ชีวิตที่สมบูรณ์

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

นำเรื่อง1

อาตมาคณะพระสงฆ์ที่ได้จรมา เรียกว่าเป็นพระอาคันตุกะทั้ง ๓ รูป ขออนุโมทนาโยมญาติมิตรทุกท่านที่มาประชุมกันในที่นี้ เพื่อร่วมกันทำบุญถวายภัตตาหาร ในโอกาสที่คุณหมอพ่อบ้าน และแม่บ้าน พร้อมทั้งลูกชายลูกสาว ได้เป็นเจ้าภาพผู้นิมนต์ ถือว่าเป็นการทำบุญบ้านไปในตัว นอกจากถวายภัตตาหาร ก็ได้ถวายอุปถัมภ์เสนาสนะที่พักแรมค้างคืนด้วย เรียกว่าเป็นการอุปถัมภ์ด้วยปัจจัยสี่

ทางฝ่ายโยมญาติมิตรทั้งหลาย ก็มีน้ำใจเกื้อกูล โดยเฉพาะก็มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา เมื่อทราบข่าวว่ามีพระสงฆ์เดินทางมาถึง ก็มีน้ำใจประกอบด้วยไมตรีธรรม พากันมาอุปถัมภ์ถวายกำลัง

ทำบุญเพื่ออะไร?

ในการถวายกำลังแก่พระสงฆ์ที่เรียกว่าทำบุญนี้ ใจของเรามุ่งไปที่พระศาสนา คือจุดรวมใจหรือเป้าหมายของเราอยู่ที่พระศาสนา หมายความว่า เราถวายทานแก่พระสงฆ์ก็เพื่อให้ท่านมีกำลัง แล้วท่านจะได้ไปทำงานพระศาสนาต่อไป

งานพระศาสนา เราเรียกกันว่าศาสนกิจ แปลง่ายๆ ก็คือกิจพระศาสนา งานพระศาสนาหรือศาสนกิจนั้น โดยทั่วไปมี ๓ ประการ คือ

๑. การเล่าเรียนคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า

๒. การปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า คือ เอาคำสอนนั้นมาใช้ มาลงมือทำให้เกิดผลจริง

๓. การนำคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไปเผยแผ่สั่งสอน คือ เมื่อตนเองเรียนรู้และปฏิบัติได้แล้ว ก็เอาไปแจกจ่ายให้ประชาชนได้รู้และปฏิบัติตาม

งานพระศาสนา หรือศาสนกิจทั้งหมดนี้ ก็เพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชน พูดตามสำนวนของพระว่า เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่ชนจำนวนมาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก อันนี้เป็นหลักการและวัตถุประสงค์ของพระพุทธศาสนา

อย่างไรก็ตาม การที่พระสงฆ์จะทำกิจสามอย่างเหล่านี้ได้ดีนั้น ท่านควรจะไม่ต้องห่วงกังวลในเรื่องของวัตถุ หรือเรื่องของปัจจัยสี่ และควรจะต้องการสิ่งเหล่านั้นให้น้อยด้วย เพื่อทำตัวให้โยมเลี้ยงง่าย

เมื่อญาติโยมดูแลอยู่ และเมื่อพระสงฆ์ก็ไม่มัววุ่นวายกับวัตถุแต่ตั้งใจทำหน้าที่อยู่อย่างนี้ ก็จะทำให้พระศาสนาดำรงอยู่เพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชนต่อไป

มองในด้านการอุปถัมภ์บำรุง เมื่อญาติโยมอุปถัมภ์บำรุงพระสงฆ์พอดี ก็ทำให้พระสงฆ์สามารถทำกิจที่ว่ามาเมื่อกี้ คือ เล่าเรียน ปฏิบัติ และเผยแผ่สั่งสอนได้เต็มที่ เมื่อพระสงฆ์ทำหน้าที่ของตนดีแล้ว พระศาสนาดำรงอยู่ ก็ทำให้เกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชน

ฉะนั้น ญาติโยมที่อุปถัมภ์บำรุงพระสงฆ์ ก็คือได้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา จึงถือว่ามีส่วนร่วมในการสืบต่ออายุพระพุทธศาสนาด้วย

ทีนี้ก็ถามให้ถึงวัตถุประสงค์สุดท้ายว่า เราทำบุญอุปถัมภ์พระสงฆ์ บำรุงพระศาสนาเพื่ออะไร ก็ตอบอย่างที่พูดมาแล้วว่า เพื่อให้พระศาสนาดำรงอยู่และเจริญมั่นคง เพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชน มนุษย์จะได้มีชีวิตที่ดีงาม สังคมจะได้อยู่ร่มเย็นเป็นสุข จุดหมายขั้นสุดท้ายของเราอยู่ที่นี่

ฉะนั้น ในเวลาที่ทำบุญนี่ ใจอย่าติดอยู่แค่พระ ใจเราจะต้องมองยาวต่อออกไปถึงพระศาสนา

เมื่อทำบุญก็มุ่งหมายใจและอิ่มใจว่า โอ! พระศาสนาของเราจะได้ดำรงอยู่ยั่งยืนมั่นคงต่อไป ประโยชน์สุขจะได้เกิดแก่มนุษยชาติ เวลาทำบุญเราต้องทำใจนึกอย่างนี้อยู่เสมอ

เมื่อทำอย่างนี้ กิจกรรมทุกครั้งของญาติโยมก็จะพุ่งไปรวมที่ศูนย์เดียวกัน คือพระศาสนา และประโยชน์สุขของประชาชน

ถ้าทำอย่างนี้ ใจของแต่ละท่านก็จะขยายกว้างออกไป อันนี้แหละเป็นสิ่งที่ทำให้ใจเราเกิดปีติว่า เออ! ครั้งนี้ เราก็ได้มีส่วนร่วมอีกแล้วนะ ในการทำนุบำรุงพระศาสนาและสร้างเสริมประโยชน์สุขแก่มวลมนุษย์ แล้วเราก็เกิดความอิ่มใจ

สำหรับวันนี้ ญาติโยมทั้งหลายก็ได้อุปถัมภ์บำรุงตามหลักการที่กล่าวมาแล้ว อย่างน้อยก็ได้มีน้ำใจเกื้อกูลต่อพระสงฆ์ที่จรมา เวลาเห็นพระสงฆ์ไปที่ไหน ญาติโยมก็มีใจยินดี เรียกว่าเป็นการเห็นสมณะ ในมงคลสูตรก็กล่าวว่า การเห็นสมณะนั้น เป็นมงคลอันอุดม

ที่ว่าเป็นมงคล ก็เพราะว่า สมณะนั้นเป็นผู้สงบ สมณะที่ประพฤติปฏิบัติถูกต้อง เป็นผู้ที่สงบ ไม่มีเวรไม่มีภัยแก่ใคร และเป็นผู้ทำงานหรือทำหน้าที่อย่างที่กล่าวมา ญาติโยมชาวไทยเรานี้ ได้มีประเพณีวัฒนธรรมอย่างนี้มาตลอด เวลาเห็นพระเราก็สบายใจ มีจิตใจยินดี แล้วก็แสดงน้ำใจ

เพราะฉะนั้น พระสงฆ์ไปไหน ก็ปรากฏว่าได้เห็นน้ำใจของโยมญาติมิตรเป็นอย่างนี้กันทั่ว เช่นอย่างที่นี่ โยมญาติมิตรก็อยู่กันหลายแห่งหลายที่ คุณหมอแจ้งข่าวไป พอรู้ข่าวก็มากัน อันนี้ก็เป็นประจักษ์พยานของความมีน้ำใจ มีศรัทธา และมีเมตตาธรรม อาตมาก็ขออนุโมทนาด้วย

ชีวิตที่สมบูรณ์

อย่ามองข้ามความสำคัญของวัตถุ

การทำบุญวันนี้ เจ้าภาพถือว่าเป็นการทำบุญบ้านด้วย บ้านเป็นอย่างหนึ่งในสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิต ที่เรียกว่าปัจจัยสี่ กล่าวคือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค

ปัจจัยสี่เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก ในพระพุทธศาสนาท่านไม่มองข้ามความสำคัญข้อนี้ แม้แต่ในชีวิตของพระสงฆ์ วินัยของพระนี่ตั้งครึ่งตั้งค่อน ว่าด้วยเรื่องปัจจัยสี่

ในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้น เริ่มต้นทีเดียวท่านว่าจะต้องจัดสรรเรื่องปัจจัยสี่ให้เรียบร้อย ไม่อย่างนั้นแล้วมันจะยุ่ง แต่ถ้าจัดได้ดีแล้วมันจะเป็นฐาน ทำให้เราสามารถก้าวไปสู่ชีวิตที่ดีงาม มีการพัฒนาอย่างอื่นต่อไปได้ ขอให้มองดูวินัยของพระเป็นแบบอย่างในเรื่องนี้

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสี่ก็มีความสำคัญอยู่แค่ในขอบเขตหนึ่ง แต่พระพุทธศาสนาไม่ใช่หยุดแค่นั้น คือ ท่านให้ถือเป็นฐานที่สำคัญ สำคัญแต่ไม่ใช่ทั้งหมด ความสำคัญนี่บางทีบางคนไปสับสนกับคำว่าทั้งหมด บางคนก็ไม่เห็นความสำคัญของวัตถุเอาเสียเลย อย่างนั้นไม่ถูกต้อง

ให้ระลึกถึงว่า คำสอนของพระพุทธศาสนานี้จะครบทั้งหมดต้องเป็นพระธรรมวินัย คือ ต้องประกอบด้วยธรรมและวินัย ครบทั้งสองอย่างจึงจะเป็นพระพุทธศาสนา

วินัยนั้น ก็ว่าด้วยเรื่องที่ว่ามานี่แหละ คือ การจัดสรรในด้านวัตถุหรือรูปธรรม เรื่องระเบียบชีวิต และระบบกิจการ ทั้งของบุคคล ชุมชน และสังคมทั้งหมด เกี่ยวกับเรื่องความเป็นอยู่ และสภาพแวดล้อม เริ่มตั้งแต่เรื่องปัจจัยสี่เป็นต้นไป

ฉะนั้น ในการดำเนินชีวิตของชาวพุทธจึงต้องให้ความสำคัญกับเรื่องปัจจัยสี่ ว่าเราจะดำเนินการกับปัจจัยสี่ จัดสรรมันอย่างไร เพื่อทำให้เป็นฐานที่มั่นคง เราจะได้ก้าวต่อไปด้วยดี ดำเนินการพัฒนาไปสู่ด้านจิต และด้านปัญญา

ในเรื่องปัจจัยสี่นี้ เมื่อเราจัดการได้ถูกต้องดีแล้ว เช่นอย่างเรื่องที่อยู่อาศัย เมื่อเรามีบ้านเรือนเป็นหลักเป็นแหล่งและจัดสรรได้ดี มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย น่าอยู่อาศัย ก็ทำให้เราดำเนินชีวิตได้สะดวก มีความสบาย มีความมั่นคงในชีวิต ต่อจากนั้นจะทำกิจการอะไรต่างๆ ก็ทำได้สะดวก ไม่ต้องมัวกังวลห่วงหน้าพะวงหลัง จึงเกื้อกูลแก่การทำอะไรต่ออะไรต่อไปที่เป็นสิ่งดีงามและเป็นประโยชน์กว้างขวางยิ่งขึ้น

เราจึงอาศัยความเรียบร้อยในเรื่องปัจจัยสี่นี่แหละเป็นฐานที่ดี ที่จะก้าวไปสู่ชีวิตดีงามมีความสุข ที่เรียกว่า ชีวิตที่สมบูรณ์

จุดเริ่มต้นคือ ประโยชน์สุขขั้นพื้นฐาน

ทุกคนอยากมีชีวิตที่สมบูรณ์ ชีวิตที่สมบูรณ์นั้นเป็นอย่างไร เราลองมาดูคำสอนของพระพุทธศาสนา

ท่านสอนไว้แล้วว่า ชีวิตที่สมบูรณ์นั้นต้องประกอบด้วยประโยชน์สุขในระดับต่างๆ ประโยชน์สุขนี่แหละเป็นจุดมุ่งหมายของชีวิต หมายความว่า ชีวิตของเรานี้มีจุดมุ่งหมาย หรือมีสิ่งที่ควรเป็นจุดมุ่งหมาย

ชีวิตเกิดมาทำไม? ตอบไม่ได้สักคน เราเกิดมาเราตอบไม่ได้ว่าชีวิตของเรานี่เกิดมามีจุดมุ่งหมายอย่างไร ไม่มีใครตอบได้ เพราะว่าเวลาเราจะเกิดหรือก่อนจะเกิด เราไม่ได้ตั้งจุดมุ่งหมายไว้

เมื่อเราเกิดมานั้นเราไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นเราจึงไม่สามารถตอบได้ว่าจุดมุ่งหมายของชีวิตคืออะไร แต่พระพุทธศาสนาสอนไว้ว่า มีสิ่งที่ควรเป็นจุดมุ่งหมายแห่งชีวิตของเรา จุดหมายนี้เป็นเรื่องของประโยชน์และความสุข ท่านแบ่งไว้เป็น ๓ ระดับ

ระดับที่ ๑ คือประโยชน์สุขที่ตามองเห็น ซึ่งเป็นเรื่องวัตถุหรือด้านรูปธรรม ถ้าจะสรุป ประโยชน์สุขในระดับต้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ตามองเห็น ก็จะได้แก่

๑) มีสุขภาพดี มีร่างกายแข็งแรง ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย เป็นอยู่สบาย ใช้การได้ดี

๒) มีทรัพย์สินเงินทอง มีการงานอาชีพเป็นหลักฐาน หรือพึ่งตนเองได้ในทางเศรษฐกิจ เรื่องนี้ก็สำคัญ พระพุทธเจ้าสอนไว้มากมายในเรื่องทรัพย์สินเงินทองว่าจะหามาอย่างไร จะจัดอย่างไร และจะใช้จ่ายอย่างไร

๓) มีความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนมนุษย์ หรือมีสถานะในสังคม เช่น ยศศักดิ์ ตำแหน่ง ฐานะ ความมีเกียรติ มีชื่อเสียง การได้รับยกย่อง หรือเป็นที่ยอมรับในสังคม รวมทั้งความมีมิตรสหายบริวาร

๔) สุดท้ายที่สำคัญสำหรับชีวิตคฤหัสถ์ก็คือ มีครอบครัวที่ดีมีความสุข

ทั้งหมดนี้ เป็นประโยชน์สุขระดับต้น ซึ่งตามองเห็น ท่านบัญญัติศัพท์ไว้เฉพาะ เรียกว่า ทิฏฐธัมมิกัตถะ แปลว่าประโยชน์ปัจจุบัน หรือประโยชน์ที่ตามองเห็น เป็นประโยชน์ที่มองเห็นเฉพาะหน้า และเป็นฐานที่มั่นคงระดับแรก ทุกคนควรทำให้เกิดขึ้น

ถ้าใครขาดประโยชน์ระดับนี้แล้ว จะมีชีวิตที่ลำบาก มีชีวิตอยู่ในโลกได้ยาก และจะก้าวไปสู่ความสุขหรือประโยชน์ในระดับสูงขึ้นไปก็ติดขัดมาก

ฉะนั้น ถ้าเราอยู่ในโลก ก็ต้องพยายามสร้างประโยชน์สุขในระดับต้นนี้ให้ได้ พอมีแล้วก็สบาย และสิ่งเหล่านี้ก็เนื่องกัน

พอเรามีสุขภาพดี เราก็หาเงินหาทองได้สะดวกขึ้น ถ้ามามัววุ่นวายกับเรื่องเจ็บไข้ได้ป่วย เราก็ไม่มีเวลาที่จะทำมาหาเลี้ยงชีพ แล้วก็สิ้นเปลืองด้วย บางทีทรัพย์ที่หามาได้ก็หมดไปกับเรื่องเจ็บป่วย ทีนี้พอเรามีร่างกายแข็งแรงสุขภาพดี เราก็ทำงานการหาเงินทองได้ แต่ไม่ใช่พอแค่นั้นนะ เพียงแค่ร่างกายดีมีเงินเท่านั้น ไม่พอ แต่อย่างน้อยมันก็เป็นฐานไว้ก่อน

ทีนี้ เมื่อมีทรัพย์สินเงินทองแล้ว ฐานะในสังคมก็มักพ่วงมาด้วย เพราะตามค่านิยมในสังคมโดยทั่วไปนี่ พอใครมีทรัพย์สินเงินทองก็มักเป็นที่ยอมรับในสังคม กลายเป็นคนมีสถานะ ได้รับการยกย่อง มีเกียรติ ไปไหนก็มีหน้ามีตา เรื่องนี้ก็ขึ้นต่อค่านิยมของสังคมด้วย

ทีนี้ เมื่อมีฐานะ มียศตำแหน่งขึ้นแล้ว ก็อาจจะมีอำนาจ หรือมีโอกาส ทำให้มีทางได้ทรัพย์สินเงินทองมากขึ้นด้วย นี่ก็เนื่องกัน อาศัยกัน

พอมีทรัพย์ และมียศแล้ว ก็ทำให้มีมิตรมีบริวารเข้ามาด้วย เพิ่มเข้ามาอีก เป็นเครื่องเสริม ช่วยให้ทำอะไรๆ ได้สะดวกและกว้างไกลยิ่งขึ้น

ต่อจากนั้น แกนข้างในก็คือครอบครัว ถ้ามีครอบครัวดี เป็นครอบครัวที่มั่นคง มีความสุข ก็ทำให้การทำหน้าที่การงานของเราปลอดโปร่งโล่งใจคล่องตัวยิ่งขึ้นไปอีก เป็นสิ่งที่เกื้อกูลแก่กันและกัน

พอเรื่องครอบครัวเรียบร้อย ทำงานคล่อง หาเงินหาทองได้ดี ก็เลี้ยงดูครอบครัวได้เต็มที่ ทำให้ครอบครัวมีความมั่นคง สามารถเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่ลูก ก็สามารถสร้างสรรค์ความเจริญของชีวิตครอบครัว และวงศ์ตระกูล ตลอดถึงสังคมประเทศชาติ

พื้นฐานจะมั่น ต้องลงรากให้ลึก

นี่คือประโยชน์สุขระดับที่หนึ่ง ซึ่งต้องยอมรับว่าสำคัญ แต่เพียงเท่านั้นยังไม่พอ

ประโยชน์สุขระดับนี้ เป็นสิ่งที่คนมุ่งหมายกันมาก แต่มันยังมีข้อบกพร่อง คือมันยังไม่ลึกซึ้ง แล้วก็ไม่ปลอดโปร่งโล่งใจเต็มที่ ยังเป็นไปกับด้วยความหวาดระแวง ความหวงแหนอะไรต่างๆ หลายอย่าง เช่น เมื่อมีทรัพย์สินเงินทอง เราก็ยังมีความรู้สึกไม่ปลอดภัยในบางครั้งบางคราว ทำให้มีความห่วงกังวลและความกลัวภัยแฝงอยู่ในชีวิตของเรา

อีกอย่างหนึ่ง ในการอยู่ในโลก ความสุขของเราก็ต้องขึ้นต่อสิ่งเหล่านี้ เวลาเราแสวงหาเงินทองมาได้มากๆ มีวัตถุมาบำรุงความสุขเพิ่มขึ้น เราดำเนินชีวิตไป เราก็นึกว่า ถ้าเรายิ่งมีมากเราก็จะยิ่งมีความสุขมาก เราก็หาเงินหาทรัพย์ยิ่งขึ้นไป แต่แล้วบางทีกลายเป็นว่า ไปๆ มาๆ เราก็วิ่งไล่ตามความสุขไม่ถึงสักที ยิ่งมีมากขึ้น ความสุขก็ยิ่งวิ่งหนีเลยหน้าไป

แต่ก่อนเคยมีเท่านี้ก็สุข แต่ต่อมาเท่านั้นไม่สุขแล้ว ต้องมีมากกว่านั้น เคยมีร้อยเดียวก็สุข ต่อมาเราคิดว่าต้องได้พันหนึ่งจึงสุข พอได้พันแล้ว หนึ่งร้อยที่เคยมีและทำให้สุขได้กลับกลายเป็นทุกข์ คราวนี้ถ้ามีแค่ร้อยไม่เป็นสุขแล้ว ต้องมีพัน ทีนี้ พอมีพันก็อยากได้หมื่น ต้องได้หมื่นจึงสุข มีพันตอนนี้ไม่สุขแล้ว

แต่ก่อนทำไมมีร้อยก็สุข มีพันก็สุข แต่เดี๋ยวนี้มันสุขไม่ได้ ร้อยและพันนั้นกลับเป็นทุกข์ไป มันไม่น่าจะเป็นไปได้ เมื่อก่อนโน้นยังไม่มีอะไร พอได้ร้อยครั้งแรกดีใจเหลือเกิน สุขยิ่งกว่าเดี๋ยวนี้ที่ได้หมื่น พอหาเครื่องบำรุงความสุขได้เพิ่มขึ้น สุขเก่าที่เคยมีกลับลดหาย ความสุขมันหนีได้ นี่ก็เป็นเรื่องที่ทำให้รู้สึกไม่มั่นคง ไม่โปร่งใจ

นอกจากนั้นยังเป็นเรื่องของความไม่จริงใจและการมีความอิจฉาริษยากันอีก ทำให้อยู่ด้วยความหวาดระแวงไม่สบายใจ อย่างเรามียศ มีตำแหน่งฐานะเป็นที่ยอมรับในสังคม บางทีเราก็ไม่แน่ใจว่า เขาเคารพนับถือเราจริงหรือเปล่า หรือเป็นเพียงอาการแสดงออกภายนอก เวลาเราเปลี่ยนสถานะภายนอกแล้ว เขาอาจจะไม่เคารพนับถือเราอีก

ฉะนั้น ในขณะที่อยู่ในสถานะนั้น เราก็มีความรู้สึกไม่อิ่มใจเต็มที่ มันไม่ลึกซึ้ง พร้อมกับการที่ได้รับเกียรติยศฐานะหรือการยอมรับยกย่องนั้น ในใจลึกๆ ลงไป บางทีก็ไม่สบายใจ

นี่แหละจึงกลายเป็นว่า บางทีสิ่งเหล่านี้ก็เป็นของเทียม เช่น เกียรติยศ และความเคารพนับถือ ก็อาจจะเป็นเกียรติยศและความเคารพนับถือที่เป็นของเทียม เมื่อเป็นของเทียม ก็เป็นสิ่งค้างคา เป็นปัญหาทั้งแก่ตนเองและแก่ผู้อื่น

สำหรับตัวเราเอง มันก็เป็นปมในใจ ทำให้เราไม่ได้ความสุขที่แท้จริง และเมื่อต้องออกจากสถานะนั้น หรือหมดสถานะนั้นไป แล้วเห็นคนอื่นมีท่าทีอาการต่อตนเองเปลี่ยนแปลงไป ก็สูญเสียความมั่นใจ และเกิดความโทมนัส ถ้าเราแก้ปมในใจนี้ไม่ได้ บางทีก็ส่งผลเป็นปัญหาต่อไปอีก ทำให้มีผลต่อพฤติกรรม ต่อความเป็นอยู่ ตลอดจนสุขภาพทั้งทางจิตและทางกายของเรา

ในด้านที่เกี่ยวกับคนอื่น ก็มักมีเรื่องของการแข่งขันชิงดีชิงเด่น และการปั้นแต่งท่าทาง การกระทำและการแสดงออกที่หวังผลซ่อนเร้นแอบแฝง ตลอดจนความไม่สนิทใจต่อกัน ทำให้การเป็นอยู่ในสังคมกลายเป็นการสร้างปัญหาในการอยู่ร่วมกันอีก ปัญหามากมายของมนุษย์ก็จึงเกิดขึ้นจากการปฏิบัติต่อเรื่องประโยชน์สุขระดับต้นนี้

ในที่สุด ก็กลายเป็นว่า ถ้าเราไม่ก้าวสู่ประโยชน์สุขขั้นต่อไป ประโยชน์สุขระดับที่หนึ่งนี้ ก็จะเป็นปัญหาได้มาก เพราะมันไม่เต็มไม่อิ่ม ไม่โปร่งไม่โล่ง และมีปัญหาพ่วงมาด้วยนานาประการ รวมทั้งความหวาดระแวง ความอิจฉาริษยา ความรู้สึกไม่มั่นคงปลอดภัยภายนอก และความรู้สึกไม่มั่นใจภายในตนเอง

เพราะฉะนั้น ประโยชน์สุขระดับแรกนี้ แม้ว่ามันจะเป็นสิ่งสำคัญที่เราจะต้องไม่มองข้าม แต่เราก็จะต้องก้าวสู่ประโยชน์สุขขั้นต่อไป ด้วยเหตุนี้ พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนประโยชน์สุขระดับที่สองไว้ด้วย

ถ้าลงลึกได้ จะถึงประโยชน์สุขที่แท้

ระดับที่ ๒ ได้แก่ ประโยชน์สุขที่เป็นด้านนามธรรม เป็นเรื่องของจิตใจลึกซึ้งลงไป ท่านเรียกว่าประโยชน์ที่เลยจากตามองเห็น หรือเลยไปข้างหน้า ไม่เห็นเป็นรูปธรรมต่อหน้าต่อตา เรียกด้วยภาษาวิชาการว่า สัมปรายิกัตถะ เช่น ความมีชีวิตที่มีคุณค่าเป็นประโยชน์ การที่เราได้ช่วยเหลือเกื้อกูลแก่ผู้อื่นด้วยคุณธรรม ได้ทำประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์

เมื่อระลึกขึ้นมาว่า เราได้ใช้ชีวิตนี้ให้มีประโยชน์ เราได้ทำชีวิตให้มีคุณค่า ได้ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ได้เกื้อกูลสังคมแล้ว พอระลึกขึ้นมาเราก็อิ่มใจสบายใจ ทำให้มีความสุขอีกแบบหนึ่ง

ด้วยวิธีปฏิบัติในระดับที่สอง ซึ่งเป็นเรื่องของจิตใจ เกี่ยวกับคุณธรรมนี้ ก็ทำให้เรามีความสุขเพิ่มขึ้นอีก และแม้แต่ประโยชน์สุขระดับที่หนึ่งนั้น เมื่อมีประโยชน์สุขระดับที่สองเป็นคู่อยู่ข้างในด้วย ก็จะเกิดมีขึ้นชนิดที่ว่าลึกซึ้งเป็นจริงเลยทีเดียว จะไม่เป็นของเทียม เช่นถ้าเป็นการเคารพนับถือ ตอนนี้จะเป็นของแท้

การที่เรามีน้ำใจมีคุณธรรมและช่วยเหลือเกื้อกูลเพื่อนมนุษย์ด้วยใจจริง ก็จะทำให้เขาเคารพเราจริง เป็นการแสดงออกจากใจที่แน่นอนสนิท เป็นของลึกซึ้ง เราจะได้ของแท้

ในทางกลับกัน ประโยชน์สุขระดับที่สองนี้ ก็อาศัยประโยชน์สุขระดับที่หนึ่งมาช่วย พอเรามีจิตใจที่พัฒนา มีคุณธรรมขึ้นมาแล้ว เรามีน้ำใจอยากจะช่วยเหลือเกื้อกูลเพื่อนมนุษย์ เราก็เอาสิ่งที่เป็นประโยชน์ในระดับแรกนั่นเองมาใช้ เช่นเอาทรัพย์สินเงินทองที่เป็นวัตถุเป็นของมองเห็นนั่นแหละมาใช้ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ยิ่งมีมาก ก็ยิ่งช่วยได้มาก

คนที่มีแต่ประโยชน์สุขระดับที่สอง ถึงแม้จะมีน้ำใจเกื้อกูล มีคุณธรรม อยากจะช่วยคนอื่น แต่ระดับที่หนึ่งทำไว้ไม่ดี ไม่มีเงินทองจะไปช่วยเขา ก็ทำประโยชน์สุขได้น้อย เพราะฉะนั้นจึงต้องมีทั้งสองขั้น

นอกจากความสุขใจชื่นใจในการที่ได้ช่วยเหลือเกื้อกูลเพื่อนมนุษย์ ก็คือความมั่นใจ โดยเฉพาะความมั่นใจในชีวิตของตนเอง เช่นเรามีความมั่นใจในชีวิตของเราที่ได้เป็นอยู่มาด้วยดี มีความประพฤติปฏิบัติถูกต้อง ตั้งอยู่ในความดีงามสุจริต ไม่ได้ทำผิดทำโทษอะไร

เมื่อเราระลึกนึกถึงชีวิตของเราขึ้นมา เราก็มีความมั่นใจในตนเอง เป็นความสุขลึกซึ้งอยู่ภายใน และเมื่อเรามีความสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ด้วยความดีงาม เกิดจากคุณธรรมภายใน ก็ยิ่งทำให้เรามีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น พร้อมทั้งมีความมั่นใจในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นด้วย นี้เป็นระดับของความสุขที่แท้จริง

ในตอนที่มีวัตถุภายนอก เรายังไม่มีความมั่นใจจริง ความสุขก็ผ่านๆ ไม่ลึกซึ้งและไม่ยืนยาว แต่พอมีคุณธรรมภายใน ซึ่งเป็นประโยชน์สุขระดับที่สอง เราก็มีความมั่นใจในตัวเอง และมีความสุขที่ลึกซึ้ง เต็มใจและชุ่มฉ่ำใจ

นอกจากนั้นยังมีคุณธรรมอื่นที่มาช่วยเสริมหนุนประโยชน์สุขทางจิตใจอีก โดยเฉพาะศรัทธา คือมีความเชื่อมั่นในสิ่งที่ดีงาม ในคุณความดี ในการกระทำความดี ในจุดหมายที่ดีงาม ตลอดจนในวิถีชีวิตที่ดีงาม ความเชื่อมั่นและมั่นใจเหล่านี้เป็นศรัทธา

ท่านผู้ศรัทธาในพระศาสนา เห็นว่าพระศาสนานี้มีอยู่เพื่อประโยชน์สุขแก่มวลมนุษย์ เป็นคำสอนที่ดีงาม เรามีศรัทธา มีความมั่นใจในคุณค่าแห่งธรรม เราก็ทำนุบำรุงหรือช่วยกิจการพระศาสนาด้วยศรัทธานั้น จิตใจของเราก็มีความมั่นใจและมั่นคง มีกำลังเข้มแข็งและผ่องใส พร้อมทั้งมีความสุขที่ประณีต เป็นส่วนที่แท้และลึกซึ้งอยู่ภายใน

อันนี้คือประโยชน์สุขระดับที่สอง ที่ท่านถือว่าเราจะต้องก้าวให้ถึง ซึ่งจะทำให้ประโยชน์สุขขั้นที่หนึ่งไม่มีพิษไม่มีภัย แล้วก็กลับเป็นประโยชน์เกื้อกูลกว้างขวางออกไป และยังทำให้ความสุขที่มีที่ได้ กลายเป็นความสุขที่ลึกซึ้งเต็มที่ ฉะนั้นเราจึงต้องก้าวไปสู่ประโยชน์สุขระดับที่สอง

ท่านผู้ใดได้ก้าวขึ้นมาถึงประโยชน์สุขระดับที่สองแล้ว ก็จะมีความมั่นใจในคุณค่าแห่งชีวิตของตนเอง พอระลึกนึกขึ้นมาเมื่อใดก็เกิดปีติสุขว่า เออ เรามีทรัพย์สินเงินทอง และเงินทองนั้นก็ไม่เสียเปล่า เราได้ใช้ทรัพย์สินเงินทองนี้ทำให้เกิดประโยชน์แล้วแก่ชีวิตของเราและเพื่อนมนุษย์

บางท่านก็อิ่มใจว่า เรามีศรัทธาในสิ่งที่ถูกต้อง เรามีความมั่นใจในการดำเนินชีวิตของเรา เราได้ทำสิ่งที่ถูกต้องเป็นประโยชน์ ไม่ได้ทำสิ่งที่เป็นโทษเสียหาย

ถ้าพูดตามศัพท์ของท่านก็ว่า มีความมั่นใจด้วยศรัทธา ที่เชื่อและชื่นใจในสิ่งที่ดีงาม แล้วก็มีศีล มีความประพฤติดีงาม เกื้อกูล ไม่เบียดเบียนใคร ทำแต่สิ่งที่เป็นคุณประโยชน์ มีจาคะ มีความเสียสละ ได้ใช้ทรัพย์สินเงินทองที่หามาได้ทำให้เกิดคุณค่า ขยายประโยชน์สุขให้กว้างขวางออกไป

แล้วก็มีปัญญา มีความรู้ความเข้าใจในความจริงของสิ่งทั้งหลาย พอที่จะปฏิบัติต่อสิ่งที่ชีวิตเกี่ยวข้อง เริ่มแต่บริโภคบริหารใช้จ่ายจัดการทรัพย์สินเงินทองนั้น ในทางที่จะเป็นคุณประโยชน์สมคุณค่าของมัน และไม่ให้เกิดเป็นปัญหา ไม่ให้เกิดทุกข์ ไม่ลุ่มหลงมัวเมา อยู่อย่างเป็นนาย มิใช่เป็นทาสของทรัพย์

ต่อจากนี้เราก็จะก้าวไปสู่ประโยชน์สุขระดับที่สาม แต่ถึงจะมีเพียงแค่สองขั้นนี่ก็นับว่ามีชีวิตที่ค่อนข้างจะสมบูรณ์แล้ว

ถึงจะเป็นประโยชน์แท้ แต่ก็ยังไม่สมบูรณ์

แม้จะได้จะถึงประโยชน์สุข ๒ ระดับแล้ว แต่พระพุทธเจ้าก็ทรงเตือนว่ายังไม่สมบูรณ์ ไม่สมบูรณ์เพราะอะไร

แม้เราจะมีความดี เรามีความภูมิใจ มั่นใจในความดีของเรา แต่เราก็มีจิตใจที่ยังอยู่ด้วยความหวัง เรายังหวังอยากให้คนเขายกย่องนับถือ ยังหวังในผลตอบสนองความดีของเรา แม้จะเป็นนามธรรม เรามีความสุขด้วยอาศัยความรู้สึกมั่นใจภูมิใจอะไรเหล่านั้น เรียกง่ายๆ ว่ายังเป็นความสุขที่อิงอาศัยอะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง

ในระดับที่หนึ่ง ความสุขของเราอิงอาศัยวัตถุ หรือขึ้นต่อคนอื่นสิ่งอื่น

พอถึงระดับที่สอง ความสุขของเราเข้ามาอิงอาศัยความดีงาม และคุณธรรมของตัวเราเอง

อย่างไรก็ตาม ตราบใดเรายังมีความสุขที่อิงอาศัยอยู่ มันก็เป็นความสุขที่ยังไม่เป็นอิสระ เพราะยังต้องขึ้นต่ออะไรๆ อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่นถ้าเกิดมีกรณีขึ้นว่าเราทำความดีไปแล้วคนเขาไม่ยกย่องเท่าที่ควร เมื่อเราหวังไว้ ต่อไปเราก็รู้สึกผิดหวังได้

บางทีเราทำความดีแล้ว มาเกิดรู้สึกสะดุดขึ้นว่า เอ! ทำไมคนเขาไม่เห็นความดีของเรา เราก็ผิดหวัง หรือว่าเราเคยได้รับความชื่นชม ได้รับความยกย่องในความดี แต่ต่อมาการยกย่องสรรเสริญนั้นก็เสื่อมคลายจืดจางลงไป หรือลดน้อยลงไป ก็ทำใจเราให้ห่อเหี่ยวลงไปได้ จิตใจของเราก็ฟูยุบไปตามความเปลี่ยน แปลงภายนอก

ในทางตรงข้าม ถ้าเรามีจิตใจที่รู้เท่าทันความจริงของสิ่งทั้งหลาย รู้ตระหนักในกฎธรรมชาติว่ามันเป็นธรรมดาอย่างนั้นๆ แล้ว เราก็ทำจิตใจของเราให้เป็นอิสระได้ และมันจะเป็นอิสระจนถึงขั้นที่ว่า ความเปลี่ยนแปลงเป็นไปของสิ่งทั้งหลายตามกฎธรรมชาตินั้น มันก็เป็นเรื่องของธรรมชาติไป มันไม่มามีผลกระทบต่อจิตของเรา ใจของเราก็โปร่งก็โล่งผ่องใสอยู่อย่างนั้น

แม้ว่าสิ่งทั้งหลายจะเปลี่ยนแปลงไป เป็นทุกข์ และเป็นไปตามเหตุปัจจัย แต่ใจของเราก็เป็นอิสระอยู่ เป็นตัวของเราตามเดิม

เช่นเมื่อเรากระทบกับความไม่เที่ยงเป็นอนิจจัง สิ่งทั้งหลายเปลี่ยนแปลงไป เราก็รู้เท่าทันว่ามันจะต้องเป็นอย่างนั้นตามเหตุปัจจัย แล้วก็ดำรงใจเป็นอิสระอยู่ได้

หรือว่าเมื่อเรารู้ตระหนักตามที่มันเป็นว่าสิ่งทั้งหลายเป็นทุกข์ คือคงทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ เรารู้เท่าทันแล้ว ความทุกข์นั้นก็เป็นความทุกข์ของสิ่งเหล่านั้นอยู่ตามธรรมชาติของมัน ไม่เข้ามาเป็นความทุกข์ในใจของเรา

ปัญหาของมนุษย์นั้นเกิดจากการที่ไม่รู้เท่าทันความจริง แล้วก็วางใจต่อสิ่งทั้งหลายไม่ถูกต้อง จึงทำให้เราถูกกฎธรรมชาติเบียดเบียนบีบคั้นและครอบงำอยู่ตลอดเวลา

ความทุกข์ของมนุษย์นี้ รวมแล้ว ก็อยู่ที่การถูกกระทบกระทั่งบีบคั้นจากการเปลี่ยนแปลง ความไม่เที่ยงแท้แน่นอน ความตั้งอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ไม่คงทนถาวร เป็นไปตามเหตุปัจจัย ซึ่งฝืน ขัดแย้ง ไม่เป็นไปตามความปรารถนา

สิ่งทั้งหลายเปลี่ยนแปลงไป เราอยากให้เปลี่ยนไปอย่างหนึ่ง มันกลับเปลี่ยนไปเสียอีกอย่างหนึ่ง เราอยากจะให้มันคงอยู่ แต่มันกลับเกิดแตกดับไป อะไรทำนองนี้ มันก็ฝืนใจเรา บีบคั้นใจเรา เราก็มีความทุกข์

ถ้ากระแสยังเป็นสอง ก็ต้องมีการปะทะกระแทก

ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพราะว่า เราไปสร้างกระแสความอยากซ้อนขึ้นมาบนกระแสความจริงของธรรมชาติที่มีอยู่ก่อนแล้ว กระแสความอยากของเรานี้ เป็นกระแสที่ไม่เป็นของแท้จริง กระแสที่แท้จริงของสิ่งทั้งหลายก็คือกระแสของกฎธรรมชาติที่ว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน

ทีนี้มนุษย์เราก็สร้างกระแสความอยากของตัวขึ้นมาว่า จะให้สิ่งทั้งหลายเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ตามใจที่ชอบชังของเรา แต่มันก็ไม่เป็นไปตามที่ใจเราอยาก เราอยากจะให้มันเป็นอย่างนี้ มันก็ไม่เป็น กลับเป็นไปเสียอย่างโน้น เพราะว่าสิ่งทั้งหลายมีกระแสที่แท้จริงควบคุมมันอยู่ กระแสที่แท้จริงของมันก็คือกระแสแห่งเหตุปัจจัย

สำหรับคนปุถุชนทั่วไปก็จะมีกระแสของตัวที่สร้างขึ้นเอง คือกระแสความอยาก เรามีกระแสนี้ในใจของเราตลอดเวลา เป็นกระแสความอยากที่มีต่อสิ่งหลาย ไม่ว่าเราจะเกี่ยวข้องกับอะไร เราก็จะส่งกระแสนี้เข้าไปสัมพันธ์กับมัน คือเราจะมีความนึกคิดตามความปรารถนาของเราว่า อยากให้มันเป็นอย่างนั้น ไม่อยากให้เป็นอย่างนี้

ทีนี้ สิ่งทั้งหลายนั้นมีกระแสจริงๆ ที่คุมมันอยู่แล้ว คือกระแสกฎธรรมชาติ อันได้แก่ความเป็นไปตามเหตุปัจจัย พอถึงตอนนี้กระแสของตัวเราเกิดขึ้นมาซ้อนเข้าไปอีก ก็เกิดเป็น ๒ กระแส

แต่สิ่งที่อยู่ในสองกระแสนั้นก็อันเดียวกันนั่นแหละ คือ สิ่งนั้นเองเมื่อมาเกี่ยวข้องกับตัวเรา ก็ตกอยู่ในกระแสความอยากของเรา แล้วตัวมันเองก็มีกระแสแห่งเหตุปัจจัยตามธรรมดาของธรรมชาติอยู่แล้ว

พอมี ๒ กระแสขึ้นมาอย่างนี้ เมื่อมีความเป็นไปอย่างหนึ่งอย่างใดก็ตาม สองกระแสนี้ก็จะเกิดการขัดแย้งกันขึ้น แล้วก็กลายเป็นปัญหา คือ กระแสความอยากของคน ขัดกับ กระแสเหตุปัจจัยของธรรมดา

ทีนี้ พอเอาเข้าจริง กระแสเหตุปัจจัยของกฎธรรมชาติก็ชนะ กระแสความอยากของเราก็แพ้

ก็ต้องเป็นอย่างนี้ เพราะเป็นธรรมดาว่า สิ่งทั้งหลายไม่ได้เป็นไปตามความอยากของคน แต่มันเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน

พอสองกระแสนี้สวนทางปะทะกัน และกระแสแห่งเหตุปัจจัยชนะ กระแสความอยากของเราแพ้ ผลที่ตามมาก็คือ ตัวเราถูกบีบคั้น เราถูกกดดัน เราก็มีความทุกข์ นี่คือ ความทุกข์เกิดขึ้น

แล้วเราก็ได้แต่ร้องขึ้นมาในใจหรือโอดโอยคร่ำครวญว่า ทำไมมันจึงเป็นอย่างนั้นหนอ ทำไมมันจึงไม่เป็นอย่างนี้หนอ แล้วก็ถูกความทุกข์บีบคั้นใจ ได้แต่ระทมขมขื่นไป

พอประสานเป็นกระแสเดียวได้ คนก็สบายงานก็สำเร็จ

ส่วนคนที่รู้เท่าทันความจริง เขาศึกษาธรรมแล้วก็รู้เลยว่า ความจริงก็ต้องเป็นความจริง คือสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามกฎธรรมชาติ โดยเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน จะเอาความอยากของเราไปเป็นตัวกำหนดไม่ได้

เพราะฉะนั้น เราเพียงแต่รู้เข้าใจว่ามันควรจะเป็นอย่างไร หรือกำหนดว่าเราต้องการอย่างไร ต่อจากนั้นก็ทำด้วยความรู้ว่า มันจะเป็นอย่างนั้นได้ เราต้องทำให้เป็นไปตามเหตุปัจจัย

ฉะนั้น ถ้าเราต้องการให้มันเป็นอย่างใด หรือมันควรจะเป็นอย่างใด เราก็ต้องไปศึกษาเหตุปัจจัยของมัน เมื่อใช้ปัญญาศึกษาเหตุปัจจัยของมัน และรู้เหตุปัจจัยแล้ว จะให้มันเป็นอย่างไร เราก็ไปทำเหตุปัจจัยที่จะให้มันเป็นอย่างนั้น ถ้าจะไม่ให้เป็นอย่างโน้น เราก็ไปป้องกันกำจัดเหตุปัจจัยที่จะให้เป็นอย่างโน้น

ถ้าต้องการจะให้เป็นไปตามที่เรากำหนดหรือตามที่มันควรจะเป็น แล้วเราศึกษาเหตุปัจจัย รู้เหตุปัจจัย และไปทำที่เหตุปัจจัยให้เป็นไปอย่างที่เราต้องการ ก็จะเกิดผลสำเร็จขึ้น

เมื่อเรารู้และทำอย่างนี้ กระแสของเราก็เปลี่ยนจากกระแสความอยากคือกระแสตัณหา มาเป็นกระแสปัญญา

จะเห็นได้ชัดเจนว่า กระแสปัญญานี้กลมกลืนเป็นอันเดียวกับกระแสเหตุปัจจัยของธรรมชาติ เพราะกระแสเหตุปัจจัยเป็นไปอย่างไร กระแสปัญญาก็รู้ไปตามนั้น

เมื่อเป็นอย่างนี้ กระแสของคนกับกระแสของธรรมชาติ ก็กลายเป็นกระแสเดียวกัน เท่ากับว่าตอนนี้เหลือกระแสเดียว คือกระแสเหตุปัจจัยที่เรารู้เท่ารู้ทันรู้ตามไปด้วยกระแสปัญญา

เมื่อกระแสของคน(กระแสปัญญา-ของเรา) กับกระแสของธรรม(กระแสเหตุปัจจัย-ของกฎธรรมชาติ) ประสานกลมกลืนเป็นกระแสเดียวกัน ความขัดแย้งบีบคั้นปะทะกระแทกกันก็ไม่มี

สรุปว่า มีความสัมพันธ์ระหว่างกระแส ๒ แบบ คือสองกระแสที่ปะทะขัดแย้งกัน กับสองกระแสที่ประสานกลมกลืนเป็นกระแสเดียวกัน

สองกระแสที่ปะทะขัดแย้งกัน ก็คือ กระแสความอยากของตัวเรา ที่เราสร้างขึ้นใหม่ ขัดกับกระแสเหตุปัจจัยของกฎธรรมชาติที่มีอยู่เดิมตามธรรมดาของมัน

กระแสความอยากของเรา ก็คือการที่คิดจะให้สิ่งทั้งหลายเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ตามใจตัวเรา โดยไม่มองไม่รับรู้ว่าสิ่งทั้งหลายจะต้องเป็นไปอย่างไรๆ ตามเหตุปัจจัยของกฎธรรมชาติ

เมื่อเราจะให้สิ่งนั้นเป็นไปอย่างหนึ่งตามกระแสความอยากของเรา แต่สิ่งนั้นมันเป็นไปเสียอีกอย่างหนึ่งตามกระแสเหตุปัจจัยของกฎธรรมชาติ กระแสของคน กับกระแสของธรรม(ชาติ) ก็แยกต่างกันเป็นสองกระแส แล้วสองกระแสนี้ก็ปะทะกระแทกขัดแย้งกัน และเมื่อกระแสของเราแพ้ เราก็ถูกกดถูกอัดถูกบีบคั้น เรียกว่าเกิดทุกข์อย่างที่ว่ามาแล้ว

สองกระแสที่ประสานกลมกลืนเป็นกระแสเดียวกัน ก็คือ กระแสปัญญาของเรา เข้ากันกับกระแสเหตุปัจจัยของกฎธรรมชาติ

ถ้าเราใช้ปัญญา ปัญญานั้นก็รู้เข้าใจมองเห็นไปตามเหตุปัจจัยที่เป็นไปอยู่ตามกฎธรรมชาติ ปัญญาคอยมองคอยดูให้รู้เข้าถึงและเท่าทันกระแสเหตุปัจจัย กระแสปัญญาของเราจึงประสานกลมกลืนกับกระแสเหตุปัจจัยของกฎธรรมชาติ

อันนี้เรียกว่า กระแสของคน กับกระแสของธรรม(ชาติ) ประสานกลมกลืน กลายเป็นกระแสเดียวกัน ไม่มีการปะทะหรือขัดแย้งกัน เพราะไม่มีตัวตนของเราที่จะมาถูกกดถูกอัดถูกบีบ

เป็นอันว่า ตอนแรกสองกระแส คือ กระแสความอยากของเรา หรือกระแสตัณหา เรียกง่ายๆ ว่า กระแสของคน กับกระแสเหตุปัจจัยของกฎธรรมชาติ เรียกง่ายๆ ว่า กระแสของธรรม ต้องปะทะขัดแย้งกัน เพราะแยกต่างหากไปกันคนละทาง และไม่รู้เรื่องกัน

แต่พอเราใช้ปัญญา เราก็เข้าถึงกระแสเหตุปัจจัยเลย กระแสความอยากไม่เกิดขึ้น กระแสของคนคือกระแสปัญญา กับกระแสของธรรมคือกระแสเหตุปัจจัย ก็จึงประสานกลมกลืนกัน เหลือกระแสเดียว

เมื่อกระแสของคนเปลี่ยนจากกระแสตัณหา มาเป็นกระแสปัญญาแล้ว การที่เราจะต้องขัดแย้งปะทะกระแทกกับกระแสของธรรมชาติ หรือกระแสธรรม และจะต้องถูกกดถูกอัดถูกบีบ เพราะเราแพ้มัน ก็ไม่มีอีกต่อไป กลายเป็นว่ากระแสของคนกับกระแสของธรรมประสานกลมกลืนไปด้วยกัน กลายเป็นกระแสเดียวกัน ไม่มีความขัดแย้งปะทะกระแทกกันต่อไปอีก

เมื่อกระแสของคน กับกระแสของธรรม ประสานกลมกลืนกันเป็นกระแสเดียวแล้ว ไม่ว่าสิ่งทั้งหลายจะเป็นไปตามเหตุปัจจัยอย่างไร เราก็รู้เหตุปัจจัยอย่างนั้น แล้วก็ทำที่เหตุปัจจัย ดังนั้นจึงทั้งทำได้ผลด้วย แล้วก็ไม่ทุกข์ด้วย

เมื่อทำได้แค่ไหน เราก็รู้ว่านั่นคือตามเหตุปัจจัย หรือเท่าที่จะได้จะเป็นตามเหตุปัจจัย ถ้ามันไม่สำเร็จ เราก็รู้ว่าเพราะเหตุปัจจัยไม่เพียงพอ หรือเหตุปัจจัยบางอย่างสุดวิสัยที่เราจะทำได้ เรารู้เข้าใจแล้วก็ไม่คร่ำครวญโอดโอยว่าทำไมหนอๆ เราก็ไม่ทุกข์

ฉะนั้น ด้วยความรู้เข้าใจอย่างนี้ จะทำให้เรา ทั้งทำงานก็ได้ผล ทั้งใจคนก็ไม่เป็นทุกข์ มีแต่จะเป็นสุขอย่างเดียว

ปัญญามานำ มองตามเหตุปัจจัย
ตัวเองก็สบาย แถมยังช่วยคนอื่นได้อีกด้วย

ฉะนั้น ชาวพุทธจะต้องตั้งหลักไว้ในใจแต่ต้นว่า เวลามองสิ่งต่างๆ จะไม่มองด้วยความชอบใจหรือไม่ชอบใจ แต่มองด้วยปัญญาที่ว่ามองตามเหตุปัจจัย ตั้งหลักไว้ในใจอย่างนี้ตั้งแต่ต้น

คนที่ไม่ได้ฝึกไม่ได้พัฒนาไม่ได้เรียนรู้พุทธศาสนา ก็จะตั้งท่าผิด เริ่มตั้งแต่มองสิ่งทั้งหลาย ก็มองด้วยท่าทีของความรู้สึกที่ว่าอยากอย่างนั้น อยากอย่างนี้ ชอบใจไม่ชอบใจ พอรับรู้ประสบการณ์อะไร ก็เอาความชอบใจไม่ชอบใจเข้าไปจับ หรือมีปฏิกิริยาชอบใจหรือไม่ชอบใจไปตามความรู้สึก

สำหรับชาวพุทธจะไม่เอาความชอบใจไม่ชอบใจหรือความชอบชังของตัณหามาเป็นตัวตัดสิน เป็นตัวนำวิถีชีวิต หรือเป็นตัวบงการพฤติกรรม แต่เอาปัญญามานำ

การที่จะเอาปัญญามานำนั้น ถ้าเรายังไม่มีปัญญาพอ หรือยังไม่ชำนาญ ก็ตั้งหลักในใจก่อน คือตั้งหลักที่จะเป็นจุดเริ่มต้นให้แก่ปัญญา

วิธีตั้งหลักในเมื่อยังไม่มีปัญญาพอ ก็คือ ทำเป็นคติไว้ในใจ เวลาเกิดอะไร เจออะไร บอกใจว่า "มองตามเหตุปัจจัยนะ" พอทำอย่างนี้ ปัญหาหมดไปตั้งครึ่งตั้งค่อนเลย เช่น คนมีทุกข์หรือคนจะโกรธ พอบอกว่ามองตามเหตุปัจจัยเท่านั้นแหละ ความทุกข์หรือความโกรธก็สะดุดชะงักหรือลดลงไปเลย

เพราะฉะนั้น เราประสบปัญหาอะไร เจอสถานการณ์อะไร แม้แต่ในความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ให้เราตั้งใจวางท่าทีไว้ว่า "มองตามเหตุปัจจัยนะ" พอมองตามเหตุปัจจัย เราก็ต้องใช้ปัญญาคิดพิจารณา ปัญญาก็เริ่มต้นทำงาน กิเลสและความทุกข์ก็ถูกกันออกไป เข้ามาไม่ได้

แต่ถ้าเราไม่มองตามเหตุปัจจัย เราก็จะมองด้วยความชอบชัง พอมองตามความชอบชัง ปัญหาก็เกิดขึ้นในจิตใจของเรา เป็นความกระทบกระทั่งบีบคั้นปะทะกัน ขุ่นมัว หรือตื่นเต้นลิงโลดหลงใหลไปตาม แล้วปัญหานั้นก็จะขยายออกมาข้างนอกด้วย

พอมองตามเหตุปัจจัยเราจะไม่เกิดปัญหา เราจะคิดเหตุผล เราจะหาความจริง และได้ความรู้ที่จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้น เรื่องนั้น กรณีนั้น ได้โดยถูกต้อง แล้วเราก็จะมองผู้อื่นด้วยความเข้าใจ เช่นถ้ามีผู้อื่นเข้ามามีอาการกิริยาหรือวาจากระทบกระทั่งเรา เรามองตามเหตุปัจจัย บางทีเรากลายเป็นสงสารเขา

คนนี้เขามาด้วยท่าทีอย่างนี้ แสดงออกอย่างนี้ ถ้าเราไปรับกระทบ ก็เกิดความโกรธ แต่ถ้าเราถือหลักมองตามเหตุปัจจัยนี้ เราก็เริ่มคิดว่า เออ เขาอาจจะมีปัญหาอะไรของเขา ตอนนี้เราจะเริ่มคิดถึงปัญหาของเขา แล้วก็จะคิดช่วยแก้ไข ใจเราโล่งออกไปนอกตัว ไม่อั้นกดกระแทกอยู่กับตัว ก็เลยไม่เกิดเป็นปัญหาแก่ตัวเรา

ตัวเขาเองอาจจะมีปัญหา เขาอาจจะไม่สบายใจอะไรมา หรืออาจจะมีปมอะไร เรามองด้วยความเข้าใจ และสืบหาเหตุปัจจัย พอเราเข้าใจเขา เราเองก็สบายใจ และเกิดความสงสารเขา กลายเป็นคิดจะช่วยเหลือไป

ประโยชน์สุขที่สมบูรณ์จะเกิดขึ้นได้
จิตใจต้องมีอิสรภาพ

การตั้งหลักในใจ เพื่อเป็นจุดเริ่มให้ปัญญามานำจิต หรือเพื่อให้จิตเข้าสู่กระแสปัญญา อีกวิธีหนึ่ง คือการมองตามคุณค่า หมายความว่า เมื่อพบเห็นเจอะเจอหรือเกี่ยวข้องกับบุคคล สิ่งหรือสถานการณ์ใดๆ ก็ไม่ให้มองตามชอบใจไม่ชอบใจของตัวเรา แต่มองดูคุณโทษ ข้อดีข้อเสีย และประโยชน์ที่จะเอามาใช้ให้ได้จากสิ่งหรือบุคคลนั้น

การมองตามคุณค่าของสิ่งนั้นๆ ก็ตรงข้ามกับการมองตามชอบใจไม่ชอบใจ หรือชอบชังของตัวเรา เช่นเดียวกับการมองตามเหตุปัจจัย แต่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้ประโยชน์จากประสบการณ์หรือสถานการณ์ที่เราเกี่ยวข้องทุกอย่าง โดยเฉพาะในการที่จะเอามาพัฒนาชีวิตจิตใจของเราให้ก้าวหน้าดีงามสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

ไม่ว่าพบเห็นประสบอะไร ก็หาประโยชน์หรือมองให้เห็นประโยชน์จากมันให้ได้ อย่างที่ว่า แม้แต่ได้ฟังคำเขาด่า หรือพบหนูตายอยู่ข้างทาง ก็มองให้เกิดมีประโยชน์ขึ้นมาให้ได้

การมองตามเหตุปัจจัย เป็นวิธีมองให้เห็นความจริง ส่วนการมองตามคุณค่า เป็นวิธีมองให้ได้ประโยชน์ แต่ทั้งสองวิธีเป็นการมองตามที่สิ่งนั้นเป็น ไม่ใช่มองตามความชอบชังของตัวเรา

การมองตามที่มันเป็น เป็นกระแสของปัญญา เอาปัญญาที่รู้ความจริงมานำชีวิต ส่วนการมองตามชอบใจไม่ชอบใจหรือตามชอบชังของเรา เป็นกระแสของตัณหา เอาตัณหาที่ชอบชังมานำชีวิต

การมองตามเหตุปัจจัย ซึ่งเป็นการมองหาความจริง เป็นการมองตามที่สิ่งนั้นมันเป็นของมันตามสภาวะแท้ๆ เรียกว่าเป็นขั้นปรมัตถ์ เป็นเรื่องของการที่จะเข้าถึงประโยชน์สุขระดับที่สามโดยตรง ส่วนการมองตามคุณค่า ซึ่งเป็นการมองให้ได้ประโยชน์ แม้จะเป็นการมองตามที่สิ่งนั้นเป็น แต่ก็ไม่ถึงกับตามสภาวะแท้ๆ เรียกว่ายังอยู่ในขั้นที่เกี่ยวกับสมมติ เป็นวิธีปฏิบัติสำหรับประโยชน์สุขในระดับที่สอง แต่ในตอนก่อนนั้นไม่ได้พูดไว้ จึงพูดไว้ในตอนนี้ด้วย เพราะเป็นเรื่องประเภทเดียวกัน

เป็นอันว่า ให้ใช้หลักของปัญญา นี้เป็นวิธีเบื้องต้นที่จะให้ปัญญามานำชีวิต ต่อไปเราก็จะมีแต่กระแสปัญญา กระแสความรู้เหตุปัจจัย เราก็จะดำเนินชีวิตที่ปราศจากปัญหาและมีจิตใจเป็นอิสระ จนกระทั่งสิ่งทั้งหลายที่เกิดขึ้นเป็นไปตามกฎธรรมชาติ มีความไม่เที่ยง เป็นอนิจจัง คงอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ เป็นทุกขัง ไม่มีตัวตนยั่งยืนตายตัว แต่เป็นไปตามเหตุปัจจัย เมื่อเรารู้เข้าใจอย่างนี้แล้ว สิ่งทั้งหลายที่เป็นอย่างนั้น มันก็เป็นไปตามกฎธรรมชาติ โดยที่ว่ามันก็เป็นของมันอย่างนั้นเอง แต่มันไม่ดึงหรือลากเอาจิตใจของเราเข้าไปทับกดบดขยี้ภายใต้ความผันผวนปรวนแปรของมันด้วย

เราก็ปล่อยให้ทุกข์ที่มีอยู่ตามธรรมดาของธรรมชาติ เป็นทุกข์ของธรรมชาติไปตามเรื่องของมัน ไม่กลายมาเป็นทุกข์หรือก่อให้เกิดทุกข์ในใจของเรา

ถ้าใช้ปัญญาทำจิตใจให้เป็นอิสระถึงขั้นนี้ได้ ก็เรียกว่ามาถึงประโยชน์สุขระดับสูงสุด ซึ่งเป็นระดับที่ ๓

ระดับที่ ๓ ได้แก่ ประโยชน์สุขที่เป็นนามธรรม ขั้นที่เป็นโลกุตตระ เป็นเรื่องของจิตใจที่เป็นอิสระอยู่เหนือกระแสโลก เนื่องจากมีปัญญาที่รู้เท่าทันความจริงของโลกและชีวิต อย่างที่ว่าอยู่ในโลกแต่ไม่ติดโลก หรือไม่เปื้อนโลก เหมือนใบบัวไม่ติดน้ำ หรือไม่เปียกน้ำ เรียกด้วยภาษาวิชาการว่า ปรมัตถะ แปลว่า ประโยชน์สูงสุด

ผู้ที่พัฒนาปัญญาไปถึงประโยชน์สูงสุดนี้ นอกจากอยู่ในโลกโดยที่ว่าได้รับประโยชน์ขั้นที่หนึ่งและขั้นที่สองสมบูรณ์แล้ว ยังไม่ถูกกระทบกระทั่ง ไม่ถูกกฎธรรมชาติเข้ามาครอบงำบีบคั้นด้วย

ฉะนั้น ความทุกข์ที่มีในธรรมชาติก็มีไป แต่มันไม่มาเกิดเป็นความทุกข์ในใจเรา อนิจจังก็เป็นไปของมัน ใจเราไม่ผันผวนปรวนแปรไปด้วย จึงมาถึงขั้นที่เรียกว่าถูกโลกธรรมกระทบก็ไม่หวั่นไหว

อิสรชน คือคนที่ไม่ยุบไม่พอง

โลกธรรม ก็คือสิ่งที่มีอยู่และเกิดขึ้นเป็นประจำตามธรรมดาของโลก โดยเฉพาะเหตุการณ์ผันผวนปรวนแปรไม่แน่นอนต่างๆ ในทางดีบ้าง ร้ายบ้าง อย่างที่เราเรียกกันว่าโชคและเคราะห์ ซึ่งมนุษย์ทั้งหลายจะต้องประสบตามกระแสแห่งความเปลี่ยนแปลง มนุษย์อยู่ในโลกก็จะต้องถูกโลกธรรมกระทบกระทั่ง โลกธรรมมีอะไรบ้าง

๑. ได้ลาภ ๒. เสื่อมลาภ
๓. ได้ยศ ๔. เสื่อมยศ
๕. สรรเสริญ ๖. นินทา
๗. สุข ๘. ทุกข์

มนุษย์อยู่ในโลกนี้ จะต้องถูกสิ่งเหล่านี้กระทบกระทั่ง และถ้าไม่รู้เท่าทัน ก็ถูกมันครอบงำ เป็นไปตามอิทธิพลของมัน เวลาพบฝ่ายดีที่ชอบใจ ก็ฟู เวลาเจอะฝ่ายร้ายที่ไม่ชอบใจ ก็แฟบ พอได้ก็พอง แต่พอเสียก็ยุบ

ฟู ก็คือ ตื่นเต้นดีใจ ปลาบปลื้ม ลิงโลด กระโดดโลดเต้น หรือแม้แต่เห่อเหิมไป

แฟบ ก็คือ ห่อเหี่ยว เศร้าโศก เสียใจ ท้อแท้ หรือแม้แต่ตรอมตรม ระทม คับแค้นใจ

พอง คือ ผยอง ลำพองตน ลืมตัว มัวเมา อาจจะถึงกับดูถูกดูหมิ่น หรือใช้ทรัพย์ใช้อำนาจข่มเหงรังแกผู้อื่น

ยุบ คือ หมดเรี่ยวแรง หมดกำลัง อาจถึงกับดูถูกตัวเอง หันเหออกจากวิถีแห่งคุณธรรม ละทิ้งความดี ตลอดจนอุดมคติที่เคยยึดถือ

ชีวิตในโลกก็เป็นอย่างนี้แหละ เราต้องยอมรับความจริงว่า เราอยู่ในโลก ย่อมไม่พ้นสิ่งเหล่านี้ เมื่อไม่พ้น จะต้องพบต้องเจอะเจอเกี่ยวข้องกับมัน ก็อย่าไปเอาจริงเอาจังกับมันจนถึงกับลุ่มหลงยึดเป็นของตัวเรา ควรจะมองในแง่ที่ว่าทำอย่างไรจะปฏิบัติต่อมันให้ถูกต้อง คืออยู่ด้วยความรู้เท่าทัน

ถ้าเรารู้เท่าทันแล้ว เราจะปฏิบัติต่อโลกธรรมเหล่านี้ได้ดี เป็นคนที่ไม่ฟูไม่แฟบ และไม่ยุบไม่พอง และยังเอามันมาใช้ประโยชน์ได้อีกด้วย

ถ้าโชคมา ฉันจะมอบมันให้เป็นของขวัญแก่มวลประชา

ถ้าโลกธรรมฝ่ายดีที่น่าปรารถนาเกิดขึ้น แล้วเรารู้เท่าทัน และปฏิบัติต่อมันได้ถูกต้อง โลกธรรมเหล่านั้นก็ไม่ก่อให้เกิดพิษภัยแก่เราและแก่ใครๆ ยิ่งกว่านั้น ยังกลายเป็นเครื่องมือสำหรับทำความดีงามสร้างสรรค์ประโยชน์สุขให้เพิ่มพูนยิ่งขึ้นอีกด้วย

วิธีปฏิบัติต่อโลกธรรมฝ่ายดีที่สำคัญ คือ

๑. รู้ทันธรรมดา คือรู้ความจริงว่า เออ ที่เป็นอย่างนี้ มันก็เป็นของมีได้เป็นได้เป็นธรรมดาตามเหตุปัจจัย เมื่อมันมาก็ดีแล้ว แต่มันไม่เที่ยงแท้แน่นอน ผันแปรได้นะ มันเกิดขึ้นได้ มันก็หมดไปเสื่อมไปได้

ยามได้ฝ่ายดีที่น่าชอบใจ จะเป็นได้ลาภ ได้ยศ ได้สรรเสริญ ได้สุขก็ตาม เราก็ดีใจ ปลาบปลื้มใจ เรามีสิทธิ์ที่จะดีใจ แต่ก็อย่าไปมัวเมาหลงใหล ถ้าไปมัวเมาหลงใหลแล้ว สิ่งเหล่านี้ก็จะกลับกลายเป็นเหตุแห่งความเสื่อมของเรา แทนที่เราจะได้ประโยชน์ก็กลับจะได้โทษ

ลาภก็ดี ยศก็ดี สรรเสริญก็ดี สุขก็ดี ที่ไม่เที่ยงแท้แน่นอน ผันแปรได้นั้น มันก็เป็นไปตามเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้นเราจะต้องไม่ประมาท จะต้องป้องกันแก้ไขเหตุปัจจัยแห่งความเสื่อม และคอยเสริมสร้างเหตุปัจจัยที่จะให้มันมั่นคงอยู่และเจริญเพิ่มพูนโดยชอบธรรม

เฉพาะอย่างยิ่ง เหตุปัจจัยสำคัญของความเสื่อม ก็คือความลุ่มหลงมัวเมา ถ้าเรามัวเมาหลงละเลิงแล้ว สิ่งเหล่านี้ก็กลับเป็นโทษแก่ชีวิต เช่น คนเมายศ พอได้ยศ ก็มัวเมาหลงละเลิง ดูถูกดูหมิ่นคนอื่น ใช้อำนาจข่มขี่ทำสิ่งที่ไม่ดีเบียดเบียนข่มเหงคนอื่นไว้ แต่สิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง พอเสื่อมยศ ก็ย่ำแย่ ทุกข์ภัยก็โหมกระหน่ำทับถมตัว

๒. เอามาทำประโยชน์ คนที่รู้จักปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านี้ ก็มองว่า เออ ตอนนี้โลกธรรมฝ่ายดีมา ก็ดีแล้ว เราจะใช้มันเป็นโอกาสในการสร้างสรรค์ทำความดี เช่น พอเราได้ยศ เรารู้ทันว่า เออ สิ่งเหล่านี้ไม่เที่ยงหรอก มันไม่ใช่อยู่ตลอดไป เมื่อมันมาก็ดีแล้ว เราจะใช้มันให้เป็นประโยชน์

เราดีใจที่ได้มันมาทีหนึ่งแล้ว คราวนี้เราคิดว่าเราจะทำให้มันเป็นประโยชน์ เราก็ดีใจมีความสุขยิ่งขึ้นไปอีก พอเราดีใจแต่เราไม่หลง เราก็ใช้มันให้เป็นประโยชน์ เราอาจจะใช้ยศนั้นเป็นเครื่องมือหรือเป็นช่องทางในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ในการสร้างสรรค์ความดีงาม ทำการสงเคราะห์ บำเพ็ญประโยชน์ ก็กลายเป็นดีไป

ข้อที่สำคัญก็คือ เมื่อเรามีลาภหรือมีทรัพย์มียศศักดิ์เกียรติบริวาร ความดีและประโยชน์หรือการสร้างสรรค์ต่างๆ นั้นเราก็ทำได้มาก กลายเป็นว่าลาภและยศเป็นต้น เป็นเครื่องมือและเป็นเครื่องเอื้อโอกาสในการที่จะทำให้ชีวิตของเรามีคุณค่า ขยายประโยชน์สุขให้กว้างขวางมากมายแผ่ออกไปในสังคม

นี่คือการที่เรามาช่วยสร้างสรรค์ให้โลกนี้เป็นอย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า อัพยาปัชฌโลก คือโลกแห่งความรักความเมตตา เป็นที่ปลอดภัยไร้การเบียดเบียน และมีสันติสุข แล้วก็ทำให้ตัวเราเองได้ความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนมนุษย์ ได้รับความเคารพนับถือที่แท้จริงด้วยประโยชน์สุขระดับที่หนึ่ง กลายเป็นบันไดก้าวขึ้นสู่ประโยชน์สุขระดับที่สอง

ลาภยศเป็นต้นเกิดแก่คนที่เป็นบัณฑิต มีแต่เป็นประโยชน์ เพราะเป็นเครื่องมือในการสร้างสรรค์ประโยชน์สุขให้แผ่ขยายกว้างขวางออกไปเกื้อกูลแก่สังคม และทำชีวิตให้พัฒนาขึ้น

แต่ถ้าทรัพย์และอำนาจเกิดแก่ผู้ที่ไม่รู้เท่าทัน มีความลุ่มหลงละเลิงมัวเมา ก็กลับกลายเป็นโทษแก่ชีวิตของตนเอง และเป็นเครื่องมือทำร้ายผู้อื่นไป ซึ่งก็เป็นผลเสียแก่ตนเองในระยะยาวด้วย

โลกธรรมอย่างอื่นก็เช่นเดียวกันทั้งนั้น ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เป็นสิ่งที่เราจะต้องปฏิบัติให้ถูก หลักสำคัญก็คืออย่าไปหลงละเลิงมัวเมา

ถ้าเคราะห์มา
มันคือของขวัญที่ส่งมาช่วยตัวฉันให้ยิ่งพัฒนา

ในทางตรงข้าม ถ้าโลกธรรมฝ่ายร้ายเกิดขึ้นจะทำอย่างไร เมื่อกี้ฝ่ายดีเกิดขึ้น เราก็ถือโอกาสใช้ให้เป็นประโยชน์ ทำการสร้างสรรค์ ทำให้เกิดประโยชน์สุขแผ่ขยายออกไปมากยิ่งขึ้น

ทีนี้ถึงแม้ฝ่ายร้ายเกิดขึ้น คือเสื่อมลาภ เสื่อมยศ ถูกติฉินนินทา และประสบทุกข์ คนมีปัญญารู้เท่าทัน ก็ไม่กลัว ไม่เป็นไร เขาก็รักษาตัวอยู่ได้ และยังหาประโยชน์ได้อีกด้วย คือ

๑. รู้ทันธรรมดา คือรู้ความจริงว่า สิ่งทั้งหลายก็อย่างนี้เอง ล้วนแต่ไม่เที่ยงแท้แน่นอน ย่อมผันแปรไปได้ทั้งสิ้น นี่แหละที่ว่าอนิจจัง เราก็ได้เจอกับมันแล้ว เมื่อมีได้ ก็หมดได้ เมื่อขึ้นได้ ก็ตกได้ แต่เมื่อหมดแล้ว ก็มีได้อีก เมื่อตกแล้ว ก็อาจขึ้นได้อีก ไม่แน่นอน มันขึ้นต่อเหตุปัจจัย

ข้อสำคัญอยู่ที่ว่า มันเป็นการมีการได้และเป็นการขึ้น ที่ดีงามชอบธรรม เป็นประโยชน์หรือไม่ และเป็นเรื่องที่เราจะต้องศึกษาหาเหตุปัจจัย และทำให้ถูกต้องต่อไป

เพราะฉะนั้น อย่ามัวมาตรอมตรมทุกข์ระทมเหงาหงอย อย่ามัวเศร้าโศกเสียใจละห้อยละเหี่ยท้อแท้ใจไปเลย จะกลายเป็นการซ้ำเติมทับถมตัวเองหนักลงไปอีก และคนที่ต้องพึ่งพาอาศัยเราก็จะยิ่งแย่ไปใหญ่ เรื่องธรรมดาของโลกธรรมเป็นอย่างนี้ เราก็ได้เห็นความจริงแล้ว เรารู้เท่าทันมันแล้ว เอาเวลามาศึกษาหาเหตุปัจจัย จะได้เรียนรู้ จะได้แก้ไขปรับปรุง ลุกขึ้นมาทำให้ฟื้นตัวขึ้นใหม่ดีกว่า

เมื่อรู้เท่าทัน อยู่กับความจริงอย่างนี้ เราก็รักษาตัวรักษาใจให้เป็นปกติ ปลอดโปร่งผ่องใสอยู่ได้ ไม่ละเมอคลุ้มคลั่งเตลิดหรือฟุบแฟบทำลายหรือทำร้ายตัวเองให้ยิ่งแย่ลงไป

๒. เอามาพัฒนาตัวเรา คนที่เป็นนักปฏิบัติธรรม เมื่อความเสื่อม ความสูญเสีย และโลกธรรมฝ่ายร้ายทั้งหลายเกิดขึ้นแก่ตน นอกจากรู้เท่าทันธรรมดา มองเห็นความจริงของโลกและชีวิตที่เป็นอนิจจังแล้ว เขายังเอามันมาใช้ให้เป็นประโยชน์ในการพัฒนาตัวเองให้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย

เขาจะมองว่า นี่แหละความไม่เที่ยงได้เกิดขึ้นแล้ว เมื่อมันเกิดขึ้นมา ก็เป็นโอกาสที่เราจะได้ทดสอบตนเอง ว่าเรานี่มีความมั่นคงและความสามารถแค่ไหน ในการที่จะต่อสู้กับสิ่งเหล่านี้ เราจะเผชิญกับมันไหวไหม

ถ้าเราแน่จริง เราก็ต้องสู้กับมันไหว และเราจะต้องแก้ไขได้ เพราะอันนี้เท่ากับเป็นปัญหาที่จะให้เราสู้ให้เราแก้ เราจะมีความสามารถแก้ปัญหาไหม นี่คือบททดสอบที่เกิดขึ้น

นอกจากเป็นบททดสอบแล้ว ก็เป็นบทเรียนที่เราจะต้องศึกษาว่ามันเกิดขึ้นจากเหตุอะไร เพื่อจะได้เป็นประโยชน์ต่อไปภายหน้า

ถ้าเราสามารถแก้ปัญหานี้ได้ ก็แสดงว่า เรามีความสามารถจริง ถ้าเราผ่านสถานการณ์นี้ไปได้ปลอดโปร่งสวัสดีแล้ว ต่อไปเราก็จะมีความสามารถและจัดเจนยิ่งขึ้น

รวมความว่า คนที่ดำเนินชีวิตเป็น จะใช้ประโยชน์จากโลกธรรมฝ่ายร้ายได้ ทั้งในแง่เป็นเครื่องทดสอบจิตใจ และเป็นเครื่องพัฒนาปัญญา คือทดสอบว่าเรามีจิตใจเข้มแข็งมั่นคง แม้จะเผชิญเคราะห์ร้ายหรือเกิดมีภัย ก็ดำรงรักษาตัวให้ผ่านพ้นไปได้ ไม่หวั่นไหว และใช้ปัญญาเรียนรู้สืบค้นเหตุปัจจัย เพื่อจะได้แก้ไขและสร้างสรรค์เดินหน้าให้ได้ผลดียิ่งขึ้นต่อไป

ยิ่งกว่านั้น เขาจะมองในแง่ดีว่า คนที่ผ่านทุกข์ผ่านภัยมามาก เมื่อผ่านไปได้ ก็เป็นประโยชน์แก่ตัวเอง คนที่ผ่านมาได้ ถือว่าได้เปรียบคนอื่นที่ไม่เคยผ่าน

นอกจากผ่านทุกข์ผ่านโทษผ่านภัยไปแล้ว ถ้ายิ่งสามารถผ่านไปได้ด้วยดีอีกด้วย ก็เป็นหลักประกันว่าต่อไปไม่ต้องกลัวแล้ว เพราะแสดงว่าเราประสบผลสำเร็จแก้ปัญหาได้ เราจะมีชีวิตที่ดีงามเข้มแข็ง ไม่ต้องกลัวภัยอันตรายอีก ดีกว่าคนที่ไม่เคยเจอกับสิ่งเหล่านี้ พบแต่สิ่งที่เป็นคุณหรือสิ่งที่ชอบใจอย่างเดียว เป็นชีวิตที่ไม่ได้ทดสอบ

เป็นอันว่า ถ้ามองในแง่ที่ดีงามแล้ว เราก็ใช้ประโยชน์จากโลกธรรมทั้งที่ดีและร้ายได้ทั้งหมด อย่างน้อยก็เป็นคนชนิดที่ว่า ไม่เหลิงในสุข ไม่ถูกทุกข์ทับถม

ฉะนั้น ถ้าเราจะต้องเผชิญกับโลกธรรมที่ไม่ชอบใจ ก็ต้องมีใจพร้อมที่จะรับและสู้กับมัน ถ้าปฏิบัติต่อมันได้ถูกต้อง เราก็จะผ่านสถานการณ์ไปด้วยดี และเป็นประโยชน์ เราจะมีความเข้มแข็ง ชีวิตจะดีงามยิ่งขึ้น

แล้วตอนนั้น เราจะได้พิสูจน์ตัวเองด้วยว่า ถึงแม้ว่าเราจะมีประโยชน์สุขขั้นที่หนึ่ง ที่เป็นรูปธรรมหรือมีวัตถุเพียงเล็กน้อยนี้ เราจะสามารถอยู่ด้วยประโยชน์สุขขั้นที่สอง ด้วยทุนทางด้านคุณความดี ทางด้านจิตใจได้หรือไม่ แล้วก็ทดสอบยิ่งขึ้นไปอีกคือในระดับที่สาม ว่าเรามีจิตใจที่เป็นอิสระ สามารถที่จะอยู่ดีมีสุข โดยไม่ถูกกระแทกกระเทือนหวั่นไหวด้วยโลกธรรมได้ไหม

ถ้าจิตถูกโลกธรรมทั้งหลายกระทบกระทั่งแล้วไม่หวั่นไหว ยังสามารถมีใจเบิกบานเกษมปลอดโปร่ง ไม่มีธุลี ไร้ความขุ่นมัวเศร้าหมองผ่องใสได้ ก็เป็นมงคลอันสูงสุด

มงคลหมดทั้ง ๓๘ ประการมาจบลงสุดท้ายที่นี่

พระพุทธศาสนาสอนหลักธรรมไปตามลำดับจนมาถึงข้อนี้ คือข้อว่ามีจิตใจเป็นอิสระ อย่างที่พระสงฆ์สวดในงานพิธีมงคลทุกครั้ง ตอนที่สวดมงคลสูตร มงคล ๓๘ จะมาจบด้วยคาถานี้ คือ

ผุฏฺฐสฺส โลกธมฺเมหิ จิตฺตํ ยสฺส น กมฺปติ
อโสกํ วิรชํ เขมํ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ

ผู้ใดถูกโลกธรรมทั้งหลาย (ทั้งฝ่ายดีและฝ่ายร้าย) กระทบกระทั่งแล้ว จิตใจไม่เศร้าโศก ไม่หวั่นไหว เกษม มั่นคง ปลอดโปร่งได้ นั่นคือมงคลอันอุดม

ถ้าถึงขั้นนี้แล้ว ก็เรียกว่าเราได้ประสบประโยชน์สุขขั้นสูงสุด ชีวิตก็จะสมบูรณ์ อยู่ในโลกก็จะมีความสุขเป็นเนื้อแท้ของจิตใจ ถึงแม้ไปเจอความทุกข์เข้าก็ไม่มีปัญหา ก็สุขได้แม้แต่ในท่ามกลางความทุกข์

คนที่ทำอย่างนี้ได้ จะมีลักษณะชีวิตที่พัฒนาในด้านความสุข ซึ่งจะทำให้เป็นคนที่มีความสุขได้ง่าย

ทำไม โลกยิ่งพัฒนา ชาวประชายิ่งเป็นคนที่สุขยาก

เป็นที่น่าสังเกตว่า มนุษย์ในโลกปัจจุบันนี้ได้พัฒนาทางด้านวัตถุกันมาก เก่งในการหาวัตถุเป็นอย่างยิ่ง แต่มีลักษณะที่ปรากฏเด่นขึ้นมาอย่างหนึ่ง คือมักจะกลายเป็นคนที่สุขยากขึ้น ยิ่งอยู่ไปๆ ในโลก ก็ยิ่งเป็นคนที่สุขยากขึ้นทุกที อันนี้ไม่ใช่ลักษณะที่ดี

เมื่อมีของมีวัตถุอะไรต่างๆ ที่เป็นเครื่องอำนวยประโยชน์สุขในระดับที่หนึ่งมากขึ้น คนก็น่าจะมีความสุขมากขึ้น แต่ปรากฏว่าผู้คนไม่ได้มีความสุขมากขึ้น ความสุขบางอย่างที่ดูเหมือนจะมากขึ้น ก็มักจะเป็นความสุขแบบฉาบฉวยเสียมากกว่า

โดยเฉพาะความสุขที่แท้ในจิตใจ นอกจากไม่ดีขึ้น ยังมีทีท่าว่าลดน้อยลง คนตะเกียกตะกายหาความสุขแบบผ่านๆ ชั่วครู่ชั่วยามกันพล่านไป เพราะไม่มีความสุขที่มั่นคงยืนตัวอยู่ภายใน

ทั้งๆ ที่มีสิ่งของและอุปกรณ์ที่จะบำรุงความสุขมากเหลือล้น แต่คนก็ขาดแคลนความสุขกันอยู่เรื่อยๆ และมีลักษณะอาการที่มีความสุขได้ยาก คือกลายเป็นคนที่สุขยากขึ้น อย่างที่ว่า เคยมีเท่านี้สุขก็ไม่สุขแล้ว ต้องมีเท่านั้น ต้องได้ขนาดโน้นจึงจะสุข เป็นลักษณะที่น่าสังเกต

ในเรื่องนี้ ลักษณะที่ตรงกันข้ามก็คือสุขง่ายขึ้น คนเราอยู่ในโลกนี้ ชีวิตของเราเจริญเติบโตขึ้นมา เราพัฒนาขึ้นๆ สิ่งหนึ่งที่เราน่าจะพัฒนาขึ้นด้วย ก็คือความสุข หมายความว่า ยิ่งเราพัฒนาไป เราก็น่าจะเป็นคนที่สุขง่ายยิ่งขึ้น และก็สุขได้มากขึ้น

เมื่อเป็นเด็ก ได้เล่นอะไรเล็กๆ น้อยๆ หรืออยากได้อะไรนิดๆ หน่อยๆ พอได้มาก็ดูจะมีความสุขมากๆ สุขได้ง่ายๆ แต่พอโตขึ้นมาดูเหมือนว่าจะสุขยากขึ้นทุกที

ถ้าเรามีชีวิตอยู่มาแล้วเราเป็นคนสุขง่ายขึ้นนี่ โอ! เราจะโชคดีมาก เพราะถ้าเราสุขง่าย มันก็ต้องดีซิ ทำอะไรนิดหน่อย มีอะไร ได้อะไรเล็กๆ น้อยๆ เดี๋ยวมันก็สุขละ แต่เดี๋ยวนี้กลายเป็นว่าเรามีอะไรนิดหน่อยไม่ได้ จะต้องมีมากๆ จึงจะสุข

ในทางที่ถูกที่ควร ถ้าเรามีความสุขง่ายขึ้น แล้วเราได้ของมากขึ้น เราก็ยิ่งสุขใหญ่ แต่ถ้าเราสุขยากขึ้น เราได้ของมามากขึ้น มันก็ไม่ช่วยให้เราสุขมากขึ้น เพราะแม้ว่าสิ่งอำนวยสุขจะมากขึ้นก็จริง แต่จุดหรือขีดที่จะมีความสุขได้ก็เขยิบหนีขึ้นไป เพราะฉะนั้น บางทีได้สิ่งอำนวยสุขมากขึ้น แต่ได้ความสุขน้อยลง

อะไรที่มันขาดหายไป คำตอบก็คือเราพัฒนาด้านเดียว เราพัฒนาชีวิตเพียงด้านหนึ่ง คือ ไปมุ่งว่าถ้าเรามีวัตถุมีอะไรต่างๆ มีทรัพย์สินเงินทอง ยศ ตำแหน่งดีขึ้นนี่ เราจะมีความสุข ฉะนั้น เราก็แสวงหาวัตถุหรือสิ่งที่จะมาบำรุงความสุขกันให้มาก

แต่การที่เราจะแสวงหาอย่างได้ผล เราก็จะต้องพัฒนาความสามารถอันนี้ คือพัฒนาความสามารถในการแสวงหาสิ่งที่จะมาบำรุงความสุข และมนุษย์เราก็ได้พัฒนาในด้านนี้กันจริงๆ จังๆ ดังจะเห็นว่าในด้านนี้เราเก่งมาก มนุษย์ยุคปัจจุบันได้พัฒนาความสามารถในการแสวงหาวัตถุมาบำรุงความสุขกันได้เก่งกาจ แม้แต่การศึกษาก็พลอยมีความหมายอย่างนี้ด้วย

ดูสิ การศึกษาส่วนมากจะมีความหมายและความมุ่งหมายอย่างนี้ คือเป็นการพัฒนาความสามารถที่จะหาวัตถุมาบำรุงความสุข แล้วเราก็เก่งกันในด้านนี้ เรามีความสามารถในการหาสิ่งมาบำรุงความสุขอย่างมากมาย

แต่ทีนี้ยังมีอีกด้านหนึ่งของการพัฒนาชีวิตที่เรามองข้ามไป คือความสามารถที่จะมีความสุข บางทีเราพัฒนาความสามารถในการหาสิ่งบำรุงความสุข พอพัฒนาไปๆ ตัวความสามารถในการที่จะมีความสุขนี้กลับลดน้อยลง หรือแม้แต่หายไปเสียเฉยๆ

ในเรื่องนี้ เราต้องมีดุลยภาพ คือต้องมีความสามารถที่จะมีความสุขมาเข้าคู่

ในเมื่อเราจะต้องมีความสามารถนี้อีกด้านหนึ่งด้วย คือความสามารถในการที่จะมีความสุข เราก็ต้องพัฒนามันขึ้นมา

ความสุขจะเพิ่มทวี ถ้าพัฒนาอย่างมีดุลยภาพ

ถ้าเราพัฒนาความสามารถที่จะมีความสุขด้วย พร้อมกันไปกับการพัฒนาความสามารถในการหาสิ่งบำรุงความสุข มันก็จะมีดุลยภาพ แล้วสองด้านนี้ก็จะมาเสริมกันด้วย เพราะว่าเมื่อเราพัฒนาความสามารถที่จะมีความสุขได้มากขึ้น เราก็มีความสุขง่ายขึ้น เมื่อเราสุขง่ายขึ้น แล้วเรามีของบำรุงความสุขมากขึ้น ความสุขมันก็ท่วมท้นเป็นทวีคูณเลย

แต่ที่มันเสียหรือล้มเหลวไปไม่เป็นอย่างนั้น ก็เพราะสาเหตุนี้แหละ คือการที่เราพัฒนาด้านเดียว เราได้แต่พัฒนาความสามารถที่จะหาสิ่งบำรุงความสุข แต่เราไม่ได้พัฒนาความสามารถที่จะมีความสุข บางทีความสามารถนี้กลับค่อยๆ หมดไปด้วยซ้ำ

คนจำนวนมากอยู่ไปๆ ในโลก ก็ค่อยๆ หมดความสามารถที่จะมีความสุข ในเมื่อเขาหมดความสามารถที่จะมีความสุข สิ่งบำรุงความสุขก็ไม่มีความหมาย

อันนี้คือชีวิตที่ขาดดุลยภาพ เพราะเรามัววุ่นอยู่กับประโยชน์สุขระดับที่หนึ่งอย่างเดียว ขาดการพัฒนาเพื่อประโยชน์สุขระดับที่สอง และระดับที่สาม

ในทางธรรม ท่านไม่ได้มองข้ามการพัฒนาในระดับที่หนึ่ง อันนั้นท่านเรียกว่าการพัฒนาในระดับศีล คือการพัฒนาความสามารถที่จะหา ตลอดจนจัดสรรและจัดการกับสิ่งบำรุงความสุข แต่ระดับต่อไปซึ่งอย่าได้มองข้าม ก็คือการพัฒนาความสามารถที่จะมีความสุข

ถ้าเราพัฒนาความสามารถที่จะมีความสุข หรืออย่างน้อยเราไม่สูญเสียมันไป เราก็จะเป็นคนที่มีความสุขได้ไม่ยาก หรือกลับจะเป็นคนที่สุขง่ายขึ้นๆ ด้วย คนที่มีความสามารถอย่างนี้จะอยู่อย่างไรก็สุขสบาย สุขสบายตลอดเวลาเลย และยิ่งอยู่ไปก็ยิ่งสุขง่ายขึ้น ยิ่งมีของมาก็ยิ่งสุขกันใหญ่

ฉะนั้นจึงควรทบทวนดูว่า ถ้าหากเรามีอะไรต่ออะไรมากมายแล้ว ก็ยังไม่มีความสุข ก็คงจะเป็นเพราะสาเหตุอันนี้ด้วย คือเราชักจะหมดความสามารถที่จะมีความสุข

การปฏิบัติธรรมนั้น ในความหมายหนึ่งก็คือการพัฒนาความสามารถที่จะมีความสุข เป็นการทำให้คนเป็นสุขได้ง่ายขึ้น

ฉะนั้นโยมที่ปฏิบัติธรรมจะต้องนึกถึงความหมายที่ว่านี้ ถ้าเราปฏิบัติธรรม เราจะมีความสามารถที่จะมีความสุขได้มากขึ้น และง่ายขึ้น จะต้องเป็นคนที่สุขง่ายขึ้น

แล้วสองด้านนี้เราไม่ทิ้งเลยสักอย่าง เราจะเป็นคนที่สมบูรณ์ เพราะว่าในด้านความสามารถที่จะมีความสุข เราก็เป็นคนที่มีความสุขได้ง่ายขึ้น และในด้านการหาวัตถุบำรุงความสุข เราก็มีความสามารถที่จะหาได้เพิ่มขึ้น เมื่อเป็นอย่างนี้เราก็มีความสุขกำลังสอง

ถ้าไม่มีความสุขแบบประสาน ก็ไม่มีการพัฒนาแบบยั่งยืน

ทีนี้เรื่องมันไม่จบแค่นี้ พอเรามีความสามารถที่จะมีความสุขได้มากขึ้น ความสุขของเรานั้นกลับขึ้นต่อวัตถุน้อยลง เราก็ไม่ต้องอาศัยวัตถุมากมายที่จะมีความสุข เรามีแค่พอเหมาะพอควรเราก็มีความสุขเต็มอิ่มแล้ว เราก็ไม่กังวลในเรื่องวัตถุมาก

แต่ในเวลาเดียวกันนี้ ความสามารถที่จะหาวัตถุบำรุงความสุขของเราก็ยังมีอยู่เต็มที่ เราก็หาวัตถุได้เยอะแยะมากมาย แต่ความสุขของเราไม่ขึ้นต่อสิ่งเหล่านั้น แล้วจะทำอย่างไรล่ะ

วัตถุก็เข้ามาๆ ความสุขของเราก็ไม่ได้ขึ้นต่อมัน เราสุขอยู่แล้วนี่ จะทำอย่างไรล่ะทีนี้ ปรากฏว่า พอดุลยภาพที่ว่ามานี้เกิดขึ้น จิตใจของเราก็เปิดออก เราก็มีโอกาสคิดถึงความสุขความทุกข์ของคนอื่น แล้ววัตถุที่เข้ามามากก็กลายเป็นเครื่องมือสร้างสรรค์ประโยชน์สุขแก่เพื่อนมนุษย์หรือแก่สังคมไปเลย

ตอนนี้ความสุขของเราไม่ขึ้นต่อวัตถุเหล่านั้นมากนักแล้ว สิ่งเหล่านั้นมีมามากก็เป็นส่วนเหลือส่วนเกิน และเมื่อใจของเราไม่มัวพะวงวุ่นวายกับการหาสิ่งเสพ ใจนั้นก็เปิดออกไปคิดถึงคนอื่น เราก็เลยใช้วัตถุเหล่านั้น ที่แสวงหามานี่ ในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ สร้างสรรค์ความดี ทำประโยชน์สุขขยายออกไป

เมื่อทำอย่างนี้ เราก็ยิ่งเข้าถึงประโยชน์สุขในระดับที่สอง

พอเราทำอย่างนี้แล้ว เราระลึกถึงชีวิตของเราว่าได้ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์มีคุณค่า เราก็ยิ่งมีความสุขลึกซึ้งขึ้นในใจของเราอีก ประโยชน์สุขขั้นที่สองมาแล้ว ก็สนับสนุนประสิทธิภาพของประโยชน์สุขระดับที่หนึ่ง ประโยชน์สุขทั้งสองระดับ ก็เลยสนับสนุนซึ่งกันและกัน

ความสุขของบุคคลก็มาเนื่องกับความสุขของสังคม ตัวเราสุขง่ายและได้สุขแล้ว เราช่วยเหลือสังคม เพื่อนร่วมสังคมก็ยิ่งมีความสุขและเราเองก็ยิ่งสุขขึ้นด้วย ความสุขแบบนี้จึงเนื่องกันและประสานเสริมกัน

เวลาเราหาประโยชน์สุขระดับที่หนึ่ง เราบอกว่าเราจะต้องได้มากที่สุด เราจึงจะมีความสุขที่สุด เราก็เลยต้องยิ่งแสวงหาให้ได้มากที่สุด คนอื่นเขาก็มองอย่างเดียวกัน เขาก็มองว่ายิ่งได้มากเขาก็จะยิ่งสุขมาก

เมื่อต่างคนต่างหา ต่างคนต่างเอา ต่างคนต่างได้ มันก็ต้องแย่งกันเบียดเบียนกัน มันก็เกิดความทุกข์ความเดือดร้อน เรียกว่าเป็นความสุขที่ต้องแย่งชิงกัน เมื่อต้องแย่งชิงก็เป็นการบอกอยู่ในตัวแล้วว่า จะต้องเจอกับทุกข์ด้วย และไม่แน่ว่าจะได้สุขหรือไม่

ทีนี้พอเรามาถึงระดับที่สอง มันเปลี่ยนไปกลายเป็นว่า ความสุขนั้นมันเนื่องกัน สุขของตนกับสุขของคนอื่น หรือสุขของบุคคลกับสุขของสังคม มันมาประสานเสริมสนับสนุนซึ่งกันและกัน ทำให้ทุกคนสุขไปด้วยกัน มันก็เลยไม่ต้องเบียดเบียนหรือแย่งชิงกัน เป็นความสุขที่เนื่องกัน หรือความสุขที่ประสานกัน

เวลานี้พูดกันมากว่าจะต้องมีการพัฒนาแบบยั่งยืน โลกจึงจะอยู่รอดได้ แต่ถ้าพัฒนากันไปแล้ว ผู้คนมีแต่การหาความสุขแบบแย่งชิงกัน การพัฒนาแบบยั่งยืนก็จะเป็นเพียงความฝันที่ไม่มีทางเป็นจริง

เราก็มองเห็นกันได้ไม่ยากว่า ถ้ามีแต่การพัฒนาด้านวัตถุ จะพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและพัฒนาเศรษฐกิจไปเท่าไรก็ตาม ถ้าไม่มีการพัฒนาคนในด้านความสามารถที่จะมีความสุขนี้ ก็จะต้องมีแต่การหาความสุขแบบแข่งขันช่วงชิง การพัฒนาแบบยั่งยืนก็ไม่มีทางสำเร็จ ถ้าจะให้การพัฒนาแบบยั่งยืนสำเร็จผล ก็ต้องพัฒนาคนให้มีความสุขแบบประสาน

การพัฒนาแบบยั่งยืน
มาด้วยกันกับความสุขแบบยั่งยืน

เมื่อมนุษย์พัฒนาอย่างมีดุลยภาพ พอจิตใจพัฒนาดีขึ้นมา ความสุขที่จะต้องได้ต้องเอาวัตถุมา ก็ค่อยๆ อาศัยวัตถุน้อยลง

ตอนแรกเราจะสุขเมื่อได้เมื่อเอา แต่พอเราพัฒนาคุณธรรมขึ้นมา มันก็เปลี่ยนแปลงไป ความสุขจะขึ้นต่อสิ่งเหล่านั้นน้อยลง กลับมาขึ้นต่อการมีคุณความดี เช่นการมีความรักแท้เกิดขึ้นในใจ

ความรักแท้ คืออะไร คือความอยากให้คนอื่นมีความสุข และอยากทำให้เขามีความสุข ตรงข้ามกับความรักเทียมที่อยากได้อยากเอาคนอื่นมาทำให้ตัวมีความสุข

ความรักแท้นั้นจะเห็นได้จากตัวอย่างง่ายๆ คือ พ่อแม่ พ่อแม่รักลูกก็คืออยากให้ลูกมีความสุข ความสุขของคนทั่วไปนั้นบอกว่าต้องได้ต้องเอาจึงจะมีความสุข แต่พ่อแม่ไม่จำเป็นต้องได้ความสุขจากการได้หรือการเอา พ่อแม่ให้แก่ลูกก็มีความสุข

เวลาให้แก่ลูก พ่อแม่เสียใจหรือทุกข์ไหม ไม่ทุกข์เลย ให้ไป ถ้าพูดในแง่ของวัตถุ ก็คือตัวเองเสีย พ่อแม่สูญเสียวัตถุนั้นไป เพราะให้แก่ลูก แต่พอพ่อแม่ให้แก่ลูกแล้ว แทนที่จะทุกข์ พ่อแม่กลับเป็นสุข

พ่อแม่สูญเสียแต่กลับสุขเพราะอะไร พ่อแม่สละให้แต่กลับได้ความสุขเพราะอะไร ก็เพราะอยากให้ลูกเป็นสุข พ่อแม่รักลูกอยากเห็นลูกเป็นสุข ความอยากให้คนอื่นเป็นสุขนั้น ท่านเรียกว่าเมตตา

เมื่อเรามีความอยากให้ผู้อื่นเป็นสุข พอเราทำให้คนอื่นเป็นสุขได้ ก็สมใจเรา เราก็เป็นสุข

เพราะฉะนั้น คนใดมีเมตตา เกิดความรักแท้ขึ้นมา เขาก็มีสิทธิ์ที่จะได้ความสุขประเภทที่สอง คือความสุขจากการให้

ส่วนคนที่ขาดเมตตาการุณย์ ไม่มีคุณธรรม อยู่กับเขาในโลกตั้งแต่เกิดมาก็ไม่ได้พัฒนา ก็จะมีความสุขประเภทเดียว คือ ความสุขจากการได้และการเอา ความสุขแบบแย่งกับเขา ต้องได้ ต้องเอาจึงจะเป็นสุข

พอเรามีคุณธรรมเกิดขึ้นในใจ คือมีเมตตาขึ้นมา เราก็อยากให้คนอื่นมีความสุข เช่นอยากให้ลูกมีความสุข พอเราให้แก่ลูก เราก็มีความสุข ทีนี้ขยายออกไป เรารักคนอื่น รักสามี รักภรรยา รักพี่ รักน้อง รักเพื่อนฝูง ยิ่งเรารักจริงขยายกว้างออกไปเท่าไร เราก็อยากให้คนทั่วไปมีความสุขเพิ่มขึ้นเท่านั้น พอเราให้เขาเราก็มีความสุข เพราะเราทำให้เขามีความสุขได้ เราก็มีความสุขด้วย ความสุขของเรากับความสุขของเขาเนื่องกัน ประสานเป็นอันเดียวกัน

ฉะนั้น คนที่พัฒนาตนดี มีคุณธรรม เช่น มีเมตตาเกิดขึ้นในใจ จึงเป็นคนที่ได้เปรียบมาก จะมีความสุขเพิ่มขึ้นและขยายออกไป และได้ความสุขที่สะท้อนเสริม คือกลายเป็นว่า ความสุขของเราก็เป็นความสุขของเขา ความสุขของเขาก็เป็นความสุขของเรา เป็นอันเดียวกันไปหมด

คนที่พัฒนามาถึงระดับนี้ ก็มีความสุขเพิ่มขึ้น และขยายมิติแห่งความสุขออกไป คือ นอกจากความสุขจากการได้การเอาแล้ว ก็มีความสุขจากการให้เพิ่มขึ้นมาด้วย และเขาก็จะมีชีวิตและความสุขชนิดที่เป็นอิสระมากขึ้น เพราะความสุขของเขาขึ้นต่อวัตถุภายนอกน้อยลง

นอกจากนั้น ความสุขของเขาก็เริ่มเป็นเนื้อหาสาระมากขึ้น ไม่เป็นเพียงความสุขผ่านๆ ที่ได้จากการเสพวัตถุให้ตื่นเต้นไปคราวหนึ่งๆ แล้วคอยวิ่งตามหาความสุขชิ้นต่อไปๆ แต่เขาจะมีความสุขชนิดที่ยืนพื้นประจำอยู่ในใจของตัวเอง ที่ไม่ต้องรอผลการวิ่งไล่ตามหาจากภายนอก เรียกได้ว่าเป็น ความสุขแบบยั่งยืน

ถ้าคนพัฒนาจนมีความสุขแบบยั่งยืนได้อย่างนี้ ก็จะเป็นหลักประกันให้การพัฒนาแบบยั่งยืนสำเร็จผลได้จริงด้วย เพราะถ้าวิเคราะห์กันให้ถึงที่สุดแล้ว การพัฒนาที่ผิดพลาด ซึ่งกลายเป็นการพัฒนาแบบไม่ยั่งยืนนั้น ก็เกิดจากความเชื่อความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องความสุขและวิธีการหาความสุขของมนุษย์ ที่ไม่ได้พัฒนาขึ้นมาเลยนั่นเอง

ถ้ามนุษย์จมอยู่กับแนวความคิดและวิธีการหาความสุขแบบที่ไม่พัฒนานั้น ก็ไม่มีทางที่จะทำให้เกิดการพัฒนาแบบยั่งยืนได้ เพราะฉะนั้น การพัฒนาที่ยั่งยืน จะต้องมากับความสุขที่ยั่งยืน

เป็นอันว่า การพัฒนาในระดับของประโยชน์สุขที่แท้นี้ จะทำให้โลกนี้มีความสุขร่มเย็น พร้อมกับที่ตัวบุคคลเองก็สุขสบายพอใจ ทุกอย่างดีไปหมดเลย เพราะอะไรต่ออะไรก็มาเกื้อกูลซึ่งกันและกัน

ฉะนั้น เมื่อเดินทางถูกแล้ว ชีวิตก็สมบูรณ์ และความสุขก็ยิ่งมากขึ้น จนเป็นความสุขที่สมบูรณ์ไปด้วย

ขอแทรกข้อสังเกตว่า เวลาเรารักใคร ก็จะมีความรัก ๒ แบบ ไม่แบบใดก็แบบหนึ่ง หรืออาจจะทั้งสองแบบปนกันอยู่ ได้แก่ ความรักแบบที่หนึ่ง เมื่อรักใคร ก็คืออยากได้เขามาบำเรอความสุขของเรา และความรักแบบที่สอง เมื่อรักใคร ก็คืออยากให้เขามีความสุข

พอเราอยากให้เขาเป็นสุข เราก็จะพยายามทำให้เขาเป็นสุข ไม่ว่าจะทำอย่างไรก็ตามที่จะทำให้เขาเป็นสุขได้ เราก็พยายามทำ เพราะฉะนั้น เราก็ให้ เราก็ช่วยเหลือเกื้อกูลเอาใจใส่อะไรต่างๆ ทำให้เขาเป็นสุข พอเขาเป็นสุข เราก็เป็นสุขด้วย

ฉะนั้น ความรักประเภทที่ ๒ นี้จึงเป็นคุณธรรม ท่านเรียกว่าเมตตา เช่น พ่อแม่รักลูก ก็อยากให้ลูกเป็นสุข แล้วก็พยายามทำให้ลูกเป็นสุข ด้วยการให้เป็นต้น

เราก็ขยายความรักประเภท ๒ คือเมตตานี้ออกไปให้กว้างขวาง เป็นการพัฒนาที่ทำให้มีชีวิตและสังคมที่ดีงาม เพราะตัวเราเองก็ขยายขอบเขตของความสุขได้มากขึ้น พร้อมกับที่โลกก็มีความสุขมากขึ้นด้วย

ตกลงว่า นี่แหละคือหลักธรรมต่างๆ ที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ ซึ่งถ้าเราปฏิบัติตามได้ ก็เป็นคุณประโยชน์แก่ชีวิตของเรา และช่วยให้โลกนี้ร่มเย็นเป็นสุขไปด้วย

ชีวิตสมบูรณ์ ความสุขก็สมบูรณ์ สังคมก็สุขสมบูรณ์
เพราะจิตเป็นอิสระด้วยปัญญา ที่ถึงการพัฒนาอย่างสมบูรณ์

การปฏิบัติธรรมนี้ทำให้ทุกอย่างประสานกลมกลืนกันไปหมด เช่น ประโยชน์สุขของเราก็เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของผู้อื่นด้วย ประโยชน์สุขของผู้อื่นก็เป็นประโยชน์สุขของเราด้วย ไม่ขัดแย้งกัน

แต่ถ้าเราไม่ปฏิบัติตามธรรม ทุกอย่างจะขัดแย้งกันหมด แม้แต่ความสุข ก็เป็นความสุขที่แย่งชิงกัน ซึ่งจะต้องเป็นทุกข์มากกว่าสุข

เมื่อปฏิบัติไปตามหลักการนี้จนถึงที่สุดแล้ว เราก็เป็นอิสระอย่างที่ว่ามาแล้ว จนถึงขั้นที่ว่า กฎธรรมชาติที่ว่าสิ่งทั้งปวงเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันก็เป็นของมันตามธรรมชาติ กฎธรรมชาติก็เป็นกฎของธรรมชาติ มันเป็นอย่างไรก็เป็นของมันไปซิ เราก็อยู่ดีได้อย่างเป็นอิสระของเรา ไม่ถูกมันเข้ามาบีบคั้น

ถ้าทำได้ถึงขั้นนั้น ก็เป็นความสุขที่ไม่ขึ้นต่อวัตถุและไม่ขึ้นแม้ต่อนามธรรมความดี เป็นความสุขที่ไม่ต้องหา ไม่ต้องไปขึ้นต่อสิ่งอื่น คือมีความสุขเต็มเปี่ยมอยู่ในใจตลอดเวลา

เมื่อมีความสุขเต็มอยู่ในใจตลอดเวลาแล้ว มันก็เป็นอิสระ เป็นปัจจุบันทุกขณะ ก็จึงเรียกว่าเป็นชีวิตที่สมบูรณ์

เมื่อเรามีชีวิตที่สมบูรณ์เป็นอิสระอย่างนี้แล้ว เราจะมีประโยชน์สุขขั้นที่หนึ่ง และประโยชน์สุขขั้นที่สอง มันก็เป็นส่วนประกอบเข้ามา ที่ไม่ทำให้เกิดปัญหา และยิ่งเพิ่มพูนขยายประโยชน์สุขให้ทวียิ่งขึ้นไปอีก

ฉะนั้น ในฐานะพุทธศาสนิกชน เราควรจะพัฒนาชีวิตตามหลักพระพุทธศาสนาให้เข้าถึงประโยชน์สุขทุกขั้น

ขอทบทวนอีกทีหนึ่ง

ประโยชน์สุขระดับที่ ๑ ด้านรูปธรรม ที่ตามองเห็นหรือเห็นได้กับตา คือการมีสุขภาพดี การมีทรัพย์สินเงินทอง การมีอาชีพการงานเป็นหลักฐาน การมียศ ฐานะ ตำแหน่ง การเป็นที่ยอมรับในสังคม การมีมิตรสหายบริวาร และการมีชีวิตครอบครัวที่ดี

ประโยชน์สุขระดับที่ ๒ ด้านนามธรรม ที่ลึกล้ำเลยจากตามองเห็น คือเรื่องของคุณธรรมความดีงาม การมีความสุขที่เกิดจากความมั่นใจในคุณค่าของชีวิต การได้บำเพ็ญประโยชน์ช่วยเหลือเกื้อกูลแก่เพื่อนมนุษย์ ความมีศรัทธาในสิ่งที่ดีงาม ที่เป็นหลักของจิตใจ และการมีปัญญาที่ทำให้รู้จักปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายได้ถูกต้องและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ ทำให้ชีวิตเป็นอยู่ด้วยดี

ประโยชน์สุขระดับที่ ๓ ด้านนามธรรมขั้นโลกุตตระ ที่อยู่เหนือกระแสความไหลเวียนของโลกธรรม คือความเป็นผู้มีจิตใจเป็นอิสระ ด้วยความรู้เท่าทันต่อสิ่งทั้งหลาย รู้โลกและชีวิตตามความเป็นจริง จนกระทั่งว่าโลกธรรมเกิดขึ้นมากระทบกระทั่งก็ไม่หวั่นไหว วางใจและปฏิบัติได้ถูกต้องตามเหตุปัจจัย ปล่อยให้กฎธรรมชาติทั้งหลายก็เป็นกฎธรรมชาติอยู่ตามธรรมชาติ ความทุกข์ที่มีอยู่ในธรรมชาติ ก็คงเป็นทุกข์ของธรรมชาติไป ไม่เข้ามากระทบกระทั่งบีบคั้นจิตใจของเราได้ เป็นผู้มีสุขอยู่กับตนเองตลอดทุกเวลา ก็จบ

ได้เท่านี้ ชีวิตก็สมบูรณ์แล้ว

อาตมามาในวันนี้ ก็เลยนำธรรมของพระพุทธเจ้าเรื่องชีวิตที่สมบูรณ์นี้มาเล่าให้ญาติโยมฟัง อย่างน้อยในวันนี้ญาติโยมก็ทำประโยชน์สุขได้มากแล้ว

๑. ในด้านปัจจัยสี่ ทรัพย์สินเงินทอง และฐานะทางสังคม ตลอดจนมิตรสหายบริวาร ท่านทั้งหลายที่มานี่ อาตมาเชื่อว่าก็ทำกันมาได้มากพอสมควร คือมีประโยชน์สุขในด้านวัตถุ ที่เป็นรูปธรรมซึ่งตามองเห็นกันเยอะแยะ นับว่าเป็นฐานที่ดีแล้ว

๒. ในขณะนี้ท่านทั้งหลายก็มีใจเป็นบุญเป็นกุศล พากันเดินทางมาด้วยความมีศรัทธาในพระศาสนา มีน้ำใจเกื้อกูลต่อพระสงฆ์ มีไมตรีธรรมต่อกันในหมู่ญาติมิตร แล้วก็มาพบกันด้วยความสุขชื่นใจในไมตรีต่อกัน โดยที่แต่ละท่านก็เป็นผู้มีการศึกษา มีหน้าที่การงาน และมีการสมาคมที่ทำให้มีความคิดคำนึงเกี่ยวกับการสร้างสรรค์สังคมส่วนรวม

นี่ก็เป็นเรื่องของนามธรรมความดี ที่จะทำให้เราพัฒนากันยิ่งขึ้นไป และจะทำให้เราใช้ประโยชน์สุขระดับที่ ๑ เช่น ทรัพย์สินเงินทอง ยศ ตำแหน่ง อำนาจ ในการที่จะทำประโยชน์สุขขั้นที่สองให้เกิดเพิ่มขึ้น ประโยชน์สุขก็ขยายออกไป

๓. เมื่อเรามีชีวิตและอยู่ในโลก ก็ต้องรู้จักชีวิตและรู้จักโลกนั้นให้ชัดเจนตามเป็นจริง อย่างที่ว่ารู้เท่าทันโลกและชีวิตนั้น เราจะได้ปฏิบัติต่อมันได้ถูกต้องจริงๆ ทั้งทางจิตใจและในการดำเนินชีวิต

เมื่อได้สร้างสรรค์วัตถุและทำความดีกันมาแล้ว ก็ควรเข้าถึงความจริงกันให้จริงๆ ด้วย จึงจะได้ประโยชน์จากพระพุทธศาสนาโดยสมบูรณ์ แล้วก็จะทำให้ชีวิตของเราเป็นชีวิตที่สมบูรณ์ โดยมีจิตใจที่เป็นอิสระเหนือโลกธรรมทั้งปวง ด้วยปัญญาที่สมบูรณ์ และมีความสุขที่สมบูรณ์

1ธรรมกถา ที่บ้านของ น.พ.สมชาย กุลวัฒนพร ณ Saddle River, New Jersey, USA. วันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๓๗
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง