ชีวิตกับการทำงาน

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ชีวิตกับการทำงาน1

อ. สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เกริ่นนำ

ขอกราบนมัสการท่านเจ้าคุณพระเทพเวที2 ที่จริงดำริที่จะให้มีประชุมกันประจำเดือน เลี้ยงข้าวเลี้ยงปลา และก็เชิญใครต่อใครมาพูดให้กำลังใจพวกเราในการทำงาน เป็นความคิดคุณอนันต์ วันนี้ก็เป็นนิมิตดี โอกาสดี มีพระเทพเวที กรุณามาให้คำสอน โอวาทแก่พวกเรา เพื่อเป็นกำลังใจในการทำงาน วันนี้ก็เป็นวันธรรมสวนะด้วย แล้วก็คงจะอาราธนาเจ้าคุณกล่าวเป็นทำนองธรรมกถา คงจะไม่เทศน์ เจ้าพระคุณท่านกรุณามาก ผมรบกวนท่านอยู่เรื่อย ผมก็เกรงใจท่านไม่อยากรบกวนท่านเท่าไร ตามปกติ เวลาท่านพูดนี่มีคนอยากฟังกันมาก ในประเทศ ต่างประเทศ ท่านพูดมักจะเป็นเนื้อหาสาระที่จับใจ ที่เป็นประโยชน์มาก หวังว่าพวกเราคงจะตั้งใจฟัง แล้วก็เอาไปคิดใคร่ครวญ เพื่อประโยชน์ในการดำรงชีวิต การทำงานเพื่อความสวัสดีของตัวเอง และหน่วยงานของเรานี้ ก็หวังว่าคงจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมของพวกเราทุกคน ไม่ว่าตำแหน่งเล็กตำแหน่งใหญ่ ก็หวังใจว่าจะถูกนำไปใช้เป็นประโยชน์ แต่คนที่ไม่นับถือศาสนาพุทธก็ไม่เป็นไร ก็เอาไปคิดใคร่ครวญ เอาไปเป็นประโยชน์ได้ ขอกราบอาราธนา

ขอเจริญพร ท่านอาจารย์สุลักษณ์ พร้อมทั้งญาติมิตรและคณะผู้ทำงานทุกๆ คน

วันนี้อาตมามา ก็เป็นการที่ได้รับนิมนต์มาแบบสบายๆ นิมนต์มาฉันภัตตาหารแล้วก็มีการสนทนากัน พูดให้กันฟังบ้าง ตามปกติ ว่าถึงการเลี้ยงพระ โดยมากก็นิมนต์ไปตามบ้าน นานๆ จึงจะมีนิมนต์ไปที่ทำงาน ถ้านิมนต์ไปที่ทำงาน โดยมากก็เป็นพิธีเปิดหรือพิธีการอื่นๆ ในทำนองนั้น เป็นเรื่องของพิธี แต่ที่นิมนต์มาคราวนี้ ไม่เชิงเป็นพิธีการ มาแบบมาคุย มาสนทนา สำนักงานก็เปิดอยู่แล้ว ก็เลยกลายเป็นว่ามาพบกับคนที่ทำงาน และก็เป็นเรื่องของการมาพบกับคนที่มีชีวิตในแนวเดียวกัน เพราะอยู่ในสำนักงานเดียวกัน ทำงานประเภทเดียวกัน

 

ความหมายของงาน

งานเป็นเรื่องสำคัญ แต่โดยทั่วไปพูดกันง่ายๆ คนมักมองความหมายของงานเพียงในแง่ว่า เป็นเครื่องช่วยในการเลี้ยงชีวิต มีงานทำก็จะช่วยให้เรามีเงินมีทองใช้และเป็นอยู่ได้ เรียกว่ามีอาชีพนั่นเอง คนที่ไม่มีงานทำก็เดือดร้อนมาก ถ้าเปรียบในแง่นี้แล้ว คนที่มีงานการทำก็สบายใจ มีความสุขได้อย่างหนึ่ง อย่างน้อยตัวก็มีทางที่จะได้เงินได้ทองใช้ เป็นทางที่จะให้มีความสุข เคยมีคำขวัญสมัยหนึ่งว่า งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข เพราะถ้ามีงานทำแล้วก็มีเงินใช้ และเงินก็ทำให้มีงาน เมื่อมีงานก็ทำให้มีเงิน และก็ทำให้มีความสุข แต่ว่าที่จริงมันไม่ใช่แค่นั้น งานไม่ใช่แค่คือเงิน อันนี้เป็นความหมายเบื้องต้นที่มองกันง่ายๆ แค่วัตถุ แต่งานนั้นมีความหมายลึกซึ้งลงไปอีกมาก เพราะงานทำให้กิจการ ทำให้โลกนี้ เป็นไปได้ สิ่งที่เราเรียกว่าการพัฒนา หรือการสร้างสรรค์ ตลอดจนกิจการบ้านเมืองทุกอย่างเป็นไปได้ก็เพราะว่าคนทำงาน ถ้าไม่มีการทำงานแล้ว ความเจริญก้าวหน้าต่างๆ ก็เป็นไปไม่ได้ อย่างไรก็ตาม อันนี้ก็ยังอยู่ในขั้นที่เน้นวัตถุอยู่ดี

ลองมองต่อไปอีก แคบเข้ามาก็ชีวิตของเรา งานทำให้ชีวิตมีคุณค่า คนที่ได้ทำงานก็จะรู้สึกว่าตัวได้ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ รู้สึกว่าชีวิตมีคุณค่า ถ้าอยู่เฉยๆ เลื่อนลอย บางทีก็เกิดความรู้สึกว่าชีวิตนี้ว่างเปล่าไม่มีความหมาย ฉะนั้น งานจึงเป็นสิ่งที่ให้ความหมายแก่ชีวิต แต่งานที่จะให้ความหมายแก่ชีวิตอย่างแท้จริงนั้น ตามปกติก็ต้องเป็นงานที่มีคุณค่า มีประโยชน์ด้วย เป็นธรรมดาว่าการที่เรามีงานกันขึ้น ก็ต้องมีความมุ่งหมายอยู่แล้วว่าเพื่อประโยชน์อะไรสักอย่าง จึงทำขึ้นมา ฉะนั้น ตามปกติแล้วงานทั่วไปก็ต้องมีความมุ่งหมาย มีคุณค่า มีประโยชน์อะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นแต่ว่าผู้ที่ทำงานนั้นจะมีความเข้าใจในความมุ่งหมาย และความหมายของงานนั้นหรือไม่ มองเห็นประโยชน์แค่ไหน ถ้ามองเห็นประโยชน์แล้วก็มีศรัทธา ศรัทธาก็คือการที่มีความเชื่อ ความมั่นใจ เห็นคุณค่า เห็นประโยชน์ของสิ่งนั้น และศรัทธานี่จะเป็นตัวสำคัญ เป็นหลักที่อยู่ในใจที่จะทำให้การทำงานข้างนอกที่เป็นเรื่องทางร่างกาย หรือเป็นเรื่องทางสังคม เกิดความหมาย เป็นประโยชน์ที่แท้จริง เพราะฉะนั้น งานก็ไม่ใช่เป็นเพียงภาพที่ปรากฏมองเห็นกันภายนอกเท่านั้น แต่จะต้องมีหลักในทางจิตใจเป็นฐานอยู่ด้วย หลักอันแรกก็คือ ศรัทธา ถ้าเราจะทำงานให้สบายมีความสุข ก็จะต้องมีศรัทธาในงานด้วย แล้วงานก็จะไม่ใช่เรื่องที่ทำให้เราฝืน หรือมีความรู้สึกเบื่อหน่ายและเหน็ดเหนื่อย หรือรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่จะทำพอให้เสร็จๆ พ้นๆ ไป

ศรัทธากับกำลังใจ

ศรัทธาที่มองเห็นคุณค่า ความหมาย และประโยชน์ของงาน ก็จะทำให้มีกำลังใจเกิดขึ้น ศรัทธานี้เป็นแรงส่งไปสู่เป้าหมาย คนเราต้องมีแรงอันนี้ที่เรียกว่า กำลังใจ ถ้าไม่มีกำลังใจ จะทำอะไรจิตใจก็ห่อเหี่ยว เมื่อกำลังใจไม่มี กำลังกายแม้จะมีก็ไม่มีความหมาย บางทีมีกำลังกายแข็งแรง แต่ไม่สามารถนำกำลังกายนั้นออกมาใช้ได้ กำลังใจเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง คนที่แข็งแรงซึ่งเห็นว่ามีกำลังกายมาก เป็นนักมวยที่เก่งกล้าสามารถ หรือเป็นนักวิ่ง วิ่งได้รวดเร็วแข็งแรงมาก แต่ถ้าเมื่อใดเขาหมดกำลังใจแล้ว เขาก็ไม่สามารถที่จะชกมวย ไม่สามารถที่จะวิ่งแข่งให้สำเร็จได้ ยกตัวอย่างง่ายๆ นักเรียนไปสอบเข้าเรียนที่แห่งหนึ่ง หรือบางคนไปสอบเข้างานแห่งหนึ่ง เสร็จแล้วก็ไปดูผลการสอบ เขาเป็นคนแข็งแรงมาก เมื่อไปดูประกาศผลสอบ ก็มีความมุ่งหวังมาก อยากจะสอบได้ และการสอบได้ก็จะมีความหมายต่อชีวิต ต่อความหวังข้างหน้าของเขาเป็นอย่างมาก เมื่อไปดูรายชื่อ พอไม่เห็นชื่อ ไม่มีชื่อของตนในประกาศ รู้ตัวว่าตกแน่ ทั้งๆ ที่ร่างกายแข็งแรง แต่เข่าอ่อน บางทียืนแทบไม่อยู่ นี่ละ กำลังกายทั้งๆ ที่แข็งแรงแต่ไม่มีความหมายเพราะไม่มี กำลังใจ กำลังใจจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ทีนี้ในทางตรงกันข้าม คนที่กำลังกายก็ไม่ได้แข็งแรงอะไร แต่ถ้าเกิดกำลังใจขึ้นมา กำลังใจก็ทำให้เขาแข็งแรงทำอะไรได้ ยกตัวอย่าง เช่น พ่อแม่ที่กำลังไม่สบาย ร่างกายก็ค่อนข้างอ่อนแอ พอดีมีเรื่องที่ต้องเอาใจใส่ลูกๆ ซึ่งพ่อแม่รักมาก มีความเอาใจใส่มีเมตตา เรื่องที่จะต้องทำให้ลูกเป็นเรื่องสำคัญ ความรักลูกทำให้พ่อแม่มีกำลังใจ ทั้งๆ ที่ร่างกายกำลังอ่อนแอ ก็ลืม บางทีตอนนั้นโรคไม่รู้หายไปไหน ทำเรื่องทำราว ทำธุระให้ลูกได้ จนกระทั่งเสร็จ พอเสร็จแล้วก็มานอนแบ็บต่อไป อะไรทำนองนี้ นี่ก็เป็นเรื่องของกำลังใจ ถ้ามีกำลังใจแล้วกำลังกายก็มาได้ง่าย ถ้าไม่มีกำลังใจ แม้จะมีกำลังกาย กำลังกายนั้นก็เหมือนกับไม่มี หายหมด ดึงออกมาไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตาม นี่ก็เป็นการมองด้านหนึ่งให้เห็นว่า กำลังใจเป็นหลักสำคัญ ถ้าให้ดีก็ต้องมีทั้งกำลังกายและกำลังใจ ถ้ากำลังใจดีแล้ว กำลังกายมาเสริม ก็ทำกิจทำการงานได้ สำเร็จผลเป็นอย่างดี กำลังใจนี้ก็อย่างที่ว่าเมื่อกี้ ต้องมีศรัทธาเป็นปัจจัยสำคัญ

ศรัทธา คือความเชื่อ ความมั่นใจในคุณค่า ในประโยชน์ของสิ่งที่ตนกระทำอยู่ เมื่อทำงานอะไรก็ตาม ถ้าเรามีศรัทธา เราเข้าใจความหมายของงานที่ทำ เรามีความเชื่อมั่นในคุณค่า ในประโยชน์ของงานนั้น เราก็มีกำลังใจที่จะทำ งานการก็ก้าวหน้าไปเป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม สำหรับการมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ เรื่องศรัทธาหรือความเชื่อในสิ่งต่างๆ นี้ก็ไม่แน่นอนเสมอไป บางครั้งจิตของเราก็เปลี่ยนแปลง เราเคยมีศรัทธาในงาน แต่ต่อมาเราอาจจะเกิดปัญหา รู้สึกไม่แน่ใจในคุณค่าของงานนั้นขึ้นมา กำลังใจก็ถดถอย มีการเปลี่ยนแปลงไปได้เรื่อยๆ จึงจะต้องมีศรัทธาที่ลึกซึ้งลงไปอีก ศรัทธาในงานในการก็จึงมาสัมพันธ์กับศรัทธาหรือความเชื่อในวิถีชีวิตของเราด้วย มันสัมพันธ์กับวิถีชีวิต ถึงแม้ว่างานนั้นจะมีความหมายมีประโยชน์ แต่เรามองเห็นไม่สัมพันธ์กับแนวทางชีวิตที่เราคิดว่าดีงาม บางทีก็เกิดความขัดแย้ง ฉะนั้น ศรัทธาที่ลึกลงไปก็คือ ความเชื่อความมั่นใจต่อความหมายของวิถีชีวิตของเราว่า ชีวิตแบบไหนเป็นชีวิตที่ดีงาม เป็นชีวิตที่มีคุณค่า ถ้าเราเชื่อในวิถีชีวิตแบบใดแล้ว ได้ดำเนินในวิถีทางนั้น อยู่ในวิถีชีวิตแบบนั้น แบบที่เราเห็นว่าดีมีคุณค่า ศรัทธาก็เกิดขึ้นลึกซึ้งลงไป ทีนี้ ถ้าศรัทธาในวิถีทางดำเนินชีวิตว่าชีวิตที่ดีเป็นอย่างนี้ และวิถีชีวิตนั้นก็เข้ากับงานอย่างนี้ด้วย สองอย่างสอดคล้องกัน ก็จะทำให้ศรัทธานี้มั่นคงแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น แล้วก็จะเกิดผลและเกิดกำลังใจที่แท้จริง เพราะฉะนั้น ถ้าจะให้ดีก็ต้องให้ทั้งสองอย่างนี้มาสอดคล้องกัน คนจำนวนไม่น้อยจะมีปัญหาขัดแย้งในเรื่องนี้ คือ ในแง่งานการก็มองด้วยเหตุผล และเห็นแล้วว่า มันก็มีคุณค่าเป็นประโยชน์ แต่มันไม่สอดคล้องกับชีวิตที่ดีงามที่เราเข้าใจ ไม่เข้ากับชีวิตแบบที่เราต้องการ ศรัทธาในวิถีชีวิตก็ไปขัดกับศรัทธาในเรื่องงาน ไม่กลมกลืนกัน ก็เกิดความขัดแย้ง ศรัทธาหักล้างกันเอง ไม่สามารถทำงานได้เต็มที่ ก็เกิดความห่อเหี่ยว เกิดความท้อถอยขึ้นมา อันนี้ก็เป็นเรื่องของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้ในชีวิตของคน จะทำอย่างไรดีจึงจะแก้ปัญหาได้ ก็ต้องมีศรัทธาที่ลึกซึ้งลงไปอีก ซึ่งเป็นเครื่องนำทาง และให้คุณค่าแก่วิถีชีวิตอีกชั้นหนึ่ง

ศรัทธาในทางศาสนา

ศรัทธาที่ลึกซึ้งนี้ มักเป็นศรัทธาทางศาสนา ศรัทธาในสิ่งที่สูง ที่เป็นหลักยึดเหนี่ยวในจิตใจ ซึ่งไม่ว่าเราจะทำอะไรในภายนอก จะดำเนินชีวิตอย่างไรก็ตาม ทำงานอะไรก็ตาม เราก็มีศรัทธาที่ลึกอยู่ในใจเป็นฐานอันแน่นแฟ้น เป็นความเชื่อในสิ่งที่สูงสุด สิ่งที่เป็นเครื่องเชิดชูกำลังใจว่า ไม่ว่าเราจะมีชีวิตอยู่อย่างไรก็ตาม เราก็มีสิ่งที่เราเคารพนับถือ บูชา เป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่เรารู้ แม้ว่าจิตใจของเราจะอยู่ในยามที่ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องพัวพัน เมื่อนึกถึงสิ่งเหล่านี้แล้วเราก็มีความสบายใจ ไม่อ้างว้าง ไม่เลื่อนลอยไร้ความหมาย เช่น ผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนา มีความเชื่อความเคารพในพระรัตนตรัย คำว่ามีศรัทธาในพระพุทธศาสนา ก็หมายถึงว่า มีศรัทธาในพระรัตนตรัย ในพระพุทธเจ้า ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ศรัทธาในพระพุทธเจ้า หมายความว่า เราเห็นว่ามีบุคคลที่มีชีวิตที่ดีที่สุดเป็นตัวอย่าง เป็นแบบอย่างของการที่ได้เข้าถึงความจริง เข้าถึงความสมบูรณ์แห่งศักยภาพของความเป็นมนุษย์ เป็นเครื่องยืนยันว่ามนุษย์เราทุกคนมีศักยภาพที่จะพัฒนาตนได้ จนเข้าถึงความรู้และความดีงาม มีปัญญาและคุณธรรมสูงสุด แต่จะต้องเพียรพยายามเข้มแข็งในการพัฒนาศักยภาพของตน เรามีความเชื่อและมั่นใจอย่างนี้ แล้วก็มีกำลังใจ ในเวลาที่ไม่ได้เกี่ยวข้องไม่ได้ยุ่งกับภารกิจการงานอย่างอื่น จิตใจก็จะได้มาผูกพันอยู่กับความรู้สึกนี้ อันนี้ก็เป็นหลักอย่างหนึ่งในทางจิตใจ ซึ่งทำให้จิตใจไม่ว้าเหว่

ศรัทธานี้ นอกจากเป็นแรงส่งให้จิตใจของเรามีแรงทำงานทำการแล้ว ก็ทำให้จิตใจไม่ว้าเหว่ด้วย คนเรานี้ เวลาอยู่ว่างๆ ไม่มีอะไรทำ ไม่มีงานทำ ว่างจากงาน บางทีก็เกิดอาการอ้างว้างว้าเหว่ เหนื่อยหน่ายหรือเหงาขึ้นมา ทำอย่างไรจะให้หายเหงาได้ ก็ต้องมีสิ่งที่เป็นหลักยึดเหยี่ยวในใจ ศรัทธาความเชื่อในทางศาสนานี้มาเป็นหลัก มาเป็นเครื่องให้กำลังใจในเวลาที่ไม่มีสิ่งอื่นที่ทำอยู่ หรือไม่มีงานที่ทำอยู่ หรือแม้ไม่มีคนอื่นอยู่ คนเราตามปกติก็ต้องมีเพื่อน จึงจะไม่เหงา แต่บางทีเพื่อนก็ไม่อยู่กับเรา เราก็อยู่คนเดียว ในเวลานั้นก็อาจจะเกิดความเหงาขึ้น หรือบางที ทั้งๆ ที่มีเพื่อนนั่นแหละ เพื่อนก็ไม่สามารถเข้าไปในจิตใจที่ลึกซึ้งได้ บางทีเรามีความต้องการอะไรบางอย่าง ที่แม้แต่เพื่อนก็ไม่อาจจะสนองได้ ใจเราก็เหงา เราก็ว้าเหว่ แต่ถ้าเรามีศรัทธาเป็นหลักใจอยู่ ใจก็ไม่อ้างว้าง คนที่ไม่มีศรัทธาอยู่ในใจ ใจจะเหงาจะว้าเหว่บ่อยๆ เสมอๆ

ในโลกปัจจุบันนี้ ชีวิตวุ่นวายสับสนมาก ความสับสนวุ่นวายนี้ บางครั้งก็ทำให้เรารู้สึกสนุก แต่บางครั้งก็ทำให้เรารู้สึกว้าวุ่นยุ่ง ดังนั้น ในเวลาที่สิ่งวุ่นวายเหล่านี้ไม่มี เราอยู่สงบว่างๆ ใจของเราบางครั้งก็สบาย เพราะในเวลาที่มีความรู้สึกว่าเรื่องวุ่นๆ ใจมีอะไรเกะกะ ทำให้ยุ่งมาก ถ้าจิตใจของเราได้ว่างเว้นจากสิ่งเหล่านั้นแล้วก็รู้สึกสงบและสบาย แต่บางครั้งเรากลับต้องการความวุ่นวายนั้น คล้ายกับว่ามันทำให้เกิดชีวิตชีวามีรสชาติ พอมาสงบเข้ากลับรู้สึกว้าเหว่ ถ้าคนไม่มีหลัก ใจก็ยุ่ง ถ้าไม่กระวนกระวายก็กลายเป็นเหงาเป็นว้าเหว่ จิตใจมี ๒ ลักษณะอย่างนี้ คนจำนวนมากเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้น จะทำอย่างไรในเวลาที่อยู่ท่ามกลางกิจกรรมก็ไม่ให้วุ่น เวลาว่างจากกิจกรรมก็ไม่ให้เหงาไม่ให้ว้าเหว่ อันนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญของจิต

คนที่มีศรัทธา ท่านบอกว่าเหมือนมีเพื่อนใจ เพื่อนที่อยู่ในใจ ทำให้ใจไม่เหงาไม่ว้าเหว่ ในทางพระศาสนาบอกว่า ศรัทธาเป็นเพื่อนประจำใจของตัวเอง ไม่ว่าเราจะมีเพื่อนภายนอกหรือไม่มีเพื่อนก็ตาม ถ้ามีศรัทธาแล้วก็เท่ากับ มีเพื่อนอยู่ในใจที่ช่วยให้จิตใจแช่มชื่น มีกำลังเสมอ ไม่ว้าเหว่ เริ่มต้นตั้งแต่ศรัทธาที่ว่าเมื่อกี้ คือศรัทธาในการงาน ศรัทธาในวิถีชีวิตที่เราเห็นว่าดีงาม ตลอดจนถึงศรัทธาในพระศาสนา ศรัทธาในพระศาสนาเป็นศรัทธาที่ลึกถึงก้นกลางใจเป็นฐาน เป็นแกนทำให้จิตใจของเรามีหลักยึดเหนี่ยว มีที่ปรึกษาอยู่เสมอ ไม่อ้างว้าง เปล่าเปลี่ยว โดดเดี่ยว และไม่ห่อเหี่ยว แต่ศรัทธาที่ถูกต้องจะต้องให้เครื่องนำทางแก่ชีวิตของเรา ไม่ใช่ว่าเราจะมีศรัทธาเชื่อกันเฉยๆ เท่านั้น เช่นความเชื่อในพระรัตนตรัยนี้ ก็มีความหมายเป็นเครื่องนำทางศรัทธาในพระรัตนตรัย คือในพระพุทธเจ้า ในพระธรรม ในพระสงฆ์ เป็นอย่างไร

ความสุขแท้ อยู่ที่รู้ความจริงของชีวิต

ศรัทธาในพระพุทธเจ้า ก็คือศรัทธาในบุคคลที่ว่าเมื่อกี้ มั่นใจว่ามีบุคคลที่มีความบริสุทธิ์ มีปัญญารู้แจ้ง เป็นแบบอย่างของมนุษย์ไว้ให้เห็นว่า มนุษย์ทุกคนเป็นสัตว์ที่ฝึกฝนพัฒนาได้ สามารถพัฒนาศักยภาพของตนให้ถึงความสมบูรณ์ พระพุทธเจ้านี้ เดิมนั้นท่านก็เป็นมนุษย์นั่นเอง เหมือนกับเราทุกๆ คน แต่กลายมาเป็นพระพุทธเจ้าได้อย่างไร จากมนุษย์มาเป็นพระพุทธเจ้า ก็เพราะว่าได้รู้เข้าใจความจริงของสิ่งทั้งหลาย คือรู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง รู้กฎธรรมชาติ

สิ่งทั้งหลายที่อยู่แวดล้อมเรานี้ ก็เกิดมาจากธรรมชาติทั้งนั้น เรามาอยู่กับสิ่งแวดล้อมปัจจุบันนี้ เรามองเห็นว่า มีวัตถุ มีบ้านเรือน มีตึกราม มีถนน มีรถยนต์ อะไรต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น เป็นเรื่องเทคโนโลยีมากมาย ซึ่งไม่ใช่ธรรมชาติ แต่เทคโนโลยีหรือสิ่งที่เราสร้างสรรค์ประดิษฐ์ขึ้นมานี้ ความจริงมันก็มาจากธรรมชาติ ไม่ได้มาจากไหนเลย แต่สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นนี้ เมื่อสร้างขึ้นมาแล้ว มันก็บดบังตัวเราจากธรรมชาติ ไม่ให้เข้ากับธรรมชาติ ความจริงชีวิตของเราเองก็เป็นธรรมชาติ เมื่อชีวิตเป็นธรรมชาติ ก็เป็นไปไม่ได้ที่เราจะเหินห่างจากธรรมชาติโดยสิ้นเชิง เมื่อเรามาเพลิดเพลินสนุกสนานต่อรสชาติอันตื่นเต้นของสิ่งที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นไปได้สักระยะหนึ่ง บางทีเราก็เกิดความเบื่อหน่าย และจิตใจของเราก็หันไปต้องการธรรมชาติ ถ้าเราไม่รู้จักความจริงที่เป็นธรรมชาติของสิ่งทั้งหลายแล้ว จิตใจของเราก็จะว้าวุ่นอยู่กับสิ่งที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้น เป็นเทคโนโลยีเป็นอะไรต่างๆ เหล่านี้ เพราะชีวิตของคนเราในยุคปัจจุบัน อยู่กับสิ่งเหล่านี้ตลอดเวลา ไม่ได้อยู่กับธรรมชาติ เราตื่นเต้นเพลิดเพลินกับมัน แล้วก็เบื่อหน่าย ทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นอีกแบบหนึ่ง

คนเราที่จะมีความสุข เห็นชีวิตมีความหมายอย่างแท้จริง จิตใจจะเข้าถึงความสงบเป็นตัวของตัวเองได้นั้น จะต้องมองทะลุความจริงของสิ่งทั้งหลาย ที่มาแวดล้อมหุ้มห่อและมัดตัวเราอยู่นี้ ให้เห็นแจ้งถึงธรรมชาติ จึงจะหมดความขัดแย้ง พระพุทธเจ้าก็เป็นมนุษย์ แต่ที่กลายเป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมาได้ก็เพราะรู้เข้าใจความจริงของสิ่งทั้งหลาย ซึ่งเราเรียกว่าเข้าใจธรรมชาติของสิ่งทั้งหลายนั่นเอง ความจริงของสิ่งทั้งหลายนี้เราเรียกว่า ธรรม ธรรม คือ กฎเกณฑ์ ความจริง ความเป็นเหตุปัจจัยของสิ่งต่างๆ การรู้เห็นสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริงนี้แหละ คือการเข้าถึงธรรม การที่พระพุทธเจ้าเห็นความจริงของสิ่งทั้งหลาย มองสิ่งทั้งหลายถูกต้องตามความเป็นจริงแล้ว ก็เรียกว่าตรัสรู้ธรรม แล้วจึงเป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมา ธรรมจึงเป็นหลักการสำคัญประการที่ ๒ ในพระพุทธศาสนา เป็นตัวที่ทำให้มนุษย์ผู้รู้แล้วกลายเป็นพุทธะ

ทีนี้ หลักการของพระพุทธศาสนาบอกว่า คนทุกคนสามารถเป็นพระพุทธเจ้าได้ ถ้าพัฒนาตนขึ้นมาให้รู้เข้าใจ ธรรม คือความจริงของสิ่งทั้งหลาย ถ้าคนพยายามฝึกฝนตัวเอง พยายามปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายอย่างถูกต้อง พยายามพัฒนาความรู้ความเข้าใจของตัวเองขึ้นมาแล้ว ใจเรารู้ความจริง มีปัญญาขึ้นมา เราก็เป็นคนแบบเดียวกับพระพุทธเจ้า คนจำพวกนี้มีมากๆ ขึ้น ก็แผ่ขยายถ่ายเทลักษณะที่มีความสุข มีชีวิตที่ดีงามแล้วก็กลายเป็นกลุ่มชนหนึ่งซึ่งมีชื่อเรียกว่า “สงฆ์” คือหมู่ชนที่ได้รู้เข้าใจความจริงของธรรมชาติ รู้ความจริง มองสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็นเหมือนอย่างพระพุทธเจ้านั่นเอง

ที่ว่ามานี้ คือหลักการที่เรียกว่าพระรัตนตรัย คนที่นับถือพระพุทธศาสนา ก็นับถือหลักการนี้ จึงเรียกว่า นับถือพระรัตนตรัย คือนับถือบุคคลที่เป็นแบบอย่างของการเข้าถึงความจริงที่เรียกว่าธรรมนั้น และพยายามประพฤติตามอย่างเพื่อจะได้รวมกันเป็นกลุ่มชนผู้มีชีวิตที่ดีงาม ที่เรียกว่า “สงฆ์” ถ้าเข้าใจหลักนี้แล้วก็มีศรัทธาเกิดขึ้น เป็นศรัทธาที่มองเห็นว่า การมีชีวิตอยู่เป็นคนเป็นมนุษย์นี้ ที่จะมีชีวิตดีงาม ในที่สุดก็ไม่มีอะไรมาก ก็คือการเข้าใจรู้สิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริงเท่านั้นเอง ไม่ว่าจะดำเนินชีวิตอย่างไรก็ตาม จะทำงานอะไรก็ตาม ก็จะมีหลักใหญ่ที่ยึดถือไว้ในจิตใจ คือการมองสิ่งทั้งหลายให้เข้าใจตามความเป็นจริง พิจารณาอะไรๆ ตามเหตุปัจจัย อันนี้เป็นหลักใหญ่ ถ้ามีความเชื่อตามหลักการนี้แล้ว ไม่ว่าจะทำอะไรอยู่ เป็นคนมีงานหรือว่างงานก็ตาม ก็สามารถมีความสุขได้ จิตใจไม่ว้าเหว่ ไม่ไร้ความหมาย นี้ก็เป็นศรัทธาที่ลึกลงไปอีก ไม่ใช่ศรัทธาดุ่ยๆ แต่เป็นศรัทธาที่โยงยึดอยู่กับปัญญา มีศรัทธาอย่างนี้แล้ว ไม่งมงาย ไม่เป็นอันตรายทั้งแก่ตนเองและแก่คนอื่น

การทำงานคือการพัฒนาตน

รวมความก็คือ คนเรานี้สามารถมีศรัทธาได้ในระดับต่างๆ มากมาย แต่ศรัทธาที่ควรยืนพื้นเป็นฐานก็คือศรัทธาอันนี้ ได้แก่ ความเชื่อความมั่นใจ ในหลักการของการมองดู รู้เข้าใจโลกและชีวิตนี้ตามความเป็นจริง มองสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็น เห็นว่าทุกอย่างในชีวิตนี้จะดีงามสูงสุดก็อยู่ที่เพียงว่าเราเข้าใจความจริงของสิ่งทั้งหลาย ปฏิบัติต่อมันให้ถูกต้อง วางใจต่อมันให้ถูกต้องและฝึกตนพัฒนาตัวเราขึ้นไปให้รู้เข้าใจ ตระหนักในความจริงนี้อยู่เสมอ ถ้าถึงแค่นี้แล้ว จิตใจของเราก็สามารถมีความสุขได้ ทีนี้ถ้าเราจะทำงาน เราก็ทำงานไม่ใช่เพียงเพื่อหาเงินหาทองซึ่งเป็นเรื่องขั้นต้น แต่งานการนี้จะมีความหมายมากขึ้น นอกจากศรัทธาในการงานที่ทำให้ชีวิตของเรามีคุณค่ามีความหมาย และงานนั้นมีประโยชน์แล้ว เรายังมองเห็นงานทุกอย่างมีความหมายขึ้นมาอีกอย่างหนึ่งคือ เป็นเครื่องฝึกตน เป็นการปฏิบัติในทางที่จะให้มองเห็นสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็น มองตามที่มันเป็นในแต่ละขณะๆ จะทำอะไรก็เข้าใจตามที่มันเป็นอย่างนั้น และทำให้มันถูกต้อง ให้มันดียิ่งขึ้น โดยที่ตัวเราเองก็พัฒนาศักยภาพของตัวเราเองให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ ถ้าเรารู้สึกว่าเราทำสิ่งหนึ่งอยู่และทำถูกต้องตามวิถีทางของมันแล้ว เราก็สบายใจว่า เรากำลังทำสิ่งที่เป็นธรรม และขณะนั้นเราก็กำลังฝึกตนเองให้พัฒนาอยู่เสมอ เพราะฉะนั้น การงานต่างๆ จึงเป็นเครื่องมือในการพัฒนาตนเอง ไม่ว่างานนั้นจะมีคุณค่าเป็นประโยชน์ถูกต้องตามวิถีชีวิตที่เราต้องการหรือไม่ก็ตาม แต่ก็เป็นเครื่องฝึกตัวเองเสมอ ฝึกใจฝึกกายของตัวเอง

เป็นอันว่า การมองงานก็มีได้หลายอย่าง ตามที่ว่ามาแล้ว ในระดับที่หยาบที่สุดก็คือ มองว่างานเป็นเครื่องมือหาเลี้ยงชีพทำให้ได้เงินได้ทอง อันนี้เป็นขั้นที่ ๑ เป็นวัตถุมากเกินไป ขั้นที่ ๒ ก็มองว่า งานเป็นเครื่องทำให้กิจการดำเนินไป ทำให้โลกนี้เป็นไปได้ ความเจริญ ความก้าวหน้าในสังคมจะดำเนินไปได้ก็เพราะคนทำงานกัน ขั้นที่ ๓ มองลึกเข้าไปอีกก็คือ มองว่า งานนั้นมีคุณค่ามีความหมาย มีประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์ ทำให้เพื่อนมนุษย์มีความสุขอย่างใดอย่างหนึ่ง ขั้นที่ ๔ มองลึกยิ่งขึ้นไปอีกว่า งานนี้มีความหมายต่อชีวิตจิตใจของเรา ถูกต้องกับชีวิตที่เราเห็นว่าดีงาม มีคุณค่าเป็นประโยชน์ ทำให้ชีวิตของเรามีคุณค่าขึ้น ต่อมา ถึงขั้นที่ ๕ นี้ ก็มองว่า งานเป็นเครื่องฝึกตัวเรา เป็นเครื่องพัฒนาตนเอง และเป็นเครื่องสะสมการพัฒนาตัวเองนี้ขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น ผู้ที่ทำงานโดยมีศรัทธาอย่างนี้ ไม่ว่าจะเห็นว่า ตัวเองได้ผลประโยชน์ตอบแทนหรือไม่ แค่ไหนเพียงไหนก็ตาม แต่ถ้าจิตใจขั้นลึกซึ้งในเวลาทำงานแต่ละขณะมีความรู้สึกว่าเรากำลังพัฒนาตัวเราเอง กำลังฝึกฝนตนเองให้ดีขึ้น ก็จะทำให้รู้สึกว่างานนั้นเป็นสิ่งที่น่าทำเสมอ ทุกขณะทุกเวลา ไม่เบื่อหน่ายกลัดกลุ้ม นอกเหนือจากนั้นก็คือ การที่รู้สึกว่าได้ทำในสิ่งที่เป็นธรรม สิ่งที่ถูกต้อง ทำจิตใจมองสิ่งที่ทำนั้นให้เห็นตามความเป็นจริงว่าทำอะไรอยู่ แล้วก็ทำสิ่งนั้นให้มันสำเร็จไปตามวิถีทางของมัน แค่นี้ก็สบายใจในการทำงานได้

คนเราบางทีก็มีความคาดหวังต่างๆ กับสิ่งที่กระทำ และเมื่อเห็นว่าจะไม่สำเร็จตามความหวัง ก็ทำให้เกิดความผิดหวัง เกิดความทุกข์ เกิดความท้อถอยหมดกำลังใจ แล้วก็จะต้องมีวิธีแก้ไขในระดับต่างๆ แต่ถ้าทำใจให้ถูกต้องอย่างนี้ ก็สามารถทำการทำงานทุกอย่างให้ดำเนินไปได้ด้วยดี ถ้าเข้าใจในเรื่องงานแล้วทำใจให้ได้ในทุกระดับที่ว่ามา คุณค่าของงานก็จะเกิดในทุกระดับ ตั้งต้นแต่เป็นการพัฒนาตนเองในทุกขณะที่ทำงานนั้น ไปจนกระทั่งภายนอก เป็นเครื่องมือหาเลี้ยงชีพได้เงินได้ทอง ทั้งหมดนี้ก็สุดแต่ว่าจะทำใจได้แค่ไหนเพียงไร

หลักการทำงาน

อนึ่ง ในการทำงานนี้ นอกจากหลักใหญ่คือศรัทธาที่เข้าใจในคุณค่า ซึ่งเป็นเครื่องทำให้เกิดกำลังใจตลอดเวลาแล้ว ก็ยังต้องอาศัยตัวประกอบซึ่งเป็นเรื่องของการทำงานโดยตรงมาเป็นเครื่องช่วยเสริมด้วย จึงจะทำให้การทำงานนั้นได้ผลจริงในทางปฏิบัติ และเมื่อการทำงานได้ผล ก็ยิ่งเป็นเครื่องช่วยเสริมให้เรามีพลัง หรือทำให้เรามีความมั่นใจในชีวิตของเรามากขึ้น หลักการทำงานที่เป็นข้อสำคัญๆ ก็คือ เมื่อทำอะไรก็ตาม หนึ่ง จะต้องมีความรู้ความเข้าใจชัดเจนในงานนั้น เมื่อกี้นี้ได้บอกว่า การทำงานเป็นการฝึกฝน พัฒนาตนเองอย่างหนึ่ง แต่เราจะพัฒนาตนเองอย่างไรให้ได้ผล การพัฒนาตนเองอย่างง่ายๆ ก็คือทำให้เกิดความชำนิชำนาญ และความสามารถในการทำงานนั้นดีขึ้น แต่การที่จะทำให้ได้ผลจริง พัฒนาตัวเองได้จริง พัฒนางานได้จริงนั้น จะต้องมีความรู้ความเข้าใจในงานที่ทำ ความรู้ความเข้าใจชัดเจนในงานที่ทำนี้ก็เป็นปัญญาอย่างหนึ่ง จึงพูดสั้นๆ ว่า ต้องมีปัญญาด้วย รู้งานของตนเองว่างานในหน้าที่ของตนคืออะไร และทำให้ถูกต้องให้ถูกจุดให้ถูกกับตัวงานนั้น และทำให้ถูกตามวิถีของงานนั้น งานนั้นก็จะเจริญไปด้วย และตัวเองก็ได้รับการฝึกฝนพัฒนาไปด้วย เราต้องพยายามสร้างเสริมความรู้ความเข้าใจนี้ให้ทันกับงานอยู่เสมอ ทำงานอะไร ก็ต้องมีหลักอันแรกว่า รู้งาน หรือรู้งานดี หมายถึงงานที่เป็นกิจเป็นหน้าที่ของเรา

ประการที่ ๒ เมื่อรู้งานดีแล้ว ถ้าเรามีศรัทธาอย่างที่ว่าเมื่อกี้ เราก็ย่อมมีกำลังใจในการงาน คุณสมบัติที่ต้องการในตอนนี้ก็คือ เราจะต้องพยายามทำงานด้วยความขยันหมั่นเพียร ทำให้เต็มที่ของเรา การทำให้เต็มที่ของเรามีความหมายอย่างหนึ่งคือการทำหน้าที่ไม่ให้บกพร่อง การขยันหมั่นเพียรทำหน้าที่ให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดีไม่บกพร่องนี้ก็เป็นหลักอย่างหนึ่งในการทำงาน เรียกว่ามีความเพียร ใช้ภาษาธรรมดาก็คือ ทำหน้าที่ไม่ให้บกพร่อง

ก้าวต่อไปคือ นอกจากรู้งานดี ทำหน้าที่ไม่ให้บกพร่องแล้ว ในการปฏิบัติตัวต่องานนั้น ก็มักจะมีปัญหาว่าคนนั้นทำงานอย่างสุจริต หรือไม่สุจริต ถ้าทำงานอย่างสุจริต ก็ตรงไปตรงมาต่องานนั้น ในการรับผลประโยชน์จากงาน ก็ตรงไปตรงมาตามที่ตกลงไว้ ไม่หาทางที่เรียกว่า บิดเบือน เฉโก เรียกง่ายๆ ว่า ไม่โกงหรือไม่หาผลประโยชน์ที่ผิดจากงานนั้น คือมีความสุจริต ไม่ทุจริต การทำงานถูกต้อง ตามหลักการที่ตราไว้นี้ ก็เป็นเรื่องของข้อตกลงในทางสังคมด้วย นับว่าเป็นหลักประการหนึ่งในการทำงาน เรียกว่า มือสะอาด หรือมีความสุจริต

ข้อต่อไป ในการทำงานนั้น ตามปกติเราก็ทำร่วมกับผู้อื่น การรู้จักร่วมอยู่ร่วมทำกับผู้อื่นก็เป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่จะทำให้งานดำเนินไปด้วยดี จึงต้องมีความสัมพันธ์กับผู้ร่วมงานอย่างถูกต้อง ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งในการทำงานก็คือ ผู้ร่วมงานมีความสัมพันธ์กันดีหรือไม่ดี ถ้ามีความสัมพันธ์ไม่ดี ก็เกิดความขัดแย้ง เกิดปัญหาในวงงาน อันนี้เป็นเรื่องธรรมดา คนเราอยู่กันมากมีนิสัยใจคอต่างๆ กัน มักจะมีปัญหาเรื่องความขัดแย้ง ความไม่สอดคล้อง ไม่กลมกลืนกัน มองขัดหูขัดตา อะไรต่างๆ หรือการกระทำที่ไม่เป็นไปอย่างใจเรา อย่างน้อยก็ต้องมีความรู้สึกว่าไม่ได้อย่างใจ พอไม่ได้อย่างใจก็ไม่สบายใจ แล้วก็เกิดปัญหาขึ้นมา เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ในวงงาน ซึ่งยอมรับกันว่ามีเป็นธรรมดาเลย เมื่อเราทำงาน เมื่อเราเกี่ยวข้องกับคนมาก ก็จะต้องมีเรื่องอย่างนี้เกิดขึ้น ขั้นต้นก็ต้องทำใจได้ว่า นี้มันเรื่องของงาน เรื่องของการเกี่ยวข้องกับคนอื่น ก็ต้องมีความข้องขัดบ้าง ถ้าเราจะให้เป็นอย่างใจของเราทั้งหมด เราก็ต้องอยู่คนเดียว ซึ่งเป็นไปไม่ได้ จึงต้องรู้เข้าใจตามความเป็นจริง แล้วยอมรับความจริงนั้น แต่เมื่อรู้ความจริงว่าเป็นอย่างนั้นแล้ว ก็ต้องก้าวต่อไปสู่ขั้นที่ว่าเราจะแก้ไขอย่างไรให้ดีที่สุด เมื่อปรับให้มีความสัมพันธ์ที่ดีเท่าที่จะเป็นไปได้ จะปรับอย่างไรก็ตาม ให้งานนี้มันดำเนินไปด้วยดีก็แล้วกัน เรายอมรับ ยอมที่จะไม่ต้องเป็นไปตามใจของเรา แต่มุ่งไปที่วัตถุประสงค์ของเรา คือทำให้งานสำเร็จ ให้งานมันสำเร็จไปได้ด้วยดีก็แล้วกัน อันนี้ก็เป็นหลักหนึ่ง คือ เอาความสำเร็จตามวัตถุประสงค์เป็นเกณฑ์ ไม่เอาใจอยากใจชอบของเราเป็นเกณฑ์ มองการณ์ไกลคิดถึงผลระยะยาว ไม่เอาความชอบใจขัดใจเดี๋ยวนั้นชั่วครู่ชั่วยาม ถ้าอย่างนี้แล้วก็แก้ปัญหาได้อีกในระดับหนึ่ง

แต่ถ้าให้ดีกว่านั้นก็คือ ทำให้มีความกลมเกลียว ปรับใจปรับตัวเข้ากันได้ในระหว่างคนที่ทำงานด้วยกัน ให้อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข และความสามัคคี การที่จะมีความสุข ความสามัคคี ก็คือการที่เอาใจเขามาใส่ใจเรา และการที่จะต้องรู้จักปรับตัวปรับใจเข้าหากัน เราต้องยอมรับว่า คนเรานี้มีพื้นฐานมาคนละอย่าง พื้นฐานพื้นเพไม่เหมือนกัน มีการสั่งสมอุปนิสัยใจคอกันมาต่างๆ มีประสบการณ์ต่างๆ กัน มาจากครอบครัว มาจากฐานะอะไรต่างๆ ไม่เหมือนกัน เมื่อมาอยู่มาทำงานด้วยกันแล้ว ความไม่เหมือนกันที่มีมาแต่เดิมมันก็มาแสดงออก แล้วเกิดเป็นความไม่กลมกลืนหรือความขัดแย้งกันขึ้น ถ้าเรายอมรับความจริงนี้แล้ว เราต้องเป็นฝ่ายรู้จักปรับตัวด้วย ปรับตัวก็คือ เริ่มต้นจิตใจต้องไม่วู่วาม ไม่ถือการกระทบกระทั่งนั้นเป็นเรื่องที่จะต้องทำให้มีความหมายร้ายแรง ที่จะต้องเปลี่ยนให้ได้ดั่งใจ แต่ถือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาแล้ว จะต้องรับพิจารณาก่อน คือตอนแรกก็ยั้งคิด พอยั้งคิดแล้วก็คิดหาทางว่า จะใช้วิธีอย่างไร ที่จะปรับตัวเข้าหากันโดยเรียบร้อย แต่ข้อสำคัญอันแรกคือไม่วู่วาม ฉุกคิด ยั้งคิดก่อน คิดและก็หาวิธี การที่ยั้งคิดและหาวิธีนี้เรียกว่า ใช้ปัญญา คือใช้ปัญญาหาทางที่จะปรับตัวเข้าหากันได้ถูกต้อง และโดยการพูดจากัน ถ้ายังพูดกันไม่ได้ ปรับตัวเข้าหากันยังไม่ได้ เวลายังไม่เหมาะยังไม่สะดวก โอกาสยังไม่ถึง ก็เอาแค่ว่าทำอย่างไรจะวางตัวของเราให้ดีให้ถูกต้องไว้ก่อน นี้ก็เป็นวิธีต่างๆ แต่รวมความก็คือ จะต้องมีการปรับตัวปรับใจเข้าหากันโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้อยู่ร่วมกันด้วยดี มีความสงบสุข มีความสามัคคีกลมเกลียว

สร้างสุขด้วยการให้แก่กัน

อย่างไรก็ตาม การที่จะรอปรับตัวปรับใจเข้าหากัน อย่างเดียวนี้ไม่พอ เราต้องแสดงออก วิธีการที่จะอยู่ร่วมกันด้วยดีในสังคมนั้น ไม่ใช่รอให้เขาปรับตัวเข้ามาหาเรา หรือรอที่เราจะปรับตัวเข้าหาเขาอย่างเดียว แต่อยู่ที่ว่าจะต้องมีการแสดงออก การแสดงออกที่ถูกต้องในการร่วมอยู่ร่วมกันก็คือการให้ต่อกัน มนุษย์เรานั้นเป็นธรรมชาติว่ามีความพอใจที่จะได้ เมื่อได้รับมาเราก็มีความสุข แต่ในการฝึกฝนตัวของมนุษย์หรือในการที่มนุษย์จะเจริญพัฒนาขึ้นได้นั้น เราจะต้องออกจากการเป็นผู้รับหรือฝ่ายได้ไปสู่การเป็นผู้ให้ คนที่พัฒนาตนนั้น จะฝึกตนที่จะไม่หาความสุขจากการรับ หรือการเอา แต่ฝึกฝนตนให้มีความสุขจากการให้แก่ผู้อื่น แต่การที่เราให้แก่คนอื่นแล้ว จะมีความสุขได้นั้น เป็นไปได้จริงหรือไม่ ขอให้คิดดูว่า คนเราเมื่อให้แก่คนอื่นแล้วมีความสุขได้ไหม ที่จริงมันฝืน เราต้องได้เราต้องเอา เมื่อเราได้มาเราได้รับเราก็มีความสุข เราไปให้คนอื่นแล้วจะมีความสุขได้อย่างไร มันฝืน แต่ขอให้คิดดู บางทีเรามีความสุขจากการให้ได้เหมือนกัน ถ้าคนไหนเป็นพ่อเป็นแม่คงเห็นง่าย เป็นพ่อเป็นแม่มีลูกแล้ว ก็รักลูก คนที่รักลูกนี้ สามารถให้แก่ลูกได้อย่างมีความสุข และให้แล้วก็มีความสุข แทนที่ว่าจะเอาแล้ว รับแล้วจึงจะมีความสุข แต่ให้ลูก ทำให้ลูกมีความสุขแล้ว ตัวเองก็มีความสุข ทีนี้บางคนใจกว้างกว่านั้น รักไม่ใช่เฉพาะลูกเท่านั้น แต่รักพี่รักน้องด้วย คนไหนเรารัก เราให้แก่เขา เราก็มีความสุข แต่ถ้าเราให้แก่คนที่เราไม่ได้รัก ใจเราก็ฝืนและก็มีความสุขยาก ถ้าใจกว้างออกไปอีกคือรักเพื่อนรักพ้อง เอาอะไรให้แก่เพื่อนก็มีความสุข ตกลงว่า การให้นี้สามารถทำให้คนมีความสุขได้ แต่มีเงื่อนไขว่า ต้องมีใจรักก่อน ถ้าความรักนี้ขยายออกไป รักไปถึงไหน เมื่อให้เขาก็ได้ความสุขไปถึงนั่น ยิ่งรักคนมาก รักเพื่อนมนุษย์กว้างออกไปเท่าใด ก็ได้ความสุขจากการให้มากขึ้นเท่านั้น

ถ้าในหมู่ผู้ร่วมงานมีความรักต่อกัน มีความรักผู้อื่นแล้ว ก็สามารถให้แก่เขาได้ และมีความสุขจากการให้นั้น กลายเป็นว่าให้ความสุขแก่คนอื่น แล้วตัวเองก็ได้ความสุข ใจที่มีความรัก ก็มีความสุขอยู่ขั้นหนึ่งแล้ว เมื่อให้ด้วยความรักนั้น ก็ได้ความสุขเพิ่มขึ้นอีกชั้นหนึ่ง นี้คือวิถีทางของการฝึกฝนพัฒนาตนอย่างหนึ่ง คือการที่จะรู้จักได้รับความสุขจากการให้แก่ผู้อื่น ในการอยู่ร่วมกันในวงการทำงาน ถ้าเราทำงานที่เห็นว่ามีคุณค่าเป็นประโยชน์ การทำงานนั้นก็เป็นทางนำไปสู่อุดมคติ เราก็ได้มีการฝึกฝนพัฒนาตนในการทำงานขั้นหนึ่งแล้ว เมื่อทำงานนั้นร่วมกับผู้อื่น การที่อยู่ร่วมกันเป็นเพื่อนร่วมงาน นอกจากมีการฝึกตนในการทำงานแล้ว ก็ทำให้มีการฝึกตนในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นด้วยอีกชั้นหนึ่ง การที่จะทำตนให้มีความสุขจากการให้แก่ผู้อื่นนี้ ก็ทำได้หลายทาง เพราะการให้มีหลายอย่าง เริ่มแต่การให้วัตถุสิ่งของเป็นเบื้องแรก แต่ไม่ใช่แค่นี้หรอก เราสามารถให้ความเอื้อเฟื้อ ให้กำลังกายที่จะช่วยเหลือกัน ให้แรงงานในการทำธุระ ให้กำลังใจในการทำงาน ให้คำปลุกปลอบใจ ตลอดจนให้โอกาสแก่เขา เพื่อที่เขาจะได้เจริญเติบโต เช่น เราเห็นคนๆ หนึ่ง ทำอะไรไม่ได้อย่างใจเรา เราก็รู้สึกขัดใจเพราะเอาใจเราเป็นหลัก ทีนี้ถ้าเรารู้จักให้ คือ ให้โอกาสแก่เขาในการที่เขาจะพัฒนาตัวเองขึ้นมา พอเรารู้สึกว่าเราให้โอกาสแก่เขา ใจเราก็สว่างแล้วก็โปร่งขึ้นมา เราก็สามารถมีความสุขได้ ทนดูเขาได้ที่เขาทำไม่ได้อย่างใจของเรานี้ เรียกว่าให้โอกาส เพราะฉะนั้น การให้จึงมีหลายแบบ ให้วัตถุสิ่งของ ให้กำลังกายช่วยเหลือ ให้ความเอื้อเฟื้อร่วมมือ ให้กำลังใจ ให้คำแนะนำความรู้ความเข้าใจ ให้ความเป็นกันเองสนิทสนม แล้วก็ให้โอกาส

เป็นธรรมดาว่า คนทั่วไป ตั้งแต่จะตั้งกิจการ ก็ตั้งใจไว้แล้วว่าจะทำเอา คือ เก็บเอาผลประโยชน์ ถ้าเป็นคนทำงาน ก่อนเข้าทำงาน ก็ตั้งใจมาแล้วว่าจะมาเอา คือมาเอาผลตอบแทน เอาเงินเดือน เอาเครื่องเลี้ยงชีพ พอมาทำงานร่วมกับคนอื่น ก็คิดมาเอาอีก ถ้าไม่มีอะไรอื่นจะให้เอา ก็จะมาเอาเปรียบ อย่างน้อยก็ไม่ยอมเสียเปรียบใคร เมื่อมากมายหลายคนและทุกคนก็คิดแต่จะเอา สิ่งที่จะเอาได้ก็ไม่พอ ก็ต้องแย่งกัน กดขี่ข่มเหง ครอบงำกัน แล้วทุกคนนั่นแหละ ก็แห้งแล้ง โดดเดี่ยว กดดัน ไม่มีความสุข แต่ถ้าทุกคนคิดตั้งใจในทางที่จะให้ แล้วคอยหาโอกาสให้แก่กัน ก็กลายเป็นมีมากมายเหลือล้น สิ่งที่จะให้แก่กันนั้น ก็อย่างที่ว่ามาแล้ว คือไม่จำเป็นต้องเป็นทรัพย์สินเงินทอง หรือวัตถุสิ่งของ แล้วแต่จะมีอะไรและในโอกาสใด ก็ให้ไปตามแต่จะมีหรือจะให้ได้ อย่างน้อยก็ให้น้ำคำและน้ำใจ ซึ่งจะทำให้ทำงานอยู่ร่วมกันอย่างชุ่มชื่น อิ่มใจ ปลอดโปร่งและมีความสุข พูดสั้นๆ ก็คือให้ความสุขแก่กันนั่นเอง มีพุทธภาษิตว่า รู้จักให้ความสุข ก็ได้ความสุข คนที่ให้ความสุขแก่คนอื่น ถ้ามีน้ำใจจริงก็ย่อมได้ความสุขตอบแทน อย่างน้อยแทนที่จะตั้งใจว่าจะไม่ยอมเสียเปรียบใคร ก็เปลี่ยนเป็นตั้งใจเสียใหม่ว่า เราจะไม่ยอมเอาเปรียบใคร แต่ความจริงแล้ว ทุกคนมีสิ่งที่จะให้แก่คนอื่นได้ ไม่อย่างโน้นก็อย่างนี้ ลองสำรวจตัวเองดูก็รู้ว่า เรามีอะไรพอจะให้แก่ผู้ร่วมงานและคนอื่นได้บ้าง ในด้านวัตถุ เรามีเงินทองสิ่งของพอจะเผื่อแผ่ช่วยเหลือใครได้ไหม ในด้านวิชาความรู้ ในด้านถ้อยคำ ในด้านแรงกาย และในด้านไมตรีสัมพันธ์ เรามีอะไรจะช่วยแนะนำ ให้กำลังใจ ให้ความสบายใจ ให้ความช่วยเหลือแสดงน้ำใจ และให้ความสนิทสนมเป็นกันเอง เป็นต้น แล้วก็จะพบว่าทุกคนมีอะไรที่จะให้แก่คนอื่นได้ คนละไม่น้อยทีเดียว

ทำงานดี มีจิตใจที่พัฒนา พาให้สุขสมบูรณ์

คนที่พยายามฝึกตัวเองในการทำงาน ก็มีวิถีชีวิตที่เอางานเป็นเครื่องฝึกฝนพัฒนาตนเอง ถ้าเป็นอยู่อย่างนี้ก็เรียกว่า อยู่อย่างมีหลักใจ จะมีความสุขในการดำเนินชีวิต ในการทำงานทำการ และแก้ปัญหาชีวิตของตนเองได้ เรื่องของการอยู่ในโลกนี้ เราจะให้โลกเป็นไปอย่างที่เราปรารถนาทุกอย่างย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะว่าโลกและสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย เหตุปัจจัยบางอย่างนั้นทำขึ้นมาในทันทีไม่ได้ ถ้าจะให้ทำได้ทันทีเป็นไปตามความอยากของเรา ก็ต้องบันดาล ต้องเนรมิตขึ้น ซึ่งเป็นไปไม่ได้ สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย เหตุปัจจัยนี้บางทีก็ต้องใช้เวลาทำกันตั้งนาน คนที่ไม่รู้จักทำใจ ก็มีเรื่องวุ่นวายจิตใจมาก เพราะสิ่งทั้งหลายจะเกิดความขัดแย้ง ไม่เป็นไปตามปรารถนา ไม่เป็นไปตามความอยากของตนเอง ฉะนั้น หลักการในทางศาสนาจึงสอนให้รู้จักทำใจ ถ้าทำใจของเราได้แล้วก็มีความสุข แต่การทำใจนี้ก็เพื่อเป็นพื้นฐานในการที่จะดำเนินชีวิตให้ดี เพื่อทำการทำงานให้ได้ผล เพื่อพัฒนาตนให้ยิ่งขึ้นไป ไม่ใช่เพื่อให้สบายใจแล้วเลยนิ่งเฉยเฉื่อยชา แต่เพื่อก้าวหน้าต่อไปจนกว่าจะถึงความสมบูรณ์

วันนี้อาตมาก็พูดเรื่อยไป แบบว่าคุยกันโดยไม่ได้มีจุดมีประเด็นอะไรที่เป็นเรื่องแน่นอนตายตัว นึกอะไรได้ก็ว่าไปเรื่อยๆ ตกลงก็ปรารภแต่เรื่องงานที่ทำเท่านั้นเอง เพราะมาพูดกับท่านซึ่งอยู่ในที่ทำงาน ก็เลยพูดเรื่องงาน แต่ความจริงในการมาพูดกับคนทำงานนั้น คนทำงานหลายคนไม่อยากให้พูดเรื่องงาน เพราะอยู่กับงานมา เบื่อเต็มทีแล้ว อาตมาก็กลับมาพูดเรื่องงานอีก แต่ก็ไม่ได้ประสงค์จะมาซ้ำเติมความเบื่อ มาพูดด้วยความประสงค์จะให้มีความสุขกับงาน รวมความว่า การที่จะให้มีความสุขกับงานนั้น ก็อย่างที่ว่ามาแล้ว คือ มองงานให้มีความหมายหลายอย่าง จนกระทั่งในที่สุด ไม่มอง ไม่คาดหมาย ไม่หวังอะไรข้างหน้า แต่มองในแต่ละขณะที่ทำ มองทุกขณะที่ทำนั้น ว่าเราได้ฝึกฝน พัฒนาตัวเองทุกขณะ ทำให้ถูกต้องตามแนวทางวิถีของมันแล้วก็มีความพอใจ มีความพอใจก็มีความสุข แล้วก็ขยายออกไปสู่ภาคปฏิบัติอย่างที่ว่า ตามแนวทางของการทำงานที่จะให้เกิดประโยชน์แท้จริง ก็มีหลักอยู่ที่ว่า ต้องหนึ่ง รู้งานดี ถามตัวเองว่า งานที่เราทำอยู่นี้ เรารู้ดีไหม ถ้าไม่รู้ดีก็ต้องทำความเข้าใจให้ดี สอง ทำหน้าที่ไม่บกพร่อง ขยันทำ ตั้งใจทำให้สำเร็จ ไม่ให้บกพร่อง แล้วก็ สาม มือสะอาด และสุดท้าย สี่ คือไม่ขาดมนุษยสัมพันธ์ มีความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานดีทั้งเบื้องบนเบื้องล่าง ด้วยวิธีการรู้จักให้รู้จักหาความสุขจากการที่ได้ให้แก่ผู้อื่น ซึ่งมีความหมายไม่ใช่ว่าให้เฉพาะวัตถุอย่างเดียว แต่ให้ได้แม้กระทั่งโอกาส ความพร้อมที่จะให้อย่างนี้ก็เรียกว่ามีน้ำใจ หรือใจกว้าง ซึ่งไม่ใช่เกิดผลประโยชน์แก่ผู้อื่นเท่านั้น ตัวของเราก็ได้ตลอดเวลา ตัวเองก็มีความสุข

อาตมาพูดมาในเรื่องของการทำงาน ก็กินเวลาไปมากมายแล้ว ถือว่าวันนี้เป็นมงคลอย่างหนึ่งที่ได้มาพบกับผู้ทำงาน เพราะเป็นผู้ที่สร้างสรรค์ คนที่ทำงานนี้เป็นผู้สร้างสรรค์ดังที่กล่าวแล้วตั้งแต่แรก ตัวผู้ทำงานอย่างน้อยก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่ทำสิ่งที่มีค่าเป็นคุณประโยชน์แก่โลกอยู่แล้ว แต่แค่นั้นก็ยังไม่พอ จะทำใจของตัวเองอย่างไร ทั้งที่ทำงานไปก็ไม่ให้เบื่อหน่าย ไม่ให้ท้อถอย จะให้ใจเป็นสุขตลอดเวลาที่ทำงานด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้ก็ต้องมีวิธีการ วิธีการทั้งหมดที่พูดมา ก็อยู่ที่การทำใจ วางใจ ที่ถูกต้อง และมีหลักใจ แล้วก็จะสบายใจ และทำงานด้วยใจที่มีความสุข งานนั้นก็ได้ผลดีด้วย ตกลงทุกอย่างก็ต้องสอดคล้องกัน

ขออนุโมทนา ขอให้ทุกคน ทุกท่าน ได้มีความเจริญงอกงามในจิตใจของตัวเอง ในการพัฒนาตน ทั้งทางด้านทักษะในการประกอบอาชีพการงาน และการพัฒนาจิตใจให้เจริญก้าวหน้า ไม่ใช่ในความดีงามอย่างเดียว แต่ในความดีงามและความสุขด้วย ซึ่งจะสุขแท้ ก็ต้องมีปัญญารู้จักมองโลกและชีวิตตามเป็นจริง ขอให้การทำงานนี้ การมีชีวิตอยู่ร่วมกันนี้ ตลอดจนการดำเนินชีวิตประจำวันของทุกๆ ท่าน จงนำมาซึ่งความสุข ความเบิกบาน ความร่มเย็นแจ่มใส ความก้าวหน้า งอกงามในชีวิต ตลอดกาลนานเทอญ

สนทนาแลกเปลี่ยนทัศนะ

อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์: สมัยเมื่อผมไปพิมพ์หนังสืออยู่ที่โรงพิมพ์ศิวพร ซึ่งขึ้นชื่อมากสมัยนั้น เจ้าของโรงพิมพ์เห็นว่า พอตกเย็น พนักงานมักจะกินเหล้า เล่นไพ่ พอถึงปีใหม่ก็เลย นิมนต์เจ้าคุณปัญญานันทะมาเทศน์ ท่านก็บอกว่าอบายมุข มันเลวอย่างนั้น มันเลวอย่างนี้ ก็พนมมือฟังกันเงียบ พอท่านฉันเพลเสร็จ กลับวัด ตกเย็นก็กินเหล้า เล่นไพ่ ตามปกติ ดังนั้นผมจึงไม่ค่อยเห็นด้วยกับการยัดเยียด คงจะต้องขึ้นอยู่กับการฝึก การปฏิบัติมากกว่า

พระเทพเวที: จิตใจมันเครียดในงาน งานก็ทำให้เครียด พอเครียดในงาน ก็ไปหาทางผ่อนคลาย อบายมุขก็มาเป็นตัวคลายให้ ทำให้หายเครียด ทีนี้ ถ้าเราทำงานอย่างมีความสุขและพอใจในงานแล้ว มันก็คลายไปแล้วไม่ต้องมาคลายอีก แต่บางคนบอกว่าเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศ เขาอาจจะเถียงว่า ผมทำงานก็มีความสุขดี แต่เป็นความสุขอีกแบบหนึ่ง ไปกินเหล้าเสีย ก็เป็นความสุขอีกแบบหนึ่ง เรียกว่า เปลี่ยนเสียบ้าง

อนันต์ วิริยะพินิจ: บางคนเขามีความรู้สึกว่าชีวิตนี้เขาทุกข์เหลือเกิน บางครั้ง ถ้าเขามีความสุขสักนิดหนึ่ง จากการดื่มสุรา หรือความสุขสักนิดหนึ่งจากการเสพอบายมุข เขาบอกว่าขอให้เขาทีเถอะ ทัศนะเช่นนี้ ผมเห็นว่าเป็นความสุขที่ชั่วคราว เป็นความสุขที่ไม่แท้ ท่านจะกรุณาขยายความก็จะเป็นพระคุณ

พระเทพเวที: ก็อย่างที่ว่า มันเป็นวิธีสับเปลี่ยน แต่ที่จริงเป็นการหนี ลักษณะที่หนึ่งก็คือหนีจากทุกข์อันนี้ ไปหาอะไรที่ทำให้ลืมความทุกข์นั้นไป อันนี้ก็เป็นลักษณะของความไม่กล้า คล้ายๆ กับว่า เผชิญกันจนกระทั่งกลัวมัน ไม่กล้า เลยหนี ดีกว่า แต่ก็แก้ความทุกข์นี้ไม่ได้เพราะไม่ได้กำจัดเหตุ ความทุกข์นั้นมันก็อยู่ตามเดิม เพราะว่าหนีไปผ่านไปได้ชั่วครู่แล้ว กลับมาเจอตามเดิมอีก คือไม่ได้แก้ที่ตัวทุกข์ เพราะฉะนั้น ในหลักการที่แท้จริง การที่จะมีชีวิตดีงามมีความสุขก็คือ ไปแก้ที่ตัวทุกข์ ปัญหาอยู่ที่ไหน ปัญหาอยู่ที่ตัวความทุกข์นั้น จิตใจที่เป็นทุกข์ การที่เป็นทุกข์จากเรื่องนั้น นี้จะแก้ไขอย่างไร ไม่ต้องหนี ไม่ต้องแฉลบไปแฉลบมา ไม่เข้าถึงตัวเรื่องนั้นสักที ก็เป็นวิธีเลี่ยงนั่นเอง ซึ่งบางทีก็กลับไปเติมปัญหา คือนอกจากไม่แก้ปัญหาแล้ว บางทีก็ไปเพิ่มปัญหาในรูปอื่น คือบางทีขอลองนิดๆ หน่อยๆ แต่พอต่อไปมันติด พอติดแล้วทีนี้มันกลายเป็นสิ้นเปลืองเงินทอง แล้วเติมปัญหาอีก อันหนึ่งคือปัญหาจากเงินทองไม่พอใช้ บางทีหยิบยืมเป็นหนี้ ปัญหาเก่ามีแล้วก็เติมให้มันมากขึ้น ก็หนักเข้าไป ทีนี้ถ้าเกิดว่ากินเหล้ามากเข้า สุขภาพไม่ดี ก็เกิดปัญหาใหม่อีกแล้ว หาปัญหาให้แก่ตนเอง บางทีไม่เจอขณะนี้แต่ไปเจอระยะยาว จนกระทั่งอายุมากชักแก่ลงไปๆ แก่ตัวจึงมีปัญหา หรือแม้แต่ในตอนนั้นเอง สมมติว่าเกิดเรื่องรุนแรงไปทะเลาะวิวาทกัน ก็สร้างปัญหาใหม่อีกรูปหนึ่ง เรียกว่า ทางที่จะเกิดปัญหาใหม่นี้มันมากมาย แต่อย่างน้อยก็คือไม่แก้ปัญหาโดยตนเอง เพราะไปเลี่ยงหลบอยู่

อ.สุลักษณ์: อบายมุขเท่าที่ผมสังเกตมีคน ๓ ประเภท ประเภทที่หนึ่ง มันยากจนเหลือเกิน มันเป็นหนี้เป็นสิน มันก็หนีไปกินเหล้า หนีไปเล่นการพนันโดยหวังว่าคงจะรวยมาใช้ได้ เล่นหวยรัฐบาล เล่นหวยเถื่อน เป็นเยอะเลยพวกคนยากคนจน กินเหล้าเพราะไม่อยากเจอปัญหา มันรู้ สภาพเดิมมันก็รู้แต่มันไม่อยากเผชิญ นี้พวกที่จนมาก อีกประเภทหนึ่ง มันรวยมาก เป็นเยอะเลยในเมืองนอก เป็นเยอะเลยที่อังกฤษ รอบๆ วัดท่านสุเมโธ คนรวยอยู่ทั้งนั้นเลย แถบคนรวยอยู่นอก London ๖๐% ติดเฮโรอีน ลูกคนรวยนะ และโรงเรียนในอเมริกามีเยอะเลยที่ขายเฮโรอีน รูปโปสเตอร์มีทิ้งไว้ที่บ้าน มันติดกัน ก็พยายามสูบกัน บ้านเรานี่ก็เป็นมาก มันเบื่อ ทำได้ทุกอย่างเลย มันทำอะไรก็ได้ มันหนี สูบไปแล้วมันฝันมันเพลิน รู้นะเรื่องสุขภาพนี่รู้ อันที่สามนี้พวกเราโดยตรง ทำงานถ้าจับเรื่องเครียดนี่ช่วยได้ ทำแล้วบางทีมันเครียด ทำแล้วบางทีมันเบื่อ ทำแล้วบางทีแหมเงินเดือนไม่เห็นขึ้น ทำแล้วเป็นหนี้ อะไรอย่างนี้ มันก็ต้องหนี เพราะฉะนั้น อย่างที่ว่ากันนิดหน่อยๆ เสร็จแล้วมันหนัก อันตรายมันอยู่ตรงนี้

พระเทพเวที: ในการแก้ปัญหา วิธีแก้ปัญหาในขั้นสุดท้ายอยู่ที่ว่า ทำอย่างไรให้ทุกขณะนี้ เราเรียกว่าปัจจุบันแต่ละขณะให้มันมีความสุข เพราะไม่งั้นมันก็เป็นการหนีอยู่เรื่อย หนีออกจากขณะที่เป็นอยู่ หรือขณะที่เป็นอยู่นี้เป็นขณะที่ไม่มีความสุข ความสุขนั้นมันอยู่ข้างหน้าๆ เราอยู่ข้างหลังก็ไล่ตามความสุขกันอยู่เรื่อยไป ก็ไม่พบ ทีนี้ทำอย่างไรจะให้แต่ละขณะทุกขณะนี้มันมีความสุข มันก็จะเต็มอิ่มไปเลย เห็นไหม คนเราแก้ปัญหาไม่ถูกก็ตรงนี้ โดยปกติทั่วไปไม่สามารถอยู่ในขณะนั้น เพราะฉะนั้น จะทำอะไรก็ตามในขณะนั้นๆ ให้มีความสุขไปเลย มีความพอใจ แต่ถ้าจะปลอบใจเบื้องต้น อย่างน้อยคนที่มีงานทำนี้ ก็ยังดีขั้นหนึ่งแล้ว เรื่องเงินเดือน พอไม่พอก็ว่ากันอีกเรื่อง หาเหตุกัน แต่อย่างน้อยมองคนที่ไม่มีงานทำเหมือนตัวเอง เราก็ได้เปรียบกว่าเยอะแยะ ยิ่งในสมัยปัจจุบันนี้ คนว่างงานในสังคมมีมาก เราก็เป็นคนโชคดีมาก แต่อันนี้ก็ยังไม่ใช่การแก้ปัญหาที่แท้เลย เป็นแต่เพียงปลอบใจเท่านั้นเอง ที่แท้ต้องมาถึงขั้นนี้ คือทำอย่างไรให้มีความสุขความพอใจในการดำรงชีวิตอยู่ในแต่ละขณะ

อ.สุลักษณ์: แต่วิธีแก้มันต้องปรับ ๒ ระดับ ครับ
- ระดับหนึ่งส่วนบุคคล ที่ท่านเทศน์ พยายามมีทัศนะที่ถูกต้อง เรียกร้องจากชีวิตให้น้อย มีความสุขในการทำงาน
- อีกระดับหนึ่งในหน่วยงาน ก็จะต้องปรับเหมือนกัน ก็เปิดโอกาสให้เป็นประชาธิปไตยให้มากขึ้น เปิดโอกาสให้คนออกสิทธิ์ออกเสียงมากขึ้น บางทีมันก็จะช่วย ในที่บางแห่งเขาใช้ระบบเครดิตยูเนียนมาช่วย รู้จักการออมทรัพย์ให้เป็น รู้จักวิธีว่าจะเผชิญหนี้สินอย่างไร เผชิญเหตุการณ์อย่างไร คือมีทางออกและชนะได้ ก็จะมีกำลังใจมากขึ้น ทีนี้ ไอ้เรื่องอบายมุขอะไรต่างๆ นี้ ในสังคมมันยั่วยุมากเหลือเกิน โฆษณาเหล้า โฆษณาเบียร์ หรืออะไรก็แล้วแต่ บุหรี่ แม้กระทั่งโคคาโคล่า อะไรต่างๆ อบายมุขทั้งนั้นเลย แต่ว่าไม่รู้สึกนะ มันเอาโคเคนใส่เข้าไป ดีกรีมันอาจจะอ่อน ทั้งฟาสท์ฟู๊ดอะไรต่างๆ ทั้งนั้น หมายถึงเยอะแยะที่ไม่รู้เท่าทัน ก็สอนให้รู้เท่าทันไอ้พวกนี้ด้วย

พระเทพเวที: การให้โอกาสแก่ผู้อื่น เอาใจใส่ผู้อื่น เอาใจใส่ความสุขของผู้อื่นนี้ มันทำให้ลืมเรื่องตัวเองไป แล้วก็ทุกข์น้อยลง คนที่ไปคอยเอาใจใส่ผู้อื่นบ้าง มองความทุกข์ความสุขของผู้อื่น แล้วก็ทำให้จิตใจของเราโปร่ง ทีนี้ ถ้าหากว่า มองแต่เรื่องตัวเอง ตัวยังไม่ได้นั่น ตัวยังไม่ได้นี่ จิตใจก็บีบคั้นตลอดเวลา มันแคบ ก็ไปมองว่า เอ! คนอื่นเขาเป็นอย่างไร สุขสบายดีหรือเปล่า ไม่ใช่มองในแง่ที่จะอิจฉาริษยา คนเรานี้ ถ้าไปมองในแง่แต่จะได้ไม่ได้ พอมองคนอื่นก็มองในแง่อิจฉาริษยา ว่าเขาได้มากกว่าเรา เราทำไม่ได้ ทีนี้ถ้าทำใจเปลี่ยนท่าทีปั๊บ กลับไปมองคนอื่น เอ๊ะ! นี่เขามีความทุกข์ลำบากอะไรหรือเปล่า เขาจะมีความสุขไหม ทำไมเขาจึงไม่มีความสุข คนเรารักคนอื่น ก็เหมือนกับพ่อแม่รักลูก เห็นลูกมีความสุขเราก็มีความสุข แต่ถ้าเราไม่รัก เห็นเขามีความสุข เราอาจจะทุกข์เพราะว่าเราอิจฉา แต่ถ้าเรารักเขาปั๊บ เขามีความสุข เราก็สุขด้วย ทีนี้ ถ้าเราขยายความรู้สึกเอาใจใส่ต่อผู้อื่นนี้ออกไป โอกาสที่จะมีความสุขก็มากขึ้น แต่ถ้าเราเหลือตัวคนเดียวเมื่อไร ทุกข์ยิ่งมากขึ้น ถ้าเรามองแต่ตัวเองคนเดียว พอเราไปสัมพันธ์กับคนอื่นอีกคน เราก็มีโอกาสที่จะทุกข์เพิ่มขึ้นอีกหนึ่ง เพราะเราจะต้องขัดแย้ง หรือต้องแข่งกับเขา เราก็มีตัวทุกข์เพิ่มมาหนึ่ง พอไปเจออีกคนหนึ่งก็เจออีกทุกข์หนึ่งเรื่อยไป ยิ่งเจอคนมากก็ยิ่งทุกข์มาก หรือมิฉะนั้น ก็จะเป็นไปในทางแบ่งแยกเป็นฝ่ายเป็นพวก คือขัดแย้งกับคนหนึ่งแล้ว ก็เข้ากับอีกคนหนึ่งเพื่อเอามาช่วยขัดแย้งแข่งด้วย ก็กลายเป็นพวกเป็นฝ่าย ความขัดแย้งก็ยิ่งรุนแรงมากขึ้น ปัญหาก็มากขึ้น แต่ถ้าเราเอาใจใส่ผู้อื่น หมายความว่าสร้างความสุขด้วยการให้ หรือให้ความเอาใจใส่ ซึ่งก็เป็นการให้อย่างหนึ่ง มีความรักคือความต้องการให้เขามีความสุข เพิ่มคนเข้ามาเท่าไรก็ยิ่งมีความสุขเท่านั้น เรื่องก็อยู่ที่นี้ ถ้าเราไม่สามารถเปลี่ยนท่าทีของจิต เราก็มีความทุกข์ได้มาก เพราะฉะนั้น การพัฒนาตัวก็อยู่ที่นี้ด้วย พัฒนาจิตใจให้มองกว้างออกไป มองเพื่อจะให้ความเอาใจใส่ ความสุขก็เพิ่มมากขึ้น

หรินทร์ สุขวัจน์: ท่านครับ บุคคลที่ทำงานอยู่ในกิจการที่รู้สึกเป็นโทษทางสังคม เช่น กระทำอยู่ในโรงเหล้า โรงบุหรี่ แล้วจะทำให้มีความสุขในการทำงาน ทั้งๆ ที่เป็นกิจกรรมที่เป็นพิษเป็นภัยกับทางสังคม แล้วเขาจะมีความสุขในการทำงานอย่างไรครับ

พระเทพเวที: นี้แหละอย่างที่ว่าเมื่อกี้ มันมีหลายระดับ ตอนแรกศรัทธาในงานไม่มีเลยใช่ไหม ศรัทธาในงานว่างานนี้เป็นสิ่งที่มีคุณค่า เป็นประโยชน์แก่สังคม แก่เพื่อนมนุษย์ ศรัทธาในงานไม่มี อันนี้เป็นจุดอ่อนอันดับที่หนึ่ง ทำให้ท้อถอย ไม่มีกำลังใจ งานนั้นไม่มีคุณค่าทางสังคม เราก็รู้สึกว่า มันไม่มีคุณค่าต่อชีวิตนี้ด้วย ไม่ทำให้ชีวิตนี้มีคุณค่า แต่กลับเป็นว่าชีวิตของเรากลายเป็นโทษแก่คนอื่น การที่ไปทำงานนี้ก็คล้ายกับเอาชีวิตนี้ไปเป็นส่วนร่วมในการทำให้เกิดโทษ ทีนี้จะทำอย่างไร ก็ต้องมองลึกลงไป หมายถึงว่า อย่างน้อยการทำงานนั้นเป็นการฝึกฝนพัฒนาตน การทำงานนั้นให้ดีก็เป็นการพัฒนาตนเองเสมอตลอดเวลา ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุดนี้ก็เป็นจุดที่ทำให้สบายใจได้ แต่จะไปลืมเสียเลยไม่ได้นะ เดี๋ยวไปลืมว่างานนี้เป็นโทษจริงๆ เพราะฉะนั้น ในแง่หนึ่งถ้าว่าตามหลักของทางศาสนาก็คือ เราก็ต้องหาทางออกด้วย แต่ในกรณีที่ยังทำอยู่ด้วยเหตุใดก็ตาม ก็ต้องทำใจอย่างนี้ว่า เราทำงานของเรา ทำให้ถูกต้อง วางเจตนาที่จะไม่ให้ไปเห็นดีเห็นงามร่วมส่งเสริมความชั่วร้ายนั้นด้วย แต่มุ่งช่วยผ่อนเบาความชั่วร้ายที่มีอยู่หรือทำกันอยู่ในงานนั้น ก็เป็นความดีอย่างหนึ่ง และก็ได้พัฒนาตัวในเวลานั้นด้วย อันนี้ก็ทำให้จิตใจสบายได้ ก็มีหลักอยู่

อ.สุลักษณ์: ทีนี้มันไม่ใช่เฉพาะโรงงาน โรงเหล้า หรือโรงฆ่าสัตว์นะ หลายต่อหลายครั้งงานทุกอย่างที่ทำแล้วไม่มีคุณค่า อันนี้สำคัญ ยกตัวอย่าง ครูมีปัญหามาก พวกครูรู้สึกว่าเขาสอนไม่มีความหมาย เด็กมันก็ไม่เชื่อเขา มันไปเชื่อโทรทัศน์มากกว่า เงินเดือนเขาก็น้อย ปัญหาอยู่ตรงนี้ ต้องจับที่เจ้าคุณท่านว่าให้ได้ อย่างน้อยงานของเรามีคุณค่า หรือไม่มีคุณค่า เราต้องพัฒนาความคิด พัฒนาวิธีการของเราให้ชัด และพยายามหาคุณค่าในสิ่งนั้น ยกเว้นอาชีพที่ไม่สุจริตหรืออาชีพที่มันเป็นโทษเสียแล้ว หลายอย่างมันเป็นประโยชน์ได้ ในแง่หนึ่ง นวนิยายมีคนอ่านนี้ บางทีอาจจะหวังดี บางคนอาจจะอ่านเป็นเพื่อนก็ได้ นี้เราต้องพยายาม พยายามมองท่าทีให้ถูกต้อง

อนันต์: หลายกิจการ อย่างกิจการด้านสุรานี้ อาจจะเป็นภาพที่เห็นชัดว่าเป็นกิจการที่ค่อนข้างขัดแย้งกับศีลธรรม แต่มีหลายกิจการที่มันอยู่เบื้องหลังของกิจการเหล่านี้ เช่น ธนาคาร เป็นต้น ธนาคารเป็นผู้ปล่อยสินเชื่อให้โรงเหล้า ซึ่งความจริงแล้วกิจการธนาคารนี้ใครๆ ก็คิดว่าเป็นกิจการที่มีเกียรติ เป็นการดำเนินงานที่ดูคล้ายๆ ว่าไม่มีโทษ ถ้าเรามองในระดับหนึ่ง แต่ถ้าจะพิจารณาให้ลึกลงไป กรณีที่โรงเหล้า ตอนนี้มีปัญหาเกี่ยวกับการดำเนินงาน ปรากฏว่า ธนาคาร ๓-๔ แห่งต้องเข้าไประดมทุนหลายพันล้านบาทอยู่เบื้องหลัง ในแง่ของการประกอบการแล้วคงต้องพิจารณาให้ลึกลงไปว่า เอื้อต่อสังคมหรือส่วนรวมมากเพียงใด ซึ่งพนักงานระดับล่างคงจะไม่รู้สึก หรือรู้สึกก็ทำอะไรไม่ได้เพราะระบบมันใหญ่เกินตัวเอง นี่เป็นเพียงตัวอย่างเดียว

อ.สุลักษณ์: ท่านเห็น ท่านเห็นปัญหา เพราะฉะนั้น คนทำงานธนาคาร ๙๙% ไม่เห็นปัญหาหรอกเพราะเขาปิดด้วย และโบนัสมันแพงด้วย วิธีซื้อ วิธีดึง แล้วโอกาสกินกันมาก โอกาสฉ้อฉลก็มีมาก มันอันตรายมาก

พระเทพเวที: อันนี้เป็นกรณีซับซ้อน กรณีซับซ้อนนี้ ถ้าเราอยู่ในสถานะนั้น อยู่ท่ามกลางแต่เราเป็นตัวกลไกเล็กนิดเดียว เราไปบิดผันอะไรไม่ได้ เราจำเป็นต้องทำส่วนของเราให้ดีก่อน และถ้ามีโอกาสเราก็หันเห เบนงานนั้นไปในทางที่ให้เกิดคุณค่า หรือหาทางทำให้เกิดประโยชน์จากงานนั้น แต่อย่างน้อยการพัฒนาตนไว้ ก็มีประโยชน์ไม่เฉพาะขณะนั้น แต่พอถึงโอกาสเมื่อไร ความพร้อมที่เราสะสมไว้ ที่จะทำงานอื่นที่มีคุณค่าได้ เมื่อโอกาสนั้นมาถึงเรา เราก็พร้อมที่จะทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ได้ เหมือนอย่างเราอยู่ในธนาคารหรือในกิจการใดก็ตามที่มันสองแง่สองง่าม มันอาจจะเกิดโทษ ตอนนี้เราไม่มีโอกาสที่จะทำส่วนที่จะแก้ไขสภาพเหล่านี้ได้ แต่ด้วยการฝึกปรือตัวเราเอง พัฒนาตนในการทำงานนั้นไว้ดี เราก็จะไปถึงจุดหนึ่งหรือสถานะอะไรก็ตาม ที่เราจะมีความสามารถขึ้นมาในตอนใดตอนหนึ่ง ถ้าเรามีความพร้อมจากการพัฒนาตนอยู่เสมอ ตอนนั้นเราก็จะได้ทำสิ่งที่เราเห็นว่า มีคุณค่า คือแก้ไขได้ แต่ถ้าเรามัวไปงอมืองอเท้า เห็นว่า งานนี้ไม่มีประโยชน์ ไม่มีคุณค่า มันเป็นโทษ แล้วตัวเองก็ไม่พยายามฝึกฝนมาตั้งนาน ให้ตัวเองมีความสามารถในงานนั้น แล้วก็ไม่รู้จักทนทานที่จะไปแก้ไข ก็เลยไม่มีโอกาสจะไปแก้ไขได้เลย จะมีโอกาสหรือไม่มีโอกาส อะไรมันจะเป็นอย่างไร แต่ขณะนี้หรือขณะนั้นทำให้เป็นประโยชน์ให้ดีที่สุด พอไปถึงจุดหนึ่ง ความพร้อมที่สั่งสมไว้เกิดประโยชน์เองนะ อันนี้เรียกว่าหลัก “ปุพเพกตปุญญตา” มันก็ต้องมี “ถึงทีฉันบ้าง” อะไรทำนองนี้ แต่ "ถึงทีฉันบ้าง” จะมาได้เมื่อไร ถ้าตัวเองไม่รู้จักพัฒนาตน ไม่ใช้ขณะปัจจุบันนี้ให้ดีที่สุด เพราะฉะนั้น จึงต้องใช้ขณะปัจจุบันให้ดีที่สุด

อ.สุลักษณ์: แต่ที่อนันต์ว่า ให้เข้าใจถึงประเด็นนี้มันยาก และส่วนมากจะไปนึกถึงอย่างอื่น ยกตัวอย่างง่ายๆ บางคนนี้เคยมีที่ขายไม่ได้ แล้วที่มีราคาเป็นล้านขึ้นมาก็ขายที่ถวายวัด วัดก็ไม่รู้อีกว่าเป็นผลจากไอ้ความอะไร ความไม่ถูกต้องในสังคม แต่คนที่จะรู้เท่าทันนี้น้อย นี้เป็นปัญหาหนึ่งซึ่งเราจะต้องแก้ กรณีวัดธรรมกายเห็นชัดเลย มันนึกว่าการซื้อที่ไม่เป็นการเสียหายอะไร ชาวบ้านเดือดร้อนนะ พอไม่รู้นี่มันอันตราย

อนันต์: ที่ผมเสนอเมื่อสักครู่นี้ เห็นด้วยกับท่านที่ว่า มันยากที่จะไประบุประเภทของงาน เพราะมันมองได้ยากที่จะวินิจฉัยความดีชั่ว ที่ยกตัวอย่างธนาคาร ในระดับพนักงานเขาไม่สนใจเรื่องพวกนี้ เขาก็คงทำไปตามหน้าที่ของเขาให้ดีที่สุด เหมือนกับคนที่จะทำงานโรงงานเหล้า หรือทำงานโรงฆ่าสัตว์ มันก็เป็นหน้าที่อย่างหนึ่ง บรรษัทข้ามชาติบรรษัทหนึ่ง เวลาลูกไก่ล้นตลาด ราคาไข่ไก่และไก่มันจะตก เขาแก้ปัญหาอย่างไร เขาแก้โดยเอาลูกไก่เป็นแสนๆ ตัวนี้ไปทิ้งทะเล ซึ่งเขาก็ไม่รู้สึกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องบาป เพราะเขามองในฐานะทุนนิยม เป็นเรื่องธุรกิจ ถ้าไม่เอาลูกไก่เป็นหมื่นๆ แสนๆ ตัวนี้ไปถ่วงน้ำแล้วละก็ หายนะมันจะตามมา ระบบชีวิตสังคมปัจจุบัน มันหนีเรื่องต่างๆ เหล่านี้พ้นยากเหลือเกิน

อ.สุลักษณ์: ต้องเศรษฐศาสตร์ชาวพุทธ เศรษฐศาสตร์มันอธรรม เศรษฐศาสตร์มันอธรรมปั๊บ มันทำทุกอย่าง อาจารย์ประเวศเขียนไว้ รัฐบาลหมดพื้นฐานทางจริยธรรมแล้วหรือ รัฐบาลพยายามจะผลิตบุหรี่ให้มากขึ้น ในขณะที่ฝ่ายรุ่นใหม่พยายามรณรงค์ให้เลิกสูบบุหรี่ ก็จะผลิตเหล้าให้มากขึ้น จับเหล้าเถื่อน ไม่ใช่อะไรนะ ที่จับเหล้าเถื่อน ไม่ใช่ว่าเขาจะเป็นห่วงราษฎรจะกินเหล้าเถื่อนแล้วจะเป็นอันตราย จับเหล้าเถื่อนเพื่อว่ากูจะผลิตเหล้าขาย (กูจะได้เพิ่มผลผลิต) อันตรายมาก

พระเทพเวที: อย่างนี้ต้องแยกออกเป็นปัญหาที่จะต้องแก้ไขในระดับไหน กรณีอย่างนี้ถือเป็นปัญหาระดับซับซ้อน ยากกว่าการแก้ปัญหาระดับหนึ่ง โดยเฉพาะ ต้องมีผู้รู้เท่าทันที่จะให้ปัญญาแก่สังคมอะไรต่างๆ เหล่านี้ หรือแม้แต่การจัดสรรวางระบบใหม่ในวงกว้าง ทีนี้ เราอยู่ในส่วนย่อยมันอีกระดับหนึ่ง (อนันต์ ซึ่งยากที่จะไปแก้เรื่องต่างๆ เหล่านั้น) ต้องรู้ว่า อันนี้มันเป็นปัญหาของระดับไหน ถ้าเราอยู่ในส่วนย่อยนี้ เราไปกังวลมากกับปัญหาระดับใหญ่ เราว้าวุ่นใจด้วยความขัดแย้งใจมาก ยิ่งทำใจไม่ถูกก็ลำบาก ก็ต้องวางใจให้ถูกที่ ว่าตอนนี้เราอยู่จุดไหน ทำอย่างไรให้ดีที่สุด แล้วจังหวะของปัญหาการแก้อยู่ที่ตรงไหน ผิดจังหวะผิดระดับมันก็ยุ่งเหมือนกัน อันนี้ก็อยู่ที่ผู้ให้ปัญญาแก่สังคม เพราะการแก้ปัญหาในระดับซับซ้อนนี้ ต้องอาศัยปัญญาที่รู้เท่าทันกัน ก็อย่างที่ว่า คนจำนวนมากเขาก็เป็นคนดี แต่เขาก็ไม่รู้ว่าที่เขาทำนั้น มันทำให้เกิดโทษเกิดภัยมารูปไหน ก็ต้องมาชี้แนะกัน ทำความเข้าใจ ถ้าเป็นคนดีที่แท้จริงก็คิดว่าเขาก็รับฟัง รวมความแล้วก็อย่างที่ว่า เป็นปัญหาใหญ่และซับซ้อน ต้องมีปัจจัยแก้หลายอย่าง ที่สำคัญคือ ความรู้เท่าทันปัญหาจริยธรรมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเข้มแข็งพอที่จะไม่หาผลประโยชน์จากสิ่งที่ก่อความทุกข์แก่เพื่อนมนุษย์หรือปัญหาแก่สังคม และการจัดระบบที่เอื้อต่อความดีงามและประโยชน์สุขของประชาชน มีข้อพิจารณาอย่างหนึ่งว่า ถ้าทุกคนงดดื่ม ไม่มีใครกินเหล้า โรงงานสุราก็ไม่มี เพราะไม่รู้จะผลิตให้ใครกิน ในทางตรงข้าม ถ้าจำกัดการผลิต ไม่ส่งเสริมให้ขยายโรงงานสุรา ไม่โฆษณาชวนดื่ม คนติดเหล้า ก็มีทางน้อยลง ควรจะแก้ปัญหาด้วยวิธีไหน หรือจะใช้ทั้งสองอย่างประสานกัน นี่ก็เป็นตัวอย่างให้พิจารณาดู ข้อสำคัญขอให้ทำ มิใช่ว่าอย่างไหนก็ไม่ทำ ไม่จริงจังอะไรสักอย่าง

1ธรรมกถา แสดงที่สำนักงานบริษัทเคล็ดไทย จำกัด วันเสาร์ที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๓๑ เวลา ๙.๔๕ น.
2ปัจจุบันดำรงสมณศักดิ์ เป็น สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง