การศึกษา: พัฒนาการหรือบูรณาการ

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

บทที่ ๑
ปัญหาของพัฒนาการ

ความเจริญแบบยุคอุตสาหกรรม และความชำนาญพิเศษเฉพาะด้าน

เรามาอยู่ในที่นี้ และปัจจุบันนี้ เรียกว่าอยู่ในยุคสมัยที่มีพัฒนาการเป็นอย่างมาก คำว่า พัฒนาการ นี้แปลว่า อาการแห่งความเจริญ อาการแห่งความเจริญนี้เป็นที่ปรากฏทั่วไป ทุกคนก็ยอมรับกันว่า ในสมัยปัจจุบันนี้ โลกมีความเจริญอย่างมากมาย แล้วก็เจริญอย่างรวดเร็วมากด้วย ชีวิตมนุษย์นั้นมีความสะดวกสบายเป็นอย่างยิ่ง อย่างเรามานั่งกันอยู่ในที่ประชุมนี้ ปาฐกถานี้ก็จัดขึ้นในห้องประชุมที่มีเครื่องปรับอากาศอย่างดี อากาศข้างนอกร้อนๆ เราเข้ามาอยู่ข้างในก็เย็น เรียกว่าเราสามารถที่จะเปลี่ยนแปลง จัดสรรแก้ไข เอาชนะธรรมชาติ แทนที่จะต้องทนทุกข์ทรมานกับความร้อน เราก็มาอยู่ในที่ที่มีอากาศเย็นสบาย จัดกิจกรรมกันได้โดยสะดวก ในด้านเสียง แม้เป็นที่ประชุมใหญ่ ก็มีระบบเสียง มีเครื่องขยายเสียงมาช่วย ทำให้ได้ยินกันทั่วอย่างชัดเจน

สิ่งที่แสดงถึงความเจริญก้าวหน้าในปัจจุบัน ที่ว่าชีวิตมีความสะดวกสบายนั้นมีมากมายเหลือเกิน อย่างเราจะเดินทางไปเชียงใหม่ปัจจุบันนี้ก็ใช้เวลานิดเดียวไม่ถึงชั่วโมง ซึ่งสมัยก่อนนี้ แม้แต่เป็นพระเจ้าแผ่นดินยาตราทัพไปกว่าจะถึงเชียงใหม่ก็เป็นเดือนๆ ในทางการแพทย์ ถ้าหากว่าเรามีอายุมากขึ้น เรียกว่าเป็นคนแก่ ฟันก็อาจจะหักไป จนกระทั่งหมดปาก ถ้าเป็นสมัยก่อน เราก็จะต้องยอมรับสภาพ คือต้องทนทุกข์ อาจจะต้องเคี้ยวอาหารด้วยเหงือก แล้วก็จะต้องพูดไม่สะดวก พูดไม่ชัดเจน แต่ปัจจุบันนี้เราก็สามารถทำฟันเอามาใส่เป็นเหมือนกับคนทั่วๆ ไป หรือพอจะเทียบกับคนที่ยังหนุ่มยังสาวได้ แม้ว่าตาอาจจะเกิดอุบัติเหตุสูญเสียไป เราก็อาจจะแก้ไข เอามาใส่เปลี่ยนใหม่ได้ หรือว่าบางทีลิ้นหัวใจอาจจะเสีย หรือเส้นเลือดที่เลี้ยงหัวใจอาจจะตีบ อะไรต่างๆ ก็ผ่าตัดแก้ไขได้ สมองมีก้อนเนื้องอกก็ผ่าตัดเอาออกทำให้รอดชีวิตไปได้ ซึ่งในสมัยก่อน สิ่งเหล่านี้เป็นไปไม่ได้เลย นี่ก็แสดงว่าโลกปัจจุบันนี้มีความเจริญก้าวหน้าเป็นอย่างมาก ความเจริญความสะดวกสบายอย่างนี้พรรณนาไม่รู้จักจบสิ้น เมื่อเรายอมรับความเจริญ และเราเห็นความสะดวกสบายอย่างนี้ เราก็ต้องยอมรับประโยชน์ของวิทยาการที่มีความเจริญก้าวหน้า โดยเฉพาะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า คนจำนวนไม่น้อยในประเทศที่เจริญ โดยเฉพาะคนที่เจริญหรือคนที่เป็นระดับหัวคิดหัวสมองในประเทศที่เจริญแล้ว กลับไม่ค่อยชื่นชมความเจริญเหล่านี้ ไม่ค่อยมองเห็นคุณค่าเท่าไร และมีไม่น้อยที่กลับหันมาหวาดกลัว เห็นความเจริญเหล่านี้เป็นเรื่องของปัญหา และรู้สึกว่าเป็นเรื่องร้ายแรงเสียด้วย มีความหวาดกลัวกันว่า สภาพความเจริญอย่างนี้ที่จะมีต่อไป ที่จะเดินหน้าไปนี้ อาจจะนำโลกไปสู่ความพังทลายแตกสลาย และมนุษย์อาจจะต้องถึงกับสูญสิ้นพันธุ์ก็ได้ คนเหล่านี้จึงกลับมาพิจารณาทบทวนปัญหาที่มากับความเจริญที่กล่าวข้างต้นว่ามันเป็นอย่างไร เพราะเหตุไร มันจึงเกิดเป็นปัญหาขึ้น

ว่าถึงความเจริญอย่างที่เราเห็นในปัจจุบันนี้ เราพูดได้ว่ามันมากับอุตสาหกรรม แล้วก็มากับวิทยาการโดยเฉพาะวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี โดยที่ว่าวิทยาการ ระบบการ สถาบัน อุปกรณ์ต่างๆ นี้ ได้รับการพัฒนาก้าวหน้าในแต่ละด้านละเอียดลงไป ละเอียดลงไป จนกระทั่งว่าคนนี้มีความเชี่ยวชาญพิเศษเฉพาะด้านๆ มากขึ้น เมื่อแต่ละด้านๆ ซอยออกไปๆ ต่างก็มีความเจริญก้าวหน้า มีความรู้เชี่ยวชาญสามารถสร้างสรรค์ความเจริญในด้านของตนกระจายออกไปๆ แล้วเอาความเจริญด้านต่างๆ เหล่านั้นมารวมกันเข้าทั้งหมด ก็กลายเป็นความเจริญก้าวหน้าอย่างมโหฬาร อย่างที่มองเห็นนี้ และเมื่อเจริญอย่างนี้มันก็น่าจะดีแล้ว การที่วิตกกันว่า มันจะเป็นปัญหาถึงขนาดที่ว่ามนุษยชาติอาจจะสูญสิ้นพันธุ์ไปนี้ มันจะเป็นปัญหาขึ้นได้อย่างไร ทีนี้ ถ้าเราประมวลความคิดของคนที่มองเรื่องนี้เป็นปัญหา ก็จะเห็นว่า เขามองเห็นสาเหตุอยู่ ๒ ประการ ซึ่งสาเหตุ ๒ อย่างนี้มีความสัมพันธ์เป็นอันเดียวกัน คือ

ประการที่หนึ่ง เขาเห็นว่า วิทยาการและระบบการต่างๆ เป็นต้น ที่เจริญนั้น เป็นการเจริญออกไปเรื่อยๆ โดยไม่คำนึงถึงวัตถุประสงค์เดิมที่จะให้เกิดคุณค่าแก่มนุษย์ ไม่คำนึงถึงตัวประโยชน์สุขแก่ชีวิตของมนุษย์ที่แท้จริง คือ มุ่งให้วิทยาการ ให้ระบบการอะไรต่างๆ ในสายของตนนั้นเจริญต่อไปๆ เป็นเส้นตรงให้มากที่สุดของมันเท่าที่จะทำได้ จนกระทั่งว่า ไปๆ มาๆ แล้วคำนึงถึงแต่ความเจริญเพื่อความเจริญในสายวิชา หรือวิทยาการของตนนั้นจนไม่คำนึงว่ามนุษย์จะเป็นอย่างไร

ประการที่สอง ความเจริญของวิทยาการ และระบบต่างๆ เหล่านั้น มีความคับแคบอยู่กับด้านที่ตนชำนาญพิเศษแต่ละอย่างๆ โดยที่แต่ละด้านแต่ละสายทั้งหมดเหล่านั้น ไม่มาประสานกลมกลืนกัน ไม่เชื่อมโยงกัน เมื่อไม่มาเชื่อมโยงกัน ก็ไม่เกิดความพอดี ไม่เกิดสมดุล เมื่อเสียสมดุลแล้วก็อาจจะเกิดผลเสียอย่างที่กล่าวมาข้างต้น กลับมาเป็นผลร้ายในข้อที่ว่า ความเจริญเหล่านั้นเกิดมาขัดแย้งกัน ทำให้เกิดผลเสียและก่อโทษมหาศาล

ยกตัวอย่างเช่น วิชาการแพทย์ปัจจุบันนี้ได้มีความเจริญเป็นอย่างยิ่งแล้ว และแพทย์ก็มีความชำนาญเฉพาะด้านๆ ของตน มีแพทย์ผู้ชำนาญพิเศษทางด้านสมอง ทางด้านหัวใจ ทางด้านหู ทางด้านตา ทางด้านไต ทางด้านอะไรต่างๆ ซึ่งนับวันแต่จะมีความเจริญแบบจำเพาะด้านจำเพาะสายละเอียดลงไป ซอยลงไปทุกทีๆ ซึ่งความเจริญแบบนี้ บางทีเจริญไปเจริญมา แพทย์มีความรู้สึกที่จำกัดอยู่กับสิ่งที่ตนเกี่ยวข้องและชำนาญนั้น จนเห็นคนเหมือนกับเป็นเครื่องยนต์ แล้วตนก็ทำงานอยู่กับชิ้นส่วนของเครื่องยนต์นั้นอย่างหนึ่งอย่างเดียวด้วยความชำนาญ พยายามจะรักษาแต่ส่วนนั้นให้สำเร็จ จนกระทั่งเราพูดว่าเป็นการรักษาโรค หรือรักษาตา รักษาหู เป็นต้น ไม่ได้รักษาคน เดี๋ยวนี้เขาพูดกันว่าอย่างนั้น

ทีนี้ เมื่อแพทย์รักษาชิ้นส่วนของร่างกาย รักษาอวัยวะ ไม่ได้รักษาคน บางทีก็เลยลืมนึกถึงความเป็นคน ความสัมพันธ์กับคนก็ไม่มี นอกจากนั้นแล้วก็ยังไม่คำนึงถึงสิ่งที่เกี่ยวข้องกับคนอีก ด้านที่หนึ่ง คือ การรักษาโรคของแพทย์ ส่วนมากจะเป็นการรักษาร่างกาย รักษาอวัยวะอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่คนนั้นประกอบด้วยกายกับใจ เมื่อแพทย์ไม่คำนึงถึงความเป็นคน รักษาแต่เฉพาะอวัยวะนั้น ก็ไม่คำนึงถึงจิตใจของคนไข้ นี้เรียกว่าขาดความสำนึกในความเป็นมนุษย์ ไม่คำนึงถึงจิตใจของมนุษย์ ด้านที่สอง มนุษย์นั้นย่อมได้รับอิทธิพลจากสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะจากสังคม แม้แต่ตัวแพทย์เองก็มาสัมพันธ์กับคนไข้ในทางสังคม แต่เมื่อสัมพันธ์กันแพทย์ก็อาจจะไม่ได้คำนึงถึงว่า ความสัมพันธ์ทางสังคมนั้นจะมีอิทธิพลต่อชีวิตจิตใจของคนไข้อย่างไร ซึ่งจะมีผลไปถึงการรักษาพยาบาลด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นว่า ในที่สุดแล้ว ความชำนาญเฉพาะอย่าง ก็ทำให้มีความรู้สึกคับแคบ แล้วก็เกิดผลเสียขึ้น

ทางด้านเศรษฐกิจ วิชาการทางด้านเศรษฐศาสตร์ก็มีความเจริญมาก แต่ความเจริญของเศรษฐศาสตร์นั้น บางทีก็ลืมนึกถึงความเป็นคนอีกเหมือนกัน จนพูดได้ว่าเป็น เศรษฐศาสตร์แห่งโภคทรัพย์ หรือที่เรียกว่า economics of wealth คือไม่ใช่เศรษฐศาสตร์เพื่อความเป็นอยู่ดีของมนุษย์เสียแล้ว แต่เป็นเศรษฐศาสตร์แห่งตัวเลขเงินตรา เป็นเศรษฐศาสตร์ที่มุ่งให้มีให้มากที่สุด บริโภคให้มากที่สุด โดยที่ไม่ต้องรู้ว่า ความมั่งมีและการบริโภคที่มากที่สุดนั้น มันจะช่วยให้มนุษย์เป็นสุขได้จริงหรือไม่ เป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ชีวิตอย่างไร เป็นต้น นี่ก็เป็นเรื่องของวิชาการอีกด้านหนึ่งซึ่งเจริญออกไปทางด้านเป็นเส้นตรงให้มากที่สุด

การศึกษาวิทยาการต่างๆ ได้แบ่งแยกออกไป ซอยละเอียดเป็นสาขาย่อยๆ และเราก็เรียนกันให้ชำนาญเฉพาะด้านนั้นๆ เมื่อเรียนกันไปกันมาแล้วมันไม่เชื่อมโยงเข้ามาสัมพันธ์กัน เมื่อเรามุ่งแต่ความชำนาญพิเศษทางด้านนั้นๆ ก็ลืมมองความเป็นคน จนบางทีก็ไม่ได้พัฒนาความเป็นคน ความเป็นคนนั้นก็คงอยู่ตามเดิม เคยเป็นอย่างไร ก็คงอยู่อย่างนั้น พูดภาษาทางศาสนาว่า มีกิเลสมาอย่างไรก็มีกิเลสอยู่อย่างนั้น เสร็จแล้วคนที่ยังไม่ได้รับการพัฒนาตัวชีวิตที่แท้นี้ แต่มีความรู้ความชำนาญพิเศษในด้านนั้นๆ ก็นำเอาวิชาการที่ตนได้เรียนรู้นั้นไปใช้ประโยชน์สนองความเห็นแก่ตัว ก็เกิดโทษต่อชีวิตและสังคม แม้แต่การสอนเอง สอนกันไปสอนกันมา โดยมุ่งให้มีความชำนาญพิเศษในด้านนั้นๆ ครูอาจารย์ก็ชำนาญพิเศษเฉพาะในสายของตน ไปๆ มาๆ ก็เลยกลายเป็นอย่างที่เราเรียกกันว่า สอนหนังสือหรือสอนวิชา ไม่ได้สอนคน ก็มีปัญหาอีก ตกลงตัวคนกำลังถูกทอดทิ้งไปเรื่อยๆ เหลือแต่วิชาการสายนั้นๆ

ทีนี้ หันมาพูดถึงตัวความเจริญที่เรียกว่าอุตสาหกรรมเอง อุตสาหกรรมนี้ก็เป็นตัวการสำคัญและเป็นระบบใหญ่ที่ทำให้วิชาการต่างๆ ทั้งหลายพลอยเป็นไปในแนวเดียวกับตนด้วย เพราะวิทยาการต่างๆ เหล่านั้นเจริญเติบโตก้าวหน้าขึ้นมาเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือเพื่อตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรม ระบบอุตสาหกรรมนี้เป็นอย่างไร ระบบอุตสาหกรรมนั้นก็มีการแบ่งงานตามความชำนาญเฉพาะด้านอย่างซอยละเอียดทีเดียว เพื่อให้ได้ผลในการผลิตให้อุตสาหกรรมเจริญก้าวหน้า ตั้งแต่งานที่ต้องการความชำนาญเฉพาะพิเศษจริงๆ จนกระทั่งว่างานที่ไม่ต้องใช้ความชำนาญอะไร แต่จะต้องทำเฉพาะส่วนนั้นๆ โดยทำเพียงชิ้นเดียว ที่ตนทำจนกระทั่งชำนาญ ยกตัวอย่างเช่น เขามีสายพานที่สำหรับประกอบผลิตภัณฑ์ เรียกว่า assembly line ตอนแรกสายพานนั้นก็ไม่มีอะไร ว่างเปล่า แล้วต่อมาก็เริ่มมีชิ้นส่วนของผลิตภัณฑ์นั้น ถูกเอาเข้ามาใส่เป็นชิ้นแรก จากนั้นสายพานก็เดินต่อไปจนถึงจุดของคนที่สอง ซึ่งเอาส่วนประกอบชิ้นต่อไปผนวกใส่เข้าไปอีก แล้วสายพานก็เดินต่อไป ผ่านคนที่สาม สี่ ห้า ฯลฯ ซึ่งทำหน้าที่ประกอบชิ้นส่วนเฉพาะ ตามหน้าที่ของตนๆ ใส่เข้าไป เพิ่มเข้าไปตามลำดับ จนกระทั่งในที่สุด ผลิตภัณฑ์นั้นก็กลายเป็นองค์รวมที่สมบูรณ์ เช่น อาจจะเป็นรถยนต์ เป็นต้น

ในระบบงานอย่างนี้ เราจะเห็นว่า เขามีความรู้สึกนึกคิดต่อคนที่ทำงานนั้นเหมือนกับเป็นเครื่องจักร ยกตัวอย่างเช่น บริษัทรถยนต์ฟอร์ดเป็นบริษัทที่มีความคิดสำคัญอันเป็นที่มาของระบบการทำงานแบบนี้ นายเฮนรี่ ฟอร์ดนั้น มีเรื่องเล่าว่า ได้คิดออกแบบที่จะให้คนงานประกอบชิ้นส่วนของรถเข้าเป็นตัวรถ ตั้งแต่เริ่มต้นไป จนกระทั่งถึงเป็นคันรถโดยสมบูรณ์ แกแบ่งหน้าที่หรืองานย่อยออกไปเป็น ๗,๘๘๒ หน่วย แล้วแกก็จัดงานให้เหมาะกับคน แกบอกว่า ในจำนวนงาน ๗,๘๘๒ หน่วยนี้ ๙๔๙ หน่วยต้องใช้คนที่มีร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ ต่อไป ๓,๓๓๘ หน่วย ใช้คนที่มีกำลังปานกลางระดับธรรมดาสามัญ หรือขนาดเฉลี่ย ที่นี้งานส่วนที่เหลือนอกจากนั้นอีกหลายพันหน่วย ให้ใช้ผู้หญิงและเด็กโตก็ทำงานได้ ที่นี้ ในบรรดางานที่ใช้คนที่มีกำลังไม่แข็งแรงนักนี้ ก็ยังแบ่งออกไปอีก แกบอกว่า ๖๗๐ ชิ้น ใช้คนงานที่ขาด้วนทั้ง ๒ ข้างได้ ต่อไปอีก ๒,๖๓๗ ชิ้น ใช้คนขาเดียวได้ ต่อไป ๒ ชิ้น ใช้คนที่แขนด้วนทั้งหมดได้ คือไม่มีแขนเลย ๗๑๕ ชิ้น ใช้คนแขนเดียวได้ แล้วก็ ๑๐ ชิ้น ใช้คนตาบอดได้

อันนี้ก็เป็นทรรศนะแบบธุรกิจ ที่จริง มองในแง่หนึ่งมันก็ดี คล้ายๆ ว่ารู้จักใช้คนให้เป็นประโยชน์ แม้แต่คนที่ร่างกายบกพร่อง ก็เอามาใช้ประโยชน์ทำงานได้ อันนี้ก็เป็นแง่ที่ดี แต่ทีนี้ มันไม่ใช่อย่างนั้น มันเป็นทรรศนะทางธุรกิจที่ว่าไม่มองคนเป็นคน แต่มองเพียงเพื่อเอามาใช้ประโยชน์สนองความประสงค์ทางธุรกิจ คือมองเหมือนเป็นเครื่องจักรเครื่องยนต์ เมื่อเป็นอย่างนี้ ด้านที่หนึ่ง คนเหล่านั้นจำนวนไม่น้อย ก็มีความบกพร่องทางร่างกาย เป็นคนที่ไม่เต็มบริบูรณ์ทางร่างกาย แต่ความไม่เต็มบริบูรณ์ทางร่างกายนี้ยังไม่สู้กระไร ข้อสำคัญด้านที่สอง มันจะมีผลโยงไปถึงความไม่เต็มบริบูรณ์หรือบกพร่องทางจิตใจด้วย เพราะว่าคนเหล่านี้ เมื่อถูกแบ่งแยกเป็นกลุ่มไปอยู่เฉพาะกลุ่มเฉพาะพวกของตนเอง ก็มีความรู้สึกว่าตนเป็นคนที่ไม่สมบูรณ์ มีความบกพร่อง ไม่เหมือนคนอื่น ต้องมาทำงานในหน้าที่นี้ที่ต่ำต้อย แล้วก็ทำให้มีความรู้สึกแปลกแยกจากสังคม ได้มีความรู้สึกบกพร่อง ไม่เต็มทางจิตใจ เป็นปมด้อย เป็นต้น แม้แต่คนที่ร่างกายสมบูรณ์ก็เหมือนกัน เมื่อต้องมาทำงานจำเจเฉพาะอย่าง ก็มีความรู้สึกเบื่อหน่าย แล้วก็เกิดปัญหาทางจิตใจขึ้นเช่นเดียวกัน ด้วยเหตุนี้ ในยุคอุตสาหกรรมคนจึงมีความรู้สึกแปลกแยกสูงมาก

แต่ก่อนนี้เราไม่มีคำไทยสำหรับ alienation เพิ่งมามีในสมัยหลังนี้เอง เราต้องมาคิดบัญญัติศัพท์กันตั้งนาน ในเมืองไทยนี้คำว่า alienation เราพยายามแปลกันต่างๆ และใช้เวลานานพอสมควรทีเดียวกว่าจะได้ศัพท์มาเป็นความรู้สึกแปลกแยก และก็ไม่ทราบว่า ปัจจุบันนี้ตกลงร่วมกันหมดหรือยัง แต่จะเห็นว่า มันเป็นลักษณะจิตใจของยุคอุตสาหกรรมนี้ ซึ่งเป็นปัญหาอย่างหนึ่ง เป็นเรื่องของความบกพร่องทางจิตใจ

จากทรรศนะแบบแยกย่อย สู่ทรรศนะแบบองค์รวม

พวกนักวิเคราะห์ที่พูดถึงข้างต้น ได้มองพบปัญหาเหล่านี้ และเอามาพิจารณาทบทวนแล้วก็มองเห็นว่า เรื่องความชำนาญพิเศษแต่ละด้าน หรือความเจริญทางวิชาการที่แต่ละด้านแยกออกไป แล้วก็พยายามที่จะพัฒนาตัวเองให้มากที่สุด ให้เจริญที่สุด เป็นเส้นตรงออกไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด อันนี้มาจากทรรศนะแบบที่มองสิ่งทั้งหลายเป็นชิ้นส่วน เขามีศัพท์เรียกว่าเป็นทรรศนะแบบชิ้นส่วนหรือ fragmentarist view หรือจะเรียกว่าเป็นทรรศนะแบบแยกย่อยหรือแบ่งซอย (reductionistic view) นักวิเคราะห์พวกนี้บอกว่า ทรรศนะแบบนี้เป็นตัวสาเหตุสำคัญของการพัฒนาความชำนาญพิเศษเฉพาะด้าน และเป็นลักษณะพิเศษของยุคอุตสาหกรรม

ความเจริญทางวิทยาศาสตร์ในยุคที่ผ่านมาได้ทำให้เกิดทรรศนะแบบนี้ ซึ่งทำให้คนไม่มองสิ่งทั้งหลายอย่างมีความสัมพันธ์กัน มุ่งแต่ความเจริญเฉพาะด้านๆ เสร็จแล้วมันจะเป็นปัญหาอย่างไร มันเป็นปัญหา ก็เพราะว่า มันไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ความเป็นจริงก็คือว่า สิ่งทั้งหลายทุกๆ อย่างมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงอิงอาศัยซึ่งกันและกัน ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ว่าในชีวิตของเราก็ตาม ในโลกหรือในจักรวาลทั้งหมดก็ตาม ล้วนมีความสัมพันธ์อิงอาศัยกันทั้งนั้น อวัยวะของเราแต่ละอย่างไม่ใช่ว่ามันอยู่โดยลำพังและเจริญโดยลำพังตัวมันเองอย่างเดียว แต่มันต้องมีความสัมพันธ์ ทำงานประสานกันกับอวัยวะอื่นๆ มันจึงจะทำงานอยู่ด้วยดีและเจริญต่อไปได้ เเละร่างกายทั้งหมดจึงจะเจริญเติบโต เมื่อร่างกายส่วนรวมเจริญเติบโตหรืออยู่ในสภาพกลมกลืนเป็นปกติ อวัยวะแต่ละชิ้นแต่ละส่วนนั้นก็จึงจะอยู่ด้วยดีได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งในกระบวนการของชีวิตก็ตาม ในโลกหรือในจักรวาลก็ตาม วิปริตไปสักส่วนหนึ่งแล้ว ก็จะเกิดผลกระทบต่อสิ่งอื่น แล้วปัญหาก็จะเกิดขึ้น แล้วผลกระทบนั้นก็จะสะท้อนกลับมาถึงสิ่งนั้นด้วยเหมือนกัน

ในเรื่องการแพทย์ เรามองโรคที่อวัยวะนั้นว่าเกิดความวิปริต แต่บางทีความวิปริตของอวัยวะนั้นไม่ได้เกิดที่ร่างกาย จากโรคทางกายที่มองเห็นอย่างเดียว ในระยะที่ไม่นานนักนี้ แพทย์ได้เริ่มตระหนักถึงความสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างกายกับจิตว่า จิตใจนั้นก็มีอิทธิพลต่อเรื่องโรคภัยไข้เจ็บมาก โรคหลายอย่างที่เราเห็นว่าปรากฏขึ้นทางร่างกายนั้น ความจริงมันมีสาเหตุมาจากจิตใจ แม้แต่มะเร็ง สมัยนี้ก็มีจำนวนของผู้ที่คิดค้นคว้าไม่น้อยเหมือนกันที่เห็นว่ามาจากเรื่องจิตใจ เช่น ความเครียดเป็นต้น ก็เป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดความไม่สมดุลขึ้นในระบบของร่างกาย ทำให้เกิดความบกพร่องย่อหย่อนของระบบต้านทานของร่างกายแล้ว ก็ทำให้เกิดเซลล์ที่ผิดปกติเพิ่มมากขึ้นเป็นต้น อันนี้ก็เป็นเรื่องของอิทธิพลทางจิตใจ และที่เราเห็นกันง่ายๆ ก็คือว่า ความเครียดนี้อาจจะทำให้เราเป็นโรคเลือดออกในกระเพาะอาหารได้ง่ายๆ หรือว่าอาการปวดศีรษะที่หาสาเหตุไม่ได้ก็อาจจะเกิดจากปัญหาทางจิตใจ ดังนี้เป็นต้น แพทย์ก็จึงเห็นความสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างกายกับใจมากขึ้น

ทรรศนะที่มองสิ่งทั้งหลายแบบภาพรวมนี้ กำลังเจริญแพร่ขยายมากขึ้น เช่นอย่างในเรื่องนี้ ตอนแรกก็มองเห็นในแง่ของความสัมพันธ์ระหว่างกายกับจิต ต่อมาก็เห็นกว้างขึ้นไปอีกว่า ปัญหาที่เกิดกับจิตนี้บางทีก็มาจากสังคม เมื่อสืบดูว่า ทำไมคนนั้นจึงมีความเครียด ก็พบว่าเขามีความเครียดเพราะลักษณะของการดำเนินชีวิตที่มีความสัมพันธ์กับคนอื่นในสังคม ความเป็นไปในสังคมปัจจุบันนี้ เช่นความเป็นอยู่และระบบงาน เป็นต้น อาจจะทำให้เกิดความรู้สึกเครียดขึ้นในบุคคล ตกลงว่าความเครียดนั้นอาจจะเกิดจากปัญหาทางสังคม ส่วนปัญหาทางสังคมนั้น เมื่อสืบต่อไปบางทีก็สัมพันธ์กับปัญหาสภาพแวดล้อมที่ไม่ดี เช่นว่า เราอยู่ในสังคมกรุงเทพฯ นี้ เมื่อเดินทางไปในท้องถนน รถติดมากก็ทำให้กลุ้มใจ ทำให้ขัดเคือง ทำให้หงุดหงิดอะไรต่างๆ พอไปถึงที่ทำงาน อารมณ์ค้างที่ติดมาก็พลอยทำให้เกิดปัญหากับผู้ร่วมงานด้วย ทำให้บรรยากาศในที่ทำงานเครียด และจิตใจของแต่ละคนก็เลยเครียดไปหมด เป็นต้น นี่ก็เป็นปัญหาทางจิตที่มาจากสภาพแวดล้อมซึ่งไปสัมพันธ์กับปัญหาทางสังคมเข้าอีก หรือแม้แต่ตัวโรคร้ายนั้นเองก็อาจจะมาจากปัญหาทางด้านสภาพแวดล้อมโดยตรง เช่นว่า สภาพแวดล้อมเสีย สิ่งแวดล้อมเป็นพิษ อาหารมีสารเคมีผสมมาก ก็อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดมะเร็งขึ้นได้ ผลที่สุดก็คือว่า สิ่งทั้งหลายมันสัมพันธ์กันไปหมด

เพราะฉะนั้น การเกิดโรคที่อวัยวะอย่างหนึ่ง เมื่อสืบค้นลงไปแล้วก็มีความสัมพันธ์กับทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ใช่เป็นเรื่องของวิชาแพทย์ศาสตร์ที่เรียนมาเฉพาะด้านโดยตรงเท่านั้น เมื่อพิจารณาในแง่การรักษาพยาบาลก็เช่นเดียวกัน มองในมุมกลับ เมื่อจะรักษาพยาบาลโรคภัยไข้เจ็บสักอย่างหนึ่ง องค์ประกอบทางด้านจิตใจก็มีอิทธิพล ซึ่งอาจจะมาช่วยให้การรักษาโรคได้ผลดี หรืออาจจะทำให้รักษาไม่ได้ผล หรือทำให้อาการโรคทรุดลงไป สภาพแวดล้อมก็มีผล องค์ประกอบทางสังคมก็มีผล เพราะฉะนั้น ผู้มีทรรศนะแบบนี้จึงเห็นว่า การแพทย์นี้จะต้องเปลี่ยนไป เราจะต้องมองสิ่งทั้งหลายแบบภาพรวมของความสัมพันธ์ วิชาการแพทย์จะต้องเปลี่ยนท่าทีใหม่ โดยมองว่าจะต้องรักษาคนโดยการรักษาคนทั้งคน ทั้งร่างกายและจิตใจ และโดยสัมพันธ์กับสิ่งที่เข้ามาเกี่ยวข้องทุกอย่าง ทั้งองค์ประกอบทางสังคม และองค์ประกอบทางสภาพแวดล้อมหรือนิเวศวิทยาด้วย อันนี้ก็เป็นตัวอย่าง

ทางด้านเศรษฐกิจก็เหมือนกัน เห็นได้ชัดเจนว่า เศรษฐกิจนี้จะพัฒนาไปแต่เพียงอย่างเดียวไม่ได้ และไม่เป็นความจริง เพราะเมื่อพัฒนาไปแล้วมันก็มีผลต่อสภาพแวดล้อมด้วย เช่น อาจจะทำให้เกิดปัญหาสภาพแวดล้อมเสียเป็นพิษ ซึ่งเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับปัญหาทางเศรษฐกิจมาก เมื่อเกิดปัญหาทางสภาพแวดล้อมแล้ว คนก็อยู่ไม่ดี เมื่อคนอยู่ไม่ดีก็อาจจะเกิดปัญหาสุขภาพขึ้นมา แล้วก็เกิดเป็นผลกระทบต่อสังคม เพราะคนนี้ไม่มีสมรรถภาพ หรือเกิดปัญหาแก่ตัวบุคคลแล้ว สังคมก็พลอยได้รับปัญหาไปด้วย แล้วผลก็ย้อนกลับมากระทบเศรษฐกิจ เป็นปัญหาเศรษฐกิจขึ้นมาอีก เพราะคนที่สุขภาพไม่ดี ก็ทำให้ประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจลดน้อยลง ในเวลาเดียวกันก็ต้องใช้จ่ายเงินทองมากมาย ในการแก้ไขปัญหาสุขภาพทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตของคน แล้วก็ต้องลงทุนใช้จ่ายเพื่อแก้ไขปัญหาสภาพแวดล้อมเป็นพิษนั้นอีกด้วย พันกันไปหลายชั้นหลายทอด เพราะฉะนั้น ทางเศรษฐศาสตร์ก็เหมือนกัน จะต้องมีทรรศนะที่กว้างขึ้น ไม่มองเฉพาะสายวิชาของตัวอย่างเดียว การแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ จะต้องประมวลโยงไปถึงปัญหาทางด้านอื่นๆ และจะต้องนำเข้ามาพิจารณาเพื่อแก้ปัญหาโยงถึงกันทุกด้าน

แม้ในด้านการศึกษาก็เช่นเดียวกัน อันนี้เข้ามาถึงเรื่องที่จะพูดโดยตรง ถ้าหากว่าการศึกษาไม่ได้คำนึงถึงองค์ประกอบทั้งหมดทุกด้านอย่างที่ได้กล่าวมาแล้ว ก็ย่อมก่อให้เกิดปัญหาอย่างแน่นอน เช่น วิชาการที่เชี่ยวชาญอย่างโดดเดี่ยวโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์กลับกลายเป็นก่อโทษแก่สังคม ซึ่งอาจจะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ได้ บางทีเจตนาดี แต่ไม่เข้าใจปัญหาทางสังคม ก็อาจจะใช้วิชาการไปในทางที่ทำให้เกิดโทษแก่สังคมได้ เป็นโทษแก่สภาพแวดล้อมได้ เกิดความเสื่อมโทรมของคุณภาพชีวิต เพราะฉะนั้น ตอนนี้เราก็มีทรรศนะว่า การพัฒนาคนจะต้องพัฒนาคนขึ้นมาทั้งคน และไม่ใช่เฉพาะตัวคนเท่านั้น จะต้องมองดูสิ่งที่เกี่ยวข้อง คือองค์ประกอบทางสังคม ตลอดจนสภาพแวดล้อมด้วย

ที่พูดมานี้เป็นตัวอย่างของปัญหาของมนุษย์ในโลกปัจจุบัน ซึ่งถ้าเราแยกออกไปแล้วก็มี ปัญหาของมนุษย์ ปัญหาของสังคม แล้วก็ปัญหาของสภาพแวดล้อม

ในด้านตัวมนุษย์เองก็แบ่งได้เป็นกายกับใจ ทางด้านกายนั้น โรคทางกายก็ยังมีอยู่ แม้ว่าเราจะมีความสามารถในการรักษาโรคได้มากขึ้นอย่างชนิดที่ว่าโบราณทำไม่ได้เลย เช่น การผ่าตัดรักษาโรคต่างๆ ได้ผลชะงัดเด็ดขาด นับว่าเราได้ก้าวหน้าไปมาก แต่ในเวลาเดียวกัน ก็มีโรคภัยไข้เจ็บอย่างใหม่ๆ เกิดขึ้น และโรคเก่าก็พัฒนาตัวของมันให้มาสู้กับแพทย์ปัจจุบันได้ดีขึ้น โดยเฉพาะก็มีโรคใหม่ๆ ที่เกิดจากความแปรปรวนของจิตใจ โรคที่มาจากปัญหาทางสังคม และโรคที่เกิดจากปัญหานิเวศวิทยา โรคประเภทนี้กลับมากขึ้น จึงเป็นเรื่องที่น่าพิจารณาว่า การแพทย์กำลังจะเอาชนะโรคภัยไข้เจ็บไม่สำเร็จ หรือว่าจะล่าถอย อันนี้ก็เป็นด้านกาย

ทีนี้ด้านจิตใจ มนุษย์ก็มีปัญหามากขึ้น มีความอ้างว้าง ว้าเหว่ ความรู้สึกแปลกแยก ความเครียด ความกระวนกระวายอะไรพวกนี้ จนกระทั่งเป็นโรคจิตกันมากขึ้น ซึ่งถือกันว่าเป็นสภาพของสังคมที่เจริญแล้ว โดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้ว เราจะเห็นว่า ปัญหาทางจิตใจมากขึ้น คนเป็นโรคจิตมากขึ้น ฆ่าตัวตายมากขึ้น

ต่อไปก็ด้านสังคม สังคมก็มีการแข่งขันแย่งชิง มีความไม่ยุติธรรม การว่างงาน อาชญากรรมมากขึ้น การติดยาเสพติด พฤติกรรมเบี่ยงเบนต่างๆ ความรุนแรงมากขึ้น ตลอดจนกระทั่งความขัดแย้งในระดับกว้างออกไปเป็นสงคราม ทั้งสงครามในประเทศ และสงครามระหว่างประเทศ ตลอดกระทั่งสงครามที่คนหวาดกลัวที่สุดในประเทศที่เจริญแล้ว ก็คือหวาดกลัวสงครามนิวเคลียร์ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ว่าสังคมเจริญขึ้น อารยธรรมเจริญขึ้น แต่เราก็ต้องแก้ปัญหากันไม่รู้จักจบสิ้น แล้วปัญหาบางอย่างก็รุนแรงมากขึ้น

จากนั้นก็มาถึงข้อสำคัญที่สุด ซึ่งไม่เคยเป็นปัญหามาก่อนเลย แต่กลับมาเป็นปัญหามากในยุคปัจจุบัน ก็คือปัญหาสภาพแวดล้อมที่ปัจจุบันนี้มาบัญญัติศัพท์ใช้ว่านิเวศวิทยา คือสภาพแวดล้อมปัจจุบันนี้มีความเสื่อมโทรมมาก สภาพแวดล้อมเป็นพิษ เกิดความร่อยหรอของทรัพยากร เป็นปัญหายิ่งใหญ่ของมนุษย์ในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะคนที่ห่วงใยต่ออารยธรรมของมนุษยชาติ ก็หวั่นเกรงว่า สิ่งเหล่านี้จะนำมนุษยชาติไปสู่ความพินาศย่อยยับในที่สุด หรือว่าสูญพันธุ์อย่างที่กล่าวมาแล้ว

เป็นอันว่า ปัญหาของมนุษย์ในปัจจุบันนี้มันร้ายแรงขึ้น แล้วก็มีปัญหาใหม่ๆ ฉะนั้น เราก็จะต้องมาคิดว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร เมื่อมองในทรรศนะใหม่นี้ก็ถือว่า เรื่องทั้งหมดนั้นมีจุดเน้นอยู่ที่ว่า จะต้องมองปัญหาทั้งหมดนี้ว่า มันเป็นเหตุปัจจัยที่อิงอาศัยซึ่งกันและกัน เชื่อมโยงกันทั้งหมด เรามองมนุษย์จะแยกจากสังคมไม่ได้ สังคมจะแยกจากนิเวศวิทยาไม่ได้ มนุษย์ก็จะแยกจากนิเวศวิทยาไม่ได้ เพราะฉะนั้น ทุกอย่างจะต้องมองเป็นองค์รวมที่มีส่วนประกอบเชื่อมโยงอิงอาศัยซึ่งกันและกันทั้งหมด

เป็นอันว่า คนที่มีความห่วงใยในอารยธรรมก็มีความคิดอย่างนี้แล้ว และปัจจุบันนี้ก็เริ่มยอมรับกันว่า ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษในสายวิชาของตน กำลังหมดความสามารถ หมดประสิทธิภาพลงไปทุกทีๆ จากการแก้ปัญหาในสายวิชาของตนเอง หมายความว่า ถ้าเป็นอย่างนี้ แพทย์ซึ่งมีความก้าวหน้า ชำนาญมากในวิชาการแพทย์ ก็กำลังแก้ปัญหาโรคภัยไข้เจ็บซึ่งเป็นความชำนาญพิเศษของตนไม่ได้ นักการศึกษาก็กำลังแก้ปัญหาการศึกษาซึ่งตนชำนาญพิเศษไม่ได้ นักเศรษฐศาสตร์ที่เชี่ยวชาญก็กำลังแก้ปัญหาในด้านเศรษฐกิจไม่ได้

เมื่อผู้ชำนาญในสายของตนซึ่งเจริญมาจนอย่างยิ่งแล้ว มาถึงยุคที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาในสายของตนได้ มันก็เป็นการสิ้นสุดอย่างหนึ่ง เขาเรียกว่าเป็นการสิ้นสุดของยุคอุตสาหกรรม เพราะยุคอุตสาหกรรมเป็นยุคของความชำนาญพิเศษเฉพาะด้าน ในเมื่อชำนาญพิเศษถึงที่สุด เขาคิดว่าจะต้องแก้ไขปัญหาได้จบสิ้น แต่มันกลับมาถึงจุดอับจนที่ว่า เมื่อเจริญด้านอุตสาหกรรมถึงที่สุด วิชาการสายของตนเจริญถึงที่สุดแล้ว กลับมีปัญหาวกกลับไปย้อนต้นว่าไม่สามารถแก้ปัญหาในสายวิชาของตนได้ อันนี้เป็นเรื่องที่ทำให้เกิดความตื่นตัวกันมาก แล้วก็ทำให้ทรรศนะแบบที่เรียกว่ามองสิ่งทั้งหลายเป็นภาพรวมนี้กำลังได้รับความสนใจเจริญขึ้น ทรรศนะแบบองค์รวมนี้ เขาเรียกชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า holism หรือ holistic view ตรงกันข้ามกับทรรศนะแบบแยกย่อย หรือความคิดแบบแบ่งซอย ที่เรียกว่า reductionism หรือ reductionistic view

พวกที่นิยม คือมีทรรศนะที่มองแบบภาพรวมนี้ ก็หันไปโจมตีทรรศนะแบบแบ่งซอย หรือทรรศนะแบบชำนาญพิเศษเฉพาะด้าน ว่าพฤติกรรมและความเจริญในแบบนั้นนี่แหละ เป็นตัวสาเหตุที่ทำให้มนุษยชาติกำลังประสบปัญหาในปัจจุบัน ถึงกับจะย่อยยับไป และจากการที่มีทรรศนะแบบองค์รวมนี้กันมาก บางคนก็เลยถึงกับว่าจะกลับไปมีชีวิตแบบเก่า ไม่เอาแล้ว เลิกกันที ความเจริญก้าวหน้าของวิทยาการแบบเป็นเส้นตรงออกไปแต่ละสายๆ นี้ ขอเลิกเสียเลย ซึ่งอาตมภาพคิดว่าเป็นทรรศนะที่เอียงสุด

มนุษย์เรานี้มักจะมีความโน้มเอียงที่จะไปสุดทาง พอไปด้านหนึ่งแล้วก็มุ่งไปอย่างเดียว จะไปให้ถึงที่สุด แต่พอเห็นว่า ไม่ใช่ ไม่ถูก ก็ทิ้ง เกิดปฏิกิริยา แล้วก็ไปที่สุดอีกด้านหนึ่ง ที่ตรงกันข้าม อันนี้น่าจะต้องระวังว่า เราอาจจะมาสู่สภาพเอียงสุดอีกครั้งหนึ่ง พอเห็นว่าทรรศนะแบบแบ่งซอยชำนาญพิเศษเฉพาะด้านของยุคอุตสาหกรรมนี้มีปัญหา ก็เลยหันกลับจะไปในทางตรงข้าม คือจะไปแบบสมัยเก่าที่ว่าไม่ต้องมีความเจริญอะไรเลย ซึ่งเราจะเห็นว่า เดี๋ยวนี้กำลังมีคนหันมานิยมแบบนั้นมากขึ้น และอันนี้จะเกี่ยวข้องกับการแบ่งขั้นตอนของความเจริญหรือวิวัฒนาการของอารยธรรมมนุษย์

การก้าวออกจากยุคอุตสาหกรรม

ขอใช้เวลากับเรื่องนี้อีกนิดหน่อยว่า ทรรศนะแบบต่างๆ นี้มันพัวพันมากับความเจริญของอารยธรรมมนุษย์ กล่าวคือ เมื่อแบ่งคร่าวๆ เพื่อให้เข้ากับทัศนะที่ว่ามาแล้ว ความเจริญของอารยธรรมมนุษย์นี้ แบ่งได้เท่าที่ผ่านมาแล้วเป็น ๒ ยุคด้วยกัน คือ

๑. ยุคที่เริ่มเจริญ มนุษย์พ้นจากความเป็นคนป่าเถื่อน เริ่มมีอารยธรรมขึ้น ได้แก่ยุคที่เริ่มมีการเพาะปลูก ที่เราเรียกว่า ยุคเกษตรกรรม ในยุคเกษตรกรรมนี้ มนุษย์พึ่งพาอาศัยธรรมชาติในการดำเนินชีวิตของมนุษย์นั้น ไม่ว่าจะทำมาหาเลี้ยงชีพหรือจะทำอะไร มนุษย์ก็ทำกับสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาตินั้นไปตามปกติ เช่น จะปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหาร ปลูกข้าว ก็ทำกับผืนดินในนา แล้วก็อาศัยธรรมชาตินั้นเอง คอยปรับตัวให้สอดคล้องกับธรรมชาติและปล่อยให้ธรรมชาติดำเนินไปตามทางของมัน รอคอยเวลา แล้วผลิตผลก็เกิดขึ้น ในยุคนี้มนุษย์ก็เพียงแต่อยู่ให้กลมกลืนกับธรรมชาติ เมื่อเข้ากับธรรมชาติได้ก็อยู่ได้ ซึ่งก็นับว่าอยู่ได้ด้วยดีพอประมาณ แต่เป็นลักษณะที่ต้องขึ้นกับธรรมชาติมาก อันนี้ก็เป็นลักษณะของชีวิตแบบหนึ่ง

๒. ต่อมา มนุษย์เห็นว่า การมีชีวิตอยู่อย่างนี้ยังไม่มีความสุขที่แท้จริง ไม่เพียงพอที่จะเป็นชีวิตที่ดี ก็มีการพัฒนาวิทยาการและระบบวิธีต่างๆ มากขึ้น จนเจริญมาเป็นยุคที่เรียกว่าอุตสาหกรรม ยุคอุตสาหกรรม ก็อย่างที่กล่าวมาแล้วว่า มนุษย์พยายามที่จะสร้างสรรค์พัฒนาความรู้ความเข้าใจทางวิชาการขึ้นมาในแต่ละด้าน แต่ละสาขาให้เจริญเต็มที่ เพราะอะไร เพราะตอนนี้มนุษย์พยายามที่จะเอาชนะธรรมชาติ จะทำให้เหนือกว่าที่ธรรมชาติจะทำให้ได้ และสามารถแก้ปัญหาที่เกิดจากธรรมชาติได้

การที่จะเอาชนะธรรมชาตินั้น มนุษย์จะต้องสร้างสรรค์ ผลิตสิ่งทั้งหลายที่ตนต้องการขึ้นมาเอง เมื่อจะผลิตสร้างสรรค์ขึ้นมาเอง ก็ต้องแยกแยะวิเคราะห์ธรรมชาติให้รู้จักองค์ประกอบต่างๆ ที่จะนำมาผลิต ผลที่สุดก็เกิดความเจริญทางวิชาการเป็นเฉพาะด้านๆ มากขึ้นทุกที จนกระทั่งมีลักษณะเป็นความชำนาญพิเศษเฉพาะด้าน ที่ว่าเป็น specialization อันนี้ก็เป็นลักษณะของการที่จะเอาชนะธรรมชาติ และก็เอาชนะธรรมชาติไปได้มากแล้วด้วย จึงเป็นความหวังของมนุษย์ในยุคอุตสาหกรรมว่าจะเอาชนะธรรมชาติได้โดยสมบูรณ์ แล้วมนุษย์ก็จะมีความสุขที่สุด แต่ไปๆ มาๆ ผลที่สุดมันกลายเป็นว่า การเอาชนะธรรมชาตินั้นได้สร้างปัญหาให้กับธรรมชาติ ทำให้ระบบความสัมพันธ์ภายในองค์รวมคลาดเคลื่อนระส่ำระสายไป พอสร้างปัญหาให้แก่ธรรมชาติแล้ว ปัญหาในธรรมชาตินั้นก็ส่งผลย้อนกลับมาเป็นปัญหาแก่มนุษย์เอง จนกระทั่งมนุษย์นี่รับปัญหานั้นแทบไม่ไหว เป็นเหตุให้ยุคอุตสาหกรรมจะต้องสิ้นสุดลงอย่างที่ว่ามาแล้ว

เมื่อยุคอุตสาหกรรมมีลักษณะอย่างนี้ และจะไปไม่รอด มันก็เลยจะเปลี่ยนไปอีก ตอนนี้เขากำลังขึ้นยุคใหม่ ยุคใหม่นี้ก็เป็นยุคที่คนกำลังมีทรรศนะแบบองค์รวมเกิดขึ้นด้วย คือมีทรรศนะที่เปลี่ยนจากการมองสิ่งทั้งหลายแบบแบ่งซอยย่อยออกไป หรือแบ่งความชำนาญพิเศษเฉพาะด้านนี้ มาเป็นทรรศนะที่มองสิ่งทั้งหลายแบบองค์รวม ซึ่งเกิดจากส่วนประกอบทั้งหลายมีความสัมพันธ์อิงอาศัยซึ่งกันและกัน อย่างที่เรียกเมื่อกี้ว่า holistic view

ตอนนี้มาถึงยุคใหม่ที่เราจะต้องบัญญัติศัพท์ขึ้นใหม่ และก็มีคนพยายามใช้ศัพท์ต่างๆ หลายอย่าง บางคนก็บอกว่า ที่แล้วมาเป็นยุคสังคมอุตสาหกรรม ยุคนี้ก็เรียกว่าเป็นยุคหลังสังคมอุตสาหกรรม คือเปลี่ยนจาก industrial society มาเป็น post-industrial society บางคนก็บอกว่า ยุคนี้เป็นยุคของสารวิทยา หรือข่าวสารข้อมูล ความเจริญด้านนี้ก้าวหน้า กำลังเข้ามาเป็นสิ่งที่มีบทบาทสำคัญที่สุดในหมู่มนุษย์ ก็เรียกยุคนี้ว่าเป็นยุคอินฟอร์เมชั่น (Information Age) บางคนก็บอกให้ตั้งชื่อว่า superindustrial society อะไรทำนองนี้ ก็แล้วแต่ตกลงกัน แต่ตอนนี้ยังไม่มีมติร่วมกันว่าจะเอาอย่างไร แต่ก็มีความเห็นคล้ายกันอย่างหนึ่ง คือว่ามันกำลังขึ้นยุคใหม่

คนที่มีจิตสำนึกในเรื่องของสังคมและอารยธรรม จะต้องเตรียมต้อนรับทรรศนะแบบนี้และศึกษาให้รู้จักเข้าใจเท่าทัน แต่อย่างที่กล่าวมาแล้วก็คือ น่าเป็นห่วงว่าคนบางพวกจะมีทรรศนะแบบเอียงสุด ทำให้คนไม่น้อยกำลังจะหันกลับไปหาความเป็นอยู่แบบยุคเกษตรกรรมที่ว่า คนมีความเป็นอยู่กลมกลืนกับธรรมชาติ แต่ถ้าเรามาวิเคราะห์ดูความเจริญของมนุษย์ก็จะเห็นว่า จริงอยู่ ในยุคเกษตรกรรมนั้น คนอยู่กลมกลืนกับธรรมชาติ มองสิ่งทั้งหลายเป็นองค์รวม หรือภาพรวมก็จริง แต่ภาพรวมนั้นเป็นภาพรวมที่พร่าๆ มัวๆ ไม่ชัดเจน มองไม่เห็นเนื้อใน มองไม่เห็นปัจจัยและองค์ประกอบย่อยๆ ต่างๆ ไม่เข้าใจถึงความสัมพันธ์เชื่อมโยงอิงอาศัยกันของปัจจัยและองค์ประกอบเหล่านั้น มองเห็นผิวเผินแต่ภายนอก ก็อยู่กลมกลืนไปกับธรรมชาติอย่างนั้นเอง บางทีก็อาจจะคิดว่าเทวดาพาเมฆพาฝนมาอะไรเป็นต้น ซึ่งก็เป็นการมองแบบภาพรวมอย่างหนึ่ง แต่ไม่รู้ว่าภาพรวมนั้นเกิดจากองค์ประกอบอะไรบ้าง อันนี้ก็เป็นความกลมกลืนกับธรรมชาติแบบหนึ่ง ซึ่งในแง่หนึ่งก็ดีอยู่ แต่ในอีกแง่หนึ่งก็คือ มีความไม่รู้ประกอบอยู่ด้วย ทำให้ไม่มีประสิทธิภาพในการที่จะประสานกลมกลืน

ทีนี้ เมื่อคนเราเจริญขึ้นมาถึงยุคอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีเจริญมากขึ้น เราก็มีความรู้ความเข้าใจ สามารถวิเคราะห์แยกแยะสิ่งทั้งหลายละเอียดลงไป จนกระทั่งรู้วิทยาการมากมายลึกซึ้ง เข้าใจองค์ประกอบอะไรต่างๆ ส่วนต่างๆ ส่วนย่อยของสิ่งทั้งหลาย มองเห็นความเป็นไปในชีวิตในจักรวาลนี้ ละเอียดลออถี่ถ้วนขึ้น แต่มามีจุดเสียที่ว่า เรามัวหลงเพลินกับความเก่งกล้าสามารถที่เกิดจากความรู้เชี่ยวชาญความชำนาญพิเศษในด้านของตนๆ ลำพองว่าตนล่วงรู้ความลี้ลับของธรรมชาติและมุ่งแต่จะเอาชนะธรรมชาติ จนจมดิ่งลงไปในรายละเอียดปลีกย่อยและลืมนึกถึงความเป็นจริงของชีวิต ธรรมชาติ และสังคม ที่เป็นสภาพรวมๆ และเป็นอยู่เป็นไปด้วยกัน ตลอดจนลืมเป้าหมายเดิมที่ต้องการเชื่อมโยงสิ่งเหล่านี้เข้าหากันให้ชัดเจนและให้ได้ผลแก่ชีวิตที่ดี เมื่อลืมมันก็เลยแตกย่อยกลายเป็นเสี่ยงๆ ความรู้ของมนุษย์เกิดความแตกแยก ไม่ประสานกลมกลืน

เพราะฉะนั้น เมื่อมาถึงยุคนี้ เราน่าจะได้ประโยชน์จากความคิดของทุกยุคทุกสมัย คือเอาประโยชน์ของยุคอุตสาหกรรมมาด้วย เพราะการเรียนรู้สิ่งทั้งหลายที่แยกเป็นหน่วยย่อยๆ นั้นนั่นแหละ มันจะช่วยให้เราสามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์ได้ดีขึ้น ดังนั้น สิ่งที่เราจะต้องทำซึ่งเป็นการก้าวหน้าต่อไป ก็คือ การเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งทั้งหลายที่เราได้เรียนรู้แยกแยะเป็นพิเศษ เป็นด้านๆ เป็นส่วนย่อยลงไปนั้น แล้วใช้ความรู้นั้นเป็นเครื่องช่วยในการสร้างสรรค์ รักษาและฟื้นฟูความประสานกลมกลืนและความสมดุลภายในองค์รวม ให้ชีวิตและทุกอย่างเป็นอยู่เป็นไปด้วยดี ถ้าเราสามารถโยงเข้ามาหากันได้จนรู้เห็นว่า มันมีความประสานกลมกลืนกัน สัมพันธ์อิงอาศัยกันอย่างไร มีอิทธิพลกระทบต่อกันอย่างไรแล้ว ก็จะเป็นประโยชน์แก่การที่มนุษย์จะอยู่ด้วยดียิ่งขึ้น นี้ก็เป็นเรื่องที่ว่า เราได้มาถึงยุคที่มีโอกาสดีที่สุด ถ้ามองในแง่ดี ก็คือการที่มนุษย์อาจจะได้เข้าถึงความรู้ และการปฏิบัติที่ถูกต้องสมบูรณ์ก็ได้ ถ้าหากว่าจะใช้ความรู้ทุกอย่างที่ผ่านมาให้เป็นประโยชน์

ที่ผ่านมานี้ ขอถือว่าเป็นการพูดเท้าความเบื้องต้น เป็นการพยายามที่จะให้มองเห็นเรื่องบูรณาการนั่นเอง ตามที่พูดมานี้ทรรศนะแบบองค์รวม หรือการมองสิ่งทั้งหลายเป็นองค์รวมนั่นแหละ คือเรื่องของบูรณาการ หมายความว่า เมื่อเรามองเห็นว่า สิ่งทั้งหลายในชีวิตก็ดี ในโลก ในจักรวาลก็ดี ทุกอย่างนี้มีความสัมพันธ์อิงอาศัยซึ่งกันและกัน เมื่อมันประกอบกันเข้าเป็นองค์รวมขึ้นมาแล้ว ถ้าองค์ประกอบทุกอย่างประสานกลมกลืนกันดี มันก็เกิดภาวะที่พอดีได้ที่ซึ่งเราเรียกว่าสมดุล พอเกิดภาวะได้ที่สมดุลนั้นแล้วก็เกิดภาวะที่เป็นตัวของมันเอง มีคุณสมบัติของมันเองที่สามารถดำรงอยู่ด้วยดี และดำเนินต่อไปด้วยดี อันนี้ก็เป็นสาระสำคัญของทรรศนะแบบที่มองสิ่งทั้งหลายเป็นองค์รวม

บทที่ ๒
บูรณาการกับพัฒนาการ

หลักการทั่วไปของบูรณาการ

เมื่อเรามองเห็นว่า การที่สิ่งทั้งหลายซึ่งเป็นหน่วยย่อยจะต้องมาประสานสัมพันธ์กลมกลืนกันให้ดี จึงจะเกิดความพอดี เป็นสมดุล และสิ่งนั้นจึงจะดำเนินไปได้ด้วยดี ในกรณีที่เป็นอย่างนี้ เมื่อเรามีความเกี่ยวข้องกับสิ่งทั้งหลายที่เป็นหน่วยย่อย เราจะทำอย่างไร เราก็มีหน้าที่ที่จะต้องนำเอามันเข้ามาประมวลประสานเข้าหากันเป็นองค์รวม ในลักษณะอาการที่ให้เกิดความสมดุลให้ได้ ซึ่งการกระทำอันนี้เขาเรียกว่า บูรณาการ บูรณาการ แปลว่า การกระทำให้สมบูรณ์ ภาษาอังกฤษใช้ว่า integration ในที่นี้ต้องใช้ภาษาอังกฤษด้วยก็เพราะว่า ในปัจจุบันทรรศนะแบบนี้ไปเฟื่องฟูขึ้นในเมืองฝรั่ง และเราก็บัญญัติคำขึ้นใหม่จากศัพท์ฝรั่ง

มาพูดถึงความหมายของศัพท์ว่า บูรณาการ หรือ integration กันนิดหน่อย จะลองให้ความหมายอย่างง่ายที่สุดว่า บูรณาการ คือ การทำให้สมบูรณ์ แต่พูดแค่นี้มันอาจจะไม่สมบูรณ์ ถ้าจะพูดให้สมบูรณ์ก็คงจะต้องให้ความหมายที่ละเอียดให้เกิดภาพที่ชัดยิ่งขึ้น ขอพูดขยายความออกไปหน่อยว่า การนำหน่วยย่อยอันหนึ่งเข้ารวมกับหน่วยย่อยอื่นๆ ภายในองค์รวม เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ อย่างนี้ก็ได้ หรือขยายความออกไปอีกก็บอกว่า การประมวลหน่วยย่อยที่แยกๆ กัน ให้รวมเข้าเป็นองค์รวมที่ครบถ้วนสมบูรณ์ ขออีกอันหนึ่งว่า การทำให้หน่วยย่อยทั้งหลายเข้าร่วมเป็นองค์ประกอบซึ่งทำหน้าที่ประสานซึ่งกันและกัน กลมกลืนเข้าเป็นองค์รวมอันเดียว อันทำให้เกิดความสมดุลที่องค์รวมนั้นสามารถดำรงอยู่และดำเนินไปได้ในภาวะที่ครบถ้วนสมบูรณ์ ไปๆ มาๆ ก็วนเวียนอยู่ที่คำว่าสมบูรณ์นี่เอง คราวนี้ขอเสนอคำจำกัดความสุดท้ายให้เลือกว่า การทำหน่วยย่อยๆ ทั้งหลายที่สัมพันธ์อิงอาศัยซึ่งกันและกัน เข้ามาร่วมทำหน้าที่ประสานกลมกลืนเป็นองค์รวมหนึ่งเดียว ที่มีความครบถ้วนสมบูรณ์ในตัว

เป็นอันว่า ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องบูรณาการ หรือความหมายของมันนี้ ก็ไปสัมพันธ์กับทรรศนะที่มองสิ่งทั้งหลายเป็นองค์รวม ที่เรียกว่า holistic view หรือ holism อย่างที่ยกตัวอย่างเช่นเรื่องแพทย์เมื่อกี้ ถ้าวินิจฉัยและรักษาโรคโดยคำนึงถึงองค์ประกอบทั้งทางร่างกายและจิตใจของคนไข้ พร้อมทั้งปัจจัยทางสังคมและธรรมชาติแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง ก็เรียกว่าใช้วิธีบูรณาการ หรือในการพัฒนาเศรษฐกิจ ถ้าพัฒนาโดยมุ่งให้มนุษย์เป็นอยู่ดีท่ามกลางสภาพแวดล้อมทั้งทางสังคมและนิเวศวิทยาที่เกื้อกูล ก็เรียกว่าใช้วิธีบูรณาการ หรือถ้าเป็นการศึกษา เอาเฉพาะการสอน การสอนโดยทำให้คนพัฒนาขึ้นมาเต็มตัวทั้งคน ก็เป็นการใช้วิธีบูรณาการ

ในประเทศอย่างอเมริกา เขาเอาคนผิวดำเข้ารวมในสังคมใหญ่ซึ่งประกอบด้วยคนผิวขาวให้กลมกลืนกัน อันนี้ก็เรียกว่า บูรณาการเหมือนกัน หมายความว่า คนดำกับคนขาว นี่มีปัญหากันมาก คนดำเป็นคนส่วนน้อย มักถูกแบ่งแยก มีปัญหาว่า อาจจะถูกเหยียดหยาม ไม่ได้รับสิทธิสมบูรณ์ ทำอย่างไรจะให้เข้าร่วมอยู่ในสังคมอเมริกันโดยสมบูรณ์ เขาก็พยายามที่จะจัดเอาคนดำนี้เข้าร่วมในกิจกรรมของสังคมและในสภาพความเป็นอยู่ของสังคมอเมริกันโดยสมบูรณ์ เช่นจัดรถนำเอาเด็กดำไปเรียนรวมกับเด็กขาว หรือนำเอาเด็กขาวไปเรียนรวมกับเด็กดำในชั้นเรียนเดียวกันในโรงเรียนเดียวกัน หรืออาจจะให้คนผิวดำทั้งหมดเข้าร่วมทำงานโดยมีสิทธิเสมอทัดเทียมกับคนผิวขาวอะไรต่างๆ เหล่านี้ ก็เรียกว่าเป็น integration เป็นบูรณาการเหมือนกัน

อีกตัวอย่างหนึ่ง เรามีเด็กบกพร่อง จะบกพร่องทางกายก็ตาม บกพร่องทางใจก็ตาม วิธีการเรียนการสอนแบบหนึ่งคือ เขาแยกให้เรียนต่างหาก แต่มีทรรศนะอีกพวกหนึ่งบอกว่า ต้องเอาเด็กที่มีความบกพร่องทางกายก็ตาม ทางใจก็ตามนี้ เข้าเรียนรวมกันกับเด็กปกติในชั้นเรียนปกติ การทำอย่างนั้นก็เรียกว่าบูรณาการ นี่ก็เพื่อจะให้เด็กเป็นเด็กที่สมบูรณ์ มีความเจริญเติบโตทุกด้านเหมือนเด็กปกติ ก็เป็นทรรศนะแบบบูรณาการ

ในหลักสูตรและการสอนก็มีตัวอย่าง เช่น เราจัดการสอนการเรียนให้เชื่อมโยงวิชาทั้งหลายทุกวิชาเข้ามาหากัน อาจจะตั้งเรื่องอะไรขึ้นมาเป็นหลักสักเรื่องหนึ่ง หรือเป็นแกนให้มีการเรียนรู้ แล้วก็โยงทุกวิชาความรู้ที่เกี่ยวข้องเข้ามา ตัวอย่างง่ายๆ เช่น ให้เรียนเรื่องข้าว เอาข้าวขึ้นมาเป็นหลักตั้ง แล้วจากเรื่องข้าวนี้เราก็สามารถเรียนทุกด้าน เช่นว่า ด้านวิทยาศาสตร์ ในแง่ชีววิทยา อาจจะให้เรียนรู้ว่า ข้าวนี่เป็นพืชตระกูลไหน มันแพร่พันธุ์อย่างไร เป็นต้น ให้เรียนในแง่เกษตรกรรมว่า ข้าวนี่จะต้องปลูกในฤดูไหน จะปลูกกันอย่างไร ในแง่ภูมิศาสตร์ก็ให้เรียนรู้ว่า ข้าวนี้มีปลูกมากในถิ่นไหน เหมาะกับภูมิอากาศแบบใด ในด้านเศรษฐกิจ ก็ให้รู้ว่า ข้าวนี้มีความสำคัญในทางเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างไร เช่นเป็นรายได้หลักของชาติ เป็นที่มาของเงินทองรายได้ของประเทศอย่างไร ในแง่คณิตศาสตร์ เช่นว่า ปลูกข้าวได้ไร่ละ ๕๐ ถัง ถ้ามีนา ๑๘ ไร่ จะได้ข้าวเท่าไร หรือขายได้เกวียนละ ๒,๕๐๐ บาท มี ๕ เกวียนจะได้เงินเท่าไร อะไรพรรค์นี้ หรือในแง่ศิลปวัฒนธรรมก็อาจจะเรียนว่า เรามาร้องเพลงเกี่ยวข้าวกัน ให้มีกิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรม หรืออาจจะให้วาดภาพทุ่งนายามเช้า แดดส่องผืนนาเป็นสีทอง อะไรทำนองนี้ ตลอดจนให้เรียนในแง่จริยธรรม ให้รู้จักว่าจะต้องกินข้าวอย่างไรจึงจะประหยัด หรือว่าถ้าเป็นเด็กชาวนาก็แนะนำให้ไปช่วยพ่อแม่ทำนา ถ้าเป็นเด็กทั่วไป ก็อาจจะให้รู้จักคุณค่าของชาวนา อย่างนี้เป็นต้น ว่าเรื่อยไป จนกระทั่งให้รู้จักมารยาทในการกิน อะไรต่างๆ ทำนองนี้ เพราะฉะนั้น จากเรื่องข้าวเรื่องเดียวก็เรียนได้ครบทุกด้าน อย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นการเรียนการสอนโดยวิธีบูรณาการ

รวมความแล้ว จะเห็นได้ว่า ในการบูรณาการนั้น เราจะเอาหน่วยย่อยหน่วยหนึ่งมารวมเข้าในองค์รวมที่มีหน่วยย่อยอื่นอยู่แล้วก็ได้ หรือจะเอาหน่วยย่อยทั้งหลายที่ต่างก็แยกๆ กันอยู่ มารวมเข้าด้วยกันเป็นองค์รวมก็ได้ อันนี้เรียกว่าบูรณาการทั้งสิ้น แต่ข้อสำคัญจะต้องมีตัวยืนที่เป็นหลักอยู่ ๓ อย่าง ในเรื่องบูรณาการ คือ

๑. มีหน่วยย่อย องค์ประกอบ ชิ้นส่วน อวัยวะ หรือขั้น ระดับ แง่ ด้าน ที่จะเอามาประมวลเข้าด้วยกัน อันนี้เป็นสิ่งที่จะเอามาประมวลเข้าด้วยกัน คือสิ่งย่อย ส่วนย่อย

๒. หน่วยย่อยเป็นต้นนั้นมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงอิงอาศัยซึ่งกันและกัน อันนี้อาจจะเลยไปถึงลักษณะที่ว่ายืดหยุ่น ปรับตัวได้ มีความเคลื่อนไหวตลอดเวลาด้วย

๓. เมื่อรวมเข้าด้วยกันแล้วก็จะเกิดความครบถ้วนเต็มบริบูรณ์ โดยมีความประสานกลมกลืน เกิดภาวะได้ที่ พอดี หรือสมดุล พอได้ที่หรือพอดีสมดุลแล้ว องค์รวมนั้นก็มีชีวิตชีวา ดำรงอยู่และดำเนินไปด้วยดี อันเป็นภาวะของบูรณาการ

ถ้าครบ ๓ อย่างนี้ก็เป็นบูรณาการ สามอย่างนี้เป็นตัวยืนที่จำเป็นตามสภาวะ ส่วนในทางปฏิบัติจะมีหลักและกระบวนวิธีอย่างไรก็พิจารณาว่ากันอีกส่วนหนึ่ง แต่สิ่งที่จะต้องเน้นก็คือว่า ความพอดีหรือได้ที่ หรือสมดุล ซึ่งเป็นภาวะที่ต้องการของบูรณาการนั้น เราจะแสดงลักษณะออกมาให้เห็นเป็นข้อสำคัญได้ ๒ อย่างคือ

ข้อที่ ๑ เมื่อเป็นองค์รวมแล้ว องค์รวมนั้นมีชีวิตชีวา หรือดำเนินไปด้วยดี

ข้อที่ ๒ องค์รวมนั้นเกิดมีภาวะและคุณสมบัติของมันเองที่ต่างหากจากภาวะและคุณสมบัติขององค์ประกอบทั้งหลาย

นี่เป็นลักษณะ ๒ อย่างที่เป็นองค์รวม ซึ่งเกิดบูรณาการขึ้นมาแล้ว ขอยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น เราเอาชิ้นส่วนหรือส่วนประกอบมากมายมาประกอบเข้าให้ประสานกลมกลืนได้ที่สมดุลพอดีแล้ว ก็อาจจะเกิดเป็นองค์รวมอันหนึ่งเรียกกว่ารถยนต์ รถยนต์นี้ก็จะมีภาวะของมันขึ้นมา เป็นพาหนะสำหรับใช้ขับขี่ได้

ภาวะที่เป็นรถยนต์ซึ่งมีความหมายเป็นพาหนะใช้ขับขี่ได้ เป็นภาวะและคุณสมบัติใหม่ที่ไม่เหมือนกับส่วนประกอบย่อยของมัน กล่าวคือ ส่วนประกอบย่อยของมันนั้น จะเป็นล้อ เป็นเครื่องยนต์ เป็นพวงมาลัย หรืออะไรก็ตาม ล้วนแต่ใช้ประโยชน์ในการขับขี่เป็นพาหนะไม่ได้เลยสักอย่าง แต่พอมาประกอบกันเข้าเป็นองค์รวมแล้ว มันมีภาวะใหม่ เป็นรถยนต์ เป็นพาหนะสำหรับใช้ประโยชน์อย่างใหม่ เป็นคุณสมบัติอย่างใหม่ขึ้นมา แต่อย่างไรก็ดี มันจะต้องมีภาวะที่สมดุล ถ้าไม่สมดุลมันก็ไม่เดินไม่วิ่ง ความเป็นรถก็เกิดขึ้นไม่ได้ เป็นพาหนะไม่ได้ ถ้าไม่สมดุล คือ องค์ประกอบต่างๆ ส่วนย่อย หรือชิ้นส่วนทั้งหลายของรถนั้นมันไม่เข้าที่กัน มันก็เป็นรถขึ้นมาไม่ได้ อย่างดีก็ได้แค่เป็นของพิการ ฉะนั้น จึงต้องมีภาวะที่ว่า เมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้ว องค์รวมมีความสมดุลพอดี ก็มีชีวิตชีวาดำเนินไปด้วยดี แล้วก็เกิดมีภาวะเป็นคุณสมบัติใหม่ของมัน อันนี้ก็เป็นตัวอย่างขององค์รวม

บูรณาการประสานกับพัฒนาการ

แต่ทีนี้ เรามามองดูองค์รวมอย่างคน คนก็เป็นองค์รวมอย่างหนึ่ง อวัยวะต่างๆ มากมายมาประชุมกันเข้าเป็นคน ทางพระท่านเรียกว่า ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ มาประชุมพร้อมกันแล้วเกิดเป็นคนขึ้น องค์ประกอบที่เป็นขันธ์ ๕ หรืออวัยวะทุกอย่างนั้นจะต้องทำงานประสานกลมกลืนกัน ถ้าหากไม่ประสานกลมกลืนกัน มันก็เกิดความขัดแย้งไม่ได้ที่ ไม่เป็นคน ก็เป็นสิ่งที่ตายหรือเป็นศพ ความเป็นคนก็ไม่เกิดขึ้น จึงต้องทำงานประสานกลมกลืนกันด้วย

อย่างไรก็ตาม คนนี้มีลักษณะต่างออกไปจากรถยนต์ คนไม่เหมือนรถยนต์ รถยนต์นั้นเป็นองค์รวมก็จริง แต่เป็นองค์รวมที่นิ่ง เป็นองค์รวมแบบตาย ไม่มีชีวิตชีวาที่แท้จริง อาจจะใช้เคลื่อนไหวไปอะไรต่างๆ แต่มันก็ไม่ได้มีพัฒนาการอะไรของมันขึ้นมา มันก็อยู่อย่างนั้น อยู่ในสภาพอย่างนั้น แต่คนเราไม่เป็นอย่างนั้น คนเราเป็นองค์รวม ที่มีการเคลื่อนไหว มีการเจริญเติบโต มีการเปลี่ยนแปลงไป องค์รวมที่เรียกว่าคนนั้นก็เกิดจากองค์ร่วมคือกายกับใจ ซึ่งแต่ละอย่างก็แบ่งซอยออกไปได้มากมาย เฉพาะด้านกายก็มาจากอวัยวะ คือ ส่วนประกอบย่อยๆ ทั้งหลายมากมาย ซึ่งแต่ละส่วนนั้นก็มีพัฒนาการของมัน มีความเจริญเติบโตขึ้นมาได้ ไม่เหมือนกับชิ้นส่วนของรถยนต์ที่นิ่งเป็นชิ้นส่วนที่ตาย แต่ชิ้นส่วนอวัยวะของมนุษย์นี้มีความเจริญเติบโตขึ้นมา

เพราะฉะนั้น ภาวะที่เป็นบูรณาการของมนุษย์นั้นจึงมีความซับซ้อนมากกว่ารถยนต์ ซับซ้อนอย่างไร ซับซ้อนก็คือว่า มันมีพัฒนาการปนขึ้นมาในบูรณาการด้วย หมายความว่า ในองค์รวมนี้มีอวัยวะมีส่วนประกอบมากมาย และส่วนประกอบทุกอย่างที่เข้ามาบูรณาการประสานกันนั้น แต่ละอย่างมีพัฒนาการของมันเอง โดยเจริญเติบโตอยู่ตลอดเวลา ในขณะหนึ่งนั้นมันมีความสมดุล เพราะมันประสานกลมกลืนกัน แต่เมื่อแต่ละส่วนพัฒนาการต่อไป ทำอย่างไรจะให้มันประสานกลมกลืนกันต่อไป นี่เป็นปัญหาอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้น ในเมื่อส่วนย่อยแต่ละส่วนต่างก็มีพัฒนาการเจริญเติบโต เราจะต้องให้ส่วนย่อยทุกส่วนนั้นพัฒนาไปอย่างประสานกลมกลืนกันด้วย แล้วเมื่อประสานกลมกลืนขึ้นมาเป็นองค์รวมมนุษย์แล้ว องค์รวมที่เป็นตัวมนุษย์ทั้งหมดทั้งตัวนี้ ก็มีพัฒนาการขององค์รวมเองอีกทีหนึ่งด้วย นี่ก็เป็นเรื่องที่ว่า ตอนนี้บูรณาการกับพัฒนาการมาประสานกันเข้าแล้ว ไม่ใช่มีบูรณาการอย่างเดียว

มนุษย์นี้เป็นบูรณาการที่มีพัฒนาการอยู่ด้วย มีพัฒนาการทุกส่วน ทุกระดับ ทุกขั้นตอน ไม่ว่าในขอบเขตเล็กหรือขอบเขตใหญ่ ถ้าไม่มีการพัฒนาอย่างชนิดบูรณาการแล้ว ชีวิตจะไม่สามารถดำเนินไป ไม่ว่าด้านรูปธรรมหรือนามธรรมก็ตาม ถ้าหากว่ามันพัฒนาการแบบไม่บูรณาการ มันก็จะไม่ประสานกลมกลืน ส่วนหนึ่งมากไป ส่วนหนึ่งน้อยไป ก็คงเป็นมนุษย์ที่วิปริต อย่างน้อยก็จะเกิดเนื้องอก เนื้องอกนี้ก็เป็นตัวอย่างอันหนึ่งของพัฒนาการที่ไม่บูรณาการ หรืออาจจะร้ายกว่านั้นก็เป็นมะเร็ง หรือถ้าแขนขามันโตเกินไป อวัยวะบางส่วนวิปริตไป ไม่บูรณาการกับส่วนอื่น แต่มันพัฒนาเหมือนกัน มันพัฒนาของมันไปไม่ประสานกับใคร ก็เกิดเป็นคนพิการขึ้นมา อย่างที่ว่านี้เรียกว่าความไม่สมดุล อย่างร้ายแรงก็ทำให้ไม่อาจมีชีวิตอยู่ได้ หรืออย่างน้อยก็ทำให้ไม่อาจเป็นอยู่ด้วยดี นี่เป็นเรื่องของมนุษย์

ทีนี้ เรื่องธรรมชาติก็เหมือนกัน ธรรมชาติก็ประกอบขึ้นด้วยส่วนย่อย และหน่วยย่อยทั้งหลายต่างก็มีความเคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลง มีพัฒนาการเช่นเดียวกัน ส่วนประกอบย่อยทุกส่วนนั้น ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เป็นพืชอะไรก็ตามในสภาพแวดล้อมของเรา มันมีความเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน และโยงมาถึงมนุษย์ด้วย เพราะมนุษย์ก็เป็นองค์ร่วมอย่างหนึ่งในองค์รวมใหญ่

เพราะฉะนั้น ปัญหาของมนุษย์ก็เกิดจากการปฏิบัติผิดในระบบความสัมพันธ์อันนี้ด้วย เช่นว่า เราทำให้วงจรชีวิตของธรรมชาติสูญเสียไป ยกตัวอย่าง เราทำยาฆ่าแมลงขึ้น แล้วเอาไปฉีดในนา เสร็จแล้วแมลงตาย นกมากินแมลง นกตาย ต่อมาแมลงสร้างภูมิต้านทานยาฆ่าแมลงได้ดี ตายยากขึ้น แต่ไม่มีนกมากินแมลง เลยต้องฉีดยาฆ่าแมลงกันเรื่อยไป และต้องผลิตยาที่แรงมีพิษมากขึ้นๆ ด้วย ยิ่งกว่านั้น วงจรในธรรมชาติส่วนอื่นอาจจะย้อนกลับมาเป็นพิษแก่มนุษย์อีก เช่นว่า สัตว์เล็กๆ อย่างแมลงนี้ ถูกดีดีที. หรือถูกยาฆ่าแมลงแล้ว ไปโดนปลากิน ปลากินยาฆ่าแมลงเข้าไปแล้ว ปลานั้นมีพิษอยู่ข้างใน มนุษย์จับเอาปลานั้นมากินก็เกิดเป็นผลร้ายแก่มนุษย์ อาจจะเกิดเป็นมะเร็งขึ้นเป็นต้น อันนี้ก็เป็นเรื่องของธรรมชาติแวดล้อมที่ว่า ส่วนประกอบทุกอย่างมีความเชื่อมโยงอิงอาศัยซึ่งกันและกัน ซึ่งเมื่อมันประสานกลมกลืนแล้ว ธรรมชาติก็อยู่ด้วยดี มีความสมดุล แล้วก็เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ชีวิตมนุษย์ แต่ถ้าไม่สมดุลแล้วก็เกิดผลร้ายแก่ชีวิตมนุษย์

สังคมก็เช่นเดียวกัน สังคมก็ประกอบด้วยสถาบันหน่วยย่อยต่างๆ ทั้งที่เป็นรูปธรรม เช่น โรงเรียน สถาบันการเมือง ศาล ฯลฯ และสถาบันทางนามธรรม เช่น วัฒนธรรม เป็นต้น ถ้าส่วนประกอบต่างๆ เหล่านี้เชื่อมโยงประสานซึ่งกันและกันเกิดความสมดุล ก็เป็นสังคมที่ดำเนินไปด้วยดี

ในที่สุด ทั้งมนุษย์ทั้งธรรมชาติและสังคมนี้ ซึ่งแต่ละหน่วยเป็นระบบบูรณาการที่มีพัฒนาการของตัว ก็จะต้องมาประสานกันทั้งหมดอีกชั้นหนึ่ง ให้เป็นมนุษย์ที่อยู่ร่วมกันในสังคมท่ามกลางสภาพแวดล้อมของธรรมชาติที่มีบูรณาการ โดยต่างก็พัฒนาการไปอย่างได้สมดุล ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วทุกอย่างจะดำเนินไปด้วยดี นี่คือแม่แบบรวมใหญ่ของระบบบูรณาการที่มีพัฒนาการ ซึ่งจะต้องใช้ในการแก้ปัญหาของยุคสมัยต่อไป มนุษย์สมัยต่อไปนี้จะต้องมีความเข้าใจในเรื่องนี้ให้ดี

ความคิดเรื่องบูรณาการในขอบเขตที่สมบูรณ์ก็เป็นอย่างนี้ จึงเป็นอันว่า เราจะต้องมีบูรณาการท่ามกลางพัฒนาการ เพราะถ้าพัฒนาการโดยไม่บูรณาการก็ต้องวิปริต หรือแตกสลาย ต้องเกิดปัญหา เช่น เป็นมนุษย์ที่เกิดเป็นเนื้องอก เป็นมะเร็ง เป็นต้น อย่างที่ว่าเมื่อกี้นี้ เพราะมีความไม่สมดุล มีความขัดแย้งเกิดขึ้น ซึ่งเราบอกได้ว่า นี่แหละเป็นปัญหาของสังคมปัจจุบันที่มีพัฒนาการโดยไม่บูรณาการ เป็นปัญหาใหญ่ของโลกหรือสังคมปัจจุบัน

ทีนี้ ถ้าไม่บูรณาการพร้อมไปกับพัฒนาการ ก็เป็นบูรณาการอยู่ไม่ได้ เพราะบูรณาการจะคงเป็นบูรณาการอยู่ได้อย่างไร ในเมื่อหน่วยย่อยทุกส่วนมันเปลี่ยนแปลงไป องค์รวมจะคงอยู่อย่างเดิมไม่ได้ เช่นในองค์รวมคือตัวมนุษย์นี้ ร่างกายทุกส่วนก็เปลี่ยนแปลงไป จิตใจก็เปลี่ยนแปลงไป เด็กเปลี่ยนเป็นผู้ใหญ่แล้วไม่บูรณาการในสภาพใหม่ จะคงสภาพบูรณาการอยู่อย่างเดิม มันอยู่ไม่ได้ หรืออย่างว่า เรามีพัฒนาการในทางคุณธรรมภายใน จนกระทั่งปุถุชนกลายเป็นอริยชนไปแล้ว ระบบบูรณาการมันก็เปลี่ยนไปใหม่ หรืออย่างสังคมของเรานี้ จะบูรณาการอยู่ในสภาพอย่างเดิมไม่ได้ เพราะว่าในสังคมนั้น ประชากรก็เพิ่มขึ้น ความเจริญทางเทคโนโลยีก็ก้าวหน้าไป สิ่งประดิษฐ์สร้างสรรค์ของมนุษย์ก็มากขึ้น ความเป็นอยู่ของคนก็เปลี่ยนไป ทรัพยากรก็น้อยลง สัตว์อื่นและพืชทั้งหลายก็เปลี่ยนแปลงไป เป็นต้น เป็นเรื่องที่ว่า พัฒนาการมันมีอยู่เรื่อย ฉะนั้น บูรณาการก็จะต้องดำเนินไปพร้อมกับพัฒนาการด้วย จะต้องตามให้ทันซึ่งกันและกัน เป็นอันว่า ได้พูดเรื่องบูรณาการมาโยงถึงพัฒนาการแล้ว ให้เห็นว่า บูรณาการนั้น สำหรับระบบของมนุษย์ซึ่งสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมและสังคม จะต้องเป็นบูรณาการที่ไปพร้อมกับพัฒนาการ

บูรณาการในการศึกษา

ทีนี้ ลองหันมาดูระบบบูรณาการส่วนย่อยลงมา ขอย้อนมองเฉพาะให้แคบลงคือเรื่องการศึกษา ในการศึกษาที่ผ่านมานี้ เราได้เน้นพัฒนาการกันมาก เช่นว่า ในพัฒนาการของคนคนหนึ่งก็อาจจะมีนักการศึกษาที่แยกพัฒนาการออกไปเป็น ๔ ด้าน คือ พัฒนาการทางด้านกาย พัฒนาการทางด้านสังคม พัฒนาการทางด้านอารมณ์ พัฒนาการทางด้านปัญญา ๔ อย่างนี้เอามาจากฝรั่ง ฝรั่งบอกว่า ต้องมี

  1. Physical Development คือ พัฒนาการทางกาย
  2. Social Development คือ พัฒนาการทางสังคม
  3. Emotional Development คือ พัฒนาการทางอารมณ์
  4. Intellectual Development คือ พัฒนาการทางปัญญา

อันนี้เราใช้แบบฝรั่งมานาน เพิ่งมาพบเมื่อไม่นานนี้เอง ไปๆ มาๆ ปรากฏว่ามีอยู่ในคัมภีร์พุทธศาสนา ตรงกันเลย คือมีคำอธิบายอยู่ว่า พระพุทธเจ้าเป็นภาวิตัตตะ แปลว่า ผู้มีตนที่ได้พัฒนาแล้ว แล้วท่านก็อธิบายว่า พัฒนาแล้วอย่างไร มีตนพัฒนาแล้ว คือ

  1. ภาวิตกาโย มี กายภาวนา คือ มีการพัฒนากาย
  2. ภาวิตสีโล มี ศีลภาวนา คือ มีการพัฒนาศีล ศีล คือ การอยู่ร่วมกันด้วยดีในสังคม เป็นพัฒนาการในการสัมพันธ์ ทางสังคม
  3. ภาวิตจิตโต มี จิตภาวนา คือ มีพัฒนาการทางจิตใจ พัฒนาการทางจิตใจในด้านของ heart ฝรั่งเขาเรียกว่า Emotional เป็นด้านอารมณ์ ที่แท้ก็คือเรื่องของจิตใจ
  4. ภาวิตปัญโญ มี ปัญญาภาวนา คือมีพัฒนาการทางด้านปัญญา แต่ของเราไม่ใช้ว่า Intellectual Development เราใช้ว่า Wisdom Development

ตกลงว่า ไปๆ มาๆ เพิ่งมาพบว่า ที่เราเอามาจากฝรั่งเรียกว่า พัฒนาการ ๔ อย่างนั้น ที่แท้ก็มีอยู่แล้วในคัมภีร์พุทธศาสนาที่เก่าแก่ แต่ไม่ได้เอาออกมาใช้ เป็น ๔ อย่างเหมือนกัน ความหมายก็มีความกว้างแคบกว่ากันนิดหน่อย เช่น กายภาวนา หรือพัฒนากายของพุทธศาสนา ท่านบอกว่าหมายถึงการพัฒนา ความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมด้านกายภาพ ไม่เฉพาะการพัฒนาร่างกายให้แข็งแรงมีสุขภาพดีหรือพัฒนาทักษะเท่านั้น แต่หมายถึงความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพทั้งหมด ซึ่งจะต้องมีการพัฒนาให้สัมพันธ์อย่างถูกต้อง ส่วนสามข้อต่อจากนี้ไปคล้ายกันมาก แต่มีขอบเขตความกว้างแคบกว่ากันบ้าง อันนี้ก็เป็นการพูดนอกเรื่องไปหน่อย แต่รวมความแล้วก็คือ ในระยะที่ผ่านมา เราไปเน้นด้านพัฒนาการกันมาก

อย่างไรก็ตาม นักปราชญ์ที่พูดถึงพัฒนาการหลายท่าน ในหลายกรณี ก็มีความสำนึกในบูรณาการอยู่ด้วยพร้อมกัน เช่นจะมองเห็นว่า พัฒนาการทั้ง ๔ ด้าน อิงอาศัยซึ่งกันและกัน และต้องไปด้วยกัน ซึ่งในพระพุทธศาสนานั้นแน่นอนที่จะต้องเน้นว่า พัฒนาการทั้ง ๔ นี้มีความเชื่อมโยงอิงอาศัยซึ่งกันและกัน และเสริมซึ่งกันและกัน แต่ในเมื่อเราไม่ได้นำออกมาพูดให้ชัด ไม่เน้น ไม่ย้ำ ก็ปรากฏว่า ในหลายกรณีอีกเหมือนกัน เรามองข้ามบูรณาการไปเลย บูรณาการนี้ไม่ได้เอามาใช้ หรืออย่างน้อยไม่ได้เอามาเน้นให้ปรากฏชัดขึ้นในวงการศึกษา เพราะฉะนั้น ในวงการศึกษาเท่าที่เป็นมา ก็เลยปรากฏสภาพของการขาดบูรณาการทั่วไปหมด ซึ่งก็เป็นลักษณะที่สอดคล้องกับยุคอุตสาหกรรม

เริ่มต้นทีเดียว ในระดับองค์รวมใหญ่ หรือในระบบบูรณาการที่กว้างขวางที่สุดก็คือ การศึกษาเป็นภาระของใคร การสอนเป็นภาระของใคร ถ้าพูดโดยองค์รวมแล้วมีหลายส่วน คือสถาบันในสังคมหลายสถาบันจะต้องร่วมกันรับผิดชอบในการศึกษา โดยเฉพาะสถาบันครอบครัวหรือบ้านกับวัด และชุมชน

ในวงกว้าง สื่อมวลชน จนกระทั่งถึงโรงเรียน มีหน้าที่ร่วมกันในการที่จะให้การศึกษาให้การสอนแก่เด็ก ซึ่งถ้าทำงานร่วมกันครบทุกองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องแล้ว ก็จะเกิดบูรณาการกันขึ้น แต่ในสังคมที่ผ่านมานี้ โรงเรียนได้เป็นผู้ชำนาญพิเศษในการให้การศึกษา ส่วนสถาบันอื่นก็มีความโน้มเอียงที่จะโยนภาระในการให้การศึกษาแก่โรงเรียน จนกระทั่งกลายเป็นว่า โรงเรียนแทบจะผูกขาดการศึกษาไป ซึ่งที่จริงโรงเรียนก็อาจจะไม่ได้ต้องการที่จะผูกขาดเสียทีเดียว ครูอาจารย์ไม่ได้ต้องการที่จะผูกขาด แต่มันจะเป็นไปเอง เพราะว่าสังคมนี้โยนภาระให้ หรือแนวทางการบริหารประเทศชักนำให้เป็นไป ซึ่งเป็นลักษณะของสังคมอุตสาหกรรมเองที่ว่า สังคมจะแยกเป็นหน่วยย่อยที่แต่ละหน่วยชำนาญพิเศษในด้านของตนๆ ตัวอย่างหนึ่งที่จะมองเห็นไม่ยาก คือสื่อมวลชน ซึ่งมีอิทธิพลมากในการศึกษา แต่เมื่อสื่อมวลชนไม่เอาใจใส่รับผิดชอบต่อบทบาทของตนในการศึกษานั้น ผลจะเป็นอย่างไร นี่เป็นการขาดบูรณาการเริ่มแรกทีเดียวในระบบที่กว้างขวางที่สุด เพราะว่าผู้มีส่วนร่วมในการศึกษาไม่ได้เข้ามาร่วมให้การศึกษาด้วย

ทีนี้ต่อไป ในระดับการเรียน วิชาการต่างๆ ที่เล่าเรียนก็แตกแยกออกไปเป็นเฉพาะด้านอย่างที่พูดข้างต้นแล้ว แต่ละสาขาเจริญในแนวทางที่ตรงออกไป ตรงออกไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด แต่ละวิชา ผู้ที่อยู่ในสาขาวิชาของตัวก็ต้องพยายามค้นคว้า คิดค้น พัฒนาวิชาการของตนให้เจริญออกเรื่อยๆ ไป ถือว่าการเจริญแบบนั้นคือความสมบูรณ์ ซึ่งที่จริงไม่มีความสมบูรณ์เกิดขึ้น ในแง่หนึ่ง ก็เป็นการดีที่ก้าวหน้า แต่ที่ผิดพลาดก็อย่างที่ว่ามาแล้ว คือ วิชาการเหล่านั้นแต่ละฝ่าย แต่ละสาขา ต่างก็พัฒนากันไปโดยไม่มาโยง ไม่มาประสานเข้าด้วยกัน จึงเกิดผลร้ายอย่างที่กล่าวมา นี่ก็คือการขาดบูรณาการในระดับที่ซอยลงไป

ทีนี้ต่อไปอีก ขอยกวิชาหนึ่งเป็นตัวอย่าง วิชาจริยศึกษา ซึ่งโดยสภาพของมันเองเป็นวิชาที่จะต้องบูรณาการมากที่สุด เพราะเป็นวิชาที่ต้องเรียนด้วยชีวิต ก็พลอยถูกจัดให้เป็นวิชาเฉพาะไปด้วย ครูจะต้องมีความชำนาญพิเศษ กลายเป็นว่า เราต้องมีครูจริยศึกษาต่างหากจากครูอื่น เป็นครูที่ชำนาญพิเศษในเรื่องจริยธรรม นี่ก็กลายเป็นปัญหา คือว่า แม้แต่วิชาจริยศึกษาก็ถูกแยกเป็นวิชาเฉพาะ

วิชาจริยศึกษาไม่เหมือนวิชาการอื่นๆ ทำไมจึงบอกว่าเป็นวิชาที่ต้องการบูรณาการมากที่สุด วิชาการอื่นๆ นั้นมีอยู่หลายสาขาที่เราสามารถแยกได้ เพราะคนแต่ละคนจะเอาวิชานั้นไปหาเลี้ยงชีพเฉพาะอย่าง เช่น คนเรียนวิศวกรรมจะไปเป็นวิศวกร เขาก็เรียนเฉพาะวิศวกรรมได้ คนเรียนสถาปัตยกรรมจะไปเป็นสถาปนิก ก็เรียนเฉพาะสถาปัตยกรรมได้ เขาอาจจะเรียนเศรษฐศาสตร์ไปเป็นนักเศรษฐกิจ เขาอาจจะเรียนการเมืองไปเป็นนักปกครอง วิชาเหล่านี้ไม่ต้องการความสัมพันธ์ระหว่างกันมากนัก โดยเฉพาะวิชาที่เป็นพวกวิทยาศาสตร์ในยุคอุตสาหกรรมจะมีความชำนาญพิเศษเฉพาะได้มาก เพราะฉะนั้น คนก็อาจจะไปประกอบอาชีพเฉพาะวิชานั้นๆ โดยไม่ต้องการความรู้ด้านอื่น แต่ทุกคนจะต้องมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน ความต้องการที่เหมือนกันก็คือ ทำอย่างไรจึงจะดำเนินชีวิตอยู่ด้วยดี ทำอย่างไรจึงจะนำวิชาการนั้นๆ ไปใช้ประโยชน์ให้ดี นี้คือจริยศึกษา

ถ้าจะเป็นวิศวกรก็ควรเป็นวิศวกรที่ดีมีความรับผิดชอบ ก็ต้องการจริยศึกษา เป็นสถาปนิกก็ควรเป็นสถาปนิกที่มีคุณธรรม ก็ต้องการจริยศึกษา ทางการแพทย์ก็ต้องการแพทย์ที่มีคุณธรรม ก็ต้องมีจริยศึกษาเหมือนกัน ฉะนั้น จริยศึกษาจึงเป็นวิชาที่ต้องบูรณาการเข้าในทุกวิชา แต่ก็พลอยถูกจัดเป็นวิชาชำนาญพิเศษเฉพาะไปด้วย ก็เลยเป็นวิชาต่างหากไปในที่สุด เมื่อแยกเป็นวิชาชำนาญพิเศษอย่างนี้ มันก็เสี่ยงต่อการที่จะกลายเป็นวิชาท่อง วิชานกแก้วไป ไม่เข้ากับชีวิตที่แท้จริง นี่ก็เป็นปัญหา

ทีนี้มาในปัจจุบัน เราได้เริ่มเน้นเรื่องบูรณาการกันมากขึ้น อย่างที่กล่าวมาแล้วว่า เราได้เริ่มมีการจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการ แต่เท่าที่ทราบ การบูรณาการซึ่งมีในหลักสูตร และการสอนนี้ ก็เพิ่งมีในระดับประถมศึกษาเท่านั้น นี่ก็เป็นการเริ่มต้นและก็เพิ่งได้นิดเดียว ทีนี้ปัญหาว่าต่อไปเราจะทำอย่างไร ถ้าเรายอมรับความจริงในเรื่องบูรณาการว่ามีความสำคัญแล้ว ในโลกยุคต่อไปนี้ ถ้าสังคมเขามีความต้องการอย่างนี้ สังคมมีแนวโน้มแล้วว่าจะต้องให้สิ่งทั้งหลายมีบูรณาการ วงการศึกษาจะมองในแง่ทำงานให้สัมพันธ์กับความเป็นจริงก็ตาม หรือจะสนองความต้องการของสังคมที่มีทรรศนะแบบบูรณาการก็ตาม นักการศึกษาก็จะต้องทำอันนี้ให้ได้ คือจะทำอย่างไรให้เกิดบูรณาการขึ้น นี่ก็เป็นปัญหา

ทีนี้ในชั้นประถมศึกษา หลักสูตรและการสอนแบบบูรณาการก็ยังง่ายอยู่ แต่ยิ่งชั้นสูงขึ้นไป ภาวะที่เป็นเรื่องของความชำนาญพิเศษ หรือ specialization ก็ยิ่งมากขึ้น แล้วความชำนาญพิเศษนี้ ในระดับสูงอย่างอุดมศึกษา ก็ยิ่งมีความจำเป็นที่จะสนองความเจริญก้าวหน้าของยุคอุตสาหกรรม หรือยุคเทคโนโลยีนี้ด้วย การบูรณาการก็เลยรู้สึกเป็นปัญหาที่ว่าจะทำได้ยาก ทีนี้จะทำอย่างไรก็เป็นเรื่องที่ไม่ใช่ว่าจะสำเร็จเสร็จสิ้นด้วยความคิดของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของปัญหาที่จะต้องฝากไว้ว่า ต่อไปเราจะบูรณาการกันอย่างไร

การสอนจริยศึกษาแบบบูรณาการ

จริยศึกษาเป็นเรื่องที่จะต้องบูรณาการมากที่สุดในบรรดาวิชาการทั้งหลาย แต่เราจะให้จริยธรรมนี้บูรณาการขึ้นได้อย่างไร มีผู้เสนอว่า จะต้องให้ครูทุกคนเป็นครูจริยศึกษา คือให้ครูที่สอนวิชาซึ่งชำนาญพิเศษเฉพาะด้านๆ ทั้งหลายนี้แหละ ทุกคนเป็นครูจริยศึกษาไปด้วย ซึ่งเราตอบได้ว่า ถ้าเป็นได้ก็ดีซิ แต่ทีนี้มันเป็นจริง หรือเป็นได้หรือเปล่า ปัญหาปัจจุบันก็คือว่า เรื่องนี้เป็นสภาพที่ห่างจากความเป็นจริงอย่างไกลลิบทีเดียว ถ้าหากว่าเราจะทำอะไรโดยไม่สัมพันธ์กับสภาพความเป็นจริงแล้ว มันจะเป็นสิ่งที่ปฏิบัติไม่ได้

แม้แต่ในขณะนี้ที่มีการแบ่งแยกความชำนาญ ให้มีครูจริยศึกษาเป็นการเฉพาะ เราก็ยังมีปัญหาว่าจะหาครูจริยศึกษาที่ดีได้อย่างไร แม้แต่ครูที่ชื่อว่าชำนาญพิเศษด้านจริยศึกษาอยู่แล้ว ก็ยังหาผู้ที่มีคุณสมบัติสมหวังได้ยาก ครูที่สอนวิชาอื่นนั้น ก็เห็นกันอยู่ว่า จำนวนมากทีเดียวไม่เอาใจใส่เรื่องจริยธรรมเลย แล้วจะให้ทำหน้าที่อย่างที่คิดฝันได้อย่างไร เพราะฉะนั้น จะทำอย่างไร วิธีการอย่างหนึ่งก็คือ ทำอย่างไรจะใช้สิ่งที่มีอยู่แล้วให้เป็นประโยชน์ให้มากที่สุด นี่ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่น่าพิจารณา

ถ้าเราจะใช้สิ่งที่มีอยู่แล้วให้เป็นประโยชน์ให้มากที่สุด วิธีการอย่างหนึ่งก็คือ เราจะต้องมองความหมายของจริยศึกษาและจริยธรรมกันใหม่ในขอบเขตที่กว้างขวางกว่าเดิม เข้าใจว่าที่ผ่านมานี้เรามองความหมายของจริยศึกษาและจริยธรรมแคบมาก มองว่าเป็นวิชาเกี่ยวกับการประพฤติตัว การดำรงตน ความสัมพันธ์ที่ดีในทางสังคม อะไรทำนองนี้ ซึ่งมันก็ถูก แต่พูดได้ว่า มันเป็นเพียงด้านหนึ่งหรือแง่หนึ่งของจริยธรรมหรือจริยศึกษาเท่านั้น

ขอย้ำว่า จริยศึกษานั้นเป็นตัวจัดการประสานกลมกลืนให้วิชาการต่างๆ เข้ามาเกิดความสมดุลกัน เรียกว่า เป็นตัวบูรณาการวิชาอื่นๆ ทั้งหมด ถ้าเรามองจริยศึกษาให้กว้างดังที่ว่ามานี้ เราจะมองในแง่ที่ว่า จะทำอย่างไรให้องค์ประกอบในฝ่ายมนุษย์ก็ดี องค์ประกอบทางด้านสังคมก็ดี และองค์ประกอบทางด้านสภาพแวดล้อมก็ดี เกิดความประสานกลมกลืนกัน เพื่อให้มนุษย์เป็นอยู่อย่างดี การทำให้รู้และฝึกฝนวิธีการอยู่ร่วมประสานด้วยดีกับสภาพแวดล้อมของธรรมชาติ และสภาพสังคม โดยที่ทั้งมนุษย์ และสังคม และธรรมชาติ ต่างก็ดำรงอยู่และงอกงามไปด้วยกันด้วยดี อย่างนั้นนั่นแหละคือ จริยศึกษา แม้แต่จะมองแคบเข้ามาเฉพาะตัวมนุษย์ว่า มนุษย์จะปฏิบัติต่อชีวิตของตนเองอย่างไรในด้านกายและใจให้ประสานกลมกลืนกันอยู่อย่างดี แค่นี้ก็เป็นจริยศึกษาแล้ว

เพราะฉะนั้นจริยศึกษานี้แหละจึงเป็นวิชาที่สำคัญอย่างยิ่ง ถ้าเราจะยอมรับระบบบูรณาการ เพราะมันเป็นหลักวิชาที่จะช่วยประสานคนเข้ากับสภาพแวดล้อมและสังคมให้เกิดความเป็นอยู่อย่างดี เช่นว่า เราจะใช้ทรัพยากรอย่างไรให้เกิดคุณประโยชน์มากที่สุด นี่ก็เป็นจริยศึกษา เราจะใช้เทคโนโลยีอย่างไรให้เกิดผลดีแก่ชีวิต นี่ก็เป็นเรื่องจริยศึกษาทั้งสิ้น ทีนี้ถ้าเข้าใจความหมายของจริยศึกษาในความหมายที่กว้างอย่างนี้แล้ว วิชาจริยศึกษาก็เป็นวิชาที่จำเป็นมากในสังคมที่มีความเห็นและทรรศนะแบบบูรณาการ

ข้อพิจารณาต่อไปก็คือว่า ในเมื่อวิชาจริยศึกษานี้ยังเป็นวิชาเฉพาะอยู่ เราจะจัดการสอนอย่างไรให้ได้ผลทางบูรณาการ คำตอบก็คือ จะต้องสอนวิชาจริยศึกษาอย่างเป็นสนามรวมของวิชาทุกวิชา วิชาการทุกอย่างจะมีสนามรวมอยู่ที่จริยศึกษา

ตามปกติ จริยศึกษาอยู่ในหมวดสังคมศึกษา สังคมศึกษานั้นเป็นวิชาประเภทสนามรวมอยู่แล้ว วิชาอื่นๆ จะมาสัมพันธ์กันในวิชาสังคมศึกษา แต่จริยศึกษานี้เป็นจุดยอดในสังคมศึกษา เป็นสนามรวมทั้งหมดอีกทีหนึ่ง กล่าวคือจริยศึกษานี้ เป็นที่ฝึกการใช้โยนิโสมนสิการ ให้รู้จักคิดรู้จักพิจารณาและรู้เห็นถูกต้องตามจริงว่า คนจะปฏิบัติต่อวิชาการอื่นๆ อย่างไร จะเรียนวิชาอื่นอย่างไร จะเอามาบูรณาการในการดำเนินชีวิตของตนอย่างไร ในการที่จะพัฒนาวัตถุ พัฒนาเทคโนโลยี และพัฒนาสังคมอย่างไรให้เกิดผลดี นี่เป็นเรื่องของจริยศึกษาทั้งหมด ในความหมายที่กว้างขวาง ถ้าเราสามารถเอาวิชาจริยศึกษามาเป็นวิชาบูรณาการ เพื่อให้พัฒนาการของมนุษย์ทั้งหมดทุกด้าน เป็นพัฒนาการที่เป็นไปด้วยดี เกิดประโยชน์แก่มนุษย์ แก่สังคม และแก่ธรรมชาติทั้งหมดแล้ว มันก็จะเป็นจริยศึกษาที่มีคุณค่ามีความหมายขึ้น นี่ก็เป็นแง่หนึ่ง

ทีนี้ต่อไปอีกด้านหนึ่งในเมื่อเรายังแก้ปัญหาส่วนรวมไม่ได้ ก็แก้ปัญหาเป็นเรื่องๆ ไปก่อน ในขณะที่เรายังอยู่ในระบบของความชำนาญเฉพาะ ยังให้ครูสอนวิชาเฉพาะที่ชำนาญในสาขาของตน สำหรับวิชาจริยศึกษา ก็ให้ครูจริยศึกษาสอนแบบสนามรวมอย่างที่ว่ามาแล้วเท่าที่ทำได้ ส่วนวิชาอื่นๆ เราก็จะต้องให้ครูที่สอนในแต่ละวิชานั้น แม้จะสอนวิชาเฉพาะสาขาที่ตนชำนาญพิเศษ ก็ให้มีจิตสำนึกอยู่เสมอถึงหน้าที่และความสัมพันธ์ของวิชานั้นกับวิชาอื่นๆ ในระบบว่ามันมีความเชื่อมโยงกับวิชาอื่นอย่างไร ในการที่จะสัมฤทธิ์วัตถุประสงค์ของการศึกษา หรือในการที่ว่า วิชานี้จะมีส่วนร่วมช่วยในการพัฒนามนุษย์ ในการพัฒนาสังคม ให้มีการอยู่ร่วมกันด้วยดี มนุษย์จะอยู่ในสังคม และในระบบนิเวศวิทยาอย่างไร จึงจะเกิดผลดี วิชาทุกอย่างต้องสอนอย่างมีการประสานกลมกลืนสอดคล้องอย่างนี้ ครูทุกคนที่สอนวิชาเฉพาะจะต้องมีจิตสำนึกในบูรณาการด้วย เพื่อให้วิชาของตนไปสัมพันธ์กับวิชาอื่นๆ ตลอดจนสภาพสังคมและนิเวศภาวะที่เป็นจริง ตั้งต้นแต่ถิ่นที่ตนอยู่อาศัยออกไป

อีกข้อหนึ่งที่จะต้องมองกว้างออกไปก็คือ จะต้องมีการย้ำหน้าที่ของครอบครัว ชุมชน (ในชนบทจะต้องเน้นวัดให้มาก) และสื่อมวลชน เป็นต้น ในทางการศึกษาว่า แต่ละหน่วยมีหน้าที่ในการศึกษาด้วย ซึ่งในปัจจุบันนี้ก็มีการย้ำอยู่บ้าง แต่อาจจะต้องทำสม่ำเสมอและมากขึ้น มีผู้เสนอความเห็นว่า ต่อไปนี้ในโลกที่เจริญไป ถึงยุคที่ ๓ ที่เรียกว่า post-industrial หรือยุคหลังอุตสาหกรรม ซึ่งมีทรรศนะแบบบูรณาการแล้ว สังคมจะเปลี่ยนไป แม้แต่โรงเรียน หรือสถาบันการศึกษาก็จะหมดความเป็นผู้ชำนาญพิเศษในด้านการศึกษาด้วยการศึกษาจะถูกโยนกลับไปให้สถาบันครอบครัว นักวิเคราะห์สังคมบางคนมีความเห็นถึงอย่างนี้ มันอาจจะเป็นความเห็นที่กลายเป็นจริงก็ได้ แต่จะเป็นจริงหรือไม่จริงก็ตาม ในประเทศไทยคงจะอีกนาน

ในสังคมไทยคงจะเป็นจริงได้ยาก เพราะเรายังเจริญในระบบอุตสาหกรรมไปไม่ถึงไหน คือ สังคมที่เรากำลังพิจารณานี้เป็นสังคมที่เจริญมาในแนวทางของตัวเอง เขาผ่านยุคเกษตรกรรมมาเป็นยุคอุตสาหกรรม และกำลังผ่านยุคอุตสาหกรรมไปเป็นยุคหลังอุตสาหกรรม แต่ประเทศไทยยังไม่ผ่านสักยุคเดียว ยิ่งตอนนี้เป็นยุคเกษตรกรรมด้วย ยุคอุตสาหกรรมด้วย และกำลังจะเป็นยุคหลังอุตสาหกรรมด้วย พร้อมกันไปหมดเลย โดยเป็นยุคไหนไม่ได้สักยุคหนึ่ง ฉะนั้น ในสังคมไทยนี้จะมีสภาพที่ซับซ้อนมาก คนไหนพัฒนาสังคมอย่างนี้ได้คนนั้นเก่งมาก เก่งกว่าพวกที่พัฒนาประเทศอุตสาหกรรม หรือพัฒนาประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งมีองค์ประกอบไม่ซับซ้อนเท่าไร ระบบบูรณาการของสังคมไทยนี่ มีพัฒนาการที่ซับซ้อนมาก เพราะฉะนั้น คนที่พัฒนาสังคมไทย ทำให้เกิดบูรณาการได้ จึงมีความสามารถเป็นพิเศษ เป็นสิ่งที่ท้าทายความสามารถด้วย

เอาละ ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม มันก็เป็นภารกิจของสังคมไทย และเราก็จะพูดถึงบูรณาการในการศึกษาปัจจุบันเท่าที่ทำได้ แม้ว่าจะยังทำไม่ได้ ก็เป็นสิ่งที่ควรทำ ถึงจะเป็นเพียงความคิด ก็ปล่อยให้คิดกันก่อน คิดให้ชัดไว้ก็ยังดี ต่อไปอาจมีทางปฏิบัติ และช่วยกันหาทางปฏิบัติว่าจะให้เกิดผลจริงได้อย่างไร

บทที่ ๓
ระบบแห่งบูรณาการ

ทีนี้ก็อยากจะพูดย่อยลงไปอีกถึงเนื้อหา และการปฏิบัติ ในบูรณาการว่า เราจะเอาอะไรมาบูรณาการ และจะทำกันอย่างไร ขอย้ำอีกหน่อยหนึ่งว่า บูรณาการนั้นไม่เฉพาะจะทำในขอบเขตที่ครอบคลุมทั้งหมดหรือในระดับองค์รวมใหญ่สุดเท่านั้น แต่บูรณาการนั้นจะต้องทำในทุกระดับของพัฒนาการ คือ ในการพัฒนาแต่ละระดับ จะต้องมีภารกิจในการที่จะสร้างบูรณาการอยู่เสมอ จะต้องทำเรื่อยไปทุกระดับของพัฒนาการ และจะต้องทำในทุกขอบเขตหรือทุกขนาดที่บูรณาการได้ พูดง่ายๆ ว่า

  1. การบูรณาการนั้นจะต้องทำในทุกระดับของพัฒนาการ
  2. บูรณาการจะต้องทำในแต่ละส่วนหรือทุกส่วนทุกขนาดภายในองค์รวม

ข้อที่สอง หมายความว่า องค์รวมนั้นมันมีหน่วยย่อยหรือส่วนประกอบที่เป็นองค์รวมย่อยๆ ซ้อนกันลงไป เช่น ในร่างกายของมนุษย์ เราจะเห็นว่า คนนี้เป็นระบบบูรณาการใหญ่ และภายในระบบบูรณาการใหญ่นี้ ก็มีระบบบูรณาการย่อยมากมาย เช่น ระบบหายใจ ภายในระบบหายใจ ก็มีปอด มีหลอดลม มีอะไรต่างๆ ซึ่งแต่ละอย่างก็เป็นอีกระบบหนึ่งๆ ที่มีบูรณาการภายในตัว ในขอบเขตย่อยลงไปๆ หรือระบบทางเดินอาหาร ก็มีกระเพาะอาหาร ลำไส้และอะไรต่ออะไร ที่ต่างก็มีระบบบูรณาการของมัน หรือระบบประสาท ระบบสูบฉีดโลหิต ก็ล้วนแต่เป็นระบบบูรณาการทั้งนั้น ถ้าระบบเหล่านี้บูรณาการกันดีท่ามกลางพัฒนาการอย่างสมดุล ก็ประกอบกันเข้าเป็นระบบบูรณาการใหญ่ คือองค์รวมใหญ่ที่เป็นมนุษย์อีกทีหนึ่ง

การสร้างสรรค์เสรีภาพแบบบูรณาการ

เป็นอันว่า จะต้องมีบูรณาการในทุกระดับของพัฒนาการ และมีบูรณาการกันในทุกขนาดย่อยภายในองค์รวมใหญ่ ขอยกตัวอย่างบูรณาการในทุกระดับของพัฒนาการ เช่นว่า เราจะทำอะไรก็ตามในทางการศึกษานี้ สมมติว่าจะพัฒนาคุณสมบัติของมนุษย์ขึ้นมาสักอย่างหนึ่ง ถ้ามีความคิดแบบบูรณาการ ก็จะมีจิตสำนึกที่มองสิ่งซึ่งเราจะทำนั้น ว่าเป็นหน่วยย่อยหรือเป็นส่วนประกอบอย่างหนึ่งที่สัมพันธ์กับส่วนประกอบอื่นภายในองค์รวม เราจะมอง เราจะรู้สึกอย่างนี้ทันทีโดยอัตโนมัติ ต่อจากนั้น เราก็จะมองหาตัวประกอบอื่นที่สัมพันธ์กับมันเพื่อเอามาจัดมาทำด้วย

ยกตัวอย่างเช่น เราจะพัฒนาเสรีภาพ ในการพัฒนาเสรีภาพ เราจะนึกถึงแต่เพียงเสรีภาพอย่างเดียวไม่ได้ นี่เป็นทรรศนะแบบบูรณาการ เราจะต้องมองหาพิจารณาสำรวจว่า มีอะไรเกี่ยวข้องอีกบ้างที่จะมาเข้าร่วมกับเสรีภาพ เพื่อเป็นส่วนช่วยให้เสรีภาพเกิดเป็นจริงเป็นจังขึ้น ถ้าเราจะมีเสรีภาพที่ถูกต้อง เสรีภาพนั้นจะต้องสร้างขึ้นโดยประสานกับองค์ประกอบอื่นที่สัมพันธ์อิงอาศัยกับมันอยู่ เมื่อองค์ย่อยเหล่านั้นมาประกอบร่วมพร้อมกันแล้ว ก็จะทำให้เกิดความสมดุลแล้วเสรีภาพก็เป็นจริงขึ้นมาได้ องค์ประกอบต่างๆ ที่สร้างสมดุล จะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ตามระดับของพัฒนาการด้วย ในเมื่อองค์ประกอบร่วมกับเสรีภาพนี้ เปลี่ยนไปตามระดับของพัฒนาการ เราก็ต้องคอยตามดูว่าในพัฒนาการระดับใดองค์ประกอบร่วมไหนเปลี่ยนไป แล้วก็ตามบูรณาการกับองค์ประกอบที่เข้ามาใหม่เหล่านั้น จนกระทั่งในที่สุดก็ได้เสรีภาพที่แท้จริง คือค่อยๆ ก้าวหน้าไป ตั้งแต่เสรีภาพระดับต้น จนถึงระดับสูงสุดแห่งพัฒนาการของมนุษย์ที่เป็นเสรีภาพแท้จริงสมบูรณ์ นี่เป็นทรรศนะแบบบูรณาการ ฉะนั้น ในการสอนทุกอย่างขณะนี้ต้องมองแบบร่วมหมด ตั้งต้นแต่สอนจริยธรรมคุณธรรมข้อหนึ่งๆ ต้องดูว่ามันประสานกับองค์ประกอบอื่นอย่างไร ซึ่งเสรีภาพก็เป็นตัวอย่างดังที่ว่ามาแล้ว

เสรีภาพมีองค์ประกอบร่วมอื่นอะไรบ้าง ได้บอกแล้วว่า องค์ประกอบเหล่านี้ไม่คงที่ เปลี่ยนไปตามระดับของพัฒนาการ ซึ่งจะขอเสนอไว้ แต่ตอนแรกต้องเข้าใจความหมายของเสรีภาพก่อน เสรีภาพ คืออะไร เสรีภาพพูดได้ง่ายๆ ก็คือ การทำได้ตามใจ ไม่ต้องขึ้นกับใครอื่น อันนี้พูดง่าย การทำได้ตามใจ ไม่ต้องขึ้นกับใครอื่นนี้ จะมีองค์ประกอบอะไรเข้ามาบูรณาการ องค์ประกอบเหล่านี้ ถ้าพูดสรุปเพื่อให้เห็นความหมายกว้างๆ ก็คือ จะต้องมีตัวคุมภายนอกและตัวคุมภายใน ทั้งตัวคุมภายนอกและตัวคุมภายในนี้จะเปลี่ยนไปตามระดับของพัฒนาการ ตัวคุมนี้มี ๒ แบบ แบบหนึ่งมาในลักษณะ ขัดแย้งและถ่วงดุลซึ่งกันและกัน แล้วไปอีกระดับหนึ่ง จะเป็นองค์ประกอบหรือตัวคุมแบบที่ประสานกลมกลืนกัน และก็สมดุล แบบหนึ่งถ่วงดุล อีกแบบหนึ่งสมดุล แต่ผลก็คือความสมดุลนั่นเอง ต่อไปนี้จะนำเสนอแบบง่ายๆ

ขั้นที่ ๑ ขอเรียกว่าเป็นขั้นที่อยู่ในระดับถ่วงดุล ถ่วงดุลนี้มีลักษณะของการขัดแย้ง เสรีภาพนี้เกิดขึ้นเป็นคู่แย้งกับอะไร อันนั้นแหละคือตัวประกอบที่จะบูรณาการของมัน เสรีภาพที่ว่าคือการทำได้ตามใจไม่ต้องขึ้นกับใครอื่นนั้น ก็คือคู่แย้งกับการอยู่ใต้อำนาจผู้อื่น ซึ่งเป็นตัวบังคับบีบคั้นไม่ให้ทำได้ตามชอบใจ และนี่คือคู่แย้งที่เป็นองค์ประกอบร่วมในบูรณาการ การทำได้ตามชอบใจ กับการอยู่ใต้อำนาจคนอื่น เหมือนบวกหนึ่งกับลบหนึ่ง รวมกันเป็นศูนย์

เมื่อเราพูดถึงเสรีภาพ สิ่งที่มีอยู่แรกเริ่มก่อนพัฒนาการก็คือการอยู่ใต้อำนาจคนอื่นนี้ ซึ่งจะต้องถูกนำมาประกอบการพิจารณา เพราะฉะนั้น สิ่งแรกที่คู่กับเสรีภาพ เป็นคู่แย้ง เป็นเครื่องถ่วงดุล ก็คือการบีบบังคับด้วยกำลังอำนาจ คนเราเมื่อถูกบีบบังคับด้วยกำลังอำนาจ ก็จะมีการดิ้นรน นี่มองในแง่หนึ่ง แต่ถ้ามองในแง่ของฝ่ายบีบคั้นด้วยกำลังอำนาจเป็นหลัก ก็จะมีคู่แย้งเกิดขึ้น คือการดิ้นรนเพื่อเสรีภาพ เพื่อจะทำได้ตามใจ

ทีนี้ความหมายของการทำได้ตามใจไม่ต้องขึ้นกับใครอื่น ในตอนต้นนี่ยังเป็นความหมายอย่างหยาบๆ คือทำตามใจฉัน ใครจะเป็นอย่างไรก็ช่าง หรือทำได้ตามใจใครจะเป็นอย่างไรก็ช่าง อันนี้เป็นเสรีภาพเบื้องต้นเลย ถ้าหากว่ามีการทำได้ตามใจ ใครจะเป็นอย่างไรก็ช่างอย่างนี้ ก็ย่อมจะมีคู่แย้งของมันตัวเดิมไว้ถ่วงดุล นั่นก็คือการบีบบังคับด้วยการใช้กำลังอำนาจ อันนี้มันต้องคู่กันอยู่ ถ้ามนุษย์พัฒนาการอยู่ในระดับนี้ก็จะมีคู่แย้งแบบนี้อยู่เรื่อยไป แล้วมันก็สมดุลกันอยู่ แม้มันจะมีการพังทลายไปบ้าง แต่แล้วมันก็จะเกิดสมดุลขึ้นใหม่ เพราะมันมีการถ่วงดุลกันอยู่เสมอ

ทีนี้เสรีภาพที่เราต้องการ โดยเฉพาะที่เราเน้นในระบบประชาธิปไตย เป็นเสรีภาพแบบนี้ใช่หรือไม่ คงจะไม่ใช่ ถ้าหากว่าเราไม่ชอบการบีบคั้นด้วยกำลังอำนาจ เสรีภาพที่ว่าทำได้ตามใจใครจะเป็นอย่างไรก็ช่าง มันก็ใช้ไม่ได้เหมือนกัน อันนี้ตัดสินง่ายๆ ด้วยคู่สมดุล หรือคู่ถ่วงดุลที่เป็นองค์ประกอบร่วมในระบบบูรณาการ เพราะฉะนั้น เสรีภาพแบบนี้ไม่ใช่เสรีภาพที่จะใช้ในระบบประชาธิปไตย ระบบประชาธิปไตยไม่ใช่ระบบที่ใช้กำลังอำนาจบังคับ ถ้าเสรีภาพมีความหมายแค่นี้ ก็ยังอยู่ในระดับที่ไม่พัฒนาการ และไม่อาจจะมีประชาธิปไตย

ทีนี้ต่อมามีพัฒนาการมากขึ้นๆ คู่แย้งของเสรีภาพหรือการทำได้ตามใจก็เริ่มเปลี่ยนไป มนุษย์พัฒนาขึ้น มีทางเลือกอื่นนอกจากการบีบบังคับด้วยกำลังอำนาจ ซึ่งเป็นระบบพลการ โดยเริ่มมีกฎเกณฑ์เป็นกติกาของสังคมขึ้น อย่างที่เรียกต่อมาว่า กฎหมาย ถึงตอนนี้ก็จะมีการสร้างกฎหมายเป็นกติกาของสังคมขึ้นมา เพื่อจะควบคุมการทำได้ตามใจนั้นให้อยู่ในขอบเขต วิธีนี้ก็มีการลงโทษ คือ ใครละเมิดก็ลงโทษ นี่ก็เป็นคู่แย้ง ทำให้เกิดสมดุลอีกเหมือนกัน เป็นอันว่าเสรีภาพก็พัฒนาขึ้นมาอีกขั้นหนึ่งโดยมีคู่แย้งคือกติกาของสังคม ซึ่งใครละเมิดเกินขอบเขตก็ถูกลงโทษ เสรีภาพก็มีอยู่ในระดับของพัฒนาการที่มีคู่แย้งให้สมดุลแบบถ่วงดุล ที่พัฒนาขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง

ต่อไปคู่แย้งอีกอย่างหนึ่ง ได้แก่ระบบการคุ้มครองสิทธิส่วนตัว ซึ่งในสังคมที่ไม่พัฒนา ก็คือ การที่คนต่อคนจะมาคุมกันเอง เพราะว่าแต่ละคนก็จะทำตามใจของตน เมื่อทำตามใจตัวก็อาจจะไปละเมิดอีกคนหนึ่ง อีกคนหนึ่งก็ย่อมจะมีสิทธิส่วนบุคคลที่จะคุ้มครองตัวเองของเขา ก็จะไม่ยอมให้คนนี้ไปละเมิด ก็เกิดการขัดแย้งหรือตอบโต้ขึ้นมา ก็เกิดสมดุลโดยระบบวิธีของการใช้สิทธิส่วนบุคคล

การคุ้มครองตัวเองของแต่ละบุคคลนั้นแหละ เป็นระบบการสร้างสมดุลของเสรีภาพแบบหนึ่ง แต่ในระบบสมดุลของเสรีภาพที่พัฒนาขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง ระบบการคุ้มครองสิทธิส่วนตัวก็พัฒนาขึ้นมาด้วยโดยคู่เคียงกับกฎหมาย เช่นในประเทศที่พัฒนาแล้วบางประเทศ จะเห็นว่าระบบการคุ้มครองสิทธิส่วนตัวนี้มีการใช้ในขอบเขตที่กว้างขวาง และเป็นไปอย่างแพร่หลายมาก กล่าวคือ ใครจะละเมิด ใครจะทำอะไรตามใจก็ไม่ว่า แต่อย่ามาละเมิดฉันนะ ถ้าละเมิดฉันละก็ฉันจะ ซู (sue) นะ ในประเทศที่พัฒนาแล้ว จะมีระบบทำนองนี้เข้ามาช่วยในการถ่วงดุลของการใช้เสรีภาพด้วย ฉะนั้น สำหรับประเทศที่พัฒนาแล้วนี้ เราจะต้องมองให้ดีว่า เขามีอะไรเป็นเครื่องช่วยในการถ่วงดุล แม้แต่ประเทศที่มีประชาธิปไตยเจริญแล้ว เราก็ยังพบเห็นว่า บางครั้งการรักษาสิทธิส่วนบุคคลนี้เป็นไปอย่างสูงมากทีเดียว มีการ "sue" กันอย่างมากเหลือเกิน ละเมิดสิทธิอะไรกันหน่อยไม่ได้ อันนี้ก็เป็นตัวคุมและคานการใช้เสรีภาพอีกอย่างหนึ่ง จัดอยู่ในประเภทตัวคุมภายนอก และก็เป็นพัฒนาการในอีกระดับหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องของคู่แย้งที่ถ่วงดุลซึ่งกันและกัน

อย่างไรก็ตามมนุษย์ยังมีพัฒนาการต่อมาอีก ไม่ได้หยุดแค่นี้ พัฒนาการอีกขั้นหนึ่ง ก็คือ เสรีภาพที่ต้องการในระบบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นเสรีภาพที่มีความหมายลึกซึ้งกว่านี้ เป็นระบบสมดุลที่จะต้องเข้าไปถึงตัวคุมภายใน ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นการพัฒนาของเสรีภาพในขั้นที่สอง ซึ่งเป็นระดับของสมดุลที่แท้จริง

ขั้นที่ ๒ เสรีภาพที่พัฒนาขึ้นมาถึงขั้นตัวคุมภายในเป็นอย่างไร ตัวคุมภายในพูดง่ายๆ ก็คือ การปกครองตนเองได้ เมื่อมนุษย์ปกครองตนเองได้ มนุษย์ก็รู้จักใช้เสรีภาพ การตามใจตนเองก็จะมีขอบเขตโดยตัวของมันเอง การปกครองตนเองได้นี้สัมพันธ์กับอะไร สัมพันธ์กับการเป็นอยู่ด้วยปัญญา หรือการใช้ปัญญา คือ รู้จักพิจารณาใช้เหตุผล เข้าใจว่าอะไรถูก อะไรผิด อะไรสมควร อะไรไม่สมควร การล่วงละเมิดต่อผู้อื่นถูกต้องหรือไม่ การทำตามใจตัวเราผู้เดียว ใครจะเป็นอย่างไรก็ช่าง เป็นการกระทำที่ถูกหรือผิดเป็นต้น ซึ่งหมายถึงความมีอิสรภาพและสมรรถภาพในทางจิตใจของตัวเอง แล้วจึงแสดงออกมาภายนอกเป็นความสามารถในการแสดงออกอย่างมีเหตุผล ในกรณีเช่นนี้ เสรีภาพในการแสดงออกนั้น มีตัวคุมภายใน คือการปกครองตนเองได้ พร้อมทั้งความสามารถในการแสดงออกอย่างมีเหตุผล ซึ่งเป็นตัวคุมที่ทำให้เสรีภาพอยู่ในขอบเขตที่ถูกต้องในทันที

นอกจากนั้น ในเวลาเดียวกันนี้ ก็อาจจะมีตัวคุมที่ประสานอยู่ข้างนอกพร้อมกับตัวคุมภายในด้วย โดยเฉพาะก็ได้แก่ ระเบียบวินัย ในสังคมที่พัฒนาแล้ว และในประชาธิปไตยแบบที่ต้องการ เสรีภาพจะเป็นไปพร้อมกับความมีระเบียบวินัย และพร้อมกันนั้น ก็จะมีความเคารพ เช่น ความเคารพในคุณค่าและศักดิ์ศรีของผู้อื่น การเคารพสิทธิของผู้อื่น การเคารพต่อที่ประชุม การเคารพต่อคนทุกคน อย่างน้อยที่เห็นง่ายๆ ก็คือ การเคารพความคิดเห็นของผู้อื่น และการรับฟังผู้อื่น การเคารพผู้อื่น รับฟังผู้อื่น เป็นต้นนี้ เป็นตัวคุมร่วมภายในให้เสรีภาพอยู่ในขอบเขตที่ถูกต้อง

เมื่อมนุษย์พัฒนาขึ้นมาอย่างดีแล้ว องค์ประกอบร่วมกับเสรีภาพก็มีขึ้น เช่น ความเคารพผู้อื่น ความสามารถในการแสดงออกอย่างมีเหตุผล และรู้จักรับฟังเขา องค์ธรรมเหล่านี้ กลายเป็นตัวคุมภายในที่ประกอบกับเสรีภาพ ทำให้เกิดสมดุล เป็นเสรีภาพที่ถูกต้อง ซึ่งไม่ต้องอาศัยตัวคานหรือตัวคุมที่เป็นคู่ขัดแย้งจากภายนอก ถ้าคนเป็นอย่างนี้ คือพัฒนามาจนมีเสรีภาพแบบนี้แล้ว ก็เป็นอันว่า ไม่ต้องใช้การบีบบังคับด้วยกำลังภายนอก การลงโทษด้วยกฎหมายก็ไม่ต้องมี การใช้สิทธิส่วนตัวคอยคานกันก็ไม่ต้องมี ถ้าหากว่าพัฒนาได้จริงๆ อย่างนี้ ก็เป็นการสร้างบูรณาการในระดับของพัฒนาการที่สูงสุด นี้เป็นตัวอย่างซึ่งแสดงให้เห็นว่า เสรีภาพนั้นต้องสร้างขึ้นโดยมีบูรณาการ โดยทำให้เหมาะให้ถูกต้องกับกระดับของพัฒนาการนั้นๆ

ในเรื่องการพัฒนาเสรีภาพที่ยกเป็นตัวอย่างนี้ ขอตั้งข้อสังเกตไว้ดังนี้

ข้อสังเกตที่ ๑ พัฒนาการของเสรีภาพ เป็นการพัฒนาจากความสมดุลหรือถ่วงดุลแบบคู่ขัดแย้ง มาเป็นการสมดุลโดยความประสานกลมกลืนขององค์ประกอบภายใน โดยเริ่มจากการมีตัวคุมภายนอก แล้วเปลี่ยนมาเป็นตัวคุมภายใน ถ้าพูดด้วยภาษาทางพระก็คือ มันเริ่มพัฒนามาจากการปล่อยตัวตามกิเลส คือการตามใจตนเอง ใครจะเป็นอย่างไรก็ช่าง ปล่อยตัวให้เป็นไปตามความโลภ ความอยากได้ของตัวเอง ตามความโกรธ ตามโทสะ ตามโมหะของตัวเอง มีโทสะอย่างไรก็จะแสดงออกไป มีความหลงอย่างไรก็จะแสดงออกไป ซึ่งเราเรียกว่าเป็นทาสภายใน คนที่ใช้เสรีภาพตามอำนาจกิเลสก็คือคนที่เป็นทาสภายใน จิตใจเป็นทาสของกิเลส แล้วก็แสดงออกมาภายนอกตามอำนาจของกิเลสนั้น เพื่อจะแสดงตนว่ามีเสรีภาพภายนอก

ทีนี้ต่อมา เมื่อพัฒนาการมากขึ้น ในที่สุดก็พ้นจากอำนาจกิเลส องค์ประกอบที่ทำให้พ้นจากอำนาจกิเลสในขั้นต้น คือ ฉันทะ หมายถึง ความใฝ่รู้ ใฝ่ความจริง ใฝ่ความดีงาม และโยนิโสมนสิการ คือการรู้จักคิด รู้จักพิจารณา ส่วนในขั้นสุดท้ายก็คือ ปัญญา ความรู้ ความเข้าใจ มองเห็นตามเป็นจริง ซึ่งทำให้เกิดอิสรภาพภายในขึ้น เมื่อมีอิสรภาพภายในแล้ว การใช้เสรีภาพก็เป็นไปอย่างถูกต้อง คือเสรีภาพที่ชอบธรรมของบุคคล เกิดจากเหตุปัจจัยที่ประสานกลมกลืนกันภายในตัวของเขาเอง นี่เป็นข้อสังเกตที่ ๑

ข้อสังเกตที่ ๒ ความหมายของเสรีภาพในแต่ละระดับของพัฒนาการนี้ โดยเฉพาะใน ๒ ขั้นใหญ่นั้น มันต่างกันไปเล็กน้อย เราจะเห็นว่าในขั้นต้น เสรีภาพ ได้แก่การทำได้ตามชอบใจ ใครจะเป็นอย่างไรก็ช่าง ทีนี้ ต่อมาเมื่อพัฒนาการสูงขึ้น เสรีภาพก็จะมีความหมายเป็นว่า การทำได้ตามใจ ของจิตใจที่เป็นอิสระโดยใช้ปัญญา หรือการทำได้ตามใจ โดยใช้ปัญญาในภาวะที่จิตมีอิสรภาพ

การเลียนแบบไม่ใช่การทำได้จริง

ข้อสำคัญก็คือ การจัดระบบบูรณาการในขั้นต่างๆ ของพัฒนาการ ซึ่งจะต้องจัดความสัมพันธ์ให้ดี มิฉะนั้นจะเกิดภาวะที่ขาดสมดุลขึ้น แล้วการพัฒนาเสรีภาพหรือการใช้เสรีภาพก็ผิดพลาดไร้ผล ไม่เป็นเสรีภาพที่แท้จริง ในสังคมที่พัฒนาเสรีภาพไม่ถูกต้อง ไม่เป็นไปอย่างมีบูรณาการ จะมีปัญหาในเรื่องการใช้เสรีภาพมาก

ถ้าจะพิจารณาอย่างในสังคมไทยของเรานี้ เราเอาทรรศนะเกี่ยวกับเสรีภาพแบบปัจจุบันนี้มาจากไหน เราต้องยอมรับว่า เราเอาความคิดหรือทรรศนะในเรื่องเสรีภาพแบบนี้มาจากตะวันตก โดยรับเอามากับระบบการปกครองแบบประชาธิปไตย อันนี้มองในแง่หนึ่งก็คือ เราเลียนแบบฝรั่ง แต่หลักการของระบบบูรณาการจะบอกเราทันทีว่า การเลียนแบบคนอื่น เป็นสิ่งที่ขัดกับระบบบูรณาการ เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ เพราะอะไร เพราะระบบบูรณาการบอกไว้แล้วถึงหลักความสมดุลที่ว่า การที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งจะเป็นไปได้ด้วยดีนั้น จะต้องประสานสอดคล้องกับองค์ประกอบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง องค์ประกอบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องมีอะไร จะต้องเข้ามาประกอบร่วม กันด้วยทั้งหมด ถ้าเราจะเอาเสรีภาพตามแบบอย่างของตะวันตก เราก็ต้องไปเอาองค์ประกอบของเสรีภาพที่มีอยู่ในสังคมตะวันตกมาใช้ให้ครบถ้วน เสรีภาพแบบที่ฝรั่งมี ซึ่งเป็นเสรีภาพที่ค่อนข้างจะดีนี้ มีตัวประกอบร่วมอะไรบ้าง เราก็จะเห็นว่า มันมีตัวประกอบร่วมอย่างที่ว่ามาเมื่อกี้ เช่น ความเคารพผู้อื่น การแสดงออกอย่างมีเหตุผล เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม สังคมทั้งหลาย แม้แต่สังคมที่พัฒนาแล้ว ก็ยังประกอบด้วยคนที่พัฒนาอยู่ในระดับต่างๆ กัน เพราะฉะนั้น จึงยังไม่สามารถที่จะใช้องค์ประกอบร่วมในขั้นเดียวกันได้ทั้งหมดสำหรับคนทุกคน ด้วยเหตุนี้ เราจึงเห็นได้ว่า ในประเทศเหล่านั้นจะมีตัวคุมทั้งภายนอก ภายใน หรือองค์ประกอบในระดับต่างๆ ดังนั้น ในประเทศที่พัฒนาแล้วเหล่านั้น ก็อาจจะมีการแสดงออกอย่างมีเหตุผล ความเคารพผู้อื่น และระเบียบวินัย แต่พร้อมกันนั้นก็ยังต้องมีระบบกฎหมาย มีกติกาของสังคม มีระบบการคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคลอยู่ด้วย เพราะคนยังมีพัฒนาการไม่เท่ากัน

อย่างไรก็ตาม องค์ประกอบเหล่านี้ เราต้องรู้ว่ามันเป็นองค์ประกอบร่วมของเสรีภาพ ถ้าเราจะทำให้เหมือนเขา เราก็ต้องเอาองค์ประกอบร่วมเหล่านั้นมาให้หมด แต่เราทำได้ไหม ในความเป็นจริงแล้วทำไม่ได้ เพราะว่าพื้นฐานวัฒนธรรมอะไรต่ออะไรก็ไม่เหมือนกัน และฝรั่งเองก็รู้จักตัวเองไม่หมด ฝรั่งเองมองตัวเองแล้วก็ยังดึงเอาลักษณะของตัวเองขึ้นมาชี้ให้เราเห็นได้ไม่ชัด ไม่ใช่ว่าเขาทำได้แล้วเขาจะรู้จักตัวว่าสิ่งที่เขาทำนั้นมีอะไรประกอบกันอยู่บ้าง ความจริง ฝรั่งเองก็ไม่รู้จักตัวเองอย่างสมบูรณ์ เพราะฉะนั้น เมื่อเราเอาจากเขามา องค์ประกอบบางอย่างจะขาดไป ก็ไม่ได้สมดุล ทำให้การเลียนแบบนี้เป็นไปไม่ได้

นอกจากนั้น ยังมีปัจจัยอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้ความสมดุลไม่อาจเกิดขึ้นได้ กล่าวคือ ตัวเราเองนี้มีวัฒนธรรมของตนเอง มีองค์ประกอบอื่นๆ ของเราเอง ซึ่งเมื่อนำเข้ามาร่วมกับพฤติกรรมแบบของเขาแล้ว เราจะมีองค์ประกอบบางอย่างที่เกินไป หรือขัดแย้งกับองค์ประกอบบางอย่างจากของเขา ก็เสียสมดุลอีก มันก็เป็นไปไม่ได้

เมื่อการเลียนแบบเป็นไปไม่ได้ ก็ต้องใช้อีกวิธีหนึ่ง คือ ดึงเอาสิ่งที่ดีของเขามา แล้วปรับตัวให้ได้ โดยใช้พื้นฐานของเรานี่แหละ พิจารณาเลือกด้วยความรู้เท่าทัน ดึงเอาองค์ประกอบที่ดีซึ่งเราต้องการในวัฒนธรรมของเขามา พร้อมกันนั้นก็จัดองค์ประกอบในพื้นฐานของเราเองที่เหมาะกัน เอามาปรับให้เข้ากัน พัฒนาตัวเองอย่างมีสมดุล หรือมีบูรณาการในแบบของเราเองที่จะเป็นผลดี

อันนี้ก็เป็นคติสอนใจว่า ไม่ใช่เฉพาะในเรื่องเสรีภาพเท่านั้น การเลียนแบบอะไรต่างๆ ทุกอย่างเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะขัดกับระบบบูรณาการเรื่องของมนุษย์ เช่นการเลียนแบบทางวัฒนธรรมเป็นต้นนี้ เป็นสิ่งซับซ้อน ไม่ใช่เป็นเรื่องที่จะทำได้ง่ายๆ เหมือนอย่างวัตถุทั้งหลาย เช่นเครื่องขยายเสียงหรือไมโครโฟนอันหนึ่ง จะได้มาเลียนแบบกันปุ๊บปั๊บ มันเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อนมากกว่านั้น

สาระของเสรีภาพ

ข้อต่อไปก็คือ นอกจากองค์ประกอบร่วมของเสรีภาพที่จะต้องเอาเข้ามาบูรณาการตามขั้นของพัฒนาการเพื่อให้เป็นเสรีภาพที่ถูกต้องแท้จริงแล้ว จะต้องคำนึงต่อไปอีกว่า จุดมุ่งหมายของเสรีภาพนี้เพื่ออะไร และเสรีภาพนั้นอยู่ที่ส่วนไหนของระบบบูรณาการใหญ่ คือระบบประชาธิปไตย การที่เรามีเสรีภาพนี้ เราต้องมีวัตถุประสงค์ เสรีภาพเป็นองค์ประกอบหนึ่งของระบบประชาธิปไตย แต่เรามีความชัดเจนหรือไม่ว่า เรามีเสรีภาพเพื่ออะไร ถ้าเราไม่มีความชัดเจนในวัตถุประสงค์ของเสรีภาพ เราก็จะไม่สามารถพัฒนาเสรีภาพอย่างได้ผลด้วยเหมือนกัน เพราะวัตถุประสงค์ของเสรีภาพก็มาสัมพันธ์กับเรื่องบูรณาการด้วย ในฐานะที่เสรีภาพนั้นเป็นองค์ประกอบร่วม ที่จะช่วยทำให้องค์รวม คือประชาธิปไตยมีความถูกต้องสมบูรณ์ในระดับของบูรณาการที่กว้างออกไป

สำหรับคำถามว่า วัตถุประสงค์ของเสรีภาพคืออะไร คำตอบในแง่หนึ่งก็คือ เสรีภาพนี้มีความมุ่งหมาย เพื่อให้ศักยภาพของบุคคลได้รับการเปิดเผยออกมา ถ้ามนุษย์ไม่มีเสรีภาพ ศักยภาพที่มีอยู่ก็อาจจะถูกกดกีดกั้นปิดบังไว้ ไม่ได้รับการพัฒนา ไม่มีโอกาสแสดงออก ไม่สามารถปรากฏออกมาได้ เมื่อเรามีเสรีภาพ ศักยภาพที่มีก็ได้รับช่องทางที่จะเผยตัวและมีโอกาสแสดงตัวออกมา เมื่อแสดงออกมาแล้ว ก็มีโอกาสได้รับการพัฒนาได้เต็มที่ คือ มีโอกาสพัฒนาตนหรือพัฒนาศักยภาพนั้นออกไป เช่น ในทางการศึกษา เสรีภาพในสถาบันการศึกษา ก็มีวัตถุประสงค์อย่างหนึ่ง เพื่อให้ผู้เรียนมีการเรียนรู้ได้เต็มที่ เต็มขีดแห่งสติปัญญาของตน เมื่อศักยภาพของบุคคลได้รับการพัฒนาด้วยดีแล้ว ก็เอามาใช้เป็นประโยชน์แก่ชีวิตและสังคมได้เต็มที่ด้วย เพราะฉะนั้น เสรีภาพจึงเป็นตัวการหรือเป็นเครื่องช่วยให้ศักยภาพของบุคคลคลี่คลายขยายตัวออกมาเป็นประโยชน์แก่ชีวิตของเขาเองและแก่สังคมอย่างเต็มที่ของมัน

อีกตัวอย่างหนึ่ง คือ ในสังคมประชาธิปไตย เราต้องการที่จะให้ความคิดเห็น และสติปัญญาของสมาชิกทุกคน ออกผลเป็นประโยชน์แก่การปกครองของส่วนรวม จึงให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการปกครอง เสรีภาพก็จะเป็นตัวเปิดช่องทางให้ความคิดเห็นของคน ให้สติปัญญาของแต่ละคนออกไปช่วยเป็นส่วนร่วมในการปกครองอย่างได้ผล ถ้าไม่มีเสรีภาพแล้ว การปกครองแบบประชาธิปไตยก็เป็นไปด้วยดีไม่ได้ หรือว่าให้ถูกก็คือ ประชาธิปไตย ก็ไม่เกิดขึ้นนั่นเอง ดังนี้เป็นต้น

ถ้าเราเข้าใจวัตถุประสงค์ดังนี้ การบูรณาการในระบบของพัฒนาการก็จะเป็นไปโดยถูกต้อง เพราะว่าบูรณาการนั้นช่วยให้องค์ประกอบต่างๆ เข้ามาประสานกลมกลืนกัน และวัตถุประสงค์นี้ ก็ช่วยให้พัฒนาการเป็นไปอย่างมีเป้าหมาย ตรงจุด ก้าวหน้าไปสู่ผลที่มุ่งหมาย เรื่องเสรีภาพนี้ก็เป็นตัวอย่างที่ยกขึ้นมาพูดในเรื่องของบูรณาการ

ข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่งก็คือ ดังได้แสดงให้เห็นแล้วในตัวอย่างเรื่องเสรีภาพนี้ว่า เป็นการพัฒนาจากคู่ขัดแย้งที่ถ่วงดุลกันมาจนกระทั่งมนุษย์สามารถสร้างองค์ประกอบภายในที่ประสานกลมกลืนสมดุลกัน อันนี้แสดงถึงลักษณะพิเศษของมนุษย์อีกอย่างหนึ่ง คือการที่มนุษย์มีความสามารถในการจัดสิ่งทั้งหลายที่มีความขัดแย้งกัน ให้มาอยู่ในสภาพที่ประสานกลมกลืนกันได้ หรือสามารถจัดสิ่งที่อาจจะขัดแย้งให้ประสานกลมกลืนกันได้ ลักษณะพิเศษ หรือความสามารถพิเศษของมนุษย์อันนี้ เป็นสิ่งที่จะต้องนำมาใช้ และในยุคบูรณาการก็ถือว่า สิ่งทั้งหลายที่พัฒนาไปนี้ มันไม่ได้กลมกลืนกันเสมอไป บางอย่างจะมีความขัดแย้งกันอยู่เสมอ และอาการขัดแย้งนี้ ก็เป็นไปในลักษณะที่อาจจะเกิดความสลายตัวพังทลาย เพื่อให้เกิดสมดุลใหม่ และภาวะสมดุลอย่างใหม่นั้น ก็อาจจะไม่ตรงกับความต้องการของมนุษย์ก็ได้ แต่มนุษย์ก็มีความสามารถที่จะระงับยับยั้ง หรือรั้งกระบวนการที่ขัดแย้งซึ่งจะนำไปสู่ความสลายนี้ได้ โดยจัดปรับองค์ประกอบต่างๆ ที่ขัดแย้งนั้น ให้ กลับมาเข้าสมดุลกันได้ อันนี้เป็นความสามารถพิเศษของมนุษย์ในระบบบูรณาการ ซึ่งเราจะต้องตั้งข้อสังเกตไว้เป็นพิเศษด้วย

เรื่องที่ว่านี้มีความสำคัญที่ควรจะพูดถึงโดยเฉพาะ แต่ในที่นี้จะขอพูดไว้เป็นเพียงเรื่องแทรกสั้นๆ ว่า ในความหมายอย่างหนึ่ง การศึกษาเป็นการพัฒนามนุษย์ให้มีความสามารถมากขึ้น ในการที่จะทำให้ความแตกต่าง ซึ่งอาจจะเป็นความขัดแย้ง กลายเป็นความประสานเสริมเติมเต็มหรือเกื้อกูลและกลมกลืนกัน

ข้อต่อไป หันเข้ามาหาหลักการทางพระพุทธศาสนานิดหน่อย พระพุทธศาสนานั้นเป็นศาสนาแห่งอิสรภาพและเสรีภาพ เพราะว่าจุดมุ่งหมายของพระพุทธศาสนานั้นคือ วิมุตติ วิมุตติก็คือความหลุดพ้น ที่เราใช้ศัพท์ปัจจุบันนี้ว่า อิสรภาพ อิสรภาพจึงเป็นจุดมุ่งหมายของพระพุทธศาสนา ในการปฏิบัติทางพระพุทธศาสนานั้น จะเห็นว่าท่านให้มี และให้ใช้เสรีภาพในทุกระดับ ตั้งแต่เรื่องความเชื่อก็มีหลักกาลามสูตรว่า อย่าเพิ่งเชื่อเพียงเพราะได้ยินได้ฟังตามกันมา อย่าเพิ่งเชื่อเพียงเพราะมีอยู่ในตำรา อยู่ในคัมภีร์ อย่าเพิ่งเชื่อเพียงเพราะว่ามีรูปลักษณะน่าเชื่อ อย่าเพิ่งเชื่อเพียงเพราะถือว่าท่านผู้นี้เป็นครูของเรา ต้องใช้สติปัญญาพิจารณาก่อน นี่ก็เป็นเรื่องของเสรีภาพ เสรีภาพในขั้นต้นนี้เป็นเครื่องมือที่จะนำมนุษย์ไปสู่อิสรภาพในขั้นสุดท้าย อิสรภาพและเสรีภาพนี้จะประสานกลมกลืนกันตั้งแต่ต้นไปจนถึงที่สุด เสรีภาพเป็นปัจจัยนำไปสู่อิสรภาพ และอิสรภาพทำให้มีเสรีภาพที่แท้จริง

พระพุทธศาสนาถือว่า ตัวประกอบที่สำคัญของเสรีภาพ คือ ปัญญา ปัญญาทำให้เกิดอิสรภาพภายในขึ้น เพราะทำให้มนุษย์รู้จักและเข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง รู้ความดีความไม่ดี ความถูกความผิด ประโยชน์หรือมิใช่ประโยชน์ เป็นต้น แล้วรู้ที่จะปฏิบัติให้ถูกต้อง ทำให้เห็นทางออกแก้ไขข้อติดขัด กำจัดปัญหาให้ลุล่วง หลุดพ้นปลอดโปร่งโล่งไปได้

นอกจากนั้น ในพระพุทธศาสนาก็ยังพูดถึงคำว่า เสรี ซึ่งในคัมภีร์ท่านก็ให้ความหมายเหมือนอย่างที่เราให้เหมือนกัน ท่านบอกว่า เสรี คือ เป็นผู้ทำได้ตามที่พอใจ โดยไม่ขึ้นต่อผู้อื่น แล้วท่านก็บอกว่า เสรีมี ๒ คือ บุคคลเสรี และธรรมเสรี หรือเสรีธรรม กับ เสรีบุคคล เสรีบุคคลหรือบุคคลเสรี คือ บุคคลที่ประกอบด้วยธรรมเสรี ต้องประกอบด้วยธรรมเสรี จึงเป็นบุคคลเสรี ธรรมเสรีคืออะไร ท่านบรรยายไว้ มี ๓๗ ประการ ซึ่งรวมแล้วก็คือเป็นการพัฒนาจิตและปัญญาของคนนั่นเอง คนที่จะมีเสรีภาพที่แท้จริง จะต้องพัฒนาจิตและปัญญาของตนให้มีอิสรภาพ ไม่อย่างนั้นแล้ว เสรีภาพที่แท้จริงจะเกิดขึ้นไม่ได้ ที่ว่ามานี้เป็นเรื่องของบูรณาการในระดับต่างๆ แห่งพัฒนาการ

บูรณาการในทุกขอบเขตของการศึกษา

ต่อไปข้อที่ ๒ คือ ตัวอย่างของพัฒนาการในแต่ละขนาด หรือขอบเขตย่อยภายในองค์รวม อย่างที่บอกเมื่อกี้แล้วว่า ในองค์รวมใหญ่ก็มีองค์รวมย่อยๆ เช่น ในระบบชีวิตของมนุษย์ก็มีระบบย่อย เช่น ระบบหายใจ ระบบทางเดินอาหาร ระบบสูบฉีดโลหิต เป็นต้น ซึ่งแต่ละระบบต้องการบูรณาการทั้งสิ้น ทีนี้ในบูรณาการนั้น จะต้องประมวลองค์ประกอบที่สัมพันธ์อิงอาศัยกัน เข้ามาประสานอย่างครบถ้วน ให้เกิดความกลมกลืนหรือสมดุล จึงจะเป็นองค์รวมที่สมบูรณ์ เพราะฉะนั้น การบูรณาการ แม้แต่ในขอบเขตย่อยๆ ทุกขนาด จะต้องจับให้ได้ว่า มีองค์ประกอบอะไรบ้างที่จะต้องถูกนำมาบูรณาการเข้าด้วยกัน และองค์ประกอบเหล่านี้ก็จะต้องเชื่อมโยงกันอยู่ในครอบคลุมทั้งหมดนั้น แล้วจึงจะเกิดความสมบูรณ์ในตัว เช่นเป็นระบบหายใจที่สมบูรณ์ เป็นระบบทางเดินอาหารที่สมบูรณ์ เป็นระบบประสาทที่สมบูรณ์ แล้วจึงจะเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์

ทีนี้มาพูดในแง่ของการศึกษา ขอโยงเข้าหาพระพุทธศาสนา เป็นที่รู้กันอยู่ว่า พระพุทธศาสนานี้เป็นศาสนาแห่งการศึกษา เป็นระบบการฝึกฝนอบรมคน ระบบการฝึกฝนอบรมคนก็คือการศึกษา พระพุทธศาสนาเรียกระบบการศึกษาอบรมนี้ว่า สิกขา สิกขาก็คือ การศึกษานั่นเอง การศึกษานั้น ก็คือการสร้างพัฒนาการ การฝึกฝนอบรมคน ก็คือการสร้างพัฒนาการ เหมือนอย่างที่บอกเมื่อกี้นี้ว่า พระพุทธเจ้าเป็นผู้ฝึกอบรมตนแล้วนั้น คืออย่างไร แล้วท่านก็ตอบว่า คือ เป็นผู้พัฒนาตนแล้วทั้ง ๔ ด้าน เพราะฉะนั้น การฝึกฝนอบรมก็ดี การศึกษาก็ดี พัฒนาการก็ดี ในความหมายคร่าวๆ แล้ว เป็นอันเดียวกันทั้งหมด ดังที่จะแปล สิกขา หรือ ศึกษา ว่า การฝึกฝนพัฒนา

ทีนี้ขอให้สังเกตว่า ธรรมในพระพุทธศาสนานี้ ท่านตรัสไว้เป็นหมวดๆ ทุกท่านที่เรียนเรื่องพระพุทธศาสนา ได้ยินได้ฟังเรื่องพระพุทธศาสนา จะเห็นว่า ธรรมะที่พระพุทธเจ้าสอนจะมาเป็นหมวดๆ แทบทั้งนั้น เป็นหมวด ๓ หมวด ๔ หมวด ๕ หมวด ๖ หมวด ๗ เช่น รัตนะ ๓ สิกขา ๓ หรือ ไตรสิกขา อิทธิบาท ๔ ความเพียร ๔ สติปัฏฐาน ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ มรรค ๘ บารมี ๑๐ ฯลฯ

ประการแรก การที่พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งการศึกษา นั่นก็คือหลักแห่งพัฒนาการ ประการที่สอง การที่ท่านตรัสธรรมเป็นหมวดๆ นี่ก็คือเรื่องของบูรณาการ

พระพุทธเจ้าตรัสธรรมเป็นหมวดๆ ก็เพราะเรื่องบูรณาการนี่แหละ หมายความว่า ธรรมที่ท่านจัดเป็นกลุ่มๆ เป็นหมวดๆ นั้น แต่ละกลุ่มแต่ละหมวดจะต้องประสานกลมกลืนเข้าเป็นชุดเดียว ถ้าปฏิบัติไม่ครบชุด ก็จะเกิดข้อบกพร่องเป็นปัญหาขึ้นมา และอาจเกิดโทษด้วย เพราะฉะนั้น ธรรมอะไร ถ้าท่านตรัสไว้ ๔ ข้อ เราจะต้องระลึกไว้ก่อนว่า จะต้องปฏิบัติให้ครบทั้ง ๔ ข้อ ถ้าไม่ครบจะมีปัญหา ขอยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น พรหมวิหาร ๔ บางทีเราเอามาแยกพูดเป็นเมตตา แล้วเราก็จะปฏิบัติบำเพ็ญเมตตา เรานึกไหมว่า ถ้าปฏิบัติไม่ครบหลักบูรณาการ ๔ องค์แล้วจะเกิดปัญหาขึ้น เกิดปัญหาแน่ เช่น ถ้าเมตตามากไป อาจจะกลายเป็นลำเอียง อาจจะทำให้เสียความยุติธรรม เป็นต้น ซึ่งท่านเตือนไว้แล้วทีเดียว พูดสั้นๆ พรหมวิหาร ๔ เป็นหลักธรรมเพื่อให้เป็นคนระดับพรหม หรือเป็นคนที่มีจิตใจประเสริฐ คนใจประเสริฐนั้นจะต้องมี

  1. เมตตา ความรัก ความปรารถนาดีต่อผู้อื่น ต้องการให้เขาเป็นสุข
  2. กรุณา ความคิดช่วยเหลือ อยากให้เขาพ้นทุกข์
  3. มุทิตา ความยินดี พลอยยินดีด้วยเมื่อผู้อื่นได้ดี ประสบความสำเร็จ
  4. อุเบกขา ความวางใจเป็นกลาง เมื่อรู้ว่าเขารับผิดชอบตนเองได้ หรือสมควรจะต้องรับผิดชอบตนเอง

ข้อที่ ๑ ต่อทุกคนที่เป็นเพื่อนมนุษย์ หรือเป็นเพื่อนสัตว์ร่วมโลก ซึ่งอยู่กันตามปกติ เรามีเมตตาปรารถนาดี ต้องการให้เขาเป็นสุข ข้อที่ ๒ ต่อผู้ที่ตกทุกข์ได้ยาก เรามีกรุณา ต้องการให้เขาพ้นทุกข์ ข้อที่ ๓ ต่อผู้ที่ทำอะไรได้ดีมีความสำเร็จ เจริญก้าวหน้า เรามีมุทิตายินดีด้วยและส่งเสริม แต่การช่วยเหลือผู้อื่นด้วยกรุณา และส่งเสริมผู้อื่นด้วยมุทิตา ในบางกรณีอาจจะไม่ถูกต้องก็ได้ เช่น ทำความชั่วมีความผิดควรได้รับโทษ แต่เราไปช่วยเหลือให้เขาพ้นจากความผิดด้วยความกรุณา หรือคนที่ประสบความสำเร็จในสิ่งที่ผิดธรรม ในสิ่งที่เป็นโทษต่อสังคม เราไปส่งเสริมด้วยมุทิตา อย่างนี้จะต้องเกิดผลเสียหายแน่ ในกรณีเช่นนี้ท่านให้มีอุเบกขา เป็นข้อที่ ๔ อุเบกขา เป็นตัวที่รักษาไม่ให้ผิดธรรม ถ้าการปฏิบัติอันใดใน ๓ ข้อต้นจะผิดธรรม ก็ต้องมีอุเบกขา

ธรรมสามข้อแรกรักษาคน ช่วยคน สนับสนุนคน แต่ข้อสุดท้ายคืออุเบกขารักษาธรรมไว้ หลักมีอยู่ว่า ถ้าคนจะทำให้ธรรมเสีย ก็ต้องรักษาธรรมไว้ เพราะฉะนั้น อุเบกขาจึงต้องมีไว้เพื่อรักษาธรรม ซึ่งจะรักษาหมู่ชนทั้งหมด หรือรักษาบุคคลนั้นเองในระยะยาว

รวมความว่า ทั้งสี่ข้อนี้จะต้องปฏิบัติให้ถูกบุคคล ถูกกรณี แม้แต่บุคคลผู้เดียว ก็ต้องปฏิบัติให้เหมาะ ให้ถูกเรื่อง ถูกที่ว่า คราวไหนควรใช้เมตตา คราวไหนใช้กรุณา คราวไหนใช้มุทิตา คราวไหนใช้อุเบกขา เช่น พ่อแม่ต้องปฏิบัติต่อลูกให้ได้สมดุล ระหว่างธรรมทั้งสี่ ถ้าปฏิบัติไม่ครบองค์ ๔ ก็ไม่บูรณาการ เมื่อไม่บูรณาการก็เกิดโทษ เช่น พ่อแม่แสดงแต่เมตตา กรุณาและมุทิตา ไม่ใช้อุเบกขา ไม่หัดให้ลูกรับผิดชอบตัวเอง ไม่ปล่อยโอกาสให้เขาทำอะไรๆ ด้วยตัวเองบ้าง เอาแต่โอ๋ ทำให้ ทำแทนไปหมด เด็กเลยไม่รู้จักโต ไม่รู้จักรับผิดชอบตนเอง ทำอะไรเองไม่เป็น การขาดบูรณาการในการปฏิบัติธรรมของพ่อแม่ เลยทำให้ลูกไม่มีพัฒนาการที่ถูกต้อง นี้เป็นตัวอย่างง่ายๆ

ในพระพุทธศาสนา จะมีการเน้นเรื่องอย่างนี้เสมอ เช่น การปฏิบัติในหลักที่เรียกว่าอินทรีย์ ๕ ท่านบอกว่า จะต้องมี “สมตา” สมตาก็คือ ความสมดุล หมายความว่า จะต้องมีความสมดุล เช่นว่า มีศรัทธามากไปก็ไม่ได้ ต้องมีปัญญาคุมให้สมดุล มีปัญญาแรงเกินไปก็ไม่ได้ ปัญญาในระดับที่ยังไม่สูงสุด อาจจะพลาด ต้องมีศรัทธาคุมให้มีสมดุล มีวิริยะ คือความเพียรมากไปก็ไม่ได้ ต้องมีสมาธิคุม สมาธิมากเกินไปก็ขี้เกียจ ต้องมีวิริยะคุม แล้วสุดท้ายต้องมีสติคุมทุกอัน นี่ก็เรียกว่าบูรณาการเหมือนกัน เป็นระบบๆ ธรรมแต่ละหมวด เป็นระบบบูรณาการทั้งนั้น จะเป็นพระพุทธเจ้าก็ต้องบำเพ็ญบารมีให้ครบ ๑๐ ถ้าไม่ครบ ๑๐ ก็ไม่เป็นพระพุทธเจ้า นี่ก็ระบบบูรณาการ

ระบบปฏิบัติในพุทธศาสนา หรือระบบการศึกษาอบรมทั้งหมด ก็คือสิกขา ๓ ในการปฏิบัติสิกขา ๓ ต้องมีศีล สมาธิ ปัญญาครบ ถ้าไม่ครบก็ไม่สำเร็จ ไม่บรรลุจุดหมายของพระพุทธศาสนา ศีลก็เป็นตัวหนุน ช่วยให้ใจพร้อมที่จะเจริญสมาธิ สมาธิก็มาช่วยให้รักษาศีลได้หนักแน่นจริงจังมากขึ้น สมาธิเป็นฐานให้แก่ปัญญา ทำให้มีความคิดจิตใจที่มั่นคงแน่วแน่ กำหนดแน่วอยู่กับสิ่งใด ก็คิดสิ่งนั้นได้ชัด มองเห็นจะแจ้งขึ้น ช่วยให้ปัญญาแก่กล้า ปัญญาดีขึ้นก็ช่วยให้ทำจิตใจได้ดีขึ้น รู้จักว่าควรจะปฏิบัติต่อจิตใจในด้านสมาธิอย่างไรจึงจะได้ผลดี และย้อนมาช่วยให้การรักษาศีลพัฒนาไปถูกทาง ไม่งมงายเป็นต้น สิกขาทั้ง ๓ นี้ ก็บูรณาการกันอยู่ตลอดเวลา แล้วจึงจะเกิดผลที่สมบูรณ์

หมวดธรรมต่างๆ ที่เป็นระบบบูรณาการในขอบเขตที่ครอบคลุม ควรได้รับความสนใจเป็นพิเศษ หมวดธรรมประเภทนี้มีอีกมาก เช่น อริยสัจ ๔ หลักปริยัติ-ปฏิบัติ-ปฏิเวธ ภาวนาหรือพัฒนาการ ๔ ด้าน ที่กล่าวแล้ว เป็นต้น

ระบบที่ชัดเจนที่สุดก็คือมรรคมีองค์ ๘ มรรคมีองค์ ๘ นี้ เป็นระบบบูรณาการใหญ่อันหนึ่งของพระพุทธศาสนา เพราะข้อปฏิบัติทั้งหมดของพุทธศาสนาเรารวมเรียกว่ามรรคมีองค์ ๘ มรรคมีองค์ ๘ นี้ต้องพรั่งพร้อมถึงที่แล้วเกิดเป็นธรรมสามัคคี ถ้าพรั่งพร้อมถึงที่ ได้สัดส่วนพอดี ประสานกลมกลืนกัน เกิดเป็นธรรมสามัคคีเมื่อใด ก็บรรลุมรรคผลเมื่อนั้น แต่ถ้ามรรคมีองค์ ๘ ไม่ได้สัดส่วนพอดี ไม่ครบ ไม่เกิดเป็นธรรมสามัคคี ก็ไม่บรรลุมรรคผล ตรัสรู้ไม่ได้ เป็นอริยบุคคลไม่ได้

เพราะฉะนั้น คำว่าธรรมสามัคคีนั่นเอง เป็นชื่อเก่าอย่างหนึ่งของบูรณาการในปัจจุบัน ปัจจุบันเรามาพบคำฝรั่งว่า integration เราก็พยายามคิดบัญญัติศัพท์ขึ้น integration นี่จะใช้ภาษาไทยว่าอะไรดีนะ แล้วก็ไปค้นหา ในที่สุดก็สร้างศัพท์ขึ้นมาว่าบูรณาการ แต่ค้นไปค้นมาก็คือธรรมสามัคคีนี่เอง มีอยู่แล้ว ท่านใช้มาตั้งนาน ธรรมสามัคคี คือ ความพรั่งพร้อมขององค์ประกอบต่างๆ ที่เรียกว่า ธรรมทั้งหลาย ซึ่งประสานกลมกลืนได้สัดส่วนกัน ทำให้เกิดความสมดุลพอดี เป็นอันว่า หลักสมดุลพอดีได้ที่ คือบูรณาการนี้ ในทางปฏิบัติ ก็คือ ระบบของมรรค มรรคที่สมบูรณ์ก็เป็นมัชฌิมาปฏิปทา ที่เราเรียกว่า ทางสายกลาง มัชฌิมาปฏิปทาก็คือ ข้อปฏิบัติที่สมดุลพอดีได้ที่ มัชฌิมา แปลว่า ท่ามกลาง หมายถึงพอดีได้ที่ พอดีได้ที่ก็คือสมดุล สมดุลก็เป็นมัชฌิมาปฏิปทา ตกลงว่า หลักพุทธศาสนานี้เป็นเรื่องของบูรณาการทั้งหมด

คำต่างๆ ว่า สมตา ธรรมสามัคคี มัชฌิมา ล้วนแต่เป็นเรื่องของบูรณาการที่เข้าสู่หลักสมดุลทั้งนั้น ฉะนั้น ปฏิบัติการในระบบบูรณาการ หรือ integration ก็คือความหมายหนึ่งของมัชฌิมาปฏิปทานั่นเอง ตกลงพูดไปพูดมาก็เข้าสู่ทางสายกลางแบบเดียวกับปาฐกถาครั้งที่แล้ว ซึ่งเอาไปเข้าชุดและตั้งเป็นชื่อรวมว่า ทางสายกลางของการศึกษาไทย พูดไปพูดมาครั้งนี้ก็มาลงที่ทางสายกลางอีกเหมือนเก่า

เป็นอันว่า ถ้าเราสร้างบูรณาการได้อย่างในระบบการศึกษาที่เรียกว่าพุทธศาสนานี้ ก็จะเกิดการบรรลุมรรคผล ตรัสรู้เป็นอริยบุคคล จนกระทั่งเป็นพระอรหันต์ เมื่อเป็นพระอรหันต์แล้ว ก็เกิดเป็นสภาวะใหม่ซึ่งมีคุณสมบัติใหม่ ต่างไปจากเดิม มีบุคลิกภาพ มีความรู้สึกนึกคิดใหม่ ตลอดจนมีท่าทีการมองสิ่งทั้งหลายเปลี่ยนไป ไม่เหมือนปุถุชน อย่างที่ท่านเปรียบว่า เหมือนคนพอโตกลายเป็นผู้ใหญ่ก็ไม่นึกติดใคร่ผูกพันกับของเด็กเล่น ที่เด็กๆ เอาจริงเอาจังจะเป็นจะตาย นี่ก็เป็นไปตามหลักของบูรณาการในพัฒนาการ โดยเกิดสมดุล ที่ทำให้มีภาวะและคุณสมบัติใหม่

องค์สามที่การศึกษาจะต้องบูรณาการ

ย้อนกลับเข้ามาหาการศึกษาปัจจุบันอีกหน่อย ในการศึกษาปัจจุบันนี้ มีเรื่องที่ต้องพูดเกี่ยวกับบูรณาการมากมาย เมื่อกี้ก็พูดไปบ้างแล้ว แต่ยังมีอีกแง่หนึ่งที่ควรจะพูด ก็คือในการศึกษาปัจจุบันนี้ เราเห็นได้ชัดว่า มีการเน้นองค์ด้านความรู้มากเหลือเกิน จนบางทีให้คำจำกัดความว่า การศึกษาเป็นการแสวงหาความรู้ หรือการได้ความรู้มา ทีนี้องค์ด้านความรู้นี่พอไหม มันครบบูรณาการหรือเปล่าที่จะให้เป็นการศึกษาที่ถูกต้อง ถ้าไม่ถูกต้อง จะต้องมีองค์ประกอบอะไรอีก ที่จะมาบูรณาการกับความรู้ เพื่อให้เป็นการศึกษาที่สมบูรณ์ถูกต้อง

เริ่มต้นเอาแค่ความรู้ก่อน ความรู้ที่เราเข้าใจกันนี้ ก็ยังพร่าๆ กำกวม ความรู้มีความหมายว่าอย่างไร แม้แต่ถ้าเรายอมรับว่า ความรู้เป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งของการศึกษา ก็ยังมีปัญหาว่า ความรู้ที่เราเข้าใจ ที่ว่าเป็นองค์ของการศึกษานั้น เป็นความรู้แบบไหน ความรู้ที่ถูกต้องคืออะไร เราลองหาดูว่า อะไรคือความหมายของความรู้ ศัพท์หนึ่งที่เราใช้แปลความรู้ ก็คือ ปัญญา ปัญญา คือความรู้ ปัญญานั้นยอมรับได้ว่าเป็นความรู้ที่เป็นองค์หนึ่งของการศึกษา แต่ความรู้ที่เราใช้พูดถึงกันอยู่นี้ เป็นปัญญาหรือไม่ อันนี้ก็ยังเป็นปัญหาอยู่ ขอวินิจฉัยตามหลักการของพระพุทธศาสนาก่อน อย่างน้อยต้องแยกได้ว่า ความรู้นั้นมี ๒ อย่าง และต้องแยกให้ชัดระหว่างความรู้ ๒ อย่างนั้น

ความรู้อย่างที่ ๑ ทางพระเรียกว่า สุตะ สุตะนี่อาจจะเรียกว่าข้อรู้ คือ ความรู้ที่ได้รับฟังมา ได้อ่าน ได้เล่าเรียน ได้ถ่ายทอดกันมา ความรู้ที่ได้รับถ่ายทอดมาจากผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรก็ตาม เรียกว่าสุตะทั้งสิ้น

ความรู้อย่างที่ ๒ เรียกว่า ปัญญา ความรู้ที่เรียกว่า ปัญญา คืออะไร ขอให้ความหมายแบบซอยย่อยๆ ให้เห็นลักษณะด้านต่างๆ ของปัญญา ลักษณะด้านต่างๆ ของปัญญาก็มี

  • รู้เข้าใจ
  • รู้คิด
  • รู้วินิจฉัย
  • รู้ที่จะใช้แก้ปัญหา
  • รู้ที่จะสร้างสรรค์จัดทำดำเนินการให้สำเร็จ

นี้เป็นความหมายในแง่ต่างๆ ของปัญญา ในความหมายอย่างแรก ปัญญาจะมาสัมพันธ์กับความรู้ประเภทที่ ๑ ที่เรียกว่า สุตะ ความรู้ที่ได้เล่าเรียนและถ่ายทอดกันมาที่เรียกว่า สุตะนี้ เป็นตัวข้อมูลมากกว่า มันเป็นตัวตั้ง เป็นตัวตาย เป็นของที่มาจากผู้อื่น เรียกว่า เป็นของคนอื่น ไม่ใช่ของเรา พอเราเกิดความรู้ที่เรียกว่า ปัญญาขึ้นมา คือรู้เข้าใจ ก็กลายเป็นความรู้ของเราขึ้นมาทันที

ตัวความรู้ที่เป็นของเรานี้ มันมีความสัมพันธ์กับสุตะ คือ พอเข้าใจแล้ว มันจะวินิจฉัยสุตะนั้น จะวินิจฉัยความรู้ที่ถ่ายทอดกันมา ที่ได้รับมา ว่าเป็นความรู้ที่เข้ากับการที่เราจะใช้ประโยชน์ไหม มีคุณค่าไหม เป็นคุณหรือเป็นโทษอย่างไร จะใช้อย่างไร ปัญญาเป็นตัววินิจฉัยทั้งหมด อาจจะพูดสั้นๆ ว่า ปัญญา คือ ความรู้ เข้าใจ และใช้ความรู้เป็น เพราะฉะนั้น ทางพระจึงแสดงหลักว่า ปญฺา สุตวินิจฺฉินี แปลว่า ปัญญา เป็นตัววินิจฉัยสุตะ นี่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างความรู้ ๒ อย่าง คือ สุตะ กับ ปัญญา หมายความว่า ความรู้อย่างที่ ๒ วินิจฉัย ความรู้อย่างที่ ๑

ความรู้แบบสุตะ คือ ความรู้ที่ได้รับการถ่ายทอดมา เป็นความรู้ที่เป็นส่วนประกอบของการศึกษาก็จริง แต่ยังไม่ใช่องค์ของการศึกษา ความรู้ที่เป็นองค์ของการศึกษาก็คือปัญญา

ถึงตอนนี้ ก็กลับเข้ามาสู่ปัญหาเดิมที่ว่า ปัญญาอย่างเดียว พอไหมที่จะเป็นการศึกษาที่สมบูรณ์ ถ้าไม่สมบูรณ์ก็มาพิจารณาตามหลักบูรณาการว่า จะต้องมีองค์ประกอบร่วมอะไรมาประสานกับปัญญาอีก จึงจะเกิดเป็นการศึกษา ทีนี้ก็ลองมาดูว่ามีอะไรบ้าง แต่อย่างที่บอกไว้แล้ว จะต้องระลึกกันไว้ก่อนว่า องค์ประกอบอื่นๆ ที่จะมาร่วมบูรณาการนั้น จะต้องสัมพันธ์เป็นอันเดียวกันกับปัญญา ตามทัศนะแบบพุทธธรรมนั้น องค์ประกอบร่วมรวมทั้งปัญญาในระบบบูรณาการของการศึกษานั้นมี ๓ อย่าง คือ

    (๑) ความจริง
    (๒) ความดีงาม
    (๓) ความสุข

ความจริง ความดีงาม และความสุข เป็นองค์ประกอบร่วมในบูรณาการที่จะทำให้เกิดการศึกษาที่สมบูรณ์ ที่จะพัฒนาคนทั้งคนขึ้นมา อย่างแรกคือความจริงนั้น ก็เป็นสภาวะของสิ่งทั้งหลายนั่นเอง แต่ในเวลาที่มันเกิดขึ้นในคนนี่ความจริงคืออะไร ความจริงปรากฏแก่คนโดยเป็นความรู้ คือ เรารู้ความจริง และการรู้ความจริงนั่นเป็นปัญญา เพราะฉะนั้น องค์ประกอบที่ ๑ จึงเป็นปัญญา ซึ่งเป็นตัวประกอบที่สำคัญมาก แล้วพ่วงมาด้วยกับปัญญานั้น ก็จะมีตัวกำกับที่เป็นเครื่องยืนยันทำให้แน่ใจได้ว่า เป็นปัญญาที่แท้จริงหรือไม่ เป็นปัญญาที่สมบูรณ์หรือไม่ ปัญญาที่สมบูรณ์จะมีองค์ประกอบอื่นเข้ามาร่วมด้วย คือ ความดีงาม และความสุข แต่ความสุขในกรณีนี้ ท่านใช้ภาษาที่เคร่งครัด เรียกว่า ภาวะไร้ทุกข์ เพราะความสุขนั้น ท่านถือว่าเป็นคำที่กำกวม เมื่อจะให้จำกัดชัดต้องเรียกว่าภาวะไร้ทุกข์ ภาวะไร้ทุกข์ก็คือภาวะไร้ปัญหา ปราศจากความบีบคั้น เป็นต้น เมื่อปราศจากความบีบคั้นไร้ปัญหา ก็เรียกว่าภาวะไร้ทุกข์ ก็คือความสุขที่แท้ๆ ล้วนๆ เมื่อพัฒนาคนขึ้นมา องค์ประกอบสามอย่างนี้จะต้องมีด้วยกัน คนที่มีการศึกษาจะต้อง

    (๑) มีปัญญา คือรู้ รู้อะไร ก็รู้ความจริง คือมีความจริง เข้าถึงความจริง
    (๒) มีความดีงาม ซึ่งอาจจะเรียกว่าคุณธรรม
    (๓) มีความสุข หรือไม่มีทุกข์

คนที่เรียกว่ามีการศึกษานั้น จะต้องได้รับการตรวจสอบดูเสมอว่า ได้พัฒนาไปโดยมีองค์ประกอบ ๓ อย่างนี้เพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ หรือไม่ ถ้าหากว่าการศึกษาทำให้คนมีความรู้มากขึ้น แต่มีความสุขน้อยลง มีความทุกข์มาก ก็แสดงว่า การศึกษานั้นคงจะผิด ถ้าหากว่าการศึกษาทำให้คนมีความรู้มากขึ้น แต่มีความดีงามน้อยลง มีความชั่วมากขึ้น การศึกษานั้นก็คงจะผิด ถ้าหากว่าคนมีความดีงามโดยไม่มีความรู้ ก็ผิดเหมือนกัน เพราะเป็นความดีงามโดยความหลงงมงาย ไม่ได้เป็นไปด้วยความรู้ ไม่ได้เป็นไปด้วยปัญญา ถ้ามีความสุขโดยไม่มีปัญญา ไม่มีความดีงามก็ผิดอีก ต้องครบทั้ง ๓ อย่าง ในการพัฒนานี้จะต้องดูว่า ผู้ที่ได้รับการศึกษา คือคนที่เราสอนหรือให้การศึกษานี้ มีปัญญาเพิ่มขึ้นไหม มีความดีงามและความสุขหรือภาวะไร้ทุกข์เพิ่มขึ้นหรือไม่

องค์ประกอบ ๓ อย่างนี้ สัมพันธ์กันอย่างไร มันสัมพันธ์กันโดยเป็นองค์เดียวกัน กล่าวคือ เมื่อบูรณาการถึงขั้นสุดท้าย มันจะไปรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน รวมเป็นอันเดียวกันอย่างไร ปัญญา คือการรู้ความจริง เมื่อรู้ความจริงถึงที่สุดแล้วจะเกิดความเป็นอิสระ มีอิสรภาพขึ้นภายใน จิตใจจะมีภาวะที่ปราศจากสิ่งบีบคั้น หลุดพ้นจากสิ่งบีบคั้น หลุดพ้นจากสิ่งขุ่นมัวเศร้าหมองทั้งหลาย ซึ่งเรียกว่า ภาวะวิมุตติ วิมุตติ หรืออิสรภาพนั้น ก็คือภาวะไร้ทุกข์ ซึ่งเรามาเรียกกันง่ายๆ ว่าความสุข แต่ทางพระท่านไม่นิยมใช้ ถ้าเลือกให้เข้ากับภาษาปัจจุบันก็เรียกว่า อิสรภาพ หรือ ความเป็นอิสระ เมื่อเป็นอิสระหลุดพ้นจากสิ่งบีบคั้นขุ่นมัวเศร้าหมอง ก็เป็นความบริสุทธิ์ เรียกว่า วิสุทธิ และพร้อมกันนั้นก็มีความสงบ เพราะปราศจากความเดือดร้อนกระวนกระวาย จึงเรียกว่าสันติ เมื่อเป็นสันติมีความสงบ ปราศจากความกระวนกระวาย ก็เป็นความสุขนั่นเอง มันพัวพันกันอยู่อย่างนี้

เพราะฉะนั้น ในพระพุทธศาสนา เมื่อถึงขั้นสุดท้ายแล้ว ศัพท์เหล่านี้ จะมีความหมายเกี่ยวเนื่องเป็นอันเดียวกัน เป็นไวพจน์กันทั้งหมด วิมุตติ คือความเป็นอิสระหรือ อิสรภาพ วิสุทธิ คือความบริสุทธิ์หมดจด สันติ คือความสงบ และสุข คือความสุข ทั้งหมดนี้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เป็นตัวเดียวกัน ดังนั้น ปัญญาที่แท้จึงมากับความสุขหรือพาเอาความสุขมาด้วย แล้วพร้อมกันนั้นเอง มันก็ไปสัมพันธ์กับความดีงาม เพราะว่าเมื่อมีอิสรภาพ มีภาวะไร้ทุกข์ ก็หมายถึงว่ามีความปลอดโปร่งผ่องใส ปราศจากความชั่วความเสียหายที่ทำให้จิตใจขุ่นมัวเศร้าหมอง หรือบีบคั้นจิตใจด้วย นอกจากนั้น เมื่อเป็นอิสระไร้ทุกข์แล้ว เราก็สามารถพัฒนาความดีงามได้ ถ้าคนเรายังเต็มไปด้วยปัญหาจิตใจ มีความทุกข์อยู่อย่างน้อยก็จะเกิดความฝืนในการที่จะประพฤติความดีงาม แต่ข้อสำคัญที่สุดก็คือว่า มันจะประพฤติความดีงามอยู่ไม่ได้ คนที่มีความทุกข์ย่อมมีความโน้มเอียงไปในการที่จะระบายทุกข์ และระบายปัญหาแก่ผู้อื่น เขาก็จะต้องสร้างปัญหา ซึ่งก็คือสิ่งไม่ดีไม่งามให้เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ถ้าการศึกษาไม่สามารถทำให้คนเกิดความไร้ทุกข์แล้ว ก็จะไม่ประสบความสำเร็จ แม้ว่าจะสามารถทำให้คนมีความดีงามได้มาก และคนเช่นนั้นก็ยังเป็นคนที่ไม่สมบูรณ์

รวมความก็คือว่า ในพัฒนาการระดับสูงสุด ปัญญา คุณธรรม และความสุขหรือความมีอิสรภาพไร้ทุกข์นี้ เป็นองค์ประกอบร่วมของสภาวะอันหนึ่งอันเดียวกันที่บูรณาการเข้าด้วยกัน เป็นหลักการที่เราจะต้องทำให้ได้ในการศึกษา แต่ในพัฒนาการระดับต่ำลงมา องค์ ๓ อย่างนี้จะกระจัดกระจาย จนบางทีเรารู้สึกว่าไม่ประสานกันเลย หนำซ้ำบางครั้งก็รู้สึกว่าขัดแย้งกันด้วยซ้ำ เช่นว่า ทำความดีงามแล้ว อาจจะมีทุกข์ หรือคนบางคนอาจจะเรียกได้ว่า เป็นคนมีปัญญา แต่ไม่ใช่คนดี คือมีความรู้แต่ไม่ดี และคนมีปัญญา มีความรู้นั้น ก็ไม่ใช่มีความสุขเสมอไป ในระดับของพัฒนาการขั้นต้นนี้ องค์ประกอบเหล่านี้ยังไม่บูรณาการ เพราะมันยังไม่ใช่ตัวแท้ตัวจริง มันไม่ใช่ความดีงามที่แท้จริง มันไม่ใช่ความรู้หรือปัญญาที่แท้จริง แล้วก็ไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง แต่เมื่อเรารู้ในฐานะนักการศึกษาหรือผู้ให้การศึกษาว่า ในการพัฒนาที่สูงสุด องค์ประกอบทั้งสามนี้จะไปรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ถ้าเราเข้าใจอย่างนี้แล้ว เราก็จะพยายามจัดสรรควบคุมเพื่อที่จะพัฒนาให้มันไปสู่จุดรวมอันเดียวกัน

เพราะฉะนั้น เมื่อเรามีความเข้าใจอย่างนี้เป็นพื้นฐานอยู่แล้ว เราก็ให้การศึกษาพัฒนาคน โดยคอยคุมให้องค์ประกอบทั้ง ๓ อย่างนี้เกิดขึ้นและเป็นไปด้วยกัน กล่าวคือ ในระดับเบื้องต้น การพัฒนาคนโดยให้เขามีทั้งปัญญา มีทั้งความดีงาม และมีทั้งความสุขไปด้วยกันนั้น จะต้องเป็นการกระทำโดยตั้งใจคิดจัดสรรหรือวางแผน โดยพยายามทำให้องค์ประกอบทั้งสามนั้นเกิดขึ้น และพยายามให้กลมกลืนกันให้ได้ แต่ในขั้นสุดท้าย มันจะพากันมาและกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันตามธรรมดาของมันเอง

ระบบบูรณาการพื้นฐานและยอดสุด

ทีนี้ก็อาจจะถามว่า องค์หลัก ๓ อย่างนี้ มาจากไหน ถ้าพิจารณาดูให้ดี ก็จะเห็นว่า มันมาจากบุคคลที่เป็นอุดมคติ บุคคลที่เป็นตัวอย่างซึ่งมีพัฒนาการสูงสุดแล้วคือใคร ถ้าตอบแบบชาวพุทธก็ต้องรวมเป็นอันเดียวกันว่า ได้แก่ พระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าคือบุคคลที่มีการพัฒนาสูงสุดแล้ว แม้แต่ความหมายในคัมภีร์ที่พูดถึงเมื่อกี้ก็บอกว่า พระพุทธเจ้าเป็นผู้พัฒนาตนสูงสุดแล้ว เมื่อพัฒนาตนสูงสุดแล้ว พระพุทธเจ้ามีพระคุณหรือคุณสมบัติหลักกี่อย่าง ผู้ที่เรียนพระพุทธศาสนาย่อมรู้ดีว่ามี ๓ อย่าง คือ

(๑) มีปัญญาคุณ ทรงมีพระปัญญา คือความรู้

(๒) มีกรุณาคุณ คือมีคุณธรรมความดี แต่ในที่นี้เน้นกรุณาในฐานะเป็นตัวนำที่จะทำให้ปวงความดีงาม หรือคุณธรรมต่างๆ และประโยชน์สุขแผ่ขยายออกไปแก่คนอื่นๆ

(๓) มีวิสุทธิคุณ นี้ว่าตามที่เรานิยมใช้กันในเมืองไทย แต่ตัวเดิมเป็นวิมุตติ ได้แก่วิมุตติคุณ คือ ความหลุดพ้น อย่างที่ได้อธิบายมาแล้วข้างต้นว่า หมายถึงความเป็นอิสระ หรือภาวะไร้ทุกข์ไร้ปัญหา ที่เรามาใช้กันว่าความสุข

นี้คือองค์ประกอบ ๓ อย่าง ที่เราเรียกว่าพระคุณของพระพุทธเจ้า ซึ่งจะต้องนำมาใช้เป็นองค์ของการศึกษา เป็นตัวประกอบร่วมที่เราจะต้องพัฒนาการให้มีบูรณาการขึ้นมา

ขอย้อนกลับไปถึงเรื่องระบบบูรณาการ คราวนี้จะพูดถึงระบบบูรณาการในวงกว้างที่สุด ได้พูดมาแต่ต้นแล้วว่า ระบบบูรณาการหลักใหญ่ที่สุดเท่าที่มีอยู่นั้นมี ๓ ระบบด้วยกัน

ระบบที่หนึ่งคือ ตัวของมนุษย์ หรือระบบของชีวิตมนุษย์ มนุษย์เป็นระบบบูรณาการใหญ่อันหนึ่ง ประกอบด้วยระบบย่อย คือกาย กับใจ ระบบย่อยทั้งสองคือกายกับใจนี้ มาประมวลเข้าเป็นระบบใหญ่คือมนุษย์ ซึ่งเป็นระบบใหญ่อันที่หนึ่ง ที่เรายกขึ้นมาตั้งไว้ในฐานะที่เอาตัวเราเป็นศูนย์กลาง

ระบบบูรณการที่สองคือ ธรรมชาติ หรือธรรมชาติแวดล้อม ซึ่งปัจจุบันนี้นิยมบัญญัติศัพท์กันใหม่ เรียกว่า นิเวศวิทยา หรือระบบนิเวศวิทยา เป็นศัพท์ที่ค่อยๆ พัฒนาขึ้นมา ในภาษาอังกฤษเรียกกันว่า ecological systems หรือที่เดี๋ยวนี้นิยมใช้สั้นเข้ามาอีก เป็นศัพท์ค่อนข้างใหม่ว่า ecosystems ระบบนิเวศนี้ว่าที่จริงขอใช้ศัพท์เดิม ก็คือธรรมชาติแวดล้อมนั่นเอง ธรรมชาติแวดล้อมเมื่อตัดตัวคนที่ถูกแวดล้อมออกไป ก็คือธรรมชาติ ซึ่งที่จริงว่าตามหลักพุทธศาสนาก็รวมทั้งคนหรือมนุษย์อยู่ในนั้นด้วย เพราะฉะนั้น เราอาจจะใช้ศัพท์กันสั้นๆ ง่ายๆ ว่า ธรรมชาติ ระบบธรรมชาตินี้ก็เป็นระบบบูรณาการใหญ่อันที่สอง ระบบบูรณาการที่สามก็คือ ระบบที่เรียกว่า สังคม

สิ่งที่เกี่ยวข้องที่มนุษย์จะต้องจัด ต้องทำ ต้องประสาน ต้องไปทำหน้าที่บูรณาการ ก็คือ ระบบทั้งสามนี้ ซึ่งเมื่อเข้ามาเกี่ยวโยงสัมพันธ์กันแล้ว ก็ทำให้เกิดผลดีผลร้ายแก่มนุษย์ทั้งหมด ตกลงว่า สามอย่าง คือ มนุษย์ ธรรมชาติ สังคม นี้ เป็นระบบใหญ่ที่เราจะต้องเกี่ยวข้อง ซึ่งประสานประกอบกันเข้าเป็นองค์รวมอันเดียว ขอพูดรวบรัดว่า ในระบบทั้งสามนี้ เราจะต้องทำการบูรณาการและพัฒนาการให้เป็นไปด้วยดี ด้วยการปฏิบัติที่ถูกต้อง ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของเราในขั้นต่อไปที่จะต้องศึกษากันว่า จะพัฒนาการและบูรณาการอย่างไรจึงจะประสานกลมกลืนกัน เกิดความสมดุลพอดีที่เป็นผลดี แต่เฉพาะในที่นี้จะขอยกตัวอย่างอันหนึ่งที่มีอยู่แล้วมาพูดก่อน คือโยงเข้ามาหาหลักพระพุทธศาสนา

ตามหลักพุทธธรรมนั้น ระบบบูรณาการ ๓ อย่าง คือ มนุษย์ ธรรมชาติ และสังคมนี้ มีส่วนสุดยอดตรงกันในแต่ละอย่าง ขอให้ช่วยกันนึกในฐานะที่เป็นผู้ศึกษาพระพุทธศาสนาว่า องค์ที่ตรงกันกับ ๓ อย่างใหญ่ คือ มนุษย์ ธรรมชาติ สังคม นี้ได้แก่อะไร ตามหลักการของพระพุทธศาสนา มนุษย์ ธรรมชาติ และสังคมนี้ มีตัวพัฒนาการสุดยอดของแต่ละอย่าง ปรากฏเป็นหลักที่เรียกว่า พระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มนุษย์พัฒนาสูงสุดแล้วเป็นอะไร มนุษย์พัฒนาสูงสุดแล้วเป็นพระพุทธ ธรรมชาติเมื่อเราเข้าถึงแล้ว ตัวความจริงของธรรมชาติที่ปรากฏแก่มนุษย์นั้นคืออะไร สาระของธรรมชาติหรือตัวความจริงของธรรมชาติที่ปรากฏแก่มนุษย์นั้น เราเรียกว่าธรรม ข้อต่อไป สังคมเมื่อพัฒนาถึงขั้นอุดมคติแล้วเป็นอะไร ก็เป็นหมู่ชนที่เรียกว่าสงฆ์

เพราะฉะนั้น หลักของพระพุทธศาสนาที่เราเรียกว่าพระรัตนตรัยนั้น ก็คือ ระบบบูรณาการในระดับแห่งพัฒนาการสูงสุดของระบบบูรณาการใหญ่ทั้ง ๓ นี้เอง ในเรื่องนี้ ถ้าเราจะพิจารณาความหมายของพระรัตนตรัยแต่ละอย่างแล้ว ก็ยิ่งชัดเจนมากขึ้น ขอให้มองให้ทั่วตลอด ก็จะเห็นว่า องค์ทั้งสามของพระรัตนตรัยจะมาบูรณาการกันเป็นระบบใหญ่อันเดียว

พระพุทธมาจากมนุษย์ พระพุทธนั้นเมื่อให้ความหมายสมบูรณ์เป็นอย่างไร พระพุทธเจ้าคืออะไร พระพุทธคือมนุษย์ผู้พัฒนาตนสมบูรณ์แล้ว โดยได้ค้นพบธรรม และเปิดเผยธรรมแก่สังคม เมื่อกี้นี้ได้บอกแล้วว่า พระพุทธเจ้านั้นมีความหมายอย่างหนึ่ง คือเป็นมนุษย์ผู้พัฒนาตนสูงสุด โดยมีพัฒนาการครบทั้ง ๔ ด้าน จึงบอกว่า พระพุทธคือมนุษย์ผู้พัฒนาตนสมบูรณ์โดยได้ค้นพบธรรมและเปิดเผยธรรมแก่สังคม

ทีนี้ ธรรมก็มาจากธรรมชาติ ธรรมคืออะไร ธรรมคือตัวความจริงของธรรมชาติที่เปิดเผยขึ้น โดยการค้นพบและประกาศของพระพุทธเจ้า คือ พระพุทธเจ้าค้นพบธรรมแล้วก็ประกาศธรรมออกมา นับเป็นองค์ที่สอง

ส่วนสงฆ์ก็มาจากสังคมนี้แหละ สงฆ์มีความหมายอย่างไร สงฆ์ก็คือ สังคมของมนุษย์ที่พัฒนาตนแล้วด้วยการปฏิบัติหรือเข้าถึงธรรม ตามอย่างพระพุทธเจ้า

ถ้าไม่มีพุทธะ ธรรมะก็ไม่ปรากฏ และสังคมก็ไม่อาจพัฒนาให้เกิดสังฆะ ถ้าไม่มีธรรมะ มนุษย์ก็ไม่พัฒนาเป็นพุทธะ และสังฆะก็ไม่อาจจะเกิดขึ้น ถ้าไม่มีสังฆะ ก็ไม่มีเครื่องยืนยันความเป็นพุทธะ และธรรมะก็คงไม่ปรากฏสืบทอดในสังคมอยู่ต่อไป จะเห็นว่า องค์ทั้งสามนี้มีความสัมพันธ์ อิงอาศัยกัน และประสานกลมกลืนกันเข้าเป็นระบบใหญ่อันเดียว

เมื่อกี้นี้ได้บอกแล้วว่า พระพุทธเจ้ามีคุณสมบัติ ๓ อย่าง คือ ปัญญา กรุณา และวิมุตติหรือวิสุทธิ คุณสมบัติ ๓ อย่างนี้ เป็นหลักที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างพระพุทธเจ้า กับองค์อื่นทั้งสองของพระรัตนตรัย เรียกว่าเป็นหลักความสัมพันธ์ระหว่างองค์ทั้ง ๓ กล่าวคือ

พระพุทธสัมพันธ์กับธรรมชาติ โดยมีปัญญารู้เข้าใจค้นพบความจริงของธรรมชาติ คือได้ตัวธรรมขึ้นมา หรือค้นพบธรรมนั้นด้วยปัญญา เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงมีคุณสมบัติข้อที่ ๑ คือ ปัญญา เป็นตัวที่สัมพันธ์กับธรรมหรือธรรมชาติ เป็นคุณสมบัติของพระพุทธเจ้าที่มาโยงกับองค์ที่ ๒ ของพระรัตนตรัย พระพุทธค้นพบธรรมด้วยปัญญา มีองค์คือปัญญา เป็นตัวทำหน้าที่ต่อธรรมชาติ หรือธรรม พูดสั้นๆ ว่า ปัญญา เป็นตัวสัมพันธ์ระหว่างพระพุทธกับพระธรรม

ต่อไป คุณสมบัติข้อที่ ๒ พระพุทธค้นพบธรรมในธรรมชาติด้วยปัญญานั้นแล้ว ตนเองก็เกิดวิมุตติขึ้น คือหลุดพ้นจากความทุกข์ หลุดพ้นจากกิเลสและความชั่วร้ายทั้งปวง จัดเป็นคุณสมบัติข้อที่ ๒ พระพุทธจึงเป็นผู้มีวิมุตติประจำตัว วิมุตติก็เป็นคุณสมบัติส่วนพระองค์ และวิมุตติคือความหลุดพ้นจากความทุกข์นั้นก็รวมไปถึงการมีความสุข มีสันติ มีวิสุทธิ มีอิสรภาพด้วย พูดสั้นๆ ว่าวิมุตติ (หรือวิสุทธิ หรือสุข) เป็นสภาวะแห่งความสมบูรณ์ที่เกิดขึ้นในตัวเองของพระพุทธเอง

ต่อไป คุณสมบัติข้อที่ ๓ คือ เมื่อพระพุทธค้นพบธรรม กลายเป็นผู้มีความบริสุทธิ์ภายในพระองค์เองแล้ว ก็เกิดมีคุณธรรมต่างๆ ขึ้น คุณธรรมหรือความดีงามทั้งหลายมีอยู่ในพระพุทธเจ้าโดยสมบูรณ์อยู่แล้ว แต่คุณธรรมเหล่านั้นแผ่ขยายแสดงออกไปต่อสังคมโดยผ่านคุณธรรมที่เป็นตัวนํา ตัวนําที่จะทำให้ปฏิบัติต่อสังคมด้วยคุณธรรม ก็คือความกรุณา ได้แก่ ความคิดที่จะช่วยเหลือ เพราะฉะนั้น คุณธรรมตัวเด่นที่นำแสดงต่อสังคมก็คือกรุณา กรุณาจึงเป็นคุณสมบัติของพระพุทธเจ้าที่แสดงออกต่อสังคม ซึ่งทำให้เกิดสงฆ์ เป็นตัวทำหน้าที่ต่อสงฆ์และแสดงความสัมพันธ์ระหว่างพระพุทธเจ้ากับสงฆ์ พูดสั้นๆ ว่า กรุณาเป็นตัวสัมพันธ์ระหว่างพระพุทธกับพระสงฆ์ (เป็นตัวชักนำสังคมขึ้นมาสู่ความเป็นสงฆ์)

สรุปอีกทีหนึ่งว่า พระพุทธเจ้ามีคุณสมบัติ ๓ คือ

๑) ปัญญา เป็นคุณสมบัติที่สัมพันธ์กับธรรมะ หรือทำหน้าที่ต่อธรรมชาติ

๒) วิมุตติ หรือวิสุทธิ เป็นคุณสมบัติส่วนตัวที่เกิดขึ้นภายใน เป็นตัวรับรองและค้ำประกันคุณสมบัติอื่นๆ ให้เป็นคุณธรรมความดีงามที่แท้จริงและสมบูรณ์ พระพุทธเจ้ามีคุณธรรมความดีงามที่แท้จริงและสมบูรณ์ ก็เพราะว่า พระพุทธเจ้าเป็นผู้บริสุทธิ์ โดยได้หลุดพ้นจากกิเลส และความทุกข์ทั้งปวง หลุดพ้นจากความชั่ว หลุดพ้นจนอยู่เหนือความดีความชั่ว คือไม่ยึดติดในความดีความชั่วนั้นด้วย เพราะเป็นความดีงามของผู้บริสุทธิ์ หลุดพ้นแล้ว จึงเป็นความดีงามที่บริสุทธิ์ เป็นความดีงามที่แท้จริง เป็นคุณธรรมหรือความดีงามที่สมบูรณ์

๓) กรุณา เป็นคุณสมบัติที่สัมพันธ์กับสงฆ์ หรือทำหน้าที่ต่อสังคม กล่าวคือ คุณธรรมทั้งหลายมีโอกาสแสดงออกต่อสังคมโดยเอากรุณามานำหน้าหรือชักจูงไป

นี้คือคุณสมบัติ ๓ ประการของพระพุทธเจ้าที่สัมพันธ์กัน

ทีนี้พูดถึงพระธรรมบ้าง พระธรรมก็คือความจริงที่เข้าถึงได้ด้วยปัญญา ซึ่งเมื่อใครเข้าถึงด้วยปัญญาค้นพบคนแรก ก็ทำให้คนนั้นเป็นพระพุทธ (ถ้าเป็นพระพุทธองค์แรก และนำธรรมนั้นมาเผยแพร่แก่ผู้อื่น คือทำให้มีสงฆ์ด้วย เราเรียกว่าเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าค้นพบเองแต่ไม่เผยแพร่แก่ผู้อื่น คือไม่ทำให้เกิดสงฆ์ เราเรียกว่า ปัจเจกพุทธ ถ้าเป็นผู้ที่รู้ตาม เราเรียกว่าเป็นอนุพุทธ แต่เป็นพุทธทุกคน เพราะคนใดก็ตามที่ได้เข้าถึงความจริงของธรรมชาติด้วยปัญญา คนนั้นก็เป็นพุทธะ แต่ในกรณีนี้ คือในองค์ของพระรัตนตรัย พุทธ หมายถึง พระพุทธอย่างแรก หรือพระพุทธที่เป็นต้นแบบ คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า) เพราะฉะนั้น ธรรมก็เป็นความจริงที่เข้าถึงด้วยปัญญาที่ทำให้เป็นพุทธะ แล้วก็เป็นหลักของสงฆ์ เพราะว่าผู้ที่ปฏิบัติตาม รู้เข้าถึงแล้ว ก็มาเป็นสมาชิกของสงฆ์ ทำให้เกิดสงฆ์ขึ้น

ต่อไปองค์ที่ ๓ คือสงฆ์ สงฆ์ก็คือมวลหมู่ผู้ที่เข้าถึงธรรมตามอย่างพระพุทธ โดยอาศัยความกรุณาของพระพุทธทำให้เข้าถึงธรรม

สงฆ์นี้มีหลักการใหญ่ ๓ ประการ หนึ่ง วินัย เป็นฐาน เป็นตัวคุมให้ก่อและคงรูปเป็นสงฆ์ได้ ถ้าเราเอาแม่แบบนี้มาใช้กับสังคม ก็หมายความว่า สังคมต้องมีวินัย เช่น กฎหมาย และการจัดระบบสถาบันต่างๆ เป็นต้น เป็นฐาน สอง สามัคคี เป็นพลังยึดเหนี่ยว สงฆ์มีตัวยึดเหนี่ยวคือสามัคคี อันนี้เป็นหลักที่พระพุทธเจ้าตรัสย้ำเสมอ สาม กัลยาณมิตร เป็นเนื้อหาของสงฆ์ เพราะว่า พระสงฆ์นั้นประกอบด้วยบุคคลที่เป็นกัลยาณมิตร ในเมื่อเนื้อหาของสงฆ์ก็คือตัวบุคคลที่เป็นกัลยาณมิตร สงฆ์ก็จึงเป็นแหล่งของกัลยาณมิตร ที่คนในสังคมจะเข้าไปหาแล้วก็ได้รับประโยชน์ เป็นตัวช่วยนำคนให้เข้าถึงธรรม และมาร่วมเป็นสมาชิกของสงฆ์กันต่อๆ ไป เพราะฉะนั้น หลักของสงฆ์ก็จึงมีวินัยเป็นฐาน มีสามัคคีเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวคุม แล้วก็มีกัลยาณมิตรเป็นเนื้อหา

โยงตัวเราเข้าสู่ระบบการพัฒนาและบูรณาการ

ที่ว่ามา ๓ อย่างนี้ ก็คือหลักของบูรณาการ ที่เป็นความเชื่อมโยงระหว่างพระรัตนตรัยเอง ทีนี้ก็จะพูดต่อไปถึงว่า พระรัตนตรัยนั้นมาสัมพันธ์กับเราอย่างไร กล่าวคือ ต่อจากความสัมพันธ์ระหว่างองค์ต่างๆ ของพระรัตนตรัยเองแล้ว ก็มีความสัมพันธ์ระหว่างพระรัตนตรัยกับตัวเรา ว่าเราคือคนแต่ละคนนี้ สัมพันธ์กับพระพุทธอย่างไร สัมพันธ์กับพระธรรมอย่างไร และสัมพันธ์กับพระสงฆ์อย่างไร

เราสัมพันธ์กับพระพุทธโดยที่ว่า พระพุทธเป็นแม่แบบที่ทำให้เราเชื่อในศักยภาพของมนุษย์ พระพุทธเป็นมนุษย์ที่พัฒนาตน จนกระทั่งบรรลุถึงความสมบูรณ์ได้ เพราะฉะนั้น จึงทำให้มนุษย์ทุกคนเกิดความมั่นใจว่า ตัวเราแต่ละคนนี้เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ มีศักยภาพในตัวเอง ที่สามารถพัฒนาไปจนกระทั่งเป็นพระพุทธเจ้าได้

ศรัทธาในพระพุทธ ก็หมายถึงศรัทธาในความเป็นมนุษย์ คือศรัทธาในศักยภาพของมนุษย์ ด้วยศรัทธาในพระพุทธ ก็โยงมาถึงศรัทธาในศักยภาพของตนเอง ที่ทำให้เกิดความมั่นใจในตนเอง ทำให้เรามีกำลังใจ และพร้อมกันนั้น ก็เป็นการเตือนใจเราให้นึกถึงหน้าที่ในการพัฒนาตนของมนุษย์ด้วย

ฉะนั้น หลักการเรื่องพระพุทธนี้ จึงเป็นเครื่องเตือนใจตัวเราในฐานะเป็นมนุษย์ ว่าจะต้องฝึกฝนพัฒนาตนขึ้นไปให้ถึงที่สุด และพร้อมกันนั้นก็ทำให้คนมีกำลังใจในการที่จะพัฒนาตนอย่างนั้น เพราะพระพุทธเจ้าทรงเป็นตัวอย่างให้เราเห็นว่าจะเป็นเช่นนั้นได้ ถือว่าเป็นหลักการเบื้องต้นที่เป็นตัวสัมพันธ์ระหว่างตัวเรากับพระพุทธเจ้า เป็นศรัทธาพื้นฐานในพระพุทธศาสนา เรียกว่า "ตถาคตโพธิศรัทธา" (ถ้าจะเรียกให้จำง่ายก็ว่า โพธิศรัทธา) แปลว่า ความเชื่อหรือความมั่นใจในปัญญาตรัสรู้ของตถาคต คือ ความเชื่อในปัญญาที่ทำให้มนุษย์ตรัสรู้กลายเป็นพุทธะ ซึ่งโยงมาหาความสามารถของตัวเราเองว่า เรานี้สามารถพัฒนาตัวเองให้เป็นพุทธะได้ ให้เป็นคนสมบูรณ์ได้ ดังมีคาถาบทหนึ่งเป็นคติเตือนใจและเร้าใจไว้ว่า "พระพุทธทั้งที่เป็นมนุษย์ แต่เป็นผู้พัฒนาตนแล้วนี้ แม้แต่เทวดาก็นอบน้อมนมัสการ" อย่างนี้เป็นต้น นี้เป็นหลักที่พระพุทธศาสนาวางไว้ ให้เชื่อและสำนึกในศักยภาพของมนุษย์ที่จะพัฒนาตน นี้คือความสัมพันธ์ระหว่างพุทธกับมนุษย์แต่ละคน

ทีนี้ พระธรรมสัมพันธ์กับเราอย่างไร พระธรรมสัมพันธ์กับเราคือ ธรรมนั้นเป็นความจริงในธรรมชาติที่แวดล้อมตัวเราอยู่ และเป็นความจริงในตัวเราเอง ในชีวิตของเราด้วย เป็นกฎเกณฑ์อันแน่นอนที่แผ่ครอบคลุมตัวเราและทุกสิ่ง เป็นสิ่งที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ เริ่มแต่หลักความจริงที่ว่า สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย ถ้าเราจะทำอะไรให้ได้ผลดี รวมทั้งการพัฒนาตัวของเราเองด้วย เราก็จะต้องเรียนรู้และปฏิบัติเหตุปัจจัยให้ถูกต้อง เพราะฉะนั้น ธรรมจึงเป็นสิ่งที่เราจะต้องรู้และปฏิบัติให้ถูกต้อง เพื่อให้เกิดผลที่ดีงาม หรือความเป็นไปอย่างประสานกลมกลืน มิฉะนั้น ผลร้ายจะเกิดขึ้นแก่สิ่งทั้งหลายและตัวเราเอง ดังนั้น การรู้และปฏิบัติให้ถูกต้องจึงเป็นความสัมพันธ์ระหว่างตัวเรากับธรรม แต่เราจะปฏิบัติให้ถูกต้องต่อธรรมได้อย่างไร ก็ด้วยการพัฒนาตนให้มีปัญญาเป็นต้น ตามอย่างพุทธะที่เป็นแม่แบบอยู่แล้ว

ต่อไป เรามีความสัมพันธ์กับสงฆ์อย่างไร สงฆ์เป็นแหล่งกัลยาณมิตร เป็นแหล่งที่เราจะไปแสวงหาผู้ที่จะช่วยชี้แจง แนะนำ เร้าเตือนเราให้เดินหน้าไปในการพัฒนาตน เช่น เป็นครู อาจารย์เป็นต้น และเมื่อเราพัฒนาตนไป เราก็เข้าร่วมเป็นกัลยาณมิตรด้วย โดยเข้าเป็นสมาชิกของสงฆ์ ซึ่งเมื่อเราพัฒนาตนแล้ว เราก็กลายเป็นหรือสามารถเป็นกัลยาณมิตรของผู้อื่นต่อไป สงฆ์จึงเป็นแหล่งที่เราหากัลยาณมิตร และเข้าร่วมเป็นกัลยาณมิตรเองด้วย

ที่ว่ามานี้ก็เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างพระรัตนตรัยกับตัวเรา ถ้าหากว่าชาวพุทธเข้าใจหลักพระรัตนตรัยนี้ถูกต้องแล้ว ก็จะโยงเข้ามาหาระบบบูรณาการทั้ง ๓ อย่างที่ว่ามี มนุษย์ ธรรมชาติ และสังคม แล้วปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักของการพัฒนาอย่างประสานกลมกลืน ก็จะเป็นการเข้าสู่ยุคบูรณาการอยู่แล้วในตัว ตกลงว่า ยุคบูรณาการก็หันกลับไปหาหลักพระรัตนตรัยนี้เอง

ขอถามแทรกเข้ามาอย่างหนึ่งว่า ในบรรดาสิ่งทั้งหลายที่มีอิทธิพลต่อมนุษย์ในโลกปัจจุบันนี้ สิ่งหนึ่งก็คือเทคโนโลยี เทคโนโลยี นี้น่าจะเป็นระบบหนึ่ง แต่ไม่เห็นเลย มันอยู่ที่ไหน เท่าที่สำรวจดู พวกนักปราชญ์ นักคิดต่างๆ เขาก็ไม่ได้จัดเทคโนโลยีเป็นระบบหนึ่งในระบบใหญ่ทั้งหลาย ระบบใหญ่ก็มีเพียงมนุษย์ ระบบนิเวศวิทยา และสังคม หรือมนุษย์ ธรรมชาติและสังคมนั้นแหละ แล้วทีนี้ ในระบบบูรณาการนี้ เทคโนโลยีอยู่ที่ไหน

เทคโนโลยีไม่สามารถเป็นระบบอันหนึ่งได้ มันไม่มีระบบบูรณาการภายในกลุ่มพวกของมันเอง ไม่มีความสัมพันธ์ในระหว่างพวกของมันเองที่ต่างหากจากตัวมนุษย์ เป็นเพียงตัวพ่วงตามของมนุษย์ แม้ว่าเทคโนโลยีจะกลายเป็นสิ่งแวดล้อมอย่างหนึ่งของมนุษย์ แต่ก็ไม่อาจจัดเข้าในจำพวกสิ่งแวดล้อมทั่วไปตามปกติ ซึ่งได้แก่ สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ และสภาพแวดล้อมทางสังคม คือต้องเป็นสิ่งแวดล้อมอีกประเภทหนึ่งต่างหาก และมักจะเป็นตัวการที่ไปทำลายระบบบูรณาการของสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติด้วยซ้ำ คือ มันเป็นตัวการในฝ่ายของมนุษย์นั่นเอง ซึ่งจะไปแทรกแซงบั่นรอนระบบบูรณาการของสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติหรือไม่ หรือจะกลับไปช่วยเสริมระบบบูรณาการนั้น ก็อยู่ที่การปฏิบัติของมนุษย์ จึงต้องจัดรวมไว้ในระบบของมนุษย์เอง แต่มันอาจจะกลายเป็นสภาพแวดล้อมส่วนเกิน ที่กลับมาส่งผลทำลายตัวมนุษย์เองก็ได้ ซึ่งก็เป็นเรื่องในระบบของมนุษย์เอง

อนึ่ง เพราะเหตุที่เทคโนโลยีสามารถเป็นสภาพแวดล้อมขึ้นมาอีกแบบหนึ่ง ต่างหากจากสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ดังนั้น ในการจัดระบบบูรณาการระดับองค์รวมสมบูรณ์ จึงหลีกเลี่ยงการใช้คำว่า สิ่งแวดล้อมหรือสภาพแวดล้อม และใช้คำว่า ระบบนิเวศหรือใช้ง่ายๆ ว่าธรรมชาติเท่านั้น

ย้อนกลับมาสู่คำถามที่ตั้งไว้ข้างต้นว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ เทคโนโลยีอยู่ที่ไหน ในระบบบูรณาการนี้ แล้วก็ขอตอบเลยว่า อยู่ที่มนุษย์นั่นเอง อยู่ที่มนุษย์อย่างไร เทคโนโลยีก็คือส่วนขยายแห่งศักยภาพทางกายของมนุษย์ หรือเป็นเครื่องมือขยายพิสัยแห่งอินทรีย์ของมนุษย์ เป็นส่วนขยายหรือ extension ของศักยภาพด้านกายของมนุษย์ ซึ่งไปเข้าคู่กับส่วนขยายหรือ extension แห่งศักยภาพด้านจิตของมนุษย์ ด้านจิตของมนุษย์ เมื่อขยายศักยภาพออกไป มันจะเป็นอภิญญา ด้านกายเมื่อขยายศักยภาพออกไป ก็เป็นเทคโนโลยี

มนุษย์ในยุคที่ผ่านมานี้ได้เน้นการพัฒนาศักยภาพด้านกาย จนมีความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเป็นอันมาก แต่ในสมัยก่อนที่มนุษย์จะหันมาพัฒนาศักยภาพด้านกายนั้น เป็นยุคที่มนุษย์สนใจด้านจิตมาก และได้ขยายศักยภาพด้านจิตออกไป มีการบำเพ็ญฌาน ได้อภิญญาสมาบัติกันมากมายไปหมด ซึ่งนับว่าเป็นความเจริญอีกด้านหนึ่งของอีกยุคหนึ่งและเอียงสุดไปข้างหนึ่ง คือไปด้านจิต ส่วนในเวลานี้เราก็ไปสุดโต่งอีกข้างหนึ่ง คือไปด้านกายหรือด้านวัตถุ ตอนนี้เมื่อมาถึงยุคบูรณาการ ก็น่าจะทำให้เกิดบูรณาการกันเสียที คือให้มีการพัฒนาศักยภาพทั้งด้านกายและด้านจิตเข้ามาร่วมกัน แล้วทำให้เกิดสมดุลที่เป็นความสมบูรณ์ของมนุษยชาติ

เป็นอันว่า โดยสรุป พระรัตนตรัยเป็นแม่แบบใหญ่แห่งระบบบูรณาการในระดับแห่งพัฒนาการที่สูงสุด พระพุทธเจ้าเป็นพัฒนาการระดับสูงสุดของมนุษย์ พระรัตนตรัยก็เป็นระบบบูรณาการที่สมบูรณ์สูงสุดขององค์รวมใหญ่ทั้งหมด

เท่าที่บรรยายมา ก็ได้พยายามพูดให้เห็นว่า พัฒนาการกับบูรณาการนั้นต้องดำเนินไปด้วยกัน การศึกษาที่ถูกต้องสมบูรณ์จะเป็นพัฒนาการอย่างมีบูรณาการ แล้วก็เป็นบูรณาการท่ามกลางพัฒนาการด้วย ต้องไปด้วยกันอย่างนี้

ขอให้ท่านผู้ฟังทุกท่าน จงมีทั้งพัฒนาการและบูรณาการประกอบพร้อมกันไป จนกระทั่งเป็นผู้มีคุณสมบัติ คือ มีปัญญา มีความรู้เข้าใจ และให้ปัญญานั้นเจริญถึงที่สุด รู้เข้าใจความจริงที่เป็นสภาวะของสิ่งทั้งหลายโดยถ่องแท้ ที่จะทำให้เกิดมีคุณธรรมทั้งหลายพรั่งพร้อม รวมทั้งฉันทะ คือความใฝ่ดีที่จะกระทำการสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นประโยชน์ แล้วแสดงออกมาต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกรุณา คือความใฝ่ที่จะช่วยเหลือให้เขามีความสุขร่วมด้วย อันเป็นการบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม พร้อมนั้นก็ขอให้ทุกท่านประกอบด้วยคุณสมบัติข้อที่ ๓ คือมีความสุข เป็นผู้ไร้ทุกข์ มีจิตใจเป็นอิสระ ปราศจากทุกข์ ปราศจากปัญหา มีความเจริญพรั่งพร้อมบริบูรณ์โดยส่วนตัว และเป็นส่วนร่วมที่มีประโยชน์แก่สังคม โดยทั่วกันทุกท่าน เทอญ

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง