มองอเมริกา มาแก้ปัญหาไทย

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

มองอเมริกามาแก้ปัญหาไทย1

ขออำนวยพรท่านอาจารย์คณบดี ท่านอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ นิสิต ท่านผู้สนใจทั้งหลาย

อาตมภาพขออนุโมทนาแด่ทางคณะครุศาสตร์ ในวันที่เป็นมงคล คือวันครบรอบสถาปนา ๒๕ ปี ซึ่งเวียนมาบรรจบในวันนี้ อนุโมทนาในการที่ได้จัดงานนี้ขึ้น ซึ่งถือได้ว่าเป็นการรำลึกพระคุณท่านที่ได้บำเพ็ญประโยชน์ไว้แก่คณะ เริ่มตั้งแต่การก่อตั้งตลอดจนกระทั่งการที่ได้บำเพ็ญประโยชน์แก่ประเทศชาติและสังคมส่วนรวม และการจัดกิจกรรมต่างๆ ซึ่งมีทั้งด้านวิชาการ และด้านอื่นๆ เพื่อให้งานวันสถาปนามีความหมายเป็นประโยชน์มากขึ้น

สำหรับหัวข้อที่นิมนต์ให้อาตมภาพมาพูดนี้ ชื่อหัวข้อรู้สึกยาวมากสักหน่อย และเมื่อพิจารณาเรื่องที่จะพูดนี้ก็ยาวเช่นเดียวกัน จนกระทั่งเกิดความรู้สึกว่าเวลาจะสั้นไป ถ้าหากจะพูดสัก ๔-๕ ชั่วโมงก็คงจะดี สำหรับหัวข้อเรื่องที่บอกไว้ว่าพุทธธรรมกับการแก้ปัญหาการศึกษาของสังคมไทยในอนาคต อาตมภาพขอถือเอาตามความต้องการของตนเองที่จะพูดให้รวบรัด โดยที่เอาคำว่าปัญหาการศึกษาและปัญหาสังคมมาพูดให้เหมือนกับเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ความจริงนั้นการศึกษาก็มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์แก่สังคม และอีกด้านหนึ่งความเป็นไปในสังคมก็สืบเนื่องจากการศึกษาด้วย เป็นเรื่องที่เชื่อมถึงกันอยู่ เพราะฉะนั้นอาตมภาพพูดในวันนี้อาจจะไม่ได้พูดถึงปัญหาการศึกษาโดยตรง แต่พูดถึงปัญหาสังคมหรือเน้นหนักปัญหาสังคมในแง่ที่สะท้อนมาถึงปัญหาการศึกษา ว่าที่จริงนั้น เราบอกกันว่าการศึกษามีวัตถุประสงค์เพื่อชีวิตและสังคม แต่วันนี้เรามาพูดเน้นในด้าน สังคม แต่ความจริงแล้ว สังคมก็ดี ชีวิตก็ดี เป็นเรื่องที่พัวพันกัน มีความเป็นเหตุปัจจัยต่อกันชนิดที่แยกได้ยาก คือ ชีวิตของบุคคลเป็นอย่างไร ก็มีผลกระทบถึงสังคมด้วย และสังคมเป็นอย่างไร ก็มีผลกระทบต่อชีวิตของบุคคลด้วย อันนี้เป็นเรื่องธรรมดา แต่ในวันนี้เป็นการพูดเน้นในแง่ของสังคม และถือว่าเป็นการพูดพันไปถึงชีวิตด้วย

สภาพสังคมไทย

เมื่อพูดถึงการแก้ปัญหา โดยวิธีการแล้วจะต้องพูดถึงตัวปัญหาก่อน เป็นขั้นตอนของการแก้ปัญหา คือต้องรู้ถึงสภาพของปัญหาที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และสืบสาวหาสาเหตุเพื่อดำเนินการวางวิธีแก้ไข เป็นอันว่าตอนต้นจะต้องพูดถึงสภาพปัญหาของสังคมไทย แต่การที่จะพูดถึงปัญหาของสังคมไทยให้ละเอียดลออนั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้ในเวลาอันจำกัดนี้ จึงจำเป็นต้องหาวิธีการพูดสั้นๆ ให้มองเห็นเป็นภาพกว้างๆ อาตมภาพก็มานึกถึงคำของฝรั่ง ๒ คน ซึ่งอาจจะสะท้อนให้เห็นสภาพของสังคมไทย อย่างไรก็ตามขอให้นึกว่าคำกล่าวนี้อาจจะเกินความจริงไปบ้าง คือไม่ได้มุ่งว่าถ้อยคำนี้จะเป็นจริงแน่นอนลงไป เป็นเพียงอ้างขึ้นมาเพื่อเป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นสภาพที่เราพอจะเข้าใจกันอยู่ อันที่หนึ่ง อาตมภาพได้ยินจากคนที่อยู่ฝ่ายวิชาการของกทม. ก็คงไม่ต้องออกชื่อท่านผู้พูด เรื่องมีว่า ฝรั่งคนหนึ่งจะเดินทางมาวิเคราะห์ปัญหาบางอย่างในประเทศกัมพูชาหรือเขมร ท่านผู้นี้ถูกฝรั่งอื่นๆ เตือนว่าประเทศเขมรอย่าไปเลย อันตราย กำลังมีการรบราฆ่าฟันกันหนัก แต่เขาก็มีเหตุต้องมา ในที่สุดเขาก็ได้เดินทางมาเขมร เมื่อมาถึงประเทศเขมร เขาก็ได้ดูสภาพการณ์ต่างๆ ก็น่ากลัวอยู่ เมื่อมาถึงเขมรก็มาใกล้ประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศใหญ่ประเทศหนึ่ง และคิดว่าควรต้องเดินทางมาประเทศไทยด้วย และเขาก็ได้เดินทางมาประเทศไทย เมื่อกลับไปแล้วเขาได้คุยย้อนหลังว่า เมืองไทยน่ากลัวที่สุดในโลก ที่เขารอดชีวิตกลับไปได้ก็นับว่าเป็นบุญแล้ว ที่เขาพูดอย่างนี้หมายความว่าประเทศไทยน่ากลัวกว่าประเทศเขมร ที่เขาว่านี้เป็นเรื่องปัญหาเกี่ยวกับความปลอดภัยของชีวิต เช่น อาชญากรรม อุบัติเหตุ ตลอดจนความปลอดภัยบนท้องถนน โดยเฉพาะเขาเน้นความปลอดภัยบนท้องถนน พูดทำนองว่าเขาอยู่บนท้องถนนในเมืองไทยในกรุงเทพฯ น่ากลัวยิ่งกว่าสู้กระทิง หากว่าสู้กระทิงเขายังมีผ้าแดงสำหรับเอาไว้ช่วยตัวเองได้ แต่มาอยู่บนถนนเมืองไทยเขาไม่มีอะไรช่วยตัวได้เลย อันนี้เป็นเรื่องหนึ่งที่ดูคนอื่นเขามองเกี่ยวกับสภาพความปลอดภัย เราก็รู้อยู่ทั่วไป อย่างทางตำรวจจราจร และกระทรวงสาธารณสุข ก็ได้ออกข่าวเมื่อไม่นานมานี้ว่า สถิติการเสียชีวิตบนถนนหลวงในประเทศไทยนั้นเพิ่มขึ้นปีละถึงร้อยละ ๒๘ มีคนตายบนถนนมากกว่าตายเพราะโรค ตามสถิติปี ๒๕๒๒ มีคนตายด้วยอุบัติเหตุทั้งหมดถึง ๑๖,๐๐๐ คน โรคหัวใจที่ทำให้คนตายมากที่สุดก็เพียง ๑๓,๐๐๐ คน แสดงว่าการตายด้วยอุบัติเหตุมีมาก

ต่อไปอีกอย่างหนึ่งก็ชื่อหนังสือ มีฝรั่งคนหนึ่งเข้ามาวิจัยในเมืองไทย แล้วเขียนหนังสือทางวิชาการขึ้น ตั้งชื่อว่า Modernization Without Development2 แปลว่า ทันสมัยแต่ไม่พัฒนา เขาหมายถึงประเทศไทย เพราะหนังสือเล่มนี้เขียนถึงประเทศไทยทั้งสิ้น สรุปว่า ประเทศไทยทันสมัยแต่ไม่ได้พัฒนาเลย หมายความว่าประเทศไทยมีตึกรามใหญ่โต หรูหรา สิ่งของ เครื่องใช้ฟุ่มเฟือยความสะดวกสบายแทบทุกอย่าง ประเทศฝรั่งอเมริกามีอะไรปุ๊บเดี๋ยวไทยก็มีปั๊บ มีสถาบันสังคม สถาบันการเมืองที่ทันสมัย แต่พอมองดูเนื้อหา มองดูด้านเศรษฐกิจ สภาพความยากจนแร้นแค้นไม่ดีขึ้น ช่องว่างทางสังคมทางฐานะทางเศรษฐกิจเหมือนกับว่ากว้างออกไปทุกที ทีนี้ด้านสังคมทั่วไป ก็เต็มไปด้วยความขาดระเบียบวินัย อาชญากรรม การมัวเมายาเสพติด สถานอบายมุข โอกาสในทางสังคมยังไม่เสมอภาค การพัฒนาที่ยังไม่สมดุลระหว่างชนบทกับในตัวเมือง เป็นต้น หรือมองในแง่การเมืองก็มีรูปแบบเป็นประชาธิปไตย แต่ตัวประชาธิปไตยยังไม่พัฒนาเท่าที่ควร ล้มลุกคลุกคลาน หรือที่พูดกันภาษาตลาดว่า ประชาธิปไตยครึ่งใบ อันนี้เป็นตัวอย่างที่แสดงถึงการที่เขาสรุปความเห็นว่า เมืองไทยได้ทำอะไรต่างๆ ให้ทันสมัยแต่ไม่ได้พัฒนา คือมีรูปลักษณะภายนอกเป็นวัตถุหรือรูปแบบที่ทันสมัย แต่เนื้อหาสถาบันต่างๆ ยังไม่ได้พัฒนาศักยภาพของตนให้ดีขึ้น ที่ว่าอย่างนี้อาจเป็นการมองในแง่ร้ายอยู่บ้าง แต่ว่าเป็นทัศนะของคนภายนอกที่มองดูเรา อาตมภาพว่าเรารับฟังคนอื่นในแง่ร้ายไว้ก็ดี เพราะเป็นแนวทางในการปรับปรุงแก้ไขตนเอง เป็นอันว่าอาตมภาพจะขอพูดถึงสภาพของปัญหาสังคมไทยสั้นที่สุดเพียงเท่านี้ เพราะไม่มีเวลาพูดกันยืดยาว เป็นเพียงให้สะท้อนมองเห็นภาพเอาเอง

ทีนี้ การที่จะมองเห็นทางแก้ไข เราจะต้องรู้ทางที่สังคมไทยเดินมา และทางที่เรามุ่งหน้าจะไป ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญทั้ง ๒ อย่าง ในที่นี้ อาตมภาพจะพูดถึงทางที่กำลังมุ่งจะไปเสียก่อน เราปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคมไทยมีความโน้มเอียงที่จะตามสังคมตะวันตก พูดให้ชัดก็ได้ว่า นิยมอเมริกัน แม้เราจะติเตียนว่าเขาบ้าง แต่สภาพความจริงก็เป็นอย่างนั้น เราเอาอเมริกาเป็นแบบในเรื่องราวหลายอย่าง ในกิจการเป็นอันมาก มีอะไรเกิดขึ้นในสังคมอเมริกันรู้สึกว่าคนในสังคมของเรามีความตื่นตัวและตื่นเต้นที่จะรับ ทีนี้ เราเดินตามเขาเราควรจะศึกษาให้รู้เท่าทันว่าสภาพสังคมอเมริกันที่เขากำลังเป็นอยู่เป็นอย่างไร และเขามีความโน้มเอียงว่าจะเป็นอย่างไร ทั้งนี้เพื่อว่าถ้าเราเดินตามเขาไป เรารู้ว่าเขาเป็นอย่างไร เราจะได้รู้จักเอาสิ่งที่เขาประสบมาเป็นบทเรียน สิ่งที่เขาได้พบไม่ดีเป็นผลร้าย เราก็ควรจะหลีกเลี่ยงได้ ตลอดจนกระทั่งที่ว่าเราเดินตามเขานั้น เราเดินทางเดียวกับเขาจริงหรือเปล่า อันนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าตั้งเป็นข้อสงสัยด้วย

ตอนนี้ อาตมภาพขอโอกาสพูดถึงสภาพของสังคมอเมริกันสักเล็กน้อย การที่พูดนี้มิได้หมายความว่าจะตั้งตัวเป็นนักสังคมวิทยา แต่เป็นเพียงการเสนอความเห็นอย่างกว้างๆ ซึ่งท่านที่เป็นนักสังคมวิทยาอาจพูดได้ละเอียดลออดีกว่า เป็นการเสนอเพื่อเป็นแนวในการคิดพิจารณาหรือช่วยกันมองต่อๆ ไป อย่างไรก็ดี การที่จะพูดเรื่องสังคมอเมริกัน ต้องขอประทานอภัยเล็กน้อย คือว่าญาติโยมฟังพระพูดภาษาอังกฤษมักจะรู้สึกขัดๆ หู แต่วันนี้จำเป็นต้องใช้ภาษาอังกฤษบ้างบางคำ ความจริงเรื่องภาษาก็เป็นเพียงการสื่อความหมายให้รู้เข้าใจกัน อันใดจำเป็นเพื่อให้เกิดความเข้าใจดีขึ้นก็ควรจะต้องใช้บ้าง

สภาพสังคมอเมริกัน

ว่าถึงสภาพของสังคมอเมริกันทั่วๆ ไป เราก็รู้ๆ กันดีอยู่แล้ว เพราะว่าเราเห็นเขาเจริญ เราจึงเอามาเป็นแบบอย่าง ความเจริญของสังคมอเมริกันคือความพรั่งพร้อมทางวัตถุ ความสะดวกสบายต่างๆ อันนี้เป็นภาพที่รู้กันอยู่และสังคมอเมริกันเองเขาก็ยอมรับ เขาถือว่าสังคมของเขาเป็นสังคม affluent คือสังคมที่พรั่งพร้อมทางวัตถุ แต่ในเวลาเดียวกันท่ามกลางความพรั่งพร้อมทางวัตถุนั้นมองอีกด้านหนึ่งให้ลึกลงไป เขายอมรับว่า ประเทศของเขากำลังประสบ cultural crisis คือวิกฤตการณ์ทางวัฒนธรรม ซึ่งอาจทำให้สังคมอเมริกันเปลี่ยนแปลงไปมากในอนาคตที่อาจจะมาถึงในเวลาไม่นาน และวิกฤตการณ์หรือ crisis นั้น ก็สืบเนื่องมาจากความพรั่งพร้อมทางด้านวัตถุนั้นเอง อันนี้จะเกี่ยวพันกันอย่างไร เป็นเรื่องที่จะต้องอธิบาย

ความพรั่งพร้อมนั้นเป็นด้านบวก ทีนี้เรามาดูในด้านลบบ้าง สังคมอเมริกันเรียกว่าเป็นตัวแทนสังคมตะวันตกก็ได้ในแง่หนึ่ง ความเจริญได้มาถึงขั้นที่เราเรียกว่า Push-button Age คือยุคกดปุ่ม หมายความว่าไปไหนมาไหน จะทำอะไรก็กดปุ่ม แล้วก็ทำไปได้โดยสะดวกสบาย บางอย่างเมืองไทยก็มีบ้างแล้ว เช่น ซักผ้าก็ไม่ต้องซักเอง ก็เอาใส่ลงไปในเครื่อง ก็กดปุ่ม เวลาจะตากให้แห้งก็ใส่ไปในเครื่องและกดปุ่ม ประเดี๋ยวก็เอามาใช้ได้ จะไปไหนก็สะดวกสบายแทบทุกอย่าง สะดวกสบายจนกระทั่งเขาบอกว่า ต่อไปจะไม่ค่อยต้องใช้กล้ามเนื้อ จะใช้เพียงกล้ามนิ้ว และนิ้วก็อาจจะใช้เพียงนิ้วชี้นิ้วเดียวด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ตาม ขอทำความเข้าใจก่อนว่า ที่ว่าสังคมอเมริกันมั่งคั่งพรั่งพร้อมนั้น ไม่ได้หมายความว่า ประเทศอเมริกาไม่มีคนยากจน คนจนยังมีไม่น้อย ในเมืองใหญ่สลัมก็มีหลายแห่ง ในรัฐห่างไกลบางรัฐ สภาพล้าหลังขาดแคลนก็ยังมี แต่เมื่อเทียบทั้งหมดแล้ว คนจนกลายเป็นส่วนข้างน้อย สภาพความสะดวกสบายและเครื่องอำนวยความสำราญกระจายไปทั่ว ซึ่งคนส่วนใหญ่สามารถมีส่วนร่วม

ในท่ามกลางความพรั่งพร้อมสะดวกสบายอะไรต่างๆ นี้ ก็มีปรากฏการณ์ในด้านลบ ซึ่งขอยกตัวอย่างมาเป็นสถิติ อันนี้จะขอให้ทนเบื่อบ้าง มาฟังสถิติกัน

เริ่มด้วยด้านร่างกายก่อน ในหนังสือเล่มหนึ่งที่พรรณนาเรื่องความเป็นอยู่ที่สะดวกสบาย ในยุคกดปุ่ม Push-button Age ของฝรั่ง โดยเฉพาะอเมริกันนั้น ผู้เขียนเป็นหมอก็ได้พรรณนาถึง Western Way of Death แปลว่า วิธีตายของฝรั่ง หรือวิธีตายของตะวันตก หมายความว่า ความเจริญพรั่งพร้อมในยุคกดปุ่มนี่มีความสัมพันธ์กับความตายของฝรั่ง หรือนำไปสู่การตายแบบของฝรั่งชนิดหนึ่ง ซึ่งที่สำคัญที่เขายกมาคือเรื่องการเป็นโรคหัวใจ ความเจริญนี้นำมาซึ่งโรคหัวใจ3 โรคหัวใจนั้นมีความสัมพันธ์ทั้งทางกายและทางจิต เขาบอกว่า โรคหัวใจเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งในบรรดาสาเหตุการตายทั้งหมดในประเทศอเมริกา4 ในปี ค.ศ. ๑๙๘๐ คือ ๒ ปีมาแล้ว (พ.ศ. ๒๕๒๓) คนตายด้วยโรคหัวใจแสนละ ๓๔๒ คน โรคมะเร็งเป็น อันดับสอง ห่างกันไกลทีเดียวมีคนตายเพียงแสนละ ๑๘๖ คน เกือบครึ่งต่อครึ่ง ส่วนคนตายด้วยอุบัติเหตุทุกอย่างรวมกันเพียงแสนละ ๔๗ คน ซึ่งนับว่าน้อยมาก ห่างกันเหลือเกินกับโรคหัวใจ อัตราการเพิ่มของการเป็นโรคหัวใจก็สูงมาก พ.ศ. ๒๕๑๖ แสนละ ๒๔๔ คน แต่มาปี ๒๕๒๓ เพิ่มเป็นแสนละ ๓๔๒ คน หมายความว่าสูงขึ้นเกือบแสนละ ๑๐๐ คน

ต่อไปก็โรคจิตโดยตรง นับเฉพาะคนที่อยู่ในโรงพยาบาลหรือสถานรักษา ปี ๒๕๑๘ มีคนเป็นโรคจิต ๖ ล้าน ๔ แสนคน ในจำนวนประชากร ๒๐๐ กว่าล้าน ในขณะที่ ๑๐ ปีก่อนมีคนเป็นโรคจิตเพียง ๒ ล้าน ๖ แสนคนเศษ ก็หมายความว่าในระยะเวลา ๑๐ ปีนี่เพิ่มขึ้นเกือบ ๓ เท่าตัว

ทีนี้ต่อไป ปรากฏการณ์สำคัญอย่างหนึ่งก็คือ สถิติฆ่าตัวตายในอเมริกาการฆ่าตัวตายมีมากกว่าการฆ่ากันตาย หมายความว่าคนฆ่าตัวตายมากกว่าฆ่ากันตาย หรืออัตวินิบาตกรรมมากกว่าฆาตกรรม ในปี ๒๕๒๐ ฆ่าตัวตาย ๒๘,๖๘๑ คน แต่ฆ่ากันตายเพียง ๑๙,๙๖๖ คน น้อยกว่ากันเกือบหมื่นคน ทีนี้อัตราฆ่าตัวตายนี้ก็มีเพิ่มสูงขึ้น ขอเทียบในช่วง ๕ ปี พ.ศ. ๒๕๐๓ มี ๑๙,๐๔๑ คน พ.ศ. ๒๕๐๘ มี ๒๑,๕๐๗ คน พ.ศ. ๒๕๑๓ มี ๒๓,๔๘๐ คน ต่อมาในปี ๒๕๒๐ นี่เพิ่มถึงเกิน ๕ พันคน

เกี่ยวกับความเจริญนี้ เป็นที่น่าสังเกต มองกว้างออกไป การฆ่าตัวตายจะมีมากในประเทศที่เจริญโดยทั่วไป ไม่เฉพาะแต่ประเทศอเมริกา อเมริกานี่ฆ่าตัวตายอย่างที่เมื่อกี้ว่านับเป็นอัตราส่วนแสนละ ๑๒.๕ คน แล้วมองดูประเทศเมกซิโกซึ่งอยู่ติดกับอเมริกา อยู่ทางใต้ เป็นประเทศที่ยากจนอยู่ติดกันนั้นตายด้วยการฆ่าตัวตายแสนละ ๑.๗ (อเมริกา ๑๒.๕) หรือดูง่ายๆ เอาในประเทศเดียวกันเลย ประเทศอาฟริกาใต้มีคน ๒ พวก คือคนผิวขาวกับคนผิวดำ คนผิวขาวเป็นพวกเจริญ คนผิวดำเป็นพวกที่ด้อย ทีนี้จะเห็นการฆ่าตัวตายมีสถิติต่างกัน คนขาวนี่ฆ่าตัวตายมาก แสนละ ๑๔.๕ คน คนดำฆ่าตัวตายแสนละ ๕.๖ คน เกือบ ๓ เท่าตัว ในถิ่นที่คนยากจนแร้นแค้นคนจะดิ้นรนเพื่อความเป็นอยู่อย่างเต็มที่ แต่เขาจะไม่มีการฆ่าตัวตายหรือหายากที่จะฆ่าตัวตาย ส่วนในประเทศที่เจริญมั่งคั่ง แกก็จะฆ่าตัวตาย

แต่อันนี้ยังไม่น่ากลัวเท่าไร ที่น่ากลัวมากกว่านั้นก็คือ การฆ่าตัวตายของเด็กวัยรุ่น ซึ่งกำลังนี้เป็นปัญหาหนักที่น่าตกใจมากของอเมริกา เมื่อปี ๒๕๒๐ หรือ ๒๕๒๑ เด็กวัยรุ่นในอเมริกาพยายามฆ่าตัวตาย ๔ แสนคน และตายจริง ๔,๐๐๐ คน หมายความว่ายังรอดมากกว่า อันนี้ ๔ พันคนไม่ใช่จำนวนน้อยๆ เป็นเรื่องที่น่าสังเกต รู้สึกว่าเป็นสถิติที่น่าตกใจ เขาบอกว่าในช่วงเวลาเพียง ๒-๓ ปี สถิติเด็กหนุ่มสาวที่ฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นเกินกว่า ๒๐๐ เปอร์เซนต์5 อันเป็นเรื่องที่ทำให้เขาต้องคิดพิจารณามากว่าสังคมของเขาเป็นอย่างไร จึงทำให้เกิดภาวะเช่นนี้ นี่เป็นการมองถึงสภาพบางอย่าง ที่แสดงให้เห็นว่าคนท่ามกลางความเจริญ ความพรั่งพร้อมสมบูรณ์ต่างๆ นี่มันมีอะไรเป็นปัญหาซ้อนอยู่ หรือว่าเป็นสังคมที่อมปัญหาบางอย่างเอาไว้ และการฆ่าตัวตายนี้เป็นวิธีหนึ่ง ในบรรดาหลายวิธี ที่คนหนุ่มสาวพยายามหนีออกจากสังคมพรั่งพร้อมที่เขาเบื่อหน่ายและมีความชิงชังขึ้นมานี้

วิธีอื่นมีอะไรอีก ที่เด็กโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ คนหนุ่มสาวพยายามหาทางออกจากสังคมของตน ปฏิกิริยาในระยะไม่นานมานี้ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ใหม่ๆ ทางสังคมในอเมริกา ก็คือการที่คนรุ่นใหม่ปฏิเสธสังคมของตน ในระยะต้นๆ ก็พวกฮิปปี้ที่ปฏิเสธระเบียบแบบแผนสังคมที่มีอยู่ทั้งหมดออกไปอยู่รวมกันเป็นชุมชน มีการแต่งตัวและความเป็นอยู่แปลกๆ ทอดทิ้งวัฒนธรรมที่มีอยู่ของสังคมทั้งหมด นอกจากนั้นก็ตามมาด้วยการเสพยาเสพติด เช่น พวก LSD ตลอดจนเฮโรอีน แต่ต่อมาที่แพร่หลายมากคือกัญชา

มีอีกอย่างซึ่งเป็นการหาทางออกที่แพร่หลายกว้างขวางแล้วก็ยอมรับกันว่าเป็นเรื่องสำคัญซึ่งจะก่อให้เกิดผลต่อวัฒนธรรม หรือต่อสังคมอเมริกันเป็นอย่างมากอย่างลึกซึ้งและยาวนาน6 คือปรากฏการณ์ที่เรียกสั้นๆ ว่า Young America Turns Eastwared แปลว่า อเมริกันหนุ่มสาวหันไปตะวันออก หมายความว่า คนรุ่นใหม่นี้ได้หันมาสนใจศาสนาในทางตะวันออก ซึ่งเขาใช้คำเรียกว่า New Religions แปลว่า ศาสนาใหม่ ซึ่งที่จริงเป็นศาสนาเก่าๆ เก่ามากกว่าของเขาด้วยซ้ำ แต่พอไปที่โน่นแล้วกลายเป็นศาสนาใหม่ ก็มีพุทธศาสนาแบบต่างๆ เช่น นิกายเซน นิกายลามะของทิเบต ศาสนาฮินดูพวกต่างๆ เช่น โยคะ หริกฤษณะ เป็นต้น สิ่งที่เขาสนใจนี้ ที่เห็นชัดคือเรื่องสมาธิ แต่ก็มิใช่ว่าเขาสนใจเฉพาะการปฏิบัติเท่านั้น เขาสนใจคำสอนด้วย เขาคิดหาทางออกแสวงหาคุณค่าที่จะเอามาแก้ปัญหาทางจิตใจ ซึ่งเกิดจากความรู้สึกบีบคั้นในทางสังคมของเขา ความนิยมแบบอย่างตะวันออกจึงแพร่หลายขึ้น ได้มีนักเขียนเกี่ยวกับสมาธิคนหนึ่ง (Alan Watts) พูดทำนองทำนายสังคมของเขาไว้ แต่เป็นคำกล่าวที่เกินความจริง เขาบอกว่าอีกสัก ๕๐ ปีข้างหน้า ประชาชนในอินเดียจะขี่รถยนต์กันเกร่อ จะสร้างบ้านอยู่ในถิ่นชานเมือง จะเล่นเบสบอล แต่ประชาชนในอเมริกาจะไปนั่งสงบอยู่ตามถ้ำ ในรัฐโอเรกอนบ้าง ตามเทือกเขารอคกี้บ้าง ทำสมาธิกำหนดท้องพองยุบบ้าง บริกรรมอาตมันบ้าง นิพพานบ้าง7 อันนี้เป็นคำของนักเขียนอเมริกันท่านหนึ่ง ขอให้ถือว่าเป็นคำกล่าวที่เกินความจริง คือมีความมุ่งประสงค์เพียงจะสะท้อนภาพสังคมของเขาให้เห็นแนวโน้มที่เป็นอยู่จริงในขณะนี้

ศาสนาตะวันออกเข้าอเมริกา

อาตมาจะเล่าสักกรณีหนึ่งเป็นตัวอย่างให้เห็นว่า ความสนใจในศาสนาตะวันออก หรือเรื่องทางจิตใจที่เข้าไปในสังคมอเมริกานั้นเป็นอย่างไร ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มีอาจารย์ผู้หนึ่งคือ โปรเฟซเซอร์ฮาร์วี่ คอกซ์ สอนอยู่ที่ Divinity School หรือคณะศาสนศาสตร์ของมหาวิทยาลัยนั้น ท่านผู้นี้ได้เห็นปรากฏการณ์ในทางสังคม ที่เด็กหนุ่มสาวอเมริกาสนใจในศาสนาตะวันออกกันมากก็รู้สึกว่าขัดใจ คือ ท่านผู้นี้ไม่ชอบใจเลย เห็นว่าศาสนาตะวันออกนี้จะนำคุณค่าทางจิตใจที่เป็นปฏิปักษ์ต่อระบบสังคมอเมริกันเข้าไป และจะก่อให้เกิดผลในทางเสื่อมเสีย เพราะท่านผู้นี้มีแนวความคิดที่เน้นในทางสังคมว่าจะต้องพยายามแก้ปัญหาสังคม เช่น ความอยุติธรรมในสังคมเป็นต้น ด้วยวิธีปฏิบัติการทางสังคมแบบออกเผชิญ ท่านเห็นว่า ศาสนาตะวันออกจะนำคุณค่าที่มองแต่ด้านในเข้าไปเผยแพร่ แล้วก็จะทำให้คนหลีกลี้ปลีกตัวออกจากสังคม ไม่สนใจปัญหาสังคม ท่านจึงมีทัศนคติไม่ดี รู้สึกไม่พอใจ แล้วก็คิดว่าจะต้องนำเอาแนวโน้มที่ไม่ดีไม่งามเชื้อร้ายนี้ออกมาตีแผ่ให้รู้กัน ท่านคิดว่าท่านควรปฏิบัติอย่างไร แล้วก็ตกลงว่าท่านจะต้องเข้าไปใกล้ชิด เข้าให้ถึงพวกขบวนการเหล่านี้ ไปมองดูให้ชัด เพื่อจะได้นำเอาข้อเสียออกมาชี้แจงให้ประชาชนได้มองเห็น

ที่เมืองเคมบริดจ์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดนั้น ก็มีสำนักหรือขบวนการศาสนาตะวันออกเหล่านี้อยู่มากมาย โปรเฟซเซอร์คอกซ์ก็เลยคิดว่าท่านจะต้องไปสำรวจตามสำนักเหล่านั้นให้เห็นอย่างใกล้ชิด ท่านบอกว่าที่เมืองเคมบริดจ์นั้นในช่วงถนนเพียง ๒๐ บล๊อค หรือ ๒๐ ช่วงตึกนี่ มีสำนักขบวนการศาสนาตะวันออกทั้งหมด ๔๐-๕๐ สำนัก นับว่าเป็นจำนวนมากเหลือเกิน ท่านก็เลยขอเรียกเมืองเคมบริดจ์นี้ว่าเป็นเมือง Benares-on-Charles8 เบนาเรส แปลว่าเมืองพาราณสี เมืองพาราณสีอยู่ในอินเดีย เป็นศูนย์กลางลัทธิศาสนาของอินเดีย เมืองเคมบริดจ์นี้ก็มีสภาพคล้ายเมืองพาราณสี เพราะฉะนั้นท่านก็เลยเรียกเมืองเคมบริดจ์นี้ว่าเป็นเมืองพาราณสีบนแม่น้ำชารลส์ ท่านตั้งต้นโดยหานักศึกษามาร่วมพากันเข้าไปสังเกตการณ์ใกล้ชิดในสำนักขบวนการเหล่านี้ ไปดูการปฏิบัติ ดูแนวความคิดอะไรต่างๆ เพื่อให้เห็นอะไรต่ออะไรชัดขึ้น ท่านลงไปศึกษาสังเกตไปสังเกตมาพักหนึ่ง ท่านก็บอกว่ามันไม่พอ การที่ไป observe คือสังเกตอย่างเดียวไม่พอ มันต้องไป participate หรือเข้าร่วมด้วย เข้าร่วมนี้จะเห็นได้ชัดเจน เขาทำสมาธิ เขาเต้น เขาทำอะไรก็ร่วมทำด้วยหมด ต่อมาท่านก็เห็นอีกว่า participate คือเข้าร่วม ก็ยังไม่พอ จะต้องไปให้ถึงแหล่งทีเดียว สำนักใหญ่ๆ ก็อยู่ในที่ต่างๆ เช่น สำนักของทิเบตก็มีสาขาหนึ่งอยู่เมืองโบลเดอร์ รัฐโคโลราโด ชื่อ Naropa Institute สถาบันนาโรปะนี้เป็นศูนย์กลางพุทธศาสนานิกายลามะของทิเบตพวกหนึ่งเท่านั้น ที่นั่นก็มีการศึกษาพุทธศาสนา ตอนนี้กำลังให้ถึงปริญญาโท แล้วท่านโปรเฟซเซอร์คอกซ์นี่ก็รับเชิญไปสอนที่สถาบันนาโรปะนี้ด้วย ท่านก็เลยได้มีโอกาสไปสังเกตดู ศึกษาและปฏิบัติอย่างใกล้ชิด ท่านได้เรียกเมืองโบลเดอร์ ในโคโลราโดนี้ว่า Tibet in-the-Rockies หมายความว่าเป็น ประเทศทิเบตที่อยู่ในเทือกเขารอคกี้ ไม่ใช่ทิเบตจริงภูเขาหิมาลัย

จากการที่ได้สังเกต และเข้าร่วมศึกษาปฏิบัติด้วยตนเองเป็นระยะเวลายาวนานนี้ ในที่สุดก็เกิดเห็นคุณค่าขึ้นมา ความคิดเดิมนั้นเป็นการตั้งใจจะจับผิด แต่แล้วท่านเกิดได้เห็นคุณค่า ท่านจึงเข้าใจว่า ทำไมเด็กสมัยใหม่ในสังคมอเมริกันจึงหันไปสนใจศาสนาตะวันออก ท่านได้เห็นว่ามันมีคุณค่าที่ดีงาม ซึ่งท่านเองก็ได้รับประโยชน์ และยังได้รับเอามาใช้เป็นข้อปฏิบัติประจำในชีวิตของตนเองด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ท่านไม่ยอมรับแนวโน้มของเด็กรุ่นใหม่ทั้งหมด และเห็นว่าการรับของเด็กเป็นไปในทางที่มีความตื่นเต้นมาก บางพวกก็มีลักษณะเป็นแฟชั่นหรือกระเดียดไปในทางลุ่มหลง และอาจจะจับไปใช้ในทางที่ผิด ท่านเห็นว่าศาสนาตะวันออกหรือขบวนการเหล่านั้น มีสิ่งที่เป็นประโยชน์ดีอยู่มาก แต่ต้องนำไปประยุกต์เข้ากับวัฒนธรรมของอเมริกาอย่างเหมาะสม และถ้าทำสำเร็จก็จะเกิดประโยชน์เป็นอันมาก แต่ว่าโดยสาระสำคัญก็คือ เป็นอันว่าท่านยอมรับว่ามันมีดี

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมานี้ พวกนักการศาสนา นักจิตวิทยา นักสังคมวิทยาที่สนใจศึกษาเรื่องนี้อย่างโปรเฟซเซอร์คอกซ์นั้น ได้มีการจัดสัมมนา มีการประชุมทางวิชาการอะไรต่างๆ เป็นครั้งคราว เพื่อที่จะวิเคราะห์เรื่องราวเหล่านี้ ซึ่งโดยสรุปก็เห็นกันว่า ความคิดของตะวันออกเหล่านี้จะต้องเข้าสู่วัฒนธรรมอเมริกัน เป็นส่วนประกอบที่สำคัญต่อไป วัฒนธรรมอเมริกันนี้จึงอยู่ในระยะที่จะเกิด cultural transformation คือจะต้องมีการแปรรูปไป ซึ่งท่านได้ตั้งข้อสังเกตให้เห็นว่า การที่ศาสนาตะวันออกเข้าไป ได้มีอิทธิพลอย่างกว้างขวางเพียงไร แม้แต่วัดในศาสนาคริสต์จำนวนมากมายก็ได้รับเอาวิธีการฝึกสมาธิของศาสนาตะวันออกเหล่านี้เข้าไว้ปฏิบัติในสำนักของตน ท่านเขียนไว้ว่า ชั่วระยะหลายปีที่ผ่านมา การบำเพ็ญสมาธิแบบตะวันออกได้ถูกรับเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของข้อวัตรปฏิบัติของคริสต์ศาสนามากขึ้นเรื่อยๆ ในสำนักบำเพ็ญพรตหรือวัดในคริสต์ศาสนา ตั้งแต่รัฐเมน Maine จนถึงรัฐนิวเมกซิโก New Mexico (รัฐ Maine ถึงรัฐ New Mexico ก็คือทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา เพราะรัฐ Maine นี้อยู่ตะวันออกเฉียงเหนือสุด New Mexico อยู่ตะวันตกเฉียงใต้สุด การพูดอย่างนี้เป็นสำนวน หมายความว่าทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา) คณะนักบวชโรมันคาทอลิคได้เริ่มจัดเอาวิธีนั่งสมาธิ ไม่แบบใดก็แบบหนึ่งเข้าไปรวมไว้ในตารางพิธีบูชาประจำวัน แม้แต่ศูนย์คริสตจักรกรุงวาติกันเอง ในวารสารของสำนักเลขาธิการ ก็ได้มีการแนะนำวิธีการให้ผู้เผยแพร่ศาสนาคริสต์ เรียนวิธีบำเพ็ญสมาธิภาวนาในพระพุทธศาสนา เอาไปดัดแปลงใช้ในคริสต์ศาสนา ที่วิทยาลัยแสงธรรม ซึ่งเป็นที่ผลิตบาทหลวงในประเทศไทย ตั้งอยู่ที่สามพราน ตอนนี้ก็มีการสอนพุทธศาสนาหลายวิชา และก็มีวิชาหนึ่งคือการฝึกปฏิบัติสมถกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐานด้วย หมายความว่า ผู้ที่จะเป็นนักบวชโรมันคาทอลิค เป็นบาทหลวง ต่อไปนี้จะได้ร่ำเรียนศึกษาสมถวิปัสสนาด้วย

การที่ศาสนาตะวันออกเข้าไปมีอิทธิพลเผยแพร่โดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่นี้ ย่อมกระทบต่อสังคมอเมริกันมาก โดยเฉพาะมันจะเกิดมีคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ขึ้น คนรุ่นเก่าหรือพวก traditional ก็จะเกิดมีความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ โดยเฉพาะพวกพ่อแม่ซึ่งบางทีลูกของตัวถึงกับหนีออกจากบ้านไป แล้วก็ไปอยู่ในสำนักเหล่านั้น บางเรื่องต้องฟ้องร้องกันเป็นคดีถึงโรงศาล แล้วก็มีคนพวกหนึ่งที่ฝึกตัวเองขึ้นมารับจ้าง ในการที่จะไปดึงเอาพวกเด็กๆ เหล่านี้กลับมา พวกนี้เขาเรียกว่าพวกดีโปรแกรมเมอร์ Deprogrammer อาตมภาพเปิดพจนานุกรม Dictionary ยังไม่มีศัพท์นี้ เป็นศัพท์ใหม่ คือเป็นวิธีการถอนความคิดความเชื่อถือที่เขาเอามาใช้กับพวกเด็กที่หันไปนับถือศาสนาตะวันออก ให้หันกลับไปเข้าสังคมอเมริกัน เช่นมีคดีเด็กสาวคนหนึ่ง หนีจากแม่ไปอยู่ในสำนักหริกฤษณะ และแม่จ้าง Deprogrammer ไปเอากลับมาแล้ว ก็พากลับมาได้ เด็กยอมรับ บอกว่าตัวเขาหลงผิดไปแล้วต่อไปนี้จะกลับเข้าสังคมเดิม แต่เสร็จแล้วกลายเป็นเด็กหลอก พอปล่อยแล้วเด็กก็กลับไป เข้าสำนักหริกฤษณะอีก แถมยังฟ้องแม่กับดีโปรแกรมเมอร์ว่า Kidnap คือลักพาตัวเขา เรื่องขึ้นศาลก็เป็นคดีขึ้นมา แต่อัยการตั้งคดีขึ้นมาใหม่อีกคดีหนึ่งว่า หริกฤษณะนี้ทำ mind control ซึ่งก็ใกล้จะเป็น brain washing คือบังคับจิต ใกล้ๆ กับล้างสมอง ซึ่งจะเป็นการผิดรัฐธรรมนูญ เรื่องไปถึงศาลสูงสุด ตัดสินว่าหริกฤษณะไม่เป็นการบังคับจิต (mind control) เรื่องราวอย่างนี้ เป็นปรากฏการณ์ของสังคมอเมริกาที่แสดงถึงการที่ศาสนาตะวันออกเข้าไปมีอิทธิพลในสังคมตะวันตก เดี๋ยวนี้ศัพท์ต่างๆ ทางตะวันออกเข้าไปสู่ Dictionary ของฝรั่งเป็นอันมากแล้ว ศัพท์อย่างคำว่า พุทธ ธรรมะ สังฆะ (Buddha, Dharma, Sangha) อะไรนี้ เป็นศัพท์ที่ใช้ในสังคมอเมริกันได้แล้ว ตอนนี้ถ้าเราจะพูดว่าสังฆะคือสงฆ์ (Sangha) นี่ ถ้าคนอเมริกันคนไหนไม่รู้ เราสามารถเรียกร้องต่อเขาว่า ท่านต้องไปศึกษาเอาเอง หมายความว่าเขากลายเป็นคนไม่รู้เท่าทันสถานการณ์

คราวนี้จะต้องศึกษาต่อไปว่า ความเป็นมาเบื้องหลังของสภาพสังคมอเมริกันที่เป็นอย่างนั้นนะ มันเป็นอย่างไร หรือสังคมอเมริกันอย่างนั้นน่ะ มีเบื้องหลังความเป็นมาอย่างไร ทำไม Young Americans จึง turn East (ทำไมหนุ่มสาวอเมริกันจึงหันไปตะวันออก) แล้วก็ทำไมความสุขความพรั่งพร้อมในสังคม จึงนำไปสู่การฆ่าตัวตาย นำไปสู่การใช้ยาเสพติดอะไรเหล่านั้น

สืบภูมิหลังของอเมริกา

สังคมที่พรั่งพร้อมของอเมริกาตอนนี้ มีนักสังคมวิทยาหลายคนเรียกว่า Post-industrial Society คือสังคมที่ผ่านพ้นยุคอุตสาหกรรมไปแล้ว คำนี้ใช้กันเกร่ออยู่พอสมควร แม้ว่าจะมีนักสังคมวิทยาบางคนค้าน ไม่เห็นด้วย แต่ก็เป็นการค้านในแง่การใช้ศัพท์ว่าโดยสาระแล้วยอมรับกันว่า เป็นยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ สังคมยุคผ่านพ้นอุตสาหกรรมนี้ Post-industrial Society นี้เป็นอย่างไร ก็มีลักษณะดังที่กล่าวมาแล้ว คือมีความพรั่งพร้อมทางวัตถุ ลักษณะความพรั่งพร้อมทางวัตถุนี้จะเห็นได้จากชื่ออีกอย่างหนึ่ง ที่เขาเรียกสังคมของเขาว่าเป็น Consumer Society คือสังคมบริโภคหรือสังคมนักบริโภค ศัพท์นี้บางทียอมรับกันมากกว่า

ในเมื่อเป็น Post-industrial หรือแบบผ่านพ้นอุตสาหกรรม ก็จะต้องพูดถึง Industrial คือแบบอุตสาหกรรมด้วย แสดงว่าต้องต่างกัน สังคมอเมริกันนั้นที่เป็นมาก็เป็นสังคมแบบอุตสาหกรรม เรารู้กันอย่างนั้น แต่มันมีลักษณะแตกต่างกันอย่างไร เป็นเรื่องที่น่าศึกษา ทำไมเขาเรียกสังคมปัจจุบันว่า เป็นยุคผ่านพ้นอุตสาหกรรม เรื่องนี้เล็งไปถึงคำอีกคำหนึ่งที่นำไปสู่การที่จะวิเคราะห์ให้เข้าใจเพิ่มขึ้น เขาบอกว่าสังคมที่ผ่านพ้นอุตสาหกรรม หรือ Post-industrial Society นี้เป็นยุคของ Post-scarcity หมายความว่าผ่านพ้นความขาดแคลน ทีนี้ที่เป็นสังคมอุตสาหกรรม หรือ Industrial Society ก็เป็นระยะที่ยังต้องต่อสู้กับ Scarcity ความขาดแคลน เมื่อพูดอย่างนี้ก็เล็งไปเห็นเบื้องหลังของสังคมอเมริกันและสังคมตะวันตกทั้งหมด ส่อถึงพัฒนาการความเป็นมาของสังคมในอดีต หมายความว่า สังคมตะวันตกในอดีตนี้ต่อสู้กับความขาดแคลนเพื่อให้เกิดความพรั่งพร้อมขึ้น ในสภาพชีวิตที่เขากำลังก่อสร้างตัวเพื่อให้เกิดความพรั่งพร้อมหรือต่อสู้เพื่อเอาชนะความขาดแคลนนี้ เขาเป็น Industrial Society (สังคมอุตสาหกรรม) โดยมี Industrial Culture (วัฒนธรรมอุตสาหกรรม) วัฒนธรรมอุตสาหกรรมนี้เป็นตัวสำคัญที่สร้างสังคมของเขาให้เกิดความพรั่งพร้อมในปัจจุบัน

วัฒนธรรมอุตสาหกรรมนั้นมีอะไรอยู่บ้าง อันนี้อาตมภาพว่าเป็นเรื่องที่รู้กันดี เราพูดกันอยู่มากว่า Protestant ethic คือมีจริยธรรมโปรเตสแตนต์เป็นแกนกลาง เป็นหลักสำคัญที่ทำให้เกิดสังคมอุตสาหกรรม (Industrial Culture) ขึ้น ในหลักของจริยธรรมโปรเตสแตนต์นั้น เขาถือว่างานและความสัมฤทธิ์ผลของงานเป็นหลักเป็นเป้าหมาย คนจะต้องรู้จักบังคับควบคุมตนเอง ไม่ยอมตามใจกิเลสต่างๆ ไม่ยอมตามใจความอยาก ไม่ยอมที่จะแสวงหาความสุข แต่ต้องตั้งใจทำงานให้มากที่สุด แล้วผลได้ที่เกิดจากการทำงานนั้นจะต้องรู้จักเก็บออมเอามาใช้ในการลงทุนต่อไป พยายามที่จะไม่เอาไปใช้ในการแสวงหาความสะดวกสบาย อันนี้เป็นหลักของจริยธรรมโปรเตสแตนต์ - Protestant ethic สังคมอเมริกันที่มีวัฒนธรรมอุตสาหกรรม (Industrial Culture) สร้างตัวขึ้นมาได้อย่างนี้ ไม่ใช่สภาพปัจจุบันที่เป็นสังคมนักบริโภค (Consumer Society) หมายความว่า ถ้าเราจะมองการสร้างความเจริญของชาวตะวันตกที่แท้จริงแล้ว จะต้องมองดูอเมริกาย้อนหลังไป ๔๐-๕๐ ปีที่แล้ว ไม่ใช่มองปัจจุบัน ปัจจุบันนี้เป็นเพียงสภาพผล แล้วก็กำลังมีภาวะสับสนที่ปะปนกันอยู่ คือรากฐานเดิมที่มาจากวัฒนธรรมอุตสาหกรรม (Industrial Culture) ก็ยังมีอยู่ ซึ่งเป็นส่วนที่ทำให้มีความตั้งหน้าตั้งตาทำงานเอาจริงเอาจัง แต่ในเวลาเดียวกันก็มีวัฒนธรรมใหม่ คือ Consumer Culture เป็นวัฒนธรรมนักบริโภคขึ้น โดยเฉพาะในสังคมอเมริกันนั้น วัฒนธรรมอุตสาหกรรม (Industrial Culture) ได้มีลักษณะพิเศษที่เข้มข้นยิ่งขึ้นในระยะช่วงท้ายเกิดเป็น Success Culture คือวัฒนธรรมที่มุ่งหมายความสำเร็จ ซึ่งเล็งไปถึงการแข่งขัน ทำให้เกิดความสำเร็จความเจริญก้าวหน้าพรั่งพร้อมบริบูรณ์ แล้วอันนี้เป็นผลเบื้องปลายที่นำมาสู่การเป็นสังคมนักบริโภค (Consumer Society) แล้วในปัจจุบันก็เลยเป็นสังคมที่ผ่านพ้นอุตสาหกรรม (Post-industrial Society) ด้วย

เป็นอันสรุปได้ว่า วัฒนธรรมอุตสาหกรรม (Industrial Culture) นั้นมีขึ้นโดยจะสู้เพื่อเอาชนะ Scarcity คือความขาดแคลน เพื่อบรรลุผลเป็น Post-scarcity ผ่านพ้นความขาดแคลนแล้วสังคมก็มีความพรั่งพร้อมบริบูรณ์9 ทีนี้ปัญหามันเกิดตรงนี้ เขาบอกว่า ตรงนี้เป็นจุดที่ช่วยให้เข้าใจสภาพสังคมตะวันตกปัจจุบัน คือจุดมุ่งหมายของสังคมอุตสาหกรรม (Industrial Society) นั้นเพื่อเอาชนะขาดแคลน ดังนั้น จริยธรรมอะไรต่างๆ ที่สร้างขึ้นก็มีเป้าหมายเพื่ออันนี้ คือเป็นอุปกรณ์เพื่อเอาชนะความแร้นแค้นขาดแคลน และให้มีความพรั่งพร้อมแต่เมื่อบรรลุผลตามเป้าหมาย คือมีความพรั่งพร้อมสมบูรณ์แล้ว เอาชนะความขาดแคลนได้แล้ว สิ่งที่เป็นอุปกรณ์ทั้งหมดนั้นก็หมดความหมาย ไม่เห็นคุณค่าว่าจะต้องใช้ต้องปฏิบัติไปเพื่ออะไรอีก เพราะฉะนั้น เด็กรุ่นใหม่เกิดมาในสภาพสังคมที่เป็นของนักบริโภค (Consumer Society) เป็นสังคมที่มีความพรั่งพร้อมแล้ว เขาจะไม่เห็นคุณค่าของวัฒนธรรมของสังคมเดิมเลย เช่นจริยธรรมโปรเตสแตนต์ (Protestant ethic) เป็นต้น เขาจะละทิ้ง เขาจะหันหลังให้ ไม่เห็นว่าจะมีความหมายอะไร อันนี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่นำมาถึง Crisis หรือวิกฤตการณ์ที่กล่าวมาข้างต้น

เรื่องมันไม่เท่านั้น ยังมีเหตุอื่นประดังเข้ามาอีก คือว่าสังคมของเขาที่มีการแก่งแย่งแข่งขันเพื่อผลสำเร็จนี้ เมื่อถึงความสำเร็จแล้วมีความพรั่งพร้อมทางวัตถุอย่างดีแล้ว แทนที่เขาจะสุขสมหวังเขาก็เกิดความรู้สึกขึ้นมาอีก ความพรั่งพร้อมเหล่านี้ไม่ช่วยให้เขามีความสุขที่แท้จริง ไม่ช่วยให้ชีวิตมีความหมายแต่อย่างไรเลย อันนี้ก็ทำให้เขาเกิดความผิดหวังอย่างมากอีก ซ้ำร้ายกว่านั้น ในเมื่อความพรั่งพร้อมที่เกิดจากระบบแข่งขันไม่ช่วยให้มีความสุขจริงแล้ว ระบบแข่งขันของวัฒนธรรมใฝ่สำเร็จ (Success Culture) ก็กลายเป็นสภาพที่บีบคั้นชีวิต ก่อให้เกิดความกดดันยิ่งกลายเป็นความทุกข์ รวมความว่าสาเหตุ ๓ อย่าง ประดังเข้ามา คือวัฒนธรรมอุตสาหกรรม (Industrial culture) หมดคุณค่าสิ้นความหมายไร้ประโยชน์ วัฒนธรรมนักบริโภค (Consumer Culture) ก็ไม่ให้ความสมอยากสมหวัง วัฒนธรรมใฝ่สำเร็จ (success culture) ก็กดดันบีบคั้นชีวิต ถูกเข้าทั้งสามอย่างประดัง ฝรั่งก็ชักจะทนไม่ไหว ก็ผิดหวังมาก เมื่อเกิดความผิดหวังอย่างนี้ก็ทำให้เขาแล่นไปยังที่สุดอีกด้านหนึ่ง คือทำให้เกิดความรู้สึกว่าจะต้องปฏิเสธสังคมของตน หันมาหาคุณค่าทางจิตใจ พอดีว่ามีศาสนาตะวันออกที่จะสนองความต้องการได้ เขาก็เลยหันมาทางนี้กันมาก อันนี้เป็นคำอธิบายอย่างหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ลักษณะที่เป็น Consumer Society หรือสังคมบริโภคของอเมริกันนี้มันก็ยังคงอยู่ (ยังติดนิสัย) คือความเป็นนักบริโภค (Consumer) มี ๒ ด้าน นักบริโภค (Consumer) อย่างเดิมก็คือ บริโภค possessions วัสดุสิ่งของทรัพย์สมบัติที่ครอบครอง เพราะฉะนั้นแต่เดิมโน้นเขามีการแข่งขันกันในสังคมว่า คนนั้นเขามีอย่างนั้นแล้ว เรามีหรือไม่ คำถามจะเป็นไปในทำนองว่า คุณมีหรือเปล่า ฉันมีนี่แล้ว คุณมีหรือยัง แต่ว่าในปัจจุบันนี้สังคมได้เปลี่ยนไป จากการหันมาหาตะวันออกเป็นต้น หรือการแสวงหาคุณค่าใหม่ๆ หาทางออกให้แก่ชีวิตจิตใจก็เกิดมีลักษณะที่เป็นการบริโภคอย่างใหม่เกิดขึ้น คือกลายเป็นการบริโภค experience (บริโภคประสบการณ์) การบริโภคประสบการณ์นี้เป็นลักษณะใหม่ของสังคมอเมริกัน ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหมู่หนุ่มสาวเป็นอย่างมาก จากคำถามเดิมว่า “มีหรือเปล่า” เขาจะถามใหม่ว่า “ลองหรือยัง” นี่ก็อยู่ใน Consumer Society เป็นสังคมบริโภคเหมือนกัน แต่เดิมนั้นบริโภควัตถุบริโภคสิ่งของจึงถามว่ามีหรือเปล่า ตอนนี้เขาบริโภคประสบการณ์ มีอะไรแปลกๆ ใหม่ๆ เขาถามว่าลองหรือยัง เพราะฉะนั้น เด็กอเมริกันสมัยนี้ไม่แข่งขันกันที่จะมีเสื้อผ้าสวยๆ ทันสมัย มีรถยนต์ใหม่ๆ หรือมีอะไรที่มันแสดงถึงความพรั่งพร้อมทางวัตถุ แม้ว่าจะเป็นลูกเศรษฐีคนมั่งมีร่ำรวย เขาก็จะนุ่งกางเกงปุปะและจะนั่งรถยนต์คันเก่าๆ ถึงของจะสวยจะใหม่ก็แกล้งทำให้เก่า แสดงว่าเป็นคนคร่ำช่ำชองประสบการณ์ แล้วเขาก็ไปแสวงหาประสบการณ์ เป็นนักล่าประสบการณ์

นี้เป็นสภาพสังคมอเมริกันที่พึงพิจารณา อาตมภาพคิดว่าไม่มีเวลาจะพูดกันยาวนาน ก็ถือว่าอันนี้เป็นวิกฤตการณ์ทางวัฒนธรรม (Cultural Crisis) ของวัฒนธรรมอุตสาหกรรม (Industrial Culture) ซึ่งสังคมตะวันตกกำลังมีความสับสนในทางจิตใจ บางคนถึงกับกล่าวว่า วัฒนธรรมเดิมกำลังแตกสลาย คนรุ่นใหม่นี้กำลังหันมาตะวันออก แต่คนรุ่นเก่าพวก tradition ก็พยายามรักษาสังคมของตน เป็นความขัดแย้งกัน แต่ก็ยอมรับว่าจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมของอเมริกันอย่างแน่นอน เขากำลังพยายามปรับตัวของเขาอยู่

ในเวลาเดียวกับที่มีการยอมรับนับถือ ก็มีพวกที่เป็นปฏิปักษ์ซึ่งมองดูตะวันออกด้วยความรู้สึกไม่ชอบบ้าง เหยียดหยามบ้าง คือพวกหนึ่งยอมรับและมองตะวันออกเป็นคุรุ คุรุแปลว่าครู อินเดียเรียกคุรุ ศัพท์ทางพุทธเรียกกัลยาณมิตร พวกที่มีทัศนะะในทางที่ไม่ดีนี้ เมื่อได้มาศึกษาบางท่านก็ยอมรับ อย่างโปรเฟซเซอร์คอกซ์ ก็ยอมรับในส่วนที่ดีไป แต่บางคนจะรุนแรงในทางไม่ดี ขอยกตัวอย่างคนที่มีทัศนะเป็นปฏิปักษ์อย่างมาก ชื่อนาย Arthur Koestler นายคนนี้เขียนหนังสือชื่อ The Lotus and the Robot แปลว่า ดอกบัวกับหุ่นยนต์ the Lotus ดอกบัว หมายถึง สังคมตะวันออก คือสังคมที่กลมกลืนกับธรรมชาติ the Robot หุ่นยนต์ก็คือสังคมที่เจริญด้วยอุตสาหกรรม พ่อคนนี้ได้เขียนเรื่องราวไป และในที่สุดก็มีทัศนะบอกว่าสังคมตะวันตกนี่ เป็นสังคมที่ว่า เมื่อมีวิกฤตการณ์อับจนตนเองแล้วก็แสวงหาคำตอบ โดยหันมามองตะวันออก แล้วก็จะสามารถรับเอาสิ่งที่ดีงามไปใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ ปรับปรุงตัวเองได้ จากนั้นเขาก็วาดภาพตะวันออก ซึ่งในแง่หนึ่งก็เหมือนมองเหยียดหยามหน่อย คือ เขายืมคำกวีมาพูดบอกว่าอย่างนี้ “As pupils we were not bad, but hopeless as teachers”10 เขาบอกว่า สำหรับเขา เขาเป็นนักเรียนที่ดี หรือว่าเมื่อเป็นนักเรียนเขาไม่เลวเลย แต่เมื่อเป็นครู เขาไม่มีทางทำได้สำเร็จ หรือหมดหวัง หมายความว่า ตะวันตกคือฝรั่ง เป็นนักเรียนที่ดี สามารถรับเอาความรู้จากตะวันออกไปใช้ประโยชน์ได้ ไปดัดแปลงเป็นของตน และทำให้สังคมของเขา enriched ขึ้น คือดีงาม มั่งคั่งพรั่งพร้อมเจริญบรรลุประโยชน์สุขมากขึ้น แต่สังคมตะวันออกนี้เขาไม่สามารถมาสอนได้สำเร็จ คือสังคมตะวันออกจะไม่รู้จักปรับตัว ไม่รู้จักรับสิ่งที่ดีที่ตัวเองมีอยู่ก็ไม่รู้จักรักษาไว้ให้เป็นประโยชน์ บางแห่งเขาพูดรุนแรงว่า แม้แต่สิ่งที่ดีที่ตัวมีนี้ก็เป็นแต่เก็บรอไว้ให้เขาเอาไปใช้ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าพิจารณา จะถือว่าเขาดูถูกก็ได้ ขอผ่านไป นี่เป็น การพูดถึงสังคมอเมริกัน

เบื้องหลังปัญหาของสังคมไทย

ต่อไปนี้จะขอย้อนมาพูดถึงสังคมไทย เพราะว่าด้านหนึ่งเราต้องพิจารณาถึงทางเดินที่เราจะมุ่งหน้าไป และอีกด้านเราจะต้องมองดูว่าทางที่เราได้เดินมาเป็นอย่างไร ในการวิเคราะห์เรื่องการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยนี้ อาตมภาพว่าเวลาไม่พอแล้ว และเรื่องนี้ก็มีนักวิชาการได้ค้นคว้ากันมาก มีทั้งไทยทั้งฝรั่ง โดยเฉพาะฝรั่งทำเป็นเล่มโตๆ เป็นตำราก็มี อย่างเล่มที่อาตมภาพพูดถึงเมื่อกี้เรื่อง Modernization Without Development (ทันสมัยแต่ไม่พัฒนา) นั้น ก็เป็นหนังสือใหญ่พอสมควร ตัดบทไปว่าให้ดูเอาเองในหนังสือเหล่านั้น หรือว่าหลายท่านก็ย่อมได้อ่านแล้ว ซึ่งนับว่าเป็นประโยชน์มาก เพราะทัศนะต่างๆ ก็ดี ผลการวิจัยก็ดี ย่อมให้ข้อมูลบ้าง แนวความคิดต่างๆ บ้าง ที่จะนำมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศชาติแก้ปัญหาได้ต่อไป แต่มีข้อติงอยู่หน่อยที่ว่า งานที่เขาทำนี้ก็ต้องระวัง มีข้อผิดพลาดอยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะการที่ได้รับข้อมูลไปผิด ยกตัวอย่างเช่นในหนังสือ “ทันสมัยแต่ไม่พัฒนา” (Modernization Without Development) นั้นก็มีตอนหนึ่งที่พูดถึงพุทธศาสนา เขาบอกว่า พุทธศาสนานี้ขาด Absolute Standard ไม่มีมาตรฐานที่ตายตัวและได้ยกข้อมูลตัวอย่างมาอ้างเช่นบอกว่า ถ้าพระฉันเพลไม่ทันแม้จะเลยเพลแล้ว ถ้ามีคนอื่นช่วยพูดบอกว่ายังไม่เที่ยงก็ฉันได้อะไรอย่างนี้ นี่ตัวอย่างหนึ่ง หรือบอกว่า พระฉันเนื้อสัตว์ไม่ได้มีข้อห้ามอยู่ แต่ถ้าเขาเอาเนื้อสัตว์นั้นใส่บาตรก็ฉันได้ เพราะมีบัญญัติว่า ถ้าของใส่บาตรแล้วต้องฉัน อะไรอย่างนี้ ซึ่งที่จริงมันไม่ถูกต้องเลย การที่ได้ข้อมูลผิดก็ทำให้การวิเคราะห์ผิดไปด้วย กระทบถึงผลสรุปข้อมูลนั้นหรือการวิจัยนั้นด้วย จึงเป็นข้อที่ควรระวัง เพราะฉะนั้นตัวอย่างที่เขายกมานี่มันจึงไม่ใช่เป็นการแสดงถึงว่า พุทธศาสนาขาด Absolute Standard (มาตรฐานที่ตายตัว) แต่มันกลายเป็นว่าคนไทยเราเองนี่ ไม่เข้าถึงพื้นฐานของตนเอง มันก็กลายเป็นอย่างนั้น เพราะผู้ที่ให้ข้อมูลก็คือคนไทยนั่นเอง ให้ข้อมูลผิดๆ คือตัวเราไม่เข้าใจไม่รู้เรื่องของตัวเองเท่าที่ควร

ในเมื่อไม่มีเวลาที่จะพูดถึงสังคมไทย อาตมภาพก็เลยขอยกตัวอย่างเพียงนิดเดียว จะพูดถึงเพียงสักแง่หนึ่ง คือว่าเมืองไทยถือว่า ได้เร่งรัดพัฒนาประเทศตามอย่างอารยธรรมตะวันตกเมื่อ ๑๐๐ ปีมานี่หรือ ๑ ศตวรรษ ก่อนหน้าที่จะมีการปรับปรุงประเทศให้ทันสมัยอย่างที่ว่ามานี้นั้นสังคมของเรา ก็มีรูปแบบเป็นของตัวเอง อาจจะพูดได้ว่าสังคมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันพอสมควร สถาบันที่สำคัญก็มี ราษฎร์ศาสน์กษัตริย์ ราษฎร์ก็คือราษฎร และศาสน์ก็คือพุทธศาสนา กษัตริย์คือพระมหากษัตริย์ ต่อมาเมื่อรับความเจริญแบบตะวันตกแล้ว เราได้เดินทางร่วมกันอีกพักหนึ่งประมาณ ๒๐ ปี ต่อจากนั้นก็แยกทางกัน รัฐกับราษฎร์หมายถึงว่าทางบ้านเมืองกับทางประชาชนทั่วไปได้หันไปทางตะวันตกและแล่นพุ่งดิ่งไปเป็นอย่างมาก ส่วนวัดนั้นก็หันเข้ามาเก็บตัวอยู่ข้างในและพยายามรักษาระบบเก่าไว้ ขอแทรกมีข้อสังเกตนิดหนึ่ง รักษาระบบเก่าแต่ไม่ได้รักษาของเก่า ไม่ได้รักษาของเก่า หมายความว่าอาจจะไม่ได้อนุรักษ์ศิลปกรรม เป็นต้น ซึ่งอันนี้กำลังเป็นปัญหาอยู่ แต่ก็พยายามรักษาระบบเก่าไว้

ในเมื่อมีการแยกกันแล้ว ทั้งฝ่ายบ้านเมืองและราษฎรก็ดี ทางฝ่ายศาสนาก็ดี ก็ได้มีความสัมพันธ์เกื้อกูลกันมา แต่เป็นการเกื้อกูลกันในด้านนอก เช่นในด้านพิธีกรรมเป็นต้น แต่ว่าขาดความเข้าใจกันและไม่ได้ช่วยงานกันอย่างแท้จริง เมื่อเวลาผ่านมาระยะหนึ่งแล้วก็เริ่มจะพูดกันไม่ค่อยรู้เรื่องแปลกหน้ากัน เวลาพูดเรื่องของอีกฝ่ายหนึ่ง อีกฝ่ายหนึ่งจะรู้สึกว่าพูดเรื่องคนอื่น เช่นชาวบ้านพูดถึงปัญหาของชาวบ้าน พระจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องของคนอื่นไม่ใช่เกี่ยวกับตัวท่าน หรือว่าพูดถึงปัญหาของตัวเอง ทางฝ่ายญาติโยมจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องของคนอื่น เป็นเรื่องวัดไม่ใช่เรื่องของตัวเอง ซึ่งเป็นลักษณะที่ต่างกับในสมัยโบราณที่ปัญหาทั้งหลายเนื่องถึงกันหมด

อาตมภาพจะพูดถึงปรากฏการณ์ที่เป็นปัญหาเพียงเรื่องเดียว เป็นตัวอย่างสำหรับมองสภาพของสังคมไทยปัจจุบัน แต่ก่อนนี้วัดเคยเป็นศูนย์กลางของชุมชน เป็นแหล่งการศึกษามวลชนดังที่ทราบกันอยู่แล้ว ต่อมารัฐได้เริ่มรับการศึกษาแบบตะวันตกเข้ามา การศึกษาแบบใหม่ที่รับเข้ามาดำเนินการนั้นอย่างหนึ่งก็คือการศึกษามวลชนๆ นั้นมีหลักการอันหนึ่งคือ ให้เกิดความเสมอภาคในโอกาสที่จะได้รับการศึกษา ทีนี้ต่อมาเมื่อรัฐได้ดำเนินการศึกษามวลชนมาเป็นเวลาพอสมควร ก็ปรากฏผลว่ารัฐไม่สามารถทำให้เกิดผลสำเร็จตามเป้าหมายนี้ได้ ปรากฏว่าคนยังไม่มีความเสมอภาพในโอกาสที่จะได้รับการศึกษา โอกาสจะขึ้นต่อสภาพภูมิศาสตร์คือว่าอยู่ในกรุงหรืออยู่ในชนบท อยู่ในเมืองในตลาดหรืออยู่บ้านนอก และขึ้นต่อฐานะทางเศรษฐกิจ เป็นลูกคนยากจนหรือร่ำรวย ผู้ที่อยู่ในสภาพเศรษฐกิจหรือสภาพภูมิศาสตร์ที่อำนวย ก็เข้าถึงการศึกษาของรัฐ สามารถเรียนสูงๆ ได้ แต่คนที่ไม่มีโอกาสอย่างนั้นไม่สามารถเดินในระบบของรัฐ ก็เลยไปเข้าระบบของวัด ซึ่งเป็นระบบเดิมตามประเพณีที่ถือว่ายกเลิกแล้ว ไม่ถือว่าเป็นการศึกษาของมวลชน มีผู้ที่ด้อยโอกาสเหล่านี้ซึ่งได้ไปอยู่วัด ได้บวชเณร บวชพระแล้วก็ได้มีโอกาสขึ้นบ้าง เรียนสูงขึ้นมา ก็ค่อยๆ ย้ายถิ่นฐานเข้ามา จนกระทั่งเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ ในที่สุดก็ได้ทำให้เกิดผลอันหนึ่ง คือ ได้ทำให้วัดในกรุงเทพฯ กลายเป็นชุมชนชนบทกลางกรุงฯ นี้เป็นชุมชนชนบทกลางกรุงชุมชนที่ ๑ ท่านทั้งหลายลองไปศึกษาดู ไปถามดูง่ายๆ ก็ได้ ตามวัดต่างๆในกรุงเทพฯนี้ แต่ว่าต้องเอาพระใหม่ออกก่อน พระที่บวชใหม่ ๓ เดือนนี้เป็นชาวกรุงเทพฯ เอาพระ ๓ เดือนนี้ออกแล้ว จะเหลือแต่พระชนบทแทบทั้งหมด อันนี้เป็นชุมชนชนบทกลางกรุงชุมชนที่ ๑

ต่อมาอีกด้านหนึ่งเพราะการพัฒนาที่ไม่สมดุลระหว่างเมืองกับชนบท เป็นเหตุให้คนชนบทเข้ามาหางานทำในกรุงในระยะยาวนานขึ้นปรากฏว่า ได้เกิดชุมชนชนบทแห่งที่ ๒ ขึ้นในกลางกรุง คือสลัม สลัมหรือชุมชนแออัดนี้ เป็นชุมชนชนบทกลางกรุงแห่งที่ ๒

สรุปได้ว่า เพราะการดิ้นรนแสวงหาโอกาสในสังคมไทยได้เกิดชุมชนชนบทขึ้น ๒ กลุ่มในกรุงเทพฯ ผู้แสวงหาโอกาสทางการศึกษาได้ทำให้วัดในกรุงเทพฯกลายเป็นชุมชนชนบทกลางกรุงแห่งที่ ๑ และผู้แสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจได้ทำให้เกิดชุมชนชนบทกลางกรุงแห่งที่ ๒ คือสลัม พูดได้ว่า ในกรุงเทพฯ วัดเป็นชุมชนชนบททางการศึกษา สลัมเป็นชุมชนชนบททางเศรษฐกิจ วัดในกรุงเทพฯ ทั้งหมดมี ๓๙๙ วัด ในปัจจุบันมีชาววัดทั้งพระเณรทั้งเด็ก (เด็กนักเรียนที่มาอยู่วัดก็เหมือนกัน มาจากชนบทแต่มาเรียนในระบบของรัฐ) มี ๓๒,๐๐๐ เศษ ส่วนสลัม หรือชุมชนแออัดในกรุงเทพฯ มีประมาณ ๔๐๐ แห่ง แต่มีคนอยู่หลายแสนคน สมาชิกในชุมชนวัดส่วนมากเป็นบุคคลวัยเล่าเรียน ส่วนสมาชิกชุมชนสลัมเป็นคนในครอบครัวทุกระดับวัย ในที่นี้เราไม่มีเวลาที่จะพิจารณานาน ก็จะพูดแต่เพียงเสนอเป็นข้อคิดไว้สำหรับเอาไปพิจารณากันว่า ในขณะที่เรายังไม่สามารถแก้ไขปัญหาสังคมได้ดีกว่าที่เป็นอยู่นี้ ในระหว่างชุมชนชนบทกลางกรุง ๒ ประเภทนี้ เราจะชอบอย่างไหน และควรจะปฏิบัติอย่างไรต่อชุมชนทั้ง ๒ นี้แล้วทีนี้ ก็จะขอผ่านไป

เอาละ เรื่องของสังคมไทยกับสังคมอเมริกัน ตอนนี้เวลายังเหลืออยู่ประมาณครึ่งชั่วโมง ตอนนี้ต้องรวบรัด เพราะยังมีเรื่องจะต้องพูดอยู่อีกมาก การวิเคราะห์เปรียบเทียบระหว่างสังคมไทยกับสังคมอเมริกัน อาตมภาพถือว่าเป็นเรื่องสำคัญเหมือนกัน เพราะต้องการดูว่าที่เราพัฒนาอย่างอเมริกันนั้นเป็นการพัฒนาตามเขาจริงหรือเปล่า แล้วก็จะได้ผลอย่างไร ตลอดจนถึงว่าเราควรจะตามเขาหรือไม่ และเขามีผลเสียอะไรที่เราควรจะหลีกเลี่ยงได้ เราควรจะเลือกเอาแต่แง่ดีอย่างไร เป็นคำถามที่ควรจะสนใจทั้งสิ้น

ขอกลับย้อนไปดูเป้าหมายและแรงจูงใจในการรับอารยธรรมตะวันตกตอนที่เรานำมาปรับปรุงบ้านเมืองให้ทันสมัยเมื่อ ๑๐๐ ปีมาแล้ว คือศตวรรษที่แล้วในสมัยประมาณรัชกาลที่ ๕ สิ่งที่จะบอกถึงแรงจูงใจตลอดจนจิตสำนึกในทางสังคมของเรา คือตอนนั้นได้มีแรงกระทบจากการบีบคั้นของลัทธิอาณานิคม ความเจริญของตะวันตกเข้ามาพร้อมกับลัทธิอาณานิคม อันนี้เป็นแรงบีบคั้น และเป็นสิ่งที่ทำให้บ้านเมืองเราต้องเร่งพัฒนาตัวเองให้เจริญทันเขา เพื่อจะได้สามารถป้องกันตัวเองอยู่ได้ รักษาประเทศชาติให้คงอยู่ไม่ตกเป็นอาณานิคม เห็นได้ชัดเจนทีเดียวว่า ตอนนั้นมีเป้าหมายอันนี้ซึ่งเป็นจิตสำนึกอันแรงกล้า จากเป้าหมายและจิตสำนึกกลางที่เป็นแกนร่วมนี้ ในด้านการศึกษาก็มีสิ่งที่ส่อให้เห็นจิตสำนึกอันนี้เช่นเดียวกัน เช่นว่า เมื่อดำเนินการศึกษาทางรัฐก็จะต้องเริ่มให้มีการศึกษาวิชาการที่จะนำไปใช้ในการปรับปรุงประเทศให้ทันสมัยก่อน

อย่างที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนี้ ซึ่งโดยฐานะสมบูรณ์ทั้งด้านถ้อยคำและกฎหมาย เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกในประเทศไทย เมื่อก่อนหน้าที่จะเป็นมหาวิทยาลัยได้เป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือน โดยเปลี่ยนจากโรงเรียนมหาดเล็กมาเมื่อ ๑ มกราคม ๒๔๕๓ ในขณะนั้นก็มีวิชาที่ให้ศึกษาอยู่ ๘ อย่าง มีการปกครอง กฎหมาย การทูต การช่าง การแพทย์ การเพาะปลูก การค้าขาย และการเป็นครู จะเห็นว่าเป็นวิชาที่เกี่ยวกับการพัฒนาประเทศ หรือเราจะเรียกว่าเป็นวิชาชีพชั้นสูง ต่อมาได้มาตั้งเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกเมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๙ ก็มี ๔ คณะ มีคณะแพทย์ศาสตร์ รัฐประสาสนศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ต่อมารัฐประสาสนศาสตร์ก็แยกเป็น ๒ คณะ คือ เป็นนิติศาสตร์ และรัฐศาสตร์ และตั้งคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ขึ้น ล้วนแต่เป็นวิชาที่ใช้เพื่อการพัฒนาประเทศให้ทันสมัย ให้ทันกับสังคมฝรั่ง เพื่อจะรักษาประเทศชาติของเราไว้ ให้สังเกตว่าวิชาประเภทศาสนาปรัชญาจะไม่มีในตอนต้น เท่าที่ทราบในมหาวิทยาลัยทางโลกอย่างเช่นจุฬาฯ นี้ เพิ่งจะเริ่มสอนวิชาศาสนาปรัชญากันในระยะสัก ๑๕-๒๐ ปีมานี้ แต่ว่าจนกระทั่งเดี๋ยวนี้ก็ยังไม่มีการตั้งคณะอย่างที่ฝรั่งเรียกว่า Divinity School หรือ Theological School ขึ้น คือการศึกษาทางศาสนาปรัชญานี้ยังไม่มีฐานะเป็นคณะต่างหากอย่างในมหาวิทยาลัยตะวันตก เพราะเราเน้นในเรื่องวิชาชีพชั้นสูงที่จะปรับปรุงประเทศให้ทันสมัย เรื่องนี้ขอผ่านไปก่อน

โดยสรุปพึงเห็นได้ว่า ในตอนแรกนี้สิ่งที่เด่นชัดก็คือ เรามีจิตสำนึกทางสังคม ได้แก่จิตสำนึกในการที่จะต้องแก้ปัญหาของประเทศชาติ ในการที่จะต้องทำให้เจริญก้าวหน้าทันตะวันตก แล้วจะรักษาประเทศของตนไว้ได้ แต่อาตมาคิดว่าเป็นเรื่องน่าเสียดายที่จิตสำนึกนี้อยู่ในวงจำกัด และจิตสำนึกนี้ยังไม่ทันแพร่หลายไปถึงมวลชนโดยทั่วไปก็จางหายไปก่อน จิตสำนึกในการที่จะแก้ปัญหาของตน หรือในการที่จะทำประเทศของเราให้ทันเขา มันจางไป แต่สิ่งที่เราเรียกว่าการพัฒนาประเทศนี้ยังคงดำเนินต่อมา และก็เป็นการพัฒนาที่เรียกว่าเอาจริงเอาจังต่อเนื่อง แต่ในเวลาเดียวกัน ถ้ามองอีกด้านหนึ่ง อาจจะมีผู้กล่าวในแง่ร้ายได้ว่า ตอนหลังนี้เป็นการรับมากกว่าการพัฒนา คือเป็นแต่เพียงการรับเอามา ไม่ได้พัฒนาตัว (ดังที่กลายเป็นการทำให้ทันสมัยแต่ไม่พัฒนา) แต่สิ่งที่น่าสังเกตก็คือว่า เมื่อขาดจิตสำนึกทางสังคม แรงจูงใจอะไรจะเหลืออยู่ในการที่จะพัฒนาประเทศ อาตมภาพตั้งข้อสังเกตว่า ในเมื่อจิตสำนึกนั้นมันอยู่ในวงจำกัดและจางหายไปแล้ว มันก็มีเพียงความต้องการที่จะเสพเสวยความเจริญ หรือความตื่นเต้นใหม่ๆ แบบตะวันตก สังคมไทยระยะที่ผ่านมานี้อาตมภาพว่าเป็นอย่างนี้ เมื่อเรารับระบบตะวันตกด้วยความรู้สึกที่ต้องการมี ต้องการให้ตัวมีความเจริญ มีสิ่งหรูหราฟุ่มเฟือย มีความสะดวกสบายเท่านั้น จิตสำนึกทางสังคมในการแก้ปัญหาที่แท้ก็ไม่มี แม้ว่าเราจะพูดกันถึงปัญหา แต่มันไม่ได้เข้าถึงจิตสำนึกดังที่กล่าวมาแล้ว พูดได้ว่าที่แท้จริงแล้ว เมื่อจิตสำนึกในการแก้ปัญหาของประเทศจางหายไปแล้ว แรงจูงใจในการพัฒนาก็หมดไปด้วย ไม่มีเหลือ จะมีก็แรงจูงใจที่อยากเสพเสวยสิ่งตื่นเต้นฟุ้งเฟ้อหรูหรา ที่เรียกกันว่าความเจริญ มีแต่ความอยากจะรับเอาและเลียนตามเขาไป

อย่างไรก็ตาม ที่ว่ามานี้ไม่ได้หมายความว่า จิตสำนึกในการแก้ปัญหา เพื่อเป้าหมายในการทำประเทศให้เจริญเท่าเทียมฝรั่ง ให้สู้เขาหรือต้านทานเขาได้นั้น เป็นสิ่งที่ดีพอแล้ว น่าพอใจหรือเหมาะสมดีพอแล้วสำหรับการพัฒนาบ้านเมืองต่อๆ ไป แต่มุ่งเพียงให้เห็นว่าอย่างน้อยในระยะต้นๆ นั้น เราก็เคยได้มีจิตสำนึก ซึ่งอาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี หรือเหมาะสมกับสภาพการณ์ เฉพาะหน้าในช่วงเวลานั้น ซึ่งไม่ควรจะขาดหายไปเสียเฉยๆ

ในการแก้ปัญหาและพัฒนาประเทศนั้น ถ้าจะให้ได้ผลดี เราต้องมีจุดรวมใจ และจุดร่วมความคิด ปัจจุบันนี้ จุดรวมใจเราอาจจะมี หรืออย่างน้อยบางท่านอาจจะบอกว่าเรามีอยู่แล้ว แต่จุดรวมใจหรือจุดร่วมใจนั้น จะให้เกิดการกระทำที่ได้ผลจริงจังไม่ได้ ถ้าไม่มีจุดร่วมความคิดด้วย คือ จะต้องมีความเห็นความเข้าใจร่วมกัน ในปัญหาและหลักการสำคัญของการพัฒนา เช่นว่า อะไรเป็นสิ่งที่จะต้องแก้ไข เป็นต้น มองเห็นเด่นชัดถึงขั้นเป็นจิตสำนึกร่วมอย่างที่กล่าวมาแล้ว

มองอเมริกา หันมาดูไทย

ถ้าหากว่าเราเทียบกับสังคมตะวันตก เขาสร้างสังคมอุตสาหกรรม (Industrial Society) ขึ้นมาอย่างไร เขามีเป้าหมายที่เป็นจิตสำนึกโดยชัดเจน คือการแก้ปัญหาความขาดแคลนจะทำให้สังคมของเขามีความพรั่งพร้อมเกิดขึ้น และพร้อมด้วยจิตสำนึกนั้นเขาก็มีจริยธรรมที่มีการขยันทำการทำงานอย่างอุทิศตัว มีการอดออมเพื่อสะสมทุน ไม่เห็นแก่ความสุขความสบายหรือการบำรุงบำเรอ ยอมสละละเว้นความสุข มุ่งแต่ความสัมฤทธิ์ผลของงาน เมื่องานสำเร็จได้รับผลแล้ว ก็เอามาสะสมเป็นต้นทุนต่อๆ ไป

ในเวลาที่ตะวันตกเขาสร้างอารยธรรมของเขานั้น ขอให้สังเกตว่าความเจริญเกิดขึ้นในเนื้อตัวของเขาเอง เขาสร้างมันขึ้นเอง เมื่อเขาสร้างเขาแก้ปัญหาสำเร็จ เขาก็ได้รับผลสำเร็จของเขาเท่าที่เขาสร้างมันขึ้น โดยที่ว่าผลสำเร็จหรือความเจริญที่เขาต้องการนั้น เขายังไม่มีและไม่ได้เห็นในที่อื่น ผลที่เขาต้องการยังไม่มีในที่อื่น แต่สังคมไทยเวลานี้เป็นสังคมที่ตรงกันข้าม คือเราสามารถเสวยผลที่ต้องการโดยที่ตัวเองยังไม่ได้สร้างมันขึ้น เราสามารถรับความเจริญของตะวันตก รับสิ่งที่เขาผลิตเรียบร้อยแล้วนำมาใช้ในสังคมของเราได้ทันที โดยที่เราไม่ต้องผลิตขึ้นมา

ฉะนั้น ถ้าหากว่าสังคมของเรายังไม่มีจิตสำนึกในการแก้ปัญหา การที่เรารับเอาแบบอย่างของสังคมตะวันตกมานี้ แม้แต่สังคมอุตสาหกรรม (Industrial Society) เราก็จะไม่ได้เป็น เราจะเป็นได้แต่เพียงสังคมเทียมอุตสาหกรรม Quasi-Industrial เท่านั้น คือไม่ได้เห็นสังคมอุตสาหกรรม Industrial ที่แท้จริง เพราะเราไม่ได้มีรากฐานที่ได้สร้างขึ้นมา ไม่มีองค์ประกอบของสังคมอุตสาหกรรม (Industrial Society) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไม่มีวัฒนธรรมอุตสาหกรรม (Industrial Culture) เลย อย่างที่กล่าวมาแล้ว

ถ้าเราจะสร้างสังคมอุตสาหกรรม (Industrial) จริงๆ เราต้องดูอเมริกาเมื่อ ๔๐-๕๐ ปีมาแล้ว ไม่ใช่เดี๋ยวนี้ เพราะว่าเดี๋ยวนี้เขาเป็นสังคมที่ผ่านพ้นอุตสาหกรรม (Post-Industrial Society) หรือสังคมนักบริโภค (Consumer Society) แล้ว ถ้าเราไปรับจากเขาขณะนี้เราก็เสียเปรียบอย่างเดียว สำหรับสังคมอเมริกัน แม้เขาจะเปลี่ยนมาเป็นสังคมบริโภค หรือผ่านพ้นอุตสาหกรรมแล้ว แต่เพราะการสะสมของเขา เพราะการที่เขามีรากฐานจากวัฒนธรรมอุตสาหกรรมมาก่อน นิสัยเดิมคือความขยั่นหมั่นเพียร การทำงานหนัก ความมีระเบียบวินัย ความอดทนอดออม นิสัยนั้นมันตกทอดมาจากเดิม มันยังสืบเนื่องอยู่ เพราะฉะนั้นเขาจึงเป็นทั้งสังคมของการเป็นผู้บริโภค และสังคมของการเป็นผู้ผลิตอยู่ในตัวพร้อมกัน แต่สังคมของเรา ถ้าไปรับเขามาในปัจจุบันแล้ว มันจะมีลักษณะอย่างเดียวคือเป็นสังคมของผู้บริโภค ไม่เป็นสังคมของผู้ผลิต อันนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าจะระมัดระวังอยู่

ตามที่ว่านี้ ก็เป็นอันว่า สังคมไทยก้าวข้ามขั้นตอนมาเป็นสังคมบริโภค โดยยังไม่ได้ผ่านการเป็นสังคมอุตสาหกรรมซึ่งเป็นสังคมของผู้ผลิต ในเมื่อยังไม่เคยเป็นนักผลิตมาก่อน อยู่ๆ ก็มาเป็นนักบริโภค และพอดีก็มีของสำเร็จที่คนอื่นผลิตไว้แล้ว เราก็เอาแต่หาซื้อกู้ยืมรับเอามาบริโภค คอยหวังคอยรับเอาจากเขาจนเพลิน อย่างนี้อะไรจะเกิดขึ้น ก็นึกดูเอาเอง

ในตอนนี้การพูดถึงสังคมอุตสาหกรรม (Industrial Society) มันกลายเป็นการพูดถึงลัทธิทุนนิยมไป เพราะการสร้างสังคมอุตสาหกรรมของอเมริกาที่ผ่านมานั้นก็อยู่ในเรื่องของลัทธิทุนนิยม แต่ตอนนี้เราจะไม่วิจารณ์ว่าทุนนิยมดีหรือไม่ดี หรือว่าระบบเศรษฐกิจอันไหนจึงจะดี ไม่วิจารณ์ เอาแค่ในทุนนิยมอย่างเดียวนี้มันก็จะมีทุนนิยมอย่างดีและอย่างไม่ดี ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วก็หมายความว่าประเทศไทยเราจะได้ทุนนิยมชนิดที่ไม่ดี เป็นทุนนิยมที่มีคุณภาพต่ำมาก และจะไม่ได้เป็นสังคมอุตสาหกรรมที่แท้จริงด้วย

อย่างไรก็ตาม พิจารณาต่อไปอีกขั้นหนึ่ง แม้จะรับ Industrial Culture หรือวัฒนธรรมอุตสาหกรรมมาเพื่อจะสร้างตัวให้เป็นสังคมอุตสาหกรรม มันก็ไม่ใช่เรื่องที่ดี เพราะว่าวัฒนธรรมอุตสาหกรรมได้นำสังคมอเมริกันมาสู่ปัญหาดังที่ยกมาพูดแล้วข้างต้น ซึ่งเป็นบทเรียนที่เราควรจะหาทางหลีกเลี่ยง สังคมอเมริกันก็ตาม สังคมไทยก็ตาม ในปัจจุบันนี้ เป็นสังคมที่มีปัญหามากมาย แต่ว่าปัญหามันต่างกัน อาตมภาพจะขอเสนอความคิดว่า ระหว่างปัญหาของสังคมไทยกับของสังคมอเมริกันต่างกันอย่างไร ปัญหาของประเทศไทยมีลักษณะเด่นในแง่อยากบริโภคแต่ไม่ได้บริโภคอย่างอยาก อันนี้อาจจะเป็นคำที่รุนแรงไปหน่อย แต่ขอให้ตั้งเป็นข้อสังเกต จะจริงไม่จริงขอให้เทียบดู ย้ำว่าเป็นสังคมที่อยากบริโภคแต่ไม่ได้บริโภคดังอยาก ซึ่งจะมีลักษณะของปัญหาในรูปของการขาดความรับผิดชอบ ความปล่อยปละละเลย การรุกรานผู้อื่น การขาดระเบียบวินัย ทำอะไรให้ได้ก็แล้วกัน คนอื่นหรือส่วนรวมเป็นอย่างไรก็ช่าง น้ำจะเน่า อากาศจะเสียอย่างไรก็ช่าง จะมีการฉกชิงแย่งกัน การรุกรานฆ่าฟันกันเพื่อเอาผลประโยชน์ให้ได้มา มีอุบัติเหตุมากมาย ส่วนสังคมอเมริกันเป็นสังคมที่ได้บริโภคแต่ไม่อร่อยสมใจอยาก คือว่า ได้บริโภคแล้วแต่มันไม่อร่อยดังอยาก หรือเท่าที่ใจนึกอยาก นึกว่าได้แล้วมันจะดีมีความสุข แต่ได้แล้วมันไม่เป็นอย่างนั้น ก็เกิดความผิดหวัง แล้วทีนี้ลักษณะของปัญหามันจะเป็นอย่างไร ลักษณะของคนที่เป็นอย่างนี้จะมีอาการกลัดกลุ้มกับตัวเอง วุ่นวายใจ เบื่อหน่าย และออกจะขุ่นเคืองบรรพบุรุษ คิดโทษว่าเพราะบรรพบุรุษ พวกเราจึงต้องมาเจอสิ่งเหล่านี้ พ่อแม่สอนให้เราสร้างหาสิ่งเหล่านี้มา แล้วมันก็ไม่ให้ความสุขแท้จริง ทีนี้การแสดงออกก็เลยมีอาการต่างๆ ทางจิต การปฏิเสธสังคม ละทิ้งวัฒนธรรม การแสวงหาประสบการณ์ทางจิต หาสิ่งสงบระงับความวุ่นวายใจ ยาเสพติด การฆ่าตัวตาย ตลอดจนโรคจิต แม้แต่การฆ่าฟันทำร้ายกันก็มักมีสาเหตุแปลกๆ ทางจิตใจ แทนที่จะเกิดจากโกรธเคืองหรือแย่งชิงอยากได้ทรัพย์ เช่นอย่างในปีที่แล้วมีการพยายามสังหารประธานาธิบดีอเมริกัน นายคนที่พยายามฆ่าชื่อ นายจอห์น ฮิงค์ลีย์ (John W. Hinckley) ได้ยิงท่านเรแกน (Reagan) บาดเจ็บหนัก เขาจับได้สอบสวนดูปรากฏว่าแกจะฆ่าเพื่ออวดให้ผู้หญิงที่แกรักได้เห็นว่าแกมีความเก่งกล้า เท่านี้เองก็จะฆ่าประธานาธิบดี หรือตัวอย่างอีกรายก่อนนั้น นายคนหนึ่งตั้งตัวเป็นซันออฟแซม หรือลูกคุณแซม (son of Sam) ก็ไปเที่ยวฆ่าผู้หญิง เอาปืนไปยิงผู้หญิงที่มีผมบลอนด์ในที่ต่างๆ ทำให้สังคมนิวยอร์คและนิวเจอร์ซี่หวาดผวากันไปเป็นเวลาแรมปีกว่าจะจับได้ จับได้แล้วสอบสวนปรากฏว่า แกบอกว่าสุนัขข้างบ้านแกมันสั่งแกให้ทำ นี้ก็เป็นเรื่องน่าพิจารณาของสังคมอเมริกัน

ทีนี้อาตมภาพจะเสนออะไรบางอย่างเป็นเรื่องสถิติเปรียบเทียบระหว่างสังคมไทยกับสังคมอเมริกัน อาจจะทำให้สิ่งที่พูดมาแล้วชัดเจนขึ้น เมื่อกี้นี้ได้พูดว่า ในสังคมอเมริกันนั้นคนฆ่าตัวตายมากกว่าฆ่ากันตาย ทีนี้จะมาเทียบกับเมืองไทย ในไทยนั้นตรงกันข้าม คนฆ่ากันตายมากกว่าฆ่าตัวตาย ย้อนไปดูสถิติ เมื่อกี้ที่บอกว่า ปี พ.ศ. ๒๕๒๐ คนอเมริกันฆ่าตัวตาย ๒๘,๖๘๑ คน แต่ฆ่ากันตาย ๑๙,๙๖๖ คน หมายความว่า ฆ่ากันตายน้อยกว่าฆ่าตัวตายเกือบ ๑๐,๐๐๐ คน ทีนี้มาเมืองไทยปี ๒๕๒๑ ฆ่ากันตาย ๑๒,๒๘๓ คน แต่เมืองไทยประชากรน้อยกว่าอเมริกา ๔.๖ เท่า ถ้าเมืองไทยมีประชากรเท่าอเมริกา ก็จะฆ่ากันตาย ๕๖,๕๐๐ คน ในขณะที่อเมริกันฆ่ากันตาย ๑๙,๐๐๐ คน เมืองไทยจะฆ่ากันตาย ๕๖,๐๐๐ คน อาตมภาพหาสถิติการฆ่าตัวตายของเมืองไทยไม่ได้ แต่แน่ใจเลยว่าน้อย

ทีนี้จะขอดูสถิติอุบัติเหตุ ปีพ.ศ. ๒๕๒๒ ในประเทศไทยคนตายด้วยอุบัติเหตุ ๑๖,๐๐๐ คน เป็นสถิติสูงสุด เป็นโรคหัวใจตาย ๑๒,๐๐๐ คน เป็นมะเร็งตาย ๙,๐๐๐ คน ขอให้สังเกตความใกล้เคียงของสถิติเหล่านี้ ตายเพราะมะเร็งกับตายจากหัวใจของไทย ไม่ต่างกันเท่าไร ๙,๐๐๐ กับ ๑๒,๐๐๐ คน ต่างกันเพียงประมาณ ๓,๐๐๐ คน แต่ตายด้วยอุบัติเหตุมากกว่าโรคหัวใจ เพิ่มอีก ๔,๐๐๐ คน เป็นสถิติสูงสุด หันไปดูอเมริกา อันนี้เป็นสถิติแบบอัตราส่วน เมื่อกี้ได้บอกว่าคน อเมริกันตายด้วยโรคหัวใจแสนละ ๓๔๒ คน โรคหัวใจเป็นอันดับสูงสุด โรคมะเร็งตายเพียงแสนละ ๑๘๖ คน เกือบครึ่ง ท้ายสุดอุบัติเหตุทุกชนิดรวมทั้งรถยนต์ด้วย เพียงแสนละ ๔๗ หมายความว่า ในอเมริกาอุบัติเหตุตายน้อยกว่าโรคหัวใจตั้งราว ๗ เท่า ในขณะที่ประเทศไทยคนตายด้วยอุบัติเหตุเป็นสถิติสูงสุด มากกว่าการตายด้วยเหตุอื่นๆ การขาดความรับผิดชอบ ไม่มีวินัย ความประมาทละเลยดังที่กล่าวมานี้มันแสดงออกมาเด่นชัด

บทเรียนจากอเมริกา

สรุปในแง่นี้ว่า ประเทศของเราหรือสังคมของเราจะต้องพัฒนาแน่นอน เราจะต้องพัฒนา เพราะว่าสังคมของเราก็มีปัญหามากมาย เราจะต้องแก้ปัญหา พัฒนาสังคมให้พ้นจากปัญหาที่เป็นอยู่ แต่ในเวลาเดียวกันก็น่าพิจารณาว่า การที่จะพัฒนาไปสู่ความมีปัญหาแบบสังคมอเมริกันนั้นเป็นเรื่องที่น่าปรารถนาเพียงใด ควรหรือไม่ที่เราจะพัฒนาจากการเป็นสังคมที่ชอบฆ่ากันตาย เพียงเพื่อไปเป็นสังคมที่ฆ่าตัวตาย ดีหรือไม่ที่จะพัฒนาจากการเป็นสังคมที่มีโรคทางกายมาก เพื่อไปเป็นสังคมที่มีโรคจิตมาก อาตมภาพว่าเราควรหลีกเลี่ยงทั้งสองอย่าง คือเราจะพัฒนาให้พ้นจากการเป็นสังคมที่ชอบฆ่ากันตาย แล้วก็จะไม่ไปเป็นสังคมที่ชอบฆ่าตัวตายด้วย และจะไม่มีทั้งโรคทางกายและโรคทางจิต พูดให้เป็นภาพอย่างไทยๆ ว่า ไม่ควรล้าหลังอย่างชนบท แต่ก็ไม่ควรเจริญแบบเสื่อมโทรมอย่างกรุงเทพฯ อันนี้จะทำได้อย่างไร นอกจากนั้นอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า คนอเมริกันอย่างที่กล่าวมาแล้วข้างต้นบอกว่า พวกเขาเองก็ยอมรับว่าเขาอยู่ในระยะเป็น cultural transformation กำลังมีการเปลี่ยนแปลงรูปโฉมทางวัฒนธรรม วัฒนธรรมจะแปรรูปใหม่ คุณค่า ค่านิยมต่างๆ ในสังคมเดิมนี้จะต้องเปลี่ยนแปลงไป บางอย่างจะต้องถูกทิ้ง และทีนี้ถ้าเราจะพัฒนาสังคมของเรา มันเป็นการสมควรหรือที่จะพัฒนา เพื่อไปรับสิ่งที่เขากำลังจะทิ้ง อันนี้เป็นคำถามอันหนึ่ง ก็ขอผ่านไปอีก

ต่อไปอีกเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเป้าหมายของการศึกษาแท้ๆ ถ้ามองในแง่ร้ายบอกว่าเป็นเป้าหมายการศึกษาที่งานด้านการศึกษาในประเทศของเรายังสร้างไม่เสร็จ และเป็นเรื่องเกี่ยวกับภูมิของสังคมด้วย คือการสร้างจิตสำนึกทางสังคม ซึ่งเป็นจิตสำนึกในการแก้ปัญหาหรือสร้างสรรค์ และความใฝ่รู้ ความพยายามใช้ปัญญาอย่างจริงจัง เรื่องนี้อาตมภาพอาจจะมองในแง่ร้ายเกินไป แต่สภาพอย่างนี้ยังมีอยู่มาก เริ่มต้นเรายอมรับกันอยู่ว่า ผู้ที่เข้ามาเรียนวิชาการต่างๆ แม้แต่ในระดับมหาวิทยาลัย (หรือโดยเฉพาะในระดับมหาวิทยาลัย) นี้จำนวนมาก ไม่ได้เข้าเรียนด้วยความใฝ่รู้ในวิชาการนั้นๆ คือเขาไม่ได้ต้องการอยากจะเรียน ไม่ใช่อยากรู้วิชานั้นๆ เขามาเรียนเพื่ออะไร อันนี้เป็นอีกคำถามหนึ่ง แต่รู้กันดี ไม่ต้องตอบ เอาละตอนนี้ ไหนๆ ก็เป็นอย่างนั้นทั่วไปแล้ว ก็ปล่อยไปก่อน โดยหวังว่าเขาอาจจะไปสร้างความใฝ่รู้นั้นเอาตอนที่เขาเข้าเรียนแล้ว แต่ดูเหมือนจะปรากฏว่าแม้จนกระทั่งเรียนสำเร็จแล้ว ก็มีน้อยคนที่มีความใฝ่รู้อย่างแท้จริง และที่จะมีจิตสำนึกในการที่จะแสวงปัญญาต่อไป เมื่อเรียนจบไปแล้ว หาการงานได้แล้ว บางทีการแสวงหาปัญญาก็พลอยหยุดลงไปด้วย อันนี้สภาพสังคมตะวันตกได้เปรียบหน่อยหนึ่ง สังคมตะวันตกยังมีลักษณะอันนี้อยู่ สำหรับจิตสำนึกทางสังคมนั้นกำลังเปลี่ยนแปลงจึงประสบปัญหาอย่างหนักทีเดียวอย่างที่กล่าวมาแล้ว ฉะนั้นจะไม่พูดถึง แต่ในด้านความใฝ่รู้และแสวงปัญญานี้ ต้องยอมรับความจริงว่าเขายังมีมาก นิสิตนักศึกษาของเราๆ พยายามจะให้ใช้ห้องสมุด ก็ยังไม่ค่อยยอมใช้ จะให้พยายามค้นคว้าวิจัยก็ยังไม่ได้แข็งขัน ไม่ทำด้วยแรงใจใฝ่รู้จริงเท่าที่ควร การใฝ่รู้การแสวงปัญญาในสังคมตะวันตกยังมีมากกว่า อย่างไรก็ตามเราจะต้องดูภูมิหลังด้วย อันนี้อาตมภาพเห็นว่าสังคมของเขาได้เปรียบ

การที่จะสร้างจิตสำนึกตลอดถึงการใฝ่รู้แสวงปัญญาขึ้นนั้น ต้องมีความเป็นมาในทางประวัติศาสตร์ด้วยเหมือนกัน สิ่งที่จะช่วยก็คือสิ่งกระทบหรือแรงบีบคั้น อันนี้อาตมภาพถือว่าสำคัญ แรงกระทบหรือสิ่งบีบคั้นเป็นเครื่องช่วยทำให้เกิดจิตสำนึก ตลอดถึงการที่จะมีความใฝ่รู้ สังคมตะวันตกมีแรงกระทบและมีแรงบีบคั้นอะไรบ้าง

อันที่ ๑ แรงกระทบทางวัฒนธรรม การรบรารุกรานกัน การค้าขายเมืองไกลนำไปสู่การที่ต้องตื่นตัวตื่นเต้น ต้องปรับปรุงตัวให้พร้อมอยู่เสมอ มีการรับถ่ายทอดในขอบเขตที่กว้างขวาง ความแตกต่างกันก็มีเป็นอย่างมากด้วย จึงยิ่งเร้าให้มีการเรียนรู้และเร่งรัดตัว

บางท่านอาจจะแย้งว่าของไทยก็มีการรบราฆ่าฟันทำสงครามเหมือนกันนี่ คงตอบได้ว่า เราก็มีแต่ว่าอยู่ในขอบเขตจำกัด และในขอบเขตจำกัดนั้น เราก็มีการรับถ่ายเทปรับปรุงตัวจริงเหมือนกัน แต่อยู่ในขอบเขตนั้นเท่านั้น เช่นว่าเราอาจรบกันกับประเทศพม่าเช่นนี้ รบกันอยู่เป็นร้อยๆ ปี ก็วนอยู่แค่นั้น แต่สังคมตะวันตกมีการติดต่ออย่างกว้างขวางตั้งแต่เดิมแล้ว ถูกรุกรานโดยพวกโรมัน ทำสงครามครูเสดกับมุสลิม ถูกบุกจากพวกเจงกิสข่าน ต่อมาสังคมตะวันตกก็ออกล่าเมืองขึ้น เช่นนี้ก็เป็นเรื่องของการที่ได้ถ่ายทอดติดต่ออย่างกว้างขวาง แรงกระทบเร่งเร้าเหล่านี้ทำให้มีการตื่นตัวอยู่เสมอ ประมาทไม่ได้

ไทยเราเมื่อเริ่มยุคปัจจุบันก็ถูกบีบคั้นเหมือนกัน ดังจะเห็นว่าเมื่อเราเริ่มพัฒนาประเทศใหม่ที่บอกเมื่อกี้ว่า หนึ่งศตวรรษล่วงแล้ว คราวนั้นมีแรงกระทบและแรงบีบคั้นที่ทำให้เราเกิดจิตสำนึกในการแก้ไขปัญหา แต่ว่ามันเป็นไปอย่างชั่วคราว ตอนหลังนี้เราไม่มีแรงกระทบแบบนั้นแล้ว ที่จริงมีแต่แรงกระทบและแรงบีบคั้นนั้นมันกลายเป็นไม่โจ่งแจ้ง มันเป็นแรงกระทบและบีบคั้นที่แฝงเร้นอยู่เงียบๆ ไม่ทำให้เรารู้ตัว เมื่อไม่รู้ตัวก็เลยตกอยู่ในความประมาท คอยรับคอยเสพเสวยความเจริญ ความตื่นเต้น สิ่งสะดวกสบายอย่างเพลิดเพลิน ไม่มีจิตสำนึกเกิดขึ้น มีแต่ชวนให้เกิดความประมาท คอยรับเอาแต่เหยื่อล่อเท่านั้น

ทีนี้อย่างที่สอง คือแรงบีบคั้นทางปัญญาโดยตรง ในตะวันตกนั้นมีแรงบีบคั้นทางปัญญา เช่นในสมัยกลางของยุโรป ทางศาสนาบีบคั้นมาก ถึงกับตั้งศาลที่เรียกว่า Inquisition อาตมภาพขอแปลว่า ศาลไต่สวนศรัทธา คือถ้าใครพูดผิดไปจากคัมภีร์ศาสนาไม่ตามไบเบิล อย่างนี้ก็จะถูกจูงขึ้นศาล ถ้าไม่ยอมเปลี่ยนความคิดความเชื่อของตน ก็อาจจะถูกเผาทั้งเป็น อย่างนี้เป็นต้น เป็นเรื่องที่ว่ามีการบีบคั้นทางปัญญาเป็นอย่างมาก การบีบคั้นนี้ทำให้เกิดความดิ้นรน ยิ่งบีบยิ่งดิ้นแล้วจะทำให้เกิดการแสวงปัญญา แล้วการแสวงปัญญาใฝ่รู้นี้ก็กลายเป็นนิสัยที่ติดมาในระยะเวลายาวนาน ส่วนในประเทศไทยเรามีการบีบคั้นเหมือนกัน แต่การบีบคั้นเป็นไปในเรื่องอำนาจ ไม่มีการบีบคั้นในทางปัญญา ศาสนาไม่ยุ่งด้วย อย่างในทางพุทธศาสนาที่เป็นมานี้ ใครจะคิดอะไรแปลกไปเราก็เฉยไม่สนใจว่าไปตามเสรี ไม่มีใครจะไปเอาเรื่องเอาราวด้วย เพราะฉะนั้นคิดไปสักพักหนึ่งก็ขี้เกียจคิด เลิกคิดดีกว่า ไม่มีใครสนใจ นี้ก็เป็นเรื่องหนึ่งควรที่จะพิจารณา แต่ที่พูดอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่า อาตมภาพต้องการให้บีบคั้นกันอย่างนั้น แต่ต้องการให้เห็นภูมิหลัง

อีกอย่างหนึ่งก็คือ วิทยาศาสตร์เป็นแรงบีบคั้นอันหนึ่งเหมือนกัน วิทยาศาสตร์เจริญขึ้นจากแรงกระทบและแรงบีบคั้นเมื่อกี้ เพื่อจะต่อสู้กับอำนาจบีบคั้นในทางศาสนาของฝรั่งด้วย แต่ทีนี้วิทยาศาสตร์เองเกิดขึ้นแล้วก็บีบคั้นคนให้รู้จักใช้ปัญญา เพราะว่าวิทยาศาสตร์ทำให้เราไม่ยอมไปฝากความหวังไว้ในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ถ้าเราฝากความหวังไว้กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่นเราอ้อนวอน เราก็ส่งต่อความรับผิดชอบไปให้เทวดา เราส่งต่อความรับผิดชอบไปให้เทวดาแล้ว เราก็ฝากความหวังไว้กับเทวดา เทวดาจะช่วยแก้ปัญหาให้ เราก็นอนรอ แต่ทีนี้ถ้าเราไม่ยอมหวังพึ่งเทวดา วิทยาศาสตร์มาบอกว่า ไม่ยอมให้หวังพึ่งสิ่งเหล่านั้น เราก็จะต้องคิดค้นคิดแก้ปัญหาด้วยเหตุผลให้ได้ บางทีตัวเองคิดไม่สำเร็จ ลูกหลานคิดต่อไป ลูกตัวเองแก้ปัญหายังไม่ได้ หลานเหลนก็ต้องคิดแก้ไขให้ได้ ความเจริญทางปัญญามันก็เกิดขึ้น อันนี้ในสังคมไทยปัจจุบันก็น่าเป็นห่วง การหวังพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์การอ้อนวอนนี้เป็นไปอย่างกว้างขวาง อันนี้ถูกหลักพระพุทธศาสนาหรือไม่ เป็นเรื่องที่เราควรถาม ไม่มีเวลาจะตอบ

คนที่หวังพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือปัจจัยภายนอก เมื่อหันมารับเอาวิทยาศาสตร์และเทคโนโยลีก็จะกลายเป็นคนงมงายในวิทยาศาสตร์และเทคโนโยลีอีก วิทยาศาสตร์และเทคโนโยลีจะกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ดลบันดาลที่เขาลุ่มหลงและฝากความหวัง แต่ถ้าเรามีความคิดเป็นวิทยาศาสตร์ เมื่อวิทยาศาสตร์บอกอะไร เราก็ไม่ปลงใจเชื่อ แต่จะรับฟัง ศึกษา และใช้สอยอย่างมีสติ รู้เท่าทันว่ามีอะไรอีกหลายอย่างที่วิทยาศาสตร์ยังไม่รู้พอ สิ่งที่เคยรู้ว่าใช่ ต่อมากลายเป็นผิดก็มาก สิ่งที่เทคโนโยลีสมัยหนึ่งว่ามีผลดี ต่อมากลายเป็นโทษก็ไม่น้อย ควรตระหนักถึงคุณโทษ ข้อดีข้อเสียและพร้อมที่จะหาทางออกได้เสมอ

พระพุทธศาสนาไม่ได้ปฏิเสธเทวดา เราไม่ได้บอกว่าท่านไม่มี แต่พระพุทธศาสนาถือว่าเทวดาก็เป็นเพื่อนร่วมโลก เป็นเพื่อนร่วมสังสารวัฏ เช่นกับสัตว์ทั้งหลายอื่นซึ่งเราควรจะมีเมตตา มีไมตรีจิตมิตรภาพ ควรอยู่ร่วมกันด้วยความสุข ด้วยความสงบด้วยสันติ แต่มันไม่ใช่เรื่องที่จะไปอ้อนวอน หวังพึ่งกัน เพราะมนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกตนเองได้ ทางพระท่านถือว่าเป็นอย่างนั้น มนุษย์จะต้องฝึกปรือหรือพัฒนาสติปัญญาของตน พยายามคิดแก้ปัญหาด้วยตนเองให้สำเร็จ และมนุษย์ที่ฝึกตนแล้วทางพระถือว่าเป็นผู้ประเสริฐสุด แม้แต่เทวดาพระพรหมก็ต้องเคารพกราบไหว้มนุษย์นั้น

สำหรับคนทั่วไป ใครจะเกี่ยวข้องกับเทวดาก็ให้คบหาเกื้อกูลกัน นับถือท่านอย่างเป็นญาติผู้ใหญ่ หรือมิตรสหายที่หวังดี เทวดาที่ดีก็เหมือนมิตรดีหรือคนที่มีคุณธรรม เมื่อรู้ว่ามนุษย์เดือดร้อน ก็ต้องมาช่วยเองด้วยความดีของมนุษย์นั้น นี้เป็นขอบเขตความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเทวดากับมนุษย์ ถ้ายุคใดเทวดาคอยรอแต่เครื่องเซ่น ได้สินวอนแล้วช่วยไม่เลือกว่าคนดีหรือคนชั่ว ก็บอกได้เลยว่ายุคนั้น สังคมจะมีแต่ความเสื่อมโทรม โลกมนุษย์เต็มไปด้วยความเดือดร้อนระส่ำระสาย รวมความก็คือ ท่านให้มีความสัมพันธ์กับเทวดาและพรหมในแบบเป็นมิตร มีไมตรีจิตต่อกัน มีเมตตาต่อกัน แต่ไม่ให้ไปอ้อนวอน นี้เป็นหลักสำคัญในทางพุทธศาสนา ถ้าปฏิบัติผิดก็ผิดต่อพระรัตนตรัยด้วย เพราะพระรัตนตรัยนั้นท่านไม่ให้ไปอ้อนวอนใคร แต่ท่านให้ปฏิบัติตามหลัก เมื่อนึกถึงพระรัตนตรัยแล้วก็ให้แก้ปัญหาตามหลักอริยสัจสี่ ปัญหานั้นตามหลักอริยสัจก็คือมีทุกข์ มีปัญหาเกิดขึ้น ศึกษาปัญหา แล้วก็สืบสาวหาเหตุ แล้ววางเป้าหมายและปฏิบัติตามวิธีการดับทุกข์

แรงบีบคั้นอย่างสุดท้าย เป็นเรื่องสามัญมาก แต่ควรเอามารวมไว้ด้วย เพื่อให้ครบถ้วน คือ แรงบีบคั้นของธรรมชาติแวดล้อม ประเทศตะวันตกส่วนที่เจริญนำหน้า มักมีภัยธรรมชาติที่รุนแรงคอยบีบคั้นอย่างสม่ำเสมอพอดีๆ ตัวอย่างง่ายๆ เช่น อากาศหนาวเย็นถึงขั้นที่ขืนอยู่อย่างปกติจะต้องตายอย่างแน่นอนทุกคน และอากาศหนาวเช่นนั้นเวียนมาถึงเป็นประจำสม่ำเสมอทุกปี ก่อนถึงฤดูหนาวแต่ละปี คนจะต้องหาอาหารเก็บสะสมไว้ให้พอ ต้องจัดเตรียมที่อยู่อาศัยให้คุ้มหนาวได้ เป็นต้น ทุกอย่างต้องเร่งทำทันทีเมื่อถึงเวลา และต้องทำให้ทันผัดเพี้ยนไม่ได้ แรงบีบคั้นนี้ ทำให้กระตือรือร้นเร่งทำงาน และทำให้ต้องดิ้นรนหาทางแก้ปัญหา ต้องใช้ความคิดสรรหาวิธีปฏิบัติที่ได้ผลดีมากและรวดเร็ว เป็นเหตุสำคัญอย่างหนึ่งของความเจริญก้าวหน้า ถึงจะเชื่อในอำนาจดลบันดาลของเทพเจ้า ก็รอการดลบันดาลมัวแต่อ้อนวอนอยู่ไม่ได้ ต้องถือคติพจน์เพิ่มขึ้นว่า “พระเจ้าช่วยคนที่ช่วยตัวเอง”11 ส่วนในประเทศที่อากาศไม่บีบคั้นถึงตาย หาอาหารง่าย เป็นต้น คนจะทำอะไรก็ผัดเพี้ยนเวลาได้เรื่อย และไม่จำเป็นต้องคิดอะไรมาก ถ้าขาดเครื่องบีบคั้นอย่างอื่นและไม่มีธรรมชาติช่วยกระตุ้น ก็มีทางเป็นไปได้มากที่จะกลายเป็นคนเฉื่อยชาหรือร้ายกว่านั้น ก็อาจจะมักง่ายด้วย

วัฒนธรรมฝรั่งบีบคั้นอย่างหนักให้แต่ละคนต้องรับผิดชอบตัวเองสูง จนด้านหนึ่งทะเล็ดออกมาเป็นการเรียกร้องสิทธิอย่างสุดโต่ง อะไรๆ ก็จะซู (sue) ถ้าไทยเพ่งเอามาแต่ด้านเรียกร้องสิทธิ แต่ไม่สร้างความรับผิดชอบ ย่อมทำได้ง่าย แต่สังคมแย่ลงทุกที

แรงบีบคั้นอย่างอื่นๆ ทางด้านวัฒนธรรมยังมีอีก เช่น ความเป็นอยู่แบบตัวใครตัวมัน ระบบแข่งขัน เป็นต้น ล้วนเป็นเครื่องกดดันให้จำเป็นต้องดิ้นรนขวนขวาย ประมาทอยู่ไม่ได้แต่ปัจจัยเหล่านี้มีทั้งผลดีและผลเสีย ต้องรู้จักแยกให้ดี ในที่นี้จะขอข้ามไปก่อน

คนเราพออยู่สุขสบายก็มักกลายเป็นคนประมาท ต้องมีแรงบีบคั้นกดดันจึงจะไม่ประมาท เมื่อไม่ประมาทก็กระตือรือร้น เร่งขวนขวาย การคิดการพูดการกระทำที่สร้างสรรค์ได้งานได้การก็ตามมา พระพุทธเจ้าจึงให้ถือความไม่ประมาทเป็นหลักธรรมสำคัญ เป็นใหญ่คลุมหลักธรรมอื่นๆ ดังรอยเท้าช้าง ไม่ประมาทเสียอย่างเดียว ธรรมข้ออื่นๆ ก็ตามมาได้หมด แต่ถ้าประมาทเสียอย่างเดียว ธรรมข้ออื่นๆ ก็นอนตายทั้งหมด เพราะเหลืออยู่แต่ในคัมภีร์ ไม่มีใครเอามาปฏิบัติ บางทีแม้แต่ได้ผลจากธรรม สบายใจหายทุกข์แล้ว เลยนอนใจ ไม่คิดแก้ไม่คิดก้าวต่อไป ก็มี ดังนั้นผู้นำที่ฉลาดจึงคอยสร้างเหตุบีบคั้นบ้าง ปลุกใจบ้าง เพื่อเร่งเร้าให้คนไม่ประมาท ในหมู่สงฆ์ก็ต้องมีหลักการสำคัญอย่างหนึ่ง คือ ความเคารพในความไม่ประมาท เพื่อแก้ปัญหาที่ว่า ทำอย่างไร ทั้งที่สุขสบายก็ไม่ให้ประมาท ซึ่งเป็นเรื่องยาก ฝืนกระแสจิตของมนุษย์ปุถุชน คนผู้ใดรู้จักเร่งเร้ากระตุ้นเตือนตนเองให้ไม่ประมาทได้ ทั้งที่ไม่มีเหตุภายนอกบีบคั้น คนผู้นั้นคือนักปฏิบัติธรรมที่แท้

เป็นอันว่าตอนนี้ เราต้องหาทางอย่างใดอย่างหนึ่ง ต้องสร้างจิตสำนึกทางสังคมในการที่จะแก้ปัญหาขึ้นมา โดยให้มีความซาบซึ้ง และใฝ่ต่อเป้าหมายของสังคม (ถ้าจะให้ดีจริงต้องต่อเป้าหมายของชีวิตด้วย) และจะต้องสร้างความใฝ่รู้ ความพยายามแก้ปัญหาด้วยปัญญาให้สำเร็จให้จงได้ วิธีสร้าง คือ ๑. เร้าความไม่ประมาทขึ้น ๒. สร้างความอยากที่ชอบธรรม อะไรคือความอยากที่ชอบธรรม นี่คือปัญหาที่จะพูดกันต่อไป ถ้ามิฉะนั้นแล้วการแก้ปัญหาก็ดี การพัฒนาก็ดี จะสำเร็จได้ยาก ถ้ามีเวลาเพียงพอ ก็จะได้ยกขึ้นมาพูดถึงโดยเฉพาะให้ชัดเจน

ขอเข้าสู่หัวข้อสุดท้ายเลย คือการใช้พุทธธรรมแก้ปัญหาการศึกษาของสังคมไทย เท่าที่อาตมภาพได้พูดมานี้ ขอทำความเข้าใจก่อนว่า ต้องการให้เห็นว่า การที่จะแก้ปัญหาการศึกษา หรือจะแก้ปัญหาสังคมไทยได้นั้น อาตมภาพถือหลักว่า จะต้องเข้าถึงพื้นฐานของไทย และจะต้องไล่ให้ทันความคิดชีวิตสังคมฝรั่ง ต้องทั้งสองอย่างจึงจะสำเร็จ ในส่วนที่ต้องไล่หรือต้องรู้ให้ทันความคิดชีวิตสังคมอเมริกันนั้น เพราะเหตุว่าเรากำลังเอาสังคมอเมริกันเป็นแบบอย่าง เราเดินตามเขา ในเมื่อเราเดินตามเขา เราจะต้องรู้ว่าเขามีสภาพแท้จริงอย่างไร อะไรที่เขาทำสำเร็จและผิดพลาด เราจะได้บทเรียนอย่างไร ส่วนที่ว่าจะต้องเข้าถึงพื้นฐานของไทยก็เพราะว่า เราจะต้องรู้จักเนื้อตัวของเรา เอง และถิ่นที่เราเป็นอยู่ เหมือนกับว่าเราเห็นเสื้อชุดสากลเราจะเอามาใช้กับตัวไทยในถิ่นของเรา ผลที่สุดเราคิดออก ก็เกิดมีเสื้อชุดพระราชทานขึ้น ก็ถือว่าอาจจะเป็นชุดที่เหมาะกับของไทย ได้คิดพิจารณาเรียบร้อยแล้ว

การเข้าถึงพื้นฐานไทยนั้น รวมไปถึงการที่จะกำหนดให้ได้ว่า อะไรเป็นสิ่งที่เรามีให้แก่อารยธรรมของโลกได้บ้าง นี้เป็นคำถามอันหนึ่ง ย้ำว่าสังคมไทยหรือวัฒนธรรมไทยหรือจะเรียกให้ใหญ่ว่าอารยธรรมไทยที่ผ่านมานี้ เรามีอะไรของเราไหมที่จะเป็นส่วนร่วมอย่างมีความหมายในอารยธรรมของโลก ที่เราจะมอบให้แก่สังคมของโลกได้ หรือใช้ภาษาอังกฤษว่า เราจะมี contribution อะไรแก่อารยธรรมของโลกได้บ้าง อาจจะเป็นส่วนช่วยร่วมหรือ contribution ที่โลกเขายอมรับอยู่แล้ว หรือที่เราเองมั่นใจว่าเราจะทำให้แก่โลกได้ นี่ด้านหนึ่ง อีกด้านหนึ่งก็คือว่าเราจะต้องฉลาดที่จะรู้จักเลือกเอาสิ่งที่ดีที่สุดของเขามาเสริมให้แก่ตน ซึ่งอันนี้หมายถึงการที่จะต้องรู้เท่าทันชีวิต สังคมความคิดของเขาด้วย จึงจะเลือกได้ถูก การที่เราเข้าถึงพื้นฐานของเราเองและจับได้ว่าอะไรเป็นส่วนร่วมที่เรามีให้แก่อารยธรรมของโลกได้นั้น ก็จะทำให้เกิดความมั่นใจ ความภูมิใจในตนเองที่ถูกต้องด้วย

ขณะนี้อาตมภาพตั้งขอสังเกตว่า คนไทยขาดความภูมิใจ ขาดความมั่นใจในตนเองเป็นอย่างมาก อาการนี้แสดงออกโดยที่ตามปกติแล้วเราชื่นชอบ คอยที่จะรับสิ่งที่มาจากสังคมอเมริกันหรือสังคมตะวันตก ตามเขาไปเรื่อยๆ แต่เวลามีใครมาว่าเรา มาว่าสังคมไทยหรือว่าประเทศไทยมีข้อบกพร่องข้อนั้นข้อนี้ พวกเรามักจะโกรธเป็นฟืนเป็นไฟเลยทีเดียว เกรี้ยวกราดด่าว่าเขา การแสดงอาการอย่างนี้ ไม่แสดงถึงการมีความภาคภูมิใจในตนเองหรือมั่นใจในตนเอง คนที่มั่นใจในตนเอง หรือมีอะไรดีในตัวแล้วจะไม่วู่วาม ถ้ามีความมั่นใจในตนเองจะสามารถค่อยๆ พูด ค่อยๆ จา ไม่เกรี้ยวกราด ไม่เที่ยวด่าตอบเขาในทันที เพราะฉะนั้นอาการที่เป็นฟืนเป็นไฟในเวลาถูกเขาว่า แต่ตามธรรมดาแล้วก็ตามเขาเรื่อยไป นี่แสดงถึงการขาดความภูมิใจในตัวเอง ฉะนั้นความภูมิใจและมั่นใจอันนี้เราจะต้องสร้างขึ้นให้ได้ อาตมภาพต้องขอผ่านไป

นำพุทธธรรมมาแก้ปัญหาของไทย

ต่อไปนี้จะนำเสนอหลักการบางอย่างทางพุทธธรรมที่จะนำมาใช้ในการแก้ปัญหาการศึกษาของสังคมไทย พุทธธรรมนั้นมีหลักการใหญ่อยู่ว่า การแก้ปัญหาหรือการพัฒนามนุษย์ต้องทำจาก ๒ ด้านเข้าประสานบรรจบกัน สองด้านนี้คืออะไร อันที่ ๑ คือ ทำจากข้างนอก เข้ามาหาข้างใน เรียกว่าวินัย อันดับที่ ๒ ทำจากข้างในออกไปข้างนอก เรียกว่าธรรม พุทธศาสนามีหลักการใหญ่นี้ เรียกว่าธรรมกับวินัย รวมกันเป็นชื่อเรียกเดิมของพระพุทธศาสนาว่า ธรรมวินัย หลักนี้มักจะลืมกันเสีย และถ้ามองแต่ธรรมก็จะบอกว่าพุทธศาสนานี้แก้ปัญหาแต่ข้างในไม่เอาใจใส่ข้างนอก ความจริงท่านถือว่าต้องเอา ๒ อันควบประสานและบรรจบกัน วินัยคืออะไร วินัยไม่ใช่ความหมายแคบๆ ที่เข้าใจในภาษาไทย วินัย คือระเบียบชีวิตและระบบของสังคม ที่วางขึ้นโดยสอดคล้องกับธรรมเอาธรรมเป็นพื้นฐาน ธรรมคืออะไร ธรรม คือหลักความจริง ความถูกต้องดีงาม ที่เราแนะนำเรียนรู้กัน ใช้ในการอบรมฝึกฝนตน นี่เป็นหลักการใหญ่ ต่อไปนี้อาตมภาพจะพูดแต่ด้านธรรมอย่างเดียว และในแง่ของธรรมก็จะพูดเฉพาะที่สำคัญบางข้อเท่านั้น

เรื่องที่ ๑ ที่น่าจะนำมาพูดก็คือ ข้อถกเถียงเกี่ยวกับปัญหาการพัฒนาที่พุทธศาสนาถูกกล่าวหาบ่อยๆ ซึ่งอาตมภาพว่าถึงเวลานี้เราควรจะพ้นไปได้เสียที เพราะถ้าไม่พ้นแล้วเราจะแก้ปัญหากันไม่ได้ เดินต่อไปไม่ได้ คือปัญหาเรื่องความอยาก เมื่อกี้นี้อาตมภาพได้พูดว่า ในการแก้ปัญหาของสังคมไทย งานอย่างหนึ่งก็คือจะต้องส่งเสริมให้เกิดความอยากที่ชอบธรรม ในระยะเวลาที่ผ่านมาเท่าที่สังเกตดู มีคน ๒ พวก ฝ่ายหนึ่งบอกว่าการพัฒนาประเทศพัฒนาสังคมนั้น จะต้องให้คนเกิดความอยาก อยากร่ำอยากรวย อยากมีสิ่งฟุ่มเฟือยใช้ อยากได้ยศได้ตำแหน่ง อยากหรูหราอะไรเป็นต้น แล้วเขาจะได้เร่งทำการงานแล้วจะพัฒนาประเทศได้สำเร็จ นี่เป็นแนวหนึ่ง และอีกพวกหนึ่งก็บอกว่า ความอยากเป็นตัณหา พุทธศาสนาสอนให้ละตัณหา ชาวพุทธจึงต้องเป็นคนไม่มีความอยาก ต้องเป็นคนคอยดับตัณหา เมื่อต้องพยายามลดตัณหา ดับความอยาก ชาวพุทธก็พยายามแสดงตัวว่าเป็นคนไม่อยากได้อยากดีอะไร ชักจะมีลักษณะบุคลิกภาพแบบเป็นคนไม่อยากได้อะไร เป็นคนไม่มีความอยาก ชาวพุทธที่ดีก็ชักจะกลายเป็นคนเซื่องๆ หงอยๆ ไป ทีนี้ที่ถูกเป็นอย่างไร เป็นเรื่องน่าพิจารณา ในที่นี้ทั้ง ๒ ฝ่ายนี้ผิดทั้งคู่ ทำไม? วิธีที่ ๑ นั้นจะทำให้เกิดการพัฒนาหลอกๆ พัฒนาผิดพลาด หลงทางอย่างที่ฝรั่งเรียกว่า False Development หรือ Misdirected Development หรืออาจจะเกิดเป็นสภาพ “ทันสมัยแต่ไม่ได้พัฒนา” อย่างเมื่อกี้ หรืออาจจะเป็นอีกอันที่ว่า “ทันสมัยแต่หายนะ” ก็ได้ การพัฒนาวิธีแรกจะนำไปสู่สภาวะอย่างนี้โดยการส่งเสริมความอยาก ส่วนวิธีที่ ๒ พวกหลังที่ว่าอยากอะไรไม่ได้ เดี๋ยวไม่เป็นชาวพุทธ อันนี้ก็เป็นความเข้าใจผิดต่อพุทธธรรม เรื่องนี้เราจะต้องมาทำความเข้าใจกันก่อน

ความอยากนี่ ในทัศนะของพุทธธรรมคืออะไร ในแง่ของพุทธธรรม ปัญหาไม่ใช่อยู่ที่ว่าอยากหรือไม่อยาก แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าอยากอะไรดี อยากอะไรไม่ดี อยากอย่างไรผิด อยากอย่างไรถูก ปัญหาอยู่ที่นี่ ขอทำความเข้าใจเพียงว่า ในพุทธธรรมนั้นท่านแบ่งความอยากเป็น ๒ อย่าง
๑. ความอยากเสพเสวย ปรนเปรอตนเอง
๒. ความอยากที่เกี่ยวกับความรู้และการกระทำที่ถูกต้องดีงาม

ความอยากอย่างที่ ๑ ท่านเรียกว่า ตัณหา เป็นความอยากที่ก่อให้เกิดปัญหาในการพัฒนา เช่น การทุจริต การหาผลประโยชน์ในทางลัด ความเกียจคร้านมัวเมา เป็นความอยากที่ต้องควบคุมหรือจะต้องเบนทิศทางให้หันมาเป็นประโยชน์หรือเป็นไปในทางบวก ขอให้คิดดูอย่างที่อาตมภาพเล่าเมื่อกี้ แม้แต่ของตะวันตกตอนที่เป็นสังคมอุตสาหกรรม (Industrial Society) ตอนที่เขากำลังสร้างตัว ๔๐-๕๐ ปีมาแล้ว จริยธรรมของเขาเป็นจริยธรรมแบบข่มระงับดับตัณหา คือเป็นจริยธรรมที่สอนให้คนต้องคอยระงับความอยากแบบนี้ ไม่ยอมตามใจตัวและไม่พยายามแสวงหาความสุข และเขาก็ได้สร้างสังคมของเขาให้เจริญพรั่งพร้อมขึ้นมาได้ด้วยจริยธรรมอันนี้

ความอยากอย่างที่ ๒ เรียกว่า ฉันทะ เป็นความอยากที่จำเป็นในการแก้ปัญหาทุกชนิด เรียกชื่อเต็มว่าธรรมฉันทะ ธรรมฉันทะนี้คือสิ่งที่จะต้องสร้างความเข้าใจกันต่อไป ถ้าแปลง่ายๆ ก็แปลว่า อยากในธรรมหรือใฝ่ธรรม ธรรมแปลว่าอะไร ในแง่หนึ่ง ธรรมแปลว่าความจริง ความจริงคืออะไร ความจริงเป็นสิ่งอันพึงรู้ การที่เราเกี่ยวข้องกับความจริงก็คือการที่ต้องรู้ เพราะฉะนั้น ฉันทะในแง่เกี่ยวกับความจริง จึงแปลว่าอยากรู้หรือใฝ่รู้ หมายถึงอยากรู้ความจริง คำว่าฉันทะในลักษณะที่ ๑ คือความอยากรู้ ใฝ่รู้

ทีนี้ธรรมในแง่ที่ ๒ แปลว่าความถูกต้อง ความดีงาม ความถูกต้องความดีงามเป็นอย่างไร ความถูกต้องความดีงามเป็นสิ่งอันพึงปฏิบัติ หรือเป็นสิ่งที่พึงทำให้เกิดให้มีขึ้น เพราะฉะนั้นฉันทะในแง่นี้ก็จะแปลว่าอยากทำหรือต้องการทำ คืออยากทำสิ่งดีงาม อยากทำให้ความถูกต้องความดีงามเกิดมี เป็นจริงขึ้น

รวมความว่า ฉันทะแปลว่าความอยากรู้ ความใฝ่รู้และความอยากทำ ใฝ่ทำ อาตมภาพถือว่า ฉันทะนี้เป็นธรรมแกนกลางของการพัฒนา เป็นสิ่งที่การศึกษาจะต้องสร้างขึ้นให้ได้ แล้วเราจะไม่มีปัญหาเรื่องอยากหรือไม่อยาก เลิกพูดกันได้เลย เรื่องนี้สำคัญมาก เราจะต้องแยกให้ได้ว่าความอยากอย่างไหนเป็นตัณหา ความอยากอย่างไหนเป็นธรรมฉันทะ ยกตัวอย่าง แม้แต่การสร้างระเบียบวินัย ถ้ามีตัณหาหรืออยากด้วยตัณหาแล้วสร้างไม่สำเร็จแต่ตรงข้ามจะทำให้ขาดระเบียบวินัยเป็นอย่างยิ่ง ในสังคมนี้ที่ขาดระเบียบวินัยกันนักก็เพราะเรื่องตัณหานี้แหละ ถ้าจะให้มีระเบียบวินัย จะต้องมีฉันทะ คนที่มีตัณหาจะเห็นแก่การเสพเสวยผลประโยชน์ส่วนตน ระบบตัณหาคือระบบผลประโยชน์ ระบบเอาแต่ให้ตัวได้ เอาแต่ตัวสะดวกสบายเข้าว่า ในสังคมที่เป็นอย่างนี้ แม้แต่กระดาษพิมพ์ดีดก็ไม่มีวินัย ขอให้ลองสังเกต แม้แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ในสังคมของเรานี่ กระดาษพิมพ์ดีดอย่างขนาดพับสามนี่มันไม่เท่ากัน ซื้อมาจากร้านหนึ่งอาจจะสั้นหน่อย อีกร้านอาจจะยาวหน่อย แคบบ้างกว้างบ้าง ได้ทราบว่าบางทีเขาหาทางให้ตัดได้มากๆ จึงตัดให้สั้นหรือแคบเข้ามาหน่อย เพื่อจะได้ตัดมันได้หลายๆ ครั้ง ปริมาณจะได้เพิ่มขึ้น จะได้ผลประโยชน์กำไรมากๆ พอหาผลประโยชน์แบบนี้ เห็นแก่โลภะ ตัณหาครอบงำ ก็ไม่มีวินัย กระดาษก็ไม่มีวินัย

ทีนี้ถ้าหากว่าพ่อค้ากระดาษนั้นแกมีฉันทะแรง รักความถูกต้อง ความดีงาม ความเป็นจริง แม้แกจะอยากได้ผลประโยชน์ แต่ถ้าแกมีฉันทะแรง ถ้าความอยากดี ความใฝ่ธรรม ความรักความถูกต้องดีงามมันแรง มันจะชนะและตัณหาจะเอาผลประโยชน์มาครอบงำไม่สำเร็จ แกจะต้องตัดกระดาษให้ตรงตามมาตรฐาน วินัยมันจะอยู่ได้ คนที่รักความถูกต้องความดีงามอย่างจริงจังเท่านั้นจึงจะเอาชนะความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน หรือความสะดวกสบายเฉพาะหน้าได้ การเห็นแก่ความสะดวกสบายผลประโยชน์ส่วนตัวเฉพาะหน้าคือตัณหา ความรักความจริงความถูกต้องดีงามคือฉันทะ เราจะต้องสร้างฉันทะขึ้นมาให้เป็นตัวที่แรงกว่าตัณหา เรายอมรับว่าทุกคนมีตัณหา ถ้าไม่มีฉันทะแรงกล้าแล้ว สำหรับปุถุชนแก้ไม่สำเร็จ เราจะมัวไปพูดเรื่องละตัณหาอยู่ไม่พอ ต้องเอาความอยากด้วยกันมาแก้ ความอยากอย่างไหนที่มันถูกก็เอามาระงับความอยากที่มันผิด อย่างในอเมริกาอาตมภาพสังเกตดู แต่อาจจะดูไม่ทั่วก็ได้ รู้สึกว่ากระดาษพับ ๓ ของเขา ๘.๕" x ๑๑" ไปที่ไหนไม่ว่าแบบบาง แบบหนา แบบแอร์ มันเท่ากันหมดเปี๊ยบเลย นี่อาจจะแสดงว่าสังคมของเขาเคยมีธรรมฉันทะมาแรง หรืออย่างน้อยก็มีรากฐานธรรมฉันทะนี้อยู่

อีกตัวอย่างหนึ่ง ในการพัฒนาชนบท ไม่ต้องพูดถึงชาวบ้าน ลองดูคนที่ไปทำงานพัฒนาก่อน นักพัฒนาเข้าไปสู่ชนบทพร้อมด้วยความอยากทั้ง ๒ อย่าง อย่างแรกเป็นธรรมดาของปุถุชน ตัณหาอยากได้ผลประโยชน์ เช่น เงินเดือน อาจจะมากสักหน่อย ตามสมควรไม่ว่าอะไร ต่อไปอย่างที่สองฉันทะ อยากช่วยให้ชาวบ้านอยู่ดีมีความสุข พ้นจากความขัดสนยากไร้ อยากให้ท้องถิ่นสงบสุข ปลอดภัยไร้โรค ถ้ามีแต่ความอยากอย่างแรก คือ ตัณหา หรือถ้ามุ่งสนองมัน คงทำงานพัฒนาไม่ได้แน่ จะเพิ่มปัญหาเช่นทุจริตมากกว่า แต่เพราะคุมตัณหาไว้ให้เรียบร้อยได้ และทำงานด้วยความอยากแบบฉันทะ งานพัฒนาจึงจะสำเร็จ หรืออย่างในกรุงเทพฯ จะแก้ปัญหาให้คนข้ามถนนตรง ทางข้าม ถ้าปล่อยตามตัณหา เอาแต่สะดวกสบายสนองใจอยากของตัว แก้ปัญหาไม่ได้ ถ้าปลุกเร้าสร้างฉันทะไม่สำเร็จ แก้ไม่ได้ ทั้งคนข้ามและคนคุมจะสมคบกันทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ให้แก้ไม่ได้

ตัณหาถามว่าฉันจะได้อะไร แต่ฉันทะถามว่าฉันจะทำอะไร ถ้าฉันทะจะถามว่าได้อะไร ก็หมายถึงการได้ผลของงาน ว่างานนี้ทำแล้วจะเกิดผลดีอะไร ไม่ใช่ว่าตัวฉันจะได้ผลประโยชน์อะไร ปัจจุบันนี้ระบบตัณหาแพร่หลายก่อปัญหาทั่วไปหมด ถ้าจะแก้ปัญหา พัฒนาสังคมกันจริง ก็ต้องหันไปเร่งระบบฉันทะ อย่ามัวถามว่าฉันจะได้อะไร จงถามว่าฉันจะทำอะไร หรือฉันจะต้องทำอะไร

เมื่อมีฉันทะแล้ว อยากรู้ ใฝ่รู้ อยากทำสิ่งที่ถูกต้อง มันจะต้องแสวงปัญญา เพื่อจะรู้ว่าความจริง สิ่งถูกต้องดีงามที่ควรจะทำนั้นคืออะไร เป็นสิ่งที่พ่วงมาทันที เมื่อศิษย์แสวงปัญญาแล้ว ครูก็จะทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตรได้ ช่วยชี้แนะให้ข้อมูลเสนอแนะความเห็นฝึกให้เกิดโยนิโสมนสิการ เป็นคน รู้จักคิด แล้วก็สร้างปัญญาได้ อันนี้ก็เข้าสู่ขบวนการศึกษาแบบพุทธศาสนาแล้ว ถ้าการศึกษาสร้างอันนี้สำเร็จ ก็เป็นการสัมฤทธิ์ผลในเป้าหมายของการศึกษาของเรา

ขอพูดแทรกอีกนิดหนึ่ง เกี่ยวกับเรื่องฉันทะ ได้มีการวิจัยสังคมไทยเกี่ยวกับปัญหาการพัฒนา บอกว่าคนไทยนี่สันโดษแล้ว ก็มีบางท่าน อาจจะเป็นท่านเดียวกันนั่นแหละ วิจัยออกมาแล้วบอกว่า คนไทยมีค่านิยมแห่งการบริโภค (คือบอกว่ามีตัณหามากนั่นเอง) ไม่ชอบผลิต อันนี้อาตมภาพถือว่าขัดกัน ถ้าคนไทยสันโดษ ย่อมมีค่านิยมบริโภคไม่ได้ ถ้าคนไทยมีค่านิยมบริโภคจะสันโดษไม่ได้ มันขัดกัน มันตรงกันข้าม นี่แสดงว่าเรื่องนี้ เรายังไม่ยุติ ยังเป็นปัญหากันอยู่ ถ้าไม่พ้นจุดนี้จะไปทำอะไรได้ มันดำเนินการอะไรไม่ได้ เพราะฉะนั้นมันคิด แม้แต่ปัญหาขั้นพื้นฐาน เราบอกคนไทยสันโดษ เราบอกคนไทยมีค่านิยมบริโภค นี่มันขัดกันในตัว

แต่เอาละเรื่องนี้อย่าเถียงกันต่อไปเลย ยุติกันเสียที ยุติอย่างไร ยุติได้ในแง่ว่า สันโดษนี่มันไม่ใช่คุณธรรมที่เสร็จสิ้นในตัว มันเป็นคุณธรรมอย่างหนึ่งที่จะปฏิบัติร่วมกับคุณธรรมอื่น เราจะเอาสันโดษอย่างเดียวมาตัดสินไม่ได้ ถ้าสักแต่ว่าสันโดษลอยๆ สันโดษเลื่อนลอย นี่ก็จะได้ผลเหมือนกัน ผลอะไร คือตัณหาก็อาจจะตามมา แล้วก็กลายเป็นคนขี้เกียจอย่างมีความสุข นี่สันโดษอย่างเลื่อนลอย ปล่อยช่องให้ตัณหาเข้ามา ก็กลายเป็นขี้เกียจอย่างมีความสุข เหมือนอย่างชาวบ้านเราบางคน (ที่จริงมากคนทีเดียว) บอกว่าไม่อยากได้อยากดีอะไร พอมีเงินมีทองมาบ้าง ถึงเวลาก็มานั่งล้อมวงกินเหล้า หรือเล่นการพนันกันไปวันๆ หมดเงินเมื่อไร ค่อยคิดทำงานหาเงินกันใหม่ อย่างนี้สันโดษพ่วงมากับตัณหา ก็มีความสุขดีเหมือนกัน แต่อมทุกข์ แย่ลงทุกวัน ทีนี้ถ้าหากว่าเอาสันโดษนี้มาประกอบเข้ากับฉันทะ จะได้ผลอะไร ถ้าเอาสันโดษมาประกอบเข้ากับฉันทะ มันจะได้ผล คือกลายเป็นคนทำงานอย่างทุ่มเทอุทิศตัว คือจะไม่เห็นแก่อะไรทั้งสิ้น เพราะไม่มุ่งเอาผลประโยชน์ ทำงานเต็มที่ อุทิศเวลาให้แก่งานนั้นอย่างเต็มที่ทีเดียว เพราะมุ่งจะให้รู้ความจริงหรือมุ่งทำสิ่งที่ดีงามให้สำเร็จ งานสำคัญๆ ที่สำเร็จได้ หรืองานใหญ่โตมีคุณค่ามากนั้น มันมักจะมาจากคนที่มีฉันทะ โดยเฉพาะที่ประกอบด้วยความสันโดษแทบทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นปัญหาเรื่องความสันโดษอาตมภาพว่าควรจะสิ้นสุดเสียที

ขอแทรกตอนนี้หน่อย ในการสร้างความเจริญของตะวันตกเมื่อก่อน ๔๐-๕๐ ปีมาแล้วนั้น คนของเขาดูจะมีฉันทะมากต่อเป้าหมายที่จะแก้ปัญหาของชีวิตและสังคม (สัมพันธ์กับคุณค่าทางศาสนา) และมีสันโดษไม่น้อยด้วย จึงสร้างความเจริญสำเร็จ แต่ที่มาเกิดเป็นปัญหาในสมัยปัจจุบันวุ่นวายนั้น จุดพลาดอยู่ที่มีเป้าหมายสั้นและเเคบไป เพียงจะแก้ปัญหาความขาดแคลนให้มีวัตถุพรั่งพร้อม เมื่อบรรลุเป้าหมายนั้นแล้วก็เคว้งคว้าง ฉันทะหมดที่จับหมดความหมายไป ไม่เห็นจุดหมายที่จะไปต่อ จึงเริ่มแสวงหากันใหม่ ยิ่งกว่านั้นเป้าหมายแห่งความพรั่งพร้อมทางวัตถุนั้น ก็กลายเป็นเหยื่อเปิดช่องให้แก่ตัณหาเสียอีก ปัญหาจากตัณหาก็ตามมา จนเกิดสภาพสับสนในปัจจุบัน นี้เป็นข้อเสนอไว้คิดพิจารณาแง่หนึ่ง

คุณสมบัติของผู้มีการศึกษา

ต่อไปสุดท้าย วิธีหนึ่งที่จะวัดผลการศึกษา ก็ดูที่คนซึ่งได้รับการศึกษา ดังนั้น อาตมภาพจะขอพูดเป็นเรื่องสุดท้าย คือเรื่องคุณสมบัติของคนมีการศึกษา อันนี้ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ เพราะว่าเมื่อดำเนินการศึกษา เราก็ต้องตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะให้คนของเรามีคุณสมบัติอย่างไร ทีนี้มองในแง่ของพุทธศาสนา ท่านบอกว่าคนที่มีการศึกษาคือคนที่เจริญแล้ว เราใช้ศัพท์สมัยใหม่ว่าได้พัฒนาแล้ว ทางพระท่านใช้คำว่า ได้ภาวนาแล้ว ภาวนา แปลว่า ฝึกอบรมหรือเจริญ

ตามหลักพุทธศาสนา คนที่พัฒนาแล้วเป็นคนที่ช่วยแก้ปัญหาและพัฒนาสังคมไปด้วยกัน พร้อมกับการพัฒนาตนเอง คือพัฒนาตนเองไปด้วย พัฒนาสังคมไปด้วย คนเช่นนี้มีคุณสมบัติ ๔ ประการ ทางพระใช้คำว่า ภาวิตะ ๑. ภาวิตกาย ๒. ภาวิตศีล ๓. ภาวิตจิต ๔. ภาวิตปัญญา แปลง่ายๆ ภาวิตกาย แปลว่า มีกายที่เจริญแล้วหรือมีกายที่พัฒนาแล้ว ภาวิตศีล มีศีลที่เจริญหรือพัฒนาแล้ว ภาวิตจิต มีจิตใจที่พัฒนาหรือเจริญแล้ว และ ภาวิตปัญญา มีปัญญาที่พัฒนาแล้ว

เมื่อพูดถึงหลักนี้ อาตมภาพก็เห็นว่าไปตรงกับความคิดของนักการศึกษาอย่างน้อยสายหนึ่งพอดี คือนักการศึกษาสายหนึ่งเขาตั้งวัตถุประสงค์ของการศึกษาไว้ว่าให้มี Growth หรือความเจริญงอกงาม ๔ อย่าง จะเรียกว่า Development ก็ได้คือ

  1. Physical growth ความเจริญงอกงามทางกาย ตรงกับภาวิตกายพอดี
  2. Social growth ความเจริญงอกงามทางสังคม ตรงกับภาวิตศีล เจริญศีล
  3. Emotional growth ความเจริญงอกงามทาง อารมณ์ ก็ตรงกันพอดีกับภาวิตจิต มีจิตใจที่เจริญภาวนาแล้ว สุดท้าย
  4. Intellectual growth มีความเจริญงอกงามทางปัญญา ตรงกับภาวิตปัญญาพอดี

นี่หมายความว่า อย่างน้อยโดยศัพท์มันตรงกันพอดี แต่ความหมายที่แท้จริงอาจจะไม่เหมือนกันทีเดียว อาตมภาพขอโอกาสอธิบายความหมายในแง่พุทธศาสนาหน่อย

๑. ภาวิตกาย ที่ว่ามีกายอันเจริญแล้ว หรือพัฒนาแล้วนี่ ในสายความคิดตะวันตกรู้สึกจะเล็งไปในแง่มีร่างกายแข็งแรง พลานามัยดี สุขภาพดี เช่นที่ออกมาในรูปพลศึกษา เป็นต้น แต่ในทางพุทธศาสนาพัฒนากายมีความหมายหลายอย่าง อาตมภาพจะเลือกมาเสนอแง่หนึ่ง การเจริญกายในทางพุทธศาสนา แปลกว้างๆ หมายถึง การเกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมทางกายภาพที่เป็นไปอย่างดี หรืออย่างได้ผลดี เป็นคุณประโยชน์ การที่ได้พัฒนาความสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมทางกายภาพ หรือได้ฝึกอบรมความเกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมด้วยชีวิตทางด้านกาย อันนี้เป็นเรื่องของการเจริญกาย

การพัฒนาความเกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมด้วยชีวิตด้านกายนี้เป็นอย่างไร เอาความหมายสักแง่หนึ่งคือ คนเรานี้จะมีการเกี่ยวข้องด้านกายกับสิ่งทั้งหลายที่เป็นสภาพแวดล้อมอย่างผิดและอย่างถูก อย่างผิดคืออย่างไร อย่างผิดก็คือทำให้เกิดโทษแก่ชีวิต เสียคุณภาพชีวิต เป็นต้น อย่างที่ถูกก็คือทำให้เกิดคุณประโยชน์เสริมคุณภาพชีวิต สนองกิจที่ใช้ อะไรอย่างนี้ ขอยกตัวอย่างเช่นเรื่องอาหาร เราเกี่ยวข้องกับอาหาร เรากินอาหารเพื่ออะไร ในทางพุทธศาสนาบอกว่า เรากินกัน ๒ แบบ เกี่ยวข้องอย่างที่ ๑ คือ เรากินเพื่อเอร็ดอร่อย สนุกสนานมัวเมา แสดงฐานะว่าฉันโก้ หรูหรา ฉันมีฐานะ อะไรทำนองนี้ นี้เป็นการเกี่ยวข้องแบบที่หนึ่งที่เป็นทางผิด ทีนี้การเกี่ยวข้องแบบที่ ๒ เรากินอาหารเพื่ออะไร เพื่อให้ร่างกายมีสุขภาพดี อยู่ผาสุกสบาย สามารถทำกิจการงานที่เป็นหน้าที่ของตนได้ดี ช่วยให้การดำเนินชีวิตที่ดีงามเป็นไปได้ อันนี้เป็นการเกี่ยวข้องที่ถูกต้อง ถ้าเรียกเป็นศัพท์เราเรียกว่าเป็นการเกี่ยวข้องกับสิ่งทั้งหลาย เพื่อเอาคุณค่าที่แท้ ตรงข้ามกับเอาคุณค่าเทียม

คุณค่าด้านหนึ่งเป็นคุณค่าที่ผิด เราเรียกว่า คุณค่าเทียม คือไม่ใช่คุณค่าที่แท้จริงแก่ชีวิต เช่นเรากินอาหารเพียงเพื่อเอร็ดอร่อย เพื่อแสดงฐานะโก้หรูหราอวดกันอะไรนี้มันเป็นคุณค่าเทียม สนองตัณหาความอยากที่เป็นการปรนเปรอตนเองเท่านั้น ทีนี้อีกด้านหนึ่งคือคุณค่าแท้จริงที่มีต่อชีวิตที่เป็นเรื่องของการสนองปัญญา คือการกินอาหารด้วยการพิจารณารู้ว่าอาหารนี้มีประโยชน์แก่ร่างกายแค่ไหน กินแค่ไหนพอดี ช่วยให้ร่างกายอยู่ได้ดี มีสุขภาพดี ไม่อึดอัดอืดเฟ้อกลายเป็นพิษ อยู่เป็นผาสุก ทำกิจการงานได้ คุณค่าที่แท้จริงเป็นอย่างนี้ นี้คือการเกี่ยวข้องลักษณะหนึ่งที่แสดงถึงความเจริญหรือไม่เจริญทางกาย ในทางพุทธศาสนา แม้แต่การเกี่ยวข้องกับสิ่งของทั้งหลายที่เราจะซื้อหา ตลอดจนเทคโนโลยี Technology ที่เราจะเอามาใช้ทุกอย่างจะเป็นไปในลักษณะนี้ทั้งนั้น การเกี่ยวข้องที่ผิด ถ้าเป็นค่านิยมออกมาเด่นจะเป็นค่านิยมบริโภค คือเป็นค่านิยมที่ต้องการคุณค่าเพียงมีอะไร ก็เพื่อจะเอามาเสพเสวยปรนเปรอสนองความอยากบ้าง เพื่ออวดตัวบ้าง ข่มคนอื่นบ้างเท่านั้น ส่วนอีกด้านหนึ่งก็เป็นคุณค่าที่เอามาใช้พัฒนาชีวิต ดังนั้น ถ้าเราจะมีวิทยุสักเครื่อง หรือชาวชนบทจะมีบ้าง เราจะเร้าความต้องการประเภทไหน ถ้าเราเร้าในแง่ว่าจะได้ฟังรายการบันเทิงต่างๆ สนุกสนานฟังเพลงให้เพลิน เล่นลอตเตอรี่ให้สะดวกอะไรอย่างนี้ ถือว่าเร้าคุณค่าเพื่อสนองตัณหา แต่ถ้าไปพูดในแง่ว่า เราจะได้ฟังข่าวสาร จะรู้ความเป็นไปในบ้านเมืองและในโลก จะหาความรู้ได้ทั้งทางโลกและทางธรรมเพื่อใช้ปรับปรุงตัว ปรับปรุงถิ่นที่อยู่ หรือเอาไว้แนะนำสั่งสอนลูกหลานอะไรอย่างนี้ มันก็เป็นคุณค่าที่แท้จริงต่อชีวิต เป็นคุณค่าทางปัญญา เป็นการเกี่ยวข้องกับสิ่งทั้งหลายในด้านกายภาพ ขอผ่านไป

มีข้อสังเกตแทรกไว้อย่างหนึ่ง อันนี้รู้สึกว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก คือปัจจุบันนี้สื่อมวลชนหรือระบบเศรษฐกิจปัจจุบัน ได้ส่งเสริมให้มีการเอาคุณค่าเทียมมาใช้ในการสร้าง Demand เทียม คือความต้องการเทียม ด้วยการโฆษณา เป็นต้น Demand เทียมนี้เป็นไปมากในสังคมปัจจุบัน Demand เทียมคือความต้องการหลอกๆ ที่ไม่จำเป็น ไม่เป็นคุณค่าเลย แต่มักให้โทษแก่ชีวิต สังคมปัจจุบันหรือระบบปัจจุบันดูเหมือนจะพยายามไปเร้าความต้องการอันนี้ และทำให้เกิดมีความต้องการใหม่ๆ ขึ้นแล้ว จะได้ไปหาซื้อสิ่งเหล่านั้นไว้ใช้ ซึ่งล้วนแต่เป็นความต้องการคุณค่าเทียมทั้งนั้น จึงก่อให้เกิดโทษเป็นปัญหาแก่สังคมมากมาย หลักความเจริญกายจะมาช่วยแก้ปัญหาด้านนี้ได้

๒. ภาวิตศีล แปลว่ามีศีลที่เจริญแล้ว แปลอย่างสมัยใหม่ว่า มีพฤติกรรมทางสังคมที่พัฒนาแล้ว เทียบกับของฝรั่งว่าเป็นความเจริญงอกงามทางสังคม ศีลคืออะไร ศีลคือระเบียบวินัย ความประพฤติ ความสัมพันธ์กับผู้อื่น ความสุจริตกายวาจาและอาชีวะ ศีลนี้มองได้ ๒ แง่ มองในแง่ตนเองภายในคือการฝึกอบรมเกี่ยวกับความประพฤติดีงาม ความมีระเบียบวินัย ความสุจริตกาย วาจาและอาชีวะ ที่เป็นพื้นฐานแห่งความสงบในทางจิตใจ ทำให้จิตใจมีสมาธิได้ หรือเป็นพื้นฐานในการฝึกจิตใจต่อไป และ ๒ มองในแง่สังคม แง่สังคมนี้แบ่งศีลได้ ๒ ระดับ หรือละเอียดเป็น ๓ ระดับ ได้แก่ ด้านลบหรือระดับลบ คือการไม่เบียดเบียนกัน หมายความว่าอย่างน้อย เราจะต้องไม่เบียดเบียนกัน และด้านบวกหรือระดับบวก คือช่วยเหลือรับใช้บริการบำเพ็ญประโยชน์ต่างๆ ที่ทางพระเรียก ไวยาวัจจะ อย่างที่เรามักได้ยินในคำว่า ไวยาวัจกร ไวยาวัจมัยกุศล เป็นต้น อันนี้ท่านจัดเป็นศีลอย่างหนึ่งเป็นศีลในแง่บวก ถ้าให้ละเอียดก็แทรกกลางอีกอย่างเป็นระดับดุลย์หรือดุลยภาพ คือระเบียบวินัย เจริญศีลก็คือสร้างระเบียบวินัย สร้างความประพฤติดีงาม ความสุจริตกายวาจา ความสัมพันธ์ที่ดีงามทางสังคม การไม่เบียดเบียนกัน การช่วยเหลือเกื้อกูลกันและการฝึกอบรมตนในสัมมาชีพ

๓. ภาวิตจิต เจริญจิต พัฒนาจิตใจ ที่ฝรั่งเรียกว่า emotional growth หรือความเจริญงอกงามทางอารมณ์ หมายความอย่างสั้นที่สุดทางพุทธศาสนาว่า ฝึกจิตให้มีคุณภาพดี ให้มีสมรรถภาพดี และให้มีสุขภาพดี มีคุณภาพดี ก็ประกอบด้วยคุณธรรม เช่นมีเมตตา กรุณา มีขันติ มีหิริโอตตัปปะ เป็นต้น ให้มีสมรรถภาพดี ทางพระท่านว่าให้เป็นจิตที่เหมาะแก่การใช้งาน เป็นจิตที่มีความเพียร มีสติ มีสมาธิอะไรพวกนี้ เข้มแข็ง มั่นคง คล่องตัว เป็นจิตที่ใช้งานได้ดี แล้วก็มีสุขภาพดี คือมีความสุข มีความปลอดโปร่งเบิกบานสดชื่นผ่องใส ข้อนี้ถือเป็นสำคัญทีเดียว ในทางพุทธศาสนาถือว่า ความสุขเป็นแกนของจริยธรรม สิ่งหนึ่งที่การศึกษาจะต้องทำให้สำเร็จ ก็คือทำให้คนมีความสุข ถ้าคนไม่มีความสุข เขาก็กลายเป็นปัญหาแก่ตัวและสร้างปัญหาแก่ผู้อื่น คนที่สร้างปัญหาสังคมนั้นเขามีความทุกข์แล้ว เขาจึงไประบายทุกข์แก่ผู้อื่น ถ้าเขามีความสุขเสียแล้ว เขารู้จักหาความสุขได้แล้ว เขาจะไม่ไประบายทุกข์ให้กระจาย จะแก้ปัญหาสังคมไปได้มาก แต่ที่ว่านี้หมายความว่า เราจะต้องสร้างให้เขารู้จักทั้งสุขขั้นต้นและสุขขั้นสูงในทางจิตใจด้วย

๔. ข้อสุดท้ายคือ ภาวิตปัญญา มีปัญญาที่เจริญแล้วหรือพัฒนาแล้ว ของฝรั่งก็ intellectual growth นี่ก็ดูคล้ายตรงกันแต่ความหมายทางพุทธศาสนานั้นท่านว่า ฝึกอบรมปัญญาให้รู้เข้าใจ มองเห็นสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง หรือตรงตามที่มันเป็น การมองเห็น รู้เห็นสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็นนี่มีหลายขั้น ตั้งแต่ขั้นต้นๆ คือการทำให้ขบวนการรับรู้และความคิดบริสุทธิ์ ตรงตามความเป็นจริงไม่บิดเบือน ไม่ถูกกิเลส เช่นความโลภ หาผลประโยชน์ส่วนตน หรือความโกรธ ความชิงชัง เข้ามาครอบงำ ไม่เกิดอคติ แต่เป็นความคิดที่ปลอดโปร่ง คิดถูกต้องตรงตามความเป็นจริง ในทางพุทธศาสนาถือว่า ต้องฝึกปัญญา ทั้งในแง่ที่ทำให้ขบวนการความคิดการรับรู้นี้ไม่ถูกกิเลส เช่น โลภะ โทสะ โมหะ เข้ามาครอบงำ ทำให้เป็นการคิดที่ไม่มีอคติ ด้วยการใช้โยนิโสมนสิการ และอีกแง่หนึ่งหรือลักษณะหนึ่งที่สำคัญ คือการใช้ปัญญาที่เป็นอิสระจากการครอบงำของกิเลส ปัญญาในที่นี้คือการไตร่ตรองวินิจฉัย หมายความว่าปัญญาไตร่ตรองวินิจฉัยตรงตามความจริงเท่าที่รู้ เป็นอิสระ ไม่เฉตามกิเลส ไม่มีกิเลสเคลือบแฝง และเมื่อปัญญารู้เข้าใจว่าความจริงเป็นอย่างไร อะไรดีอะไรชั่ว อะไรถูกอะไรผิดแล้ว ก็ทำตามที่ปัญญาบอก จึงเรียกว่าปัญญาเป็นอิสระ หรือมีอิสรภาพทางปัญญา ไม่ใช่ว่าทั้งที่ปัญญารู้ว่าอันนี้ไม่จริงไม่ถูก แต่ฉันจะได้ผลประโยชน์ฉันก็ทำ ทั้งๆ ที่ปัญญารู้ว่าอันนี้จริง อันนี้ถูก แต่มันขัดผลประโยชน์ของฉัน หรือคนที่พูดนั้น ฉันไม่ชอบ ฉันก็ไม่ทำ ถ้าอย่างนี้ก็เรียกว่าปัญญาไม่เป็นอิสระ ยังไม่ได้พัฒนา

เรื่องนี้ขอพูดเกี่ยวกับปัญหาประชาธิปไตยอันหนึ่ง เพราะปัญญาที่เป็นอิสระจากการครอบงำของกิเลสเป็นแกนของการพัฒนาประชาธิปไตย อาตมภาพเห็นว่าถ้าพัฒนาปัญญาแบบนี้ไม่สำเร็จก็พัฒนาประชาธิปไตยไม่สำเร็จ สังคมมนุษย์จะอยู่สงบสุขด้วยอะไรบ้าง แบบหนึ่งคืออาศัยอำนาจของมนุษย์ อย่างดีก็วางกฎหมายขึ้นมา ใครทำผิดจากกฎหมายก็ลงโทษ วิธีนี้ถ้าลำพังใช้อำนาจอย่างเดียวก็อาจจะวุ่นวาย ระบบซับซ้อนมาก ใช้อำนาจเข้าว่า ทำผิดก็ลงโทษ ทีนี้แบบที่สองวิธี ใช้อำนาจเหมือนกัน แต่อำนาจเร้นลับ อำนาจเร้นลับก็ใช้ความเชื่อ เช่นเชื่อต่อผีสางเทวดา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่นเชื่อว่าต้นไม้มีรุกขเทวดาก็ไม่กล้าตัด ก็รักษาต้นไม้ รักษาป่าไว้ได้เป็นต้น ทีนี้วิธีอ้างอำนาจ ๒ อย่างนี้เป็นวิธีที่ใช้ความกลัวทั้งคู่ อย่างที่หนึ่งกลัวอำนาจมนุษย์ด้วยกัน อย่างที่ ๒ กลัวอำนาจสิ่งเร้นลับ

สำหรับสังคมที่เจริญแล้วหรือพัฒนาแล้ว วิธีทั้งสองนี้ไม่ถูกต้องทั้งคู่ แต่ต้องใช้วิธีที่ ๓ คือวิธีการแห่งปัญญาหรือวิธีที่ใช้ปัญญา โดยเฉพาะในทางพุทธศาสนาหรือประชาธิปไตยก็ต้องการวิธีที่ ๓ นี้ คือปัญญาไตร่ตรองวินิจฉัยที่ตรงตามธรรม คนที่เรียนแล้วมีการศึกษาแล้ว รู้ว่าอะไรถูก อะไรผิด อะไรดีหรือไม่ดี เช่นว่า ทำลายป่าตัดต้นไม้จะมีผลเสียมีโทษอะไรบ้าง แต่ปัญหามันจะเกิดขึ้นตอนที่ว่า ปัญญาความไตร่ตรองวินิจฉัยของเขานี้จะเป็นอิสระจากการครอบงำของกิเลสหรือไม่ ทั้งๆ ที่เรียนรู้แล้วมีการศึกษา รู้ดีว่าการตัดไม้ทำลายป่าจะเกิดโทษแก่ส่วนรวมอย่างไร แต่เพราะความต้องการผลประโยชน์ ก็ไม่ปฏิบัติตามที่ปัญญาบอก แต่ปฏิบัติไปตามความครอบงำของกิเลส ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วพัฒนาประชาธิปไตยไม่สำเร็จ เพราะคนไม่มีปัญญาที่เป็นอิสระ เมื่อปัญญาไม่เป็นอิสระจากการครอบงำของกิเลส ก็จะก่อให้เกิดปัญหาขึ้นในสังคมเรื่อยไป ถ้าอย่างนี้อาตมภาพจะลองถามว่า จะเลือกเอาสังคมแบบไหน ระหว่างสังคมที่รักษาป่าโดยวิธีที่ให้คนเชื่อสิ่งเร้นลับว่ามีรุกขเทวดาเป็นต้น และกลัวเทวดาหักคอ ไม่กล้าตัดต้นไม้ ก็รักษาป่าไว้ได้ กับสังคมที่คนมีการศึกษา แต่ปัญญาไม่เป็นอิสระ รู้แล้วไม่ปฏิบัติ ก็ยังไปตัดป่า การศึกษาแบบนี้จะมีประโยชน์กว่าความงมงายหรือเปล่า อย่างไหนจะดีกว่ากัน (และจะยังเป็นความงมงายอีกแบบหนึ่งหรือเปล่า) หรืออย่างว่าขับรถไปตามทางหลวง ถึงทางโค้งอันตราย ถ้าหากเอาศาลไปตั้งสักศาลหนึ่ง คนกลัว ปรากฏว่าพอไปถึงตรงนั้นแกจะขับรถชะลอช้าลงทุกคัน แล้วบีบแตรเคารพเทพเจ้า แต่ถ้าหากว่าไม่มีศาลอยู่ทั้งๆ ที่เป็นทางโค้งอันตราย ป้ายก็มีบอกไว้ให้ชะลอ มีปัญญารู้ดีว่านี่ไม่ดี แต่ไม่ยอมชะลอ วิ่งพรวดปรู๊ดไปเลย ปัญญาไม่เป็นอิสระ กับเชื่อเทวดาเร้นลับ หรือใช้ความกลัว อันไหนจะดีกว่ากัน นี้ก็เกิดเป็นปัญหาขึ้นมาแล้ว ในการพัฒนาสังคมประชาธิปไตย จะต้องมีปัญญาที่เป็นอิสระอย่างว่านี้ ต้องสร้างคนที่ปฏิบัติตามปัญญาได้ เมื่อรู้ว่าดีหรือชั่ว ควรปฏิบัติหรือไม่ควรปฏิบัติ ปัญญาอย่างนี้เรียกว่าปัญญาที่เป็นอิสระ พุทธศาสนาต้องการปัญญาให้เป็นอย่างนี้ ถ้าพัฒนาคนให้มีปัญญาอิสระไม่ได้ การพัฒนาประชาธิปไตยไม่มีทางสำเร็จ

การเจริญปัญญาหรือพัฒนาปัญญานี้ 12 ตามหลักพุทธธรรม ถือว่ามีความสำคัญมากเป็นพิเศษ เพราะปัญญาเป็นตัวตัดสินชี้ขาดในการที่จะเข้าถึงจุดหมายของพระพุทธศาสนา จุดหมายของพุทธศาสนาคือความหลุดพ้น พูดตามภาษาสมัยใหม่ว่า ความเป็นอิสระหรืออิสรภาพ ถ้าให้ตรงกับสำนวนปัจจุบันเต็มที่ เขาเรียกว่า การปลดปล่อย หรือภาวะปลดปล่อย คนจะหลุดพ้นได้ก็ต้องมีปัญญาที่หลุดพ้น หรือจะเป็นอิสระได้ปัญญาต้องเป็นอิสระ พูดให้ตรงตามสำนวนปัจจุบันว่าคนจะได้รับการปลดปล่อยก็ต่อเมื่อปัญญาได้รับการปลดปล่อย

การปลดปล่อยปัญญา แบ่งคร่าวๆ ได้ ๓ ขั้น ซึ่งได้พูดมาแล้วข้างต้น ๒ ขั้น ขั้นต้น คือการทำให้กระบวนการรับรู้และความคิดเป็นอิสระ บริสุทธิ์ ไม่เอนเอียง ปราศจากอคติ ไม่ถูกบิดเบือน ไม่เคลือบแฝงด้วยกิเลสต่างๆ เช่น ความโลภเห็นแก่ได้ และความพยาบาทเคียดแค้นชิงชังเป็นต้น มองเห็นตรงตามที่เป็นจริง ขั้นที่ ๒ ใช้ปัญญาอย่างเป็นอิสระ คือเมื่อปัญญารู้ว่าความจริงความถูกต้องดีงาม เป็นอย่างไรแล้ว ก็สามารถทำหรือปฏิบัติได้ ตรงตามความจริงความดีงามที่รู้ด้วยปัญญานั้น ไม่ถูกกิเลสครอบงำให้ทำเฉโก ส่วนขั้นที่ ๓ ซึ่งเป็นขั้นสูงสุดคือ ปัญญาที่พ้นจากความหลงผิดต่อโลกและชีวิตหรือเป็นอิสระจากอวิชชาได้สิ้นเชิง หมายถึงการรู้เข้าใจสังขาร คือโลกและชีวิตนั้นตรงตามสภาวะที่เป็นจริง ซึ่งไม่เที่ยง ไม่คงที่ ถูกบีบคั้นด้วยปัจจัยต่างๆ ที่ขัดแย้ง คงสภาพอยู่ไม่ได้ ไม่เป็นตัวตนที่ใครๆ จะยึดถือครอบครองได้ เรียกกันสั้นๆ ว่าอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา รู้ตรงความจริงแล้วจิตใจก็เป็นอิสระ ไม่ยึดติดถือมั่น ไม่เกิดมีกิเลสและความทุกข์ที่จะครอบงำจิตใจได้อีกต่อไป

สำหรับมนุษย์ปุถุชนทั่วไป และในแง่เกี่ยวกับสังคมการปลดปล่อยปัญญาขั้นที่สอง คือ การทำได้ตรงตามความจริงและความดีงามที่ปัญญาบอก เป็นจุดสำคัญที่เน้นพิเศษ ความสำเร็จของการศึกษาและการพัฒนาประชาธิปไตย วัดได้ที่นี่ เหมือนตัวอย่างเรื่องการตัดไม้ทำลายป่าที่เคยพูดเมื่อกี้ เรามีวิธีป้องกันแก้ไข ๓ อย่าง หนึ่งใช้อำนาจคนให้กลัวการลงโทษอย่างดีก็ออกกฎหมายกำหนดโทษและความผิด สองใช้อำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ให้กลัวผีสางเทวดาให้โทษ สามใช้การไตร่ตรองวินิจฉัยและกระทำตามปัญญา ที่รู้ความจริงรู้ดีรู้ชั่วความถูกต้อง วิธีที่หนึ่งคนจะพยายามเลี่ยง ทำให้ต้องวางระบบซับซ้อนยุ่งยากขึ้น และได้ผลน้อยลง บางทีคนตัดสมคบกับคนรักษากฎหมายทำทุจริต กลับยิ่งร้ายหนักขึ้น วิธีที่สองถ้ายังเชื่ออยู่ก็ได้ผลชะงัด แต่ถ้าไม่เชื่อก็หมดความหมาย วิธีที่สาม ถ้าปัญญาไม่เป็นอิสระก็ไม่ได้ผลอะไรเลย ซ้ำร้ายปัญญากลับไปเป็นเครื่องมือให้ตัณหาแสวงหาผลประโยชน์ได้มากยิ่งขึ้น ดูเหมือนว่าวิธีใช้อำนาจคนด้วยกันก็ดี วิธีมอบความไว้วางใจแก่ปัญญาของคนแต่ปัญญานั้นยังไม่ได้รับการปลดปล่อยเป็นอิสระก็ดี น่าจะเป็นวิธีเลวร้ายไม่ได้ผลดี สู้แต่วิธีเชื่อและกลัวสิ่งที่มองไม่เห็นก็ไม่ได้ อย่างไรก็ตาม วิธีที่สองเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้น ปัจจุบันคนสมัยใหม่หาว่างมงาย สอนให้ชาวบ้านเลิกเชื่อไปเสียเกือบหมดจนแทบจะไม่ได้ผลอยู่แล้ว สมัยปัจจุบันเลยอาจจะกลายเป็นยุคสมัยที่ไร้สมรรถภาพที่สุด และถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ก็สามารถเป็นยุคที่เลวร้ายที่สุดด้วย

ว่าถึงความเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์นี้ มีเรื่องที่ขอพูดแทรกอีกหน่อย คือ ในลัทธิศาสนาที่เชื่อถือพระเจ้าผู้สร้างผู้บันดาลหรืออำนาจเร้นลับสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้น เขาจะวางกฎเกณฑ์ข้อห้ามข้อบังคับทางศีลธรรมกำกับไว้ตายตัว พร้อมทั้งคำขู่ผู้ฝ่าฝืนว่าจะถูกลงโทษอย่างเด็ดขาดรุนแรง คนที่เชื่อก็ฝากความหวังไว้กับอำนาจดลบันดาล เพียงแต่ปฏิบัติตามไปให้ถูกต้องตามข้อห้ามข้อบังคับนั้น ไม่ต้องใช้ความคิดอะไรเองมาก แม้แต่พุทธศาสนาแบบปนไสยศาสตร์ในสมัยโบราณ เมื่อพระอาจารย์จะให้เครื่องรางของขลังแก่ศิษย์หรือใครสักคนหนึ่ง ก็ไม่ให้ง่ายๆ ต้องตรวจดูความประพฤติก่อน และเวลาจะให้ก็มีการสั่งกำกับข้อปฏิบัติว่า จะทำอันนั้นไม่ได้ ทำอันนี้ไม่ได้ เช่นว่า ห้ามด่ามารดาเขา ห้ามทำร้ายเขาก่อน เป็นต้น และต้องประพฤติตัวอย่างนั้นๆ ถ้าไม่ปฏิบัติตาม เครื่องรางของขลังนั้นก็จะไม่รักษาหรือเสื่อมไปเลย หรือผู้ได้ของขลังนั้นจะมีอันเป็นไป ต้องประสบผลร้ายอย่างนั้นๆ อย่างนี้ศีลธรรมก็อยู่ไปได้แบบหนึ่ง แต่ในพุทธศาสนาที่แท้ ท่านวางหลักศีลธรรมไว้ตามแนวเหตุผล ให้ผู้ปฏิบัติรู้จักใช้ปัญญา พิจารณาตัดสินใจเลือกปฏิบัติด้วยตนเอง เมื่อมีฉันทะและถือธรรมเป็นใหญ่ มีหิริโอตตัปปะไว้ ศีลธรรม สมาธิธรรม ปัญญาธรรม และวิสุทธิวิมุตติธรรม ก็อยู่ได้หมด แต่ในปัจจุบันนี้น่าสงสัย ถ้าความรู้จักคิดเหตุผลวินิจฉัยด้วยปัญญาตามหลักธรรมาธิปไตยก็ไม่ใส่ใจฝึกกัน ปล่อยให้นิยมสิ่งศักดิ์สิทธิ์อำนาจเร้นลับกันเกร่อ และความศักดิ์สิทธิ์นั้นก็เฟ้อจนไม่มีขอบเขต ไม่มีกฎเกณฑ์ทางศีลธรรม เหมือนกับว่าใครมีเงิน สิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็จะรับจ้างพิทักษ์รักษาไปให้หมด ถ้าอย่างนี้ ก็น่ากลัวว่าชาวพุทธปัจจุบันจะมีความเสื่อมโทรมได้มากที่สุด

อย่างไรก็ดี ตามหลักพุทธศาสนาก็ดี ในยุคพัฒนาประชาธิปไตยก็ดี ย่อมต้องการวิธีที่สาม คือการไตร่ตรองวินิจฉัยการกระทำด้วยปัญญาที่เป็นอิสระ เพราะถ้าทำสำเร็จ มนุษย์จะได้รับการปลดปล่อย (หลุดพ้น) ช่วยให้ชีวิตและสังคมเจริญด้วยประโยชน์สุขได้ดีที่สุด และมีทางผิดพลาดได้น้อยที่สุด เมื่อมนุษย์มีปัญญาที่ปลดปล่อยเป็นอิสระแล้ว กฎหมายหรือระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ ของสังคม จะได้รับการกำหนดวางอย่างชอบธรรม มนุษย์จะไม่รู้สึกว่ากฎหมายหรือระเบียบกฎเกณฑ์นั้น เป็นเครื่องจำกัดตัดรอนเสรีภาพหรือเป็นเครื่องบีบคั้นบุคคล แต่เป็นเพียงมาตรฐานกำหนดสำหรับหมายรู้ร่วมกัน ในการที่จะดำรงชีวิตที่ดีร่วมกับผู้อื่นในสังคม และที่จะให้สังคมอำนวยประโยชน์สูงสุดแก่บุคคลทุกคน

ปัญหาอยู่ที่ว่า เมื่อเช่นนั้น จะปลดปล่อยปัญญาให้เป็นอิสระได้อย่างไร ปัญญาเป็นสิ่งที่ดี เพราะบอกให้รู้ว่าอะไรจริง อะไรถูกต้องดีงาม และอะไรเท็จอะไรผิดอะไรชั่วร้าย แต่ปัญญาไม่เป็นอิสระ คือคนไม่ทำตามปัญญาบอก เพราะถูกกิเลสตัณหาเข้ามาครอบงำ ปัญญาเลยกลายเป็นตัวเบิกทางช่วยให้ตัณหาเห็นช่องทางที่จะหาผลประโยชน์ของมันได้มากยิ่งขึ้น วิธีที่จะช่วยให้ปัญญาเป็นอิสระก็คือ เอาพลังฝ่ายตรงข้ามมาปราบตัณหา พลังนั้นก็คือ ฉันทะ (ธรรมฉันทะ) ที่พูดถึงแล้วข้างต้น คนส่วนมากสมัยนี้ รู้เหตุผลรู้ถูกผิดว่าการตัดป่าไม่ดี แต่ที่ทำก็เพราะถูกตัณหาครอบงำ เห็นแก่ผลประโยชน์ของตน คนอื่นๆ ที่รู้ก็ไม่เอาใจใส่ที่จะป้องกันรักษา ถ้าเราสามารถปลุกเร้าให้เขามองเห็นคุณค่าของป่า โทษของการตัดป่า ให้เขารักป่า รักธรรมชาติ อยากมีสภาพแวดล้อมที่ดีงามของธรรมชาติ ถ้าเขารักมากอยากแรงเขาจะยับยั้งได้ ไม่เห็นแก่ผลประโยชน์หรือสินจ้างรางวัล ถ้าปลุกให้ชาวบ้านมีฉันทะนี้ได้กว้างขวางขึ้น เขาจะพากันเอาใจใส่ช่วยกันบำรุงรักษาป่า อาจจะช่วยป้องกันคนภายนอกไม่ให้เข้าไปทำลายด้วย จะเห็นว่าฉันทะนี้เจริญขึ้นพร้อมกับปัญญาที่เข้าใจคุณค่ารู้ผลดีผลเสียเป็นต้น การพัฒนาฉันทะจึงสัมพันธ์กับการพัฒนาปัญญา หรือเป็นเรื่องที่ไปด้วยกันกับปัญญา อยู่ในกระบวนการเดียวกันได้ มองอีกแง่หนึ่งว่า การพัฒนาปัญญาที่ถูกต้องจะต้องพัฒนาฉันทะคู่ไปด้วย การคิดการพิจารณาโดยใช้ปัญญาให้เข้าใจคุณค่ามองเห็นผลดีผลเสียเป็นต้นนั้น เรียกชื่อเฉพาะว่าโยนิโสมนสิการ โยนิโสมนสิการต้องอาศัยความรู้ที่เกี่ยวข้องในการพิจารณา แต่คงไม่ขึ้นต่อการเรียนน้อยเรียนมาก อย่างที่เข้าใจกันในบัดนี้โดยตรง

เป็นอันว่า ฉันทะนี่แหละเป็นตัวที่ช่วยให้ปัญญาได้รับการปลดปล่อย เมื่อฉันทะพัฒนามากขึ้น ตัณหา ถึงจะยังไม่ถูกกำจัด ก็จะถูกกำจัดให้อยู่ในขอบเขตที่ไม่ทำให้เกิดความเสียหาย และในหลายกรณีก็จะถูกจัดให้กลายเป็นแรงส่งที่ช่วยหนุนฉันทะให้ทำงานได้ผลยิ่งขึ้น ฉะนั้นเมื่อจะพัฒนาปัญญาให้หลุดพ้นเป็นอิสระก็ต้องพัฒนาฉันทะด้วย และนี่คือภารกิจพื้นฐานอย่างหนึ่งที่การศึกษาจะต้องทำให้สำเร็จ

รวมความว่า คุณสมบัติของคนมีการศึกษาหรือพัฒนาแล้ว ตามหลักพุทธศาสนามี ๔ ประการ ดังที่กล่าวมาคือ เจริญกาย เจริญศีล เจริญจิต เจริญปัญญา มีกายที่พัฒนาแล้ว มีศีลที่พัฒนาแล้ว มีจิตที่พัฒนาแล้ว มีปัญญาที่พัฒนาแล้ว เมื่อทำได้อย่างนี้ถือว่าเป็นผลสำเร็จของการศึกษาในทางพุทธศาสนา คนที่มีการศึกษาและพัฒนาอย่างนี้จะประกอบกันเข้าเป็นชุมชนที่เรียกว่า อริยสงฆ์ อริยสงฆ์แปลให้เป็นศัพท์สามัญว่า สังคมแห่งอารยชน หมายถึงสังคมแห่งอารยชนที่แท้จริง พระพุทธเจ้าทรงตั้งคณะภิกษุสงฆ์ขึ้นที่เราเรียกกันว่า สมมติสงฆ์ ก็เพื่อเป็นผู้นำในการสร้างอริยสงฆ์ หรือสังคมแห่งอารยชนเช่นนี้ให้สำเร็จ แต่ไม่ทราบว่าที่ได้ทำมา ได้สร้างไปได้สำเร็จแค่ไหนเพียงไร

ในวันนี้อาตมภาพได้มาเสนอความคิด ซึ่งขณะนี้ก็ได้เกินเวลาไปมากมายแล้ว แม้ว่าท่านจะยืดให้ตั้งครึ่งชั่วโมง บัดนี้ก็ได้เลยไปอีกตั้ง ๑๕ นาที ก็ต้องขอประทานอภัยด้วย การแสดงปาฐกถานี้ อาตมภาพได้พูดไป ถ้ามีอะไรเป็นประโยชน์ก็ขออนุโมทนาคือถือเป็นส่วนที่ร่วมในการฉลองงานครบรอบวันสถาปนานี้ด้วย ส่วนใดที่ผิดพลาดพลั้งไปก็โปรดให้อภัย

ในวันที่เป็นมงคลนี้ ขออนุโมทนาในกุศลกิจที่ทางคณะท่านอาจารย์ทั้งหลายทุกท่าน ตลอดถึงนิสิตทั้งหลายได้ร่วมกันบำเพ็ญกุศลกรรมมีการทำบุญตักบาตรเป็นต้น ตลอดจนทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ทั้งหลาย และอาตมภาพขอตั้งกุศลจิตอวยชัยให้พร โดยอ้างอิงคุณพระรัตนตรัย รตนัตตยานุภาเวนะ รตนัตตยเตชสา ด้วยเดชานุภาพคุณพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ อันเป็นที่เคารพสักการะของเราทั้งหลาย กะตะปุญญานุภาเวนะ ด้วยอานุภาพแห่งบุญกุศล คือความดีที่ได้ร่วมกันบำเพ็ญไว้ จงประมวลกันเป็นพลวปัจจัยอำนวยให้คณะครุศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมทั้งท่านอาจารย์ เริ่มตั้งแต่ท่านคณบดี ตลอดจนอาจารย์ นิสิต และท่านสาธุชนผู้สนใจ ที่มาเข้าฟังในที่ประชุมนี้ จงประสบความเจริญงอกงาม พรั่งพร้อมด้วยจตุรพิธพรชัย มีอายุ วรรณะ สุขะ พละ พร้อมทั้งปฏิภาณคุณสารสมบัติทุกประการ จงมีกำลังกายกำลังใจ พรั่งพร้อมในการบำเพ็ญกิจ คือการศึกษาเล่าเรียนก็ตาม ประกอบหน้าที่การงานก็ตาม ให้บรรลุความเจริญก้าวหน้าสำเร็จผลเป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนและส่วนรวม แก่ประเทศชาติและสังคมสืบไปตลอดกาลนาน เทอญ

ดึงออกจากไทย ส่งไม่ถึงอเมริกา13

นมัสการ ท่านพระเถระที่เคารพนับถือ ท่านสหธรรมิกทุกท่าน และขออำนวยพรท่านประธานสภายุวพุทธิกสมาคมแห่งชาติ ท่านผู้ทรงคุณวุฒิ และท่านสาธุชนทั้งหลาย

หัวข้อการบรรยายในอันดับต่อไปนี้ ซึ่งกำหนดให้อาตมภาพพูดนั้น เป็นหัวข้อที่กว้างใหญ่มาก และเกิดความรู้สึกว่าคงจะพูดไม่ไหว ที่ว่าอย่างนี้มีความหมายว่า ในเวลาสั้นๆ นั้นไม่อาจจะพูดให้ชัดเจนได้

เรื่องพระพุทธศาสนา ที่จะช่วยแก้ปัญหาของสังคมไทย ตลอดจนกระทั่งช่วยป้องกันนั้น แม้จะไม่ต้องพูดไปถึงวิธีแก้หรือป้องกัน เอาเฉพาะตัวปัญหาของสังคมไทยก็เป็นเรื่องใหญ่อยู่แล้ว ปัจจุบันนี้เราปรารภกันมากเหลือเกิน ในเรื่องปัญหาสังคมไทย ผู้บริหารและนักวิชาการต่างก็หันมาให้ความสนใจในเรื่องนี้กันมาก ถ้าจะมาจาระไนเรื่องปัญหาของสังคม ก็จะต้องใช้เวลามากมาย อาตมภาพจะพูดถึงตัวอย่างสักเรื่องหนึ่ง ซึ่งอาจจะช่วยสะท้อนภาพของปัญหาสังคมไทยนี้ได้

สะท้อนภาพปัญหาสังคมไทย

เมื่อสักครึ่งเดือนมานี้ อาตมภาพได้พบกับพระเถระท่านหนึ่ง ท่านได้เล่าให้ฟังว่า คนรู้จักกับท่านคนหนึ่ง ได้เดินทางไปต่างจังหวัดโดยรถโดยสาร ขณะที่รถวิ่งอยู่นั้น คนขับก็ขับด้วยความเร็วอย่างมาก ฝ่ายพวกพนักงานรถมีความคึกคะนอง ก็ยุคนขับให้ขับให้เร็วยิ่งขึ้น ส่งเสียงเชียร์เป็นการใหญ่ เวลารถหลีกกันก็ให้หลีกกันเฉียดๆ จนเสียงดังเฟี้ยว แล้วก็หัวเราะชอบใจเฮฮากัน แต่เขาคงจะรู้สึกว่ายังตื่นเต้นหรือแสดงความสามารถของคนขับไม่เพียงพอ จึงเอาผลส้มมาผลหนึ่งผูกเชือกเข้าแล้วห้อยลงไปข้างรถ เวลารถหลีกกันนั้น นอกจากจะให้เฉี่ยวกันเสียงเฟี้ยวแล้ว ก็ให้ผลส้มนั้นแตกด้วย เพื่อแสดงว่าคนขับมีความสามารถอย่างเยี่ยม พอผลส้มแตก พวกคนในรถก็สนุกสนาน เฮฮากันอย่างมาก ท่านที่โดยสารไปนั้นเห็นว่าไม่สามารถจะร่วมเดินทางไปกับคนเหล่านี้ได้ พอถึงสถานที่ที่พอจะลงได้ในระหว่างทาง ท่านก็เลยขอลงไปก่อน โดยไม่สามารถจะไปถึงจุดหมายปลายทางด้วยรถคันนั้นได้ นี้ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นสภาพปัญหาสังคมไทยได้ไม่น้อย

เรื่องที่พระเถระท่านเล่าให้อาตมภาพฟังนั้น ใจของอาตมภาพไม่ค่อยยอมเชื่อ แม้กระทั่งบัดนี้ก็ยังไม่ยอมเชื่อว่ามันจะเป็นไปได้ถึงอย่างนั้น แต่จะเชื่อหรือไม่ก็ตาม ภาพที่เป็นจริงในปัจจุบันก็ใกล้เคียงกับที่ได้เล่ามานี้มาก และท่านที่นั่งอยู่ที่นี่ก็คงจะเห็นด้วย ปัจจุบัน อุปัทวเหตุในเมืองไทยนี้มีมากมายเหลือเกิน เป็นเรื่องเด่นเสียจนกระทั่งว่าขณะนี้รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติขึ้นมา เป็นการชี้ให้เห็นว่า ปัญหาเรื่องความประมาท เรื่องอุบัติเหตุจากรถ เป็นต้น โดยเฉพาะเรื่องการจราจรนี่เป็นเรื่องร้ายแรงอย่างยิ่ง

ทีนี้ ผู้ที่ได้ฟังเรื่องนี้แล้ว ตอนแรกก็อาจจะพูดด่าว่าติเตียนคนขับรถและพนักงานรถโดยสารว่า ทำไมเขาจึงขับอย่างนั้น เป็นความประพฤติไม่ดีไม่งาม แต่ในการแก้ปัญหานั้น เราจะมองเพียงแค่พฤติการณ์ของคนขับและพนักงานรถนั้นคงจะไม่เพียงพอ เราจะต้องสืบสาวไปอีกมากมาย เช่นอาจจะตั้งคำถามว่า คนที่จ้างเขามานั้นเป็นอย่างไร บริษัทที่เป็นเจ้าของรถนั้นเป็นอย่างไร ทำไมจึงรับคนขับที่มีความประพฤติอย่างนี้เข้ามา ทำไมจึงไม่จัดการอบรม อาจจะพูดไปถึงตำรวจว่าทำไมจึงปล่อยให้เป็นอย่างนี้ เริ่มตั้งแต่ว่าทำไมจึงออกใบอนุญาตให้คนขับอย่างนี้มา หรือบางท่านอาจจะบอกว่า พระภิกษุสงฆ์ไปจำวัดอยู่ที่ไหน ทำไมจึงไม่มาสั่งสอนคนเหล่านี้ หรืออาจจะติเตียนว่า โรงเรียนให้การศึกษาอย่างไรจึงได้คนอย่างนี้มา อาจว่าไปถึงครอบครัว ทำไมพ่อแม่ไม่อบรมสั่งสอน ตลอดจนว่ารัฐบาลปกครองประเทศอย่างไร จึงไม่เรียบร้อย ก็สุดแต่จะว่ากันไป กระทั่งว่าสังคมนี้มีค่านิยมอะไร จึงเป็นการเกื้อหนุนส่งเสริมให้เกิดปัญหาอย่างนี้ขึ้น เหตุต่างๆ เหล่านั้นประมวลประดังกันเข้าก็นำมาสู่ผลที่เกิดขึ้นอย่างนั้น ซึ่งเป็นผลครั้งเดียว แต่ว่าเหตุนั้นมันมากมายเหลือเกิน

ว่าถึงในแง่ของพระพุทธศาสนา เราสามารถพูดถึงการแก้ปัญหาได้หลายอย่าง แต่ว่าโดยย่อแล้วก็อาจจะสรุปเป็น ๒ ด้าน คือ การแก้ปัญหาด้วยหลักธรรมด้านหนึ่ง และอีกด้านหนึ่ง คือการแก้ปัญหาในทางสถาบัน ในแง่หลักธรรมนั้น เราอาจพูดถึงว่า หลักธรรมในพระพุทธศาสนาข้อใดบ้างที่จะมาช่วยแก้ปัญหาของสังคมที่เป็นอย่างนี้ เช่นมีหลักการฝึกฝนระเบียบวินัยอย่างไร มีหลักเรื่องทาน เรื่องเมตตากรุณา เรื่องสังคหวัตถุ เรื่องฆราวาสธรรม หลักธรรมเหล่านี้จะนำไปใช้อย่างไร ในการที่จะแก้ปัญหาของสังคมซึ่งมีมากมายอย่างนี้

ในแง่สถาบัน ก็อาจจะพูดถึงกิจการเริ่มต้นตั้งแต่ว่า สถาบันที่เป็นหลักของพระศาสนา ได้แก่ คณะสงฆ์จะช่วยแก้ปัญหาสังคมได้อย่างไร ควรจะมีบทบาทอย่างไร องค์การทางพระศาสนาทั้งของคณะสงฆ์และของคณะคฤหัสถ์ทั้งหลายจะช่วยได้อย่างไร จะดำเนินกิจการอะไรกันบ้าง ทั้งหมดนี้ก็เป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งอย่างที่กล่าวแล้วว่าจะต้องใช้เวลาพูดกันนานเหลือเกิน ถ้าพูดในเวลาสั้นๆ ก็จะเข้าใจไม่แจ่มชัด บางทีก็อาจเกิดความเข้าใจผิดต่อผู้พูดไปเลยก็ได้ เช่นสมมติถ้าอาตมภาพพูดแต่ใจความสั้นๆ ว่า ในการที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้ ก่อนที่จะเกิดความพร้อม จะต้องมีการปรับปรุงคณะสงฆ์ ปรับปรุงกรมการศาสนา อะไรเหล่านี้เป็นต้น ถ้าพูดไปอย่างนี้ เมื่อเวลาที่จะชี้แจงไม่พอ ก็จะเกิดความเข้าใจผิด แล้วก็อาจจะเกิดความขัดเคืองกันไปด้วยก็ได้

เพราะฉะนั้น ในเวลาที่สั้นนี้ อาตมภาพก็จะถือเป็นอิสระ จะไม่พูดตามหัวข้อที่ท่านให้พูด แต่ถึงแม้จะไม่พูดตามหัวข้อที่ตั้งให้ โดยที่ว่ามองดูเผินๆ อาจจะไม่สัมพันธ์กัน แต่โดยเนื้อแท้ อาตมภาพถือว่าเรื่องที่จะพูดต่อไปนี้เป็นเรื่องสำคัญขั้นพื้นฐานของการแก้ปัญหาของสังคมไทย มีความสำคัญในขั้นถึงแก่นถึงโคนทีเดียว และจะเน้นในระดับของปัญหา ยังไม่พูดถึงสาเหตุและวิธีแก้ ความจริงนั้นตัวปัญหาก็เป็นเรื่องสำคัญมาก เราจะต้องรู้ตระหนัก มองปัญหาให้ชัด ถ้าหากว่ามองปัญหาได้ชัดแล้ว การแก้ไขก็ตามมาได้ง่าย แต่ถ้าปัญหานั้นยังมองไม่ชัดแล้ว แก้ก็ไม่ถูกจุด เมื่อมองปัญหาชัดแล้ว ในการแก้นั้นบางทีเราไม่จำเป็นจะต้องไปแก้ในรายละเอียดที่มากมาย ซึ่งอาจจะแก้กันไม่ไหว เราจะต้องจับจุดสำคัญให้ได้ เมื่อจับจุดสำคัญได้สักเรื่องหนึ่งแล้ว พอแก้ปัญหาที่จุดนั้นได้ การแก้ปัญหาอื่นๆ ก็ตามมาโดยง่าย ยกตัวอย่างเช่น ถ้าหากว่าเราสามารถสร้างความภูมิใจ ความมั่นใจในสายวัฒนธรรมของชาติขึ้นมาได้ หมายถึงว่า ความมั่นใจในวัฒนธรรมอย่างมีสติปัญญา ไม่ใช่มั่นใจอย่างเขลางมงาย ถ้าหากสร้างอันนี้ได้แล้วการแก้ปัญหาอื่นก็ตามมาโดยง่าย บางทีมันตามกันมาเองเป็นพรวนเลยทีเดียว ฉะนั้น อาตมภาพก็จะพูดถึงปัญหาเพียงบางอย่างในสังคมไทยที่เห็น ว่าเป็นเรื่องสำคัญ

ค่านิยมตามฝรั่ง

ปัญหาอย่างหนึ่งที่ถือว่าสำคัญมากเท่าที่อาตมภาพมองเห็นขณะนี้ ก็คือว่าสังคมไทยมีความเกี่ยวข้องกับอารยวัฒนธรรมตะวันตกเป็นอย่างมาก อิทธิพลของสังคมตะวันตกขณะนี้เด่นมากในสังคมไทย มีอิทธิพลมาก สิ่งที่มีอิทธิพลมากต่อสังคมของเรานั้น เราควรจะให้ความสนใจและพยายามมองกันให้ชัด เรื่องอิทธิพลตะวันตกนี้ก็เป็นเรื่องที่เรารู้ๆ กันอยู่ แต่เราเคยศึกษาให้ชัดหรือไม่ เมื่อเรามองได้ชัดแล้วเราจึงจะสามารถวางเป้าหมายให้ชัดเจนได้ เรื่องการรับอิทธิพลตะวันตกนี้เรายอมรับได้เต็มปากว่า ปัจจุบันนี้คนไทยนิยมตามฝรั่ง ตามวัฒนธรรมตะวันตก ความนิยมฝรั่งหรือตามตะวันตกในแบบของไทยนี้ มีลักษณะเฉพาะของประเทศไทยเอง ซึ่งไม่เหมือนกับในสังคมอื่น เราอาจจะพูดถึงประเทศอื่นว่ามีความนิยมตะวันตกเหมือนกัน เช่นอย่างประเทศญี่ปุ่นก็รับอิทธิพลตะวันตกเข้ามา แต่ลักษณะการตามของไทยกับของญี่ปุ่นก็ไม่เหมือน ลักษณะการตามนี้แหละเป็นเรื่องที่จะต้องศึกษาให้ชัด เมื่อศึกษาให้ชัดแล้วเราก็จะมองเห็นทางที่จะแก้ปัญหาได้

แม้ว่าไม่มีเวลาพูดกันยืดยาว อาตมภาพก็จะขอยกตัวอย่างบางประการ เช่นปีใหม่นี้เอง มีหน่วยราชการสำคัญแห่งหนึ่งได้ส่งบัตรอวยพรปีใหม่มาที่อาตมภาพ ภาษาไทยที่อวยพรนั้นก็รับได้ อ้างอิงคุณพระรัตนตรัยอวยพรให้ ส่วนภาษาอังกฤษก็รับได้เหมือนกัน แต่มีความรู้สึกสะดุดแปลกๆ ท่านบอกว่า Merry Christmas and A Happy New Year เอาละก็ไม่ว่าอะไร เพราะเป็นเรื่องของการตั้งจิตปรารถนาดีต่อกัน ถ้าว่าถึงความเสียหายก็ไม่มี แต่ขอให้ลองเทียบดู เหมือนกับว่าอาตมภาพนี้จะเดินทางไปจังหวัดเชียงใหม่ และก็มีญาติโยมคนไทยบางท่านไปส่งที่สถานีรถไฟหัวลำโพง หรือว่าไปส่งที่สนามบินดอนเมือง แล้วกล่าวคำอำลาอวยพรแก่อาตมภาพเป็นแบบญี่ปุ่นว่า ซาโยนาระ หรือพูดแบบฮาวายว่า อะโลฮ่ะ แล้วอาตมภาพจะรู้สึกอย่างไร มันก็เป็นคำแสดงความปรารถนาดี ไม่เสียหาย แต่มันอาจทำให้เกิดความรู้สึกที่แปลกประหลาดอยู่บ้าง แม้แต่ในประเทศฝรั่งเองคำอวยพรปีใหม่ก็มีให้เลือกตั้งหลายแบบ เช่น A Happy Holiday Season, Season’s Greetings อะไรต่างๆ มีมากมาย แล้วแต่ฝรั่งเขาจะเลือกว่าจะใช้แบบไหน แต่นี่มา Merry Christmas กับพระที่ในเมืองไทย เอาละ นี่เป็นการแสดงความปรารถนาดีก็ไม่ว่าอะไรกัน เป็นแต่เพียงตั้งข้อสังเกต

ตอนนี้ที่กำลังเกร่อกันมาก ก็คือเรื่องวาเลนไทน์เดย์ หรือวันวาเลนไทน์ (Valentine Day)14 เป็นวันแห่งความรัก วันวาเลนไทน์นี้ในประเทศไทยนิยมกันแพร่หลายในระยะสัก ๔ หรือ ๕ ปี มานี้เอง รู้จักกันทั่วไปในโรงเรียนต่างๆ เป็นเรื่องเกร่อ แม้ในวารสารทางด้านครูก็เอามาแสดงออก ปรากฏว่าเด็กในสมัยปัจจุบันนี้จำนวนไม่น้อย รู้จักวันคริสต์มาส วันวาเลนไทน์ ว่าเมื่อไรและจะต้องทำอะไร แต่ไม่รู้จักเลยว่าวันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา คือวันอะไรและเมื่อไร อันนี้ก็เป็นเรื่องน่าสังเกตในแง่ของวัฒนธรรม มีท่านผู้หนึ่งบอกว่า การที่วันคริสต์มาส วันวาเลนไทน์แพร่หลายขึ้นมานี้ เหตุผลสำคัญอย่างหนึ่ง เป็นเรื่องของธุรกิจ คือพวกนักธุรกิจได้โอกาสในการที่จะโฆษณาสินค้า ก็โหมในเรื่องนี้ เพื่อหวังผลในด้านการค้าขาย นี้ก็เป็นเรื่องของวัฒนธรรมฝรั่งที่เข้ามาอย่างมากมายในรูปของการค้าขาย แต่เหตุผลในด้านอื่นก็มี ซึ่งทั้งหมดนั้นก็อาศัยฐานของค่านิยม คือ ความนิยมตะวันตก และอีกด้านหนึ่งก็เป็นเครื่องเตือนให้รู้ว่า ผู้รับผิดชอบในทางศาสนาและวัฒนธรรมของสังคมไทย ได้ปล่อยให้เรื่องศาสนาและวันสำคัญของชาติ กลายเป็นเรื่องห่างไกล ไม่เกี่ยวข้อง ไม่มีความหมายต่อชีวิตของคนทั่วไป คนจึงหมดความสนใจไปเอง

แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุอย่างไรก็ตาม ผลที่เกิดขึ้นก็จะมีอิทธิพลต่อสังคมไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในระยะยาว และเป็นเรื่องที่จะต้องเอาใจใส่ ปัจจุบันนี้รัฐบาลพยายามปลุกปล้ำให้เกิดความนิยมไทย คณะกรรมการเอกลักษณ์ก็ทำหน้าที่อย่างนี้ ในแง่หนึ่งก็เหมือนกับว่าน่าสงสารรัฐบาล พยายามปลุกปล้ำในเรื่องนี้ไม่ทันเขา พยายามปลุกใจ หรือลงทุนลงแรงที่จะสร้างความรู้ความเข้าใจ สร้างความนิยมด้วยประการต่างๆ แต่ในฝ่ายความนิยมวัฒนธรรมตะวันตกนั้น รัฐบาลไม่ต้องส่งเสริมก็ได้ เพราะผู้คนทั่วไปเริ่มตั้งแต่เด็กต่างช่วยกันเผยแพร่เอง และสื่อมวลชนก็ช่วยหนุน หรือว่าช่วยกระพือให้แพร่หลายทั่วถึงมากยิ่งขึ้น อันนี้จะเป็นเครื่องแสดงได้หรือเปล่าว่า ปัจจุบันนี้ ความภูมิใจในความเป็นชาติไทยและวัฒนธรรมไทยนี้แทบจะไม่มีเหลือ

เรื่องการตามในแง่ที่กล่าวมานี้ เป็นเรื่องของวัฒนธรรม ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะเป็นเรื่องของจิตใจ มันส่อแสดงถึงการที่ว่า เรามีศรัทธา มีความเชื่อ มีความนิยมนับถือ เราเห็นว่าวัฒนธรรมของตะวันตกหรือของฝรั่งนั้นดีกว่า เจริญกว่าของเรา เราจึงได้เดินตามเขา เรื่องในขั้นความคิดนี้เป็นเรื่องยิ่งใหญ่ เป็นเรื่องของค่านิยม ความนับถือ ศรัทธา เป็นขั้นจิตใจ ความคิดย่อมนำการกระทำ ความคิดย่อมนำหน้าการดำเนินชีวิตทั้งหมด เมื่อใจไปเสียแล้ว ต่อไปการดำเนินชีวิตก็จะตาม ไปด้วย ในทางพระพุทธศาสนาได้กล่าวถึงหลักไว้ว่า “จิตฺเตน นียติ โลโก” โลกนี้อันจิตย่อมนำไป หรือจะอ้างพุทธภาษิตในธรรมบทบทแรก ก็บอกว่า “มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา” ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า เป็นตัวนำ หรือจะมองในแง่ทิฏฐิก็ได้ คือว่าเป็นความคิดความเห็น ถ้าเป็นมิจฉาทิฏฐิ ทิฏฐิตั้งไว้ผิดเสียแล้ว การกระทำ การดำเนินชีวิตก็จะพลอยผิดไปตาม ในแง่นี้จึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่จะต้องใส่ใจ

ลักษณะการตามฝรั่งของคนไทย

นอกจากนี้ ยังมีแง่ที่จะต้องพิจารณาต่อไปอีก คือจะต้องมีการแยกแยะว่า การตามของคนไทยที่เดินไปข้างหลังวัฒนธรรมตะวันตกนั้น เป็นการตามจริงๆ หรือเปล่า ตามไปทางเดียวกันกับตะวันตกจริงหรือเปล่า เป็นการตามที่มีเป้าหมายหรือว่าสักแต่ว่าตาม ตามอย่างงมงายหรือตามด้วย ความรู้มีจุดหมายของตน

ในทางพระพุทธศาสนา ท่านสอนให้ทำการด้วยความรู้ความเข้าใจ หลักสัปปุริสธรรมก็สอนให้มีธัมมัญญุตา รู้จักสิ่งที่กระทำ ให้มีอัตถัญญุตา รู้จักผล รู้จักจุดมุ่งหมายของการที่กระทำนั้น จะตามก็ไม่ว่าอะไร แต่ขอให้ตามด้วยความรู้ ตามให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิตแก่สังคมแก่ประเทศชาติของตน แง่ที่ต้องวิเคราะห์ในเรื่องการตามนี้ จะขอแยกแยะมาดูกันเป็นตัวอย่าง เช่นว่า ในสังคมไทยที่มีการตามอารยธรรมตะวันตกนี้
บางอย่าง เราตามแต่เปลือก ไม่ได้เอาเนื้อมาด้วย
บางอย่าง เราตามฝรั่ง แต่ล้ำหน้าเลยฝรั่งไป
บางอย่าง เราตามฝรั่ง แต่ตามไม่ครบกระบวน
บางอย่าง ไปตามในเรื่องที่ฝรั่งเองก็ผิดอยู่แล้ว ก็เลยผิดไปด้วย

เรื่องการตามอย่างนี้มีรายละเอียดมาก ขอให้นึกดู มีบ้างไหมที่ตามเขาได้จริงตรงไปตรงมาจบตลอดครบถ้วน จะขอให้มองเห็นภาพสักอันที่ฝรั่งเขามาวิจัยเอาไว้ ลองดูว่าฝรั่งเขามองเห็นการตามของเราอย่างไร พวกฝรั่งเองเขามองดูไทย เขาไม่ให้เกียรติอะไร เขาไม่ได้เห็นว่าคนไทยตามเขาได้ดีหรือได้ผล อะไร มีฝรั่งคนหนึ่งชื่อนาย Norman Jacobs เข้ามาวิจัยเรื่องการพัฒนาในประเทศไทย แล้วเขาก็เขียนหนังสือเป็นผลงานจากการวิจัยขึ้นมาเล่มหนึ่ง ให้เห็นภาพของการที่ประเทศไทยพยายามที่จะเจริญให้ทันหรือให้เหมือนอย่างประเทศตะวันตกของเขา หนังสือนั้นเขาให้ชื่อว่า Modernization Without Development15 ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยว่า ทันสมัยแต่ไม่พัฒนา หมายความว่า ประเทศไทยนี้เท่าที่ได้ปรับปรุงประเทศมาแล้ว ทันสมัยจริง แต่ไม่ได้พัฒนาเลย หนังสือเล่มนั้นว่าด้วยเรื่องประเทศไทยทั้งหมด

คำว่า ทันสมัยนั้นอย่างหนึ่ง พัฒนาก็อย่างหนึ่ง ไม่ใช่อย่างเดียวกัน ประเทศไทยอาจจะมีความเจริญรุ่งเรืองในภายนอก ในทางวัตถุ มีตึกรามบ้านช่อง ถนนหนทางมากมาย มีการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีระบบเศรษฐกิจแบบตะวันตกอะไรต่างๆ แต่ในแง่เนื้อหาแล้วไม่มีการพัฒนาเลย เขาว่าอย่างนั้น เราจะมองว่าเป็นการดูถูกหรืออย่างไรก็แล้วแต่ เขาบอกว่าเขาวิเคราะห์ตามความเป็นจริง อันนี้เราต้องรับฟังทัศนะของเขาด้วย

ขอยกตัวอย่างเรื่อง การตามไม่ครบกระบวน เช่นในสังคมตะวันตก การที่เขามีความเจริญได้นั้น เขาต้องมีการผลิตแล้วจึงมีการบริโภค การผลิตนั้นเป็นส่วนสำคัญของการสร้างความเจริญ ทีนี้ในสังคมไทยของเราก็ตามฝรั่ง แต่ปรากฏว่า เราตามในแง่การบริโภค ไม่ตามในแง่การผลิต กระบวนการสร้างความเจริญจึงไม่ครบ โดยเฉพาะตอนที่สร้างความเจริญการผลิตเราไม่เอา ไปเอาในด้านบริโภค แล้วเราก็ต้องมาปรับทุกข์กันว่า ปัจจุบันนี้ สังคมไทยมีค่านิยมการบริโภค ไม่มีค่านิยมในการผลิต เป็นตัวการร้ายแรงที่ทำให้เกิดปัญหาสังคมขึ้น นี่ก็เป็นตัวอย่างอันหนึ่งของการที่ว่า ตามเขาไม่ครบกระบวน

อีกตัวอย่างหนึ่งที่ว่า ตามเขาแต่ล้ำหน้าเลยเขาไป เช่นกิจการบันเทิงหลายอย่าง มีบาร์ ไนท์คลับ โรงนวด เป็นต้น เราเอามาจากฝรั่ง แต่แล้วปรากฏว่าคนไทยเราดำเนินการได้ดีล้ำหน้าฝรั่ง กระทั่งสิ่งเหล่านี้มีเกร่อทั่วไปในประเทศ จนพวกฝรั่งเองก็มาชื่นชม แล้วเอาไปเขียนลงในหนังสือต่างๆ เรียกประเทศไทยด้วยชื่อที่ประหลาด จนกระทั่งพระไม่ควรจะนำมากล่าวในที่ประชุมนี้ อันนี้เป็นเรื่องที่ว่าเราได้พัฒนาหรือว่าตามฝรั่งแต่ล้ำหน้าฝรั่งไป

ทีนี้ บางเรื่องเราตามแต่ไม่ถึงเนื้อแท้ของฝรั่ง ตามไม่ถึงเนื้อแท้นั้น คือรูปแบบความเจริญคล้ายกัน แต่เนื้อในไม่เหมือนกัน เรื่องนี้โดยมากเป็นไปในแง่ค่านิยม อาตมภาพจะขอยกตัวอย่างให้เห็น คนไทยเราปัจจุบันนี้น่าสังเกตว่ามีค่านิยมอย่างหนึ่งซึ่งไม่น่าสบายใจนัก ขอเรียกว่าเป็นค่านิยมอวดเก่งอวดโก้ที่โกงหรือแกล้งเขาได้ อวดกล้าอวดแสดงว่าทำแผลงๆ หรือ อยู่เหนือกฎได้ ซึ่งเรามักจะมีความรู้สึกภูมิใจมาแสดงอวดกัน หัวเราะชอบใจกันในการที่ว่า ทำอะไรผิดสักอย่างได้สำเร็จว่า ฉันเก่ง จะละเมิด จะฝ่าฝืน หรือไม่ต้องทำตามกฎระเบียบนี้ก็ได้ ว่าฉันมีอภิสิทธิ์ ฉันเก่ง ฉันแน่ ใครทำอะไรฉันไม่ได้ เขาแนะนำว่า จะฉีดยาฆ่าแมลงให้ปกปิดร่างกายให้มิดชิด ฉันจะไม่ต้องใช้เครื่องป้องกันก็ได้ กฎว่าอย่างนี้ฉันจะทำอย่างโน้น แม้แต่พวกเราคนไทยที่ไปเมืองนอกเป็นอย่างนั้นก็มี เวลาเราไปเมืองฝรั่ง เราทำอะไรผิด เช่นว่าแกล้งทำให้ผิดกฎจราจรของฝรั่งได้สำเร็จแล้วก็หัวเราะชอบใจ ในเมืองไทยนี้ถ้าให้ข้ามทางม้าลาย เราจะข้ามกันอยู่ไม่นาน เพราะเรามีค่านิยมความเก่งกล้าในทางที่ละเมิดหรือทำอะไรผิดได้ เราภูมิใจในการที่หลอกตำรวจได้ หรือตำรวจจับไม่ได้ไล่ไม่ทัน ซึ่งในประเทศที่มีอารยธรรมหลายประเทศเขาเห็นการทำอย่างนี้ว่าเป็นเรื่องน่าละอาย แต่คนไทยถือว่าเป็นเรื่องสนุกสนานและโก้เก๋ ตราบใดที่ค่านิยมเหล่านี้ยังมีแล้ว เราจะสร้างระเบียบวินัยไม่สำเร็จและการแก้ปัญหาของสังคมนี้ก็เป็นไปได้ยาก นี้ก็เป็นเพียงตัวอย่างอันหนึ่ง คงไม่มีเวลามาสาธยายรายละเอียด ยกมาพูดพอให้มองเห็น

อีกอย่างหนึ่งก็ค่านิยมในเรื่องความฟุ้งเฟ้อ แข่งอวดกัน ซึ่งไม่ต้องพูดถึงระดับผู้ใหญ่ แม้ตามโรงเรียนต่างๆ ก็ได้ยินว่ามีมากมายอยู่ เช่นว่า เด็กนักเรียนในโรงเรียนชั้นดีจะอวดกันถึงฐานะของพ่อแม่ว่า วันนี้มาโรงเรียนด้วยรถอะไร มารถยี่ห้ออะไร มีผู้เล่าว่า นักเรียนบางคนนั้นอายเพื่อน ถ้าหากไม่ได้มารถคันใหญ่ วันนี้คุณพ่อเปลี่ยนเอารถยี่ห้อไม่ดีมา ก็ขออย่าให้ไปส่งถึงประตูโรงเรียน ให้ไปส่งห่างๆ ไม่ให้เพื่อนเห็น แล้วก็เดินเข้าโรงเรียน เพราะกลัวจะอายเพื่อน พอโรงเรียนปิด เด็กๆ ก็จะไปเที่ยวในที่ต่างๆ แล้วมาอวดกันว่า เมื่อตอนโรงเรียนปิดนั้น ฉันได้ไปเที่ยวที่นั่นที่นี่ ไปในที่หรูหรา ฟุ้งเฟ้อใช้เงินมาก ซึ่งอันนี้มันไม่ตรงกับค่านิยมของฝรั่ง

ฝรั่งนั้นเขาภูมิใจในการที่ทำผลสำเร็จให้เกิดขึ้นได้ด้วยตัวเอง เด็กของเขาอาจจะเป็นลูกวุฒิสมาชิก เมื่อโรงเรียนปิดเขาอาจจะไปเดินขายหนังสือพิมพ์ พอโรงเรียนเปิดเขาก็จะมาคุยกัน เขาถามกันว่า เอ้อ! เมื่อตอนที่โรงเรียนปิดนั้น เธอไปทำอะไร เพื่อนก็จะบอกว่าฉันได้ไปทำงานหาเงินเองได้ เขาอาจจะเป็นลูกผู้ใหญ่ทางการเมือง เขาจะบอกว่าฉันไปขายหนังสือพิมพ์ทำเงินได้ เขาภูมิใจที่ทำงานสร้างผลสำเร็จได้เอง หรือ ถ้าไปเที่ยวเขาก็ภูมิใจที่จะเล่าว่าได้ไปในสถานที่แปลกๆ ได้ผจญภัย ได้ทำอะไรๆ สำเร็จ ที่เป็นเรื่องได้แสดงความสามารถ ซึ่งไม่ใช่เป็นการอวดโก้แข่งฐานะ แต่ของเรานี่มักจะเน้นในเรื่องของความอวดโก้ อวดฐานะกัน อวดความฟุ้งเฟ้อ หรูหรา ว่าพ่อฉันมีมาก ฉันได้ใช้มาก เด็กฝรั่งภูมิใจว่า ฉันได้ใช้อะไรที่ฉันทำมาเอง เด็กไทยยุคใหม่ภูมิใจว่า ฉันไม่ต้องทำอะไร ฉัน ก็มีใช้เอง เขาคุยว่าได้ทำได้ผลิตมาก เราอวดว่าฉันได้ใช้ได้บริโภคมาก ปัจจุบันนี้ในโรงเรียนชั้นนำมีสภาพเช่นนี้เกิดขึ้น และเด็กเหล่านี้มีโอกาสมากที่จะได้เป็นผู้นำของสังคมไทยในอนาคต เมื่อเขามีค่านิยมอย่างนี้แล้วมันจะเกิดผลต่อประเทศไทยอย่างไร และจะเห็นว่า ค่านิยมเหล่านี้เราได้ปลูกฝังกันมาแต่เด็ก บางทีโรงเรียนกลับกลายเป็นแหล่งที่ปลูกฝังค่านิยมเหล่านี้ไปเสียเอง เพราะฉะนั้น มันก็กลายเป็นว่า แหล่งการศึกษากลายเป็นแหล่งที่จะสร้างปัญหาสังคมขึ้นมา (ที่ว่านี้ขอทำความเข้าใจว่า ค่านิยมผลิตของฝรั่งที่พูดมานั้น ก็ไม่ใช่จะมีแต่ผลดีอย่างเดียว แง่ที่เป็นผลเสียก็มี ถ้าเราจะรับเอามาฝึกกันก็ต้องวิเคราะห์ให้ดีเสียก่อน เอาแต่ส่วนที่ดีมา ส่วนที่เสียก็ทิ้งไป แต่ในที่นี้ กำลังพูดเรื่องตามฝรั่งไม่จริง จึงไม่วิเคราะห์ว่าของฝรั่งดีเสียอย่างไร)

ในสภาพอย่างนี้ เราอาจจะเรียกการศึกษาว่าเป็นการศึกษาที่ดึงเด็กออกจากสังคมไทย แต่ก็ส่งไปไม่ถึงเมืองฝรั่ง กลายเป็นครึ่งๆ กลางๆ อันเป็นเรื่องน่าคิด แต่ที่กล่าวมาแล้วนี้ เป็นเรื่องในระดับภายนอกเท่านั้น ยังจะต้องกล่าวลึกซึ้งเข้าไปอีกให้ถึงเนื้อหาของการศึกษาไทยปัจจุบัน ซึ่งจะพูดถึงต่อไปในตอนท้าย สภาพที่ว่านี้คล้ายจะเป็นการกล่าวหาการศึกษาปัจจุบันรุนแรงไปสักหน่อย ว่าเป็นการศึกษาที่ดึงเด็กออกจากสังคมไทย แต่ส่งไปไม่ถึงสังคมฝรั่ง เอาละอาตมภาพอาจจะกล่าวคำนี้ร้ายแรงเกินไป แต่การกล่าวอย่างนี้จะเป็นประโยชน์ในการช่วยกระตุ้นให้ช่วยพินิจพิจารณากันบ้าง และการกล่าวอย่างนี้มิได้มุ่งว่าเฉพาะแต่โรงเรียนที่เป็นสถานศึกษาโดยตรงเท่านั้น สื่อมวลชนมีความสำคัญมากมายทีเดียว ค่านิยมแบบนี้เป็นค่านิยมส่งเสริมความฉาบฉวยความฟุ้งเฟ้อให้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะวัฒนธรรมตะวันตกหรือของฝรั่งนั้น ปัจจุบันนี้มักมากับการค้า การค้านี้ก็ยิ่งส่งเสริมความฉาบฉวยให้มากยิ่งขึ้น แม้แต่เรื่อง Valentine Day ที่พูดถึงเมื่อกี้นี้ ก็กลายเป็นการส่งเสริมความรักแบบฉาบฉวยมากกว่า เป็นเรื่องการโก้เก๋ไป กิจการค้าขายก็ได้โอกาสในการที่จะส่งเสริมและแสวงหาผลประโยชน์จากความฉาบฉวยโก้เก๋เช่นนั้น

เราลองนึกดูในแง่ที่ว่า ทำไมจึงฉาบฉวยโก้เก๋ การที่สังคมฝรั่งเขามีสิ่งเหล่านี้นั้น สภาพการณ์ของเขาไม่เหมือนเมืองไทย สังคมฝรั่งเป็นสังคมที่ชีวิตคนมีความกดดันมาก มีความเคร่งเครียดมาก แต่ละคนต้องรีบเร่งทำการงานของตัวเอง คล้ายๆ ว่าตัวใครตัวมัน แม้แต่พ่อแม่พี่น้องก็แยกกันอยู่ ปีหนึ่งพบกันที ตอนคริสต์มาสจึงจะมาพร้อมหน้ากัน ทีนี้การที่จะสัมพันธ์กับคนอื่นนั้น การมีการ์ด มีบัตรอวยพรอะไรต่างๆ มันก็ช่วยผ่อนคลายพอให้ได้มีสื่อสัมพันธ์ไว้ แต่ในสังคมไทยนั้น การ์ดเหล่านี้มันไม่สู้มีความหมายอะไร ชีวิตคนไทยไม่ค่อยมีความเคร่งเครียด ไม่แยกย้ายห่างการติดต่อกันไปถึงอย่างนั้น พอเรารับวิธีการของเขามามันจึงกลายเป็นความฟุ้งเฟ้อมากยิ่งขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม อันที่จริงเฉพาะเรื่องนี้ก็ไม่ว่าอะไรหรอก เพราะว่าสังคมไทยปัจจุบันนี้ กำลังเดินไปในแนวของตะวันตก ชีวิตของคนโดยเฉพาะในเมืองนั้น มีความเคร่งเครียดมากขึ้น ห่างกันมากขึ้น การใช้การ์ดอวยพรอะไรต่างๆ ก็เหมาะสมกับสมัยอยู่ แต่ว่าเราต้องใช้ด้วยความรู้เท่าทันว่า เราควรจะส่งเสริมในแง่ไหนแค่ไหน เพราะฉะนั้นในเรื่องนี้จะไม่ขอพูดให้มาก แต่ที่สำคัญก็คือว่า เมื่อรับค่านิยมตามวัฒนธรรมแบบนี้ขึ้นมาแล้ว เราก็มองข้ามค่านิยมทางคุณธรรมของคนไทยไปเสีย แล้วคุณธรรมหรือค่านิยมเหล่านั้น ก็อาจจะสูญหายไปในที่สุด เช่น ค่านิยมแห่งทาน เมตตากรุณา ซึ่งเคยมีในสังคมไทย แต่ปัจจุบันนี้อาจจะค่อยๆ ละลายหายไป แล้วมีค่านิยมฉาบฉวย เช่น ความรักแบบวันวาเลนไทน์เข้ามาแทน

ค่านิยมที่ลึกซึ้งถูกเมิน ที่ตื้นเขินแผ่เข้ามา

เพื่อให้ชัดเจน อาตมภาพจะขอยกตัวอย่าง เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ นี้ ไทยได้ประกาศสงครามกับพันธมิตร เข้ากับญี่ปุ่น ผลที่สุดญี่ปุ่นแพ้สงคราม แล้วก็มีปัญหาว่าไทยจะต้องแพ้สงครามด้วยหรือไม่ ในที่สุดด้วยผลงานของเสรีไทย ก็ได้ปกป้องประเทศชาติไว้ ไทยก็รอดจากการวินิจฉัยว่าเป็นผู้แพ้สงคราม ไม่เป็นผู้แพ้สงคราม เราก็ระลึกถึงบุญคุณของเสรีไทยอยู่ อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เราต้องตระหนักไว้ อย่างไรก็ตามหลายคนอาจจะมองข้ามอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญก็คือ ด้านคุณธรรม ขอยกเหตุการณ์ในระหว่างสงคราม ที่เมืองกาญจนบุรี ญี่ปุ่นจับทหารฝรั่งได้เป็นอันมาก แล้วก็เอาทหารเหล่านั้นไปสร้างทางรถไฟสายมรณะเชื่อมต่อกับชายแดนพม่า ดังที่เราเห็นสะพานข้ามแม่น้ำแคว ซึ่งมีชื่อเสียงไปทั่วโลก แต่การสร้างทางครั้งนั้น ทหารเชลยฝรั่งได้รับความลำบากมาก ทั้งความอดอยาก และทารุณกรรมต่างๆ อย่างมากมาย ล้มตายมากเหลือเกิน กล่าวกันว่าทหารฝรั่งที่ตายนั้น นับได้ตามจำนวนไม้หมอนของทางรถไฟ ทีนี้ในระหว่างเวลายาวนานที่ได้รับความลำบากความทรมานทรกรรมนั้น ก็ปรากฏว่าชาวบ้านคนไทยจำนวนมากได้เกิดความสงสารทหารฝรั่งเหล่านั้น ก็พยายามลักลอบเสี่ยงภัย เอาอาหารเอาผลไม้ต่างๆ ไปหลบให้วางให้ทิ้งให้แก่เชลยเหล่านั้น ทำให้เชลยจำนวนมากรอดชีวิต เมื่อสงครามโลกเสร็จสิ้น เชลยเหล่านี้ก็ได้รับอิสรภาพ (ถึงตอนนี้มันกลับกัน คือฝ่ายญี่ปุ่นกลายเป็นเชลย และทหารญี่ปุ่นก็ได้รับความลำบากทรมานทรกรรม คนไทยก็เอาอีกนั่นแหละ ช่วยกันเอาอาหารไปส่งให้ แต่ระยะเวลาสั้นหน่อย ไม่ยาวนานเป็นปีๆ เหมือนตอนช่วยเชลยฝรั่ง นี่ก็เป็นอานุภาพของทาน เมตตา กรุณา)

เมื่อเสร็จสงครามโลกครั้งที่ ๒ แล้ว ทหารฝรั่งกลับไปเมืองของตน ก็คงจะได้ช่วยอย่างมากในการร้องเรียนยืนยันเป็นประจักษ์พยานแก่ฝ่ายสัมพันธมิตรว่า คนไทยมิได้มีจิตใจเป็นปฏิปักษ์ต่อฝรั่ง ช่วยให้ไทยไม่ถูกตัดสินเป็นผู้แพ้สงคราม ทหารฝรั่งที่เคยเป็นเชลยเหล่านั้น หลังสงครามเขาก็กลับมาเมืองไทยอีก มาตามค้นหาคนไทยผู้มีอุปการคุณแก่เขา และปรากฏว่าได้พบรักแต่งงานกับผู้หญิงไทยไปอยู่ด้วยกันในประเทศของเขา อย่างในประเทศฮอลันดา เป็นจำนวนหลายร้อยครอบครัว นี้ก็ด้วยอานุภาพของเมตตากรุณา และอาศัยคุณธรรม จึงทำให้เกิดความรักต่อคู่ชีวิตคู่ครองขึ้น เราอาจจะเลือกกำหนดเอาวันใดวันหนึ่งที่เกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ แล้วตกลงกันเป็นวันที่ระลึก เรียกชื่อขึ้นมาสักอย่างให้รู้ว่าอย่างนี้นี่แหละ สยามวาเลนไทน์ (The Siamese Valentine) วันวาเลนไทน์ไทย หรือจะเรียกว่า ธารน้ำใจไทยเดย์ หรืออะไรๆ ทำนองนี้ก็ได้ ปัจจุบันนี้ก็ได้มีพยานรักของคนไทย-ฝรั่งเกิดขึ้นในประเทศฮอลันดา ซึ่งสืบเนื่องจากเหตุการณ์นี้ด้วย ก็คือมีวัดไทยเกิดขึ้น ๑ วัด ในประเทศฮอลันดา โดยคนไทยที่ไปประเทศนี้ด้วยเหตุดังที่กล่าวมาแล้วนั้น

เราจะเห็นว่าความรักอย่างนี้ มีความหมายทางคุณธรรมก่อตัวขึ้นมาจากความเมตตากรุณา แล้วจึงเกิดเป็นความรักอย่างคู่ครองคู่ชีวิต ยิ่งกว่านั้น ยังมีความหมายสำคัญในประวัติศาสตร์ของชาติเราด้วย ในการที่เราได้พ้นจากภาวะที่เกือบจะแพ้สงคราม ซึ่งคล้ายว่าเกือบจะสูญเสียอิสรภาพไป สำหรับคนไทย เรื่องนี้นับว่ามีความสำคัญทางประวัติศาสตร์มาก เรากลับมองไม่เห็น ความจริงแล้ว เราน่าจะเลือกค้นคว้าศึกษาประวัติของคนเหล่านี้ด้วยซ้ำไป เอามาเขียนกระจายให้เป็นที่รู้กันเป็นนิยายรักก็ได้ แต่เรากลับมารับเอาวันวาเลนไทน์ ซึ่งมีประวัติไม่แน่นอนคลุมเครือเหลือเกิน คือไม่มีใครสามารถสืบทราบได้ชัดเจนว่าวันวาเลนไทน์นี้มาจากไหน เขาบอกว่าเป็นที่ระลึกถึงวันประหารชีวิต เซนต์วาเลนไทน์ (Saint Valentine) แต่เซนต์วาเลนไทน์มี ๒ คน ไม่รู้ว่าคนไหนแน่ ฝรั่งก็วินิจฉัยไม่ถูก และแต่ละคนก็ไม่มีประวัติแน่นอน เป็นแต่เล่ากันมาเป็นปรัมปรา ซึ่งแท้ที่จริงแล้วนักปราชญ์บอกว่าเป็นเรื่องสวมรับจับขึ้นมาใส่ คือว่าพวกโรมันเขามีประเพณีเก่าอยู่แล้ว เป็นเทศกาลฉลอง เรียกว่า Lupercalia เป็นการระลึกถึงเทพเจ้าลูเปอร์คุส ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งความเจริญพันธุ์ ชาวโรมันเขามีการฉลองกันมาก่อนแล้ว ทางคริสต์ศาสนาก็มาสวมรับเอาไป แต่นักวิชาการสันนิษฐานไปเรื่องนี้ก็ไม่ชัดเจน ว่าไปว่ามา ปราชญ์หนึ่งก็ให้มติว่าวันวาเลนไทน์นี้มันเกิดมาจากความเชื่อของชาวยุโรปสมัยกลาง ซึ่งเขาเชื่อกันว่า พวกปักษิณชาติ คือนกทั้งหลายในแดนฝรั่งเริ่มผสมพันธุ์กันในวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ อันนี้เองเป็นเหตุผลที่เชื่อได้มากที่สุด และเป็นวิทยาศาสตร์ที่สุด ในการสืบสาวถึงความหมายและที่มาของวันวาเลนไทน์

จากเรื่องนี้ทำให้เราต้องถามว่า คุณค่าในการที่รับสิ่งเหล่านี้มานั้นมันเกิดจากอะไร เพียงแต่เห็นว่าเป็นของฝรั่งแล้วก็รับหรือรับด้วยความรู้ความเข้าใจ แต่พฤติการณ์ที่เป็นกันอยู่ มันเป็นไปในทำนองว่า ไม่ต้องรับรู้อะไรหรือไม่ได้ศึกษาอะไรเลย พอเห็นว่าเป็นของฝรั่งก็รับเข้ามา แล้วเราได้อะไรบ้าง นอกจากความฟุ้งเฟ้อ ความผิวเผินฉาบฉวย ทำไมไม่ใช้ปัญญาพิจารณารับเอาแต่สิ่งที่เป็นสาระ รู้ให้เท่าทัน อะไรไม่เป็นสาระก็ไม่เอา ทำไมไม่เอาสิ่งที่เป็นสาระของเราไว้ อันนี้ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง ซึ่งถ้าขืนเป็นอย่างนี้ การคลั่งหรือการนิยมวัฒนธรรมตะวันตกก็จะเป็นไปมากจนกระทั่งว่า วัฒนธรรมก็จะค่อยๆ หมดความหมาย และคุณธรรมของเราเองก็จะค่อยๆ สูญไปด้วย แล้วฝรั่งเองเขาก็จะว่าคนไทยที่ตามเขาอย่างนี้ได้ว่าเป็นคนตื้นเขินเหลือเกิน รับอะไรๆ เอามาโดยไร้สติปัญญา

ขอกล่าวย้อนไปถึงการที่คนไทยมีค่านิยมเมตตากรุณา ซึ่งแสดงออกในตอนสงครามโลกครั้งที่ ๒ เราอาจจะถือว่าสงครามโลกครั้งที่ ๒ นี้เป็นตอนกำเนิดค่านิยมที่ไม่ดีอย่างหนึ่งด้วย ซึ่งอาตมภาพได้พูดไปแล้วคือ ค่านิยมที่ว่า อวดเก่งอวดโก้ที่โกงหรือแกล้งเขาได้ ค่านิยมนี้น่าจะเป็นค่านิยมที่เกิดในสงครามโลกครั้งที่ ๒ เหมือนกัน ตอนนั้นคนไทย เพราะเหตุที่ว่าจะต้องพยายามเอาตัวรอดในสงคราม ซึ่งโดยทางการเป็นข้างญี่ปุ่น แต่โดยพฤติการณ์เป็นปฏิปักษ์กัน ก็ได้พยายามหลบล่อชาวญี่ปุ่นบ้าง พยายามแกล้งทหารญี่ปุ่นบ้าง ด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อที่จะเอาปัจจัยครองชีพ เอาเงินเอาทองจากทหารญี่ปุ่น และแก้แค้นผู้ที่ตนถือเป็นศัตรู ได้ใช้วิธีการที่เป็นกลอุบายทั้งหลายให้สำเร็จผล แล้วก็สนุกสนานเกิดความรู้สึกว่า เราเก่งในการที่หลอกญี่ปุ่นได้ อันนี้มีเรื่องมากมายทีเดียว แล้วค่านิยมนี้อาจจะได้เริ่มมาตั้งแต่ตอนนั้น เราอาจจะบอกว่าระยะสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ ๒ นั้น เป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ เป็นช่วงเวลาที่ค่านิยมทาน และเมตตากรุณาเริ่มจะสูญหายไป พร้อมกับเกิดค่านิยมใหม่แห่งความเก่งโก้ที่โกงหรือแกล้งเขาได้

เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว ในการฉลองรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปีนี้ น่าจะเป็นเวลาเหมาะที่เราควรมาฟื้นฟูค่านิยมกันใหม่อีกครั้งหนึ่ง โดยหันกลับไปสู่ค่านิยมที่ถูกต้อง ได้แก่การฟื้นฟูค่านิยมทานและเมตตากรุณาขึ้นมา และละทิ้งเลิกล้างค่านิยมแห่งการอวดเก่งอวดโก้ แล้วการแก้ปัญหาสังคมไทยก็จะมีทางเป็นไปได้ดีขึ้น ในแง่ที่สำคัญส่วนหนึ่ง

การตามฝรั่งในทางที่ผิด

ขอพูดต่อไปถึงการตามอีกอย่างซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก คือการตามไปในทางที่ฝรั่งก็ผิดอยู่แล้ว อันนี้เป็นเรื่องสำคัญที่สุดในบรรดาการตามทั้งหลาย แต่เราไม่มีเวลาเพียงพอที่จะพูดเรื่องนี้ได้มาก การตามในทางที่ฝรั่งก็ผิดอยู่แล้วนี้เป็นการที่เราอยู่ดีๆ ก็ไปตามในเรื่องที่ฝรั่งเขาผิดก็มี เป็นการที่เราเองก็ผิดอยู่แล้ว ออกจากผิดของเรา ก็ไปหาผิดของฝรั่งบ้างก็มี จะขอยกตัวอย่างสักเรื่องหนึ่ง ซึ่งของเราก็อาจจะไม่ค่อยดีนัก คือมีอะไรพลาดๆ อยู่ แล้วก็ยังตามฝรั่งไป ออกจากพลาดของเราไปหาของเขาที่พลาดอีกด้วย อาตมภาพขอเรียกเรื่องนี้ว่า เป็นการไม่รู้จักแยกระหว่างการยอมรับความจริง กับการยอมรับสภาพที่เป็นอยู่ อันนี้เป็นเรื่องสำคัญในระดับวิชาการ ขอย้ำอีกว่า การยอมรับความจริงกับการยอมรับสภาพที่เป็นอยู่เป็นคนละอย่าง แต่เป็นเรื่องที่เราไม่ค่อยรู้จักแยก

ทั้งสังคมตะวันตกและสังคมตะวันออกแยกการยอมรับความจริงกับการยอมรับสภาพที่เป็นอยู่นี้ไม่ได้ สังคมหนึ่งคือสังคมไทยนี้ เอามาปนกัน คือเอาการยอมรับความจริงกับการยอมรับสภาพที่เป็นอยู่มาปนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แล้วเอาทั้งหมด ส่วนสังคมตะวันตกก็จับมาปนกัน แต่ไม่เอาทั้งหมด คือทั้งไม่ยอมรับความจริง และไม่ยอมรับสภาพที่เป็นอยู่ จะให้เห็นภาพชัดขึ้น ขอยกตัวอย่าง เช่น คนไทยเรานี้มีค่านิยมในการเห็นสิ่งทั้งหลายเป็นอนิจจัง เมื่อเกิดความพลัดพราก เกิดความสูญเสียขึ้น คนไทยเราจะปลงได้ว่า อ้อ...อันนี้อนิจจังไม่เที่ยง เป็นธรรมดาเมื่อมีเกิดก็มีดับ สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามกรรม เมื่อไม่เที่ยงก็หมดสิ้น สูญสลาย แตกดับไป เมื่อมันเป็นธรรมดาอย่างนั้น เราก็ไม่ต้องเป็นทุกข์เป็นร้อน เราก็ปล่อยไปตามเรื่อง ก็สบายใจหายทุกข์ได้ อันนี้ก็เป็นเรื่องหนึ่ง ซึ่งฝรั่งเขาเอาไปพูดมาก เขาบอกว่านี่เป็นเหตุให้ประเทศไทยไม่เจริญ พัฒนาไม่ได้ เพราะพระพุทธศาสนาสอนให้คนยอมรับสภาพที่เป็นอยู่ จึงไม่คิดที่จะปรับปรุงแก้ไขเปลี่ยนแปลง แต่ความจริงเรื่องนี้มันมีอยู่ ๒ ตอน คือตอนที่หนึ่งคนไทยยอมรับความจริง มองเห็นความจริงของสิ่งทั้งหลายว่าไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เสร็จแล้วตอนที่สองก็ยอมรับสภาพที่เป็นอยู่ต่อเลยว่าเป็นเรื่องธรรมดาของมันต้องเป็นไป เราก็ไม่ต้องทำอะไร ก็ต้องปล่อย สุดแต่มันจะเป็นไป นี้เรียกว่ายอมรับสภาพที่เป็นอยู่ แต่ตะวันตกนั้นเขาไม่ยอมรับทั้งนั้น เรื่องธรรมดาของความไม่เที่ยงนั้นสมองเขาเรียนรู้ความจริง แต่ใจเขาไม่ยอมรับความจริง ส่วนสภาพที่เป็นอยู่เขาก็ไม่ยอมรับ เขาจะต้องฝืน จะต้องเอาชนะธรรมชาติทำสำเร็จให้ได้ เพราะฉะนั้น ฝรั่งเขาจึงบอกว่าเขามีความเจริญล้ำหน้าเป็นอันมาก เขาเจริญขึ้นมาเพราะอย่างนี้ แต่ผลที่สุดแล้วเป็นอย่างไร

สำหรับฝ่ายของไทยนั้น เรามีจิตใจสุขสบายดี แต่ไม่เจริญก้าวหน้ามาก เพราะเอาสภาพความเป็นจริงกับสภาพที่เป็นอยู่มาปนกัน แล้วยอมรับทั้งสองอย่าง แต่ฝ่ายตะวันตกนั้นไม่ยอมรับเลยทั้งสองอย่างนี้ เขาก็เจริญก้าวหน้ามาก แต่ก็เจริญด้วยความทุกข์ ชีวิตของฝรั่งเต็มไปด้วยความเคร่งเครียด อารมณ์แรง ดีใจเสียใจแสดงเต็มที่ จิตใจกระวนกระวาย เต็มไปด้วยความกดดัน เกิดปัญหาทางจิตตลอดจนเป็นโรคจิตกันมาก ซึ่งเป็นปัญหาเด่นของสังคมตะวันตกยุคปัจจุบัน เช่นที่คนหนุ่มสาวของเขาปฏิเสธสังคมออกไปเป็นฮิปปี้ มาสนใจโยคะ หริกฤษณะ ฝึกสมาธิ หันมาตะวันออก เป็นต้น เป็นอันว่าคนไทยใจสบายแต่ไม่พัฒนา อเมริกันพัฒนาแต่ใจคับแค้นว้าวุ่น ดีคนละอย่าง เสียคนละอย่าง

ทีนี้ ตามหลักพระพุทธศาสนาที่แท้จริงเป็นอย่างไร เราให้แยกระหว่างการยอมรับความจริงกับการยอมรับสภาพที่เป็นอยู่ ตอนที่หนึ่ง การยอมรับความจริงก็คือ ยอมรับโดยมองเห็นว่าสิ่งทั้งหลายเป็นอนิจจัง มันไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วก็แตกดับไป เมื่อรู้อย่างนี้แล้วว่ามันเป็นไปตามเหตุปัจจัย ผลเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัยนี้แล้ว เราจะมายึดมั่นถือมั่นไม่ได้ เราก็วางใจได้ จิตใจเราก็สบาย ต่อจากนี้ตอนที่สอง ก็ต้องใช้ปัญญาพิจารณาต่อไปอีกว่า การที่สิ่งทั้งหลายเปลี่ยนแปลงไปนั้นมันไม่ได้เปลี่ยนไปอย่างเลื่อนลอย แต่มันเป็นไปตามเหตุปัจจัย เมื่อเตรียมเหตุปัจจัยมาดี มันก็เป็นไปในทางที่ดีงามตามที่เราต้องการ เรียกว่า ความเจริญ ถ้าสร้างเหตุปัจจัยในทางร้าย ก็จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่เราไม่ต้องการ เรียกว่า ความเสื่อม ในเมื่อเราไม่ต้องการความเสื่อม เราก็ต้องละเว้นและกำจัดเหตุปัจจัยที่จะทำให้เกิดความเสื่อม แล้วหันมาสร้างเหตุปัจจัยที่จะทำให้เกิดความเจริญ เราก็เจริญได้ ก้าวหน้าได้ โดยจิตใจเป็นสุขด้วย หรือแม้จะยังมีทุกข์ก็ทุกข์น้อย ในทางพุทธศาสนาต้องการให้สร้างความเจริญได้ด้วย โดยที่จิตใจก็ไม่ต้องเป็นทุกข์ด้วย การยอมรับความจริงไม่จำเป็นต้องยอมรับสภาพที่เป็นอยู่ แต่ยอมรับความจริงแล้ว ก็ต้องต่อด้วยการกระทำด้วยความรู้ในความจริงนั้น และเรียนรู้ความจริงของเหตุปัจจัยต่อๆ ไป ซึ่งถ้าใช้คำศัพท์ในทางพุทธศาสนา ทั้งการยอมรับความจริงและการแก้ไขปรับปรุงสภาพที่เป็นอยู่ด้วยความรู้นี้ ก็เรียกสั้นๆ ได้ว่า เป็นอยู่และทำการด้วยความรู้เท่าทันความเป็นจริง พูดอีกสำนวนหนึ่งว่า รู้ความจริงตามสภาพที่เป็นอยู่แล้ว ใจยอมรับความจริง แต่สมองไม่ต้องยอมรับสภาพที่เป็นอยู่ พยายามคิดแก้ไขปรับปรุงทำการต่อไปอย่างจริงจัง พร้อมด้วยจิตใจที่เป็นสุข

เป็นอันว่า ฝรั่งได้ไปข้างหนึ่งคือสร้างความเจริญ ไทยได้มาข้างหนึ่ง คือมีความสุขสบายใจ เมื่อเรารับความเจริญของฝรั่งมา เราก็ควรเก็บส่วนที่ดีของเราไว้ เอาส่วนที่เสียของเราทิ้งไป ฝรั่งดีแง่ไหนเราก็รับเอามา แง่ไหนของเขาร้ายเราก็ไม่เอา เราก็ได้ทั้งสองอย่าง เรื่องอะไรที่เราจะทิ้งส่วนดีของเรา แล้วไปรับเอาของฝรั่งมาทั้งดุ้น ทั้งส่วนดีส่วนชั่ว แล้วกลายเป็นไปเอาปัญหามาทับถมให้ตัวเอง

สภาพปัจจุบันที่น่ากลัวและควรระวัง ก็คือ เราจะรับเอาส่วนที่อ่อนแอของวัฒนธรรมฝรั่งมา และคงส่วนที่อ่อนแอของตัวเองไว้ ได้ไว้ข้างละครึ่ง แต่ล้วนเป็นครึ่งที่ไม่ดี ก็จะยิ่งแย่ลงทั้งกว่าเขาและกว่าเก่าของตนเอง เช่น อาจารย์สอนโดยมุ่งหาผลประโยชน์ส่วนตัวอย่างฝรั่งมากขึ้น แต่ก็ทำงานอย่างสบายๆ แบบไทย ไม่มุ่งความเป็นเลิศของงาน ฝ่ายศิษย์ก็จะเอาความประพฤติเสรีอย่างฝรั่ง แต่ในทางการเรียนก็จะรอรับจากครูอาจารย์บอกให้ในห้องอย่างไทย ไม่กระตือรือร้นค้นคว้าคิดหาเอาเอง เด็กและเยาวชนรุ่นใหม่อยากใช้ชีวิตแบบอิสระเสรี เป็นอยู่ฟู่ฟ่าหรูหรา แสดงท่าพูดภาษาอย่างฝรั่ง นำสมัย ใช้ของนอกของโอ่ อวดโก้โชว์กัน จัดจ้านฟุ้งเฟ้อ แต่เฝ้ารบเร้าบีบบังคับขอเงินพ่อแม่มาใช้ ไม่ออกรับจ้างขายของทำงานหาเงินกันเองอย่างเด็กลูกฝรั่ง ถ้าเป็นอย่างนี้ก็มีแต่ทรุดแน่ๆ เพราะคอยเลือกเอาแต่ข้างที่สนองตัณหาของตน

หัวเป็นไทย ให้คิดอย่างฝรั่ง

เรื่องการตามในระดับต่อไปนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก อาตมาจะขอพูดถึงขั้นที่ล้ำลึกคือเรื่องจิตใจ ความคิด เรื่องทางนามธรรม เมื่อกี้นี้ได้พูดถึงค่านิยมของคนทั่วไป ค่านิยมนี้ก็บอกแล้วว่าเป็นเรื่องของจิตใจ เรื่องความคิด ความคิดนำการกระทำนำการดำเนินชีวิต เพราะฉะนั้นจึงมีความสำคัญมาก ทีนี้เราจะพูดกันถึงเรื่องของนักวิชาการ ของปัญญาชน ซึ่งลึกซึ้งเป็นแกนกลางยิ่งกว่าที่กล่าวมานั้นอีก เพราะว่าปัญญาชนนักวิชาการเป็นผู้นำทางความคิดของสังคมนี้ ฉะนั้นความรู้ความเชื่อของปัญญาชนจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ที่จะมีอิทธิพลต่อสังคมไทยต่อไป เราต้องยอมรับว่านักวิชาการปัญญาชนของเราโดยส่วนใหญ่ ก็ตามฝรั่งเช่นเดียวกัน และก็มีหลายเรื่องที่ตามอย่างผิดๆ ซึ่งอันนี้จะเป็นผลร้ายต่อสังคมไทยมาก ตอนนี้เราจึงต้องมาเน้นในระดับนี้ด้วย ไม่ใช่แก้เฉพาะปัญหาระดับประชาชน แต่จะต้องมาแก้ปัญหาในระดับปัญญาชนและจะต้องรีบแก้เร็วด้วย

เมื่อสักเดือนเศษมานี้ อาตมภาพได้ฟังรายการวิทยุของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง เป็นรายการเกี่ยวกับสังคมไทย ท่านอาจารย์ผู้บรรยาย พูดไปพูดมา ก็จับใจความสำคัญสรุป บอกว่าที่ประเทศไทยไม่พัฒนานี่ อุปสรรคสำคัญอย่างหนึ่ง ก็คือการที่ประชาชนยอมรับสภาพเดิม หรือยอมรับสภาพที่เป็นอยู่ ซึ่งมาจากหลักกรรมของพุทธศาสนา พอได้ฟังอย่างนี้ เราก็รู้ทันที สายความคิดนี้แล่นมาเป็นแถวทีเดียว เริ่มตั้งแต่นายแม็กซ์ เวบเบอร์ นายอัลเบิร์ต ชไวท์เซอร์ โปรเฟซเซอร์ โรเบิร์ต แอล. ซัตตัน ตลอดจนนายนอร์มัน จาคอบส์ เป็นต้น วนเวียนอยู่แค่นี้ไม่ไปไหนเลย แล้วอาจารย์ไทยเราก็รับความคิดนี้มาพูดเลย และไม่ได้บรรยายให้เต็มตามความคิดของฝรั่งเหล่านี้ด้วยซ้ำ เพียงแต่ได้แนวมาสรุปความคิดขึ้น แต่ข้อที่น่าพิจารณาก็คือว่า เราทำไมจะต้องไปตามฝรั่งหรือรู้ได้แค่ฝรั่งในเรื่องของเราเอง ในเรื่องของเราเองซึ่งเราควรจะรู้ดีกว่า และเราก็มีโอกาสที่จะรู้ดีกว่าได้ด้วย เช่นตัวอย่างเราสามารถวิเคราะห์ได้ถึงความคลาดเคลื่อนในเรื่องนี้ ศึกษาวิวัฒนาการของความเชื่อเรื่องนี้ของชาวไทยว่าเป็นอย่างไร ความเชื่อกรรมในระดับชาวบ้านกับหลักคำสอนของพุทธศาสนาต่างกันหรือเหมือนกันแค่ไหนอย่างไร ก็วิเคราะห์กันได้ แล้วเราก็จะเห็นจุดที่จะต้องแก้ไข แต่ถ้าเรามัวตามฝรั่งอยู่อย่างนี้ เมื่อไรจะแก้ปัญหาสังคมไทยได้ ฉะนั้น ในระดับนักวิชาการนี่ ตราบใดที่ยังไม่เข้าใจตัวเอง ให้ดีกว่าฝรั่งแล้ว จะแก้ไขปัญหาสังคมไทยไม่ได้ กลายเป็นว่า ฝรั่งเดี๋ยวนี้ เขารู้เรื่องเมืองไทยดีกว่าเรา และฝรั่งก็ยังมาแก้ปัญหาสังคมไทยไม่ได้ แล้วเราเองรู้แค่ฝรั่งหรือรู้ตามฝรั่ง จะมาแก้ปัญหาสังคมไทยได้อย่างไร

ที่พูดนี้มิใช่มุ่งจะตำหนิติเตียนอาจารย์ที่บรรยายนั้น เพราะสภาพทั่วไปก็เป็นกันอย่างนั้น ไม่ใช่เรื่องเฉพาะบุคคล เพียงแต่ยกเป็นตัวอย่างขึ้นมาสำหรับแสดงให้เห็นสภาพทั่วไป ซึ่งเป็นไปตามเหตุปัจจัยทางการศึกษาที่เราสะสมกันมา ไม่ใช่เรื่องที่จะมาด่าว่ากัน แต่จะได้ช่วยกันคิดแก้ไข

เพราะฉะนั้น ในการที่จะศึกษาความคิดและวิชาการของฝรั่งนั้น สิ่งหนึ่งที่สำคัญก็คือจะต้องตั้งจิตสำนึกไว้ จิตสำนึกในการที่จะไปศึกษาความคิดและวิชาการของฝรั่งก็คือ เราต้องตั้งใจไว้แต่ต้นว่า เราจะศึกษา ไม่ใช่เพื่อจะไปอยู่ใต้ครอบความคิดของเขา แต่ศึกษาให้อยู่ลอยเหนือครอบความคิดนั้น ถ้าเราได้เพียงอยู่ใต้ครอบความคิดของเขา เราก็หมดทางที่จะแก้ปัญหาของเรา เราต้องยืนอยู่เหนือครอบนั้น เราจึงจะทำอะไรได้

ขอยกตัวอย่างเรื่องหนึ่ง อันนี้อาจจะไม่ใช่เรื่องที่ร้ายแรงอะไร แต่เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก ปัจจุบันนี้ในมหาวิทยาลัยต่างๆ เขาจัดให้มีการศึกษาวิชาปรัชญาขึ้นมา ซึ่งในสมัยก่อนหลายสิบปีนั้น แม้ประเทศไทยจะได้มีมหาวิทยาลัยแล้วแต่ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญแก่วิชานี้ ต่อมาเราเห็นว่าจะต้องจัดวิชาปรัชญาให้เรียน คนของเราจะได้รู้จักคิด มหาวิทยาลัยในเมืองนอกนั้นเขาเรียนวิชาปรัชญาเป็นธรรมดามานานแล้ว คือเป็นวิชาพื้นฐานอย่างหนึ่งด้วย คนจะต้องรู้จักคิด มิฉะนั้นแล้วการสร้างความเจริญของประเทศ การสร้างระบบประชาธิปไตยอะไรนี่จะไม่สำเร็จ จะพัฒนาไม่ได้ จึงต้องหัดให้รู้จักคิด วิชาปรัชญาเป็นวิชาสำคัญที่จะช่วยให้คนรู้จักคิด เราก็เอาวิชาปรัชญาจัดเข้ามา

แต่ความจริง วิชาปรัชญาไม่ใช่แค่หัดคนให้คิดเท่านั้น ทำไมฝรั่งจึงเอาวิชาปรัชญาเข้ามาเรียน วิชาปรัชญาของเขาหมายถึงปรัชญาตะวันตกก่อนอื่น การเรียนปรัชญาตะวันตกนี้เป็นการเรียนเรื่องของเขาเอง เรียนตั้งแต่ปรัชญากรีก ปรัชญาอะไรต่ออะไรเรื่อยมาตามสายความคิดกรีก-ฮิบรู ส่วนพื้นฐานของการที่เขาเรียนปรัชญากรีก ปรัชญาตะวันตกนั้น ก็เป็นการให้เขารู้จักตัวของเขาเอง แล้วเขาก็รู้จักสายความคิดของเขา แล้วเขาก็ทำตัวเองให้คุ้นกับสายความคิดของเขา แล้วเขาก็หัดคิดตามสายความคิดของเขา ซึ่งเราเรียกว่าคิดอย่างฝรั่ง คิดอย่างฝรั่งก็คือคิดอยู่ในสายความคิดของเขา ตามแนวปรัชญาตะวันตก ตามสายวัฒนธรรมตะวันตก หรือสายกรีก-ฮิบรูนั่นเอง

ทีนี้ เราจัดวิชาปรัชญาเข้ามาให้คนไทยเรียน เราจะหัดให้คนของเราคิดเป็น เราไปรับเอาปรัชญาตะวันตกมาเป็นฐาน เป็นจุดเริ่มต้น หรือเป็นปรัชญาพื้นฐาน น่าสงสัยว่าการทำอย่างนี้มันจะถูกไหม ในแง่หนึ่งที่ให้หัดคิดนั้นก็คงได้บ้างละ แต่เห็นได้เลยว่ามันเป็นการหัดคิดอย่างฝรั่ง ถ้าไม่เตรียมพื้นฐานความคิดของตัวไว้ให้ดี และไม่ได้ตั้งจิตสำนึกต่อเป้าหมายของการเรียนไว้ให้ชัดเจนมั่นคง คนของเราอาจจะถูกครอบก็ได้ แล้วก็ไปอยู่ใต้ความคิดของเขา กลายเป็นคนไทยที่คิดอย่างฝรั่ง เมื่อคิดอย่างฝรั่งในเรื่องไทยๆ ก็ไม่สามารถคิดให้ชัดเจนได้ แล้วก็เลยแก้ปัญหาของไทยไม่ได้ หรือมิฉะนั้นก็สักว่าเรียน เหมือนผ่านของแปลกๆ โก้ๆ ไม่ซึมซาบ ไม่เข้าสมองเลย ซึ่งก็ไม่ได้ประโยชน์เหมือนกัน

ทีนี้ หันกลับไปพูดถึงฝรั่งอีก ฝรั่งก็มาเรียนศาสนาปรัชญาตะวันออก หรือเอาไปเรียน เมื่อเรียนศาสนาปรัชญาตะวันออก เขาบอกว่า เพื่อเกิดความเข้าใจดีต่อกัน ในความหมายว่าเข้าใจดีต่อกันนั้น ก็มีความหมายด้วยว่าจะได้รู้จักตะวันออก จะได้รู้จักพื้นเพจิตใจภูมิปัญญาคนตะวันออก และในความหมายว่ารู้จักนั้นเขาหมายถึงว่า รู้เท่าทันด้วย เขาจะได้รู้ว่าชาวตะวันออกคิดอย่างไร มีวิธีคิดอย่างไร ถ้ามีเหตุการณ์อย่างนี้ คนตะวันออกจะคิดจะตอบสนองอย่างไร และเขาควรปฏิบัติหรือเข้าสัมพันธ์อย่างไร และมีอะไรที่ดีแปลกพิเศษออกไป เขาก็จะได้เอาความคิดดีๆ ของตะวันออกนั้นไปพัฒนาความคิดของเขาด้วย เขาได้หลายชั้น

ทีนี้ของเราล่ะพอเริ่มก็เอาปรัชญาตะวันตกดิบๆ ให้เรียนก่อน เหมือนจงใจเตรียมคนของเราไปให้หัดคิดอย่างฝรั่ง เด็กสมัยใหม่เรียนขึ้นมากลายเป็นคนคิดแบบฝรั่ง ไม่รู้จักแนวความคิดของตนเอง ทำไมเราไม่จัดเอาสายความคิดของตัวเองขึ้นมาเป็นหลักเป็นฐานเป็นประธานก่อน แล้วปรัชญาตะวันตกตามมาเป็นส่วนขยายหรือเครื่องเสริม แล้วเราก็จะเดินรอยเดียวกับฝรั่งอย่างตามทันกัน ถ้าเราจะเรียนรู้ปรัชญาตะวันตกบ้าง เราก็ต้องตั้งจิตสำนึกในการเรียนอย่างมีเป้าหมาย เราจะรู้จะเข้าใจฝรั่งรู้ทันความคิดฝรั่ง แล้วเราก็สามารถเอาความคิดฝรั่งมาใช้พัฒนาความคิดของเราได้ด้วย อย่างนี้จึงจะเรียกว่าขึ้นเหนือครอบได้ เป็นมิตรกันได้ ไม่เช่นนั้นแล้วก็จะต้องอยู่ใต้ครอบความคิดของเขาเรื่อยไป

ในทางพุทธศาสนานั้นท่านบอกว่า พระที่จะทำงานให้ได้ผลดำรงพุทธศาสนาได้ จะต้องรู้ทั้งสกสมัยและปรสมัย สกสมัย ก็คือสายความคิดของตัวเอง ปรสมัย ก็คือสายความคิดของผู้อื่น จะต้องรู้ทั้งสองฝ่าย แล้วต่อจากนั้น ยังจะต้อง “ปรปฺปวาทํ สหธมฺเมน นิคฺคเหตฺวา สปฺปฏิหาริยํ ธมฺมํ เทเสสฺสนฺติ” สามารถที่จะดึงเอาวาทะ ลัทธิที่เป็นปฏิปักษ์ลงได้โดยชอบธรรม แล้วแสดงธรรมให้ได้ผลเห็นจริงเห็นจัง

อันนี้เป็นหลักการในการที่จะศึกษาแนวความคิดของผู้อื่นและของตน ถ้าเราแก้ปัญหาในระดับความคิดไม่ได้ เราจะตันและจะแก้ปัญหาของสังคมไม่ได้ ฉะนั้น จึงพูดว่านี้เป็นการแก้ปัญหาสังคมไทยในระดับพื้นฐาน แต่ที่ว่านี้มิใช่ว่าเราจะพร้อม ถ้าเราจะศึกษาสายความคิดของตัวเราเอง อย่างน้อยเริ่มต้นเราจะติดขัด เราทิ้งสายความคิดของเรามานานแล้ว ปัจจุบันนี้สายความคิดของเรา มันไปหมักหมมจมโคลนอยู่ที่ไหน เราอาจจะต้องเอามาชำระล้างปัดฝุ่น เอาโคลนออกเสียก่อน แล้วจึงจะนำมาศึกษาเล่าเรียนกันต่อไปได้ แต่ก็เป็นแง่คิดที่จะต้องพูดกันไว้ (เวลานี้ ก็ดูเหมือนว่าฝรั่งเป็นผู้เริ่มล้างโคลนให้ แต่อาจจะล้างด้วยน้ำยาเคมี!)

อุภโตภัฏฐะ! ระวังจะชวดทั้งสอง

ตอนนี้ขอแทรกอะไรสักหน่อย ในทางการศึกษาปัจจุบัน เราพูดกันบ่อยว่า วิธีเรียนของไทยเราที่ผ่านมา มักเน้นการท่องจำ ซึ่งเป็นการเรียนการสอนที่ผิด จะต้องหัดให้เด็กคิด คือต้องหัดให้รู้จักคิด ให้คิดเป็น ที่ว่าอย่างนี้ก็เป็นความจริง ซึ่งเราจะต้องปรับปรุงการศึกษาของเรา ในทางพระพุทธศาสนาก็ถือว่า การรู้จักคิด หรือคิดเป็นนี้ เป็นหลักการที่สำคัญอย่างยิ่ง เรียกว่า โยนิโสมนสิการ อย่างไรก็ตาม ก็ควรจะเตือนสติให้ระวังกันไว้บ้าง คืออย่าให้กลายเป็นเพียงการแล่นจากสุดปลายข้างหนึ่งไปสู่ปลายสุดอีกข้างหนึ่ง แล้วก็อยู่แค่สุดขั้ว ดังที่มักเป็นกันอยู่เรื่อยๆ และเรื่อยมา เดี๋ยวจะกลายเป็นว่า สมัยหนึ่งก็เอาแต่ให้จำให้จำจนไม่ต้องคิด อีกสมัยหนึ่งจำไม่ดีไม่ถูกแล้ว ก็ให้หัดคิดๆ คิดให้เป็นๆ จนไม่ต้องจำ ดูถูกการจำเอาเสียเลย อันที่จริงการจำมันก็มีแง่ดี เป็นประโยชน์อยู่ แต่ที่เรารังเกียจก็คือ จำอย่างนกแก้วนกขุนทอง ไม่รู้เรื่อง ไม่รู้จักคิด เมื่อเรารู้ว่าจุดบกพร่องอยู่ที่ไม่รู้จักคิดแล้ว ก็เสริมแก้ส่วนที่พร่องนั้นเสีย โดยหัดให้รู้จักคิดขึ้นมาด้วย ส่วนที่จำเป็นนกแก้วเฉยๆ ก็ไม่เอา แต่แง่ดีของการจำที่เรามีอยู่แล้วก็ควรรักษาไว้ เพราะคนที่จำเก่งด้วย คิดเป็นด้วย ย่อมมีข้อมูลในการคิดได้มาก จำกับคิดก็จะเสริมกันให้ได้ผลดียิ่งขึ้น พุทธศาสนาไม่ได้ยกย่องเฉพาะโยนิโสมนสิการเท่านั้น แม้ว่าโยนิโสมนสิการจะเป็นตัวแกนตัดสินในการที่จะบรรลุโพธิญาณ แต่พระอานนท์ที่เป็นนักจำ (จำอย่างคนมีความคิด) ก็ได้รับการยกย่องเป็นเอตทัคคะด้วย ฝรั่งแม้จะคิดเก่ง แต่มักอ่อนในด้านการจำ ถ้าไทยเราที่ผ่านมาจำเก่ง แต่อ่อนด้านคิด ก็ควรเสริมด้านรู้จักคิดให้แข็งกล้าขึ้นมา แต่ก็ไม่มีเหตุผลที่จะต้องไปเลิกทิ้งความสามารถในการจำ อันไหนดีที่มีอยู่ก็เอาไว้ ดีที่ยังขาดไป ก็เติมเข้ามา อันไหนดี ฉันเอาทั้งนั้น ไม่ใช่พอเห็นของเขาดี ก็จะทิ้งของตัวหมด ดีไม่ดีก็จะอดทั้งสองอัน เก่าก็ทิ้งไป ใหม่ก็ไม่สำเร็จ ถ้าบริหารการศึกษาไม่รอบคอบ ทำไปทำมา จะกลายเป็นว่า เด็กนักเรียนไทยคิดไม่เป็นจำก็ไม่ได้ เสียทั้งหมด (ทางพระเรียกว่า “อุภโตภัฏฐะ” ชวดทั้งสอง) (ถ้าการศึกษาเท่าที่ผ่านมาไม่ได้ฝึกคนให้คิด ก็กลายเป็นว่า เรากำลังเอาคนที่คิดไม่เป็น ไปหัดเด็กให้คิด !)

ตลอดช่วงปลาย พ.ศ. ๒๕๒๐ และช่วงต้น พ.ศ. ๒๕๒๑ ในอเมริกามีเสียงร้องกันเพรียกว่า การศึกษาระดับประถมและมัธยมของอเมริกาเสื่อมโทรม ไม่ได้ผล บ้างว่าการศึกษาของชาติล้มเหลวมาตลอด ๒๐ ปี บ้างว่าผลการศึกษาเสื่อมทั้งด้านวินัยและความสามารถทางสมอง บ้างว่าเด็กเรียนจบแล้วอ่านหนังสือไม่ออก บ้างร่ำร้องให้ ”Back to Basics” หรือ “Return to Basics” ให้กลับเน้น the three R’s บ้างให้กวดขันระเบียบวินัย ว่าเด็กจบมัธยมศึกษาทั่วประเทศ ร้อยละ ๑๓ อ่านฉลากยาไม่ออก อ่านหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ไม่ได้ เด็กชื่อ Edward Donahue จบการศึกษาเกรด ๑๒ ในนิวยอร์ค (เท่ากับ ม.๖ ไทยปัจจุบัน) อ่านหนังสือได้เพียงแค่เกรด ๔ (ประถม ๔) เขาจึงฟ้องศาลเรียกร้องค่าเสียหายจากส่วนราชการที่บริหารการศึกษา เป็นเงิน ๕ ล้านดอลล่าร์ โทษฐานให้เขาจบการเล่าเรียน โดยให้เขายังอ่านหนังสือไม่ได้ เสียงติเตียนและล้อเลียนระบบการศึกษาอื้อฉาวเกรียวกราวพอสมควร หันมาดูประเทศไทย ถึงแม้ถ้านักเรียนเรียนจบแล้ว แต่ไม่ได้ผลการศึกษาเท่าที่ควร คดีอย่างที่นิวยอร์คก็คงไม่เกิดขึ้น เพราะวัฒนธรรมไทยไม่มีธรรมเนียมอเมริกันแบบนี้ โอกาสที่สังคมจะรู้และสนใจเรื่องเช่นนี้จึงคงมีน้อย ข้อนี้ก็น่าจะเป็นเครื่องเตือนสติให้มีความไม่ประมาท ดำเนินการศึกษาด้วยความระมัดระวัง และตรวจสอบประเมินผลอย่างรอบคอบตลอดเวลา โดยเฉพาะ ในเมื่อการศึกษาของไทยมักได้แบบมาจากอเมริกา แต่ธรรมเนียม “ซู”16 ของอเมริกายังไม่ตามมาในหมู่บ้านไทย (มีเรื่องขำๆ ว่าคนอเมริกันนั้น ฟ้าผ่าบ้านยังฟ้องศาลเรียกค่าเสียหายจากพระผู้เป็นเจ้า ก็เคยมี)

มีข้อสังเกตอย่างหนึ่งว่า ฝรั่งมักจะแล่นดิ่งไปทางที่สุด เช่น สมัยหนึ่งเขามัวเมาวัตถุ มุ่งมั่นเอาความพรั่งพร้อมทางวัตถุเป็นจุดหมายของชีวิต แล้วก็บากบั่นพากเพียรทุ่มเททำทุกอย่างสุดกำลังทั้งชีวิต เพื่อจะสร้างสรรค์ความสำเร็จพรั่งพร้อมนั้น ต่อมาเกิดความผิดหวัง เห็นความพรั่งพร้อมทางวัตถุไม่ให้ความสุขแท้จริง ไม่ทำให้ชีวิตมีความหมาย ฝรั่งหนุ่มสาวที่มองเห็นอย่างนี้ ก็ปฏิเสธวัตถุทั้งหมด ปฏิเสธสังคม ปฏิเสธระบบการดำเนินชีวิตตามวัฒนธรรมสร้างสรรค์วัตถุนั้นทั้งหมด ละทิ้งทุกอย่าง ไม่เอาอะไรทั้งนั้น ทิ้งเมือง หนีสังคม เสื้อผ้าก็แทบไม่นุ่ง ความประพฤติเอียงสุดอย่างนี้ นับว่าเป็นการไม่มองโลก ไม่มองสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง อย่างหนึ่ง ความจริงไม่เฉพาะแต่ฝรั่งเท่านั้น สังคมทั่วทุกแห่งก็มีความโน้มในการดิ่งไปหาที่สุดด้วยกันทั้งนั้น

ในสังคมไทย คนรุ่นใหม่สมัยนี้ มักว่าคนรุ่นเก่าชาวบ้านงมงาย ความคิดไม่เป็นวิทยาศาสตร์ ความคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์คือ คิดเป็นเหตุเป็นผล คิดตรงไปตรงมาตามสภาพที่เป็นจริง มีคนรุ่นใหม่ไม่น้อยภูมิใจในการที่ตนเป็นคนมีความคิดเป็นวิทยาศาสตร์ ชอบอ้างอิงตักเตือนให้คนอื่นคิดให้เป็นวิทยาศาสตร์ และชอบว่าพวกโน้นพวกนั้นคิดไม่เป็นวิทยาศาสตร์ แต่ในทางปฏิบัติปรากฏว่า คนรุ่นใหม่เหล่านี้เป็นผู้มีความหวังดีต่อสังคม อยากจะช่วยแก้ปัญหาสังคม อยากปลดปล่อยผู้เสียเปรียบ เปลื้องภาวะผู้ยากไร้ การณ์มักปรากฏว่า ถ้าคนรุ่นใหม่เหล่านี้เอากับใคร คนนั้นเป็นดีทั้งหมด ไม่มีอะไรเสียเลย ถ้าเขาไม่เอากับใคร คนนั้นพวกนั้นเป็นเสียหมด ไม่มีอะไรดีเลย เช่น ถ้าเขาเอากับชาวนาแล้ว ชาวนาเป็นดีทุกอย่าง ไม่มีเสียเลย ชาวนาถูกทุกอย่าง ไม่มีผิดเลย ชาวนางดงามถ้วนทุกอย่าง ไม่มีบกพร่องเลย นี้กลายเป็นตัวอย่างอย่างหนึ่งของปัญหาสังคมไทย ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้ จะไม่มีความหวังจากคนรุ่นใหม่ที่จะแก้ปัญหาสังคมได้ พูดง่ายๆ ว่าเขาจะช่วยชาวนาไม่สำเร็จนั่นเอง แม้ว่าเขาจะมีความหวังดีต่อสังคมอย่างจริงใจ แต่ความคิดของเขาไม่เป็นวิทยาศาสตร์ เข้าลักษณะเป็นความงมงายอย่างหนึ่งอยู่นั่นเอง เพราะไม่มองเป็นเหตุเป็นผล ไม่มองตรงไปตรงมาตามสภาพที่เป็นจริง (อาจจะไม่รู้จักชาวนาด้วยซ้ำ) ถ้าจับตามหลักพระพุทธศาสนาก็ว่า ต้องมองสิ่งที่ตนเกี่ยวข้องให้ครบถ้วน ดูทั้งส่วนดีและส่วนเสีย ทั้งคุณและโทษ ทั้งข้อบริบูรณ์และจุดบกพร่องตามที่เป็นจริง แล้วจึงจะเห็นทางออกหรือทางแก้ไขที่ถูกต้อง (เช่นแม้จะเพ่งแก้ปัญหาที่คนหรือกลุ่มที่ครอบงำชาวนา แต่ก็ต้องไม่ลืมที่จะแก้ปัญหาที่ตัวชาวนาเองด้วย) ความคิดนั้นจึงจะเป็นวิทยาศาสตร์ และเป็นวิทยาศาสตร์จริงจัง ไม่ใช่เป็นเพียงความหลงหรือความงมงายในวิทยาศาสตร์

จุดที่น่าเป็นห่วงก็คือเรื่องที่กล่าวมาแล้ว ที่บอกว่าปัญญาชนรุ่นใหม่ของเราไม่รู้จักตัวเอง ไม่รู้จักสังคมของตัวเอง เมื่อหลายปีก่อนนี้มีนักศึกษาออกค่ายไปช่วยชาวชนบทเป็นอันมาก กลุ่มหนึ่งได้มาหาอาตมภาพหลังจากที่กลับมาจากต่างจังหวัดแล้วมาถึงแกก็รุมกันใหญ่ บอกว่าแกไปทำงานออกค่ายนั้นไปอยู่ข้างวัด วัดนั้นพระที่นั่นไม่ได้ช่วยอะไรชาวบ้านเลย ไม่ช่วยต่อต้านผู้กดขี่เอาเปรียบ อยู่นิ่งๆ เฉยๆ ไม่มีประโยชน์ อาตมภาพฟังดูแล้วก็เห็นใจ เพราะว่านักศึกษาเหล่านี้ เราไม่ได้ให้เขาได้รับการศึกษาชนิดที่จะให้เข้าใจสังคมของเรา นักศึกษาเหล่านั้นไม่รู้จักว่า พระเหล่านั้นเป็นใคร เป็นอย่างไร มาจากไหน ความจริงพระเหล่านั้นก็คือลูกชาวบ้านดีๆ นี่แหละ ได้รับการศึกษาไม่เกินประถมสี่ เราต้องถือว่าท่านอยู่ในกลุ่มของชาวบ้าน เราเป็นผู้มีการศึกษาดี ที่ว่าออกไปช่วยกันนั้นก็ว่าไปช่วยชาวบ้าน ช่วยท้องถิ่น ก็คือต้องช่วยทั้งพระและชาวบ้านในถิ่นนั้นแหละ อะไรอย่างนี้เขาไม่เข้าใจ ไม่ต้องมองไปถึงพระในชนบทหรอก แม้แต่ในเมืองนี้ ถามก็ไม่รู้ว่าพระที่อยู่ในวัดท่ามกลางสังคมกรุงเทพฯ ของตัวเอง เป็นใครมาอย่างไร เรียกร้องว่า ทำไมพระไม่ออกมาทำบทบาทนั้นบทบาทนี้ เราเคยมองสภาพที่เป็นจริงไหมว่า พระที่อยู่ในวัดเหล่านั้นคือใคร เป็นอย่างไร อาจจะใช้คำพูดให้สั้นสำหรับกระตุกความคิดว่า ตราบใดที่นักศึกษาเหล่านั้นยังไม่รู้ว่าการที่ตนได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยนี้ สัมพันธ์อย่างไรกับการที่พระเณรเหล่านั้นไม่ได้รับการศึกษา ถ้าหากนักศึกษาสมัยนี้ไม่เข้าใจข้อความที่กล่าวมานี้ เขาจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาสังคมไทย อาตมภาพพูดอย่างนี้อาจจะเป็นการพูดเข้าข้างตัวเองสักหน่อย แต่ก็เป็นตัวอย่างอันหนึ่งสำหรับชี้บ่งถึงการที่ปัญญาชนของเราไม่เข้าใจสังคมไทย และเป็นจุดสำคัญที่บอกว่าเราจะแก้ปัญหาของสังคมไทยได้หรือไม่ได้ ที่พูดนี้ มิใช่ว่าจะไม่เห็นคุณค่าของการกระทำด้วยความตั้งใจดี แต่ต้องติงกันไว้บ้างว่า ถ้าคนรุ่นหนึ่งเดินทางผิดไปแล้วคนรุ่นใหม่เปลี่ยนไปเดินทางอื่น ทางอื่นนั้นก็ไม่จำเป็นต้องถูก อาจเป็นเพียงการเดินทางผิดอีกทางหนึ่งเท่านั้นก็ได้ ถ้าเราหมดหวังกับคนรุ่นก่อนแล้ว ก็ไม่ควรต้องผิดหวังกับคนรุ่นใหม่นี้อีก นักศึกษาสมัยนี้อาจจะรู้ดีในเรื่องปรัชญาตะวันตก อาจจะอ้างชื่อ มาร์กซ์ เองเกลส์ เดคาร์ตซ์ รัสเซลล์ เฮเกล ฮอบส์ อะไรต่างๆ ได้คล่อง บางทีรู้สึกโก้หรือภูมิใจที่ได้อ้างด้วย แต่ไม่รู้จักว่าสังคมไทยเป็นอย่างไร

ความรู้ของมาร์กซ์ เดคาร์ตซ์ เฮเกล เป็นต้นนั้น เราไม่ได้ลบหลู่ว่าอะไร เขาก็มีดีของเขา เขาเก่งกล้าสามารถ แต่การที่รู้จักวิธีปลูกข้าวสาลีนั้นมันไม่พอที่จะมาทำนาข้าวเจ้าให้ได้ผลดี พื้นฐานอารยธรรมวัฒนธรรมสายของเราอย่างหนึ่ง เราต้องเรียนรู้ ถ้าเรามีฐานของเราดีสิ เราจะเอาความคิดเหล่านั้นมาใช้เป็นประโยชน์ได้ ตราบใดที่ฐานของตนไม่ดีแล้ว ความคิดเหล่านั้นอาจจะใช้ประโยชน์ไม่ได้ อาจจะทำให้เกิดพิษเกิดโทษขึ้น ดีไม่ดีอาจจะเจอสภาพแก้ปัญหาแล้วกลายเป็นอย่างลาว เขมร เวียดนามไปก็ได้ ฉะนั้นเป็นเรื่องที่เราจะต้องพิจารณากันให้มาก

แม้แต่ฝรั่งเอง ก็อย่างที่กล่าวเมื่อกี้นี้ เขาก็ไม่ใช่มองเห็นเราดีหรือเห็นดีกับไทยด้วยในการที่ไปตามเขา อันที่จริงว่าไปในแง่หนึ่งเขาถึงกับดูถูกเรดาด้วยซ้ำ คนที่รู้จักในระดับที่คุ้นเคยกับฝรั่งย่อมรู้กันพอสมควร โดยส่วนลึกและโดยส่วนใหญ่แล้ว ฝรั่งมักมีความรู้สึกดูถูกตะวันออกอยู่ในใจไม่น้อยทีเดียว ขอให้ดูตัวอย่างหนังสือเล่มหนึ่งของนาย อาร์เธอร์ เกสท์เลอร์ ชื่อ The Lotus and the Robot อาตมภาพเคยอ้างมาแล้ว แปลว่าดอกบัวกับหุ่นยนต์ ดอกบัวหมายถึงสังคมตะวันออก หุ่นยนต์หมายถึงสังคมตะวันตก เขาเปรียบเทียบสังคมทั้งสองนี้ โดยสาระสำคัญก็คือว่าคนตะวันออกนี้ไม่รู้จักปรับปรุงตัวเอง จะเรียนรู้จากฝรั่งก็ไม่สำเร็จหรอก และแม้แต่สิ่งที่ดีที่ตัวมีอยู่ก็รักษาไว้ไม่ได้ เอามาใช้ประโยชน์ไม่ได้ ก็รอให้ฝรั่งเอาไปใช้ ส่วนฝรั่งนั้นสามารถที่จะมาเรียนรู้เอาของตะวันออกไปใช้ได้ผล ปรับปรุงตัวของเขาเองให้ดีขึ้นได้

ที่ว่ามานี้ ก็เป็นสาระที่มีชัดเจนอยู่ ในหนังสือของนาย อาเธอร์ เกสท์เลอร์นั้น ซึ่งหนังสืออย่างนี้เราควรรู้ควรหามาศึกษาเพื่อให้เข้าใจตามความเป็นจริง ไม่ใช่ว่าเราจะไปว่าอะไรเขา เขาอยู่เขามองเห็นอย่างไร เขามีความรู้สึกอย่างไร เขาก็เขียนไป เราจะได้เห็นใจเห็นความคิดเขา เขามองเรารู้สึกอย่างนั้น และเราอาจมีพฤติกรรมให้เขารู้สึกอย่างนั้นก็ได้ เราจะต้องศึกษาให้เข้าใจ เพราะฉะนั้น เราจะต้องสร้างจิตสำนึกให้มีขึ้น ในการที่จะยืนอยู่บนฐานของตัวเอง บนขาของตัวเอง และใช้หัวของตัวเอง แล้วเราก็จะเดินหน้าไปได้ และเราก็จะสามารถที่จะเลือกหยิบเอาของเขามาใช้เป็นประโยชน์แก่ตัวเราเองได้ด้วย

จุดแก้ปัญหา : มีภูมิปัญญาที่สามารถภูมิใจ

เรื่องที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เนื้อหาสาระและจุดเน้นอยู่ที่เรื่องวัฒนธรรม แต่ก็เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาด้วย และโยงมาถึงปัญหาของประเทศชาติ คือปัญหาที่กระทบกระเทือนพระพุทธศาสนาก็กระทบกระเทือนไปถึงวัฒนธรรมของประเทศชาติ เพราะพระพุทธศาสนาเป็นส่วนรากฐานแห่งวัฒนธรรมของประเทศไทย เมื่อพระพุทธศาสนาอ่อนแอ วัฒนธรรมของชาติไทยก็อ่อนแอด้วย ในทำนองกลับกัน เมื่อวัฒนธรรมของชาติถูกกระทบกระเทือน พระพุทธศาสนาก็ถูกกระทบกระเทือนไปด้วย โดยเฉพาะเรื่องวัฒนธรรมนี้ เป็นสิ่งที่เราจะต้องให้ความเอาใจใส่ เพราะเป็นจุดเชื่อมโยง หมายความว่า ทั้งพระพุทธศาสนาและวัฒนธรรมและประเทศชาตินี้ เป็นสถาบันที่พัวพันกัน โดยมีวัฒนธรรมเป็นพื้นให้สมานเข้าด้วยกัน

วัฒนธรรมนี้ก็เป็นเหมือนกับตัวบุคคล หรือเป็นเหมือนกับชีวิตหนึ่ง คือ ตัวบุคคลนั้นย่อมประกอบด้วยอวัยวะต่างๆ มีแขน มีขา มีหู มีตา ปาก ฟัน เป็นต้น แต่มันจะมีส่วนที่เป็นแกนที่สำคัญมาก คือสมองและหัวใจ ถ้าหากว่าสมองและหัวใจไม่มีแล้ว ร่างกายก็จะทำงานไม่ได้หรืออาจจะไม่มีชีวิตอยู่ วัฒนธรรมนี้ก็เช่นเดียวกัน ย่อมมีองค์ประกอบมากมาย เช่น มีศิลปกรรม มีวรรณคดี มีดนตรี มีวิถีความเป็นอยู่ของคน สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นองค์ประกอบของวัฒนธรรม แต่ถ้าวัฒนธรรมมีแค่เพียงองค์ประกอบเหล่านี้ บางทีมันก็มีสภาพเป็นเพียงมรดก มรดกก็คือของเหลือจากผู้ที่ตายไปแล้ว มันอาจทำให้เราหวนระลึกไปถึงอดีตด้วยความภูมิใจ แต่มันก็ไม่มั่นคง ในเมื่อไม่มีชีวิตดำรงอยู่ ส่วนที่เป็นแกนกลางของวัฒนธรรม ก็คือภูมิจิตภูมิปัญญาของวัฒนธรรมนั้น ซึ่งเป็นตัวจิตใจและเป็นสมอง ภูมิปัญญานั้นมีอยู่หรือไม่ ต้องดูที่ความมั่นใจหรือภูมิใจของคนในชาติ หมายความว่าคนในชาติต้องมีความมั่นใจในภูมิจิตและโดยเฉพาะภูมิปัญญาแห่งวัฒนธรรมของตน แล้ววัฒนธรรมนั้นจึงจะดำรงชีวิตอยู่และสืบต่อไปได้

ถ้าหากว่าเราไม่มีความมั่นใจในภูมิปัญญาแห่งวัฒนธรรมของตนแล้ว ชีวิตของวัฒนธรรมนั้นก็ไม่อยู่ คนของเราก็จะไปนิยมเลื่อมใสตามอย่างวัฒนธรรมข้างนอกได้ง่าย อย่างในปัจจุบันนี้ ทำไมคนของเราไปเลื่อมใสตามอย่างวัฒนธรรมข้างนอก ทั้งๆ ที่ประจักษ์พยานหลักฐาน ทั้งด้านวัตถุและแบบแผนแห่งวัฒนธรรมแห่งชาติเรานี้ก็ยังมีอยู่มากมายเหลือเกิน แวดล้อมตัวเราทั่วไปหมด ทั้งวัดวาอาราม ศิลปะ ดนตรี วรรณคดีของไทย ก็ยังมีอยู่ แต่ถ้าไม่มีภูมิปัญญาที่จะเป็นเครื่องดำรงชีวิตนั้นไว้ มันก็จะเหมือนสิ่งที่ตายแล้ว เราเห็นวัฒนธรรมต่างชาติแล้วเราภูมิใจที่จะรับ เพราะอะไร เพราะคนของเรานี้ (เอาใจออกห่าง!) ไปมีความภูมิใจในภูมิปัญญาของวัฒนธรรมต่างชาตินั้น เห็นว่าชาติอื่นนั้นเขามีสติปัญญาสูงกว่า สามารถสร้างสรรค์ความเจริญรุ่งเรืองได้เฟื่องฟูกว่า ครั้นแล้วสิ่งที่ชาวต่างชาตินั้นทำหรือแสดง ไม่ว่าจะเป็นอะไร เช่น พอให้ได้ชื่อว่ามาจากเมืองฝรั่งเท่านั้น เราก็รับทันที โดยไม่ได้ใช้ความคิดด้วยซ้ำไป หรือพอให้ได้อ้างว่าเป็นฝรั่งอเมริกันพูดเท่านั้น เราก็ตั้งหูฟังทันที มีศรัทธาดังเป็นคำศักดิ์สิทธิ์ ทั้งนี้เพราะไปปลงใจเชื่อในภูมิปัญญาของเขาเสียก่อนแล้ว ฉะนั้นก็ไม่ต้องคิดว่าสิ่งที่เขาพูดแสดงหรือนำเข้ามานั้น จะถูกต้องดีงามเป็นประโยชน์มีสาระหรือไม่ เรากลายเป็นทำอะไรตามๆ เขาไปโดยไม่ใช้ภูมิปัญญา แสดงถึงการที่มิใช่เพียงขาดความภูมิใจในภูมิปัญญาแห่งชาติของตนเท่านั้น แต่กลายเป็นไม่มีภูมิปัญญาเอาเสียเลย

อะไรเล่าที่จะเป็นเครื่องดำรงไว้ซึ่งความภูมิใจในภูมิปัญญาแห่งวัฒนธรรมของตนเอง?

ขอพูดถึงปัญหาก่อน ขณะนี้คนในสังคมไทยเหมือนถูกแบ่งแยกออกเป็นสองพวก พวกหนึ่งคือคนสมัยใหม่ที่ได้รับการศึกษาแบบใหม่ ซึ่งพูดได้ว่าได้รับการศึกษาในแนวอารยธรรมของตะวันตกเป็นหลัก อีกพวกหนึ่งคือคนในสังคมเดิมแบบสังคมประเพณี

พวกที่ ๑ คือคนที่ได้รับการศึกษาแบบสมัยใหม่ ปรากฏว่ามีลักษณะสำคัญสองอย่างคือ ด้านหนึ่งเป็นผู้ที่ถือกันว่าเป็นคนมีการศึกษาสูง แม้จะไม่สู้มีความซาบซึ้งเข้าใจในวัฒนธรรมไทย และส่วนมากหรือจำนวนมากมาย ไม่มีความภูมิใจ ไม่สนใจในวัฒนธรรมของตนเอง แต่เป็นชนส่วนน้อยที่เป็นคนชั้นนำของสังคม อีกด้านหนึ่ง คือ พร้อมกันนั้นเขาก็ไม่ได้รับความยอมรับจากคนพวกที่สองของสังคม รวมทั้งประชาชนทั่วไปซึ่งมีชีวิตอยู่ในวัฒนธรรมเดิม ในแง่ของความสนิทสนมไว้วางใจเข้าถึงชีวิตจิตใจของกันและกัน แต่มีความรู้สึกห่างเหินแปลกพวกกันอยู่ตลอดเวลา

อีกข้างหนึ่ง พวกที่ ๒ ก็คือบุคคลและสถาบันที่เราถือกันว่าเป็นเครื่องหมายหรือตัวแทนของวัฒนธรรมไทย กลุ่มนี้มักถูกมองว่าเป็นพวกล้าหลังด้อยการศึกษา ขาดภูมิปัญญา จึงไม่ได้รับความเคารพนับถือด้วยความซาบซึ้งจริงใจ เมื่อบุคคลหรือสถาบันที่เป็นตัวแทนของวัฒนธรรมนั้นไม่ได้รับความเชื่อถือ ไม่ได้รับความภูมิใจ วัฒนธรรมนั้นก็ไม่ได้รับความภูมิใจไปด้วย สิ่งที่เป็นตัวการสำคัญในเรื่องนี้ ก็คือภูมิปัญญาอย่างที่ได้กล่าวมาแล้ว ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่นพระสงฆ์หรือวัดวาอารามปัจจุบันนี้ คนสมัยใหม่จำนวนมากไม่มีความภูมิใจ ไม่มีความมั่นใจ ไม่รู้สึกว่าเป็นผู้นำทางสติปัญญา เพราะฉะนั้นสิ่งที่พระสงฆ์กระทำหรือสิ่งที่ออกมาจากวัดก็ไม่ให้เกิดความหมายที่น่าจะเชื่อถือ สิ่งที่ประกอบแวดล้อมเกี่ยวข้องกับตัวพระสงฆ์ เป็นองค์ประกอบของวัฒนธรรมทางด้านวัตถุ ก็พลอยไม่ได้รับความเชื่อความเลื่อมใสไปด้วย แล้วจุดแก้ก็คือเรื่องการศึกษา ฉะนั้นในแง่นี้ พระสงฆ์และตัวแทนของวัฒนธรรมดั้งเดิมจะต้องได้รับการศึกษาที่ทำให้เป็นผู้นำในทางปัญญาได้ เมื่อคนมองเข้ามาที่วัฒนธรรมไทย เขาจึงจะรู้สึกมีความภาคภูมิใจและมองเห็นความสำคัญขึ้นได้

คนสมัยใหม่ของเรานี้ ไม่มีความภูมิใจในภูมิปัญญาแห่งวัฒนธรรมของตนเอง ยิ่งกว่านั้น มักไม่รู้สึกว่าตนเป็นส่วนประกอบและมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อวัฒนธรรมนั้น เหตุหนึ่งเพราะเขาได้รับการศึกษาในแนวอารยธรรมตะวันตก คิดอย่างฝรั่ง แล้วการคิดอย่างไทยก็กลายเป็นความคิดที่ไม่มีความหมาย หรือไม่อาจจะเข้าใจ การแก้ปัญหาในฝ่ายคนสมัยใหม่ ก็ต้องเน้นที่การศึกษาเช่นเดียวกัน และเป็นเรื่องที่สำคัญมากเป็นพิเศษ เพราะคนสมัยใหม่เหล่านี้เป็นคนชั้นนำที่กำหนดชะตากรรมของสังคมไทย

ทีนี้ ในการที่จะให้การศึกษานั้น ได้เคยพูดตั้งแต่ต้นแล้วถึงเรื่องในระดับมหาวิทยาลัย มีการจัดการศึกษา เอาปรัชญาตะวันตกเข้ามาให้เรียน โดยบอกว่าจะหัดให้เด็กคิดเป็น แต่เสร็จแล้วกลายเป็นว่าเราหัดให้เด็กคิดอย่างฝรั่ง แล้วเด็กก็คิดอย่างไทยไม่เป็น ทีนี้พอคิดอย่างฝรั่ง เขาก็มาเข้าวัฒนธรรมไทยไม่ได้ คนสมัยใหม่ที่ได้รับการศึกษาแบบใหม่นี้ นอกจากว่าจะไม่มีความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมของตนเองแล้ว เขาเองก็ไม่ได้รับความยอมรับจากคนที่อยู่ในวัฒนธรรมไทยด้วย เพราะฉะนั้นเมื่อสำเร็จการศึกษาออกไปแล้ว ไปทำงานในท้องถิ่นต่างๆ ก็เข้ากับชาวบ้านไม่ได้ดี ไม่เข้าใจ เข้าไม่ถึงชีวิตจิตใจเขา เข้ากันไม่ได้ระหว่างคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่า กลายเป็นมีสองวัฒนธรรมอยู่ด้วยกัน แล้วในส่วนลึกก็ไม่ยอมรับซึ่งกันและกัน

ว่าในแง่หนึ่ง ชาวบ้านทั้งหลายซึ่งอยู่ในวัฒนธรรมเดิมนั้น เขาก็ยอมรับคนสมัยใหม่ที่เป็นผู้นำ (หรืออาจจะเรียกว่าเจ้านาย) ของเขาเหมือนกัน แต่การยอมรับของเขานั้นเป็นไปในแง่ที่ยอมรับว่าเป็นคนเจริญกว่าเขา มีฐานะสูงกว่าเขา เก่งกว่าเขา อาจจะเข้าใจด้วยว่าเป็นผู้มาช่วยเขา เข้าข้างเขา แต่ถึงอย่างนั้นก็มีความรู้สึกอยู่นั่นเองว่าเป็นคนต่างแบบต่างชนิดกับเขา ไม่กลมกลืนเข้าถึงจิตใจกันสนิทแนบเป็นอันเดียวกันอย่างมีน้ำหนึ่งใจเดียวกันแท้จริง

ขอชี้ปัญหาให้ชัดอีกหน่อยว่า ปัจจุบันสังคมไทยเรามีปัญหาจากคนที่ถูกแบ่งแยกเป็น ๒ พวก พวกหนึ่งคือปัญญาชนคนสมัยใหม่ที่รับผิดชอบเป็นผู้นำของสังคม แต่ไม่สามารถเป็นแกนหรือเป็นผู้นำแสดงในด้านภูมิปัญญาแห่งวัฒนธรรมของตนได้ ส่วนอีกพวกหนึ่ง คือบุคคลและสถาบันที่ถือกันว่าเป็นตัวแทนของวัฒนธรรมไทย ก็ไม่มีความสามารถที่จะสร้างความนิยมนับถือให้คนทั่วไปยอมรับในภูมิปัญญาแห่งวัฒนธรรมของตนได้

ถ้าจะพูดให้เห็นภาพก็ว่า สังคมไทยปัจจุบันเป็นสังคมแตก มีคนอยู่สองพวก ก็ล้วนเป็นคนไม่สมประกอบ พวกหนึ่งเป็นคนแคระแกร็น พวกหนึ่งก็ง่อยเปลี้ย จะเอามาร่วมงานช่วยเสริมกันก็ไม่ได้ จะเอาพวกไหนไปใช้งานให้ได้ผลบริบูรณ์ก็ไม่ได้สักพวก การแก้ปัญหาของประเทศชาติถ้าอยู่ในสภาพนี้ก็เป็นไปได้ยาก และจะต้องแก้ไขให้เกิดความกลมกลืนซึ่งกันและกัน ซึ่งก็คือการศึกษานี่แหละที่จะเป็นจุดที่แก้ปัญหาได้

ทำไมเราจึงเอาปรัชญาตะวันตกเป็นแกนเป็นหลักในระดับมหาวิทยาลัย ให้ศึกษาปรัชญาตะวันตกนี้เป็นวิชาบังคับพื้นฐาน แต่เราจะพูดถึงปรัชญาศาสนาตะวันออก แม้แต่พระพุทธศาสนาในฐานะที่เป็นวิชาเลือก เป็นวิชาที่ประกอบเข้ามาภายหลัง เราเริ่มจากแนวความคิดพื้นฐานของตะวันตกก่อน หัดให้เด็กของเราคิดอย่างตะวันตกเป็นฝรั่งเสียก่อน แล้วจึงกลับมาเรียนรู้เรื่องของความคิดแบบไทยหรือวัฒนธรรมไทยภายหลัง หรือไม่ก็ไม่ต้องเรียนรู้เลย อันนี้เป็นข้อเสนอที่น่าจะพิจารณาทบทวน ในการที่น่าจะต้องจัดการแก้ไขในเรื่องการศึกษาต่อไป

ปัจจุบันนี้ เราเห็นว่าคนสมัยใหม่บางทีก็เกิดความหลงไป จนกระทั่งเห็นว่า สิ่งที่เป็นตะวันตกคือสิ่งที่เป็นสากล เราเคยมีเสื้อผ้าชุดสากล ซึ่งเสื้อผ้าชุดสากลก็เป็นเพียงเสื้อผ้าของตะวันตกเท่านั้น เสร็จแล้วต่อมาเราก็อาจจะมีจริยธรรมสากล ซึ่งจริยธรรมสากลจับพลัดจับผลูก็อาจจะเป็นเพียง จริยธรรมตะวันตก หรือเป็นการประมวลความคิดของจริยธรรมตะวันตก โดยผู้มีความคิดอย่างตะวันตกเท่านั้น ฉะนั้น จริยธรรมสากลก็ไม่เป็นสากลขึ้นมาได้ แล้วดั่งนี้จะทำให้เป็นสากลขึ้นมาได้อย่างไร

ความเป็นสากลนั้นอยู่ที่ตัวความจริง อะไรที่เป็นความจริงแท้ อันนั้นคือเป็นสิ่งสากล ฉะนั้นถ้าหากว่าพระพุทธศาสนาสอนสิ่งที่เป็นความจริง พระพุทธศาสนาก็เป็นสิ่งสากล แล้วใครจะเป็นผู้ตัดสิน คนกลุ่มไหนคณะไหนหรือประชาชน ถ้าหากมองในแง่คนไทย คนไทยเก้าสิบกว่าเปอร์เซนต์นับถือพระพุทธศาสนา ยอมรับสัจธรรมของพระพุทธศาสนา จริยธรรมที่เป็นสากลในประเทศไทย ก็ต้องถือไว้ก่อนว่า คือ จริยธรรมของพระพุทธศาสนานั่นเอง ใครควรเป็นผู้มีสิทธิตัดสิน หรือกำหนด หรือเลือกความเป็นจริงและความเป็นสากลนี้ อันนี้ก็เป็นข้อที่เราควรจะนำมาพิจารณากันในการที่จะดำเนินการศึกษาต่อไป แต่อย่างน้อยคนไทย โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนไทย ก็ควรได้ศึกษาพระพุทธศาสนาเป็นพื้นฐานในฐานะเรื่องของตนเองและเป็นสิ่งที่อยู่แวดล้อมตัวก่อน จะได้คิดพิจารณาสิ่งที่ตนนับถืออยู่ ซึ่งเป็นเรื่องของตัวเองนั้นว่าเป็นจริง มีความเป็นสากลหรือไม่เพียงไร จากนั้นจะเรียนระบบจริยธรรมอะไรอื่น ก็จะเสริมภูมิปัญญาขึ้นโดยถูกลำดับถูกวิธี ซึ่งเขาก็จะตัดสินเลือกสิ่งที่แท้จริงเป็นสากลได้ด้วยตนเอง ไม่น่าจะจับเอาสิ่งที่เราวินิจฉัยเอาเองว่าเป็นสากล จากที่ห่างไกลมากำหนดใส่ให้เด็กเรียน โดยทำให้เด็กไม่ได้เรียนรู้เรื่องใกล้ตัวที่ควรรู้ซึ่งตนเกี่ยวข้องอยู่ ทำให้เด็กสูญเสียประโยชน์ที่พึงได้โดยไม่สมควร และทำให้เด็กสับสนในเรื่องจริยธรรมโดยไม่จำเป็น

ปัจจุบันนี้ เรามีความตระหนักในการที่จะแก้ไขปรับปรุงหลักสูตรการศึกษา ระบบการศึกษา กันขึ้นมาเป็นระลอก แต่การถือแนวความคิดแบบตะวันตกนี้ได้หยั่งรากลึกในประเทศไทยมานานและหนักแน่นพอสมควร เพราะฉะนั้นการแก้ไขปรับปรุงนี้คงจะไม่ใช่กระทำได้ภายในเวลาอันสั้น อาจจะต้องมีการปรับปรุงหลักสูตร ระบบการศึกษากันหลายครั้งหลายคราว กว่าที่แนวความคิดซึ่งเข้าถึงวัฒนธรรมไทยจะเด่นชัดขึ้นมาเป็นรากฐานสานโยงสายความคิดให้ถึงกันได้ต่อไป

ที่กล่าวมานี้ อาตมภาพถือว่าเป็นจุดหนึ่งที่พระพุทธศาสนาจะช่วยแก้ปัญหาสังคมไทยได้ในขั้นพื้นฐาน อาตมภาพอาจจะไม่พูดถึงปัญหาอาชญากรรม ปัญหาเรื่องการลักขโมย ฆ่าฟันอะไรต่างๆ ซึ่งอาตมภาพถือว่าเป็นเรื่องปลีกย่อยที่ไม่สามารถจะพูดได้ในที่นี้ ฉะนั้นเรื่องความสำคัญก็คือว่าในขณะนี้ เราจะต้องสร้างความภูมิใจในภูมิปัญญาแห่งชาติวัฒนธรรมของตนให้เกิดขึ้น ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาในระดับของความรู้และสติปัญญา เมื่อเรามั่นใจในสติปัญญาของตัวเองที่มีอยู่ตามความเป็นจริง ไม่ใช่ภูมิใจมั่นใจอย่างงมงาย17 ถ้าได้อย่างนี้แล้ว การแก้ปัญหาก็จะมีทางเป็นไปได้ดีขึ้น ข้อความที่พูดไว้ข้างต้นว่า “ดึงออกจากไทย ส่งไม่ถึงอเมริกา” ก็คงจะเปลี่ยนไปได้ อาจจะกลายเป็น “ดึงเอาออกจากอเมริกา มาเสริมพลังปัญญาไทย” ว่าที่จริงก็ไม่เฉพาะอเมริกาเท่านั้น ควรจะดึงเอามาจากฝรั่งทั้งหมด หรือว่าให้ถูกแท้ก็คือดึงเอาที่ดีๆ จากอารยธรรมของทั้งโลกทีเดียว

ได้พูดมายาวนาน ธรรมกถาก็สมควรแก่เวลา อาตมภาพขอยุติไว้เพียงแค่นี้ ขออนุโมทนาอำนวยพรแก่ผู้เข้าร่วมประชุมทุกท่าน

คำอนุโมทนา

หนังสือเรื่อง “มองอเมริกา มาแก้ปัญหาไทย” นี้ เดิมเป็นคำบรรยายในวันคล้ายวันสถาปนาคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ครบ ๒๕ ปี เมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๒๕ มีชื่อเรื่องว่า “พุทธธรรมกับการแก้ปัญหาการศึกษาของสังคมไทยในอนาคต” ต่อมาได้ปรับปรุงและแทรกเพิ่มแล้วตีพิมพ์ในวารสารครุศาสตร์ฉบับเดือน ตุลาคม-ธันวาคม ๒๕๒๕

ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๒๕ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ขออนุญาตพิมพ์หนังสือนี้ ถวายแสดงมุทิตาจิต แด่ พระเถรานุเถระ ผู้เกี่ยวข้องกับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ซึ่งได้รับพระราชทานเลื่อนและแต่งตั้งสมณศักดิ์ในโอกาสมงคลนั้น และได้เปลี่ยนตั้งชื่อเรื่องใหม่ที่สั้นลง เพื่อให้เหมาะแก่การพิมพ์ในรูปเล่มหนังสือขนาดเล็ก

บัดนี้ สมาคมศิษย์เก่ามหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในฐานะผู้รับผิดชอบกิจการของมหาจุฬาบรรณาคาร ได้รับมอบหมายจากมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ให้ดำเนินการขอพิมพ์หนังสือ “มองอเมริกา มาแก้ปัญหาไทย” เพื่อจำหน่ายเผยแพร่ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น

ผู้บรรยายและเรียบเรียง ยินดีอนุญาตด้วยความเต็มใจ เพราะเป็นการช่วยให้ธรรมทานและวิทยาทานนี้ อำนวยประโยชน์แก่กิจการอันเป็นสาธารณกุศลกว้างขวางยิ่งขึ้น โดยอาจก่อให้เกิดรายได้เล็กๆ น้อยๆ เป็นส่วนประกอบช่วยทะนุบำรุงมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยให้เจริญมั่นคงยิ่งขึ้นไป

อนึ่ง เมื่อวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๖ ผู้บรรยายและเรียบเรียงได้รับอาราธนาจากสภายุวพุทธิกสมาคมแห่งชาติ ไปบรรยายเรื่อง “พระพุทธศาสนาจะช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาสังคมได้อย่างไร” ในการสัมมนา “พระพุทธศาสนากับความมั่นคงของชาติ” คำบรรยายคราวนั้นมีเนื้อหาซึ่งช่วยขยายความบางตอนของเรื่อง “มองอเมริกา มาแก้ปัญหาไทย” ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น จึงนำมาพิมพ์รวมไว้เป็นส่วนเพิ่มอีกตอนหนึ่ง โดยตั้งชื่อใหม่ให้สอดคล้องกันว่า “ดึงออกจากไทย ส่งไม่ถึงอเมริกา” แต่เนื่องด้วยเวลาจำกัดและเพื่อสงวนเนื้อที่ ในตอนที่เพิ่มใหม่นี้ จึงมิได้ประมวลหลักฐานอ้างอิงต่างๆ มาลงพิมพ์ไว้เหมือนอย่าง ในเรื่องต้น

งานส่วนที่เพิ่มใหม่นี้สำเร็จได้ในเวลาอันจำกัด ก็ด้วยอาศัยมีหลายท่านช่วยเป็นกำลังหนุน โดยเฉพาะคุณวรเดช อมรวรพิพัฒน์ ได้บันทึกเสียงคำบรรยายไว้ พระมหาบุญเริ่ม กิตฺติญาโณ ได้ช่วยถอดคำบรรยายจากเทปบันทึกเสียง จึงขออนุโมทนาความเกื้อกูลไว้ ณ ที่นี้ด้วย

ขออนุโมทนาคณะกรรมการสมาคมศิษย์เก่ามหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในความดำริอันเป็นกุศลครั้งนี้ โดยเฉพาะอาจารย์ทรงวิทย์ แก้วศรี ซึ่งได้มีฉันทะอย่างสูงที่จะสนับสนุน ให้มีการพิมพ์เผยแพร่หนังสือนี้ และได้เสียสละเวลากำลังกายกำลังใจอย่างมากในการดำเนินการจัดพิมพ์ ขออนุโมทนาต่อทางคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่เป็นผู้นิมนต์บรรยาย โดยเฉพาะผู้ช่วยศาสตราจารย์ก่องแก้ว เจริญอักษร เจ้าของความดำริที่เป็นจุดเริ่มต้นของหนังสือนี้ ต่อวารสารครุศาสตร์ ซึ่งเป็นผู้ถอดคำบรรยายออกมาเป็นต้นฉบับหนังสือ ขออนุโมทนา คุณสมพร เทพสิทธา ประธานสภายุวพุทธิกสมาคมแห่งชาติ ผู้อาราธนาบรรยายเรื่องตอนใหม่ ที่เปิดให้ผู้บรรยายพูดอย่างเป็นอิสระจากหัวข้อที่กำหนดให้ และต่อคุณชลธีร์ ธรรมวรางกูร ที่ช่วยพิมพ์ดีดต้นฉบับเรื่องเดิมให้จนเรียบร้อย ขอทุกท่านซึ่งได้มีส่วนช่วยให้หนังสือนี้เกิดขึ้น จงเป็นผู้มีส่วนในผลานิสงส์แห่งธรรมทานและวิทยาทานนี้ร่วมกัน

พระราชวรมุนี
๑๐ มีนาคม ๒๕๒๖

1ชื่อเรื่องเดิม “พุทธธรรมกับการแก้ปัญหาการศึกษาของสังคมไทยในอนาคต” บรรยายในวันคล้ายวันสถาปนาคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ครบรอบ ๒๕ ปี ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๒๕
2Norman Jacobs, Modernization Without Development : Thailand as an Asian Case Study (New York : Praeger Publishers, 1971), dZO pp.
3Malcolm Carruthers, M.D., The Western Way of Death (New York : Pantheon Books, 1974), pp.11-132
4สถิติตั้งแต่นี้ไป ดู Information Please Almanac 1982 และ The Hammond Almanac 1981
5New Center 5 T.V., New York, February 1, 1978; ปัญหาเยาชนอเมริกาที่น่าสนใจ มีอีกหลายอย่าง เช่น นักเรียนก่อเหตุร้าย ทำร้ายครูบ้าง ทำร้ายกันเองบ้าง ก่อเหตุตามท้องถนนบ้าง เพียงช่วงเดือนกันยายน ๒๕๑๙ ถึงกุมภาพันธ์ ๒๕๒๐ มีถึง ๒,๘๐๐ ราย นักเรียนหญิงในโรงเรียนมัธยมของรัฐนิวเจอร์ซีตั้งครรภ์ถึงร้อยละ ๒๐, เด็กหญิงอายุ ๑๕–๑๙ ปี เคยผ่านการร่วมเพศมาแล้ว สำหรับ พ.ศ.๒๕๑๔ จำนวน ๒.๒ ล้านคน พ.ศ.๒๕๑๙ เพิ่มเป็น ๓.๒ ล้านคน (CBS News Radio 88, New York, April 1-8-20,1977)
6ช่วงต่อไปนี้ดู Jacob Needleman and others, Religion for a New Generation (New York : The Macmillan Co., 1973) และ A.K. Bierman and others, Philosophy for a New Generation (New York : The Macmillan co., 1973)
7Jacob Needleman and George Baker, eds., Understanding New Religions (New York : The Seabury Press, 1978), p.155
8ความช่วงนี้ ดู Harvey Cox, Turning East (New York : Simon and Schuster, 1977), 192 pp.
9ตอนนี้ นอกจากหนังสือที่อ้างแล้ว พึงดูหนังสือแสดงสภาพสังคมตะวันตก เช่น Gurth Higgin, Symptoms of Tomorrow (London : The Plume Press, 1973) 158 pp., Richard N.Goodwin, The American Condition (New York : doubleday & Co.,Inc.,1974), 407 pp.
10Arthur Koestler, The Lotus and the Robot (New York : The Macmillan Company, 1961), 276 pp.
หนังสืออื่นที่แสดงทัศนะตามแนวนี้ เช่น
Charles Corwin, East to Eden? (Michigan : William B.Eerdmans Publishing Company, 1972), 190 pp.
11คำของ Sidney ในคริสต์สตวรรษที่ ๑๖ หรือ ๑๗
12เนื้อความแต่นี้ ถึงก่อนสรุป เขียนแทรกเพิ่มเพื่อให้ความครบถ้วนมาขึ้น
13ชื่อเดิม “พระพุทธศาสนาจะช่วยป้องกัน และแก้ไขปัญหาสังคมไทยได้อย่างไร” บรรยาย ในการสัมมนา “พระพุทธศาสนากับความมั่นคงของชาติ” จัดโดย สภายุวพุทธิกสมาคมแห่งชาติ ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล วันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๖
14เรียก Valentine’s Day บ้าง Saint Valentine’s บ้าง ก็มี
15Norman Jacobs, Modernization Without Development : Thailand as an Asian Case Study (New York : Praeger Publishers, 1971), 420 pp.
16ซู (sue) คือ ฟ้องเรียกค่าเสียหาย
17ลักษณะ ๒ อย่างที่มักแสดงถึงความไม่มั่นใจในตนเอง หรือขาดความภูมิใจในวัฒนธรรมของตน คือ

๑. ตามปกติก็ตามเขาเรื่อยไป แต่พอเขาว่ากล่าวติเตียนชาติของตนหรือวัฒนธรรมของตน ก็โกรธขึ้นหน้า ด่าว่าเขา ไม่ฟังเหตุผล เต้นเป็นฟืนเป็นไฟ กลายเป็นอาการคลั่งชาติ ไม่ใช่มั่นใจหรือภูมิใจในชาติ

๒. ชอบแสดงความใจกว้าง โดยไม่รู้จักสภาพความเป็นจริง และไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง แสดงใจกว้างอย่างไม่มีหลัก คอยแต่คล้อยตามหรือยอมตามเขาไป โดยไม่รู้หลักการที่จะเป็นจุดยืนของตน

ความภูมิใจมั่นใจ ต้องเป็นไปด้วยปัญญาที่รู้เท่าทัน ใจกว้าง ฟังเขารับเอามาใช้ประโยชน์ได้ พร้อมกับยืนอยู่ในหลักการของตน (ยืนหยัดมั่น เพื่อจะก้าวต่อเมื่อไปดีกว่าแน่ๆ ไม่ใช่ยืนแข็งตาย)

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง