ธรรมกับการศึกษาของไทย

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ธรรมกับการศึกษาของไทย1

การศึกษาของไทยในกาละ ๓ และเทศะ ๒

ท่านตั้งหัวข้อให้อาตมภาพพูดในวันนี้ว่า ธรรมะกับการศึกษาของประเทศไทย เมื่อมองดูหัวข้อนี้ ก็ได้ข้อสังเกตว่า ชื่อหัวข้อให้ความรู้สึกเป็นกลางๆ ทั้งด้านกาละและเทศะ เป็นกลางๆ ในด้านที่ ๑ คือด้านกาลเวลา จะหมายถึงประเทศไทยในอดีต หรือในปัจจุบัน หรือในอนาคตก็ได้ ตามหลักพระพุทธศาสนานั้นถือว่า กาลเวลาปัจจุบันสำคัญที่สุด ทำไมจึงสำคัญที่สุด เพราะว่าเป็นเวลาที่เกี่ยวข้องกับเราโดยตรง ซึ่งเราปฏิบัติได้ ทำอะไรได้ ส่วนกาลเวลาอีก ๒ เวลา คือ เวลาอดีตและอนาคตนั้น เราทำอะไรไม่ได้ อดีตก็ผ่านไปแล้ว ทำอะไรไม่ได้ อนาคตก็ยังมาไม่ถึง ก็ทำอะไรไม่ได้เหมือนกัน อย่างไรก็ตาม มิใช่จะปฏิเสธความสำคัญของอดีตและอนาคต กาลเวลาทั้ง ๒ ก็มีความสำคัญเหมือนกัน อดีตมีความสำคัญเพราะว่าเป็นเหตุปัจจัยที่นำมาสู่ปัจจุบันที่เรากำลังเผชิญอยู่ เราต้องรู้อดีตเพื่อว่าเราจะได้ปฏิบัติกับปัจจุบันอย่างถูกต้อง และได้ผลดี ส่วนอนาคตนั้นก็สำคัญเหมือนกัน เพราะเราต้องการอนาคตที่สุกใสไร้ปัญหา และเพื่ออนาคตที่สุกใสไร้ปัญหานั้น เราก็ต้องปฏิบัติต่อปัจจุบันด้วยดี เพราะปัจจุบันเป็นเหตุปัจจัยที่นำไปสู่อนาคต รวมความว่า ที่จริงแล้วกาลเวลาทั้ง ๓ เกี่ยวข้องกับเราทั้งสิ้น เราเกี่ยวข้องทั้ง ๓ กาล แต่เราปฏิบัติกาลเดียว ส่วนอีก ๒ กาลคืออดีตและอนาคต มีความสำคัญก็เพราะมีผลสืบเนื่องมาสู่และไปจากปัจจุบัน หมายความว่าเราจะต้องยึดปัจจุบันเป็นหลัก แต่เราก็ต้องรู้อดีตและตระหนักถึงอนาคตด้วย ถ้าพูดตามภาษาของพุทธศาสนา ก็คือพระพุทธศาสนาสอนให้ปฏิบัติต่อปัจจุบันด้วยความรู้เท่าทันอดีต โดยตระหนักถึงผลที่จะเกิดในอนาคต นี่คือการให้ความสำคัญอย่างพอเหมาะพอดีแก่กาลทั้ง ๓

อดีตมีความสำคัญในประการที่หนึ่ง อย่างที่กล่าวมาแล้วคือ เรารู้อดีตว่ามีเหตุปัจจัยเป็นมาอย่างไร จนมาเกิดผลในปัจจุบัน ถ้าหากผลนั้นเป็นปัญหา เราก็จะได้แก้ปัญหาในปัจจุบันนี้ตามเหตุปัจจัยที่เกิดมาจากอดีตนั้น เพราะฉะนั้น อดีตจึงเป็นเรื่องที่จะต้องศึกษา เพื่อเอามาปฏิบัติต่อปัจจุบัน การแก้ปัญหานั้นก็คือแก้ปัญหาที่ปัจจุบันโดยโยงไปหาอดีต อีกประการหนึ่ง การเรียนรู้อดีตทำให้เรารู้ว่าอดีตนั้นมีอะไรดี มีคุณค่าบ้าง มีอะไรที่ควรจะรักษาไว้ ดำรงไว้ และเมื่อถึงปัจจุบันนี้เราจะได้พยายามดำรงรักษาสิ่งที่ดีงามทรงคุณค่าเหล่านั้นไว้ แม้ในแง่นี้ ก็มามีผลเป็นการปฏิบัติที่ปัจจุบันเช่นเดียวกัน ส่วนอนาคตนั้นก็สำคัญเพราะปัจจุบันอีก กล่าวคือ เราเตรียมการเพื่ออนาคต โดยสร้างเหตุปัจจัยในปัจจุบัน ถ้าเราสร้างเหตุปัจจัยในปัจจุบันไว้ดีแล้ว เราก็คาดหมายผลที่จะเกิดในอนาคตได้ว่า คงจะเป็นไปในทางที่ดี ถ้าเราได้ทำเหตุปัจจัยที่ดีไว้อย่างพรั่งพร้อมบริบูรณ์ครบถ้วน และไม่มีเหตุปัจจัยอย่างอื่นแทรกซ้อนเข้ามาที่เราคาดหมายไม่ถึง ก็มั่นใจได้ว่าผลที่จะเกิดในอนาคตจะต้องดีแน่ นี่คือเรื่องของกาลเวลา ตกลงว่า เราจะต้องเอาปัจจุบันเป็นหลัก ถ้าหากเราเสียหลักจากปัจจุบันเมื่อไร เราก็หลุดลุ่ย เราหลุดจากปัจจุบันก็คือ เราจะร่วงหล่นสู่อดีต หรือมิฉะนั้นก็จะเลื่อนลอยไปในอนาคต ซึ่งทั้ง ๒ อย่างนี้เป็นสภาพที่เราจะไม่สามารถทำอะไรให้เกิดผลได้ เพราะฉะนั้น อดีตก็ตาม อนาคตก็ตาม จะมีความหมายต้องถือเอาปัจจุบันเป็นหลักทั้งสิ้น เมื่อตกลงเช่นนี้แล้ว เราก็มามองเรื่องปัจจุบันหรือมองที่สภาพปัจจุบันนี้

ในสภาพปัจจุบันนี้ สังคมไทยหรือประเทศไทยของเราเป็นอย่างไร ประเทศไทยของเราในปัจจุบันนี้ต่างจากอดีต ในอดีตนั้น เมื่อพูดถึงประเทศไทย เราสามารถจำกัดตัวเองอยู่ตามลำพังได้มากกว่าปัจจุบัน ปัจจุบันนี้การสื่อสารคมนาคม หรือข่าวสารด้านหนึ่ง และคมนาคมคือการไปมาอีกด้านหนึ่ง ทั่วถึงกันทั้งโลก เราพูดกันว่า โลกนี้แคบเข้า จนกระทั่งมีผู้หวังว่า ต่อไปอาจจะเกิดชุมชนโลกหรือประชาคมนานาชาติขึ้น และสังคมของโลกนี้จะเป็นสังคมเดียวกัน ซึ่งผู้ที่มองอนาคตจะต้องพยายามคิดเตรียมการว่า เราควรปฏิบัติตัวอย่างไรเพื่อให้สังคมโลกที่ประชาชาติทั้งหลายจะอยู่ร่วมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนั้น จะอยู่ร่วมกันได้ด้วยดี ประเทศไทยของเราในปัจจุบันนี้ก็อยู่ในสภาพเช่นนี้ด้วย คือไม่ได้อยู่โดดเดี่ยวโดยลำพัง แต่อยู่ในสังคมโลกที่กำลังแคบเข้ามา เพราะฉะนั้นเมื่อดูสังคมไทยในปัจจุบันนี้ เราจะมองดูตัวเราเองลำพังไม่ได้ เราจะต้องมองดูตัวเอง และปฏิบัติต่อตัวเองในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งร่วมอยู่ในสังคมโลกนั้น

เมื่อเรามองดูตัวเอง ในฐานะที่เป็นส่วนร่วมอยู่ในสังคมโลก เราจะต้องปฏิบัติอย่างไรบ้าง โดยคร่าวๆ ก็มีส่วนที่ต้องปฏิบัติอยู่ ๒ อย่าง ประการที่หนึ่ง คือ เราจะดำรงรักษาตัวเองให้อยู่รอด และอยู่รอดด้วยดีได้อย่างไร การดำรงรักษาให้ตัวเองอยู่รอดได้ด้วยดีนี้มี ๒ แง่ด้วยกัน แง่ที่ ๑ คือ การดำรงรักษาตัวเองที่สืบทอดมาจากอดีตให้คงอยู่ด้วยดี และแง่ที่ ๒ คือการที่จะตั้งรับ ตอบโต้ต่อกระแสจากภายนอกที่เข้ามากระทบกระแทกแทรกซึมต่างๆ ซึ่งปัจจุบันนี้เรากำลังประสบปัญหาอยู่มาก เป็นปัญหาใหญ่ที่เราพินิจพิจารณาใคร่ครวญกันเป็นสำคัญ และเป็นตัวการก่อให้เกิดปัญหาที่เรากำลังขบคิดหาทางแก้กันอยู่ในบัดนี้ นี่เป็นเรื่องสองด้านของการที่จะดำรงตนให้อยู่ได้ด้วยดี แต่เราจะไม่หยุดเพียงเท่านี้

ต่อไป นอกเหนือจากการดำรงตนอยู่ด้วยดีแล้ว ก็คือว่า เราจะก้าวออกไปมีส่วนร่วมที่เป็นประโยชน์อย่างไรในสังคมของโลกที่จะช่วยแก้ปัญหาของชาวโลก ช่วยนำโลกนี้ไปสู่สันติสุข เพราะว่าสังคมโลกปัจจุบันนี้เป็นสังคมโลกที่มีปัญหา ปัญหามีอยู่มากมาย มองไปทางไหนก็พบปัญหา ปัญหาระหว่างประเทศชาติต่างๆ ปัญหาระหว่างลัทธินิยมอุดมการณ์ต่างๆ ปัญหาจิตใจที่แพร่ระบาดไปทั่วโลก ปัญหาต่างๆ เหล่านี้เป็นเรื่องที่เรามีส่วนเกี่ยวข้อง ถ้าหากเราจะปฏิบัติตนให้ดีในฐานะเป็นประเทศชาติที่มีประโยชน์ เราก็ไม่ควรมองแต่เพียงการดำรงตนด้วยดีอย่างเดียวเท่านั้น แต่จะต้องมองในแง่ที่ว่า จะมีส่วนร่วมอย่างไร ที่จะทำประโยชน์ต่อชาวโลกหรือช่วยแก้ปัญหาของชาวโลก คือการที่จะก้าวออกไปร่วมช่วยเหลือให้โลกนี้มีสันติสุขด้วย เราอาจจะอ่อนน้อมถ่อมตนน้อยเกินไปก็ได้ แต่ก็มีความจำเป็นเหมือนอย่างเมื่อพระพุทธเจ้าทรงส่งสาวกไปประกาศพระพุทธศาสนา พระองค์ก็ได้ตรัสสั่งว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย จงจาริกไปเพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่ชาวโลก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก’ ในเรื่องนี้คนไทยก็เช่นเดียวกัน เราจะคิดนึกจำกัดเฉพาะประเทศของตนเองคงไม่ได้ จะต้องนึกด้วยว่า เราสามารถมีส่วนร่วมอย่างไรในการที่จะแก้ปัญหาให้แก่ชาวโลก ถ้าเป็นไปได้ก็ควรจะเป็นผู้นำในโลกด้วยในการที่จะแก้ปัญหา เพราะว่าปัจจุบันนี้ยังไม่ปรากฏว่ามีพวกไหน ประเทศชาติไหนที่สามารถแก้ปัญหาของโลกให้ลุล่วงไปด้วยดี นี่เป็นอีกด้านหนึ่ง ด้านนี้เรียกว่าเทศะ เทศะนี้มี ๒ อย่างคือ ภายใน กับภายนอก ภายในได้แก่ประเทศไทยของเรา ภายนอกได้แก่ประชาคมโลกทั้งหมด พูดอีกแง่หนึ่งก็คือ เฉพาะส่วนของตัวเอง กับทั่วทั้งสากลหมดทั้งโลก

เท่าที่กล่าวมานี้ก็เป็นอันว่า เรื่องของประเทศไทยที่เราจะเกี่ยวข้องมีทั้ง ๓ กาละ คือ อดีต ปัจจุบัน อนาคต และ ๒ เทศะ คือ ภายใน ภายนอก หรือเฉพาะส่วนของตัวเองกับทั่วทั้งสากล และเท่าที่กล่าวมาแล้วนี้ก็คือภารกิจของการศึกษา การศึกษาจะช่วยประเทศไทยได้อย่างไร ก็ต้องช่วยใน ๓ กาลนี้ โดยเฉพาะในปัจจุบันเพื่อเตรียมการในอนาคตให้ดี และต้องช่วยในเทศะที่กล่าวมาทั้ง ๒ อย่าง และธรรมะที่จะนำมาใช้ในทางการศึกษาก็เพื่อประโยชน์ดังที่กล่าวมา

สภาพปัจจุบันของคนไทย

เมื่อได้ตั้งเอาปัจจุบันเป็นหลักดังที่กล่าวมาแล้ว ก็ขอให้เรามองสภาพปัจจุบันกัน การมองดูสภาพปัจจุบันนั้นมองได้หลายอย่าง เรื่องที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ก็คือสังคมทั้งหมด สังคมทั้งหมดนั้นมีความเกี่ยวข้องกับการศึกษา ตามปกติเรามักจะมองสังคมโดยเริ่มต้นจากปัญหา ถ้าไม่พูดถึงปัญหาโดยตรงก็พูดถึงสภาพ คือสภาพสังคม แต่วันนี้ขอพูดในเรื่องสภาพที่เป็นปัญหา สภาพสังคมนั้นอาจจะห่างเกินไปหรืออ้อมเกินไป ขอชิดอีกหน่อยให้ใกล้การศึกษาเข้ามาก็คือ พูดถึงสภาพตัวคนเลยทีเดียว ตัวคนคือคนไทยเรานี้ สภาพปัจจุบันเป็นอย่างไร เพราะคนเป็นตัวเชื่อมระหว่างการศึกษากับสังคม คนเป็นที่แสดงออก เป็นผลปรากฏของการศึกษา แล้วตัวคนที่ได้รับการศึกษาก็ไปแสดงผลออกทางสังคม พูดสั้นๆ ว่า การศึกษาแสดงผลออกที่ตัวคน แล้วคนก็ไปแสดงผลออกที่สังคม เราจะมีสภาพสังคมอย่างไร หรือปัญหาสังคมอะไร ก็เกิดจากคนนี้ออกไป เพราะฉะนั้น จะมองให้ใกล้ชิดกับการศึกษาก็มองที่ตัวคนนี้ ก็ขอให้เรามามองดูกันว่า สภาพคนไทยในปัจจุบันนี้เป็นอย่างไร แล้วมันจะส่องมาถึงการศึกษา

การมองคนไทยในปัจจุบันก็คือ มองพฤติกรรมของเขา มองค่านิยม มองลักษณะนิสัยจิตใจของคนไทยว่าเป็นอย่างไร ดูให้ครบถ้วนทั้งตัวคน เมื่อมองแล้วเห็นคนไทยเป็นอย่างไร ถึงตอนนี้ก็เป็นเรื่องที่จะต้องพรรณนากันยืดยาว อาตมภาพก็จะขอยกตัวอย่างมาพอให้เห็นเป็นเค้า เมื่อหลายเดือนมาแล้ว มีนักหนังสือพิมพ์ชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งเข้ามาเมืองไทย แล้วอยู่ๆ ก็มีผู้ติดต่อมาว่าจะขอพบอาตมภาพ ก็ไม่ได้รู้จักกันมาก่อน ทั้งตัวฝรั่งและคนที่ติดต่อ เขามาหาและพูดถึงความประทับใจของเขาต่อประเทศไทย เขาบอกว่า ที่เขามาเมืองไทยนี้ เขาไม่ได้มีความสนใจในเรื่องศาสนาอะไรเลย เพียงเข้ามาเที่ยวดู สังเกตการณ์ทั่วๆ ไป แต่เมื่อเขามาเห็นเมืองไทยแล้วเขาเกิดความรู้สึกว่าคนไทยนี้มีจิตใจที่สุขสบาย ไม่มีความเคร่งเครียด ตอนเช้าก็เห็นคนออกมาตักบาตรกัน หน้าตายิ้มย่องผ่องใส เขาก็เกิดความรู้สึกว่า วิถีชีวิตของคนไทยน่าจะสุขสบาย และยังมีความใกล้ชิดต่อศาสนา ต่างกับคนในประเทศของเขาในตะวันตก โดยเฉพาะในประเทศฝรั่งเศสของเขาที่มีความเคร่งเครียด จิตใจมีความรู้สึกไม่สบาย มีความทุกข์ นี่คือความประทับใจของเขา เขาจึงอยากจะศึกษาว่า สภาพที่ว่านี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับศาสนาอย่างไร นี้ก็เป็นภาพของประเทศไทยในสายตาของชาวต่างประเทศ คนที่มาจากประเทศอื่น วัฒนธรรมอื่น อาจจะมองเห็นเมืองไทยเราชัดในแง่หนึ่ง เพราะเป็นภาพที่ตัดกัน หรือเป็นที่เปรียบเทียบแปลกออกไปจากตัวเขา อย่างไรก็ตาม บางท่านอาจจะท้วงได้ว่า อันนี้เป็นความเห็นของฝรั่งเพียงคนเดียว เขาอาจจะเข้ามาแล้วก็มองแต่เพียงผิวเผิน ถ้าอยู่ต่อไปนานๆ ก็อาจจะเห็นอะไรที่ไม่ดีของคนไทยอีกหลายๆ อย่างก็ได้ แต่นี่เป็นเพียงภาพหนึ่งที่นำมายกเป็นตัวอย่างไว้

ขอยกตัวอย่างอีกรายหนึ่ง คราวนี้เป็นนักศึกษาชาวอเมริกันเข้ามาแล้วก็อยากจะศึกษาชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทย จึงออกไปตามชนบท เมื่อเขาออกไปเที่ยวดูตามชนบทแล้วก็เกิดความรู้สึกประทับใจ โดยเฉพาะสิ่งที่ต่างจากวัฒนธรรมของเขา วิถีชีวิตที่ไม่เหมือนกับเขา ซึ่งจะโดดเด่นขึ้นมาในความรู้สึก แล้วเขาก็มาเล่าให้ฟังว่า เขามองเห็นคนไทยว่ามีความสนุกสนานร่าเริงอยู่ตลอดเวลา แม้แต่งานศพก็มีการแห่ มีการโลดเต้นสนุกสนานกัน มีลิเกละคร ไม่เหมือนกับประเทศของเขา เขาบอกว่า ในประเทศของเขาชีวิตเคร่งเครียดเหลือเกิน โดยเฉพาะงานศพนั้นเต็มไปด้วยความสลดหดหู่ใจ ไปร่วมงานศพแล้วไม่สบายใจเลย เขารู้สึกพอใจกับวิถีชีวิตแบบของคนไทยนี้ รู้สึกว่ามันสบายดี อันนี้ก็เป็นเรื่องที่แปลก เป็นความประทับใจ เป็นภาพที่ปรากฏแก่สายตาฝรั่ง อาตมภาพคิดว่า เราทั้งหลายคงเคยได้ยินกันมาทำนองนี้ เรื่องที่อาตมภาพนำมาเล่านี้ ก็ได้พยายามยกตัวอย่างที่สอดคล้องกับเสียงที่ได้ยินกันส่วนมาก ไม่ใช่ยกตัวอย่างที่ขัดแย้ง

เรื่องที่เล่ามานี้ นับว่าเป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นภาพอย่างหนึ่ง ที่แสดงถึงคนไทยในปัจจุบันว่าเป็นอย่างไร และคนไทยปัจจุบันนี้ก็คือคนไทยที่สืบมาจากอดีต ถ้าว่าโดยทั่วไปจากที่ได้ยินได้ฟังมา และการสังเกตการณ์ การกล่าวขวัญต่างๆ เราพูดได้ว่า คนไทยโดยทั่วไป โดยเฉพาะในชนบทที่ถือว่าเป็นวัฒนธรรมไทยแท้ๆ ยังมีลักษณะของชีวิตที่มีความสุข มีความพึงพอใจในชีวิต มีความปล่อยวาง ไม่เครียด เรามีคำพูดอยู่เสมอว่า ‘ไม่เป็นไร’ คำว่า ‘ไม่เป็นไร’ นี้เป็นลักษณะพิเศษของไทย เรียกว่าเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งทีเดียว อะไรๆ ก็ไม่เป็นไร แต่ไม่เป็นไรนี้ นอกจากมีความหมายว่าสบายๆ เรื่อยๆ เปื่อยๆ แล้ว ก็ยังมีความหมายอีกแง่หนึ่งว่า ไม่จริงจัง หรือไม่เอาจริงเอาจังอะไรเลย การไม่เอาจริงเอาจังนั้นก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย บางทีเราก็ได้ยินชื่อประเทศของเราที่ฝรั่งเขาเรียกว่า ‘สยามเมืองยิ้ม’ The Land of Smiles หรือดินแดนแห่งความมีน้ำใจ คนฝรั่งเข้ามา คนต่างประเทศเข้ามา ก็ประทับใจในความมีน้ำใจ คนไทยชอบสนุกสนาน ไม่จริงจังกับชีวิตและกาลเวลา นัดเวลาแล้วไม่เป็นไปตามเวลานัด อย่างพูดปาฐกถาวันนี้ก็อาจจะเลยเวลาไปอีก

แม้แต่คำว่า ‘งาน’ เอง ก็ขอให้สังเกตดู คำว่า ‘งาน’ ในภาษาไทยแปลว่าอะไร งานวัด งานลอยกระทง งานสงกรานต์ คำว่า ‘งาน’ เดี๋ยวนี้เราใช้ในความหมายที่ตรงกับภาษาอังกฤษว่า work หมายถึง การทำสิ่งที่หนัก ต้องใช้ความเพียรพยายาม อาจจะต้องฝืนทำ เคร่งเครียด ทำแล้วไม่สนุกสนาน พอพูดว่ามาทำงานก็รู้สึกกันว่าไม่ใช่เรื่องสนุก จะต้องมาทำสิ่งที่เปลืองสมอง เคร่งเครียด รู้สึกหนัก แต่ในภาษาไทย ‘งาน’ คำเดิมนั้น มีความหมายไปในเชิงกิจกรรมบันเทิง เช่นอย่างงานวัด มีแต่สนุกทั้งนั้น คนไปงานวัดไม่ใช่ไปทำอะไรที่น่าหนักใจน่าเหน็ดเหนื่อยสมองอะไรสักอย่างหนึ่ง แม้แต่คำพูดของเขาก็ส่ออยู่ในตัว แต่เดี๋ยวนี้คนไทยกำลังอยู่ในระหว่างกลางของการรับวัฒนธรรมจากภายนอกมาชนกับวัฒนธรรมของตัวเอง คำว่า ‘งาน’ จึงได้เริ่มมีความหมายไปในทางหนักและเหนื่อยขึ้นมาแล้ว นี้เป็นเรื่องที่น่าสังเกต

อีกประการหนึ่งก็คือ การมีนิสัยที่กลมกลืน อะลุ่มอล่วย ไม่รุนแรง จะเข้าไหนเข้าได้เข้าง่ายๆ คนไทยเรานี้ปัญหาเรื่องเชื้อชาติไม่มีความรุนแรง แต่มีความกลมกลืนได้ง่ายๆ ไม่เหมือนในต่างประเทศ ลองดูประเทศอื่นๆ ทั่วโลก แม้แต่ประเทศที่ใกล้เมืองไทย ปัจจุบันนี้เขามีปัญหาเรื่องเชื้อชาติกันมาก แต่ประเทศไทยเราไม่มีปัญหาเช่นนั้น เรามีชื่อว่าเป็นนักปรับตัวให้เข้ากับจังหวะ สถานการณ์ โอกาส สภาพแวดล้อมได้เก่ง แต่อีกด้านหนึ่ง พร้อมกันนั้น เราก็มีนิสัยชอบมีหน้ามีตา ชอบแข่งฐานะอวดโก้กัน มีอะไรก็มาอวดกัน จะจัดงานก็มุ่งความมีหน้ามีตา ถ้าเป็นชาวบ้านก็บอกว่าหมดเท่าไรไม่ว่า ต้องการชื่อเสียง อะไรทำนองนี้ หรือถ้าเป็นคนกรุงคนเมือง จะมีรถยนต์ ก็มุ่งไปที่ว่าต้องให้ได้รุ่นใหม่ ทันสมัยนำเขาอะไรต่างๆ แข่งฐานะกัน แม้แต่การจะรับประทานอาหารฝรั่ง บางทีก็ไม่อร่อยเท่าไรนัก แต่รู้สึกว่าโก้ ถึงแพงก็จะรับประทาน หรือยิ่งแพงก็ยิ่งโก้ ก็เลยยิ่งรับประทาน พอได้ยินว่า McDonald บ้าง Kentucky Fried Chicken บ้าง อะไรทำนองนี้ ก็รู้สึกคึกคัก บางอย่างไม่ได้อร่อยมากมายนัก เทียบกับอาหารไทย บางทีก็ไม่ดีไปกว่าของพื้นบ้านที่ราคาถูกๆ แต่รสของความโก้มีมาก เราก็เสพรสของความโก้แทน อันนี้เป็นเรื่องแสดงนิสัยของคนไทยด้านหนึ่ง คือชอบอวดโก้กัน มีหน้ามีตา เมื่อมีความปรับตัวรับง่ายอยู่แล้ว ความชอบอวดโก้หนุนส่งเข้าไปอีก ก็ตามฝรั่งหลุนๆ เต็มที่ไปเลย

ข้อที่ถูกเขาตำหนิมากอย่างหนึ่ง ก็คือว่า คนไทยชอบบริโภคมากกว่าชอบผลิต นี่ก็เป็นลักษณะนิสัยที่ถูกวิจัยว่ามีปัญหามากทีเดียว โดยเฉพาะทำให้เป็นปัญหาแก่การพัฒนาประเทศชาติ เพราะเราไม่ชอบที่จะสร้างสรรค์ ไม่ริเริ่มในการที่จะทำสิ่งใหม่ๆ แต่เราจะคอยรอผลิตผลจากต่างประเทศ แล้วรับมาบริโภค ซึ่งก็ไปกันได้ดีกับลักษณะนิสัยอีกอย่างหนึ่งคือ การชอบเลียนแบบ ซึ่งเป็นปัญหาที่เราหันไปโทษเยาวชนกันมากในปัจจุบัน

ค่านิยม วัฒนธรรม: ผลและเหตุในการศึกษา

เท่าที่กล่าวมานี้เป็นเรื่องสภาพของคนไทยปัจจุบัน เท่าที่มองเห็นกัน ซึ่งกล่าวขวัญกันอยู่ และนำมายกเป็นตัวอย่าง ในบรรดาลักษณะนิสัยที่ยกมาพูดนี้ มีหลายอย่างที่เรียกกันว่าเป็นค่านิยม ค่านิยมเป็นสิ่งสำคัญมาก เป็นสิ่งที่มีผลต่อพฤติกรรม เป็นตัวกำหนดบรรดาพฤติกรรมของคน แล้วก็จะมีผลเป็นการบันดาลชะตากรรมของสังคมได้ด้วย ฉะนั้น ค่านิยมจึงเป็นเรื่องที่จะต้องเอาใจใส่มาก และในเมื่อมีผลต่อชีวิตของคนและต่อสังคม ก็เป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา เพราะค่านิยมเข้ามาหล่อหลอม บันดาลชีวิตและพฤติกรรมของคนดังที่กล่าวมา เมื่อการศึกษาเอาใจใส่คน ก็ต้องเอาใจใส่ต่อค่านิยมด้วย การที่เราจะปล่อยให้ค่านิยมมากำหนดวิถีชีวิตของคน กำหนดพฤติกรรมของคนในสังคม โดยปล่อยให้เป็นไปตามเรื่องตามราว โดยไม่มีการควบคุมดูแลนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ถ้าการศึกษาปล่อยในสิ่งเหล่านี้ การศึกษาก็ได้ชื่อว่าไม่ได้ทำหน้าที่ของตัวเองให้ครบถ้วน การที่จะทำหน้าที่ของการศึกษาให้ถูกต้องก็คือ การเป็นฝ่ายกำหนด ควบคุมค่านิยม หมายความว่า การศึกษาจะต้องเอาใจใส่ในเรื่องค่านิยมนี้ และเป็นผู้ควบคุมวางแผน พยายามที่จะผันแปร หันเห นำทางค่านิยมของสังคมให้เป็นไปในทางที่ดีมีประโยชน์ และเอื้อต่อกันกับการศึกษา

การที่จะจัดการกับค่านิยมต่างๆ นี้ เราจะต้องรู้ว่าค่านิยมเกิดจากอะไร บางทีเราต้องการจะเข้าไปจัดการกับค่านิยมโดยตรง แต่เราจัดการไม่ได้ เราจะแก้ไขปรุงแต่งค่านิยมเอาตามชอบใจไม่ได้ เพราะค่านิยมเกิดจากเหตุปัจจัย เราต้องรู้ว่าเหตุปัจจัยของค่านิยมนั้นๆ คืออะไร แล้วก็ไปจัดสรรเหตุปัจจัย แก้ไขที่เหตุปัจจัยนั้น แต่เหตุปัจจัยของค่านิยมมีหลายอย่าง ในบรรดาเหตุปัจจัยเหล่านั้น เหตุปัจจัยที่สำคัญมาก ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นรากฐานของค่านิยม ก็คือสิ่งที่เรียกว่า ภูมิธรรม ภูมิปัญญา ของคนในสังคมนั้นเอง ภูมิธรรม ภูมิปัญญา ก็คือ พื้นฐานจิตใจ พื้นฐานทางปัญญาของคนในสังคมนั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ซึมซ่านไหลมาในกระแสวัฒนธรรม ภูมิจิต ภูมิใจ ภูมิธรรม และภูมิปัญญาของคนไทยก็ไหลมาในกระแสวัฒนธรรมไทย และภูมิจิต ภูมิธรรม ภูมิปัญญาที่มาในกระแสวัฒนธรรม ก็เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมนั่นเอง วัฒนธรรมทั้งหมดก็เป็นผลของการศึกษาในอดีต ทั้งการศึกษาอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ ทั้งการศึกษาโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว วัฒนธรรมของเราที่เกิดขึ้นนี้คืออะไร มองให้ดีแล้ว มันก็คือผลรวมของการศึกษาของชาติไทยทั้งหมดในอดีตนั้นเอง ในที่นี้เรากำลังมองการศึกษาในวงกว้าง วงกว้างที่ไม่ใช่การศึกษาในห้องเรียนในชั้นเรียน ไม่ใช่การศึกษาในสถาบันเท่านั้น แต่เรามองการศึกษาของคนทั้งหมดทั้งชาติทั้งประเทศ เมื่อเรามองเห็นว่าวัฒนธรรมของเราเป็นอย่างไร อันนั้นก็คือผลรวมของการศึกษาของเรา ทีนี้ แม้ว่าวัฒนธรรมที่รวมถึงภูมิธรรม ภูมิปัญญาของเรานี้ จะเป็นผลจากการศึกษาของเราในอดีตก็จริง แต่มันกลายมาเป็นตัวปรุงแต่ง คือกลายเป็นเหตุปัจจัยมาปรุงแต่งคนไทยในปัจจุบัน เป็นตัวให้การศึกษา การกระทบ หรือการบรรจบของกระแสวัฒนธรรม

โดยเฉพาะปัจจุบันนี้ เรามาถึงยุคพิเศษดังที่ได้กล่าวข้างต้นว่า สิ่งที่แตกต่างทั้งในทางกาละและเทศะได้มาเผชิญกัน ในด้านกาละ วัฒนธรรมที่เป็นผลจากการศึกษาที่สืบมาจากอดีต ก็กำลังหล่อหลอมปรุงแต่งชีวิตจิตใจของเราอยู่ ซึ่งเรารู้ตัวบ้างไม่รู้ตัวบ้าง แต่ไม่รู้ตัวเป็นส่วนมากกว่า อีกด้านหนึ่งก็คือในปัจจุบัน อย่างที่กล่าวข้างต้นว่ามีการสื่อสารคมนาคมถึงกันหมดทั่วโลก จนเกิดสังคมโลกขึ้นมา กระแสวัฒนธรรม จากต่างชาติ ต่างประเทศก็เข้ามามาก และก็มามีส่วนในการปรุงแต่งชีวิตจิตใจของเราด้วย เพราะฉะนั้น ยุคปัจจุบันจึงเป็นยุคที่มีการเผชิญกันระหว่างกระแส ๒ กระแส ซึ่งหมายถึงกระแสวัฒนธรรม ได้แก่ กระแสวัฒนธรรมจากภายในของเราในอดีตที่สืบกันมา กับกระแสวัฒนธรรมจากภายนอก จากต่างประเทศ โดยเฉพาะอันไหนเราชื่นชมมาก อันนั้นก็มีอิทธิพลมาก ปัจจุบันนี้กระแสที่มีอิทธิพลมากคงจะได้แก่ วัฒนธรรมจากตะวันตก

เมื่อวัฒนธรรม ๒ สายมาเผชิญกัน มากระทบกระแทกกัน เราจะต้องมีวิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง ถ้าเรามีวิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง เราอาจจะทำให้การเผชิญหรือการกระทบกระแทกนั้นกลายเป็นการประสานที่เกิดประโยชน์ อันนี้คือเทคนิคหรือวิธีการที่ว่าเราจะทำอย่างไร และนี่คือหน้าที่อย่างหนึ่งของการศึกษา การที่วัฒนธรรม ๒ สาย เข้ามาเผชิญและกระทบกันนี้ เป็นสิ่งที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ เป็นปรากฏการณ์ทางสังคม เมื่อเราอยู่ในสภาพบังคับ จำเป็นจำยอมแล้ว สิ่งที่เราทำได้ก็คือ จะทำอย่างไรให้ดีที่สุด การทำให้ดีที่สุดก็คือ การทำให้มันเกิดผลในทางที่ดี ถ้าเราทำไม่ถูกต้อง การเผชิญระหว่างวัฒนธรรม ๒ สาย หรือ ๒ กระแสนั้น ก็จะมีผลเป็นการกระทบกระแทก และลบล้างกัน อาจมีการต่อต้าน มีความสับสน ระส่ำระสาย วัฒนธรรมส่วนหนึ่งอาจจะถูกลบล้างไป อาจเป็นของภายในถูกลบล้างหรือถูกทำลายไปหรือถ้าเรามีแรงดี ฝ่ายภายนอกก็อาจจะถูกต่อต้านหรือปะทะไว้ ก็สุดแต่ว่าจะเป็นไปในรูปไหน แต่เป็นเรื่องที่ไม่ดีทั้งนั้น ทางที่ดีก็คือ เราจะต้องประสานให้เกิดประโยชน์แก่เราให้มากที่สุด และการประสานนั้นก็เป็นเรื่องของการศึกษา คือจะทำได้ด้วยการศึกษาที่ถูกต้อง แต่สภาพสังคมปัจจุบันนี้ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมาก การที่สังคมเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมากนี้ ก็ทำให้กระบวนการศึกษาในสถาบันหรือการศึกษาที่เป็นระบบนี้ก้าวไม่ทัน เราจึงจะต้องสร้างการศึกษาให้เกิดมีขึ้นในตัวคน ให้ตัวคนนั้นมีการศึกษาที่จะทำให้เขามีความสามารถที่จะรับที่จะจัดการกับวัฒนธรรมต่างๆ ที่เข้ามาได้อย่างดี คือ ให้การศึกษาเกิดขึ้นในตัวคนเอง ให้การศึกษาที่อยู่ในตัวคนแต่ละคนนั้นแหละทำงานให้ได้ผลที่ต้องการ ไม่ใช่รอการศึกษาที่เป็นระบบงานอยู่ภายนอก ซึ่งไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคม

ก่อนที่จะพูดต่อไปในเรื่องวัฒนธรรม ซึ่งได้พิจารณามาถึงวัฒนธรรม ๒ กระแสแล้ว คือ กระแสวัฒนธรรมภายในที่สืบจากอดีต กับกระแสวัฒนธรรมที่มาจากภายนอก ก็ขอพูดแทรกสักหน่อยว่า คนไทยในปัจจุบันนี้เท่าที่มองเห็น มักจะมีท่าทีต่อวัฒนธรรม ๒ สายนั้นแยกได้เป็น ๒ พวก คือ โดยมากจะมีท่าทีที่เป็นไปในทางเอียงสุดหรือสุดโต่ง คือพวกหนึ่งนั้นหลงตัวเอง และอีกพวกหนึ่งก็คลั่งไคล้เขา แต่ทั้ง ๒ พวกนี้ ไม่ว่าจะเป็นพวกที่หลงตัวเองคือ ยึดมั่น ติดในวัฒนธรรมของตัวเอง ยึดว่าของฉันดีที่สุด ไม่ยอมรับและต่อต้านวัฒนธรรมต่างประเทศโดยสิ้นเชิงก็ตาม หรือพวกที่สอง ซึ่งชื่นชมพอใจต่อวัฒนธรรมจากภายนอก จนกระทั่งถึงกับดูถูกวัฒนธรรมของตัวเองก็ตาม ทั้งสองพวกนี้มีลักษณะที่ร่วมกัน เหมือนกันอยู่อย่างหนึ่ง คือ ถึงจะต่างกันแต่ก็มีลักษณะที่เหมือนกัน ลักษณะที่เหมือนกันของสองพวกนี้คือ ไม่รู้จักตนเองและไม่รู้จักผู้อื่น ตามความเป็นจริง

 

ความหลงตัวเอง: ความยึดติตในวัฒนธรรมของตน

พวกที่หนึ่ง คือพวกที่หลงยึดติดในตัวเอง หลงตัวเองนั้น ก็ไม่รู้ความเป็นจริงว่า วัฒนธรรมเป็นกระแสรวมของสิ่งที่สะสมถ่ายทอดต่อๆ กันมา วัฒนธรรมของเรานั้นไม่ใช่เป็นสิ่งเป็นชิ้นเป็นอัน ยืนตัว คงที่ ตายตัวตั้งแต่เดิมมา ตลอดกาลเวลาที่ผ่านมาหลายยุค หลายสมัย มันเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อย องค์ประกอบและลักษณะต่างๆ ในวัฒนธรรมของเรานั้น บางอย่างก็เข้มข้นในยุคสมัยหนึ่ง ต่อมาอีกยุคสมัยหนึ่ง องค์ประกอบเดียวกันนั้นเองก็จางลงหรือหายไปหรือแปรผันไปเป็นอย่างอื่น มีการกลาย มีการผิดเพี้ยน มีการคลาดเคลื่อนไปต่างๆ อันนี้เป็นลักษณะของวัฒนธรรมที่สืบต่อมาจากอดีต เราจะต้องรู้ตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น วัฒนธรรมแต่ละสาย เมื่อมาถึงเวลาใดเวลาหนึ่งที่มนุษย์เราประสบอยู่ จึงมีทั้งข้อยิ่งและข้อหย่อน มีทั้งข้อดีและข้อด้อย เหมือนอย่างวัฒนธรรมไทยเราในปัจจุบันนี้ เราต้องยอมรับว่าเรามีทั้งดีทั้งเสีย เนื้อหาในวัฒนธรรมของเราบางอย่างผิดพลาดคลาดเคลื่อน เพี้ยนไปจากของเดิมในอดีตก็มี ในอดีตผิดเพี้ยนมาแล้ว ปัจจุบันนี้กลับทำให้ดีได้ก็มี ในอดีตไม่ผิดเพี้ยน แต่มาคลาดเคลื่อนในปัจจุบันก็มี ในอดีตคลาดเคลื่อนมาแล้ว ปัจจุบันยิ่งหลงทางไปไกลหนักเข้าก็มี สิ่งที่ได้ผิดเพี้ยนมาแล้วในอดีตนานๆ ก็มี อดีตใกล้ๆ ก็มี มาผิดเพี้ยนในปัจจุบันก็มี กำลังจะผิดเพี้ยนก็มี ที่มองเห็นง่ายๆ ก็คือพวกถ้อยคำต่างๆ ในภาษา เป็นตัวอย่างที่ส่อให้เห็นความผิดเพี้ยนและคลาดเคลื่อนเหล่านั้น ฉะนั้น ต่อไปนี้จะยกตัวอย่างมาประกอบ ไม่ต้องยกตัวอย่างอะไรมาก จะเอาถ้อยคำที่เราพูดกันนี้เป็นหลัก

ในฐานะที่เป็นพระ ก็จะเอาถ้อยคำทางพระศาสนามาพูดให้ฟัง ยกตัวอย่างให้เห็นว่าได้เกิดมีความคลาดเคลื่อนผิดเพี้ยนกันมาอย่างไร เช่น เมื่อพูดถึงคำว่า ‘นิพพาน' ในสังคมไทยยุคสมัยหนึ่งในอดีต คำว่า ‘นิพพาน’ ได้มีความหมายเน้นหนักในความรู้สึกของชาวบ้านในแง่ที่เป็นสถานที่อันแสนสุข อย่างที่เรียกว่าเมืองแก้ว ดังที่พูดกันว่า อมตมหานคร นครที่เป็นอมฤตและเป็นเมืองแก้ว คนในสมัยก่อนนั้นมีความปรารถนาจะไปนิพพานกันอย่างมาก เมื่อทำบุญอะไร ก็จะอธิษฐานลงท้ายขอให้ได้ไปนิพพาน คำถวายทานแบบโบราณจะต้องลงว่า นิพฺพานปจฺจโย โหตุ เป็นธรรมดาเลย แปลว่า ขอให้บุญกุศลนี้ จงเป็นปัจจัยแก่นิพพาน แต่สมัยนี้คนปัจจุบันตัดแล้ว ไม่มีคำนี้ ทีนี้คำว่า ‘นิพพาน’ นั้น เมื่อมาถึงอีกยุคสมัยหนึ่งก็กลับมีความหมายเปลี่ยนไปในแง่ว่าเป็นความตาย ความดับสูญ ความหายไป สิ้นไป ความหมายนี้เด่นมากในปัจจุบัน จนคนในยุคปัจจุบันนี้กลัวนิพพาน ไม่อยากไปนิพพานกันเลย จะเป็นด้วยเหตุนี้หรือไม่ก็ไม่ทราบ เวลาถวายทาน คำว่า นิพฺพาน ปจฺจโย โหตุ ก็เลยถูกตัดไปแล้ว นี่เป็นเรื่องที่น่าสังเกต

ต่อไป คำว่า ‘มานะ’ ในภาษาไทยปัจจุบันมานะมีความหมายว่า ‘เพียรพยายาม' เช่นในข้อความว่า ‘จงมานะบากบั่นเล่าเรียนไปเถิด ต่อไปจะได้เป็นใหญ่เป็นโต’ ถ้าเป็นคนไทยเก่าๆ ก็อาจจะบอกว่า ‘ไอ้หนู จงมานะพากเพียรเรียนไปนะ ต่อไปจะได้ใหญ่โตเป็นเจ้าคนนายคน’ โดยนัยนี้ มานะจึงมีความหมายเป็นพากเพียรพยายาม แต่มานะในภาษาเดิมที่เป็นคำแท้จริงของเขานั้น ‘มานะ’ เป็นกิเลสตัวหนึ่ง แปลว่า ความถือตัว ความสำคัญตนเป็นนั่นเป็นนี่ ความถือตนเป็นสำคัญ อยากให้ตัวยิ่งใหญ่โดดเด่น นี่คือความหมายเดิม แต่ทำไมมานะจึงกลายความหมายไปเป็นเพียรพยายาม นี่อาจจะเป็นเรื่องที่ต้องวิเคราะห์กันต่อไป

ทีนี้บางคำหายไปก็มี คำหนึ่งที่ดีมากในวงการศึกษา เดี๋ยวนี้แทบไม่ได้ยินกัน คือคำว่า ‘สำเหนียก’ คำว่าสำเหนียกเป็นคำที่ดีมาก เป็นคำที่แสดงความหมายว่า เมื่อรับฟังหรือเมื่อเล่าเรียนนั้น ไม่ใช่เรียนเปล่าๆ ไม่ใช่ฟังเปล่าๆ แต่ตั้งใจกำหนดเลือกจับเอาว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์ เป็นสิ่งมีค่า เอาไปใช้ได้ การที่สำเหนียกหายไปในปัจจุบัน อาจจะเป็นเครื่องส่อถึงสภาพจิตใจของคนปัจจุบันได้อย่างหนึ่งว่าเป็นอย่างไร คือเป็นข้อที่น่าพิจารณาว่าคนปัจจุบันอาจจะขาดการสำเหนียกก็ได้ นี้เป็นตัวอย่างในอดีต

ที่นี้ในปัจจุบัน คำบางคำก็กำลังจะมีความหมายเพี้ยนไป ยกตัวอย่างคำที่กำลังพูดถึงกันบ่อยๆ ก็คือคำว่า ‘ปฏิบัติธรรม’ เดี๋ยวนี้เราเข้าใจคำว่า ‘ปฏิบัติธรรม’ อย่างไร คนจำนวนมากทีเดียวจะเข้าใจคำว่าปฏิบัติธรรม หรือพูดถึงคำว่าปฏิบัติธรรม ในความหมายว่าเป็นการปลีกตัวเข้าวัด หรือต้องไปในป่า และไปอยู่เงียบๆ สักระยะหนึ่ง ไปนั่งสมาธิ ไปทำกรรมฐาน ไปบำเพ็ญเพียรทางจิตใจเป็นพิเศษ ไปอยู่ในที่วิเวกห่างไกลจากผู้คน ออกจากสังคมไป จึงเรียกกันว่าปฏิบัติธรรม ถ้าเราเข้าใจกันอย่างนี้ ซึ่งเดี๋ยวนี้ก็เข้าใจกันอย่างนั้นมากแล้ว ก็แสดงว่าเดี๋ยวนี้คำว่า ‘ปฏิบัติธรรม’ ก็เป็นคำหนึ่งที่กำลังมีความหมายเพี้ยนไป และเป็นเครื่องแสดงด้วยว่า วัฒนธรรมของไทยในปัจจุบันมีอะไรๆ ที่กำลังผันแปรไปอีก

คำว่า ปฏิบัติธรรม นี้คืออะไร ปฏิบัติธรรม ก็คือการนำเอาธรรมมาใช้มาปฏิบัติ เรามาทำงาน ถ้าทำงานด้วยใจรักงาน ก็เรียกว่ามี ‘ฉันทะ’ ทำงานด้วยความขยันหมั่นเพียร ก็เรียกว่ามี ‘วิริยะ’ ทำงานด้วยความเอาใจใส่ รับผิดชอบ ก็เรียกว่ามี ‘จิตตะ’ ทำงานด้วยการใช้ปัญญาไตร่ตรอง ใคร่ครวญ หาทางแก้ไขตรวจสอบ ทำให้งานดียิ่งขึ้น พิจารณาข้อยิ่งข้อหย่อนในการงานนั้น มีการตรวจตราวัดผลต่างๆ ก็เรียกว่ามี ‘วิมังสา' ถ้าทำครบ ๔ อย่างนี้ ก็เรียกว่า ทำงานด้วยอิทธิบาท ๔ อิทธิบาท ๔ ก็เป็นหลักธรรมสำคัญหมวดหนึ่ง เมื่อทำงานด้วยอิทธิบาท ๔ ก็คือ การปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน หลายท่านในที่นี้ก็มีรถยนต์ เมื่อขับรถไปในท้องถนนนั้น ถ้าเราขับด้วยความมีสติ ระมัดระวัง มีความไม่ประมาท รักษากฎจราจร อยู่ในระเบียบข้อบังคับและขับด้วยความสุภาพ อย่างนี้ก็เรียกว่าปฏิบัติธรรม แน่นอนไม่มีพลาดเลย แม้แต่จะกินอาหาร ถ้ากินอย่างรู้จักประมาณ มุ่งส่งเสริมคุณภาพชีวิต ไม่ฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย ไม่ลุ่มหลงมัวเมา ไม่ตะกละมูมมาม ก็เป็นการปฏิบัติธรรม แต่คนปัจจุบันไม่ค่อยมองถึงการปฏิบัติธรรม ในความหมายอย่างนี้ แม้แต่เพียงเรานั่งอยู่เฉยๆ เราตั้งจิตคิดนึกจะทำความดี ตั้งใจจะทำความดีต่อผู้อื่น ปรารถนาดีหวังดีต่อเขา เพียงเท่านี้ก็เป็นการปฏิบัติธรรมอยู่แล้ว แต่ปัจจุบันนี้เราเอาคำว่าปฏิบัติธรรมไปใช้ในความหมายที่แคบลงๆ จนกระทั่งมีความหมายเฉพาะ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าพิจารณาและระมัดระวังกัน

เท่าที่กล่าวมานี้ก็เป็นตัวอย่างที่ยกมาให้เห็นว่า วัฒนธรรมหรือภูมิธรรม ภูมิปัญญาที่มาในวัฒนธรรมนั้นย่อมจะมีการเปลี่ยนแปลง ผันแปร และอาจจะมีการคลาดเคลื่อน ผิดเพี้ยนไปได้เรื่อยๆ ฉะนั้น วัฒนธรรมที่มาปรากฏแก่เราในเวลาใดเวลาหนึ่ง โดยเฉพาะในปัจจุบัน จึงเป็นสิ่งที่เราจะต้องใคร่ครวญและรู้จักตามความเป็นจริงว่า วัฒนธรรมก็เลื่อนไหลของมันไปเรื่อยๆ สิ่งที่เราถือกันจนเคยนั้น มันก็เคลื่อนก็เพี้ยนไปได้ โดยไม่รู้ตัวเป็นส่วนมาก แต่คนเราเกิดมาในสภาพวัฒนธรรมอย่างใด ก็มักจะไปยึดติดในสภาพที่ปรากฏแก่ตนในเวลานั้น หารู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลง ความเจริญความเสื่อมที่เกิดขึ้นในวัฒนธรรมของตนเองไม่ ฉะนั้น เมื่อมีสิ่งใดคลาดเคลื่อน ผิดเพี้ยนไป เปลี่ยนรูปแปรความหมายไป สภาพนั้นก็กลายเป็นสิ่งที่แข็งทื่อ ยากแก่การแก้ไข เพราะการไปหลงยึดติดดังที่กล่าวมาแล้ว อันนี้คือด้านที่ ๑ ด้านของพวกหลงตัวเอง

 

ความคลั่งไคล้คนอื่น: ความเห่อวัฒนธรรมภายนอก

ทีนี้ ด้านที่ ๒ เป็นด้านตรงข้าม ก็คือ พวกที่คลั่งไคล้ของคนอื่น ชื่นชมแต่ของภายนอก ชอบรับของเขา การที่เราชอบรับของเขานี้ สังเกตดูว่า มักจะมีลักษณะของการรับที่ประกอบด้วยความไม่รู้ หรือการไม่ใส่ใจที่จะเรียนรู้ใน ๓ ประการ

ประการที่ ๑ เรามักไม่รู้และไม่ใส่ใจที่จะรู้ว่า สิ่งหรือระบบหรือความคิดที่มาในวัฒนธรรมของเขา ที่เขาใช้ เขาปฏิบัติอยู่เองนั้น ของเขาเองก็ยังมีปัญหาอยู่ ยังไม่ได้ผลสมบูรณ์ ยังใช้แก้ปัญหาของเขาไม่ได้เต็มที่ เราก็ไปหยิบเอามา ฉะนั้น เราจะต้องรู้ตัวว่า ในเมื่อของเขาเองเขายังใช้ไม่ได้ผลดีเต็มที่ด้วยซ้ำไป เราจะเอามาเฉยๆ ได้อย่างไร ถ้าเราจะเอามา เราจะต้องรู้เท่าทันปัญหาของเขา รู้ปัญหาที่ยังมีอยู่แล้ว เอามาแก้ไขปรับปรุงใช้ให้ได้ผลดียิ่งขึ้น

ประการที่ ๒ ของนั้น สภาพนั้น ไม่เหมาะ ไม่เข้ากับตัวเรา เพราะเราเป็นคนอื่น มีสภาพพื้นฐานมาอีกอย่างหนึ่ง มันก็เข้ากับตัวเราไม่เหมาะไม่สนิท เราก็รับเอามาที่อๆ เมื่อมันไม่เข้าสนิท ไม่เหมาะกัน ก็เกิดโทษเกิดปัญหาได้ในภายหลัง

ประการที่ ๓ ก็คือ ในการรับของเขามานั้น เรามักจะรับได้ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ รับมาไม่เต็ม คือเวลาเรารับวัฒนธรรมจากนอก เราไม่ได้รับสิ่งที่เป็นพื้นฐานรองรับสิ่งนั้นของเขามาด้วย พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ภูมิธรรม ภูมิปัญญาของเขาที่รองรับสิ่งที่มาในวัฒนธรรมนั้น เราไม่ได้เอามาด้วย เราเอาสิ่งนั้นมา ตัดขาดจากพื้นฐานทางจิตใจทางปัญญาของเขา แล้วเอามาใส่ในของเรา มันขาดตอน และมาวางบนพื้นฐานของเราที่เป็นคนละอย่าง มันวางไม่ติด ไม่เข้าที่ ก็เกิดโทษ ใช้การไม่ได้ผลดี เหมือนจะเอาต้นไม้จากที่อื่นมา ตัดมาได้แค่ลำต้นขึ้นไป ไม่ได้ขุดเอารากมาด้วย บางทีแม้แต่โคนต้นก็ไม่ได้ติดมา ต้นไม้ที่เอามาปลูกในที่ของตนนั้น ก็ไม่เจริญงอกงามต่อไป บางทีมีแต่ต้นตั้งแห้งตายอยู่นั่น ไม่มีชีวิตชีวาเลย ก็ไม่รู้ตัว บางทีรับเอามาแต่เปลือก ไม่ได้เอาเนื้อในมาด้วย คือได้แต่รูปแบบหรือตัวระบบ แต่สาระที่แท้จริงไม่ได้เอามา ถ้าของเก่าเขายังมีปัญหาอยู่ใช้ได้ผลไม่สมบูรณ์ เราเอามาใช้ก็ยิ่งได้ผลไม่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

ที่ว่ามาตอนนี้ เป็นเรื่องของการรับอย่างคลั่งไคล้ การรับอย่างคลั่งไคล้นี้ในปัจจุบันมีการบ่นกันมาก และโดยมากไปโทษเยาวชน เราบอกว่าเด็กและเยาวชน ปัจจุบันนี้ชอบเลียนแบบวัฒนธรรมทางตะวันตก และเราก็มีปัญหามากมายในเรื่องดิสโก้หรือเรื่องอะไรก็ตามที่ผู้ใหญ่ เห็นว่าไม่ดีไม่งาม เรารู้สึกว่าเด็กคลั่งไคล้กันมาก แต่ที่จริงนั้น ผู้ใหญ่ก็ไม่น้อย ไม่เบาเหมือนกัน ผู้ใหญ่ของเราบางทีก็ไม่รู้ตัว เด็กอาจจะทำในระดับหยาบๆ มองเห็นง่าย แต่ผู้ใหญ่ทำในระดับที่ประณีตยิ่งขึ้น เช่น เราไปหยิบเอาระบบแบบแผน รูปแบบ ตลอดจนวิชาการของเขามา โดยที่ไม่ได้เอาเนื้อแท้ติดมา หรือไม่ได้เนื้อแท้มาโดยสมบูรณ์ หรือไม่ได้พื้นฐานที่รองรับของเขาในทางจิตใจ ทางปัญญามาด้วย คือภูมิธรรม ภูมิปัญญา ที่เป็นพื้นฐานหรือรากเหง้าไม่ได้ติดมา นี่ก็เป็นการเลียนแบบอย่างหนึ่งเหมือนกันในระดับของผู้ใหญ่

เป็นอันว่า เท่าที่พูดมามี ๒ พวก พวกหนึ่งก็ยึดติดของตัวเอง หลงตัวเอง อีกพวกหนึ่งก็คลั่งไคล้คอยแต่จะรับของคนอื่น แต่ที่พูดมานี้เราแบ่งคนเป็น ๒ พวก ซึ่งที่จริงอาจจะเป็นมากกว่านั้นอีก คือเป็นทั้งสองอย่างในคนเดียวกันนั่นเอง คนไทยส่วนมากทีเดียว จะเป็นทั้งสองอย่างในคนเดียวกัน คือด้านของตัวเองก็ยึดถือรับมาอย่างทื่อๆ ไม่รู้ไม่เข้าใจว่าเป็นมาอย่างไร มีเหตุปัจจัยอะไร มันดีมันเสีย มีข้อบกพร่อง มีข้อยิ่งหย่อนอย่างไร ก็รับเอามาอย่างนั้นและยึดถือไว้อย่างนั้น และคนเดียวกันนั้นเองก็รับเอาของนอกมา คอยรับของนอก มาแบบทื่อๆ เหมือนกัน มาอย่างไรฉันก็รับอย่างนั้น มองเห็นแค่ไหนฉันก็รับแค่นั้น บางทีเป็นเพียงภาพหรือเงา ก็รับเอามา เป็นอันว่าทื่อทั้งสองด้าน นี่เป็นสภาพปัจจุบัน ซึ่งจัดเป็น ๒ พวก ก็สุดโต่งไป ๒ อย่าง ถ้าเป็นคนเดียว ก็มีความสุดโต่งอยู่ในคนเดียวกันนั้นเอง นี้เป็นสภาพของคนไทยปัจจุบันด้านหนึ่งที่ควรจะพูดถึง

 

ประโยชน์ของการกระทบทางวัฒนธรรม

ดังได้กล่าวข้างต้นแล้วว่า ปัจจุบันเป็นยุคสมัยของการเข้ามากระทบ หรือเข้ามาเผชิญกันของวัฒนธรรม ๒ สาย และการเข้ามากระทบกันนั้นเป็นสิ่งจำเป็น เพราะมันเข้ามาแล้ว และเกิดขึ้นแล้ว เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราเพียงแต่ว่าจะทำอย่างไรให้ดีที่สุด สิ่งหนึ่งที่พึงทำก็คือการที่จะมองในแง่ดี การมองในแง่ดีก็อย่างที่พูดเมื่อสักครู่นี้ว่า ไม่ทำให้มันเกิดการลบล้างกันในทางที่เป็นผลเสียหาย แต่รู้จักถือเอาประโยชน์จากการกระทบกันทางวัฒนธรรม ทำให้การกระทบกลายเป็นการประสาน

การกระทบทางวัฒนธรรมนั้น มีประโยชน์หลายอย่าง อย่างแรกก็คือ มันทำให้เราสำนึกตัวอย่างที่ว่ามาเมื่อสักครู่นี้ บางทีวัฒนธรรมที่เราถือกันมาแต่อดีตนั้นมีข้อผิดพลาดบกพร่อง เราก็ถือๆ ตามกันมาและเพลินๆ เรื่อยไป โดยไม่ได้พินิจพิจารณา แต่เมื่อเราไปกระทบกับวัฒนธรรมต่างประเทศแล้วก็อาจจะมีอะไรสะดุด ที่ทำให้เราเกิดความรู้สึกสำนึกตัวขึ้นมา แล้วถ้าเราไม่เป็นคนหลงตัวเอง ก็จะทำให้เราหันมาทบทวนสำรวจตรวจสอบตัวเองว่า ในวัฒนธรรมของเราเองนั้นมีอะไรที่เป็นข้อบกพร่องเสียหายบ้าง มีอะไรที่ผิดเพี้ยนไป คลาดเคลื่อนไป แล้วเราจะได้แก้ไขให้ถูกต้อง นี่เป็นส่วนของเราเอง นอกจากนั้น การที่คนของเราชอบไปเลียนแบบของคนอื่น ก็เป็นการฟ้องอยู่ในตัวเองว่า วัฒนธรรมของเราเองคงจะมีจุดอ่อน มีข้อบกพร่องบางอย่าง ถ้าวัฒนธรรมของเราดีพร้อม ไม่มีจุดอ่อน ไม่มีข้อบกพร่อง คนของเราก็คงไม่ไปเลียนแบบของเขามา

ฉะนั้น การที่ปัญหาเกิดขึ้นมานี้ก็เป็นเครื่องเตือนตัวเราให้มีสติ ให้ไม่ประมาทที่จะต้องคิด พิจารณาทบทวนตนเอง ต้องวิเคราะห์ตนเองแล้วจะได้มองเห็นทางที่จะทำให้เกิดประโยชน์ขึ้น ทีนี้ นอกเหนือจากการวิเคราะห์ตนเองนั้น ก็คือการรู้จักรับจากผู้อื่น ซึ่งจะต้องทำพร้อมไปด้วยกัน ยกตัวอย่างวัฒนธรรมที่มีการคลาดเคลื่อนดังได้พูดไปเมื่อสักครู่นี้ การที่เราไม่ได้วิเคราะห์ตนเอง ย่อมเป็นทางให้เกิดความผิดพลาดได้มากมาย เพราะว่าวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่หล่อหลอมตัวเรามา ถ้าเราไม่รู้จักมัน มันก็จะทำโทษเรา คือจะเกิดผลเสียโดยที่เราไม่รู้ตัว ถ้าจะเปรียบก็เหมือนกับว่า เราจะใส่รองเท้าใหม่ เราเกิดไปชอบรองเท้าของต่างประเทศ แต่ก่อนนี้เราอาจจะใส่รองเท้าแตะที่พอดีกับเท้าคนไทยซึ่งเล็กหน่อย ต่อมาเราไปเห็นฝรั่งใส่รองเท้าคัชชู ใส่รองเท้าหุ้มส้น รองเท้าบู๊ท หรือรองเท้าอะไรก็ตาม ถ้าเราไปเอาของเขามาใส่เฉยๆ เท้าฝรั่งใหญ่ รองเท้านั้นก็ไม่พอเหมาะกับเรา เมื่อใส่แล้วจะเดินจะวิ่ง ก็ไม่สะดวก มันก็เป็นโทษแก่ตัวเราเอง ฉะนั้น ถ้าเราไม่รู้จักตัวเราเอง ตัวเราเองหรือสภาพของตัวเราเองที่สืบมานี้แหละจะทำโทษเรา ทำให้เราเกิดปัญหา เกิดการติดขัดขึ้น เราจึงต้องสำรวจตรวจสอบตัวเอง

คนไทยเรามีลักษณะอย่างหนึ่งที่เรียกว่า ปรับตัวเก่ง สามารถปรับตัวเข้ากับโอกาส เข้ากับสิ่งแปลกใหม่เข้ากับสภาพแวดล้อมต่างๆ ได้ดีและรวดเร็ว การปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ โอกาส สภาพแวดล้อมได้นั้น เป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าใช้ไม่ดี ก็อาจกลายเป็นโทษ การที่เราชอบเลียนแบบนี้ ก็เป็นอาการอย่างหนึ่งของการปรับตัวเก่ง คนไทยเราปรับตัวเก่งจึงเลียนแบบเขาเก่งด้วย อาจจะเป็นไปได้หรือไม่ว่า องค์ประกอบบางอย่างในวัฒนธรรมของเรามันหลุดหล่นหายไป ทำให้การปรับตัวของเราไม่เป็นการปรับตัวที่ดี ไม่เป็นการปรับตัวที่แท้จริง แต่กลายเป็นการเลียนแบบไป องค์ประกอบสำคัญของการปรับตัวอาจจะหลุดหายไปจากวัฒนธรรม นี่เป็นการลองเสนอ เป็นการทาย คาดหมายหรือเดา ตัวแปรสำคัญอาจจะได้แก่คำว่า ‘สำเหนียก’ ซึ่งถ้ายังมีอยู่ ก็จะทำให้การรับสิ่งที่มาจากภายนอก เช่นรับวัฒนธรรม จะมีอาการที่ว่ารู้จักรับ รู้จักเลือก รู้จักพิจารณา ก็จะไม่เป็นการเลียนแบบ แต่จะมีการปรับตัวอย่างถูกต้อง แต่เมื่อการสำเหนียกหายไป การปรับตัวที่แท้จริงก็ไม่มี มีแต่การตามเขา รับจากเขาอย่างเดียว จนกลายเป็นการเลียนแบบขึ้นมา จึงอาจจะเป็นไปได้ว่า ได้มีการคลาดเคลื่อนขึ้นในวัฒนธรรมของเราเอง

 

วิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง:
มองตามเป็นจริง และสำเหนียกเอาประโยชน์

อย่างไรก็ตาม วัฒนธรรมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นของตนที่สืบทอดมาก็ตาม เป็นวัฒนธรรมอื่นที่หลั่งไหลเข้ามาจากภายนอกก็ตาม ถ้าเรียกตามศัพท์ในทางพระศาสนา หรือเรียกเป็นภาษาทางธรรม ก็จัดเป็นปรโตโฆสะ ตามหลักพระพุทธศาสนานั้น องค์ประกอบเริ่มแรกในทางการศึกษา หรือปัจจัยเบื้องแรกในการศึกษานั้น ตัวสำคัญก็คือ สิ่งที่เรียกว่า ปรโตโฆสะ ปรโตโฆสะ แปลว่า เสียงจากอื่น เสียงจากภายนอกหรืออิทธิพลจากภายนอก คือนอกตัวบุคคล วัฒนธรรมของเราเองก็เป็นสิ่งที่หล่อหลอมตัวเรามา ถ้าเอาตัวคนเป็นศูนย์กลาง ก็คือมันห่อหุ้มเราอยู่รอบตัว และมันก็หล่อหลอมอุปนิสัยใจคอของเรา จึงเป็นปรโตโฆสะแหล่งใหญ่แหล่งหนึ่งของการศึกษา วัฒนธรรมจากภายนอกก็เช่นเดียวกัน ก็เป็นปรโตโฆสะ เป็นอิทธิพลจากอื่น เป็นเสียงจากภายนอกที่เข้ามามีอิทธิพล ซึ่งเมื่อเรารับเข้ามา มันก็จะเป็นปัจจัยที่หล่อหลอมชีวิตจิตใจ ตลอดจนสังคมของเรา ให้มีความเป็นไปต่างๆ ปรโตโฆสะเป็นแหล่งสำคัญของการศึกษา

ทีนี้ หลักการในการปฏิบัติต่อปรโตโฆสะ ก็คือ อย่าปล่อยให้ปรโตโฆสะเป็นตัวกระทำต่อเรา แต่เราต้องเป็นฝ่ายกระทำต่อปรโตโฆสะ ถ้าเราปล่อยให้ปรโตโฆสะ กระทำต่อเรา เราก็เป็นตัวรับฝ่ายเดียว วัฒนธรรมของเราที่มาจากอดีตมีความคลาดเคลื่อนผิดเพี้ยนไปอย่างไร มันก็หล่อหลอมชีวิตจิตใจของเราให้มีการศึกษา มีผลการศึกษาเป็นอย่างนั้น วัฒนธรรมจากภายนอกเข้ามาอย่างไร ดีไม่ดี ไม่มีการกลั่นกรอง ไม่มีการตรวจสอบพิจารณา ก็มาหล่อหลอมชีวิตของเราให้เป็นอย่างนั้น นี้เรียกว่า เราปล่อยให้ปรโตโฆสะทำต่อเรา แต่วิธีของการศึกษานั้น เป็นไปในทางกลับกันว่า เราจะต้องกระทำต่อปรโตโฆสะ การทำต่อปรโตโฆสะนั้นทำอย่างไร

เมื่อพูดถึงวิธีปฏิบัติต่อปรโตโฆสะ ก็มาถึงองค์ประกอบที่ ๒ ที่เป็นจุดเริ่มของการศึกษา กล่าวคือ ในทางการศึกษานั้น หลักการทางพระพุทธศาสนาถือว่ามีปัจจัยเริ่มแรก ๒ อย่าง องค์ประกอบอย่างที่ ๑ คือ ปรโตโฆสะ เสียงจากอื่น หรืออิทธิพลจากภายนอก เป็นปัจจัยภายนอก องค์ประกอบที่ ๒ ก็คือ สิ่งที่เรียกว่า โยนิโสมนสิการ การรู้คิดรู้จักพิจารณา ปัจจุบันเรียกว่า รู้จักคิด คิดเป็น องค์ประกอบที่ ๒ นี้ เป็นปัจจัยภายใน เป็นตัวที่จะมากระทำต่อปรโตโฆสะ เป็นตัวที่จะมาวิเคราะห์สำรวจตรวจสอบปรโตโฆสะ ซึ่งรวมทั้งวัฒนธรรมที่มาจากของตนเองในอดีต และที่มาจากภายนอก ทำให้มองตามเป็นจริงว่า คืออะไร เป็นอย่างไร เป็นมาอย่างไร มีส่วนดีส่วนเสีย หรือคุณโทษอย่างไร แล้วรู้จักเลือก รู้จักรับ รู้จักพิจารณาให้ได้แต่สิ่งที่ดีงาม เป็นประโยชน์ เกื้อกูลแก่ตน ซึ่งในความหมายอย่างหนึ่งก็ตรงกับการสำเหนียก อาตมภาพคิดว่าคำว่า ‘สำเหนียก’ นี้ อาจจะเป็นคำแปลคำหนึ่งของคำว่าโยนิโสมนสิการของคนไทยในสมัยโบราณก็ได้ แต่เราอาจจะลืมๆ กันไป เมื่อลืมไปก็ขาดองค์ประกอบของการศึกษาที่สำคัญ เพราะฉะนั้น จะต้องรื้อฟื้นการสำเหนียก ตลอดจนโยนิโสมนสิการทั้งหมดนี้ขึ้นมา โยนิโสมนสิการจะทำให้เกิดความรู้เท่าทันต่อประสบการณ์ ต่อวัฒนธรรม ต่อสิ่งที่ถ่ายทอดหลั่งไหลเข้ามา ไม่ว่าจากอดีตของตนหรือจากที่อื่นภายนอกก็ตาม แล้วพิจารณาหาทางที่จะทำให้เกิดประโยชน์

รวมความเท่าที่กล่าวมานี้ อาตมภาพพูดมาเสียยาวนานในเรื่องวัฒนธรรม จนเสียเวลาไปเป็นอันมากนั้น ก็มุ่งแต่เพียงเพื่อให้เข้าใจในเรื่องปรโตโฆสะแหล่งใหญ่ของคนในสมัยปัจจุบัน ความจริงปรโตโฆสะนั้นมีมากมาย แต่ปรโตโฆสะแหล่งสำคัญในปัจจุบัน ก็คือวัฒนธรรมที่มาจากอดีตของเราเอง และวัฒนธรรมที่มาจากภายนอก ซึ่งจัดเป็นองค์ประกอบข้อที่ ๑ ของการศึกษา ต่อจากนั้นก็นำเข้าสู่องค์ประกอบที่ ๒ ของการศึกษา คือ โยนิโสมนสิการ การรู้จักพิจารณา การสืบสาว คิดหาเหตุปัจจัยจนถึงต้นเค้า การแยกแยะองค์ประกอบต่างๆ แล้วเอาโยนิโสมนสิการนั้นมาใช้จัดการกับปรโตโฆสะ ให้บังเกิดผลดี โยนิโสมนสิการเป็นวิธีคิดตามหลักพระพุทธศาสนา ซึ่งมีความหมายกว้างขวางมาก แต่รวมง่ายๆ ก็คือ รู้จักคิดพิจารณา ไตร่ตรองอย่างที่กล่าวมาแล้ว เพื่อจะได้เลือกสรรมาทำให้เป็นประโยชน์

ตัวอย่างสำคัญของการใช้โยนิโสมนสิการ ก็คือ การพิจารณาให้รู้เท่าทันไตรลักษณ์ ซึ่งเป็นหลักที่พูดถึงมาแล้วโดยไม่ได้ออกชื่อ แต่ได้พูดในเนื้อหาของมันมาตั้งแต่ต้น การมีโยนิโสมนสิการ ให้รู้เท่าทันไตรลักษณ์นั้นทำอย่างไร ก็คือรู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปตามเหตุปัจจัย เช่น รู้วัฒนธรรมของเราที่เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย แล้วก็จัดสรรแก้ไขได้ด้วยการแก้ที่เหตุปัจจัยนั้น การรู้เท่าทันอดีตที่กล่าวมาข้างต้นก็ดี การเตรียมการเพื่ออนาคตก็ดี เป็นเรื่องของการใช้โยนิโสมนสิการมาพิจารณาอย่างรู้เท่าทันไตรลักษณ์แล้วทำให้เกิดประโยชน์ขึ้น และทำด้วยความไม่ประมาท หลักไตรลักษณ์นั้นมากับความไม่ประมาทที่จะกระตือรือร้น เร่งขวนขวายแก้ปัญหา ป้องกันความเสื่อม และสร้างสรรค์ความเจริญมั่นคง ด้วยความรู้เท่าทันอดีต แล้วสร้างปัจจุบันเพื่ออนาคตที่มีผลดี หลักการต่างๆ ที่กล่าวมานี้ ท่านเรียกว่าเป็นบุพภาคคือส่วนเริ่มต้นของการศึกษา ซึ่งได้โยงเข้ามาสู่เรื่องของไตรลักษณ์ ทั้งหมดนี้ก็เป็นการพูดกว้างๆ ทั่วๆ ไป เป็นการกล่าวนำ

 

ตัวอย่างการวิเคราะห์ตนเอง:
ความคลาดเคลื่อนในวัฒนธรรม

ทีนี้ ในส่วนเนื้อหารายละเอียด เนื่องจากเหลือเวลาน้อยเต็มทีแล้ว ก็อยากจะยกตัวอย่างสักนิดหน่อยเกี่ยวกับการวิเคราะห์ตนเอง โดยใช้โยนิโสมนสิการลองวิเคราะห์วัฒนธรรมของเราเองนี้ดู ตัวอย่างหนึ่งที่น่าพิจารณาคือ คนไทยมีพื้นฐานทางจิตใจเป็นอย่างไร ขอพรรณนาลักษณะนิสัยบางอย่างของคนไทยก่อน รวมทั้งที่พูดมาแล้วเมื่อสักครู่นี้ด้วย ตามที่ว่าๆ กันอยู่ คนไทยเรานิยมความมีหน้ามีตา โก้ เอาเด่นคนเดียว ไม่ยอมลงกัน ทำงานเป็นทีมไม่ได้ ทำงานเป็นทีมแล้วแตกกันหมด ไม่ยั่งยืน และเมื่อมีใครทำอะไรดี มีความสามารถเด่นขึ้นมา ก็ไม่ส่งเสริมกัน คอยปัดแข้งปัดขากัน ชอบอวดโก้ อวดฐานะ จัดงานจัดการก็มุ่งที่ความมีหน้า มีตา ไม่ว่าชาวชนบทหรือชาวกรุง อย่างชาวบ้านนอกตอนนี้ วัดต่างๆ ถ้าสร้างโบสถ์ก็สร้างแข่งกันว่า โบสถ์ใครจะใหญ่กว่ากัน โบสถ์ของเราต้องใหญ่กว่าโบสถ์ของพวกนั้น ตำบลโน้น โบสถ์เราต้องใหญ่ที่สุดในเมืองนี้ ในอำเภอนี้ ในจังหวัดนี้ หรือบางถิ่นก็แข่งขันสร้างเมรุว่า ฉันสร้างเมรุเผาศพที่ใหญ่ที่สุดในอำเภอนี้ ในจังหวัดนี้ นี่เป็นเรื่องของการชอบความโก้ ความมีหน้ามีตา ความยิ่งใหญ่เหนือคนอื่น แม้แต่จะให้ทำความเพียรพยายามอะไร ก็ต้องเร้าด้วยตัวล่อนี้ คือตัวความต้องการยิ่งใหญ่

สมัยก่อนนี้ ผู้ใหญ่คนเก่าๆ บอกเด็กว่าให้ตั้งใจเล่าเรียนหนังสือ ให้พากเพียรเรียนไป ให้มีมานะบากบั่น ต่อไปจะได้เป็นใหญ่เป็นโต เป็นเจ้าคนนายคน นี่ก็หมายความว่า แม้แต่จะให้ทำความเพียรพยายาม แม้แต่จะให้ทำความดี ก็ต้องยุด้วยเอาความยิ่งใหญ่ เอาความใหญ่โตโก้โอ่อ่าขึ้นมาเป็นเครื่องเร้า การที่เรารับเอาวัฒนธรรมภายนอก รับเอาระบบวิธีการต่างๆ เข้ามา ก็เพราะประกอบไปด้วยความรู้สึกนี้ด้วย คือประกอบไปด้วยความรู้สึกว่าโก้ เป็นของนอก เราจึงรับเข้ามา นี่เป็นพื้นใจในการรับ ทำไมเราจึงชอบของนอกมาก ก็เพราะรู้สึกโก้ ทีนี้ถ้าเกิดว่ามีของไทยเราทำดีขึ้นมา อาจจะดีกว่าของนอกหรือดีไม่แพ้กัน เราก็ยอมรับไม่ได้ เราไม่ส่งเสริมคนที่ทำนั้นด้วย ไม่ยกย่องเชิดชู เพราะกลัวว่าเขาจะใหญ่จะเด่นเหนือเรา ความดีเด่นของเขาจะกระทบกระแทกกดข่มตัวตนของเรา และเราก็ไม่ยอมรับของนั้น แต่ถ้าของนอกเข้ามา คนที่ทำของนั้นอยู่ห่างไกลออกไป ความดีเด่นของเขาก็ไม่มากระทบกระทั่งตัวเรา และเราก็มีค่านิยมที่ชื่นชมนิยมของนอกอยู่แล้ว เราก็รับเข้ามาในลักษณะที่กลายเป็นของโก้ไป พฤติกรรมทั้งหมดนี้ มาจากพื้นฐานจิตใจอันเดียวกันทั้งหมด พื้นฐานจิตใจอันนี้คือ กิเลส ที่เรียกว่า ‘มานะ’

การที่คำว่า มานะ ได้มีความหมายเพี้ยนไปในสังคมไทยนี้ เข้าใจว่าจะเป็นเครื่องส่ออย่างหนึ่งซึ่งแสดงว่า คนไทยได้เอามานะมาปลูกฝังเป็นภูมิธรรมสำคัญสำหรับใช้ในการกระตุ้นคนให้เพียรพยายาม ให้ทำแม้แต่ความดีงามต่างๆ จนกระทั่งว่า ‘มานะ’ ได้มีความหมายเพี้ยนไปเป็นสิ่งที่ดี กลายเป็นความเพียรพยายามไป แต่ความจริงมานะไม่ใช่ตัวความเพียร แต่เป็นตัวกระตุ้นให้เพียร เป็นตัวพลังที่เราเอามาเร้า ‘หนูจงมานะพากเพียรไปนะ ต่อไปจะได้ใหญ่โต เป็นเจ้าคนนายคน’ หรือ ‘จงมีมานะร่ำเรียนไปเถิด’ มานะในความหมายที่แท้ซึ่งแฝงอยู่ก็คือ ความต้องการเป็นใหญ่ ต้องการโดดเด่น แล้วเราก็เอามานะนี้มาใช้เป็นตัวกระตุ้นเร้าคนของเราให้เพียรพยายามกันเรื่อยมาจนเพลินไม่รู้ตัว ไม่ตระหนักว่ามันเป็นอะไรอยู่ในใจของเรา เพราะฉะนั้น กิเลส ข้อว่ามานะนี้ อาจจะเป็นภูมิธรรมหรือพื้นจิตใจอย่างหนึ่งของคนไทย ซึ่งมีผลมาในปัจจุบัน อย่างที่กล่าวแล้วว่า ทำไมเราจึงมีพฤติกรรมอย่างนั้นอย่างนี้ ทำไมปัญหาสังคมของเราจึงเกิดขึ้นในลักษณะนี้ ปัญหาในระดับต่างๆ ตั้งแต่ปัญหาในวงการเมือง จนถึงปัญหาระหว่างบุคคล มักมีกิเลสตัวนี้เป็นแรงบันดาลอยู่เบื้องหลัง เป็นตัวครอบงำที่สำคัญมาก ‘มานะ' ตัวนี้จะแสดงผลอย่างไร ก็แล้วแต่ว่ามันจะประกอบกับปัจจัยอื่นอย่างไร เช่น ถ้ามันไปประกอบกับตัณหา ไปเสริมตัณหา มันก็จะทำให้เราบริโภคแบบอวดโก้ เช่น อาจจะไปบริโภคอาหารฝรั่งเพื่อแสดงความโก้เก๋ทันสมัยของเรา เป็นต้น นี่เรียกว่ามานะไปประกอบกับตัณหา ทีนี้ถ้าเอามานะไปเสริมความเพียร มันก็ไปยุให้ขยันเรียนเพื่อให้ตัวเด่น ให้เพียรพยายามที่จะสอบได้ที่ ๑ มานะจึงใช้ได้ทั้งในทางดีและทางร้าย แต่คนไทยเราก็พยายามใช้มานะในทางที่ดี คือเอามานะนี้มาใช้ส่งเสริมกระตุ้นเร้าให้เกิดความเพียรพยายามทำดี จนกระทั่งตัวมานะเองได้กลายความหมายเป็นความเพียรไป

อย่างไรก็ตาม มานะซึ่งเป็นกิเลสนี้ แม้จะนำมาใช้ในทางที่ดี เป็นตัวกระตุ้นเร้าส่งเสริมในการทำความดี ก็ไม่ใช่สิ่งที่ปลอดภัย เพราะมันเป็นกิเลส เป็นอกุศลธรรม คือ เป็นธรรมที่เป็นอกุศล เช่น เราอาจจะยุให้เด็กมีความเพียรพยายามที่จะเรียน เพื่อจะสอบได้ที่ ๑ นี่ก็คือการใช้มานะกระตุ้นเพื่อจะให้เด่นเหนือเขา เด็กนี้ก็เรียนโดยมุ่งเอาการสอบได้ที่ ๑ ที่เป็นความโก้ ความเด่น ไม่ได้คิดถึงความมุ่งหมายของการเล่าเรียนศึกษาที่แท้จริงว่า เพื่อวิชาความรู้ เพื่อการที่จะได้นำความรู้นี้ไปใช้ทำประโยชน์แก่ชีวิตของตนและชีวิตของผู้อื่น เขาไม่ได้มองด้วยความรู้ความเข้าใจอย่างนี้ มุ่งแต่ความเด่นอย่างเดียว

ถ้ามองในแง่ของธรรมะ ก็เป็นการโลดแล่นไปในอวิชชาหรือถูกอวิชชาหุ้มห่อไว้ ไม่ใช่การเพียรพยายามเล่าเรียนด้วยจิตใจที่เป็นกุศลซึ่งสว่างด้วยปัญญา การใช้กิเลสเป็นเครื่องยุ เป็นเครื่องเร้า แม้จะใช้ในทางที่ดีงามก็ไม่ปลอดภัย จึงเสนอว่า ถ้ามานะซึ่งเป็นกิเลสนี้เป็นภูมิธรรมพื้นจิตใจของคนไทยอย่างหนึ่งแล้ว ก็มาถึงยุคที่เราจะต้องยอมรับความจริง และจะต้องแก้ไข มีปัญหาว่า ถ้าแก้ไขแล้ว เราจะเอาอะไรมาแทน สิ่งที่จะแทนก็คือ ฉันทะ จะต้องเอาฉันทะมาแทน

 

ตัวอย่างภารกิจของการศึกษา:
การพัฒนาวัฒนธรรม

มานะ ทำให้คนเพียรพยายามเพราะต้องการให้ตัวเด่น เพื่อเชิดชูยกตัว เห็นแก่ตัว ให้ความสำคัญแก่ตนเอง แต่ฉันทะทำให้คนเพียรพยายาม เพราะต้องการธรรม เห็นแก่ธรรม ให้ความสำคัญแก่ธรรม ธรรมคืออะไร ธรรมคือความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม ฉันทะ ในที่นี้ หมายถึงฉันทะในธรรม เรียกเต็มว่า ธรรมฉันทะ หมายถึงความรักธรรม ความปรารถนาใฝ่ใจในความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม เราจะต้องเร้าฉันทะนี้ขึ้นมาแทนมานะ เร้าให้คนเพียรพยายามเพื่อจะแสวงหาความรู้และทำการสร้างสรรค์ ทั้งใฝ่ความจริง ใฝ่ปรารถนาต่อความจริง คือใฝ่รู้ ต้องการรู้ และใฝ่ความดีงาม คือใฝ่ทำสิ่งที่ดีงาม ต้องการสร้างสรรค์ ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ขึ้น แล้วก็ใช้ฉันทะนี้เร้าความเพียรให้เกิดขึ้น

ฉันทะให้ความสำคัญแก่ธรรมะ ตรงข้ามกับมานะที่ให้ความสำคัญแก่ตนเอง เมื่อมานะให้ความสำคัญแก่ตัวเอง เราจะต้องทำทุกอย่างเพื่อให้ฉันไม่แพ้ ไม่ว่าจะโดยดีหรือโดยร้าย สุจริตหรือทุจริต หรือด้วยเล่ห์กลอะไรก็ตาม แต่ถ้ามีฉันทะ เรายอมแพ้ได้เพื่อเห็นแก่ธรรมเพื่อให้ธรรมะนั้นยิ่งใหญ่ คือเรายอมให้แก่ธรรม ยอมให้แก่ความเป็นธรรม แก่ความชอบธรรม ไม่ได้ยอมแพ้คน ถ้าเรายอมเพื่อธรรม เพื่อเห็นแก่ธรรม เรายอมได้เพื่อให้ความสำคัญแก่ธรรม ก็จะเกิดสิ่งที่เรียกว่า ธรรมาธิปไตย คือการถือธรรมเป็นใหญ่ ธรรมฉันทะก็ดี ธรรมาธิปไตยก็ดี เป็นองค์ประกอบสำคัญของการพัฒนา แม้แต่การพัฒนาการปกครองที่เรียกว่าพัฒนาประชาธิปไตยนั้น ถ้าไม่สร้างสรรค์ธรรมฉันทะ และธรรมาธิปไตยนี้ให้เกิดขึ้น ก็จะไม่มีทางสำเร็จ

ในการพัฒนาประชาธิปไตยในปัจจุบันนี้ คนของเราส่วนมากยังตกอยู่ในอำนาจครอบงำของมานะ หรือไม่ก็ตัณหา หรือทั้งสองอย่างหนุนกัน เรายังติดในกิเลสนี้เป็นตัวหลักสำคัญอยู่เป็นอย่างมาก เพราะฉะนั้น เราจึงยอมแพ้ไม่ได้ตั้งแต่เล่นกีฬา จนถึงเลือกตั้งเข้าสภา มานะเป็นแรงขับดัน ธรรมะจะเป็นอย่างไรช่างมัน ขอให้ฉันไม่แพ้ก็แล้วกัน แต่ถ้าเป็นธรรมฉันทะและธรรมาธิปไตย ฉันยอมได้เพื่อเห็นแก่ธรรม

ตัณหาคู่กับมานะ เช่นเดียวกับที่ธรรมฉันทะคู่กับธรรมาธิปไตย ตัณหาเห็นแก่ประโยชน์ของตัว มานะก็เห็นแก่ความสำคัญของตัว รวมแล้วก็คือเห็นแก่ตัว เมื่อทำการด้วยตัณหาและมานะ ก็ยอมสละความถูกต้องชอบธรรม สละความดีงามได้ ยอมเสียธรรม เพื่อให้ตัวได้ เพื่อให้ตัวยิ่งใหญ่สำคัญ แต่ตรงข้ามจากนั้น ธรรมฉันทะ รักธรรม ธรรมาธิปไตย ก็ถือธรรมเป็นสำคัญ รวมแล้วก็คือเห็นแก่ธรรม เมื่อรักธรรม ถือธรรมเป็นสำคัญ ก็ยอมได้เพื่อเห็นแก่ธรรม ยอมสละตัว ยอมสละผลประโยชน์และความยิ่งใหญ่ของตัวได้ เพื่อให้ธรรมยิ่งใหญ่สำคัญ ประชาธิปไตยนั้นอยู่ได้ด้วยอะไร จะเกิดขึ้นได้ด้วยอะไร ก็เกิดขึ้นได้ด้วยการที่คนให้ความสำคัญแก่ธรรม ให้ความสำคัญแก่ความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม และนี่ก็คือการสร้างสรรค์พัฒนาประชาธิปไตย และการพัฒนาทุกอย่างที่ถูกต้อง การศึกษาซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในการพัฒนาชีวิตและสังคม ก็จะต้องพัฒนาธรรมฉันทะ และธรรมาธิปไตยนี้ให้สำเร็จ

 

แนวคิดเบื้องต้นของการศึกษาแนวพุทธ

ต่อจากนี้ ที่คิดไว้ว่าจะวิเคราะห์เรื่องต่างประเทศ แต่ไม่มีเวลา เพราะฉะนั้นจึงขอข้ามไป พูดถึงธรรมในวงกว้างขึ้นอีกนิดหน่อยเพื่อเป็นการสรุป พอดีวันนี้เป็นวันอาสาฬหบูชา วันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา อย่างที่บอกแล้วว่าเป็นวันสถาปนาคณะสงฆ์ เป็นวันประกาศปฐมเทศนา หรือเทศนาครั้งแรกของพระพุทธเจ้า เป็นวันมงคล แต่มงคลที่แท้จริงจะเกิดขึ้นก็ด้วยการเข้าถึงสาระของวันสำคัญนี้ สาระของวันสำคัญนี้คืออะไร วันอาสาฬหบูชาที่ว่าเป็นวันประกาศธรรมจักร หรือแสดงปฐมเทศนานั้นก็คือเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงทางสายกลาง ที่เรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา และอีกอย่างหนึ่งคือ อริยสัจ ๔ คือหลักความจริงที่เป็นเหตุเป็นผล รวมมีสองอย่างเท่านั้นที่พระพุทธเจ้าประกาศในวันนี้

คำว่า ทางสายกลาง นั้น ไม่ใช่หมายความว่า ทางที่อยู่กึ่งกลางระหว่างหลายๆ ทาง หรือแม้แต่ ๒ ทาง เมื่อคน ๒ คนมาอยู่ตรงข้างกัน ถ้าเรายืนตรงกลางก็เรียกว่าอยู่กึ่งกลาง แต่ไม่ใช่ทางสายกลาง สายกลางซึ่งที่จริงเป็นกึ่งกลางอย่างนี้จะขยับไปขยับมาเรื่อย หมายความว่า ถ้า ๒ คนนั้นขยับไป กึ่งกลางก็จะขยับและขยายตามไปด้วย จึงเป็นสายกลางที่ไม่แน่นอน แต่ทางสายกลางของพระพุทธเจ้านี้แน่นอน ทางสายกลางคือ ทางที่พอเหมาะพอดีที่จะนำไปสู่จุดมุ่งหมาย จุดหมายคืออะไร จุดมุ่งหมายคืออิสรภาพและสันติสุข อิสรภาพและสันติสุขในที่นี้ใช้ตามศัพท์สมัยปัจจุบัน ความจริงถ้าใช้ศัพท์เดิมก็คือ นิพพานนั่นเอง นิพพานนั้นมีไวพจน์คือ คำที่เป็น synonym หลายคำ ในบรรดาคำเหล่านั้นก็มีอิสรภาพและสันติสุขด้วย คำเหล่านี้ปัจจุบันพอสื่อกันเข้าใจง่าย ทางสายกลางก็นำไปสู่อิสรภาพและสันติสุขนี้ แต่ทางสายกลางจะนำไปสู่อิสรภาพและสันติสุขได้ ก็ต้องเริ่มด้วยการมองเห็น การเข้าใจความจริงที่เป็นเหตุเป็นผล ก็คือต้องรู้เรื่องอริยสัจ ๔ เมื่อรู้เข้าใจความจริงที่เป็นเหตุเป็นผล ก็สามารถที่จะคิดแก้ไข จัดการ จัดสรร ปรับปรุง เปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ จนกระทั่งปฏิบัติให้บรรลุถึงจุดหมายที่ต้องการได้

การที่จะรู้เข้าใจความจริงที่เป็นเหตุเป็นผลก็คือ การที่ต้องเริ่มต้นด้วยโยนิโสมนสิการ เราจะต้องคิดเป็น คิดอย่างมีกระบวนวิธี รู้จักแยกแยะองค์ประกอบ ศึกษาเหตุปัจจัยอะไรต่างๆ เป็นต้น โยนิโสมนสิการนี้เราใช้ต่อปรโตโฆสะ คืออิทธิพลจากภายนอกที่เข้ามา ซึ่งในทางการศึกษานั้น ปรโตโฆสะเฉยๆ อาจจะดีก็ได้ ร้ายก็ได้ อยู่ที่เราจะต้องเป็นผู้ทำต่อมัน แต่ถ้าภายในของเราไม่พร้อมไม่ดีพอ มันก็ชักจูงหรือกระทำต่อเราได้มาก อย่างไรก็ตาม มีปรโตโฆสะอย่างหนึ่งที่เป็นตัวช่วย คือ ปรโตโฆสะซึ่งทำหน้าที่ฝ่ายดีอย่างเดียว และเป็นตัวที่ย้อนกลับเข้ามาช่วยสร้างโยนิโสมนสิการอีกด้วย ปรโตโฆสะอย่างนี้ เราเรียกว่าเป็นกัลยาณมิตร ครูซึ่งเข้ามามีหน้าที่ทางการศึกษานั้น จัดเป็นปรโตโฆสะในฝ่ายดี ที่เรียกว่าเป็นกัลยาณมิตรนี้ กัลยาณมิตรเข้ามาชักจูงให้คนเกิดโยนิโสมนสิการ เพื่อให้คนนั้นใช้โยนิโสมนสิการปฏิบัติต่อปรโตโฆสะอื่นๆ ในทางที่เกิดประโยชน์ กัลยาณมิตรนี้เป็นปรโตโฆสะ ที่เป็นตัวช่วยในการกระทำ ต่างจากปรโตโฆสะอย่างอื่นซึ่งเป็นตัวที่ควรถูกกระทำ

ถ้าเราใช้โยนิโสมนสิการ ปฏิบัติต่อปรโตโฆสะ เช่น วัฒนธรรม ทั้งภายในและจากภายนอกได้ถูกต้อง เราก็เกิดสัมมาทิฏฐิ คือความเห็นชอบ เข้าใจถูกต้อง มองเห็นความจริงตามระบบ และกระบวนการปัจจัยสัมพันธ์ เช่น มองเห็นเหตุปัจจัย ความเป็นมา องค์ประกอบ แยกส่วนดี ส่วนเสีย คุณและโทษ และทางที่จะเลือกถือเอาประโยชน์ สัมมาทิฏฐินี้เป็นองค์ประกอบข้อแรกของทางสายกลาง ทางสายกลางที่เราเรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา นั้น เริ่มต้นด้วยสัมมาทิฏฐิ คือความเห็นถูกต้อง ได้แก่การเห็นความจริงที่เป็นเหตุเป็นผล ซึ่งจะนำเราไปสู่การปฏิบัติต่อสิ่งต่างๆ อย่างถูกต้อง ตั้งแต่ดำริหรือคิดวางแผนการเป็นต้นไป ทางสายกลางนี้เรียกชื่ออีกอย่างหนึ่งว่ามรรค มรรคคือวิถีทางดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง ซึ่งจะนำไปสู่อิสรภาพและสันติสุข วิถีชีวิตอันถูกต้องนี้มีองค์ ๘ ประการ สัมมาทิฏฐิ เป็นข้อต้น มีสัมมาสมาธิ เป็นข้อสุดท้าย องค์ประกอบทั้ง ๘ ของมรรค หรือวิถีทางดำเนินชีวิตที่ถูกต้องนี้ เราจัดย่อเข้ามาเป็นระบบการศึกษาหรือฝึกฝนพัฒนาคน เพื่อให้ดำเนินชีวิตได้ถูกต้องอย่างนั้น เรียกว่า ไตรสิกขา คือ สิกขา ๓ ประการ หรือการศึกษา ๓ อย่าง ตกลงว่าวิถีชีวิตในพุทธศาสนานั้น ก็คือการศึกษา เพราะวิถีชีวิตเรียกว่า มรรค และการพัฒนาวิถีชีวิตนั้นเป็นสิกขา คือเป็นการศึกษา เพราะฉะนั้น วิถีชีวิตในพระพุทธศาสนาจึงเป็นวิถีชีวิตแห่งการศึกษา ปัจจุบันนี้เรามีคำว่า lifelong education แปลว่าการศึกษาตลอดชีวิต พระพุทธศาสนานั้นถือมาแต่ไหนแต่ไรว่า การศึกษานั้นคือชีวิต ชีวิตนั้นคือการศึกษา แต่ไม่ใช่ชีวิตเฉยๆ ต้องเป็นชีวิตที่ดำเนินอย่างถูกต้อง มีการเรียนรู้ฝึกฝนพัฒนา จึงจะเป็นการศึกษา ถ้าจะบอกว่า ชีวิตคือการศึกษา โดยวินิจฉัยตามหลักพระพุทธศาสนาก็ยังไม่ใช่ ชีวิตที่มีการเรียนรู้ และฝึกฝนพัฒนาให้ดำเนินไปอย่างถูกต้อง จึงจะเป็นการศึกษา แต่ถ้าจะพูดให้เต็มความก็ต้องว่า การศึกษา คือ การฝึกฝนพัฒนาให้ชีวิตดำเนินไปอย่างถูกต้อง การศึกษา คือ การพัฒนาชีวิตที่ดำเนินไปตลอด จนกระทั่งบรรลุเป้าหมาย คืออิสรภาพและสันติสุข

ไตรสิกขา หรือการศึกษาของชีวิตนี้คืออะไร คือ สิกขา ๓ ประการ ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งจะขอกล่าวโดยย่อในเวลาที่สั้น ศีลคืออะไร ศีลคือการไม่เบียดเบียนกัน การเว้นจากการเบียดเบียน การอยู่ร่วมกันในสังคมได้ด้วยดี ทีนี้ มองย้อนไปข้างต้น ยังมีตัวบุพภาคของการไม่เบียดเบียน หรือตัวช่วยให้เกิดการไม่เบียดเบียน หรือสิ่งที่ส่งเสริมการกระทำที่ตรงข้ามกับการเบียดเบียนอีกคือ ทาน ทานได้แก่ การเผื่อแผ่ แบ่งปัน การเอื้อเฟื้อ ช่วยเหลือกัน การมีน้ำใจต่อกัน ซึ่งเป็นหลักข้อแรกในระบบการฝึกฝนอบรม หรือการศึกษา ทานเป็นการศึกษาอย่างหนึ่งในพุทธศาสนา รวมอยู่ในหลักปฏิบัติของฆราวาสที่เรียกว่า บุญสิกขา มี ๓ อย่าง คือ ทาน ศีล ภาวนา

ทานเป็นองค์ประกอบส่วนต้นของศีล เป็นหลักปฏิบัติสำคัญที่จะช่วยให้คนไม่เบียดเบียนกัน ศีล ซึ่งเป็นหลักการแห่งการไม่เบียดเบียนกัน และการอยู่ร่วมกันด้วยดีในสังคมนั้น เมื่อมีทานเป็นบุพภาค เป็นส่วนเบื้องต้นเป็นตัวนำให้แล้ว ตัวมันเองก็ประกอบไปด้วยองค์อีก ๔ องค์ประกอบ ๔ อย่าง ของศีล คือ

วินัย เป็นองค์ประกอบที่ ๑ ถ้าเป็นวินัยของพระก็ได้แก่ ปาติโมกข์ ที่เรียกกันว่า ศีล ๒๒๗ ข้อวินัยของประเทศก็ได้แก่รัฐธรรมนูญ วินัยมีอีกมากมาย เช่น วินัยของข้าราชการ วินัยของอาจารย์ วินัยของนักเรียน กฎ ระเบียบ ข้อบังคับที่ถูกต้องที่ดีงาม ตลอดจนกฎหมายและการจัดระบบต่างๆ จัดเป็นส่วนที่เรียกว่าวินัย

ส่วนที่ ๒ ของศีล คือ อาชีวะ หรือสัมมาอาชีวะ สัมมาอาชีวะเป็นองค์ประกอบสำคัญของศีล ส่วนหนึ่งของการศึกษาก็คือการฝึกคนให้รู้จักประกอบสัมมาชีพ ให้รู้วิชาการที่จะไปปฏิบัติอาชีพที่ถูกต้อง ทำการงานที่สุจริต

ส่วนที่ ๓ ของศีลคือ การใช้อินทรีย์อย่างไม่เป็นโทษ ที่ท่านเรียกว่า อินทรียสังวร อินทรีย์ทั้ง ๕ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย นี้จะต้องรู้จักใช้ให้ถูกต้อง การฝึกการใช้อินทรีย์ให้ถูกต้อง เช่น การดูให้เป็น การฟังให้เป็น เด็กจะดูโทรทัศน์ก็ควรได้รับการฝึกให้ดูให้เป็น เช่น แนะนำให้สำเหนียก ถ้าพ่อแม่หรือครูอาจารย์สอนเด็กให้ดูโทรทัศน์เป็น ก็เรียกว่า สอนศีลในหลักของอินทรียสังวร เริ่มแต่อินทรีย์คือ ตา ก็ต้องดูให้เป็น ดูไม่ให้เกิดโทษ หนึ่ง รู้จักเลือกดู สอง ดูให้เกิดประโยชน์ ฟังก็ฟังให้เป็น คือเลือกฟัง และฟังให้เกิดประโยชน์ รวมความว่าใช้อินทรีย์ให้เป็น และใช้ในทางที่เกิดประโยชน์ ไม่เกิดโทษ

และส่วนที่ ๔ ของศีล คือ การปฏิบัติต่อปัจจัยสี่ สิ่งที่อุดหนุนชีวิต สิ่งที่เกื้อหนุนชีวิตทั้งหลาย เรียกว่า ปัจจัย ปัจจัยเบื้องแรกมี ๔ อย่าง คือ อาหาร ที่อยู่ อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค ในการบริโภคปัจจัยเหล่านี้ ทางพระท่านให้ปฏิสังขาโยฯ เช่น จะฉันอาหารก็ต้องพิจารณาว่า ที่เราฉันอาหารนี้เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง มีสุขภาพดี เป็นอยู่ผาสุก ไม่ใช่รับประทาน อวดโก้ เพื่อเห็นแก่เอร็ดอร่อย เพื่อหรูหรา มัวเมา ในการใช้เครื่องนุ่งห่ม ก็ใช้เพื่อปิดความละอาย เพื่อกันร้อนกันหนาว และสัตว์หรือสิ่งที่จะรบกวนระคายผิวหนัง ไม่ใช่แต่งอวดโก้ อวดฐานะอะไรต่างๆ เรียกว่า การรู้จักปฏิบัติต่อปัจจัยสี่ให้ถูกต้อง การใช้สิ่งต่างๆ การปฏิบัติต่อเครื่องอุปกรณ์เทคโนโลยีต่างๆ อย่างฉลาดเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิต ก็อยู่ในครอบคลุมของหลักปฏิบัติข้อนี้

รวมองค์ประกอบของศีล ๔ อย่าง คือ วินัย อาชีวะ การใช้อินทรีย์ และการปฏิบัติต่อปัจจัยและอุปกรณ์ของชีวิตให้ถูกต้อง ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของชีวิตด้านนอก เป็นการพัฒนาความสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมทั้งทางสังคม และทางกายภาพ ต่อจากนี้ไป จะเน้นการพัฒนาด้านในของตัวบุคคล

สิกขาข้อต่อไป ที่เรียกง่ายๆ ว่าสมาธิ ก็มีเรื่องมากมาย แต่โดยสาระสำคัญก็คือ การฝึกอบรมในเรื่องจิต จะพูดถึงเฉพาะเรื่องเบื้องต้นของมัน ซึ่งอาจจะเรียกว่าหัวหอกของสมาธิ อะไรคือหัวหอกของสมาธิ สมาธิมีเรื่องที่จะพูดได้มาก เพราะตัวสมาธิเอง หมายถึงความเข้มแข็งมั่นคง สงบแน่วแน่ของจิตใจ และการฝึกอบรม คุณภาพ สมรรถภาพ และสุขภาพของจิตใจทั้งหมด แต่เฉพาะหัวหอกของมันมี ๒ ตัว หัวหอกที่ ๑ คือ ตัวนำจิตที่จะใช้ต่อโลกแห่งวัตถุ และสภาพแวดล้อม อันได้แก่ทุกสิ่งทุกอย่างนอกจากมนุษย์และสัตว์ร่วมโลก และหัวหอกที่ ๒ คือ ตัวนำจิตที่จะใช้ต่อมนุษย์และสัตว์ที่เป็นเพื่อนร่วมโลก

สิ่งที่เป็นหัวหอกของสมาธิ อันที่ ๑ คือ ฉันทะ ซึ่งเป็นตัวนำจิต ได้แก่ ความใฝ่รู้ ใฝ่ความจริง รักความจริง ความใฝ่ดี รักความถูกต้อง ความดีงาม นี้เป็นสิ่งที่เราจะต้องสร้างขึ้นเป็นเบื้องต้นในการเจริญสมาธิหรือการฝึกฝนอบรมพัฒนาจิตใจ จะทำอะไรก็ทำด้วยใจรัก โดยเฉพาะรักงาน เมื่อเห็นว่าเป็นงานที่ดี มีคุณประโยชน์แล้ว ก็รักมันและทำมันให้ดีที่สุด ฉันทะใช้กับทุกเรื่องทุกสิ่งทุกอย่าง ถ้าใช้กับความจริง ก็คือต้องการจะรู้ ถ้าใช้กับความถูกต้องดีงาม ก็คือ ต้องการสร้างสรรค์ความดีงามให้เกิดขึ้น ฉันทะเป็นตัวนำของสมาธิ เป็นตัวชักนำให้ธรรมอื่นๆ เกิดขึ้น เป็นองค์ธรรมที่จำเป็นในการสร้างสรรค์คุณธรรมทุกอย่าง

อีกด้านหนึ่ง หัวหอกที่ ๒ ของสมาธิ สำหรับใช้กับมนุษย์และสัตว์ที่เป็นเพื่อนร่วมโลก ได้แก่ เมตตา กรุณา คือความใฝ่ปรารถนาดีต่อเพื่อนมนุษย์ ต้องการช่วยเหลือเกื้อกูลให้เขาอยู่ดีมีความสุข เราจะเห็นว่า หลักธรรม ๒ ประการนี้มีความหมายเกือบเหมือนกัน คือเป็นความใฝ่ ความรัก ความปรารถนา แต่ฉันทะเป็นความใฝ่ ความรัก ความปรารถนาต่อความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม และต่อสิ่งต่างๆ ทั่วไปที่จะทำให้เกิดการสร้างสรรค์ เกิดความรู้ เกิดการศึกษาอย่างแท้จริง เราต้องมีฉันทะจึงจะเริ่มการศึกษาขึ้นได้ ส่วนเมตตากรุณาเป็นความใฝ่ ความรัก ความปรารถนาต่อเพื่อนมนุษย์ และสัตว์ร่วมโลกที่จะให้เขาเป็นคนดีอยู่ดี มีความสุข เมตตากรุณานี้ ก็เป็นสิ่งที่การศึกษาจะต้องสร้างขึ้น

สิกขาข้อที่ ๓ คือ ปัญญา ปัญญานั้นมีหลายชั้นหลายระดับ โดยหลักก็คือ การรู้เท่าทันสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง ตัวการเบื้องต้นที่จะนำไปสู่ปัญญาและทำให้ใช้ปัญญาก็คือ โยนิโสมนสิการ ดังได้กล่าวมาแล้ว โยนิโสมนสิการนี้เมื่อใช้แล้ว ก็นำไปสู่สัมมาทิฏฐิ คือ ความรู้ความเข้าใจถูกต้อง ความรู้ในความเป็นจริงที่เป็นเหตุเป็นผล ซึ่งเป็นตัวนำของวิถีชีวิตอันประเสริฐที่เรียกว่า มรรค คือ ทางสายกลาง หรือมัชฌิมาปฏิปทา ซึ่งเนื่องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับการศึกษา เพราะฉะนั้น มรรคาแห่งการดำเนินชีวิตในพระพุทธศาสนา จึงเป็นอันเดียวกับการศึกษา ดังที่อาตมภาพได้กล่าวมาทั้งหมดนี้

วันนี้เป็นวันอาสาฬหบูชา เป็นวันสำคัญ และดังได้กล่าวมาแล้วว่าเป็นวันมงคล ที่การสถาปนาพระพุทธศาสนามาประจวบพร้อมพอดีตรงกับการสถาปนาคณะครุศาสตร์ครบรอบ ๓๐ ปี ท่านทั้งหลายได้ประกอบกิจกรรมอันดีงาม เป็นคุณประโยชน์ เป็นกุศล ในประการหนึ่งก็เป็นการระลึกคุณของท่านอาจารย์ผู้ก่อตั้งคณะ ที่ได้ทำให้คณะนี้เจริญรุ่งเรืองสืบมา และอีกประการหนึ่งก็เป็นการเผื่อแผ่อำนวยประโยชน์ เกื้อกูลแก่คนทั่วไป ผู้สนใจในวงวิชาการ ทำให้วิชาการแพร่ขยายยิ่งๆ ขึ้น ดังที่จะมีกิจกรรมประเภทนี้ สืบเนื่องนับแต่วันนี้เป็นต้นไป เป็นกิจกรรมที่น่าอนุโมทนา

ในวาระนี้ อาตมภาพจึงขอร่วมจิตร่วมใจเป็นสมานฉันท์ในวันอันเป็นสิริมงคลนี้ด้วย ขออ้างอิงคุณพระศรีรัตนตรัยอำนวยพรแด่ท่านทั้งหลาย รตนตฺตยานุภาเวน รตนตฺตยเตชสา ด้วยเดชานุภาพคุณพระพุทธเจ้า คุณพระธรรม คุณพระสงฆ์ จงเป็นพลวปัจจัยอภิบาลรักษาให้ทุกท่านได้เจริญในวิถีชีวิตของพระพุทธศาสนา ก้าวหน้าในการศึกษาแบบที่เรียกว่า ไตรสิกขา เพื่อจะนำประเทศไทยไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองโดยอาการที่

๑. สามารถดำรงตนเองให้อยู่รอดด้วยดี และเจริญยิ่งขึ้นไปในด้านที่สืบต่อจากอดีต

๒. สามารถอยู่ร่วมด้วยดีในสังคมโลก โดยสามารถรับเอาส่วนดีของภายนอก เข้ามาเสริมตนเองให้เจริญยิ่งขึ้นไป

๓. สามารถก้าวออกไปมีส่วนร่วมช่วยสังคมโลก ในการที่จะทำให้สังคมนั้นหลุดพ้นจากปัญหา ไปสู่ความมีอิสรภาพและสันติสุขด้วยดี

และขอทุกท่านจงประสบอิสรภาพ และสันติสุขด้วยตนเองโดยทั่วกัน

1ปาฐกถาธรรม ในวันสถาปนาคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ครบ ๓๐ ปี ณ วันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๓๐
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง