เพื่อชุมชนแห่งการศึกษา และบรรยากาศแห่งวิชาการ

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

เพื่อชุมชนแห่งการศึกษา
และบรรยากาศแห่งวิชาการ1

วันนี้มาคุยกันเรื่อง “คุณธรรมของผู้บริหารและอาจารย์: ผลกระทบต่อการอุดมศึกษาไทย” หัวข้อนี้แบ่งเป็น ๒ ตอน ตอนต้นคือ คุณธรรมของผู้บริหารและอาจารย์ และตอนที่สองคือ ผลกระทบต่อการอุดมศึกษาไทย

ด้านผลกระทบต่ออุดมศึกษาไทยนั้น อาตมาไม่ค่อยทราบ อาจจะรู้น้อย จึงคงจะเน้นในด้านที่หนึ่ง แต่ก็คิดว่ามันจะโยงถึงกันไปเอง อาจจะพูดถึงผลกระทบในแง่ที่ว่า เมื่อพูดถึงคุณธรรมของผู้บริหารและอาจารย์ ก็จะช่วยให้ได้ผลดีและเป็นการช่วยไม่ให้เกิดผลกระทบในทางร้ายไปเองในตัว เพราะว่าถ้าเรามีคุณธรรมและมีการปฏิบัติที่ถูกต้องแล้วก็เกิดผลดี ผลกระทบในทางเสียหายก็ไม่มี หรือถ้ามีอยู่แล้วก็จะหมดไปเอง

บทนำ
แหล่งวิชาการ คือแหล่งแสวงปัญญา

ทีนี้เริ่มต้นก็มาพูดกันในเรื่องอุดมศึกษาสักนิดหน่อย

อุดมศึกษาในที่นี้จะพูดถึงเรื่องเกี่ยวกับบุคคลที่เกี่ยวข้องในอุดมศึกษานั้น ได้แก่ ครูอาจารย์ และผู้บริหาร แต่เมื่อพูดถึงตัวบุคคลก็ต้องอาศัยสถาบัน ในที่นี้จึงจะพูดถึงเรื่องของสถาบันอุดมศึกษา โดยเฉพาะมหาวิทยาลัย

สถาบันอุดมศึกษานั้น บางทีก็พูดกันว่าเราต้องการให้เป็นชุมชนทางวิชาการ และยิ่งเป็นมหาวิทยาลัยแล้วชื่อก็บอกชัด มหาวิทยาลัย แปลว่าแหล่งแห่งวิชาการที่ยิ่งใหญ่ คือมาจากคำว่า “มหา”+[“วิทยา”+“อาลัย”]

“วิทยา” ก็คือ วิชา อันเดียวกัน เป็นแต่เพียงว่าวิชาเป็นคำภาษาบาลี ส่วนวิทยาเป็นคำภาษาสันสกฤต มีความหมายเหมือนกัน แม้ว่าในภาษาไทยเมื่อเรานำมาใช้แล้วต่อมาได้เกิดมีความหมายเปลี่ยนแปลงต่างออกไปบ้าง แต่ที่จริงศัพท์เดิมเหมือนกัน และต่อเข้ากับ “อาลัย” ซึ่งแปลว่า ที่อยู่ หรือแหล่ง เติม “มหา” เข้าข้างหน้า เพราะฉะนั้น มหาวิทยาลัยก็คือ มหาวิชาลัย แปลว่า “แหล่งวิชาการที่ยิ่งใหญ่”

เมื่อเป็นแหล่งวิชาการ มันก็โยงไปถึงเรื่องของปัญญา อะไรที่จะมารู้วิชาการก็คือ “ปัญญา” ตัววิทยาหรือวิชาเองนั้น ความจริงเดิมก็เป็นคุณสมบัติในตัวคน คือ ตัวความรู้แจ้ง แต่ตอนหลัง แทนที่เราจะใช้ในความหมายว่าเป็นความรู้ หรือความรู้แจ้ง วิชาหรือวิทยากลับไปหมายถึงสิ่งที่ถูกรู้ หรือสิ่งที่ถูกเรียนรู้ก็เลยกลายเป็นว่า วิชาการ หรือวิชานั่นแหละ กลายมาเป็นตัวสิ่งที่ถูกเล่าเรียน ไม่ใช่ตัวความรู้ นี่เป็นเรื่องของความหมายของศัพท์ที่เปลี่ยนแปลงไป พอเติม “การ” เข้าไปก็ยิ่งชัดว่าเป็นเรื่องภายนอก วิชาการจึงมีความหมายที่เรารู้กันว่าเป็นสิ่งที่ถูกรู้ และรู้ด้วยปัญญา

ฉะนั้น มหาวิทยาลัย ที่ว่าเป็นแหล่งวิชาการที่ยิ่งใหญ่ ก็ต้องเป็นแหล่งแห่งปัญญาที่ยิ่งใหญ่ด้วย และการที่จะมีปัญญายิ่งใหญ่ก็หมายถึงการที่ต้องแสวงปัญญา เพราะฉะนั้นในมหาวิทยาลัยจะต้องมีกิจกรรมในการแสวงปัญญากันอย่างเอาจริงเอาจัง

ทีนี้พอพูดถึงเรื่องปัญญา ก็หมายถึงจุดยอดของการศึกษา เพราะว่าการศึกษาเป็นการพัฒนาคน เป็นการเรียนรู้ ฝึกฝน พัฒนามนุษย์ ให้เกิดคุณสมบัติต่างๆ มากมาย และจุดยอดของคุณสมบัตินั้นก็คือเกิดปัญญา

เมื่อพูดถึงปัญญาในฐานะเป็นคุณสมบัติที่เยี่ยมยอดของมนุษย์ ก็โยงไปหาคุณสมบัติอื่นอีกมากมาย เพราะฉะนั้นเมื่อเราพูดถึงมหาวิทยาลัยในฐานะเป็นแหล่งวิชาการที่ยิ่งใหญ่ และโยงไปหาปัญญา การแสวงปัญญานั้นก็โยงต่อไปหาคุณสมบัติต่างๆ ที่ดีงามของมนุษย์อีกมากมาย ซึ่งในทางพุทธศาสนาบอกว่า การพัฒนาคุณสมบัติเหล่านี้รวมแล้วก็อยู่ที่การพัฒนาชีวิต ๓ ด้านของมนุษย์ คือ

๑. พัฒนาพฤติกรรม

๒. พัฒนาจิตใจ และ

๓. พัฒนาปัญญา

ถ้าเราโยงสามอย่างนี้ให้มาประสานกันได้ ให้มาเป็นปัจจัยเอื้อต่อกัน ก็จะเกิดผลโดยสมบูรณ์ โดยที่ในระหว่างที่พัฒนาปัญญาไปนั้น ถ้าเราพัฒนาถูกต้อง คุณสมบัติอื่นก็จะเกิดพ่วงมาด้วย ตามหลักความจริงของธรรมชาติแห่งความสัมพันธ์ระหว่าง ๓ ด้านของชีวิต กล่าวคือ พฤติกรรม จิตใจ และปัญญา

ชีวิต ๓ ด้านนั้นสัมพันธ์อาศัยกันอย่างไร? คนเราจะมีปัญญาได้ ต้องอาศัยพฤติกรรมที่ถูกต้อง เช่น พฤติกรรมในการแสวงหาความรู้ ต้องมีการเคลื่อนไหวทางกาย มีการเดินไป มีการสังเกต ใช้ตาดูหูฟัง เพื่อจะได้รับข้อมูลความรู้ เป็นต้น และต้องใช้วาจา รู้จักพูดจักจา รู้จักไถ่ถามสนทนา รู้จักปรึกษาหารือ เป็นต้น พฤติกรรมต่างๆ เหล่านี้ มีความสำคัญอย่างยิ่งในการที่จะทำให้เกิดปัญญา

พร้อมกันนั้นอีกด้านหนึ่งก็ต้องอาศัยจิตใจ ทางด้านจิตใจก็ต้องมีคุณสมบัติหลายอย่าง เช่น ความเพียรพยายาม ความขยัน ความอดทน ถ้าไม่มีคุณสมบัติทางจิตใจ โดยเฉพาะความเพียรพยายาม ความขยัน ใจสู้ การก้าวไปข้างหน้า ก็จะพัฒนาปัญญายาก เช่นเจอปัญหาก็ท้อเสียแล้ว ถ้าเจอปัญหาท้อ ไม่มีความเพียรพยายาม ไม่พยายามคิด และไม่พยายามค้นคว้าเป็นต้น ก็พัฒนาตัวเองไม่ได้ ปัญญาก็ไม่เกิด

นอกจากนั้น การที่จิตใจสงบ ไม่พลุ่งพล่าน ไม่กระสับกระส่าย ไม่กระวนกระวาย ไม่ขุ่นมัว ก็สำคัญ ถ้าจิตใจเร่าร้อน กระวนกระวาย พลุ่งพล่าน ขุ่นมัว เศร้าหมอง ก็เกิดปัญญายาก จะคิดอะไรก็ไม่ออก ใจไม่อยู่กับเรื่องที่คิด เดี๋ยวคิดเรื่องนี้ เดี๋ยวไปคิดเรื่องโน้น คิดไม่ตลอดไม่เสร็จสักเรื่อง คุณสมบัติที่ทำให้จิตใจหนักแน่น สงบ มั่นคง ผ่องใส ไม่มีอะไรรบกวน ใช้ความคิดต่อเนื่องไปได้ตลอด นี้คือ สมาธิ เมื่อสมาธิมาก็ทำให้การใช้ปัญญาได้ผลดี

นอกจากสมาธิแล้ว สติก็เป็นองค์ประกอบสำคัญ สติทำให้เราตื่นตัวต่อทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้น เป็นไป อะไรเกี่ยวข้องกับเรื่องที่เรากำลังจะหาความรู้หรือกำลังพิจารณา สติจะจับมาหมด จะไม่ปล่อย ถ้าคนไม่มีสติก็ปล่อยผ่าน มองข้าม สติเป็นตัวจับ ทุกอย่างที่เกี่ยวข้องเกิดขึ้นเป็นไป อะไรจะเข้ามามีผลกระทบ สติจับหมด จับเอามา แล้วปัญญาจึงทำงาน เช่น คิด พิจารณา และรู้สิ่งนั้นได้ เพราะฉะนั้น คุณสมบัติด้านจิตเช่นสติและสมาธินี้ก็สำคัญมากที่จะเอื้อต่อการที่จะเกิดปัญญา

ในเวลาเดียวกัน ปัญญาก็ส่งผลต่อพฤติกรรม พฤติกรรมอะไรจะเกิดประโยชน์แก่ชีวิต พฤติกรรมอะไรถูกหรือผิด จะได้ผลหรือไม่ ปัญญาก็เป็นตัวบอก และทำให้เรามีพฤติกรรมที่เอื้อต่อการดำเนินชีวิต แม้แต่การที่จะไปแสวงหาปัญญา ก็ปัญญานั่นแหละเป็นตัวบอกอีกเหมือนกันว่าควรจะใช้พฤติกรรมอย่างไร จะพูดจะจาอย่างไร ไปหาข้อมูลที่ไหน

จิตใจก็เหมือนกัน ถ้าเราคิดติดขัด ปัญญาไม่มี ไม่มีความรู้ ก็จะเกิดความรู้สึกคับข้องใจ บีบคั้น แต่พอปัญญามา รู้ว่าสิ่งนั้นคืออะไร คิดออกว่าจะปฏิบัติต่อสิ่งนั้นอย่างไร ก็โล่งใจโปร่งสบาย หรือถ้าเจออะไรที่ไม่สบายใจ ขัดใจ เช่น กิริยาท่าทาง หรือคำพูดของผู้อื่น เราจะรู้สึกโกรธเคือง แต่ถ้าเรารู้ หรือมีปัญญาเกิดขึ้นมาในแง่ใดแง่หนึ่ง เช่นรู้ว่าคนนี้เขามีปัญหา มีความกดดันในจิตใจ มีเรื่องราวทางบ้าน เป็นต้น พอเรารู้อย่างนี้ หรือแม้แต่เริ่มคิดเท่านั้นแหละ ความบีบคั้นในใจจะหายไป เปลี่ยนจากความขุ่นมัวเศร้าหมอง หรือจากความโกรธ กลายเป็นความสงสาร คุณธรรมก็เกิดมีขึ้น

เพราะฉะนั้นปัญญาจึงเป็นตัวเปลี่ยนสภาพจิตที่สำคัญที่สุด และในขั้นสุดท้าย ปัญญาจะเป็นตัวคุมทั้งพฤติกรรม ทั้งปรับเปลี่ยนสภาพจิตใจ แม้แต่ทำให้จิตใจเป็นอิสระ

คุณสมบัติที่สำคัญของปัญญาก็คือ ทำให้จิตเป็นอิสระ อย่างที่ว่า พอเจออะไรที่เราไม่รู้ เราติดขัด ไม่รู้จะทำอย่างไร ก็คือเกิดความทุกข์ ที่เรียกว่า ปัญหา หรือความบีบคั้น ติดขัด คับข้อง แต่พอปัญญามา รู้ว่าอะไรเป็นอะไร จะทำอย่างไร ก็โล่ง เพราะฉะนั้น ปัญญาจึงเป็นตัวปลดปล่อยจิตให้เป็นอิสระ

- ๑ -
จิตใจของนักวิชาการ

วิชาการต้องมีชีวิตชีวา จึงจะมีการแสวงปัญญาอย่างแท้จริง

ได้บอกเมื่อกี้ว่า ปัญญาเป็นคุณสมบัติเยี่ยมยอดของมนุษย์ เพราะมนุษย์นั้นเป็นอยู่ด้วยอาศัยสัญชาตญาณได้น้อย ไม่เหมือนสัตว์ชนิดอื่น มนุษย์ต้องอาศัยปัญญาที่รู้เข้าใจ จึงจะดำเนินชีวิตให้ดีได้ ในเมื่อปัญญาเป็นคุณสมบัติสูงสุด มันก็โยงไปหาคุณสมบัติอื่นในกระบวนการพัฒนามนุษย์ ถ้ามีการประสานหรือสัมพันธ์กับคุณธรรมหรือคุณสมบัติอื่นอย่างถูกต้อง ตัวปัญญา และกระบวนการพัฒนาปัญญานี่แหละ จะทำให้คุณธรรมเกิดขึ้นมาเอง หมายความว่า ถ้ากระบวนการพัฒนานั้นถูกต้อง มันจะเป็นไปเองโดยอัตโนมัติ

อย่างไรก็ตาม บางทีเหมือนกับว่าจะไม่เป็นอย่างนั้น แต่กลายเป็นว่า กระบวนการแสวงปัญญาในวงวิชาการ บางครั้งกลับทำให้เกิดมีปัญหาทางคุณธรรม การที่เป็นอย่างนั้นแสดงว่า กระบวนการพัฒนาปัญญานั้นไม่ถูกต้อง ถ้าเป็นกระบวนการพัฒนาที่ถูกต้อง คุณธรรมจะเกิดขึ้นมาเองโดยอัตโนมัติ แล้วก็ทำให้เกิดผลดีทั้งแก่ชีวิตและสังคม พูดง่ายๆ ว่า ผลดีที่เราต้องการก็เกิดขึ้นในกระบวนการพัฒนาปัญญาที่ถูกต้องนี่เอง

เริ่มต้น ขอให้ลองมองดูปัญหาในปัจจุบัน เมื่อพูดถึงเรื่องวิชาการ บางทีเราเกิดความรู้สึกทำนองว่า เป็นเรื่องแห้งแล้ง ไม่ค่อยมีชีวิตชีวา บางทีก็ได้แต่รูปแบบ ขอยกตัวอย่าง ในทางวิชาการมีข้อกำหนดว่าจะต้องเป็นไปตามกฎเกณฑ์ หรือมาตรฐานอย่างนั้นๆ เช่น เราจะทำงานวิจัย หรือทำวิทยานิพนธ์ ก็จะต้องมีขั้นตอน มีลำดับ มีองค์ประกอบ มีวิธีการอ้างอิงอะไรต่างๆ ซึ่งจะต้องทำให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐานอย่างนี้ๆ เป็นรูปแบบ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ ที่จะทำให้งานมีคุณภาพ แต่ถ้าเราอยู่กับรูปแบบ เช่น กฎเกณฑ์ เป็นต้น อย่างเดียว ขาดองค์ประกอบที่จะสร้างความมีชีวิตชีวาที่แท้จริง รูปแบบก็เป็นเพียงรูปแบบ คนก็ทำพอให้ได้ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ มันก็จะคล้ายๆ กับเป็นต้นไม้เทียม

ต้นไม้เทียมก็เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานว่า ใบจะต้องมีรูปร่างอย่างนี้ มีดอก กิ่ง สีสันอย่างนี้ มองดูก็สมเป็นต้นไม้ แต่มันไม่มีชีวิตชีวา มันไม่สามารถผลิดอกออกผลขึ้นมาจริงๆ เพราะชีวิตมันไม่มี

วิชาการก็เหมือนกัน ถ้ามีแต่รูปแบบ ก็แห้งแล้ง ไม่มีชีวิตชีวา จะได้ผลเพียงระดับหนึ่ง แต่ไม่ได้คุณค่าที่แท้จริง

ทีนี้จะทำอย่างไรให้วิชาการมีชีวิตชีวา ไม่แห้งแล้ง ไม่เป็นแต่เพียงรูปแบบ เช่นเพียงเป็นไปตามกฎเกณฑ์กติกา แต่ให้รูปแบบมาเป็นตัวหนุน เป็นตัวเสริม ช่วยให้ดอกผลที่เราต้องการเกิดมีขึ้นมาจริงๆ คือมาช่วยเป็นหลักประกันเพิ่มขึ้น แต่หลักประกันที่แท้ที่จะให้เกิดผลจริงพร้อมด้วยความมีชีวิตชีวา จะต้องมาจากตัวคน อะไรทำให้วิชาการมีชีวิตชีวา ซึ่งจะทำให้เกิดปัญญาที่แท้จริง

เมื่อเราพูดถึงวิชาการในปัจจุบัน เรามักจะมองอย่างหนึ่งว่า การศึกษาหาความรู้จะต้องมีลักษณะที่เรียกว่า เป็น objective โดยเฉพาะวิชาการทางวิทยาศาสตร์ อันนี้เป็นจุดที่อาจจะพลาด คือต้องระวัง ความเป็น objective นี่ บางทีก็ทำให้เราแยกออกจากความมีชีวิตชีวาไปสู่เรื่องของรูปแบบ กฎเกณฑ์ กติกา อย่างเดียว แล้วความเป็น objective นั้น ก็เลยเป็นการขาดชีวิตชีวาไปด้วย ลักษณะที่เป็น objective นี้ จะเห็นชัดในเรื่องของวิทยาศาสตร์ วิชาวิทยาศาสตร์เป็นการศึกษาหาปัญญาที่เน้นความเป็น objective มาก คือ ไม่ขึ้นต่ออัตวิสัย ไม่ขึ้นต่อตัวเอง ไม่ขึ้นต่อเรื่องคุณค่า แต่เอาความจริงที่สังเกต พิสูจน์ ทดลองได้

แต่ความเป็น objective ที่ว่านี้ ซึ่งจะใช้ภาษาไทยว่าเป็นปรวิสัย หรือสภาววิสัย หรืออะไรก็แล้วแต่ ความจริงมันไม่ได้แยกจากคุณค่าในใจของคน ความมีชีวิตชีวาที่อยู่ในจิตใจคนนี้มีความสำคัญ แต่ทำอย่างไรจะให้สองอย่างนี้มาสัมพันธ์เอื้อต่อกันได้

ศรัทธาสร้างความมีชีวิตชีวาให้แก่วิชาการ

ลองไปดูนักวิทยาศาสตร์เอง ที่ประสบความสำเร็จในการสร้างสรรค์ผลงานทางวิทยาศาสตร์ที่ว่าเป็น objective ในการที่จะศึกษาหาปัญญา ให้รู้วิชาการที่เป็น objective นั้น ตัวผู้ศึกษาเป็นอย่างไร เขาก็ต้องมีคุณสมบัติในตัวเอง ลองยกไอน์สไตน์เป็นตัวอย่าง

ไอน์สไตน์เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ประสบความสำเร็จ ผลงานของเขาก็เป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ ซึ่งแน่นอนก็ต้องเป็น objective เป็นวิชาการที่เป็นสภาววิสัย แต่ตัวนักวิชาการหรือตัวนักวิทยาศาสตร์ คือ ไอน์สไตน์เองนั้น ดูซิว่าเขามองเรื่องนี้อย่างไร

ไอน์สไตน์มองว่า นักวิทยาศาสตร์ที่แท้ ผู้หาความรู้วิทยาศาสตร์ หรือค้นคว้าหาความจริงของธรรมชาตินั้น จะไม่ประสบความสำเร็จ ถ้าขาดคุณสมบัติภายในที่เขาถือว่าสำคัญมาก คือ ศรัทธา ไอน์สไตน์จึงเน้นศรัทธามาก และ ณ จุดนี้เขาได้โยงศาสนาเข้ากับวิทยาศาสตร์ แต่หมายถึงศาสนาในความหมายที่บริสุทธิ์ ไม่ใช่ในความหมายที่ออกมาเป็นสถาบัน คือหมายถึงศาสนาที่เป็นสภาพจิตใจ เป็นตัวสภาวะทางธรรมชาติในจิตใจของมนุษย์ และจิตใจมนุษย์นั้นก็เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง

ในด้านคุณสมบัติคือสภาพจิตใจที่เป็นธรรมชาตินี้ มาดูกันว่าจิตใจอย่างไรที่จะแสวงหาความรู้วิทยาศาสตร์ ซึ่งถ้าไม่มีสภาพจิตใจนี้ การหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์จะไม่เกิดขึ้น ไอน์สไตน์บอกว่า จะต้องมีจิตใจที่ประกอบด้วยศรัทธา ซึ่งเป็นคุณสมบัติด้านศาสนาของมนุษย์ แต่ขอย้ำอีกครั้งว่าเป็นศาสนาในความหมายที่แท้ทางนามธรรม ไม่ใช่ศาสนาในความหมายที่เป็นรูปแบบ

ศรัทธา ที่ต้องการในการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์คืออะไร ไอน์สไตน์บอกว่า คือ ความเชื่อในระบบของธรรมชาติว่า ต้องมีความเป็นไปที่แน่นอนแห่งความเป็นเหตุเป็นผล คือต้องมีกฎเกณฑ์ ด้วยความเชื่อนี้ จึงทำให้เขาแสวงหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ไอน์สไตน์บอกว่า

“. . . ความเชื่อ (faith) ในความเป็นไปได้ว่า กฎเกณฑ์ที่มีผลจริงต่อสากลพิภพนี้ เป็นสิ่งที่มีเหตุผล คือสามารถเข้าใจได้ด้วยปัญญาที่ไตร่ตรองพิจารณา ข้าพเจ้ามองไม่เห็นนักวิทยาศาสตร์ที่แท้คนใดเลย ที่จะไม่มีศรัทธาอันลึกซึ้งที่ว่านั้น (that profound faith)”2

ถ้าไม่มีความเชื่อนี้ คนก็ไม่ค้นหาความรู้ วิทยาศาสตร์ก็ไม่เกิดขึ้น ศรัทธาหรือความเชื่อนี้แยกเป็น ๒ ชั้น คือ

ชั้นที่ ๑ เชื่อว่า ในธรรมชาติมีกฎเกณฑ์ มีความเป็นเหตุเป็นผล และ

ชั้นที่ ๒ เชื่อว่า กฎเกณฑ์ คือความเป็นไปในธรรมชาตินี้สามารถเข้าถึงได้ด้วยปัญญามนุษย์

ที่ว่านี้ หมายความว่า เชื่อทั้งในธรรมชาติ หรือความจริงของธรรมชาติ และเชื่อในศักยภาพของมนุษย์ด้วย คือเชื่อว่ามนุษย์สามารถเข้าถึงความจริงนี้ได้ด้วยปัญญา ความเชื่อยิ่งมั่น ก็ยิ่งทำให้ค้นคว้าหาความรู้จริงจัง ฉะนั้นไอน์สไตน์จึงย้ำว่า นักวิทยาศาสตร์ที่แท้จริงทุกคน มีตัวความเชื่ออย่างลึกซึ้ง ที่เรียกว่าศรัทธานี้ และยังเขียนต่อไปอีกตอนหนึ่ง ซึ่งเป็นการอธิบายที่ยิ่งชัดขึ้นไปอีกว่า

บุคคลที่ก่อให้เกิดผลสำเร็จในทางสร้างสรรค์ที่ยิ่งใหญ่ทางวิทยาศาสตร์ทุกคน มีความเชื่อมั่นทางศาสนาอย่างแท้จริง (truly religious conviction -- ศาสนาในความหมายของไอน์สไตน์นะ ไม่ใช่ความหมายอย่างที่คนทั่วไปเข้าใจ)ว่า สากลจักรวาลของเรานี้เป็นสิ่งที่มีความสมบูรณ์ และสามารถรับรู้ได้ด้วยการแสวงหาความรู้อย่างมีเหตุผล ถ้าศรัทธา (conviction) นี้ไม่เกิดเป็นความรู้สึกอันแรงกล้าขึ้นมาแล้ว...บุคคลเหล่านั้น ก็คงยากที่จะเกิดมีความมุ่งมั่นอุทิศตนอย่างไม่ลดละถดถอย ซึ่ง(เป็นคุณสมบัติ)เอกอันเดียว ที่ทำให้คนสามารถบรรลุผลสำเร็จอันยิ่งใหญ่ที่สุดของเขาได้3

นี่เป็นวาทะของไอน์สไตน์

เราจะเห็นความสัมพันธ์ระหว่างคุณสมบัติในตัวมนุษย์ คือ ศรัทธา ที่นำไปสู่การแสวงปัญญา อันนี้คือความสัมพันธ์ที่น่าสังเกตระหว่าง ศรัทธา กับ ปัญญา ขอแทรกนิดหนึ่งว่า เราจะต้องเห็นความสำคัญของศรัทธาในกระบวนการพัฒนาปัญญา ซึ่งหมายถึงกระบวนการพัฒนามนุษย์ทั้งหมด เพราะปัญญาไม่สามารถพัฒนาแยกต่างหากจากด้านอื่นๆ ของชีวิต

ศรัทธาเป็นไฟชนวนในกระบวนการพัฒนาปัญญา

การพัฒนาปัญญาอาศัยศรัทธาอย่างไร? ศรัทธาอย่างของไอน์สไตน์นี้คือ ความเชื่อมั่นในความจริงของกฎธรรมชาติ ว่าต้องมีกฎเกณฑ์ความเป็นระเบียบในธรรมชาติ และปัญญามนุษย์ก็เข้าถึงความจริงนั้นได้

ในวิชาการอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน ถ้าเรามีศรัทธา เราเชื่อว่าวิชาการที่เรากำลังศึกษา จะทำให้เราได้ปัญญา และจะทำให้เกิดความดีงามในสังคมได้จริง คือสามารถสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมมนุษย์ได้ จะทำให้เด็กของเราเป็นคนดีได้ ถ้านักการศึกษามีศรัทธาคือความเชื่อมั่นอันนี้ว่า สิ่งที่เขาเรียนจะทำให้เขาเกิดปัญญาที่สามารถมาจัดสรร สั่งสอน อบรมเด็กให้เป็นคนดีได้ ซึ่งเป็นจุดหมายในการพัฒนามนุษย์ หรือการศึกษาเล่าเรียนนั้น ถ้าเขามีความเชื่ออันนี้ เขาจะตั้งใจศึกษาค้นคว้าวิชาการอย่างจริงจัง แต่ถ้าไม่มีศรัทธานี้ เขาก็จะเรียนอย่างแห้งแล้ง กฎเกณฑ์ว่าอย่างไรก็ทำไปพอให้ได้ตามกฎเกณฑ์ และเป็นครูอาจารย์เพียงรูปแบบ

ฉะนั้น ศรัทธาจึงสำคัญอย่างยิ่ง แต่จะต้องระลึกไว้ว่า ศรัทธามี ๒ แบบ

แบบที่ ๑ คือศรัทธาที่ปิดกั้นปัญญา

แบบที่ ๒ คือศรัทธาที่เกื้อหนุนปัญญา

ศรัทธาที่ปิดกั้นปัญญาหรือขัดขวางการพัฒนาปัญญา ได้แก่

ก) ศรัทธาแบบงมงาย หรือศรัทธาตาบอด คือ ความเชื่องมงาย แล้วแต่เขาจะบอก ความยอมเชื่อไปเสียหมด ตามข้อที่เขากำหนดมาให้ โดยไม่ต้องคิด ไม่ต้องค้น ไม่ต้องสอบ ไม่ต้องถาม ไม่ได้ใช้ปัญญาของตนเอง

ข) ศรัทธาแบบบังคับ หรือศรัทธาปิดตา คือศรัทธาที่ถามไม่ได้ ห้ามสงสัย บังคับให้เชื่อ ด้วยอำนาจที่มองเห็นก็ตาม มองไม่เห็นก็ตาม เช่น ขู่ว่าเป็นบาป ถ้าสงสัยว่าอันนี้อันนั้นมีจริงหรือเปล่าก็เป็นบาปไปหมด จะตกนรก หรือถูกลงโทษ ถามไม่ได้เลย อย่างนี้ก็เป็นศรัทธาที่ปิดกั้นขัดขวางปัญญา

ศรัทธาที่แท้จริงเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างปัญญา เป็นตัวเกื้อหนุนและจำเป็นในกระบวนการพัฒนาปัญญา อย่างศรัทธาของไอน์สไตน์ที่ว่าเมื่อกี้

ตามหลักพุทธศาสนา กระบวนการของการศึกษา เริ่มต้นด้วยศรัทธาพื้นฐาน ที่เรียกว่า ตถาคตโพธิสัทธา หรือเรียกสั้นๆ ว่า “โพธิสัทธา” แปลว่า ความเชื่อในปัญญาตรัสรู้ กล่าวคือ ความเชื่อในปัญญาที่ทำให้มนุษย์กลายเป็นพุทธะ ได้แก่ความเชื่อมั่นในศักยภาพของมนุษย์ว่าเป็นสัตว์ที่เรียนรู้ได้ ฝึกฝนพัฒนาได้ จนสามารถบรรลุสัจจธรรมและมีชีวิตที่ดีงามสูงสุด ที่เรียกว่าเป็น “พุทธะ” บุคคลผู้มีศรัทธานี้จะสามารถก้าวหน้าต่อไปในกระบวนการศึกษาแห่งการพัฒนาทั้ง ๓ ด้าน คือ พฤติกรรม จิตใจ และปัญญา ที่เรียกว่าไตรสิกขา

จะเห็นชัดว่า โพธิสัทธา เป็นศรัทธาที่เชื่อมต่อกับปัญญาโดยตรง เพราะเป็นความเชื่อในตัวปัญญานั้นเอง โดยโยงสู่จุดหมายคือการบรรลุความเป็นพุทธะ ผู้รู้ความจริงและมีชีวิตที่ดีงามสมบูรณ์ โดยนัยนี้ ศรัทธาที่เกื้อหนุนปัญญา จึงแยกได้เป็น ๒ ด้าน คือ

๑. ศรัทธาในศักยภาพของมนุษย์ คือ เชื่อว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่เรียนรู้ฝึกฝนพัฒนาได้ ซึ่งสามารถที่จะพัฒนาปัญญาของตน จนเข้าถึงความจริงของธรรมชาติ และดำเนินชีวิตที่ถูกต้องดีงามมีความสุขที่สมบูรณ์

๒. ศรัทธาในความจริงของธรรมชาติ คือ เชื่อว่าธรรมชาติหรือสรรพสิ่งมีภาวะและความเป็นไปอันเป็นระเบียบแน่นอน ซึ่งเป็นความจริงแท้ที่มนุษย์ควรจะรู้ และด้วยปัญญาที่รู้ความจริงของธรรมชาตินั้น จะทำให้มนุษย์สามารถดำเนินชีวิตที่ถูกต้องดีงามมีความสุขที่สมบูรณ์

เมื่อมีศรัทธาขั้นพื้นฐานนี้แล้ว ก็ก้าวไปสู่ศรัทธาในระดับปฏิบัติการ โดยมีศรัทธาที่เกื้อหนุนปัญญา หรือเอื้อต่อการพัฒนาปัญญา ซึ่งจะทำหน้าที่ที่สำคัญ คือ

๑. ศรัทธาเป็นตัวจับจุดให้ พอเรามองเห็นว่าในบรรดาสิ่งที่เราพบเห็น หรือได้ยินมากมายนี้ อันไหนมีเค้าว่าจะทำให้เราบรรลุผลที่ประสงค์ ที่เราต้องการ เช่นจะทำให้ได้ผลสำเร็จในการที่จะไปพัฒนาเด็กให้เป็นคนดี ศรัทธาก็จับที่จุดนี้ คือเกิดความเชื่อว่าอันนี้จะให้ผลที่ต้องการได้ พอเกิดความเชื่อนี้ตั้งเค้าขึ้นมานิดหน่อย ท่านเรียกว่าเป็น “อาการวตี สทฺธา” แปลว่าศรัทธาที่มีเค้า ศรัทธาก็จับจุดเป็นเป้าให้แก่ปัญญาแล้วก็เจาะที่นี่ แต่ถ้าไม่มีศรัทธา ศรัทธาไม่จับจุดให้ ปัญญาก็จับจด อันโน้นก็เอา อันนี้ก็เอา ไปเรื่อยๆ ไม่เจาะลึกลงไป แต่พอศรัทธาจับให้ปั๊บ ปัญญาก็เจาะที่นั่นเลย

๒. ศรัทธาช่วยให้ปัญญามีทิศทาง และเดินหน้าไปในทิศทางสู่เป้าหมายที่ต้องการ เพราะเชื่อว่าอันนี้แหละจะให้ผลที่เรามุ่งหมาย ให้เกิดความสำเร็จ เช่นอย่างนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า ถ้าค้นไปถึงนั่นได้ เราจะเข้าใจธรรมชาติได้ เราจะสามารถตอบปัญหา หรือคลายปมที่เราติดอยู่ได้ อันนี้แน่แล้ว เราค้นมุ่งหน้าไปให้ถึงนั่นเถอะ ศรัทธาก็กำหนดทิศทางให้ เราก็แน่วไป

๓. ศรัทธาทำให้เกิดพลัง เป็นธรรมดาว่าคนมีศรัทธา มีความเชื่อมั่น จะเกิดกำลัง การที่จะแสวงปัญญาได้สำเร็จจะต้องมีพลัง มีความเข้มแข็งในการที่จะเอาจริงเอาจัง ถ้าไม่มีความจริงจัง ไม่มีความเข้มแข็งอันนี้ ความเพียรพยายามก็ไม่มา ไม่อยากจะไปเคลื่อนไหวทำการต่างๆ แต่พอมีศรัทธาว่า อันนี้แหละคือสิ่งที่ให้คุณค่าหรือความหมายสูงสุดแก่ชีวิต หรือว่าอันนี้แหละจะให้บรรลุจุดหมายที่ใฝ่ปรารถนา ก็เกิดแรงใจ เป็นพลังยิ่งใหญ่ แม้แต่จะข้ามน้ำข้ามทะเลไป บุกป่าไป ไปขั้วโลก ก็เอาหมด สละชีวิตให้ก็ยังได้เลย ฝรั่งเขาปลูกฝังคุณสมบัตินี้ไว้ได้มาก เขาต้องการความรู้อะไร สามารถที่จะยอมสละชีวิตให้ทั้งชีวิต สามารถที่จะเดินทาง บุกป่าฝ่าดงกันดาร ถึงจะมีภัยอันตรายก็เสี่ยงไปได้ เพื่อหาความรู้ด้วยศรัทธา ฉะนั้น คุณสมบัติในใจที่ว่าเป็นตัวสร้างพลัง ก็คือศรัทธานี่แหละ

ตกลงว่า ศรัทธาให้ทั้งจุดที่ปัญญาจะเจาะ ทั้งให้ทิศทางที่ปัญญาจะเดินก้าวไปสู่จุดหมาย และทั้งให้พลังในการที่จะเดินหน้าไปด้วย แต่ก่อนอื่นต้องแยกได้ ระหว่างศรัทธา ๒ อย่าง คือ ศรัทธาที่ขัดขวางปิดกั้นปัญญา กับศรัทธาที่เป็นตัวเกื้อหนุนปัญญา ในทางที่ถูกต้องนั้น ศรัทธาเป็นองค์ประกอบและเป็นคุณสมบัติที่สำคัญมากในกระบวนการพัฒนาปัญญา

ความใฝ่รู้คือรุ่งอรุณของการพัฒนาปัญญา

อย่างไรก็ดี ลึกลงไปศรัทธายังต้องอาศัยคุณสมบัติอีกอย่างหนึ่ง ทำไมไอน์สไตน์จึงต้องก้าวมาสู่การมีความเชื่อมั่นในความเป็นจริงของกฎธรรมชาติ และศรัทธาในศักยภาพของตัวเอง โดยเชื่อมั่นว่าตนจะเข้าถึงความจริงนั้นได้ ก่อนที่จะมาถึงขั้นศรัทธานั้น เขามีอะไร ตอบว่าเขามีความอยากรู้ในความจริง เมื่อเขามีความอยากรู้แล้วศรัทธาจึงมาเสริมมาช่วย เมื่ออยากรู้ หรือใฝ่รู้แล้ว จึงต่อมาสู่ขั้นที่เชื่อว่าจะสามารถรู้ได้ ความอยากรู้หรือใฝ่รู้นี้ไม่ใช่อยากรู้เฉยๆ แต่อยากรู้ให้ถึงความจริงแท้ของสิ่งนั้นๆ อยากรู้ความจริงว่ามันเป็นอะไรแน่

ความอยากรู้ความจริง อยากเข้าถึงความจริงนี่แหละที่สำคัญอย่างยิ่ง นักวิทยาศาสตร์ต้องมีคุณสมบัติข้อนี้ก่อน คืออยากรู้ความจริงของธรรมชาติ แล้วศรัทธาก็มาช่วยเสริมว่ามีนะความจริง มีนะกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ศรัทธามีความเชื่อมั่นในความจริงนั้น และเชื่อว่าเรามีศักยภาพที่จะพัฒนาให้รู้ความจริงนั้นได้ แต่ความอยากรู้ที่เป็นแรงในตัวเองต้องมีก่อน ความอยากรู้นี้เป็นพลังขึ้นมาข้างใน ส่วนศรัทธาเป็นเครื่องเชื่อมตัวเรากับสิ่งที่ต้องการรู้ข้างนอก

ความอยากรู้ความจริง หรืออยากเข้าถึงความจริงของสิ่งนั้นๆ นี้ ถ้ามีกำลังแรงก็จะถึงขั้นที่ทำให้บอกว่า ฉันจะต้องรู้ความจริงของสิ่งนั้นๆ ให้ได้ ถ้าไม่รู้ถึงความจริงจะไม่ยอมหยุด ต้องขนาดนี้ นักวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ต้องมีคุณสมบัตินี้ในใจ คือมีความปรารถนา ความอยาก ความใฝ่รู้ต่อความจริงอย่างแรงกล้า (อย่าทิ้ง “ใฝ่รู้” ไว้ลอยๆ)

ใฝ่รู้ความจริงคือ ปรารถนาจะเข้าถึงความจริงให้ได้ ถ้าไม่ถึงความจริงจะไม่ยอมหยุด พอมีความใฝ่รู้แล้ว ศรัทธาก็มาช่วย คือเชื่อมั่นว่าในสิ่งที่ต้องการรู้นั้นมีความจริง มีกฎเกณฑ์ที่รู้ได้ และตัวเองก็มีความสามารถที่จะรู้ ก็จึงค้นคว้าไป อย่างที่ไอน์สไตน์มุ่งหน้าหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์

ตัวความใฝ่รู้ หรืออยากจะรู้นี้ เรียกว่า ฉันทะ เราไม่ค่อยเห็นศัพท์นี้ ฉันทะเป็นศัพท์ที่ค่อนข้างจะหายไป หรือถูกมองข้าม ฉันทะนี้เป็นคุณสมบัติที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่ง ในพระพุทธศาสนา เรียกว่าเป็นแสงเงินแสงทองของชีวิตที่ดี ฉันทะนี้มาเมื่อไร ชีวิตที่ดีเริ่มต้นเมื่อนั้น ถ้ามีฉันทะก็มั่นใจได้เลยว่าชีวิตที่ดีงามจะมา หรือถึงรุ่งอรุณของการศึกษา

ฉันทะ คือความใฝ่รู้ อยากจะรู้ความจริง อยากเข้าถึงความจริงของสิ่งนั้นๆ เรื่องนั้นๆ ฉันทะนี้เป็นตัวริเริ่ม เป็นจุดตั้งต้น หรือเป็นพลังเริ่มแรกที่ผุดขึ้นภายใน แล้วจึงอาศัยศรัทธามาโยงออกไปหาสิ่งที่ต้องการ ศรัทธามาเป็นพลังหนุนหรือผลักดันปัญญา ช่วยให้เดินหน้าไป แต่เราต้องมีฉันทะนี่มาเป็นตัวเริ่มงาน เพราะฉะนั้นไอน์สไตน์จึงไม่ได้พูดแค่ว่าศรัทธาหรือความเชื่อ แต่พูดต่อไปถึงความใฝ่รู้ เขาบอกว่าวิทยาศาสตร์จะได้รับการสร้างสรรค์ขึ้นมาได้ ก็โดยบุคคลที่เต็มเปี่ยมด้วยความใฝ่ปรารถนาต่อสัจธรรมและต่อปัญญาที่เข้าใจความจริง อันนี้คือ ฉันทะ ตัวนี้สำคัญที่สุด เป็นฐานก่อนศรัทธา เมื่อพูดมาถึงฉันทะ จึงครบที่ไอน์สไตน์พูด

อาตมาจะขออ่านให้หมดอีกทีหนึ่ง ให้เห็นทั้ง ฉันทะ และทั้ง ศรัทธา ตามที่ไอน์สไตน์พูดไว้ว่า

“วิทยาศาสตร์นั้นจะรังสรรค์ขึ้นมาได้ ก็จำเพาะแต่โดยบุคคลที่เต็มเปี่ยมด้วยความใฝ่ปรารถนา (aspiration) ต่อสัจธรรมและต่อปัญญาที่เข้าใจถึงความจริง อย่างไรก็ดี แหล่งที่มาของความรู้สึกนี้เกิดจากแดนของศาสนา และในแดนของศาสนาด้วยเช่นกัน ก็มี ความเชื่อ (faith) ในความเป็นไปได้ว่า กฎเกณฑ์ที่มีผลจริงต่อสากลพิภพนี้ เป็นสิ่งที่มีเหตุผล คือสามารถเข้าใจได้ด้วยปัญญาที่ไตร่ตรองพิจารณา ข้าพเจ้ามองไม่เห็นนักวิทยาศาสตร์ที่แท้คนใดเลยที่จะไม่มีศรัทธาอันลึกซึ้งที่ว่านั้น (that profound faith)”4

คำกล่าวนี้ระบุชัดทั้งฉันทะและศรัทธา แล้วก็โยงมาสู่ปัญญาที่เราต้องการ

ที่พูดถึงไอน์สไตน์ก็เพื่อให้เห็นตัวอย่างของการแสวงหาความรู้ แสวงปัญญา หรือการพัฒนาวิชาการในยุคสมัยใหม่ ที่ใกล้ตัวของนักการศึกษาและนักวิชาการปัจจุบัน และเพื่อแสดงให้เห็นว่า ทัศนะของนักแสวงปัญญาและนักค้นพบผู้ยิ่งใหญ่ในยุคปัจจุบันท่านนี้ ก็ตรงกันกับหลักการที่กำลังพูดถึงในที่นี้ เพราะเป็นความจริงตามธรรมดาของธรรมชาติ

พูดอีกสำนวนหนึ่งว่า ที่ยกวาทะของไอน์สไตน์มาอ้างที่นี้ มิใช่เพราะเป็นคำพูดของไอน์สไตน์ แต่ยกมาอ้างเพราะไอน์สไตน์เป็นตัวอย่างของนักวิชาการยุคปัจจุบันที่มองเห็นหลักการแห่งความจริงตามธรรมชาตินี้ นอกจากนั้นยังเป็นการแสดงให้เห็นด้วยว่า แม้แต่บุคคลที่สำคัญยิ่งในวงการวิทยาศาสตร์ที่ถือว่าเป็นวิทยาการนำสุด ในการแสวงหาความรู้อย่างเป็น objective ได้รู้ตระหนักถึงความสำคัญของคุณธรรมหรือคุณค่าทางจิตใจต่อการแสวงหาความจริงนั้นอย่างไร

อย่างไรก็ตาม เรื่องของเราคงไม่จบเท่านั้น นักวิทยาศาสตร์มุ่งหาความจริง เป้าหมายของเขาอยู่ที่นั่น แต่คนที่รู้และเห็นความจริงแล้ว ยังมีการก้าวต่อไป

พอเราเริ่มรู้ว่านี้เป็นอะไร ความรู้นั้นจะทำให้เราแยกได้ ว่าสิ่งนี้อยู่ในภาวะที่ควรจะเป็นของมันไหม เมื่อเรารู้ว่าภาวะที่เต็มหรือดีงามสมบูรณ์ของมันเป็นอย่างนี้ เราก็รู้ต่อไปว่า ภาวะที่มันเป็นอยู่ขณะนี้ยังไม่สมบูรณ์ ยังไม่เต็ม มันยังไม่อยู่ในภาวะที่ดี เช่นเราจะแยกได้ว่าต้นไม้ต้นนี้อยู่ในภาวะที่ไม่อุดมสมบูรณ์ ไม่อยู่ในภาวะที่ดีงาม ที่ควรจะเป็น ความรู้ทำให้เราก้าวไปสู่ขั้นที่แยกเห็นความต่างระหว่างภาวะที่ควรจะเป็นกับภาวะที่ไม่ควรจะเป็น พอเราแยกอันนี้ได้ เราเห็น เรารู้ความแตกต่าง ความรู้นั้นก็จะทำให้เราก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง คือเราจะนึกถึงภาวะที่ควรจะเป็น ว่ามันควรจะเป็นอย่างไร คือมันควรจะมีภาวะที่เต็มสมบูรณ์ดีงามอย่างไร

เมื่อกี้เรามีความใฝ่อยากรู้ความจริง ตอนนี้เมื่อเราเกิดมีความรู้แล้ว เราก็จะอยากอีกขั้นหนึ่ง คือ อยากจะให้มันเป็นอย่างที่ควรจะเป็น ภาวะที่ควรจะเป็นนี้ เราพูดสั้นๆ ว่า “ภาวะที่ดีงาม” หรือภาวะที่เต็มเปี่ยมสมบูรณ์ก็แล้วแต่ พอเราอยากให้สิ่งนั้นอยู่ในภาวะที่ดีงาม กระบวนการทางจิตก็เดินหน้าต่อไปว่า ทำอย่างไรมันจึงจะกลายเป็นสิ่งที่ดีงามได้ เมื่อมันยังไม่เป็น เราก็อยากทำให้มันเป็น อยากทำให้มันดีงาม พออยากทำให้เป็นสิ่งที่ดีงาม เราก็ต้องทำ การกระทำก็เกิดขึ้น การกระทำให้ดีงามนี้เราเรียกว่า “การสร้างสรรค์”

เป็นอันว่า จากความใฝ่รู้ ก็ตามมาด้วยความใฝ่ดี คืออยากให้สิ่งทั้งหลายดีงาม จากใฝ่ดีก็ไปสู่การทำให้ดีงาม ซึ่งเรียกเป็นศัพท์ว่า การสร้างสรรค์ มันโยงกันหมด เพราะเป็นกระบวนการเดียวกันอันเป็นไปตามธรรมชาติ ตามกันมาเอง ถึงตอนนี้เราก็ ใฝ่สร้างสรรค์ คืออยากทำให้มันดี

เมื่อการศึกษาที่แท้เดินหน้า ความสุขก็พัฒนาตามไป

ในกระบวนการทั้งหมดนี้จะมีความสุขตามมาด้วยทุกตอน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า มนุษย์ที่พัฒนาถูกต้อง จะพัฒนาคุณธรรมไปพร้อมกับความสุข กล่าวคือ คนเรานั้นมีความสุขจากการสนองความต้องการ เมื่อเราใฝ่รู้เราก็เกิดความต้องการใหม่ คือ ต้องการรู้ เมื่อเราได้สนองความต้องการที่จะรู้ เราก็มีความสุข คือมีความสุขจากการสนองความใฝ่รู้ เพราะฉะนั้นนักวิทยาศาสตร์จึงสามารถอยู่กับงาน อย่างชนิดลืมกินลืมนอนได้ โดยไม่หาความสุขจากการบำรุงบำเรอร่างกายตัวเองเลย เขาอยู่กับงานที่เขาค้นคว้าได้ เพราะเขามีความสุขจากการสนองความใฝ่รู้

คนที่สร้างสรรค์ก็เช่นเดียวกัน เมื่อเขาอยากให้มันดี เขาก็อยากทำให้มันดี เมื่อเขาทำให้มันดี เขาก็ได้สนองความต้องการของเขา เพราะฉะนั้นเขาจึงมีความสุขจากการกระทำ(ให้มันดี) คนสามารถมีความสุขจากการสนองความต้องการรู้ ด้วยการเรียนรู้ และสนองความต้องการในการใฝ่ดีหรือความใฝ่สร้างสรรค์ด้วยการกระทำ เพราะฉะนั้น การเรียนรู้และการกระทำจึงเป็นความสุขได้ เรื่องนี้มีความหมายสำคัญในกระบวนการของการศึกษาทั้งหมด

ในกรณีของเด็ก ถ้าการศึกษาก้าวมาถึงขั้นนี้ จะปลอดภัยมาก เพราะว่าปัญหาของมนุษย์ก็คือ ในขั้นต้น เมื่อยังไม่มีการศึกษา เขาจะอยู่กับความสุขจากการเสพคือ เสพด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย เช่น ตาได้ดูรูปที่สวยงามสบายตา หูได้ฟังเสียงที่ไพเราะสบายหู ลิ้นได้ลิ้มรสอร่อยสบายลิ้น คนจะหาความสุขจากการเสพ หรือจากการบริโภค พูดง่ายๆ ว่า สุขจากเสพ ซึ่งมีความหมายว่า ต้องเจอสิ่งที่ชอบใจ เพราะสิ่งที่ชอบใจทำให้สบาย ส่วนสิ่งที่ไม่ชอบใจก็คือ สิ่งที่ทำให้ไม่สบาย ถ้าจะพูดให้ถูกต้อง ที่ไม่ชอบใจนั้นเกิดจากไม่สบาย คือมันทำให้เราไม่สบาย เราจึงไม่ชอบใจ ต่อไปเมื่อเจอสิ่งที่ไม่ชอบใจ เราก็ไม่สบาย มันย้อนกลับ ตอนแรกเจอสิ่งที่ไม่สบาย จึงไม่ชอบใจ ต่อไปเมื่อเจอสิ่งที่ไม่ชอบใจ ก็ไม่สบาย รวมความว่าความสุขความทุกข์ของมนุษย์ในระดับนี้ขึ้นต่อความชอบใจและไม่ชอบใจ เขาจะหมุนเวียนอยู่ในวงจรที่เรียกว่า “สังสารวัฏ” แห่งความสุขจากสิ่งที่ชอบใจ และทุกข์จากสิ่งที่ไม่ชอบใจ

แต่พอเริ่มมีความใฝ่รู้ เขาก็เริ่มมีความสุขจากการเรียนรู้เพื่อสนองความใฝ่รู้นั้น และที่สำคัญก็คือ ตอนนี้เกิดมีมิติใหม่ว่า การเรียนรู้นั้นไม่ขึ้นต่อสิ่งที่ชอบใจและไม่ชอบใจ เพราะสิ่งชอบใจก็ได้เรียนรู้ สิ่งไม่ชอบใจก็ได้เรียนรู้ทั้งนั้น ฉะนั้นความสุขจากการเรียนรู้จึงไม่ขึ้นต่อความชอบใจหรือไม่ชอบใจ เพราะความสุขของเขาเกิดขึ้นได้จากประสบการณ์ทุกอย่างไม่ว่าชอบใจหรือไม่ชอบใจ

เมื่อคนพัฒนามากขึ้น เขาจะสามารถมีความสุขจากการเผชิญปัญหา ที่จริงปัญหาเป็นสิ่งที่น่าท้อใจ น่าจะทำให้เกิดความทุกข์ เพราะปัญหาเป็นภาวะบีบคั้น ขัดข้อง เป็นทุกข์อยู่ในตัวแล้ว แต่คนที่พัฒนาตนเองสามารถมีความสุขจากปัญหา คือจากทุกข์นั่นเอง เขาสามารถหาความสุขจากความทุกข์ได้ เพราะเมื่อเขาพยายามแก้ปัญหา เขาได้คิด ได้ค้น ได้สนองความใฝ่รู้ เขาก็ยิ่งชอบใจ เขาจึงมีความสุขจากการเรียนรู้ในการแก้ปัญหา ฉะนั้น เขาจึงพ้นจาก สังสารวัฏแห่งสุขทุกข์จากความชอบใจไม่ชอบใจ

เป็นอันว่า เมื่อบุคคลเริ่มมีการศึกษา เขาก็เริ่มใช้ตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็น ทั้งคนที่มีการศึกษาและคนไม่มีการศึกษาก็ใช้สิ่งเดียวกัน แต่ใช้เพื่อความมุ่งหมายคนละอย่าง คนไม่มีการศึกษาใช้อะไร คนที่มีการศึกษาก็ใช้อันนั้น และการศึกษาก็เริ่มที่นั่น คือ เริ่มที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเรา

ก. เมื่อยังไม่มีการศึกษาก็ใช้ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพื่อเสพสิ่งที่ชอบใจ เพื่อให้เกิดความสบาย ที่เรียกว่าสุขเวทนา ชีวิตของเขาอยู่ในระดับของการใช้ตา หู จมูก ลิ้น เพื่อเสพ และสุขทุกข์ของเขาก็อยู่ที่สิ่งชอบใจ และไม่ชอบใจ

ข. แต่พอเริ่มมีการศึกษาเขาก็เริ่มใช้ ตา หู จมูก ลิ้น เพื่อการเรียนรู้ และเขาก็มีความสุขใหม่จากการเรียนรู้ ซึ่งเป็นความสุขที่ไม่ขึ้นต่อสิ่งชอบใจหรือไม่ชอบใจ ประสบการณ์ทุกอย่างสามารถเป็นสิ่งเรียนรู้ได้ทั้งนั้น เพราะฉะนั้นเขาจึงได้ความสุขจากทุกประสบการณ์

ตรงนี้เป็นความก้าวหน้าและเป็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการศึกษา และคนก็เริ่มพัฒนา

พอถึงจุดนี้ คือพอเขาใช้ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็น เราเรียกว่าคนเริ่มมีการศึกษา การศึกษาตั้งต้นที่นี่

เมื่อคนใฝ่เสพ งานคือทุกข์ เพราะต้องทำ
เมื่อคนใฝ่สร้างสรรค์ งานคือสุข เพราะสมใจที่ได้ทำ

อย่างที่บอกเมื่อกี้ ว่าการศึกษามีการก้าวต่อ มันไม่ได้หยุดแค่รู้ พอรู้แล้วความรู้นั้นทำให้เห็นว่าอะไรควรจะเป็นอย่างไร ก็ก้าวไปสู่ความใฝ่ดี ใฝ่ดีแล้วก็อยากทำให้มันดี อยากทำให้มันดีก็คืออยากสร้างสรรค์ พออยากทำแล้ว เมื่อได้ทำก็มีความสุขจากการกระทำนั้น ซึ่งตรงข้ามกับพวกที่ใช้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย เพื่อเสพ พวกที่ใช้อินทรีย์เพื่อเสพนั้นความสุขเกิดจากการเสพสิ่งที่ชอบใจอย่างเดียว และทุกข์ก็เกิดจากสิ่งที่ไม่ชอบใจ แล้วอะไรตามมาอีก

นอกจากสุขทุกข์ของเขาเกิดจากสิ่งชอบใจไม่ชอบใจแล้ว อีกด้านหนึ่งก็คือ ความสุขจากการเสพนี้ คือการที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ได้รับการบำเรอคือทำให้สบาย ความหมายที่แฝงอยู่ คือ จะได้สบายไม่ต้องทำอะไร ความสุขจากการเสพ คือ การที่ได้รับการบำรุงบำเรอให้สบาย ไม่ต้องทำอะไร แล้วผลที่ตามมาก็คือ การกระทำเป็นความฝืนใจจำใจ เป็นความทุกข์ พวกที่ไม่พัฒนาในการศึกษาใช้ตา หู จมูก ลิ้น กาย เพื่อเสพ เขาจะสุขต่อเมื่อได้รับการบำเรอ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ความสุขของเขาคือ การได้รับการบำเรอ ไม่ต้องทำอะไร ถ้าต้องทำคือความทุกข์ เพราะฉะนั้น คนพวกนี้จะทำอะไรก็ต่อเมื่อมีเงื่อนไข ว่าถ้าคุณไม่ทำแล้ว คุณจะไม่ได้สิ่งเสพ ใจเขาเองไม่อยากทำเลย แต่เขาต้องทำเพราะมันเป็นเงื่อนไขที่จะให้เขาได้สิ่งเสพ เพราะฉะนั้นการกระทำคือการฝืนใจและความทุกข์ เขาจึงทำด้วยความจำใจและด้วยความทุกข์ทรมาน

ส่วนคนที่มีการศึกษา พอพัฒนาตัวขึ้นมามีความใฝ่รู้ และใฝ่สร้างสรรค์ คืออยากทำให้มันดี เมื่อได้ทำ การกระทำนั้นก็สนองความต้องการของตัวเอง เขาจึงมีความสุขจากการกระทำ ความสุขชนิดใหม่ก็เกิดขึ้น คือ ความสุขจากการกระทำ นี่แหละคือความสุขชนิดที่เราต้องการในการศึกษา คือความสุขจากการกระทำ(ให้มันดี) ซึ่งเป็นทางแยกกันคนละทิศกับความสุขจากการเสพ หรือความสุขจากการไม่ต้องทำ ของผู้ยังไม่มีการศึกษา เพราะฉะนั้นตอนนี้เราจะเห็นว่า การศึกษามีความหมายในเชิงความสุขด้วย คือเมื่อคนยังไม่มีการศึกษาความสุขเกิดจากการเสพ แล้วสุขทุกข์ก็วนเวียนอยู่ที่สิ่งชอบใจไม่ชอบใจ พร้อมทั้งมีทุกข์จากการกระทำ แต่พอมีการศึกษา ก็มีความสุขจากการศึกษา คือจากการเรียนรู้ ต่อจากนั้นก็สุขจากการสนองความใฝ่ดี และทำให้มันดี คือ สุขจากการสร้างสรรค์

ฝ่ายหนึ่งใฝ่เสพก็หาความสุขจากสิ่งเสพ อีกฝ่ายหนึ่งใฝ่รู้ ใฝ่ศึกษา และใฝ่สร้างสรรค์ ก็มีความสุขจากการศึกษาและสร้างสรรค์ เพราะฉะนั้น การศึกษาที่ถูกต้องจึงมาพร้อมด้วยความสุข และเมื่อกระบวนการของความสุขพัฒนาไป ก็เห็นได้ชัดเจนว่าจะเกิดคุณธรรมพ่วงมาด้วยในตัว

ปัญหาก็คือ เกิดความไม่สอดคล้องในกระบวนการ ถ้าคนยังใฝ่ปรารถนาสุขจากเสพ แล้วเขาต้องมาศึกษา และในกรณีที่การศึกษานั้นไม่ใช่เป็นการศึกษาที่เกิดจากชีวิตจิตใจ คือ ไม่ใช่การศึกษาที่แท้จริง เป็นแต่เพียงการศึกษาโดยรูปแบบภายนอก เขาก็เล่าเรียนไปเพียงตามรูปแบบ จิตใจก็ไม่สอดคล้องกัน เขาก็ไม่มีความสุขจากการศึกษา และไม่มีความสุขจากการสร้างสรรค์ เพราะฉะนั้น จึงเกิดความขัดแย้งตั้งแต่ภายในตัวบุคคล คือในจิตใจ พอออกไปสู่สังคมก็วุ่นวาย

เอาความจริงของธรรมชาติมาใช้
การพัฒนาคนก็อยู่ไม่ไกล

ขอย้อนกลับมา ได้พูดไปแล้วว่า การแสวงปัญญาของมนุษย์จะพัฒนาขึ้นมาได้ด้วยการพัฒนากระบวนการของชีวิตทั้งหมด ซึ่งประกอบด้วยพฤติกรรม จิตใจ และปัญญา และในบรรดาคุณสมบัติต่างๆ ที่จะทำให้เกิดปัญญานั้น องค์ประกอบสำคัญคือศรัทธา ได้แก่ความเชื่อมั่น ทั้งต่อสิ่งที่จะเข้าไปศึกษานั้น ในแง่ที่ว่ามันจะมีความจริงให้แก่เรา และมันจะช่วยให้เราสามารถทำสิ่งดีงามที่ต้องการให้สำเร็จได้ แล้วก็เชื่อมั่นในความสามารถ หรือศักยภาพของตัวเองว่าจะเข้าถึงความจริง และสามารถทำให้มันดีได้ด้วย ต่อมาก็สืบลึกลงไปอีกว่า

นอกเหนือจากศรัทธา ก่อนนั้นจะต้องมีความใฝ่รู้ และใฝ่ดี ที่เรียกว่า ฉันทะ ฉันทะนี้แปลว่าใฝ่รู้ และใฝ่ดี และใฝ่ทำให้มันดีขึ้น รวมเป็นฉันทะ ๓ ขั้น พร้อมทั้งมีความสุขพัฒนาขึ้นมาด้วยในทุกขั้น รวมเป็น ๔ ข้อ

๑. ใฝ่รู้ หมายถึง ใฝ่รู้ความจริง คือ ต้องการเข้าถึงความจริงให้ได้

๒. ใฝ่ดี หมายถึง อยากในภาวะที่ดีงาม ที่เต็มเปี่ยมสมบูรณ์ของสิ่งทั้งหลาย ไม่ว่าตัวเราจะไปเกี่ยวข้องกับอะไรก็อยากให้มันดีไปหมด และ

๓. ใฝ่ทำให้มันดี หรือ ใฝ่สร้างสรรค์ หมายถึงอยากทำทุกอย่างให้ดีให้สมบูรณ์ หรือให้เป็นอย่างที่มันควรจะเป็น และ

๔. ความสุข ซึ่งจะเกิดตามมาเมื่อได้สนองความใฝ่คือความต้องการนั้นๆ ในทุกขั้นตอนตามธรรมดาของมันเอง เป็นกระบวนการที่เป็นไปตามเหตุปัจจัยของธรรมชาติ

ที่จริงนั้น ความใฝ่ดีนี้มีเชื้ออยู่แล้วในทุกคน แต่บางทีเราไม่ได้ใช้และไม่พัฒนามัน เหมือนอย่างเด็กทุกคน ก็มีมือ มีเท้า มีแขน มีขา มีหน้า มีตา เขามีมือเขาก็อยากให้มือของเขาสมบูรณ์ เป็นมือที่เรียบร้อย แข็งแรง มีเนื้อมีหนัง เอิบอิ่ม หน้าตาของเขา เขาก็อยากให้เอิบอิ่ม สมบูรณ์ น่าดู ให้มันดี ให้มันงาม เขามีความปรารถนาดี มีความรัก มีความใฝ่ อยากให้มันดี ถ้าเราพัฒนาให้ตรงจุดนี้ เวลาเด็กไปเกี่ยวข้องกับอะไร ก็ขยายความใฝ่ดี หรืออยากให้มันดีนี้ออกไป เรามีมือ เราก็อยากมีมือที่แข็งแรง ที่ใช้งานได้ดี แข็งแรง สมบูรณ์ เอิบอิ่ม เมื่อไปเกี่ยวข้องกับถ้วยชาม ก็อยากให้ถ้วยชามมันดี อยากให้ถ้วยชามสะอาดเรียบร้อย ไปเจอแก้วน้ำ ก็อยากให้แก้วน้ำนั้นสมบูรณ์ ไม่เว้าไม่แหว่ง ไม่แตกร้าว ใสสะอาด ไปเจอที่นั่ง ไปเจอบริเวณบ้าน ก็อยากให้มันสะอาดเรียบร้อย ไปเจอต้นไม้ ก็อยากให้มันเจริญงอกงามเขียวขจี ไม่ว่าไปเจออะไรก็อยากให้มันสมบูรณ์ดี ตัวนี้แหละถ้าพัฒนาได้ก็จะกลายเป็นความใฝ่ดี

ความใฝ่ดีอีกด้านหนึ่ง มาจากความใฝ่รู้อย่างที่บอกเมื่อกี้ว่า พอรู้ว่า ภาวะที่ควรจะเป็น เป็นอย่างไร ความใฝ่ดีก็ตามมา ว่าอยากให้มันเป็นอย่างนั้น และพอใฝ่ดีแล้ว ความใฝ่อยากทำให้มันดี คือ ใฝ่สร้างสรรค์ก็ตามมาด้วย

ในทางตรงข้าม ถ้าเราไม่พัฒนาด้านนี้ เรากลับไปสนองความใฝ่เสพของเด็ก เช่นกระตุ้นว่า เอาอันนี้สิสวย อันนั้นสิสวยกว่า อันนี้ดีอร่อยกว่า อย่างนี้ก็จบเลย เป็นการปิดกั้นฉันทะของเด็ก เด็กจะเขวออกจากการศึกษาไปอีกทางหนึ่งเลย ตรงนี้เป็นจุดแยก จึงบอกว่าการศึกษาเริ่มต้นที่บ้าน พ่อแม่เป็นปัจจัยสำคัญที่สุด ถ้าพ่อแม่ไปสนองความใฝ่เสพของเด็ก ไปกระตุ้น ไปหนุน ไปเร้าด้านนั้น เด็กก็ไม่พัฒนา แต่ถ้ากระตุ้นในทางใฝ่รู้และใฝ่ดี การศึกษาก็เริ่มต้น

สรุปในตอนนี้ว่า สิ่งที่เป็นจุดเริ่มและเป็นที่รองรับกระบวนการแสวงปัญญา ก็คือ ฉันทะ ที่แปลว่า ใฝ่รู้ ใฝ่ดี และใฝ่สร้างสรรค์ ซึ่งจะทำให้คนพัฒนาความสุขชนิดใหม่ๆ ขึ้นมามากมาย ถ้าไม่มีฉันทะ ก็ขาดแสงเงินแสงทองของชีวิตที่ดีงาม ชีวิตที่ดีงามก็จะไม่ตามมา และขาดรุ่งอรุณของการศึกษา การศึกษาก็ไม่ตามมา เพราะฉันทะเป็นตัวเริ่มจุดไฟหรือเป็นต้นกระแส ถ้าศรัทธาเป็นไฟชนวน ฉันทะก็เป็นผู้จุดไฟชนวนนั้น เมื่อเกิดฉันทะ คือความอยาก หรือความปรารถนาอย่างที่ว่านี้มาแล้ว คนก็จะก้าวเข้าสู่การศึกษา และเดินหน้าไปในชีวิตที่ดีงาม

เมื่อการศึกษาถูกหลักสิกขา
ปัญญาก็พัฒนาคู่มากับคุณธรรม

ในการพัฒนาชีวิต โดยเฉพาะในการพัฒนาปัญญา ฉันทะนี้เป็นคุณธรรมพื้นฐาน จึงเป็นคุณธรรมที่สำคัญ บางทีในความหมายของคนทั่วไปเราอาจจะไม่นึกว่าฉันทะเป็นคุณธรรม เพราะคุณธรรมในความหมายของคนไทย มักจำกัดแคบโดยมองแค่ความดีความชั่วที่สัมพันธ์กับการแสดงออกหรือปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์ แต่ที่จริง คุณธรรม ก็คือ สิ่งที่เป็นประโยชน์ หรือเป็นคุณแก่ชีวิต ที่จะทำให้ชีวิตดำเนินไปด้วยดี เป็นคุณทั้งแก่ชีวิตของตนและแก่สังคมและแก่ทุกสิ่งทุกอย่าง

ถ้าเราไปพูดกับบางคนว่าความใฝ่รู้เป็นคุณธรรม เขาอาจจะสงสัยหรือถึงกับปฏิเสธ แต่ที่จริงมันเป็นคุณธรรมที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นรากฐานเลยทีเดียว พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ฉนฺทมูลกา . . . สพฺเพ ธมฺมา” (องฺ.ทสก.๒๔/๕๘; วิสุทฺธิ.ฏีกา ๒/๑๓๖) ธรรมทั้งปวงมีฉันทะเป็นมูล คือเป็นรากเหง้าหรือต้นตอหรือแหล่งที่มา ถ้าขาดฉันทะแล้วธรรมหรือคุณสมบัติอื่นๆ มาได้ยาก เพราะขาดราก

น่าแปลกใจว่า ในสังคมไทยนี้ไม่ทราบว่าเป็นอย่างไร คุณธรรมข้อนี้หายไป คนไทยแทบไม่รู้จักเลย แล้วยังแถมปฏิเสธความอยากเสียด้วย สังคมไทยที่เรียกว่าเป็นชาวพุทธนี้ มีการพูดว่าเป็นพุทธแล้วอยากไม่ได้ ถ้าอยากแล้วไม่ถูกต้อง เข้าใจเอาว่าความอยากมีแต่ตัณหา ถ้าอยากแล้วแสดงว่าไม่ใช่ชาวพุทธหรือปฏิบัติผิด ต้องละ ต้องลด ต้องกำจัดความอยาก นี่สุดโต่ง

ความอยากนั้น พุทธศาสนาให้แยกเป็น ๒ คือ

๑. ความอยากที่เป็นกุศล คือ ฉันทะ ได้แก่ ใฝ่รู้ ใฝ่ดี ใฝ่สร้างสรรค์

๒. ความอยากที่เป็นอกุศล คือ ตัณหา ได้แก่ ใฝ่เสพ ใฝ่ได้ ใฝ่เอา

คนไม่ต้องมีการเรียนรู้ ไม่ต้องมีปัญญา ก็สามารถมีตัณหาได้ เพราะมันอยู่ที่ความรู้สึก รู้สึกสบายก็ชอบใจ ไม่สบายก็ไม่ชอบใจ นี่คือเรื่องของตัณหา แต่ฉันทะจะเกิดก็ต่อเมื่อมีความรู้ เพราะมันพัฒนาร่วมกับปัญญา พอปัญญารู้ว่าอันนี้ดีงาม เป็นประโยชน์ เป็นคุณ ก็จึงอยากให้เป็นอย่างนั้น

ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่นกินอาหาร ก็มีการกินแบบสนองตัณหากับแบบสนองปัญญา หรือสนองตัณหากับสนองฉันทะ คนเราเมื่อยังไม่ได้เรียน ไม่มีการศึกษา ยังไม่รู้จักคิดและไม่ต้องใช้ปัญญา ก็รู้สึกได้ว่านี่อร่อยลิ้น แล้วก็กิน การสนองความต้องการแบบนี้เรียกว่าสนองตัณหา แต่พอเราเริ่มใช้ปัญญาพิจารณาว่าเรากินเพื่ออะไร พอถามว่ากินเพื่ออะไร โยนิโสมนสิการก็เกิดขึ้น

พอโยนิโสมนสิการเกิด ถามว่ากินเพื่ออะไร แล้วคิดพิจารณามองเห็นว่าที่จริงเราไม่ได้กินเพื่ออร่อยนะ เรากินเพื่อซ่อมแซมและบำรุงร่างกาย ให้ร่างกายแข็งแรง มีสุขภาพดี พอมองเห็นว่าอันนี้ใช่แล้ว ความมุ่งหมายของการกินอยู่ที่นี่ นี่คือ การเรียนรู้เกิด พอความรู้เกิด ปัญญาเกิด ความอยากชนิดใหม่ก็เกิดตามมาด้วย แต่ก่อนนี้อยากกินแต่อาหารที่รู้สึกอร่อย ตอนนี้อยากกินอาหารที่มีคุณค่า เป็นประโยชน์ ที่ทำให้มีสุขภาพดี และเจ้าฉันทะนี่ก็จะมาถ่วงดุลกับตัณหา

ฝ่ายตัณหาต้องการกินอาหารอร่อย แต่ฉันทะต้องการกินอาหารที่มีคุณค่า พอปัญญามากขึ้น ฉันทะแรงขึ้น ก็มาคุมตัณหาอยู่ ตัณหาก็ครอบงำเราไม่ได้เต็มที่

การกินอาหารตามอร่อยนั้นไม่มีขอบเขตเมื่ออร่อยก็กินเข้าไปๆ จนกระทั่งเป็นผลร้ายต่อร่างกาย ในขณะเฉพาะหน้า ก็อาหารไม่ย่อย อึดอัด ท้องแน่น อืดเฟ้อ ระยะยาวก็สุขภาพเสีย เป็นโรค และเมื่อกินอาหารโดยไม่พิจารณาคุณค่า เอาแต่อร่อยเข้าว่า อาหารมีคุณค่าเป็นประโยชน์ไม่กิน ไปกินแต่อาหารที่อร่อยแต่เป็นโทษ ก็เข้าลักษณะที่เรียกว่า กินไม่พอดีทั้งปริมาณและประเภทอาหาร ยิ่งกว่านั้น ยังอาจจะมุ่งเอาความโก้เก๋ กินของนอกของแพงตามค่านิยมอีกด้วย ทำให้สิ้นเปลืองเงินทอง เบียดเบียนเพื่อนมนุษย์ ก่อขยะและมลภาวะมาก ทำลายธรรมชาติแวดล้อมอีกด้วย เรียกว่าเป็นการกินด้วยโมหะ

แต่พอมีปัญญาขึ้นมา รู้ว่ากินเพื่อสุขภาพ ก็จำกัดปริมาณในการกินแค่ให้ร่างกายแข็งแรง แล้วก็เลือกประเภทอาหารที่มีคุณค่าต่อสุขภาพ ก็เกิดการกินพอดีขึ้นมา คือพอดีทั้งในแง่ปริมาณและประเภทของอาหาร การกินพอดีจึงเป็นการกินด้วยปัญญา คือรู้ว่า วัตถุประสงค์ของพฤติกรรมนั้นเพื่ออะไร พฤติกรรมการกินจึงถูกปรับให้พอดี หมายความว่าปัญญามาปรับพฤติกรรมในการกิน และฉันทะก็มาสนองปัญญานั้น คืออยากกินเพื่อสุขภาพ จะเห็นว่า ถ้าไม่มีปัญญามา ฉันทะก็เกิดไม่ได้ ความอยากประเภทฉันทะนี้เป็นความอยากที่ต้องอาศัยปัญญาและสนองปัญญา

เป็นอันว่า เรามีตัณหาเป็นความอยากประเภทที่อาศัยอวิชชา คือความโง่เขลาไม่รู้ กับฉันทะซึ่งเป็นความอยากประเภทที่อาศัยปัญญา ยิ่งพัฒนาปัญญาไป ฉันทะก็พัฒนาไปด้วย แต่ก่อนเคยเห็นว่าสิ่งนี้ดี เราก็มีฉันทะในสิ่งนั้น แต่พอปัญญาพัฒนาต่อไป สิ่งที่เคยรู้ว่าดี ยังไม่ดีจริง ฉันทะก็พัฒนาเปลี่ยนไปตามนั้น

ขอวกกลับมาเรื่องนี้อีกทีว่า ในกระบวนการพัฒนาปัญญา ฉันทะเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่ง ฉันทะเป็นมูลของกุศลธรรมทั้งปวง ก็คือ เป็นที่มาของปัญญาด้วย เมื่อเราพัฒนาฉันทะขึ้นมา ฉันทะยิ่งเกิดก็ยิ่งทำให้ชีวิตพัฒนาด้วย คุณสมบัติต่างๆ เช่นปัญญาก็ตามมาด้วย การทำงานสร้างสรรค์ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นงานค้นคว้าวิจัยทางวิชาการ งานทางด้านเศรษฐกิจ ทางสังคม ทางการเมือง หรือด้านใดก็ตาม ก็จะดำเนินไปด้วยความจริงใจและอย่างจริงจัง ชนิดที่ถ้ายังไม่สำเร็จจะไม่ยอมหยุด ถ้ายังไม่ดีจะไม่ยอมเลิก โดยเป็นไปเองตามธรรมชาติ ไม่ต้องมีใครมาบังคับควบคุม พร้อมกันนั้นความสุขก็ขยายกว้างออกไป เพราะเราได้เพิ่มมิติใหม่แห่งความสุข และเป็นความสุขที่เกื้อหนุนจริยธรรมด้วย

ขอย้ำว่า ชาวพุทธเราในเมืองไทยนี้คงต้องยอมรับว่าพลาด ที่เอาความอยากไปเป็นตัณหาหมด ก็เลยบอกว่าจะต้องละต้องลดความอยาก ทำให้ชาวพุทธไม่กล้าอยาก ความจริงพระพุทธเจ้าสอนให้อยากแบบฉันทะ ถ้าอยากแบบฉันทะนี้ ยิ่งอยากยิ่งดี

ขอแทรกนิดหนึ่ง มีความต่างระหว่างตัณหากับฉันทะอีกอย่างหนึ่ง คือในที่สุดทั้งอยากแบบตัณหาและอยากแบบฉันทะ เราจะต้องละด้วยกันทั้งคู่ ท่านว่า

๑. ตัณหา ละด้วยการทำให้หายไป คือ กำจัด ละ ลด หรือคุม หรือเบน หรือเปลี่ยนให้มันเป็นปัจจัยแก่คุณธรรมตัวอื่นไป แต่

๒. ฉันทะ ละด้วยการทำให้สำเร็จตามที่อยาก ท่านว่าอย่างนั้น แปลกไหม ละด้วยการทำให้สำเร็จ หมายความว่า พอเราทำให้สำเร็จตามอยากแล้ว เราก็ละความอยากหมดไปด้วย เพราะบรรลุจุดหมายของมันแล้ว คือ ฉันทะนั้นละด้วยการทำให้บรรลุผลของมัน พอบรรลุผลของมันแล้ว มันก็หมดหน้าที่ไป

เพราะฉะนั้นจำไว้ พอเรามีฉันทะแล้ว เอาเลย ละด้วยการทำให้สำเร็จตามนั้น นี้เป็นเรื่องที่ท่านแยกไว้เพื่อให้เห็นความแตกต่างระหว่างตัณหากับฉันทะ

เมื่อฉันทะและศรัทธาในใจทำให้คนมีชีวิตชีวา
สังคมก็มีบรรยากาศทางวิชาการ และงานทุกอย่างก็มีผลเลิศ

เมื่อมีฉันทะแล้ว ชีวิตชีวาก็มาทันที จิตใจจะมีกำลังสดชื่น ยิ่งถ้าศรัทธาตามมาด้วย การใฝ่แสวงปัญญาก็มีชีวิตชีวาเต็มที่ แต่ถ้าไม่มีฉันทะ และไม่มีศรัทธา ก็อย่างที่บอกเมื่อกี้ว่า ปฏิบัติการในการแสวงหาความรู้ที่เรียกว่าวิชาการจะแห้งแล้ง ได้สักแต่ว่ารูปแบบ ทำไปพอได้เกณฑ์ที่เขาตั้งไว้ เป็นเหมือนต้นไม้พลาสติก หรือต้นไม้เทียม บรรยากาศทางวิชาการที่แท้จริงก็ไม่มี เพราะมันไม่มีชีวิตชีวา

บรรยากาศเป็นสิ่งสำคัญที่มาหนุน บรรยากาศทางวิชาการแท้จริงจะมีได้ก็ต่อเมื่อคนมีฉันทะ เพราะฉันทะจะช่วยสร้างความรู้สึกเป็นสุขในตัวคน และความมีชีวิตชีวาในสังคม แต่ถ้าไม่มีฉันทะ กำลังเรี่ยวแรงความมีชีวิตชีวาก็ไม่มี บรรยากาศทางวิชาการที่แท้ก็ไม่มี และตัวคนเองก็ไม่มีความสุข ได้แต่แสวงหาความรู้และทำงานวิชาการไปอย่างฝืนจิตจำใจ ต่อไปอาจจะเกิดความรู้สึกแปลกแยก และมองไม่เห็นคุณค่าของตนเอง

อีกด้านหนึ่ง ถ้าคนไม่มีความสุขในทางวิชาการ เขาก็จะตกไปอยู่ใต้อำนาจของความใฝ่เสพ แล้วก็เกิดความขัดแย้งในตัวเอง แทนที่ใจจะมุ่งไปที่ความสำเร็จในการแสวงปัญญา เขาก็จะต้องคิดถึงความสุขที่จะได้มาด้วยการไปหาสิ่งเสพบำรุงบำเรอตน หรือหาผลประโยชน์ต่างๆ จึงไม่มีความสุขกับงานที่ทำ เมื่อไม่มีความสุขกับงานที่ทำ ก็เสียทั้งตัวเองเสียทั้งวิชาการ ซึ่งจะไม่บรรลุผลที่แท้จริง พร้อมกันนั้นความสัมพันธ์กับศิษย์และผู้ร่วมงาน ก็เสียหมด

อาจารย์ที่จะมาให้การศึกษาแก่ลูกศิษย์ ก็คือจะมาทำงานพัฒนาคน หรือมาช่วยให้ลูกศิษย์พัฒนาตัวของเขา เพราะฉะนั้นอาจารย์ก็จะต้องมีความใฝ่ดีต่อศิษย์ คือ อยากให้ชีวิตของเขาเป็นอย่างนั้นๆ ที่จะบรรลุจุดหมายที่ดีงาม ที่สมบูรณ์อย่างนั้นอย่างนี้ แต่ถ้าฉันทะที่ใฝ่ดีต่อชีวิตของลูกศิษย์ เพื่อความดีงามความสมบูรณ์ที่เป็นวัตถุประสงค์นั้นไม่มี ความสนใจใฝ่ใจก็ไปอยู่ที่เรื่องของตัวเอง ก็ทำงานสอนอย่างไม่มีความสุข ความสัมพันธ์กับศิษย์ที่จะดี ก็เป็นไปได้ยาก บรรยากาศก็จะเสียโดยทั่วไป แล้วก็ไม่สามารถสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการที่แท้จริง ครูอาจารย์ก็จะทำงานทางวิชาการเพียงแค่ให้ได้ตามกฎเกณฑ์ กติกา รูปแบบ

เพราะฉะนั้นจึงต้องมีฉันทะตัวนี้ ที่ใฝ่รู้ความจริงและใฝ่ทำให้มันดีอย่างแรงกล้า ถึงขนาดที่ว่า ถ้ายังไม่ถึงความจริงหรือยังหาทางทำให้มันดีไม่ได้ จะไม่ยอมหยุด หรือถ้าเป็นการทำหน้าที่ในการสั่งสอนก็ต้องใฝ่ดีที่จะสร้างสรรค์ชีวิตของลูกศิษย์ว่า ถ้าลูกศิษย์ยังไม่รู้จริงและยังไม่เป็นคนดี ฉันก็หยุดไม่ได้ นี่คือฉันทะของมนุษย์ผู้ประเสริฐเช่นพระโพธิสัตว์ ที่ถือว่า เมื่อเห็นเหตุปัจจัยพร้อมแล้ว ก็จะต้องเพียรไปให้ถึงความจริงและความดีงามสมบูรณ์จนสุดชีวิต ผู้ที่ทำงานศึกษาค้นคว้าวิจัยจะต้องมีฉันทะถึงขั้นนี้

ผู้ที่จะเป็นพระพุทธเจ้าได้ จะต้องมี “ฉันทะ” เป็นคุณสมบัติที่ขาดไม่ได้อย่างหนึ่ง และฉันทะนั้นจะต้องยิ่งใหญ่ เป็นความใฝ่ปรารถนาที่มีพลังแรงยิ่ง จึงจะบำเพ็ญบารมีจนปัญญาพัฒนาเป็นโพธิญาณได้สำเร็จ (เช่น สุตฺต.อ.๑/๔๖; จริยา.อ.๓๒๙)

ยิ่งกว่านั้น เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ก็ทรงมีฉันทะที่แรงเข้ม ดังที่ท่านใช้คำว่า “ไม่มีความลดถอยแห่งฉันทะ” ซึ่งเป็นพระคุณสมบัติข้อที่ ๑๐ ใน “พุทธธรรม ๑๘ ประการ” (ที.อ.๓/๑๘๘)

ขอย้ำว่าไม่ใช่แค่รู้ แต่รู้เพื่อมาทำให้มันดี เราต้องการทำชีวิตให้ดีงาม ต้องการทำให้สังคมดีงาม ฉันจะต้องทำให้มันดีให้ได้

ในการที่จะทำให้มันดีให้ได้นั้น ก็ต้องรู้วิธีที่จะทำให้มันดี จึงต้องแสวงหาความรู้และคิดจัดสรรทุกอย่างที่จะมาทำให้มันดี ความใฝ่ดีจึงนำไปสู่การแสวงปัญญาและปฏิบัติการในทางวิชาการทุกอย่าง ชนิดที่จริงจังและมีชีวิตชีวาตามกระบวนการของธรรมชาติ เพราะฉะนั้น ฉันทะจึงเป็นฐานของกระบวนการทั้งหมด ทั้งอยากรู้ความจริง ชนิดที่ต้องให้ถึงความจริงให้ได้ ทั้งอยากทำให้มันดี ชนิดที่ต้องหาทางทำให้มันดีให้ได้

วิชาการทั้งหลายมีจุดหมายอยู่ที่ ๒ อย่างนี้ คือ

๑. รู้ความจริง

๒. หาทางทำให้มันดี

เมื่อมีฉันทะก็ได้ทั้งคู่ ขอให้สังเกตว่า ตัวความหมายที่แท้ของฉันทะอยู่ในขั้นทำ เพราะ ฉันทะ ได้แก่ “กัตตุกัมยตา” (“กัตตุ” = ทำ “กัมยตา” = ความปรารถนา หรือใคร่) แปลว่า ความปรารถนาที่จะทำ หมายถึงอยากทำให้มันดี ก็คือ ใฝ่สร้างสรรค์ ซึ่งทำให้มีความสุขจากการกระทำนั้นด้วย

เมื่อฉันทะนี้มาแล้วไม่ต้องกลัว อย่าว่าแต่เป็นอาจารย์เลย แม้แต่เป็นคนงาน ถ้ามีฉันทะแล้วไม่ต้องไปคุม นอกจากดูแลในเรื่องวิธีปฏิบัติตามระบบ แต่ไม่ต้องคุมตัวคน เพราะแรงข้างในตัวคนนั้นแหละจะไขและคุมตัวเขาเอง ไม่ว่าจะไปเกี่ยวข้องกับอะไร เขาก็อยากทำให้มันดีไปหมด จะไปทำท่อน้ำ จะตอกตาปู จะขันนอต ก็อยากทำให้มันดี ถ้ายังไม่ดี ก็ไม่ยอมหยุด ลองคิดดูซิว่าอะไรจะเกิดขึ้น ฉะนั้นฉันทะนี้จะต้องสร้างขึ้นในตัวคนให้ได้ เมื่อสร้างฉันทะได้ ก็คือสร้างคนสำเร็จ แล้วคนนั้นก็จะไปสร้างทุกอย่างให้ดีทั้งหมด

เป็นอันว่า เราได้พูดถึงฐานสำคัญที่สุดของการพัฒนา ที่พระพุทธเจ้าเรียกว่า แสงเงินแสงทองของชีวิตที่ดีงาม คือความอยากที่ถูกต้อง ที่เป็นกุศล ที่เรียกว่าฉันทะนี้ พอได้ฉันทะมา ความเป็นเลิศทางวิชาการก็เกิดเอง เพราะเราต้องการรู้ความจริงและทำให้มันดีให้ได้ ถ้ายังไม่รู้ถึงที่สุด ยังไม่ดีที่สุด จะไม่ยอมหยุด แล้วจะไม่เป็นเลิศได้อย่างไร เพราะความเป็นเลิศคือจุดหมายที่อยู่ในตัวอยู่แล้ว และการบรรลุจุดหมายของฉันทะนั้นแหละคือความเป็นเลิศ

จะเอาดีแค่ตามฝรั่ง หรือจะรู้จักฝรั่งทั้งส่วนที่ร้ายและที่ดี

ฝรั่งที่มีความเป็นเลิศทางวิชาการได้ก็เพราะเขามีฉันทะ แต่ฉันทะของเขานั้นโดยพื้นฐานเกิดขึ้นจากอิทธิพลของสิ่งแวดล้อม คือแรงบีบคั้นในธรรมชาติ และประวัติศาสตร์แห่งความบีบคั้นทางสังคม ไม่ได้เกิดจากกระบวนการทางปัญญาและคุณธรรมภายในโดยตรง เพราะฉะนั้นเมื่อถึงยุคนี้ พอสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป ฝรั่งจึงเริ่มเสื่อมจากฉันทะ แล้วกำลังจะกลายมาเป็นนักเสพบริโภค สังคมฝรั่งกำลังโอดครวญกันอย่างหนักว่า คนรุ่นใหม่ของเขาอ่อนแอลง สำรวย หยิบโหย่ง ใจเสาะ เปราะบาง เพราะเปลี่ยนมาเป็นสังคมบริโภคนิยม เสื่อมจาก work ethic จริยธรรมในการทำงานกำลังจะหายไป สังคมโทรมทรุดลง

ในเมืองไทยเรานี้ คนจำนวนมากชื่นชมความเจริญก้าวหน้าของสังคมตะวันตก แล้วอยากให้คนไทยสร้างสรรค์สังคมไทยให้เจริญก้าวหน้าอย่างนั้นบ้าง ความปรารถนานี้เป็นเหตุให้คนไทยไม่น้อยนิยมทำตามวิถีชีวิตของชาวตะวันตก และบางทีก็จะเอาอย่างลักษณะนิสัยจิตใจของชาวตะวันตกด้วย ดังจะเห็นได้ว่า ในบางช่วงของยุคสมัยมีบางท่านพูดและเขียนแนะนำตลอดจนกระตุ้นเร้าส่งเสริมให้คนไทยมีคุณสมบัติที่คำฝรั่งเรียกว่า “ambition” ซึ่งมักแปลกันเป็นภาษาไทยว่า “ความทะเยอทะยาน” โดยเข้าใจว่าคุณสมบัติข้อนี้ทำให้ฝรั่งสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าได้สำเร็จ

ที่จริง ambition ซึ่งจะแปลว่า ความทะเยอทะยาน ความใฝ่ฝัน ความใฝ่สูง หรืออะไรก็ตาม เป็นตัวอย่างของคุณสมบัติที่เราควรจะศึกษาวิเคราะห์ให้เข้าใจฝรั่ง และเหตุปัจจัยแห่งความเด่นและความด้อยของเขา มากกว่าจะไปเอามาตามอย่าง อย่างน้อยขอตั้งข้อสังเกตเบื้องต้นเกี่ยวกับ “ambition” ที่นิยมแปลว่า ความทะเยอทะยานนั้นไว้ว่า

๑. ความทะเยอทะยาน หรือ ambition นี้เป็นตัวอย่างของความมีพลังทางจิตใจโดยขาดความชัดเจนทางปัญญา คือเป็นความอยากที่ไม่แบ่งแยกออกไปให้ชัดระหว่างอยากในทางดีหรืออยากในทางร้าย พูดง่ายๆ ว่า อาจจะเป็นความอยากแบบตัณหาก็ได้ หรือเป็นความอยากแบบฉันทะก็ได้ เป็นคำที่กำกวมหรือก้ำกึ่ง ดังจะเห็นว่า พจนานุกรมต่างๆ ของฝรั่งให้ความหมายของคำนี้ชนิดที่เป็นไปได้ทั้ง ๒ ทาง คือ อาจจะเป็นความอยากได้ทรัพย์ สถานะ และอำนาจ ก็ได้ เป็นความอยากทำการสร้างสรรค์บางอย่างให้สำเร็จ ก็ได้

ความใฝ่ฝันของฮิตเลอร์ที่จะล้างแค้นชาวยิวเป็นต้นและสถาปนาอาณาจักรไรค์ที่ ๓ อันยิ่งใหญ่ด้วยมหาสงคราม ก็เรียกว่า ambition ความปรารถนาของพระเจ้าอโศกที่จะเผยแพร่ธรรมออกไปด้วยสันติวิธีให้ชาวโลกรู้ความจริงความดีงามและอยู่กันอย่างสันติสุข ฝรั่งก็เรียกว่า ambition ความใฝ่ฝันของนโปเลียนที่จะครอบครองยุโรปทั้งหมด ก็เรียกว่า ambition ความปรารถนาอย่างแรงกล้าของเมธีชนทั้งหลายที่จะใช้วิธีการทางปัญญาจัดวางระบบที่ชอบธรรมเป็นธรรมขึ้นในการดำเนินกิจการของมวลมนุษย์ ก็เรียกว่า ambition คนผู้หนึ่งมีความใฝ่ฝันอยู่อย่างเดียวที่จะให้ตนได้เป็นเศรษฐีที่มั่งคั่งร่ำรวยที่สุดของประเทศหรือของโลก ก็เรียกว่า มี ambition อีกคนหนึ่งมีความมุ่งมั่นจะสร้างสถาบันอุดมศึกษาที่มีคุณภาพเป็นแบบอย่างขึ้นให้ได้ ความปรารถนาของเขาก็เรียกว่า ambition

จริงอยู่ ฝรั่งก็ปฏิเสธหรือประณามความทะเยอทะยานฝันใฝ่ในทางร้ายที่ก่อผลเป็นภัยรุนแรง แต่นั่นเป็นการแยกได้เพียงขั้นหยาบๆ ด้วยมาตรฐานทางศีลธรรมสามัญ หรือไม่ก็เป็นการแยกโดยระดับความรุนแรงหรือดูที่ผล ไม่ใช่เป็นการแบ่งจำแนกโดยประเภทตามธรรมชาติของความอยาก พูดง่ายๆ ว่าฝรั่งมองความอยากปนเปกันไปหมด แยกไม่ได้ระหว่างความอยากที่เป็นอกุศล คือ ตัณหา กับความอยากที่เป็นกุศล คือ ฉันทะ

๒. แนวคิดทางการศึกษาและจิตวิทยาของฝรั่ง มอง ambition ที่แปลว่า ความทะเยอทะยานนี้ ว่าเป็นแรงจูงใจที่ดีควรส่งเสริม เป็นแรงขับที่นำไปสู่ความสำเร็จและความเป็นเลิศ แต่ดังได้กล่าวแล้วว่าฝรั่งมองปนเป แยกไม่ออกระหว่างฉันทะกับตัณหา อารยธรรมตะวันตกจึงได้รับผลที่ปะปนกันไปของความอยากทั้งสองประเภทนั้น ตนเองก็ประสบผลทั้งในด้านความเจริญก้าวหน้าที่ยิ่งใหญ่ และในด้านปัญหาต่างๆ ทั้งทางชีวิตจิตใจทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ที่เพิ่มพูนขึ้นจนในปัจจุบันได้สงสัยกันว่าจะคุ้มกับความเจริญที่ได้สร้างขึ้นมาหรือไม่ และยังนำเอาภัยพิบัตินั้นไปหยิบยื่นให้หรือแผ่ขยายไปให้แก่โลกส่วนอื่น เริ่มแต่ลัทธิอาณานิคม จนถึงปัญหาชนิดที่เป็นโลกาภิวัตน์ คือทั่วทั้งโลกในปัจจุบัน

ในขณะที่ฝรั่งมองความอยากปนเปกันไป ทั้งฉันทะ และตัณหา แล้วส่งเสริมทั้งสองอย่าง คนไทยก็มองความอยากปนเปกันไปทั้งสองอย่างเช่นเดียวกัน แต่เข้าใจไปว่าการปฏิบัติที่ถูก คือ ต้องลดละหรือกำจัดความอยากให้หมด ก็เลยมีความโน้มเอียงที่จะกดระงับ ดับความอยากให้สิ้นทั้งสองอย่าง ฝรั่งกับไทยก็เลยไปสุดคนละทาง

อย่างไรก็ตาม เรื่องจริงไม่ใช่อยู่แค่นั้น เพราะเหตุที่การระงับความอยากทั้งหมดเป็นภาวะที่เป็นไปไม่ได้โดยธรรมชาติของปุถุชน ในสังคมไทยก็เกิดมีการหาทางออกโดยมาแบ่งแยกวิถีชีวิตเป็น ๒ แบบ คือ เป็นทางโลก กับ ทางธรรม แล้วก็ถือว่า ใครอยู่ทางธรรมก็ให้ลดละกำจัดความอยากทั้งหมด (เท่ากับหมดไปด้วยกันทั้งฉันทะและตัณหา) ส่วนผู้ใดอยู่ทางโลกก็ไม่ต้องลดละความอยากนั้น บางทีก็สนับสนุนส่งเสริมความอยากนั้นด้วย แต่ความอยากทางโลกที่เข้าใจและส่งเสริมนี้มุ่งไปที่ตัณหาอย่างเดียว

ยิ่งกว่านั้น คนไทยบางท่าน เมื่อชื่นชมความเจริญของฝรั่ง แต่เพราะความที่มองไม่ชัด ก็ไปจับเอามาเฉพาะความอยากแบบตัณหาของเขา ส่วนความอยากแบบฉันทะที่อยู่ลึกลงไป ซึ่งเป็นแก่นแท้ที่สร้างสรรค์ความเจริญของเขา กลับมองข้ามไปเสีย เลยมาส่งเสริมกระตุ้นเร้าคนไทยให้อยากแบบตัณหาให้มากๆ

ถ้าจะพูดให้เห็นเป็นภาพชัดขึ้น ขอยกตัวอย่าง เช่น วัฒนธรรมตะวันตกหนุนฝรั่งให้เป็นทั้ง acquisitive (มักได้ หรือใฝ่เอา) และ inquisitive (ชอบสอบถามหาความรู้ หรือใฝ่รู้) ไทยไม่เอาทั้ง acquisitive และ inquisitive แต่ต่อมาเมื่อจะเอาอย่างฝรั่ง ก็หนุนคนให้ acquisitive (ใฝ่เอา) แต่ไม่ได้ใส่ใจหนุนกันให้ inquisitive (ใฝ่รู้หรือให้มี spirit of inquiry)5

ไปๆ มาๆ ในสังคมไทย ท่าทีต่อความอยากนอกจากสับสนพร่ามัวครึ่งๆ กลางๆ แล้ว ความอยากฝ่ายฉันทะกลับถูกกดหายไป เหลือแต่ความอยากแบบตัณหาอย่างเดียวที่มีบทบาทโดดเด่น เมื่อเป็นเช่นนี้ผลต่อชีวิตและสังคมจะเป็นอย่างไร ก็ไม่จำเป็นจะต้องบรรยาย

๓. ที่จริงนั้น จะมองแค่ ambition หรือความทะเยอทะยานฝันใฝ่เท่านั้นไม่พอ ลึกลงไป สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่า ambition ก็คือ แนวคิดความเชื่อที่อยู่เบื้องหลัง ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิด เป็นพลังหล่อเลี้ยง เป็นเครื่องกำหนดลักษณะรูปแบบและทิศทางของ ambition ในสังคมหรือหมู่ชนนั้นอีกต่อหนึ่ง ยกตัวอย่าง ในประเทศตะวันตกตั้งแต่ยุคกำเนิดวิทยาศาสตร์เป็นต้นมา the idea of (inevitable) progress คือ คติแห่งความก้าวหน้า (ที่มิอาจหลีกเลี่ยง) ได้เป็นพลังหลักที่ผลักดันอยู่เบื้องหลัง ambition ของชาวตะวันตก มองแคบเข้าไปอีก โดยเฉพาะในอเมริกา the myth of frontier คือคติแห่งการบุกฝ่าพรมแดน ได้เป็นพลังฝังใจที่สร้างเป้าหมายให้แก่ ambition แล้วยังมี American dream คือฝันอเมริกัน ซึ่งกำหนดรูปลักษณ์แห่งความใฝ่ฝันของคนอเมริกัน ดังนี้เป็นต้น

ถ้าจะเอาประโยชน์จากฝรั่งมาใช้ก็ควรจะศึกษาเหตุปัจจัยในวัฒนธรรมของเขาให้ชัดเจน จะได้เป็นการปฏิบัติด้วยปัญญา ไม่ใช่ผลีผลามจับเอามา อย่างน้อยก็แยกเอามาใช้เฉพาะ ambition ฝ่ายกุศลที่เป็นฉันทะ ซึ่งเราเองมีแหล่งแห่งหลักการสร้างสรรค์ที่ชัดเจนกว่าด้วยซ้ำ พร้อมกันนี้ก็ต้องพูดยืนยันสำทับไว้ว่า บรรยากาศแห่งวิชาการและความเป็นเลิศทางวิชาการจะเกิดขึ้นได้ด้วยฉันทะเท่านั้น จะไม่อาจเกิดขึ้นด้วยตัณหาได้เลยอย่างแน่นอน

เมื่อขาดฉันทะ นอกจากสร้างสรรค์ไม่ได้
ตัณหาก็จะเข้ามาทำลายและก่อปัญหา

ถ้าขาดฉันทะ หรือถ้ามีแต่ความใฝ่เสพ เป็นนักบริโภค นอกจากไม่สามารถสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการแล้ว ประโยชน์ที่ต้องการสร้างสรรค์แก่สังคม และแก่ชีวิตที่แท้จริง ก็ไม่สำเร็จ การที่จะนำเอาวิชาการมาช่วยเป็นส่วนสร้างสรรค์หรือแก้ปัญหาสังคม ก็เลยไม่ค่อยได้ผล ความได้ผลก็สูญเสียไป และต่อไปก็สิ้นเปลืองทั้งทรัพย์สินเงินทอง และสิ้นเปลืองทรัพยากรมาก ถึงแม้จะมีทรัพยากรคนมาก แต่ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพในการที่จะแก้ปัญหาและสร้างสรรค์ เงินทองก็ต้องใช้มากโดยใช่เหตุ ทั้งจ้างคนทำ ทั้งจ้างคนคุม ถมเข้าไปๆ ก็ละลายหายหมด

ทำไมจึงว่าสิ้นเปลืองมาก แต่ไม่ได้ผล ก็เพราะว่าเมื่อขาดฉันทะ คนที่ทำงานด้วยตัณหา ก็คือทำงานเพื่อผลตอบแทน เมื่อเป้าหมายอยู่ที่ผลตอบแทน เขาก็ต้องหาทางให้ได้ผลตอบแทนให้มากที่สุด และไม่คำนึงถึงผลดีต่อชีวิตและสังคม

ตรงข้ามกับคนที่มีฉันทะซึ่งไม่ต้องใช้จ่ายสิ้นเปลือง เพราะใช้เงินเพื่องานแท้ๆ ตัวเองไม่มีมูลค่าราคาที่จะเอามาแลกเปลี่ยน เพราะฉะนั้นจะทำอย่างไรก็ได้ ขอแต่ให้ได้สนองความใฝ่รู้ความจริงและใฝ่สร้างสรรค์นี้ให้สำเร็จ ก็บอกแล้วนี่ว่าแม้แต่สละชีวิตก็ยอมได้ คนขนาดยอมสละชีวิตได้แล้ว ก็ไม่ต้องกลัว มันไม่เอาอะไรแล้ว เพราะฉะนั้นนักวิทยาศาสตร์อย่างไอน์สไตน์จึงไม่เห็นแก่เรื่องสิ่งเสพบำรุงบำเรอ หรือเรื่องวัตถุอะไรทั้งนั้น ใจมุ่งอยู่แต่ว่า ทำอย่างไรจะรู้อันนี้ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีฉันทะตัวนี้ก็เป็นอันว่าวิชาการต่างๆ จะไม่บรรลุผลสำเร็จ แต่จะเกิดปัญหาต่างๆ ขึ้นมาในกระบวนการอย่างมากมาย และคุณธรรมต่างๆ ก็ไม่มา แต่จะมีความเสียหายต่างๆ มาแทน

ถ้าเป็นไปตามแนวทางของฉันทะ คุณธรรมจะเรียกร้องตัวของมันขึ้นมาเอง พร้อมไปด้วยกันกับการพัฒนาปัญญา เพราะเป็นกระบวนการของเหตุปัจจัยตามกฎธรรมชาติ

ในที่สุด เมื่อคนขาดฉันทะ แม้จะอยู่ในยุคไอทีที่แสนจะเจริญ มีข่าวสารข้อมูลแพร่หลายทั่วถึงจนท่วมท้น เป็นสภาพที่เอื้อต่อการพัฒนาปัญญา แต่คนก็ไม่สามารถเข้าถึงคุณค่าของข่าวสารข้อมูลเหล่านั้น แทนที่ข่าวสารข้อมูลที่มากมายจะช่วยให้เกิดปัญญา ก็กลับกลายเป็นเครื่องเพิ่มโมหะและกระตุ้นเร้าอกุศลอื่นๆ ทำให้คนตกเป็นเหยื่อมากกว่าได้ประโยชน์ อาจจะตกเป็นทาส หรือก่อทุกข์ภัยขึ้นจากไอที เช่น ผู้ผลิตและผู้แพร่มุ่งในแง่หาผลประโยชน์สนองโลภะ ผู้บริโภคก็มุ่งหาแต่สิ่งบันเทิงเริงรมย์สนองความใฝ่เสพและค่านิยมที่เป็นโมหะ ทั้งสองฝ่ายเหมือนดังสมคบกันใช้ไอทีทำลายชีวิตและสังคมของตน

ตัวอย่างง่ายๆ เช่น ในการสัมพันธ์กับสื่อมวลชนด้านข่าว ประชาชนทั่วไปเป็นผู้ “เสพข่าว” (ดูฟังอ่านข่าวเพื่อสนองความอยากตื่นเต้น เพื่อเอามาพูดจาเล่าขานสนุกปากกันไป) มากกว่าจะเป็นผู้ “ศึกษาข่าว” (ดูฟังอ่านข่าว เพื่อหาความรู้ หาความจริง เพื่อรู้เข้าใจสถานการณ์และเพื่อคิดแก้ไขจัดการ) และวิพากษ์วิจารณ์เรื่องราวข่าวสารแบบ “วิจารณ์ทิ้ง” (วิจารณ์เพื่อเสพรสอร่อยในการถกเถียงแล้วก็ผ่านไป) ไม่เป็นการ “วิจารณ์เพื่อทำ” (วิจารณ์เพื่อสนองฉันทะที่จะหาทางทำการแก้ปัญหาหรือสร้างสรรค์อย่างใดอย่างหนึ่ง)

สภาพทั่วไปอย่างหนึ่งก็คือ ขณะที่ประชาชนส่วนมากเป็นเพียงผู้เสพข่าวสารข้อมูล ไม่เป็นผู้ศึกษาข่าวสารข้อมูล มักไหลไปตามกระแสข่าวสารข้อมูล และตกอยู่ใต้อิทธิพลของสื่อมวลชนที่จะนำกระแสนั้นไป แต่ในขณะเดียวกันนั้นสื่อมวลชนก็มักยอมตัวปล่อยตนให้ตกอยู่ใต้อิทธิพลของมวลชนที่เสพข่าว คือผลิตหรือนำเสนอข่าวสารข้อมูลเพียงเพื่อเสริมสนองความต้องการของมวลชนในการเสพข่าว ไม่ก้าวขึ้นไปสู่อุดมคติในทางสร้างสรรค์ที่สูงกว่านั้น โดยนัยนี้ ทั้งมวลชนผู้เสพข่าวสารข้อมูล และสื่อมวลชนผู้นำเสนอข่าวสารข้อมูล ก็มาเป็นปัจจัยเสริมแก่กันและกัน ในการสร้างวงจรในทางเสื่อมลงแห่งคุณภาพชีวิต

ด้วยเหตุนี้ ในขณะที่สื่อมวลชนคุณภาพดียังมีน้อย และสื่อมวลชนจำนวนมากยังเป็นสิ่งแวดล้อมในทางลบ จึงจะต้องเอาจริงเอาจังในการพัฒนาคนให้มีฉันทะและประกอบด้วยโยนิโสมนสิการ เพื่อให้เป็นอยู่อย่างปลอดภัยและสามารถสร้างสรรค์ประโยชน์ได้อย่างแท้จริงจากไอทีของยุคนี้ คือสร้างคนที่สามารถสรรหาสาระและสร้างสรรค์ประโยชน์ได้แม้แต่จากข่าวสารข้อมูลที่ด้อยคุณภาพ

ที่พูดมาในตอนนี้เป็นการเน้นเรื่องฉันทะ คือความใฝ่รู้ ใฝ่ดี ใฝ่ทำให้มันดี หรือใฝ่ศึกษา ใฝ่สูง และใฝ่สร้างสรรค์

จากฉันทะต่อทุกสิ่ง สู่เมตตากรุณาต่อทุกคน

ทีนี้หันมาพูดถึงครู อาจารย์ และวงการการศึกษา เรื่องไม่จบเท่านี้ ไม่จบแค่ฉันทะ และไม่จบแค่ศรัทธา ในวงวิชาการยังมีอะไรอีก

ในวงการการศึกษาและในวงการทางวิชาการ เราไม่ได้เกี่ยวข้องกับความรู้และความจริงในกฎธรรมชาติอย่างนักวิทยาศาสตร์เท่านั้น และเราก็มิใช่เพียงจะมาสร้างสรรค์วัตถุให้มันดีเท่านั้น แต่เรายังมีองค์ประกอบที่ต้องเกี่ยวข้องมากกว่านั้นอีก คือ เราต้องเกี่ยวข้องกับคน คือให้การศึกษาแก่มนุษย์ ที่ว่าเราต้องการให้ชีวิตของเขาดีงาม

ชีวิตของคนที่ยังไม่สมบูรณ์นั้น ถ้ามองในสายตาของคนที่สมบูรณ์แล้ว ก็เห็นว่าเขายังบกพร่องคือยังทุกข์อยู่ เมื่อเห็นคนอื่นมีทุกข์อยู่ คุณธรรมที่เกิดขึ้นแก่ผู้มองเห็นก็คือ กรุณา ซึ่งสืบเนื่องมาจากเมตตา คือ ความรัก ความปรารถนาดีต่อชีวิตของผู้อื่น

ที่จริงก็ฉันทะนี่แหละ พอมาเกี่ยวข้องกับมนุษย์เข้า มันก็เปลี่ยนชื่อไป ฉันทะ แปลว่า อยากให้มันดี พอไปเจอเพื่อนมนุษย์ ความอยากให้มันดีไปแสดงออกที่คน ก็กลายเป็นอยากให้คนนั้นเขาดี เช่น อยากให้เขาอยู่ในภาวะที่ดีงาม เป็นคนดี มีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง มีสุขภาพดี มีความสุข เอิบอิ่ม ฉันทะที่ว่าใฝ่ดี คือ ปรารถนาดี เมื่อมาแสดงต่อมนุษย์ก็กลายเป็นเมตตา ฉะนั้นเวลาท่านอธิบายเมตตา ท่านจะโยงไปหาฉันทะ เพราะโดยพื้นฐานที่แท้ฉันทะเป็นจุดเริ่มของเมตตา (เช่น วิสุทฺธิ.๒/๑๒๕; วิสุทฺธิ.ฏีกา ๒/๑๓๖)

ขอให้จับจุดนี้ให้ได้ จับที่รากเหง้าต้นตอเลย ฉันทะนี่เอง อยากให้มันดี ไปเกี่ยวข้องกับวัตถุ ก็เรียกฉันทะ พอมาเกี่ยวข้องกับคน ก็เปลี่ยนศัพท์ใหม่ เรียกว่าเมตตา คือปรารถนาดีหรือใฝ่ดีต่อเพื่อนมนุษย์

เป็นอันว่า ครูอาจารย์ไม่ได้เกี่ยวข้องแต่ตัวความรู้ และไม่ได้เกี่ยวข้องแค่วัตถุสิ่งของ แต่เรามาเกี่ยวข้องกับคน ก็เลยต้องขยับมาสู่คุณธรรมที่เรียกว่าเมตตา

เมื่อเขาอยู่เป็นปกติ เราก็อยากให้เขามีความสุข เรียกว่า เมตตา ต่อจากนั้นเมื่อเขามีปัญหา มีความทุกข์ เราก็อยากให้เขาพ้นจากทุกข์ หรือพ้นจากปัญหานั้น เมตตาก็เปลี่ยนไปเป็นกรุณา เมตตาใช้ในภาวะปกติ ส่วนกรุณาใช้ในภาวะที่คนนั้นตกต่ำ เดือดร้อน

ทีนี้สำหรับผู้ที่มองในแง่ของภาวะที่เลิศสูงสุดหรือสมบูรณ์ ก็จะมองคนทั่วไปว่ายังไม่สมบูรณ์ เมื่อมองเห็นว่าไม่สมบูรณ์ กรุณาก็จะเข้ามาเพื่อแก้ปัญหา เช่นในการปฏิบัติพุทธกิจ เสด็จจาริกไปสั่งสอนประชาชนนั้น เราจะเห็นว่าคุณธรรมหรือพระคุณของพระพุทธเจ้าข้อนี้คือมหากรุณา เราไม่เรียกว่ามหาเมตตา เพราะเอาความสมบูรณ์เป็นมาตรฐาน หรือเป็นตัวตั้ง คือมองที่จุดสมบูรณ์ว่า มนุษย์ทั้งหลายยังไม่สมบูรณ์ เมื่อยังไม่สมบูรณ์ ท่าทีของจิตใจต่อคนที่ยังบกพร่องก็คือ กรุณา เพราะฉะนั้นพระคุณที่สำคัญในการช่วยเหลือมนุษย์ คือ จะพัฒนาเขาให้พ้นจากกิเลสและความทุกข์ขึ้นไปสู่ความดีงามสมบูรณ์ จึงเรียกว่ากรุณา

ครูอาจารย์ก็เช่นเดียวกัน ก็ต้องมีคุณธรรมข้อนี้ในใจ อยากให้ชีวิตของผู้เรียนผู้ศึกษาพ้นจากความบกพร่อง พ้นจากปัญหา ขึ้นไปสู่ความดีงาม จนมีความสมบูรณ์ คุณธรรมที่เกิดในใจนี้ก็คือกรุณา เมื่อมีกรุณา ก็คือฉันทะมาแล้ว และจะทำให้การปฏิบัติงานของครูอาจารย์ได้ผลเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นครูอาจารย์ที่สอน หรือเป็นครูอาจารย์ที่บริหารก็ตาม เมื่อกรุณามาแล้ว ฉันทะทำหน้าที่ ก็ต้องพยายามทำเด็กให้ดีให้ได้ ถ้าเด็กยังไม่ดีก็จะไม่ยอมหยุด ถ้าเด็กยังไม่หมดปัญหาก็จะไม่ยอมหยุด ถ้ามีคุณธรรมนี้อยู่เป็นแรงในใจ การศึกษาก็ต้องพัฒนา เดินหน้าแน่นอน เพราะฉะนั้นครูอาจารย์จึงไม่ใช่อยู่แค่วิชาการ แต่โยงเอาวิชาการมาสู่คนอีกขั้นหนึ่งด้วย คือทำให้วิชาการเกิดผลเชิงปฏิบัติการในชีวิตของคน โดยฉันทะโยงความรักวิชาการมาสู่การสอนคนด้วยกรุณา

ตอนนี้ก็ได้พูดมาแล้วหลายเรื่อง

๑. เรื่องการพัฒนาปัญญาในกระบวนการพัฒนามนุษย์ที่เป็นระบบปัจจัยสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรม จิตใจ และปัญญา

๒. เรื่องปัญญาที่อาศัยศรัทธา เพื่อจะจับจุดให้ บอกทิศทางให้ และเพิ่มกำลังให้

๓. เรื่องที่ว่าการพัฒนาปัญญาต้องอาศัยจุดเริ่มหรือรากฐาน คือ ฉันทะ ได้แก่ความใฝ่รู้ ใฝ่ดี และใฝ่ทำให้มันดี พูดง่ายๆ ว่า ใฝ่ศึกษา ใฝ่สูง และใฝ่สร้างสรรค์ และ

๔. เรื่องการพัฒนาความสุข ที่พ่วงมาด้วยในกระบวนการพัฒนาปัญญานั้น

ทุกข์นั้นเพื่อรู้ทัน จะได้จัดการถูกที่
สุขนี้เพื่อให้มีสภาพคล่องในการสร้างสรรค์

ขอเน้นว่า เรื่องความสุขนี้สำคัญมาก ถ้าความสุขไม่มา การพัฒนามนุษย์จะสำเร็จยาก พุทธศาสนาเน้นเรื่องความสุขมาก ฝรั่งเข้าใจผิด แม้แต่คนไทยไม่น้อยก็หลงนึกว่าพระพุทธศาสนาทำไมสอนแต่เรื่องทุกข์ นี่คือจับไม่ถูก

พุทธศาสนาสอนอะไรจะต้องมีข้อปฏิบัติต่อสิ่งนั้น อย่างอริยสัจ ก็มีหน้าที่ต่ออริยสัจ ทุกข้อ คือต้องมีหน้าที่ต่อทุกข์ หน้าที่ต่อสมุทัย หน้าที่ต่อนิโรธ หน้าที่ต่อมรรค

หน้าที่ต่อทุกข์คืออะไร คือ ปริญญา เดี๋ยวนี้เราเอาปริญญามาพูดกันถึงปริญญาเอก ที่จริงนั้น ปริญญาเป็นเรื่องเกี่ยวกับทุกข์ ปริญญาสำหรับรู้เท่าทันทุกข์ เราไม่มีหน้าที่เป็นทุกข์ แต่เรามีหน้าที่รู้ทุกข์ คือรู้เท่าทันมัน พูดได้สั้นๆ ว่า ทุกข์เป็นสิ่งสำหรับปัญญารู้ พูดอีกสำนวนหนึ่งว่า ปัญหาเป็นสิ่งที่เราต้องเผชิญหน้า ด้วยปัญญาที่รู้ ต้องรู้ปัญหาจึงจะแก้ปัญหาและทำให้คนมีความสุขจริงได้ เหมือนแพทย์ต้องการช่วยให้คนมีสุขภาพดี ก็ต้องรู้จักโรค และร่างกายซึ่งเป็นที่ตั้งของโรค

เป็นอันว่า ทุกข์เรามีหน้าที่อย่างเดียวคือรู้ทันมัน พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ทุกฺขํ ปริญฺเญยฺยํ ทุกข์เป็นสิ่งที่จะพึงกำหนดรู้ รู้ทัน รู้จักมันให้ถูกต้อง พอจับมันได้ ทันมันแล้ว เราก็ไม่ต้องกลัวมันอีก ส่วนในการปฏิบัติ เรามีแต่ห่างทุกข์และเป็นสุขยิ่งขึ้นๆ ทุกข์สำหรับเรารู้ แต่สุขสำหรับเราเป็น พอปฏิบัติไปมีแต่สุขยิ่งขึ้นๆ ทุกข์น้อยลงๆ ปฏิบัติก้าวหน้าไปกับความสุข

แม้แต่สมาธิก็ต้องอาศัยสุข ถ้าไม่สุขแล้วสมาธิเกิดยาก คนที่มีความทุกข์อยู่ภายใน จิตใจย่อมดิ้นรน พลุ่งพล่าน ว้าวุ่น กระวนกระวาย เดือดร้อน จึงไม่สามารถจะสงบ ไม่สามารถจะตั้งแน่วแน่ลงได้ เพราะทุกข์มันบีบ ทำให้ดิ้น ทีนี้พอมีสุข ใจก็สงบลง โน้มไปสู่ความแน่วแน่มั่นคง เพราะไม่ถูกกวน เพราะฉะนั้นท่านจึงให้หลักไว้ว่า สมาธิมีสุขเป็นปทัฏฐาน (เช่น ที.ปา.๑๑/๓๐๒; วิสุทฺธิ.๑/๑๐๕) และพอได้สมาธิแล้วก็ยิ่งสุข

แต่พอสมาธิทำให้เกิดสุขแล้วจะต้องระวัง อาจเกิดโทษ คือพอสุขปั๊บก็เพลิน คนเรานี้พอทุกข์บีบคั้น ภัยคุกคาม ก็ลุกขึ้นดิ้นรนขวนขวาย แต่พอสุขสบาย ทั้งที่เป็นโอกาสดีที่จะทำงานได้คล่องและสะดวก เพราะไม่มีอะไรบีบคั้นติดขัดหรือรบกวน แต่กลับมีความโน้มเอียงที่จะหยุด จะเฉื่อยหรือเนือยลง จะนอน จะเสวยสุข คือ ขี้เกียจ ตกอยู่ในความประมาท ไม่ใช้โอกาสนั้นให้เป็นประโยชน์ เพราะฉะนั้นท่านจึงเตือนไว้ว่า สมาธินี้เข้าพวกกันกับความเกียจคร้าน (วิสุทฺธิ.๑/๑๖๔) เมื่อสมาธิมา นอกจากสงบอยู่ตัวเข้าที่แล้ว ก็มีความโน้มเอียงที่จะเกิดความเกียจคร้านด้วย เรียกว่าเป็นที่มาของโกสัชชะ เพราะฉะนั้นท่านจึงให้มีดุลยภาพ คือ ถ้ามีสมาธิ ต้องเอาวิริยะมาเข้าคู่

วิริยะ คือความเพียร เป็นภาวะจิตที่คึกคักเข้มแข็ง จะก้าวไปข้างหน้า วิริยะ มาจากวีระ แปลว่า แกล้วกล้า คนมีวิริยะก็คือคนที่ใจสู้ บุกฝ่า จะก้าวไปข้างหน้าตลอดเวลา ไม่ยอมหยุด วิริยะนี้พาเดินหน้า ส่วนสมาธินั้นสงบ จะหยุดจะนิ่ง ถ้าวิริยะมากไปก็เดินหน้าแบบพลุ่งพล่าน เอาแต่จะเดินหน้าไป อาจจะกลายเป็นว้าวุ่น กระวนกระวาย ก็เสียผล ส่วนสมาธิทำให้สงบมั่นคงแน่วแน่ แต่ก็จะหยุดนิ่ง อาจจะกลายเป็นนอนนิ่งอย่างแน่วแน่ แต่พอวิริยะกับสมาธิมาเข้าคู่กัน ก็จะเดินหน้าอย่างแน่วแน่ อย่างสงบ และอย่างมั่นคง ทำให้ทำการต่างๆ อย่างได้ผลดีที่สุด เพราะฉะนั้นท่านจึงให้มีดุลยภาพในการปฏิบัติธรรม ถ้ามีสมาธิปั๊บ วิริยะต้องเข้ามา นี้เป็นเรื่องแทรก

รวมความว่า ทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการพัฒนามนุษย์ที่เรียกว่า ไตรสิกขา ซึ่งประกอบด้วย

๑. พัฒนาพฤติกรรม เรียกว่า ศีล

๒. พัฒนาจิตใจโดยมีสมาธิเป็นแกน จึงเอาสมาธิมาเป็นชื่อเรียก ในฐานะเป็นตัวแทนของกระบวนการพัฒนาจิต โดยเรียกว่า สมาธิ

๓. พัฒนาปัญญา ซึ่งคงเรียกชื่อว่า ปัญญา

กระบวนการทั้งหมดนี้เป็นภาคปฏิบัติทั้งหมดของพุทธศาสนา ซึ่งถือว่าชีวิตของเราต้องอยู่ในไตรสิกขา คือ ก้าวหน้าไปในกระบวนการพัฒนานี้ตลอดเวลา ข้อปฏิบัติทุกอย่างในพุทธศาสนา ที่เรียกว่าธรรมทั้งหลาย อยู่ในกระบวนการที่เรียกว่าไตรสิกขานี้ทั้งหมด ไตรสิกขาคลุมหมด

เราเห็นชัดว่าไตรสิกขาเป็นกระบวนการที่คืบเคลื่อนไปสู่จุดหมาย เมื่อคืบเคลื่อน ก็ต้องเดินหน้าตลอดเวลา เพราะฉะนั้นถ้าปฏิบัติธรรมข้อไหนไม่เห็นความสัมพันธ์ว่า ข้อปฏิบัติหรือธรรมข้อนี้ส่งผลในกระบวนการของสิกขา ให้เดินหน้าไปอย่างไร ก็แสดงว่าเราจับจุดไม่ได้ และการปฏิบัติก็ต้องผิด ซึ่งกลายเป็นว่าธรรมมาดึงเราให้หยุด เช่นปฏิบัติสมาธิแล้วกลายเป็นหยุด นอนสบาย หรือแม้แต่เข้าสมาธิหาความสงบสุขทางจิตใจ แล้วหลบปัญหา หลบทุกข์ กลายเป็นว่าเอาสมาธิเป็นยากล่อม ก็แสดงว่าไม่ถูกต้อง

ถ้าปฏิบัติถูกต้อง ธรรมทุกข้อจะต้องมีผลสัมพันธ์ส่งต่อในกระบวนการเดินหน้าในไตรสิกขา อันนี้เป็นเกณฑ์วินิจฉัยข้อปฏิบัติทุกอย่างในพุทธศาสนา เพราะคุณสมบัติและข้อปฏิบัติคือธรรมทุกอย่างในพุทธศาสนา หรือที่จริงคือในธรรมชาติ อยู่ในกระบวนการของไตรสิกขาทั้งนั้น เพราะฉะนั้นธรรมทุกข้อจะต้องจับให้ได้ว่ามันส่งผลอย่างไรต่อข้อปฏิบัติอื่นที่จะมารับช่วงต่อไป เช่น สมาธิเป็นเครื่องเตรียมจิตให้พร้อมที่จะทำงาน (เป็นกัมมนีย์ หรือกรรมนีย์) และจะต้องส่งผลต่อปัญญา หรือสุขจะมาช่วยให้เกิดสภาพคล่องในกระบวนการปฏิบัติ ถ้าปฏิบัติผิด สุขมาทำให้เราติด เพลิน สยบ หยุด ก็กลายเป็นประมาท พอประมาทก็พลาดหมด

- ๒ -
ความเป็นอยู่อย่างนักวิชาการ

สันโดษคือฐานชีวิตของนักวิชาการ
สันโดษสร้างโอกาสแก่งานศึกษาและสร้างสรรค์

เป็นอันว่าองค์ธรรมหรือข้อปฏิบัติต่างๆ นั้นถ้าปฏิบัติถูกต้องจะส่งผลสัมพันธ์ในกระบวนการพัฒนามนุษย์ไปสู่จุดหมาย เพราะฉะนั้นมันจึงคืบเคลื่อนตลอดเวลา หน้าที่ของเราก็คือจะต้องจับให้ได้ว่า ข้อปฏิบัติหรือองค์ธรรมข้อนี้ส่งผลต่อข้ออื่นอย่างไรในกระบวนการนี้ ถ้าจับไม่ได้ก็แสดงว่าเรายังไม่เข้าใจธรรมข้อนั้น ในสังคมไทยมีปัญหาเรื่องนี้มาก

ขอแทรกตรงนี้ว่า คนไทยเราเท่าที่สังเกต มักนำเอาธรรมมาใช้เพียงเพื่อสนองความต้องการขั้นต้น คือ พอให้สุขสบายพ้นปัญหาเฉพาะหน้าไปได้ แล้วก็หยุด ธรรมแทบทุกข้อจะใช้เพื่อวัตถุประสงค์ขาดตอนด้วนๆ แบบนี้ จึงไม่เป็นไปตามแนวทางของไตรสิกขา ซึ่งเป็นกระบวนการคืบเคลื่อนไปข้างหน้าสู่จุดหมายสูงสุดอันเดียว เช่น เราใช้สันโดษ ก็ใช้เพื่อหยุด ไม่ได้ใช้เพื่อเป็นตัวส่งต่อ

สันโดษที่ถูกต้องเป็นเพียงธรรมเบื้องต้นในกระบวนการของไตรสิกขา มันจึงต้องส่งผลให้เราก้าวไปในไตรสิกขา แต่ลองดูว่า สันโดษของคนไทยเป็นอย่างไร พอสันโดษเราก็พอใจในสิ่งที่มีเป็นของตน รู้จักอิ่ม รู้จักพอแล้ว ก็มีความสุข ไปจบที่เพื่อสุข ถ้าจบที่เพื่อสุข ก็ตัน ก็หยุดเท่านั้น แล้วก็อาจจะกลายเป็นเกียจคร้าน และตกอยู่ในความประมาท แสดงว่าผิดแล้ว สันโดษส่งผลอย่างไรในกระบวนการที่คืบเคลื่อนของไตรสิกขา อันนี้คือจุดที่จะต้องวิเคราะห์ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าศึกษา

สันโดษ เป็นคุณธรรมที่สำคัญมากในทางวิชาการ โดยเฉพาะสำหรับผู้บริหาร และครูอาจารย์ สันโดษจะมาหนุนฉันทะอย่างเต็มที่ จะต้องเน้นด้วยว่าสันโดษเป็นธรรมที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ ตอนนี้จึงขอพูดเรื่องสันโดษให้เป็นตัวอย่างของการที่คนไทยยังใช้ธรรมในพุทธศาสนาเพื่อสนองจุดหมายเพียงเพื่อหยุด เพียงเพื่อมีความสุขที่ตัน โดยลงท้ายที่ความประมาท

มีคนสุดโต่ง ๒ พวก

พวกหนึ่ง มองว่า คนไทยนี่สันโดษ พอใจในสิ่งที่มีเป็นของของตน ก็เลยไม่อยากได้ไม่อยากมี ไม่ขวนขวาย จึงไม่สร้างสรรค์ ไม่พัฒนา เพราะฉะนั้นจะต้องกระตุ้นเร้าให้คนไทยอยากได้ อยากมีของใช้ฟุ่มเฟือย มีทีวี มีรถเครื่อง มีรถปิคอัพ มีสิ่งเสพบริโภคให้มาก แล้วเขาจะได้ขยันทำการทำงานหาเงิน ประเทศชาติจะได้พัฒนาเป็นการใหญ่ นี่พวกหนึ่ง เป็นสุดโต่ง ซึ่งผิดพลาดอย่างมาก ที่ไปสนองความใฝ่เสพ สนองตัณหา

อีกพวกหนึ่ง ก็คือ ชาวพุทธเองจำนวนมาก ซึ่งจะต้องวิเคราะห์ตนเองให้รู้ตัวว่าพลาดไปสุดโต่งอีกเหมือนกัน คือเข้าใจว่าสันโดษเพื่อจะได้มีความสุข ลองไปถามคนไทยทั่วๆ ไปสิว่า สันโดษเพื่ออะไร ส่วนมากจะตอบว่าเพื่อความสุข พอสันโดษแล้วก็มีความสุข แล้วก็สบาย ไม่ทุกข์ไม่ร้อน ซึ่งก็จริง เพราะสันโดษเป็นความพอใจ ความสุขอยู่ที่ความพอใจ เมื่อพอใจก็สุข พอมีวัตถุ มีสิ่งของใช้แค่นี้ ก็พอใจ สันโดษ ก็เลยสบาย แล้วก็ไม่ต้องขวนขวาย ไม่ดิ้นรน ก็ขี้เกียจ เฉื่อยชา ขอใช้คำว่าเลยนอนแอ้งแม้ง ก็สมที่เขาว่าว่าทำให้ขัดขวางการพัฒนา

ที่จริงผิดทั้งสองฝ่าย เพราะไม่รู้จักสันโดษตัวจริง ที่เป็นทางสายกลาง

บอกแล้วว่า สันโดษนี้เป็นเพียงข้อปฏิบัติอย่างหนึ่งในกระบวนการของไตรสิกขา ไตรสิกขานั้นต้องเดินหน้า สันโดษที่ปฏิบัติถูกต้องจะส่งผลในกระบวนการปฏิบัติของไตรสิกขาให้เดินหน้าต่อไป ถ้าจับจุดนี้ได้ก็หมดปัญหา โดยเฉพาะสันโดษจะต้องมาหนุนฉันทะ เรื่องความใฝ่เสพและใฝ่รู้เป็นต้นที่พูดมาแล้ว ก็สัมพันธ์โดยตรงกับเรื่องสันโดษ

สันโดษในภาษาไทยเวลานี้ชักจะมีความหมายเคลื่อนคลาดไปไกล เคยถามคนหนุ่มๆ ว่าสันโดษคืออะไร หลายคนตอบว่าสันโดษคือการแยกตัวออกไปอยู่ต่างหาก ไม่สนใจ ไม่ยุ่งเกี่ยวกับใคร อันนี้ไม่ใช่สันโดษ การปลีกตัวไปอยู่ต่างหาก ค่อนข้างโดดเดี่ยวหาความสงบนั้น เรียกว่าวิเวก สันโดษเป็นเรื่องของท่าทีต่อวัตถุ สิ่งเสพ สิ่งบริโภค สันโดษก็คือความพอใจในวัตถุเสพ เช่น ปัจจัย ๔ ตามที่มีที่ได้ หรือตามที่เป็นของตน คนไทยเราก็มองคนสันโดษในแง่นี้ด้วยคือ เป็นคนที่พอใจในวัตถุสิ่งของตามที่มีที่ได้ ไม่ทะเยอทะยาน ไม่อยากได้ไม่อยากมี แต่อย่างที่บอกเมื่อกี้ว่า ถ้ามองแค่นี้ ก็จะเป็นสันโดษเพื่อสุข แล้วก็ตัน

คนไม่สันโดษ เวลาที่จะเอาให้แก่ตัวเองก็ยังไม่พอ
จะเอาอะไรมาให้แก่ศิษย์ แก่งาน หรือแก่สังคม

เราไปดูคนที่ไม่สันโดษก่อน คนไม่สันโดษก็ตรงข้ามกับคนสันโดษ คนสันโดษมีความสุขได้ด้วยวัตถุเสพตามที่ตนมี มีเท่าไรก็พอใจเท่านั้น จึงมีความสุขได้ง่าย พูดสั้นๆ ว่า คนสันโดษคือคนที่สุขง่ายด้วยวัตถุน้อย วัตถุที่เขามีอยู่ก็ทำให้เขามีความสุข ให้สังเกตว่าเขามีความสุขแล้ว แต่คนไม่สันโดษไม่รู้จักอิ่มไม่รู้จักพอด้วยวัตถุเสพบริโภคที่มีอยู่ ความสุขของเขาไปอยู่กับสิ่งที่ยังไม่มี ฉะนั้น คนที่ไม่สันโดษจึงยังไม่มีความสุข เพราะความสุขของเขาอยู่กับสิ่งที่เขายังไม่มีหรือยังไม่ได้ คือเขาไม่พอใจกับสิ่งที่เขามีเป็นของตน ความพอใจของเขาอยู่ที่สิ่งที่เขายังไม่ได้ ความพอใจของเขายังไม่มี เพราะฉะนั้นเขาจึงยังไม่สุข ในแง่วัตถุคนไม่สันโดษยังไม่สุข เขาขาดความสุขในทางวัตถุ

สำหรับคนไม่สันโดษปัญหาอะไรจะตามมา เมื่อความสุขอยู่กับวัตถุที่ยังไม่ได้ ความสุขทางวัตถุก็ยังไม่มี เขาจึงต้องพยายามหาสิ่งเสพหรือวัตถุเสพมาบำรุงบำเรอ มาบริโภค ในกระบวนการแสวงหาสิ่งเหล่านี้ ก็จะต้องใช้

๑. เวลา เขาจะใช้เวลาให้หมดไปกับการพยายามหาสิ่งเสพบริโภค

๒. แรงงาน เขาจะต้องทุ่มเทแรงงานของเขาในการแสวงหาสิ่งเสพ

๓. ความคิด เขาจะต้องครุ่นคิดว่าจะไปเสพอะไรที่ไหน จะไปหาอะไรเสพ พรุ่งนี้จะไปกินอะไรที่ไหนอร่อย วันนี้ไปกินที่เหลานี้ ราคาเท่านี้ ยังไม่อร่อยพอ พรุ่งนี้ไปเหลาโน้นจะอร่อยกว่า ครุ่นคิดแต่เรื่องนี้

ฉะนั้น เวลา แรงงาน และความคิดของเขาก็หมดไปกับเรื่องการที่จะหาสิ่งเสพและการที่จะหาความสุขบำรุงบำเรอตัวเอง ทีนี้เวลา แรงงาน และความคิดที่จะใช้นั้น บางทีมันไม่พอ เมื่อเวลาไม่พอก็ต้องเบียดบังเวลาทำการทำงานทำหน้าที่ไป งานการที่จะทำก็ไม่ได้ทำ งานก็เสียหรือทำไม่เต็มที่ สิ่งเสพนั้นจะต้องใช้เงินซื้อ เมื่อเงินทองไม่พอก็ต้องหาทางเบียดบังทรัพย์ บางทีทุจริต หรือกู้หนี้ยืมสิน เพื่อจะเอาทรัพย์ไปซื้อสิ่งเสพที่ยังไม่ได้ และเมื่อมัวคิดแต่เรื่องที่จะเสพจะบริโภค ใจก็ไม่อยู่กับงาน ไม่เอาใจใส่หน้าที่ และไม่มีสมาธิในการทำงาน เพราะฉะนั้น ความไม่สันโดษจึงเป็นปัจจัยที่ทำให้คนไม่ตั้งใจทำการทำงาน เสียงาน เบียดบังเวลาทำงาน และทำให้ทุจริต

ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ เขาไม่มีความสุขจากการทำงาน เพราะความสุขไปอยู่ที่สิ่งเสพ เขาจึงทำงานด้วยความทรมานใจ มองแต่ว่าเมื่อไรจะเลิกงานเสียที จะได้ไปหาสิ่งเสพ ฉะนั้นเขาจึงทำงานด้วยความทุกข์ จิตใจไม่สบาย เมื่อทำงานด้วยความทุกข์ ก็เป็นผลเสียแก่ชีวิตของตนเอง พร้อมกันนั้นก็เกิดผลเสียต่อส่วนรวมคืองานการไม่ได้ผล เสียทั้งแก่ชีวิตและสังคม ผลเสียจึงกว้างขวางทั่วไป พัฒนาได้ยาก นี่เป็นด้านของคนไม่สันโดษ

ทีนี้ลองมาดูคนสันโดษบ้าง ถ้าสันโดษแบบตันก็อย่างที่ว่า คือ เมื่อเราพอใจในวัตถุเสพ พอแล้ว อิ่มแล้ว ก็สบาย มีความสุขได้แล้วก็ไม่ต้องดิ้นรนขวนขวาย บรรลุจุดหมายแค่นี้ ก็หยุด กลายเป็นขี้เกียจ เพราะมันไม่ส่งผลให้ก้าวต่อไปในไตรสิกขา ขอให้ดูว่าสันโดษที่แท้ส่งผลต่ออย่างไร ตอนนี้ยังไม่ต้องดูว่าพระพุทธเจ้าตรัสว่าอย่างไร มาวิเคราะห์กันตามกระบวนการของธรรมชาติ

เมื่อเราสันโดษในวัตถุเสพ วัตถุมีพอให้ชีวิตอยู่ได้ตามสมควร เราก็มีความสุขแล้ว เมื่อไม่ต้องวุ่นวายพล่านหาสิ่งเสพ สิ่งที่เราได้ในตอนนี้คืออะไร เราก็สงวนเวลา แรงงาน และความคิดไว้ได้มาก เมื่อเวลามี แรงงานมี สมองว่างอยู่ยังไม่ได้ใช้ จะเอาไปใช้อะไร ตอนนี้จุดแยกก็อยู่ที่ว่าจะหยุดหรือจะใช้มัน ถ้าหยุดก็แปลว่า ขี้เกียจ ก็จบ แต่ถ้าไม่หยุดก็จะมีผลตามมาว่า ตอนนี้เรามีความพร้อม ทั้งเวลา แรงงานและความคิดเรามีเหลือเฟือ ตอนนี้ เราได้พัฒนาฉันทะไว้แล้ว เรามีความใฝ่รู้ ใฝ่ดี ใฝ่สร้างสรรค์ อยู่แล้ว ก็เอาแรงงาน เวลา และความคิดที่สงวนไว้ได้นั้นไปสนองฉันทะ ก็เดินหน้าแน่วไปเลย


ถ้าสันโดษถูกต้อง ก็จะไม่สันโดษได้เต็มที่
เมื่อสันโดษดีแล้ว ไม่สันโดษก็ยิ่งดีเต็มที่

ตรงนี้มีข้อสังเกตทางธรรมว่า พระพุทธเจ้าได้ตรัสสันโดษไว้คู่กับไม่สันโดษ แต่ทั้งนี้ต้องเข้าใจว่าสันโดษลอยๆ ไม่ได้ ถ้าสันโดษลอยๆ จะผิดทันที สันโดษจะต้องตามด้วยวัตถุเสพ แล้วก็จะมีธรรมเป็นคู่กันว่าไม่สันโดษ

พระพุทธเจ้าตรัสว่าพระองค์ตรัสรู้เพราะไม่สันโดษ พระองค์ตรัสไว้เองว่า

“ภิกษุทั้งหลาย (ที่บรรลุโพธิญาณนี้) เราได้เห็นคุณของธรรม ๒ ประการ คือ

๑. ความไม่สันโดษในกุศลธรรม

๒. การเพียรพยายามไม่ระย่อ”

(องฺ.ทุก.๒๐/๒๕๑)

ไม่สันโดษก็เช่นเดียวกัน จะปล่อยลอยๆ ไม่ได้ ต้องต่อท้ายว่าไม่สันโดษในกุศลธรรม คือสำหรับสิ่งที่ดีงาม ซึ่งเป็นเรื่องของการสร้างสรรค์ ที่เข้ากับฉันทะแล้ว พระพุทธเจ้าไม่มีสันโดษเลย ถ้าพระพุทธเจ้าสันโดษ ก็ไม่ได้ตรัสรู้ เพราะพอใจแล้ว พระองค์เสด็จไปหาอาจารย์โยคะ ได้สมาธิ ได้ฌาน ได้สมาบัติ ถ้าพระพุทธเจ้าพอใจสันโดษก็หยุดแค่นั้นไม่ไปต่อ แต่พระพุทธเจ้าทรงถือว่า ถ้ายังไม่บรรลุจุดหมายจะหยุดไม่ได้ เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงเป็นตัวอย่างของคนที่ไม่สันโดษ แต่หมายถึงไม่สันโดษในกุศลธรรม

เมื่อสันโดษในวัตถุเสพ ก็มาหนุนให้ไม่สันโดษในกุศลธรรมได้เต็มที่ ถ้าเราไม่สันโดษในวัตถุเสพ เราก็ไม่สามารถไม่สันโดษในกุศลธรรม คนที่สันโดษในกุศลธรรมก็ไม่สันโดษในสิ่งเสพ เพราะพอใจแล้วในกุศลธรรม เอาแค่นี้ ไม่อยากได้ไม่อยากดีกับความรู้ความดีงามและการสร้างสรรค์ แค่นี้พอแล้ว ไปหาความสนุกสนานเพลิดเพลินดีกว่า นี้คือคนจำพวกที่ไม่สันโดษในวัตถุเสพ แต่สันโดษในกุศลธรรม

พระพุทธเจ้า ทั้งพระองค์เองก็ทรงปฏิบัติ และทรงสอนพวกเราว่า ให้สันโดษในวัตถุเสพ แต่ให้ไม่สันโดษในกุศลธรรม เมื่อไม่สันโดษในกุศลธรรมก็ก้าวต่อไปในไตรสิกขาได้ เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงสอนให้ไม่สันโดษในกุศลธรรม

เป็นอันว่าสันโดษกับไม่สันโดษนั้นรับกัน ขอทวนอีกทีหนึ่งว่า ถ้าคนไม่สันโดษในวัตถุเสพ เขาก็สันโดษในกุศลธรรม แล้วเขาก็จะวุ่นวายกับการแสวงหาวัตถุเสพบำรุงบำเรอ ทำให้เกิดปัญหาในกระบวนการพัฒนา ทั้งในสังคมก็มีการแย่งชิงเอารัดเอาเปรียบกัน และตัวเองก็ไม่มีความสุข แต่ละคนจะเอาให้มากกว่าคนอื่น เกิดการทุจริตมาก เกิดปัญหาติดขัดในการบริหารประเทศชาติ สังคมวุ่นวาย พัฒนาผิดทาง ฝรั่งบางคนเรียกการพัฒนาของประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา ว่าเป็น misdirected development คือพัฒนาเหมือนกันแต่พัฒนาไม่ถูกทาง เพราะฉะนั้น เมื่อเราสันโดษในสิ่งเสพ ก็ต้องมาต่อด้วยไม่สันโดษในกุศลธรรม อย่าไปหยุดแค่สันโดษในวัตถุเสพ

เมื่อไม่สันโดษในกุศลธรรม ก็จะมีความเพียรเข้ามารับช่วงต่อไป เพราะฉะนั้น ในหมวดธรรมใดพระพุทธเจ้าตรัสสันโดษไว้ ในหมวดธรรมนั้นก็จะตรัสความเพียรไว้ด้วย ขอให้สังเกตดูเถิด และมันรับกันได้ดีด้วย เพราะความสันโดษสร้างความพร้อมที่จะให้เพียรพยายามได้ ถ้าไม่สันโดษ ความเพียรก็มาทำงานไม่ได้ แต่จะถูกขัดขวางเพราะคนจะมัวห่วงใยสิ่งเสพและการที่จะบำรุงบำเรอตัวเองอยู่นั่นแหละ ไม่ไปสักที สันโดษเป็นตัวสร้างความพร้อมที่จะให้เพียรพยายาม จึงเป็นธรรมที่หนุนการก้าวไปในไตรสิกขา นี่คือความสอดคล้องกันของธรรม

ถ้าใครสันโดษในกุศลธรรมเมื่อไร พระพุทธเจ้าจะตรัสติเตียนทันที เรียกว่าเป็นคนประมาท แม้แต่เป็นพระอริยบุคคล ขนาดโสดาบัน หรือสกทาคามี ซึ่งนับว่าปฏิบัติธรรมก้าวหน้าไปมากแล้ว ก็ถูกตำหนิ มีตัวอย่างในพระไตรปิฎกว่า ท่านที่เป็นอริยบุคคล บรรลุผลสำเร็จในการปฏิบัติธรรมก้าวหน้าไปแล้ว ไปเกิดความพอใจขึ้น ท่านใช้คำว่า “สันโดษ” ในคุณสมบัติของตน พระพุทธเจ้าตรัสติเตียนว่าเป็น “ปมาทวิหารี” แปลว่าผู้อยู่ด้วยความประมาท (สํ.ม.๑๙/๑๖๐๑) พระพุทธเจ้ามีแต่ตรัสสอนให้เดินหน้าตลอด ฉะนั้นจึงมีคำตรัสที่ขอยกมาย้ำอีกแห่งหนึ่งว่า

“ภิกษุทั้งหลาย เราไม่สรรเสริญแม้แต่การตั้งอยู่ได้ในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่ต้องพูดถึงความเสื่อมถอยจากกุศลธรรม เราสรรเสริญอย่างเดียวแต่การก้าวต่อไปในกุศลธรรมทั้งหลาย”
(องฺ.ทสก.๒๔/๕๓)

นี่ก็เช่นเดียวกับพุทธพจน์ในธรรมบทที่ว่า ภิกษุถึงจะมีศีลวัตร ถึงจะเป็นพหูสูตมีความรู้มาก ถึงจะได้สมาธิ ถึงจะมีความสุขในระดับอนาคามี ถึงจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ตราบใดที่ยังไม่ถึงความสิ้นอาสวะ อย่าได้นอนใจ (ขุ.ธ. ๒๕/๒๙)

ความสันโดษ และไม่สันโดษ ทั้งที่ถูกต้อง และผิดพลาด ควรจะสรุปไว้เพื่อให้เห็นภาพรวมดังนี้

๑. ความสันโดษ และไม่สันโดษ ที่ผิด
ก. สันโดษที่ผิด (สันโดษเทียม หรือสันโดษตัน) คือ
๑) สันโดษในวัตถุเสพ ซึ่งจบลงที่ความสุข นำไปสู่ความเกียจคร้านและความประมาท
๒) สันโดษในสิ่งดีงามสร้างสรรค์ ซึ่งทำให้หยุดหรือเฉื่อยลง นำไปสู่ความประมาทเช่นเดียวกัน
ข. ไม่สันโดษที่ผิด คือ
๑) ไม่สันโดษในวัตถุเสพ ทำให้ละทิ้งหรือไม่ใส่ใจกิจหน้าที่และการสร้างสรรค์สิ่งดีงาม

๒. ความสันโดษ และความไม่สันโดษ ที่ถูกต้อง
ก. สันโดษที่ถูก (สันโดษแท้ หรือสันโดษเดินหน้า) คือ
๑) สันโดษในวัตถุเสพ เพื่อออมเวลา แรงงาน และความคิดไปใช้ในการทำกิจหน้าที่ทำสิ่งดีงามสร้างสรรค์
ข. ไม่สันโดษที่ถูก คือ
๑) ไม่สันโดษในกุศลธรรม คือ ไม่รู้อิ่ม ไม่รู้พอในการทำกิจหน้าที่ทำสิ่งดีงามสร้างสรรค์

เมื่อจัดสรรความเป็นอยู่ลงตัวดีด้วยสันโดษแล้ว
ก็พร้อมที่จะก้าวแน่วไปในทางของงานและการสร้างสรรค์

ลักษณะทั่วไปของการปฏิบัติในพุทธศาสนา คือต้องก้าวต่อไปจนกว่าจะบรรลุจุดหมายสูงสุด เราจะเห็นปฏิปทาของพระโพธิสัตว์ ว่าเป็นปฏิปทาของการที่ว่า เมื่อตั้งใจบำเพ็ญความดีอะไรแล้ว จะไม่ยอมระย่อท้อถอย จะทำเต็มที่ เรามีคติโพธิสัตว์ไว้เตือนใจให้เกิดกำลังใจที่จะทำความดีอย่างเข้มแข็ง ไม่ท้อถอย แต่ตอนหลัง เมื่อพระพุทธศาสนาล่วงไปได้พันกว่าปี ก็เกิดคติโพธิสัตว์แบบใหม่ซึ่งทำให้พลิกคติโพธิสัตว์กลับตรงข้ามไปเลย

คติโพธิสัตว์แบบเดิมถือว่า พระพุทธเจ้าจะมาเป็นพระพุทธเจ้าได้ ต้องบำเพ็ญบารมี คือบำเพ็ญความดีอย่างเยี่ยมยอด ยวดยิ่ง ไม่ยอมย่อท้อในการฝึกตนให้ก้าวไปในความดีด้วยความเข้มแข็งและเสียสละ ยอมสละได้แม้กระทั่งชีวิต คติโพธิสัตว์แบบแท้ของเดิมนี้ก็คือการให้กำลังใจแก่ชาวพุทธในแง่ที่เป็นแบบอย่าง ว่าเราต้องทำการสร้างสรรค์ความดีอย่างเข้มแข็ง ถ้าบังเอิญเราท้อใจในการทำความดี ก็จะได้ดูจริยาวัตรของพระโพธิสัตว์ แล้วเราก็จะได้กำลังใจขึ้นมาว่า พระพุทธเจ้าเจอหนักกว่าเราเยอะ ท่านยังสู้ เราเจอแค่นี้จะไปท้อทำไม แล้วเราก็จะฮึดสู้ต่อไป

แต่ตอนหลัง เมื่อพระพุทธศาสนาล่วงไปราวพันปี ได้เกิดมีแนวคิดที่จะไปสนองความต้องการแบบรอเทพบันดาล ทำนองเดียวกับเทพเจ้าของศาสนาพราหมณ์ที่มาบันดาลผลประโยชน์ให้แก่มนุษย์

จุดเริ่มอยู่ที่ว่า ในสมัยต่อมาเมื่อพุทธศาสนาต้องแข่งกับศาสนาพราหมณ์ ในศาสนาพราหมณ์เขามีเทพเจ้าไว้ให้คนอ้อนวอนขอความช่วยเหลือ ชาวพุทธบางกลุ่มก็มานึกถึงลักษณะของพระโพธิสัตว์และพระพุทธเจ้าว่าทรงมีความกรุณาต่อเพื่อนมนุษย์ และพยายามช่วยเหลือ พระโพธิสัตว์นั้นจะช่วยเหลือใครแม้แต่สละชีวิตของตนก็ยอมได้ ทีนี้ก็เอาคตินี้มาเทียบกับลัทธิอ้อนวอนเทพเจ้าของพราหมณ์ว่า อ้อ พวกฮินดูเขามีเทพเจ้าไว้ คุณมีเรื่องเดือดร้อนก็ไปหาเทพเจ้า ไปอ้อนวอนท่าน ท่านจะมาช่วย ทีนี้ชาวพุทธเรามีพระโพธิสัตว์ ที่มีเมตตากรุณา ช่วยเหลือผู้อื่นเต็มที่ เมื่อเรามีพระโพธิสัตว์ไว้คอยช่วยแล้วเราก็ไปหาพระโพธิสัตว์อ้อนวอนให้ท่านช่วย นี่คือคติพระโพธิสัตว์แบบใหม่ ซึ่งได้วิวัฒนาการมาเป็นคติอ้อนวอน เช่นอย่างเจ้าแม่กวนอิม ซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์แบบใหม่ กวนอิมเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. ราวหกร้อยกว่าปี มีชื่อเดิมว่าพระอวโลกิเตศวร

ถ้าคนไทยไปถือคติโพธิสัตว์แบบหลังนี้ก็น่ากลัว จะอ่อนแอลง คติโพธิสัตว์แบบเดิมแท้ต้องการให้คนได้ตัวอย่างของการบำเพ็ญความดีอย่างเข้มแข็ง ไม่ระย่อท้อถอย และได้กำลังใจจากพระโพธิสัตว์ แต่ตอนนี้กลายเป็นว่า เราเห็นว่าพระโพธิสัตว์เป็นนักช่วยเหลือคน มีมหากรุณา เราก็เข้าไปขอให้ท่านช่วย ฉะนั้นจะต้องระวัง ถ้าจะใช้คติพระโพธิสัตว์แบบพระอวโลกิเตศวรกวนอิม ก็ต้องใช้ในแง่ว่าท่านเป็นโพธิสัตว์บำเพ็ญความดีอย่างไร เราจะต้องทำความดีอย่างเข้มแข็งเสียสละตามแบบท่าน ถ้าอย่างนี้จึงจะไม่เสีย

กลับมาเรื่องเก่า เมื่อกี้เราพูดเรื่องสันโดษ สรุปว่า สันโดษที่แท้จะเป็นตัวหนุนในกระบวนการของไตรสิกขา เมื่อสันโดษต่อวัตถุเสพแล้วจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง

๑. เมื่อคนมีวัตถุเสพพอสมควร สมแก่อัตภาพของตัวเอง ซึ่งได้มาเป็นของตนโดยสุจริตแล้ว เขาก็มีความสุข เป็นอันว่าสุขจากวัตถุก็ได้แล้ว ตรงข้ามกับคนไม่สันโดษที่สุขจากวัตถุก็ยังไม่ได้ เพราะความสุขอยู่กับสิ่งที่ยังไม่ได้

๒. เขาสงวน หรือออมเวลา แรงงาน และความคิดเอาไว้ได้ แล้วก็เอาเวลา แรงงาน และความคิดนั้นไปทุ่มเทให้กับการเพียรพยายามในกุศลธรรม ด้วยการบำเพ็ญความดี แสวงหาความรู้ หรือทำการสร้างสรรค์ต่างๆ เพื่อสนองฉันทะที่ว่าเมื่อกี้ ซึ่งสอดคล้องกับการไม่สันโดษในกุศลธรรม

๓. เมื่อไปทำงาน ทำหน้าที่ สร้างสรรค์ ทำกุศลธรรม ก็ถูกใจ เต็มใจ และตั้งใจทำ เพราะทำด้วยความรัก ที่อยากจะทำอยู่แล้ว ก็มีความสุขจากการทำงาน ผลดีแก่ชีวิตก็เกิดขึ้น คือตัวเองก็มีความสุข และผลดีแก่ส่วนรวมก็เกิดขึ้น คืองานการก็สำเร็จผลด้วยดี ประโยชน์ที่ต้องการในการแก้ไขปัญหาและสร้างสรรค์สังคมก็สำเร็จด้วยดี

ย้ำว่า ขออย่างเดียวอย่าสันโดษตัน ชนิดที่พอใจสบายแล้ว ทุกข์ไม่บีบก็ไม่ดิ้น เอาแต่นอนเสวยสุข ไม่ใช้โอกาสให้เป็นประโยชน์ในการที่จะก้าวต่อไป

เป็นอันว่า เมื่อปฏิบัติธรรมถูกต้องตามหลักการที่แท้แล้ว ผลดีก็สอดคล้องกันหมด ไม่มีอะไรขัดแย้งกันเลย สันโดษนี้ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง

ในวัฒนธรรมของเราถือว่า ผู้ที่เป็นครูอาจารย์จะต้องมีชีวิตแบบสันโดษ แต่สันโดษในความหมายที่ว่า เพื่อจะได้ทำหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์


ถึงจะมีคุณสมบัติที่ดี เมื่อใช้ไม่เป็น ก็ถ่วงพัฒนา
แต่ถ้าใช้เป็น ก็ยิ่งมองเห็นทางเจริญก้าวหน้า

เมื่อกี้บอกแล้วว่า ในเมืองไทย เรามักใช้ธรรมในเชิงเพื่อจะได้สบายแล้วก็หยุด เช่น สันโดษแล้วจะได้มีความสุข ทำสมาธิเพื่อจะได้มีความสุขสงบ จบแค่นั้น เราเป็นอย่างนี้กันมาก จึงได้ประโยชน์จากธรรมเพียงส่วนหนึ่ง แต่โทษที่ตามมาอาจจะมาก และอาจจะไม่คุ้ม

ถึงเวลาที่จะต้องมาทำความเข้าใจกันใหม่ให้ถูกต้อง จะต้องย้ำกันว่า ธรรมหรือข้อปฏิบัติแต่ละอย่างมิใช่เพื่อให้สุขสบายแล้วก็หยุดหรือจบเท่านั้น แต่เพื่อช่วยส่งให้ก้าวต่อไปได้ในกระบวนการคืบเคลื่อนไปข้างหน้าของชีวิต ในด้านพฤติกรรมบ้าง ด้านจิตใจบ้าง ด้านปัญญาบ้าง ที่เรียกว่าไตรสิกขา และความสุขสบายที่เกิดขึ้นในระหว่างการปฏิบัตินั้น ก็จะต้องมองความหมายและใช้ให้ถูกต้อง

ทุกข์ หรือปัญหา มีโทษที่ว่ามันบีบคั้น ทำให้ติดขัด คับข้อง ทำอะไรๆ ไม่สะดวก แต่เพราะความบีบคั้นนั่นแหละจึงทำให้คนดิ้นรนเพื่อหาทางออก หรือให้พ้นออกไป ทุกข์จึงทำให้เกิดแรงหรือพลังดิ้น ซึ่งเอาไปใช้ประโยชน์ได้

ส่วนความสุข เป็นภาวะที่พ้นไปจากทุกข์ ทุกข์ระงับไป ไม่มีอะไรบีบคั้น สงบลงได้ จึงทำให้หยุดดิ้นรน แม้จะดี แม้จะสบาย แต่ก็ทำให้โน้มเอียงไปในทางที่จะหยุด เอื่อย เนือย หรือเฉื่อยชาลง และสยบพลัง ถ้าไม่ระวังให้ดีก็จะเกิดโทษ จึงต้องมองให้ถูกต้องตามความหมายทางธรรม

“สุข” แปลว่า สะดวก คล่อง ง่าย หมายความว่า ในภาวะที่สุขนั้น ไม่มีอะไรบีบคั้น ติดขัด คับข้อง จะทำอะไรก็ทำได้สะดวก ทำได้ง่าย ทำได้คล่อง ความสุขจึงเป็นสภาพคล่อง หรือสภาพเอื้อสำหรับการที่จะทำหรือก้าวต่อไป สุขจึงไม่ใช่เพื่อหยุด แต่เพื่อทำได้สะดวก ความสุขจึงมาช่วยหนุนการก้าวหน้าต่อไปในการพัฒนาชีวิตตามหลักไตรสิกขานั้น

หันกลับมาดูพวกเราในสังคมไทย แม้แต่ปลงอนิจจังเราก็คิดแค่ว่า พระพุทธเจ้าสอนว่า ความจริงของกฎธรรมชาติมีอยู่ว่า สิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เมื่อไม่เที่ยง สิ่งทั้งหลายเกิดแล้วก็ต้องดับ เจริญแล้วก็ต้องเสื่อม เพราะฉะนั้นจึงเป็นธรรมดาของมัน อย่าไปคิดอะไรมาก เมื่อเกิดการพลัดพราก เกิดการสูญเสีย ก็ปลงใจได้ เรียกว่าปลงอนิจจัง ก็ได้ผล คือจิตใจเป็นสุข แต่ทำให้หยุด

ขอให้พิจารณาตรวจดูให้ชัดว่า อนิจจังนั้นพระพุทธเจ้าสอนไว้เพื่ออะไรแน่ ถ้าไปดูในคำสอนของพระพุทธเจ้าจริงๆ พระพุทธเจ้าสอนอนิจจังไว้กับความไม่ประมาท แม้แต่ตอนที่จะปรินิพพาน พระองค์ตรัสปัจฉิมวาจาว่า “วยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ”

ในพุทธพจน์นี้ ท่อนแรกทรงปรารภความจริงว่า “วยธมฺมา สงฺขารา” สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา นี่คือ อนิจจัง ต่อจากนั้นในท่อนหลัง ทรงแนะนำการปฏิบัติให้สอดคล้องหรือได้ประโยชน์จากความจริงนั้นว่า “อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ” (เพราะฉะนั้น) จงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม

นี่คือความสัมพันธ์ระหว่างความไม่ประมาทกับความเป็นอนิจจัง ที่ไหนพระพุทธเจ้าตรัสถึงความจริงของธรรมชาติที่ไม่เที่ยงไว้ ก็จะตรัสข้อปฏิบัติของมนุษย์คือความไม่ประมาท เพราะอะไร เพราะสิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง โลกและชีวิตเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ชีวิตของเราก็เปลี่ยนแปลง สิ่งทั้งหลายรอบตัวเราก็เปลี่ยนแปลง มันไม่รอเรา ตัวเราก็ไม่ได้คงอยู่ตลอดไป เพราะฉะนั้นเราจะมัวนิ่งนอนใจอยู่ไม่ได้ จะทำอะไรก็รีบทำ มีสิ่งที่ดีงามเป็นประโยชน์ ความดีอะไร ประโยชน์อะไรที่ชีวิตพึงเข้าถึง พึงบรรลุ มนุษย์จะต้องรีบขวนขวาย อนิจจังจึงสัมพันธ์โดยตรงกับความไม่ประมาท แต่คนไทยเอาอนิจจังมาใช้แค่ปลง วางใจได้แล้วก็อยู่สบายดี แสดงว่า เราปฏิบัติธรรมบกพร่องหรือครึ่งๆ กลางๆ

ที่ว่านี้หมายความว่า ที่จริงท่านสอนตามลำดับขั้นว่า อนิจจังเป็นเรื่องของกฎธรรมชาติ เป็นความจริงของธรรมชาติ ส่วนความไม่ประมาทเป็นข้อปฏิบัติของมนุษย์ สองขั้นนี้สัมพันธ์ต่อเนื่องกัน คือ เมื่อความจริงเป็นอย่างนี้ เราจะปฏิบัติหรือดำเนินชีวิตอย่างไร นี่คือจริยธรรมสัมพันธ์กับสัจธรรม

ก่อนที่จะดำเนินชีวิต คือปฏิบัติจริยธรรมได้ถูกต้อง ก็ต้องรู้ว่าความจริงคือสัจธรรมเป็นอย่างไร ฉะนั้นจริยธรรมในทางพุทธศาสนา จะต้องอิงอยู่บนสัจธรรมโดยตลอด คือโยงต่อกันว่าเพราะความจริงเป็นอย่างนี้ เราจึงต้องทำอย่างนี้ (จึงจะเกิดผลดีแก่ชีวิตของเรา หรือว่าเราจึงจะได้ประโยชน์จากความจริงนั้น) เมื่อมีสัจธรรมว่าสิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง เราก็มีการปฏิบัติเชิงจริยธรรม ๒ ขั้น คือ

๑. ขั้นปรับความรู้สึก หรือขั้นทำใจ เราต้องรู้ทันความจริงของสิ่งเหล่านั้น เพื่อจะได้ปฏิบัติต่อมันได้ถูกต้องด้วยความรู้ความจริงนั้น จะได้ไม่เป็นอยู่หรือทำอะไรเพียงด้วยความอยาก เรารู้ว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน มันไม่ได้เป็นไปตามความอยากของเรา เราจะเอาความอยากของเราไปบังคับมันย่อมไม่สำเร็จ เพราะมันไม่เป็นไปตามความอยากของเรา แต่มันเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน เพราะฉะนั้นเราจะต้องใช้ปัญญาศึกษาให้รู้เหตุปัจจัย แล้วไปทำไปแก้ไขที่เหตุปัจจัยนั้นๆ เมื่อเข้าใจอย่างนี้ (=มีความเข้าใจถูกต้อง คือมีสัมมาทิฏฐิ)แล้ว จะได้อะไร

ในขั้นแรก เมื่อรู้ความจริงแล้วก็จะได้ไม่เอาแต่ความอยากของตัวเองเข้าว่า และจะวางใจได้หายทุกข์หายบีบคั้นกดดันภายใน เพราะฉะนั้นการรู้เท่าทันความจริงของกฎธรรมชาติ คือ อนิจจังนั้น ขั้นที่ ๑ ก็ทำให้เราสบายใจ ปลงใจได้ ไม่ทุกข์ หรือว่าทุกข์น้อยลง หรือระงับทุกข์ได้ ขั้นที่ ๑ นี้ เป็นขั้นของการใช้ปัญญารู้เท่าทันเพื่อทำจิตใจให้เป็นอิสระ หรือเพื่อรักษาอิสรภาพของจิตใจ แต่ไม่ใช่หยุดแค่นั้น

๒. ขั้นปฏิบัติ หรือขั้นทำการ เรารู้ด้วยว่า การที่สิ่งทั้งหลายเปลี่ยนแปลงไป มีความเกิดดับ เจริญและเสื่อมนั้น มันไม่ได้เปลี่ยนแปลงหรือเป็นไปโดยเลื่อนลอย แต่เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย นี่เป็นหลักที่สำคัญอย่างยิ่ง เมื่อสิ่งทั้งหลายเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย ถ้าเราอยากให้เจริญเราก็ต้องศึกษาเหตุปัจจัยแห่งความเจริญ เมื่อรู้เหตุปัจจัยของความเจริญแล้วก็ทำเหตุปัจจัยของความเจริญ ถ้าเราไม่ต้องการความเสื่อม เราก็ต้องศึกษาเหตุปัจจัยของความเสื่อม เมื่อมีปัญญารู้แล้วก็ป้องกันแก้ไขกำจัดเหตุปัจจัยของความเสื่อม แล้วเราก็จะสามารถเจริญได้โดยไม่เสื่อม ขั้นที่ ๒ นี้ เป็นขั้นของการใช้ปัญญาทำการให้ตรงกับเหตุปัจจัย

ตามหลักที่ว่ามานี้จึงพูดได้ว่า เมื่อเราไม่ประมาท เราก็สามารถเจริญได้โดยไม่เสื่อม ขอให้ดูตัวอย่างหลักอปริหานิยธรรม ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสว่า ถ้าปฏิบัติตามนั้น จะหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม

บางคนอาจจะสงสัยว่า พระพุทธเจ้าตรัสอย่างไร ด้านหนึ่งว่าอนิจจัง สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นแล้วต้องดับไป เมื่อเจริญแล้วก็ต้องเสื่อมสิ ทำไมพระพุทธเจ้าตรัสว่าถ้าเธอปฏิบัติอย่างนี้ มีแต่เจริญ ไม่มีเสื่อม พระพุทธเจ้าตรัสขัดกันไหม ตอบว่าไม่ขัด แต่หนุนกันด้วย เพราะคำว่า “เจริญ” หรือ “เสื่อม” นี้

๑. เป็นคำที่แสดงถึงภาวะที่มีความเปลี่ยนแปลงอยู่ในตัว โดยไม่ต้องมีคำอื่นมาต่อ ไม่ใช่เป็นคำที่แสดงภาวะหยุดนิ่ง

๒. เป็นคำของมนุษย์ที่พูดเอาในความหมายที่วัดด้วยความต้องการของตน คือถ้าเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เป็นผลดีแก่ตน ก็เรียกว่า เจริญ ถ้าเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เป็นผลเสียแก่ตน ก็เรียกว่า เสื่อม

ที่จริงนั้น เจริญก็เปลี่ยนแปลง เสื่อมก็เปลี่ยนแปลง เจริญแล้วเจริญต่อไปก็เปลี่ยนแปลง เจริญแค่นี้แล้วเจริญยิ่งขึ้นไปก็เปลี่ยนแปลง เจริญแล้วเสื่อมก็เปลี่ยนแปลง เสื่อมแล้วเสื่อมต่อไปก็เปลี่ยนแปลง เสื่อมแล้วเสื่อมลงไปอีกก็เปลี่ยนแปลง เสื่อมแล้วเปลี่ยนเป็นเจริญก็เปลี่ยนแปลงทั้งนั้น จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไหน ก็อยู่ที่ว่าจะมีเหตุปัจจัยให้มันเปลี่ยนแปลงอย่างไร ซึ่งเมื่อเรารู้แล้ว เราก็ทำเหตุปัจจัยที่จะให้มันเป็นไปอย่างนั้น

ปัญญาที่รู้ความเปลี่ยนแปลงตามเหตุปัจจัย ทำให้เราได้ประโยชน์ ๒ ขั้น

๑. เราอยู่ด้วยความรู้หรือด้วยปัญญารู้เท่าทัน ทำให้ใจเป็นอิสระ ไม่มีความทุกข์ นี่คือ ปลงอนิจจังได้

๒. เราสามารถปฏิบัติการด้วยความไม่ประมาท แล้วสร้างความเจริญป้องกันความเสื่อมได้

ปัญหาอยู่ที่ว่าชาวพุทธไทยเราใช้อนิจจังขั้นเดียว ขั้นว่าปลงได้แล้วสบาย ก็เลยจบกัน

รวมความว่า เรื่องอนิจจัง เรื่องสันโดษ เรื่องสมาธิ เป็นตัวอย่างของการปฏิบัติครึ่งๆ กลางๆ ที่นำเอาธรรมมาใช้กันผิดพลาด

โดยเฉพาะสมาธิเดี๋ยวนี้ต้องระวังมาก คือมักใช้กันแบบที่ทำให้หยุด เฉื่อยชา เป็นยากล่อม เช่นมีปัญหาจิตใจมาก นอนไม่หลับ มีความทุกข์ พอได้สมาธิมาช่วยให้สบาย หายทุกข์ หายกลุ้ม หายกังวล นอนหลับได้ ก็เอาแค่นั้น แล้วยิ่งกว่านั้น พอใจสบายแล้ว ก็ปล่อยปัญหาข้างนอกไว้ ไม่กระตือรือร้นที่จะแก้ไขดำเนินการเลยจบ สมาธิก็เลยไม่เป็นปัจจัยส่งต่อในกระบวนการพัฒนามนุษย์คือ ไตรสิกขา ไม่ส่งผลแก่ปัญญา แล้วยังแถมทำให้เกิดความประมาทอีกด้วย

จะต้องระลึกไว้ว่า ประโยชน์ของสมาธิอยู่ที่ทำให้จิตเป็นกัมมนีย์ แปลว่าทำให้จิตเหมาะแก่การใช้งาน เมื่อจิตเหมาะแก่การใช้งานก็เอาจิตไปใช้ เช่นในการคิด ในการพิจารณาทางปัญญา เพื่อส่งผลให้เดินหน้าในไตรสิกขาต่อไป

ศึกษาจุดที่พลาดให้ชัดแล้วแก้ไข
สังคมไทยก็จะพัฒนาได้อย่างยั่งยืน

เป็นอันว่า เมืองไทยที่ผ่านมานี้ ในเรื่องความอยากก็ผิด ฉันทะหายไป เมื่อเหลือแต่ตัณหาก็ต้องให้กำจัดมัน หรือมิฉะนั้นก็ต้องปลุกเร้า เลยมาเถียงกันอยู่แค่นี้ มองได้แค่ว่าความอยากคือ ตัณหา แล้วพวกหนึ่งก็ว่าถ้าไม่มีตัณหา เดี๋ยวประเทศไม่พัฒนา การพัฒนาก็เลยกลายเป็นการหมักหมมปัญหาจนแทบจะล่มจม อีกพวกหนึ่งก็ว่าอย่าไปมีตัณหา แต่แล้วก็นอนสบายตกอยู่ในความประมาท ทั้งสองฝ่ายผิดทั้งนั้น ผิดแบบสุดโต่งสองข้าง เนื่องจากขาดความเข้าใจ

เมื่อไม่รู้จักฉันทะก็ไปปลุกเร้าผิด คือไปปลุกเร้าตัณหา สมัยก่อนพลาดมาครั้งหนึ่งแล้ว คราวนี้ก็กำลังผิดอีก สุดโต่งทั้งสองสมัย ในยุคก่อน ก็ปลุกเร้าคนให้ทำความดีด้วยมานะ ดังที่มีคำพูดเหลือร่องรอยให้เราเห็นอยู่ คือชอบปลุกใจเด็กว่า ตั้งหน้าตั้งตามานะพากเพียรเรียนไปนะ ต่อไปจะได้เป็นใหญ่เป็นโต เป็นเจ้าคนนายคน นี่คือใช้ความอยากใหญ่ใฝ่อำนาจมายุคน ถึงเวลาที่คนไทยจะต้องติติงกันเอง อย่ามัวปกป้องตัวเอง จะได้แก้ไขได้

มานะ นี้เป็นกิเลส แต่คนไทยนำมาใช้เป็นดีไปได้ และกลายความหมายเป็นเพียรพยายาม มานะกลายเป็นความเพียร เป็นไปได้อย่างไร แปลบาลีเป็นบาลี มานะแปลว่า เกตุกัมยตา คล้ายๆ กับเมื่อกี้นี้ ฉันทะ = “กัตตุกัมยตา” แปลว่า อยากจะทำ แต่ มานะ = “เกตุกัมยตา” แปลว่า อยากจะเป็นดุจธง ก็คืออยากเด่นอยากใหญ่

แต่ก่อนนี้คนไทยกระตุ้นเร้าปลุกใจกันว่า ให้อยากใหญ่ อยากโต อยากเป็นเจ้าคนนายคน แล้วจะได้เพียรพยายามเล่าเรียนทำการทำงาน ตัวที่อยากใหญ่อยากโตก็คือมานะ มานะเป็นตัวกระตุ้น คือ ให้อยากใหญ่อยากโต แล้วจะได้เพียรพยายาม เราใช้มานะเป็นเหตุของความเพียร แต่ไปๆ มาๆ ตัวมานะกลายความหมายเป็นความเพียรไปเอง คนไทยจะพูดควบคู่กันไปว่ามานะพากเพียรเรียนไปเถิด ฉะนั้น มานะก็เปลี่ยนความหมายเป็นเพียรพยายาม

แม้แต่พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ก็ให้ความหมายไว้นัยหนึ่งว่า มานะ แปลว่า ความเพียร แต่ตามความหมายที่แท้จริงนั้นแปลอย่างนี้ผิดเต็มที่ มานะที่คนไทยเอามาใช้ปลุกเร้าคนให้เพียรพยายาม ก็คืออยากใหญ่โต อยากเป็นเจ้าคนนายคน

ต่อมาถึงยุคนี้ ความนิยมอยากใหญ่อยากโต เช่นเป็นข้าราชการ เป็นขุนนางอะไรนี่ชักน้อยลงไป ก็มาเน้นการได้ผลประโยชน์ พอเน้นผลประโยชน์ก็คือมาเน้นตัณหา เช่น อยากให้มีรายได้ดี อยากจะมีของฟุ่มเฟือยใช้ เด็กนักเรียนพอเข้าเรียนเป็นนิสิตนักศึกษาปี ๑ ก็คุยกันว่า เราเรียนจบแล้ว จะไปมีบ้านใหญ่ๆ กี่ล้านบาท จะมีรถยนต์ยี่ห้อนั้นยี่ห้อนี้ ที่หรูหราโก้ที่สุด เดี๋ยวนี้เขาคุยกันแบบนี้ แสดงว่าตัณหามาเร้า เท่ากับว่าเราไม่มีหลักเพราะเราหาตัวเร้าที่ถูกต้องไม่ได้ คือหลงลืมมองข้ามฉันทะ ก็เลยต้องมาใช้มานะและตัณหา รวมแล้วก็อยู่ในเรื่องกิเลส ถ้าอย่างนี้สังคมจะไปรอดได้อย่างไร เพราะมีแต่จะเอาเพื่อตัวเองทั้งนั้น ตัณหาใฝ่เสพ ก็มุ่งทรัพย์ เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง มานะก็มุ่งอำนาจ เพื่อความยิ่งใหญ่ของตัวเอง

ถึงเวลาจะต้องกลับไปสู่ฐานที่แท้คือฉันทะ ไม่ใช่เฉพาะครูอาจารย์ ตั้งแต่นักเรียนตัวเล็กๆ การศึกษาทั้งหมด ตั้งแต่ในครอบครัว จะต้องสร้างฉันทะนี้ให้ได้ ถ้าสร้างฉันทะความอยากที่เป็นกุศลขึ้นมาได้ ก็จะเจริญพัฒนาได้ถูกต้อง

เป็นอันว่า สังคมไทยขณะนี้ จุดที่ต้องแก้ทั้งหมด คือ

๑. การที่ไม่รู้จักฉันทะ ฉันทะหายไป เอาตัณหามานะมาแทน จึงพลาดหมด

๒. สันโดษก็ตัน ไปจบที่สุขแล้วก็นอนสบายอย่างที่ว่า

๓. กรุณาที่พูดถึงก่อนนี้ก็ใช้พลาด ไม่ครบชุดของมัน

การปฏิบัติธรรมที่ผิดพลาดนี้ เกิดจากความเคลื่อนคลาดบกพร่อง ๓ แบบ คือ

๑. แบบขาดไปเลย ดังเช่น ฉันทะ

๒. แบบตัน คือ ไม่เชื่อมโยง ไม่อยู่ในระบบความสัมพันธ์ที่ส่งต่อไปข้างหน้า เช่น สันโดษ

๓. แบบไม่ครบถ้วน คือ ไม่ครบองค์รวม หรือไม่บูรณาการ เช่น เมตตากรุณา

ถ้าแก้ข้อบกพร่อง ๓ อย่างนี้ได้ ชีวิตและสังคมก็จะได้ประโยชน์จากธรรมอย่างแท้จริงตามที่มันควรจะได้ และสังคมไทยก็จะเจริญมั่นคงอย่างแน่นอน

- ๓ -
ความสัมพันธ์ในชุมชนทางวิชาการ

เมตตากรุณาแม้จะดีมาก
แต่ไม่พอที่จะทำชีวิตและสังคมให้ดีจริง

คนไทยใช้คำว่าเมตตากรุณามาก จนกลายเป็นถ้อยคำสามัญในภาษาไทย แต่เมตตากรุณาเป็นเพียงธรรมส่วนร่วมในระบบองค์รวมที่เป็นชุดซึ่งมี ๔ ข้อด้วยกัน อีก ๒ ข้อคือ มุทิตา และอุเบกขา ทั้งชุดสี่อย่างนี้เรียกว่า พรหมวิหาร ๔

ให้สังเกตว่า ตามปกติ ธรรมที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ จะตรัสเป็นชุด นี่คือระบบองค์รวม หรือบูรณาการ ซึ่งถ้าปฏิบัติไม่เต็มชุดอาจจะเกิดปัญหา เพราะความดีนั้นไม่ใช่ทำให้เกิดผลดีเสมอไป กุศลเป็นปัจจัยแก่อกุศลก็ได้ อกุศลก็เป็นปัจจัยแก่กุศลได้ อันนี้เป็นหลักสำคัญอย่างหนึ่ง ถ้าปฏิบัติไม่ครบ จะมีปัญหาทั้งในเชิงกุศลเป็นปัจจัยแก่อกุศล และในแง่ที่ว่า ไม่มีตัวคุม และเสียดุล ความดีต่างๆ ต้องมีขอบเขต และมีตัวมาดุล ถ้าขาดตัวดุลเสียแล้ว ความดีที่ดีเกินไป อาจจะกลายเป็นเสียไปเลย

เมตตากรุณาในสังคมไทยนี้เป็นปัญหา เนื่องจากใช้กันไม่ถูก เช่น ทำให้เกิดระบบอุปถัมภ์ เป็นต้น เพราะเราเน้นแต่เมตตากรุณา พูดกันแค่เมตตากรุณา ไม่ก้าวไปสู่มุทิตา ยิ่งอุเบกขาด้วยแล้ว ไม่รู้เรื่องเลย

การปฏิบัติธรรมต้องให้ครบชุดของมัน เมตตากรุณาเป็นคุณธรรมที่เกี่ยวกับการศึกษาและการบริหารโดยตรง ผู้บริหารจะต้องมีคุณธรรมชุดนี้ ครูอาจารย์ปฏิบัติหน้าที่ต่อลูกศิษย์ก็ต้องมีธรรมชุดนี้ พ่อแม่เลี้ยงดูลูกก็ต้องมีธรรมชุดนี้ แต่สังคมไทยเราเน้นแค่เมตตากรุณา จนกระทั่งกลายเป็นคำไทยสามัญที่คุ้นกันที่สุด แม้แต่เมตตากับกรุณาเองก็สับสน แยกไม่ออกว่าต่างกันอย่างไร จึงขอเน้นอีกครั้งหนึ่งในที่นี้ เรามาดูว่ามันเป็นองค์รวมครบชุดอย่างไร

คุณธรรมชุดนี้เป็นท่าทีของจิตใจต่อเพื่อนมนุษย์ ซึ่งแสดงออกต่อผู้อื่น ความหมายของมันจะชัดเมื่อเรามองดูสถานการณ์ที่ผู้อื่นประสบ เมื่อเขาประสบสถานการณ์อะไร เราจะต้องแสดงออกต่อเขาด้วยข้อไหน ถ้าตอบตรงนี้ได้ความหมายจะชัดมาก

สถานการณ์ที่ ๑ คือ สถานการณ์พื้นฐาน เมื่อคนอื่น เช่น นักเรียน หรือลูก หรือเพื่อนมนุษย์ เขาอยู่ดีเป็นปกติ เราก็มี เมตตา

เมตตานี่มาจากศัพท์ว่า มิตตะ แปลงอิเป็นเอ อะเป็นอา ก็เป็นเมตตา แปลว่า คุณสมบัติของมิตร คือ น้ำใจมิตร หรือความเป็นมิตรนั่นเอง ถ้าเป็นสันสกฤตก็เป็นไมตรี เรานำเมตตากับไมตรีมาใช้คนละความหมายในภาษาไทย แต่ที่จริงในภาษาเดิมเหมือนกัน เมตตานี้ใช้ในสถานการณ์ปกติ คือเมื่อเขาอยู่เป็นปกติ เราก็มีเมตตา มีความเป็นมิตร ปรารถนาดี อยากให้เขาเป็นสุข

สถานการณ์ที่ ๒ เมื่อเขาเปลี่ยนจากปกติลงไปในทางตกต่ำ คือตกทุกข์ได้ยากเดือนร้อน เราก็ย้ายจากเมตตาไปเป็นข้อที่สองคือ กรุณา ซึ่งแปลว่า พลอยหวั่นใจในทุกข์ของเขา ต้องการจะปลดเปลื้องเขาให้พ้นจากความทุกข์ ช่วยเขาให้เป็นอิสระ

สถานการณ์ที่ ๓ เขาขึ้นสูง ได้ดีมีสุข ประสบความสำเร็จ ทำสิ่งถูกต้องดีงาม เราก็ย้ายไปข้อที่สามคือ มุทิตา ได้แก่พลอยยินดีด้วยในความสุข ความสำเร็จ หรือความดีของเขา พร้อมที่จะส่งเสริมสนับสนุน ข้อนี้คนไทยไม่ค่อยเน้น เรื่องส่งเสริมคนดี เราไม่ค่อยพูดถึง แสดงว่าค่อนข้างบกพร่องในข้อมุทิตา

สถานการณ์ที่ ๔ ข้อนี้ยาก เพราะสามสถานการณ์ก่อนนี้ก็ดูเหมือนครบแล้ว หนึ่ง เป็นปกติ สอง ตกต่ำ สาม ขึ้นสูง แล้วจะมีอะไรอีก คนเราจะเป็นอย่างไร นอกจากปกติ นอกจากตกต่ำ นอกจากขึ้นสูง ทีนี้ สี่ เขาเป็นอย่างไร เอาที่เขาเป็นอย่างไร ไม่ต้องพูดถึงว่าเราจะทำอย่างไร คือมองดูที่เขาเป็นอย่างไรก่อนแล้วเราจึงจะทำอย่างไร ข้อนี้ยาก

ข้อสี่นี่เป็นหัวใจ เป็นตัวคุมให้ทุกอย่างพอดี เป็นตัวสร้างดุลยภาพ และเชื่อมโยงมนุษย์เข้ากับธรรม สามข้อแรกเป็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ หรือคนกับคน แต่มนุษย์ไม่ได้อยู่กับมนุษย์ด้วยกันอย่างเดียว ชีวิตของเรานี้มีสองด้าน

ด้านหนึ่ง เราอยู่กับคนด้วยกัน คือเพื่อนมนุษย์ที่เรียกว่าสิ่งแวดล้อมทางสังคม เรามีความสัมพันธ์ที่ดี เรามีเมตตา กรุณา มุทิตา ช่วยเหลือกันดี ก็อยู่กันด้วยดี มีความร่มเย็นเป็นสุข

อีกด้านหนึ่ง ชีวิตของเราอยู่กับความเป็นจริงของกฎธรรมชาติ อยู่กับความเป็นจริงของโลกและชีวิต แม้แต่ร่างกายของเรานี้ก็เป็นไปตามเหตุปัจจัยของธรรมชาติ เป็นไปตามกฎธรรมชาติ ซึ่งไม่ฟังใครทั้งสิ้น เป็นหน้าที่ของเราเองที่จะต้องรู้เข้าใจมัน และปฏิบัติตัวให้ถูกต้องสอดคล้องกับมัน ด้านนี้แหละที่สำคัญ ซึ่งเราจะมองข้ามหรือละเลยไม่ได้

ถ้าขาดอุเบกขา แม้แต่พ่อแม่ที่รักลูกมาก
ก็อาจจะใช้ความรักนั้นทำลายลูกโดยไม่รู้ตัว

เมตตา กรุณา มุทิตา นั้น มาช่วยในด้านที่หนึ่งที่ชีวิตของเราไปเกี่ยวข้องกับเพื่อนมนุษย์ แต่ด้านที่สอง ชีวิตของเราต้องเกี่ยวข้องกับความเป็นจริงของโลกและชีวิตที่เป็นไปตามกฎธรรมชาติ คือเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน ในด้านนี้คนจะต้องมีปัญญา รู้จักรับผิดชอบตัวเอง ที่จะดำเนินชีวิตให้ดีงามถูกต้องด้วยตนเอง จะรอให้คนอื่นมาช่วยไม่ได้

ในข้อ ๑-๒-๓ นั้น คนช่วยกันด้วยความรู้สึกที่ดีงาม แต่ข้อสี่ในความสัมพันธ์กับความเป็นจริงของโลกและชีวิตที่ไม่เข้าใครออกใครนั้น เราจะต้องปฏิบัติต่อมันให้ถูกต้อง โดยใช้ปัญญา ทุกคนจึงต้องรู้จักรับผิดชอบตนเอง ไม่ใช่รอการช่วยเหลือพึ่งพา

ยกตัวอย่างพ่อแม่เลี้ยงลูก ถ้าเอาแต่เมตตา กรุณา มุทิตา ก็ทำให้ลูกหมดทุกอย่าง แต่ลูกไม่ได้อยู่กับพ่อแม่หรืออยู่กับมนุษย์ด้วยกันอย่างเดียว อีกด้านหนึ่งชีวิตของลูกต้องอยู่กับความเป็นจริงของโลกและชีวิต เขาจะต้องไปมีชีวิตของเขาเองในโลก ในสังคม ซึ่งเขาจะต้องรับผิดชอบตัวเอง ปัญหาก็คือเขารับผิดชอบชีวิตของเขาเองได้หรือไม่ ถ้าเราเอาแต่ช่วยเขาด้วยเมตตากรุณามุทิตา เขาอาจจะไม่รู้จักทำอะไรให้เป็นด้วยตัวเอง และรับผิดชอบตัวเองไม่ได้ คือไม่สามารถพึ่งตนเอง ในระยะยาวพ่อแม่ไม่ได้อยู่กับเขาตลอดไป เขาจะต้องอยู่กับโลกแห่งความเป็นจริง ที่มันไม่เข้าใครออกใคร เขาจะต้องรับผิดชอบชีวิตของตัวเองให้ได้ ตอนนี้แหละที่ท่านให้ใช้ข้อสี่ คือ สามข้อแรกนี่พ่อแม่จะทำให้ลูก แต่ข้อสี่ พ่อแม่จะดูให้ลูกทำ ข้อสี่นี่แหละคืออุเบกขา

อุเบกขา แปลว่า คอยดู หรือดูอยู่ใกล้ๆ มาจาก อุป แปลว่า คอย หรือ ใกล้ๆ และอิกข แปลว่ามองดู อุเบกขาจึงแปลว่ามองดูอยู่ใกล้ๆ หรือคอยมองดู แต่ไม่ใช่ดูเปล่าๆ ดูให้เขาทำ คือตัวเองต้องใช้ปัญญาพิจารณาว่า ต่อไปลูกเราจะโต จะต้องหัดดำเนินชีวิตเองให้ได้ จะต้องรับผิดชอบตัวเองได้ จะต้องทำอะไรเป็นบ้าง เมื่อใช้ปัญญาพิจารณาเห็นแล้ว ก็มาฝึกให้ลูกทำ ให้เขาฝึกตัวเอง แล้วเราดูอยู่ใกล้ๆ ถ้าเขาทำไม่ถูก ทำไม่ได้ผล ทำผิด จะได้ช่วยแก้ไข แนะนำ จนเขาทำเป็นหรือทำได้ด้วยตนเอง

ถ้าเราไม่รีบใช้อุเบกขาเสียแต่บัดนี้ ต่อไปเราไม่ได้อยู่กับเขา พอเขาโตขึ้น เขารับผิดชอบตัวเองไม่เป็น ทำไม่เป็น เขาทำผิดเราก็ไม่มีโอกาสไปแก้ไข ไม่มีโอกาสจะช่วยแนะนำ เพราะฉะนั้น จึงต้องฝึกเขาตั้งแต่บัดนี้ ตรงนี้แหละ อุเบกขาจึงมา เพื่อให้เขามีโอกาสพัฒนาตัวเอง ไม่ใช่เอาแต่รักแล้วทำให้เขาหมดทุกอย่าง จนกลายเป็นว่าพ่อแม่ปิดกั้นการพัฒนาของลูก หรือถึงกับทำลายลูกด้วยความรักไม่เป็น อุเบกขานี่มากับปัญญา ต้องมีปัญญาจึงจะมี อุเบกขาได้ นี่แหละข้อสี่

“รัก” ต้องมี “รู้” มาเข้าคู่ให้สมดุล

ตามที่พูดมานี้จะเห็นว่า สถานการณ์ที่ ๔ ก็คือ สถานการณ์ที่มนุษย์สัมพันธ์กับมนุษย์ในกรณีที่ไปเกี่ยวข้องกับตัวธรรม

ธรรมคือความเป็นจริงของธรรมชาติ พูดอีกสำนวนหนึ่งว่าหลักการ หรือกติกาของธรรมชาติ คือ กฎธรรมชาติ ได้แก่ ความเป็นไปตามเหตุปัจจัย ความถูกต้องตามกฎเกณฑ์แห่งความเป็นเหตุเป็นผล ความสมเหตุสมผล หรือความสมควรตามเหตุและผล รวมทั้งสิ่งที่เรียกว่า ความเป็นธรรม หรือความชอบธรรม

จากหลักการหรือกฎของธรรมชาตินี้ มนุษย์เราก็มาบัญญัติระบบในสังคมของตน เพื่อให้มนุษย์ดำรงอยู่ในความดีงาม ก็เกิดเป็นหลักการหรือกฎในสังคมมนุษย์ กลายเป็นกฎหมาย กฎเกณฑ์ กติกา

เมื่อใดความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ไปส่งผลกระทบเสียหายต่อธรรม คือ ทำให้เสียหลักการแห่งความเป็นจริง ความถูกต้องดีงาม ความสมตามเหตุผล ความชอบธรรม ความเป็นธรรม เช่นผิดกฎหมาย หรือกติกาสังคม เราต้องหยุดช่วยเหลือ เพื่อให้เขารับผิดชอบต่อธรรม นี่คือ อุเบกขา เพราะฉะนั้น อุเบกขาจึงเป็นตัวคุมหมด ทำให้สามข้อแรกมีขอบเขต

เมตตา กรุณา มุทิตาจะเลยขอบเขตไม่ได้ เมื่อช่วยกันไปถ้าจะละเมิดหลักการ ละเมิดกติกา ละเมิดความเป็นธรรม ต้องหยุด เราเลยแปล “อุเบกขา” เป็นไทยว่า เฉย หมายความว่าเฉยต่อคนนั้น ในภาษาบาลีท่านอธิบายว่าไม่ขวนขวาย(ที่จะช่วย) เหมือนกับบอกว่าฉันไม่เอากะคุณละนะ

เราช่วยเหลือกันตลอดเวลา โดยมีเมตตา กรุณา มุทิตา แต่ถ้าจะทำให้เสียหลักการ เสียความเป็นธรรม ฉันต้องหยุด ฉันไม่เอากับคุณแล้วนะ กฎต้องเป็นกฎ ตรงนี้เรียกว่าอุเบกขา

อุเบกขา คือเฉยต่อคนนั้น เพื่ออะไร เพื่อไม่ละเมิด เพื่อไม่ก้าวก่ายแทรกแซงธรรม ธรรมจะออกผลอย่างไรต้องว่าไปตามนั้น ในขณะที่ เมตตา กรุณา มุทิตา รักษาคน แต่อุเบกขา รักษาธรรม

ที่จริง อุเบกขาก็เป็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันนั่นแหละ แต่ในกรณีนี้ความสัมพันธ์นั้นไม่อยู่แค่มนุษย์แล้ว แต่มันไปเกี่ยวข้องกับตัวธรรมด้วย คือไปเกี่ยวข้องกับหลักการ กฎเกณฑ์ กติกา ทั้งในธรรมชาติ และที่มาบัญญัติกันในสังคมมนุษย์

ฉะนั้น อะไรที่เป็นเรื่องที่เขาสมควรจะช่วยตัวเอง ควรรับผิดชอบตามความเป็นจริงของความเป็นเหตุเป็นผล เราไม่เข้าไปแทรกแซง ไม่ใช่ช่วยเรื่อยเปื่อย ต้องช่วยในขอบเขตของความสมเหตุสมผล และช่วยเฉพาะในขอบเขตที่ไม่ละเมิดธรรม ไม่ละเมิดกฎเกณฑ์ กติกาต่างๆ ฉะนั้น อุเบกขาจึงเป็นตัวคุม และรักษาดุล ให้การช่วยเหลือกันไม่เลยขอบเขตจนเสียธรรม

ถึงตอนนี้ คงจะประมวลคำอธิบายพรหมวิหารข้อสุดท้ายมาสรุปลงเป็นความหมายของอุเบกขาได้ว่า

สถานการณ์ที่ ๔ เมื่อเขาสมควรจะต้องรับผิดชอบการกระทำของตน (รวมทั้งฝึกหัดความรับผิดชอบนั้น) คือในกรณีที่ถ้าเราเข้าไปช่วยเหลือด้วยเมตตาก็ตาม กรุณาก็ตาม มุทิตาก็ตาม จะเป็นการละเมิดก่อความเสียหายต่อธรรม ต่อความจริงความถูกต้องดีงาม ความสมควรตามเหตุผล หรือทำลายหลักการ กฎ กติกาที่ชอบธรรม เราจะต้องตั้งตัวหรือวางตนอยู่ในอุเบกขา คือ หยุดการขวนขวายช่วยเหลือ เพื่อให้มีการปฏิบัติไปตามธรรม ตามหลักการ หรือตามกติกา โดยไม่เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซง

ในสังคมไทยเมื่อคนไม่รู้จักอุเบกขา ก็เฉย แต่กลายเป็นเฉยไม่รู้เรื่องรู้ราว เฉยไม่เอาเรื่องเอาราว และเฉยไม่ได้เรื่องได้ราว อย่างนี้ทางพระท่านมีศัพท์ให้ด้วย เรียกว่า อัญญาณุเบกขา แปลว่า เฉยโง่ ซึ่งเป็นอกุศล เป็นบาป คนไทยเรานี้ถ้าไม่ระวังให้ดีจะเฉยโง่กันมาก เฉยที่แท้ต้องเป็นเฉยด้วยปัญญา เพราะว่าอุเบกขานี้จะมีได้ต้องอาศัยปัญญา

สามข้อต้นนั้นหนักด้านความรู้สึก ในการพัฒนามนุษย์ด้านความรู้สึก ที่เรียกเพี้ยนกันไปว่าด้านอารมณ์นี้ เรามุ่งให้มีเมตตา กรุณา มุทิตา ซึ่งเป็นฝ่าย emotion ที่ดี แต่ emotion นี้จะต้องถูกคุมด้วยปัญญา มิฉะนั้น emotion คือด้านอารมณ์ หรือด้านความรู้สึก อาจจะเลยขอบเขตไม่ถูกต้อง และถ้าเราไม่มีปัญญาคุม เมื่อเราช่วยเขาไม่ได้ จิตใจเราจะร้อนรน กระวนกระวาย เป็นทุกข์ แต่พอปัญญาคือด้านความรู้มา ก็จะสร้างดุลยภาพ ทำให้จิตใจสงบ จึงต้องเอาความรู้มาคุมความรู้สึก ฉะนั้น พุทธศาสนาจึงไปจบที่ปัญญา

เหมือนอย่างที่พูดข้างต้นว่า ในการพัฒนาปัญญา เราเริ่มด้วยศรัทธาซึ่งเป็นฝ่ายความรู้สึก หรือ emotion แต่ต้องมีปัญญาเป็นจุดหมายและดำเนินไปโดยมีปัญญามาคุมศรัทธา ด้านรู้ต้องคุมด้านรู้สึก แล้วเมื่อปัญญาด้านรู้พัฒนาไป ก็จะพัฒนาด้านความรู้สึกให้เป็นกุศลยิ่งขึ้น เพราะด้านความรู้สึกนั้นมีฝ่ายอกุศล เช่น โกรธ เกลียด ชัง ริษยา ระแวง เห็นแก่ตัว เป็นต้น พอปัญญามาก็พัฒนาความรู้สึกคือ พวก emotion ให้มาเป็น emotion ที่ดี เป็นฝ่ายเมตตา กรุณา หรือความรัก เป็นต้น แต่แม้จะเป็นความรู้สึกที่ดีแล้วก็ต้องอยู่ในความควบคุมของปัญญา

เป็นอันว่า สามข้อต้นหนักในด้านความรู้สึก คือ ความรัก ส่วนข้อสี่หนักในด้านปัญญา คือ ความรู้ ต้องให้ปัญญานำเอาอุเบกขามาคุมความรู้สึกไว้

สามข้อแรกคือ เมตตา กรุณา มุทิตา ไม่ต้องใช้ปัญญา เพียงแต่มีความรู้สึกที่ดีก็พอ คือ เขาอยู่เป็นปกติเราก็รู้สึกรัก เขาทุกข์ร้อนเราก็รู้สึกสงสาร เขาได้ดีมีสุขเราก็รู้สึกยินดีด้วย แต่ในข้อสี่นี่ถ้าไม่มีปัญญาก็ปฏิบัติไม่ได้ เพราะต้องรู้ว่าอะไรเป็นเหตุเป็นผล อะไรเป็นความจริง อะไรเป็นความถูกต้อง อะไรเป็นหลักการ จึงจะปฏิบัติได้ ข้อสี่จึงต้องเน้นปัญญา และเป็นตัวที่สำคัญที่สุด ซึ่งจะสร้างดุลยภาพ หรือความพอดีให้เกิดขึ้น

เมื่อมีความรักโดยไม่ขาดความรู้ คือ ใช้เมตตากรุณาโดยมีปัญญามาโยงเข้ากับอุเบกขา ก็จะเกิดความสมดุลและความถูกต้องพอดี


สังคมทุกระดับ ตั้งแต่ครอบครัว
มักพัฒนาอย่างเสียดุล เพราะขาดบูรณาการ

ในสังคมที่ปฏิบัติธรรมไม่ครบ จะเกิดความเสียดุล สังคมที่มีเมตตากรุณามาก แต่ไม่รู้จักใช้อุเบกขา ก็จะเป็นสังคมที่มีน้ำใจมาก คนจะมีน้ำใจช่วยเหลือกันอย่างดี ซึ่งก็เป็นข้อดีอย่างหนึ่ง ทำให้จิตใจคนมีความอบอุ่น ชุ่มฉ่ำ ร่มเย็น มีความสุข สบาย แต่ผลเสียคืออะไร ถ้าไม่มีอุเบกขามาคุม ก็เสียดุล

๑. คนจะชอบหวังพึ่งผู้อื่น คือ คนจำนวนไม่น้อยในสังคมนี้ที่มีกิเลสของปุถุชน เมื่อหวังพึ่งผู้อื่นได้ว่าจะมีคนมาช่วย ก็จะไม่ดิ้นรนขวนขวาย เขาชอบคิดว่า ถ้าเราลำบาก ขาดแคลน ขัดสน ก็ไปหาผู้ใหญ่คนโน้น ไปหาญาติผู้นี้ หาเพื่อนคนนั้น เขาก็ต้องช่วยเรา ความที่คอยหวังความช่วยเหลือจากผู้อื่นอยู่เรื่อย ก็เลยไม่ดิ้นรนขวนขวาย ก็อ่อนแอ เพราะฉะนั้นสังคมที่มีน้ำใจ มักเสียดุลไปทางอ่อนแอ คนมักหวังพึ่งผู้อื่น ทำให้เฉื่อยชา ไม่กระตือรือร้นขวนขวาย และอาจจะตกอยู่ในความประมาท

๒. ไม่สามารถรักษาหลักการได้ เพราะคนจะช่วยกันจนกระทั่งละเมิดกฎหมายก็เอา ลองจะช่วยเสียอย่าง กฎหมายก็ไม่มอง ความเป็นธรรมก็ไม่เอาทั้งนั้น ช่วยกันอย่างเดียวจนเสียความเป็นธรรม และเสียหลักการ

ส่วนสังคมที่ขาดสาม หรือเพียงสองข้อต้น คือไม่มีเมตตากรุณา จะเป็นสังคมที่ไม่มีน้ำใจ คนไม่ค่อยช่วยเหลือกัน อุเบกขาจะขึ้นมาเด่น แต่อาจจะเป็นอุเบกขาแบบไม่มีปัญญาก็ได้ คือ เฉยไม่เอาเรื่อง ตัวใครตัวมัน ใครจะเป็นอย่างไรก็ช่าง พอมีปัญญาขึ้นมาหน่อยก็วางกติกาสังคมไว้ว่า แกจะทำอะไรก็เรื่องของแกนะ แกทำไปได้ตราบเท่าที่ไม่ละเมิดกติกาหรือกฎหมาย ถ้าแกละเมิดกฎเมื่อไร ฉันจัดการทันที แต่ถ้าไม่ละเมิดก็ปล่อยแกทำไป แต่ฉันไม่ช่วยนะ

ทีนี้คนที่ไม่มีใครช่วยนี่ เมื่อหวังพึ่งใครไม่ได้ ตัวใครตัวมัน ก็ต้องดิ้นสุดขีดสุดกำลัง เพราะถ้าไม่ดิ้นก็ไม่รอด จึงทำให้เข้มแข็งและก้าวหน้า และเพราะเอากติกา เอากฎหมาย หรือหลักการเป็นใหญ่ ก็รักษาหลักการและกฎกติกาได้ แต่เมื่อไปสุดโต่ง ก็กลายเป็นสังคมที่เอาแต่กฎเข้าว่า ไร้ชีวิตชีวา ไม่มีน้ำใจ

สังคมไทย นี่เน้นความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในข้อเมตตากรุณามาก ก็เสียดุล ทำให้อ่อนแอ แล้วก็ไม่สามารถรักษาหลักการและความเป็นธรรม ส่วนสังคมแบบอเมริกันก็ค่อนข้างขาดในด้านเมตตากรุณา คือขาดน้ำใจ และหนักในอุเบกขา ทำให้คนดิ้นรนแบบตัวใครตัวมัน จึงทำให้เข้มแข็ง และทำให้รักษาหลักการกติกาได้ แต่เป็นสังคมที่แห้งแล้ง เครียด จิตใจมีความทุกข์ ขาดความอบอุ่น ได้อย่างเสียอย่าง เพราะฉะนั้นเพื่อให้พอดีจึงต้องมีครบทั้งสี่ข้อ แต่ในระดับสังคมนี่แสนยากเหลือเกินที่จะพัฒนามนุษย์ให้มีครบทั้งสี่ข้อ มันก็เลยได้เว้าๆ แหว่งๆ ได้หนึ่งบ้าง ได้สองบ้าง ได้สามบ้าง ที่จะครบ ๔ อย่างพอดีได้ดุลนั้นหาได้ยาก

พ่อแม่ก็เหมือนกัน ถ้าพ่อแม่มีเมตตา กรุณา มุทิตา มาก แต่ไม่รู้จักใช้อุเบกขา ก็จะทำให้เด็กเติบโตขึ้นอย่างไม่สมบูรณ์ ทำให้เด็กรับผิดชอบตัวเองไม่ได้ ทำอะไรไม่เป็น ไม่รู้จักโต เพราะฉะนั้นจึงต้องไปโดนอุเบกขาจากที่อื่นมาช่วย ถึงจะเข้มแข็ง เช่นอยู่เมืองไทยนี้พ่อแม่ทำให้หมด ให้คนใช้ทำให้หมด ก็เลยทำอะไรไม่เป็น แต่พอส่งไปอยู่เมืองฝรั่ง โดนอุเบกขาของฝรั่งเข้า ตอนนี้เข้มแข็ง ทำเป็นทุกอย่าง ดังนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้นสังคมจะต้องได้ดุล โดยเฉพาะพ่อแม่นี่สำคัญที่สุด

พ่อแม่คนไทยนี่จะต้องเน้นด้านอุเบกขาให้มากขึ้น ว่าทำอย่างไรจะใช้ปัญญาให้มากขึ้น ลดด้านความรู้สึกลง และเติมด้านความรู้เข้าไป แต่ปัญญานี้ยาก มันไม่เหมือนความรู้สึก มันต้องคิดและพิจารณาว่า เออ อะไรที่ลูกของเราควรจะทำให้เป็น ควรจะฝึกรับผิดชอบ คิดแล้วมองเห็นแล้วก็มาดูให้เขาทำ ซึ่งจะเป็นการรักลูกระยะยาว ถ้ารักลูกมากด้วยเมตตา กรุณา มุทิตาเกินไป จะกลายเป็นว่ารักลูกระยะสั้น มองการณ์ใกล้ สายตาสั้น แล้วจะปิดกั้นการพัฒนาของเด็ก

เมตตากรุณาสามารถปิดกั้นการพัฒนาของเด็กได้ เพราะเมื่อไม่มีอุเบกขาก็ไม่เปิดโอกาสให้เด็กได้พัฒนา ฉะนั้นบางทีเด็กที่ถูกปล่อยถูกทิ้ง นี่แหละ ถูกอุเบกขาเข้าเต็มที่ ถ้าไม่เสียก็เก่งไปเลย เขาจะเข้มแข็ง จะช่วยตัวเองได้ดี แกร่งกล้า สามารถเจริญเติบโตงอกงามในสังคม

ควรจะยอมรับกันว่าดุลยภาพระหว่างธรรม ๔ ประการนี้เสียไปแล้วในสังคมไทย เพราะฉะนั้นตอนนี้จะต้องเน้นการปฏิบัติคุณธรรมชุดนี้ให้ครบชุดที่ว่า ต้องมีทั้งเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา โดยเฉพาะอุเบกขา เป็นตัวโยงปัญญามารักษาดุลยภาพไว้ให้เกิดความสมบูรณ์ในชีวิตและในสังคม ตั้งแต่ในครอบครัวเป็นต้นไป ยิ่งมาเป็นผู้บริหารก็ต้องมีครบ มิฉะนั้นก็จะเกิดความเอนเอียงเป็นอคติได้ ถ้าเมตตา กรุณา มุทิตา โดยมีอุเบกขากำกับอยู่ ก็จะดำรงรักษาความเป็นธรรมไว้ได้

 

เมื่อคนศึกษาและช่วยกันให้ศึกษาอย่างมีชีวิตชีวา
ชุมชนจึงจะมีบรรยากาศแห่งวิชาการ

เป็นอันว่าสังคมของเราจะต้องพยายามทำให้ได้ในหลักการสำคัญเหล่านี้ เราไม่จำเป็นจะต้องไปพูดถึงคุณธรรมปลีกย่อยมาก จับที่ตัวหลักขั้นรากฐานเหล่านี้ เช่นมีฉันทะตัวเดียวก็แทบจะแก้ปัญหาได้หมด แล้วคุณธรรมอื่นจะตามมาเป็นกระบวน ส่วนในเชิงปฏิบัติการก็อาจจะยกคุณสมบัติและวิธีปฏิบัติปลีกย่อยมาแนะนำเสริมเข้าไปให้ได้ผลยิ่งขึ้น โดยสอดคล้องกับแต่ละสถานการณ์ ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องพูดในที่นี้ เพราะตอนนี้เรามุ่งวางฐานกันให้ดีเสียก่อน โดยให้ตัวคนทำงานทางการศึกษาและทางวิชาการอย่างมีชีวิตชีวา และชุมชนก็มีบรรยากาศทางวิชาการ

จะเห็นว่าสองอย่างนี้สัมพันธ์กันอยู่ เพราะเมื่อเรามีคุณสมบัติอย่างนี้ เช่น มีฉันทะ ก็ทำให้มีการแสวงปัญญาอย่างแท้จริง ทำให้วิชาการมีชีวิตชีวา และเมื่อคนที่มีฉันทะมาอยู่ร่วมกัน ก็จะเป็นชุมชนทางวิชาการที่มีบรรยากาศทางวิชาการ เริ่มตั้งแต่มีจุดหมายร่วมกัน คือ ใฝ่รู้ ใฝ่แสวงความจริง แล้วใฝ่ทำให้มันดีขึ้น เมื่อชุมชนมีจุดหมายร่วมกัน คนก็จะเอื้อต่อกัน ซึ่งจะสร้างชุมชนแห่งกัลยาณมิตรขึ้นมา แค่นี้บรรยากาศแห่งการศึกษาและวิชาการก็เกิดขึ้น

ความมีกัลยาณมิตรและเป็นกัลยาณมิตรนี้เป็นคุณสมบัติที่เราต้องการข้อแรกทีเดียว เราต้องตั้งเป้าหมายว่าทำอย่างไรจะให้ชุมชนหรือสังคมของเราเป็นชุมชนแห่งกัลยาณมิตร คือคนที่อยู่ในชุมชนทางวิชาการ เช่นมหาวิทยาลัยนั้น จะต้องเป็นกัลยาณมิตรต่อกัน คือ เป็นปัจจัยหรือสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อกันในการศึกษา หรือในการพัฒนาทุกด้าน ครูก็เป็นปัจจัยเอื้อต่อการพัฒนาชีวิตของลูกศิษย์ ครูอาจารย์เองด้วยกัน และลูกศิษย์ต่อลูกศิษย์ด้วยกันก็เป็นปัจจัยเอื้อต่อกัน ผู้บริหารก็เป็นปัจจัยเอื้อต่อการเจริญงอกงามของครูอาจารย์และของทุกคนในชุมชน

ความเป็นกัลยาณมิตรของครูอาจารย์และผู้บริหาร
คือสาระของการสร้างชุมชนแห่งการศึกษา

ผู้บริหารและครูอาจารย์นั้น อยู่ในฐานะเป็นผู้นำ ที่เอื้อการศึกษาแก่ศิษย์และคนอื่นๆ ในชุมชน จึงเป็นแกนกลางของการสร้างชุมชนแห่งการศึกษา หรือชุมชนวิชาการ ซึ่งเป็นชุมชนแห่งกัลยาณมิตร ดังนั้น ผู้บริหารและครูอาจารย์ จึงควรมีคุณสมบัติแห่งความเป็นกัลยาณมิตร ที่ทางพระเรียกว่า กัลยาณมิตรธรรม ๗ ประการ

เมื่อผู้บริหารและครูอาจารย์มีเมตตา กรุณา และมุทิตา ที่พูดไปแล้ว โดยแสดงออกมาอย่างถูกต้องในความสัมพันธ์ภายในชุมชน ก็จะมีคุณสมบัติของกัลยาณมิตรข้อแรก คือ

๑. ปิโย แปลว่า “ผู้เป็นที่รัก” หรือ “น่ารัก” หมายความว่า เป็นผู้รู้จักเอาใจใส่ในตัวบุคคลและสุขทุกข์ของเขา เข้าถึงจิตใจ ให้ความรู้สึกสนิทสนมเป็นกันเอง ชวนใจผู้เรียนให้อยากเข้าไปปรึกษา ไต่ถาม

อย่างไรก็ตาม ปิโย เท่านั้นไม่พอ ปิโยนั้นได้มาจากเมตตา กรุณา มุทิตา จึงต้องมีอุเบกขามาคุมให้อยู่ในขอบเขตที่สมดุล คือพอดี ไม่ให้เกินขอบเขตไปจนกลายเป็นเสียธรรม คือ การปฏิบัติต่อคน หรือช่วยเหลือคน จะต้องไม่ให้เสียความเป็นธรรม ไม่ให้เป็นการทำลายหลักการ ไม่ให้เป็นการละเมิดต่อกฎเกณฑ์กติกาที่ชอบธรรม ไม่ให้เสียความรับผิดชอบ ไม่ละเลยหรือมองข้ามความถูกต้องสมควรตามเหตุผล นี้ก็คือการที่ผู้นำนั้นจะต้องมีความสัมพันธ์อย่างถูกต้อง ทั้งกับคนและกับงาน ทั้งกับคนและกับธรรม หรือทั้งกับคนและกับหลักการ คือต้องเอาทั้งคนและทั้งงาน หรือเอาทั้งคนและหลักการ

ถ้าเอาคนอย่างเดียวก็จะเอียงสุดไปข้างหนึ่ง และจะเกิดปัญหาหรือเกิดความเสียหาย เช่น เมตตา กรุณา มุทิตา จนไม่มีขอบเขต แม้จะปิโย คือเป็นที่รัก แต่ก็เสียหลักการ และทำให้เสียความเป็นธรรม นอกจากนั้น เมื่อพยายามทำตัวให้เป็นที่รักโดยเป็นกันเองเกินไปอย่างไม่มีขอบเขต ก็อาจจะเลยเถิดไปกลายเป็นเพื่อนเล่น หรือกลายเป็นที่ล้อเล่น จนกระทั่งคำพูดไม่มีความหมาย ไม่มีน้ำหนัก พูดอะไรเขาก็ไม่ฟัง อย่างนี้ก็หมดความหมาย พร้อมกันนั้นก็อาจจะกลายเป็นว่า แทนที่ตัวเองจะไปนำเขา ก็กลับถูกเขาชักพาออกนอกลู่นอกทางไป เลยหมดความเป็นผู้นำ

เพราะฉะนั้น ปิโย “เป็นที่รัก” ซึ่งเกิดจากคุณสมบัติในข้อ เมตตา กรุณา มุทิตา ที่เอาคน จึงต้องมีขอบเขตโดยมีความสมดุลกับข้ออุเบกขา ที่เอาธรรม เอาหลักการ เอาเหตุผล และเอาตัวงาน

ทีนี้ถ้าเอาตัวงาน เอาหลักการ หรือเอาธรรม ก็จะได้ลักษณะซึ่งเป็นคุณสมบัติของกัลยาณมิตรข้อต่อไป คือ

๒. ครุ แปลว่า “น่าเคารพ” คือ เป็นคนมีหลัก หนักแน่น ถือหลักการเป็นสำคัญ และมีความประพฤติสมควรแก่ฐานะ ทำให้เกิดความรู้สึกอบอุ่นปลอดภัย เป็นที่พึ่งได้

ในทำนองเดียวกัน ถ้าเอาหลักการอย่างเดียว แม้จะน่าเคารพก็แห้งแล้ง บางทีไม่มีใครกล้าเข้าหน้าเลย อย่างนี้ก็ห่างเหิน เสียผลเหมือนกัน ครุ ก็จะเอียงข้างไป เพราะฉะนั้นจึงต้องพอดี ถ้าได้พรหมวิหารทั้งข้อ ๑-๒-๓ แล้วมาสมดุลกับข้อ ๔ ก็จะได้ทั้ง ปิโย เป็นที่รัก หรือน่ารักด้วย และ ครุ เป็นที่เคารพด้วย หมายความว่าได้ทั้งคนได้ทั้งงาน ได้ทั้งคนได้ทั้งหลักการ และได้ทั้งคนได้ทั้งธรรม อันนี้เป็นหลักการสำคัญแห่งดุลยภาพ

เป็นอันว่า คนที่น่าเคารพ เป็น ครุ นั้นจะยึดถือหลักการเป็นใหญ่ เอางานเป็นสำคัญ เอาธรรมนำหน้า เมื่อเอาใจใส่ดูแลคนให้ดี ก็เป็น ปิโย ด้วย ก็ได้ดุลยภาพอย่างที่ว่ามานี้

คุณสมบัติอีกอย่างหนึ่งของผู้ที่เป็น “ครุ” ซึ่งถือธรรมหรือหลักการเป็นใหญ่ ก็คือเป็นผู้เที่ยงตรง ไม่มีอคติ ไม่มีความลำเอียง ซึ่งเป็นแกนกลางของการรักษาดุลยภาพ และความสามัคคี พร้อมทั้งความมั่นคงของหมู่ชนที่ไปด้วยกัน เพราะถ้าเสียความเป็นธรรมแล้ว แม้แต่จะมีความรักใคร่กันอยู่ หรือแม้แต่จะเอาอกเอาใจกัน ก็จะเกิดความกินแหนงแคลงใจกัน สูญเสียเอกภาพ แต่เมื่อรักษาธรรมไว้ได้ ก็ไม่มีอคติ และไม่เสียสามัคคี

อคติ คือ ความลำเอียง หรือการเขวออกไปนอกทางที่ควรจะประพฤติปฏิบัติ มี ๔ ประการด้วยกัน คือ
ลำเอียงเพราะชอบ เรียกว่า ฉันทาคติ
ลำเอียงเพราะชัง เรียกว่า โทสาคติ
ลำเอียงเพราะขลาด เรียกว่า ภยาคติ
ลำเอียงเพราะเขลา เรียกว่า โมหาคติ

ต่อจาก ๒ ข้อนี้แล้วยังมีคุณสมบัติของกัลยาณมิตรเหลืออยู่อีก ๕ ประการ คือ

๓. ภาวนีโย แปลว่า “น่าเจริญใจ” คือ น่ายกย่อง เป็นแบบอย่างได้ ทำให้ผู้ที่ร่วมอยู่ร่วมไป คือ คนทั้งหลายในชุมชนนั้น มีความภาคภูมิใจ พอนึกถึงก็มีความมั่นใจและภาคภูมิใจในตัวผู้บริหารและครูอาจารย์ ว่าเป็นผู้ที่มีการศึกษาจริง ได้พัฒนาตนแล้ว เป็นผู้มีสติปัญญา มีความสามารถ รู้จริง เก่งจริง และมีคุณธรรมความดีงามอย่างแท้จริง น่าเอาอย่าง

คุณสมบัติข้อนี้ อาจแยกได้อย่างน้อย ๒ ด้าน ซึ่งจะต้องนำไปอธิบายขยายความต่อไป คือ
ก) ด้านความรู้ความสามารถทางวิชาการ
ข) ด้านปฏิปทา หรือด้านการดำเนินชีวิต เช่น ความประพฤติทั่วไป ความสัมพันธ์กับผู้อื่น และการดำรงตนในสังคม เป็นต้น

๔. วัตตา “รู้จักพูด” หมายความว่า รู้จักพูดให้ได้ผล รู้ว่าในสถานการณ์ไหน และกับใคร ควรพูดอะไร อย่างไร เป็นต้น พูดง่ายๆ ว่า พูดเป็น สอนเป็น เป็นนักสื่อสารที่ดี และเอาใจใส่สื่อสารกับผู้ร่วมไปด้วยอยู่เสมอ เพื่อให้รู้เข้าใจกัน และรู้เข้าใจในสิ่งที่ทำ เป็นต้น

ที่จริง รู้จักพูดนั้น บางทียิ่งกว่าสื่อสารเก่งอีก คนที่รู้จักพูดนั้น จะพูดให้เขาเข้าใจก็ได้ พูดให้เขาเห็นใจก็ได้ พูดให้เขาเชื่อก็ได้ พูดให้เขาเห็นด้วยหรือคล้อยตามก็ได้ พูดให้เขาร่วมมือด้วยก็ได้ พูดให้เขารวมกำลังกันก็ได้ แต่ที่ท่านมุ่งหมาย ก็คือ พูดให้เขาเข้าใจ พูดให้เขาได้ประโยชน์ และพูดให้เขาช่วยกันสร้างสรรค์ประโยชน์ ต่างจากจิตวิทยาทุนนิยม ที่เน้นในแง่การพูดให้ตนเองได้ผลประโยชน์ หรือพูดหาผลประโยชน์ให้แก่ตน

พระพุทธเจ้าทรงแสดงลักษณะของนักสื่อสารหรือนักสั่งสอนที่ดีไว้ ๔ อย่าง คือ

๑) พูดแจ่มแจ้ง คือ ชี้แจงอธิบายให้เข้าใจชัดเจน มองเห็นเหตุผลแจ่มแจ้ง หมดสงสัย เหมือนจูงมือไปเห็นกับตา (สันทัสสนา)

๒) พูดจูงใจ คือ พูดให้เห็นคุณค่าและความสำคัญ จนเกิดความซาบซึ้ง ยอมรับ อยากลงมือทำหรือนำไปปฏิบัติ (สมาทปนา)

๓) พูดเร้าใจ คือ ปลุกใจให้คึกคัก เกิดความแข็งขันมั่นใจและมีกำลังใจหาญกล้า กระตือรือร้นที่จะทำให้สำเร็จ โดยไม่หวั่นกลัวต่ออุปสรรคและความยากลำบาก (สมุตเตชนา)

๔) พูดให้ร่าเริง คือ ทำให้เกิดบรรยากาศแห่งเมตตา ไมตรี ความหวังดี และความรู้สึกที่สดชื่นร่าเริง เบิกบานผ่องใส แช่มชื่นใจด้วยความหวังในผลดีและทางที่จะสำเร็จ (สัมปหังสนา)

ในเรื่องการพูดเป็น สอนเป็นนี้ สิ่งที่สำคัญมากอย่างหนึ่ง คือ การรู้จักใช้ วิธีสอน ที่เหมาะและได้ผล ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ ที่จะต้องแยกออกไปอธิบายต่างหาก

๕. วจนักขโม คือรู้จักฟัง ท่านใช้คำว่า วจนักขโม แปลว่า “ทนหรือควรต่อถ้อยคำ”(ของคนอื่น) ไม่ใช่ว่าเอาแต่พูดแก่เขาอย่างเดียวโดยไม่ยอมรับฟังใคร ต้องยอมรับฟัง เพราะการรู้จักรับฟังเป็นส่วนหนึ่งของการที่จะสื่อสารให้ได้ผล แม้ว่าเขาพูดมาจะไม่ถูกใจอะไรก็ทนได้ ทั้งนี้ก็เพื่อให้งานการและประโยชน์ที่จะทำนั้นสำเร็จ เช่น ครูอาจารย์ถูกลูกศิษย์ซักไซ้ไต่ถาม ถามจุกจิก ถามเรื่องที่ครูคิดว่าน่าจะรู้แล้ว ถ้าครูอาจารย์ไม่มีความอดทนในการรับฟัง เดี๋ยวก็จะเบื่อ หรือรำคาญ ท่านว่าต้องมีคุณธรรมข้อนี้จึงจะแก้ไขได้ ต้องทำใจให้สบาย อดทนรับฟังเขาเพื่อให้เข้าใจเขาและช่วยเขาได้ดี

๖. คัมภีรัญจะ กะถัง กัตตา แปลว่า “รู้จักแถลงเรื่องราวต่างๆ ที่ลึกซึ้ง” ปัญหาอะไรที่หนักและยาก ก็เอามาชี้แจงอธิบาย ช่วยทำให้ศิษย์เป็นต้นมีความกระจ่างแจ้ง เรื่องที่ลึกที่ยากก็ทำให้ตื้นให้ง่ายได้ และพาเขาเข้าถึงเรื่องที่ยากและลึกลงไปๆ อย่างได้ผล

๗. โน จัฏฐาเน นิโยชะเย แปลว่า “ไม่ชักนำในอฐานะ” คือ ในเรื่องที่ไม่ใช่เรื่อง ที่ไม่เป็นประโยชน์ ไม่ใช่สาระ ออกนอกเรื่องนอกราว เหลวไหล ไม่เกี่ยวกับจุดมุ่งหมาย

ธรรมของกัลยาณมิตร ๗ ประการนี้ เป็นคุณสมบัติที่มาประกอบเสริมกัน และมาประสานเข้ากับพรหมวิหาร ๔ ประการ ที่พูดไปก่อนแล้ว ซึ่งจะทำให้ผู้บริหารและครูอาจารย์ทำหน้าที่สำเร็จผลดีอย่างแท้จริง

 

การปกครองที่แท้ คือเครื่องมือของการศึกษา

โดยเฉพาะการบริหารที่ถูกต้อง จะเป็นการโยงและประสานและเกื้อหนุนให้สิ่งแวดล้อมและภาวะเอื้อต่อกันที่เราต้องการนั้นเกิดขึ้น การบริหารแบบนี้จะเป็นการบริหารเชิงบวก ไม่ใช่บริหารเชิงลบที่ตั้งใจไปควบคุม และการปกครองที่เป็นส่วนสำคัญของการบริหารก็จะดำเนินไปในทางที่ถูก

การปกครองในยุคปัจจุบันนี้น่าจะกำลังพลาด แม้แต่การปกครองของพระสงฆ์ก็เขวออกไป การปกครองได้กลายเป็นการปกครองเพื่อการปกครอง คือการปกครองเพื่อมุ่งความเรียบร้อยให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์กติกาที่วางไว้ เป็นต้น ถ้าคนอยู่กันเรียบร้อย สังคมสงบเรียบร้อยก็คิดว่าบรรลุจุดหมายของการปกครอง ซึ่งที่จริงยังไม่ใช่ และเมื่อเน้นการปกครองเพื่อการปกครอง ก็จะต้องมีการบังคับควบคุมให้อยู่ในกฎเกณฑ์กติกา และใครละเมิดก็ต้องลงโทษ การปกครองก็จะเน้นอำนาจ

การปกครองที่แท้จริงนั้น มีขึ้นเพราะอะไรและเพื่ออะไร เรามีชุมชนขึ้นมา แล้วต้องการให้คนในชุมชนนั้นมีชีวิตที่ดีงามมีความสุข แต่ชีวิตที่ดีงามนั้นคืออะไรและเพื่ออะไร พูดสั้นๆ ว่า ชีวิตที่ดีงามเป็นชีวิตแห่งการฝึกฝนพัฒนา เพราะมนุษย์ไม่สามารถมีชีวิตที่ดีงามขึ้นมาได้เฉยๆ ลอยๆ มนุษย์แม้แต่จะนั่ง แม้แต่จะนอน แม้แต่จะขับถ่าย กิน เดิน พูด ก็ต้องเรียนรู้ ฝึกฝน หรือฝึกหัดพัฒนาขึ้นมาทั้งนั้น หมายความว่า ชีวิตที่ดีงามของมนุษย์ไม่ได้มาเปล่าๆ ไม่เกิดขึ้นเพียงจากสัญชาตญาณ แต่ได้มาด้วยการเรียนรู้ ฝึกฝน พัฒนา เราต้องการให้มนุษย์มีชีวิตที่ดีงาม เราจึงสร้างชุมชนและสังคมขึ้น และสร้างสรรค์ให้สังคมนั้นเป็นสภาพเอื้อต่อการที่ชีวิตของแต่ละคน จะได้มีโอกาสพัฒนาขึ้นไปเป็นชีวิตที่ดีงาม

ในเมื่อชีวิตที่ดีงามต้องอาศัยการเรียนรู้ฝึกฝนพัฒนา เราจึงต้องสร้างสังคมหรือชุมชนให้มีสภาพแวดล้อมและระบบความเป็นอยู่ เป็นต้น ที่เอื้อต่อการพัฒนาชีวิตของแต่ละคน ด้วยเหตุนี้แหละพระพุทธเจ้าจึงทรงตั้งสังฆะเป็นชุมชนขึ้นมา เพื่อให้พระภิกษุทุกรูปที่เข้ามาในชุมชนนี้ ได้พัฒนาชีวิตของตนเข้าสู่จุดหมายที่จะเป็นชีวิตที่ดีงาม

แกนกลางของความเป็นอยู่ในชุมชนนั้น ก็คือการศึกษา ทุกคนมีหน้าที่พัฒนาชีวิตของตนเองให้เข้าถึงความดีงาม และเราก็สร้างชุมชนหรือสังคมขึ้นมาเพื่อจะได้เป็นสภาพเอื้อต่อการศึกษาของแต่ละชีวิตนั้น ถ้าคนไม่มีชุมชนนี้ หรือไม่มีสังคมอย่างนี้ เขาก็จะไม่ได้โอกาส สภาพแวดล้อมจะไม่เอื้อ เช่นมีการเบียดเบียนกัน มัวแต่เดือดร้อนวุ่นวาย แต่เมื่อมาอยู่ในชุมชนนี้แล้ว สภาพแวดล้อมทุกอย่าง และระบบความเป็นอยู่ ได้จัดตั้งวางไว้เพื่อเอื้อต่อการที่แต่ละคนจะได้พัฒนาชีวิตของตนเข้าสู่ความดีงาม เพราะฉะนั้นสังคมจึงเป็นสภาพเอื้อในแง่นี้

ตามหลักการที่ว่านี้ การปกครอง มีขึ้นเพื่ออะไร การปกครองนั้นเป็นสื่อประสานความร่วมมือร่วมทุนร่วมแรงร่วมใจร่วมสามัคคีเป็นต้น เพื่อจัดสรรโอกาส จัดสรรบรรยากาศ จัดสรรระบบความสัมพันธ์ของคน จัดสรรกิจการ จัดสรรสภาพแวดล้อมทุกอย่าง ให้เอื้อต่อการที่มนุษย์จะได้ดำเนินชีวิต กิจกรรม และกิจการต่างๆ เพื่อพัฒนาชีวิตและสังคมของตน ให้แต่ละคนเข้าถึงความมีชีวิตที่ดีงาม เพราะฉะนั้นชุมชนที่ดีจึงเป็นชุมชนแห่งการศึกษา และมีการปกครองเพื่อเอื้อต่อการศึกษานั้น

พูดสั้นๆ ว่า การปกครองมีไว้เพื่อจัดสรรโอกาส คือเพื่อสร้างสภาพเอื้อต่อการพัฒนาชีวิตของคนเข้าสู่ความดีงามสมบูรณ์ เพราะฉะนั้นการศึกษาจึงเป็นสาระที่แท้จริงของชีวิตและของสังคม ขอย้ำด้วยการถามใหม่ตอบใหม่อีกครั้งหนึ่งว่า การปกครองมีเพื่ออะไร เพื่อการศึกษา นี่เป็นคำตอบรวบยอด ฉะนั้นการที่พระพุทธเจ้าจัดการปกครองขึ้นมา กิจกรรมทุกอย่างในการปกครองนั้น ในขั้นสุดท้าย จะโดยตรงก็ตาม โดยอ้อมก็ตาม ก็เพื่อเกื้อหนุนการศึกษาทั้งสิ้น

การปกครอง เพื่อการศึกษา คือเพื่อจัดสรรโอกาสให้กิจกรรมและกิจการทุกอย่างดำเนินไปในทางที่ช่วยพัฒนาชีวิตของคน หรือช่วยให้คนได้พัฒนาชีวิตของตน และการที่คนจะพัฒนาชีวิตก็ต้องมีฉันทะ

เมื่อมองย้อนกลับ คนจะต้องมีฉันทะ การปกครองจึงจะเป็นไปได้ด้วยดี ทั้งนี้เพราะว่า เมื่อคนมีฉันทะคือต้องการไปสู่จุดหมายของชีวิต ของกิจการ และของสังคม ที่การปกครองจัดสรรโอกาสให้ เขาก็ย่อมเดินหน้ามุ่งไปในทางสู่จุดหมายนั้น ทุกอย่างก็เรียบร้อยเป็นไปด้วยดี แต่ถ้าคนไม่มีฉันทะ เขาไม่ต้องการไปสู่จุดหมายของชีวิตของกิจการและของสังคม แต่เขาต้องการสิ่งอื่นที่อยู่นอกทางนั้น เขาก็ย่อมแตกแยกเขวออกไปนอกทาง ความวุ่นวายก็ย่อมเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ถ้าขาดฉันทะ การปกครองที่ดีก็ไม่มีทางสำเร็จ

มองดูอย่างง่ายๆ ในชุมชนทางวิชาการ ถ้าทุกคนในชุมชนนั้นมีฉันทะใฝ่ปรารถนาตรงต่อจุดหมายของวิชาการ ซึ่งเป็นจุดหมายที่ตรงกันและร่วมกันของชุมชน การปกครองก็ทำหน้าที่ของมันไปอย่างราบรื่น แต่ถ้าคนในชุมชนนั้นไม่มีฉันทะคือไม่ใฝ่ปรารถนาต่อจุดหมายของวิชาการ กลับไปใฝ่ปรารถนาสิ่งอื่น การปกครองก็ไม่มีทางที่จะเป็นไปโดยเรียบร้อยด้วยดี

จะตั้งชุมชนแห่งการศึกษา
ต้องสถาปนาระบบกัลยาณมิตรให้ได้

เราพูดได้ว่า เมื่อตั้งสังฆะคือชุมชนขึ้นมาก็ต้องมีการปกครอง แต่สังฆะนั้นโดยพื้นฐานก็คือชุมชนที่เอื้อ ซึ่งคนผู้ต้องการพัฒนาตนเอง ต้องการชีวิตที่ดีงาม จะได้เข้ามาอยู่ร่วมกัน และแต่ละคนก็เป็นตัวเอื้อต่อกัน เช่น ท่านที่พัฒนาแล้วหรือผู้ที่พัฒนามากกว่า เริ่มตั้งแต่พระพุทธเจ้า ก็ทำหน้าที่เป็นครูอาจารย์ มาช่วยแนะนำสั่งสอนคนที่ใหม่กว่า ส่วนคนที่อยู่ในระดับเดียวกันซึ่งมีความมุ่งหมายอย่างเดียวกัน ก็มาเอื้อต่อกันด้วยลักษณะการเป็นอยู่และกิจกรรม เช่นการปรึกษาหารือสนทนาเป็นต้น พร้อมทั้งเป็นชุมชนที่เป็นแหล่งการศึกษาแก่คนภายนอกที่ต้องการ แม้แต่ที่เข้ามาชั่วคราว รวมทั้งเป็นแหล่งของผู้พัฒนาตัวเองแล้ว ที่จะออกไปช่วยแนะนำให้การศึกษาแก่ผู้คนข้างนอกกว้างขวางออกไป

ว่าโดยสรุป ชุมชนแห่งการศึกษา มีบรรยากาศแห่งความสัมพันธ์ที่เอื้อต่อกัน ดังนี้

ก. ครูอาจารย์หรือผู้ที่ศึกษามากกว่า ช่วยเอื้อการศึกษาแก่ผู้ที่ศึกษาน้อยกว่า

ข. ผู้ศึกษาทั้งหลายในระดับต่างๆ มีความเป็นอยู่และกิจกรรมที่เอื้อการศึกษาแก่กันและกัน

ค. ชุมชนเป็นแหล่งเอื้อการศึกษาแก่คนภายนอก ที่จะเข้ามาแสวงการศึกษา ทั้งระยะสั้นและระยะยาว

ง. ชุมชนเป็นแหล่งชุมนุมผู้มีการศึกษา ที่จะออกไปเอื้อการศึกษาแก่คนทั่วไปในสังคม

จ. ชุมชนการศึกษาต่างแห่ง เอื้อการศึกษาแก่กันและกัน

ชุมชนมหาวิทยาลัยและชุมชนทางวิชาการทั้งหลายก็ควรเป็นอย่างนี้ใช่หรือไม่ มหาวิทยาลัยควรเป็นชุมชนที่ทำหน้าที่ไม่เฉพาะแต่วิชาการ คือไม่ใช่ศึกษาในความหมายจำกัดทางวิชาการล้วนๆ แต่ทุกคนเข้ามาแล้วจะได้พัฒนาชีวิตของตนไปสู่ความดีงาม รวมทั้งอาจารย์ก็พัฒนาชีวิตของตนเองไปสู่ความดีงาม และมีความสุขในการแสวงหาความรู้ ในการทำงานสร้างสรรค์ ในการสอน ในการให้วิชาความรู้แก่ลูกศิษย์ ช่วยเอื้อแก่ชีวิตของลูกศิษย์ ลูกศิษย์ก็พัฒนาตนขึ้นไปและเอื้อต่อเพื่อนศิษย์ในการแสวงปัญญาและพัฒนาชีวิต ผู้บริหารก็ปกครองด้วยการสร้างสภาพเอื้อ เพื่อช่วยให้อาจารย์และช่วยให้ลูกศิษย์พัฒนาตัวของเขาและช่วยกันพัฒนาตนขึ้นมา ถ้าอย่างนี้ก็เป็นชุมชนกัลยาณมิตร ที่มีบรรยากาศทางวิชาการ หรือพูดให้ตรงยิ่งกว่านั้นว่ามีบรรยากาศแห่งการศึกษา ซึ่งสมาชิกของชุมชนเอื้อต่อกัน เริ่มตั้งแต่มีไมตรี มีเมตตา กรุณา มีแต่การปฏิบัติในเชิงสร้างสรรค์หรือทางบวก

ในทางตรงข้าม ถ้าไม่มีหลักการนี้ที่ประสานโยงกันหมดทั้งความมุ่งหมายของชีวิตบุคคลและวัตถุประสงค์ของการมีชุมชน ดีไม่ดีการปกครองก็จะเลื่อนลอยและไปเน้นด้านลบ เช่น จะใช้อำนาจ การปกครองจะมุ่งในแง่นั้น เพราะขาดระบบความสัมพันธ์แห่งจุดหมายของแต่ละขั้นตอน

ในระบบความสัมพันธ์ที่โยงส่งต่อกันสู่จุดหมายที่ชัดเจนนี้ คุณสมบัติและข้อปฏิบัติต่างๆ จะประสานกลมกลืนกัน เช่น เมตตา กรุณา มุทิตา เมื่อมาเข้าระบบนี้ ก็สอดคล้องกันหมด โดยจะมีอุเบกขาคอยคุมว่าต้องให้อยู่ในขอบเขต ครูอาจารย์ปรารถนาดี มีความรัก เอาใจใส่ และมีน้ำใจช่วยเหลือส่งเสริมศิษย์ทั่วไปเสมอกันทุกคน แต่จะไม่ช่วยเขาเกินเหตุผล

นี่เธอจะมาหาความรู้เรื่องนี้หรือ เธอต้องรับผิดชอบตัวเองด้วย เธอจึงจะได้ความรู้ คือเธอจะต้องทำตามเหตุปัจจัยในกฎธรรมชาติ ฉันมีเมตตากรุณาคือ ช่วยแนะนำเธอให้ไปอ่านหนังสือเล่มนั้น ไปอ่าน ไปค้นเอา ไม่ใช่ฉันเขียนให้ ถ้าฉันเขียนให้ก็เมตตากรุณาเลยขอบเขต เสียดุล ถ้าฉันไม่มีอุเบกขา เธอก็ไม่พัฒนา

เพราะฉะนั้น เมตตาก็แสดงน้ำใจว่า เอ้อ ฉันจะช่วยแนะนำให้ แต่ปัญญาจะเกิดขึ้นได้ด้วยการที่เธอพัฒนาตัวเอง เพราะฉะนั้นฉันชี้แนะให้เธอไปทำนี่ ทำนั่น ทำโน่น อุเบกขาก็มาต่อคอยดูให้เธอทำงานให้ถูกต้อง แล้วเธอก็ประสบความสำเร็จ
ในการบริหารหรือการอะไรก็ตาม องค์ประกอบในการปฏิบัติจะเข้ามาประสานกันหมด การบริหารเป็นต้นนั้นจึงจะมาช่วยเอื้อ รวมความว่าต้องครบทั้งเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา

ในการสร้างบรรยากาศแห่งการศึกษา ในชุมชนทางวิชาการ ถือได้ว่าระบบความสัมพันธ์ของคนที่เป็นกัลยาณมิตรให้แก่กัน โดยมีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขาที่ครบสี่เป็นคุณสมบัติพื้นฐาน และมีกัลยาณมิตรธรรม ๗ เป็นคุณสมบัติเฉพาะเชิงปฏิบัติการ ดังกล่าวมานี้ เป็นองค์ประกอบข้อที่ ๑ พูดสั้นๆ ว่า ระบบกัลยาณมิตร

 

วินัยคือการจัดสรรโอกาส
การจัดสรรโอกาสสัมฤทธิ์ผล เมื่อคนมีศีล

อะไรจะเป็นหลักประกันหรือเครื่องเกื้อหนุนในทางรูปธรรม ที่จะให้เกิดความมั่นคงแก่ชุมชนแห่งกัลยาณมิตร ที่ทุกคนเอื้อต่อการศึกษาของกันและกัน ที่ระบบทั้งหมดเอื้อต่อการพัฒนาชีวิตของแต่ละคน และเอื้อต่อกิจกรรมในการศึกษา สิ่งนั้นก็คือ วินัย

วินัย คือการจัดสรรสภาพแวดล้อม ระบบการเป็นอยู่ และระบบความสัมพันธ์ที่จะมาเอื้อต่อการพัฒนาชีวิตนี่แหละ พูดสั้นๆ ว่า วินัยคือการจัดสรรโอกาส วินัยมีความหมายเชิงบวก ไม่ควรมองวินัยเป็นเครื่องบังคับ

คนที่ไม่มีการศึกษาจะมองวินัยเป็นเครื่องบังคับ คนที่เริ่มศึกษาจะมองวินัยเป็นเครื่องฝึก ถ้ามองเป็นเครื่องฝึก ก็รู้สึกว่า “ได้” ทันที แต่ถ้ามองเป็นเครื่องบังคับก็ “เสีย” ทันที การกระทำด้วยความจำใจจะเกิดขึ้น แต่พอมองเป็นเครื่องฝึกว่า อ้อ วินัย คือการจัดสรรโอกาส จัดสรรสภาพแวดล้อมและระบบความสัมพันธ์ทางสังคมทุกอย่าง ให้เอื้อต่อการที่แต่ละคนจะได้พัฒนาสู่การบรรลุจุดหมายของชีวิต ความพร้อมและความเต็มใจสุขใจในการปฏิบัติตามจะเกิดขึ้น

ยกตัวอย่าง เราจัดวินัยในบ้านทำไม เราวางของเป็นที่ทำไม เก้าอี้เราวางไว้ตรงนั้นให้เป็นระเบียบ ให้มีวินัยทำไม เพราะว่าถ้าเราไม่มีวินัย ขืนวางของไว้เกะกะ เอาเก้าอี้มาวางกระจัดกระจายเต็มไปทั้งบ้าน เราจะเดินจากนี่ไปแค่ประตู กว่าจะเดินไปถึงก็หลายนาที แล้วก็เดินเตะโน่น เตะนี่ ดีไม่ดีก็จะล้มเจ็บ อย่างน้อยก็เสียเวลา แต่พอเรามีวินัย ของเหล่านั้นอยู่ในที่ที่ควรอยู่ เราเดินปรู๊ดเดียวถึงประตูเลย ฉะนั้นวินัยจึงเป็นการจัดสรรโอกาส

เมื่อสังคมมีวินัยอย่างมีความมุ่งหมาย วินัยก็จัดสรรโอกาส ด้วยการจัดระบบความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ จัดระเบียบความเป็นอยู่ของคน และจัดสภาพแวดล้อมทุกอย่างให้เอื้อต่อการพัฒนาชีวิตของแต่ละคน ที่จะเข้าถึงความดีงาม เมื่อวินัยจัดสรรโดยมีจุดหมายอย่างนี้ ถ้ามันยังไม่ถูกใจเราหรือขัดใจเราก็เพราะว่าปัญญาของเรายังไม่มีพอที่จะเข้าใจ และจิตใจของเรามีความปรารถนาไม่ถูกต้อง เช่นมองวินัยในแง่ลบว่าเป็นเครื่องบีบบังคับ โดยไม่รู้เข้าใจความมุ่งหมาย และเรามีความเห็นแก่ตัว อยากทำอะไรตามชอบใจ

เราต้องมองวินัยในแง่บวกว่ามันมาช่วยสร้างโอกาสให้เรา แล้วเราก็จะมองวินัยว่าเป็นเครื่องฝึก  พอมองวินัยเป็นเครื่องฝึก เราก็รู้สึกว่าเราได้ทันที พอรู้สึกว่าได้เราก็มีความสุขที่จะปฏิบัติตาม เพราะคนที่รู้สึกอยากฝึกตนก็จะมีความสุขในการฝึกตัวเอง เขาจึงประพฤติวินัยด้วยความสุข

เมื่อมีวินัย หรือตั้งอยู่ในวินัย ก็เรียกว่า “มีศีล” ไม่ใช่ “มีวินัย” ที่จริงเราพูดผิด ความมีวินัยไม่มีศัพท์ วินัยมีความหมายว่า

หนึ่ง การจัดตั้งวางระเบียบระบบ

สอง ข้อกำหนดที่วางไว้เป็นแม่บทสำหรับจัด และ

สาม การฝึกให้คนปฏิบัติตามข้อกำหนดที่วางไว้

นี่คือความหมายของวินัย โดยเฉพาะความหมายที่สามนั้นคือการปกครอง พูดอีกครั้งว่า

๑. วินัย คือ การจัดระเบียบความเป็นอยู่ ระบบสังคม และสภาพแวดล้อม เป็นต้น ให้เกิดโอกาส

๒. วินัย คือ ตัวข้อความ หรือข้อกำหนดที่วางไว้ เพื่อให้รู้ว่าจะจัดอย่างไรเพื่อให้การจัดนั้นเกิดผลเป็นจริงในทางปฏิบัติ เช่นที่เรียกว่า กฎหมาย

๓. วินัย คือ การจัดการให้คนปฏิบัติตามกฎเกณฑ์กติกา หรือระบบระเบียบที่วางไว้นั้น ข้อนี้ก็คือ การปกครอง การปกครองก็เป็นความหมายอย่างหนึ่งของวินัย

วินัยทั้งสามความหมายอยู่นอกตัวคนทั้งนั้น ทีนี้เมื่อคนปฏิบัติตามวินัย ซึ่งอาจจะเรียกว่า ตั้งอยู่ในวินัยนั้น ก็เกิดเป็นคุณสมบัติของคนที่เราเรียกว่า ศีล ศีลก็คือ การที่คนนั้นตั้งอยู่ในวินัย ปฏิบัติตามวินัย

ในภาษาไทยเวลานี้สับสน คือ เราแยกวินัยกับศีลไม่ออก วินัยนั้นอยู่ข้างนอก ศีลอยู่ในตัวคน ทันทีที่คนปฏิบัติตามวินัย ก็เกิดเป็นศีลทันที คือคนตั้งอยู่ในวินัยลงตัวจนกลายเป็นพฤติกรรมปกติของเขา ศีลเป็นพฤติกรรม วินัยไม่ใช่เป็นตัวพฤติกรรม วินัยเป็นตัวที่ฝึกพฤติกรรม หรือตัวนำพฤติกรรม เราจะให้พฤติกรรมเป็นอย่างไร วินัยก็ว่าอย่างนั้น ส่วนพฤติกรรมของคนนั้นเป็นศีล เป็นการปฏิบัติ นี่ข้อสองแล้วนะ ชุมชนต้องมีวินัย คือคนต้องมีศีลนั่นเอง

เมื่อการปฏิบัติตามวินัยกลายเป็นคุณสมบัติในตัวคน คือคนมีศีล ก็เหมือนกับว่าวินัยของชุมชนเข้าไปอยู่ในตัวคนแล้ว ระเบียบระบบที่จัดตั้งวางไว้เพื่อจัดสรรโอกาส ก็บรรลุผลตามวัตถุประสงค์ และระบบความสัมพันธ์ของชุมชนกัลยาณมิตรก็เกิดมีขึ้น

คุณสมบัติสำคัญของผู้ร่วมสร้างชุมชนแห่งการศึกษา
และพัฒนาบรรยากาศแห่งวิชาการ

คุณสมบัติ ๒ อย่างที่พูดมา คือ ความมีกัลยาณมิตร และความตั้งอยู่ในวินัยที่เรียกว่าศีลนั้น เป็นสองข้อแรกในคุณสมบัติ ๗ ประการ ที่เรียกว่า “รุ่งอรุณของการศึกษา” เป็นคุณสมบัติพื้นฐานที่จะทำให้บุคคลก้าวไปในการศึกษาหรือในการพัฒนาชีวิตได้อย่างมั่นใจ ทำให้การศึกษาเป็นไปอย่างมีชีวิตชีวา เพราะเป็นการศึกษาตัวแท้ตัวจริง คนที่มีคุณสมบัติเหล่านั้น จึงเป็นส่วนร่วมที่จะสร้างชุมชนแห่งการศึกษา และพัฒนาบรรยากาศแห่งวิชาการให้สำเร็จได้

รุ่งอรุณของการศึกษาอีก ๕ ข้อที่เหลือ จะพูดถึงไว้เพียงให้ทราบหัวข้อหรือพอให้เห็นความหมาย

ข้อสาม คือมีแรงจูงใจ ใฝ่รู้ ใฝ่ดี ใฝ่สร้างสรรค์ ได้แก่ ฉันทะ ที่ว่ามาแล้ว ซึ่งเป็นพลังภายในที่จะต้องสร้างให้ได้

จากนั้นก็สี่ ต้องเป็นคนมีจิตสำนึกในการฝึกตน หรือจิตสำนึกในการศึกษาอยู่เสมอ หมายความว่ามีความต้องการที่จะฝึกตน โดยรู้ตระหนักว่าชีวิตที่ดีงามจะเกิดขึ้นได้ด้วยการเรียนรู้ ฝึกฝน พัฒนาตน พร้อมทั้งมุ่งมั่นที่จะพัฒนาตนให้ถึงความเต็มเปี่ยมสมบูรณ์แห่งศักยภาพของมนุษย์ จิตสำนึกนี้จะทำให้เราพลิกความยากเป็นความสุขได้

คนที่ต้องการฝึกตน เมื่อเจออะไรก็อยากใช้เป็นเครื่องฝึกตน เมื่อรู้ว่าชีวิตดีงามจะได้มาด้วยการฝึก เราก็อยากฝึกตนอยู่เสมอ อะไรจะทำให้เราฝึกตนได้เราก็ชอบ อยากจะเจอ อยากจะทำ เช่น ปัญหา พอไปเจอปัญหาเราก็ได้ฝึกตัวเอง ฉะนั้นคนพวกนี้จะพัฒนาไปถึงจุดที่จะมีคติว่า ยิ่งเจอสิ่งยากก็ยิ่งได้ฝึกตนมาก หรือยิ่งยากยิ่งได้มาก

ตรงข้ามกับคนที่ไม่มีจิตสำนึกในการฝึกตน พอไปเจออะไรต้องทำหน่อยก็ถอย ถ้าจำเป็นก็ต้องจำใจทำด้วยความทุกข์ หนึ่ง ตัวเองก็ทุกข์เพราะ ฝืนใจ สอง งานก็ไม่ได้ผล เพราะไม่เต็มใจทำ ส่วนคนที่มีจิตสำนึกในการฝึกตน พอเจอสิ่งที่ต้องทำก็ชอบ เพราะจะได้ฝึกตน แล้วยังมีคติว่ายิ่งยากยิ่งได้มาก อะไรที่ง่าย ก็ได้นิดเดียว เมื่อได้ฝึกตนเองมากก็ยิ่งมีความสุขมากจากสิ่งที่ยาก ทั้งที่เจอสิ่งที่ยาก แต่สุขภาพจิตก็ดี แล้วตั้งใจทำจึงได้ผลสมบูรณ์ นี่แหละการศึกษาช่วยคนอย่างนี้ เพราะฉะนั้น คนยิ่งพัฒนาในการศึกษา ก็ยิ่งมีความสุขเพิ่มมากขึ้นทุกที

ต่อไปก็ ข้อห้า มีแนวคิดที่ส่งเสริมการเรียนรู้ การศึกษาสืบค้น แนวความคิดบางอย่างไม่ส่งเสริมการเรียนรู้ เช่น มีแนวความคิดความเชื่อถือว่า อะไรจะเป็นอย่างไร จะเกิดอะไรขึ้น ก็แล้วแต่โชค คนที่คิดและเชื่ออย่างนี้จะไม่คิดสืบแสวงหาความรู้ แต่ถ้ามีแนวความคิดว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย พอเกิดอะไรหรือเจออะไร แนวคิดความเชื่อนั้นก็จูงเราไปสู่การสืบค้นเหตุปัจจัย คือหาความรู้ เพราะฉะนั้นจึงต้องมีแนวความคิดที่จะมาส่งเสริมการเรียนรู้ หรือการศึกษา ก็คือ เริ่มด้วยแนวความคิดความเชื่อ ในหลักการแห่งความเป็นไปตามเหตุปัจจัยนี่แหละ

ต่อไปข้อหก ความไม่ประมาท ซึ่งพ่วงมากับการเห็นคุณค่าของกาลเวลา และการมีจิตสำนึกในความเปลี่ยนแปลง ความไม่ประมาทนี้ทำให้เรากระตือรือร้นอยู่เสมอ

จะต้องระลึกไว้ว่า การประพฤติปฏิบัติทำสิ่งที่ดีงามต่างๆ จะไม่ใช่เพียงเพื่อเสพเสวยผลของมันเป็นจุดหมายแล้วก็จบเท่านั้น เช่นว่า ได้ความสุขแล้วก็หยุด หรือบรรลุความสำเร็จแล้วก็หยุด หรือทำได้ดีแล้วก็หยุด

ความดี ความสุข ความสำเร็จ เป็นหลุมดักที่มักทำให้คนประมาท เราจะต้องไม่ยอมให้ความดี ความสุข ความสำเร็จ มาหยุดยั้ง ทำให้เราเพลิดเพลินมัวเมา หลงละเลิง ลืมตัว เมื่อดี สุข สำเร็จแล้ว จะต้องไม่ยอมหยุด ต้องก้าวต่อไป ต้องไม่ตกหลุมล่อของความดีงาม ความสุข ความสำเร็จนั้น ถ้าใครเพลิดเพลิน ยินดี ภูมิใจ แล้วหยุด เรียกว่าประมาท ต้องไม่ประมาทคือก้าวต่อไปจนตลอด

สุดท้ายข้อ ๗ ก็มี โยนิโสมนสิการ คือ การรู้จักคิด รู้จักพิจารณา มีวิธีคิด เช่นคิดตามหลักการแห่งความเป็นไปตามเหตุปัจจัย พอเจออะไรก็ถามว่า คืออะไร ประกอบด้วยอะไร เป็นอย่างไร ทำไมเป็นอย่างนี้ จะเอาไปใช้อะไรได้ มีแง่ดีแง่เสียอย่างไร มีส่วนเสียกี่อย่าง ส่วนดีกี่อย่าง ฯลฯ ยิ่งตั้งคำถามมากๆ โยนิโสมนสิการก็ยิ่งเกิด จนมีนิสัยในการสืบค้น อย่างน้อยเมื่อเจออะไรก็ไม่ติดอยู่กับความชอบใจหรือไม่ชอบใจ แต่คิดตามแนวทางของเหตุปัจจัย

คนเรานี้มีท่าทีต่อสิ่งทั้งหลายหรือต่อประสบการณ์ที่ได้พบ แยกได้ เป็น ๒ พวก คือ พวกหนึ่ง อยู่กับความชอบใจไม่ชอบใจ พวกนี้ ตัน วนเวียน เป็นนักเสพ สุขทุกข์จบอยู่กับความชอบใจและไม่ชอบใจเท่านั้น ไม่ไปไหน ส่วนอีกพวกหนึ่งมองตามเหตุปัจจัย พอเจออะไร ก็มีเรื่องต้องค้นทันที เพราะเหตุปัจจัยอะไรถึงเป็นอย่างนี้ มันเกิดเพราะอย่างนี้ มีแต่ความรู้ มีแต่เรื่องของสิ่งที่ทำ ทุกข์ก็ไม่มี ปัญญาก็เกิด พอได้เรียนรู้ ได้ทำ ได้เกิดปัญญา ก็ยิ่งมีความสุข จึงพัฒนาเรื่อยไป

โยนิโสมนสิการนี่มีวิธีมาก เช่น มองตามเหตุปัจจัย มองในแง่วิเคราะห์ มองแบบจำแนกแยกแยะ พระพุทธเจ้าตรัสรู้ด้วยวิธีแห่งโยนิโสมนสิการนี้ พระองค์ไม่ใช่นั่งเฉยๆ เช่นพระองค์เล่าว่า เราเกิดความคิดอันนี้ขึ้นมา เราถามตัวเองว่า ความคิดความรู้สึกนี้เกิดเพราะอะไร อะไรมีจึงเกิดอันนี้ขึ้นมา ศึกษาสืบค้นไปจนพบความจริงว่า อ้อ เพราะอันนั้นมี อันนี้จึงมี แล้วอันนี้ล่ะ ฯลฯ ก็ถาม และสืบค้นต่อๆ ไป ปัญญาก็ยิ่งพัฒนา จนในที่สุดก็ถึงจุดที่เป็นโพธิ

การศึกษาเป็นการพัฒนาคน เป็นการเรียนรู้ ฝึกฝน ให้เกิดคุณสมบัติต่างๆ มากมาย และจุดยอดของคุณสมบัติเหล่านั้นก็คือปัญญา เมื่อพูดถึงปัญญาในฐานะเป็นคุณสมบัติที่เยี่ยมยอดของมนุษย์ ก็จึงโยงไปหาคุณสมบัติอื่นๆ ที่มากมายเหล่านั้นด้วย เพราะฉะนั้นเมื่อเราพูดกันถึงมหาวิทยาลัยในฐานะเป็นแหล่งวิชาการที่ยิ่งใหญ่ และโยงไปหาปัญญา เรื่องการแสวงปัญญา ก็จึงโยงไปหาคุณสมบัติต่างๆ ของมนุษย์อีกเป็นอันมาก

คุณสมบัติทั้งหลายที่ว่ามีมากมายนั้น โดยเฉพาะสำหรับผู้อยู่ในวงการแห่งการศึกษา หรือวงวิชาการ ทั้งผู้บริหารและครูอาจารย์ ตลอดจนนิสิตนักศึกษาและนักเรียน ในที่นี้ได้พูดไว้ไม่กี่อย่าง เฉพาะที่ถือว่าเป็นคุณธรรมหรือคุณสมบัติหลัก ซึ่งเป็นขั้นพื้นฐานและจำเป็น

การที่ได้พูดเฉพาะคุณธรรมพื้นฐานก็เพราะว่า คุณธรรมทั้งหลายเป็นส่วนย่อยอยู่ในระบบความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย เมื่อเราจับจุดถูก คือพัฒนาคุณสมบัติที่เป็นแกนหรือเป็นมูลฐานขึ้นมาได้แล้ว คุณธรรมปลีกย่อยต่างๆ ก็เกิดตามมาเอง หรือเกิดพ่วงมาได้ง่าย เช่น เมื่อพัฒนาคนให้มีฉันทะ ซึ่งเป็นคุณธรรมมูลฐานแล้ว ก็มั่นใจได้แทบจะโดยสมบูรณ์ว่า ความขยัน ความอดทน ความรับผิดชอบ ความซื่อสัตย์ ฯลฯ จะเกิดตามมาชนิดวางใจได้

ที่พูดนี้ มิใช่หมายความว่าจะไม่มีปัญหาจริยธรรมอีกเลย แต่ปัญหาจะเหลือน้อยอย่างยิ่ง ในทางตรงข้าม ถ้าไม่พัฒนาคุณธรรมมูลฐานนี้ขึ้นมา เช่น คนสอน คนทำงาน คนเรียน ไม่มีฉันทะ ถึงจะพยายามอบรมสั่งสอนคุณธรรมต่างๆ มากมาย ก็ยากที่จะสำเร็จ วันเวลาจะหมดไป ตัวงานที่เป็นสาระไม่เดินหน้า มัวแต่สาระวนกับการแก้ปัญหาจนแทบไม่เป็นอันทำอะไร

บางทีเราพูดกันถึงจริยธรรมทางวิชาการ เช่น จริยธรรมในการทำงานวิจัย แต่มักมองจริยธรรมนั้นในความหมายแคบๆ ตื้นๆ เช่น ความซื่อตรงที่จะเขียนงานที่เป็นของตนเอง และอ้างหลักฐานที่มาที่ไปให้ถูกต้องตามความเป็นจริง ไม่โกงผลงานของผู้อื่น เป็นต้น ซึ่งเป็นคุณธรรมและพฤติกรรมในระดับผลข้างปลาย ไม่ลงไปถึงรากฐานหรือแก่นแท้ของการศึกษา ที่เป็นเหตุปัจจัยของจริยธรรมเหล่านั้น ถ้าอยู่กันด้วยจริยธรรมแค่ระดับนี้ ก็จะต้องยุ่งอยู่กับการสร้างมาตรการควบคุมและลงโทษเป็นต้น และแม้จะควบคุมได้ ก็จะไม่สามารถสร้างงานวิชาการที่มีคุณภาพเป็นเลิศซึ่งบรรลุจุดหมายแห่งการศึกษาและการสร้างสรรค์ที่แท้จริง

ถึงจะร่ำร้องและเรียกร้องอย่างไรๆ ให้คนมีจริยธรรม ถ้าไม่สร้างฉันทะที่เป็นรากเหง้าต้นตอของมันขึ้นมา ก็อย่าพึงหมายว่าจะสำเร็จ

สรุปอีกครั้งหนึ่งว่า เมื่อมองโดยภาพรวมทั้งหมด การพัฒนาคุณสมบัติทั้งหมดที่ได้พูดมาก็ตาม ไม่ได้พูดก็ตาม ก็อยู่ที่การพัฒนาชีวิต ๓ ด้านของมนุษย์ คือ การพัฒนาพฤติกรรม พัฒนาจิตใจ และพัฒนาปัญญา

ถ้าเราโยงการพัฒนา ๓ ด้านนี้ให้มาประสานกัน และให้เป็นปัจจัยเอื้อต่อกัน ก็จะเกิดผลที่ต้องการถึงจุดสูงสุดคือ ปัญญา และในระหว่างที่พัฒนาปัญญาไปนั้น ถ้าเราพัฒนาถูกต้อง คุณสมบัติอื่นก็จะเกิดพ่วงมาด้วย แต่สิ่งที่จะต้องมองให้ชัดก็คือ ความเป็นปัจจัยต่อกันระหว่าง ๓ ด้านของชีวิต คือ พฤติกรรม จิตใจ และปัญญา ซึ่งสัมพันธ์กันเป็นระบบในกระบวนการพัฒนามนุษย์ ดังได้พูดแล้วข้างต้น

ขออนุโมทนาท่านอาจารย์ และนิสิต ที่มาเยี่ยมวัด ขอความสุข สวัสดีและจตุรพิธพรชัยจงมีแก่ทุกท่าน

1บรรยายแก่คณะอาจารย์ และนิสิตบัณฑิตศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่วัดญาณเวศกวัน ณ วันที่ ๒๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๙
2Albert Einstein, Ideas and Opinions (New York : Bonanza Books, 1954), p.46.
3Ibid., p.52.
4Ibid.,p.46.
5ย้อนหลังไปนานไกลในอดีตสมัยกลางของยุโรป ฝรั่งคนไหน inquisitive (ชอบสอบถามมากนัก) ก็มีหวังถูกจับขึ้น Inquisition (ศาลไต่สวนศรัทธา) แต่เพราะถูกบีบถูกกดด้วย Inquisition ก็ยิ่งทำให้ฝรั่งมีนิสัย inquisitive มากขึ้น
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง