ชาวพุทธต้องเป็นผู้ตื่น

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ชาวพุทธต้องเป็นผู้ตื่น1

เจริญพร ท่านผู้ใฝ่ในธรรมทั้งหลาย

วันนี้ อาตมารู้สึกเป็นสิริมงคลที่ได้มาพบปะ ได้พูดคุยกับนักศึกษาในเรื่องเกี่ยวกับทางธรรม เข้าใจว่านักศึกษาที่มาประชุมในที่นี้ทั้งหมด หรือมิฉะนั้นก็ส่วนใหญ่คงจะเป็นสมาชิกในกลุ่มที่เรียกว่า ชมรมพุทธศาสตร์ บางท่านก็เป็นกรรมการด้วย การเป็นกรรมการก็ดี สมาชิกก็ดี หรือแม้ไม่ได้เป็นสมาชิก แต่มาร่วมฟัง ก็แสดงถึงความสนใจ ใฝ่ธรรม อย่างน้อยก็มีความรักในการศึกษา ต้องการ หาความรู้

สำหรับผู้ที่มาสมัครเป็นสมาชิกชมรมพุทธศาสตร์ อาตมาเข้าใจว่าย่อมมีความมุ่งหมายเป็นส่วนเฉพาะตัวของแต่ละคน เหมือนกันบ้าง ไม่เหมือนกันบ้าง บางคนก็เข้ามาด้วยความมุ่งหมายที่จะมาแสวงหาคุณค่าหรือประโยชน์จากพระพุทธศาสนา คือต้องการมาใช้ธรรมะให้เป็นประโยชน์แก่ชีวิตของตน มาแสวงหาคำสอนที่จะนำไปใช้ให้เกิดความสุข ความสงบ เป็นต้น อันนี้เราเรียกง่ายๆ ว่า ผู้ที่มุ่งประโยชน์ของตน

แต่บางคนก็เข้ามาโดยมีความมุ่งหมายที่จะช่วยกิจการของส่วนรวม ในแง่หนึ่งก็คือจะมาช่วยกันบำรุงรักษาพระพุทธศาสนา ตลอดจนส่งเสริมให้เจริญก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป ในแง่นี้ก็คือต้องการเข้ามาช่วยกิจกรรมประเภทส่งเสริมพระพุทธศาสนา เช่น งานพูด เผยแผ่ พิมพ์หนังสือ เป็นต้น

และอีกประเภทหนึ่งคือเข้ามาด้วยความมุ่งหมายที่จะทำให้พระพุทธศาสนาเป็นประโยชน์แก่ประชาชน คือต้องการทำให้พุทธศาสนาเป็นประโยชน์แก่คนจำนวนมาก

แต่ความมุ่งหมายเหล่านี้ก็สัมพันธ์กันอยู่ ถ้าจะให้ดีก็คือ ควรจะทำให้หมด คือทั้งได้ประโยชน์ตน ตนเองเข้ามาแล้วก็ได้ประโยชน์จากธรรมะที่จะทำให้ชีวิตของตนดีงามยิ่งขึ้น มีความสุขความสงบยิ่งขึ้น ในเวลาเดียวกันก็ทำประโยชน์ส่วนรวมไปด้วย คือช่วยกิจการพระศาสนา ทำให้พระพุทธศาสนามั่นคงยั่งยืนแพร่หลายยิ่งขึ้น และพร้อมกันนั้นก็ช่วยกันทำให้พระพุทธศาสนาเกิดประโยชน์แก่คนจำนวนมาก

อาตมาว่าจุดมุ่งหมายข้อสุดท้ายนี้สำคัญ โดยเฉพาะผู้ที่จะเข้ามาเป็นผู้บริหารงาน เพราะว่าผู้บริหารนั้นย่อมไม่ใช่เป็นเพียงผู้ที่จะเข้ามาหาประโยชน์จากธรรม หรือแสวงหาคุณค่าทางธรรมะเพื่อจะให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิตของตนเท่านั้น เพราะอันนั้นเป็นส่วนเบื้องต้นที่ทุกคนควรจะมีในเมื่อเข้ามาในชมรมพุทธศาสตร์ แต่เมื่อเป็นผู้บริหารก็ควรจะมีความมุ่งหมายในแง่ประโยชน์ส่วนรวม คือหาทางที่จะทำให้ธรรมะนี้เกิดเป็นประโยชน์แก่คนจำนวนมากกว้างขวางยิ่งขึ้นไป เมื่อทำได้สำเร็จอย่างนั้น พระพุทธศาสนาก็จะมั่นคงรุ่งเรืองไปเอง อันนี้ก็เกี่ยวกับจุดมุ่งหมาย และการที่จะทำอย่างนั้นได้ ขั้นแรกเราก็จะต้องรู้จักพระพุทธศาสนาเสียก่อน

หมายเหตุ:

  • เนื้อหาบนเว็บไซต์นี้ได้รับการจัดแบ่งย่อหน้าใหม่เพื่อความสะดวกในการอ่าน
  • ในหนังสือไม่มีการแบ่งบท/ตอน และไม่ปรากฏสารบัญ สารบัญนี้จัดทำขึ้นโดยเว็บไซต์เพื่อความสะดวกในการค้นหาและแสดงบนเว็บไซต์

พระพุทธศาสนาคืออะไร ข้อนี้ก็ตอบกันได้หลายอย่าง อาจจะไม่ต้องตอบโดยตรง อย่างวันนี้อาตมาก็คิดว่าอาจจะพูดสักแง่หนึ่ง ที่จะทำให้พวกเราเกิดความเข้าใจเกี่ยวกับลักษณะของพระพุทธศาสนา ขอให้มองดูที่พระนามของพระพุทธเจ้าเลย พระพุทธเจ้าก็คือชื่อที่เราเรียกท่าน ผู้ซึ่งได้บรรลุธรรม ที่เราเรียกว่าตรัสรู้ รู้แจ้งสัจธรรมแล้ว เราขนานนามพระองค์ว่า พระพุทธเจ้า หรือพระองค์เองก็เรียกพระองค์ว่าอย่างนั้น ไม่ใช่ชื่อแต่เดิม เพราะเดิมนั้นเราก็ทราบกันว่าพระองค์ชื่อเจ้าชายสิทธัตถะ ต่อเมื่อได้ทรงค้นพบสัจธรรมแล้วก็มีพระนามใหม่เกิดขึ้น เรียกว่า พระพุทธเจ้า คำว่าพระพุทธเจ้านี้เป็นคำที่แสดงลักษณะของพระพุทธศาสนา มีอยู่ในพุทธคุณที่เราสวดกันว่า อิติปิโส ภควา สวดไปถึงตอนท้ายของพุทธคุณ ๙ ประการ ข้อที่ ๔ ก็จะเป็น พุทโธ ข้อสุดท้ายก็ ภควา พุทโธ คือคำว่า พุทธะ หรือพระพุทธเจ้า

เราก็มาพิจารณาว่า พุทธะคืออะไร พุทธะนั้นเราแปลกันว่าตรัสรู้ หรือมิฉะนั้นก็แปลว่าตื่น หรือไม่ก็แปลว่าเบิกบาน ผู้ตรัสรู้แล้ว ตื่นแล้ว เบิกบานแล้ว ข้อที่อยากจะให้พิจารณาในที่นี้ คือ ความหมายที่ว่าตื่นแล้ว หรือ ผู้ที่ตื่นแล้ว พระพุทธเจ้าเป็นผู้ตื่นหมายความว่าก่อนนั้น อาจจะหลับมา พระองค์เองอาจจะหลับ แล้วก็หลับท่ามกลางคนที่หลับ แล้วพระองค์ก็ตื่นขึ้นมา ตื่นเองแล้วก็ทำให้คนอื่นตื่นด้วย ช่วยให้คนอื่นตื่น เรียกว่าปลุก ก็คือทำให้ตื่น สาระสำคัญก็คือ ความตื่น ความตื่นหรือพ้นจากความหลับใหล นี้คืออย่างไร เป็นข้อที่น่าพิจารณาว่า พระพุทธเจ้าตื่นอย่างไรบ้าง

ขอให้ดูชีวิตของพระองค์ พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นมาท่ามกลางความสุขสมบูรณ์ เป็นเจ้าชายจะเป็นกษัตริย์ครองเมืองต่อไป ได้รับการบำรุงบำเรอปรนเปรออย่างเต็มที่ เรียกว่าอยู่ท่ามกลางกามสุข

การหลงใหลมัวเมาในกามสุขนั้น ในทัศนะของพุทธศาสนาถือว่าเป็นความหลับอย่างหนึ่ง คือความหลง ความหมกมุ่น พระพุทธเจ้าทั้งที่อยู่ท่ามกลางความสุขเช่นนั้น น่าจะมีความลุ่มหลงมัวเมาเช่นกับคนอื่นๆ ที่เคยประสบมาแล้ว เพราะวิถีชีวิตของผู้มีอำนาจวาสนาหรือผู้ที่อยู่ในชนชั้นสูงสมัยก่อน เมื่อมีโอกาสก็แสวงหาความสุขกันให้เต็มที่ เรียกว่าเพลิดเพลินมัวเมาอยู่ในกามสุข

แต่พระพุทธเจ้าก็ได้ตื่นจากภาวะที่หลับใหลเช่นนั้น คือไม่หลงใหลมัวเมาไปตามความเพลิดเพลิน พระองค์มองเห็นความจริงของชีวิต โดยเฉพาะเห็นความไม่เที่ยงแท้แน่นอน เป็นต้น แล้วสละความสุขเหล่านั้นออกไปเสียโดยสิ้นเชิง การที่พระองค์ทำอย่างนั้นได้ เราเรียกว่าเป็นความตื่น เมื่อพระองค์ตื่นแล้ว ภายหลังก็มาปลุกให้ผู้อื่นตื่นขึ้นด้วย

พิจารณาถึงสภาพชีวิตของคนสมัยนั้น อย่างที่กล่าวเมื่อกี้ว่า คนชั้นสูงนั้น จะเป็นราชามหากษัตริย์ก็ดี หรือเป็นเศรษฐีก็ดี ต่างก็แสวงหาความสุข ถ้าเป็นราชาก็พยายามแผ่อำนาจ การแผ่อำนาจก็หมายถึงการที่จะได้ทรัพย์สมบัติมามากขึ้น พร้อมกันนั้นก็คือการได้กามสุขด้วย เมื่อยกทัพไปตีดินแดนแคว้นอื่น ขยายดินแดนออกไปได้ ก็กวาดเอาทรัพย์สมบัติมา พร้อมกันนั้นก็อาจจะต้อนเอาพวกผู้หญิงทั้งหลายมารวมไว้ กษัตริย์สมัยนั้นก็มีผู้หญิงปรนเปรอบำรุงบำเรอจำนวนมาก ตั้งกันเป็นฮาเร็ม กษัตริย์อินเดียมีชื่อเสียงในเรื่องเหล่านี้

พระพุทธเจ้าเมื่อถอนพระองค์ออกจากกามสุขแล้ว ก็ปลุกพวกราชามหากษัตริย์และพวกเศรษฐี ให้เลิกมัวเมาในกามสุขเหล่านั้น ให้มองอำนาจและทรัพย์สมบัติในทิศทางใหม่ มองความหมายใหม่ และใช้หรือปฏิบัติต่อกามสุขนั้นใหม่

ถ้าเป็นราชาก็ให้ใช้อำนาจเป็นวิถีทางในการบำเพ็ญประโยชน์แก่ผู้อื่น คือในการที่จะช่วยให้ประชาชนมีความสุข คือปกครอง เพื่อที่จะให้เขาได้รับประโยชน์และมีความสุข ไม่ใช่เพื่อจะได้แสวงหาความสุขให้ตนเอง คติหรือความมุ่งหมายในการปกครองก็เปลี่ยนแปลงไป

หรืออย่างพวกเศรษฐีพวกคนมั่งมีทรัพย์ พระองค์ก็ชักชวนให้เขาสละทรัพย์สมบัติ บางพวกก็สละโดยสิ้นเชิงออกบวชตาม บางพวกไม่ได้ออกบวช ก็สละทรัพย์สมบัตินั้นเพื่อช่วยเหลือคนยากไร้ นำทรัพย์นั้น มาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่สังคมต่อไป อันนี้ก็เป็นลักษณะหนึ่งของความตื่น

พระองค์ตื่นจากกามสุข นี้นับว่าเป็นการตื่นครั้งแรก

ต่อมาพระองค์ยังตื่นต่อไปอีก

คนสมัยนั้นที่ตื่นอย่างพระองค์ในแง่นี้ก็มีไม่น้อยเหมือนกัน มีไม่น้อยที่เห็นว่ากามสุขนั้นไม่จีรังยั่งยืน และไม่ให้ความหมายที่แท้จริงแก่ชีวิต ก็สละออกไปแสวงหาความหมายของชีวิต ไปค้นหาสัจธรรม ด้วยการดำเนินวิธีปฏิบัติหรือให้ชีวิตแบบใหม่

พวกหนึ่งคิดว่าเมื่อกามสุขคือการบำรุงบำเรอร่างกาย ยอมตามความปรารถนาของร่างกายนี้ เป็นทางของความไม่เที่ยงแท้แน่นอน และไม่ใช่สิ่งที่มีคุณค่าแท้จริง ก็มองไปว่าอีกวิธีหนึ่งที่ตรงข้าม ก็คือร่างกายของเรานี้มันยั่วยวน ทำให้เราคอยจะปรนเปรอ แล้วก็นำมาซึ่งความทุกข์ในขั้นสุดท้าย ซึ่งเป็นการเบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่น เมื่อเป็นเช่นนั้นก็ควรจะเลิกตามใจร่างกายนี้เสีย และถ้าจะให้ดีก็ต้องทำให้มันเดือดร้อน คือทรมานมัน ไม่ให้มันได้ตามที่อยาก มันอยากอย่างไรก็แกล้งบังคับมันให้เป็นไปในทางตรงข้าม ถ้าทำอย่างนี้แล้วกิเลสก็คงจะหมดสิ้นไป และก็คงจะพบสัจธรรมได้ พวกนี้ก็เลยออกไปใช้วิธีที่เรียกว่า บำเพ็ญตบะ หรือ อัตตกิลมถานุโยค ทรมานตนเองด้วยประการต่างๆ

การบำเพ็ญตบะนี้ก็มีมากมายหลายวิธี อย่างที่เราเรียนพุทธประวัติกันมา ง่ายๆ ก็มีอดอาหาร กลั้นลมหายใจ ตลอดจนขุดหลุมเอาดินฝังตัว อยู่ในดินเป็นเวลานานๆ หรือนอนบนหนาม อาบน้ำในฤดูหนาว ยืนกลางแดดในฤดูร้อน ยืนขาเดียว เอาขาเหนี่ยวกิ่งไม้ เอาศีรษะห้อยลงมา เวลาจะโกนผมแทนที่จะใช้มีดโกน ก็ใช้ถอนผมทีละเส้น ทรมานร่างกายด้วยวิธีต่างๆ ซึ่งเป็นวิธีปฏิบัติอย่างหนึ่งตามความเชื่อของคนในสมัยนั้น ซึ่งเขาถือว่าจะเป็นทางให้บริสุทธิ์หลุดพ้นได้ ชีวิตจะบริสุทธิ์เพราะไม่ตามใจกิเลส และจะทำให้จิตใจห่างเหินจากเครื่องยั่วยวน และจะค้นพบสัจธรรมได้

พระพุทธองค์ได้ทรงทดลองปฏิบัติตามแบบนี้ด้วย แล้วในที่สุดพระองค์ก็ทรงเห็นว่าไม่ใช่ทางปฏิบัติที่ถูกต้อง เป็นเพียงที่สุดหรือสุดโต่งอีกด้านหนึ่งเท่านั้นเอง ซึ่งตรงข้ามกับกามสุขด้านแรกคือการบำรุงบำเรอปรนเปรอตน ด้านที่สองนี้คือการฝืนใจตนเอง พยายามบีบบังคับความต้องการต่างๆ ซึ่งก็ไม่ใช่ทางที่ถูกต้อง พระองค์จึงทรงละเลิกวิธีนั้น

อย่างนี้ก็เป็นการตื่นอีกครั้งหนึ่ง เรียกว่าเป็นการตื่นครั้งที่สองของพระพุทธเจ้า คือไม่หลับใหล ไม่หลงงมงายไปในวิธีปฏิบัติที่รู้ชัดแล้วว่า ไม่สามารถนำไปสู่จุดมุ่งหมายที่ถูกต้องได้

ต่อไปดูว่าพระพุทธเจ้าตื่นอะไรอีกบ้าง

วิธีปฏิบัติอีกอย่างหนึ่งของคนในสมัยนั้นก็คือ ในบรรดาคนที่เบื่อหน่ายกามสุขสละทรัพย์สมบัติออกไปแล้ว ก็มีพวกหนึ่งที่เข้าไปอยู่ตามป่าตามเขาตามถ้ำ แล้วบำเพ็ญสมาธิ มีฤษีชีไพรจำนวนมากก่อนพุทธกาล ไปบำเพ็ญพรตทำสมาธิจนได้ ฌานสมาบัติ

พวกที่ได้ฌานมาก่อนพระพุทธเจ้ามีมากมาย ในชาดกก็มีเรื่องว่า พระพุทธเจ้าสมัยเป็นพระโพธิสัตว์ ก็เคยไปบำเพ็ญพรต ทำสมาธิในป่าจนได้ฌานสมาบัติเช่นเดียวกัน

และเมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าออกบวชคราวสุดท้ายนี้ พระองค์ก็ได้ไปอยู่ในสำนักของดาบส ไปฝึกโยคะ ไปบำเพ็ญฌาน จนกระทั่งได้ฌานชั้นที่เรียกว่าสูงสุด แต่พระองค์ก็รู้ชัดว่าไม่ใช่ทางที่ถูกต้อง

ฌานสมาบัตินี้ก็เรียกว่าเป็นสิ่งที่ดีประเสริฐอย่างยิ่งแล้ว พระองค์ก็ยังทรงเห็นว่าไม่ใช่ทางที่ถูกต้อง มันอาจจะใช้ประโยชน์ได้บ้าง แต่ตัวมันเองไม่ใช่การบรรลุความมุ่งหมายโดยแท้จริง เพราะฉะนั้นพระองค์จึงสละมา ก็เรียกว่าเป็นความตื่นอีกครั้งหนึ่ง

จากนั้นพระองค์ก็บำเพ็ญเพียร หรือว่าปฏิบัติโดยวิธีที่เราเรียกว่า ทางสายกลาง หรือ มัชฌิมาปฏิปทา และในที่สุดก็ได้ตรัสรู้ นี่จะเห็นว่าเป็นความตื่นในแบบต่างๆ

ความตื่นอื่นๆ ที่พ่วงมากับความตื่นเหล่านี้ ยังมีอีกหลายอย่าง

ความตื่นจากความงมงายในความเชื่อและการประพฤติปฏิบัติในสมัยนั้น ยังมีอีกหลายแง่ที่ควรจะพิจารณา อย่างหนึ่งก็คือความยึดถือในเรื่องชั้นวรรณะ

คนสมัยนั้นยึดถือปฏิบัติตามหลักศาสนาพราหมณ์ที่ว่า คนเกิดมาอย่างไรก็ต้องเป็นอย่างนั้น เขาเรียกว่าเป็นวรรณะ แบ่งเป็นชนชั้น ชนชั้นสูงเรียกว่ากษัตริย์กับพราหมณ์ ชนชั้นกลางหรือต่ำลงมาเรียกว่า เป็นวรรณะแพศย์ คือพวกพ่อค้า คฤหบดี และวรรณะศูทรหรือพวกกรรมกร คนรับใช้ และยังมีพวกนอกวรรณะเป็นจัณฑาล ที่ต่ำสุดจนไม่รู้จะต่ำยังไงอีก

นี้เป็นความเชื่อถือที่เป็นการกำหนดสิทธิในชีวิตของคนว่าเกิดมาอย่างไรก็ต้องเป็นอย่างนั้น เกิดมาเป็นคนชั้นต่ำก็เป็นอันว่าไม่มีทางเจริญก้าวหน้าในชีวิต เช่น ไม่มีโอกาสได้รับการศึกษาเป็นต้น นี้ก็คือสภาพที่เป็นอยู่

เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว พระองค์ก็มาสอนขัดแย้งกับความเชื่อถือและการปฏิบัตินั้น สอนให้เลิกชั้นวรรณะแล้วตั้งคณะสงฆ์ขึ้น เปิดรับคนจากทุกชั้นวรรณะเข้ามา ถ้าเข้ามาในพระพุทธศาสนาแล้วก็ได้ชื่อว่า เป็นสมณศากยบุตรเสมอกันหมด มีสิทธิเสมอกัน ทั้งมีสิทธิในทางสังคมเสมอกัน และมีสิทธิในการเข้าถึงจุดมุ่งหมายของพระศาสนา ซึ่งเป็นจุดหมายทางธรรมเหมือนกันหมดด้วย นับเป็นการต่อสู้อีกด้านหนึ่งของพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นผู้ตื่น

และพระองค์ก็ปลุกประชาชนให้ตื่นจากความเชื่อถือยึดถือในการแบ่งชนชั้นตามชาติกำเนิดนี้ ให้แบ่งเป็นดีเลวโดยการกระทำ โดยความประพฤติ ว่าคนจะสูงจะต่ำจะดีจะเลวนั้น อยู่ที่การกระทำความประพฤติของตน ที่เราเรียกว่า กรรม

ต่อไป คนสมัยนั้นมีความเชื่ออะไรอีก ที่เราถือว่าเป็นความงมงาย

สมัยนั้นคนเชื่อในเรื่อง เทพเจ้า เชื่อว่าเทพเจ้าเป็นผู้กำหนดโชคชะตาของมนุษย์ เป็นผู้บันดาลสิ่งต่างๆ ความเป็นไปในชีวิตมนุษย์จะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่เทพเจ้า ถ้าต้องการที่จะพ้นจากภัยพิบัติ ก็อ้อนวอนเทพเจ้าให้ช่วยให้พ้นภัยพิบัติ ถ้าต้องการอะไรที่น่าปรารถนา อยากจะได้ผลดี ก็ต้องอ้อนวอนเทพเจ้าเช่นเดียวกัน

การอ้อนวอนเทพเจ้าก็แสดงออกมาในการเซ่นสรวงบูชา ซึ่งในที่สุดก็กลายมาเป็นพิธีใหญ่ๆ ที่เราเรียกว่า บูชายัญ ผู้ที่ต้องการผลดีผลตอบแทนอย่างมาก หรือมีอำนาจมาก ก็จะทำพิธีให้ใหญ่โต พวกพราหมณ์ พวกนักบวชเจ้าพิธี ก็ขยายพิธีกรรมที่เรียกว่าบูชายัญให้พิสดารออกไป มีการบูชายัญฆ่าสัตว์จำนวนมาก ฆ่าแพะ ฆ่าแกะ ฆ่าม้า ฆ่าโค ฆ่าควาย ตลอดจนกระทั่งฆ่าคนก็มี

พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นมาก็ต้องประสบกับสภาพเช่นนี้ด้วย พระองค์ไม่เห็นด้วยกับการเซ่นสรวงบูชาเทพเจ้า ก็สอนให้เลิก จึงถือว่าพระองค์ไม่หลับใหลหลงงมงายไปตามความเชื่อและการปฏิบัติของคนสมัยนั้น ทรงเห็นว่าเป็นการขาดเหตุผล ที่จะมาอ้อนวอนเซ่นสรวงเทพเจ้าให้ได้ผลที่ต้องการ จนกระทั่งถึงกับบูชายัญเบียดเบียนผู้อื่น การทำอย่างนั้นไม่ใช่วิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง

วิธีปฏิบัติที่ถูกต้องก็คือ เราต้องการอะไรก็ต้องทำเอา ผลที่ต้องการจะสำเร็จด้วยการลงมือกระทำ ซึ่งเราเรียกว่าหลักกรรมเช่นเดียวกัน อันนี้ก็ถือว่าเป็นความตื่นของพระพุทธเจ้า ตื่นจากความหลับใหลในเรื่องความเชื่อหลงงมงาย ในการเซ่นสรวงอ้อนวอนบูชาเทพเจ้า ตลอดจนยัญพิธีต่างๆ

เรามาพูดกันก่อนถึงความหลับใหลของคนในสมัยนั้น ให้เห็นว่าพระพุทธเจ้าตื่นอย่างไร ขอพูดเรื่องนี้ไปพลางๆ แล้วค่อยมาคุยกันถึงสภาพปัจจุบัน

ความเชื่อของคนในสมัยนั้นอีกอย่างหนึ่งคือ พราหมณ์เขาสอนไว้ว่า พระเวท เป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์สูงสุด พระเวทนี้กล่าวไว้สอนไว้ว่าอย่างไรแล้ว จะเถียงไม่ได้เป็นอันขาด เรียกว่า infallible คือว่าเป็นสิ่งที่ไม่อาจจะผิดพลาดได้ เพราะฉะนั้น พระเวทว่าอย่างไรคนต้องเชื่อตาม ซึ่งความเชื่อในเรื่องวรรณะ ๔ นี้ พระเวทก็กำหนดไว้

นอกจากว่าจะต้องเชื่อพระเวทตายตัวแล้ว การที่จะเข้าถึงพระเวทก็ยังมีข้อกำหนดอีกว่า มิใช่ทุกคนจะเรียนพระเวทได้ ต้องเป็นคนชั้นสูง ต้องเป็นพราหมณ์เป็นอันดับหนึ่ง มิฉะนั้นก็ต้องเป็นกษัตริย์จึงจะเรียนได้ ผ่อนลงมาได้บ้างก็พวกแพศย์ วรรณะพ่อค้าพอจะเรียนได้ พอได้ฟัง ได้รู้บ้าง แต่พวกวรรณะต่ำอย่างวรรณะศูทรนี่เขาห้ามเด็ดขาด ไม่ให้เรียนพระเวท มีกฎหมายเรียกว่า มนูธรรมศาสตร์

มนูธรรมศาสตร์นี่มาเป็นต้นบทของกฎหมายไทยในสมัยโบราณ มนูธรรมศาสตร์นี้บัญญัติไว้บอกว่า ถ้าคนวรรณะศูทรมาฟังสาธยายพระเวท ให้เอาตะกั่วหลอมหยอดหูมัน ถ้าเอาตะกั่วหลอมหยอดหูก็เป็นอันหูหนวกแน่ ถ้าหากคนวรรณะศูทรสาธยายพระเวท ให้ตัดลิ้นมัน ถ้าโดนตัดลิ้นก็อาจจะตายได้ หรือถ้าไม่ตายก็คงเลิกพูดกัน ถ้าหากคนวรรณะศูทรมาเรียนพระเวท ให้ผ่าร่างกายมันเป็น ๒ ซีก นี่ก็คือการลงโทษอย่างแรง ตัดโอกาสในการศึกษาโดยสิ้นเชิง ทั้งการศึกษาและการเข้าถึงจุดมุ่งหมายในทางศาสนา เป็นอันว่าคนวรรณะต่ำไม่มีทาง

พระพุทธเจ้าให้เลิกนับถือความศักดิ์สิทธิ์ของคัมภีร์พระเวท พระองค์สอนคำสอนใหม่ และคำสอนใหม่ของพระองค์นี้คนฟังพิจารณาไตร่ตรองได้ มีสิทธิ์ที่จะสงสัย เอามาซักถาม เอามาถกเถียงกันได้ อย่างที่เรานับถือกันในหลัก กาลามสูตร

แล้วการสอนของพระพุทธเจ้าไม่ได้ผูกขาดอย่างพระเวท คนทุกชั้นวรรณะเรียนได้ แล้วพระเวทนั้นเขาผูกขาดไว้ด้วยภาษาชั้นสูง ที่เรียกว่าภาษาพระเวท ซึ่งวิวัฒนาการมาเป็นภาษาสันสกฤต พระพุทธเจ้าห้ามไม่ให้ผูกขาดคำสอนของพระองค์ด้วยภาษาชั้นสูง

มีคนจากวรรณะพราหมณ์เข้ามาบวช แล้วก็มาเสนอพระพุทธเจ้า บอกว่าคำสอนของพระองค์นั้น คนที่เอาไปเรียนออกบวชจากวรรณะต่างๆ พื้นเพภูมิหลังไม่เหมือนกัน ต่อไปคำสอนของพระองค์นี้จะสับสนฟั่นเฝือ เพราะฉะนั้นขออ้อนวอนพระองค์ ให้เอาคำสอนของพระองค์นี่ยกขึ้นไปเป็นภาษาสันสกฤต คือให้ทรงจำเรียนกันด้วยภาษาสันสกฤตเถิด จะได้รักษาไว้มั่นคง

พระพุทธเจ้าตรัสสั่งห้ามไม่ให้ทำเช่นนั้น ใครทำเช่นนั้น ถ้าเป็นพระก็ปรับอาบัติ ปรับอาบัติก็คือมีความผิด พระองค์บอกว่าคำสอนของพระองค์นั้น ให้เรียนกันด้วยภาษาของตนๆ อันนี้ก็แสดงให้เห็นว่า ทรงเปิดโอกาสกว้าง ในทางการศึกษา แล้วก็เปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าถึงธรรมะของพระพุทธศาสนา นี้ก็เป็นการตื่นอีกอย่างหนึ่ง

มาพิจารณากันอีกบางอย่าง นักบวชสมัยนั้น เมื่อบวชมาแล้ว ก็มีบางพวกที่เป็นอยู่ด้วยการที่ถือว่าตนเป็นผู้รู้ผู้วิเศษ เป็นผู้รู้ก็เป็นเจ้าตำรับ เป็นผู้วิเศษก็คือมี ฤทธิ์ มี ปาฏิหาริย์ ทำอะไรได้แปลกๆ แล้วก็เลี้ยงชีวิตเป็นอยู่หากินด้วยการตั้งตัวเป็นผู้รู้ผู้วิเศษอย่างนั้น เช่น ทำนายทายทักให้บ้าง หรือสะเดาะเคราะห์ให้บ้าง เป็นหมอผีเข้าทรงให้บ้าง ต่างๆ เหล่านี้

พระพุทธเจ้าเกิดมาท่ามกลางสภาพเช่นนั้น ก็เปลี่ยนวิถีชีวิตของนักบวชเสียใหม่ ไม่ให้หากินด้วยวิธีอย่างนั้น ให้เป็นอยู่ด้วยอาศัยความเลื่อมใสศรัทธาของประชาชน ไม่ใช่หาเลี้ยงชีพด้วยสิ่งที่เรียกว่า เดียรัจฉานวิชา เช่นนั้น อันนี้ก็เป็นความตื่นอีกอย่างหนึ่ง ในความตื่นหลายๆ แบบ อาตมาก็ยกมาให้ดูกัน

นี้เป็นความหมายของพุทธะ ที่แปลว่าตื่น เป็นอันว่าพระพุทธเจ้าทรงตื่นแล้ว ตื่นจากความเชื่อถือ การประพฤติปฏิบัติที่ไม่สมเหตุสมผล ที่ไม่เป็นไปเพื่อบรรลุความมุ่งหมายเพื่อประโยชน์สุขที่แท้จริงแก่ชีวิต ทั้งส่วนตนและส่วนรวม และได้ทรงสอนคำสอนใหม่ ซึ่งทำให้เกิดปัญญา และจะต้องเข้าถึงด้วยการรู้เข้าใจความจริงของชีวิต เข้าใจความจริงของสังขารต่างๆ ทรงสอนศาสนาแห่งปัญญา

เพราะฉะนั้นคำว่า ตื่น ก็มีความหมายว่า รู้ นั่นเอง คือหายหลับใหล ก็คือหายหลง หลงเป็นความไม่รู้ เมื่อรู้ก็หายหลง หายหลงก็คือตื่นจากความหลับใหล เพราะฉะนั้นความตื่นก็เป็นคู่กับความรู้ พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งความรู้และเป็นศาสนาแห่งปัญญา จึงเป็นแนวปฏิบัติของชาวพุทธว่า ชาวพุทธเป็นคนที่ควรจะต้องตื่น เป็นคนที่จะต้องทำอะไรด้วยปัญญา ทำอะไรด้วยการพินิจพิจารณา เป็นผู้ที่ใฝ่ศึกษาหาความรู้อยู่เสมอ ดำเนินตามปฏิปทาของพระพุทธเจ้า ที่เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น อย่างที่ว่ามาเมื่อกี้

ทีนี้เรามาพิจารณากันถึงว่า ในเมื่อเป็นชาวพุทธก็จะเป็นผู้ต้องตื่นต้องรู้แล้ว เราควรจะประพฤติปฏิบัติตัวกันอย่างไร การประพฤติปฏิบัติตัวที่มุ่งหมายในที่นี้ จุดสำคัญอยู่ที่ การศึกษาหาความรู้อย่างหนึ่ง กับ การปฏิบัติหรือลงมือทำอย่างหนึ่ง เมื่อเราเป็นชาวพุทธ เราควรจะศึกษาและปฏิบัติอย่างไร ตอนนี้แม้เป็นชาวพุทธแล้ว ก็ไม่ใช่หมายความว่าจะปลอดภัย บางทีก็เป็นเพียงชาวพุทธโดยชื่อเท่านั้น จึงต้องให้เป็นชาวพุทธโดยสาระที่แท้จริงด้วย คือสาระที่ว่าเป็นผู้ตื่น หรือเป็นผู้รู้ดังกล่าวมาแล้วนั้น

ลักษณะหนึ่งของการที่จะรู้คือ การศึกษา การใฝ่หาความรู้ แต่การศึกษาใฝ่หาความรู้ที่มีปัญหาอีก ถ้าศึกษาหาความรู้ไม่เป็นก็เกิดโทษ

วิธีการศึกษานี้เป็นเรื่องใหญ่ที่จะทำให้เกิดความรู้หรือตื่นหรือไม่ บางทีการศึกษาก็ไม่ได้ความหมายของการศึกษาที่แท้จริง เป็นเพียงได้ชื่อว่าศึกษาเท่านั้น พอศึกษาเข้าแล้วก็ไปเกิดความยึดติดถือมั่นอะไรต่างๆ เลยกลายเป็นหลับต่อไป หรือว่าเคยหลับมาด้วยยานอนหลับอย่างหนึ่ง แล้วตื่นขึ้นมานิดหนึ่ง งัวเงียๆ พอคว้าอะไรได้หน่อยก็เลยเอาอันนั้นแหละมาเป็นยากล่อมชวนให้หลับต่อไป เลยแทนที่จะตื่นแท้จริง ก็เลยตื่นเพื่อหลับ คว้าอะไรบางอย่างที่จะมากล่อมตัวให้หลับต่อไป

เพราะฉะนั้น การศึกษาก็ต้องระวังว่า อาจจะไปเจออะไรที่มันกลายเป็นเครื่องกล่อมตัวเราให้หลับเสียอีกทีหนึ่ง ถ้าหลับอีกที คราวนี้อาจจะหลับหนักกว่าเก่า จะไม่รู้จักตื่นเลยก็ได้ จึงบอกว่าเราจะต้องมีวิธีการศึกษาให้ถูกต้องด้วย

พูดในแง่หนึ่งเฉพาะในหมู่ชาวพุทธว่า สำหรับการศึกษาสมัยนี้ ในเมื่อเราเกิดมาหลังพุทธกาล พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปตั้ง ๒๕๐๐ กว่าปีแล้ว พระพุทธองค์ไม่อยู่ เราก็ไม่ได้เรียนเฉพาะพระพักตร์ของพระองค์ เมื่อเป็นเช่นนี้เราจะทำอย่างไร เราจะเรียนอย่างไรจึงจะได้ชื่อว่าเรียนพระพุทธศาสนา

ผู้จะนำพระพุทธศาสนามาให้เราคือผู้ที่สั่งสอนต่างๆ ก็ได้แก่พระสงฆ์ หรือบางทีก็ไม่ได้เป็นพระสงฆ์ แต่เป็นผู้ได้เล่าเรียนศึกษามาก่อนเรา แล้วนำเอาคำสั่งสอนมาเผยแพร่ บางทีก็เป็นหนังสือ แต่ที่เป็นหลักใหญ่ๆ ก็คือครูอาจารย์ แนวการศึกษาของชาวพุทธสมัยนี้ก็คือว่า มีอาจารย์เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ให้ ซึ่งอาจารย์นั้นเรานับถือว่าท่านได้ค้นคว้ามาเองบ้าง ไม่ก็ปฏิบัติมาด้วยตนเองบ้าง แล้วนำประสบการณ์หรือความรู้ที่ได้สั่งสมมานั้นถ่ายทอดให้ อาจารย์นี้ก็ถ่ายทอดโดยตรงคือพูดให้ฟังบ้าง เขียนหนังสือให้อ่านบ้าง

ลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งที่น่าสังเกต สมัยนี้ก็คือว่า เราชักจะยึดถืออาจารย์กันไปต่างๆ อาจารย์ แทนที่จะเป็นบุคคลผู้มาช่วยถ่ายทอดความรู้ ที่โยงเราให้เข้าถึงคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า อาจารย์เป็นเพียงทางผ่านหรือเป็นสื่อถ่ายทอด แต่หลักที่แท้จริงนั้นอยู่ที่พระพุทธเจ้า อาจารย์ผู้ช่วยนำเราเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ให้เราได้รู้หลักคำสอนที่แท้จริง หรือว่าให้เราได้ฟังพระพุทธเจ้านั่นเอง แต่เพราะเหตุที่พระองค์ปรินิพพานแล้ว เราฟังจากพระองค์โดยตรงไม่ได้ เราก็เลยฟังจากอาจารย์ช่วยถ่ายทอดให้อีกทีหนึ่ง

แต่เหตุการณ์กลับกลายเป็นว่า เกิดมีการยึดถืออาจารย์มากเกินไป เราก็เชื่อแต่อาจารย์ ฟังแต่อาจารย์ จนกระทั่งว่าลืมพระพุทธเจ้า สมัยนี้การสอนจะมีลักษณะแบบนี้มากขึ้น คือถืออาจารย์เป็นหลัก แทนที่จะถือพระพุทธเจ้าเป็นหลัก

ถ้าหากว่าเป็นอย่างนี้แล้ว ก็จะมีลักษณะที่น่ากลัวขึ้นมาอันหนึ่ง คือความแตกแยกได้ง่าย เพราะอาจารย์ก็มีความคิดเห็นต่างๆ กัน มีความถนัดไม่เหมือนกัน ทั้งๆ ที่ทุกท่านอาจจะถูกเหมือนกัน แต่ว่าท่านหนึ่งๆ ก็สอนได้แง่หนึ่งที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ ท่านถนัดด้านหนึ่ง อีกองค์หนึ่งถนัดอีกด้านหนึ่ง เมื่อลูกศิษย์ไปยึดถือตามอาจารย์ก็เลยได้คนละด้าน แล้วเมื่อได้คนละด้านก็ไม่ตรงกัน เมื่อไม่ตรงกันก็อาจจะขัดแย้งหรือถกเถียงกัน ก็เป็นปัญหาทำให้เกิดความแตกแยกได้ง่าย

แต่ถ้าทำความเข้าใจให้ถูกต้องว่า ในการศึกษาพระพุทธศาสนานั้น ตัวแท้ตัวจริงก็คือพระพุทธเจ้า เราต้องเอาพระพุทธเจ้าเป็นหลักไว้เสมอ แล้วเอาอาจารย์เป็นสื่อเป็นทางที่จะนำเข้าหาพระพุทธเจ้า ถ้ามีสติกำหนดไว้อย่างนี้เสมอ ก็ค่อนข้างจะปลอดภัย ถ้าหากว่าไม่ทำอย่างนั้น เรายึดถืออาจารย์ อาจารย์ก็อาจจะกลายเป็นหลักแล้ว พระพุทธเจ้ามาเป็นตัวประกอบ อาจารย์กลายเป็นผู้ตัดสินพระพุทธเจ้าไปก็มี ทำไปทำมาอาจารย์เลยกลายเป็นภูเขากั้นขวางเราให้เข้าไม่ถึงพระพุทธเจ้า

การนับถือพระพุทธเจ้าอย่างผิดๆ เป็นเหมือนภูเขาที่กั้นขวางชาวพุทธไม่ให้เข้าถึงพุทธธรรม แต่อาจารย์ที่นับถือผิดๆ อาจ ทำให้เราขาหัก ตาบอด มองไม่เห็น เดินไปหาพุทธธรรมไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ก็กลายเป็นเรื่องที่น่าระมัดระวัง นี่ก็เป็นหลักทั่วๆ ไปในการศึกษาพระพุทธศาสนา

เมื่อเอาพระพุทธเจ้าเป็นหลักแล้ว คำสอนของพระพุทธเจ้านั้น เราไม่สามารถฟังจากพระองค์ได้โดยตรง เพราะพระองค์ปรินิพพานอย่างที่ว่าเมื่อกี้ แล้วเราจะรู้ได้อย่างไร ก็มีสิ่งที่พบจะเชื่อถือได้มากที่สุดว่าเป็นคำสอนของพระองค์ ก็คือ พระไตรปิฎก คัมภีร์ชั้นต้น ชั้นแรก เพราะฉะนั้นการอ้างอิงต่างๆ ก็ต้องไปที่พระไตรปิฎก

การศึกษาการตีความนั้น พุทธศาสนิกชนมีสิทธิที่จะศึกษาพิจารณา แม้แต่อาจารย์ก็เป็นเครื่องช่วยในการที่จะให้เราตีความ หรือพิจารณาธรรมะในพระไตรปิฎกนั้น ซึ่งเราก็ไม่จำเป็นจะต้องเชื่อตายตัว หมายความว่าอาจารย์เป็นผู้ที่จะช่วย เป็นกัลยาณมิตรชี้แจงแนะนำให้ แต่เราเองต้องใช้ปัญญาของตนพิจารณา จะต้องเข้าถึงพระไตรปิฎกด้วยตนเอง ไม่ใช่รอแต่เพียงให้อาจารย์นำมาให้เท่านั้น นี่คือลักษณะทั่วไปของการศึกษา

อีกอย่างหนึ่งก็คือ การเปิดใจให้กว้างอยู่เสมอ รับฟังรับพิจารณาผู้อื่น ไม่ถือเอาทิฏฐิของตนเอง ทิฏฐินี้ก็คือการยึดติดในความเห็น พอเราศึกษาอะไรนิดหน่อย เราก็เริ่มมีความคิดเห็น เมื่อมีความคิดเห็นแล้ว ถ้ายึดติดในความเห็นนั้น ความเห็นของตัวเอง และความรู้ที่ได้มานั้นแหละ ก็กลายเป็นตัวอุปสรรคกั้น ไม่ให้ได้รับความรู้ ความเข้าใจที่กว้างขวางลึกซึ้งยิ่งขึ้นไป

ทีนี้ตามธรรมดาของคน มักจะติดในทิฏฐิหรือในความคิดเห็นของตนเอง เมื่อยึดติดในความคิดเห็นแล้ว ก็เอาความคิดเห็นของตนไปตัดสินความจริง แทนที่จะเอาความจริงเป็นหลัก แล้วเอาความเห็นเป็นเครื่องประกอบ ก็เอาความเห็นของตนเป็นหลัก แล้วเอาความจริงเป็นเครื่องประกอบ เอาความเห็นไปตัดสินความจริง ถ้าอย่างนี้ก็กลายเป็นว่าเราเรียนศึกษาเพื่อจะจำกัดตัวให้แคบ แล้วปิดกั้นตัวเองไม่ให้เข้าถึงสัจธรรมนั่นเอง ซึ่งสภาวะอย่างนี้เราเรียกว่า ทิฏฐิ คือเกิดทิฏฐิขึ้นมา เรื่องการศึกษาจะพูดกว้างๆ แต่เพียงเท่านี้

มาถึงเรื่อง การปฏิบัติ การปฏิบัติก็จะพูดอย่างกว้างๆ เช่นเดียวกัน ปฏิบัติอย่างไรจึงจะดี หรือมีทางที่จะปลอดภัย เราจะไม่พูดกันถึงรายละเอียด ว่าจะปฏิบัติอย่างไรถูกต้อง เพราะเรื่องรายละเอียดเกี่ยวกับการปฏิบัตินั้นมีมากมาย จะพูดถึงแนวการปฏิบัติว่าปฏิบัติอย่างไรจึงจะปลอดภัย หรือว่ามีโอกาสที่จะถูกต้องได้มาก

ผู้ที่ศึกษาปฏิบัติพระพุทธศาสนา เมื่อเข้ามาแล้ว จะเห็นความกว้างขวางของพระพุทธศาสนา มีทั้งด้านศีล ด้านสมาธิ ด้านปัญญา บางคนบางพวกก็เน้นเรื่องศีล ชอบใจพอใจในเรื่องศีล

เราอาจจะแยกออกไปอีกเป็นขั้นต้นกว่านั้นคือ ทาน ชาวพุทธจำนวนมากมีชื่อเสียงว่ามีใจคอเสียสละโอบอ้อมอารี เวลาทำบุญบริจาคอะไรไม่อั้น หาเงินในเมืองไทยโดยการทำบุญนั้นหาได้ง่าย เพราะคนมีศรัทธาและมีความพร้อมที่จะบริจาคอยู่แล้ว คือมีความพร้อมที่จะให้ ทีนี้บางคนก็มาติดอยู่ในเรื่องทาน หนักในเรื่องทาน ชอบงานบุญ งานกุศล มีงานพิธีอะไรที่เกี่ยวกับการบริจาคไปไม่ขาด อย่างระยะนี้ก็มีงานกฐิน งานกฐินนี้ก็เป็นงานที่มีการบริจาคมาก มีการเรี่ยไรกัน คนก็ไปกันมาก ชาวพุทธพวกหนึ่งก็หนักในขั้นทาน

อีกพวกหนึ่งนั้นเน้นในเรื่อง ศีล ชอบในเรื่องความประพฤติ รักษาศีล รักษาศีล ๕ รักษาศีล ๘ รักษาอุโบสถ ทำให้เคร่งครัด ตลอดจนเลยจากศีลไปก็ถือวัตรปฏิบัติต่างๆ ศีล กับ วัตร นี้ก็เป็นคนละอย่าง แต่ว่าก็เกาะกันอยู่ด้วยกัน เป็นจำพวกเดียวกัน ถือทั้งศีลทั้งวัตร วัตรหรือข้อปฏิบัติต่างๆ ก็มีมากมาย ก็เลือกปฏิบัติเอา อย่างพระก็เช่นไปถือธุดงค์เป็นต้น นี่ก็เป็นวัตรเป็นข้อปฏิบัติพิเศษ พวกนี้ก็ชอบในเรื่องศีล

อีกพวกหนึ่งหนักในเรื่อง สมาธิ ชอบในเรื่องการทำจิตให้สงบ อย่างน้อยก็ทำให้จิตใจตัวเองสบาย อาจจะได้ความปีติ เอิบอิ่มใจ หรือนั่งสมาธิไปแล้วบางทีได้นิมิตต่างๆ มองเห็นภาพที่สวยงาม บางคนก็เห็นแสงสว่าง บางคนก็เห็นภาพอะไรๆ ที่เป็นสิ่งประณีตงดงาม บางคนก็เลยไปเที่ยวสวรรค์ บางคนเลยไปอีก บอกว่าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าอย่างนี้ก็มี เรียกว่าพวกหนักในสมาธิประเภทกรรมฐาน ประเภทสมถะ ที่จริงยังมีอีกชั้นคือ วิปัสสนา หรือว่ารวมกันไป จนกระทั่งเดี๋ยวนี้ บางทีก็แยก ไม่ถูกว่าอันไหนเป็นสมถะ อันไหนเป็นวิปัสสนา เรียกวิปัสสนาเป็นสมถะ สมถะเป็นวิปัสสนา แล้วก็เถียงกันให้วุ่นหมด รวมความว่ากลุ่มนี้หนักในเรื่องสมาธิ

อีกกลุ่มหนักในด้าน ปัญญา ชอบขบคิดพิจารณาธรรม ตีความกัน แสดงความเข้าใจกันต่างๆ ในหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า มุ่งเน้นว่าจะต้องให้เห็นแจ้งความจริงต่างๆ มองเห็นอริยสัจจ์ มองเห็นรู้เท่าทันความจริงของโลกและชีวิต ไม่ยึดติดในสิ่งทั้งหลาย ไม่มีความยึดมั่นถือมั่นต่อสิ่งใดในโลก นี้ก็หนักในเรื่องปัญญา เน้นปัญญาเป็นสำคัญ

เป็นอันว่าชาวพุทธก็มีการปฏิบัติกันต่างๆ มีการเน้นมาก ต่างเรื่องต่างด้านกัน แต่ว่าทั้งหมดนั้นก็อยู่ในชื่อส่วนรวมว่าเป็นพระพุทธศาสนา เป็นองค์ประกอบร่วมกัน ข้อสำคัญก็คือว่า ถ้าเน้นด้านใดด้านหนึ่ง เมื่อหลายคนเน้นต่างที่กัน บางทีก็เกิดความเห็นขัดแย้งกันขึ้น ก็มาถกเถียงกัน แทนที่จะเป็นหน่วยย่อยที่มาประกอบกันเข้าเป็นพระพุทธศาสนาที่ถูกต้องแท้จริง ก็กลายเป็นพระพุทธศาสนาแบบต่างๆ ที่ลงกันไม่ได้ แล้วก็เกิดทะเลาะเบาะแว้งกัน อย่างนี้ก็มี

ขอให้พิจารณาดูว่าทั้งหมดนี้ จะเป็นทานก็ดี ศีลก็ดี สมาธิก็ดี ปัญญาก็ดีนั้น เป็นส่วนประกอบที่รวมกันเข้าเป็นพระพุทธศาสนา ทีนี้จะทำอย่างไรจึงจะกลมกลืนกัน ประสานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายที่แท้จริงของพระพุทธศาสนา เพราะว่าที่จริงแล้ว การศึกษาและปฏิบัติที่เน้นไปในด้านใดด้านหนึ่งเพียงอย่างเดียวนั้น จะทำให้บรรลุจุดมุ่งหมายของพระพุทธศาสนาไม่ได้ ต้องมีพร้อมเพรียงบริบูรณ์

สำหรับการปฏิบัตินั้น จะปฏิบัติอย่างไร ให้ถูกต้องให้พอดี ก็คือปฏิบัติให้มีครบทุกอย่าง การปฏิบัติที่ถูกต้องก็ต้องอาศัยการศึกษาที่ว่ามาเมื่อกี้ เมื่อศึกษาถูกต้องก็มีแนวทางมีโอกาสที่จะปฏิบัติให้ถูกต้อง ถ้าศึกษาไม่ถูกต้องก็มีโอกาสที่จะปฏิบัติผิดได้มาก

ในการปฏิบัตินี้ก็มีเรื่องที่น่ากลัวข้อที่หนึ่ง ก็คือมีพื้นในทางปริยัติหรือในการศึกษาเล่าเรียนพอหรือไม่ ถ้าหากมีพื้นในการเล่าเรียนน้อย ก็อาจจะเกิดปัญหาขึ้นมา คือ การที่ปฏิบัติไม่ถูกต้อง หรือ ความคับแคบในการปฏิบัติ ปฏิบัติได้แง่เดียว การปฏิบัตินั้น บางทีก็เป็นไปตามความถนัด บางคนอาจจะหนักในสมาธิ ในศีลก็มี ในปัญญาก็มี ก็ไปได้ หรือบางคนอาจจะหนักในศีล แต่เขาก็ไม่ได้ทิ้งสมาธิ ไม่ได้ทิ้งปัญญา ก็มีทางไปได้ บางคนหนักในทางปัญญา แต่เขาไม่ได้ทิ้งศีล ไม่ได้ทิ้งสมาธิ ก็มีทางไปได้ ไม่ใช่ว่าจะต้องเป็นแบบเดียวตายตัวไปหมด

แม้แต่ในเรื่องลักษณะบุคคล ก็ต้องเข้าใจความแตกต่าง พระพุทธเจ้านั้น คำสอนก็ดี การศึกษาเล่าเรียน และการปฏิบัติก็ดี พระองค์จัดให้เหมาะสมกับความแตกต่างระหว่างบุคคล ถือความแตกต่างระหว่างบุคคลเป็นสำคัญ เพราะฉะนั้น ความเหมาะสมระหว่างลูกศิษย์กับอาจารย์บางทีก็ไม่เหมือนกัน ความเหมาะสมในวิธีปฏิบัติบางทีก็ไม่เหมือนกัน

พระสารีบุตร พระโมคคัลลาน์ พระมหากัจจายน์ พระมหากัสสปะ ก็มีแนวทางปฏิบัติในการที่จะบรรลุธรรมไม่เหมือนกัน เมื่อบรรลุธรรมแล้วก็ปฏิบัติไม่เหมือนกัน เป็นพระอรหันต์เหมือนกัน มีความหลุดพ้นจากกิเลสเหมือนกัน แต่วิธีการดำรงชีวิตหรือดำเนินชีวิตไม่เหมือนกัน พระมหากัสสปะนั้นอยู่ป่าตลอดชีวิต หรือเกือบตลอดชีวิต แต่พระสารีบุตรอยู่ในเมืองเกือบตลอดชีวิต พระอานนท์อยู่ในเมืองอยู่กับผู้คน จนกระทั่งพระมหากัสสปะเคยเตือนบอกว่า ปลีกตัวออกไปวิเวกเสียบ้างนะ อย่าคลุกคลีกับชาวบ้านนัก แต่ท่านเอาประโยชน์ของชาวบ้านเป็นสำคัญ จะต้องเข้าใจว่า แค่ไหนและในเรื่องใดต้องเหมือนกัน แค่ไหนและในเรื่องใดแตกต่างกันได้

ชีวิตของพระอรหันต์ทั้งหลายที่เป็นมหาสาวกนั้น พระองค์ยกย่องให้เป็นเอตทัคคะในคนละด้านคนละฝ่าย มีความถนัดไม่เหมือนกัน ดำเนินชีวิตคนละอย่าง เพราะฉะนั้น จะเอาแบบเดียวตายตัวไม่ได้ แต่มีหลักอย่างหนึ่ง คือ ความหลุดพ้นจากกิเลสเหมือนกันหมด ส่วนอัธยาศัย ความถนัด หรือการดำเนินชีวิตไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้น เราควรจะยกย่องให้เกียรติซึ่งกันและกัน

นอกจากความแตกต่างในความถนัดความสามารถแล้ว แม้แต่ความเคร่งครัดก็ไม่เหมือนกัน พระสาวกหลายองค์เคร่งครัดกว่าพระพุทธเจ้าในบางเรื่องบางอย่าง

เคยมีผู้มาสรรเสริญยกย่องพระพุทธเจ้า บอกว่าพระองค์เป็นผู้ประพฤติเคร่งครัด น่ายกย่องนับถือ เป็นผู้สันโดษในปัจจัย ๔ อยู่วิเวก อะไรต่างๆ เขาก็ว่าของเขาไป พระพุทธองค์ตรัสแย้งว่า เดี๋ยวก่อนอย่าเพิ่ง ที่ท่านว่าเราเป็นผู้ประพฤติเคร่งครัดอย่างนั้น แล้วท่านเคารพยกย่องนับถือเราด้วยเหตุนั้นน่ะไม่ถูกต้อง ถ้าหากสาวกจะนับถือเรา ด้วยเหตุที่เคร่งครัดในข้อที่ท่านกล่าวมาแล้ว สาวกของเราบางท่านที่มีความเคร่งครัดกว่าเราในเรื่องนั้นๆ ก็คงไม่นับถือเรา

อย่างเช่นเรื่องฉันน้อย สาวกบางท่านก็เคร่งครัดกว่าพระพุทธเจ้าเรื่องความสันโดษในจีวร สาวกบางท่านก็ถือธุดงค์ข้อว่าใช้จีวรเพียง ๓ ผืน ตลอดชีวิตหรือ ตลอดระยะเวลาหนึ่ง เรียกว่าถือ เตจีวริกังคะ ถือจีวร ๓ ผืนเป็นเกณฑ์ ไม่ใช้จีวรที่เรียกว่าอาศัยหรืออดิเรก บางองค์ก็ถือจีวรบังสุกุล ผ้าบังสุกุลคือผ้าที่เขาทิ้งแล้วพระไปเก็บมา แล้วเอามาต้มมาซักมาเย็บมาย้อมทำเป็นจีวรขึ้นมา แล้วก็ถือวัตรหรือถือธุดงค์ว่าจะใช้แต่ผ้าบังสุกุลเท่านั้น

แต่พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงถือเคร่งครัดอย่างนั้น พระพุทธเจ้ามักทรงใช้คฤหบดีจีวร คือจีวรที่ชาวบ้านเขาถวาย พระราชา มหาเศรษฐีเขามาถวาย คฤหบดีจีวรพระองค์ก็ใช้ พระสาวกหลายองค์อยู่ป่าเป็นประจำ วิเวกมาก แต่พระพุทธเจ้าทรงอยู่ท่ามกลางบริษัท ๔ คอยช่วยแก้ปัญหาสงเคราะห์ให้คนทั่วไป พระองค์ทรงดำเนินชีวิตอย่างที่เรียกว่า ถ้าเทียบในหมู่สาวก ก็ค่อนข้างจะเป็นกลางๆ หน่อยในเรื่องเหล่านี้

ส่วนสาวกของพระองค์ก็เคร่งครัดกันไปคนละด้าน ซึ่งเคร่งครัดกว่าพระองค์ในบางแง่บางส่วน เพราะฉะนั้นจึงตรัสว่า ถ้านับถือพระองค์ เพราะความเคร่งครัดเหล่านี้ละก็ สาวกเหล่านั้นก็ไม่ต้องนับถือเรา แต่การที่เขานับถือเราก็เพราะเราเป็นผู้ค้นพบสัจธรรม นำมาเปิดเผย เป็นผู้แนะนำสั่งสอนข้อปฏิบัติต่างๆ ที่ทำให้เหล่าสาวกเกิดความรู้ความเข้าใจปฏิบัติได้สำเร็จผล เข้าถึงสัจธรรมดังกล่าวมาแล้วนั้น

ในการปฏิบัตินี้ เราก็คำนึงถึงเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคล เช่น ความถนัดเป็นต้น สำหรับในแนวทางทั่วไปนั้น จะเอาอะไรมาเป็นเครื่องวินิจฉัยสำหรับผู้ปฏิบัติ ในเมื่อบางคนก็เน้นทาน บางคนเน้นศีล บางคนเน้นสมาธิ บางคนเน้นปัญญา

หลักหนึ่งก็คือว่า ควรจะมีการปฏิบัติให้ครบทุกอย่าง แต่ว่าอาจจะเน้นหนักต่างกันบ้าง

แต่ข้อสำคัญยิ่งก็คือ หลักการตัดสินว่าเมื่อปฏิบัติไปๆ เราก้าวหน้าในธรรมได้แค่ไหน ความก้าวหน้าในธรรมวัดด้วยอะไร สมมุติว่าเรานั่งสมาธิเสมอ นั่งสมาธิจนได้เห็นนิมิตต่างๆ จิตเราเป็นสมาธิดี แน่วแน่ แล้วเราก็ได้เห็นภาพที่สวยงาม ตลอดจนกระทั่งบอกว่าได้ไปเที่ยวนรกสวรรค์ ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าก็ตาม อันนั้นก็อาจจะบอกว่าขออนุโมทนาด้วย เป็นความสามารถพิเศษที่ทำได้

แต่สิ่งที่ชาวพุทธจะต้องคำนึงถึงอยู่เสมอก็คือว่า เมื่อเราปฏิบัติไปนั้น โลภะ โทสะ โมหะ ในใจของเราลดลงบ้างหรือเปล่า ไม่ว่าท่านจะได้ไปไหนได้เห็นอะไรดีแค่ไหน จิตของท่านจะเป็นสมาธิ ได้ฌาน ได้สมาบัติแค่ไหน แต่ถ้าท่าน ปฏิบัติแล้ว สำรวจตัวเอง ความโลภที่เคยมีมันก็ยังมีอยู่ ความโกรธที่เคยมีมันก็ยังมีอยู่ ความหลงที่เคยมีมันก็มี นี่ไม่สำเร็จ ยังไม่ชื่อว่าปฏิบัติถูกต้องแน่นอน เป็นการปฏิบัติที่ได้ผล ไม่ได้เถียง พระพุทธเจ้าก็ทรงยกให้ อย่างไรก็ตาม จะต้องตระหนักว่าแม้แต่ฤษีชีไพรอย่างที่ว่าเมื่อกี้ เขาก็ได้ฌานสมาบัติมาแล้วในยุคก่อนพระพุทธเจ้า แต่ไหนแต่ไรมา อาฬารดาบส กาลามโคตร ที่พระพุทธเจ้าไปเรียนโยคะด้วย นั่นได้ถึงอากิญจัญญายตนสมาบัติเป็นอรูปฌานชั้นที่ ๓ อุททกดาบส รามบุตร นั้น ก็ได้สมาบัติถึงขั้นเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ เรื่องสมาธิสูงๆ ได้ฌาน ได้สมาบัติ จึงไม่ใช่เป็นเครื่องวัดที่แท้จริง แต่เป็นความสามารถพิเศษ

พระสาวกของพระพุทธเจ้าที่ได้ อภิญญา เป็นความสามารถพิเศษ ที่ว่ามีฤทธิ์ มีปาฏิหาริย์ มีหูทิพย์ตาทิพย์ เห็นสิ่งที่คนทั่วไปมองไม่เห็นด้วยตาเนื้อ ฟังเสียงที่คนธรรมดาฟังด้วยหูธรรมดาไม่ได้ ตลอดจนกระทั่งมีความสามารถรู้จิตใจของคนอื่น อภิญญาเหล่านี้ฤษีก่อนพุทธกาลก็ทำกันมาได้ แต่ว่าเขาติดอยู่อันเดียว คือไม่สามารถทำจิตให้หลุดพ้นเป็นอิสระ

การทำจิตของตนเองให้เป็นอิสระปลอดโปร่งผ่องใสเบิกบานได้เสมอ พ้นจากกิเลส คือ โลภะ โทสะ โมหะ นี่คือตัวตัดสินที่แท้จริง

เพราะฉะนั้น จะปฏิบัติอย่างไรก็ตาม ถ้าได้อะไรขึ้นมาก็เป็นข้อที่น่าอนุโมทนา ในแง่ที่ว่าได้ผลขึ้นมาเป็นความสามารถพิเศษ แต่อย่าเพิ่งภูมิใจว่าเราได้บรรลุจุดหมายแล้ว จะต้องตัดสินด้วยการตรวจดูตัวเองว่า ความโลภ ความโกรธ ความหลง ของเราลดน้อยลงหรือไม่ มันหมดไปไหม ถ้ายังไม่หมดแล้ว ยังไม่ชื่อว่าบรรลุจุดมุ่งหมายของพุทธศาสนา ไม่ว่าท่านจะมีความสามารถไปไหนก็ตาม จะไปเฝ้าพระพุทธเจ้า จะไปคุยกับพระพุทธเจ้า เห็นพระพุทธเจ้าที่เป็นกายเนื้อหรือกายทิพย์ หรือกายธรรม อย่างไรๆ ก็ตาม ไม่สำเร็จ

เรื่องของการปฏิบัติที่ถูกต้อง จะพูดถึงเพียงแค่นี้ ส่วนรายละเอียดวิธีปฏิบัติก็ไม่ต้องพูดกันมากมาย

ในการปฏิบัติ ถ้าหากชาวพุทธเราไม่มีหลักอย่างที่ว่ามาตั้งไว้ให้ดีแล้ว ก็จะเขวได้ง่าย

การเขวนั้น ไม่ใช่เป็นโทษแก่ตัวเองเท่านั้น ตัวเองผิดพลาดไขว้เขวก็เป็นเฉพาะตนเองหลงทางไปไม่บรรลุจุดหมาย แต่บางที่มันมาเป็นโทษแก่ส่วนรวม คือ หนึ่ง ได้แก่ ชักพาคนอื่นให้ไขว้เขวหลงทางไปด้วย และในหมู่ชาวพุทธด้วยกัน โทษอีกอย่างหนึ่ง ก็คือการถกเถียงทะเลาะวิวาทกัน

ปัจจุบันเป็นยุคที่ชาวพุทธต้องยอมรับกันตามความเป็นจริงว่า มีปัญหาในเรื่องความแตกแยกในทางความคิดเห็นกันมาก ทั้งในความเชื่อถือ การศึกษาเล่าเรียนและการปฏิบัติ การปฏิบัติก็อย่างที่ว่ามาเมื่อกี้ คือเน้นในด้านต่างๆ แล้วก็เอามาว่ากัน ซึ่งการแบ่งแยกในเรื่องเหล่านี้ บางทีก็เกิดปัญหาขึ้นโดยไม่สมเหตุสมผล

ขอยกตัวอย่างการแยกเรื่องความถูกผิดกับความดีไม่ดี แม้แต่แยกถูกผิดกับดีไม่ดี ถ้าแยกไม่เป็น ก็เสีย ก็ยุ่ง ทำให้เกิดการทะเลาะวิวาทกันได้ ถูกผิดกับดีไม่ดี มันไม่เหมือนกัน ข้อปฏิบัตินี้ถูก ข้อปฏิบัตินี้ผิด ทำอย่างนี้ถูก ทำอย่างนี้ผิด ทำอย่างนี้ดี ทำอย่างนั้นไม่ดี ทำอย่างนี้ดี ทำอย่างนั้นก็ดี ทำอย่างนั้นยิ่งดียิ่งขึ้น

ขอยกตัวอย่างเช่นว่า ถ้าท่านเป็นนักเรียนอยู่ในโรงเรียน มีระเบียบวินัยของนักเรียนที่นักเรียนจะต้องประพฤติปฏิบัติ ซึ่งถือเป็นถูกผิดก็มีมากมาย เช่นเขากำหนดว่า ก่อนเข้าโรงเรียนจะต้องมาเข้าแถว นักเรียนคนใดก่อนเข้าเรียนไม่มาเข้าแถว นักเรียนคนนั้นก็ปฏิบัติผิด คนไหนมาเข้าแถวก็ปฏิบัติถูก

หรือมีกฎของโรงเรียนว่า เมื่อจะหยุดเรียน มีเหตุมีธุระจำเป็นก็ให้ลา ถ้าไม่ลาก็ถือว่าขาด การขาดเรียนก็ถือว่าเป็นความผิดอย่างหนึ่ง นักเรียนคนหนึ่งไม่ปฏิบัติตามกฎนี้ ไม่มาโรงเรียนแล้วก็ไม่ได้ลา ก็ถือว่าปฏิบัติผิด ถ้าเขาลา ทำใบลาให้ถูกต้องก็ปฏิบัติถูก หรือไปเข้าใช้ห้องสมุด ปฏิบัติตามกฏถือว่าถูก ถ้าไม่ปฏิบัติตามกฎก็ถือว่าผิด เป็นต้น นี่เป็นเรื่องของความถูกผิด

ส่วนเรื่องดีไม่ดีหรือดียิ่งๆ ขึ้นไป มีตัวอย่างเช่น นักเรียนคนหนึ่งมีความขยันมาก และมีเวลา นอกจากจะช่วยทำเวรในชั้นเรียน กวาดเก็บทำความสะอาดในห้องแล้ว ยังมีเวลาไปช่วยกวาดบริเวณโรงเรียนอีก ทั้งๆ ที่ไม่มีกฎว่าจะต้องทำ แล้วนักเรียนส่วนมากก็ไม่ได้ทำ เพราะไม่มีเวลา นักเรียนคนนี้ทำดีใช่ไหม เป็นความถูกนั่นแน่นอนอยู่แล้ว และยังเป็นความดีอีกด้วย

แต่ทีนี้นักเรียนที่ไม่ได้ทำอย่างนี้จะถือว่าผิดไหม ไม่ผิด นักเรียนคนอื่นไม่ได้ผิด แต่นักเรียนคนนี้ทำดีน่ายกย่อง นักเรียนคนอื่นควรจะเอาอย่างด้วย ถ้าหากว่านักเรียนนั้นจะทำให้ดีอย่างนี้ยิ่งๆ ขึ้น ก็อาจจะจูงใจนักเรียนคนอื่นให้ทำดีด้วย หรือครูอาจจะเอามาพูดชักจูงแนะนำนักเรียนคนอื่นให้ประพฤติตามอย่างเพื่อเป็นคนดียิ่งๆ ขึ้นไป

อีกตัวอย่างหนึ่งนักเรียนทั้งหลายในห้องต่างก็ตั้งใจเล่าเรียน อ่านหนังสือหนังหากันได้ครบถ้วน ทั้งหนังสือในเวลาและนอกเวลา ทีนี้นักเรียนคนหนึ่งขยันมากเป็นพิเศษ สามารถอ่านหนังสือความรู้ทั่วๆ ไปได้อีกด้วย อันนี้ก็เป็นความดีพิเศษของเขาซึ่งน่ายกย่อง แต่คนอื่นไม่ได้ทำอย่างนี้ก็ไม่ผิดถูกไหม อันนี้ถือว่าเป็นเรื่องของความดี

ข้อปฏิบัติในพระพุทธศาสนาก็เช่นเดียวกัน บางอย่างนั้นถ้าทำแล้วดี น่าอนุโมทนา ควรชักชวนคนอื่นให้ปฏิบัติ ทำกันยิ่งมากยิ่งดี แต่ใครไม่ปฏิบัติก็ไม่ผิด การที่จะทำให้ถูกต้องในเรื่องนี้ก็คือการจูงใจ การชักชวนสนับสนุน แต่ถ้านักเรียนคนที่ทำดีนั้น จะเป็นคนที่กวาดบริเวณโรงเรียนก็ดี หรือคนที่ขยันอ่านหนังสือมากก็ดี ถ้าตนทำอย่างนั้นแล้ว เที่ยวติเตียนนักเรียนคนอื่นๆ ว่าทำผิด บอกว่าการที่ไม่อ่านหนังสือพิเศษอย่างนั้นเป็นการผิด การไม่กวาด บริเวณโรงเรียนอย่างนั้นเป็นการผิด นักเรียนคนนี้ซึ่งเป็นคนดีนั้น ก็อาจจะกลายเป็นคนดีที่น่ารังเกียจไปก็ได้ เมื่อเป็นคนดีที่น่ารังเกียจก็คือไม่ดีนั่นเอง แล้วจะเกิดปัญหา คือเกิดแรงต้าน แทนที่คนอื่นจะมาสนับสนุนหรือทำดีด้วย มันก็กลับกลายเป็นปฏิปักษ์ขึ้นมา

เรื่องนี้เป็นข้อน่าพิจารณาในการปฏิบัติทางพระศาสนา เรื่องที่ชัดอยู่ในปัจจุบันก็คือเรื่อง ศีลวัตร ศีลนั้น เป็นข้อปฏิบัติที่ทุกคน ถ้าดำรงชีวิตอยู่ในภาวะนั้นๆ ก็ควรจะมีเสมอกัน เช่น เป็นคฤหัสถ์ เป็นชาวพุทธควรรักษาศีล ๕

ศีล ๕ ก็เป็นข้อปฏิบัติสามัญเสมอกัน แต่อีกอย่างหนึ่งคือวัตร เช่นจะรักษาอุโบสถ จะรักษาศีล ๘ ท่านจะอดอาหารหลังเที่ยงหรือไม่ ท่านจะถือพรหมจรรย์หรือไม่ ท่านจะปฏิบัติอย่างนั้นในวันพระครั้งหนึ่งหรือไม่ นี่เรียกว่าเป็นวัตร แม้จะเป็นศีล ๘ แต่ก็เป็นวัตร เป็นข้อปฏิบัติพิเศษซึ่งทำตามความสมัครใจ

หรือเหมือนอย่างธุดงค์ที่ว่าเมื่อกี้ ธุดงค์ที่ว่าอยู่ป่า อยู่ตามโคนไม้ ถือฉันมื้อเดียว ถือผ้าบังสุกุลเป็นต้น ธุดงค์เป็นวัตร เป็นข้อปฏิบัติพิเศษ ใครทำได้ก็ควรยกย่อง ควรชักจูงกันให้ทำยิ่งขึ้นๆ ไป แต่ไม่ใช่เรื่องผิดเรื่องถูก ถ้าเอาเรื่องวัตรมาเป็นเรื่องผิดเรื่องถูก ก็เกิดทะเลาะกันขึ้น กลายเป็นปัญหาอย่างในปัจจุบันนี้

ตัวอย่างง่ายๆ ที่ได้ยินกันมากก็เช่น มังสวิรัติ มีปัญหาถึงกับว่าผิดหรือถูก เคยถึงกับพูดทำนองว่า ถ้าใครไม่ถือมังสวิรัติแล้วไม่มีศีล ทั้งๆ ที่มังสวิรัตินั้นเป็นวัตรชนิดหนึ่ง เป็นข้อปฏิบัติพิเศษ แต่ก่อนนั้นก็เคยมีผู้ถือ ผู้ที่ถือนั้นซึ่งเป็นคฤหัสถ์ก็ได้รับการยกย่องนับถือ ผู้อื่นก็สรรเสริญอนุโมทนาด้วย ถ้าเราจะปฏิบัติด้วยดี โดยชักชวนกันด้วยดี คนอื่นก็จะนิยมตามไป ก็เป็นข้อที่ดียิ่งขึ้น ไม่ใช่เรื่องตัดสินว่าถูกหรือผิด เพราะฉะนั้น จึงเป็นเรื่องที่พึงระวัง ข้อปฏิบัติที่เรียกว่าวัตรก็ดี หรือข้อปฏิบัติที่ดี ดีมาก ดียิ่งขึ้น ดีพิเศษ กับเรื่องถูกเรื่องผิด ถ้าแยกกันให้ดีแล้ว จะแก้ปัญหาความทะเลาะเบาะแว้งในหมู่พุทธศาสนิกชนไปได้มาก

อีกอย่างหนึ่งก็คือ การเกี่ยงกัน การเกี่ยงนั้นก็คือลักษณะที่เอาข้อปฏิบัติที่ผิดของคนอื่นมาเป็นข้ออ้าง เพื่อฉันจะทำผิดอีกอย่างหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น ในปัจจุบันเราพูดถึงสภาพพระพุทธศาสนา เรายอมรับว่า พระพุทธศาสนาของเราในปัจจุบันนี้มีความบกพร่องย่อหย่อน มีปัญหาความเสื่อมโทรมมาก ซึ่งพุทธศาสนิกชนเราต้องช่วยกันแก้ไข เช่น อย่างเรื่องการหมกมุ่นในเดียรัจฉานวิชา

อย่างที่เล่าเมื่อกี้ว่า พระพุทธเจ้าได้ทรงตื่นขึ้นมา มีนักบวชจำนวนไม่น้อยหาเลี้ยงชีพด้วยวิธีที่ผิด เอาการทรงเจ้าเข้าผี สะเดาะเคราะห์ เวทมนต์คาถามาเป็นวิธีหาเลี้ยงชีพไป สภาพอย่างนี้ปรากฏว่าปัจจุบันนี้ก็ยังมีมาก เป็นความเสื่อมโทรมอย่างหนึ่งในพระพุทธศาสนา ซึ่งเราจะต้องช่วยกันแก้ไข

แต่ทีนี้ปัญหามันมีว่า ในเมื่อเราจะช่วยกันแก้ไข ทางที่ดีก็คือต้องเลิกทำอย่างนั้น ชวนกันเลิก ตัวเองเลิกไม่ทำ แล้วคนอื่นเราก็ชวนให้เลิก แต่ถ้าทำเลยไป ก็ออกมาในรูปของการอ้างอย่างอื่นขึ้นว่า พวกนั้นทำเดียรัจฉานวิชา ฉันก็จะอวดอุตริมนุสสธรรม เขายังอวดเดียรัจฉานวิชาได้ ฉันก็อวดอุตริมนุสสธรรมได้ มันก็กลายเป็นว่าเอาสิ่งที่ผิดมาอ้าง เพื่อทำความผิดใหม่อีกอย่างหนึ่ง เพราะการอวดอุตริมนุสสธรรมนั้น ก็เป็นพุทธบัญญัติที่ไม่อนุญาตหรือทรงห้ามไว้แล้ว

เหมือนกับว่ามีเด็กสองคน เด็กชายเปียกับเด็กชายจุก เด็กชายเปียกัดปลา เราต้องการให้เด็กชายเปียเลิกกัดปลา เพราะว่าเป็นสิ่งไม่ดี เราก็สอนว่าอย่าไปทำมันเลย เลิกเถอะ เด็กชายเปียก็บอกว่าไม่ได้ ฉันกัดปลา ดีกว่าเด็กชายจุกตีไก่ การอ้างอย่างนี้มันจะทำให้การกัดปลากลายเป็นดีได้ไหม มันก็ไม่กลายเป็นดีขึ้นมาได้ เมื่อเราเห็นว่าการตีไก่นั้นไม่ถูกต้องแล้ว เราก็ต้องเลิก แต่เราจะเอามาอ้างเพื่อทำอีกอันหนึ่งนั้นไม่ถูก เราควรจะเลิกสิ่งที่ผิดแล้วหันมาทำสิ่งที่ถูก แล้วก็ยืนอยู่ที่มันถูก ไม่ใช่ไปอ้างอันหนึ่งเพื่อทำอีกอันหนึ่ง เพราะการอ้างสิ่งที่ผิดมา มันก็ไม่ช่วยให้การกระทำผิดของเราเป็นการกระทำที่ถูกขึ้นมาได้

ในการวินิจฉัยความถูกผิดนั้น เราจะต้องเอาหลักการหรือกฎเกณฑ์มาวาง แล้วเอาความประพฤติปฏิบัติของคนเข้าไปเทียบดูทีละเรื่องๆ เป็นกรณีๆ ไป ไม่ใช่เอาความประพฤติปฏิบัติทั้งหลายมาเทียบกันเอง

นี่ก็เป็นเรื่องต่างๆ ที่เป็นข้อพิจารณาสำหรับชาวพุทธในสมัยปัจจุบัน เพื่อแก้ปัญหา ซึ่งเราจะต้องมาพูดกันอย่างใจกว้าง

การรับฟังผู้อื่นเป็นสิ่งที่ดี โดยเฉพาะในหมู่ชาวพุทธด้วยกัน ตามลักษณะที่ว่าชาวพุทธจะต้องเป็นผู้ตื่น ความตื่นในเบื้องแรกก็คือมีใจกว้างนั่นเอง การตื่นโดยแท้จริงก็ต้องมีใจกว้างที่จะรับฟัง หาความรู้ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นไป ไม่ใช่ติดตามความรู้เพียงอันหนึ่งอันเดียวที่ทำให้คับแคบ นี้ก็เป็นข้อพิจารณาในการศึกษาและการปฏิบัติที่ถูกต้อง

อาตมาเสนอแต่ในแนวกว้างๆ ที่ว่ามานี้ เอาเป็นว่า ในแง่การปฏิบัตินั้น หลักที่แท้จริงคือ ปฏิบัติไปอย่างไรก็ตาม ต้องตรวจดูตัวเองว่า โลภะ โทสะ โมหะ ในใจมันเบาบางหรือไม่ จิตของเราหลุดพ้นเป็นอิสระบ้างหรือไม่ หรือไปติดไปเพลินอะไรแปลกใหม่ ถ้าเราจะได้ความสามารถพิเศษอะไรขึ้นมานั้น ก็เป็นความดีงามที่น่าอนุโมทนา แต่ไม่ใช่ตัวตัดสินที่แท้จริง

สำหรับปัญหาในหมู่ชาวพุทธที่ว่ามาเมื่อกี้นั้น ถ้าเราไม่สามารถแก้ไข ความทะเลาะเบาะแว้งก็จะบานปลาย จะเกิดเรื่องมากมายยิ่งขึ้นไป ปัญหาของมนุษย์ที่เกิดเป็นความขัดแย้งกันขึ้นนั้น มันมีอะไรบ้างเป็นตัวการสำคัญในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ

ปัญหาความขัดแย้งในหมู่มนุษย์ จะเป็นเรื่องระหว่างบุคคลก็ดี ระหว่างกลุ่มคนก็ดี ระหว่างประเทศชาติก็ดี มันก็มีตัวบงการสำคัญอยู่ ๓ ตัว

ตัวที่ ๑ คือ ความอยากได้ผลประโยชน์ การหากามสุขก็ดี ทรัพย์สมบัติก็ดี การแสวงหาสิ่งบำรุงบำเรอ ปรนเปรอตนเอง ปัจจุบันเราเรียกว่าผลประโยชน์ เมื่อต่างก็หาผลประโยชน์เข้าตน ทุกคนเห็นแก่ตัว ก็เกิดความขัดแย้งแย่งชิงกัน เบียดเบียนกัน เกิดการวิวาทระหว่างบุคคล ระหว่างกลุ่ม ระหว่างประเทศ ตลอดจนสงครามล้างประเทศชาติ นี้คือปัญหาที่เกิดจากตัณหา การหาผลประโยชน์หรือเห็นแก่ตัวนี้เราเรียกว่า ตัณหา นี้เป็นเหตุที่ ๑

เหตุที่ ๒ คือ อำนาจ ความยิ่งใหญ่ การที่ถือตัวว่า จะต้องสูงเด่นกว่าเขา ใหญ่กว่าเขา ดีกว่าเขา เด่นกว่าเขา ลดลงไม่ได้ ก็ทำให้เกิดความแข่งขันชิงดีชิงเด่น การแสวงหาอำนาจ เป็นปัญหาตั้งแต่ระหว่างบุคคล จนกระทั่งถึงสังคม จนกระทั่งถึงปัญหาระดับโลก เป็นตัวบงการที่ ๒ เรียกว่า มานะ กิเลสตัวนี้เรียกว่ามานะ ไม่ใช่มานะอย่างที่เข้าใจกันในภาษาไทย มานะในภาษาธรรมะแปลว่าความถือตัว คือถือตัวว่าฉันดีกว่า สูงกว่า เหนือกว่า ฉันจะต้องใหญ่กว่า อะไรทำนองนี้ แข่งขันกัน

เหตุที่ ๓ คือ ลัทธินิยมอุดมการณ์ ได้แก่ ความยึดถือในความคิดเห็น นี่เป็นอย่างแคบที่สุด ความคิดเห็นขยายออกไป ก็เป็นลัทธิ เป็นศาสนา เป็นอุดมการณ์ต่างๆ คนจำนวนไม่น้อยขัดแย้งกันเพราะลัทธินิยมอุดมการณ์ ความเชื่อถือ ความต่างศาสนา กลายเป็นสงครามระหว่างเผ่า ระหว่างหมู่ชน ระหว่างสังคม ระหว่างประเทศชาติ ในระยะหลังๆ นี้ สงครามอุดมการณ์มีมากขึ้น ความรุนแรงในอุดมการณ์มีมากขึ้น กิเลสตัวที่ ๓ นี้เรียกว่า ทิฏฐิ

กิเลส ๓ ตัวนี้ พระพุทธเจ้าตรัสไว้เสมอว่า เป็นกิเลสตัวบงการพฤติกรรมของมนุษย์ เรียกว่า ตัณหา มานะ และทิฏฐิ

ตัณหา มุ่งเห็นแก่ตัวหาผลประโยชน์

มานะ มุ่งความยิ่งใหญ่แสวงหาอำนาจ และ

ทิฏฐิ ความยึดติดในความเห็นในลัทธินิยมอุดมการณ์ ตลอดจนความเชื่อทางศาสนา ลัทธิศาสนาที่เอาศรัทธาเป็นเกณฑ์ ยึดติดในความเห็น ไม่ใจกว้างรับฟังผู้อื่น ในที่สุดก็ทำให้เกิดสงคราม

สงครามในทางศาสนาก็มีมาแล้วไม่ใช่น้อย คนตายไปเพราะรบกันในทางศาสนามีมาก ต่อมาในสมัยหลังๆ นี้ ลัทธิคอมมิวนิสต์กับลัทธิเสรีประชาธิปไตยก็ขัดแย้งกัน อันนี้เป็นเรื่องของลัทธินิยมอุดมการณ์ เป็นเรื่องของทิฏฐิทั้งนั้น ในหมู่ชาวพุทธก็ต้องพิจารณาปัญหานี้เหมือนกัน

ในเรื่องของตัณหา เรื่องผลประโยชน์ ความเห็นแก่ตัวนั้น มักจะทำให้เกิดปัญหาในเรื่องศีล คือคนเรานั้นมีความไม่สม่ำเสมอกันในเรื่องความประพฤติ ความต้องการผลประโยชน์แย่งชิงกันทำให้เสียศีล

พระพุทธเจ้าตรัสว่า หลักของคนที่จะอยู่ร่วมกันนั้น อันหนึ่งคือศีลสามัญตา ความเสมอกันในเรื่องศีล การที่ประพฤติบกพร่องในเรื่องศีลนี้ เป็นเหตุที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง ไม่เฉพาะในหมู่สงฆ์ แต่ในสังคมอย่างที่ว่าเมื่อกี้ คือ การแย่งชิง เบียดเบียนกันจนกระทั่งถึงสงครามระดับโลก อย่างไรก็ตาม ปัญหาเรื่องสงคราม ความขัดแย้งทะเลาะวิวาทที่เกิดจากความประพฤติผิดในเรื่องศีล จะยกไว้ก่อน เพราะเป็นเรื่องที่มองเห็นง่าย

อีกด้านหนึ่งก็คือ ด้านทิฏฐิ ความเสมอกันในเรื่อง ทิฏฐิก็เป็นเรื่องสำคัญ นอกจากจะต้องมีศีลสามัญตา มีศีลเสมอกันแล้ว คนที่อยู่ร่วมกันจะต้องมีทิฏฐิสามัญตา มีความเห็นเสมอกันด้วย

ในหมู่สงฆ์ท่านย้ำเรื่องนี้เป็นสำคัญว่า พระภิกษุทั้งหลายนั้นควรจะมีทิฏฐิ มีความคิดเห็นลงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน อย่างน้อยความเห็นในหลักปฏิบัติสำคัญ ในจุดมุ่งหมายของพระพุทธศาสนาว่า เป็นไปเพื่อการจำกัดโลภะ โทสะ โมหะ เข้าถึงความเป็นอิสระหลุดพ้น จะต้องมีทิฏฐิสม่ำเสมอกันหรือปรับเข้าหากันได้ รับฟังกัน ทิฏฐิเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ต้องรับฟังกัน แล้วก็อยู่ร่วมกันได้ แต่ถ้าไม่รับฟังกัน หรือแตกกันในเรื่องสำคัญแล้ว ก็อยู่ร่วมกันไม่ได้ เรียกว่าไม่มีทิฏฐิสามัญตา

ความขัดแย้งในเรื่องทิฏฐิเป็นเรื่องใหญ่ คนที่รบกันในเรื่องทิฏฐิ บางทีเป็นคนที่ยึดมั่นในศีลธรรม เป็นคนที่เชื่อถือในศาสนาอย่างดี เท่าที่มีการรบกันทางศาสนา คือเชื่อถือศาสนากันคนละศาสนาแล้วก็รบกันนั้น พวกที่ก่อสงครามจำนวนมากทีเดียว ได้ชื่อว่าเป็นผู้เคร่งครัดในศาสนาของตน เป็นคนดี ประพฤติดีมีศีล แต่เขามองเห็นคนที่เชื่อถืออย่างอื่นเป็นพวกผิด เป็นพวกนรก เป็นพวกที่จะต้องกำจัด เป็นพวกซาตาน ดังนั้นแม้เขาจะประพฤติดี แต่ในเมื่อเขามีทิฏฐิ มีความเห็นอย่างนี้ เขาก็กำจัดคนอื่นได้ ไม่ว่าจะประพฤติดีหรือไม่ดีก็ตาม

ฉะนั้นศีลอย่างเดียว ไม่เป็นหลักประกันว่าจะทำให้โลกนี้สงบเรียบร้อย คนที่มีศีลดีงาม ประพฤติถูกหลักศาสนา แต่ถ้ามีทิฏฐิผิดแล้ว อาจจะทำให้เกิดความขัดแย้ง เกิดสงครามที่ร้ายแรงยิ่งกว่าสงครามศีลอีก เพราะเมื่อมีปัญหาเรื่องทิฏฐิแล้ว เขาก็จะประพฤติศีลเฉพาะในหมู่พวกของเขาเท่านั้น พวกอื่นพวกที่เชื่อถืออย่างอื่นไม่เกี่ยว สงครามทิฏฐินี่แรงมาก สงครามในเรื่องของผลประโยชน์ อาจจะจำกัดวงแคบ แต่สงครามในเรื่องลัทธินิยมอุดมการณ์นี่รุนแรงเหลือเกิน เพราะฉะนั้น คนที่มีศีลก็ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าจะทำให้โลกนี้ร่มเย็น เพราะศีลถูกจำกัดด้วยทิฏฐิ จะต้องแก้ปัญหาเรื่องทิฏฐิด้วย

พุทธศาสนาเกิดขึ้นมาไม่ใช่มาแก้ปัญหาเรื่องศีลเท่านั้น ศีลนี้ศาสนาก่อนๆ เขาก็สอนกันมามากมายแล้ว ก่อนที่พระพุทธเจ้าก็มีการสอนเรื่องศีล ๕ พระพุทธเจ้า ยอมรับว่าเขาสอนกันมาก่อนพระองค์ สอนมานานแล้ว พระองค์จับเอามาเน้นย้ำให้คนประพฤติดีงาม แต่มีปัญหาที่เหนือจากนั้นคือการยึดติดในทิฏฐิ ที่ทำให้ไม่เข้าถึงจุดหมายที่แท้จริงในศาสนา ถ้าตราบใดที่ยังติดอยู่ในทิฏฐิก็ไม่หลุดพ้น เมื่อจิตไม่หลุดพ้นจากโลภะ โทสะ โมหะ ที่แท้จริงแล้ว มันก็ยังมีปมปัญหาอยู่เสมอไป ศีลก็ไม่มั่นคง ไม่เป็นศีลสากล เพราะว่าคนนั้นไม่หมดกิเลส เมื่อไม่หมดกิเลสแล้ว ก็อาจจะทำให้เอาทิฏฐินั้นมาเป็นเหตุที่จะทำให้ขัดแย้งทะเลาะวิวาทกันต่อไป

เพราะฉะนั้น สงครามในเรื่องลัทธิศาสนา ความเชื่อถืออุดมการณ์ต่างๆ จึงเป็นเรื่องสำคัญร้ายแรงมาก ดีที่ในพุทธศาสนาเราไม่เคยปรากฏสงครามความขัดแย้ง ในเรื่องที่ร้ายแรงเช่นนี้ ลักษณะที่ดีงามของพระพุทธศาสนานี้ ควรจะได้ดำรงรักษาไว้ให้มั่นคงอยู่ ก็คือความเป็นผู้มีใจกว้าง มีจิตใจเป็นนักศึกษา

เท่าที่กล่าวมานี้ทั้งหมด ก็อยู่ในหลักของความเป็นชาวพุทธ คือความเป็นผู้ตื่น อย่างน้อยก็ตื่นด้วยใจที่กว้างขวาง รับฟังความรู้ความคิดเห็นต่างๆ ซึ่งการรับฟังผู้อื่นอย่างนี้ ก็คือ ความมีจิตสำนึกในความเป็นนักศึกษา จิตสำนึกของความเป็นนักศึกษาก็คือการคอยรับฟัง มีจิตสำนึกในการที่จะฝึกฝนตนเองให้เจริญก้าวหน้า ในทาน ในศีล ในสมาธิ ในปัญญา อยู่เสมอ เห็นว่าเรามีศีลแค่นี้ ก็พยายามฝึกตนให้เจริญในศีลมากขึ้น มีสมาธิแค่นี้ ก็ฝึกฝนตนให้เจริญในสมาธิมากขึ้น มีปัญญาแค่นี้ ก็ฝึกตนให้เจริญในปัญญามากขึ้น ถ้ามีจิตสำนึกของการเป็นผู้ใฝ่การศึกษา คอยจะฝึกตนอยู่เสมออย่างนี้แล้ว เราจะรับฟังกันด้วยดี และตนเองก็จะเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปในการประพฤติปฏิบัติด้วย

อาตมาคิดว่าวันนี้ได้พูดในเรื่องทั่วๆ ไป เกี่ยวกับลักษณะของพระพุทธศาสนา ที่เอาพระนามของพระพุทธเจ้า คือคำว่า พุทธะ ที่แปลว่า เป็นผู้ตื่น เป็นผู้รู้ เป็นหลัก ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลาแต่เพียงนี้

1แสดงแก่นักศึกษาชมรมพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา นครปฐม วันที่ ๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๘
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง