมมีแสงอรุณขึ้นมาก่อนเป็นบุพนิมิต ฉันใด การทำในใจโดยแยบคายก็เป็นตัวนำ เป็นบุพนิมิต แห่งการเกิดขึ้นของอริยอัษฎางคิกมรรค ฉันนั้น”60

โดยที่อริยอัษฎางคิกมรรค หรืออริยมรรคมีองค์แปดนี้ ท่านถือเป็นมรรค เราจึงอาจกำหนดเรียกบุพภาคแห่งมรรคนี้ได้ว่า “องค์คุณก่อนมรรค” จากนั้นจึงแยกแยะระบบพุทธจริยศาสตร์ได้ดังนี้

องค์คุณก่อนมรรค

๑. การมีกัลยาณมิตร (กัลยาณมิตตตา)

๒. การทำในใจโดยแยบคาย (โยนิโสมนสิการ)

มรรค

๑. ความเห็นชอบ (สัมมาทิฏฐิ) --------- ปัญญา

๒. ความคิดชอบ (สัมมาสังกัปปะ)

๓. วาจาชอบ (สัมมาวาจา) --------- ศีล

๔. ความประพฤติชอบ (สัมมากัมมันตะ)

๕. การเลี้ยงชีพชอบ (สัมมาอาชีวะ)

๖. ความพยายามชอบ (สัมมาวายามะ) ---------  สมาธิ

๗. ความมีสติชอบ (สัมมาสติ)

๘. ความมีสมาธิชอบ (สัมมาสมาธิ)

องค์มรรคทั้งแปดนั้น เป็นส่วนซึ่งพัฒนาขึ้นเป็นคุณลักษณ์ส่วนบุคคล โดยบุคคลนั้นเองเป็นผู้กระทำ เพื่อให้บรรลุจุดหมายสูงสุด ในขณะที่องค์คุณก่อนมรรค เป็นเครื่องอาศัย ในการที่บุคคลจะเกี่ยวข้องกับโลกและสิ่งแวดล้อมภายนอก องค์มรรคทั้งแปดย่อมจัดประเภทได้เป็นธรรม ๓ หมวดใหญ่ด้วยกัน คือ ปัญญา ศีล และสมาธิ

หมวดปัญญานั้น หมายเอาโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทัศนะที่มีพื้นฐานอยู่บนความเข้าใจในธรรมชาติอันไม่เที่ยง ขัดแย้ง และไม่มีตัวตนของสิ่งต่างๆ ตลอดจนปัจจยาการของปรากฏการณ์ทั้งมวล ซึ่งมีนัยว่า สิ่งทั้งปวงย่อมขึ้นอยู่กับเหตุและปัจจัยของมัน ด้วยความเข้าใจดังนี้ การกระทำทั้งหลายจะเป็นไปอย่างรู้เท่าทัน และหนักแน่นจริงจัง ไม่เป็นไปในทางเชื่อโชคลาง หรือเลื่อนลอย หาหลักการอันใดมิได้ ปัญญานี่แหละ ที่เป็นแกนยึดโยงของระบบพุทธจริยศาสตร์ ซึ่งมีโลกุตตรธรรมเป็นส่วนสำเร็จ

หมวดสมาธินั้น ว่าด้วยการพัฒนาคุณภาพจิต และเป็นตัวการที่จะสรรค์สร้างความจริงจัง เด็ดเดี่ยว และมั่นคงในการดำเนินมรรคาแห่งจริยธรรม

หมวดที่สาม คือ หมวดศีลนั้น เป็นหมวดที่เกี่ยวข้องกับกิจในความรับผิดชอบของบุคคลที่มีต่อสังคม

ในอีกแง่หนึ่ง องค์คุณก่อนมรรคทั้งสองประการ ย่อมเป็นปัจจัยเบื้องต้นในการก่อให้เกิดองค์มรรคทั้งแปด และเป็นเครื่องหนุนให้เจริญก้าวหน้าต่อไป แม้ว่าหมวดศีลอันประกอบด้วย วาจาชอบ การกระทำชอบ และการเลี้ยงชีพชอบ จะเป็นส่วนที่เกี่ยวพันกับสังคมโดยตรง แต่ก็เป็นส่วนซึ่งแต่ละบุคคลจะต้องรับผิดชอบในความสัมพันธ์ของตนที่มีต่อสังคม มากกว่าจะเป็นไปในทางกลับกัน ในทางตรงกันข้าม องค์คุณก่อนมรรคทั้งสองประการ กลับเป็นส่วนซึ่งเกี่ยวข้องกับอิทธิพลและผลกระทบที่โลกและสังคมอาจมีต่อบุคคลโดยตรง จุดเน้นย่อมอยู่ที่สิ่งที่บุคคลอาจแสวงหาได้จากสภาพแวดล้อมรอบๆ ตัว ไม่ว่าจะในทางธรรมชาติหรือในทางสังคม โดยอาศัยการรู้จักสัมพันธ์และเข้าไปยุ่งเกี่ยวอย่างชาญฉลาด กล่าวอีกนัยหนึ่ง องค์คุณทั้งสอง ก็คือ การรู้จักเกี่ยวข้องและเรียนรู้จากโลกและสังคมรอบข้าง โดยอาศัยสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม และการคิดอย่างถูกทำนอง ระหว่างองค์คุณทั้งสองประการนั้น ในที่นี้ จุดเน้นย่อมอยู่ที่อันแรก อันได้แก่ การมีกัลยาณมิตร ซึ่งจัดเป็นองค์ประกอบด้านสังคม

ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า การมีกัลยาณมิตรนั้น เป็นสิ่งสำคัญทั้งในระดับการบรรลุธรรมส่วนตน และในระดับชีวิตประจำวันของสามัญชน ดังในพระพุทธพจน์ต่อไปนี้

“ความมีกัลยาณมิตร...เท่ากับเป็นพรหมจรรย์ทั้งหมดทีเดียว เพราะว่าผู้มีกัลยาณมิตร...พึงหวังสิ่งนี้ได้ คือ เขาจักเจริญ จักทำให้มากซึ่งอริยอัษฎางคิกมรรค”

“อาศัยเราผู้เป็นกัลยาณมิตร เหล่าสัตว์ผู้มีชาติเป็นธรรมดา ย่อมพ้นจากชาติ ผู้มีชราเป็นธรรมดา ย่อมพ้นจากชรา ผู้มีมรณะเป็นธรรมดา ย่อมพ้นจากมรณะ ผู้มีโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส เป็นธรรมดา ย่อมพ้นจาก (สิ่งเหล่านั้น)”61

“มิตรบางคนเป็นได้แค่เพื่อนร่วมขวดเหล้า บางคนก็ดีแต่กล่าวว่า เพื่อนรัก เพื่อนรัก (เมื่ออยู่ต่อหน้า) ส่วนผู้ที่ได้พิสูจน์ตนแล้วว่าเป็นเพื่อนในยามยาก ผู้นั้นแล จึงควรเรียกได้ว่า มิตรแท้”62

“ไม่คบคนพาล คบบัณฑิต บูชาผู้ควรบูชา นี้แล คือมงคลอันอุดม ทั้งการอาศัยอยู่ในถิ่นฐานอันเหมาะสมเกื้อกูล...นี้แล คือมงคลอันอุดม”63

ดังนั้น การมีกัลยาณมิตร จึงหาได้เป็นเพียงบุพภาคของชีวิตที่ดีในพุทธจริยศาสตร์ทางสังคมแต่ถ่ายเดียวไม่ หากเป็นบุพภาคของระบบพุทธจริยศาสตร์ทั้งหมดเลยทีเดียว

ความคิดหลักที่เกี่ยวข้องกับการแสวงและใช้จ่ายโภคทรัพย์ ย่อมจัดอยู่ในขั้นศีล กระนั้นก็ดี สมาธิและปัญญาย่อมมีบทบาทในประเด็นนี้ด้วย

การฝึกฝน (สิกขา) เพื่อให้ก้าวหน้ายิ่งๆขึ้นไปในศีล สมาธิ และปัญญา เป็นหลักปฏิบัติที่กำหนดไว้เป็นพิเศษสำหรับพระสงฆ์ การฝึกฝนนี้ เป็นที่รู้จักกันในนามของ ไตรสิกขา ซึ่งได้แก่ อธิศีลสิกขา (การฝึกฝนในศีลอันยิ่ง) อธิจิตตสิกขา (การฝึกฝนในจิตอันยิ่ง) และ อธิปัญญาสิกขา (การฝึกฝนในปัญญาอันยิ่ง)64

แต่สำหรับคฤหัสถ์ บุญกิริยาวัตถุ ๓ ซึ่งได้แก่ ทาน ศีล และ ภาวนา เป็นหลักปฏิบัติที่สอนกันในประเทศฝ่ายเถรวาท เช่น เมืองไทย อย่างแพร่หลายมากกว่าไตรสิกขา โดยถือเป็นแนวปฏิบัติ หรือเป็นวิธีทำบุญสำหรับคนทั่วไป นอกจากนี้ ในพระบาลี ยังมีการกล่าวถึงบุญกิริยาวัตถุทั้งสามนี้ในอีกแบบหนึ่ง ประกอบด้วย ทาน สัญญมะ (การรู้จักควบคุมตนเมื่อสัมพันธ์กับผู้อื่น ซึ่งตรงกับศีล) และ ทมะ (การฝึกฝนปรับปรุงตน ซึ่งตรงกับภาวนา) ธรรมสามอย่างนี้ เรียกชื่อรวมกันว่า เป็นที่ตั้งแห่งการบำเพ็ญบุญ (บุญกิริยาวัตถุ) หรือเป็นการฝึกฝนในสิ่งที่ดีงาม (ปุญญสิกขา)65 อาจกล่าวได้ว่า ธรรมชุดนี้เป็นไตรสิกขาสำหรับคฤหัสถ์ เพราะเป็นเพียงการจัดปรับไตรสิกขาเสียใหม่ให้เหมาะแก่คฤหัสถ์

ความแตกต่างระหว่างไตรสิกขาสำหรับพระสงฆ์และสำหรับคฤหัสถ์นั้น อยู่ที่จุดเนันหรือแง่มุมที่ตอกย้ำ ในไตรสิกขาของพระสงฆ์ จุดเน้นอยู่ที่การบรรลุธรรมส่วนตน ในขณะที่สำหรับคฤหัสถ์ ส่วนที่เกี่ยวข้องกับชีวิตทางสังคมจะสำคัญกว่า ทั้งนี้เพราะคฤหัสถ์ย่อมต้องใส่ใจกับความสัมพันธ์ทางสังคมที่ดี และต้องการทำการเพื่อประโยชน์แก่สังคมในลักษณะที่เป็นการกระทำโดยตรง หรือเป็นรูปธรรมมากกว่า ด้วยเหตุนี้ การบำเพ็ญศีล ซึ่งเป็นความรับผิดชอบทางสังคมประการเดียวของสงฆ์ จึงแยกเป็นทาน และศีลสำหรับคฤหัสถ์ เพื่อให้ชัดเจนและก่อผลต่อสังคมอย่างเป็นรูปธรรม ในทางตรงกันข้าม ส่วนที่เป็นการฝึกฝนด้านในเฉพาะตัว คือ สมาธิ และปัญญา ท่านจัดรวมกันไว้เป็นข้อเดียวสำหรับคฤหัสถ์ คือ จัดเป็นภาวนา จะเห็นได้ว่า ภาวนาในส่วนของคฤหัสถ์ ซึ่งเน้นย้ำที่การปลูกฝังเมตตา พร้อมทั้งทานและศีลนั้น มีความมุ่งหมายสำคัญเพื่อให้โลกนี้เป็นสุขสงบ ปราศจากความเดือดร้อนระส่ำระสาย66 ยิ่งไปกว่านั้น ในเมื่อไตรสิกขาสำหรับพระสงฆ์นั้นมิได้รวมทาน หรือการให้เอาไว้ด้วย จึงเป็นการไม่เหมาะสมที่ภิกษุจะสั่งสมโภคทรัพย์ แต่สำหรับคฤหัสถ์ การแสวงหาสั่งสมโภคทรัพย์ด้วยความอุตสาหะ ย่อมเป็นสิ่งเหมาะควร และได้รับการสรรเสริญ เมื่อรู้จักแบ่งปันให้แก่ผู้อื่นด้วยใจเมตตา

บัญญัติที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ก็คือ ธรรม-วินัย ซึ่งหมายถึง ตัวคำสอน และระเบียบในการประพฤติปฏิบัติ ระบบพุทธจริยศาสตร์ทั้งหมดย่อมประมวลลงได้ในบัญญัตินี้ ซึ่งก็หมายความว่า พุทธธรรม ย่อมประกอบด้วย ธรรมและวินัย ธรรมนั้น เป็นส่วนของความคิด อุดมคติ และหลักการ ส่วนวินัยนั้น ครอบคลุมส่วนที่เป็น กฎ เกณฑ์ และองค์กรทางสังคม หากพิจารณาในแง่จริยศาสตร์สังคม วินัยย่อมเป็นส่วนสำคัญยิ่ง เพราะเป็นส่วนที่เกี่ยวเนื่องด้วยชีวิตทางสังคมโดยเฉพาะ และเป็นการแปรความคิด อุดมคติ และหลักการให้เป็นการปฏิบัติ ธรรมนั้นเป็นกฎธรรมชาติ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อกระบวนการพัฒนาการส่วนบุคคล ในทางตรงกันข้าม วินัยนั้น เป็นกฎที่มนุษย์สร้างขึ้น เพื่อความดีงามของสังคม วินัยย่อมต่อเนื่องกับธรรม และความดีงามของสังคมย่อมเข้ากันได้กับการบรรลุธรรมส่วนบุคคล ในแง่ที่ว่า วินัยจะต้องมีธรรมเป็นพื้นฐาน และสิ่งที่เป็นความดีงามของสังคม ย่อมเอื้อต่อพัฒนาการและการบรรลุธรรมส่วนบุคคลด้วยเสมอ ดังได้กล่าวไว้ข้างต้นแล้วว่า วินัยของสงฆ์อันเป็นส่วนเติมเต็มที่เป็นอิสระจากสังคมนั้น ย่อมตายตัวและค่อนข้างปิด ในขณะที่วินัยสำหรับสังคมคฤหัสถ์ที่กว้างกว่า ยังเปิดทางให้ปรับ ประยุกต์ได้ตามกาลและเทศะ วินัยสงฆ์นั้น พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติขึ้น แต่วินัยสำหรับสังคมโดยรอบนั้น เป็นส่วนที่ชนผู้สามารถและชอบธรรมดังเช่น พระจักรพรรดิ จะเป็นผู้กำหนดจัดแจง โดยอาศัยแนวคิดและหลักการกว้างๆ ซึ่งพระพุทธองค์ทรงปูทางไว้ให้ โดยหลักการ หรือโดยอุดมคติแล้ว วินัยคฤหัสถ์ควรก่อให้เกิดระบบองค์กรทางสังคม ซึ่งบำรุงรักษาหมู่กัลยาณมิตร โดยให้ประชาชนอยู่ร่วมกัน และอาศัยประโยชน์จากกันเยี่ยงมิตรที่ดีพึงกระทำต่อกัน หรืออย่างน้อยที่สุด ก็ให้สังคมนั้นๆ มีกัลยาณมิตรอยู่ ทั้งสร้างสภาพแวดล้อมอันเอื้อต่อพัฒนาการ และการบรรลุธรรมส่วนบุคคลด้วย

บัญญัติและความคิดอื่นที่สำคัญในพุทธจริยศาสตร์ อันเห็นควรจะเอ่ยถึงไว้ในที่นี้ มีดังต่อไปนี้

๑. ถ้าจะให้ระบบจริยศาสตร์ยืดหยุ่นได้ ก็ต้องมีมาตรฐานหรือเกณฑ์กว้างๆ เป็นหลักไว้ด้วย ในทางพุทธ มาตรฐานดังกล่าวประกอบด้วย

ก. มาตรฐานด้านมรรควิธี โดยอาศัยแก่นคำสอนของ พระพุทธเจ้า อันได้แก่

๑) ไม่กระทำชั่วทั้งปวง

๒) กระทำความดีทั้งหลาย

๓) ชำระจิตใจให้บริสุทธิ์

แน่ละ ยังมีมาตรฐานอื่นๆ อีกเป็นอันมาก แต่เนื่องด้วยเนื้อที่จำกัด จึงต้องละไว้

ข. มาตรฐานทางด้านเป้าหมาย โดยอาศัยบัญญัติ ๒ หมวดที่ว่าด้วยประโยชน์ ๓ อันบุคคลพึงบรรลุให้ได้มากที่สุด ตามแต่สภาพการณ์ของชีวิตตน หมวดแรกประกอบด้วย เป้าหมายในระนาบดิ่ง ดังนี้

๑) ประโยชน์อันพึงได้ในปัจจุบัน หรือประโยชน์ที่ตาเห็น (ทิฏฐธัมมิกัตถะ) ตัวอย่างเช่น โภคทรัพย์ สุขภาพ เกียรติ ฐานะ ชื่อเสียง กัลยาณมิตร และ ชีวิตครอบครัวที่เป็นสุข

๒) ประโยชน์อันพึงได้ในภายภาคหน้า หรือประโยชน์ทางจิตใจ (สัมปรายิกัตถะ) ข้อนี้หมายถึง ความสุข และสงบทางใจ ความมีชีวิตที่ไม่มีใครตำหนิได้ และความมั่นใจตนต่อชีวิตโลกหน้า

๓) ประโยชน์สูงสุด หรือประโยชน์อันมีในที่สุด (ปรมัตถะ) ซึ่งหมายถึงนิพพาน อันสงบ เป็นสุข และเป็นอิสระเยี่ยมยอด67

หมวดที่สองประกอบด้วยเป้าหมายระนาบนอนดังนี้

๑) ประโยชน์ส่วนตน (อัตตัตถะ)

๒) ประโยชน์ผู้อื่น (ปรัตถะ)

๓) ประโยชน์ที่เป็นทั้งของตนและของผู้อื่น (อุภยัตถะ)68

๒. ความสัมพันธ์ระหว่างกุศลธรรมที่ได้รับการบ่มเพาะภายในใจ กับการแสดงออกภายนอก ก็เป็นสิ่งสำคัญยิ่งเช่นกัน หากไม่รู้ไม่เข้าใจในเรื่องนี้ ย่อมทำให้สับสนและปฏิบัติผิดพลาดได้ ในประเด็นนี้ ตัวอย่างก็คือ ธรรม ๒ หมวด ซึ่งเป็นหัวใจของพุทธจริยศาสตร์ทางสังคมเลยทีเดียว หมวดแรกได้แก่ ธรรมประจำใจอันประเสริฐ (พรหมวิหาร) อันได้แก่

๑) เมตตา ความปรารถนาดีอยากให้ผู้อื่นมีสุข

๒) กรุณา ความปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์

๓) มุทิตา ความพลอยยินดีเมื่อเห็นผู้อื่นเป็นสุข

๔) อุเบกขา ความมีใจเป็นกลาง ไม่ลำเอียง ไม่ถูกสิ่งแวดล้อมรัดรึง69

หมวดที่สอง เรียกว่า ธรรมเป็นเครื่องประสานให้เกิดความปรองดองในสังคม หรือหลัก ๔ ประการแห่งสามัคคีธรรม (สังคหวัตถุ) อันประกอบด้วย

๑) ทาน การให้ การแบ่งปัน การสงเคราะห์ด้วยทรัพย์

๒) ปิยวาจา การกล่าววาจาไพเราะอำนวยประโยชน์

๓) อัตถจริยา การช่วยเหลือรับใช้

๔) สมานัตตตา การมีตนเสมอ ไม่ลำเอียง และร่วมทุกข์ร่วมสุข70

ข้อแตกต่างระหว่างธรรม ๒ หมวดนี้ก็คือ หมวดแรกนั้นเป็นคุณภาพทางใจ อันเป็นส่วนหนึ่งของการบรรลุธรรมส่วนบุคคล และจัดอยู่ในหมวดสมาธิ หรือ อธิจิตตสิกขา (การฝึกและพัฒนาคุณภาพจิต)71 ธรรมทั้ง ๔ ประการนั้น ล้วนเป็นลักษณะ หรือ คุณภาพทางใจ ซึ่งไม่ใช่การแสดงออกภายนอกต่อสังคม เราสามารถกระทำการโดยมีเมตตาเป็นเจ้าเรือนได้ แต่หามีการกระทำที่เรียกว่าเมตตาไม่ ในทางตรงกันข้าม ธรรมหมวดที่สองนั้นเป็นธรรมแห่งการกระทำ ที่ท่านประสงค์ให้ใช้ในการแสดงออกภายนอกต่อสังคม และจัดอยู่ในหมวดศีล ความสัมพันธ์และการพึ่งพาซึ่งกันและกันระหว่างธรรม ๒ หมวดนี้ อยู่ที่ว่า หากจะให้การกระทำทางสังคมนั้นเป็นไปอย่างจริงใจ เที่ยงแท้ สะอาด หนักแน่น และคงทนต่อการพิสูจน์แล้ว จะต้องกระทำการนั้นๆ โดยอาศัยคุณภาพทางใจทั้ง ๔ ประการ ในหมวดแรกเป็นพื้นฐาน เมตตา กรุณา และมุทิตานั้น ย่อมนำไปสู่ ทาน ปิยวาจา และอัตถจริยา ตามเงื่อนไขและโอกาสต่างๆ ในขณะที่อุเบกขาย่อมเป็นหัวใจของสมานัตตตาเลยทีเดียว

๓. แก่นของพุทธจริยศาสตร์ย่อมหมายถึง อัปปมาทธรรม คือ ความไม่ประมาทด้วย ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสเป็นปัจฉิมโอวาทไว้ว่า “สังขารทั้งหลาย มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังกิจทั้งปวง (เพื่อประโยชน์ตนและผู้อื่น) ให้ถึงพร้อม ด้วยความไม่ประมาทเถิด”72 อัปปมาทธรรมนี้ยังถือเป็นบาทฐานหรือที่ประชุมของกุศลธรรมทั้งมวลด้วย73 โดยธรรมเนียมแล้ว ความไม่ประมาทมักได้รับคำนิยามว่า เป็นอาการไม่ว่างจากสติ74 อันที่จริง ความไม่ประมาทนี้ เป็นทั้งสติ และวิริยะคือความหมั่นความเพียร ประกอบเข้าด้วยกันทีเดียว ความหมายของธรรมข้อนี้ อยู่ที่การไม่ปล่อยปละละเลย ทำในสิ่งที่ควรทำ เว้นในสิ่งที่ควรเว้น ระมัดระวังไม่ปล่อยตนให้ตกไปสู่เหตุแห่งความเสื่อม หายนะภัย หรือความชั่วร้ายใดๆ กับทั้งระวังระไวไม่ให้เสียโอกาสในการทำดี หรือดำเนินการตามเป้าหมาย เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสเทศนาแก่พระเจ้าโกศล ทรงสอนให้พระเจ้าโกศลบำเพ็ญความไม่ประมาทเป็นส่วนควบไปกับการคบกัลยาณมิตร เพื่อให้บ้านเมืองสงบสุขร่มเย็น75 ธรรมข้อนี้จึงอาจกล่าวได้ว่า เป็นความรับผิดชอบต่อสิ่งดีงามทั้งหลาย อันเป็นข้อซึ่งควรจะได้รับการเน้นย้ำให้มากขึ้น อธิบายให้รัดกุมขึ้น และส่งเสริมกันให้มากด้วย ในระบบพุทธจริยศาสตร์ทางสังคม

๔. ปัญหาเรื่องแรงจูงใจก็เป็นเรื่องสำคัญในทางพุทธ ไม่ว่าจะเป็นส่วนบุคคลหรือทางสังคม กล่าวอย่างรวบรัดก็คือ ความปรารถนา (ฉันทะ) นั้นมีอยู่ ๒ แบบ แบบหนึ่งเป็นไปโดยธรรม อีกแบบหนึ่งเป็นไปโดยอธรรม แบบแรกท่านจัดให้เป็นความปรารถนาในทางที่ดีงาม หรือความปรารถนาที่จะทำดี (กุศลฉันทะ ธรรมฉันทะ หรือกุศลธรรมฉันทะ)76 แบบหลังรู้จักกันดีในนามของตัณหาหรืออกุศลฉันทะ ซึ่งนิยามได้ว่า เป็นความต้องการสนองความอยากได้ อยากมี อยากเป็นต่างๆ เป็นการพะนอความยึดมั่นถือมั่นในตัวตน พุทธจริยศาสตร์ย่อมส่งเสริมกุศลฉันทะแน่นอน77 ประเด็นที่สำคัญนั้นอยู่ที่ว่า จะต้องแยกความปรารถนาทั้งสองแบบออกจากกันให้ชัด ส่วนที่เป็นธรรมพึงศึกษากันให้มากและสนับสนุนกันให้มาก

สรุป

พุทธธรรมมองชีวิต โลก และสังคม ว่าเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง ฉันใด พุทธจริยศาสตร์ โดยเฉพาะในระดับสังคม ย่อมเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงได้ ฉันนั้น อันที่จริง เพื่อให้เข้ากับลักษณะอันไม่หยุดนิ่งตายตัวของพุทธจริยศาสตร์ อาตมภาพอยากจะเปลี่ยนหัวข้อธรรมบรรยายด้วยซ้ำ โดยเปลี่ยนจาก “รากฐานพุทธจริยศาสตร์ทางสังคมในสังคมไทยร่วมสมัย” มาเป็น “รากฐานพุทธจริยศาสตร์สำหรับสังคมไทยร่วมสมัย” หรือไม่ก็เรียกง่ายๆ ว่า “รากฐานแห่งพุทธจริยศาสตร์ทางสังคม”

ธรรม วินัย

- เน้นมนุษย์ จิต และ บุคคล

- เชื่อมโยงสู่โลกุตตรวิสัย

- เกี่ยวพันกับการบรรลุธรรมส่วนตน

- เน้นสภาพแวดล้อม วัตถุธรรม สังคม และระบบภายนอก

- มุ่งไปที่โลกียวิสัย

 - เกี่ยวพันกับระเบียบทางสังคม

 

เพื่อที่จะให้ภาพของพุทธจริยศาสตร์ทางสังคมชัดเจนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ควรเน้นย้ำประเด็น ๓ ประการต่อไปนี้

๑. ระบบพุทธจริยศาสตร์ประกอบด้วย มรรค และองค์คุณก่อนมรรค ทั้งนี้ในฝ่ายหลังนี่เอง โดยเฉพาะในองค์คุณอย่างที่สองอันเกี่ยวกับอิทธิพลภายนอกที่ดี หรือการมีกัลยาณมิตร ที่เราจะพบความคิดหลักๆ ว่าด้วยพุทธจริยศาสตร์ทางสังคม บัญญัติว่าด้วยกัลยาณมิตตตา (การคบมิตรที่ดี) ควรได้รับการศึกษาให้มากกว่านี้ กับควรย้ำไว้ในขณะเดียวกันด้วยว่า หมวดศีลในมรรคก็จัดเป็นส่วนหนึ่งของพุทธจริยศาสตร์ทางสังคมด้วย

๒. คุณภาพทางใจ กับ ธรรมสำหรับการแสดงออกภายนอกนั้น เกี่ยวพันกันอย่างแน่นแฟ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ที่ว่า อย่างแรกย่อมเป็นแหล่งที่มา หรือพื้นฐานของอย่างหลัง กล่าวโดยศัพท์ทางพุทธ ธรรมทั้งสองหมวดล้วนประมวลลงในไตรสิกขา หรือองค์มรรคทั้งสามหมวด อย่างแรกย่อมอยู่ในหมวดอธิจิตหรือสมาธิ คือการรู้จักบังคับปรับปรุงจิตใจ และอย่างหลังย่อมอยู่ในหมวดอธิศีล คือการรู้จักประพฤติปฏิบัติให้ถูกทำนองนั่นเอง ยิ่งไปกว่านั้น อธิจิตย่อมโยงถึงอธิปัญญา ซึ่งเป็นยอดคำสอน หรือหัวใจของพุทธจริยศาสตร์ ถึงตรงนี้ เราย่อมเห็นได้เช่นกันว่า จริยศาสตร์ทางสังคมกับจริยศาสตร์ทางใจนั้น สัมพันธ์กันอย่างไร

๓. ธรรมในฐานะกฎธรรมชาติ และวินัยในฐานะกฎที่มนุษย์บัญญัติขึ้น ต่างเป็นส่วนประกอบของพุทธจริยศาสตร์ ในส่วนธรรม บุคคลย่อมมีความรับผิดชอบทางจริยธรรมต่อตนเอง ฉันใด ในทางวินัย ชุมชนหรือสังคมย่อมมีส่วนสนับสนุน หรือขัดขวางการกระทำของบุคคล ฉันนั้น พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติพระวินัยขึ้น ก็เพื่อให้ผู้คนสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน และพึ่งพาอาศัยกันอย่างถูกต้อง ส่วนธรรมนั้น ทรงบัญญัติอธิบายไว้เพื่อให้มนุษย์ได้บรรลุอิสรภาพ และเสรีภาพภายในใจ ในท่ามกลางโลกที่ทุกคนต่างต้องพึ่งพาอาศัยกันนี้

จริยศาสตร์ในทางพุทธชี้ให้เห็นว่า การบรรลุธรรมส่วนบุคคล และความดีงามทางสังคมนั้น พึ่งพาอาศัยกันอย่างแยกจากกันไม่ได้ แม้แต่พระสงฆ์ผู้ซึ่งอุทิศตนให้แก่การบรรลุธรรมยิ่งกว่าผู้อื่น ก็ต้องอาศัยคฤหัสถ์ ทางด้านปัจจัยพื้นฐาน ในการดำรงชีพ ความข้อนี้จะเป็นไปได้ ก็ต่อเมื่อสังคมสงบสุขร่มเย็น และทำนองเดียวกัน ที่สังคมจะร่มเย็นได้ พระสงฆ์ก็ต้องมีส่วนช่วยบำรุงรักษา เมื่อว่าถึงจริยศาสตร์ระดับที่ลุ่มลึกลงไป จะมีก็เพียงพระพุทธเจ้าและพระปัจเจกพุทธเท่านั้น ที่สามารถตรัสรู้โดยชอบได้ด้วยตนเอง บุคคลอื่นย่อมต้องอาศัยการชักนำ กระตุ้นเร้า และสั่งสอนโดยกัลยาณมิตร หรือไม่ก็โดยสมาคมกับกัลยาณชน ด้วยเหตุนี้ สามัญชนทุกคนย่อมต้องรักษาความสัมพันธ์กับผู้อื่นให้ดี คือมีส่วนรับผิดชอบในการบำรุงรักษาสังคม ให้อยู่ในสภาพที่เอื้อต่อการแสวงหากัลยาณมิตร ในขณะเดียวกัน ยิ่งบุคคลเข้าใกล้ปรมัตถธรรมได้เพียงใด เขาก็ย่อมเข้าใจได้มากขึ้นว่า อะไรเหมาะสมเกื้อกูลแก่สังคม โดยนัยนี้ เขาย่อมทำประโยชน์แก่สังคมได้ดียิ่งขึ้น

ในทางพุทธ โภคทรัพย์เป็นเพียงมรรควิธี หาใช่จุดมุ่งหมายไม่ ปัญหานั้นไม่ได้อยู่ที่ว่ามั่งมี หรือยากจน หากอยู่ที่ว่าจะเกี่ยวข้องกับโภคทรัพย์อย่างไร และโภคทรัพย์เป็นสิ่งจำเป็นในกรณีใด แค่ใด กล่าวอีกนัยหนึ่ง ในทางพุทธ การมีโภคทรัพย์ย่อมจบลงที่ความเป็นอิสระจากโภคทรัพย์ ในกรณีที่โภคทรัพย์เป็นสิ่งจำเป็นในฐานะเป็นปัจจัยพื้นฐาน ก็ควรใช้มันให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม เพื่อจะให้เกิดสภาพแวดล้อม ที่เอื้อต่อการพัฒนาธรรมส่วนบุคคลของสมาชิกทุกคนในสังคม หากปฏิบัติต่อโภคทรัพย์ดังนี้ได้ ก็ไม่ต้องสนใจดอก ว่าโภคทรัพย์นั้นเป็นของใคร ไม่ว่าเจ้าของจะเป็นบุคคล ชุมชน หรือสังคมก็ตาม โภคทรัพย์จะเป็นของส่วนบุคคลได้ ก็ต่อเมื่อผู้อุดมด้วยโภคทรัพย์ ดำรงตนในฐานะผู้จัดหาปัจจัยพื้นฐานให้แก่สังคม คือ เป็นเนื้อนาที่โภคทรัพย์งอกงามเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่เพื่อนร่วมสังคม หากโภคทรัพย์มิได้ก่อให้เกิดประโยชน์ดังนี้แล้ว โภคทรัพย์ย่อมไร้คุณ คนมั่งมีก็ไร้ค่า การสั่งสมโภคทรัพย์ย่อมกลายเป็นอธรรม ยิ่งไปกว่านั้น การจัดแจงแต่งหาโภคทรัพย์ ก็พึงกระทำกันด้วยการรู้เท่าทันผลดี ผลเสีย อย่างตระหนักในขีดจำกัดของประโยชน์ของโภคทรัพย์ โดยสามารถมีใจเป็นอิสระจากมันด้วย ในกรณีของสงฆ์ ซึ่งเป็นผู้มุ่งในนิพพาน เพื่อประโยชน์ของชนทั้งปวง โดยอาศัยปัจจัยพื้นฐานจากคฤหัสถ์ ควรให้ชีวิตเป็นไปโดยอิสระจากโภคทรัพย์ทั้งปวง นี้ย่อมหมายความว่า การปฏิบัติเพื่อให้บรรลุเป้าหมายสูงสุดนั้น ต้องอาศัยโภคทรัพย์ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม แต่ถึงขั้นหนึ่งแล้ว โภคทรัพย์ก็หาได้จำเป็นดังในระดับพื้นฐานไม่ ตรงจุดนี้ เราคงจะเห็นความสัมพันธ์ระหว่างการบรรลุธรรมส่วนบุคคล กับความดีงามส่วนสังคม ได้อีกเช่นกัน นั่นก็คือ เมื่อรู้จักใช้โภคทรัพย์อย่างไม่ติดยึด โดยให้เป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น โภคทรัพย์นั้นย่อมก่อให้เกิดความดีงามในสังคม และย่อมเกื้อกูลต่อการบรรลุธรรมส่วนบุคคล อันจะเป็นเหตุให้ความดีงามในสังคมงอกงามยิ่งๆ ขึ้นไป

คำอนุโมทนา

สำนักพิมพ์เทียนวรรณ มีฉันทะที่จะเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ได้อุตสาหะรวบรวมข้อเขียน บทความ และคำบรรยายในโอกาสต่างๆ ของผู้เขียน จัดประมวลเป็นหมวด แล้วขออนุญาตพิมพ์เป็นหนังสือเล่ม เฉพาะเล่มนี้ให้ชื่อว่า รากฐานพุทธจริยศาสตร์สำหรับสังคมไทยร่วมสมัย ซึ่ง คุณวีระ สมบูรณ์ ได้แปลถ่ายทอดเป็นภาษาไทยจากต้นฉบับภาษาอังกฤษชื่อ Foundations of Buddhist Social Ethics for Contemporary Thailand ผู้เขียนได้ตรวจดูสำนวนแปลแล้ว ไม่ขัดข้อง เพราะเป็นการช่วยกันเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ อันจะอำนวยประโยชน์ ทั้งในทางวิชาการ และในการเจริญกุศลธรรม

สิทธิในการพิมพ์เฉพาะครั้ง ได้มอบให้เปล่าแก่ผู้จัดพิมพ์ในแต่ละครั้ง เช่นเดียวกับหนังสืออื่นทุกเล่มของผู้เขียน เท่าที่ได้พิมพ์แล้ว ไม่ว่าโดยบุคคลหรือสถาบันใด ทั้งนี้ ด้วยถือว่า ความเจริญแพร่หลายแห่งธรรม และความงอกงามแห่งสัมมาปัญญาที่อาจเกิดมีขึ้นจากธรรมทานนั้น จักเป็นผลสนองที่มีคุณค่าสูงสุด

ขออนุโมทนาต่อสำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง ที่ได้มีฉันทะและวิริยะดำเนินการจัดพิมพ์หนังสือนี้ขึ้นเผยแพร่ ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสำนักพิมพ์ในการบำเพ็ญประโยชน์ ขอกุศลกรรมร่วมกันนี้ จงอำนวยผลเพื่อประโยชน์สุขของพหูชน ตลอดกาลนาน

พระเทพเวที 

1แสดง ณ ที่ประชุม “Moral Values in Comparative Perspective” ซึ่งจัดโดยโครงการร่วมมือศึกษาศาสนาเปรียบเทียบ เบอร์กเลย์ ฮาร์วาร์ด ที่ GTU เบอร์กเลย์ แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๒๔ ตีพิมพ์ครั้งแรก (ฉบับภาษาอังกฤษเดิม) ใน Social Dimension of Buddhism in Contemporary Thailand โดยสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ฉบับปรับปรุงเพิ่มเติม พิมพ์รวม ใน “Attitudes Towards Wealth and Poverty in Theravada Buddhism” ในชุด CSWR Studies in World Religions มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด จะพิมพ์เสร็จต้น พ.ศ. ๒๕๒๘
2ดูที่สุดสองประการนี้ ตลอดทั้งเรื่องคฤหัสถ์หรือผู้เสวยกามสุข ๑๐ จำพวก และผู้บำเพ็ญตบะ ๓ จำพวก ใน ราสิยสูตร, สํ.สฬ. ๑๘/๖๒๙/๔๐๖
3ตัวอย่างเช่น องฺ.จตุกฺก. ๒๑/๑๒๙/๑๗๘; ที.ปา. ๑๑/๑๐๖/๑๓๗
4คือการประชุมสวดพระปาฏิโมกข์ทุกๆ ปักษ์ ดังที่มีบัญญัติเป็นกฎไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้เธอ ประชุมกัน ทุกๆ ๑๔ ค่ำ หรือ ๑๕ ค่ำ และทุกๆ ๘ ค่ำของระยะกึ่งเดือน...เราอนุญาตให้เธอประชุมกัน...เพื่อกล่าวธรรม...เพื่อสวดปาฏิโมกข์” (วินย. ๔/๑๔๘/๒๐๓)
5ดูกรณีพิเศษใน วิสุทธิ. ๓/๓๖๘
6ตัวอย่างเช่น องฺ.ฉกฺก. ๒๒/๓๐๓/๓๖๙
7ตัวอย่างเช่น องฺ.ทสก. ๒๔/๓๖/๗๘
8อง.ปญฺจก. ๒๒/๑๒๙/๑๖๕
9องฺ.จตุกฺก. ๒๑/๒๑/๒๗
10วินย. ๔/๘๕/๑๐๓
11ดูรายละเอียดใน ที.ปา. ๑๑/๓๑๗/๒๕๗; องฺ.ฉกฺก. ๒๒/๒๘๒/๓๒๒
12ที.ม. ๑๐/๗๐/๙๐; องฺ.สตฺตก. ๒๓/๒๐/๑๘
13ตัวอย่างเช่น วินย. ๔/๘๗/๑๐๖
14องฺ.ทสก. ๒๔/๔๘/๙๒
15ตัวอย่างเช่น สํ.นิ. ๑๖/๖๗๙/๓๑๔
16ขุ.อิติ. ๒๕/๒๘๗/๓๑๔
17วินย. ๑/๓๒/๓๙
18ที.ปา. ๑๑/๒๐๔/๒๐๕
19ที.ปา. ๑๑/๑๗๒-๒๐๖/๑๙๔-๒๐๗
20ตัวอย่างเช่น สํ.ม. ๑๙/๕-๑๓๙/๒-๓๘; องฺ.เอก. ๒๐/๗๒-๑๒๘/๑๖-๒๕; ขุ.อิติ. ๒๕/๑๙๕/๒๓๗ (ความข้อนี้จะพูดถึงโดยละเอียดภายหลัง)
21องฺ.ปญฺจก. ๒๒/๕๔/๗๕; เทียบ องฺ.ปญฺจก. ๒๒/๗๘/๑๑๗
22นาถกรณธรรม (ที.ปา. ๑๑/๓๕๗/๒๘๑; ๔๖๖/๓๓๔; องฺ.ทสก. ๒๔/๑๗/๒๕)
23สํ.ม. ๑๙/๗๕๙-๗๖๑/๒๒๕
24ตามที่มีมาใน อรรถกถาธรรมบท ผู้คนเป็นจำนวนหลายร้อยดำรงชีพอยู่ด้วยอาหารที่เหลือจากพระในพระเชตวันวิหาร อันเป็นที่ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงประทับอยู่เนืองๆ
25ขุ.ชา. ๒๘/๒๔๐/๘๖
26ที.อ. ๓/๔๕
27ที.ปา. ๑๑/๓๕/๖๕
28สํ.ส.๑๕/๓๕๑/๑๑๐; ความคิดบางประการเกี่ยวกับธรรมหมวดนี้ ดูได้จาก กูฏทันตสูตร (ที.สี. ๙/๒๐๖/๑๗๑) ทั้งยังมีอธิบายไว้ในอรรถกถาบางแห่งด้วย (สํ.อ. ๑/๑๖๙; สุตฺต.อ. ๒/๑๕๓)
29ขุ.ชา. ๒๗/๒๔๔๔/๕๓๒; ชา.อ. ๗/๓๔๘
30ที.ปา. ๑๑/๓๙/๗๐
31ที.ปา. ๑๑/๖๒/๑๐๐
32องฺ.อฎฺฐก. ๒๓/๑๔๔/๒๘๙
33ที.ปา. ๑๑/๔๐๐/๒๙๓; องฺ.จตุกฺก. ๒๑/๓๑/๔๑
34สํ.ส. ๑๕/๘๔๕/๓๑๖; ขุ.สุ. ๒๕/๓๑๑/๓๖๑
35องฺ.จตุกฺก. ๒๑/๖๒/๙๐
36องฺ.อฏฺฐก. ๒๓/๑๔๔/๒๙๒
37ที.ปา. ๑๑/๑๔๐/๑๖๗; ๒๖๗/๒๔๔; องฺ.จตุกฺก. ๒๑/๓๒/๔๒; ๒๕๖/๓๓๕; องฺ.อฏฺฐก. ๒๓/๑๑๔/๒๒๒; ๒๐๙/๓๗๗
38องฺ.ฉกฺก. ๒๒/๓๑๖/๓๙๓-๓๙๕
39องฺ.เอก. ๒๐/๑๔๗/๓๑
40องฺ.ปญฺจก. ๒๒/๘๘/๑๓๐
41ที.ปา. ๑๑/๒๓๗/๒๓๖; องฺ.จตุกฺก. ๒๑/๒๘/๓๕
42ที.ปา. ๑๑/๓๕๗/๒๘๑; ๔๖๖/๓๓๔; องฺ.ทสก. ๒๔/๑๗/๒๖
43เช่น องฺ.จตุกฺก. ๒๑/๑๙๘/๒๘๔
44องฺ.จตุกฺก. ๒๑/๒๕/๓๓
45อง.จตุกก. ๒๑/๔๓/๕๙; ๘๔/๑๐๙
46สํ.นิ. ๑๖/๕๕๗-๙/๒๗๒-๓
47ขุ.ธ. ๒๕/๑๕/๒๔
48ขุ.ธ. ๒๕/๓๔/๖๓
49ตัวอย่างเช่น องฺ.จตุกฺก. ๒๑/๑๙๗/๒๗๖; กับดู จูฬกัมมวิภังคสูตร ใน ม.อุ. ๑๔/๕๗๙/๓๗๖
50องฺ.อฏฺฐก. ๒๓/๑๔๔/๒๙๐
51องฺ.จตุกฺก. ๒๑/๖๒/๙๐
52องฺ.จตุกฺก. ๒๑/๖๑/๘๘; เทียบ องฺ.ปญฺจก. ๒๒/๔๑/๔๘
53ขุ.อิติ. ๒๕/๒๐๔/๒๔๓
54สํ.ส. ๑๕/๓๘๗-๙/๑๓๐-๒
55ขุ.ธ. ๒๕/๒๓/๓๘
56นามจริงของเศรษฐีผู้นี้คือ สุทัตตะ สมญาที่ได้นั้นหมายความว่า ‘ผู้แจกจ่ายอาหารแก่ผู้ยากไร้’ อันเนื่องมาแต่ทานสงเคราะห์ของท่านนั่นเอง นอกจากนี้ ยังมีเรื่องเกี่ยวกับเศรษฐีตระหนี่กลับใจมาเป็นเศรษฐีใจบุญอยู่มาก ใน อรรถกถาธรรมบท และ ชาดก
57สํ.สฬ. ๑๘/๖๓๑/๔๐๘; องฺ.ทสก. ๒๔/๙๑/๑๘๘ (ความแตกต่างระหว่างโลกียะกับโลกุตตระนี้ ผู้เขียนจำแนกโดยอาศัยพุทธพจน์ว่าด้วยอริยสาวกเป็นเกณฑ์ตัดสิน)
58องฺ.ทุก. ๒๐/๓๗๑/๑๑๐; เทียบ ม.มู. ๑๒/๔๙๗/๕๓๙
59สํ.ม. ๑๙/๑๒๙/๓๖; ๑๓๘/๓๗
60สํ.ม. ๑๙/๑๓๖/๓๗; ๑๔๕/๓๘
61สํ.ม. ๑๙/๗/๓
62ที.ปา. ๑๑/๑๘๕/๑๙๘
63ขุ.ขุ. ๒๕/๖/๓; ขุ.สุ. ๒๕/๓๑๘/๓๗๖; พระพุทโธวาท และพระพุทธพจน์ ที่เน้นย้ำความสำคัญของการสมาคมและสภาพแวดล้อมนี้ อาจหาพบได้ทั่วไปในพระบาลี เรื่องราวต่างๆ ที่เป็นอุทาหรณ์ของความข้อนี้ ก็มีอยู่ทั่วไปในชาดก
64เช่น องฺ.ติก. ๒๐/๕๒๖/๒๙๗
65ขุ.อิติ. ๒๕/๒๐๐/๒๔๑; ๒๓๘/๒๗๐
66ขุ.อิติ. ๒๕/๒๐๐/๒๔๑; ๒๓๘/๒๗๐
67ขุ.จู. ๓๐/๖๗๓/๓๓๓; ๗๕๕/๓๘๙; ในพระบาลีรุ่นเก่า มักเอ่ยถึงประโยชน์สองประการแรกเป็นสำคัญ โดยรวมเอาประการที่สามไว้ในประการที่สอง ดูตัวอย่างเช่น สํ.ส. ๑๕/๓๖๗/๑๒๐; ๓๗๙/๑๒๖; องฺ.ปญฺจก. ๒๒/๔๓/๕๓; ขุ.อิติ. ๒๕/๒๐๑/๒๔๒; และ พรหมายุสูตร ใน ม.ม. ๑๓/๕๙๖/๕๔๓
68ขุ.จู. ๓๐/๖๗๓/๓๓๓; ๗๕๕/๓๘๙; องฺ.ติก. ๒๐/๔๙๔/๒๐๑; ๕๑๑/๒๗๙; องฺ.ปญฺจก. ๒๒/๕๑/๗๒; องฺ.อฏฺฐก. ๒๓/๖๙/๑๓๗
69ที.ม. ๑๐/๑๘๔/๒๒๕; ที.ปา. ๑๑/๒๒๐/๒๓๒; ฯลฯ
70ที.ปา. ๑๑/๑๔๐/๑๖๗; ๒๖๗/๒๔๔; องฺ.จตุกฺก. ๒๑/๓๒/๔๒; ๒๕๖/๓๓๕; องฺ.อฎฺฐก. ๒๓/๑๑๔/๒๒๒; ๒๐๙/๓๗๗
71ใน วิสุทธิมรรค ส่วนที่ว่าด้วยพรหมวิหารสี่นี้มีอยู่ถึง ๔๓ หน้า (ภาค ๒ หน้า ๘๕-๑๓๑) แต่หามีโบราณาจารย์ท่านใดแสดงเรื่อง สังคหวัตถุธรรม ที่เป็นคู่กันไว้ไม่
72ที.ม. ๑๐/๑๐๗/๑๔๑
73สํ.ม. ๑๙/๒๖๒/๖๖
74ตัวอย่างเช่น ที.อ. ๑/๑๓๖
75สํ.ส. ๑๕/๓๗๘-๓๘๐/๑๒๕-๖
76องฺ.ฉกฺก. ๒๒/๓๖๗/๔๙๑
77ตัวอย่างเช่น อิทธิบาทสี่, ที.ปา. ๑๑/๒๓๑/๒๓๓
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง