กระบวนการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาคนสู่ประชาธิปไตย

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

กระบวนการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาคนสู่ประชาธิปไตย1

ขอเจริญพร ท่านอธิบดีกรมวิชาการ ท่านอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิทุกท่าน

วันนี้ อาตมภาพได้รับนิมนต์มาให้พูดตามหัวข้อดังที่ทุกท่านทราบดีอยู่แล้ว เวลาก็จำกัดหน่อย จึงขอพูดเข้าในเรื่องเลย แต่ที่จริงก็ไม่ค่อยจะเข้าเรื่องเท่าไร วันนี้ว่าจะพูดแบบสบายๆ ไม่เอาจริงเอาจัง คือพูดไปตามกำลัง โดยอาจจะเป็นทำนองเกร็ดความรู้ อาจจะไม่ได้พูดตามหัวข้อที่ตั้งไว้มากนัก ที่เป็นอย่างนี้ ก็เพราะว่า เนื้อหาส่วนหนึ่งปรากฏตามเอกสารที่แจกไปแล้ว แม้ว่าจะมีชื่อเรื่องไม่ตรงกับหัวข้อที่จะปาฐกถา แต่เนื้อหาก็มีส่วนที่เกี่ยวข้องกันมาก บทปาฐกถาที่แจกไปนั้นเป็นเรื่อง แง่คิดข้อสังเกตเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษา โดยเน้นไปที่เรื่องของการเรียนรู้เป็นสำคัญ

ในเมื่อถือว่าเรื่องที่จะพูดนี้มีปรากฏตามเอกสารที่แจก วันนี้ก็อาจจะพูดต่อจากนั้นไปบ้าง แต่ตอนแรกนี้จะพูดเรื่องอื่นๆ ซึ่งมีความเกี่ยวข้อง เพราะเอามาใช้เป็นชื่อหัวข้อด้วย คือเรื่อง ประชาธิปไตย ที่จริงนั้น หัวข้อปาฐกถาเน้นที่การเรียนรู้ แต่ก็ควรพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างการศึกษากับประชาธิปไตย สักนิดหน่อย

- ๑ -
ประเทศจะเป็นประชาธิปไตย ประชาชนต้องมีการศึกษา

เมื่อพูดถึงเรื่องประชาธิปไตย ถ้าจะกล่าวถึงความหมาย เรามีวิธีพูดง่ายๆ อย่างหนึ่ง คือ ยกเอาวาทะของประธานาธิบดีลินคอล์นมาอ้าง เพราะคนชอบและรู้กันมาก คือวาทะที่ว่า “ประชาธิปไตยเป็นการปกครองของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน” วาทะนี้คนจำกันแม่น แต่น่าสังเกตว่า เวลาพูดกันคนมักมองความหมายในแง่ของความรู้สึกที่ตื่นเต้นว่าพวกเราประชาชนจะได้ เช่นจะได้สิทธิได้อำนาจหรือได้ความเป็นใหญ่ในการที่จะเป็นผู้ปกครอง แต่อีกแง่หนึ่งที่ไม่ค่อยได้มอง คือ ความรับผิดชอบ

คุณภาพของประชาธิปไตย ขึ้นต่อคุณภาพของประชาชน

ในวาทะของลินคอล์นนี้ ถ้าพิจารณาลึกลงไปให้เห็นความหมายที่ซ่อนอยู่ข้างใน ก็จะต้องพูดต่อไปอีก กล่าวคือ ที่ว่า ประชาธิปไตยเป็นการปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชนนั้น เป็นการเตือนให้รู้สึกตัวด้วยว่า คุณภาพของประชาธิปไตยอยู่ที่คุณภาพของประชาชน เพราะว่าตามปกติ คุณภาพของการปกครอง ย่อมขึ้นต่อคุณภาพของผู้ปกครองเป็นสำคัญ

สมัยก่อน เมื่อปกครองด้วยระบอบราชาธิปไตย พระราชาหรือมหากษัตริย์เป็นผู้ปกครอง คุณภาพของราชาธิปไตยก็อยู่ที่คุณภาพของพระราชามหากษัตริย์นั้น ถ้าพระราชาดีมีปรีชาสามารถ บ้านเมืองก็เจริญมั่นคงร่มเย็นเป็นสุข แต่ถ้าพระราชาร้ายด้อยปัญญาไม่มีความสามารถ บ้านเมืองก็เสื่อมโทรมเดือดร้อน

สมัยนี้ ในเมื่อประชาชนมาเป็นผู้ปกครอง บ้านเมืองจะเป็นอย่างไร ประชาธิปไตยจะมีคุณภาพแค่ไหน ก็อยู่ที่คุณภาพของประชาชน

ความหมายที่ว่ามานี้น่าจะมีความสำคัญมากกว่า คือ ถ้าประชาชนมีคุณภาพดี ประชาธิปไตยก็มีคุณภาพดีด้วย ถ้าประชาชนมีคุณภาพต่ำ ประชาธิปไตยก็จะเป็นประชาธิปไตยอย่างเลวด้วย เพราะว่าคุณภาพของประชาธิปไตยขึ้นต่อคุณภาพของประชาชน แล้วคุณภาพของประชาชนขึ้นต่ออะไร ก็ขึ้นต่อการศึกษา เพราะฉะนั้นตรงนี้แหละ คือตอนที่ประชาธิปไตยมาสัมพันธ์กับการศึกษาโดยตรง

ประชาชนปกครอง คือประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจตัดสินใจ
ประชาชนจะตัดสินใจถูกดี ประชาชนต้องมีการศึกษา

ยังมีข้อพิจารณาต่อไปว่า เมื่อประชาชนเป็นผู้ปกครอง ก็หมายความว่าประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจตัดสินใจ เพราะว่า คนไหนปกครอง คนนั้นก็เป็นเจ้าของอำนาจตัดสินใจ

การตัดสินใจเป็นเรื่องสำคัญมาก หากตัดสินใจถูกก็ดีไป ถ้าตัดสินใจผิดก็อาจเกิดความเสื่อมความพินาศทุกอย่างทุกประการ

ทีนี้การที่จะตัดสินใจผิดหรือตัดสินใจถูก ก็อยู่ที่ความเป็นคนดีและมีปัญญา คือมีคุณธรรม และมีความรู้ความเข้าใจเฉลียวฉลาดสามารถในการคิดเป็นต้น ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ประชาชนควรจะมี ถ้าประชาชนเป็นคนดี ตั้งใจดี มีความรู้ความเข้าใจ มีปัญญาชัดเจน คิดเป็น มองเห็นความจริง ก็ตัดสินใจได้ถูกต้อง

ดังนั้น จึงเห็นชัดว่า ประชาธิปไตยจะดี ก็อยู่ที่ประชาชนที่เป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจนั้นว่าจะต้องเป็นคนดีและมีปัญญา อันนี้เป็นเรื่องง่ายๆ

ทีนี้พิจารณาต่อไปอีก ที่ว่าประชาชนเป็นใหญ่ มีอำนาจตัดสินใจนี้ การตัดสินใจนั้นวินิจฉัยด้วยเสียงข้างมาก คือเอาเสียงข้างมากเป็นใหญ่ ในเรื่องนี้มีข้อสังเกต ๒ อย่าง คือ

๑. ถ้าคนส่วนใหญ่เป็นคนโง่ เสียงข้างมากที่วินิจฉัยก็จะเป็นการตัดสินใจเลือกอย่างโง่ๆ หรือแม้แต่เลือกไปตามที่ถูกเขาหลอกล่อ ทำให้ผิดพลาดเสียหาย แต่ถ้าคนส่วนใหญ่เป็นคนดีมีปัญญา ก็จะได้เสียงข้างมากที่ตัดสินใจเลือกได้ถูกต้องบังเกิดผลดี จึงต้องให้ประชาชนมีการศึกษา เพื่อจะได้เสียงข้างมากที่ตัดสินใจอย่างผู้ใช้ปัญญา

๒. ความจริงของสิ่งทั้งหลายย่อมเป็นอย่างที่มันเป็น มันย่อมไม่เป็นไปตามการบอก การสั่ง การลงคะแนนเสียง หรือตามความต้องการของคน ดังนั้นคนจะไปตัดสินความจริงไม่ได้ แต่เป็นหน้าที่ของคนเองที่จะต้องตัดสินใจเลือกสิ่งที่เป็นจริง หรือให้ตรงกับความจริง และคนที่จะทำอย่างนั้นได้ ก็ต้องมีปัญญา จึงต้องให้ประชาชนมีการศึกษา เพื่อจะได้เสียงข้างมากที่ตัดสินใจเลือกเอาสิ่งที่ถูกต้องเป็นจริง

ขอย้ำว่า เสียงข้างมากตัดสินความจริงไม่ได้ อันนี้เป็นหลักธรรมดา เราตัดสินใจ ไม่ใช่ตัดสินความจริง ถ้าเอาเสียงข้างมากมาตัดสินความจริง ก็เป็นไปไม่ได้

หากย้อนหลังไปประมาณสัก ๒๐๐ ปี ตอนนั้น ถ้าไปถามคนทั้งหลายว่าโลกมีรูปร่างอย่างไร เขาจะบอกว่าโลกแบน คนตั้งล้าน หรือ ๕๐-๑๐๐-๑,๐๐๐ ล้าน บอกว่าโลกแบน แต่คนที่รู้และบอกความจริงได้อาจมีคนเดียว และคนเดียวนั่นแหละถูกต้อง

เพราะฉะนั้น เราไม่สามารถเอาเสียงข้างมากมาตัดสินความจริงได้ ถ้าอย่างนั้นเราเอาเสียงข้างมากมาตัดสินอะไร

เราเอาเสียงข้างมากมาตัดสินความต้องการ คือบอกว่าจะเอาอย่างไร ในแง่นี้เราบอกได้ว่า ประชาชนมีความต้องการอะไร จะเอาอย่างไร แล้วก็มีมติเป็นที่ตกลงกันว่า จะเอาอย่างนี้

อย่างไรก็ตาม ความต้องการนั้น จะถูกต้องได้ผลดีหรือไม่ ในที่สุดก็ต้องมาบรรจบกับความจริงตรงที่ว่า จะต้องเป็นความต้องการที่เกิดจากเจตนาที่ดีและมีความรู้ความเข้าใจว่าอะไรดี-จริง-ถูกต้อง-เป็นประโยชน์ที่แท้

มีกรณีไม่น้อย ที่คนตัดสินใจไม่เอาความจริง และมีกรณีมากมายที่คนตัดสินใจเลือกไม่ได้สิ่งที่ถูกต้องเป็นจริง ดังนั้น เราจะต้องมีกระบวนการที่จะทำให้คนตัดสินใจเลือกให้ตรงและให้ได้สิ่งที่ถูกต้องเป็นจริง ถ้าอยากจะมีประชาธิปไตย ก็ต้องถือภารกิจนี้เป็นเรื่องใหญ่ ที่จะต้องทำให้สำเร็จ

รวมความปัญหาอยู่ที่ว่า ทำอย่างไรจะให้ความต้องการที่ว่าจะเอาอย่างไรนั้น ไปประสานกับความมุ่งหมายที่ดี โดยมีสติปัญญาที่รู้เข้าใจว่าอะไรเป็นความจริงความถูกต้องและตัวประโยชน์แท้ที่ควรจะเอา คือ ต้องให้ความต้องการนั้น ไปตรงกับตัวความจริงความถูกต้องและความเป็นประโยชน์ที่แท้จริง มิฉะนั้นความต้องการนั้นก็ผิด

เมื่อคนตัดสินใจด้วยความต้องการที่ผิด การตัดสินใจนั้นก็จะผิด จะเลือกผิด เอาผิด และก่อให้เกิดผลร้าย เพราะฉะนั้นจึงหนีไม่พ้นที่จะต้องทำให้คนมีความรู้ มีสติปัญญา เราจึงต้องเน้นกันว่าคนจะต้องมีวิจารณญาณ หรือจะใช้คำศัพท์ให้ลึกลงไปกว่านั้น ก็คือ ต้องมีโยนิโสมนสิการ

คำว่าโยนิโสมนสิการ เป็นคำที่มีความหมายลึกกว่า กว้างกว่าคำว่าวิจารณญาณ

วิจารณญาณ เป็นการกระทำต่อเรื่องที่กำลังพิจารณาโดยมุ่งที่จะวินิจฉัยเรื่องนั้นโดยเฉพาะ แต่โยนิโสมนสิการแยกแยะและเชื่อมโยงเรื่องนั้นเข้ากับอะไรก็ได้ ที่จะทำให้มองเห็นความจริงและเห็นแง่มุมที่จะทำให้เกิดประโยชน์ขยายออกไป

ดังนั้น คนจะต้องมีการศึกษา เพื่อให้เกิดสติปัญญา ที่จะมาประสานความต้องการให้ตรงกับความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม และประโยชน์สุขที่แท้ เพื่อให้ประชาชนตัดสินใจเอาสิ่งที่ถูกต้องดีงาม และเป็นประโยชน์อย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงแค่ตัดสินใจเอาสิ่งที่ตนชอบใจ กับทั้งเพื่อให้ประชาชนมีความรู้เท่าทัน ที่จะไม่เอาอำนาจตัดสินใจของตนไปยกให้แก่พ่อมดสังคม

ด้วยเหตุนี้การใช้เสียงข้างมากมาตัดสิน จึงต้องให้เป็นเสียงแห่งสติปัญญา ที่แสดงถึงความต้องการอันฉลาด ที่จะเลือกเอาสิ่งที่ดีงาม ถูกต้องเป็นประโยชน์แท้จริง

สรุปว่า การศึกษาจำเป็นต่อประชาธิปไตย เพื่อพัฒนาประชาชนให้ทำหน้าที่หรือใช้อำนาจตัดสินใจอย่างได้ผลดีใน ๒ ประการ คือ

๑. ให้เสียงข้างมากที่จะใช้วินิจฉัย เกิดจากการตัดสินใจของคนที่เป็นบัณฑิต คือคนดีมีปัญญา

๒. ให้การตัดสินใจของคนเกิดจากความต้องการที่มาประสานกับปัญญาที่รู้และให้เลือกเอาสิ่งที่ถูกต้องดีงามจริงแท้ และเป็นประโยชน์แท้จริง

หนึ่งบัณฑิต ดีกว่าพันพาล
แต่ประชาธิปไตยต้องการให้ทั้งพันเป็นบัณฑิต

มีคาถาเป็นพุทธศาสนสุภาษิตอยู่บทหนึ่งใจความว่า คนเขลาอ่อนปัญญา มาประชุมกันมากมายเกินพัน พวกเขาได้แต่คร่ำครวญรำพันตัดพ้อต่อว่ากัน ปัญหาก็ไม่ได้แก้ แต่บัณฑิตเพียงผู้เดียวเข้ามา เขารู้จักใช้ปัญญา พาคนทั้งพันผ่านพ้นปัญหาไปได้ (ดู ขุ.ชา.๒๗/๙๙)

ที่ว่านี้ไม่ได้หมายความว่า จะให้มานิยมการปกครองแบบบุคคลผู้เดียว เพราะถ้าเปลี่ยนบัณฑิตผู้เดียว มาเป็นคนพาลผู้เดียวล่ะ ก็จะกลายเป็นว่า คนพาลผู้เดียวมาตัดสินใจ ก็จะยิ่งยุ่งกันใหญ่

ตัวปัญหาอยู่ที่ว่า เมื่อคนตั้งพันที่อ่อนปัญญา ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เราจะทำอย่างไร

เรายอมรับว่า บัณฑิตคนเดียวดีกว่าคนพาลตั้งพัน แต่ใครๆ ก็ต้องยอมรับว่า มีบัณฑิตพันคน ดีกว่ามีบัณฑิตคนเดียว ประชาธิปไตยต้องการให้คนทั้งพันเป็นบัณฑิต

๑. จะได้ไม่ต้องเสี่ยงต่อการที่จะได้คนเดียวที่เป็นพาล แทนที่จะได้คนเดียวที่เป็นบัณฑิต

๒. มีบัณฑิตพันคน จะตัดสินใจได้ผลดีกว่ามีบัณฑิตคนเดียว

ดังนั้น เมื่อเราปกครองด้วยระบบประชาธิปไตย เราก็เลยมีภาระที่จะต้องทำให้คนทั้งพันหรือส่วนใหญ่ของพันนั้น เป็นบัณฑิตผู้มีสติปัญญา อันนี้เป็นสาระของการศึกษาที่จะมาช่วยประชาธิปไตย คือ ทำอย่างไรจะให้คนทั้งพันที่มาประชุมกันไม่ได้เรื่องนั้น ให้กลายเป็นบัณฑิตขึ้นมา

โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันนี้ มีข่าวสารมากมาย และรวดเร็ว จนกระทั่งเราบอกว่า มันล้น เราตามไม่ทัน ในเมื่อข้อมูลข่าวสารมีมากมาย และมีเทคโนโลยีที่ทำให้เผยแพร่ได้ง่ายดายรวดเร็ว คนก็มีความโน้มเอียงที่จะตกอยู่ใต้อิทธิพลของผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจมีความเชี่ยวชาญ อย่างน้อยเริ่มต้น ผู้ที่เชี่ยวชาญด้านการข่าว คือสื่อมวลชน อาจจะชักนำผู้คนให้หันเหไปตามต้องการ และอย่างร้าย สื่อชวนเชื่อทั้งหลายก็จะได้โอกาสทำลายสังคม

ถ้าคนไม่มีวิจารณญาณ ไม่มีความสามารถในการคิด แทนที่จะวินิจฉัย ตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ได้ด้วยสติปัญญา ก็กลายเป็นว่า จะถูกอิทธิพลของสื่อครอบงำ ไม่เฉพาะสื่อชวนเชื่อทั้งหลาย ที่ร้ายอย่างยิ่ง แม้แต่สื่อมวลชนซึ่งทำหน้าที่นำเสนอ ทั้งข่าว ทั้งความคิด แต่ละคนก็จะต้องศึกษาพินิจพิจารณา

แม้แต่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ก็กำลังมีปัญหาว่า เมื่อสังคมมีความซับซ้อนมากขึ้น สิ่งที่ต้องเรียนรู้มากขึ้น ตามไม่ไหว ก็เริ่มมีการพึ่งผู้เชี่ยวชาญ ทีนี้ก็กลายเป็นว่า เรื่องอะไรต่อมิอะไร ก็ต้องพึ่งพาอาศัยผู้เชี่ยวชาญให้เป็นผู้ตัดสินใจ

ดีไม่ดี เราอาจจะมีคนบางพวกบางประเภทมาครองอำนาจแทนผู้ปกครองโดยไม่รู้ตัว แล้วเรื่องก็จะกลายเป็นว่า เราอุตส่าห์เพียรพยายามเปลี่ยนผู้ปกครองจากผู้มีอำนาจคนเดียว มาเป็นผู้ปกครองคือประชาชนทั้งหมด แต่เสร็จแล้ว โดยไม่รู้ตัว ไม่ตั้งใจ ประชาชนนั้นกลับไปตกอยู่ใต้อิทธิพลของบุคคลบางพวก

ดังนั้น จึงจะต้องทำให้ประชาชนไม่สูญเสียอำนาจการตัดสินใจ และไม่สูญเสียศักยภาพในการที่จะตัดสินใจได้อย่างถูกต้องด้วย

การศึกษาจะพัฒนาคนได้ผล ต้องช่วยให้คนพัฒนาความต้องการ

ได้พูดแล้วว่า คุณภาพของประชาธิปไตย ขึ้นอยู่กับคุณภาพของประชาชน เพราะฉะนั้นในสังคมประชาธิปไตย จึงต้องให้คนมีการศึกษา เพื่อพัฒนาคุณภาพของคน หรือเพื่อพัฒนาคนให้มีคุณภาพที่ดี

การพัฒนาคนถือว่าสำเร็จผลขั้นพื้นฐาน เมื่อคนพัฒนาความต้องการของเขา

ที่ว่า “พัฒนาความต้องการ” นี้ มิใช่หมายความว่าเพิ่มขนาดหรือเพิ่มกำลังของความต้องการที่มีอยู่เดิมให้มาก หรือให้แรงขึ้น แต่หมายความว่าเปลี่ยนแปลงความต้องการ ให้เกิดความต้องการอย่างใหม่ที่เป็นความเจริญงอกงามของชีวิต และทำให้ชีวิตเจริญงอกงามยิ่งขึ้นต่อไป

นอกจากนี้ ที่ว่าเปลี่ยนแปลงความต้องการนั้น ก็มิใช่หมายความว่าจะต้องละเลิกความต้องการอย่างเก่าหมดสิ้น แล้วมีความต้องการอย่างใหม่เข้ามาแทนที่เลยทีเดียว แต่ให้ความต้องการอย่างใหม่เกิดเพิ่มขึ้นมาถ่วงดุลกับความต้องการพื้นฐานอย่างเก่า แล้วค่อยๆ เพิ่มกำลังมากขึ้นๆ จนกระทั่งความต้องการพื้นฐานแบบเดิมหมดพิษภัย และความต้องการอย่างใหม่ทำหน้าที่ได้โดยสมบูรณ์

ถ้าเปลี่ยนความต้องการของคนได้ ก็เปลี่ยนตัวคนนั้นได้

ความเป็นสัตว์พิเศษของมนุษย์ก็อยู่ตรงนี้แหละ คือ ธรรมชาติของมนุษย์นั้นพัฒนาได้ หรือว่าเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่สามารถพัฒนา คือแก้ไขเปลี่ยนแปลงธรรมชาติของตนเองให้ดีงามขึ้นได้ ซึ่งทำให้มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ ดังพุทธพจน์ที่ว่า “ในหมู่มนุษย์ คนที่ฝึกแล้วประเสริฐสุด” (ขุ.ธ.๒๕/๓๓/๕๗) และว่า “ผู้ที่ถึงพร้อมด้วยวิชาและจรรยา เป็นผู้ประเสริฐสุด ทั้งในหมู่มนุษย์และมวลเทวา” (ที.ปา.๑๑/๗๒/๑๐๗)

มนุษย์มีความต้องการพื้นฐานอย่างหนึ่ง ที่ติดมาโดยสัญชาตญาณ ซึ่งมนุษย์ต้องพึ่งอาศัยเพื่อปกป้องตัวในขณะที่ยังไม่มีการศึกษาที่จะอยู่ได้ด้วยปัญญา ความต้องการพื้นฐานนี้ เมื่อมนุษย์เริ่มมีการศึกษา ขณะที่ปัญญาเริ่มพัฒนา ก็จะรู้จักควบคุม ขัดเกลา จัดการ หันเบนให้เป็นปัจจัยแก่แรงจูงใจหรือคุณสมบัติที่ดีงามอย่างอื่น จนกระทั่งเมื่อสามารถเป็นอยู่ด้วยปัญญาคนก็จะเป็นอิสระจากมัน

ความต้องการประเภทนี้ ได้แก่ ความอยากได้ อยากเสพ อยากปรนเปรอ อยากอยู่รอด-ยืนยง-ยิ่งใหญ่ อยาก (ให้เกิดการ) สูญสลาย อยากทำลาย พูดสั้นๆ ว่า ความอยากที่เป็นความเห็นแก่ตัวทั้งหลาย ที่ตั้งอยู่บนฐานของอวิชชา ความต้องการประเภทนี้เรียกสั้นๆ ว่า “ตัณหา”

ส่วนความต้องการฝ่ายบวก หรือฝ่ายกุศล ที่จะต้องพัฒนาให้มีกำลังมากขึ้นๆ ด้วยการศึกษา ซึ่งจะพ่วงมา และเพิ่มพูนไปด้วยกันกับปัญญา คือความอยากรู้เข้าใจ (ความจริงของสิ่งทั้งหลาย) และความอยากทำ (สิ่งทั้งหลายให้ดีให้งาม) ที่พูดเป็นสำนวนจำง่ายว่า “ใฝ่รู้-ใฝ่ดี-ใฝ่สร้างสรรค์” ความต้องการประเภทนี้มีชื่อเป็นทางการว่า “ฉันทะ”

ความต้องการประเภทที่สองนี้ ถ้าไม่มีการศึกษา ไม่มีการเรียนรู้ฝึกหัดพัฒนา ก็จะไม่เกิดขึ้น แม้มีศักยภาพที่จะมีได้ แต่ก็ไม่พัฒนา ความต้องการประเภทนี้จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับมนุษย์ที่จะมีชีวิตที่ดีที่เจริญงอกงามและสร้างสรรค์ให้เกิดความเจริญแก่สังคม รวมทั้งการที่จะมีวิถีชีวิตแบบประชาธิปไตย การที่ต้องพัฒนาความต้องการประเภทนี้ จึงทำให้จำเป็นต้องมีการศึกษา

ในทางพุทธศาสนาถือว่า เมื่อใดคนมีความต้องการหรือความอยากประเภทสอง ที่เรียกว่า “ฉันทะ” นี้ เมื่อนั้น ก็เป็นรุ่งอรุณของการศึกษา หรือเป็นแสงเงินแสงทองของชีวิตที่ดีงาม ซึ่งทำให้แน่ใจได้ว่า คนผู้นั้นจะมีชีวิตที่เจริญงอกงาม ก้าวหน้าไปในวิถีชีวิตที่ประเสริฐ และพาสังคมให้ก้าวไปในอารยธรรมแท้ ที่มิใช่เป็นเพียงนาครธรรม (civilization)

ถ้าพูดอย่างสั้นๆ ความต้องการที่พึงพัฒนานี้ มีลักษณะสำคัญ ๒ ด้าน คือ

๑. ต้องการความจริง และอยากรู้ความจริง เป็นความต้องการที่ฉลาด ประกอบด้วยวิจารณญาณ เป็นไปพร้อมด้วยปัญญา พูดสั้นๆ ว่า มีปัญญา

๒. ต้องการความดีงาม และอยากทำสิ่งทั้งหลายให้ดีให้งาม เป็นความต้องการที่ประกอบด้วยคุณธรรม เป็นเจตจำนงในทางสร้างสรรค์ พูดสั้นๆ ว่า มีเจตนาดี

ประชาธิปไตยจะเป็นจริงได้ ต้องให้ประชาชนรู้จักปกครองตนเอง

ทีนี้แง่ต่อไปก็คือ ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยนั้น ไม่มีใครมาสั่งมาบังคับ เพราะประชาชนเป็นใหญ่ ประชาชนจึงต้องรับผิดชอบชีวิตและสังคมได้เอง การที่จะรับผิดชอบสังคมได้เอง คือ ปกครองกันเองได้ ก็ต้องปกครองตัวเองได้ด้วย

ดังนั้น เมื่อจะดูการปกครองประชาธิปไตย ที่ประชาชนปกครองกันเอง ว่าเป็นประชาธิปไตยที่ดี ก็ดูที่ประชาชนว่าปกครองตัวเองกันได้ดีแค่ไหน

ในแง่หนึ่ง เราอาจจะพูดว่า ประชาธิปไตย คือการปกครองของประชาชนที่ปกครองตัวเองได้ ทีนี้ก็ต้องถามว่า คนที่จะปกครองตัวเองหรือรับผิดชอบตัวเองได้นั้น มีอะไรเป็นเครื่องปกครองตัวเอง หรือปกครองด้วยอะไร คือ เอาอะไรเป็นมาตรฐานในการตัดสินใจ สิ่งที่จะมาปกครองหรือควบคุมตัวเราก็คือ หลักการ กฎเกณฑ์ กติกา และกฎหมาย ซึ่งเรียกสั้นๆ คำเดียวว่า “ธรรม”

ดังนั้น ปัญหาของประชาธิปไตยจึงอยู่ที่ว่า จะทำอย่างไรให้คนในสังคมประชาธิปไตย สามารถอยู่ได้ด้วยหลักการ อยู่ด้วยหลักความจริง ความถูกต้องดีงาม และอยู่ด้วยกฎเกณฑ์ กติกา และกฎหมาย เป็นต้น ที่ได้ตกลงกันวางไว้ คำตอบเริ่มต้นก็คือ

๑. ด้านความรู้ความเข้าใจ ต้องมีปัญญาที่รู้หลักการนั้น ว่าอะไรจริง อะไรถูกต้อง อะไรดีงาม รู้จักวางกฎเกณฑ์ กติกา หรือกฎหมาย ที่ชอบธรรม และรู้จักคิด รู้จักวินิจฉัย เพื่อที่จะใช้หลักการ และกติกาต่างๆ นั้น ให้ได้ผลเป็นจริง พูดสั้นๆ ว่า “รู้ว่าอะไรเป็นธรรม” พร้อมกันนั้นอีกด้านหนึ่งก็คือ

๒. ด้านจิตใจ ต้องยึดถือมั่นคงอยู่ในความจริง ความถูกต้อง ความดีงามนั้น โดยมีอุดมคติ หรือที่เรียกว่ายึดถือในอุดมการณ์ พูดง่ายๆ สั้นๆ ว่า “ถือธรรมเป็นใหญ่” นั่นคือจิตใจต้องใฝ่ความจริง ใฝ่ความดี ใฝ่ความถูกต้อง ที่ว่ายึดถือธรรมเป็นใหญ่ ก็คือ เอาธรรม คือความจริง ความถูกต้อง ความดีงามนี้เป็นใหญ่ ไม่ใช่เอาความชอบใจถูกใจของตนเป็นใหญ่หรือยึดถือตามอำเภอใจ ถ้าประชาชนไม่เอาธรรมเป็นใหญ่ คือไม่เอาหลักการ ไม่เอาความจริงความถูกต้องความดีงาม มาเป็นใหญ่ ก็เอาความชอบใจตัวเองเป็นใหญ่ แล้วก็จะต้องเกิดปัญหา

๓. ด้านพฤติกรรม คนจะต้องมีความสามารถที่จะควบคุมพฤติกรรมของตนให้อยู่ในหลักการ ที่ได้จัดสรรออกมาวางตั้งเป็นกฎ ระเบียบ กติกา เป็นต้น หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่ารู้จักใช้สิทธิเสรีภาพ เป็นต้น ในการปฏิบัติหรือทำการทั้งหลายด้วยความรับผิดชอบ ที่จะให้เกิดผลตามหลักการ พูดสั้นๆ ว่า “มีวินัยที่จะปฏิบัติและจัดการให้เป็นไปตามธรรม”

ถ้าทำได้ทั้ง ๓ อย่างนี้ ก็เรียกว่า ปกครองตนเองได้

ทีนี้การที่จะให้สำเร็จผล ๓ อย่างนี้ คือ ทั้งการมีวินัยที่จะควบคุมพฤติกรรมให้อยู่ในหลักการและดำเนินตามหลักการ ก็ตาม การที่จะมีจิตใจยึดมั่นในอุดมคติและในตัวหลักการ โดยถือธรรมเป็นใหญ่ ก็ตาม การที่จะมีปัญญา รู้ว่าอะไรเป็นธรรม และรู้ว่าจะทำอย่างไรให้เป็นธรรม โดยสามารถจัดวางหลักการ กฎ กติกา ตลอดจนสามารถนำมาใช้อย่างได้ผล ก็ตาม ก็ต้องอาศัยการศึกษาทั้งสิ้น

ประชาธิปไตย จัดสรรสังคมให้มีโอกาสสูงสุด

ต่อไปอีกแง่หนึ่งคือ การปกครองระบอบประชาธิปไตยนั้น เป็นระบบการจัดสรรสังคมเพื่อให้เกิดโอกาสดีที่สุดในการสร้างสรรค์ ที่จะทำให้ชีวิตและสังคมบรรลุประโยชน์สุขสูงสุด สิ่งสำคัญที่ประชาธิปไตยช่วยให้เกิดขึ้น ก็คือ โอกาส

การปกครองหลายแบบมีปัญหา เพราะกลายเป็นการตัดโอกาส หรือทำให้เสียโอกาส หรือทำให้ไม่เกิดโอกาส

โอกาสนั้นมองได้หลายอย่าง แต่โอกาสสำคัญซึ่งประชาธิปไตยที่ดีจะต้องอำนวยให้มี ๒ อย่าง คือ

๑. โอกาสพัฒนาตน หรือโอกาสที่จะพัฒนาศักยภาพของบุคคล คือประชาชนทุกคนจะมีโอกาสพัฒนาศักยภาพของตน ให้ชีวิตเจริญงอกงาม บรรลุประโยชน์สุขสูงสุด

ในขณะที่ศักยภาพไม่สามารถพัฒนาได้เพราะถูกปิดกั้น บั่นรอน หรือจำกัดด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง ประชาธิปไตยก็มาเอื้อโอกาสนี้ ทำให้เราได้โอกาสที่จะพัฒนาตัวเอง พัฒนาชีวิต และพัฒนาศักยภาพของตน (เช่นด้วยบริการทางการศึกษา)

๒. โอกาสร่วมสร้างสรรค์สังคม คือ การที่ประชาชนเหล่านั้นแต่ละคน มีโอกาสที่จะนำเอาศักยภาพของตนออกไปร่วมสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าและประโยชน์สุขให้แก่สังคม (เช่น ด้วยการมีสิทธิเสรีภาพในการเลือกตั้ง และสมัครรับเลือกตั้ง)

การปกครองหลายแบบมีปัญหาที่เป็นข้อบกพร่องอย่างสำคัญ คือ จะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ได้กลายเป็นการปิดกั้นโอกาส ทำให้ความรู้ ความสามารถ ความถนัดจัดเจน สติปัญญา ที่มีอยู่ในประชาชนมากมาย แต่ละคนๆ ไม่มีโอกาสนำออกมาใช้เป็นส่วนร่วมสร้างสรรค์พัฒนาสังคม เป็นความสูญเสียโอกาสของบุคคล และเป็นการสูญเปล่าของทรัพยากรสังคม ประชาธิปไตยมาแก้ไขจุดอ่อนข้อนี้ ทำให้ศักยภาพที่มีอยู่ของบุคคลทุกคนมีโอกาสนำออกมาใช้ในการร่วมสร้างสรรค์พัฒนาสังคม

แต่ถ้าที่ใดปกครองแบบประชาธิปไตยแล้วไม่เกิดโอกาสและไม่ได้ประโยชน์จากโอกาสทั้งสองนี้ ก็เป็นเครื่องฟ้องว่าประชาธิปไตยนั้นไม่สัมฤทธิ์ผล

ก) หลักการของประชาธิปไตย เพื่อให้มีประสิทธิผลในการใช้โอกาส

โอกาสสองด้านนี้จะต้องมาบรรจบกัน คือ มีทั้งโอกาสที่จะพัฒนาศักยภาพของตน ให้ชีวิตเจริญงอกงาม บรรลุประโยชน์สูงสุด และพร้อมกันนั้น ก็มีโอกาสที่จะให้ศักยภาพที่มีอยู่ในตัวของแต่ละคน ออกไปเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมหรือร่วมสร้างสรรค์สังคมด้วย แต่การที่จะมีโอกาสครบทั้งสองอย่างนี้หาได้ยาก และเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามนี้ เราจึงต้องมีหลักการที่สำคัญของประชาธิปไตย คือ

๑. มีเสรีภาพ ที่ฝรั่งเรียกว่า liberty หรือบางทีก็ใช้ freedom เสรีภาพนั้นเป็นเครื่องมือ เพื่อจะสร้างและใช้โอกาส คนที่มีโอกาสคือคนที่ไม่ถูกปิดกั้น แต่ก่อนนี้โอกาสไม่มี คือไม่มีเสรีภาพ เพราะถูกปิดกั้น ศักยภาพที่มีอยู่ของแต่ละคนไม่สามารถออกมาเป็นส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สังคม แต่ตอนนี้เรามีเครื่องมือ คือเสรีภาพมาเป็นตัวช่วยเปิดโอกาส ให้ศักยภาพของเรามีช่องทางออกไปเป็นประโยชน์ได้จริง

๒. มีความเสมอภาค ที่เราแปลจากคำว่า equality ความเสมอภาคนี้เป็นขอบเขต และเป็นเครื่องสมาน การที่จะใช้เสรีภาพต้องมีขอบเขต คือ ความเสมอภาค ที่จะไม่ล่วงล้ำก้ำเกิน ไม่ละเมิดต่อผู้อื่น และมีโอกาสที่จะใช้เสรีภาพอย่างเท่าเทียมกัน

พร้อมกันนั้น ความเสมอภาคไม่ใช่เป็นเพียงขอบเขต แต่ที่สำคัญคือเป็นเครื่องสมานด้วย สมานอย่างไร ก็คือความสม่ำเสมอกันในการที่จะร่วมแก้ปัญหาและร่วมสร้างสรรค์ ตรงกับคำว่า เสมอในสุขและทุกข์ ในภาษาเก่าท่านใช้คำว่า มีสุขและทุกข์เสมอกัน แปลอย่างสมัยปัจจุบันว่า “ร่วมสุขร่วมทุกข์”

การร่วมสุขร่วมทุกข์นั้นเป็นความเสมอภาคที่สำคัญ และเป็นความเสมอภาคเชิงสมาน และความเสมอภาคในแง่นี้ก็คือ ความมีสมานฉันท์ ซึ่งขอย้ำว่าเป็นหลักการที่สำคัญมาก

ความเสมอภาคนี้ ถ้ามองไม่ดีก็ทำให้เกิดการแก่งแย่งช่วงชิงกันโดยคอยระแวงและจ้องกันว่า แกอย่าเหนือข้านะ ต้องเท่ากันนะ แกจะได้มากกว่าฉันไม่ได้นะ คนนั้นได้เท่าไร ทำไมฉันไม่ได้เท่านั้น อะไรทำนองนี้ ความเสมอภาคแบบนี้ เป็นความเสมอภาคแบบแบ่งแยกและแก่งแย่ง

แต่ความเสมอภาคเชิงสมานคือ เสมอในสุขและทุกข์ ร่วมสุขร่วมทุกข์ ร่วมในการสร้างสรรค์และแก้ปัญหา เสมอโดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง เสมอโดยไม่ดูถูกดูหมิ่นเหยียดหยามกัน เสมอโดยไม่เอารัดเอาเปรียบกัน เสมอแบบนี้เป็นการเสมอแบบสมาน

คำว่าเสมอ ภาษาบาลีเรียกว่า “สมาน” อ่านอย่างบาลีว่า สะมานะ อ่านอย่างไทยว่า สะหมาน น่าสังเกตว่าคนไทยสมัยก่อน ใช้คำว่าเสมอในความหมายที่มาประสานร่วมกัน แต่ก็น่าสังเกตเช่นเดียวกันว่า ปัจจุบันนี้ ความเสมอภาคดูชักจะมีความหมายหนักไปในแง่ของความแบ่งแยกและแก่งแย่งมากกว่า

บางทีถ้าเราเห็นว่า คำว่าเสมอภาคนี้ ชักจะใช้กันในความหมายที่ไม่ค่อยดี ก็อาจจะเปลี่ยนมาใช้คำที่ตรงแท้และเข้าชุดดีกว่า คือ “สมานภาพ” แทนก็ได้

๓. ข้อที่มักจะถูกมองข้าม ไม่ค่อยพูดถึงกัน ก็คือ ภราดรภาพ ที่ฝรั่งใช้คำว่า fraternity ภราดรภาพ คือความเป็นพี่เป็นน้อง ข้อนี้เราอาจจะใช้ศัพท์อื่น ไม่จำเป็นต้องใช้ศัพท์นี้

ความจริง ในสายวัฒนธรรมของเราก็มีถ้อยคำที่ใช้กันมา ในทางพระพุทธศาสนา ท่านใช้คำว่า สามัคคี และคำว่าเอกีภาพ ที่เราใช้เป็น เอกภาพ สามัคคีหรือเอกภาพนั่นแหละเป็นความหมายที่ต้องการของ ภราดรภาพ ดังนั้นเราจะไม่ใช้คำว่าภราดรภาพก็ได้ แต่ใช้คำว่า เอกภาพ หรือใช้คำว่า สามัคคี แทน หรืออีกคำหนึ่ง ที่ใช้ในภาษาบาลีว่า สังคหะ คือ ความประสานรวมเข้ากันได้ หรือการรวมเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

ภราดรภาพ สามัคคี หรือเอกีภาพนี้ เป็นฐานและเป็นสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้การใช้เสรีภาพและความเสมอภาค เกิดผลงอกงามและสัมฤทธิ์ผลได้จริง ถ้าไม่มีภราดรภาพหรือเอกภาพแล้ว เสรีภาพและความเสมอภาคจะโน้มเอียงไปในทางที่จะทำให้คนแบ่งแยกและแก่งแย่งกัน แล้วก็เกิดปัญหา

นอกจากเป็นสภาพเอื้อแล้ว ภราดรภาพนี้ จะเป็นตัวเพิ่มพลังด้วย คือ ทำให้เกิดกำลังมากขึ้น

ดังได้กล่าวแล้วว่า การใช้เสรีภาพ และสมานภาพ/ความเสมอภาค มีจุดหมายอยู่ที่ว่าจะนำเอาศักยภาพของทุกคนออกมาร่วมกันสร้างสรรค์สังคม การทำเช่นนั้นจะได้ผลมากขึ้น เมื่อมีการประสานร่วมมือและรวมกำลังกัน ซึ่งจะทำให้เราใช้โอกาสอย่างได้ผลมากที่สุด แต่ถ้ามัวเกี่ยงงอนแก่งแย่งกันอยู่ แทนที่จะมีโอกาสสร้างสรรค์ ก็กลับจะกลายเป็นการขัดขวางและปิดกั้นโอกาสไม่ให้บรรลุประโยชน์สุขไปด้วยกัน

จุดที่ต้องการเน้น คือคำว่า ภราดรภาพ หรือ สามัคคี หรือเอกีภาพนี้ เพราะเท่าที่ผ่านมาประชาธิปไตยของเรามัวแต่เน้นกันที่เสรีภาพและความเสมอภาค ความจริงภราดรภาพก็มีความสำคัญอย่างยิ่ง ถ้าปล่อยให้หลบๆ แฝงๆ อยู่ ดีไม่ดีก็จะหายไปเสียเลย

ข) หลักการของประชาธิปไตย ที่มีอยู่โดดเด่นในสังคมไทย

แม้แต่ในสังคมที่ถือกันว่าเป็นผู้นำทางด้านประชาธิปไตยในยุคปัจจุบัน คือประเทศอเมริกา เราจะได้ยินว่า เท่าที่เป็นมาตามประเพณี ประเทศอเมริกานี้ มีความภูมิใจเป็นอย่างยิ่งในคติหนึ่งแห่งชาติของเขา คือ melting pot ที่แปลว่าเบ้าหลอม เขาเคยภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่จะพูดว่า ประเทศอเมริกานี้ เป็นเบ้าหลอม ที่หลอมรวมผู้คน ต่างชาติ ต่างภาษา ต่างวัฒนธรรม ที่มาจากยุโรป ให้ประสานกลมกลืนเข้ามาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จนกระทั่งประเทศอื่นก็ยกย่องสรรเสริญ อย่างนางมาร์กาเรต แธตเชอร์ (Margaret H. Thatcher) อดีตนายกรัฐมนตรีของอังกฤษ เคยพูดในที่ประชุมใหญ่ๆ ยกย่องประเทศอเมริกาว่า มีคุณลักษณะพิเศษในการทำให้คนที่มีความแตกต่างหลากหลายมารวมเข้าด้วยกันเป็นอันหนึ่งอันเดียว

คติของประเทศอเมริกาเอง ซึ่งเป็นคำขวัญอยู่ในตราแผ่นดิน (Great Seal of the United States) ก็ใช้คำว่า E pluribus unum แปลว่า ความเป็นหนึ่งจากความหลากหลาย หรือจากหลายกลายเป็นหนึ่ง

ข้อความเหล่านี้เป็นคติที่สำคัญของประเทศอเมริกา หมายความว่า เบื้องหลังการที่เขาพูดโดดเด่นในเรื่องเสรีภาพและความเสมอภาคนั้น หลักการอย่างหนึ่งที่เป็นฐานรองรับ ให้ประเทศและสังคมของเขาอยู่ได้ก็คือ ความเป็น melting pot หรือเบ้าหลอมนี้ แต่ว่าคนไทยไม่ค่อยพูดถึง

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนี้ ในประเทศอเมริกา melting pot หรือเบ้าหลอมนั้นแตกเสียแล้ว แตกมาหลายปีแล้ว ก็เลยจะเอาแค่ให้เป็น mosaic คือ เมื่อหลอมรวมกลมกลืนเป็นอันเดียวกันไม่ได้ ก็เอาแค่เป็นเหมือนกระเบื้องชิ้นเล็กชิ้นน้อยมากมายที่มีสีสันแตกต่างกัน เอามาจัดเรียงกันเป็นระเบียบก็น่าดู แต่ตอนนี้แม้แต่ mosaic ก็ทำท่าว่าจะเป็นไม่ได้ คนอเมริกันเองบอกว่า สังคมของเขาจะเป็นได้แค่จานสลัด (salad bowl) คือเพียงแต่ปนเปคลุกกันไป

เวลานี้ อเมริกากำลังมีปัญหาในด้านภราดรภาพ คนรุ่นใหม่จำนวนมากไม่ชอบคติเบ้าหลอม คือ melting pot แต่กลายเป็นต่อต้านการหลอมรวม จึงเรียกง่ายๆ ว่าเบ้าหลอมแตกแล้ว และเกิดมีคติใหม่เรียกว่า multiculturalism คือให้มีความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรม แทนที่จะให้วัฒนธรรมทั้งหลาย เช่น ของคนดำกับของคนขาวเป็นต้น มาหลอมรวมกัน ก็ให้อยู่ร่วมกันด้วยดีมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวโดยรักษาวัฒนธรรมที่แตกต่างกันนั้นไว้

แต่ภาวะที่เป็นจริงในอเมริกาเวลานี้ก็คือ เขาอยู่ร่วมกันด้วยดีไม่ได้ และคนอเมริกันก็กำลังทะเลาะกันในเมืองนี้ บางคนถึงกับพูดว่าประเทศของเขาอยู่ในภาวะวิกฤติหรือสงครามทางวัฒนธรรม (cultural crisis หรือ cultural war; ลองอ่าน The De-valuing of America ของอดีต รมว.ศึกษาธิการของอเมริกา William J. Bennett, ๑๙๙๒)

เมื่อในอเมริกา melting pot ยังไม่ทันเป็นจริงก็มาแตกเสียแล้ว ประชาธิปไตยก็มาถึงระยะที่เป็นขาลง ตอนนี้เราพูดว่าประเทศไทยเป็นยุคเศรษฐกิจขาลง อเมริกาก็หวั่นใจว่าจะเข้ายุคประชาธิปไตยขาลง ถ้าแก้ปัญหานี้ไม่ตก ประชาธิปไตยก็จะอยู่ดีได้ยาก จึงไม่ใช่เรื่องที่จะไปภูมิใจแค่เพียงการมีเสรีภาพและความเสมอภาค เวลานี้ ปัญหาหนักคือ ความแตกแยกในสังคม

เรื่องที่กำลังพูดกันมาก คือ multiculturalism ที่แปลกันว่า ภาวะพหุวัฒนธรรมนั้น ก็พาให้การศึกษาตามไปด้วย คือการศึกษาจะสนองแนวทางของสังคม เพื่อหาทางให้คนต่างวัฒนธรรมมาอยู่ร่วมกันได้ ทำอย่างไรจะให้ความแตกต่างหลากหลายประสานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ นี้เป็นปัญหาที่หนักที่สุด ซึ่งประเทศที่ก้าวหน้าที่สุดขณะนี้ ก็ยังไม่สามารถแก้ไขได้ อเมริกากลายเป็นประเทศที่ล้าหลังในเรื่องนี้

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยเรา แม้จะมีปัญหาน้อยในเรื่องการแบ่งแยกกันอย่างนี้ แต่ก็ไม่ควรจะมัวเพลินอยู่กับเรื่องเสรีภาพและความเสมอภาคมากเกินไป จนกระทั่งลืมไปว่า ที่แท้แล้ว สิ่งที่จะมารองรับสังคมไว้นั้น ไม่มีทางเลี่ยง คือ สังคมต้องมีภราดรภาพ ซึ่งจะเรียกว่าสามัคคี เอกภาพ หรือจะเรียกอะไรก็แล้วแต่ จะต้องมีหลักการนี้ ดังนั้นการศึกษาปัจจุบันจะต้องมาเน้นเรื่องนี้

ประเทศไทยของเรามีปัญหาน้อยกว่าอเมริกา เราไม่มีคติ melting pot แต่เราก็มีภูมิหลังทางวัฒนธรรมที่น่าภูมิใจ แทบจะพูดได้ว่า อาจจะเป็นที่หนึ่งในโลก หรืออย่างน้อยก็เป็นประเทศที่มีปัญหาน้อยที่สุดประเทศหนึ่ง ในเรื่องความแตกแยกของประชาชนในสังคม เราต้องจับให้ได้ว่า อะไรที่เป็นตัวประสาน หรือเป็นหลักการที่เอื้อทางวัฒนธรรม ที่ทำให้เรามีความสามารถพิเศษในด้านนี้ แล้วก็อย่าปล่อยทื่อไป หลักการหรือแนวคิดนี้จะต้องนำเอามาใช้รักษาสังคมประชาธิปไตยให้ได้

พื้นฐานทางวัฒนธรรมของสังคมไทย มีคุณลักษณะที่เอื้อต่อภราดรภาพ หรือเอกภาพ อย่างเห็นได้ชัดอย่างน้อย ๒ ประการ คือ

๑. ในระดับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล คนไทยใช้ภาษาสื่อสารเรียกกันด้วยถ้อยคำที่ชักนำให้มองกันฉันญาติพี่น้อง พบคนสูงอายุก็เรียกคุณตา คุณยาย หรือตานั่น ยายนี่ พบคนรุ่นใกล้เคียงพ่อแม่ก็เรียกว่า ลุง ป้า น้า อา พบคนอายุใกล้เคียงกับตน ก็เรียกว่าพี่ว่าน้อง พบเด็กก็เรียกลูกเรียกหลาน

๒. ในระดับความสัมพันธ์ระหว่างหมู่หรือกลุ่มชน คนไทยให้เกียรติต้อนรับ และปรับตัวเข้ากับคนต่างเชื้อชาติต่างศาสนาได้อย่างประสานกลมกลืนมาก หากจะมีความรังเกียจเดียดฉันท์บ้าง เมื่อเทียบกับที่มีในสังคมอื่น ก็นับว่าน้อยอย่างยิ่ง ยากที่จะเกิดปัญหาเกี่ยวกับการแบ่งแยก

เสรีภาพและความเสมอภาคที่แท้จะประสานและเสริมกันกับภราดรภาพ แต่ถ้าไม่เป็นเช่นนั้น ถึงแม้ประชาชนมีเสรีภาพและความเสมอภาค เมื่อขาดภราดรภาพหรือสามัคคีเอกีภาพแล้ว ประชาธิปไตยก็ไม่อาจบรรลุจุดหมายในการที่จะสร้างสรรค์สังคมให้มั่นคงมีสันติสุข

ในขั้นสุดท้าย ภราดรภาพที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อคนมีการศึกษา ได้พัฒนาจิตใจและปัญญา รู้เข้าใจแจ้งในความจริงของโลกและชีวิต จนข้ามพ้นความรู้สึกแบ่งแยก กีดกัน คับแคบ หวงแหน ที่เรียกในทางธรรมว่า “มัจฉริยะ” ทั้ง ๕ ประการ เช่น วรรณมัจฉริยะ (ความหวงแหนกีดกั้นกันในเชิงแบ่งแยกชาติชั้นวรรณะ) เป็นต้นได้หมดสิ้น และในบรรยากาศแห่งภราดรภาพนี้ การใช้เสรีภาพและความเสมอภาคจึงจะนำประชาธิปไตยไปสู่จุดหมายที่เป็นประโยชน์สุขของประชาชนอย่างแท้จริง

ค) หลักการของประชาธิปไตย ภายใต้อิทธิพลเศรษฐกิจทุนนิยม

ขอพูดต่อไปอีกสักนิดว่า ขณะนี้ปัญหาของประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นในระดับของหลักการใหญ่ๆ ยังขยายต่อไปอีก กล่าวคือ เวลานี้ แม้แต่คำว่าเสรีภาพ และความเสมอภาค ก็มีความหมายที่ออกจะผิดเพี้ยนไป ซึ่งเป็นเพราะระบบต่างๆ ทางสังคม มีความสัมพันธ์และส่งอิทธิพลต่อกัน หมายความว่า ระบบอย่างหนึ่ง ไม่สามารถจะแยกขาดจากระบบอย่างอื่นในสังคมส่วนรวมได้ พูดง่ายๆ คือ เรามีระบบการปกครอง ระบบเศรษฐกิจ ระบบการศึกษา เป็นต้น ระบบการปกครอง ก็ไม่สามารถแยกต่างหากจากระบบเศรษฐกิจได้ และบางครั้งระบบหนึ่ง ก็อาจจะมีอิทธิพลไปครอบงำอีกระบบหนึ่ง

ขณะนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า อิทธิพลของระบบเศรษฐกิจ จะมีกำลังแรงและเข้ามาครอบงำแนวคิดของระบบการเมืองการปกครอง

ระบบเศรษฐกิจในยุคปัจจุบันนี้ที่มีอิทธิพลมาก คือระบบทุนนิยม ที่ถือผลประโยชน์เป็นใหญ่ และเป็นแบบปัจเจกชนนิยม ซึ่งถือลัทธิตัวใครตัวมัน นิยมการแข่งขัน เมื่อสังคมประชาธิปไตยมาอยู่กับลัทธิเศรษฐกิจแบบนี้ อิทธิพลของระบบเศรษฐกิจแบบนี้ ก็อาจจะเข้าไปครอบงำหรือแทรกแซงความคิดความเข้าใจเกี่ยวกับประชาธิปไตยโดยไม่รู้ตัว

อย่างเช่นความหมายของเสรีภาพ ที่บอกว่า เป็นการเปิดช่องทาง เช่นให้ศักยภาพที่มีอยู่ในแต่ละคนออกไปร่วมสร้างสรรค์สังคมโดยไม่ถูกปิดกั้น เป็นการสอดคล้องกับหลักการปกครอง ซึ่งแน่นอนว่า ย่อมมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างสรรค์สังคมให้ร่มเย็นเป็นสุข

การที่เราให้ประชาชนปกครอง ก็คือ เราต้องการให้ศักยภาพที่มีอยู่ในตัวของประชาชนแต่ละคน เช่นสติปัญญาของเขา ได้มีช่องทางเปิดกว้าง ที่จะออกไปร่วมสร้างสรรค์สังคม นี้เป็นจุดหมายที่เราต้องการ

แต่เวลานี้ ความหมายของเสรีภาพที่ถูกครอบงำด้วยอิทธิพลของแนวคิดเศรษฐกิจ จะหนักไปในแง่ของการมีโอกาสที่จะแย่งชิงผลประโยชน์กัน จนกระทั่งมีการเน้นในแง่ของการที่จะทำอะไรๆ ได้ตามความชอบใจของแต่ละคน โดยไม่ไปล่วงละเมิดผู้อื่น หรือโดยสัญลักษณ์คือ ไม่ไปล่วงละเมิดกฎหมาย แต่การเน้นในแง่ที่ว่า เสรีภาพเป็นช่องทางให้ศักยภาพของแต่ละคนออกไปร่วมสร้างสรรค์สังคมนั้น เรากลับไม่มอง อย่างนี้ก็เป็นการมองเสรีภาพในแง่ลบ

ความเสมอภาคก็เช่นเดียวกัน พอเสรีภาพเริ่มเขว ความเสมอภาคก็เขวด้วย อย่างที่ได้กล่าวเมื่อกี้ว่า ความเสมอภาค แทนที่จะเป็นเครื่องมือมาช่วยสมานสังคม ก็กลายเป็นเครื่องสร้างความแตกแยก โดยมีความหมายในเชิงแก่งแย่งผลประโยชน์ เป็นต้นว่า ถ้าเธอได้ ๕๐ ฉันก็ต้องได้ ๕๐ ถ้าเธอได้ ๕๐๐ ฉันก็ต้องได้ ๕๐๐ อย่างนี้คือความเสมอภาคที่เข้าใจกันในปัจจุบัน ซึ่งถือว่าอยู่ใต้อิทธิพลของแนวความคิดแบบทุนนิยม

เราจะต้องหันกลับไปเน้นความหมายของเสรีภาพและความเสมอภาค ในแง่ที่เป็นการมีโอกาสและสามารถใช้โอกาสนั้นอย่างเท่าเทียมกัน ในการนำเอาศักยภาพของแต่ละคนออกไปร่วมกันสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมให้เจริญงอกงามมีสันติสุข

ง) โอกาส ต้องมากับความไม่ประมาท

ขอย้อนกลับมาพูดถึงแง่ที่ว่า ประชาธิปไตยเป็นการจัดสรรสังคมให้เกิดโอกาสมากที่สุด เมื่อเปิดโอกาสให้แล้ว ก็ต้องรู้จักใช้โอกาส โดยเฉพาะการใช้เครื่องมือคือเสรีภาพให้เกิดผลตามวัตถุประสงค์ คือ ทำอย่างไรจะให้มันสนองวัตถุประสงค์ของประชาธิปไตย

เราสามารถวัดการพัฒนาของคนด้วยการรู้จักใช้โอกาส ว่าเขาใช้โอกาสเป็นหรือไม่ ถ้าคนใช้โอกาสนั้นในการหาผลประโยชน์ในทางเห็นแก่ตัวและแย่งชิงกัน ก็เป็นการใช้ในทางที่ผิด ไม่เป็นการสร้างสรรค์สังคมประชาธิปไตย วัตถุประสงค์ของประชาธิปไตยก็จะหายไป

อย่างน้อยพอมีโอกาส ปัญหาที่จะเกิดขึ้นอีกอย่างหนึ่งก็คือ เมื่อไม่ถูกบีบคั้นบังคับให้จำเป็นต้องทำอะไร ก็จะเกิดความประมาท เพราะธรรมดาเป็นอย่างนั้น คือสำหรับมนุษย์ปุถุชนนี้มีความโน้มเอียงตามธรรมชาติว่า เมื่อถูกทุกข์บีบคั้นหรือถูกภัยคุกคามจึงจะลุกขึ้นดิ้นรนขวนขวาย แต่พอสุขสบายก็มีแนวโน้มที่จะหยุดและลงนอน พอทุกข์ร้อนก็ลุกขึ้นดิ้นรนขวนขวายทำโน่นทำนี่วุ่นวายกันใหญ่ แต่พอหมดทุกข์แล้วก็นอน

ตอนที่มีทุกข์ภัยจึงมักเป็นจุดเริ่มต้นของการเพียรพยายามที่จะนำไปสู่ความเจริญ แต่เมื่อประสบความสำเร็จมีความสุขแล้ว ความสุขสบายนั้นก็มักตามมาด้วยความลุ่มหลงเพลิดเพลินมัวเมาประมาทผัดเพี้ยน ที่นำมาซึ่งความเสื่อม ชีวิตและสังคมมนุษย์จึงมักตกอยู่ในวงจรแห่งความเจริญและความเสื่อมเรื่อยไป นี่คือปัญหาของมนุษย์ปุถุชน

ด้วยเหตุนี้ เมื่อโอกาสมากับความเป็นอิสระเสรี การมีโอกาสนั้นจึงเป็นทั้งประโยชน์สูง และเป็นสุดยอดของความเสี่ยง เมื่อโอกาสมีแล้ว และไม่มีใครหรืออะไรมาบีบบังคับให้จำเป็นต้องทำ คนก็สามารถเลือกที่จะปฏิบัติต่อโอกาสนั้นได้เต็มที่ ถ้าเขาไม่ประมาท รู้จักใช้โอกาสนั้น ก็จะเกิดประโยชน์อย่างสูงสุด แต่ถ้าคนมัวประมาทผัดเพี้ยนหลงละเลิงมัวเมา โอกาสนั้นก็จะกลับนำเขาดิ่งลงสู่ความเสื่อม

ปัญหาจึงอยู่ที่ว่า เมื่อโอกาสมีพร้อมแล้ว อะไรจะเป็นตัวเร่งให้คนไม่ประมาท และใช้โอกาสนั้นในการสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์สุขที่แท้จริง ถ้าไม่ใช้ตัวเร่งจากภายนอก (ปัจจัยภายนอก) คือเครื่องปลุกเร้าล่อบีบคั้นบังคับ ก็ต้องใช้ตัวเร่งจากภายใน (ปัจจัยภายใน) คือจิตสำนึกแห่งความไม่ประมาท ที่จะทำการด้วยสติปัญญา ซึ่งเกิดจากการพัฒนาคนด้วยการศึกษาที่ถูกต้อง

แต่ก็จะต้องทราบไว้ด้วยว่า ยังไม่มีสังคมใดในโลกที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาคนถึงระดับนี้ ซึ่งก็คงเท่ากับพูดว่า ยังไม่มีประเทศใดประสบความสำเร็จในการพัฒนาประชาธิปไตยได้สมบูรณ์

ในประเทศอุตสาหกรรมทั้งหลาย โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา เมื่อระบบประชาธิปไตยให้โอกาสแล้ว สังคมก็มีระบบแข่งขันแบบตัวใครตัวมัน (บนรากฐานแห่งแนวคิดของลัทธิดาร์วินเชิงสังคม ที่หลงเหลือเป็นเชื้ออยู่ว่า ใครเก่งใครรอด ใครดีใครอยู่ - the survival of the fittest) เป็นเครื่องบีบคั้นเร่งรัดให้ผู้คนต้องขะมักเขม้นดิ้นรนขวนขวาย เพื่อความอยู่รอดและเจริญก้าวหน้า จนเป็นวิถีชีวิตของสังคมของเขาสืบมา

แต่ก็จะเห็นได้ว่า ทั้งที่ยังมีระบบแข่งขันแบบตัวใครตัวมันนี้บีบคั้นเร่งรัดอยู่ เมื่อสังคมอเมริกันมีความมั่งคั่งพรั่งพร้อมสุขสำราญทางเศรษฐกิจมากขึ้น คนก็เริ่มอ่อนแอเฉื่อยชาลง และเริ่มเสื่อมเสียความพร้อมที่จะแข่งขัน (competitiveness) ดังที่คนในสังคมของเขาเองกำลังโอดครวญกันอยู่ (ลองอ่าน Why America Doesn’t Work ของ Chuck Colson and Jack Eckerd, ๑๙๙๑) จึงเป็นเครื่องเตือนใจสังคมประชาธิปไตยว่า ถ้าไม่สามารถพัฒนาคนให้มีปัจจัยภายในที่จะรู้จักใช้โอกาส ก็หนีไม่พ้นที่จะต้องเลือกระหว่างการใช้ปัจจัยภายนอกมาบีบเร่ง หรือยอมรับความเสื่อมสลายของประชาธิปไตยนั้นเอง

ดังนั้น เป้าหมายที่สำคัญอย่างหนึ่งในการพัฒนาคนจึงอยู่ที่ว่า ทำอย่างไรจะให้คนเรานี้ ทั้งที่สุขสบาย ก็ไม่ประมาท เพราะว่าแท้จริงนั้น สภาพสุขสบาย ก็คือสภาพที่เอื้อโอกาส ตอนที่ทุกข์ยากจะทำอะไรก็ติด ก็ขัดข้องไปหมด เวลาทุกข์ก็คือเวลาที่ทำอะไรๆ ได้ยาก ทำได้ลำบาก จะทำอะไรก็ไม่คล่อง แต่ตอนที่ทุกข์นี่แหละคนจะลุกขึ้นต่อสู้ดิ้นรนขวนขวาย

คำว่า “สบาย” ภาษาไทยแปลเพี้ยนไปจากภาษาบาลีว่า “สปฺปาย” ซึ่งแปลว่า สภาพเอื้อที่ทำให้เราทำอะไรได้ผลดี แต่คนไทยพอฟังคำว่าสบาย ก็แปลไปในความหมายว่า เราจะได้นอน ไม่ต้องทำอะไร คือ มองในความหมายที่จะหยุด

สุขก็เหมือนกัน “สุข” แปลว่า คล่อง ง่าย สะดวก คือสภาพคล่องนั่นเอง หมายความว่า ในเวลาที่สุขนั้นจะทำอะไร ก็ทำได้ง่าย คล่อง สะดวก ตรงข้ามกับตอนที่ทุกข์ ซึ่งทำได้ยากและมักจะติดขัดไปหมด แต่เรากลับไปดิ้นทำแต่ในตอนทุกข์ พอสุขที่จะทำได้ง่าย ทำได้คล่อง จะทำอะไรก็ทำได้เต็มที่ เรากลับจะหยุดจะเฉยจะลงนอน การทำอย่างนี้ท่านเรียกว่า ประมาท ก็คือใช้โอกาสไม่เป็น หรือไม่รู้จักใช้โอกาส พอมีโอกาสที่จะทำได้อย่างดี ก็กลับมานอนเสียนี่

รวมความว่า สุข คือสภาพคล่อง และสบาย คือสภาพเอื้อ ซึ่งช่วยให้ทำอะไรๆ ได้ง่ายสะดวกเป็นผลดี เพราะฉะนั้นเวลาที่จะสร้างสรรค์ได้ดีที่สุด ก็คือตอนที่สุขสบาย เพราะมีโอกาสเต็มที่ และความไม่ประมาทนี่แหละที่ทำให้เรารู้จักใช้โอกาส ถ้าเราประมาท แม้จะมีโอกาส เราก็จะทิ้งโอกาสนั้นไปเสียเปล่า หรือยิ่งกว่านั้น ถึงจะมีโอกาส แต่ถ้ามัวประมาท ก็มีความพินาศเป็นที่หวัง

โอกาสเป็นภาวะที่เปิดกว้าง ประชาธิปไตยจัดสรรให้มีโอกาส และให้เสรีภาพที่จะใช้โอกาสนั้น แต่ด้วยเสรีภาพนั้น เมื่อคนไม่พัฒนา เขาอาจจะผลาญโอกาสให้สูญเปล่าด้วยความหลงละเลิงมัวเมาในการเสพบริโภค เขาอาจใช้โอกาสเพื่อทำการในทางสนองความเห็นแก่ตัวและทำลายผู้อื่นอย่างชนิดที่แม้แต่กฎหมายก็อาจกลายเป็นเครื่องมือของเขา ตลอดจนไม่รู้ไม่เข้าใจแม้แต่ความหมายและความมุ่งหมายของการให้มีเสรีภาพ

เพราะฉะนั้น หากขาดการศึกษาที่พัฒนาคนอย่างถูกต้อง เสรีภาพอาจกลายเป็นอาวุธร้าย และโอกาสก็อาจกลายเป็นภาวะเสี่ยงภัย

การใช้โอกาสที่สำคัญก็คือ ความไม่ประมาทที่จะใช้โอกาสในทางสร้างสรรค์ การไม่ใช้โอกาสในทางที่ผิดเท่านั้นยังไม่เพียงพอ แต่จะต้องไม่ทิ้งโอกาสแล้วมัวเพลิดเพลินอยู่ คือจะต้องใช้โอกาสให้เกิดประโยชน์ขึ้นมาจริงๆ ด้วย

เพราะฉะนั้น ในทางพระพุทธศาสนาจึงเน้นมากในเรื่องความไม่ประมาท วัดคนก็วัดกันตรงนี้ว่า ผู้ใด ทั้งที่สุขสบายก็ไม่ประมาท ผู้นั้น คือคนที่พัฒนาจริง เพราะคนที่ไม่พัฒนานั้น พอหายทุกข์ สุขสบายแล้วก็จะเพลิดเพลินจะผัดเพี้ยนและจะนอน นี้ก็เป็นเหตุผลที่ประชาธิปไตยต้องการการศึกษา

จ) ต้องมีปัญญา โอกาสจึงจะเกิดเป็นประโยชน์

พร้อมกันนี้อีกอย่างหนึ่งที่สำคัญก็คือ จะต้องมีปัญญา รู้ว่าอะไรเป็นประโยชน์สุขที่แท้จริงด้วย เพราะว่าเราจะใช้โอกาสเพื่อสร้างสรรค์ประโยชน์สุข แต่ถ้าเราไม่มีปัญญา ไม่รู้จักประโยชน์สุขที่แท้ ก็อาจจะทำผิดพลาดได้ เรื่องนี้ไม่ต้องอธิบายมาก ขอยกเป็นนิทานดีกว่า

มีชาดกเรื่องลิงเฝ้าสวน เรื่องมีว่า ครั้งหนึ่ง คนเฝ้าสวนในพระราชอุทยาน พอถึงวันนักขัตฤกษ์ มีงานเทศกาล ก็อยากไปเที่ยวสักสองสามวัน แต่ก็ติดขัดว่าจะทำอย่างไรดี ถ้าไปเที่ยวแล้วใครจะมารดน้ำต้นไม้ เดี๋ยวต้นไม้ก็จะตายเสียหมด ก็นึกขึ้นมาได้ว่า ในสวนของเรามีลิงอยู่ฝูงหนึ่ง ก็เอาลิงฝูงนี้แหละมาช่วยรดน้ำตอนที่เราไม่อยู่

คิดแล้วก็เรียกหัวหน้าลิงมา บอกว่า ฉันจะไม่อยู่สักสองสามวัน ระหว่างที่ฉันไม่อยู่ เธอช่วยพาฝูงลิงรดน้ำต้นไม้ให้ฉันได้ไหม หัวหน้าลิงตอบว่า ได้ซิ เพราะคิดว่าจะได้ตอบแทนทำประโยชน์ให้แก่เจ้านายบ้าง เมื่อหัวหน้าลิงรับเรื่องแล้ว คนเฝ้าสวนก็ออกไปเที่ยวงานเทศกาล

พอได้เวลารดน้ำต้นไม้ หัวหน้าลิงก็เรียกฝูงลิงมาประชุมกันบอกว่า เรามาช่วยกันทำประโยชน์ให้แก่เจ้านายหน่อย ตอนนี้เขาไม่อยู่ เรามาช่วยกันรดน้ำต้นไม้ เครื่องมืออุปกรณ์อยู่ทางโน้น ลิงบริวารก็พากันไปตักน้ำมาเพื่อเตรียมรดต้นไม้

หัวหน้าลิงบอกว่า เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด เราจะต้องใช้น้ำอย่างประหยัด และรู้จักออมแรงงาน การที่จะรดน้ำให้ได้ผลดีก็ต้องรดให้พอดีกับความต้องการของต้นไม้ เราจึงต้องรู้ว่าต้นไม้ต้นไหนต้องการน้ำมาก และต้นไม้ต้นไหนต้องการน้ำน้อย แล้วรดให้พอดีกับความต้องการของต้นไม้นั้น

แต่เราจะรู้ได้อย่างไร ก็รู้ได้โดยดูว่า ต้นไม้ต้นไหนมีรากยาว ต้นไม้ต้นนั้นก็ต้องการน้ำมาก ต้นไม้ต้นไหนรากสั้น ต้นไม้ต้นนั้นก็ต้องการน้ำน้อย แล้วทำอย่างไรจึงจะรู้ล่ะ เราก็แบ่งงานกันทำ คือจัดลิงเป็นคู่ๆ ตัวหนึ่งเอากระป๋องไปตักน้ำ ตัวหนึ่งก็ยืนอยู่ที่โคนต้นไม้ พอน้ำมาถึง ก็ดึงต้นไม้ขึ้นมาดู ต้นนี้รากยาวก็รดน้ำมาก ต้นนี้รากสั้นก็รดน้ำน้อย รดกันไปจนกระทั่งหมดสวน ปรากฏว่าต้นไม้ตายหมด

อย่างนี้ท่านเรียกว่า คนไม่ฉลาดในประโยชน์ ไม่รู้จักว่าทำอย่างไรจึงจะเป็นประโยชน์ที่แท้จริง พอทำลงไป แทนที่จะได้ประโยชน์ ก็กลับเกิดความพินาศ

เพราะฉะนั้นจึงต้องระวัง ถ้าขาดการศึกษา ก็ไม่รู้ว่าอะไรเป็นประโยชน์ที่แท้จริง และวิธีการที่จะทำให้เกิดประโยชน์ ก็กลายเป็นการทำลายประโยชน์

ลองฟังดูอีกเรื่องหนึ่ง คือ เรื่องเด็กปัญญาอ่อน มีแมลงวันบินมาจับศีรษะของพ่อ ก็อยากช่วยพ่อ เพราะเห็นพ่อต้องคอยไล่มันอยู่เรื่อย จึงคิดว่า เราต้องฆ่ามันให้ตาย แต่ทำอย่างไรจะให้ตายแน่ๆ ก็ต้องเอาของที่หนักหน่อย พอดีตรงนั้นมีขวานอยู่ พอแมลงวันจับที่ศีรษะของพ่อ จ้องดีแล้ว ก็ตีอย่างแม่นเลย ปรากฏว่าแมลงวันตาย แต่พ่อตายด้วย

เรื่องที่เล่านี้ คือ ตัวอย่างของคนที่มีคุณธรรมมาก และมีเจตนาดี ในกรณีนี้ลูกมีความกตัญญู และมีความปรารถนาดีด้วย แต่การมีความปรารถนาดี มีเจตนาดี หรือมีคุณธรรมอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีปัญญาด้วย

นิทานนี้เป็นเรื่องที่เตือนใจเรา ให้รู้ว่าประชาธิปไตยนั้นต้องอาศัยการศึกษามาพัฒนาคนหลายด้าน คุณธรรมก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่สติปัญญานั้นสำคัญอย่างยิ่ง

ประชาธิปไตย ช่วยให้ประโยชน์ของบุคคลและสังคมมาประสานเสริมกัน

อีกแง่หนึ่งคือ ประชาธิปไตยเป็นการปกครองที่ช่วยประสานประโยชน์ระหว่างบุคคลและสังคม หลักการนี้ยังหาผู้ปฏิบัติได้ผลจริงได้ยาก จะเห็นได้ว่าระบบสังคมต่างๆ มักมีปัญหาในเรื่องที่ว่า ถ้าให้บุคคลได้ สังคมก็ต้องเสีย ถ้าให้สังคมได้ บุคคลก็ต้องยอมสละ ทำอย่างไรจึงจะประสานประโยชน์กันได้

อุดมคติอย่างหนึ่งของประชาธิปไตยก็คือ การช่วยประสานประโยชน์ระหว่างบุคคลกับสังคม

เมื่อกี้ได้พูดไปแล้วว่า ในสังคมประชาธิปไตย เราพยายามจัดสรรสังคมให้เป็นสภาพที่เอื้อโอกาสอย่างดีที่สุดแก่บุคคล เพื่อให้เขาสามารถพัฒนาศักยภาพของเขาได้อย่างสมบูรณ์เต็มที่ พร้อมกันนั้น นอกจากเขาสามารถพัฒนาศักยภาพของชีวิตได้อย่างดีที่สุดแล้ว เขาก็จะได้ประโยชน์มากที่สุดจากสังคมของเขาด้วย

แต่อีกด้านหนึ่ง พร้อมกับที่คนพัฒนาศักยภาพได้ดี สามารถมีชีวิตที่ดีงาม มีความสุข และได้รับประโยชน์สูงสุดจากสังคมนั้น เขาก็จะยิ่งเป็นส่วนร่วมที่ดีในการสร้างสรรค์สังคมนั้นได้มากขึ้นด้วย

ยิ่งคนพัฒนาดีเท่าไร เขาก็ยิ่งมีศักยภาพในการที่จะร่วมสร้างสรรค์สังคมได้ดีขึ้นเท่านั้น และในทางกลับกัน พอสังคมดี สังคมนั้นก็เป็นสภาพเอื้อ ให้คนแต่ละคนมีโอกาสพัฒนาตนได้ดี จึงเป็นวงจรที่ดี แต่ทำอย่างไรจะให้วงจรอย่างนี้เกิดขึ้นได้ นี่ก็คือการประสานประโยชน์ ระหว่างบุคคลกับสังคม

ในทางปฏิบัติจริงปรากฏว่า สังคมประชาธิปไตยยังคงมีปัญหาเรื่องนี้มาก คือยังประสานประโยชน์ไม่ค่อยได้ ปัญหาก็ยังคงอยู่อย่างเดิมว่า ถ้าให้บุคคลได้ สังคมก็เสีย ถ้าให้สังคมได้ บุคคลก็เสีย ก็เลยเป็นเรื่องใหญ่ที่ในยุคที่ผ่านมาถึงกับแตกกัน พวกหนึ่งเป็นสังคมแบบประชาธิปไตยทุนนิยม ที่เอาประโยชน์ของบุคคลเป็นใหญ่ กับอีกพวกหนึ่งเป็นสังคมนิยมที่เอาผลประโยชน์ของสังคมเป็นใหญ่ กลายเป็นสุดโต่ง ทำอย่างไรเราจะประสานให้ลงตัวพอดีได้

ประชาธิปไตยที่แท้จะต้องเดินทางมาถึงจุดนี้ให้ได้ คือจุดที่ว่า ให้บุคคลกับสังคมประสานประโยชน์กันให้ได้ โดยเป็นตัวเอื้อแก่กัน

สังคมยิ่งดีก็ยิ่งช่วยให้บุคคลมีโอกาสบรรลุความดีงามและประโยชน์สุขสูงยิ่งขึ้น และยิ่งบุคคลพัฒนาดี ก็ยิ่งมาช่วยสร้างสรรค์สังคมได้ดียิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม ก่อนจะก้าวไปสู่การประสานประโยชน์ระหว่างบุคคลกับสังคมให้มาเสริมกันนั้น มีบททดสอบพื้นฐานอยู่อย่างหนึ่งที่จะให้เห็นว่าประชาชนในสังคมนั้นๆ มีคุณภาพเพียงพอที่จะทำให้คุณค่าของประชาธิปไตยข้อนี้บรรลุผลได้หรือไม่

บททดสอบนี้ ก็คือ ความประสานสมดุลในการปฏิบัติตามหลักการแห่ง

  1. สิทธิ กับ หน้าที่
  2. เสรีภาพ กับ ความรับผิดชอบ

คู่กับการมีสิทธิที่จะได้และเรียกร้องเอาสิ่งที่ตนพึงมีพึงได้นั้น บุคคลก็มีหน้าที่ที่จะต้องทำเพื่อเป็นส่วนร่วมที่จะธำรงรักษาและสร้างสรรค์พัฒนาสังคมประชาธิปไตยนั้นด้วย

ถ้าอยากใช้สิทธิ ก็ควรปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ดี และเมื่อมีการทำหน้าที่ด้วยดี สังคมประชาธิปไตยก็จะได้รับการรักษาไว้ เพื่อให้คนมีโอกาสที่จะใช้สิทธิได้ต่อไป

คู่กับเสรีภาพที่จะทำการต่างๆ ตามปรารถนาของตน บุคคลจะต้องรู้จักรับผิดชอบ ต่อการกระทำและผลการกระทำของตน และใช้เสรีภาพนั้นอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมที่ตนมีส่วนร่วมอยู่ด้วย

แม้แต่ในขั้นพื้นฐานนี้ก็ยังเห็นกันได้ทั่วไปว่า สังคมประชาธิปไตยยังบกพร่องกันมากมาย แน่นอนว่าความบกพร่องนี้เป็นปัญหาที่จะต้องแก้ไขด้วยการศึกษา และจะต้องเป็นการศึกษาที่แท้ ซึ่งพัฒนาคนได้จริง ดังนั้น บททดสอบนี้จึงเป็นเกณฑ์วัดคุณภาพของการศึกษา ที่เป็นกิจการของสังคมนั้นด้วย ว่าเป็นการศึกษาที่จะดำรงรักษาสังคมประชาธิปไตยไว้ได้หรือไม่

ประชาธิปไตย ทำให้คนมีโอกาสศึกษา
การศึกษา ทำให้คนเข้าถึงโอกาสในสังคมประชาธิปไตย

ที่พูดมานี้เป็นแง่มุมต่างๆ ที่จะเห็นได้ว่า การปกครองระบอบประชาธิปไตย จำเป็นต้องอาศัยการศึกษา เพื่อทำให้คนมีคุณภาพ เพราะคุณภาพของประชาธิปไตยขึ้นอยู่กับคุณภาพของประชาชน และในเวลาที่มองประชาธิปไตย ก็อย่ามองแค่การปกครอง อย่ามองแค่ว่า อ้อ นี่เราเป็นประชาธิปไตย ประชาชนได้ขึ้นมาเป็นผู้ปกครอง แล้วก็หยุดเท่านั้น โดยนึกว่านี่เราเก่งเราได้เป็นใหญ่แล้ว สิ่งที่สำคัญก็คือจะต้องมองว่า เราปกครองเพื่ออะไร เราควรจะมองไปให้ถึงจุดหมายของการปกครอง

การปกครองนั้น ก็คือการที่เรามาจัดสรรสังคม เพื่อสร้างสรรค์สังคมให้เจริญมั่นคงมีสันติสุข และให้แต่ละคนมีโอกาสพัฒนาศักยภาพ เพื่อให้ชีวิตเจริญงอกงามบรรลุประโยชน์สุขที่สูงประเสริฐ และมาร่วมสร้างสรรค์สังคมกันต่อไปอีก ตรงนี้แหละที่ว่าเป็นตัวจุดหมาย

ที่พูดมานี้เป็นการตอบคำถามที่ว่าเราปกครองกันเพื่ออะไร ซึ่งสำคัญกว่าการที่จะมาภูมิใจกันอยู่แค่ว่าเราได้มาปกครอง เราได้มีสิทธิ์มีเสียงแล้ว มาเน้นกันอยู่แค่นั้น ถ้าอย่างนี้ก็จะเป็นเพียงเหมือนกับว่า เราได้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ แต่ไม่เคยคิดว่าจะเอามันไปใช้ทำอะไร

ตอนนี้ก็คิดว่า พอสมควรแล้วสำหรับเรื่องการศึกษากับประชาธิปไตย

ขอเน้นอีกทีว่า การปกครองแบบประชาธิปไตยนั้น จะต้องอาศัยการศึกษา อย่างน้อยก็เป็นการนำเอาการศึกษามาช่วยเตรียมคนให้พร้อม ที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการของสังคมประชาธิปไตย อันนี้คือสาระที่สำคัญที่สุด คือการเตรียมคนให้เขาพร้อมที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในสังคมประชาธิปไตย หรือในกระบวนการประชาธิปไตยทั้งหมด

ถ้าไม่มีการเตรียมคนอย่างนี้ กระบวนการประชาธิปไตยก็จะกลายเป็นกระบวนการที่ล้มเหลว เพราะว่าบุคคลที่เป็นส่วนร่วมซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนกระบวนการนั้น ไม่มีคุณภาพ ไม่มีความพร้อม

อย่างน้อย การศึกษาก็ทำให้คนได้เข้าถึงโอกาสในสังคมประชาธิปไตย เราบอกว่าประชาธิปไตยจัดสรรสังคมให้เกิดมีโอกาสแก่บุคคลแต่ละคนแล้ว แต่คนที่ไม่มีการศึกษา ก็ไม่สามารถเข้าถึงหรือใช้โอกาสนั้น คือไม่สามารถได้รับประโยชน์จากสังคมประชาธิปไตย เช่น ถ้าบุคคลใดไม่รู้หนังสือ โอกาสที่มีอยู่มากมายในสังคมประชาธิปไตย ก็ไม่เป็นประโยชน์แก่เขา ดังนั้น ในขั้นที่หนึ่ง เราจึงพูดว่า การศึกษาช่วยให้คนเข้าถึงโอกาส และสามารถได้ประโยชน์จากสังคมประชาธิปไตยนั้น

ในขั้นต่อไป เมื่อคนมีการศึกษาดี เขาก็สามารถนำศักยภาพของตนออกมาร่วมสร้างสรรค์สังคมอย่างที่กล่าวข้างต้นแล้ว ดังนั้นจึงพูดต่อไปอีกว่า การศึกษาช่วยให้คนสามารถใช้โอกาส ที่จะทำประโยชน์แก่สังคมประชาธิปไตย

ในที่สุด เมื่อพูดโดยรวมก็คือ การศึกษาเข้ามาช่วยให้การปกครองตามระบอบประชาธิปไตยมีคุณภาพที่แท้จริง และสัมฤทธิ์ผลตามวัตถุประสงค์ของประชาธิปไตย ถ้ามิฉะนั้นประชาธิปไตยก็อาจจะเป็นเพียงชื่อ เป็นเพียงแต่ระบบในอุดมคติที่ไม่สามารถบรรลุผลได้เลย เพราะฉะนั้นจึงกล่าวว่า ปัจจัยที่จะให้สังคมประชาธิปไตยบรรลุผลสำเร็จ ก็คือการศึกษา

ในทางกลับกัน ประชาธิปไตยก็ให้โอกาสแก่ทุกคนที่จะเข้าถึงการศึกษาอย่างเสมอภาคด้วย หมายความว่า เมื่อเรามีการปกครองแบบประชาธิปไตย ประชาธิปไตยก็เปิดโอกาสให้กับคนที่จะเข้าถึงการศึกษาได้ เพราะฉะนั้นในความหมายหนึ่ง การสร้างสรรค์สังคมประชาธิปไตย ก็คือการสร้างสรรค์สังคมที่เอื้อต่อการศึกษา หรือจะใช้คำที่กำลังนิยมกันว่า สร้างสรรค์สังคมให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้

ถึงตอนนี้แหละสังคมประชาธิปไตยก็จะเข้าถึงหลักการที่แท้จริง ซึ่งมาบรรจบกับที่นิยมพูดกันเวลานี้ที่ว่า เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ เพราะที่แท้แล้วสังคมประชาธิปไตยนี่แหละจะต้องเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ เพราะคนจะต้องพัฒนาตัวให้มีสติปัญญา ที่จะมาร่วมในการดำเนินกระบวนการประชาธิปไตยให้สัมฤทธิ์ผลไปถึงจุดหมายได้

ถ้ามองในแง่นี้ก็น่ายินดีว่า ปัจจุบันคนให้ความสำคัญแก่คำว่า “สังคมแห่งการเรียนรู้” เพราะที่จริงนั้น สังคมประชาธิปไตย กับสังคมแห่งการเรียนรู้ ก็คือคนละด้านของเรื่องเดียวกัน

เรื่องความสัมพันธ์ระหว่าง สังคมประชาธิปไตย กับการศึกษา ก็ได้ใช้เวลาไปมากแล้ว เป็นอันว่า เพื่อให้คนเป็นส่วนร่วมที่ดีของสังคมประชาธิปไตย และสามารถได้รับประโยชน์จากสังคมประชาธิปไตย แล้วก็ช่วยให้ประชาธิปไตยดำเนินไปด้วยดีสู่จุดหมาย เราต้องอาศัยการศึกษา

- ๒ -
กระบวนการเรียนรู้ เพื่อขับเคลื่อนสังคมประชาธิปไตย

ทีนี้เพื่อให้เกิดการศึกษา คนก็ต้องเรียนรู้ เพราะว่าแกนของการศึกษา ก็คือ การเรียนรู้ของแต่ละคน ทีนี้ ทำอย่างไรจะให้การเรียนรู้ดำเนินไปได้ด้วยดี เราก็ต้องมีกระบวนการเรียนรู้ที่ถูกต้อง

เรียน ศึกษา ฝึก หัด พัฒนา

อย่างไรก็ตาม ก่อนจะพูดถึงกระบวนการเรียนรู้ ก็อยากวิจารณ์คำว่า “การเรียนรู้” สักนิด ขอให้ถือว่าเป็นเรื่องเกร็ดๆ

คำว่า “การเรียนรู้” นี้ก็แปลก ไม่ทราบว่าเกิดขึ้นมาเมื่อไร แต่ก่อนนั้นเข้าใจว่าไม่มี เวลานี้ ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานก็ยังไม่ได้บรรจุคำนี้เข้าไว้ “การเรียนรู้” จึงยังเป็นศัพท์ในวงการของนักการศึกษาอยู่

เดิมเรามีแต่คำว่า “เรียน” เวลานี้เนื่องจากวิชาการต่างๆ เรามักนิยมถือตามแนวคิดทางตะวันตก เมื่อพูดคำว่าเรียนหรือเรียนรู้ เราก็เทียบกับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า learning คำว่า “learning” แต่เดิมเราก็แปลกันว่า “เรียน” เฉยๆ และการศึกษาก็เท่ากับคำว่าเรียนเท่านั้น เพราะ “เรียน” เป็นคำไทย ส่วน ศึกษา เป็นคำที่มาจากภาษาสันสกฤต คือ “ศิกฺษา” ตรงกับคำบาลีว่า “สิกฺขา” ซึ่งก็คือเรียน (เรียน = สิกฺขา = ศิกฺษา → ศึกษา) แต่เวลานี้การศึกษามีความหมายกว้างกว่าเรียนไปแล้ว เรียนเป็นเรื่องของแต่ละคน ส่วนการศึกษาอาจจะเป็นกิจการของสังคม เป็นเรื่องใหญ่ ที่กว้างออกไป

แต่ถ้าพูดกันในแง่ของศัพท์ คำว่า “เรียน” ก็น่าจะพอแล้ว ทำไมจึงเติมคำว่า “รู้” เข้ามา อาจสันนิษฐานว่า

๑. เพื่อให้คำพูดไม่ห้วน เวลาพูดว่าเรียนๆ เราอาจรู้สึกว่าห้วน ก็เติมคำว่ารู้เข้าไป เป็นเรียนรู้ ฟังดูไพเราะขึ้น ไม่ห้วน

๒. อีกอย่างหนึ่งอาจเป็นเพราะว่า กลัวจะเรียนโดยไม่รู้ ก็เลยเติมรู้เข้าไป เป็นเรียนโดยมีความรู้ หรือเรียนเพื่อรู้ หรือเรียนให้รู้

แต่ที่จริงนั้น คำว่าเรียนมีคำว่ารู้แฝงอยู่ด้วยในตัว และคำว่า “รู้” นี้เป็นแกน เป็นแก่น หรือเป็นสาระของการเรียนทีเดียว ถ้าเรียนโดยไม่รู้ เรียกว่า “เลียน” (ล ลิง)

การเรียนต้องมีรู้เป็นแกน แต่ไม่ใช่แค่รู้อย่างเดียว รู้อย่างเดียวไม่เป็นเรียน แต่ เรียน เท่ากับ “รู้” บวกด้วย “ได้” อะไรเพิ่มเข้ามาให้แก่ชีวิตด้วย

ได้อะไรในที่นี้ก็คือ ได้ความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ได้ความงอกงามขึ้นมา ได้สิ่งนั้นมาเป็นของตน เริ่มตั้งแต่ได้ความรู้นั่นแหละ เช่นได้ความรู้ ได้ความเข้าใจ ได้ความสามารถ ได้วิธีการดำเนินชีวิตที่ดีขึ้น ได้วิธีปฏิบัติต่อสิ่งต่างๆ ได้ความชำนิชำนาญจัดเจน ได้ความสามารถที่จะปรับตัวและปรับปรุงตน ฯลฯ คือได้ความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ไม่ใช่เรียนอย่างเดียว แต่ต้องมีรู้ด้วย เพราะรู้นี้เป็นแกนกลางทีเดียว เขียนให้ดูง่ายๆ ดังนี้

เรียน = รู้ + ได้ความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น

ทีนี้เมื่อพูดว่า เรียน คือ รู้ แล้วได้อะไรเข้ามาให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นนั้น ในแง่นี้เรียนก็เลยมาตรงกับคำว่า “พัฒนา” ด้วย แต่คำว่า เรียน ถ้าเอาตัวศัพท์แท้ ก็คือ ศึกษานั่นเอง ดังนั้น คำว่า เรียน ศึกษา พัฒนา ก็เลยได้ความหมายที่เป็นไวพจน์กัน คือเป็นคำที่ใช้แทนกันได้ เรียนก็เป็นการพัฒนาด้วย เพราะเรียนไปก็ได้อะไรเพิ่มเข้ามา

ความหมายอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งก็เป็นอีกด้านหนึ่งของเรื่องเดียวกัน คือ

เรียน = รู้ + ทำให้ได้ ทำให้เป็น

เรียนไม่ใช่รู้อย่างเดียว จะเป็นเรียนต้องทำให้ได้ให้เป็นด้วย ทั้งให้รู้ ทั้งให้ทำได้ทำเป็นด้วย เช่น เรียนทำนา จะไปทำนาก็ต้องรู้ ถ้าไม่รู้จะไปทำนาได้อย่างไร แต่ไม่ใช่แค่รู้เฉยๆ ต้องทำให้เป็นด้วย หรือจะเรียนจักสาน ก็ต้องรู้วิธีจักสาน และต้องทำการจักสานได้ด้วย จึงจะเป็นเรียนจักสาน หรือเรียนขับรถ ก็ต้องให้ทั้งรู้ ทั้งขับเป็นด้วย จึงจะเป็นเรียนขับรถ หรือเรียนพูด ก็ต้องรู้ถ้อยคำ รู้วิธีการพูด และพูดให้ได้ หรือเรียนคอมพิวเตอร์ ไม่ว่าจะเรียนใช้คอมพิวเตอร์ เรียนสร้างคอมพิวเตอร์ หรืออะไรก็แล้วแต่ ก็ต้องทั้งรู้ ทั้งใช้เป็นหรือทำเป็น แต่ทั้งหมดนี้ต้องมีรู้แทรกอยู่ด้วย ปนอยู่ด้วย เป็นแกน

เรียนในแง่ที่ว่า ทั้งให้รู้ ทั้งทำให้ได้ ให้เป็น นี้ ตรงกับความหมายที่ว่า “ฝึก” หรือ “หัด” ดังนั้น เรียน กับฝึก หรือหัด จึงมีความหมายที่ใช้แทนกันได้ ฝึกและหัดนั้นเน้นในแง่การทำให้ได้ ให้เป็น ส่วนเรียนจะเน้นในแง่ของรู้ด้วย

สรุปแล้ว ทั้งคำว่า เรียน ศึกษา ฝึก หัด พัฒนา เป็นคำที่ใช้แทนกันได้ แต่ “เรียนรู้” เป็นคำที่เรามานิยมใช้กันในระยะหลัง ซึ่งต้องระวังเหมือนกัน คือ ถ้าใช้ไม่ดี คุมความหมายไม่อยู่ ก็จะกลายเป็นว่า เรียนเพียงเพื่อรู้

การเรียนเพื่อรู้นั้น แทนที่จะได้ความหมายครบ ก็กลับจะแคบเข้า และขาดไป เช่น “เรียนรู้ตลอดชีวิต” ก็อาจจะกลายความหมายไปว่า เป็นการหาความรู้ตลอดชีวิต แต่เท่านั้นพอหรือสำหรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต ในเมื่อเรียนนั้น ไม่ใช่แค่เพื่อรู้อย่างเดียว การเรียนรู้ตลอดชีวิต คงไม่ใช่เพียงแค่การหาความรู้ตลอดชีวิต แต่เป็นการฝึกหัด ฝึกฝน พัฒนาตน พัฒนาชีวิตตลอดไป จนกระทั่งหมดอายุไปเลย

อย่างไรก็ตาม ที่วิจารณ์นี้ก็เพียงเพื่อให้ระมัดระวังเท่านั้นเอง คือ ถ้าเรายังใช้มันอยู่ เราก็จะต้องใช้คำว่า “เรียนรู้”ในความหมายที่เต็มที่ ที่ครบถ้วน ไม่ใช่แค่เรียนเพื่อความรู้ แต่การเรียนนั้นมีความรู้เป็นแกน เป็นสาระสำคัญ โดยที่ทำให้ได้อะไรเปลี่ยนแปลงเพิ่มเข้ามาในทางที่ดีขึ้นด้วย แต่ในที่นี้แม้จะวิจารณ์ ก็ยังจะใช้คำว่า “เรียนรู้” ตามไปด้วย เพียงแต่ขอทำความเข้าใจกันก่อน

เลี้ยง - เลียน - เรียน

ขอย้ำว่า ถ้าเราเรียนโดยไม่รู้ มันก็ได้แค่ เลียน ที่เป็น ล ลิง เท่านั้น เมื่อเป็นการเลียนมันก็จะลดคุณภาพลงจากสิ่งที่เราไปเลียนมา สิ่งนั้นเป็นแค่นี้ คือ ๑๐๐ พอเลียนมาเราได้มาแค่ ๘๐ หรืออาจจะเหลือ ๕๐ ถ้าเลียนจะได้ลดลง จะแย่ลง คุณภาพจะหดจะด้อยลงไป เพราะฉะนั้น เราจึงไม่เอาแค่เลียน เพราะ เลียนนั้นลดคุณภาพ แต่เรียน จะมีอะไรใหม่เพิ่มเข้ามา ซึ่งกลายเป็นเนื้อตัวของเราด้วย

เมื่อพูดถึง เรียน กับ เลียน ก็อยากพูดถึงคำว่า เลี้ยง ด้วย เลี้ยง ก็เป็นศัพท์สำคัญเหมือนกัน ทำไมต้องพูดถึงคำว่า เลี้ยง ด้วย เพราะอยากเน้นถึงความสำคัญของการให้การศึกษาที่บ้านในวัยเริ่มต้น

“เลี้ยง” ก็คือกระบวนการให้การศึกษาในวัยเริ่มต้น ซึ่งเป็นวัยที่สำคัญอย่างยิ่ง ในทางพระพุทธศาสนา ท่านเน้นนักในเรื่องฐานะของพ่อแม่ที่เรียกว่าเป็นบุรพาจารย์ ตามข้อความภาษาบาลีว่า ปุพฺพาจริยาติ วุจฺจเร ... แปลว่า มารดาบิดานั้น ท่านเรียกว่าเป็นบุรพาจารย์ หรืออาจารย์ต้น หรือครูต้น พูดง่ายๆ ว่าครูคนแรก ผู้สอนในสิ่งที่จำเป็นที่สุด คือสิ่งจำเป็นพื้นฐานในการดำเนินชีวิต

เราอาจจะไปเรียนวิชาการต่างๆ เป็นหย่อม เป็นจุด เป็นเรื่องจำเพาะ แต่ก่อนที่จะไปเรียนวิชาต่างๆ เหล่านั้น เราได้เรียนรู้วิธีดำเนินชีวิตที่จำเป็นเบื้องต้น ทั้งการกิน-ขับถ่าย-นั่ง-นอน-เดิน-พูด ฯลฯ จนกระทั่งเรียนความรู้สึก เรียนวิธีที่จะสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ เรียนลักษณะนิสัยใจคอต่างๆ จากพ่อแม่ เราจึงควรให้ความสำคัญแก่บทบาททางการศึกษาของพ่อแม่ผู้เลี้ยง ที่เป็นบุรพาจารย์นี้ เพราะฉะนั้นเราจึงต้องโยงเรื่องการเลี้ยงให้มาสัมพันธ์กับการศึกษาให้ได้

ว่าที่จริง เลี้ยง คือ กระบวนการให้การศึกษาที่บ้านในวัยเริ่มต้นของเด็ก

เราลองมามองดูว่า คำว่า เลี้ยงคืออะไร ถ้าจะเข้าใจความหมายของคำว่าเลี้ยง ก็ต้องถามก่อนว่าทำไมจึงต้องเลี้ยง เราต้องเลี้ยงเด็กเพราะอะไร เพราะว่าเขายังดำเนินชีวิตด้วยตนเองไม่ได้ ใช่หรือไม่ เขายังดำเนินชีวิตให้รอดและให้ดีด้วยตนเองไม่ได้ ดังนั้นเราจึงต้องเลี้ยง เมื่อใดเขาดำเนินชีวิตได้ด้วยตนเอง เราก็เลิกเลี้ยง ใช่ไหม แต่เราควรจะก้าวไปกว่านั้นอีกว่า เมื่อเขาดำเนินชีวิตที่ดีได้ด้วยตนเอง เราก็เลิกเลี้ยง

พูดสั้นๆ ว่า การเลี้ยง คือ กระบวนการช่วยให้เด็กดำเนินชีวิตได้ด้วยตนเอง

เด็กจะสามารถดำเนินชีวิตได้หรือได้อย่างดีด้วยตนเองนั้น เราจะทำอย่างไร อะไรเป็นตัวสำคัญที่จะทำให้เด็กดำเนินชีวิตได้ด้วยตนเอง ทั้งได้รอด และได้ดีด้วย เพียงแค่เลี้ยงอาหารเป็นต้น คือให้ปัจจัย ๔ และวัตถุอำนวยความสะดวกสบายทั้งหลายนั้น เพียงพอไหมที่จะให้เด็กดำเนินชีวิตได้ด้วยตัวเอง ตอบว่า ไม่พอหรอก สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงเครื่องประกอบ เป็นสิ่งเอื้ออำนวย ตัวสำคัญที่จะทำให้เด็กสามารถดำเนินชีวิตได้ด้วยตนเอง ก็คือการเรียนนั่นเอง

การเรียน การฝึก การหัด นี่ต่างหากเป็นตัวแท้ตัวจริงที่ทำให้เด็กสามารถดำเนินชีวิตได้ด้วยตนเอง การเลี้ยงให้โตด้วยอาหารเป็นต้นนั้น ทำให้เขาโตแต่กาย แต่เขาจะยังไม่สามารถดำเนินชีวิตด้วยตนเอง

ด้วยเหตุนี้ การบำรุงด้วยอาหารและสิ่งเสพบริโภคต่างๆ จะยังไม่เพียงพอที่จะเรียกได้ว่าเป็นการเลี้ยง จนกว่าจะทำด้วยความตระหนักรู้ที่โยงสัมพันธ์กับการเรียน คือ ทำไปในความหมายที่ว่าเป็นการจัดสรรโอกาสและปัจจัยเกื้อหนุนให้เด็กได้เรียน ถ้าอย่างนี้จึงจะเรียกได้ว่าเป็นการเลี้ยง เพราะฉะนั้น การเลี้ยง คือการจัดสรรโอกาสและปัจจัยต่างๆ เพื่อเกื้อหนุนการเรียนของเด็ก หรือพูดสั้นว่า การเลี้ยง คือการช่วยให้เด็กได้เรียน

เป็นอันว่า สิ่งที่จะทำให้เด็กสามารถดำเนินชีวิตด้วยตัวเอง คือการเรียน เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า สิ่งที่เป็นไปหรือดำเนินไปโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม ระหว่างที่พ่อแม่เลี้ยงลูกนั้น ลูกทำอะไร ลูกก็เรียนรู้ เพราะฉะนั้นในการเลี้ยงลูก ลูกก็จะเรียนอยู่ตลอดเวลา จึงต้องพูดและมองให้ครบคู่ว่า พ่อแม่เลี้ยงไป ลูกก็เรียนไป

แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า ลูกจะเรียนอย่างมีคุณภาพ หรือเรียนอย่างสะเปะสะปะ ถ้าพ่อแม่ไม่รู้ ไม่ตระหนัก ขาดปัญญา ลูกก็เรียนอย่างสุ่มสี่สุ่มห้า เรียนแบบสะเปะสะปะ เรื่อยๆ เปื่อยๆ ไป ไม่ได้ผลดี ได้แต่เลียน ไม่ค่อยได้เรียน

แต่ถ้าพ่อแม่รู้ว่าการเลี้ยงของตนคือการช่วยการเรียนรู้ของเด็ก พ่อแม่จะตั้งใจและทำด้วยปัญญา เพื่อจะทำให้เด็กมีความสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างดีด้วยตนเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะการที่คนจะมีชีวิตอยู่อย่างมนุษย์ที่ดี ข้อที่สำคัญคือต้องมีความสามารถดำเนินชีวิตได้ด้วยดี อันนี้เป็นวัตถุประสงค์ของการศึกษา

เมื่อคนดำเนินชีวิตที่ดีได้แล้ว ก็หมดภาระในการเลี้ยง และ สัมฤทธิ์ผลของการศึกษา

เป็นอันว่า เริ่มต้น พ่อแม่เป็นตัวกลางที่สำคัญอย่างยิ่ง ในการวางรากฐานของการดำเนินชีวิตที่ดีให้แก่เด็ก เราจะต้องช่วยให้เด็กดำเนินชีวิตที่ดีให้ได้ โดยช่วยให้การเรียนของเด็ก ในระหว่างที่เราเลี้ยงอยู่นั้น เป็นการเรียนที่มีประสิทธิภาพ

เพราะฉะนั้นเราจะต้องมองการเลี้ยง โดยมุ่งเน้นไปที่การเรียนรู้ของเด็ก โดยถือว่าการให้อาหารเป็นต้นนั้น เป็นเพียงปัจจัยเกื้อหนุนเอื้ออำนวยเท่านั้น

เราอาจให้ความหมายว่า การเลี้ยง คือกระบวนการช่วยเหลือเกื้อหนุน ให้เด็กเรียนรู้ฝึกหัดพัฒนา เพื่อให้สามารถที่จะดำเนินชีวิตที่ดีได้ด้วยตนเอง เมื่อมองอย่างนี้ การเลี้ยงก็เป็นการให้ศึกษาไปในตัว พูดสั้นๆ อย่างที่กล่าวแล้วข้างต้นว่า การเลี้ยง คือการช่วยให้เรียน หรือการเลี้ยง คือการช่วยเด็กให้ศึกษา (ไม่ใช่ให้การศึกษาแก่เด็ก)

ตอนแรกก็มีผู้ช่วยให้เรียน คือคนเลี้ยง ต่อไป พอเริ่มดำเนินชีวิตที่ดีได้ด้วยตนเองแล้วก็เลิกเลี้ยง คือไม่ต้องมีคนเลี้ยง (ที่จะมาช่วยให้เรียน) ต่อจากนั้นเขาก็เลี้ยงตัวเอง (ทั้งทางกาย-จิตใจ-ปัญญา) คือช่วยตัวเองในการเรียนรู้ต่อไป เพราะการดำเนินชีวิตที่ดีไม่มีจุดจบ คนเราสามารถดำเนินชีวิตที่ดียิ่งขึ้น และต้องปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมและใช้ประโยชน์จากสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงใหม่ๆ อยู่เรื่อยไป เราจึงต้องพัฒนาตัวให้ดำเนินชีวิตได้ดียิ่งขึ้น

ใครสามารถพูดได้ว่า ฉันดำเนินชีวิตได้ดีที่สุดแล้ว ยังหรอก ตราบใดที่ยังมีชีวิตอยู่ มนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องเรียนรู้เรื่อยไป ต่อจากคนอื่นเลี้ยง คือช่วยให้เรียนแล้ว ก็ต้องเลี้ยงตัวเอง คือเรียนด้วยตนเองเรื่อยไป ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญ เพราะยืดยาวไปตลอด จึงเป็นการเรียนตลอดชีวิต เข้ากับคติที่ว่า เรียนรู้ตลอดชีวิต

เมื่อบุคคลแต่ละคนเรียนรู้ตลอดชีวิต สังคมก็จะกลายเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้

แต่พร้อมกันนั้น ในทางย้อนกลับก็ต้องจัดสรรสังคมให้มีสภาพและบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตของแต่ละบุคคลนั้นด้วย

เรียนรู้ตลอดชีวิต เพราะมนุษย์เป็นสัตว์แห่งการเรียนรู้

ตอนนี้มีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเหตุผลเข้ามาแทรกอยู่นิดหน่อย คือเรื่องของการเรียนรู้ตลอดชีวิต ว่าเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ทำไมมานิยมพูดกันตอนนี้

ก) เรียนรู้ตลอดชีวิต ไม่ใช่แค่หาความรู้ตลอดชีวิต

สำหรับเหตุผลที่จะให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต เรามักจะไปเน้นกันที่ว่า ปัจจุบันนี้ เป็นยุคที่มีข่าวสารข้อมูลมาก โลกเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว สิ่งที่จะต้องเรียนรู้เพิ่มพูนก้าวไปเรื่อยไม่รู้จักหยุดหย่อน การที่เราจะมีชีวิตที่ดีงามได้ เราจะต้องปรับตัวให้ทัน รับมือได้กับความเปลี่ยนแปลง และใช้ประโยชน์ได้จากสิ่งแปลกใหม่ทั้งหลาย ถ้าเราไม่เรียนรู้อยู่ตลอดเวลา เราก็จะไม่สามารถตามทันข่าวสารข้อมูลเป็นต้น รับมือกับความเปลี่ยนแปลงไม่ไหว และใช้ประโยชน์จากสิ่งแปลกใหม่ไม่ได้ อันนี้ดูเหมือนจะเป็นเหตุผลสำคัญที่เอามาอ้างกัน ในการที่จะทำให้ต้องมีการเรียนรู้ตลอดชีวิต และให้มีสังคมแห่งการเรียนรู้ ถ้าพูดอย่างนี้ก็กลายเป็นว่า

  1. เราถูกความจำเป็นบังคับ ทำให้ต้องมีและต้องถือคติแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตนี้ และ
  2. เรามักจะเน้นการเรียนที่มุ่งความรู้เป็นสำคัญ

ฉะนั้น ถ้าไม่ระวังก็จะก้าวพลาดจากความหมายของการศึกษา ความจริงเราควรจะพูดว่า การเรียนรู้ตลอดชีวิต ก็คือการหันเข้าหาหลักความจริงของธรรมชาติ ซึ่งเป็นหลักการที่แท้จริงอันถูกต้อง เป็นแต่ว่าเราเผลอเราพลาดไปนาน เราอาจจะหลงระเริงไปเสีย ก็เลยลืมหลักการที่เป็นจริง

ข) มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ เพราะเป็นสัตว์แห่งการเรียนรู้

การเป็นผู้ต้องเรียนรู้ตลอดชีวิตนี้ เป็นหลักความจริงตามธรรมชาติแท้ๆ เพราะฉะนั้น การที่เราหันมาใช้หลักการนี้ จึงเป็นการหันเข้าหาหลักเดิมที่แท้ เพราะมนุษย์นั้นถือว่าเป็นสัตว์แห่งการเรียนรู้ ความพิเศษของมนุษย์อยู่ที่นี่ ที่ว่ามนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐนั้น ก็เพราะเป็นสัตว์แห่งการเรียนรู้ เรียกอย่างภาษาพระว่าเป็น “สัตว์ที่ฝึกได้”

คำว่า “ฝึก” ก็อย่างที่กล่าวมาแล้วว่าเป็นไวพจน์ของคำว่าเรียนนั่นเอง เป็นสัตว์ที่ฝึกได้และต้องฝึก ก็คือเรียนรู้ได้และต้องเรียนรู้ หมายความว่า การดำเนินชีวิต ที่จะให้รอดก็ตาม และให้ดีก็ตาม มนุษย์ไม่ได้มาเปล่าๆ เพียงด้วยสัญชาตญาณ แต่จะได้มาด้วยการเรียนรู้ฝึกหัดพัฒนา ต่างจากสัตว์ชนิดอื่นที่เรียนรู้ได้น้อย และแทบไม่ต้องเรียนรู้เลย ก็อยู่ได้ด้วยสัญชาตญาณ แต่ก็อยู่ด้วยสัญชาตญาณนั้นไปจนตาย เกิดมาอย่างไรก็ตายไปอย่างนั้น

พระพุทธศาสนาบอกว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ประเสริฐด้วยการฝึก ไม่พูดว่ามนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ

การพูดว่า มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐนั้นเป็นคำที่เสี่ยง และเป็นคำที่ไม่สมบูรณ์ ความจริงนั้น ถ้าไม่มีการฝึก หรือไม่มีการเรียนรู้แล้ว มนุษย์หาประเสริฐไม่ อาจจะแย่ยิ่งกว่าสัตว์ชนิดอื่นด้วย ฉะนั้นจะต้องพูดให้เต็มว่า มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐด้วยการฝึก ถ้าใช้สำนวนสมัยใหม่ก็ว่าประเสริฐด้วยการเรียนรู้ ซึ่งสืบเนื่องมาจากที่พูดว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องฝึก คือเป็นสัตว์แห่งการเรียนรู้

ในเมื่อเรารู้ว่า มนุษย์จะมีชีวิตที่ดีงาม โดยมิใช่จะได้มาเฉยๆ แต่มนุษย์จะต้องลงทุนด้วยการเรียนรู้ ฝึกฝนพัฒนา เราจึงมองว่า ถ้ามนุษย์จะมีชีวิตที่ดีที่ประเสริฐ ก็จะต้องฝึกต้องเรียนรู้อยู่เรื่อยไป

การเรียนรู้ฝึกฝนพัฒนานี้ เป็นความพิเศษของมนุษย์ที่สัตว์ชนิดอื่นทำไม่ได้ สัตว์ชนิดอื่นนั้นเรียนรู้ได้จำกัดอย่างยิ่ง เราเรียกรวบรัดว่าไม่สามารถเรียนรู้ หรือเป็นสัตว์ที่ฝึกไม่ได้

แม้ว่าสัตว์บางชนิดอาจจะฝึกได้มาก แต่ก็ต้องให้มนุษย์ฝึกให้ ส่วนมนุษย์นั้นเป็นสัตว์ที่ฝึกได้เรียนรู้ได้ และฝึกตนเองได้ด้วย แล้วยังฝึกได้จนกระทั่งไม่มีขอบเขตที่สิ้นสุด ตั้งแต่เกิดจนตาย มนุษย์ที่ฝึกตนหรือมีการเรียนรู้ จึงเปลี่ยนแปลงไป และทำให้โลกเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย ฝึกจนกระทั่งเป็นพุทธะก็ได้

ด้วยเหตุนี้ เราจึงตั้งพุทธะไว้เป็นตัวแบบ เพื่อเตือนให้มนุษย์ระลึกถึงศักยภาพของตนว่า เรามีศักยภาพที่จะเรียนรู้ฝึกฝนพัฒนาได้ จนกระทั่งเป็นบุคคลแบบอย่างนี้ คือจะเป็นพุทธะก็ได้ แล้วก็เตือนใจว่าเราจะต้องเรียนรู้ฝึกฝนตลอดไป ไม่เฉพาะชีวิตนี้ ไม่ว่าจะมีกี่ชีวิตก็ต้องเรียนรู้กันเรื่อยไป จนกว่าจะเป็นพุทธะ จึงจะเลิกเรียนได้

นี่คือเหตุผลที่พูดว่า การเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นหลักความจริงตามธรรมชาติ การที่ต้องย้ำจุดนี้ ไม่ใช่เพราะความจำเป็นของยุคสมัย แต่เพราะมันเป็นการศึกษาที่ถูกต้องตามหลักการที่แท้ คือตรงตามความจริงของธรรมชาติ

ค) เรียนรู้ตลอดชีวิต เพราะจุดหมายชีวิตของมนุษย์ คือเป็นพุทธะ

ขอตั้งข้อสังเกตหน่อยว่า ถ้าเราเอาเรื่องของการเรียนรู้ตลอดชีวิตมามองในแง่ของการที่ถูกสภาพแวดล้อมของยุคสมัยบังคับ ก็จะเป็นการตั้งวัตถุประสงค์ต่ำเกินไป คือเราจะตั้งวัตถุประสงค์แค่ว่าให้มนุษย์ปรับตัวได้ แล้วก็สามารถจัดการกับสภาพแวดล้อมในยุคสมัยนี้ และฉวยเอาประโยชน์จากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วนี้ได้อย่างดีเท่านั้น คือมีมาตรฐานแค่ว่า แต่ก่อนเคยอยู่มาอย่างนี้ๆ ก็อยู่ดีได้ ไม่ต้องเรียนรู้แบบนี้ แต่ตอนนี้มันเกิดความจำเป็น จะอยู่ให้ดีแค่นั้นไม่ได้ จึงต้องปรับตัว อะไรทำนองนั้น

แต่ในทางหลักธรรม เราตั้งอุดมคติว่า การที่มนุษย์จะต้องพัฒนาไปจนถึงจุดสูงสุดนี้เป็นหลักธรรมดา อย่างที่บอกเมื่อกี้ว่า เราตั้งเป้าหมายไว้เป็นพุทธะ หรือเป็นภาวิต ซึ่งแปลว่าบุคคลที่พัฒนาแล้ว

บุคคลมีชีวิตตราบใด ก็จะต้องพัฒนาฝึกฝนเรียนรู้เรื่อยไปจนกว่าจะถึงจุดหมายนี้ จุดหมายสูงสุดนี้จะต้องตั้งไว้

เรื่องนี้ก็เป็นแง่หนึ่งที่ควรจะตั้งข้อสังเกตถึงความแตกต่างระหว่างตะวันตกกับตะวันออก อย่างเช่นในทางจิตวิทยา

จิตวิทยาตะวันตกเอามนุษย์ปุถุชนธรรมดาเป็นมาตรฐานสำหรับวัดว่า เป็นมนุษย์ปกติที่ดีแล้ว มนุษย์ที่ผิดปกติก็คือสูงหรือต่ำกว่าเกณฑ์นั้น แต่ต่ำนั้นเน้นมาก เพราะวิชาจิตวิทยาพัฒนาขึ้นมาจากฐานนั้น คือเริ่มจากคนที่ผิดปกติมากๆ เช่นคนบ้า คนเสียสติ หรือคนเป็นโรคจิต ที่มีปัญหาว่าทำอย่างไรจะให้กลับขึ้นมาเป็นคนปกติ ที่เป็นคนมีโลภ โกรธ หลงอย่างทั่วๆไป และถือว่านี่แหละใช้ได้แล้ว

ส่วนพุทธศาสนาเริ่มจากคนที่เป็นปุถุชนว่าเป็นอย่างต่ำ ซึ่งจะต้องพัฒนาขึ้นไปจนสูงสุด จึงเป็นแนวความคิดคนละแบบ อันนี้เป็นเรื่องของการตั้งข้อสังเกตไว้

ง) เด็กเกิดมา ที่ว่าบริสุทธิ์ คือว่างเปล่าจากความรู้ จึงอยู่ในภาวะเสี่ยงภัย

อีกอย่างหนึ่งที่อยากพูดไว้ด้วย ก็คือเรื่องของเด็กที่เกิดมานี้ เรามักพูดว่าเด็กว่างเปล่า เหมือนผ้าขาวหรือกระดาษที่ยังไม่ได้เขียน หรือบางทีก็ว่าเด็กเป็นคนบริสุทธิ์ คำว่าบริสุทธิ์นี่เป็นคำที่กำกวม

ว่างเปล่าคือไม่มีอะไร แต่ในความหมายหนึ่งก็คือว่างจากความรู้ด้วย คือไม่มีความรู้ ตรงนี้แหละสำคัญมาก พุทธศาสนาจะไม่บอกว่าเด็กบริสุทธิ์ หรือไม่บริสุทธิ์ แต่เราพูดอยู่อย่างหนึ่งว่า ยังมีความไม่รู้ หรือว่างเปล่าจากความรู้ เมื่อว่างเปล่าปราศจากความรู้ หรือไม่มีความรู้ ก็อยู่ในภาวะเสี่ยง

มนุษย์จะเป็นอยู่อย่างไรถ้าไม่มีความรู้ เมื่อเจออะไร ถ้าไม่รู้ว่ามันคืออะไร และจะปฏิบัติต่อมันอย่างไร ก็ติดขัดเกิดปัญหา เพราะฉะนั้นคนที่ไม่มีความรู้ก็คือมีศักยภาพแห่งปัญหา พอไปเจออะไร เมื่อไม่รู้ว่าคืออะไร และจะทำต่อมันอย่างไร ก็เกิดปัญหาทันที คือเกิดความติดขัดคับข้องบีบคั้นขึ้นมา ซึ่งเรียกว่าทุกข์หรือปัญหา

ฉะนั้น ความไม่รู้ ก็คือศักยภาพที่จะทำให้เกิดปัญหา จากความไม่รู้ ก็กลายเป็นงง หรือหลง ถ้าถึงขนาดหลง ก็จะทำหรือปฏิบัติต่อสิ่งนั้นผิดพลาด การที่เด็กเกิดมาพร้อมกับความไม่มีอะไรอย่างหนึ่ง คือไม่มีความรู้ หรือว่างเปล่าจากความรู้ นี่แหละเป็นเรื่องใหญ่ที่สำคัญมาก

ความบริสุทธิ์ที่แท้ ต้องเป็นความบริสุทธิ์ที่เกิดจากปัญญาคือความรู้ ไม่ใช่ความบริสุทธิ์ที่อยู่กับความไม่รู้ หรือเป็นความบริสุทธิ์ในความมืด จึงต้องรู้จักแยก ระหว่างความบริสุทธิ์แบบไร้เดียงสา กับความบริสุทธิ์จากความรู้แจ้งด้วยปัญญา

เรื่องนี้เกี่ยวกับกระบวนการเรียนรู้ เอามาพูดแทรกไว้ในที่นี้ แต่ไม่ใช่โอกาสที่จะอธิบาย

ระบบแห่งกระบวนการเรียนรู้

ต่อไป ขอพูดถึงกระบวนการเรียนรู้ ซึ่งที่จริงก็อยู่ในบทสรุปที่แจกไปแล้ว ในที่นี้จะยกมาพูดเพียงเล็กๆ น้อยๆ

กระบวนการเรียนรู้นั้นเป็นเรื่องใหญ่ อย่างน้อยควรจะทราบไว้ในฐานะเป็นกระบวนการที่ทำงานใน ๓ ระบบ คือ

  1. เป็นระบบปัจจยาการของชีวิต ๓ ด้าน
  2. เป็นระบบการสื่อสารสัมพันธ์กับโลกทางอินทรีย์ ๖
  3. เป็นระบบสัมพันธ์ของปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก

ความจริงควรจะพูดถึงข้อที่สอง คือระบบการสื่อสัมพันธ์กับโลกทางอินทรีย์ ๖ เสียก่อน เพราะเป็นระบบพื้นฐาน แต่เพราะเป็นเรื่องที่ได้พูดไว้มากแล้วในบทปาฐกถาครั้งก่อนที่แจกไป เพราะฉะนั้น จึงขอพูดถึงเรื่องที่หนึ่งที่ตั้งไว้ก่อน ซึ่งเป็นเรื่องที่ครอบคลุมทั้งหมด คือระบบปัจจยาการของชีวิต ๓ ด้าน

ว่าโดยหลักการ ถ้าจะให้กระบวนการเรียนรู้ได้ผลจริง จะต้องให้สอดคล้องกับความเป็นจริงของธรรมชาติ การที่เราพูดถึงระบบเหล่านี้ ก็เพราะมันเป็นระบบชีวิตของมนุษย์ตามธรรมชาตินั่นเอง เราจึงต้องมาดูความจริงของชีวิตหรือธรรมชาติของมนุษย์

๑. กระบวนการเรียนรู้ในระบบสัมพันธ์ของชีวิต ๓ ด้าน

ก) องค์ประกอบของชีวิตและการดำเนินชีวิต

การที่จะรู้เข้าใจชีวิต วิธีหนึ่งก็คือแยกชีวิตออกไปเป็นองค์ประกอบต่างๆ

ในทางธรรมถือว่า ชีวิตนี้เกิดขึ้นจากองค์ประกอบต่างๆ มารวมกันขึ้น แต่ชีวิตนี้ไม่ใช่ของนิ่ง ไม่ใช่ของเฉย มันเป็นสภาวะที่มีความคืบเคลื่อน ดังที่เราเรียกว่า การดำเนินชีวิต ดังนั้น นอกจากแยกองค์ประกอบว่ามีอะไรบ้างแล้ว ก็ต้องแยกต่อไปอีกในแง่ที่ว่า องค์ประกอบนั้นๆ ทำงานอย่างไร มีความสัมพันธ์กันอย่างไร ส่งผลต่อกันอย่างไร เหมือนกับรถ เมื่อเราแยกส่วนว่ามีชิ้นส่วนอะไรบ้างแล้ว ก็ยังไม่พอ จะต้องดูด้วยว่าชิ้นส่วนเหล่านั้นทำงานอย่างไร และสัมพันธ์กันอย่างไร

รวมความว่า ชีวิตนี้ต้องแยกแยะ ๒ แบบ คือ

๑. แยกองค์ประกอบในภาวะนิ่ง เหมือนรถที่จอดอยู่นิ่งๆ เราก็ดูว่ามีชิ้นส่วนอะไรบ้าง วิธีนี้แยก ชีวิต อย่างง่ายๆ ว่ามี ๒ ส่วน คือ รูปกับนาม หรือกายกับใจ แต่ที่จริงแยกย่อยไปได้อีกมากมาย เช่น แยกเป็น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แต่อย่างง่ายที่สุดก็คือแยกเป็นกายกับใจ

อย่างไรก็ตาม วิธีแยกว่าชีวิตมีองค์ประกอบอะไรแบบอยู่นิ่งๆ นี้ ไม่พอสำหรับมนุษย์ที่มีการดำเนินชีวิต โดยเฉพาะในกระบวนการเรียนรู้ ซึ่งเป็นกระบวนการคืบเคลื่อน

การแยกอีกแบบหนึ่งนั้นสำคัญมาก แต่เรามักมองข้าม พุทธศาสนามิใช่แยกชีวิตอยู่แค่ ๒ ด้าน เป็นกายกับใจ เท่านั้น แต่มีการแยกแยะชีวิตเมื่อดำเนินไป ว่ามีอะไร เป็นอย่างไรด้วย

๒. แยกองค์ประกอบในภาวะเคลื่อนไหว วิธีนี้แยกการดำเนินชีวิต ของมนุษย์ออกเป็น ๓ ด้าน ที่ประสานสัมพันธ์เป็นปัจจัยหนุนเนื่องไปด้วยกัน คือ

ด้านที่ ๑ การสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ทั้งรับเข้าและแสดงออก ได้แก่พฤติกรรมในการสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ทั้งทางวัตถุ คือสิ่งของเครื่องใช้ปัจจัย ๔ เริ่มแต่อาหารการกิน ตลอดจนสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ และเทคโนโลยี และทางสังคม คือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เรามีความสัมพันธ์กับสิ่งเหล่านี้ ด้วยพฤติกรรมทางกายและทางวาจา ทั้งการรับเข้า และการแสดงออกภายนอก ทั้งหมดนี้เป็นด้านหนึ่งของชีวิต รวมเรียกว่า ด้านพฤติกรรม

ด้านที่ ๒ การสื่อสัมพันธ์และพฤติกรรมทั้งหมด ทั้งด้านรับเข้าและแสดงออกนี้ มิได้เกิดขึ้นโดยเลื่อนลอย แต่เกิดจากความตั้งใจ

การรับรู้เข้ามาและพฤติกรรมที่แสดงออกไปแต่ละครั้ง ไม่ว่าจะพูด จะทำ จะเคลื่อนไหวอย่างไร ย่อมเกิดจากความตั้งใจ จงใจ เจตจำนง และเจตจำนงหรือความตั้งใจนั้น ก็มีแรงจูงใจอยู่เบื้องหลัง แรงจูงใจนั้นมีทั้งที่ดีและที่ร้าย เช่น ความรัก ความชอบ ความโกรธ ความเกลียด ความอยากได้ เป็นต้น ซึ่งทำให้เราเลือกรับข่าวสาร และเคลื่อนไหวกระทำพฤติกรรมต่างๆ โดยมีสภาพจิตใจที่ดีและชั่วเป็นตัวปรุงแต่งอยู่เบื้องหลัง นอกจากนั้นยังมีความสุข และความทุกข์เป็นแรงผลักดัน โดยที่การสื่อสัมพันธ์และการเคลื่อนไหวทำพฤติกรรมต่างๆ นั้น เป็นไปเพื่อหาความสุขบ้าง เพื่อหลีกหนีความทุกข์บ้าง

ด้านที่ ๒ ของชีวิตที่ดำเนินไปด้วยกันโดยอยู่เบื้องหลังการสื่อสัมพันธ์และพฤติกรรมนี้ ก็คือ ด้านจิตใจ ซึ่งเป็นเรื่องของคุณธรรมความดีงามหรือความชั่วบ้าง เรื่องของสมรรถภาพและประสิทธิภาพของจิตใจ เช่น ความเข้มแข็ง ความเพียรพยายาม ความอดทน ความมีสติสมาธิบ้าง เรื่องของความสุขความทุกข์บ้าง

ด้านที่ ๓ การที่เราจะขยับเขยื้อนมีพฤติกรรมแสดงออกอย่างไรๆ ทั้งหมดนั้นต้องอาศัยความรู้ เรามีความรู้แค่ไหน เราก็ทำพฤติกรรมได้แค่นั้น หมายความว่าเราทำพฤติกรรมได้ภายในขอบเขตของความรู้ ที่เรียกว่าปัญญา

ถ้าปัญญาของเราขยายออกไป พฤติกรรมของเราก็ขยายกว้างซับซ้อนขึ้น และได้ผลยิ่งขึ้น คนมีปัญญาน้อย ความรู้น้อย ก็ทำพฤติกรรมได้ตื้นๆ และไม่ได้ผล แต่พอมีความรู้มากขึ้น คิดอะไรได้ซับซ้อนขึ้น พฤติกรรมก็ยิ่งซับซ้อนและได้ผลมากขึ้น องค์ประกอบของชีวิตส่วนนี้ เรียกว่า ด้านปัญญา

สามด้านของชีวิตนี้ทำงานสัมพันธ์ไปด้วยกันตลอด คือ พฤติกรรม จิตใจ และปัญญา

อนึ่ง ขอทำความเข้าใจกันไว้ก่อนว่า คำว่า “พฤติกรรม” ในที่นี้ ใช้ในความหมายพิเศษที่กว้างกว่าปกติ คือหมายถึงความสัมพันธ์เชิงรูปธรรมกับสิ่งแวดล้อม ทั้งในการสื่อสารรับรู้เสพความรู้สึกทางอินทรีย์คือตา หู จมูก ลิ้น กาย และการสื่อเจตนาที่แสดงออกทางกายและวาจา

ข) ความสัมพันธ์เชิงปัจจัยของชีวิตทั้ง ๓ ด้าน ในกระบวนการเรียนรู้

ที่ว่าการดำเนินชีวิตสามด้านนี้ต้องอิงอาศัยซึ่งกันและกัน และส่งผลต่อกันนั้น ในด้านพฤติกรรมก็อย่างที่พูดเมื่อกี้ว่าต้องอาศัยจิตใจ และต้องอาศัยปัญญา เช่น เราจะทำอะไรก็ต้องมีความตั้งใจและแรงจูงใจ และจะทำได้แค่ไหน ก็ต้องอาศัยปัญญาบอกนั้น เรื่องนี้ก็ชัดอยู่แล้ว

ในทางกลับกัน จิตใจจะเสพอารมณ์และแสดงออก ก็ต้องอาศัยพฤติกรรม โดยใช้พฤติกรรมเป็นช่องทางสนองความต้องการของตน เพื่อทำให้ตนเองได้ความสุข หรือหนีความทุกข์ และสนองความอยากความปรารถนาต่างๆ

จิตใจก็ต้องอาศัยปัญญา จิตใจมีความปรารถนาอะไรต่างๆ ได้ในขอบเขตของความรู้ และถ้าไปเจออะไรแล้ว ไม่มีความรู้ว่าจะทำอย่างไรเป็นต้น จิตใจก็จะติดขัดคับข้องถูกบีบคั้น มีความทุกข์ แต่พอรู้ว่าสิ่งนั้นคืออะไร เป็นอย่างไร ใจก็โล่งหายทุกข์ ฉะนั้นปัญญาจึงเป็นตัวปลดปล่อยจิตใจ ทำจิตใจให้เป็นอิสระ และเป็นตัวเปลี่ยนท่าทีของจิตใจ

อย่างที่ยกตัวอย่างบ่อยๆ ว่า เราเห็นคนคนหนึ่ง พอพบกัน เขาหน้าบึ้ง เราก็มีความโน้มเอียงจะโกรธ หรือไม่พอใจว่า ทำไมคนนี้หน้าบึ้งกับเรา แต่พอเราใช้ปัญญาคิดพิจารณา เพียงแค่คิดถึงความเป็นไปได้ว่า เอ คนนี้เขาอาจจะมีปัญหา เขาอาจจะถูกดุว่า หรือเขามีเรื่องกระทบกระทั่ง มีอารมณ์ค้างมาจากบ้าน หรือไม่สบายใจเพราะไม่มีเงินใช้ พอเราเริ่มใช้ปัญญาคิดอย่างนี้ เราก็เริ่มหายโกรธ และอาจจะเปลี่ยนเป็นสงสาร ยิ่งเมื่อรู้ปัญหาของเขา เราจะเปลี่ยนท่าทีเลย จากความโกรธก็กลายเป็นความกรุณา ฉะนั้น ปัญญาจึงเป็นตัวเปลี่ยนท่าทีของจิตใจ และเป็นตัวปลดปล่อยจิตใจให้เป็นอิสระ

แต่ปัญญาจะพัฒนาไปได้ก็ต้องอาศัยพฤติกรรม เช่นต้องใช้เท้าเดินไปหาข้อมูลเป็นต้น ต้องใช้มือทำงาน เวลามีของมาอยากจะรู้ว่าเป็นอะไร ก็อาจจะต้องรื้อออก อาจจะต้องจับแยกเป็นส่วนๆ และอาจจะต้องเอามาจัดเอามาประกอบดู ทำดู ฝึกหัดดู หรืออาศัยพฤติกรรมทางวาจา เช่นไปไถ่ถามผู้อื่น ไปปรึกษาหารือ รู้จักตั้งคำถาม เพราะถ้าตั้งคำถามไม่เป็น เขาก็ไม่พอใจที่จะตอบ หรือเขาไม่รู้เรื่อง แต่พอตั้งคำถามเป็น พูดเป็น และพูดดีด้วย เขาก็อยากจะตอบ อยากร่วมมือ และตอบได้ชัดเจน เราก็ได้ความรู้หรือได้ปัญญา ปัญญาจึงต้องอาศัยพฤติกรรม

พร้อมนั้น ปัญญาก็ต้องอาศัยจิตใจ เช่น เมื่อมีใจใฝ่รู้ มีความขยันหมั่นเพียร มีความอดทน มีสมาธิ มีสติ แน่วแน่ไม่ฟุ้งซ่าน ก็ทำให้ปัญญาพัฒนาได้ผล เป็นต้น

ฉะนั้น กระบวนการของชีวิตที่ดำเนินไปจึงสำคัญมากสำหรับการเรียนรู้หรือการศึกษาทั้งหมด หมายความว่า พฤติกรรม จิตใจ และปัญญา สามส่วนนี้ ต้องเอามาใช้ในการพัฒนาการเรียนรู้ประกอบไปด้วยกัน ไม่ใช่ไปแยกส่วน

ค) จริยธรรมที่แท้ เป็นระบบความสัมพันธ์ของชีวิตทั้ง ๓ ด้าน

เวลานี้มีความโน้มเอียงในทางที่จะแยกส่วน เช่นจริยธรรมก็มักมองเฉพาะในแง่พฤติกรรม โดยโยงไม่ค่อยถึงจิตใจ และตัดออกไปจากปัญญา เป็นการหลงติดในจริยธรรมตะวันตก ที่ไม่เอาปัญญาเข้ามาด้วย

จริยธรรมตะวันตกมองแค่พฤติกรรม โดยโยงมาหาจิตใจเพียงในแง่คุณธรรมนิดหน่อย (แง่สุข-ทุกข์ ถูกมองข้าม) แต่ปัญญาไม่นึกถึง เพิ่งจะมีโกลเบอร์ก (Lawrence Kohlberg, ๑๙๒๗-๑๙๘๗) มาเริ่มโยงบ้าง ก็ทำให้นักการศึกษาตื่นเต้นกันว่า จริยธรรมแบบโกลเบอร์กนี่เอาเรื่องเหตุผลเข้ามาพิจารณาด้วย อะไรทำนองนี้

ความจริงจริยธรรมต้องครบทั้ง ๓ ด้าน จะแยกกันไม่ได้ จริยธรรมก็คือชีวิตทั้งหมดที่ดำเนินไปด้วยดี

จริยธรรม คืออะไร ก็คือการที่จะทำให้ชีวิตดำเนินไปได้ด้วยดี หรือหลักการดำเนินชีวิตที่ดี ซึ่งประกอบด้วย ๓ ด้านของชีวิต คือ พฤติกรรม จิตใจ และปัญญา ซึ่งจะต้องเอามาประสานกันให้เป็นองค์รวมให้ได้ เพราะคนเราเรียนรู้จากสามด้านนี้มาประสานกัน แต่ละด้านก็มีการเรียนรู้

เรียนรู้ทางด้านพฤติกรรม เมื่อเราเคลื่อนไหวพูดจาจัดแจงอะไรต่างๆ ก็ทำให้เกิดความเคยชิน มีทักษะ

เรียนรู้ทางด้านจิตใจ เช่น เราไปอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ ที่สงบ เรามีความซาบซึ้ง มีความสุขจากธรรมชาติ หรือมีความสัมพันธ์ที่ดีในหมู่มนุษย์ มีการช่วยเหลือกัน มีความเอื้อเฟื้อไมตรี เกิดความชื่นชมมีความสุข การเรียนรู้ในทางจิตใจแบบนี้ ก็ทำให้เกิดการพัฒนาคุณธรรม มีความโน้มเอียงของจิตใจ เช่นจริตอัธยาศัยต่างๆ เกิดขึ้น

เรียนรู้ทางปัญญา เมื่อเรารู้จักคิดพิจารณา ที่เรียกว่าโยนิโสมนสิการ ก็จะได้ความรู้เข้าใจได้ความคิด และทำให้ทั้งพฤติกรรมและจิตใจเปลี่ยนแปลงไป

เราเรียนรู้ทั้งสามด้านนี่แหละ แต่จะต้องเอามาประสานกันให้ได้ กระบวนการเรียนรู้จึงจะดำเนินไปได้ด้วยดี

ถ้าเราพัฒนาพฤติกรรม กาย วาจา ที่สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางวัตถุก็ดี ทางสังคมก็ดี ให้เกิดเป็นคุณลักษณะประจำตัวในทางที่ดี ท่านเรียกว่าศีล การฝึกทางด้านจิตใจนั้น มีสมาธิเป็นแกน ก็เลยเรียกว่าสมาธิ ส่วนการฝึกฝนพัฒนาในด้านความรู้ความเข้าใจ ก็เรียกว่าปัญญา

ง) ประชาธิปไตยจะสำเร็จ ต้องประสานชีวิต ๓ ด้านให้เสริมกันให้ได้

ประชาธิปไตยนี้ เน้นหลักการอย่างหนึ่ง คือการใช้เสรีภาพ ซึ่งมักมองกันที่พฤติกรรมในการใช้เสรีภาพนั้น เพราะว่าประชาธิปไตยเป็นระบอบ เป็นระบบ ซึ่งเป็นเรื่องที่เน้นรูปธรรม ฉะนั้น พฤติกรรมจึงเป็นตัวเด่น แต่กระนั้นการใช้เสรีภาพก็เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า การศึกษาที่ครบองค์ประกอบทั้งสามด้านนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง

แม้ว่าการใช้เสรีภาพจะแสดงออกทางพฤติกรรม แต่ถ้าจิตใจของเรามากด้วยความเห็นแก่ตัว ขาดคุณธรรม ไม่ยึดมั่นในหลักการ หรือขาดปัญญา เช่นขาดวิจารณญาณ เราก็อาจจะใช้เสรีภาพในทางสนองความเห็นแก่ตัว ทำอะไรๆ แบบตามใจตัว ทำให้เกิดความขัดแย้ง สังคมแตกกระจัดกระจาย หรือก่อความผิดพลาดเสียหายได้มากมาย อย่างที่เคยอธิบายแล้วข้างต้น

การขาดปัญญาอาจทำให้เกิดผลอีกอย่างหนึ่ง ที่ตรงข้ามกับที่ว่ามาแล้ว คือเสรีภาพอาจจะเป็นเสรีภาพที่จะทำตามที่ถูกชักจูง

คนจำนวนมากในสังคมถูกชักจูงตื่นไปตามข่าวตื่นเต้น หลงไปตามลัทธิที่เหลวไหลต่างๆ จนไม่น่าเชื่อว่าสังคมที่พัฒนาแล้วอย่างนี้ จะมีความตื่นตูม เชื่อ ถูกชักจูงไปด้วยเรื่องเหลวไหลได้ง่ายๆ ฉะนั้น ถ้าขาดปัญญาแล้ว การใช้เสรีภาพจะก่อผลร้ายที่ตรงกันข้าม ๒ แบบ คือ

๑. แต่ละคนทำตามใจชอบ เอาแต่ความคิดเห็นของตัว ทำให้เกิดความขัดแย้งแตกแยกกระจัดกระจายกันไป

๒. คนอาจจะรวมกัน แต่เป็นการยอมถูกชักจูงไปในเรื่องไม่เข้าเรื่อง เสียหาย ทำให้เกิดความเสื่อมแก่สังคม คนขาดปัญญาที่มาใช้เสรีภาพแบบนี้ อาจจะพากันไปทำความวิบัติเป็นกลุ่มเป็นพวกใหญ่ อย่างในบางสังคมที่มีลัทธิแปลกๆ ชวนกันไปฆ่าตัวตายเป็นจำนวนร้อย หรือก่อการใหญ่ที่ทำให้คนตายกันมากมาย เสรีภาพแบบนี้ จึงกลายเป็นอันตราย

ถึงแม้มีปัญญา แต่ถ้าขาดการพัฒนาจิตใจ ก็ไม่มีคุณธรรม ไม่มีความใฝ่ดี ไม่มีความใฝ่ในอุดมคติ หรือในอุดมการณ์ของประชาธิปไตย แต่ละคนก็ใช้เสรีภาพไปในการสนองตัณหา หาผลประโยชน์ให้แก่ตัวเอง สนองมานะในการแสวงอำนาจเป็นต้น ซึ่งก็ทำให้ขัดแย้งกันอีก

แต่ถ้าเราพัฒนาทางด้านจิตใจ ให้มีความใฝ่ดี ใฝ่สร้างสรรค์ มั่นคงในอุดมคติของประชาธิปไตย มีใจมุ่งมั่นที่จะสร้างสรรค์สังคมให้บรรลุจุดหมายที่ดีงามมีสันติสุข คนก็สามารถใช้ปัญญามาร่วมกันให้เกิดความสมานฉันท์ เสรีภาพก็จะเป็นช่องทางให้นำเอาศักยภาพของแต่ละคนออกมาใช้ในการร่วมสร้างสรรค์สังคมได้สมความมุ่งหมาย

เรื่องนี้เป็นเพียงตัวอย่างให้เห็นว่า การพัฒนาคนด้วยการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญ และการพัฒนาในกระบวนการของการเรียนรู้นี้ ก็คือการรู้จักประสาน ๓ ด้านของชีวิตให้มาเอื้อเสริมต่อกันให้ได้ ในกระบวนการของการพัฒนา ทั้งพฤติกรรม จิตใจ และปัญญาไปด้วยกัน ไม่ใช่แยกเป็นส่วนๆ

๒. กระบวนการเรียนรู้ในระบบสื่อสัมพันธ์กับโลกทางอินทรีย์ ๖

ก) จุดแยกจากกระบวนการเสพ สู่กระบวนการศึกษา

เนื่องจากเวลาหมด จึงขอเน้นนิดเดียวว่า ระบบที่ ๒ คือเรื่องของการสื่อสัมพันธ์กับโลกทางอินทรีย์ ๖ นี่สำคัญ

อย่างที่ได้บอกแล้วว่ามนุษย์เกิดมายังไม่มีความรู้ เมื่อยังไม่มีความรู้ เมื่อไปเจออะไร เราไม่รู้ว่าคืออะไร และจะปฏิบัติต่อมันอย่างไร ก็ย่อมเกิดปัญหา คือมีความคับข้อง เกิดทุกข์ ทางแก้ไขก็คือ เราจะต้องมีความรู้ว่ามันคืออะไร และจะทำต่อมันอย่างไร

แต่เราจะรู้ได้อย่างไร ตอบว่า เรามีเครื่องมือไว้แล้ว คือ พอเราเกิดมา ก็มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ติดมาด้วย

ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นช่องทางที่เราจะติดต่อกับโลก ถ้าเราติดต่อกับโลกเป็น เราก็ได้ข้อมูล ได้ความรู้ และสามารถพัฒนาความรู้

การเรียนรู้และความรู้เกิดที่ไหน ก็เกิดที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนี่แหละ แต่จะต้องใช้เป็นด้วย เพราะตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่เรียกรวมๆ ว่าอายตนะ หรือ อินทรีย์ นั้นทำหน้าที่ ๒ อย่าง คือ

๑. รู้สึก และ เสพ

๒. รู้ และ ศึกษา หรือ เรียน

เมื่อตา หู เป็นต้นของเราเจอเข้ากับประสบการณ์ หรือสิ่งเร้าต่างๆ เช่น พอเห็นอะไรปั๊บ ด้านหนึ่งก็มีความรู้สึก คือสบายหรือไม่สบาย

พร้อมกันนั้นอีกด้านหนึ่งก็เกิดความรู้ คือได้รับรู้ว่า มันคืออะไร เขียว แดง ขาว เหลือง ใหญ่ เล็ก กลม แบน เสียงเบา เสียงดัง เป็นต้น

ตอนแรกเมื่อรู้ยังไม่พอ ความรู้สึกมาก่อน พอรู้สึกสบายก็จะเอา แต่พอรู้สึกไม่สบาย ก็ไม่เอา จะหลีก จะหนี ความรู้สึกนี้จะมาครอบงำวิถีชีวิต โดยมุ่งที่จะหาความสุขจากสิ่งที่ชอบใจและหลีกหนีสิ่งที่ไม่ชอบใจ แล้วก็วนเวียนอยู่กับความชอบใจ-ไม่ชอบใจ และสุข-ทุกข์จากความชอบใจและไม่ชอบใจนั้น นี่คือกระบวนการทำงานของอินทรีย์ ๖ ในบุคคลที่ไม่มีการศึกษา เรียกว่า กระบวนการเสพ หรือ กระบวนการสนองความใฝ่เสพ (ที่หาความสุขจากการเสพ)

แต่พอเราเริ่มใช้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพื่อการเรียนรู้ คนก็จะพัฒนาขึ้น การศึกษาก็เริ่มต้น เมื่อรู้แล้วก็อยากรู้ต่อไป คนก็จะพัฒนาความต้องการใหม่

ตรงนี้เป็นจุดสำคัญที่สุด คือพัฒนาความต้องการใหม่ แต่ก่อนนี้มนุษย์มีความต้องการอย่างเดียว คือต้องการเสพ ต่อมา พอรู้จักเรียนรู้ ก็เกิดความต้องการความรู้ ซึ่งเรียกว่าใฝ่รู้

เมื่อมีความต้องการก็ต้องสนอง พอสนองความต้องการได้ก็เกิดความสุข เมื่อสนองความต้องการรู้ คือสนองความใฝ่รู้ ก็ได้ความรู้และเกิดความสุขจากการเรียนรู้ นี่คือ กระบวนการเรียนรู้ หรือ กระบวนการสนองความใฝ่ศึกษา (ที่มีความสุขจากการสนองความใฝ่รู้)

จะเห็นว่ากระบวนการของชีวิตดำเนินมาโดยไม่แยกจากกัน เมื่อมี พฤติกรรม ในการเรียนรู้ จิตใจ ก็มีความสุข พร้อมกับที่ ปัญญา ก็เกิดขึ้นด้วย เราจึงพูดถึงการเรียนรู้ด้วยความสุข ซึ่งเป็นกระบวนการของการเรียนรู้ที่ถูกต้อง ถ้าการเรียนรู้ดำเนินไปอย่างถูกต้อง ความสุขก็จะต้องตามมาในตัวของมันเอง

ตอนแรก เมื่อบุคคลเกิดความใฝ่รู้แล้ว การใช้อายตนะหรืออินทรีย์เพื่อการเรียนรู้ ก็จะเป็นความสุข และเมื่อเกิดความรู้แล้ว ความรู้ก็จะทำให้เกิดการแยกออกได้ระหว่างดีกับไม่ดี แล้วก็เกิดความต้องการที่จะทำให้มันดี หรือความใฝ่ดีและใฝ่ทำให้มันดี ที่เรียกว่าใฝ่สร้างสรรค์

ใฝ่รู้ ใฝ่ดี และใฝ่ทำให้มันดีนี้ เรียกง่ายๆ ว่า ใฝ่ศึกษาและใฝ่สร้างสรรค์ พอสนองความต้องการใฝ่ศึกษาก็เกิดความสุขในการเรียนรู้ และพอสนองความต้องการใฝ่สร้างสรรค์ ก็เกิดความสุขจากการทำ

พอเกิดความสุขจากการทำ ก็คือมีความสุขชนิดใหม่แล้ว คนก็จะถอยห่างหรือบางเบาจากการหาความสุขจากการเสพ ความสุขจากการเสพก็มีอิทธิพลน้อยลง คนก็จะก้าวไปในการศึกษา

เมื่อมีความใฝ่รู้ใฝ่สร้างสรรค์ หรือใฝ่รู้ใฝ่ดีใฝ่ทำให้ดีแล้ว ตอนนี้การเรียนรู้ก็จะดำเนินไปเอง เพราะว่ามันเริ่มตั้งต้นอย่างถูกทางแล้ว ท่านว่า กระบวนการของเหตุปัจจัยนั้น เมื่อมันตั้งต้นแล้ว มันก็จะเป็นไปเองตามเหตุปัจจัยโดยไม่ต้องไปเรียกร้อง

๓. กระบวนการเรียนรู้ในระบบสัมพันธ์ปัจจัยภายใน-ภายนอก

ปัจจัยที่ช่วยในการเรียนรู้มีหลายอย่าง แต่เมื่อจัดประเภทก็มี ๒ พวก คือ ปัจจัยภายนอก กับปัจจัยภายใน และในบรรดาปัจจัยภายนอก-ภายในที่มีมากนั้น ปัจจัยที่เป็นแกน คือ

๑. ปัจจัยภายนอก ได้แก่ ปรโตโฆสะ (เสียงจากผู้อื่น/สื่อข้างนอก) ที่ดี ที่เอื้อหรือเกื้อหนุน โดยเฉพาะกัลยาณมิตร คือ บุคคลหรือประสบการณ์ของบุคคลที่ดีมีปัญญา

๒. ปัจจัยภายใน ได้แก่ โยนิโสมนสิการ (การรู้จักมอง รู้จักคิด รู้จักพิจารณา คิดเป็น หรือคิดถูกทางถูกวิธี)

คนจะมีการศึกษาจริง ต่อเมื่อเขามีโยนิโสมนสิการ ซึ่งจะทำให้เขารู้จักเรียนรู้ ดำเนินชีวิตได้ดี ปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายอย่างได้ผล และพึ่งตนเองได้

สำหรับคนทั่วไป การเรียนรู้ การที่จะรู้จักดำเนินชีวิตให้ดี การที่จะปฏิบัติต่อสิ่งและสถานการณ์ทั้งหลายอย่างได้ผล ต้องอาศัยการช่วยเหลือแนะนำของผู้อื่น ที่หวังดีและมีประสบการณ์มากกว่า ซึ่งเรียกว่ากัลยาณมิตร

การช่วยเหลือที่ดีที่สุดของกัลยาณมิตร (ปัจจัยภายนอก) คือการชักนำกระตุ้นเร้าให้ผู้เรียนเกิดมีโยนิโสมนสิการ (ปัจจัยภายใน)

เรื่องปัจจัยภายนอก และปัจจัยภายใน หรือเรื่องกัลยาณมิตร และโยนิโสมนสิการนี้ เป็นเรื่องใหญ่มาก และโยงเอากระบวนการเรียนรู้ ๒ ระบบแรก (ทั้งระบบสัมพันธ์ของชีวิต ๓ ด้าน และระบบสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางอินทรีย์ ๖) เข้ามาใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด จึงมิใช่โอกาสที่จะนำมาบรรยายในที่ซึ่งมีเวลาจำกัดอย่างนี้ นอกจากพูดพอเป็นการตั้งเค้าให้เห็นแนวเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อกี้นี้ได้พูดถึงกระบวนการเรียนรู้ในระบบที่ ๒ ซึ่งใช้อินทรีย์สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม และได้พูดมาถึงตอนที่เกี่ยวข้องกับความสุข-ความทุกข์ จึงจะขอพูดถึงการเรียนรู้ในระบบที่ ๓ นี้ เฉพาะแง่ที่โยงกับเรื่องความสุขในกระบวนการเรียนรู้ อีกสักหน่อย

ในหัวข้อที่ผ่านมา ได้พูดให้เห็นว่า กระบวนการเรียนรู้ เป็นกระบวนการพัฒนาความสุขด้วย เช่น จากภาวะพื้นฐานที่บุคคลหาความสุขด้วยการเสพ/บริโภค ซึ่งจะสุขเมื่อไม่ต้องทำ และเมื่อทำก็เป็นทุกข์ คนที่เรียนรู้จะพัฒนาขึ้นมาสู่ภาวะที่มีความสุขจากการศึกษา ซึ่งจะทำให้เขาหาความสุขจากการเรียนรู้ และจากการสนองความต้องการที่จะทำ (ให้ดี) แล้วความสุขจากการศึกษานี้ก็จะยิ่งมาหนุนการเรียนรู้ให้ก้าวหน้า และผู้เรียนรู้ก็จะยิ่งพัฒนา

ในการพัฒนา “ความสุขจากการศึกษา” นี้ โยนิโสมนสิการมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง ตั้งแต่เป็นตัวเริ่มต้นกระบวนการ และช่วยได้ทุกสถานการณ์ไปจนตลอด แม้กระทั่งพลิกสถานการณ์ให้กลับจากเสียเป็นได้ และกลับจากร้ายเป็นดี

ด้วยโยนิโสมนสิการในแง่ความสุข-ความทุกข์นี้ แม้เพียงแค่รู้จักมองทุกข์เป็นบททดสอบจิตปัญญา และมองปัญหาเป็นแบบฝึกหัด คนก็จะนำชีวิตเข้าสู่มิติใหม่แห่งความสุข และเปิดขยายโอกาสแห่งการพัฒนาตนเองออกไปอย่างมากมาย

ในเวลาที่เกินเลยไปบ้างนี้ ขอพูดถึงกระบวนการเรียนรู้ระบบที่ ๓ ในแง่ที่สัมพันธ์กับการพัฒนาความสุขไว้สักหน่อย เป็นการสืบต่อจากหัวข้อก่อนในกระบวนการเรียนรู้ระบบที่ ๒ ดังนี้

ก) การเรียนอย่างมีความสุข ก็ต้องแยกแยะเข้าใจให้ถูก

เวลานี้เรามาเน้นกันในเรื่องการเรียนรู้อย่างมีความสุข ก็เลยขอแทรกตอนนี้ว่า การเรียนรู้อย่างมีความสุขนั้นมี ๒ แบบ คือ

๑. ความสุขที่อาศัยปัจจัยภายนอก คือ มีกัลยาณมิตร เช่น ครู อาจารย์ เป็นต้น ที่สร้างบรรยากาศแห่งความรักความเมตตาและช่วยให้สนุก แต่อันนี้เป็นความสุขที่เกิดจากสภาพแวดล้อมหรือบรรยากาศเอื้อ ซึ่งแม้จะสำคัญมาก แต่ต้องระวัง ถ้าคุมไม่ดี ความสุขแบบนี้ จะทำให้เด็กอ่อนแอลง ยิ่งถ้ากลายเป็นการเอาใจหรือตามใจ ก็จะยิ่งอ่อนแอลงไป และเกิดลักษณะพึ่งพา

๒. ความสุขจากปัจจัยภายใน เมื่อบุคคลเกิดความใฝ่รู้และใฝ่สร้างสรรค์แล้ว เขาก็มีความสุขจากการสนองความใฝ่รู้ใฝ่สร้างสรรค์นั้น ซึ่งเป็นความสุขที่เกิดจากภายในตัวเขาเอง อย่างเป็นอิสระ และเขาจะเข้มแข็งขึ้น ความสุขแบบนี้ ทำให้คนเข้มแข็ง เพราะยิ่งทำ คนก็ยิ่งเข้มแข็ง พร้อมกับยิ่งมีความสุขชนิดที่ไม่ต้องพึ่งพา และเมื่อทำได้เอง ก็พึ่งตนเองได้ จึงเป็นอิสระ

ตรงนี้สำคัญ คือ ถ้าเรามีการศึกษาผิดที่ทำให้คนใฝ่เสพ คนก็จะต้องได้สนองความใฝ่เสพ ได้รับการบำรุงบำเรอ สบายแล้ว ไม่ต้องทำ จึงจะมีความสุข แต่เมื่อไรต้องทำ ก็คือความทุกข์

ในทางตรงข้าม ถ้าเราให้การศึกษาที่ถูกต้อง คนเกิดความใฝ่รู้ ใฝ่ทำ ใฝ่สร้างสรรค์ เขาก็จะมีความสุขเมื่อเรียนรู้ และเมื่อทำ ยิ่งทำ ก็ยิ่งมีความสุข และเมื่อทำ ก็ยิ่งมีความเข้มแข็ง เพราะฉะนั้น การศึกษาจะทำให้คนเข้มแข็งขึ้น มีความสุขมากขึ้น พัฒนายิ่งขึ้น และพึ่งตนเองได้ เป็นอิสระมากขึ้น

เป็นอันว่า การเรียนรู้ด้วยความสุข ต้องแยกเป็น ๒ แบบ คือ

๑. สุขจากการเอื้อของปัจจัยภายนอก คือ บรรยากาศที่เกิดจากกัลยาณมิตร ครู อาจารย์ที่มีเมตตาเป็นต้น ซึ่งต้องระวัง ที่ว่าจะทำให้อ่อนแอลง และพึ่งพา

๒. สุขที่เกิดจากการสนองปัจจัยภายใน คือ การเรียนรู้และการทำงาน เป็นการสนองความใฝ่รู้และใฝ่สร้างสรรค์ในตัวของเขาเอง ซึ่งทำให้เขามีความสุขขึ้นในตัวเอง ไม่ต้องพึ่งผู้อื่น เป็นอิสระ และทำให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น

ข) เรียนด้วยความสุข และสนุกในการเรียน2

ระยะนี้เราพูดกันมากขึ้นถึงการที่ว่าเด็กควรจะเรียนอย่างมีความสุข และสนุกในการเรียน ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมาก แต่ก็มีช่องทางพลาด ซึ่งจะต้องระวังโดยไม่ประมาท

อย่างที่กล่าวแล้วว่า การเรียนอย่างมีความสุขเกิดขึ้นได้ทั้งจากปัจจัยภายนอก และปัจจัยภายใน

• ผลดี

ความสุขอาศัยปัจจัยภายนอกที่เราปรารถนาคือ การสื่อสารสัมพันธ์กันระหว่างครูกับเด็ก หรือเด็กกับเด็ก เป็นต้น ในบรรยากาศแห่งความรักใคร่ไมตรี ซึ่งมีผลดีหลายประการ โดยเฉพาะ

  1. เด็กมีความสุข สดชื่น ร่าเริง เบิกบาน ทำให้มีสุขภาพจิตดี
  2. มีบรรยากาศที่ชื่นชม อบอุ่น เกิดกำลังใจ ส่งเสริมความใฝ่รู้ เอื้อต่อการศึกษา
  3. เด็กเจริญเติบโตขึ้นในบรรยากาศแห่งความรัก ก็จะรู้จักรักผู้อื่น แผ่ความรักและความสัมพันธ์ที่ดีกว้างออกไป และพร้อมที่จะช่วยเหลือผู้อื่น

อย่างไรก็ดี ความสุขอาศัยปัจจัยภายนอกมีจุดอ่อนอย่างสำคัญ คือยังเป็นความสุขแบบพึ่งพา

นอกจากนี้ที่สำคัญอย่างยิ่ง ก็คือ นอกจากความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนมนุษย์แล้ว ยังมีปัจจัยภายนอกอีกอย่างหนึ่งคือ สิ่งเสพบริโภค

ความสุขจากปัจจัยภายนอกประเภทหลังนี้ คือ ความสุขจากการสนองความใฝ่เสพ อย่างที่กล่าวมาแล้ว ซึ่งทำให้การเสพเป็นความสุข หรือความสุขอยู่ที่การเสพและการไม่ต้องทำอะไร

เราต้องการลดอิทธิพลและอัตราส่วนของการหาความสุขจากการเสพ โดยเฉพาะลดกำลังความใฝ่เสพที่ทำให้เด็กพึ่งพาขึ้นต่อปัจจัยภายนอกประเภทนี้โดยไม่พัฒนา และเราพยายามช่วยให้เด็กพัฒนาความต้องการใหม่ คือความใฝ่รู้ใฝ่ดีใฝ่ทำให้ดี หรือใฝ่ศึกษาและใฝ่สร้างสรรค์ ที่จะทำให้เด็กมีความสุขจากการศึกษา หรือมีความสุขจากการสนองความใฝ่รู้และใฝ่ทำ เพื่อให้การเรียนรู้และการทำเป็นความสุข

หมายความว่า เราจะลดอิทธิพลของปัจจัยภายนอกด้านสิ่งเสพบริโภค คือให้เด็กพัฒนาเลยขั้นของการหาความสุขจากการเสพ ที่การเสพบริโภคเท่านั้นเป็นความสุข โดยให้เด็กพัฒนาขึ้นไปสู่ขั้นของความสุขจากปัจจัยภายใน คือการมีความสุขจากการสนองความใฝ่รู้และใฝ่ทำ ที่การศึกษาและสร้างสรรค์ คือการเรียนรู้และการทำการสร้างสรรค์ต่างๆ เป็นความสุขในตัวของมันเอง

เพราะฉะนั้น ในการนำเอาปัจจัยภายนอกด้านความสัมพันธ์ที่ดีมีความรักความอบอุ่นเข้ามาสร้างบรรยากาศแห่งการเรียนรู้อย่างมีความสุขนั้น ตัวครูเป็นต้นที่เป็นปัจจัยภายนอกนั้นจะต้องมีความชัดเจนในเป้าหมายที่จะส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ ครูหรือกัลยาณมิตรจึงมีสิ่งที่จะต้องทำ ๒ อย่างในเวลาเดียวกัน คือ

๑) ดูแลระวังไม่ให้สถานการณ์แห่งการเรียนรู้ เฉหรือเขวออกไปกลายเป็นการส่งเสริมความใฝ่เสพ และการหาความสุขจากการเสพ (ปัจจัยภายนอกที่ผิด)

๒) ช่วยชักนำสถานการณ์แห่งการเรียนรู้นั้น ให้เชื่อมโยงไปสู่การพัฒนาความใฝ่รู้ใฝ่ทำ และการมีความสุขจากการศึกษาและสร้างสรรค์ (ปัจจัยภายในที่ต้องการ)

• ผลเสีย

ทั้งนี้ พึงทราบตระหนักว่า ความสัมพันธ์ด้วยความรักหรือเมตตาไมตรี ให้เรียนอย่างมีความสุขนั้น ถ้าขาดดุลยภาพแล้วเลยเถิดไป เช่นกลายเป็นโอ๋ ก็จะพลาด อาจเกิดโทษ คือ

  1. เด็กจะโน้มไปในทางที่จะให้คนอื่นตามใจ เรียกร้อง จะเอาแต่ใจตัว หรือต้องให้พะเน้าพะนอ
  2. อาจเกิดนิสัยชอบพึ่งพา และมีความสุขแบบพึ่งพา
  3. โน้มเอียงไปในทางที่จะอ่อนแอลง
  4. ถ้าความรักกลายเป็นการเอาอกเอาใจหรือมุ่งให้สนุกสนานอย่างขาดเป้าหมาย อาจกลายเป็นการกระตุ้นความใฝ่เสพบริโภค ทำให้เขวออกจากการศึกษาไปเลย
• วิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง

ข้อควรตระหนักเพื่อการปฏิบัติที่ถูกต้องในเรื่องนี้ ที่สำคัญคือ

๑) การสร้างบรรยากาศแห่งความรักให้เด็กมีความสุขนั้น ไม่ใช่จุดหมาย แต่เป็นการสร้างปัจจัยเอื้อต่อการก้าวสู่เป้าหมาย คือเพื่อหนุนการเรียนรู้และการทำอะไรที่เป็นการสร้างสรรค์

๒) ให้เด็กอยู่ในบรรยากาศแห่งความรักหรือได้รับความรักในลักษณะที่ไม่ทำให้รวมศูนย์เข้าหาตัว ซึ่งจะนำไปสู่การเรียกร้อง แต่ให้ขยายความรักออกไป รักครู รักเพื่อน ฯลฯ และอยากช่วยเหลือผู้อื่น

๓) แทนที่จะทำให้เกิดลักษณะพึ่งพา จะต้องให้เกิดความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน อันเป็นลักษณะของสังคมที่พึงปรารถนา

๔) มีตัวดุลไม่ให้อ่อนแอลง แต่ช่วยให้ก้าวต่อไป โดยครูหรือปัจจัยภายนอกนั้นทำหน้าที่

ก. ช่วยทำให้สถานการณ์นั้นเชื่อมโยงไปสู่การพัฒนาปัจจัยภายใน คือความใฝ่รู้ใฝ่สร้างสรรค์ในตัวเด็ก

ข.เป็นตัวกลางที่เป็นสื่อเงียบช่วยให้เด็กได้สัมผัสกับความจริงแห่งธรรมชาติของโลกและชีวิต ที่เขาจะต้องพัฒนาความสามารถที่จะเกี่ยวข้องจัดการและรับผิดชอบด้วยตนเอง

๕) สถานการณ์การเรียนอย่างสนุก

ก.ต้องไม่ดำเนินไปในลักษณะที่ทำให้เด็กเกิดความเคยชินกับการที่จะเป็นผู้บริโภคบริการแห่งความสนุก หรือรอเสพความสนุก แต่ต้องให้เป็นไปในลักษณะที่จะช่วยให้เด็กพัฒนาความสามารถที่จะเรียนอย่างสนุกขึ้นได้เอง ในสภาพแวดล้อมทั่วไป ในโลกแห่งความเป็นจริงข้างนอก

ข. ต้องไม่ดำเนินไปในลักษณะที่ทำให้เด็กกลายเป็นติดในความสนุกหรือเห็นแก่ความสนุกแล้วเขวออกไปสู่การเสริมย้ำความใฝ่เสพ แต่ต้องดำเนินไปในลักษณะที่ความสนุกนั้นจะเป็นปัจจัยส่งต่อไปสู่การพัฒนาความใฝ่รู้และใฝ่ทำการสร้างสรรค์

• หลักการที่ควรคำนึง

หลักการต่างๆ ที่เป็นเครื่องประกอบการพิจารณา และควรระลึกไว้เสมอ ในการปฏิบัติเกี่ยวกับการเรียนอย่างมีความสุขนี้ คือ

ก) การเรียนรู้จะได้ผล และการพัฒนาของคนจะสำเร็จได้ เด็กจะต้องก้าวจากการหาความสุขด้วยการเสพ ขึ้นไปสู่การมีความสุขจากการเรียนรู้และทำการสร้างสรรค์

ข) ความสุขในการศึกษา จะต้องพัฒนาขึ้นไปจนถึงขั้นเป็นความสุขที่เกิดจากปัจจัยภายใน ซึ่งจะทำให้ไม่อ่อนแอ และพ้นจากการพึ่งพา อันจะเป็นความสุขที่แท้จริง มั่นคง พึ่งตนเองได้ เป็นอิสระ และทำให้คนเข้มแข็งยิ่งขึ้น

ค) มนุษย์ทุกคนดำรงชีวิตอยู่โดยมีความสัมพันธ์ ๒ ระดับ คือ

๑. ในการอยู่ร่วมกันในสังคม เรามีความสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ ซึ่งเรามุ่งจะพัฒนาให้เป็นความสัมพันธ์ที่ดี ด้วยความรักใคร่ไมตรี ช่วยเหลือส่งเสริมกัน

๒. ลึกลงไป ภายใต้การอยู่ร่วมสังคมนั้น เราอยู่กับความเป็นจริงของโลกและชีวิตตามกฎธรรมชาติ ซึ่งทุกคนจะต้องพัฒนาความสามารถที่จะรับผิดชอบตนเอง ในการที่จะปฏิบัติต่อมันให้ถูกต้องเป็นผลดี

ความสัมพันธ์ที่ดีในข้อ ๑. จะต้องระวังไม่ให้กลายเป็นเครื่องตัดรอนการพัฒนาความสามารถในการสัมพันธ์ข้อที่ ๒. แต่ควรจะให้เป็นเครื่องเกื้อหนุน

ง) จะต้องระลึกอยู่เสมอว่า สถานการณ์ในห้องเรียน มักไม่ใช่สถานการณ์ในชีวิตจริง แต่เป็นสถานการณ์ที่ครูหรือกัลยาณมิตรจัดสรรปรุงแต่งขึ้น ถ้าเราเห็นว่าเป็นสถานการณ์ที่พึงปรารถนา คือควรให้เกิดมีขึ้นจริงข้างนอกด้วย เราจะต้องไม่ทำในลักษณะที่จะทำให้เด็กเกิดความเคยชินหรือความโน้มเอียงที่จะเป็นผู้บริโภค หรือรอเสพสถานการณ์เรียนรู้ที่สนุกเป็นต้นนั้น แต่จะต้องทำในลักษณะที่จะทำให้เด็กพัฒนาความสามารถที่จะสร้างสถานการณ์อย่างนั้นขึ้นมาด้วยตัวของเขาเอง

จ) การเรียนที่มีเด็กเป็นศูนย์กลาง (child-centered) นั้น จะต้องทำความเข้าใจกันให้ชัดเจน มิฉะนั้นมันจะเป็นเพียงการไปสุดโต่งตรงข้ามกับการเรียนที่มีครูเป็นศูนย์กลาง (teacher-centered) และการเรียนที่มีเนื้อหาวิชาเป็นศูนย์กลาง (subject-centered) แล้วก็จะพลาดอีก

การเรียนแบบมีเด็กเป็นศูนย์กลางนั้น มีหลักการที่ดีมากเป็นการศึกษาแท้ ซึ่งมุ่งที่การพัฒนาตัวของเด็กเอง แต่ก็ต้องระวังความผิดพลาด เนื่องจากการแปลความหมายผิดและการไปสุดโต่ง

การเรียนแบบมีเด็กเป็นศูนย์กลางมีแหล่งกำเนิดใหญ่ ๒ ทาง คือ จากการจัดการศึกษาเพื่อสนองความต้องการของเด็กพิการหรือเด็กบกพร่อง ทางหนึ่ง และจากการที่จะช่วยปลดเปลื้องเด็กให้หลุดพ้นจากการครอบงำของพ่อแม่และครู ให้เด็กมีชีวิตของตัวเขาเอง อีกทางหนึ่ง

การเรียนแบบมีเด็กเป็นศูนย์กลาง เน้นการเรียนด้วยการกระทำ ให้ศึกษาจากกิจกรรมเหมือนในชีวิตจริง ให้เด็กพัฒนาอย่างบูรณาการ คือเป็นองค์รวม ไม่แยกส่วนแตกเป็นด้านๆ ทั้งนี้โดยครูช่วยจัดกระบวนการเรียนและมีส่วนร่วมช่วยเด็กค้นพบศักยภาพของตน แล้วดึงออกมาพัฒนาให้เต็มที่ ให้ห้องเรียนเป็นเหมือนรูปจำลองของสังคมทั้งหมด

สุดโต่งเกิดซ้อนขึ้นมา เมื่อมุ่งแต่จะสนองความต้องการของเด็ก จนเด็กอาจกลายเป็นผู้รับบริการหรือผู้บริโภคของสำเร็จรูปที่ครูจัดให้ หรือมิฉะนั้นก็ปล่อยให้เด็กทำเอาเอง โดยครูอาจละเลยลดความรับผิดชอบของตนให้ย่อหย่อนลง และครูไม่พัฒนาตัวเอง

การเรียนรู้ที่ได้ผลดี ย่อมเกิดจากความสัมพันธ์แบบมีส่วนร่วมอย่างถูกต้องตามบทบาทของทั้งสองฝ่าย

อนึ่ง การเรียนที่มีเด็กเป็นศูนย์กลาง มิใช่การมุ่งแต่จะสนองความต้องการของเด็ก หรือช่วยให้เด็กได้สนองความต้องการของตน แต่หมายถึงการช่วยให้เด็กพัฒนาความต้องการใหม่ให้แก่ตัวเขาด้วย

การเรียนแบบมีเด็กเป็นศูนย์กลางเฟื่องขึ้นมาแทนการศึกษาแบบเก่า ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษ ๑๙ และต้นคริสต์ศตวรรษ ๒๐

แต่พอถึงกลางศตวรรษที่ ๒๐ เมื่อโซเวียตส่งดาวเทียมสปุตนิคขึ้นไปได้สำเร็จในปี ๑๙๕๗ (พ.ศ. ๒๕๐๐) คนอเมริกันก็หันไปโทษการศึกษาแบบใหม่นี้ว่าทำให้เด็กอ่อนแอและอ่อนวิชา อเมริกาจึงหันกลับไปหาการเรียนแบบเก่าที่เอาครูและเนื้อหาวิชาเป็นศูนย์กลาง (teacher- and subject-centered)

ครั้นแล้ว อีก ๒๐-๓๐ ปีต่อมา ถึงปลายคริสต์ศตวรรษ ๒๐ ช่วง ค.ศ. ๑๙๘๐ อเมริกาเห็นว่าการศึกษาแบบเก่าทำให้เด็กแปลกแยก เบื่อหน่าย เล่าเรียนอย่างไม่มีความหมาย ก็หันมารื้อฟื้นการเรียนแบบก้าวหน้า ที่มีเด็กเป็นศูนย์กลางนี้ใหม่

การเรียนสองแบบนั้นเป็นสุดโต่งสองข้าง ฝรั่งเจอมาแล้วทั้งผลดีและผลเสียของทั้งสองอย่าง แม้แต่ในครึ่งหลังของศตวรรษที่ ๒๐ นี้ ลูกตุ้มอเมริกันก็ยังแกว่งไปมาระหว่างสุดทาง ๒ ข้างนี้ ไทยเราน่าจะมีหลักการชัดเจนของตน ที่จะไม่ต้องแกว่งไปกับเขาอยู่เรื่อยๆ

จุดสำคัญ จะต้องไม่ลืมว่า ถ้ายังช่วยเด็กให้พัฒนาปัจจัยภายในตัวของเขาขึ้นมาไม่ได้ การศึกษาก็ยังไม่ก้าวไปไหน

ฉ) สายตาทางการศึกษา ที่มองมนุษย์ด้วยความปรารถนาดี คิดจะให้สิ่งที่ดีที่สุดแก่เด็ก ตลอดจนใฝ่หาอุดมคติให้แก่ชีวิตและสังคมมนุษย์นั้น จะต้องไม่ลืมที่จะมองด้วยความสำนึกตระหนักอยู่เสมอถึงความเป็นจริงของโลกและชีวิตที่ดำเนินไปภายใต้กฎของธรรมชาติอย่างไม่เข้าใครออกใครทั้งสิ้น

เป็นอันว่า กระบวนการเรียนรู้ข้อที่ ๓ คือระบบสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยภายในกับปัจจัยภายนอก ไม่มีเวลาพอที่จะบรรยายต่อไปในวันนี้ จึงได้แต่ฝากไว้ ขอให้ศึกษาค้นคว้าเองในเรื่อง ปรโตโฆสะ แบบกัลยาณมิตร กับ โยนิโสมนสิการ

ส่วนเรื่องสุดท้ายที่เขียนไว้ในโครงเรื่อง คือคุณภาพของการเรียนรู้ที่ว่ามี ๔ ระดับนั้น เป็นเรื่องของการแยกระดับตามความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยภายนอกกับปัจจัยภายใน ซึ่งว่าโดยสาระก็คือ ถ้าเป็นการเรียนรู้ที่อาศัยปัจจัยภายนอกมาก ก็จะเป็นการเรียนรู้ที่มีคุณภาพค่อนข้างต่ำ เมื่อไรเป็นการเรียนรู้ที่อาศัยปัจจัยภายในได้เต็มที่ ก็จะเป็นการเรียนรู้ที่มีคุณภาพสูงยิ่งขึ้น จนกระทั่งสูงสุด

เอาเป็นว่า คงจะพูดได้เท่านี้ ขอความสุขสวัสดีจงมีแด่ท่านอาจารย์ทุกท่าน

1ปาฐกถาพิเศษ ในการสัมมนาทางวิชาการ จัดโดยกรมวิชาการ ที่โรงแรมโซลทวินทาวเวอร์ กรุงเทพฯ วันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๑
2หัวข้อนี้ เขียนเพิ่มเติม โดยปรับปรุงจาก “ภาคผนวก ๓: ข้อคิดในงานการศึกษา” ในหนังสือ ถึงเวลา มารื้อปรับระบบพัฒนาคนกันใหม่, พิมพ์ครั้งที่ ๔, ๒๕๔๑
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง