การเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

การเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน1

เรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานนี้ ความจริงก็เป็นเรื่องที่มีชื่อแบบสมัยใหม่ ถ้าจะจับเข้ากับหลักธรรมะ ก็ยังนึกไม่ชัดว่าคำว่า “ประสิทธิภาพ” นี่จะแปลว่าอะไรดี คำว่า ประสิทธิ ก็หาตัวศัพท์ในภาษาบาลีได้อยู่ แต่ก็ไม่ใช่เป็นคำแบบดั่งเดิมที่ใช้ คือเอารูปศัพท์มาประกอบกัน คำว่า สิทธิ ก็แปลว่า ความสำเร็จ ถ้าเติม ‘ป’ เข้าไปข้างหน้าก็เป็น ‘ปสิทธิ’ แปลว่าความสำเร็จทั่ว แล้วก็มีภาพ หรือภาวะเข้าไป ภาวะแห่งความสำเร็จทั่ว หรือภาวะที่ทำให้สำเร็จผลอย่างดีอะไรทำนองนี้ แต่นี่ก็เป็นการพูดเชื่อมโยงไปทางภาษาบาลีนิดหน่อยเท่านั้นเอง ความเป็นจริงความหมายทั่วๆ ไป ก็เข้าใจกันอยู่แล้ว

อย่างที่ได้กล่าวมาแล้วว่า เรื่องที่จะพูดต่อไปนี้ คือ เรื่องประสิทธิภาพในการทำงาน จึงอยากจะโยงเรื่องประสิทธิภาพนี้ไปถึงพระพุทธเจ้า พูดถึงประสิทธิภาพการทำงานของพระพุทธเจ้า เพราะตอนนี้จะพูดถึงธรรมะของพระองค์ที่ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ก็ต้องแสดงให้เห็นว่าพระพุทธเจ้านั้นทรงมีประสิทธิภาพในการทำงานมาก ชีวิตของพระองค์เป็นตัวอย่างของการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อพระองค์มีประสิทธิภาพในการทำงานแล้ว คำสั่งสอนของพระองค์ที่ว่าจะช่วยให้มีประสิทธิภาพในการทำงานนั้น จึงจะน่าเชื่อจริง เพราะฉะนั้นจะเริ่มด้วยข้อความที่แสดงว่าพระพุทธเจ้าทรงมีประสิทธิภาพในการทำงาน ในแง่ที่เป็นประวัติของพระองค์เองอย่างไรก่อน หรือว่าพระพุทธเจ้าตรัสไว้เกี่ยวกับผลสำเร็จแห่งงานของพระองค์อย่างไร

สันโดษไม่ดี ไม่สันโดษจึงดี

งานของพระพุทธเจ้าอย่างแรกที่สุด ก็คือการตรัสรู้ อะไรทำให้พระองค์ได้ตรัสรู้ พระองค์ได้ทำงาน คือ มีความเพียรพยายามอย่างมีประสิทธิภาพจนประสบความสำเร็จให้ตรัสรู้ บรรลุสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้าได้ และพระองค์ก็เคยตรัสไว้ จึงจะขอยกความจากพระสูตรโดยตรง มีความตอนหนึ่งว่า

“ภิกษุทั้งหลาย เรารู้ชัดถึงคุณ (คุณนี้หมายถึงคุณค่าก็ได้) ของธรรม ๒ ประการ คือ ความเป็นผู้ไม่สันโดษในกุศลธรรมทั้งหลายหนึ่ง ความเป็นผู้ทำความเพียรไม่ระย่อท้อถอยหนึ่ง ดังที่เป็นมา เราตั้งความเพียรไว้ไม่ย่อหย่อนว่า จะเหลือแต่หนัง เอ็น กระดูก ก็ตามที แม้เนื้อและเลือดในสรีระเหือดแห้งไปก็ตาม หากยังไม่บรรลุผลที่บุคคลพึงบรรลุด้วยเรี่ยวแรง ความเพียรความบากบั่นของบุรุษแล้ว จะไม่หยุดความเพียรเสีย

ภิกษุทั้งหลาย โพธิญาณเราบรรลุด้วยความไม่ประมาท ธรรมอันเป็นเครื่องปลอดโปร่งรอดพ้นจากเครื่องผูกพัน เราบรรลุแล้วด้วยความไม่ประมาท”

นี่เป็นข้อความสำคัญในพระสูตรตอนหนึ่งที่มาในอังคุตตรนิกาย ต่อจากนี้พระองค์ได้ตรัสเตือนแนะนำพระภิกษุทั้งหลาย ให้บำเพ็ญเพียรตามอย่างที่พระองค์ได้เคยทรงมาแล้ว

ข้อความตอนนี้อาจจะไม่ใช่แสดงคุณธรรมทั้งหมดที่พระพุทธเจ้ามี ที่ทำให้พระองค์มีประสิทธิภาพในการทำงาน แต่ก็กล่าวได้ว่าเป็นพื้นฐานสำคัญ

จุดที่อยากจะชี้ลงไปเพื่อทำให้เกิดความสะดุดใจเป็นที่สังเกตก็ตรงที่ว่า “ความเป็นผู้ไม่สันโดษในกุศลธรรมทั้งหลาย” อันนี้เป็นเรื่องที่ต้องการเน้น ส่วนอันที่สองว่า ความเป็นผู้ทำความเพียรไม่ระย่อท้อถอย อันนี้เป็นเรื่องธรรมดา คือ เรื่องความเพียรนั้น เราก็ทราบกันอยู่แล้วว่าเป็นหลักสำคัญ แต่ทีนี้ความไม่สันโดษนี่ บางท่านอาจรู้สึกแปลกหรือขัดหูหน่อย เคยได้ยินว่าความสันโดษนี่เป็นคุณธรรมสำคัญ มาตอนนี้พระพุทธเจ้าตรัสว่า

“คุณธรรมอย่างหนึ่ง และเป็นข้อแรกด้วยที่ทำให้พระองค์ตรัสรู้ คือความเป็นผู้ไม่สันโดษ แต่ไม่ใช่สันโดษเฉยๆ ไม่สันโดษในกุศลธรรมทั้งหลาย”

ที่ต้องการชี้ก็คือว่า เราเคยนึก เราเคยได้ยิน และพูดกันมากเรื่องความสันโดษ ก็ถือเป็นคุณธรรมใหญ่อย่างหนึ่ง แล้วเราก็จะเห็นนักธรรมะพูดว่า ความไม่สันโดษนี่เป็นสิ่งที่ผิด ไม่ใช่คุณธรรม เป็นอกุศล แต่คราวนี้ชี้มาทางตรงกันข้าม ถ้าหากท่านไม่เคยได้ยินก็ต้องทำให้เกิดเป็นความสงสัยขึ้นมาก่อน จะได้มาช่วยกันชี้แจงให้เกิดความชัดเจนต่อไป เรามาพูดว่าความไม่สันโดษกลายเป็นสิ่งดีไปแล้ว พระพุทธเจ้าเองตรัสว่า พระองค์ไม่สันโดษจึงได้ตรัสรู้

ทีนี้ ต่อไปจะได้พูดถึงว่า พระพุทธเจ้าตรัสว่า ความสันโดษนี่ไม่ดี จะให้แปลกใจโดยสร้างความฉงนสนเท่ห์ก่อน ก็อ้างพุทธพจน์อีกแห่งหนึ่งที่ตรัสว่า

“ดูก่อนนันทิยะ อย่างไรอริยสาวกชื่อว่าเป็นอยู่ด้วยความประมาท?

อริยสาวกนั้นสันโดษด้วยความเลื่อมใสอันมั่นคงในพระพุทธเจ้า ในพระธรรม ในพระสงฆ์ สันโดษด้วยศีลที่อริยชนยอมรับ ย่อมไม่เพียรพยายามให้ยิ่งขึ้นไป…”

แล้วพระองค์ก็บรรยายต่อไป จนในที่สุดตรัสว่า

“… เมื่อเป็นเช่นนี้ อริยสาวกนั้นก็จึงไม่มีปัญญารู้เข้าใจธรรมะทั้งหลาย”

อันนี้สันโดษไม่ดีเสียแล้ว นี่คือ สิ่งที่ต้องการชี้ให้เห็นแต่ต้นว่า มันอาจจะกลับกันกับที่เคยพูดกันมาว่า สันโดษนี่เป็นคุณธรรมสำคัญที่ดี ถ้าไม่สันโดษละก็ผิดธรรมะ แต่ในที่นี้พระพุทธเจ้าติเตียนความสันโดษ และทรงยกย่องความไม่สันโดษ และยกย่องในฐานะเป็นคุณธรรมที่ทำให้พระองค์ตรัสรู้เสียด้วย เพราะฉะนั้นจึงเห็นว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าศึกษา

ในวงการศึกษาธรรมะนั้น อาจมีจุดพลาดตรงนี้ คือ พูดกันไม่ทั่วถึง ไม่รอบด้าน เมื่อศึกษาไม่รอบด้านก็จะเกิดความผิดพลาดขึ้นได้สองแง่ ฝ่ายหนึ่งก็จะพูดว่าสันโดษ นี่เป็นคุณธรรมหรือหลักธรรมที่ไม่ดี ทำให้เกิดผลร้าย เมื่อคนทั้งหลายมีความสันโดษ ก็ทำให้งอมืองอเท้า ไม่อยากขวนขวายเพียรพยายามทำสิ่งที่ควรทำ ไม่อยากสร้างตัวสร้างหลักฐาน เป็นต้น

ถ้ามองในแง่พัฒนาประเทศชาติ ก็ทำให้ประเทศชาติไม่พัฒนาหรือด้อยพัฒนา อะไรอย่างนี้ นี่ก็เป็นฝ่ายหนึ่ง ซึ่งก็เคยมีแม้แต่ท่านผู้ใหญ่ที่เคยแนะนำว่า ไม่ให้พระสอนสันโดษ เพราะท่านเห็นว่าสันโดษนี้เป็นหลักธรรมที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ

ทีนี้ อีกฝ่ายหนึ่งก็พูดถึงแต่เรื่องความสันโดษ จะต้องสันโดษเท่านั้นจึงจะดี จึงจะถูกต้อง ไม่สันโดษเป็นผิดพลาดหมด สองฝ่ายนี้หาจุดยุติไม่ได้ก็ขัดกัน เพราะฉะนั้น จึงน่าจะมีการศึกษาให้ถ่องแท้ว่า พุทธประสงค์เป็นอย่างไรในเรื่องความสันโดษ และไม่สันโดษนี้

สรุปความที่ยกพุทธพจน์มากล่าวเมื่อตะกี้ก็ให้เห็นว่า ความไม่สันโดษนี้เป็นคุณธรรมอย่างหนึ่ง ส่วนสันโดษนั้นก็มีหลักฐานอยู่ในที่อื่นแน่นอนแล้ว ก็เป็นคุณธรรมเช่นกัน เป็นอันว่าความสันโดษเป็นคุณธรรมข้อหนึ่ง ความไม่สันโดษเป็นคุณธรรมอีกข้อหนึ่ง ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าจะเป็นได้อย่างไร...สันโดษก็เป็นคุณธรรม ไม่สันโดษก็เป็นคุณธรรม เป็นคุณธรรมทั้งคู่ได้อย่างไร?

ในทางตรงกันข้ามก็บอกว่า ความสันโดษก็เป็นอกุศลธรรม เป็นสิ่งที่ไม่ดี เป็นสิ่งที่ผิด เป็นข้อปฏิบัติที่ผิด ความไม่สันโดษก็เป็นสิ่งที่ผิดเหมือนกัน ผิดทั้งคู่อีก มีถูกทั้งคู่ และผิดทั้งคู่ ยิ่งน่าสงสัยไปใหญ่

จะขอขยายความนิดหนึ่ง คือให้สังเกตว่าเวลาตรัสว่า สันโดษหรือแม้จะตรัสว่าไม่สันโดษก็ตาม จะไม่ได้ตรัสแต่เพียงถ้อยคำลอยๆ แค่นั้นมันจะต้องมีอะไรตามมาอีก อันนี้แหละคือจุดที่ว่าถ้าจะพลาดก็พลาดตรงนี้ ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า พระองค์เห็นคุณค่าของธรรมสองประการ ข้อแรกก็คือความไม่สันโดษ ที่ทำให้พระองค์ตรัสรู้นะ พระองค์ตรัสต่อไปว่า ความไม่สันโดษในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่สันโดษในสิ่งที่ดีงาม สิ่งที่ถูกต้อง สิ่งที่เกื้อกูล

เอาละ...นี่ก็เป็นแง่ที่หนึ่ง ความไม่สันโดษที่เป็นคุณธรรม ในเมื่อตามมาด้วยคำว่าในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่สันโดษในกุศลธรรมทั้งหลาย แล้วก็เป็นสิ่งที่ดีงามชอบธรรม เป็นคุณธรรมสำคัญ

ถ้าหากว่าสันโดษอย่างที่อริยสาวกเมื่อกี้ สันโดษด้วยศรัทธา สันโดษด้วยศีล สันโดษในกรณีนี้คือสันโดษในกุศลธรรม พอใจแล้ว มีคุณธรรมแค่นี้มีความดีงามแค่นี้ พอแล้ว อย่างนี้เป็นอกุศลเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ท่านเรียกว่าเป็นความประมาท เราจะเห็นชัดว่าในทั้งสองกรณีนี้ ความสันโดษและความไม่สันโดษจะเกี่ยวเนื่องกับความประมาทและความไม่ประมาท

ความไม่สันโดษในกุศลธรรมก็มาคู่กับความไม่ประมาท คือ เมื่อไม่สันโดษในกุศลธรรม แล้วก็ไม่ประมาท ก็จะเพียรพยายามสร้างบำเพ็ญสิ่งที่ดีงามนั้นให้ยิ่งๆ ขึ้นไป ทีนี้ สันโดษ ถ้าสันโดษในกุศลธรรม คิดว่าแค่นั้นพอแล้ว ก็ทำให้เกิดความประมาทคือไม่คิดปรับปรุงตัวเอง ไม่คิดแก้ไข ไม่คิดพยายามสร้างสรรค์เร่งรัดตนเองให้ก้าวหน้า

ทีนี้ ที่ว่าสันโดษเป็นคุณธรรม เป็นสิ่งที่ดี สันโดษอย่างไร ก็จะมีพุทธพจน์ตรัสต่อไปอีกเหมือนกัน อาจจะไม่ได้สังเกต ในพุทธพจน์ที่ตรัสเรื่องสันโดษ เรียกว่าทุกแห่ง ถ้าไม่ใช่คาถา ถ้าเป็นคาถา บางทีข้อความถ้อยคำมันจำกัด เติมอะไรไม่ได้ ก็จะมีแต่ตัวหัวข้อธรรมะ แต่ถ้าเป็นความร้อยแก้วแล้ว พระพุทธเจ้าก็ตรัสเสมอเลยทีเดียวว่า “ภิกษุเป็นผู้สันโดษด้วยจีวร ด้วยบิณฑบาต ด้วยเสนาสนะ ด้วยคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร” นี่ชัดเลย แล้วก็ยังตรัสต่อไปอีกว่า “เธอเหมือนอย่างนกที่มีแต่ปีกบินไป ต้องการจะไปที่ไหน เมื่อใด ก็ไปได้เองทันที”

พุทธพจน์นี้ ถ้าหากว่าอ่านให้จบ จะเห็นชัดถึงความหมายว่า สันโดษคืออะไร และมีความมุ่งหมายอยู่ที่ไหน และถ้าเข้าใจอย่างนี้ ก็จะเห็นทันทีว่าความสันโดษกับความไม่สันโดษนี่มันไปกันได้ด้วย ความสันโดษนั่นแหละคือเป็นเบื้องต้นของความไม่สันโดษ หรือเป็นตัวเกื้อหนุนความไม่สันโดษ แต่จะต้องจับให้ถูก

ทีนี้ สันโดษที่เป็นคุณธรรมนั้น คือ สันโดษสำหรับพระ ในปัจจัยสี่ ถ้าพูดอย่างภาษาญาติโยมชาวบ้านก็คือ สันโดษในวัตถุ สิ่งที่จะเอามาบริโภคใช้สอย หรืออาจจะพูดว่า วัตถุที่ปรนเปรอบำรุงบำเรออำนวยความสะดวกสบายต่างๆ ในแง่นั้นให้สันโดษ แต่ทีนี้เมื่อมีความสันโดษแล้ว เรามีความพอใจ รู้จักอิ่มรู้จักพอในด้านวัตถุที่จะมาบำรุงบำเรอปรนเปรอตนเองแล้ว เราก็จะมีเวลาและมีกำลังแรงงานเหลือที่จะเอาไปใช้ทำกิจหน้าที่ของเรา สิ่งที่เป็นกิจที่เป็นการงานนั้นนั่นแหละเป็นพวกกุศลธรรม

พระพุทธเจ้าก่อนที่จะตรัสรู้ เป็นพระโพธิสัตว์ งานของพระองค์ก็คือการทำหน้าที่แสวงหาสัจธรรม จะต้องให้ตรัสรู้ให้ได้ พระพุทธเจ้าไม่ทรงเอาใจใส่เท่าไรว่า พระองค์จะสะดวกสบายเรื่องความเป็นอยู่ นั่นแสดงว่าพระองค์สันโดษในเรื่องวัตถุปัจจัยสี่ แต่ต่อจากนั้นพระองค์ไม่สันโดษแล้ว คือทรงไม่สันโดษในการที่จะบำเพ็ญกุศลธรรมหรือในการที่จะก้าวหน้าในการแสวงหาสัจธรรม

ประจักษ์พยานหลักฐานที่แสดงถึงการที่พระพุทธเจ้าไม่สันโดษอย่างไรนั้นมีมากมาย ตอนแรกที่พระพุทธเจ้าทรงออกบรรพชา เสด็จไปแสวงหาความรู้ก่อน ไปสำนักอาฬารดาบส กาลามโคตร ตามพุทธประวัติว่าอย่างนั้น ไปศึกษาจนกระทั่งจบความรู้อาจารย์ แล้วพระองค์ไม่พอพระทัยในผลสำเร็จนั้น อาจารย์ชวนบอกว่าท่านนี่นะเรียนเก่งมากจบความรู้ของข้าพเจ้าแล้ว ในฐานะที่ท่านมีสติปัญญาดี ขอเชิญมาช่วยกันสั่งสอนอบรมศิษย์ต่อไป

พระพุทธเจ้าไม่ทรงพอพระทัย ไม่อิ่ม ไม่สันโดษด้วยผลสำเร็จนั้น ถือว่ายังไม่บรรลุจุดมุ่งหมายของพระองค์ พระองค์ก็ขอลาจากสำนักอาฬารดาบส กาลามโคตร แล้วก็เสด็จไปสำนักอุททกดาบส รามบุตร ที่มีชื่อเสียง แล้วก็ศึกษาปฏิบัติจนกระทั่งหมดภูมิความรู้ของอาจารย์ เมื่อประสบความสำเร็จนั้นแล้ว อาจารย์ก็ชวนอีกแหละว่า เอาละท่านก็ได้ศึกษาจนหมดภูมิของข้าพเจ้าแล้ว ต่อแต่นี้ไป มาร่วมกันเป็นอาจารย์สั่งสอนกุลบุตรรุ่นหลังต่อไปเถิด

พระพุทธเจ้าก็ไม่ทรงพอพระทัย คือว่า ยังไม่บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ก็ขอลาจากสำนักนั้นไปอีก แล้วก็ไปทรงหาวิธีการอย่างอื่น ไปบำเพ็ญทุกรกิริยา ไม่เห็นว่าจะประสบความสำเร็จ พระองค์ก็ค้นคว้าต่อไปจนกระทั่งได้เป็นพระพุทธเจ้า แล้วพระองค์ก็มาตรัสว่า เราเห็นคุณค่าของธรรมสองประการ คือ ความไม่สันโดษในกุศลธรรมทั้งหลาย แล้วก็บำเพ็ญความเพียรไม่ระย่อ จึงได้ตรัสรู้ ไม่ระย่อนี่หมายความว่าถ้ามองเห็นจุดหมาย แน่ใจด้วยเหตุผลว่าจะสำเร็จตามนี้ทางนี้ถูกต้อง ทำให้ไม่กลัวตายอย่างที่ว่าเมื่อกี้นี้ว่า ตอนที่ประทับนั่งตั้งพระทัยเลยว่า เอาละ...ถ้ายังไม่บรรลุโพธิญาณแล้ว แม้เลือดเนื้อจะเหือดแห้งไป เหลือแต่เส้นเอ็นกระดูก พระองค์ก็จะไม่ยอมลุกขึ้น นี่เป็นความเด็ดเดี่ยวของพระทัย นี่เป็นตัวอย่างของความไม่สันโดษเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะมองข้าม

ความไม่สันโดษ ที่เป็นพระจริยาวัตรของพุทธเจ้า

คุณธรรมคือความไม่สันโดษนี้ ควรจะได้รับการเน้นและยกย่องในหมู่พุทธศาสนิกชนได้มาก แต่ต้องเป็นความไม่สันโดษที่ถูกต้องตามหลักพุทธศาสนา เพราะเป็นพระจริยาวัตรของพระพุทธเจ้าทีเดียว

ทีนี้ ถ้าเรามองความไม่สันโดษเป็นธรรมสำคัญ เราจะเห็นว่าความสันโดษในเรื่องสิ่งบริโภคที่จะเอามาบำรุงบำเรอตัวเอง หมายความว่า เอากิจหน้าที่การงานวัตถุประสงค์ที่ดีงามนี้เป็นใหญ่ ส่วนการดำเนินชีวิต การมีปัจจัยสี่อะไรต่างๆ นั้น เป็นเพียงองค์ประกอบเกื้อกูล การมีปัจจัยสี่ การมีวัตถุอำนวยความสะดวกนั้น จะต้องมีเป้าหมายเพื่อเป็นเครื่องเกื้อหนุนในการที่จะบำเพ็ญกิจหน้าที่ การกระทำสิ่งที่ดีงามเพื่อเข้าถึงจุดประสงค์ที่เป็นประโยชน์ ถ้าอย่างนี้แล้วรับกันเลย สันโดษ กับ ไม่สันโดษ ความสันโดษก็เป็นฐานรองรับแก่ความไม่สันโดษอย่างที่ว่ามาแล้ว และความไม่สันโดษนั้นก็เป็นความไม่ประมาท

เรื่องความสันโดษที่พูดกัน ที่ว่าเป็นปัญหามากก็เพราะไม่ได้พูดให้ชัดว่า สันโดษในเรื่องอะไร? มีเป้าหมายหรือความมุ่งหมายอย่างไร? เมื่อเราพยายามอธิบายแต่เพียงความหมายของคำ มันก็ยิ่งพร่าออกไป สันโดษที่ตรัสไว้โดยไม่พูดว่าสันโดษในเรื่องอะไร ก็มีแต่ในคาถาอย่างที่พูดมาแล้ว เช่น บอกว่า สนฺตุฏฺี ปรมํ ธนํ - ความสันโดษเป็นทรัพย์อย่างยิ่ง

หรือในมงคลสูตรก็บอกว่า “สนฺตฏฺี จ กตฺุตา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ -- ความสันโดษ ความกตัญญู (และอะไรต่างๆ อีกมากมายในมงคล ๓๘ ความสันโดษก็เป็นมงคลหนึ่งในมงคลเหล่านั้น) เป็นมงคลอันอุดม

ในคาถาอย่างนี้ไม่ได้บอกไว้ชัดเจนว่า ให้สันโดษในอะไร แต่ถ้าเป็นข้อความร้อยแก้วจะบอกชัดทีเดียวว่าสันโดษในอะไร นี่เป็นแง่หนึ่งที่เกี่ยวกับการศึกษาธรรมะ คือต้องสะกิดบอกกันว่าไม่ใช่พูดแต่เรื่องความหมายของธรรมข้อนั้นๆ เท่านั้น แต่จะต้องทำความเข้าใจให้ครบถ้วนทุกแง่ด้วย เช่นในแง่นี้ก็คือ จะต้องมองความหมาย โดยสัมพันธ์กับจุดมุ่งหมายของธรรมะข้อนั้นๆ และโดยสัมพันธ์กับธรรมะข้ออื่นๆ ด้วย อย่างความไม่สันโดษนี่ชัดเจนว่า จะสัมพันธ์กันกับความเพียรพยายาม เช่นในข้อสองแห่งคุณธรรมที่ให้ตรัสรู้นั้น ก็จะตามมาด้วยความเพียรที่ไม่ยอมระย่อท้อถอย

ถ้าเราสันโดษผิดก็ตาม ไม่สันโดษผิดก็ตาม ก็จะเกิดผลร้ายขึ้นมาทันที ฉะนั้นต้องจับจุดให้ถูก สันโดษต้องสันโดษในเรื่องเครื่องอำนวยความสะดวกทางวัตถุ แต่ต้องไม่สันโดษในกุศลธรรม ถ้าไปจับสันโดษผิดสันโดษในกุศลธรรมก็หยุดเลย เป็นผลเสียเลยทีเดียว มันจะเสียอย่างไร ถ้าพระโสดาบันสันโดษในเรื่องกุศลธรรม พระโสดาบันนั้นก็กลายผู้ประมาทไม่ก้าวหน้า ไม่ต้องได้บรรลุเป็นสกทาคามี อนาคามี อรหันต์ ต่อไป ไม่ต้องไปแล้ว เป็นโสดาบันอยู่นั้นเอง เรียกว่า เป็นอริยสาวกผู้ประมาท

ทีนี้ ถ้าหากว่าไม่สันโดษอย่างผิดพลาด คือ ไม่สันโดษในสิ่งอำนวยความสะดวก มุ่งหาแต่วัตถุบำรุงบำเรอตนเอง เขาเรียกว่ามุ่งหาอามิส ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วงานก็หยุด งานก็เสีย ใจก็ไม่อยู่กับงาน เมื่อใจก็ไม่อยู่กับงาน ทำงานก็ไม่ได้ผลดี งานก็ไม่สำเร็จผลด้วยดี แล้วดีไม่ดีความไม่สันโดษนี่ ก็สนับสนุนความโลภ เมื่อโลภแล้วได้ไม่ทันใจก็ต้องทุจริตอะไรอย่างนี้ เป็นต้น ตัวไม่สันโดษก็นำมาซึ่งความทุจริต มันก็เป็นเรื่องของผลร้าย

ในจุดนี้ ก็สรุปแต่เพียงว่า เรื่องสันโดษและไม่สันโดษนี่ไม่ใช่คุณธรรมที่เราจะเข้าใจเฉพาะตัวลอยๆ แต่จะต้องเข้าใจโดยสัมพันธ์กับสิ่งที่เป็นเป้าของมันว่า สันโดษในอะไร ไม่สันโดษอะไร แล้วก็มีความมุ่งหมายอะไร อย่างที่ได้กล่าวมาแล้ว

ถ้ามีความเข้าใจร่วมกันอย่างนี้แล้ว ก็จะศึกษาให้ลึกลงไปอีกว่า ความสันโดษที่ดีและความไม่สันโดษที่ดีนี่ จะต้องมีรากฐานอีกว่าเกิดจากอะไร ทำอย่างไรจึงจะมีสันโดษที่ดีและไม่สันโดษที่ดี

ความอยากที่ดี

มีคุณธรรมข้อหนึ่งที่ถือว่าเป็นพื้นฐาน ที่จริงเป็นพื้นฐานของการที่จะก้าวหน้าในคุณธรรมทั้งหมดทีเดียว คุณธรรมข้อนี้ท่านเรียกว่า “ฉันทะ”

ฉันทะตัวนี้เราฟังแล้วคุ้นหู เพราะท่านที่เป็นนักศึกษาธรรมนี่รู้ทันที ฉันทะเป็นข้อหนึ่งในอิทธิบาท ๔ เราแปลกันว่า ความพอใจรักใคร่ในสิ่งนั้น หมายความว่า ถ้าเรามีงานที่จะต้องทำ เราก็รักงานนั้น เรื่องที่เกี่ยวข้องกับฉันทะ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการกระทำเท่านั้น เพราะ อิทธิบาท แปลว่า ทางไปสู่ความสำเร็จหรือคุณธรรมที่ให้ถึงความสำเร็จ เป็นเรื่องของการกระทำ จะทำให้สำเร็จต้องมีฉันทะ มีความรักความพอใจในสิ่งที่จะทำ แปลง่ายๆ ว่า “มีใจรัก” เมื่อมีใจรักแล้ว ก็มาโยงกับความสันโดษและไม่สันโดษ พอเรามีใจรักในงานที่ทำ สิ่งที่เป็นวัตถุประสงค์ สิ่งที่ดีงามขึ้นมา เราก็จะมีใจฝักใฝ่อยู่กับวัตถุประสงค์ของเรานั้น อยู่กับงานที่จะนำไปสู่วัตถุประสงค์ เราจะไม่ยอมหยุดถ้าไม่สำเร็จผลตามวัตถุประสงค์ แล้วผลที่เกิดขึ้นในแต่ละขั้นนั้น เรายังถือว่ายังไม่พอ เราจะต้องเดินหน้าต่อไป

ในแง่นี้ ก็มีความไม่สันโดษเกิดขึ้น เรียกว่า “ไม่สันโดษในกุศลธรรม” และเพราะการที่เราเอาใจมาฝักใฝ่ มามุ่งอยู่กับงานที่เป็นวัตถุประสงค์นี่ เราก็จะเกิดความสันโดษในเรื่องของเครื่องอำนวยความสะดวกสบาย เรื่องปรนเปรอต่างๆ คือไม่ค่อยเอาใจใส่ จะเห็นว่าคนที่ตั้งใจทำงานอย่างจริงจังแล้ว ก็ไม่วุ่นวายกับสิ่งปรนเปรอบำรุงบำเรอทั้งหลาย ดังนั้น ฉันทะนี้เป็นธรรมพื้นฐานที่จะนำไปสู่สันโดษ และความไม่สันโดษที่ถูกต้อง

อิทธิบาท ๔: ทางแห่งความสำเร็จ

นอกจากการที่จะมีความไม่สันโดษ และสันโดษที่ถูกต้องแล้ว เพราะฉันทะทำให้ใจมาอยู่กับงาน สิ่งที่ทำ สิ่งที่เป็นเป้าหมาย ทำให้เกิดจิตใจฝักใฝ่อย่างที่ว่ามาเมื่อกี้ เมื่อใจฝักใฝ่ก็ทำงานด้วยความแน่วแน่จริงจัง สภาพที่จิตแน่วแน่อยู่กับสิ่งที่กระทำนั้น เราเรียกว่าเป็น “สมาธิ”

เพราะฉะนั้น ฉันทะก็นำไปสู่สมาธิ สมาธิในการทำงานเกิดได้ด้วยการมีฉันทะ เมื่อมีสมาธิและใจก็รักงานนั้น ทำงานด้วยใจรัก ใจก็เป็นสุข เพราะฉะนั้น คนที่ทำงานด้วยฉันทะก็มีจิตใจเป็นสุข ใจเป็นสมาธิ สมาธิก็ทำให้เป็นสุขเพราะจิตใจสงบแน่วแน่ เมื่อทำจิตใจให้เป็นสมาธิแน่วแน่ ตั้งใจจริงจัง ใจรักงานนั้น ตั้งใจทำเต็มที่ มีความเพียรพยายาม ผลสำเร็จของงานก็เป็นผลสำเร็จที่ดี เรียกว่านำไปสู่ “ความเป็นเลิศ” ของงานนั้น หมายความว่า งานนั้นจะสำเร็จผลอย่างดีเลิศ อันนี้ก็เลยพันกันไปหมด เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า ฉันทะเป็นคุณธรรมอย่างหนึ่งในอิทธิบาท ๔ คือ ธรรมที่เป็นเครื่องให้ถึงความสำเร็จ หรือเรียกง่ายๆ ว่า “ทางแห่งความสำเร็จ”

เมื่อพูดมาถึงอิทธิบาทแล้ว ก็จะต้องโยงไปถึงคุณธรรมข้ออื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย เพราะอิทธิบาทมี ๔ ข้อ คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ฉันทะคือ ข้อที่พูดมาแล้ว ความพอใจรักใคร่ในสิ่งนั้น รักงาน รักเป้าหมาย รักจุดหมายที่ดีงาม รักวัตถุประสงค์ของงานนั้น

ข้อต่อไปนี้คือ วิริยะ ความเพียร ความพยายาม จิตตะ ความเอาใจใส่ในสิ่งนั้น วิมังสา ความไตร่ตรองสอบสวนพิจารณา หรือถ้าจะพูดให้สั้น จำง่ายๆ ก็บอกว่า “มีใจรัก พากเพียรทำ เอาจิตฝักใฝ่ ใช้ปัญญาสอบสวน” นี่เป็นอิทธิบาท ๔

ฉันทะเป็นข้อที่ ๑ ตามปกติถ้ามีฉันทะแล้ว มันก็ช่วยให้เกิดคุณธรรมข้ออื่นในอิทธิบาท ๔ ตามมา มันสัมพันธ์กัน ช่วยเหลือเกื้อหนุนกัน พอมีฉันทะใจรักแล้ว มันก็เกิดความเพียรพยายาม เมื่อมีความเพียรพยายามใจก็ฝักใฝ่จดจ่ออยู่กับสิ่งนั้น มีใจจดจ่อเอาใจใส่แล้ว ก็สามารถจะใช้ปัญญาพิจารณาสอนสวนเรื่องราวนั้น ไตร่ตรองถึงข้อบกพร่อง ข้อที่ควรแก้ไข หาทางทดลองปรับปรุงอะไรต่างๆ เหล่านี้ มันก็ตามกันมา ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา เป็นชุดกันทีเดียว แต่ความจริงนั้นไม่จำเป็นจะต้องตามลำดับนี้ อิทธิบาท ๔ นั้นแต่ละข้อมันก็เป็นใหญ่ในแต่ละตัว พระพุทธเจ้าตรัสว่า อิทธิบาท ๔ แต่ละข้อเป็นตัวทำให้เกิดสมาธิได้ทั้งนั้น ในพระไตรปิฎกจึงมักจะตรัสเรื่องอิทธิบาท ๔ ในแง่ของสมาธิ แล้วจะมีสมาธิตามชื่อของอิทธิบาท ๔ แต่ละข้อ พระพุทธเจ้าตรัสว่า

สมาธิที่อาศัยฉันทะเกิดขึ้น เรียกว่า “ฉันทสมาธิ”

สมาธิที่อาศัยวิริยะเกิดขึ้น เรียกว่า “วิริยสมาธิ”

สมาธิที่อาศัยจิตตะ ความเอาใจฝักใฝ่เกิดขึ้น เรียกว่า “จิตตสมาธิ”

และสมาธิที่อาศัยวิมังสาเกิดขึ้น เรียกว่า “วิมังสาสมาธิ”

ตกลงมีสมาธิ ๔ แบบ อันนี้อาจจะเป็นคำที่แปลก ที่จริงพระไตรปิฎก มีคำตรัสถึงเรื่องสมาธิตามหลักอิทธิบาทนี้บ่อยๆ

การสร้างสมาธิโดยเอาหลักอิทธิบาทมาใช้นี่เราจะเห็นว่ามันช่วยให้ได้ผลดี แล้วไม่จำเป็นจะต้องเป็นไปตามลำดับที่ว่า คือแต่ละข้อนี่ทำให้เกิดสมาธิได้ทั้งนั้น แล้วมันจะสัมพันธ์กับนิสัยของคน สมาธิในแบบอิทธิบาทนี่มันเกื้อกูลแก่การทำงานมาก สำหรับข้อฉันทะนั้นได้พูดมาแล้วว่า เมื่อมีใจรักแล้วเราก็เกิดความแน่วแน่ เกิดสมาธิในการทำงาน อันนี้เป็นเรื่องแน่นอน

แต่ทีนี้สำหรับคนบางคน ถ้าเราต้องการที่จะนำหรือกระตุ้นให้เกิดสมาธิ ลักษณะจิตใจของเขาเหมาะแก่การกระตุ้นวิริยะมากกว่า วิริยะนี่มาจากคำว่า วีระ ตามหลักภาษา วีระกับภาวะ รวมกันแล้วก็เป็นวิริยะ แปลว่า วีรภาวะ ภาวะของผู้แกล้วกล้า วิริยะที่แปลว่า ความเพียรพยายาม นี่แปลตามศัพท์ว่า ความเป็นผู้แกล้วกล้า แกล้วกล้า คือ ใจสู้ ไม่ยอมท้อ ถ้าเห็นอะไรเป็นอุปสรรคหรืองานที่มาอยู่ข้างหน้าแล้วจะต้องเอาชนะทำให้สำเร็จ คนที่มีลักษณะอย่างนี้ จะทำอะไรต้องให้มีลักษณะท้าทาย ถ้าอะไรเป็นเรื่องท้าทายแล้วใจสู้จะทำให้ได้ คนที่มีลักษณะอย่างนี้ ท่านว่าให้ปลูกฝังสมาธิด้วยวิริยะ คือสร้าง วิริยสมาธิ ถ้าเราใช้จิตวิทยาก็หมายความว่า คนลักษณะนี้จะต้องทำงานให้เป็นเรื่องที่ท้าทาย ถ้าทำงานหรือสิ่งที่เรียนให้เป็นเรื่องที่ท้าทายแล้ว คนแบบนี้จะสู้และจะพยายามทำให้สำเร็จ แล้วสมาธิที่เป็นตัวแกนให้งานสำเร็จจะตามมา

คนบางคนเป็นคนแบบมีจิตตะ ลักษณะเป็นคนเอาใจจดจ่อ ถ้ามีอะไรที่เข้าเกี่ยวข้องกับตัวเขา เรียกว่าเป็นเรื่องของเขาแล้ว เอาใจจดจ่อไม่ทอดทิ้ง อย่างนี้เป็นลักษณะของคนมีความรับผิดชอบ คนแบบนี้ ถ้าทำให้เรื่องนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวเขา อยู่ในความรับผิดชอบ เป็นเรื่องของเขาขึ้นมาแล้วเขาจะทำ เรียกว่าสร้างสมาธิด้วยวิธีของจิตตอิทธิบาท ข้อที่ ๓

คนอีกพวกหนึ่งเป็นพวกชอบสงสัย ชอบค้นคว้า ชอบทดลอง ถ้าทำอะไรให้เขาเกิดความรู้สึกสงสัย อยากรู้ อยากเข้าใจขึ้นมาละก็พวกนี้เอา เพราะฉะนั้น ถ้ารู้จิตวิทยาดีในแบบนี้ ก็หมายความว่าทำเรื่องนั้นให้เป็นเรื่องที่น่าค้นคว้า น่าศึกษา น่าสงสัย น่าทดลอง พออยากลองคราวนี้คนนั้นเอาจริงๆ ไม่ทิ้ง ไม่ไปไหน วุ่นอยู่นั่นเอง พยายามทำให้ได้ให้สำเร็จ

อิทธิบาทแต่ละข้อนี่เป็นวิธีสร้างสมาธิทั้งนั้น เป็นทางนำไปสู่ความสำเร็จ ไม่จำเป็นจะต้องเริ่มที่ข้อใดตายตัว ตามปกตินั้นเริ่มที่ฉันทะมาก ถ้าเริ่มตัวหนึ่งแล้ว ตัวอื่นจะมาหนุนทันที เพราะฉะนั้นถ้าคนมีนิสัยใจรักชอบอะไรแล้วก็ทำละก็ คนนั้นก็ต้องยุในแง่ฉันทะ คนไหนชอบสิ่งที่ท้าทายก็ต้องทำงานให้เป็นเรื่องท้าทาย จึงจะเอาจริง ใจสู้ คนไหนมีลักษณะเป็นคนมีความใฝ่ใจรับผิดชอบ เรื่องของตัวเองเกี่ยวข้องจึงทำ ก็ใช้วิธีจิตตะ ส่วนคนที่ชอบทดลองค้นคว้า ก็ทำงานให้เป็นเรื่องที่น่าอยากรู้อยากเห็น อยากเข้าใจ น่าสงสัยสอบสวนไป มันก็จะได้งานขึ้นมา คือว่าทุกอย่างจะนำไปสู่การเกิดสมาธิ เมื่อเกิดสมาธิแล้วเขาจะทำงานด้วยความพอใจ มีความสุข เมื่อทำด้วยความตั้งใจจริง ทำด้วยสมาธิ งานนั้นก็สำเร็จอย่างดี

หลักอิทธิบาท ๔ นี่ เป็นธรรมสำคัญที่เราอาจจะต้องมาขยายวิธีการ คือ จากหลักใหญ่ๆ นี่ น่าจะมีการเอาไปขยายรายละเอียดของวิธีการได้ในแต่ละข้อ เช่นว่า ในแง่ฉันทะ จะทำอย่างไร มีเทคนิคอะไรบ้างที่จะทำให้คนรักงาน หรือทำให้งานนั้นหรือเรื่องที่เป็นหน้าที่นั้นเป็นเรื่องที่คนชอบ เพราะจะมีคนพวกหนึ่งที่ว่ารักชอบละก็ทำ ทีนี้ มีคนอีกพวกหนึ่งที่ต้องใช้ธรรมข้อที่ ๒ คือจะต้องสร้างเทคนิคกันขึ้นมาว่า ทำอย่างไรจะให้งานหรือหน้าที่นั้นเป็นเรื่องท้าทาย แล้วคนพวกนี้ก็จะมาทำ อย่างที่ ๓ ก็ทำให้รู้สึกเกี่ยวข้องเป็นเรื่องของเขา อันที่ ๔ ก็ทำให้เกิดความรู้สึกอยากทดลอง

นี่เป็นวิธีการในพุทธศาสนา ซึ่งเป็นหลักใหญ่ๆ แต่ในแง่เทคนิคนี่เรายังไม่ค่อยได้มีการนำเอามาขยาย ถ้าขยายอาจจะเป็นวิธีการที่น่าศึกษาทีเดียว เอามาเรียนเป็นวิชาการกันได้สำหรับเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน แต่จุดแรกที่ย้ำนี่ โยงกลับไปที่เก่า คือ เรื่องฉันทะ จึงจะขอผ่านเรื่องอิทธิบาทนี่กลับมาสู่ข้อต้นในชุดของมัน คือ ฉันทะ อีกครั้งหนึ่ง

ฉันทะทำให้ขยัน ตัณหาทำให้ขี้เกียจ

ทีนี้ จะขอพูดเรื่องฉันทะอย่างเดียว ฉันทะนี้เป็นเรื่องที่เราจะต้องศึกษาอีก ที่พูดมาเมื่อกี้นี้ว่า ฉันทะ แปลว่า ความชอบ ความพอใจ ความรัก หรือความมีใจรัก แต่ความจริงฉันทะนั้นมันมี ๒ แบบ

ฉันทะแบบที่เราว่ากันมาเมื่อกี้นี้ ในบางโอกาสจะต้องเรียกชื่อให้เต็มว่า “ธรรมฉันทะ” แปลว่า ฉันทะในธรรม ธรรมคืออะไร? ธรรมะนี่ให้ความหมายกันได้เยอะแยะ แต่ในที่นี้เอาเพียง ๒ อย่าง ธรรมะแง่หนึ่งแปลว่า ความจริง แง่ที่สองแปลว่าความดีงาม พอแปลได้ ๒ ความหมาย นี่ก็จะโยงกับเรื่องเกี่ยวข้องในที่นี้ สำหรับธรรมะที่แปลว่าความจริงนั้น ความจริงคือสิ่งที่พึงรู้ แล้วทีนี้ความดีงาม ความดีงามคืออะไร ความดีงามคือสิ่งที่พึงกระทำหรือพึงทำให้เกิดให้มีเป็นจริงขึ้นมา

พอบอกว่า ธรรมฉันทะ ฉันทะในธรรม ความหมายที่ ๑ คือฉันทะในความจริง ฉันทะในสิ่งที่พึงรู้ ฉันทะในแง่นี้ก็แปลว่า อยากในความรู้ คือใฝ่รู้ เพราะฉะนั้น ฉันทะแง่ที่ ๑ ก็ใฝ่รู้ คนมีฉันทะแง่ที่ ๑ คือมีความใฝ่รู้ อยากจะรู้ อยากจะศึกษาให้เข้าใจความจริง ว่าอันนี้นั้นเป็นอย่างไร เหมือนอย่างพระพุทธเจ้าที่ได้ตรัสรู้ก็เพราะมีธรรมฉันทะนี้ ต้องการรู้ต้องการเข้าถึงความจริง เพราะฉะนั้นจึงต้องขวนขวายให้เกิดความรู้ให้ได้

ในแง่ที่ ๒ ที่ว่า ฉันทะในความดีงามที่พึงทำให้เกิดให้มีเป็นจริงขึ้น ก็คือ ฉันทะในการกระทำ ความอยากทำ หรือใฝ่ทำ อันนี้คือตัวที่ท่านเรียกว่า “กัตตุกัมยตาฉันทะ” เป็นฉันทะสำคัญ เป็นรากฐานของความก้าวหน้า

เป็นอันว่า ฉันทะชื่อเต็มว่า ธรรมฉันทะ คือใฝ่รู้และใฝ่ทำ หรืออยากรู้ และอยากทำ หรืออยากศึกษา และอยากสร้างสรรค์ อันนี้แหละเป็นตัวหลักสำคัญ พระพุทธเจ้าเรียกธรรมฉันทะนี้เต็มที่ว่า “กุศลธรรมฉันทะ” แต่บางทีเราจะเรียกศัพท์ให้เต็มที่ มันยืดยาวเกินไป ก็เลยตัดกันว่า ธรรมฉันทะ หรือบางท่านก็ตัดเอาตัวหน้า “ธรรม” เอาออก เรียกว่า “กุศลฉันทะ” แต่เรียกอย่างไรก็ตาม ก็ให้รู้ว่ามันเป็นความหมายนี้ แต่บางทีเราเรียกกันสั้นๆ ว่า ฉันทะเท่านั้น โดยหมายถึงฉันทะที่ต้องการที่พูดมาแล้ว เป็นอันว่าเป็นเรื่องของความ “ใฝ่รู้” และ “ใฝ่ทำ”

ยังมีฉันทะอีกอย่างหนึ่ง ได้ยินกันบ่อยในนิวรณ์ ๕ ข้อ ๑ ว่า “กามฉันทะ ฉันทะในกาม” ในสิ่งที่อยากได้ คือใจคิดคำนึงแต่ว่าอยากได้โน่น อยากได้นี่ อยากได้รูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ที่น่าพอใจทั้งหลาย ใจไปอยู่กับสิ่งที่ต้องการ อยากโน่นอยากนี่ และไม่เป็นสมาธิ เรียกง่ายๆ ก็คือ อยากได้อามิส นี่เรียกว่ากามฉันทะ ตกลงว่าฉันทะมี ๒ อย่าง กามฉันทะ กับธรรมฉันทะ ถ้าเป็นกามฉันทะ แล้วก็เป็นเรื่องของโลภะ เป็นเรื่องของตัณหา ที่จริงมันเป็นไวพจน์ของตัณหานั่นเองแหละ ตัณหาที่เป็นกามฉันทะนี่คือตัวปฏิปักษ์ของธรรมฉันทะ หรือฉันทะที่เราต้องการ

ตอนนี้ก็มาถึงการแยกระหว่างฉันทะที่เป็นธรรมฉันทะ กับฉันทะที่เป็นกามฉันทะ หรือเป็นตัณหา ซึ่งเราจะต้องแยกให้ถูก ถ้ามีกามฉันทะก็มุ่งไปในทางของตัณหา มุ่งหาสิ่งบำรุงบำเรอวัตถุอำนวยความสะดวกต่างๆ ตัณหานี้นำไปสู่ความเกียจคร้าน ไม่ได้ทำให้เกิดความสำเร็จ หลายท่านบอกว่า เราจะต้องไม่สันโดษ สันโดษแล้วทำให้งอมืองอเท้า บ้านเมืองพัฒนาไม่ได้ ต้องส่งเสริมให้คนเกิดตัณหา อยากได้โน่นได้นี่แล้วจะได้มีความพยายามสร้างโน่นสร้างนี่ จะได้พัฒนา ในที่นี้ขอบอกว่า ถ้าทำให้คนมีตัณหาแล้วคนจะขี้เกียจ มันตรงข้าม

ทำไมจึงว่าอย่างนั้น? ตัณหาทำให้ขี้เกียจ เพราะเขาไม่ได้อยากได้งาน ไม่ได้อยากได้ผลสำเร็จของงาน เมื่อเราจะให้คนทำงาน เราต้องทำให้เขารักงาน รักความมุ่งหมายของงาน รักวัตถุประสงค์ของงาน ถ้าคนรักงาน รักความมุ่งหมายของงาน เราเรียกว่า มีฉันทะ

แต่ทีนี้ เราบอกว่าให้เขาอยากได้วัตถุ ได้เงินอะไรอย่างนี้ เราเรียกว่าเร้าตัณหา ถ้าหากให้เขาอยากได้เงิน ได้วัตถุปรนเปรอนี่ เขาไม่ได้อยากได้ผลสำเร็จของงาน ไม่ได้รักงาน ถ้าเป็นไปได้เขาจะไม่ทำงาน เพราะเขาอยากจะได้เงิน อยากจะได้วัตถุเท่านั้น เพราะฉะนั้นพวกนี้จะหาทางลัดว่าทำอย่างไรจะได้วัตถุ ได้เงินโดยไม่ต้องทำงาน แล้วเราก็จะสร้างเครื่องบีบบังคับ สร้างระบบการควบคุมเพื่อเป็นเงื่อนไขให้เขาต้องทำงานจึงจะได้วัตถุ ได้ผลประโยชน์ ได้เงินที่เขาต้องการ ใช่ไหม? อันนี้คือระบบของความยุ่งยาก จะต้องป้องกันความทุจริตกันเต็มที่

ถ้าหากว่าเขาหลีกเลี่ยงได้ไม่ต้องทำงาน พวกมีตัณหานี่จะหาทางเอาวิธีลัด ถ้าทุจริตได้ก็ทุจริต พวกนี้ถ้าหากว่าไม่ต้องทำงานได้ก็ดี ก็เลยขี้เกียจ เพราะฉะนั้นตัณหาก็ส่งเสริมให้คนขี้เกียจ ถ้าตัณหามากขึ้นอีกก็ขี้เกียจ บวกสุรายาเสพติดการพนัน ดังนั้นจึงบอกได้ว่า ตัณหาเป็นธรรมที่ส่งเสริมความขี้เกียจ และส่งเสริมความทุจริต ไม่ได้ช่วยให้เกิดความดีงาม ความขยันหมั่นเพียร หรือการพัฒนาอะไรเลย

แต่มีอยู่บ้างที่พระอานนท์เคยกล่าวว่า บางทีต้องใช้เทคนิคเหมือนกัน บอกว่าอาศัยตัณหาละตัณหา หมายความว่า บางครั้งเราต้องเอาตัณหาเป็นเครื่องมือ เพราะว่าคนบางคนทำให้เกิดฉันทะนี่ยากเหลือเกิน ต้องไปกระตุ้นตัณหาก่อน ให้อยากได้ผลประโยชน์ อยากได้วัตถุ เสร็จแล้วจึงเอาตัณหาความอยากได้วัตถุ หรือความโลภนั่นมาเป็นเครื่องกระตุ้นให้เกิดฉันทะความรักงานอีกทีหนึ่ง ในกรณีที่ใช้เป็นเทคนิคนี่ท่านยอม แต่ว่าต้องระวังที่สุด เพราะจะไม่ค่อยสำเร็จตามนั้น เพราะไปยั่วยุให้เกิดความโลภตัณหาในวัตถุแล้ว ใจมันแล่นไปทางนั้น ก็อยากได้วัตถุ ไม่รักงาน ความสำเร็จของงานก็จะไม่ได้ ก็จะได้แต่ในทางเกียจคร้านทุจริต ความอยากได้ทางลัดก็เป็นปัญหาในการพัฒนาปัจจุบันนี้

ฉะนั้น เห็นว่าเราจะต้องทำให้คนมีฉันทะให้ได้ ต้องทำฉันทะให้นำไปสู่ความไม่สันโดษในกุศลธรรมทั้งหลาย ต้องให้รักสิ่งที่ดีงาม เช่นว่า ในชุมชนของเรา อะไรเป็นเป้าหมาย ได้แก่ ความสงบ ความอยู่ดี ความเรียบร้อย ความสามัคคี ความสะอาด สุขภาพ ความปลอดภัย อะไรต่างๆ ที่เป็นสิ่งดีงาม สร้างความเร้าใจให้คนเกิดฉันทะขึ้นมาแล้วการพัฒนาก็จะสำเร็จได้ แต่ถ้าไปเร้าตัณหาในทางที่ว่า เรามาพัฒนากัน เราจะได้มีของนั่นของนี่ มีวัตถุปรนเปรอ มีโทรทัศน์ มีมอเตอร์ไซค์ มีอะไรต่ออะไร เอาแต่เรื่องที่เป็นวัตถุบำรุงบำเรอสำหรับแต่ละคนซึ่งเป็นเรื่องส่งเสริมความเห็นแก่ตัวนี่ เห็นว่าพัฒนาอย่างนี้ล้มเหลวจะเกิดปัญหาขึ้นมากมาย

เพราะฉะนั้น จุดเร้าของสองอันนี้ต่างกัน คือ จุดเร้าของฉันทะกับตัณหา ในการพัฒนาจะต้องเลือกเป้าหมายหนึ่ง คือเป้าหมายสำหรับฉันทะ ได้แก่ สิ่งดีงามทั้งหลายที่คนในชุมชนนั้นจะพึงตั้งเป็นวัตถุประสงค์ แล้วเอาอันนั้นแหละยั่วยุเร้าฉันทะให้เกิดขึ้น

เป้าหมายแบบที่สองคือ ตัณหาซึ่งเป็นเรื่องของความอยากได้ส่วนตัวของแต่ละคนที่อยากจะได้วัตถุมาปรนเปรอตัวเอง ซึ่งจะไม่มีทางสำเร็จผลได้ดี จะเกิดปัญหาการเบียดเบียนกัน เกิดการเอาเปรียบกันอะไรต่างๆ นี่ ปัญหาทั้งหลายจะตามมา ดังนั้น ถ้าหากว่าจะเร้าตัณหาต้องเร้าในทางที่เป็นตัวกระตุ้นฉันทะอีกทีหนึ่ง แต่ว่าผู้ดำเนินการกระตุ้นเร้าจะต้องวางวัตถุประสงค์ของตนเองไว้ให้ดีทีเดียว แล้วก็ดำเนินการโดยเข้าใจกลวิธีเทคนิคต่างๆ

ที่ผ่านมานี่ขอบอกว่าเรามองกันแต่เพียงตัณหากับละตัณหา เราไม่ได้มองเรื่องฉันทะเลย คือ ไปมองตัวบวกแต่ตัณหา แล้วว่าถ้าไม่เอาตัณหาก็ลบเท่านั้น แทนที่ว่ามันมีตัวบวก ๒ ด้าน บวกฝ่ายอกุศล กับ บวกฝ่ายกุศล บวกฝ่ายอกุศลก็ตัณหา บวกฝ่ายดีก็ฉันทะ แทนที่เราจะบอกว่าไม่เอาตัณหาเอาฉันทะ เรากลับบอกว่า ไม่ได้หรอกถ้าละตัณหาเสียแล้ว คนจะไม่มีกำลังทำงาน ต้องเร้าตัณหาเอาไว้ ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งก็ว่า ตัณหาทำให้ยุ่ง ต้องให้ละตัณหาไม่ให้อยากได้ เลยเถียงกันอยู่นั่น ไม่ไปไหนเลย

เพราะฉะนั้น ขอตั้งเป็นข้อสังเกตสำหรับแยกอย่างง่ายๆ อย่างที่พูดแล้วว่า ฉันทะมีความรักงานแล้วก็รักสิ่งดีงามที่เป็นวัตถุประสงค์ของงานนั้น ส่วนตัณหารักอามิส รักผลประโยชน์ตอบแทน

อันนี้จะแสดงออก เช่น เวลาประสบพบเห็นอะไร คนที่เห็นอะไรที่แปลกตา ที่สวยงามดี นี่อยากจะได้อยากจะเอามา อันนั้นเป็นความอยากแบบตัณหา แต่คนที่เห็นด้วยฉันทะนี่ เวลาเห็นอะไรที่แปลกที่ดีงามที่ใหม่ที่น่าทึ่งจะเกิดความรู้สึกแปลกใจว่า เอ๊ะ…ของนั่นมาได้อย่างไร สำเร็จได้อย่างไร แล้วอาจมีความรู้สึกว่า ทำอย่างไรเราถึงจะทำได้อย่างนั้น ความรู้สึกนี้จะเกิดตั้งแต่เด็กๆ ทีเดียว แล้วก็อยู่ที่การปลูกฝังของผู้ใหญ่ด้วย เด็กไปเห็นอะไรที่สวยงามแปลกตานี่ เพียงแต่ว่าอยากจะได้ เอาสิ่งนั้นมา ถ้าเราปลูกฝังในแนวนี้มันจะเป็นการเสริมตัณหา เรียกว่า เสริมกามฉันทะ แต่เด็กบางคนเราจะเห็นได้ว่า พอเห็นอะไรแปลกที่น่าทึ่งนี่ แกนึกในแง่ความเป็นมาเป็นไป สงสัยในทางเหตุปัจจัยเลย ว่าสิ่งนี้มันเกิดขึ้นมาอย่างไร มันทำได้อย่างไร บางคนจะนึกว่าทำอย่างไรเราถึงจะทำได้อย่างนี้ ความรู้สึกอย่างนี้ช่วยลดความรู้สึกอยากได้อยากเอาลงไป เป็นฉันทะ ทำให้คิดสร้างสรรค์

ธรรมดาปุถุชนแล้ว มันก็ต้องมีความอยากได้อยากเอาบ้าง แต่สำหรับปุถุชนที่เป็นกัลยาณะ ก็ควรจะมีฉันทะด้วย คือนอกจากอยากได้อยากเอานี่ มันจะมีความทึ่ง อยากจะรู้ว่า นี่มันสำเร็จมาได้อย่างไร ทำได้อย่างไร

แต่สำหรับเด็กนี่ สำคัญมากที่จะปลูกฝังนิสัยที่จะพัฒนาอย่างถูกต้อง ซึ่งเป็นนิสัยสำหรับเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานต่อไปด้วย คือว่า ผู้ใหญ่จะต้องกระตุ้นตัวฉันทะขึ้นมา ไม่ใช่กระตุ้นตัณหา ถ้าเราเข้าใจเทคนิคนี้ตามแนวพุทธศาสนาแล้ว การปลูกฝังอบรมเด็กก็อาจจะเปลี่ยนไป แทนที่จะคอยส่งเสริมว่า ถ้าเด็กเห็นอะไรอยากได้ ผู้ใหญ่ก็จะคอยเอาให้ตามที่แกต้องการ ทีนี้ควรจะไม่ใช่อย่างนั้นแล้ว อาจจะชี้แนะแกให้เกิดความสงสัย เกิดความใฝ่รู้ ว่าสิ่งนี้คืออะไร เกิดขึ้นมาได้อย่างไร

ทำให้แกอยากจะเข้าใจเรื่องนั้น อยากทำได้ แล้วนิสัยแบบฉันทะจะตามมา

สันโดษที่ถูกต้องมีธรรมฉันทะ

ขอสรุปว่า ฉันทะที่ถูกต้องนี่ก็คือ ธรรมฉันทะที่จะไปสัมพันธ์กับความสันโดษ ทำให้เกิดความสันโดษที่ถูกต้อง แล้วก็ทำให้เกิดความไม่สันโดษที่ถูกต้องด้วย แล้วก็จะทำให้เกิดวิริยะ—ความเพียร จิตตะ—ความเอาใจใส่การงาน วิมังสา—ความคิดพิจารณาไตร่ตรองสอบสวน เกิดสมาธิแล้วก็เกิดปัญญาความรู้ความเข้าใจจริง แล้วก็นำไปสู่แม้แต่จุดมุ่งหมายของพระพุทธศาสนา ที่ว่าเป็นวิมุตติความหลุดพ้น แต้ถ้าในทางตรงข้ามไปเร้าความอยากที่ผิด ไม่ใช่อยากแบบฉันทะ ก็จะอยากแบบตัณหา เมื่ออยากแบบตัณหาจะมีความสันโดษที่ผิดพลาด คือ สันโดษในกุศลธรรมในการงานเสียแล้ว งานแค่นี้พอแล้ว ไม่เอาแล้ว วัตถุประสงค์ของงานสำเร็จแค่นี้พอแล้ว ไม่เอาแล้วกลายเป็นประมาท แต่จะไปเสริมความไม่สันโดษที่ผิดอีก คือ จะไปไม่สันโดษในเรื่องของสิ่งปรนเปรอต่างๆ หาวัตถุอามิสมาบำรุงบำเรอตัวเอง ก็คือเกิดความโลภ แล้วเกียจคร้านไม่อยากทำงาน หาทางลัด เมื่อเกิดหาทางลัดก็เลยต้องทุจริต เมื่อทุจริตก็เกิดปัญหาขึ้นทั้งส่วนตนและสังคม

เพราะฉะนั้น จึงมีวิถีทางอยู่ ๒ ทาง วิถีทางหนึ่งนำไปสู่ความไม่มีประสิทธิภาพในการทำงาน คือวิธีการของตัณหา และอีกวิถีทางหนึ่งนำไปสู่ประสิทธิภาพในการทำงาน ก็คือ ฉันทะ และมีข้อโยงกันอยู่ที่ว่าสำหรับปุถุชนนั้น มันมีตัณหาอยู่เป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่ามีตัณหาแล้ว ให้หากลวิธีที่จะทำให้ตัณหานั้นเป็นปัจจัยกระตุ้นฉันทะต่อไป แล้วฉันทะนั้นจะนำไปสู่การทำงานด้วยใจรัก มีความสุข มีสมาธิ และนำไปสู่ความเป็นเลิศของงานนั้น หรือทำให้งานสำเร็จผลอย่างดีเลิศ แล้วก็นำไปสู่ประโยชน์สุขทั้งส่วนตน และสังคมประเทศชาติ

นี่คือเรื่องประสิทธิภาพในการทำงาน ซึ่งเป็นเพียงแง่หนึ่ง ยังไม่ใช่ตัวประสิทธิภาพเอง แต่เป็นฐานของความมีประสิทธิภาพ ว่าที่จริงการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานมีหลายแง่ คือ หลักธรรมที่จะเสริมประสิทธิภาพนี่มีหลายอย่าง วันนี้ก็เลือกมาพูดแง่หนึ่ง ซึ่งเห็นว่าเป็นแง่สำคัญ ถ้าเรามีฉันทะมีความไม่สันโดษในกุศลธรรมนี่ เรามีฐานที่จะทำให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานของบุคคล แล้วก็ทำให้เกิดการพัฒนาประเทศชาติที่ถูกต้องได้อย่างแน่นอน

1บรรยายแก่ชมรมส่งเสริมสมรรถภาพจิต สำนักงาน ก.พ. ณ ห้องประชุม ๑ สำนักงาน ก.พ. เมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๒๕ ตีพิมพ์ครั้งแรกใน วารสารข้าราชการ ปีที่ ๒๘ ฉบับที่ ๑-๒ ม.ค. และ ก.พ. ๒๕๒๖ ครั้งที่ ๒ มุทิตาสักการะ ในวโรกาสพระสังฆาธิการรับพระราชทานสมณศักดิ์ ณ มหามงคลสมัยพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๓๐
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง