ชีวิตที่เป็นอยู่ดี: ด้วยมีการศึกษาทั้ง ๓ ที่ทำให้พัฒนาครบทั้ง ๔

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ชีวิตที่เป็นอยู่ดี
ด้วยมีการศึกษาทั้ง ๓ ที่ทำให้พัฒนาครบ ๔1

มนุษย์เป็นสัตว์ที่ประเสริฐด้วยการศึกษา

ธรรมชาติพิเศษที่เป็นส่วนเฉพาะของมนุษย์ คือ เป็น สัตว์ที่ฝึกได้ จะพูดว่า เป็นสัตว์ที่พัฒนาได้ เป็นสัตว์ที่ศึกษาได้ หรือ เป็นสัตว์ที่เรียนรู้ได้ ก็มีความหมายอย่างเดียวกัน

จะเรียกว่าเป็นสัตว์พิเศษก็ได้ คือแปลกจากสัตว์อื่น ในแง่ที่ว่าสัตว์อื่นฝึกไม่ได้ หรือฝึกแทบไม่ได้ แต่มนุษย์นี้ฝึกได้ และพร้อมกันนั้นก็เป็น สัตว์ที่ต้องฝึกด้วย

พูดสั้นๆ ว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องฝึก และฝึกได้

สัตว์อื่นแทบไม่ต้องฝึก เพราะมันอยู่ได้ด้วยสัญชาตญาณ เกิดมาแล้วเรียนรู้จากพ่อแม่นิดหน่อย ไม่นานเลย มันก็อยู่รอดได้ อย่างลูกวัวคลอดออกมาสักครู่หนึ่ง ก็ลุกขึ้นเดินได้ ไปกับแม่แล้ว ลูกห่านออกจากไข่เช้าวันนั้น พอสายหน่อยก็วิ่งตามแม่ลงไปในสระน้ำ วิ่งได้ ว่ายน้ำได้ หากินตามพ่อแม่ของมันได้ แต่มันเรียนรู้ได้นิดเดียว แค่พอกินอาหารเป็นต้น แล้วก็อยู่ด้วยสัญชาตญาณไปจนตลอดชีวิต เกิดมาอย่างไรก็ตายไปอย่างนั้น หมุนเวียนกันต่อไป ไม่สามารถสร้างโลกของมันต่างหากจากโลกของธรรมชาติ

แต่มนุษย์นี้ต้องฝึก ต้องเรียนรู้ ถ้าไม่ฝึก ไม่เรียนรู้ ก็อยู่ไม่ได้ ไม่ต้องพูดถึงจะอยู่ดี แม้แต่รอดก็อยู่ไม่ได้ มนุษย์จึงต้องอยู่กับพ่อแม่หรือผู้เลี้ยง เป็นเวลานับสิบปี ระหว่างนี้ก็ต้องฝึกต้องหัดต้องเรียนรู้ไป แม้แต่กิน นั่ง นอน ขับถ่าย เดิน พูด ทุกอย่างต้องฝึกทั้งนั้น มองในแง่นี้เหมือนเป็นสัตว์ที่ด้อย

แต่เมื่อมองในแง่บวก ว่า ฝึกได้ เรียนรู้ได้ ก็กลายเป็นแง่เด่น คือ พอฝึกเริ่มเรียนรู้แล้ว คราวนี้มนุษย์ก็เดินหน้า มีปัญญาเพิ่มพูนขึ้น พูดได้ สื่อสารได้ มีความคิดสร้างสรรค์ ประดิษฐ์อะไรๆ ได้ มีความเจริญทั้งในทางนามธรรม และทางวัตถุธรรม สามารถพัฒนาโลกของวัตถุ เกิดเทคโนโลยีต่างๆ มีศิลปวิทยาการ เกิดเป็นวัฒนธรรม อารยธรรม จนกระทั่งเกิดเป็นโลกของมนุษย์ซ้อนขึ้นมา ท่ามกลางโลกของธรรมชาติ

สัตว์อื่นอย่างดี ที่ฝึกพิเศษได้บ้าง เช่น ช้าง ม้า ลิง เป็นต้น ก็

  1. ฝึกตัวเองไม่ได้ ต้องให้มนุษย์ฝึกให้
  2. แม้มนุษย์จะฝึกให้ ก็ฝึกได้ในขอบเขตจำกัด

แต่มนุษย์ฝึกตัวเองได้ และฝึกได้แทบไม่มีที่สิ้นสุด

การฝึกศึกษาพัฒนาตน จึงทำให้มนุษย์กลายเป็นสัตว์ที่ประเสริฐเลิศสูงสุด ซึ่งเป็นความเลิศประเสริฐที่สัตว์ทั้งหลายอื่นไม่มี

หลักความจริงนี้สอนว่า มนุษย์มิใช่จะประเสริฐขึ้นมาเองลอยๆ แต่ประเสริฐได้ด้วยการฝึก ถ้าไม่ฝึกแล้วจะด้อยกว่าสัตว์ดิรัจฉาน จะต่ำทรามยิ่งกว่า หรือไม่ก็ทำอะไรไม่เป็นเลย แม้จะอยู่รอดก็ไม่ได้

ความดีเลิศประเสริฐของมนุษย์นั้น จึงอยู่ที่การเรียนรู้ฝึกศึกษาพัฒนาตนขึ้นไป มนุษย์จะเอาดีไม่ได้ ถ้าไม่มีการเรียนรู้ฝึกฝนพัฒนาตน เพราะฉะนั้น จึงต้องพูดให้เต็มว่า

“มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐด้วยการฝึก”

ไม่ควรพูดแค่ว่า มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ ซึ่งเป็นการพูดที่ตกหล่นบกพร่อง เพราะว่ามนุษย์นี้ ต้องฝึกจึงจะประเสริฐ ถ้าไม่ฝึก ก็ไม่ประเสริฐ

คำว่า “ฝึก” นี้ พูดตามคำหลักแท้ๆ คือ สิกขา หรือศึกษา ถ้าพูดอย่างสมัยใหม่ ก็ได้แก่คำว่า เรียนรู้และพัฒนา พูดรวมๆ กันไปว่า เรียนรู้ฝึกหัดพัฒนา หรือเรียนรู้ฝึกศึกษาพัฒนา

ศักยภาพของมนุษย์ คือจุดเริ่มของพระพุทธศาสนา

ความจริงแห่งธรรมชาติของมนุษย์ในข้อที่ว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้นี้ พระพุทธศาสนาถือเป็นหลักสำคัญ ซึ่งสัมพันธ์กับความเป็นพระศาสดา และการทรงทำหน้าที่ของพระพุทธเจ้า ดังที่ได้เน้นไว้ในพุทธคุณบทที่ว่า

อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ สตฺถา เทวมนุสฺสานํ
“เป็นสารถีฝึกคนที่ควรฝึก ผู้ยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวะและมนุษย์ทั้งหลาย”

[ม.มู. ๑๒/๙๕/๖๗]

มีพุทธพจน์มากมาย ที่เน้นย้ำหลักการฝึกฝนพัฒนาตนของมนุษย์ และเร้าเตือน พร้อมทั้งส่งเสริมกำลังใจ ให้ทุกคนมุ่งมั่นในการฝึกศึกษาพัฒนาตนจนถึงที่สุด เช่น

วรมสฺสตรา ทนฺตา อาชานียา จ สินฺธวา
กุญฺชรา จ มหานาคา อตฺตทนฺโต ตโต วรํ
“อัสดร สินธพ อาชาไนย กุญชร และช้างหลวง ฝึกแล้วล้วนดีเลิศ แต่คนที่ฝึกตนแล้วประเสริฐกว่า(ทั้งหมด)นั้น”

[ขุ.ธ. ๒๕/๓๓/๕๗]

ทนฺโต เสฏฺโฐ มนุสฺเสสุ.
“ในหมู่มนุษย์ ผู้ประเสริฐสุด คือคนที่ฝึกแล้ว”

[ขุ.ธ. ๒๕/๓๓/๕๗]

วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน โส เสฏฺโฐ เทวมานุเส.
“ผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจริยะ เป็นผู้ประเสริฐสุด ทั้งในหมู่มนุษย์และมวลเทวา”

[สํ.นิ. ๑๖/๗๒๔/๓๓๑]

อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ โก หิ นาโถ ปโร สิยา
อตฺตนา หิ สุทนฺเตน นาถํ ลภติ ทุลฺลภํ
“ตนแลเป็นที่พึ่งของตน แท้จริงนั้น คนอื่นใครเล่าจะเป็นที่พึ่งได้ มีตนที่ฝึกดีแล้วนั่นแหละ คือได้ที่พึ่งซึ่งหาได้ยาก”

[ขุ.ธ. ๒๕/๒๒/๓๖]

มนุสฺสภูตํ สมฺพุทฺธํ อตฺตทนฺตํ2 สมาหิตํ ...
เทวาปิ ตํ นมสฺสนฺติ . . . . . . . . .

“พระสัมพุทธเจ้า ทั้งที่เป็นมนุษย์นี่แหละ แต่ทรงฝึกพระองค์แล้ว มีพระหฤทัยซึ่งอบรมถึงที่แล้ว แม้เทพทั้งหลายก็น้อมนมัสการ”

[องฺ.ปญฺจก. ๒๒/๓๑๔/๓๘๖]

คาถานี้เป็นการให้กำลังใจแก่มนุษย์ว่า มนุษย์ที่ฝึกแล้วนั้น เลิศประเสริฐ จนกระทั่งแม้แต่เทวดาและพรหมก็น้อมนมัสการ

ความหมายที่ต้องการในที่นี้ ก็คือ การมองมนุษย์ว่าเป็นสัตว์ที่ฝึกได้ และมีความสามารถในการฝึกตัวเองได้จนถึงที่สุด แต่ต้องฝึกจึงจะเป็นอย่างนั้นได้ และกระตุ้นเตือนให้เกิดจิตสำนึกตระหนักในการที่จะต้องปฏิบัติตามหลักแห่งการศึกษาฝึกฝนพัฒนาตนนั้น

ถ้าใช้คำศัพท์สมัยปัจจุบัน ก็พูดว่า มนุษย์มีศักยภาพสูง มีความสามารถที่จะศึกษาฝึกตนได้จนถึงขั้นเป็นพุทธะ

ศักยภาพนี้เรียกว่า โพธิ ซึ่งแสดงว่าจุดเน้นอยู่ที่ปัญญา เพราะโพธินั้นแปลว่า ปัญญาตรัสรู้ คือปัญญาที่ทำให้มนุษย์กลายเป็นพุทธะ

ในการศึกษาตามหลักพุทธศาสนาหรือการปฏิบัติธรรมนั้น สิ่งสำคัญที่จะต้องมีเป็นจุดเริ่มต้น คือ ความเชื่อในโพธินี้ ที่เรียกว่า โพธิศรัทธา ซึ่งถือว่าเป็นศรัทธาพื้นฐาน

เมื่อมนุษย์เชื่อในปัญญาที่ทำให้มนุษย์เป็นพุทธะได้แล้ว เขาก็พร้อมที่จะศึกษาฝึกฝนพัฒนาตนต่อไป

ตามที่กล่าวมานี้จะเห็นว่า คำว่า โพธิ นั้น ให้จุดเน้นทั้งในด้านของศักยภาพที่มนุษย์ฝึกได้จนถึงที่สุด และในด้านของปัญญา ให้เห็นว่าแกนนำของการฝึกศึกษาพัฒนานั้นอยู่ที่ปัญญา และศักยภาพสูงสุดก็แสดงออกที่ปัญญา เพราะตัวแทนหรือจุดศูนย์รวมของการพัฒนาอยู่ที่ปัญญา

เพื่อจะให้โพธินี้ปรากฏขึ้นมา ทำบุคคลให้กลายเป็นพุทธะ เราจึงต้องมีกระบวนการฝึกหรือพัฒนาคน ที่เรียกว่าสิกขา ซึ่งก็คือ การศึกษา

สิกขา คือกระบวนการการศึกษา ที่ฝึกหรือพัฒนามนุษย์ ให้โพธิปรากฏขึ้น จนในที่สุดทำให้มนุษย์นั้นกลายเป็นพุทธะ

ชีวิตที่ดี คือชีวิตที่ศึกษา
เมื่อพัฒนาคนด้วยไตรสิกขา ชีวิตก็ก้าวไปในอริยมรรคา

ชีวิตนั้นเป็นอันเดียวกันกับการศึกษา เพราะชีวิตคือการเป็นอยู่ และการที่ชีวิตเป็นอยู่ดำเนินไป ก็คือการที่ต้องเคลื่อนไหว พบประสบการณ์ใหม่ๆ และเจอสถานการณ์ใหม่ๆ ซึ่งจะต้องรู้จัก ต้องเข้าใจ ต้องคิด ต้องปฏิบัติ หรือจัดการอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหาทางแก้ไขปัญหาให้ผ่านรอดหรือลุล่วงไป ทำให้ต้องมีการเรียนรู้ มีการพิจารณาแก้ปัญหาตลอดเวลา ทั้งหมดนี้พูดสั้นๆ ก็คือสิกขา หรือการศึกษา

ดังนั้น เมื่อยังมีชีวิตอยู่ ถ้าจะเป็นอยู่ได้หรือจะเป็นอยู่ให้ดี ก็ต้องสิกขาหรือศึกษาตลอดเวลา พูดได้ว่า ชีวิตคือการศึกษา หรือ ชีวิตที่ดีคือชีวิตที่มีการศึกษา มีการเรียนรู้ หรือมีการฝึกฝนพัฒนาไปด้วย

การศึกษาตลอดชีวิตในความหมายที่แท้ คืออย่างนี้ ถ้าจะพูดให้หนักแน่น ก็ต้องว่า “ชีวิต คือการศึกษา”

พูดอีกอย่างหนึ่งว่า การดำเนินชีวิตที่ดี จะเป็นชีวิตแห่งสิกขาไปในตัว ชีวิตขาดการศึกษาไม่ได้ ถ้าขาดการศึกษาก็ไม่เป็นชีวิตที่ดี ที่จะอยู่ได้อย่างดี หรือแม้แต่จะอยู่ให้รอดไปได้

ตรงนี้เป็นการประสานเป็นอันเดียวกัน ระหว่าง การศึกษาพัฒนามนุษย์ หรือการเรียนรู้ฝึกฝนพัฒนาคน ที่เรียกว่าสิกขา กับ การดำเนินชีวิตที่ดีของมนุษย์ ที่เรียกว่ามรรค คือการดำเนินชีวิตชนิดที่มีการศึกษาพัฒนาชีวิตไปด้วยในตัว จึงจะเป็นชีวิตที่ดี

สิกขา ก็คือการพัฒนาตัวเองของมนุษย์ ให้ดำเนินชีวิตได้ดีงามถูกต้อง ทำให้มีวิถีชีวิตที่เป็นมรรค

ส่วน มรรค ก็คือทางดำเนินชีวิต หรือวิถีชีวิตที่ถูกต้องดีงามของมนุษย์ ซึ่งเป็นวิถีชีวิตแห่งการเรียนรู้ฝึกฝนพัฒนาตนคือสิกขา

มรรค กับ สิกขา จึงประสานเป็นอันเดียวกัน

จึงให้ความหมายได้ว่า สิกขา/การศึกษา คือการเรียนรู้ที่จะให้สามารถเป็นอยู่ได้อย่างดี หรือฝึกให้สามารถมีชีวิตที่ดี

เป็นอันว่า ชีวิตคือการศึกษานี้ เป็นของแน่นอน แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าเราจะศึกษาเป็นหรือไม่ ถ้าคนไม่รู้จักศึกษา ก็มีชีวิตเปล่าๆ หมายความว่า พบประสบการณ์ใหม่ๆ ก็ไม่ได้อะไร เจอสถานการณ์ใหม่ๆ ก็ไม่รู้จะปฏิบัติอย่างไรให้ถูกต้อง ไม่มีการเรียนรู้ ไม่มีการพัฒนา ไม่มีการแก้ปัญหา เป็นชีวิตที่เลื่อนลอย เป็นชีวิตที่ไม่ดี ไม่มีการศึกษา ทางธรรมเรียกว่า “พาล” แปลว่า มีชีวิตอยู่เพียงแค่ด้วยลมหายใจเข้าออก

เพราะมองความจริงอย่างนี้ ทางธรรมจึงจัดไว้ให้การศึกษา กับชีวิตที่ดี เป็นเรื่องเดียวกัน หรือต้องไปด้วยกัน

ท่านถือว่า ชีวิตนี้เหมือนกับการเดินทางก้าวไปๆ และในการเดินทางนั้นก็พบอะไรใหม่ๆ อยู่เรื่อย จึงเรียกว่า “มรรค” หรือ “ปฏิปทา” แปลว่า ทางดำเนินชีวิต หรือเรียกว่า “จริย/จริยะ” แปลว่า การดำเนินชีวิต

มรรค หรือ ปฏิปทา จะเป็นทางดำเนินชีวิต หรือวิถีชีวิตที่ดี จริยะ จะเป็นการดำเนินชีวิตที่ดี ก็ต้องมีสิกขา คือการศึกษา เรียนรู้ และพัฒนาตนเองตลอดเวลา ดังกล่าวแล้ว

มรรคที่ถูกต้อง เรียกว่า “อริยมรรค” (มรรคาอันประเสริฐ หรือทางดำเนินชีวิตที่ประเสริฐ) ก็เป็นจริยะที่ดี เรียกว่า “พรหมจริยะ” (จริยะอย่างประเสริฐ หรือการดำเนินชีวิตที่ประเสริฐ) ซึ่งก็คือมรรค และจริยะ ที่เกิดจากสิกขา หรือประกอบด้วยสิกขา

สิกขา ที่จะให้เกิดมรรค หรือจริยะอันประเสริฐ คือสิกขาที่เป็นการฝึกฝนพัฒนาคนครบทั้ง ๓ ด้านของชีวิต ซึ่งเรียกว่า ไตรสิกขา แปลว่า การศึกษาทั้ง ๓ ที่จะกล่าวต่อไป

ชีวิตมี ๓ ด้าน การฝึกศึกษาก็ต้องประสานกัน ๓ ส่วน
พัฒนาคนแบบองค์รวม จึงเป็นเรื่องธรรมดาของการศึกษา

ชีวิต และการดำเนินชีวิตของมนุษย์นั้น แยกได้เป็น ๓ ด้าน คือ

๑. ด้านสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม การดำเนินชีวิตต้องติดต่อสื่อสารสัมพันธ์กับโลก หรือสิ่งแวดล้อมนอกตัว โดยใช้

ก) ทวาร/ช่องทางรับรู้และเสพความรู้สึก3ที่เรียกว่า อินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย (รวม ใจ ด้วยเป็น ๖)

ข) ทวาร/ช่องทางทำกรรม4 คือ กาย วาจา โดย ทำ และพูด (รวมใจ-คิด ด้วยเป็น ๓)

สิ่งแวดล้อมที่มนุษย์ติดต่อสื่อสารสัมพันธ์นั้น แยกได้เป็น ๒ ประเภท คือ
๑) สิ่งแวดล้อมทางสังคม คือเพื่อนมนุษย์ ตลอดจนสรรพสัตว์
๒) สิ่งแวดล้อมทางวัตถุ หรือทางกายภาพ

มนุษย์ควรจะอยู่ร่วมกับเพื่อนมนุษย์และเพื่อนร่วมโลกด้วยดี อย่างเกื้อกูลกัน เป็นส่วนร่วมที่สร้างสรรค์ของสังคม และปฏิบัติต่อสิ่งแวดล้อมทางวัตถุ ตั้งต้นแต่การใช้ตา หู ดู ฟัง ทั้งด้านการเรียนรู้ และการเสพอารมณ์ ให้ได้ผลดี รู้จักกินอยู่ แสวงหา เสพบริโภคปัจจัย ๔ เป็นต้น อย่างฉลาด ให้เป็นคุณแก่ตน แก่สังคม และแก่โลก อย่างน้อยไม่ให้เป็นการเบียดเบียน

๒. ด้านจิตใจ ในการสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมหรือแสดงออกทุกครั้ง จะมีการทำงานของจิตใจ และมีองค์ประกอบด้านจิตเกี่ยวข้อง เริ่มแต่ต้องมีเจตนา ความจงใจ ตั้งใจ หรือเจตจำนง และมีแรงจูงใจอย่างใดอย่างหนึ่ง พร้อมทั้งมีความรู้สึกสุข หรือทุกข์ สบาย หรือไม่สบาย และปฏิกิริยาต่อจากสุข-ทุกข์นั้น เช่น ชอบใจ หรือไม่ชอบใจ อยากจะได้ อยากจะเอา หรืออยากจะหนี หรืออยากจะทำลาย ซึ่งจะมีผลชักนำพฤติกรรมทั้งหลาย ตั้งแต่จะให้ดูอะไร หรือไม่ดูอะไร จะพูดอะไร จะพูดกับใครว่าอย่างไร ฯลฯ

๓. ด้านปัญญา ในการสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมหรือแสดงออกทุกครั้ง ก็ตาม เมื่อมีภาวะอาการทางจิตใจอย่างหนึ่งอย่างใด ก็ตาม องค์ประกอบอีกด้านหนึ่งของชีวิต คือ ความรู้ความเข้าใจ ความคิด ความเชื่อถือ เป็นต้น ที่เรียกรวมๆ ว่าด้านปัญญา ก็เข้ามาเกี่ยวข้อง หรือมีบทบาทด้วย

เริ่มตั้งแต่ว่า ถ้ามีปัญญา ก็แสดงออกและมีภาวะอาการทางจิตอย่างหนึ่ง ถ้าขาดปัญญา ก็แสดงออกและมีภาวะอาการทางจิตอีกอย่างหนึ่ง เรามีความรู้ความเข้าใจเรื่องนั้นแค่ไหน มีความเชื่อ มีทัศนคติ มีความยึดถืออย่างไร เราก็แสดงออกหรือมองสิ่งนั้น ไปตามแนวคิด ความเข้าใจ หรือแม้กระทั่งค่านิยมอย่างนั้น ทำให้ชอบใจ ไม่ชอบใจ มีสุขมีทุกข์ไปตามนั้น และเมื่อเรามองเห็น เรารู้ เข้าใจอย่างไร แค่ไหน เราก็แสดงออกหรือมีพฤติกรรมของเราไปตามความรู้ความเข้าใจ และภายในขอบเขตของความรู้ของเรานั้น

ถ้าปัญญา ความรู้ ความเข้าใจเกิดมากขึ้น หรือเราคิดเป็น ก็ทำให้เราปรับแก้พฤติกรรมและจิตใจของเราใหม่ เช่น เจอประสบการณ์ที่ไม่ดี เรารู้สึกไม่ชอบใจ พอไม่ชอบใจ ก็ทุกข์ แต่ถ้าเกิดปัญญาคิดได้ขึ้นมาว่า สิ่งที่ไม่ดีหรือไม่ชอบนั้น ถ้าเราเรียนรู้ เราก็ได้ความรู้ พอมองในแง่เรียนรู้ ก็กลายเป็นได้ ความไม่ชอบใจหายไป กลายเป็นชอบสิ่งที่เคยไม่ชอบ พอได้ความรู้ก็เกิดความสุข จากทุกข์ก็เปลี่ยนเป็นสุข ปฏิกิริยาที่แสดงออกมาทางพฤติกรรมก็เปลี่ยนไป

ในชีวิตประจำวัน หรือในการประกอบอาชีพการงาน เมื่อเจอคนหน้าบึง พูดไม่ดี ถ้าเรามองตามความชอบใจ-ไม่ชอบใจ ไม่ใช้ปัญญา เราก็โกรธ แต่พอใช้โยนิโสมนสิการ มองตามเหตุปัจจัย คิดถึงความเป็นไปได้แง่ต่างๆ เช่นว่าเขาอาจจะมีเรื่องทุกข์ ไม่สบายใจอยู่ เพียงคิดแค่นี้ ภาวะจิตก็อาจจะพลิกเปลี่ยนไปเลย จากโกรธก็กลายเป็นสงสาร อยากจะช่วยเขาแก้ปัญหา

ปัญญาเป็นตัวชี้นำ บอกทาง ให้แสงสว่าง ขยายขอบเขต ปรับแก้จิตใจและพฤติกรรม และปลดปล่อยให้หลุดพ้น

หน้าที่สำคัญของปัญญา คือ ปลดปล่อย ทำให้เป็นอิสระ ตัวอย่างง่ายๆ เพียงแค่ไปที่ไหน เจออะไร ถ้าไม่รู้ว่าคืออะไร ไม่รู้จะปฏิบัติต่อมันอย่างไร หรือพบปัญหา ไม่รู้วิธีแก้ไข จิตใจก็เกิดความอึดอัด รู้สึกบีบคั้น ไม่สบายใจ นี่คือทุกข์ แต่พอปัญญามา รู้ว่าอะไรเป็นอะไร จะทำอย่างไร ก็โล่งทันที พฤติกรรมติดตันอยู่ พอปัญญามา ก็ไปได้ จิตใจอัดอั้นอยู่ พอปัญญามา ก็โล่งไป

องค์ประกอบของชีวิต ๓ ด้านนี้ ทำงานไปด้วยกัน ประสานกันไป และเป็นเหตุปัจจัยแก่กัน ไม่แยกต่างหากจากกัน

การสัมพันธ์กับโลกด้วยอินทรีย์และพฤติกรรมทางกายวาจา (ด้านที่ ๑) จะเป็นไปอย่างไร ก็ขึ้นต่อเจตนา ภาวะและคุณสมบัติของจิตใจ (ด้านที่ ๒) และทำได้ภายในขอบเขตของปัญญา (ด้านที่ ๓)

ความตั้งใจและความต้องการเป็นต้น ของจิตใจ (ด้านที่ ๒) ต้องอาศัยการสื่อทางอินทรีย์และพฤติกรรมกายวาจาเป็นเครื่องสนอง (ด้านที่ ๑) ต้องถูกกำหนดและจำกัดขอบเขตตลอดจนปรับเปลี่ยนโดยความเชื่อถือ ความคิดเห็น และความรู้ความเข้าใจที่มีอยู่และที่เพิ่มหรือเปลี่ยนไป (ด้านที่ ๓)

ปัญญาจะทำงานและจะพัฒนาได้ดีหรือไม่ (ด้านที่ ๓) ต้องอาศัยอินทรีย์ เช่น ดู ฟัง อาศัยกายเคลื่อนไหว เช่น เดินไป จับ จัด ค้น ฯลฯ ใช้วาจาสื่อสาร ไถ่ถาม ได้ดีโดยมีทักษะแค่ไหน (ด้านที่ ๑) ต้องอาศัยภาวะและคุณสมบัติของจิตใจ เช่น ความสนใจ ใฝ่ใจ ความมีใจเข้มแข็งสู้ปัญหา ความขยันอดทน ความรอบคอบ มีสติ ความมีใจสงบแน่วแน่ มีสมาธิ หรือไม่เพียงใด เป็นต้น (ด้านที่ ๒)

นี้คือการดำเนินไปของชีวิต ที่องค์ประกอบ ๓ ด้านทำงานไปด้วยกัน อาศัยกัน ประสานกัน เป็นปัจจัยแก่กัน ซึ่งเป็นความจริงของชีวิตนั้นตามธรรมดาของมัน เป็นเรื่องของธรรมชาติ และจึงเป็นเหตุผลที่บอกอยู่ในตัวว่าทำไมจะต้องแยกชีวิตหรือการดำเนินชีวิตเป็น ๓ ด้าน จะแบ่งมากหรือน้อยกว่านี้ไม่ได้

เมื่อชีวิตที่ดำเนินไปมี ๓ ด้านอย่างนี้ การศึกษาที่ฝึกคนให้ดำเนินชีวิตได้ดี ก็ต้องฝึกฝนพัฒนาที่ ๓ ด้านของชีวิตนั้น

ดังนั้น การฝึกหรือศึกษา คือ สิกขา จึงแยกเป็น ๓ ส่วน ดังที่เรียกว่า ไตรสิกขา เพื่อฝึกฝนพัฒนา ๓ ด้านของชีวิตนั้น ให้ตรงกัน แต่เป็นการพัฒนาพร้อมไปด้วยกันอย่างประสานเป็นระบบสัมพันธ์อันหนึ่งอันเดียว

ไตรสิกขา: ระบบการศึกษา ซึ่งพัฒนาชีวิตที่ดำเนินไปทั้งระบบ

ในระบบการดำเนินชีวิต ๓ ด้าน ที่กล่าวแล้วนั้น เมื่อศึกษาฝึกชีวิต ๓ ด้านนั้นไปแค่ไหน ก็เป็นอยู่ดำเนินชีวิตที่ดีได้เท่านั้น ฝึกอย่างไร ก็ได้อย่างนั้น หรือสิกขาอย่างไร ก็ได้มรรคอย่างนั้น

สิกขา คือการศึกษา ที่ฝึกอบรมพัฒนาชีวิต ๓ ด้านนั้น มีดังนี้

๑. สิกขา/การฝึกศึกษา ด้านสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม จะเป็นสิ่งแวดล้อมทางสังคม คือเพื่อนมนุษย์ ตลอดจนสรรพสัตว์ หรือสิ่งแวดล้อมทางวัตถุก็ตาม ด้วยอินทรีย์ (เช่น ตา หู) หรือด้วยกาย วาจา ก็ตาม เรียกว่า ศีล (เรียกเต็มว่า อธิสีลสิกขา)

๒. สิกขา/การฝึกศึกษา ด้านจิตใจ เรียกว่า สมาธิ (เรียกเต็มว่า อธิจิตตสิกขา)

๓. สิกขา/การฝึกศึกษา ด้านปัญญา เรียกว่า ปัญญา (เรียกเต็มว่า อธิปัญญาสิกขา)

รวมความว่า การฝึกศึกษานั้น มี ๓ อย่าง เรียกว่า สิกขา ๓ หรือ ไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งพูดด้วยถ้อยคำของคนยุคปัจจุบันว่า เป็นระบบการศึกษาที่ทำให้บุคคลพัฒนาอย่างมีบูรณาการ และให้มนุษย์เป็นองค์รวมที่พัฒนาอย่างมีดุลยภาพ

เมื่อมองจากแง่ของสิกขา ๓ จะเห็นความหมายของสิกขาแต่ละอย่างดังนี้

๑. ศีล คือ สิกขาหรือการศึกษาที่ฝึกในด้านการสัมพันธ์ติดต่อปฏิบัติ จัดการกับสิ่งแวดล้อม ทั้งทางวัตถุและทางสังคม ทั้งด้วยอินทรีย์ต่างๆ และด้วยพฤติกรรมทางกาย-วาจา พูดอีกอย่างหนึ่งว่า การมีวิถีชีวิตที่ปลอดเวรภัยไร้การเบียดเบียน หรือการดำเนินชีวิตที่เกื้อกูลแก่สังคม และแก่โลก

๒. สมาธิ คือ สิกขาหรือการศึกษาที่ฝึกในด้านจิต หรือระดับจิตใจ ได้แก่การพัฒนาคุณสมบัติต่างๆ ของจิต ทั้ง…

ในด้านคุณธรรม เช่น เมตตา กรุณา ความมีไมตรี ความเห็นอกเห็นใจ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความสุภาพอ่อนโยน ความเคารพ ความซื่อสัตย์ ความกตัญญู

ในด้านความสามารถของจิต เช่น ความเข้มแข็งมั่นคง ความเพียรพยายาม ความกล้าหาญ ความขยัน ความอดทน ความรับผิดชอบ ความมุ่งมั่นแน่วแน่ ความมีสติ สมาธิ และ

ในด้านความสุข เช่น ความมีปีติอิ่มใจ ความมีปราโมทย์ร่าเริงเบิกบานใจ ความสดชื่นผ่องใส ความรู้สึกพอใจ

พูดสั้นๆ ว่า พัฒนาคุณภาพ สมรรถภาพ และสุขภาพของจิต

๓. ปัญญา คือ สิกขาหรือการศึกษาที่ฝึกหรือพัฒนาในด้านการรู้ความจริง เริ่มตั้งแต่ความเชื่อที่มีเหตุผล ความเห็นที่เข้าสู่แนวทางของความเป็นจริง การรู้จักหาความรู้ การรู้จักคิดพิจารณา การรู้จักวินิจฉัย ไตร่ตรอง ทดลอง ตรวจสอบ ความรู้เข้าใจ ความหยั่งรู้เหตุผล การเข้าถึงความจริง การนำความรู้มาใช้แก้ไขปัญหา และคิดการต่างๆ ในทางเกื้อกูลสร้างสรรค์

เฉพาะอย่างยิ่ง เน้นการรู้ตรงตามความเป็นจริง หรือรู้เห็นตามที่มันเป็น ตลอดจนรู้แจ้งความจริงที่เป็นสากลของสิ่งทั้งปวง จนถึงขั้นรู้เท่าทันธรรมดาของโลกและชีวิต ที่ทำให้มีจิตใจเป็นอิสระ ปลอดปัญหา ไร้ทุกข์ เข้าถึงอิสรภาพโดยสมบูรณ์

หลักทั้ง ๓ ประการแห่งไตรสิกขา ที่กล่าวมานี้ เป็นการศึกษาที่ฝึกคนให้เจริญพัฒนาขึ้นไปในองค์ประกอบทั้ง ๓ ด้านของชีวิตที่ดีงาม ที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น

ย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า การฝึกศึกษาที่จะให้มีชีวิตที่ดีงาม เป็นสิกขา ชีวิตดีงามที่เกิดจากการฝึกศึกษานั้น เป็นมรรค

ระบบแห่งสิกขา เริ่มด้วยจัดปรับพื้นที่ให้พร้อมที่จะทำงานฝึกศึกษา

ไตรสิกขา เป็นการศึกษา ๓ ด้าน ที่พัฒนาชีวิตไปพร้อมกันทั้งระบบ แต่ถ้ามองหยาบๆ เป็นภาพใหญ่ ก็มองเห็นเป็นการฝึกศึกษาที่ดำเนินไปใน ๓ ด้าน/ขั้นตอน ตามลำดับ (มองได้ทั้งในแง่ประสานกันและเป็นปัจจัยต่อกัน)

ศีล เป็นเหมือนการจัดปรับพื้นที่และบริเวณแวดล้อม ให้สะอาดหมดจดเรียบร้อยราบรื่นแน่นหนามั่นคง มีสภาพที่พร้อมจะทำงานได้คล่องสะดวก

สมาธิ เป็นเหมือนการเตรียมตัวของผู้ทำงานให้มีเรี่ยวแรงกำลังความถนัดจัดเจนที่พร้อมจะลงมือทำงาน

ปัญญา เป็นเหมือนอุปกรณ์ที่จะใช้ทำงานนั้นๆ ให้สำเร็จ

เช่น จะตัดต้นไม้: ได้พื้นเหยียบยันที่แน่นหนามั่นคง (ศีล) + มีกำลังแขนแข็งแรงจับมีดหรือขวานได้ถนัดมั่น (สมาธิ) + อุปกรณ์คือมีดหรือขวานที่ใช้ตัดนั้นได้ขนาดมีคุณภาพดีและลับไว้คมกริบ (ปัญญา) ➜ ได้ผลคือตัดไม้สำเร็จโดยไม่ยาก

อีกอุปมาหนึ่งที่อาจจะช่วยเสริมความชัดเจน

บ้านเรือนที่อยู่ที่ทำงาน ฝาผุพื้นขรุขระหลังคารั่ว รอบอาคารถนนหนทางรกรุงรัง ทั้งเป็นถิ่นไม่ปลอดภัย (ขาดศีล) ➜ การจัดแต่งตั้งวางสิ่งของเครื่องใช้ จะเตรียมตัวอยู่หรือทำงาน อึดอัดขัดข้อง ไม่พร้อมไม่สบายไม่มั่นใจไปหมด (ขาดสมาธิ) ➜ การเป็นอยู่และทำงานคิดการทั้งหลาย ไม่อาจดำเนินไปได้ด้วยดี (ขาดปัญญา) ➜ ชีวิตและงานไม่สัมฤทธิ์ลุจุดหมาย

เนื่องจากไตรสิกขา เป็นหลักใหญ่ที่ครอบคลุมธรรมภาคปฏิบัติทั้งหมด ในที่นี้จึงมิใช่โอกาสที่จะอธิบายหลักธรรมหมวดนี้ได้มาก โดยเฉพาะขั้นสมาธิและปัญญาที่เป็นธรรมละเอียดลึกซึ้ง จะยังไม่พูดเพิ่มเติมจากที่ได้อธิบายไปแล้ว แต่ในขั้นศีลจะพูดเพิ่มอีกบ้าง เพราะเกี่ยวข้องกับคนทั่วไปมาก และจะได้เป็นตัวอย่างแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างสิกขาทั้ง ๓ ด้านนั้นด้วย

การฝึกศึกษาในขั้นศีล มีหลักปฏิบัติที่สำคัญ ๔ หมวด คือ5

๑. วินัย เป็นเครื่องมือสำคัญขั้นแรกที่ใช้ในการฝึกขั้นศีล มีตั้งแต่วินัยแม่บท6ของชุมชนใหญ่น้อย ไปจนถึงวินัยส่วนตัวในชีวิตประจำวัน

วินัย คือการจัดตั้งวางระบบระเบียบแบบแผนเกี่ยวกับการดำเนินชีวิต และการอยู่ร่วมกันของหมู่มนุษย์ เพื่อจัดปรับเตรียมสภาพชีวิตสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งลักษณะแห่งความสัมพันธ์ต่างๆ ให้อยู่ในภาวะที่เหมาะและพร้อมที่จะเป็นอยู่ปฏิบัติกิจและดำเนินการต่างๆ เพื่อก้าวหน้าไปอย่างได้ผลดีที่สุด สู่จุดหมายของชีวิต ของบุคคล ขององค์กร ของชุมชน ตลอดจนของสังคมทั้งหมดไม่ว่าในระดับใดๆ โดยเฉพาะสำคัญที่สุด เพื่อเอื้อโอกาสให้แต่ละบุคคลฝึกศึกษาพัฒนาชีวิตของเขาให้ประณีตประเสริฐ ที่จะได้ประโยชน์สูงสุดที่จะพึงได้จากการที่ได้มีชีวิตเป็นอยู่

วินัยพื้นฐานหรือขั้นต้นสุดของสังคมมนุษย์ ได้แก่ ข้อปฏิบัติที่จะไม่ให้มีการเบียดเบียนกัน ๕ ประการ คือ

๑. เว้นการทำร้ายร่างกายทำลายชีวิต
๒. เว้นการละเมิดกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน
๓. เว้นการประพฤติผิดทางเพศและละเมิดต่อคู่ครองของผู้อื่น
๔. เว้นการพูดเท็จให้ร้ายหลอกลวง และ
๕. เว้นการเสพสุรายาเมาสิ่งเสพติด ที่ทำลายสติสัมปชัญญะ แล้วนำไปสู่การก่อกรรมชั่วอย่างอื่น เริ่มตั้งแต่คุกคามต่อความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยของผู้ร่วมสังคม

ข้อปฏิบัติพื้นฐานชุดนี้ ซึ่งเรียกง่ายๆ ว่า ศีล ๕ เป็นหลักประกันที่รักษาสังคมให้มั่นคงปลอดภัย เพียงพอที่มนุษย์จะอยู่ร่วมกันเป็นปกติสุข และดำเนินชีวิตทำกิจการต่างๆ ให้เป็นไปได้ด้วยดีพอสมควร นับว่าเป็นวินัยแม่บทของคฤหัสถ์ หรือของชาวโลกทั้งหมด

ไม่ควรมองวินัยว่าเป็นการบีบบังคับจำกัด แต่พึงเข้าใจว่าวินัยเป็นการจัดสรรโอกาส หรือจัดสรรสิ่งแวดล้อมหรือสภาวะทางกายภาพให้เอื้อโอกาส แก่การที่จะดำเนินชีวิตและกิจการต่างๆ ให้ได้ผลดีที่สุด ตั้งแต่เรื่องง่ายๆ เช่น การจัดสิ่งของเครื่องใช้เตียงตั่งโต๊ะเก้าอี้ในบ้านให้เป็นที่เป็นทาง ทำให้หยิบง่ายใช้คล่องนั่งเดินยืนนอนสะดวกสบาย การจัดเตรียมวางส่งเครื่องมือผ่าตัดของศัลยแพทย์ การจัดระเบียบจราจรบนท้องถนน วินัยของทหาร วินัยของข้าราชการ ตลอดจนจรรยาบรรณของวิชาชีพต่างๆ

ในวงกว้าง ระบบเศรษฐกิจ ระบบสังคม ระบบการเมืองการปกครอง ตลอดจนแบบแผนทุกอย่างที่อยู่ตัวกลายเป็นวัฒนธรรม รวมอยู่ในความหมายของคำว่า “วินัย” ทั้งสิ้น

สาระของวินัย คือ การอาศัย(ความรู้ใน)ธรรมคือความจริงของสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็นอยู่ มาจัดสรรตั้งวางระเบียบระบบต่างๆ ขึ้น เพื่อให้มนุษย์ได้ประโยชน์สูงสุดจากธรรมคือความจริงนั้น

เพื่อให้บุคคลจำนวนมาก ได้ประโยชน์จากธรรมที่พระองค์ได้ตรัสรู้ พระพุทธเจ้าจึงทรงตั้งสังฆะขึ้น โดยจัดวางระเบียบระบบต่างๆ ภายในสังฆะนั้น ให้ผู้ที่สมัครเข้ามา ได้มีความเป็นอยู่ มีวิถีชีวิต มีกิจหน้าที่ มีระบบการอยู่ร่วมกัน การดำเนินกิจการงาน การสัมพันธ์กันเองและสัมพันธ์กับบุคคลภายนอก มีวิธีแสวงหาจัดสรรแบ่งปันและบริโภคปัจจัย ๔ และการจัดสรรสภาพแวดล้อมทุกอย่างที่เอื้อเกื้อกูลเหมาะกัน พร้อมทั้งปิดกั้นช่องโหว่โอกาสที่จะก่อเกื้อแก่การที่เสื่อมเสียหาย ทำทุกอย่างให้อำนวยโอกาสมากที่สุด แก่การที่แต่ละบุคคลจะฝึกศึกษาพัฒนาตน ให้เจริญในไตรสิกขาก้าวหน้าไปในมรรค และบรรลุผลที่พึงได้จากชีวิตที่ดีงามประเสริฐ เข้าถึงธรรมสูงสุด ทั้งวิชชา วิมุตติ วิสุทธิ สันติ นิพพาน กับทั้งให้ชุมชนแห่งสังฆะนั้นเป็นแหล่งแผ่ขยายธรรม และประโยชน์สุขกว้างขวางออกไปโดยรอบและทั่วไปในโลก นี้คือวินัยของสังฆะ

โดยนัยนี้ วินัย จึงเป็นจุดเริ่มต้นในกระบวนการฝึกศึกษาพัฒนามนุษย์ เป็นกระบวนการพื้นฐานในการฝึกพฤติกรรมที่ดี และจัดสรรสภาพแวดล้อมที่จะป้องกันไม่ให้มีพฤติกรรมที่ไม่ดี แต่ให้เอื้อต่อการมีพฤติกรรมที่ดีที่พึงประสงค์ พร้อมทั้งฝึกคนให้คุ้นกับพฤติกรรมที่ดีจนพฤติกรรมเคยชินที่ดีนั้น กลายเป็นพฤติกรรมเคยชินและเป็นวิถีชีวิตของเขา ตลอดจนการจัดระเบียบระบบทั้งหลายทั้งปวงในสังคมมนุษย์เพื่อให้เกิดผลเช่นนั้น

เมื่อใดการฝึกศึกษาได้ผล จนพฤติกรรมที่ดีตามวินัย กลายเป็นพฤติกรรมเคยชิน อยู่ตัว หรือเป็นวิถีชีวิตของบุคคล ก็เกิดเป็นศีล

ชีวิตทั้ง ๓ ด้าน การศึกษาทั้ง ๓ ขั้น ประสานพร้อมไปด้วยกัน

๒. อินทรียสังวร แปลตามแบบว่า การสำรวมอินทรีย์ หมายถึง การใช้อินทรีย์ เช่น ตาดู หูฟัง อย่างมีสติ มิให้ถูกความโลภ ความโกรธ ความแค้นเคือง ความหลง ความริษยา เป็นต้น เข้ามาครอบงำ แต่ใช้ให้เป็น ให้ได้ประโยชน์ โดยเฉพาะให้เกิดปัญญา รู้ความจริง และได้ข้อมูลข่าวสารที่จะนำไปใช้ในการแก้ปัญหาและทำการสร้างสรรค์ต่างๆ ต่อไป

ควรทราบว่า โดยสรุป อินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทำหน้าที่ ๒ อย่าง คือ

๑) หน้าที่รู้ คือรับรู้ข้อมูลข่าวสาร เช่น ตาดู รู้ว่าเป็นอะไร ว่าเป็นนาฬิกา เป็นกล้องถ่ายรูป เป็นดอกไม้ ใบไม้สีเขียว สีแดง สีเหลือง รูปร่างยาวสั้นใหญ่เล็ก หูได้ยินเสียงว่า ดัง เบา เป็นถ้อยคำสื่อสารว่าอย่างไร เป็นต้น

๒) หน้าที่รู้สึก หรือรับความรู้สึก พร้อมกับรับรู้ข้อมูลเราก็มีความรู้สึกด้วย บางทีตัวเด่นกลับเป็นความรู้สึก เช่น เห็นแล้วรู้สึกสบายหรือไม่สบาย ถูกตาไม่ถูกตา สวยหรือน่าเกลียด ถูกหูไม่ถูกหู เสียงนุ่มนวลไพเราะหรือดังแสบแก้วหูรำคาญ เป็นต้น

  • หน้าที่ด้านรู้ เรียกง่ายๆ ว่า ด้านเรียนรู้ หรือศึกษา
  • หน้าที่ด้านรู้สึก เรียกง่ายๆ ว่า ด้านเสพ

พูดสั้นๆ ว่า อินทรีย์ทำหน้าที่ ๒ อย่าง คือ ศึกษา กับ เสพ

ถ้าจะให้ชีวิตของเราพัฒนา จะต้องใช้อินทรีย์เพื่อรู้หรือศึกษาให้มาก

มนุษย์ที่ไม่พัฒนา จะใช้อินทรีย์เพื่อเสพความรู้สึกเป็นส่วนใหญ่ บางทีแทบไม่ใช้เพื่อการศึกษาเลย เมื่อมุ่งแต่จะหาเสพความรู้สึกที่ถูกหู ถูกตา สวยงาม สนุนสนานบันเทิง เป็นต้น ชีวิตก็วุ่นวายอยู่กับการวิ่งไล่หาสิ่งที่ชอบใจ และดิ้นรนหลีกหนีสิ่งที่ไม่ชอบใจ วนเวียนอยู่แค่ความชอบใจ-ไม่ชอบใจ รัก-ชัง ติดใจ-เกลียดกลัว หลงไหล-เบื่อหน่าย แล้วก็ฝากความสุขความทุกข์ของตนไว้ให้ขึ้นกับสิ่งเสพบริโภค ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไป ชีวิตที่ไม่ได้ฝึกฝนพัฒนา ก็ตกต่ำด้อยค่า และไม่มีอะไรที่จะให้แก่โลกนี้ หรือแก่สังคม

ถ้าไม่มัวหลงติดอยู่กับการหาเสพความรู้สึก ที่เป็นได้แค่นักบริโภค แต่รู้จักใช้อินทรีย์เพื่อศึกษา สนองความต้องการรู้หรือความใฝ่รู้ ก็จะใช้ตา หู เป็นต้น ไปในทางการเรียนรู้ และจะพัฒนาไปเรื่อยๆ ปัญญาจะเจริญงอกงาม ความใฝ่รู้ใฝ่สร้างสรรค์จะเกิดขึ้น กลายเป็นนักผลิตนักสร้างสรรค์ และจะได้พบกับความสุขอย่างใหม่ๆ ที่พัฒนาขยายขอบเขตและประณีตยิ่งขึ้น พร้อมกับความใฝ่รู้ใฝ่สร้างสรรค์ที่ก้าวหน้าไป เป็นผู้มีชีวิตที่ดีงาม และมีคุณค่าแก่สังคม

๓. ปัจจัยปฏิเสวนา คือการเสพบริโภคปัจจัย ๔ รวมทั้งสิ่งของเครื่องใช้ทั้งหลาย ตลอดจนเทคโนโลยี

ศีลในเรื่องนี้ คือการฝึกศึกษาให้รู้จักใช้สอยเสพบริโภคสิ่งต่างๆ ด้วยปัญญาที่รู้เข้าใจคุณค่าหรือประโยชน์ที่แท้จริงของสิ่งนั้นๆ เริ่มตั้งแต่อาหาร ก็พิจารณารู้เข้าใจความจริงว่า รับประทานเพื่อเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงชีวิต ให้ร่างกายมีสุขภาพแข็งแรง ช่วยให้สามารถดำเนินชีวิตที่ดีงาม อย่างที่ตรัสไว้ว่า

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้ว จึงเสพ(นุ่งห่ม) จีวร เท่าที่ว่า เพื่อป้องกันความหนาว ร้อน สัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลาน เท่าที่ว่า เพื่อปกปิดอวัยวะที่ควรละอาย

พิจารณาโดยแยบคายแล้ว จึงเสพ(ฉัน) อาหารบิณฑบาต มิใช่เพื่อสนุก มิใช่เพื่อมัวเมา มิใช่เพื่อสวยงาม มิใช่เพื่อเด่นโก้ แต่เสพ(ฉัน) เท่าที่ว่า เพื่อให้ร่างกายนี้ดำรงอยู่ได้ เพื่อยังชีวิตให้เป็นไป เพื่อระงับความหิว เพื่อเกื้อหนุนชีวิตที่ประเสริฐ ด้วยการปฏิบัติดังนี้ เราจะกำจัดเวทนาเก่า (ความไม่สบายเพราะความหิว) เสียด้วย จะไม่ให้เวทนาใหม่ (เช่นความ อึดอัด แน่น จุกเสียด) เกิดขึ้นด้วย เราก็จะมีชีวิตดำเนินไป พร้อมทั้งความไม่มีโทษ และความอยู่ผาสุก7

การบริโภคด้วยปัญญาอย่างนี้ ท่านเรียกว่าเป็นการรู้จักประมาณในการบริโภค หรือการบริโภคพอดี หรือกินพอดี เป็นการบริโภคที่คุ้มค่า ได้ประโยชน์อย่างแท้จริง ไม่สิ้นเปลือง ไม่สูญเปล่า และไม่เกิดโทษ อย่างที่บางคนกินมาก จ่ายแพง แต่กลับเป็นโทษแก่ร่างกาย

เมื่อจะซื้อหาหรือเสพบริโภคอะไรก็ตาม ควรฝึกถามตัวเองว่า เราจะใช้มันเพื่ออะไร ประโยชน์ที่แท้จริงของสิ่งนี้คืออะไร แล้วซื้อหามาใช้ให้ได้ประโยชน์ที่แท้จริงนั้น ไม่บริโภคเพียงด้วยตัณหาและโมหะ เพียงแค่ตื่นเต้น เห็นแก่ความโก้เก๋ เหิมเห่อไปตามกระแสค่านิยมเป็นต้น โดยไม่ได้ใช้ปัญญาเลย

พึงระลึกไว้ว่า การเสพบริโภค และเรื่องเศรษฐกิจทั้งหมด เป็นปัจจัย คือเป็นเครื่องเกื้อหนุนการพัฒนาชีวิตที่ดีงาม ไม่ใช่เป็นจุดหมายของชีวิต ชีวิตมิใช่จบที่นี่ ชีวิตไม่ใช่อยู่แค่นี้

เมื่อปฏิบัติถูกต้องตามหลักนี้ ก็จะเป็นคนที่กินอยู่เป็น เป็นผู้มีศีลอีกข้อหนึ่ง

๔. สัมมาอาชีวะ คือการหาเลี้ยงชีพโดยทางชอบธรรม ซึ่งเป็นศีลข้อสำคัญอย่างหนึ่ง เมื่อนำมาจัดเข้าชุดศีล ๔ ข้อนี้ และเน้นสำหรับพระภิกษุ ท่านเรียกว่า “อาชีวปาริสุทธิ” (ความบริสุทธิ์แห่งอาชีวะ) เป็นเรื่องของความสุจริตเกี่ยวกับ ปัจจัยปริเยสนา คือการแสวงหาปัจจัย (ต่อเนื่องกับข้อ ๓ ปัจจัยปฏิเสวนา คือการใช้สอยเสพบริโภคปัจจัย)

ศีลข้อนี้ในขั้นพื้นฐาน หมายถึงการเว้นจากมิจฉาชีพ ไม่ประกอบอาชีพที่ผิดกฎหมาย ผิดศีลธรรม แต่หาเลี้ยงชีพโดยทางสุจริต

ว่าโดยสาระ คือ ไม่ประกอบอาชีพที่เป็นการเบียดเบียน ก่อความเดือดร้อนเสียหายแก่ชีวิตอื่น และแก่สังคม หรือที่จะทำชีวิต จิตใจ และสังคมให้เสื่อมโทรมตกต่ำ ดังนั้นสำหรับคฤหัสถ์ จึงมีพุทธพจน์แสดงอกรณียวณิชชา คือการค้าขายที่อุบาสกไม่พึงประกอบ ๕ อย่าง8 ได้แก่ การค้าอาวุธ การค้ามนุษย์ การค้าสัตว์ขายเพื่อฆ่าเอาเนื้อ การค้าของเมา (รวมทั้งสิ่งเสพติดทั้งหลาย) และการค้ายาพิษ

เมื่อเว้นมิจฉาชีพ ก็ประกอบสัมมาชีพ ซึ่งเป็นการงานที่เป็นไปเพื่อแก้ปัญหาและช่วยสร้างสรรค์เกื้อกูลแก่ชีวิตและสังคมอย่างใดอย่างหนึ่ง อันจะทำให้เกิดปีติและความสุขได้ทุกเวลา ไม่ว่าระลึกนึกขึ้นมาคราวใด ก็อิ่มใจภูมิใจว่าเราได้ทำชีวิตให้มีคุณค่าไม่ว่างเปล่า ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปในมรรค โดยเฉพาะระดับจิตใจหรือสมาธิ

สัมมาชีพ นอกจากเป็นอาชีพการงานที่เป็นประโยชน์แก่ชีวิตและสังคมแล้ว ยังเป็นประโยชน์ในด้านการศึกษาพัฒนาชีวิตของตนเองด้วย ซึ่งผู้ทำงานควรตั้งใจใช้เป็นโอกาสในการพัฒนาตน เช่น เป็นแดนฝึกฝนพัฒนาทักษะต่างๆ ฝึกกายวาจากิริยามารยาท พัฒนาความสามารถในการสื่อสารสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ ฝึกความเข้มแข็งขยันอดทน ความมีวินัย ความรับผิดชอบ ความมีฉันทะ มีสติ และสมาธิ พัฒนาความสุขในการทำงาน และพัฒนาด้านปัญญา เรียนรู้จากทุกสิ่งทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องเข้ามา คิดค้นแก้ไขปรับปรุงการงาน และการแก้ปัญหาต่างๆ

ทั้งนี้ ในความหมายที่ลึกลงไป การเลี้ยงชีวิตด้วยสัมมาชีพ ท่านรวมถึงความขยันหมั่นเพียร และการปฏิบัติให้ได้ผลดีในการประกอบอาชีพที่สุจริต เช่น ทำงานไม่ให้คั่งค้างอากูล เป็นต้น ด้วย

อาชีพการงานนั้น เป็นกิจกรรมที่ครองเวลาส่วนใหญ่แห่งชีวิตของเรา ถ้าผู้ใดมีโยนิโสมนสิการ คิดถูก ปฏิบัติถูก ต่ออาชีพการงานของตน นอกจากได้บำเพ็ญประโยชน์เป็นอันมากแล้ว ก็จะได้ประโยชน์จากการงานนั้นๆ มากมาย ทำให้งานนั้นเป็นส่วนแห่งสิกขา เป็นเครื่องฝึกฝนพัฒนาชีวิตของตนให้ก้าวไปในมรรคได้ด้วยดี

การฝึกศึกษาในด้านและในขั้นศีล ๔ ประเภท ที่กล่าวมานี้ จะต้องเอาใจใส่ให้ความสำคัญกันให้มาก เพราะเป็นที่ทรงตัวปรากฏตัวของวิถีชีวิตดีงาม ที่เรียกว่ามรรค และเป็นพื้นฐานของการก้าวไปสู่สิกขาคือการศึกษาที่สูงขึ้นไป ถ้าขาดพื้นฐานนี้แล้ว การศึกษาขั้นต่อไปก็จะง่อนแง่นรวนเร เอาดีได้ยาก

ส่วนสิกขาด้านจิตหรือสมาธิ และด้านปัญญา ที่เป็นเรื่องลึกละเอียด กว้างขวางมาก จะยังไม่กล่าวเพิ่มจากที่พูดไปแล้ว

ก่อนจะผ่านไป มีข้อควรทำความเข้าใจที่สำคัญในตอนนี้ ๒ ประการ คือ

๑. ในแง่ไตรสิกขา หรือในแง่ความประสานกันของสิกขาทั้ง ๓ ได้กล่าวแล้วว่า ชีวิตคนทั้ง ๓ ด้าน คือ การสัมพันธ์กับโลก จิตใจ และความรู้ ความคิด ทำงานประสานเป็นปัจจัยแก่กัน ดังนั้น การฝึกศึกษาทั้ง ๓ ด้าน คือ ศีล สมาธิ และปัญญา ก็จึงดำเนินไปด้วยกัน

ที่พูดว่า สิกขา/ฝึกศึกษาขั้นศีลนี้ มิใช่หมายความว่าเป็นเรื่องของศีลอย่างเดียว แต่หมายความว่า ศีลเป็นแดนหรือด้านที่เรากำลังเข้ามาปฏิบัติจัดการหรือทำการฝึกอยู่ในตอนนี้ขณะนี้ แต่ตัวทำงานหรือองค์ธรรมที่ทำงานในการฝึก ก็มีครบทั้งศีล สมาธิ และปัญญา

ถ้ามองดูให้ดี จะเห็นชัดว่า ตัวทำงานสำคัญๆ ในการฝึกศีลนี้ ก็คือ องค์ธรรมฝ่ายจิตหรือสมาธิ และองค์ธรรมฝ่ายปัญญา

ดูง่ายๆ ก็ที่ศีลข้ออินทรียสังวรนั้น ตัวทำงานหลักก็คือสติ ซึ่งเป็นองค์ธรรมฝ่ายจิตหรือหมวดสมาธิ และถ้าการฝึกศึกษาตรงนี้ถูกต้อง ก็ปัญญานั่นแหละที่ทำงานมาก มาใช้ประโยชน์และเดินหน้า

พูดด้วยภาษาง่ายๆ ว่า ในขั้นศีลนี้ ธรรมฝ่ายจิต/ สมาธิ และปัญญา มาทำงานกับเรื่องรูปธรรม ในแดนของศีล เพื่อช่วยกันฝึกฝนพัฒนาศีล และในการทำงานนี้ ทั้งสมาธิและปัญญาก็ฝึกศึกษาพัฒนาตัวมันเองไปด้วย

ในขั้นหรือด้านอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน ทั้งศีล สมาธิ และปัญญา ต่างก็ช่วยกันร่วมกันทำงานประสานกันตามบทบาทของตนๆ

๒. ในแง่มรรค หรือในแง่คุณสมบัติภายในของชีวิต ขณะที่มีการฝึกศึกษาด้วยไตรสิกขานั้น ถ้ามองเข้าไปในชีวิตที่ดำเนินอยู่คือมรรคที่รับผลจากการฝึกศึกษาของสิกขา ก็จะเห็นว่า กระบวนธรรมของการดำเนินชีวิตก็ก้าวไปตามปกติของมัน โดยมีปัญญาในชื่อว่าสัมมาทิฏฐิเป็นผู้นำกระบวน ของชีวิตนั้นทั้ง ๓ ด้าน สัมมาทิฏฐินี้มองเห็นรู้เข้าใจอย่างไรเท่าไร ก็คิดพูดทำดำเนินชีวิตไปในแนวทางนั้นอย่างนั้นและได้แค่นั้น

แต่เมื่อการฝึกศึกษาของไตรสิกขาดำเนินไป ปัญญาชื่อสัมมาทิฏฐินั้น ก็พัฒนาตัวมันเองด้วยประสบการณ์ทั้งหลายจากการฝึกศึกษานั้น เฉพาะอย่างยิ่งด้วยการทำงานคิดวิจัยสืบค้นไตร่ตรองของสัมมาสังกัปปะ ทำให้มองเห็นรู้เข้าใจกว้างลึกชัดเจนทั่วตลอดถึงความจริงยิ่งขึ้นๆ แล้วก็จัดปรับนำกระบวนธรรมก้าวหน้าเป็นมรรคที่สมบูรณ์ใกล้จุดหมายยิ่งขึ้นๆ ไป

การศึกษาจะดำเนินไป มีปัจจัยช่วยเกื้อหนุน

ขอย้อนย้ำว่า มรรค คือการดำเนินชีวิตหรือวิถีชีวิตที่ดี แต่จะดำเนินชีวิตดีได้ก็ต้องมีการฝึกฝนพัฒนา ดังนั้นจึงต้องมีการฝึกศึกษาที่เรียกว่า สิกขา

มรรค เป็นจุดหมายของ สิกขา การที่ให้มีไตรสิกขา ก็เพื่อให้คนมีชีวิตที่เป็นมรรค และก้าวไปในมรรคนั้น

ด้วยการฝึกตามระบบแห่งไตรสิกขา องค์ ๘ ของมรรคจะเกิดขึ้นเป็นคุณสมบัติของคน และเจริญพัฒนา ทำให้มีชีวิตดี ที่เป็นมรรค และก้าวไปในมรรคนั้น

อย่างไรก็ดี กระบวนการแห่งสิกขา มิใช่ว่าจะเริ่มขึ้นมาและคืบหน้าไปเองลอยๆ แต่ต้องอาศัยปัจจัยเกื้อหนุนหรือช่วยกระตุ้น

เนื่องจากปัจจัยที่ว่านี้เป็นตัวนำเข้าสู่สิกขา จึงจัดว่าอยู่ในขั้นก่อนมรรค และการนำเข้าสู่สิกขานี้เป็นเรื่องสำคัญมาก ด้วยเหตุนี้จึงทำให้แบ่งกระบวนการแห่งการศึกษาออกเป็น ๒ ขั้นตอนใหญ่ คือ ขั้นนำเข้าสู่สิกขา และ ขั้นไตรสิกขา

๑. ขั้นนำสู่สิกขา หรือการศึกษาจัดตั้ง

ขั้นก่อนที่จะเข้าสู่ไตรสิกขา เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ขั้นก่อนมรรค เพราะมรรค หรือเรียกให้เต็มว่ามรรคมีองค์ ๘ นั้น ก็คือ วิถีแห่งการดำเนินชีวิต ที่เกิดจากการฝึกศึกษาตามหลักไตรสิกขานั่นเอง

เมื่อมองในแง่ของมรรค ก็เริ่มจากสัมมาทิฏฐิ คือความเห็นชอบ ซึ่งเป็นปัญญาในระดับหนึ่ง

ปัญญาในขั้นนี้ เป็นความเชื่อและความเข้าใจในหลักการทั่วๆ ไป โดยเฉพาะความเชื่อว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย หรือการถือหลักการแห่งเหตุปัจจัย ซึ่งเป็นความเชื่อที่เป็นฐานสำคัญของการศึกษา ที่จะทำให้มีการพัฒนาต่อไปได้ เพราะเมื่อเชื่อว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย พอมีอะไรเกิดขึ้น ก็ต้องคิดค้นสืบสาวหาเหตุปัจจัย และต้องปฏิบัติให้สอดคล้องกับเหตุปัจจัย การศึกษาก็เดินหน้า

ในทางตรงข้าม ถ้ามีทิฏฐิความคิดเห็นเชื่อถือที่ผิด ก็จะตัดหนทางที่จะพัฒนาต่อไป เช่น ถ้าเชื่อว่าสิ่งทั้งหลายจะเป็นอย่างไรก็เป็นไปเองแล้วแต่โชค หรือเป็นเพราะการดลบันดาล คนก็ไม่ต้องศึกษาพัฒนาตน เพราะไม่รู้จะพัฒนาไปทำไม

ดังนั้น ในกระบวนการฝึกศึกษาพัฒนาคน เมื่อเริ่มต้นจึงต้องมีปัญญาอยู่บ้าง นั่นคือปัญญาในระดับของความเชื่อในหลักการที่ถูกต้อง ซึ่งเมื่อเชื่อแล้วก็จะนำไปสู่การศึกษา

คราวนี้ สิ่งที่ต้องพิจารณาต่อไป ก็คือ สัมมาทิฏฐิ ซึ่งเป็นฐานหรือเป็นจุดเริ่มให้คนมีการศึกษาพัฒนาต่อไปได้นี้ จะเกิดขึ้นในตัวบุคคลได้อย่าง ไร หรือทำอย่างไรจะให้บุคคลเกิดมีสัมมาทิฏฐิ

ในเรื่องนี้ พระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดง ปัจจัยแห่งสัมมาทิฏฐิ ๒ อย่าง9 คือ

๑. ปัจจัยภายนอก ได้แก่ ปรโตโฆสะ
๒. ปัจจัยภายใน ได้แก่ โยนิโสมนสิการ

ตามหลักการนี้ การมีสัมมาทิฏฐิอาจเริ่มจากปัจจัยภายนอก เช่น พ่อแม่ ครูอาจารย์ ผู้ใหญ่ หรือวัฒนธรรม ซึ่งทำให้บุคคลได้รับอิทธิพลจากความเชื่อ แนวคิด ความเข้าใจ และภูมิธรรมภูมิปัญญา ที่ถ่ายทอดต่อกันมา

ถ้าสิ่งที่ได้รับจากการแนะนำสั่งสอนถ่ายทอดมานั้นเป็นสิ่งที่ดีงามถูกต้อง อยู่ในแนวทางของเหตุผล ก็เป็นจุดเริ่มของสัมมาทิฏฐิ ที่จะนำเข้าสู่กระแสการพัฒนาหรือกระบวนการฝึกศึกษา ในกรณีอย่างนี้ สัมมาทิฏฐิเกิดจากปัจจัยภายนอกที่เรียกว่า ปรโตโฆสะ

ถ้าไม่เช่นนั้น บุคคลอาจเข้าสู่กระแสการศึกษาพัฒนาโดยเกิดปัญญาที่เรียกว่าสัมมาทิฏฐินั้น ด้วยการใช้โยนิโสมนสิการ คือการรู้จักคิด รู้จักพิจารณาด้วยตนเอง

แต่คนส่วนใหญ่จะเข้าสู่กระแสการศึกษาพัฒนาด้วยปรโตโฆสะ เพราะคนที่มีโยนิโสมนสิการแต่แรกเริ่มนั้น หาได้ยาก

ปรโตโฆสะ” แปลว่า เสียงจากผู้อื่น คืออิทธิพลจากภายนอก เป็นคำที่มีความหมายกลางๆ คืออาจจะดีหรือชั่ว ถูกหรือผิดก็ได้ ถ้าปรโตโฆสะนั้นเป็นบุคคลที่ดี เราเรียกว่า กัลยาณมิตร ซึ่งเป็นปรโตโฆสะชนิดที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะที่ได้เลือกสรรกลั่นกรองแล้ว เพื่อให้มาทำงานในด้านการศึกษา

ถ้าบุคคลและสถาบันที่มีบทบาทสำคัญมากในสังคม เช่น พ่อแม่ ครูอาจารย์ สื่อมวลชน และองค์กรทางวัฒนธรรม เป็นปรโตโฆสะที่ดี คือเป็นกัลยาณมิตร ก็จะนำเด็กไปสู้สัมมาทิฏฐิ ซึ่งเป็นฐานของการพัฒนาต่อไป

อย่างไรก็ตาม คนที่พัฒนาดีแล้วจะมีคุณสมบัติที่สำคัญ คือ พึ่งตนได้โดยมีอิสรภาพ แต่คุณสมบัตินี้จะเกิดขึ้นต่อเมื่อเขารู้จักใช้ปัจจัยภายใน เพราะถ้าเขายังต้องอาศัยปัจจัยภายนอก ก็คือ การที่ยังต้องพึ่งพา ยังไม่เป็นอิสระ จึงยังไม่สามารถพึ่งตนเองได้ ดังนั้น จุดเน้นจึงอยู่ที่ปัจจัยภายใน

แต่เราอาศัยปัจจัยภายนอกมาเป็นสื่อในเบื้องต้น เพื่อช่วยชักนำให้ผู้เรียนสามารถใช้โยนิโสมนสิการ ที่เป็นปัจจัยภายในของตัวเขาเอง

เมื่อรู้หลักนี้แล้ว เราก็ดำเนินการพัฒนากัลยาณมิตรขึ้นมาช่วยชักนำคนให้รู้จักใช้โยนิโสมนสิการ

นอกจากปรโตโฆสะที่เป็นกัลยาณมิตร และโยนิโสมนสิการ ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลัก ๒ อย่างนี้แล้ว ยังมีองค์ประกอบเสริมที่ช่วยเกื้อหนุนในขั้นก่อนเข้าสู่มรรคอีก ๕ อย่าง จึงรวมทั้งหมดมี ๗ ประการ

องค์ธรรมเกื้อหนุนทั้ง ๗ ที่กล่าวมานั้น มีชื่อเรียกว่าบุพนิมิตของมรรค10 เพราะเป็นเครื่องหมายบ่งบอกล่วงหน้าถึงการที่มรรคจะเกิดขึ้น หรือเป็นจุดเริ่มที่จะนำเข้าสู่มรรค อาจเรียกเป็นภาษาง่ายๆ ว่า แสงเงินแสงทองของ (วิถี) ชีวิตที่ดีงาม หรือเรียกในแง่สิกขาว่า รุ่งอรุณของการศึกษา ดังนี้

๑. กัลยาณมิตตตา (มีกัลยาณมิตร=แสวงแหล่งปัญญาและแบบอย่างที่ดี) ได้แก่ ปรโตโฆสะที่ดี ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอก ที่ได้กล่าวแล้ว

๒. ศีลสัมปทา (ทำศีลให้ถึงพร้อม=มีวินัยเป็นฐานของการพัฒนาชีวิต) คือ ประพฤติดี มีวินัย มีระเบียบในการดำเนินชีวิต ตั้งอยู่ในความสุจริต และมีความสัมพันธ์ทางสังคมที่ดีที่เกื้อกูล

๓. ฉันทสัมปทา (ทำฉันทะให้ถึงพร้อม=มีจิตใจใฝ่รู้ใฝ่สร้างสรรค์) คือ พอใจใฝ่รักในความรู้ อยากรู้ให้จริง และปรารถนาจะทำสิ่งทั้งหลายให้ดีงาม11

๔. อัตตสัมปทา (ทำตนให้ถึงพร้อม=มุ่งมั่นฝึกตนเต็มสุดภาวะที่ความเป็นคนจะให้ถึงได้) คือการทำตนให้ถึงความสมบูรณ์แห่งศักยภาพของความเป็นมนุษย์ โดยมีจิตสำนึกในการที่จะฝึกฝนพัฒนาตนอยู่เสมอ

๕. ทิฏฐิสัมปทา (ทำทิฏฐิให้ถึงพร้อม=ถือหลักเหตุปัจจัยมองอะไรๆ ตามเหตุและผล) คือ มีความเชื่อที่มีเหตุผล ถือหลักความเป็นไปตามเหตุปัจจัย

๖. อัปปมาทสัมปทา (ทำความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม=ตั้งตนอยู่ในความไม่ประมาท) คือ มีสติครองตัว เป็นคนกระตือรือร้น ไม่เฉื่อยชา ไม่ปล่อยปละละเลย โดยเฉพาะมีจิตสำนึกตระหนักในความเปลี่ยนแปลง ซึ่งทำให้เห็นคุณค่าของกาลเวลา และรู้จักใช้เวลาให้เป็นประโยชน์

๗. โยนิโสมนสิการสัมปทา (ทำโยนิโสมนสิการให้ถึงพร้อม=ฉลาดคิดแยบคายให้ได้ประโยชน์และความจริง) รู้จักคิด รู้จักพิจารณา มองเป็น คิดเป็น เห็นสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็นไป ในระบบความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย รู้จักสอบสวนสืบค้นวิเคราะห์วิจัย ให้เห็นความจริง หรือให้เห็นแง่ด้านที่จะทำให้เป็นประโยชน์ สามารถแก้ไขปัญหาและจัดทำดำเนินการต่างๆ ให้สำเร็จได้ ด้วยวิธีการแห่งปัญญา ที่จะทำให้พึ่งตนเองและเป็นที่พึ่งของคนอื่นได้

ในการศึกษานั้น ปัจจัยตัวแรก คือกัลยาณมิตร อาจช่วยชักนำ หรือกระตุ้นให้เกิดปัจจัยตัวอื่น ตั้งแต่ตัวที่ ๒ จนถึงตัวที่ ๗

การที่จะมีกัลยาณมิตรนั้น จัดแยกได้เป็นการพัฒนา ๒ ขั้นตอน

ขั้นแรก กัลยาณมิตรนั้นเกิดจากผู้อื่นหรือสังคมจัดให้ ซึ่งจะทำให้เด็กอยู่ในภาวะที่เป็นผู้รับและยังมีการพึ่งพามาก

ขั้นที่สอง เมื่อเด็กพัฒนามากขึ้น คือรู้จักใช้โยนิโสมนสิการแล้ว เด็กจะมองเห็นคุณค่าของแหล่งความรู้ และนิยมแบบอย่างที่ดี แล้วเลือกหากัลยาณมิตรเอง โดยรู้จักปรึกษาไต่ถาม เลือกอ่านหนังสือ เลือกชมรายการโทรทัศน์ที่ดีมีประโยชน์ เป็นต้น

พัฒนาการในขั้นที่เด็กเป็นฝ่ายเลือกคบหากัลยาณมิตรเองนี้ เป็นความหมายของความมีกัลยาณมิตรที่ต้องการในที่นี้ และเมื่อถึงขั้นนี้แล้ว เด็กจะทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตรของผู้อื่นได้ด้วย อันนับเป็นจุดสำคัญของการที่จะเป็นผู้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์และพัฒนาสังคม

ถ้าบุคคลมีปัจจัย ๗ ข้อนี้แล้ว ก็เชื่อมั่นได้ว่าเขาจะมีชีวิตที่ดีงาม และกระบวนการศึกษาจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เพราะปัจจัยเหล่านี้เป็นส่วนขยายของมรรค หรือของไตรสิกขานั้นเอง ที่ยื่นออกมาเชื่อมต่อเพื่อรับหรือดึงคนเข้าสู่กระบวนการฝึกศึกษาพัฒนา โดยเป็นทั้งตัวชักนำเข้าสู่ไตรสิกขา และเป็นตัวเร่ง และคอยเสริมให้การฝึกศึกษาของไตรสิกขาเดินหน้าไปด้วยดี

การศึกษา[ที่สังคม]จัดตั้ง ต้องไม่บดบังการศึกษาที่แท้ของชีวิต

การศึกษาที่จัดทำกันอย่างเป็นงานเป็นการ เป็นกิจการของรัฐของสังคม ก็คือการยอมรับความสำคัญและดำเนินการในขั้นของ ปัจจัยข้อที่ ๑ คือ ความมีกัลยาณมิตร ที่เป็น ปัจจัยภายนอก นั่นเอง

ปัจจัยข้อ ๑ นี้เป็นเรื่องใหญ่ มีความสำคัญมาก รัฐหรือสังคมนั่นเองทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตร ด้วยการจัดสรรและจัดเตรียมบุคลากรที่จะดำเนินบทบาทของกัลยาณมิตร เช่น ครูอาจารย์ ผู้บริหาร พร้อมทั้งอุปกรณ์ และปัจจัยเกื้อหนุนต่างๆ ถึงกับต้องจัดเป็นองค์กรใหญ่โต ใช้จ่ายงบประมาณมากมาย

ถ้าได้กัลยาณมิตรที่ดี มีคุณสมบัติที่เหมาะ และมีความรู้เข้าใจชัดเจนในกระบวนการของการศึกษา สำนึกตระหนักต่อหน้าที่และบทบาทของตนในกระบวนการแห่งสิกขานั้น มีเมตตา ปรารถนาดีต่อชีวิตของผู้เรียนด้วยใจจริง และพร้อมที่จะทำหน้าที่ของกัลยาณมิตร กิจการการศึกษาของสังคมก็จะประสบความสำเร็จด้วยดี

ดังนั้น การสร้างสรรจัดเตรียมกัลยาณมิตรจึงเป็นงานใหญ่ที่สำคัญยิ่ง ซึ่งควรดำเนินการให้ถูกต้อง อย่างจริงจัง ด้วยความไม่ประมาท

อย่างไรก็ดี จะต้องระลึกตระหนักไว้ตลอดเวลาว่า การพยายามจัดให้มีปรโตโฆสะที่ดี ด้วยการวางระบบองค์กรและบุคลากรกัลยาณมิตรขึ้นทั้งหมดนี้ แม้จะเป็นกิจการทางสังคมที่จำเป็นและสำคัญอย่างยิ่ง และแม้จะทำอย่างดีเลิศเพียงใด ก็อยู่ในขั้นของการนำเข้าสู่การศึกษา เป็นขั้นตอนก่อนมรรค และเป็นเรื่องของปัจจัยภายนอกทั้งนั้น พูดสั้นๆ ว่าเป็น การศึกษาจัดตั้ง

การศึกษาจัดตั้ง ก็คือ กระบวนการช่วยชักนำคนเข้าสู่การศึกษา โดยการดำเนินงานของกัลยาณมิตร

ในกระบวนการศึกษาจัดตั้งนี้ ผู้ทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตร และผู้ทำงานในระบบจัดสรรปรโตโฆสกรรม/ปรโตโฆสการ ทั้งหมด พึงระลึกตระหนักต่อหลักการสำคัญบางอย่าง เพื่อความมั่นใจในการที่จะปฏิบัติให้ถูกต้อง และป้องกันความผิดพลาด ดังต่อไปนี้

โดยหลักการ กระบวนการแห่งการศึกษาดำเนินไปในตัวบุคคล โดยสัมพันธ์กับโลก/สิ่งแวดล้อม/ปัจจัยภายนอก ทั้งในแง่รับเข้า แสดงออก และปฏิสัมพันธ์

สำหรับคนส่วนใหญ่ กระบวนการแห่งการศึกษาอาศัยการโน้มนำและเกื้อหนุนของปัจจัยภายนอกเป็นอย่างมาก ถ้ามีแต่ปัจจัยภายนอกที่ไม่เอื้อ คนอาจจะหมกจมติดอยู่ในกระบวนการเสพความรู้สึก และไม่เข้าสู่การศึกษา เราจึงจัดสรรปัจจัยภายนอก ที่จะโน้มนำและเกื้อหนุนปัจจัยภายในที่ดีให้พัฒนาขึ้นมา ซึ่งจะนำเขาเข้าสู่การศึกษา และก้าวไปในทางชีวิตที่เป็นมรรค

โดยความมุ่งหมาย เราจัดสรรและเป็นปัจจัยภายนอกในฐานะกัลยาณมิตร ที่จะโน้มนำให้ปัจจัยภายในที่ดีพัฒนาขึ้นมาในตัวเขาเอง และเกื้อหนุนให้กระบวนการแห่งการศึกษาในตัวของเขา พาเขาก้าวไปในมรรค

พูดสั้นๆ ว่า ตัวเราที่เป็นปัจจัยภายนอกนี้ จะต้องต่อหรือจุดไฟปัจจัยภายในของเขาขึ้นมาให้ได้ ความสำเร็จอยู่ที่เขาเกิดมีปัจจัยภายใน (โยนิโสมนสิการ และบุพนิมิตแห่งมรรคข้ออื่นๆ อีก ๕) ซึ่งจะนำเขาเข้าสู่กระบวนการแห่งการศึกษา (ศีล สมาธิ ปัญญา) ที่ทำให้เขาก้าวไปในมรรค ด้วยตัวเขาเอง

โดยขอบเขตบทบาท ระลึกตระหนักชัดต่อตำแหน่งหน้าที่ของตนในฐานะกัลยาณมิตร/ปัจจัยภายนอก ที่จะช่วย(โน้มนำเกื้อหนุน)ให้เขาศึกษาสิกขาอยู่ที่ตัวเขา มรรคอยู่ในชีวิตของเขา เราต้องจัดสรรและเป็นปัจจัยภายนอกที่ดีที่สุด

แต่ปัจจัยภายนอกที่ว่า “ดีที่สุด” นั้น อยู่ที่หนุนเสริมปัจจัยภายในของเขาให้พัฒนาอย่างได้ผลที่สุด และให้เขาเดินไปได้เอง ไม่ใช่ว่าดีจนกลายเป็นทำให้เขาไม่ต้องฝึกไม่ต้องศึกษา ได้แต่พึ่งพาปัจจัยภายนอกเรื่อยไป คิดว่าดีแต่ที่แท้เป็นการก้าวก่ายกีดขวางล่วงล้ำและครอบงำโดยไม่รู้ตัว

โดยการระวังจุดพลาด ระบบและกระบวนการแห่งการศึกษา ที่รัฐหรือสังคมจัดขึ้นมาทั้งหมด เป็นการศึกษาจัดตั้ง ความสำเร็จของการศึกษาจัดตั้งนี้ อยู่ที่การเชื่อมประสานหรือต่อโยง ให้เกิดมีและพัฒนาการศึกษาแท้ขึ้นในตัวบุคคล อย่างที่กล่าวแล้วข้างต้น

เรื่องนี้ ถ้าไม่ระวัง จะหลงเพลินว่าได้ “จัด” การศึกษาอย่างดีที่สุด แต่การศึกษาก็จบอยู่แค่การจัดตั้ง การศึกษาที่แท้ไม่พัฒนาขึ้นไปในเนื้อตัวของคน

แม้แต่การเรียนอย่างมีความสุข ก็อาจจะเป็นความสุขแบบจัดตั้ง ที่เกิดจากการจัดสรรปัจจัยภายนอก ในกระบวนการของการศึกษาจัดตั้ง ในชั้นเรียนหรือในโรงรียน เป็นต้น

ถึงแม้นักเรียนจะมีความสุขจริงๆ ในบรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่จัดตั้งนั้น แต่ถ้าเด็กยังไม่เกิดมีปัจจัยภายในที่จะทำให้เขาสามารถมีและสร้างความสุขได้ เมื่อเขาออกไปอยู่กับชีวิตจริง ในโลกแห่งความเป็นจริง ที่ไม่เข้าใครออกใคร ไม่มีใครตามไปเอาอกเอาใจ หรือไปจัดสรรความสุขแบบจัดตั้งให้ เขาก็จะกลายเป็นคนที่ไม่มีความสุข

ซ้ำร้ายความสุขที่เกิดจากการจัดตั้งนั้น อาจทำให้เขาเป็นคนมีความสุขแบบพึ่งพา ที่พึ่งตนเองไม่ได้ในการที่จะมีความสุข ต้องอาศัยการจัดตั้งอยู่เรื่อยไป และกลายเป็นคนที่มีความสุขได้ยาก หรือไม่สามารถมีความสุขได้ในโลกแห่งความป็นจริง

อาจกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างการศึกษาจัดตั้งของสังคม กับการศึกษาที่แท้ของชีวิต ที่ดูเหมือนย้อนแย้งกัน แต่ต้องทำให้เป็นอย่างนั้นจริงๆ ซึ่งเป็นตัวอย่างของข้อเตือนใจไว้ป้องกันความผิดพลาด ดังนี้

๑) (ปัจจัยภายนอก) จัดสรรให้เด็กได้รับสิ่งแวดล้อมและปัจจัยเอื้อทุกอย่างที่ดีที่สุด

๒) (ปัจจัยภายใน) ฝึกสอนให้เด็กสามารถเรียนรู้อยู่ดีเฟ้นหาคุณค่าประโยชน์ได้จากสิ่งแวดล้อมและสภาพทุกอย่างแม้แต่ที่เลวร้ายที่สุด

๒. ขั้นไตรสิกขา หรือกระบวนการศึกษาที่แท้ของธรรมชาติ

ขั้นตอนนี้ เป็นการเข้าสู่กระบวนการฝึกศึกษา ที่เป็นกิจกรรมแห่งชีวิตของแต่ละบุคคล ในระบบแห่งไตรสิกขา คือ การฝึกศึกษาพัฒนาความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม พัฒนาจิตใจ และพัฒนาปัญญา ตามหลักแห่ง ศีล สมาธิ และปัญญา ที่ได้พูดไปก่อนนี้แล้ว

ระบบไตรสิกขาเพื่อการพัฒนาอย่างองค์รวมในทุกกิจกรรม

ได้กล่าวแล้วว่า ในกระบวนการพัฒนาของไตรสิกขานั้น องค์ทั้ง ๓ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา จะทำงานประสานโยงส่งผลต่อกัน เป็นระบบและกระบวนการอันหนึ่งอันเดียว

แต่เมื่อมองไตรสิกขานี้ โดยภาพรวมที่เป็นระบบใหญ่ของการฝึก ก็จะเห็นองค์ ๓ นั้นเด่นขึ้นมาทีละอย่าง จากหยาบแล้วละเอียดประณีตขึ้นไปเป็นช่วงๆ หรือเป็นขั้นๆ ตามลำดับ คือ

ช่วงแรก เด่นออกมาข้างนอก ที่อินทรีย์และกายวาจา ก็เป็นขั้น ศีล

ขั้นที่สอง เด่นด้านภายใน ที่จิตใจ ก็เป็นขั้น สมาธิ

ช่วงที่สาม เด่นที่ความรู้ความคิดเข้าใจ ก็เป็นขั้น ปัญญา

แต่ในทุกขั้นนั้นเอง องค์อีก ๒ อย่างก็ทำงานร่วมอยู่ด้วยโดยตลอด

หลักการทั้งหมดนี้ ได้อธิบายข้างต้นแล้ว แต่มีเรื่องที่ขอพูดแทรกไว้อย่างหนึ่ง เพื่อเสริมประโยชน์ในชีวิตประจำวัน คือ การทำงานของกระบวนการฝึกศึกษาพัฒนา ที่องค์ทั้งสาม ทั้ง ศีล สมาธิ ปัญญา ทำงานอยู่ด้วยกัน โดยประสานสัมพันธ์เป็นเหตุปัจจัยแก่กัน

การปฏิบัติแบบที่ว่านี้ ก็คือ การนำไตรสิกขาเข้าสู่การพิจารณาของโยนิโสมนสิการ หรือการโยนิโสมนสิการในไตรสิกขา ซึ่งควรปฏิบัติให้ได้เป็นประจำ และเป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้จริงโดยไม่ยากเลย ดังนี้

ในการกระทำทุกครั้งทุกอย่าง ไม่ว่าจะแสดงพฤติกรรมอะไร หรือมีกิจกรรมใดๆ ก็ตาม เราสามารถฝึกฝนพัฒนาตนและสำรวจตรวจสอบตนเองตามหลักไตรสิกขานี้ ให้มีการศึกษาครบทั้ง ๓ อย่าง ทั้ง ศีล สมาธิ และ ปัญญา พร้อมกันไปทุกครั้งทุกคราว คือ เมื่อทำอะไรก็พิจารณาดูว่า

พฤติกรรม หรือการกระทำของเราครั้งนี้ จะเป็นการเบียดเบียน ทำให้เกิดความเดือดร้อนแก่ใครหรือไม่ จะก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมเสียหายอะไรๆ บ้างไหม หรือว่าเป็นไปเพื่อความเกื้อกูล ช่วยเหลือ ส่งเสริม และสร้างสรรค์ (ศีล)

ในเวลาที่จะทำนี้ จิตใจของเราเป็นอย่างไร เราทำด้วยจิตใจที่เห็นแก่ตัว มุ่งร้ายต่อใคร ทำด้วยความโลภ โกรธ หลง หรือไม่ หรือทำด้วยเมตตา มีความปรารถนาดี ทำด้วยศรัทธา ทำด้วยสติ มีความเพียร มีความรับผิดชอบ เป็นต้น และ ในขณะที่ทำสภาพจิตใจของเราเป็นอย่างไร เร่าร้อน กระวนกระวาย ขุ่นมัว เศร้าหมอง หรือว่ามีจิตใจที่สงบ ร่าเริง เบิกบาน เป็นสุข เอิบอิ่ม ผ่องใส (สมาธิ)

เรื่องที่ทำครั้งนี้ เราทำด้วยความรู้ความเข้าใจชัดเจนดีแล้วหรือไม่ เรามองเห็นเหตุผล รู้เข้าใจหลักเกณฑ์และความมุ่งหมาย มองเห็นผลดีผลเสียที่อาจจะเกิดขึ้น และหนทางแก้ไขปรับปรุงพร้อมดีแล้วหรือไม่ (ปัญญา)

ด้วยวิธีปฏิบัติอย่างนี้ คนที่ฉลาดจึงสามารถฝึกศึกษาพัฒนาตน และสำรวจตรวจสอบวัดผลการพัฒนาตนได้เสมอตลอดทุกครั้งทุกเวลา เป็นการบำเพ็ญไตรสิกขาในระดับรอบเล็ก (คือครบสิกขาทั้งสาม ในพฤติกรรมเดียวหรือกิจกรรมเดียว)

พร้อมกันนั้น การศึกษาของไตรสิกขาในระดับขั้นตอนใหญ่ ก็ค่อยๆ พัฒนาขึ้นไปทีละส่วนด้วย ซึ่งเมื่อมองดูภายนอก ก็เหมือนศึกษาไปตามลำดับทีละอย่างทีละขั้น ยิ่งกว่านั้น ไตรสิกขาในระดับรอบเล็กนี้ก็จะช่วยให้การฝึกศึกษาไตรสิกขาในระดับขั้นตอนใหญ่ยิ่งก้าวหน้าไปด้วยดีมากขึ้น

ในทางย้อนกลับ การฝึกศึกษาไตรสิกขาในระดับขั้นตอนใหญ่ ก็จะส่งผลให้การฝึกศึกษาไตรสิกขาในระดับรอบเล็ก มีความชัดเจนและสมบูรณ์ยิ่งขึ้นด้วยเช่นกัน

ตามที่กล่าวมานี้ ต้องการให้มองเห็นความสัมพันธ์อย่างอิงอาศัยซึ่งกันและกันขององค์ประกอบที่เรียกว่าสิกขา ๓ ในกระบวนการศึกษาและพัฒนาพฤติกรรม เป็นการมองรวมๆ อย่างสัมพันธ์ถึงกันหมด

ปฏิบัติการฝึกศึกษาด้วยสิกขา แล้ววัดผลด้วยภาวนา

ได้อธิบายแล้วข้างต้นว่า สิกขา ที่ท่านจัดเป็น ๓ อย่าง ดังที่เรียกว่า “ไตรสิกขา” นั้น เพราะเป็นไปตามความเป็นจริงในการปฏิบัติ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาแห่งธรรมชาติของชีวิตนี้เอง กล่าวคือ ในเวลาฝึกศึกษา สิกขา ๓ ด้านจะทำงานประสานสัมพันธ์กัน ซึ่งในขณะหนึ่งๆ อย่างครบเต็มที่เมื่อออกมาถึงการสัมพันธ์กับภายนอก ก็มี ๓ ด้าน

ดังเช่น ในขณะที่สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นวัตถุหรือบุคคล ไม่ว่าจะด้วยอินทรีย์ เช่น ตา หู หรือด้วยกาย-วาจา (ด้านศีล) ก็ต้องมีเจตนา แรงจูงใจ และสภาพจิตอย่างใดอย่างหนึ่ง (ด้านจิตหรือสมาธิ) และต้องมีความคิดเห็นเชื่อถือรู้เข้าใจในระดับใดระดับหนึ่ง (ปัญญา)

นี้เป็นเรื่องของธรรมภาคปฏิบัติ ซึ่งต้องทำให้สอดล้องตรงกันกับระบบความเป็นไปของสภาวะในธรรมชาติ

แต่ยังมีธรรมประเภทอื่น ซึ่งแสดงไว้ด้วยความมุ่งหมายที่ต่างออกไป โดยเฉพาะที่โยงกับเรื่องสิกขา ๓ นี้ ก็คือหลักภาวนา ๔

เมื่อปฏิบัติแล้ว ก็ควรจะมีการวัดหรือแสดงผลด้วย เรื่องการศึกษานี้ก็ทำนองนั้น เมื่อฝึกศึกษาด้วยสิกขา ๓ แล้ว ก็ตามมาด้วยหลักที่จะใช้วัดผล คือภาวนา ๔

ตอนปฏิบัติการฝึก สิกขามี ๓ แต่ทำไมตอนวัดผล ภาวนามี ๔ ไม่เท่ากัน

ทำไม (ในเวลาทำการฝึก) จึงจัด เป็นสิกขา ๓ และ (ในเวลาวัดผลคนที่ได้รับการฝึก) จึงจัดเป็นภาวนา ๔ ?

อย่างที่ชี้แจงแล้วว่า ธรรมภาคปฏิบัติการต้องจัดให้ตรงสอดคล้องกับระบบความเป็นไปของธรรมชาติ แต่ตอนวัดผลไม่ต้องจัดให้ตรงกันแล้ว เพราะวัตถุประสงค์อยู่ที่จะมองดูผลที่เกิดขึ้นแล้ว ซึ่งมุ่งที่จะให้เห็นชัดเจน ตอนนี้ถ้าแยกละเอียดออกไป ก็จะยิ่งดี นี่แหละคือเหตุผลที่ว่า หลักวัดผลคือภาวนาเพิ่มเป็น ๔

ขอให้ดูความหมายและหัวข้อของภาวนา ๔ นั้นก่อน

ภาวนา” แปลว่า ทำให้เจริญ ทำให้เป็นทำให้มีขึ้น หรือฝึกอบรม ในภาษาบาลี ท่านให้ความหมายว่า “วฑฺฒนา” คือวัฒนา หรือพัฒนา นั่นเอง ภาวนานี้เป็นคำหนึ่งที่มีความหมายใช้แทนกันได้กับ “สิกขา

ภาวนาจัดเป็น ๔ อย่าง คือ

๑. กายภาวนา การพัฒนากาย คือ การมีความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลกับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ หรือทางวัตถุ

๒. ศีลภาวนา การพัฒนาศีล คือ การมีความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลกับสิ่งแวดล้อมทางสังคม คือเพื่อนมนุษย์

๓. จิตภาวนา การพัฒนาจิต คือ การทำจิตใจให้เจริญงอกงามขึ้นในคุณธรรม ความดีงาม ความเข้มแข็งมั่นคง และความเบิกบานผ่องใสสงบสุข

๔. ปัญญาภาวนา การพัฒนาปัญญา คือ การเสริมสร้างความรู้ความคิดความเข้าใจ และการหยั่งรู้ความจริง

อย่างที่กล่าวแล้วว่า ภาวนา ๔ นี้ ใช้ในการวัดผลเพื่อดูว่าด้านต่างๆ ของการพัฒนาชีวิตของคนนั้น ได้รับการพัฒนาครบถ้วนหรือไม่ ดังนั้น เพื่อจะดูให้ชัด ท่านได้แยกบางส่วนละเอียดออกไปอีก

ส่วนที่แยกออกไปอีกนี้ คือ สิกขาข้อที่ ๑ (ศีล) ซึ่งในภาวนา แบ่งออกไปเป็นภาวนา ๒ ข้อ คือกายภาวนา และศีลภาวนา

ทำไมจึงแบ่งสิกขาข้อศีล เป็นภาวนา ๒ ข้อ ?

ที่จริง สิกขาด้านที่ ๑ คือศีล นั้น มี ๒ ส่วนอยู่แล้วในตัว เมื่อจัดเป็นภาวนา จึงแยกเป็น ๒ ได้ทันที คือ

๑. ศีล ในส่วนที่สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางกาย (ที่เรียกว่าสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ) ได้แก่ความสัมพันธ์กับวัตถุหรือโลกของวัตถุและธรรมชาติส่วนอื่น ที่ไม่ใช่มนุษย์ เช่น เรื่องปัจจัย ๔ สิ่งที่เราบริโภคใช้สอยทุกอย่าง และธรรมชาติแวดล้อมทั่วๆ ไป

ส่วนนี้แหละ ที่แยกออกไปจัดเป็น กายภาวนา

๒. ศีล ในส่วนที่สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางสังคม คือบุคคลอื่นในสังคมมนุษย์ด้วยกัน ได้แก่ความเกี่ยวข้องสัมพันธ์อยู่ร่วมกันด้วยดีในหมู่มนุษย์ ที่จะไม่เบียดเบียนกัน แต่ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน

ส่วนนี้ แยกออกไปจัดเป็น ศีลภาวนา

ในไตรสิกขา ศีลครอบคลุมความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ทั้งทางวัตถุหรือทางกายภาพ และทางสังคม รวมไว้ในข้อเดียวกัน

แต่เมื่อจัดเป็นภาวนา ท่านแยกกันชัดออกเป็น ๒ ข้อ โดยยกเรื่องความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมในโลกวัตถุ แยกออกไปเป็นกายภาวนา ส่วนเรื่องความสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ในสังคม จัดไว้ในข้อศีลภาวนา

ทำไมตอนที่เป็นสิกขาไม่แยก แต่ตอนเป็นภาวนาจึงแยก ?

อย่างที่กล่าวแล้วว่า ในเวลาฝึกหรือในกระบวนการฝึกศึกษา องค์ทั้ง ๓ อย่างของไตรสิกขา จะทำงานประสานไปด้วยกัน

ในศีลที่มี ๒ ส่วน คือ ความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมด้านกายภาพในโลกวัตถุ และความสัมพันธ์กับมนุษย์ในสังคมนั้น ส่วนที่สัมพันธ์แต่ละครั้งจะเป็นอันใดอันหนึ่งอย่างเดียว

ในกรณีหนึ่งๆ ศีลอาจจะเป็นความสัมพันธ์ด้านที่ ๑ (กายภาพ) หรือด้านที่ ๒ (สังคม) ก็ได้ แต่ต้องอย่างใดอย่างหนึ่ง

ดังนั้น ในกระบวนการฝึกศึกษาของไตรสิกขา ที่มีองค์ประกอบทั้งสามอย่างทำงานประสานเป็นอันเดียวกันนั้น จึงต้องรวมศีลทั้ง ๒ ส่วนเป็นข้อเดียว ทำให้สิกขามีเพียง ๓ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา

แต่ในภาวนาไม่มีเหตุบังคับอย่างนั้น จึงแยกศีล ๒ ส่วนออกจากกันเป็นคนละข้ออย่างชัดเจน เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบ จะได้วัดผลดูจำเพาะให้ชัดไปทีละอย่างว่า ในด้านกาย ความสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมทางวัตถุ เช่นการบริโภคปัจจัย ๔ เป็นอย่างไร ในด้านศีล ความสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์เป็นอย่างไร

เป็นอันว่า หลักภาวนา นิยมใช้ในเวลาวัดหรือแสดงผล แต่ในการฝึกศึกษาหรือตัวกระบวนการฝึกฝนพัฒนา จะใช้เป็นไตรสิกขา

เนื่องจากภาวนาท่านนิยมใช้ในการวัดผลของการศึกษาหรือการพัฒนาบุคคล รูปศัพท์ที่พบจึงมักเป็นคำแสดงคุณสมบัติของบุคคล คือแทนที่จะเป็น ภาวนา ๔ (กายภาวนา ศีลภาวนา จิตภาวนา และ ปัญญาภาวนา) ก็เปลี่ยนเป็น ภาวิต ๔ คือ

๑. ภาวิตกาย มีกายที่พัฒนาแล้ว (= มีกายภาวนา) คือ มีความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพในทางที่เกื้อกูลและได้ผลดี เริ่มแต่รู้จักใช้อินทรีย์ เช่น ตา หู ดู ฟัง เป็นต้น อย่างมีสติ ดูเป็น ฟังเป็น ให้ได้ปัญญา บริโภคปัจจัย ๔ และสิ่งของเครื่องใช้ ตลอดจนเทคโนโลยี อย่างฉลาด ได้ผลตรงเต็มตามคุณค่า

๒. ภาวิตศีล มีศีลที่พัฒนาแล้ว (= มีศีลภาวนา) คือ มีพฤติกรรมทางสังคมที่พัฒนาแล้ว ไม่เบียดเบียนก่อความเดือดร้อนเวรภัย ตั้งอยู่ในวินัย และมีอาชีวะที่สุจริต มีความสัมพันธ์ทางสังคมในลักษณะที่เกื้อกูล สร้างสรรค์และส่งเสริมสันติสุข

๓. ภาวิตจิต มีจิตที่พัฒนาแล้ว (= มีจิตภาวนา) คือ มีจิตใจที่ฝึกอบรมดีแล้ว

สมบูรณ์ด้วยคุณภาพจิต คือ ประกอบด้วยคุณธรรม เช่น มีเมตตา กรุณา เอื้ออารี มีมุทิตา มีความเคารพ อ่อนโยน ซื่อสัตย์ กตัญญู เป็นต้น

สมบูรณ์ด้วยสมรรถภาพจิต คือ มีจิตใจเข้มแข็งมั่นคง มีความเพียรพยายาม กล้าหาญ อดทน รับผิดชอบ มีสติ มีสมาธิ เป็นต้น และ

สมบูรณ์ด้วยสุขภาพจิต คือ มีจิตใจที่ร่าเริง เบิกบาน สดชื่น เอิบอิ่ม ผ่องใส และสงบ เป็นสุข

๔. ภาวิตปัญญา มีปัญญาที่พัฒนาแล้ว (= มีปัญญาภาวนา) คือรู้จักคิด รู้จักพิจารณา รู้จักวินิจฉัย รู้จักแก้ปัญหา และรู้จักจัดทำดำเนินการต่างๆ ด้วยปัญญาที่บริสุทธิ์ ซึ่งมองดูรู้เข้าใจเหตุปัจจัย มองเห็นสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริงหรือตามที่มันเป็น ปราศจากอคติและแรงจูงใจแอบแฝง เป็นผู้ที่กิเลสครอบงำบัญชาไม่ได้ เป็นอยู่ด้วยปัญญารู้เท่าทันโลกและชีวิต เป็นอิสระ ไร้ทุกข์

ผู้มีภาวนา ครบทั้ง ๔ อย่าง เป็นภาวิต ทั้ง ๔ ด้านนี้แล้ว โดยสมบูรณ์ เรียกว่า "ภาวิตัตตะ” แปลว่าผู้ได้พัฒนาตนแล้ว ได้แก่พระอรหันต์ เป็นอเสขะ คือผู้จบการศึกษาแล้ว ไม่ต้องศึกษาอีกต่อไป

กถํ ภควา ภาวิตตฺโต ฯ ภควา ภาวิตกาโย ภาวิตสีโล ภาวิตจิตฺโต ภาวิตปญฺโ...

[ขุ.จู. ๓๐/๑๔๘/๗๑]

พระผู้มีพระภาค ทรงเป็นภาวิตัตต์ (มีพระองค์ที่ทรงเจริญหรือพัฒนาแล้ว) อย่างไร? พระผู้มีพระภาคทรงเป็น ภาวิตกาย ภาวิตสีล ภาวิตจิตต ภาวิตปัญญา... (มีพระวรกาย มีศีล มีจิต มีปัญญา ... ที่เจริญแล้ว)

[ขยายความต่อไปอีกว่าทรงเจริญโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการแล้ว]

1เดิมเป็น บทเพิ่มเติม ในหนังสือ พุทธธรรม (ฉบับเดิม) ซึ่งพิมพ์ใหม่ล่าสุด ครั้งที่ ๑๐ เดือน สิงหาคม ๒๕๔๔ หน้า ๓๔๒-๓๗๔ มีผู้ขอนำมาพิมพ์แยกเป็นเล่มหนังสือต่างหากอีกส่วนหนึ่ง ในเดือนตุลาคม ๒๕๔๔
2ทันตะ มาจาก ทมะ ที่แปลว่า การฝึก ซึ่งเป็นอีกคำหนึ่งที่ใช้แทนสิกขาได้ ถ้าเป็นคนผู้ที่จะต้อง(ได้รับการ)ฝึก เป็น ทัมมะ (อย่างในบทพุทธคุณที่ยกมาให้ดูข้างต้น) ถ้าเป็นคนที่ฝึกหรือศึกษาแล้ว เป็น ทันตะ
3เรียกโดยศัพท์ว่า ผัสสทวาร หรือ สัมผัสสทวาร หรือ ปสาททวาร
4เรียกโดยศัพท์ว่า กรรมทวาร (กาย และ วาจา มีคำเรียกเฉพาะอีกว่า โจปนทวาร)
5ศีล ๔ หมวดนี้ ตามปกติท่านแสดงไว้เป็นข้อปฏิบัติของพระภิกษุ เรียกว่า ปาริสุทธิศีล ๔ มีชื่อที่เรียงตามลำดับ คือ ๑. ปาติโมกขสังวรสีล ๒. อินทรียสังวรสีล ๓. อาชีวปาริสุทธิสีล และ ๔. ปัจจัยสันนิสสิตสีล หรือ ปัจจัยปฏิเสวนสีล (เช่น วิสุทฺธิ. ๑/๑๘-๕๖) ที่ท่านเรียงข้อ ๓. ไว้ก่อนข้อ ๔. นั้น เห็นได้ว่าเป็นไปตามลำดับที่เป็นจริง คือ ข้อ ๓. เป็นเรื่องของปัจจัยปริเยสนา คือการแสวงหาปัจจัย ซึ่งมาก่อนปัจจัยปฏิเสวนา คือการเสพปัจจัย แต่ในที่นี้ มุ่งให้คฤหัสถ์นำมาปฏิบัติให้เหมาะกับตนด้วย โดยเริ่มตั้งแต่วัยเด็ก จึงเรียกโดยชื่อที่คุ้นแก่คนทั่วไป และเรียงอาชีวะเป็นข้อสุดท้าย
6วินัยแม่บทของพระภิกษุ เรียกว่า ภิกขุปาติโมกข์ (ภิกขุปาฏิโมกข์ ก็ใช้)
7ม.มู. ๑๒/๑๔/๑๗
8องฺ.ปญฺจก. ๒๒/๑๗๗/๒๓๓
9องฺ.ทุก. ๒๐/๓๗๑/๑๑๐
10ขุ ม. ๑๙/๑๒๙-๑๓๗/๓๖-๓๗ (คำแปลแบบช่วยจำ นำมาจากหนังสือ ธรรมนูญชีวิต พ.ศ. ๒๕๔๒)
11ฉันทะ เป็นธรรมที่สำคัญยิ่งอย่างหนึ่ง มีความหมายเป็นภาษาบาลีว่า “กตฺตุกมฺยตา แปลว่า ความเป็นผู้ใคร่เพื่อจะทำ คือ ต้องการทำ หรืออยากทำ ได้แก่การมีความปรารถนาดีต่อทุกสิ่งทุกอย่างที่พบเห็นเกี่ยวข้อง และอยากจะทำให้สิ่งนั้นๆ ดีงามสมบูรณ์เต็มตามภาวะที่ดีที่สุดของมัน ฉันทะ เป็นธรรมที่พัฒนาโดยอาศัยปัญญา และพึงพัฒนาขึ้นมาแทนที่ หรืออย่างน้อยให้ดุลกับ ตัณหา (ความอยากเกี่ยวกับตัวตน เช่น อยากได้ อยากเสพ อยากเป็น อยากคงอยู่ตลอดไป อยากสูญสลายหรืออยากทำลาย)
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง