ค่านิยมแบบพุทธ

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ภาค ๑ ชีวิตกับสังคม

อายุวัฒนกถา1

มีพุทธพจน์แห่งหนึ่งในอังคุตตรนิกาย ตรัสไว้ว่า

“ธรรม ๕ ประการนี้ เป็นสิ่งที่คนปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นของหาได้ยากในโลก กล่าวคือ อายุ วรรณะ สุข ยศ สวรรค์

“ธรรม ๕ ประการนี้ เราไม่กล่าวว่าจะพึงได้มาด้วยการอ้อนวอน หรือด้วยความปรารถนา ถ้าการได้ธรรม ๕ ประการนี้ จะมีได้ด้วยการอ้อนวอน หรือเพียงด้วยปรารถนาเอาแล้วไซร้ ใครๆ ในโลกนี้จะพึงพลาดขาดอะไร

“อริยสาวกผู้ปรารถนาอายุ ไม่ควรอ้อนวอนหรือมัวเพลิดเพลินกับอายุ เพราะเห็นแก่อายุนั้นเลย แต่อริยสาวกผู้ปรารถนาอายุ พึงดำเนินตามข้อปฏิบัติที่เป็นไปเพื่ออายุ เพราะข้อปฏิบัติอันเป็นไปเพื่ออายุ ที่ดำเนินตามแล้วนั่นแหละ จึงจะเป็นไปเพื่อการได้อายุ อริยสาวกนั้นก็จะเป็นผู้ได้อายุ ไม่ว่าจะเป็นของทิพย์หรือของมนุษย์

“อริยสาวกผู้ปรารถนา วรรณะ สุข ยศ สวรรค์ ก็ไม่ควรอ้อนวอนหรือมัวเพลิดเพลินกับ วรรณะ สุข ยศ สวรรค์ เพราะเห็นแก่ วรรณะ สุข ยศ สวรรค์นั้นเลย แต่อริยสาวกผู้ปรารถนา วรรณะ สุข ยศ สวรรค์ พึงดำเนินข้อปฏิบัติที่เป็นไปเพื่อ วรรณะ สุข ยศ สวรรค์….”

องฺ.ปญฺจก. ๒๒/๔๓/๕๑-๕๓

คำสำคัญที่พึงเน้นในโอกาสนี้ คือ “อายุ” อายุนั้น ตามความหมายทั่วไป เช่นในพจนานุกรมไทย แปลว่า เวลาที่ดำรงชีวิตอยู่ เวลาชั่วชีวิต ช่วงเวลานับตั้งแต่เกิดหรือมีมาจนถึงเวลาที่กล่าวถึง พูดสั้นๆ ว่า ช่วงเวลาแห่งชีวิต หรือช่วงชีวิตนับตั้งแต่เกิดมา แต่อายุที่เป็นคำเดิมในภาษาบาลีมีความหมายลึกลงไปอีก หมายถึง เนื้อตัวของชีวิต หรือพลังที่เป็นแกนของชีวิต ก็ได้ คือหมายถึง พลังที่ทำให้ชีวิตสืบต่อดำเนินไป หรือพลังที่ช่วยให้องค์ประกอบต่างๆ ของชีวิตเจริญงอกงามขึ้นได้ ด้วยเหตุนี้ ในบาลีมากมายหลายแห่ง อายุจึงหมายถึง ความมีชีวิตยืนยาว หรือการเป็นอยู่สืบต่อไปได้ยาวนาน อย่างที่เรียกกันทั่วไปว่า อายุยืน แม้คำว่าอายุในพุทธพจน์ที่ยกมากล่าวข้างต้น ก็มีความหมายตามนัยอย่างหลังที่ได้แสดงมานี้

อายุเป็นตัวนำ เป็นแกน เป็นพื้นฐานรองรับคุณสมบัติอย่างอื่นๆ ทั้งหมด เพราะเหตุว่า ต่อเมื่อยังทรงอายุ คือมีชีวิตเป็นไปอยู่ คุณสมบัติอย่างอื่นๆ เช่น วรรณะ สุข ยศ และความไร้โรค เป็นต้น จึงจะมีได้และจึงจะบังเกิดประโยชน์แก่ผู้นั้นได้ ฉะนั้น อายุคือพลังขับเคลื่อนชีวิต และความมีชีวิตยืนยาว จึงเป็นธรรมสำคัญที่คนทั่วไปปรารถนา

ข้อปฏิบัติที่จะทำให้มีอายุยืน หรือเรียกอย่างสำนวนบาลีว่า ปฏิปทา อันเป็นไปเพื่อการได้อายุนั้น แยกได้เป็น ๒ ด้าน คือด้านร่างกายหรือฝ่ายรูปธรรม กับด้านจิตใจหรือฝ่ายนามธรรม

ทางด้านรูปธรรม อายุย่อมอาศัยความมีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง มีสุขภาพดี ไม่มีโรคร้ายเบียดเบียน หรือมีโรคเบาบาง การรู้จักบำรุงร่างกายอย่างมิใช่ปรนเปรอ การระวังรักษาสุขภาพ การป้องกันและบำบัดโรค การรู้จักบริโภคปัจจัยสี่และปฏิบัติต่อสิ่งแวดล้อมด้วยใช้ปัญญาอย่างที่เรียกว่ามีโยนิโสมนสิการ

ในทางพระศาสนา ท่านมองเห็นความสำคัญของการรักษาสุขภาพทางกายเพื่อดำรงอายุไว้ โดยถือว่าเป็นส่วนประกอบอย่างหนึ่งของชีวิตที่ดีในระดับทิฏฐธัมมิกัตถะ คือ ประโยชน์ปัจจุบัน ดังตัวอย่างพุทธโอวาทประทานแก่พระเจ้าแผ่นดินแคว้นโกศล

เรื่องมีว่า พระเจ้าปเสนทิโกศลมักเสวยพระกระยาหารมาก เมื่อไปเฝ้าพระพุทธเจ้า จึงประทับนั่งอึดอัด ทั้งพระวรกายก็อุ้ยอ้าย พระพุทธเจ้าทรงประสงค์จะอนุเคราะห์ จึงตรัสแนะนำด้วยพุทธโอวาทคาถาหนึ่ง ซึ่งแปลเป็นไทยได้ใจความว่า

“คนที่มีสติอยู่ตลอดเวลา รู้จักประมาณในการบริโภค
ย่อมมีเวทนาเบาบาง แก่ช้า ครองอายุอยู่ได้นาน”

สํ.ส. ๑๕/๓๖๕/๑๑๙; ธ.อ. ๖/๑๑๙

พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงให้เด็กหนุ่มคนหนึ่งจำคาถานั้นไว้ และคอยกล่าวในเวลาเสวยทุกครั้ง เป็นเครื่องเตือนพระสติให้ทรงยับยั้งไม่เสวยเกินประมาณ ต่อมาไม่นานนักก็ทรงมีพระวรกายกระปรี้กระเปร่า ทรงสามารถวิ่งขับจับม้าจับกวางได้ มีพระราชดำรัสชื่นชมพระมหากรุณาของพระพุทธเจ้าว่า ได้ทรงอนุเคราะห์พระองค์ ทั้งด้วยประโยชน์ที่มองเห็น และด้วยประโยชน์ที่เลยสายตา

พุทธดำรัสที่ตรัสย้ำอยู่เสมอ ก็คือ คำแนะนำให้บริโภคสิ่งต่างๆ ด้วยโยนิโสมนสิการ คือ รู้จักพิจารณากินใช้ด้วยคำนึงถึงคุณค่าที่แท้จริงของสิ่งนั้นๆ เพื่อให้พอดีที่จะไม่เกิดโทษ แต่ให้เป็นคุณประโยชน์ เป็นเครื่องส่งเสริมชีวิตที่ดีงาม เช่น กินอาหารไม่ใช่เพื่อเห็นแก่สนุกสนาน มัวเมา แต่เพื่อหล่อเลี้ยงร่างกายให้เป็นอยู่ผาสุก สามารถดำเนินชีวิตที่ดีงามประเสริฐได้ ใช้เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มที่อยู่อาศัย เพื่อป้องกันและบรรเทาหนาวร้อนลมแดด คุ้มภัย พักผ่อน ใช้ชีวิตส่วนตัว เป็นต้น มิใช่เพื่อฟุ้งเฟ้อแข่งขัน หรือเมาเกียรติเมายศอวดข่มใครๆ ผู้ใดคุมตนให้ปฏิบัติได้ตามที่ปัญญาบอกอย่างนี้ ท่านเรียกว่ามีนิสสรณปัญญา คือ มีปัญญาที่ทำชีวิตให้เป็นอิสระ หรือมีปัญญาพาไปสู่ความรอด หรือมีปัญญาสำหรับปลดปล่อยตัวให้เป็นอิสระ ถ้าสามารถปลดปล่อยตัวให้เป็นอิสระได้แล้ว ก็นับว่ามีความพร้อม หรือมีคุณสมบัติพื้นฐานที่จะไปช่วยปลดปล่อยผู้อื่นต่อไปได้อย่างดี เมื่อชีวิตเป็นอิสระปลอดโปร่ง ปราศจากสิ่งบีบคั้น ก็ย่อมเกื้อกูลแก่การที่อายุจะดำรงอยู่ได้ยืนนาน

พุทธพจน์อีกแห่งหนึ่ง แสดงข้อปฏิบัติที่เกื้อกูลแก่อายุเรียกว่า อายุสสะ หรืออายุวัฒนธรรม คือ ธรรมที่ช่วยให้อายุยืน มี ๕ ประการ คือ2

  1. สัปปายการี สร้างสัปปายะ คือ ทำอะไรๆ ให้เป็นที่สบายเกื้อกูลแก่สุขภาพ
  2. สัปปาเย มัตตัญญู แม้ในสิ่งที่สบายนั้น ก็รู้จักประมาณทำแต่พอดี
  3. ปรณตโภชี บริโภคสิ่งที่ย่อยง่าย (เช่น เคี้ยวให้ละเอียด)
  4. กาลจารี ปฏิบัติตนให้เหมาะในเรื่องเวลา เช่น รู้จักจัดเวลา ทำพอดีเวลา
  5. พรหมจารี รู้จักถือพรหมจรรย์ตามควร

แม้ว่าการบริหารคือปฏิบัติตนในด้านกายจะเป็นสิ่งสำคัญแต่กายก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของชีวิต ชีวิตนั้นประกอบด้วยรูปและนาม ต้องมีทั้งกายและจิต จึงจะมีชีวิตอยู่ได้ และกายกับจิตนั้นย่อมสัมพันธ์ต้องอาศัยกันส่งผลถึงกัน ในการที่จะมีอายุยืน นอกจากระวังรักษาและบำรุงกายแล้ว ก็จะต้องมีข้อปฏิบัติทางจิตใจด้วย คือจะต้องรู้จักระวังรักษาบำรุงจิตใจของตน เครื่องระวังรักษาบำรุงจิตใจก็คือคุณธรรม การฝึกอบรมจิตใจและเจริญปัญญา

ในบรรดากุศลธรรมที่เกื้อกูลแก่อายุนั้น ข้อที่มีผลมากโดยตรง ได้แก่ เมตตาและกรุณา คือ ความรัก ความปรารถนาดี มีไมตรี คิดช่วยเหลือเกื้อกูล ปราศจากพยาบาทความคิดร้ายผูกใจเจ็บแค้น ดำรงในอหิงสา คือ ปราศจากวิหิงสา ไม่ข่มเหงเบียดเบียนผู้อื่น ไม่คิดร้ายมุ่งทำลาย ดังพุทธพจน์ว่า

“การที่บุคคลละปาณาติบาต เว้นขาดจากการทำลายชีวิต วางทัณฑะ วางศัสตรา มีความละอายต่อบาป ประกอบด้วยเมตตา ใฝ่ใจช่วยเหลือ เกื้อกูลแก่ปวงสัตว์ นี้คือข้อปฏิบัติที่เป็นไปเพื่อความมีอายุยืน”

ม.อุ. ๑๔/๕๘๓/๓๗๗-๘ (คล้าย ที.ปา. ๑๑/๑๓๖/๑๖๔)

ความรัก เมตตา ความมีไมตรี ย่อมส่งเสริมความมีอายุยืนทั้งแก่ตนเอง และแก่ผู้อื่น สำหรับตนเอง เมื่อมีเมตตา จิตใจก็ผ่องใส สดชื่นเบิกบาน ระบบต่างๆ ในร่างกายก็ไม่ตึงเครียดทำงานคล่องแคล่วเบาสบาย ช่วยให้มีสุขภาพดี เมื่อต่างคนต่างก็รักใคร่ ไม่เบียดเบียน ไม่ทำร้ายกัน ต่างก็มีชีวิตอยู่ได้ยาวนานเท่ากับช่วยเหลือกันให้มีอายุยืนไปด้วยกัน ยิ่งกว่านั้น เมื่อมีเมตตากรุณา หันมาเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่อุดหนุนส่งเสริมกัน คนที่สมควรได้รับความช่วยเหลือ ก็มีคนช่วยเหลือ เช่น คนที่ขาดแคลนก็ได้รับการแบ่งปันด้วยการให้อาหารและปัจจัยยังชีพอย่างอื่นๆ เมื่อคนขัดสนยากไร้อ่อนแอ ได้รับอาหารและปัจจัยยังชีพทำให้เป็นอยู่ได้หรือกลายเป็นคนแข็งแรง ก็เท่ากับได้รับการต่ออายุให้ยืนยาวหรือทำอายุให้มั่นคง เมื่อพระภิกษุผู้เว้นจากการประกอบศิลปวิทยาเพื่อหาเลี้ยงชีพ เพราะทำหน้าที่ดำรงและสืบทอดธรรมในหมู่มนุษย์ ได้รับการอุดหนุนด้วยปัจจัยสี่มีภัตตาหารเป็นต้น ก็เท่ากับได้รับการถวายอายุให้สามารถบำเพ็ญกิจของผู้ดำรงและสืบทอดธรรมอยู่ได้ต่อไป ส่วนทางฝ่ายผู้ให้หรือผู้บำรุงอุดหนุนนั้น ก็ชื่อว่าได้ประกอบกุศลกรรม ซึ่งก่อให้เกิดความปิติยินดี แลละความมีจิตใจเบิกบานผ่องใส เป็นพลังส่งเสริมอายุ สามารถช่วยหนุนให้มีอายุยืนยาวได้ เมื่อให้อายุแก่ผู้อื่นแล้ว ตนเองก็เป็นผู้ได้อายุด้วยเช่นเดียวกัน พุทธพจน์ที่แสดงอานิสงส์เช่นนี้มีหลายแห่ง เป็นต้นว่า

“ภิกษุทั้งหลาย ผู้ให้ เมื่อให้อาหาร ชื่อว่าให้ฐานะ ๕ ประการ แก่ผู้รับ คือให้อายุ ให้วรรณะ สุข พละ และปฏิภาณ ครั้นให้อายุแล้วก็เป็นผู้มีส่วนได้อายุด้วย…”

องฺ.ปญฺจก. ๒๒/๓๗/๔๔-๔๕; เทียบ องฺ.จตุกฺก ๒๑/๕๘/๘๓

เมื่อคนทั่วไปหรือคนส่วนใหญ่ มีไมตรีจิต รักใคร่ ปรารถนาดีต่อกัน กระแสจิตเมตตาก็จะแผ่เอิบอาบซึมซ่านกระจายไปทั่วทั้งสังคม บันดาลให้เกิดความสงบสุขรู้สึกร่มเย็นแผ่ปกคลุมอยู่ทั่วไป จะไปไหน ทำอไร ก็ไม่ต้องคอยเสียวสะดุ้งหวาดระแวง ในสภาพเช่นนี้ ชีวิตด้านกายก็ปลอดภัย จิตใจก็มีสุขภาพสมบูรณ์ นับว่าเป็นสภาพอุดมคติของสังคม ที่ทางพระศาสนาจะชี้แนะให้คนนึกถึง เพื่อกระตุ้นเตือนให้พากันประพฤติธรรม ซึ่งหากเป็นได้เช่นนี้ คนทั้งหลายก็ย่อมจะมีอายุยืนยาวทั่วกัน และจะยืนยาวยิ่งขึ้นไป3 ได้ผลยิ่งกว่ายาชูกำลังหรือยายืดขยายชีวิตอย่างที่เรียกว่ายาอายุวัฒนะในฝ่ายวัตถุ

อย่างไรก็ดี แม้ว่าความมีอายุยืนจะเป็นสภาพที่น่าปรารถนาอย่างยิ่ง แต่ในทางธรรม ท่านมิได้ถือว่า ความมีอายุยืนนั้นเป็นตัวตัดสินคุณค่าที่แท้จริงของชีวิต เครื่องตัดสินคุณค่าที่แท้จริงนั้นอยู่ที่ว่า ระหว่างที่อายุยังทรงอยู่ ไม่ว่าจะสั้นหรือยาวก็ตาม บุคคลได้ใช้ชีวิตนั้นอย่างไร คือได้อาศัยชีวิตนั้น ก่อกรรมชั่วร้ายเป็นโทษ หรือทำสิ่งดีงามเป็นประโยชน์ พอกพูนอกุศลธรรมหรือเจริญกุศลธรรม ปล่อยชีวิตให้เป็นไปตามอำนาจของอวิชชาตัณหาหรือดำเนินชีวิตด้วยปัญญาและกรุณา ชีวิตที่งอกงามด้วยกุศลธรรมอำนวยประโยชน์สุขแก่ตนเองและผู้อื่น แม้จะสั้น ก็ยังประเสริฐกว่าชีวิตซึ่งยืนยาว แต่เป็นที่สั่งสมและแผ่ขยายความทุกข์ ดังตัวอย่างพุทธพจน์ในธรรมบทคาถาว่า

“ผู้ใดเกียจคร้าน หย่อนความเพียร ถึงจะมีชีวิตอยู่ได้ร้อยปีก็ไม่ดีอะไร ชีวิตของผู้มีความเพียรมั่นคง แม้เพียงวันเดียวก็ยังประเสริฐกว่า”

“ผู้ใดทรามปัญญา ไม่มีสมาธิ ถึงจะมีชีวิตอยู่ได้ร้อยปีก็ไม่ดีอะไร ชีวิตของผู้มีปัญญา มีสมาธิ แม้เพียงวันเดียวก็ยังประเสริฐกว่า”

“ผู้ใดไม่เห็นอุดมธรรม ถึงจะมีชีวิตอยู่ได้ร้อยปีก็ไม่ดีอะไร ชีวิตของผู้เห็นอุดมธรรม แม้เพียงวันเดียวก็ยังประเสริฐกว่า”

ขุ.ธ. ๒๕/๑๘/๒๙-๓๐

ชีวิตที่ไร้ธรรมและเป็นโทษ ยิ่งอยู่นาน ก็ยิ่งมีโอกาสพอกพูนอกุศลให้หนาแน่น และแผ่ขยายทุกข์ภัยให้มากมายกว้างขวางยิ่งขึ้น

ส่วนชีวิตที่ชอบธรรมและบำเพ็ญคุณประโยชน์ แม้จะอยู่เพียงเวลาสั้นก็ยังมีคุณค่ามาก ดังที่เรียกว่าเป็นชีวิตอันประเสริฐ หากยิ่งอยู่ยาวนานมากขึ้น ก็ยิ่งเป็นกำลังส่งเสริมธรรมให้เข้มแข็งและสร้างสรรค์ประโยชน์สุขให้พรั่งพร้อมยิ่งขึ้นแก่พหูชน

กล่าวอีกนัยหนึ่ง โดยเฉพาะสำหรับท่านซึ่งเป็นผู้นำในการเชิดชูธรรมและในงานสร้างสรรค์ประโยชน์สุข อายุของผู้ทรงธรรมก็เท่ากับหรือเป็นส่วนสำคัญแห่งอายุของธรรมที่จะรุ่งเรืองอยู่ในสังคมด้วย อายุของผู้บำเพ็ญคุณประโยชน์ก็เท่ากับเป็นส่วนสำคัญแห่งอายุของประโยชน์สุขในสังคมนั้นด้วย ยิ่งผู้ทรงธรรมมีอายุยืนเท่าใด ก็ยิ่งช่วยให้ธรรมมีกำลังรุ่งเรืองอยู่ในโลกหรือในสังคมนั้นยืนนานมากขึ้นเท่านั้น ยิ่งผู้สร้างสรรค์ประโยชน์สุขมีอายุยืนนานมากเท่าใด ก็ยิ่งช่วยให้ประโยชน์สุขดำรงอยู่ในโลกหรือในสังคมยืนนานมากขึ้นเท่านั้น ด้วยเหตุนี้อายุของผู้ทรงธรรมและบำเพ็ญประโยชน์สุข จึงมีคุณค่ามาก เพราะมีความหมายสัมพันธ์เป็นอันเดียวกัน หรืออย่างน้อยก็เป็นเครื่องเกื้อหนุนแก่อายุธรรมและอายุของประโยชน์สุขที่จะมีผลต่อสังคมหรือต่อประชาชน

เท่าที่กล่าวมาทั้งหมด ในเรื่องข้อปฏิบัติเกี่ยวกับอายุและการทำให้อายุยืนนี้ มีข้อสรุปอย่างหนึ่ง กล่าวคือ ไม่ว่าจะหลีกเลี่ยงเหตุซึ่งจะตัดรอนหรือทอนชีวิตให้สั้น ก็ดี จะปฏิบัติตามวิธีการฝ่ายรูปธรรมในการทำให้มีอายุยืน ก็ดี จะดำเนินตามข้อปฏิบัติทางจิตใจเพื่อให้ประสบอายุวัฒนะ ก็ดี หรือจะทำให้อายุมีคุณค่าตลอดเวลาที่ดำรงอยู่ด้วยการทรงธรรมและสร้างสรรค์คุณประโยชน์ ก็ดี ทุกอย่างนี้ ล้วนต้องอาศัยกุศลธรรมข้อหนึ่ง เป็นแกน เป็นหลัก หรือเป็นประธาน จึงจะสำเร็จได้ กุศลธรรมข้อนั้น ก็คือความไม่ประมาท ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นธรรมเอก เป็นตัวนำหน้า และเป็นตัวเร่งเร้าให้กุศลธรรมข้ออื่นๆ ลุกขึ้นจากความเฉื่อยชา นิ่งเฉย ออกมาสู่สนามหรือเวทีแห่งการปฏิบัติการ

ความไม่ประมาท คือ ความไม่ปล่อยตัวให้เลื่อนลอยไร้หลัก ไม่ปล่อยใจให้มัวหลงใหลเพลิดเพลินสยบหยุดเขวหรือเตลิดไป ไม่ปล่อยเวลาให้ล่วงผ่านไปเปล่าหรือคลาดจากประโยชน์ ไม่ละเลยโอกาสและกิจที่ควรทำตามจังหวะ ตื่นตัวพร้อมอยู่เสมอ มีสติคอยกระตุ้นเตือน ให้ทำในที่ควรทำ ให้เร่งรัดในที่ควรเร่งรัด ให้ป้องกันแก้ไขและให้ระวังในที่ควรป้องกันแก้ไขและพึงระวัง ให้ยั้งหยุดหรือละเลิกได้ในที่ควรยั้งหยุดหรือละเลิก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คอยชี้บอกเร้าเตือนให้นำเอาธรรมข้ออื่นๆ ทุกอย่างออกมาปฏิบัติให้ตรงตามตำแหน่งหน้าที่และจุดจังหวะของธรรมนั้นๆ ความไม่ประมาทมีหน้าที่สำคัญอย่างนี้ จึงเป็นแกนนำที่จะทำให้การปฏิบัติตามอายุวัฒนธรรมสำเร็จได้ ทำให้ชีวิตประสบและอำนวยประโยชน์สุขทั้งระดับที่ตามองเห็นและระดับที่เลยสายตา4 ตลอดจนทำให้ชีวิตเท่าที่ดำรงอยู่ตลอดอายุของตนเป็นชีวิตที่มีคุณค่าอย่างสูง แม้กระทั่งทำให้ประสบอมตธรรมและทำให้กลายเป็นอมตะ ดังพุทธภาษิตที่ว่า “ความไม่ประมาทเป็นทางอมตะ ผู้ไม่ประมาทย่อมไม่มีมรณะ”5

ในสมัยปัจจุบัน ได้มีประเพณีนิยมในการทำบุญอายุ การทำบุญอายุนั้น เกิดจากการปรารภริเริ่มของท่านเจ้าของอายุเอง ก็มี เกิดจากญาติมิตรวิสาสิกชนคนที่เคารพนับถือริเริ่มจัดให้ ก็มี

หากว่าเกิดจากท่านเจ้าของอายุริเริ่มจัดขึ้นเอง การทำบุญอายุนั้นก็เป็นการแสดงความรู้ตระหนักถึงความสำคัญ และให้ความสำคัญแก่ชีวิตของตนซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญ โดยสมควรแก่ความสำคัญของอายุและชีวิตนั้น ตลอดจนเป็นการระลึกถึงและให้ความสำคัญแก่บุคคลผู้มีความสำคัญเกี่ยวข้องกับชีวิตของตน มีบิดามารดาเป็นต้น ตลอดถึงบรรพบุรุษที่เหนือขึ้นไป และย้อนลงมาถึงบุตรภรรยาญาติมิตรบุคคลใกล้ชิดที่เกื้อกูลแก่ชีวิตของตน เมื่อระลึกและยอมรับความสำคัญแล้ว ก็แสดงออกด้วยการอุทิศกุศล ให้การสงเคราะห์ แสดงไมตรีจิต และมีกิจกรรมสนุกสนานบันเทิงเป็นต้น สุดแต่ประเพณีนิยม กำลัง ความดำริริเริ่มและความเห็นสมควร นอกจากนั้นก็เป็นโอกาสที่จะทำบุญมีทานเป็นต้น ประกอบกุศลกรรม สร้างสมสิ่งที่ดีงามเพิ่มพูนให้แก่ชีวิต ซึ่งจะมีผลสะท้อนกลับมาให้เกิดความปีติยินดี เอิบอิ่ม ผ่องใส เบิกบานใจ อำนวยผลดีทางด้านจิตใจ เสริมกำลังอายุตามหลักอายุวัฒนธรรมให้ยิ่งขึ้นไปอีก

หากว่า การทำบุญอายุนั้นเกิดจากบุคคลอื่นๆ ริเริ่มร่วมกันจัดให้ ก็เป็นเครื่องแสดงยืนยันเพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่งว่า ท่านเจ้าของวันเกิดนั้นได้มีชีวิตที่เป็นคุณประโยชน์ ซึ่งทำให้ผู้อื่นมองเห็นคุณค่าแห่งอายุของตน อย่างน้อยก็เป็นผู้มีอุปการะแก่หมู่ชนหรือกลุ่มบุคคลที่จัดงานให้นั้น ซึ่งมักเป็นไปตามอัตราสัมพันธ์ระหว่างคุณธรรมของผู้จัด กับโลกธรรมที่ท่านเจ้าของวันเกิดกำลังประสบเสวยอยู่ในเวลานั้นๆ

ไม่ว่าการทำบุญอายุนั้น จะจัดขึ้นด้วยการปรารภหรือริเริ่มอย่างไรก็ตาม ย่อมกลายเป็นโอกาสให้บุคคลผู้รู้จักมนสิการได้เจริญอัปปมาทธรรม คือความไม่ประมาท เมื่อพิจารณาในด้านหนึ่งผู้ไม่ประมาทย่อมมองเห็นว่า การที่ได้เจริญอายุจนมาบรรจบครบรอบปีหนี่งๆ หรือตลอดช่วงวัยหนึ่งๆ นั้น นับว่าได้ผ่านพ้นมาแล้วด้วยดีจากภยันตรายต่างๆ มากมาย ที่เป็นอุปสรรคและศัตรูต่ออายุ ตลอดจนได้ก้าวล่วงสิ่งล่อเร้ายั่วยวนต่างๆ ที่จะชักจูงให้เขวพลาดออกไปจากวิถีทางแห่งการตั้งตนไว้ชอบ สามารถประคับประคองตัวอยู่ได้ในชีวิตที่ดีงามตลอดมา จัดได้ว่าเป็นชัยชนะที่สำคัญอย่างหนึ่ง จึงเป็นข้อที่ควรปีติยินดี ทั้งแก่ตนเอง และแก่เหล่าบุคคลผู้หวังดี เมื่อได้พิจารณาทบทวนเหตุการณ์ต่างๆ อนุสรณ์ถึงอัปปมาทธรรม ซึ่งนำตนให้บรรลุสวัสดิภาพมาถึงเพียงนี้แล้ว ก็จะเห็นตระหนักความสำคัญที่จะตั้งใจบำเพ็ญความไม่ประมาทนั้นสืบต่อไปข้างหน้า ทั้งในด้านที่จะดำรงอายุให้ยืนยาวด้วยอายุวัฒนธรรมทางกายและทางใจ และในด้านที่จะทำให้การดำรงอายุของตนนั้นมีคุณค่าแก่การดำรงอายุของธรรมและประโยชน์สุขในโลกของมนุษย์

วันที่ ๒๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๖ นี้ เป็นมงคลสมัยคล้ายวันเกิดของอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ และเป็นวาระพิเศษที่อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ มีอายุครบ ๕๐ ปี บรรดาญาติมิตรและวิสาสิกชนโดยเฉพาะผู้ที่เป็นศิษย์ถือเป็นโอกาสดีงาม อันสำคัญและสมควรที่จะแสดงออกซึ่งความมีน้ำใจปรารถนาดีและความเคารพนับถือ จึงได้จัดพิธีฉลองและจัดเตรียมเครื่องแสดงสัมมาคารวธรรมต่างๆ เช่น หนังสือธรรม สำหรับอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ แจกชำร่วยแก่ผู้ไปอวยพรและร่วมงานพิธีในมงคลสมัยนั้น การแสดงออกเช่นนี้ แม้เป็นกิจกรรมหนึ่งเดียว แต่เป็นเครื่องประกาศพร้อมกันถึงคุณความดีของบุคคลสองฝ่าย ทั้งฝ่ายท่านเจ้าของวันเกิดและฝ่ายผู้จัดเตรียมพิธีมงคล กล่าวคือ ในฝ่ายท่านเจ้าของวันเกิด ย่อมเป็นเครื่องแสดงว่า เป็นผู้มีความดีงาม ความเกื้อกูลและอุปการคุณต่างๆ ที่ได้บำเพ็ญไว้ อันเป็นเหตุให้บุคคลที่ได้รับหรือได้รู้ประจักษ์แล้ว มีความระลึกและเคารพนับถือเป็นพื้นฐานสำหรับจะนำมาแสดงออก ส่วนในฝ่ายญาติมิตรศิษย์และวิสาสิกชนผู้ขวนขวายจัดเตรียมพิธีมงคล กิจกรรมนี้ก็เป็นเครื่องยืนยันถึงความมีน้ำใจ ความมีไมตรีและกตัญญูกตเวทิตาธรรมเป็นต้น ที่เป็นแรงกำลังชักนำให้มีการแสดงออกเช่นนั้น

ในโอกาสมงคลทำบุญอายุของอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์นี้ อาตมภาพได้รับคำบอกแจ้งว่า ท่านเจ้าของวันเกิดใคร่อาราธนาให้กล่าวหรือเขียนถ้อยคำบางอย่างเพื่อจะได้อ่าน ได้ฟังไว้เป็นเครื่องเตือนสติเนื่องในกาละอันสำคัญนั้น แต่อาตมภาพมีความรู้สึกว่าตนเอง ในฐานะที่ยังเป็นผู้ต้องการคำเตือนสติ ยากที่จะยอมรับฐานะเป็นผู้กล่าวคำเตือนสตินั้นได้ น่าจะยอมรับด้วยซ้ำว่าการขอคำเตือนสตินั้น ก็เป็นคำเตือนสติอย่างหนึ่ง ข้อนี้เป็นเหตุให้คิดหาทางเลือกสำหรับการปฏิบัติที่เหมาะสมล่าช้าอยู่ และได้มองเห็นว่า ทางปฏิบัติที่สมควรและไม่ผิดก็คือ การนำเอาพระธรรมบางข้อที่เข้ากับโอกาสมงคลนี้มาแสดง ซึ่งนอกจากอาตมภาพจะได้ทำหน้าที่เป็นเพียงเสมือนทางผ่านแห่งพระดำรัสของพระพุทธเจ้า นำพุทธพจน์มากล่าว สุดแต่ท่านเจ้าของงานบุญนี้จะพิจารณาไตร่ตรองแล้ว ก็จะได้อาศัยพุทธภาษิตซึ่งเป็นอุดมมงคลเป็นเครื่องอนุโมทนาและอำนวยพรแด่ท่านเจ้าของวันเกิดในมงคลสมัยนี้ด้วย

อาตมภาพได้เริ่มรู้จักและรู้สึกต่ออาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เมื่อเวลาเกือบ ๒๐ ปีมาแล้วในฐานะเป็นผู้มีความคิดริเริ่มกว้างไกล เป็นนักคิดที่คิดได้ในแง่มุมแปลกใหม่ซึ่งชวนให้พิจารณา มีสายตาคม รู้จักเลือกคน มีความคิดและเลือกแหล่งความคิด สามารถรวมกำลังจากคนเจ้าความคิดและคนมีฝีมือในด้านต่างๆ มาผลิตงานที่มีพลังและก้าวหน้า ทั้งตนเองก็สามารถพูดและเขียนแสดงความรู้ความคิดเห็น ที่กระตุ้นและเร้าเตือนให้ผู้อื่นเกิดความรู้สึก และปลุกปลูกข้อคิดที่เป็นทางเจริญปัญญาได้เป็นอย่างดี อาตมภาพเองนี้ ก็ได้รับประโยชน์จากความรู้และความคิดของอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์อยู่เรื่อยมา มองในแง่หนึ่ง อาจถือได้ว่าอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์เป็นนักเตือนสติของสังคมนี้ ซึ่งมีทัศนะคมและแสดงออกได้ตรงแรง แต่การที่จะมองเห็นเป็นผู้เตือนสติอย่างนี้ได้คงจะต้องขึ้นต่อผู้อ่านและฟัง ที่จะรู้จักถือเอาประโยชน์ โดยไม่เป็นผู้ถูกอำนาจความโกรธ ความขัดเคืองกระทบใจ หรือความรู้สึกไม่พึงใจอย่างใดอย่างหนึ่ง เข้ามาปิดบังหรือชักพาออกไปไม่ให้รับพิจารณาความรู้หรือทัศนะที่เสนอนั้นเสียก่อน

ในทางธรรมถือว่า ความรู้จักคิด หรือคิดเป็น หรือรู้จักพิจารณาด้วยปัญญา เป็นหลักสำคัญที่จะทำให้เกิดความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมนำไปสู่ความเห็นถูกต้องที่เรียกว่าสัมมาทิฏฐิ ตลอดจนความรู้แจ้งหยั่งเห็นสัจจธรรมในที่สุด ความรู้จักคิด รู้จักพิจารณาโดยแยบคายนี้ เรียกชื่อว่า โยนิโสมนสิการ บุคคลผู้มีความปรารถนาดีและมีความสามารถช่วยชี้แนะกระตุ้นเตือนผู้อื่นให้เกิดโยนิโสมนสิการ รู้จักคิดพิจารณาด้วยปัญญาอย่างถูกต้องท่านเรียกว่าเป็นกัลยาณมิตร กัลยาณมิตรที่มีลักษณะครบถ้วนสมบูรณ์ท่านแนะไว้ว่าพึงประกอบด้วยคุณสมบัติ ๗ ประการ คือ น่ารัก ให้เกิดความรู้สึกสนิทสนมสบายใจอยากเข้าไปหา (ปิโย) น่าเคารพ (ครุ) น่าเจริญใจ เป็นคนฝึกหัดขัดเกลาฟื้นฟูตนอยู่เสมอ ทำให้นึกถึงพูดถึงได้ด้วยความภูมิใจ (ภาวนีโย) รู้จักพูด สอนหรือเป็นที่ปรึกษาได้ดี (วัตตา) ทนต่อถ้อยคำ รับฟังผู้อื่นได้ ยอมให้วิพากษ์วิจารณ์ (วจนักขโม) ชี้แจงแถลงเรื่องที่ยากลึกซึ้งได้และนำให้รู้เรื่องที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นไป (คัมภีรัญจะ กถัง กัตตา) ไม่ชักนำไปในเรื่องเสียหายหรือเหลวไหลไร้สาระ (โน จัฏฐาเน นิโยชเย)6

กัลยาณมิตรที่มีคุณสมบัติเพียบพร้อมเต็มที่ทุกข้อทุกประการคงจะมิใช่หาได้ง่าย หากพบได้ก็ย่อมเป็นการดี แต่คนที่ใฝ่ธรรมแสวงปัญญาแท้จริง แม้จะใฝ่หากัลยาณมิตร แต่ก็ย่อมจะมิใช่คอยรอหวังพึ่งกัลยาณมิตรอยู่โดยไม่ขวนขวายเพียรพยายามฝึกหัดปรับปรุงตนเอง คนที่มีโยนิโสมนสิการเป็นพื้นเดิมอยู่บ้างแล้วนั้น อย่าว่าถึงจะต้องรอให้พบกัลยาณมิตรชนิดที่เพียบพร้อมสมบูรณ์เลย ขอเพียงให้พบคนมีปัญญาก็แล้วกัน เขาก็สามารถรับเอาปัญญาของคนนั้นมาพัฒนาชีวิตของเขาได้ เอาไปทำประโยชน์แก่ผู้อื่นได้ แม้แต่ถ้าผู้มีปัญญานั้นจะมีลักษณะท่าทีที่ไม่น่าพึงพอใจแก่เขา เขาก็คบหาได้ รู้จักมองในทางที่เป็นประโยชน์ เหมือนดังถือตามพุทธภาษิตที่ว่า

“พึงมองเห็นคนมีปัญญา ที่ชอบชี้โทษ พูดจาข่มขี่ เสมือนเป็นผู้บอกขุมทรัพย์ คนอย่างนั้น ที่เป็นบัณฑิตพึงคบเถิด เมื่อคบคนอย่างนั้นย่อมดีขึ้น ไม่เลวลง”

ขุ.ธ. ๒๕/๑๖/๒๕

ในวงการของปัญญาชน ย่อมเป็นที่รู้จักกันดีว่า อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เป็นผู้นำทางความคิดที่สำคัญมากท่านหนึ่ง ความคิดความเห็นหรือทัศนะของท่าน มีผู้เห็นตามถือตามและคอยติดตามกันอยู่มากมาย ถ้าไม่พูดถึงวงการระหว่างประเทศซึ่งเป็นเรื่องไกลออกไป กล่าวเฉพาะในสังคมไทยนี้ อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ย่อมมีอิทธิพลทางความคิดอยู่มากทีเดียวและน่าจะเด่นชัดในหมู่คนรุ่นใหม่

ว่าตามหลักธรรม ความคิดความเห็น คือ ทิฏฐินั้น เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพราะความคิดความเห็น เป็นตัวนำการพูดการทำ การประพฤติปฏิบัติ และการดำเนินชีวิตทั้งหมด ถ้าบุคคลคิดเห็นอย่างไร เขาก็ดำเนินชีวิตของเขาไปอย่างนั้น ถ้าสังคมยอมรับนิยม ยึดถือตามทิฏฐิอย่างใด สังคมก็สร้างสรรค์สภาพของตนให้เป็นไปตามทิฏฐิอย่างนั้น ถ้าความคิดความเห็นคือทิฏฐิตั้งไว้ผิด วิถีชีวิต วิถีของสังคมก็ผิดไปตาม ถ้าความคิดความเห็นคือทิฏฐิตั้งไว้ถูกต้อง วิถีชีวิต วิถีของสังคมก็ดำเนินไปถูกต้อง เมื่อมองในระดับสังคม บุคคลที่เป็นผู้นำทางความคิดจึงมีความสำคัญมาก ที่จะช่วยให้สังคมนั้นดำเนินไปด้วยดีหรือไม่ เพราะฉะนั้นในทางพระพุทธศาสนาจึงถือว่า ถ้าผู้นำทางความคิด เป็นผู้มีความเห็นถูกต้องเป็นคนสัมมาทิฏฐิ ก็นับว่าเป็นผู้สร้างสรรค์ประโยชน์สุขแก่ประชาชน แต่ถ้าผู้นำทางความคิดเป็นผู้มีความเห็นผิด เป็นคนมิจฉาทิฏฐิ ก็นับว่าเป็นผู้ชักนำความเสื่อมความพินาศมาให้แก่ประชาชน ดังจะเห็นตัวอย่างได้ในพุทธพจน์ต่อไปนี้

“ภิกษุทั้งหลาย เอกบุคคล เมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้นเพื่อมิใช่ประโยชน์ มิใช่ความสุขแก่พหูชน หากแต่เพื่อความพินาศ เพื่อเสียประโยชน์ เพื่อความทุกข์แก่ชนจํานวนมาก แก่เทวะและมนุษย์ทั้งหลาย เอกบุคคลนั้นได้แก่ คนมีมิจฉาทิฏฐิ มีทัศนะวิปริตผิดพลาด เขาย่อมชักพาพหูชนให้หันออกจากธรรมที่ถูกที่ชอบ ให้ตั้งอยู่ในสิ่งที่มิใช่ธรรม”

“ภิกษุทั้งหลาย เอกบุคคล เมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่พหูชน เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข แก่ชนจํานวนมาก แก่เทวะและมนุษย์ทั้งหลาย เอกบุคคลนั้นได้แก่ คนมีสัมมาทิฏฐิ มีทัศนะไม่วิปริตผิดพลาด เขาย่อมชักนำพหูชนให้ออกจากสิ่งที่มิใช่ธรรม ให้ตั้งอยู่ในหลักที่ถูกต้องชอบธรรม”

องฺ.เอก. ๒๐/๑๙๑-๒/๔๔.

ตามที่ทราบนั้น อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ก็ได้เน้นย้ำอย่างมาก ในเรื่องการแก้ปัญหาเกี่ยวกับความคิดผิดเห็นผิดในสังคมไทย เพียรพยายามชี้ให้เห็นความสําคัญว่าจะต้องสร้างสัมมาทิฏฐิขึ้นมาให้ได้ การมองเห็นความสําคัญของการเลิกล้างมิจฉาทิฏฐิ และสร้างเสริมสัมมาทิฏฐิ ย่อมเป็นการสอดคล้องกับหลักการของพระพุทธศาสนา และคงจะต้องช่วยกันพิจารณาชี้แจงต่อไปอีกว่าอะไรเป็นมิจฉาทิฏฐิ อะไรเป็นสัมมาทิฏฐิให้ชัดแจ้งยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะคิดจะพิจารณา พูด หรือกระทําการกันในเรื่องใดๆ ก็ตาม ในที่สุดจุดรวมยอด ก็อยู่ที่ปัญหาว่าจะแก้ปัญหาของสังคมไทย หรือจะพัฒนาสังคมไทยให้สําเร็จได้อย่างไร

มองในด้านสาระสําคัญ ชีวิตของสังคมก็มีสภาพคล้ายกับชีวิตของบุคคล ชีวิตของแต่ละคนที่จะดําเนินไปด้วยดี ย่อมต้องอาศัยความสืบเนื่องติดต่อ เช่นความรู้จักพื้นเพภูมิหลังรากฐานความสัมพันธ์เกี่ยวข้องแต่เดิมของตน และการสั่งสมประสบการณ์ต่างๆ ตลอดมาจนถึงสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ถ้ามีความรู้จักตัวเองต่อเนื่องตลอดสายอย่างนี้ เมื่อประสบสถานการณ์แปลกใหม่ที่จะต้องแก้ปัญหาหรือเกี่ยวข้อง ก็จะสามารถแก้ปัญหาหรือใช้ประโยชน์จากสถานการณ์นั้น ให้เป็นผลดีแก่ชีวิตของตนได้มากที่สุด ทั้งนี้เพราะอดีต ปัจจุบันและอนาคต ที่ประกอบเป็นชีวิตของเขานั้นเชื่อมต่อถึงกันหมด เป็นเนื้อตัวของชีวิตอันเดียว บุคคลอย่างนี้ ถ้าเขาดําเนินชีวิตตลอดมาโดยมีหลักอย่างดี หากเขามีอายุยืน ความมีอายุยืนนั้น ก็เป็นอายุยืนที่เป็นคุณ ยิ่งทําให้ชีวิตของเขาพรั่งพร้อมชํานาญอยู่ดีและเกื้อกูลแก่ผู้อื่นมากขึ้น แต่ถ้าบังเอิญบุคคลนั้น ประสบอุบัติเหตุหรือได้รับความกระทบกระเทือนอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่ทําให้เขาสูญเสียความรู้จักตัวเองหรือหมดความทรงจํา จําเรื่องราวของตนเองที่ผ่านมาแล้วไม่ได้ ชีวิตของเขาจะไม่สามารถเป็นอยู่ดีโดยสมบูรณ์ หรือเป็นชีวิตที่มีประสิทธิภาพดีได้อีกต่อไป แม้ว่าเขาจะได้รับการเอาใจใส่ให้เรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ ในสภาพแวดล้อมใหม่ที่จัดให้อย่างดีเพียงไรก็ตาม ทั้งนี้เพราะขาดความต่อเนื่อง เกิดมีช่องว่างที่คอยหลอนและฉงนอยู่ตลอดเวลา และอวัยวะน้อยใหญ่ที่หัดใหม่เมื่อโต ไม่อาจให้คล่องแคล่วเคยชินกับสภาพแวดล้อมใหม่ได้โดยสมบูรณ์

สังคมก็เช่นเดียวกัน มีชีวิต มีประสบการณ์ มีความชํานิชํานาญต่างๆ ที่สืบทอดต่อเนื่องกันมา จําต้องมีความรู้จักตัวและความทรงจําที่เชื่อมโยงอดีต ปัจจุบัน และอนาคตให้ถึงกันได้ ประสบการณ์ ความชํานิชํานาญ ความรู้จักตัว และความทรงจําต่างๆ ของสังคม ก็คือวัฒนธรรม ถ้าวัฒนธรรมสืบทอดต่อเนื่องมาด้วยดี และสังคมสามารถใช้ประโยชน์จากวัฒนธรรมได้สังคมนั้นก็มีชีวิตที่เป็นอยู่ดี มีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาและเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ อย่างได้ผลดี ความมีอายุยืนของสังคมนั้น ก็เป็นความมีอายุยืนที่สมบูรณ์มีความหมายแท้จริง แต่ถ้าสังคมไม่รู้จักวัฒนธรรมของตน สืบต่อและใช้ประโยชน์จากวัฒนธรรมของตนไม่ได้ ตลอดจนไม่สามารถจัดการหรือเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมของตนเองให้ถูกต้องได้ สังคมนั้นก็เป็นเหมือนบุคคลที่ขาดสมปฤดี ไม่รู้จักตัวเอง หรือสูญเสียความทรงจํา จําเรื่องราวของตนเองไม่ได้กลายเป็นสังคมที่ขาดประสิทธิภาพในการแก้ปัญหา และไม่สามารถมีชีวิตที่ดีของตนได้โดยสมบูรณ์ แม้จะมีอดีตยาวนาน ก็ไม่ใช่เป็นความมีอายุยืน เพราะไม่มีพลังต่อเนื่องของชีวิต เหมือนกับต้องถือว่า อายุขาดตอนไปแล้วตั้งต้นนับอายุใหม่ แต่ก็นับใหม่ไม่ได้จริง เหมือนคนที่ฟื้นจากสลบ แต่กลายเป็นอัมพาต หรือสูญเสียความทรงจําอย่างที่กล่าวมาแล้ว

ตามที่ปรากฏโดยผลงานและการแสดงออกต่างๆ อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์เป็นผู้สนใจได้ศึกษามาก มีความรู้อย่างดีท่านหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องราวในอดีตของไทย หรือวัฒนธรรมไทยในแง่ด้านต่างๆ และได้พยายามอยู่เสมอที่จะชี้ให้เห็นความสําคัญของการเรียนรู้เข้าใจสังคมไทยที่เป็นมาในอดีต เพียรย้ำความจําเป็นของการสืบต่อทางวัฒนธรรม ในการที่จะแก้ปัญหาของสังคมไทยและการพัฒนาประเทศไทย เห็นได้ว่าชีวิตของอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ได้ผูกพันเกี่ยวเนื่องกันมากับความรู้ในเรื่องสังคมไทยและวัฒนธรรมไทยตลอดเวลายาวนาน หากว่าอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ มีความตั้งใจมั่นยืนหยัดอยู่ในแนวทางเช่นนี้ และร่วมมือช่วยส่งเสริมงานและผู้ทํางานด้านนี้สืบไป ยิ่งอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์มีอายุมากขึ้น การศึกษา ความรู้ ความเข้าใจ และการเห็นความสําคัญของเรื่องราวในอดีตหรือวัฒนธรรมของสังคมไทย ก็จะยิ่งเพิ่มพูนเข้มแข็งชัดแจ้งมากขึ้นด้วย หากเป็นได้เช่นนี้ ก็จะเป็นข้อที่ควรอนุโมทนาสาธุการเป็นอย่างยิ่ง

ในมงคลสมัย ที่อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เจริญอายุครบ ๕๐ ปี ในวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๒๖ นี้ อาตมภาพขอตั้งกัลยาณจิต ร่วมกับญาติมิตร ศิษย์และวิสาสิกชนทั้งหลาย อาราธนาคุณพระรัตนตรัย อํานวยพรแด่อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ในโอกาสแห่งการประกอบมงคลพิธีทําบุญอายุ ขอบุญที่บําเพ็ญนั้น จงเป็นปัจจัยนํามาซึ่งความเป็นผู้มีอายุยืน และขอความมีอายุยืนของอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ จงมีความหมายสัมพันธ์เนื่องกันกับความมีอายุยืนนานของธรรมและประโยชน์สุขในสังคมมนุษย์ ขออาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ พร้อมทั้งมารดาของท่านและครอบครัวจงเจริญพรั่งพร้อมด้วยจตุรพิธพรชัย ไพบูลย์ด้วยสิริสวัสดิ์ รุ่งเรืองงอกงามในธรรม ตลอดกาลทุกเมื่อ

พระธรรมเทศนา
อโมฆชีวีกถา7

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ฯ

ยงฺกิญฺจิ ยิฏฺํ ว หุตํ ว โลเก
สํวจฺฉรํ ยเชถ ปุญฺญเปกฺโข
สพฺพํปิ ตํ น จตุภาคเมติ
อภิวาทนา อุชุคเตสุ เสยฺโยติ ฯ

บัดนี้ จักแสดงพระธรรมเทศนาในอโมฆชีวีกถา พรรณนาการมีชีวิตอยู่อย่างมีค่า เพื่อประดับปัญญาบารมี เพิ่มพูนกุศลบุญราศี ส่วนธรรมสวนมัย เนื่องในการที่ชุมนุมปริทัศน์เสวนา มีคุณสุลักษณ์ ศิวรักษ์ เป็นประธาน ร่วมกันบำเพ็ญกุศลสัตตมวาร คือทำบุญ ๗ วัน เพื่ออุทิศส่วนกุศลแก่นายโกมล คีมทอง ผู้เป็นศิษย์และมิตรสหายของตน ซึ่งได้เสียชีวิตไปเพราะถูกประทุษร้ายขณะบำเพ็ญกุศลกรณีย์ จัดเป็นส่วนมิตรพลีและสังคหธรรม ตามสมควรแก่ฐานนิยม

นายโกมล คีมทอง ผู้ล่วงลับไปแล้วนี้ มีชีวประวัติตามที่ทราบมาว่าเป็นคนดี มีคุณธรรม ได้ดำเนินชีวิตให้เป็นประโยชน์ ควรแก่การยกย่องสรรเสริญผู้หนึ่ง กรณียกิจทั้งหลายที่นายโกมล คีมทอง ได้บำเพ็ญไว้เมื่อยังมีชีวิตอยู่ อันเป็นเครื่องแสดงว่า ตนได้เป็นผู้ที่มีความคิดหวัง และได้ขวนขวายในการสร้างประโยชน์และความเจริญก้าวหน้าแก่สังคมส่วนรวมนั้น มีหลายประการ เช่น การที่ได้เข้าร่วมและเป็นกำลังสำคัญในกิจการของชุมนุมปริทัศน์เสวนา แต่เมื่อครั้งยังเป็นนิสิตผู้ศึกษาในคณะครุศาสตร์ แห่งจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย8 และได้มีโอกาสช่วยเหลือกิจการของสถาบันแห่งนั้นตามฐานะของผู้ศึกษา มีการจัดทำหนังสืออนุสรณ์ของคณะเป็นต้น ครั้นสำเร็จการศึกษาได้รับปริญญาเป็นครุศาสตร์บัณฑิตแล้ว ก็ยิ่งใส่ใจขวนขวายในกิจการของส่วนรวมเพิ่มขึ้นต่อมา เช่น การช่วยเหลือในงานของชุมนุมศึกษิตเสวนา และการได้รับมอบหมายให้เป็นบรรณกรหนังสือ สังคมศาสตร์ปริทัศน์ เป็นต้น และที่สำคัญยิ่งอันเกี่ยวเนื่องมาถึงการสูญเสียชีวิตของตนด้วยก็คือ การที่ได้มีศรัทธายอมเสียสละความสุขสำราญและผลประโยชน์ที่จะพึงได้แก่ตนในเมืองหลวงอันเป็นถิ่นเจริญ ปลีกตนไปบำเพ็ญประโยชน์สั่งสอนเด็กชาวบ้านถิ่นห่างไกล ณ โรงเรียนเหมืองห้วยในเขา ตำบลบ้านส้อง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ตั้งใจอบรมสั่งสอนเด็กนักเรียน กับทั้งสนใจศึกษาศิลปวัฒนธรรมไทยในท้องถิ่นนั้นๆ หาทางส่งเสริมตามกำลังความสามารถของตน ตลอดมาจนถึงวาระสุดท้ายที่ถูกประทุษร้ายถึงแก่สูญเสียชีวิต ประวัติของนายโกมล คีมทอง ทั้งนี้ แสดงถึงอัธยาศัยของเธอที่เป็นผู้มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในทางที่ดีงาม เป็นผู้มีอุดมคติ เป็นผู้ประกอบด้วยความเสียสละ และประพฤติตนให้เป็นไปตามอุดมคตินั้นได้อย่างมั่นคงจริงจัง บุคคลผู้ดำรงอยู่ในคุณธรรม และเป็นผู้บำเพ็ญประโยชน์เช่นนี้ เมื่อต้องมาสิ้นชีวิตลง ก็ย่อมเป็นเหตุก่อให้เกิดความเศร้าโศกเสียดายอาลัยถึงแก่ญาติมิตรทั้งหลายเป็นธรรมดา ยิ่งมาสิ้นชีวิตลงในขณะที่ยังมีวัยหนุ่มแน่นและในขณะที่กำลังบำเพ็ญประโยชน์อยู่เช่นนั้น ก็น่าที่จะยิ่งให้เกิดความอาลัยเสียดายมากขึ้นได้เป็นธรรมดา เพราะนอกจากการจากไปนั้นจะเป็นการพรากคนดีมีประโยชน์ไปเสียแล้ว ยังเป็นการตัดรอนประโยชน์ทั้งหลายที่หวังว่าจะพึงได้จากการมีชีวิตอยู่ต่อไปของบุคคลผู้นั้นอีกด้วย

อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาในทางธรรม ลำพังการเศร้าโศกอาลัยเสียดายถึงผู้ที่ตายไปแล้ว ย่อมไม่เป็นทางก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งแก่ผู้อยู่และผู้จากไป เพราะไม่ช่วยให้ผู้ล่วงลับไปแล้วกลับคืนเป็นขึ้นมา และจะกลับเป็นโทษแก่ผู้ที่ยังอยู่ ทำจิตใจให้เศร้าหมองขุ่นมัวเป็นทุกข์ ทำปัญญาให้อับเฉาด้วย การระลึกถึงผู้ตายนั้นจะบังเกิดประโยชน์ต่อเมื่อรู้จักพิจารณาด้วยโยนิโสมนสิการ ทำให้เกิดความไม่ประมาทและกำลังใจเข้มแข็งในการบำเพ็ญกุศลกรณีย์แก่ผู้ยังมีชีวิตอยู่ และธำรงรักษาสืบต่อคุณความดีของผู้ล่วงลับจากไป

กล่าวตามหลักธรรม คือ ความจริงของธรรมชาติ ชิวิตมนุษย์ย่อมมีความตายเป็นที่สุด หมายความว่าคนทุกคนต้องตายแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นคนสูงคนต่ำ คนมีคนจน คนฉลาดคนโง่ คนดีคนชั่ว และไม่สามารถชี้ขาดลงได้ว่าความตายนั้นจะมาถึงเมื่อใด ด้วยวิธีใด ดังนั้นข้อที่ว่าชีวิตของผู้ใดจะสั้น หรือยาว จึงไม่มีเครื่องกำหนด หาความแน่นอนมิได้ อย่างไรก็ตาม ความยาวหรือความสั้นของชีวิต มิใช่เป็นเครื่องวัดความดีงามและความมีค่าของชีวิตนั้น บุคคลบางคนอาจมีอายุยืนยาวดำรงชีวิตอยู่ได้นาน แต่เป็นชีวิตที่ว่างเปล่าไร้ค่า อย่างที่ทางพระศาสนา เรียกว่า โมฆชีวิต ส่วนบางคนมีอายุสั้น ชีวิตจบสิ้นลงก่อนกาลอันถือกันว่าสมควร แต่ได้ประกอบคุณงามความดีสร้างประโยชน์ไว้ ชีวิตที่ได้เกิดมีขึ้นครั้งหนึ่งแล้วนั้น แม้จะสั้น ก็มิได้ผ่านลอยหายไปเปล่า แต่ได้บันดาลผลอันดีขึ้นไว้ในชีวิตอื่นๆ ให้สืบเนื่องต่อไป ชีวิตเช่นนี้ ในทางพระศาสนา เรียกว่า เป็นชีวิตที่มีค่า เป็นสาระ ไม่ว่างเปล่า เป็นอโมฆชีวิต

เนื้อความที่ได้พรรณามา แสดงให้เห็นว่า ความยาวหรือความสั้นมิใช่ป็นเครื่องวัดคุณค่าที่แท้จริงของชีวิต แต่ประโยชน์และผลดีต่างๆ ที่เกิดจากชีวิตนั้นต่างหากเป็นเครื่องวัดคุณค่าอย่างแท้จริง กล่าวอีกนัยหนึ่งว่าบุคคลจะดำรงชีวิตของเขาอยู่ในโลกได้ยืนนานเท่าใดไม่เป็นประมาณ ข้อสำคัญอยู่ที่ว่า เขาได้ปฏิบัติต่อชีวิตหรือได้ใช้ชีวิตเท่าที่มีนั้นให้เกิดผลขึ้นบ้างอย่างไร ถ้าได้ดำรงชีวิตอยู่ในความดีงาม อาศัยชีวิตนั้นทำประโยชน์ให้เกิดขึ้นแพร่หลายออกไป ก็ได้ชื่อว่าทำชีวิตให้มีค่า แต่ถ้าปล่อยชีวิตให้ล่วงเวลาไปเปล่า หรือทำชีวิตของตนให้เป็นเหตุถ่วง ขัดขวาง และทำลายความดีงามแห่งชีวิตทั้งหลาย ก็ชื่อว่ามีชีวิตอันไร้ค่า เหตุผลดังได้แสดงมานี้ ต้องด้วยพุทธพจน์ว่า

โย จ วสฺสสตํ ชีเว ทุสฺสีโล อสมาหิโต
เอกาหํ ชีวิตํ เสยฺโย สีลวนฺตสฺส ฌายิโน

แปลความว่า บุคคลใด ประพฤติชั่วร้าย ไม่มีความคิด ถึงจะมีชีวิตอยู่ตั้งร้อยปี ชีวิตของเขาหาประเสริฐไม่ ส่วนบุคคลใด มีศีล มีความคิด แม้มีชีวิตอยู่เพียงวันเดียว ก็เป็นชีวิตที่ประเสริฐกว่า

หรือพุทธภาษิตที่ว่า

โย จ วสฺสสตํ ชีเว กุสีโต หีนวีริโย
เอกาหํ ชีวิตํ เสยฺโย วิริยํ อารภโต ทฬฺหํ

แปลความว่า บุคคลใด เกียจคร้าน มีความเพียรทราม ถึงจะมีชีวิตอยู่ตั้งร้อยปี ชีวิตของเขาก็หาประเสริฐไม่ ส่วนบุคคลใด มุ่งหน้าทำความเพียรอย่างมั่นคง แม้มีชีวิตอยู่เพียงวันเดียว ก็เป็นชีวิตที่ประเสริฐกว่า ดังนี้เป็นต้น

ในเมื่อความยาวหรือความสั้นของชีวิต เป็นสิ่งไม่มีกำหนดแน่นอนเช่นนี้ บุคคลจึงควรปฏิบัติระมัดระวังในเรื่องที่เกี่ยวกับความสั้นหรือความยาวนั้น ด้วยความไม่ประมาทตามเหตุปัจจัย แต่ไม่พึงให้เกิดเป็นความหวาดหวั่นพรั่นกลัวมัวแต่วิตกกังวล เหมือนอย่างบุคคลบางคน ที่กลายเป็นก่อทุกข์เพิ่มขึ้นแก่ตน ยิ่งไปกว่าตัวความตายนั้นเสียอีกซ้ำไป พึงเอาใจใส่ขวนขวายให้มาก แต่ในฝ่ายการดำเนินชีวิต คือ ในข้อที่ว่าจะใช้ชีวิตของตนอย่างไรเพื่อให้เกิดประโยชน์สุขที่มุ่งหมาย หรือจะสร้างคุณค่าเพิ่มพูนสาระให้เกิดมีขึ้นด้วยชีวิตของตนอย่างไร เพราะความขวนขวายใส่ใจอย่างนี้ เป็นทางที่มองเห็นเหตุผลซึ่งจะปฏิบัติได้ให้เห็นผลจริงจัง และสามารถทำได้แพร่หลายขยายกว้างขวางสืบเนื่องต่อๆ กันยิ่งๆ ขึ้นไปไม่มีที่สิ้นสุด ครั้นทำแล้ว ก็มีแต่คุณประโยชน์ ไม่เป็นความคับแคบ และไม่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ตรงข้ามกับเป็นความปลอดโปร่งทำจิตใจให้กว้างขวาง บังเกิดความแกล้วกล้าเข้มแข็งในการบำเพ็ญคุณประโยชน์ยิ่งๆ ขึ้นไป และให้ได้รับความสุขที่เป็นอิสระเป็นไทแก่ตน จนเป็นผู้ที่เรียกได้ว่า พร้อมที่จะตายอยู่เสมอ บุคคลใดมั่นใจในคุณค่าแห่งชีวิตตนจนเป็นผู้พร้อมที่จะตายได้ทุกเวลา บุคคลนั้น อาจกล่าวได้ว่า เป็นผู้ปฏิบัติต่อชีวิตของตนอย่างถูกต้อง ตรงต่อคุณค่าและสาระของชีวิตนั้น แม้จะต้องสูญเสียชีวิตคือตายลงในเวลาใด ก็ไม่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เพราะความเศร้าโศกเสียดายในชีวิตของตน มีแต่คนอื่นๆ เท่านั้นที่กลับเศร้าโศกอาลัยเสียดายถึง เพราะคุณค่าอันเกิดแต่ชีวิตของเขานั้น ส่งผลดีงามขยายออกไปแก่ชีวิตอื่นๆ การสิ้นชีวิตไปจึงทำให้เกิดความรู้สึกสูญเสีย กลายเป็นความเศร้าโศกเสียดาย ตามวิสัยของปุถุชน

การประพฤติปฏิบัติตามวิถีที่ได้แสดงมานี้ กล่าวรวมความสั้นๆ ว่า เป็นการดำเนินชีวิตตามธรรม และมุ่งอุทิศต่อธรรม บุคคลผู้ดำเนินชีวิตด้วยจิตใจที่เจริญแก่กล้า ถึงขั้นเป็นผู้พร้อมที่จะตายเช่นนี้ ย่อมตระหนักชัดว่า ความตายเป็นคติธรรมดาของชีวิต เมื่อไม่ตายอย่างนี้ ก็ไม่แน่ว่าจะตายอย่างไหน ดังนั้น เมื่อทำการใดที่ได้พิจารณาว่าถูกต้องแล้ว ก็ดำเนินไปให้ถึงที่สุดโดยมั่นคง โดยนัยนี้ จึงเป็นผู้อุทิศชีวิตเพื่อธรรมได้ พึงเห็นเช่นอย่างพระพุทธเจ้า ซึ่งทรงยอมสละพระชนม์ชีพเพื่อพระโพธิญาณ และผู้กล้าหาญที่ยอมอุทิศชีวิตเพื่อบูชาอุดมคติอันเป็นธรรม สมตามพุทธศาสนสุภาษิตที่ว่า

ธนํ จเช องฺควรสฺส เหตุ
องฺคํ จเช ชีวิตํ รกฺขมาโน
องฺคํ ธนํ ชีวิตณฺจาปิ สพฺพํ
จเช ธมฺมมนุสฺสรนฺโต

ซึ่งแปลความว่า บุคคลพึงสละทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะ พึงยอมสละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต และพึงยอมสละทุกอย่างทั้งอวัยวะ ทรัพย์ และแม้ชีวิต ในเมื่อคำนึงถึงธรรม

การดำรงธรรมอยู่ได้ แม้ถึงต้องสละชีวิตนี้ ดูอย่างสามัญเหมือนว่าเป็นสิ่งทำได้ยากยิ่งนัก แต่ข้อสำคัญ ในเมื่อจิตใจเจริญถึงขั้นพร้อมแล้วดังได้กล่าวมา ก็ย่อมเป็นเรื่องธรรมดาไปได้เช่นเดียวกัน อีกประการหนึ่งในชีวิตประจำวันตามเหตุการณ์ที่ปรากฏเห็นกันอยู่ทุกๆ วันนี้เอง หากจะฉุกคิดสังเกตสักเล็กน้อย ก็จะเห็นได้ว่าคนทั้งหลายพากันยอมเสียสละชีวิตของตนให้แก่สิ่งที่ไม่เป็นสาระ คือ อธรรม อยู่เป็นจำนวนมากมายทุกๆ วัน บ้างก็ยอมสละชีวิตเพื่อความโลภ บ้างก็สละเพื่อโทสะ บ้างก็สละเพื่อโมหะ นับเป็นข่าวเป็นเหตุการณ์ที่ปรากฎให้เห็นให้ได้ยินอยู่เป็นประจำ เมื่อมนุษย์ยอมสละชีวิตให้แก่สิ่งไร้สาระต่างๆ โดยไม่สมเหตุผลได้ถึงเช่นนี้ เหตุไฉนจึงจะยอมสละเพื่อธรรมอันเป็นสาระและเป็นการสละอย่างมีเหตุผลไม่ได้เล่า

เท่าที่ได้บรรยายมา มุ่งแสดงให้เห็นปฏิปทาสำหรับดำเนินชีวิตให้เป็นสาระมีคุณค่าควรแก่การมีชีวิตอยู่ นับว่าเป็นปฏิปทาสำหรับผู้มีปัญญาหรือจะต้องดำเนินด้วยปัญญา เพราะด้วยอาศัยปัญญานั่นแลบุคคลจึงจะกำหนดแยกได้ว่า สิ่งใดเป็นสาระ สิ่งใดไม่เป็นสาระ สิ่งใดมีคุณค่า สิ่งใดไร้คุณค่า สิ่งใดเป็นประโยชน์ สิ่งใดไม่เป็นประโยชน์ บุคคลใดดำเนินชีวิตด้วยปัญญาเช่นนี้ พระพุทธศาสนายกย่องเรียกบุคคลนั้นว่าบัณฑิต คำว่าบัณฑิตแปลตามหลักทางพระพุทธศาสนาว่า ผู้ดำเนินชีวิตด้วยปัญญา คือ รู้จักใช้ปัญญากำหนดแยกสาระและอสาระเป็นต้นแล้ว ดำเนินชีวิตของตนให้พ้นจากอสาระ และให้ประกอบด้วยสาระได้จริงอย่างนั้น ข้อนี้สมด้วยพุทธพจน์ที่แสดงความหมายของความเป็นบัณฑิตไว้ ดังบาลีว่า

อตฺตหิตํ ปรหิตํ อุภยหิตํ สพฺพโลกหิตเมว จินฺตยมาโน จินฺเตติเอวํ โข ภิกฺขุ ปณฺฑิโต มหาปญฺโ โหติ

แปลความว่า เมื่อจะคิด ก็คิดการที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ตน เกื้อกูลแก่ผู้อื่น เกื้อกูลแก่ชาวโลกทั้งหมดทีเดียว อย่างนี้แล ภิกษุจึงจะชื่อว่าเป็นบัณฑิต มีปัญญามาก

ตามนัยพุทธภาษิตนี้ พึงสังเกตว่า พระพุทธศาสนา กำหนดความหมายของความเป็นบัณฑิต ด้วยวิธีการดำเนินชีวิต เริ่มแต่ใช้ความคิดเป็นต้นไป กล่าวคือ ตัดสินด้วยความประพฤติปฏิบัติ มิใช่ด้วยความรู้ความเชี่ยวชาญทางวิชาการ แม้ความหมายของความเป็นบัณฑิตที่เข้าใจกันในปัจจุบัน คือการสำเร็จการศึกษาขั้นสูง ได้รับปริญญาอย่างใดอย่างหนึ่งนั้น หากกำหนดด้วยหลักพระพุทธศาสนา ย่อมถือได้ว่า เป็นเพียงเครื่องหมายที่แสดงถึงการที่บุคคลนั้นได้ตระเตรียมตนเองให้ได้รับความรู้ ความชำนิชำนาญ และการฝึกหัดอบรมต่างๆไว้ เพื่อดำเนินชีวิตให้เป็นบัณฑิตต่อไป กล่าวสั้นๆว่า เป็นการทำตนให้พร้อมที่จะเป็นบัณฑิต ต่อเมื่อใด นำความรู้ความสามารถที่ได้ฝึกอบรมมานั้นไปใช้ปฏิบัติในการดำเนินชีวิต ให้เกิดผลเป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนและบุคคลอื่น เมื่อนั้น จึงจะเรียกชื่อได้ว่าเป็นบัณฑิตแท้จริง

ยังมีข้อที่พึงสังเกตอีกประการหนึ่งในเรื่องความเป็นบัณฑิตนี้ กล่าวคือ การปฏิบัติ หรือการดำเนินชีวิตนั้น ระบุชัดลงไปว่าให้เกิดประโยชน์ทั้งแก่ตน แก่บุคคลอื่นๆ และแก่ชาวโลกทั้งปวง ว่าโดยความหมายประโยชน์ทุกประการเหล่านี้ มีสาระเป็นอย่างเดียวกันต่างแต่ขอบเขตความกว้างขวางมากน้อยกว่ากันเท่านั้น ประโยชน์เกื้อกูลแก่ตนย่อมเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้อื่นและแก่โลกด้วย ประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้อื่นและแก่โลก ก็เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ตนด้วย เพราะคำว่าประโยชน์ในที่นี้ มิได้หมายถึงผลประโยชน์อย่างที่เข้าใจกันโดยสามัญโดยเฉพาะประโยชน์ตน ย่อมหมายถึงความเจริญงอกงาม ความมีค่าความเป็นสาระแห่งชีวิตของตน การบำเพ็ญประโยชน์ตน ก็คือการทำชีวิตของตนให้เจริญงอกงาม ให้มีค่า เป็นสาระมากขึ้น และการทำชีวิตของตนให้เจริญงอกงามมีค่า เป็นสาระ ก็คือการเสริมสร้างคุณธรรมต่างๆ ขึ้นในตน อันรวมถึงการบำเพ็ญประโยชน์แก่ผู้อื่น และแก่โลกด้วย โดยนัยนี้ การบำเพ็ญประโยชน์ตน จึงมิใช่เป็นการขัดต่อการบำเพ็ญประโยชน์แก่ผู้อื่นและแก่โลก แต่มีความหมายสอดคล้องประสานเป็นอันหนึ่งอันเดียว เริ่มต้นแต่การทำตนให้พร้อมที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่นด้วยดี มิให้เกิดความเดือดร้อนทั้งแก่ตนและบุคคลอื่นและพร้อมที่จะบำเพ็ญประโยชน์กว้างขวางยิ่งๆ ขึ้นไปโดยลำดับ

การบำเพ็ญประโยชน์ตน ด้วยการทำชีวิตให้มีค่า เป็นสาระ อันเป็นการเกื้อกูลแก่ผู้อื่นและแก่โลกไปด้วยพร้อมกันนั้น พระพุทธองค์ทรงแสดงตัวอย่างไว้ โดยทรงสอนให้สร้างคุณธรรม ๕ ประการขึ้นในตน คือ ศรัทธา ๑ ศีล ๑ สุตะ ๑ จาคะ ๑ ปัญญา ๑ จะแสดงความหมายของธรรมเหล่านี้แต่โดยย่อต่อไป

  1. ศรัทธา ได้แก่ ความเชื่อ ความเลื่อมใส ความใฝ่นิยมในคุณค่าที่พิจารณาเห็นแล้วว่าเป็นความดีงามอันควรยึดถือ สำหรับมนุษย์ปุถุชน ศรัทธาย่อมเป็นพื้นฐานขั้นแรกของจิตใจ ที่จะบันดาลความประพฤติปฏิบัติในขั้นต่อๆ ไปให้หมุนไปตาม และเป็นกำลังอันแรงที่จะชักจูงบุคคลให้กระทำการต่างๆ อย่างแข็งขันจริงจัง ศรัทธามีความสำคัญเช่นนี้ พระพุทธศาสนาจึงสอนให้บุคคลปลูกศรัทธาขึ้นในตนและบำรุงศรัทธานั้นให้งอกงาม แต่ศรัทธาที่มุ่งหมายในพระพุทธศาสนานี้ประสงค์เอาความเชื่อในสิ่งที่พิจารณาเห็นจริงแล้วด้วยเหตุผล มิใช่เชื่องมงาย ตามปกติจิตใจของปุถุชนย่อมจะเชื่อถือผูกพันหรือยึดมั่นอยู่ในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ความเชื่อโดยมีเหตุผลจะช่วยให้บุคคลปลอดภัยจากความหลงผิด หรือมีโอกาสถอนตนพ้นจากความเชื่อถือที่ผิด ดำเนินเข้าสู่ทางที่ถูก บังเกิดความเจริญงอกงามแห่งชีวิตจิตใจได้
  2. ศีล ได้แก่ ความประพฤติสุจริต ความราบรื่นกลมกลืนแห่งความประพฤติทางกายและวาจา การไม่เบียดเบียน ไม่ก่อความเดือดร้อน ไม่ล่วงละเมิดสิทธิที่ตกลงกำหนดไว้โดยชอบธรรมของกัน ความอยู่ร่วมกันด้วยดีกับผู้อื่นในสังคม ตลอดถึงการฝึกหัดอบรมขัดเกลาความประพฤติของผู้ต้องการคุณธรรมที่ยิ่งๆ ขึ้นไป ศีลนอกจากเป็นคุณธรรมเพื่อความอยู่ร่วมกันด้วยดีในสังคมแล้ว ยังเป็นเครื่องทำสภาพชีวิตให้อยู่ในภาวะอันเหมาะสมที่จะเป็นที่รองรับคุณธรรมอย่างอื่นๆ และเป็นเครื่องปรับชีวิตให้เข้าสู่แนวทางที่จะเจริญก้าวหน้าต่อไปอีกด้วย
  3. สุตะ ได้แก่ ความรู้ที่เกิดจากการได้ยินได้ฟังและการศึกษาเล่าเรียน ความรู้ย่อมเป็นอุปกรณ์สำคัญในการดำรงชีวิตและการประกอบกิจทุกอย่างของมนุษย์ เริ่มแต่การประกอบอาชีพเป็นต้นไป ตลอดถึงการที่จะช่วยเหลือตนเองและเกื้อกูลแก่ผู้อื่นในกิจทุกอย่าง
  4. จาคะ ได้แก่ ความสละได้ ปล่อยได้ ความเผื่อแผ่ ความเสียสละ หมายถึงความมีจิตใจไม่คับแคบ ไม่สยบยึดติด สามารถวางใจเป็นอิสระ เผื่อแผ่ แบ่งปัน หรือปล่อยให้แก่ผู้อื่นได้ คุณธรรมข้อนี้มีความสำคัญยิ่งในหลายระดับ เริ่มแต่การที่จะทำให้บุคคลปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้องต่อสิ่งอำนวยความสุขแก่ชีวิตที่ตนเองสร้างขึ้นมา สามารถใช้สิ่งเหล่านั้นให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิตได้ตามวัตถุประสงค์ของมัน โดยไม่กลับตกไปเป็นทาสของสิ่งต่างๆ ที่ตนสร้างขึ้นมาเอง ไม่เกิดความหมกมุ่นมัวเมา สามารถเผื่อแผ่ช่วยเหลือผู้อื่นด้วยจิตใจที่กว้างขวางปลอดโปร่ง กระจายความสุขให้แพร่หลายออกไป
  5. ปัญญา ได้แก่ ความรู้ความเข้าใจในสภาวะของสิ่งทั้งหลาย สามารถแยกแยะสืบสาวความสัมพันธ์โดยทางเหตุผล สามารถวินิจฉัยระหว่างดี ชั่ว คุณ โทษ เป็นประโยชน์ ไม่เป็นประโยชน์ และรู้ที่จะจัดการให้เหมาะสมถูกต้องในเรื่องนั้นๆ ปัญญาเป็นคุณธรรมกลั่นกรองและบอกทางให้แก่คุณธรรมอย่างอื่นๆ ทั้งหมด เช่นในการที่จะใช้สุตะ คือความรู้ วิชาการที่ได้เล่าเรียน ให้เกิดเป็นประโยชน์ หรือปรุงแต่งความรู้ใหม่ๆ เป็นต้น

คุณธรรม ๕ ประการ เป็นสิ่งที่ทำชีวิตให้เจริญงอกงาม มีค่า และเป็นสาระ ผู้เสริมสร้างคุณธรรมเหล่านี้ขึ้นในตน จึงชื่อว่าเป็นผู้บำเพ็ญประโยชน์ตน และมองเห็นได้ชัดว่าประโยชน์ตนเช่นนี้ เป็นสิ่งที่เกื้อกูลก่อประโยชน์ผู้อื่นไปด้วยพร้อมกัน ยิ่งบำเพ็ญมากขึ้นเท่าใดก็ยิ่งขยายออกไปเป็นประโยชน์ผู้อื่นมากเท่านั้น หาขัดแย้งกันไม่ บุคคลผู้บำเพ็ญประโยชน์ตนอยู่อย่างนี้ ย่อมประสบความสุขโดยตนเองด้วย ทำความสุขให้เกิดแก่ผู้อื่นด้วย เพราะคุณธรรมเหล่านี้ เป็นตัวสร้างความสุขที่แท้จริงหรือเป็นตัวการที่ทำบุคคลให้พร้อมที่จะรับความสุขได้ ไม่เหมือนทรัพย์สมบัติและวัตถุต่างๆ ที่เป็นอามิสภายนอก ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นสิ่งให้ความสะดวกสบายหรือเป็นเครื่องประกอบเสริมความสุข มากกว่าจะให้ตัวความสุขที่แท้จริง ความสะดวกสบายต่างๆ นั้น เป็นเครื่องอำนวยโอกาสสำหรับความสุข แต่ไม่ใช่ตัวความสุขเอง และจึงไม่ใช่เครื่องวัดความสุขของคนได้เสมอไป บุคคลผู้มีเหตุแห่งความสุขในภายใน เมื่อได้อาศัยความสะดวกสบายเข้าประกอบ ก็ได้เสวยความสุขเพียบพร้อม แต่บางคนดำรงชีวิตอยู่ท่ามกลางสิ่งอำนวยความสะดวกสบาย ก็หามีความสุขไม่ โดยนัยนี้ บางคนผู้อยู่ในถิ่นห่างไกลจึงมีความสุขได้ยิ่งกว่าบางคนผู้อยู่ในถิ่นซึ่งนับว่าเจริญ บางคนผู้มีศรัทธาในอุดมคติ ยอมเสียสละผลประโยชน์ส่วนตนไปบำเพ็ญประโยชน์ด้วยความเหนื่อยยากอดทน จึงมีความสุขได้ยิ่งกว่าบางคนผู้อยู่ท่ามกลางการบำรุงบำเรอ และพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพร้อมทั้งเหล่าพระสาวก จึงสามารถตรัสยืนยันได้ว่า ทรงมีความสุขยิ่งกว่าท่านผู้ดำรงอยู่ในอิสริยยศ สมบูรณ์เพียบพร้อมด้วยความปรนเปรอ ไม่ว่าท่านใดๆ กล่าวได้ว่าคุณธรรมเช่นอย่างธรรม ๕ ประการนี้มีในบุคคลใด บุคคลนั้นก็มีจิตใจอยู่ในสภาพที่พร้อมจะเสวยความสุข คุณธรรมอย่างนี้ มีในสังคมใด สังคมนั้น ก็ย่อมอยู่ในสภาพซึ่งพร้อมที่จะอำนวยความสุขแก่สมาชิกทุกคนในสังคม

ประโยชน์ตนที่ถูกต้องแท้จริง ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ผู้อื่นและประโยชน์แก่โลกด้วยอย่างนี้ จึงควรที่จะหาทางส่งเสริมกันให้มีจิตยินดีและแกล้วกล้าอาจหาญ ในการบำเพ็ญประโยชน์ดังที่แสดงมา เพื่อประโยชน์สุขและความดีงามอันร่วมกัน และที่ทุกคนมีส่วนได้รับอยู่ด้วย ในทางพระศาสนาก็มีพุทธภาษิตสนับสนุนการกระทำอย่างนี้ ดังคาถาที่ยกขึ้นเป็นนิกเขปบทข้างต้นว่า

ยงฺกิญฺจิ ยิฏฺํ ว หุตํ ว โลเก
สํวจฺฉรํ ยเชถ ปุญฺญเปกฺโข
สพฺพํปิ ตํ น จตุภาคเมติ
อภิวามนา อุชุคเตสุ เสยฺโย ดังนี้

แปลความว่า บุคคลผู้ต้องการทำบุญ จะพึงบำเพ็ญทาน หรือประกอบพิธีบูชาอย่างใดก็ตามในโลก ตลอดกาลทั้งปี การที่ประกอบทั้งสิ้นนั้น หามีค่าเท่าหนึ่งในสี่ส่วนของการอภิวาทน้อมเศียรให้แก่ผู้ดำเนินชีวิตตรงไม่ การอภิวาทนั้นแลประเสริฐกว่า และอีกคาถาหนึ่งว่า

มาเส มาเส สหสฺเสน โย ยเชถ สตํ สมํ
เอกญฺจ ภาวิตตฺตานํ มุหุตฺตมปิ ปูชเย
สาเยว ปูชนา เสยฺโย ยญฺเจ วสฺสสตํ หุตํ

แปลความว่า บุคคลใด พึงประกอบพิธีบูชา โดยสม่ำเสมอ ด้วยใช้ทรัพย์จำนวนพันทุกๆ เดือน ถ้วนเวลาตั้งร้อยปี พิธีบูชานั้นก็หาประเสริฐไม่ ส่วนผู้ใดพึงบูชาผู้ฝึกอบรมตนแล้วสักคนเดียว แม้ชั่วเวลาหนหนึ่ง การบูชานั้นแลประเสริฐกว่า พิธีบูชาตั้งร้อยปีจะมีความหมายอะไร

พุทธภาษิตในธรรมบท ๒ คาถานี้ มีความหมายสำคัญที่ควรตระหนักอย่างพิเศษ เพราะนอกจากเป็นคำสอนทางจริยธรรมอย่างคำสอนในที่อื่นๆแล้ว ยังเป็นการกระทำดังที่เรียกในภาษาปัจจุบันได้ว่า การกำหนดค่านิยมใหม่ให้แก่สังคมด้วย ด้วยว่าสังคมครั้งก่อนและในสมัยพุทธกาลนั้น นิยมยกย่องการประกอบการบูชาและพิธีกรรมทางศาสนาเป็นอย่างมาก การประกอบพิธีเหล่านี้ล้วนมุ่งหวังผลประโยชน์ตอบแทนอันเป็นส่วนตน คือ ทรัพย์ ยศ อำนาจ และกามสุขต่างๆ นักบวชสมัยนั้น ได้ยักเยื้องแบบแผนพิธีกรรมต่างๆ เหล่านี้ออกไปให้วิจิตรพิสดารเป็นอันมาก จนผู้ที่พิจารณาด้วยปัญญาจะมองเห็นได้ว่าเป็นสิ่งงมงายไร้เหตุผล เป็นสีลัพพตปรามาสขั้นหยาบชัดแจ้ง เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติแล้วได้ทรงสั่งสอนมุ่งหมายหักล้างความนิยมในการเช่นนี้ เป็นข้อสำคัญที่สุดอย่างหนึ่ง โดยได้ทรงกำหนดให้บำเพ็ญทาน คือ การให้เพื่อกำจัดโลภะ และเพื่อช่วยเหลือสงเคราะห์กันในสังคมขึ้นมาแทน และทานนี้ได้เป็นคำสอนหลักใหญ่ ปรากฏมากที่สุดในพุทธศาสนาข้อหนึ่ง แต่กระนั้น ตามพุทธภาษิต ๒ คาถานี้ทำให้เห็นเพิ่มเติมต่อไปอีกว่า พระองค์ทรงสอนให้ถือว่าการยกย่องเคารพบูชาคนดี เป็นการกระทำที่สำคัญ มีค่ายิ่งขึ้นไปกว่าทานนั้นเสียอีก

บุคคลผู้ดำเนินชีวิตตรงหรือผู้ฝึกอบรมตนแล้วตามพุทธภาษิตข้างต้น อรรถกถาอธิบายว่า หมายถึงพระอรหันต์ แต่ข้อนั้นเป็นการอธิบายความหมายขั้นสูงสุด เล็งถึงบุคคลในอุดมคติ ในที่นี้พึงถือเอาความหมาย กำหนดแต่ใจความโดยอนุโลมว่า หมายถึงผู้มีความประพฤติสะอาดบริสุทธิ์ ดำรงคุณธรรมยึดถือเป็นแบบอย่างได้ ความมุ่งหมายของพุทธภาษิตทั้งสองนี้ อยู่ตรงที่ทรงสอนย้ำอย่างหนักแน่นให้สังคมหันมาใส่ใจยกย่อง เชิดชู ส่งเสริมคนดี และให้ถือเอาความสุจริตและคุณธรรมเป็นเครื่องวัดคุณค่าของบุคคล มิใช่วัดด้วยอาการภายนอกมีทรัพย์ ยศ และอำนาจ เป็นต้น หากสังคมยึดถือได้เช่นนี้ ก็จักเป็นความดีงามและนำมาซึ่งประโยชน์สุขแก่สังคมนั้นเอง พร้อมทั้งแก่บุคคลทุกคนผู้เป็นส่วนประกอบแห่งสังคมนั้นชั่วกาลนาน

เมื่อย้อนกลับมาพิจารณาถึงชีวประวัติของ นายโกมล คีมทอง ตามนัยแห่งหลักธรรมที่ได้แสดงมา ทำให้ได้ความคิดเห็นว่า เธอเป็นผู้ควรแก่นามว่าบัณฑิตได้ผู้หนึ่ง ทั้งนี้ โดยทั้งสองสถาน คือ สถานแรกเป็นไปตามความกำหนดนิยมในหมู่ชาวโลกว่าเป็นผู้สำเร็จการศึกษาชั้นปริญญา เป็นครุศาสตร์บัณฑิต อันถือโดยทางธรรมว่าเป็นผู้ได้สั่งสมความรู้ความสามารถอันเป็นอุปกรณ์ไว้พร้อมเพื่อความเป็นบัณฑิตต่อไป ในสถานที่สอง เธอเป็นบัณฑิตโดยชอบตามหลักธรรม เมื่อได้นำความรู้ความสามารถนั้นมาใช้ในการดำเนินชีวิต บำเพ็ญกรณียกิจอันเป็นประโยชน์ ทำชีวิตของตนให้เจริญงอกงามด้วยคุณค่าและสาระ บังเกิดผลในทางปฏิบัติอันนับได้ว่าเป็นทั้งประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น และประโยชน์แก่ชาวโลกทุกประการ แม้จะดำรงชีวิตอยู่ได้ไม่นาน แต่ก็ได้ทำชีวิตเท่าที่ตนมีนั้นให้มีค่าเป็นแก่นสาร เป็นอโมฆชีวิต คือชีวิตที่ไม่ว่างเปล่า อันใครๆ ไม่พึงติเตียนว่า ใช้ประโยชน์แห่งชีวิตไม่คุ้มเวลา แม้ชีวิตจะสั้น ก็ใช้ได้คุ้มค่า ไม่ควรที่ใครจะต้องเป็นห่วง แต่กลับเป็นเครื่องตักเตือนผู้ยังอยู่เสียอีกซ้ำไป ให้ห่วงใยแก่เวลาที่ล่วงไปว่า ชีวิตของตนได้บังเกิดคุณค่ามีความหมายอย่างใดบ้างหรือยัง

นายโกมล คีมทอง เป็นบุคคลหนึ่งในฝ่ายที่รียกว่าคนรุ่นใหม่ เมื่อเธอได้บำเพ็ญคุณความดีไว้ ชีวิตของเธอจึงมีคุณค่าพิเศษอีกอย่างหนึ่ง สำหรับคนรุ่นใหม่ด้วยกันโดยเฉพาะ กล่าวคือ เป็นประจักษ์พยานหรือตัวแทนที่ยืนยันถึงความดีงามที่มีอยู่ในหมู่คนรุ่นใหม่ และโดยนัยนี้ จึงอาจกล่าวได้ต่อไปอีกว่า การสูญเสียชีวิตของเธอ เป็นการเสียสละเพื่อเกียรติแห่งคนรุ่นใหม่นี้ส่วนหนึ่ง โดยเหตุผลนี้ หากคนรุ่นใหม่จะมองเห็นคุณค่าแห่งการกระทำของเธอ และช่วยกันรักษาความดีนั้นไว้ ก็คงจะเป็นความสมควรยิ่งอย่างหนึ่ง และจะเป็นวิธีการทำให้การสูญเสียชีวิตของเธอไม่เป็นเหตุการณ์ว่างเปล่า แต่กลับเป็นพลังบันดาลผลที่ยั่งยืนสืบไป และเป็นการช่วยทำชีวิตของเธอให้เป็นเสมือนยังคงอยู่เป็นอมตะด้วย

ความจริงตัวธรรมะนั่นเองเป็นสิ่งอมตะ ดังนั้น ผู้ใดดำรงชีวิตอยู่ในธรรม ทำชีวิตให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรม ชีวิตของผู้นั้นย่อมกลายเป็นอมตะไปด้วย แต่ความเป็นอมตะเช่นนี้ เป็นความอมตะโดยสภาพ ไม่เป็นของปรากฏผลในหมู่มนุษย์ มนุษย์จะทำความเป็นอมตะนี้ให้ปรากฏผลเป็นประโยชน์แก่พวกตนได้ ก็ด้วยช่วยกันทำให้เป็นไปอย่างในกรณีของนายโกมล คีมทองนี้ หากประวัติการเสียสละบำเพ็ญกุศลกรณี และการสูญเสียชีวิตของเธอจะเป็นเหตุปลูกศรัทธาในความดี และเป็นพลังผลักดันจิตใจของมิตรสหายและผู้ได้ทราบเรื่องราวทั้งหลาย ให้มีความเข้มแข็งอาจหาญในการที่จะบำเพ็ญความดียิ่งๆ ขึ้นไป การสูญเสียชีวิตของเธอก็จะไม่กลายเป็นเหตุการณ์ที่ผ่านไปเปล่า และจักเป็นการทำความอมตะให้ปรากฏแก่ชีวิตของเธอสืบไป

การที่จะให้คุณความดีของบุคคลมีค่ายั่งยืนส่งผลแก่ผู้อื่นต่อไปได้ยาวนานนั้น ผู้ร่วมสังคมจะต้องช่วยกันยกย่องเชิดชู สนับสนุนให้ปรากฏตามสมควร การทำเช่นนี้มิใช่จะเอาใจผู้บำเพ็ญกรณีย์ แต่เพื่อธำรงความดีของสังคม สมตามพุทธพจน์ที่แสดงมาข้างต้น แม้คณะเจ้าภาพผู้มาบำเพ็ญกุศลในบัดนี้ ก็คงมีความมุ่งหมายเช่นเดียวกัน จึงได้ขวนขวายจัดงานทำบุญสัตตมวารอุทิศให้

ในอวสานแห่งพระธรรมเทศนานี้ ขออำนาจกุศลบุญราศีที่คณะเจ้าภาพได้บำเพ็ญทั้งมวล จงเป็นพลวปัจจัยอำนวยวิบากสมบัติแก่นายโกมล คีมทอง ตามสมควรแก่คติวิสัยในสัมปรายภพ ตามเจตน์จำนงของคณะเจ้าภาพทุกประการ

อาตมภาพ รับประทานวิสัชนาพระธรรมเทศนาในอโมฆชีวีกถา โดยสมควรแก่เวลา ยุติลงแต่เพียงนี้ เอวํ ก็มี ฯ

พระธรรมเทศนา สมชีวีกถา

พระธรรมเทศนา แสดงในงานมงคลสมรสของนายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กับนางสาวประคองกูล อิศรางกูร ณ อยุธยา เมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๑๔

พระธรรมเทศนา สมชีวีกถา (แต่งงาน) รวมเล่มอยู่ในเรื่อง "คู่สร้างคู่สม ชีวิตคู่ในอุดมคติ"

ธรรมกับกาม9

เจริญพรท่านชาวพุทธบริษัททั้งหลาย

หลังจากได้ฟังอภิปรายมาแล้วอาตมาขอแสดงความเห็นแทรกสักเล็กน้อยว่า หัวข้อเรื่องพูดที่ว่า ธรรมะกับกาม นั้น ในเรื่องความหมายของธรรมก็ได้พูดกันไปแล้วว่ามีความหมายกว้างมาก ถ้าจะพูดกันละเอียดก็คงเสียเวลามาก อาตมภาพอยากจะแสดงความคิดเห็นไว้นิดหน่อย ระหว่างธรรมะกับกามนั้น ความจริงการปฏิบัติถูกต้องต่อกามนั้นแหละคือความหมายอย่างหนึ่งของธรรมะ เพราะฉะนั้นเมื่อมาพูดถึงเรื่องกาม และพูดถึงว่าจะปฏิบัติอย่างไรให้ดีต่อกาม อันนี้เราจะได้ธรรมะขึ้นมา ฉะนั้น เราอาจจำกัดวงการพูดของเราไว้เพียงเท่านี้ ก็คงจะได้ประโยชน์พอสมควร อันนี้เป็นแง่ที่หนึ่งคือ ธรรมะในฐานะการปฏิบัติให้ถูกต้องต่อกาม

ทีนี้ได้มีผู้พูดถึงว่า การปฏิบัติธรรมจะทำให้เรามีความเจริญในโลกแห่งกามนี้ได้หรือไม่ คำว่า ความเจริญหรือไม่เจริญก็พูดได้กว้าง เราอาจจะไม่ต้องพูดถึงเฉพาะแต่ธรรมะอย่างเดียว เราอาจจะพูดว่า ธรรมะเจริญ หรืออธรรมเจริญก็ได้ บางคราวธรรมะเจริญ บางคราวอธรรมก็เจริญได้ ท่านว่าสมัยใดธรรมะเจริญ สมัยนั้นก็ร่มเย็นเป็นสุข ผู้ประพฤติธรรมก็พลอยได้รับความเจริญไปด้วย ถ้าสมัยใดอธรรมเจริญ ก็ย่อมเป็นธรรมดาว่าผู้ประพฤติอธรรม หรือผู้ไม่ประพฤติธรรมจะเจริญ ผู้ที่ประพฤติธรรมก็ต้องตกในที่นั่งที่ชาวโลกชอบพูดว่า ทำดีทำไมไม่ได้ดี “ดี” ในที่นี้หมายถึงความหมายอย่างที่โลกสมมติ ซึ่งอาจจะไม่ตรงกับความหมายในทางธรรมทีเดียว ฉะนั้น เราต้องเข้าใจความหมายอันนี้ด้วยว่า ถ้าหากในสมัยใดที่อธรรมเจริญ คือคนทั่วไปทั้งหลายเป็นผู้ไม่ประพฤติธรรม และได้รับความเจริญอย่างที่โลกนิยมสมมติ สมัยนั้นสังคมไม่มีความสุข คนที่เรียกว่า เจริญด้วยการประพฤติอธรรม ก็ไม่มีความสงบสุขแท้จริง เพราะโลกมีแต่ความเดือดร้อน พูดอีกสำนวนหนึ่งว่า ในสมัยที่คนเห็นว่า ทำดีไม่ได้ดี แต่ทำชั่วได้ดีนั้น จะเป็นยุคที่สังคมส่วนรวมเดือดร้อนไม่มีความสงบสุข และโดยแท้จริงแล้วไม่มีใครมีความสุขแท้จริง ปัญหามีอยู่ว่า เราจะให้ธรรมะเจริญหรืออธรรมเจริญ ถ้าหากเรายอมรับว่าให้อธรรมเจริญแล้ว มวลมนุษย์ย่อมไม่เป็นสุข มีแต่ความเดือดร้อน เราก็ต้องพยายามทำให้ธรรมะเจริญขึ้น เมื่อธรรมะเจริญแล้ว คนที่ประพฤติธรรมก็พลอยเจริญด้วย เวลานั้นสังคมส่วนรวมจะร่มเย็นเป็นสุข ชาวโลกจะพูดกันได้ว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เงื่อนไขสำคัญในเรื่องนี้ก็คือ ในการที่ธรรมจะเจริญ อธรรมจะเสื่อมนั้น คนจะต้องมีความเห็นถูกต้องว่าธรรมดี หรือดีคือธรรม และอธรรมไม่ดี หรือชั่วคืออธรรม พูดอีกอย่างหนึ่งว่า ต้องเป็นยุคสมัยที่คนชอบธรรม ไม่ใช่ชังธรรม นี่เป็นความหมายแง่หนึ่ง

ทีนี้พูดให้ลึกลงไป ความหมายของคำว่า กาม มี ๒ อย่างคือ วัตถุกาม และกิเลสกาม วัตถุกาม คือสิ่งทั้งหลายที่น่าใคร่น่าปรารถนา น่าพอใจ กล่าวโดยสรุปก็ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่น่าใคร่ และเมื่อพูดขยายความออกไปก็รวมถึงทรัพย์สมบัติต่างๆ เรือกสวนไร่นา ลาภยศ สุขสรรเสริญต่างๆ เหล่านี้ ก็เป็นเรื่องกาม เป็นวัตถุกาม ส่วนกิเลสกามก็คือ ตัวกิเลสความอยากได้ที่อยู่ในใจของคน หรือตัวกิเลสที่เป็นเหตุให้อยากให้ใคร่ มีพุทธพจน์อยู่แห่งหนึ่งตรัสว่า ความอยากได้ใคร่ติดที่เป็นความดำรินึกคิดอยู่ในใจของคนนี้แหละเป็นกาม สิ่งทั้งหลายที่วิจิตรงดงามตระการในโลก หาใช่เป็นกามไม่ ใจคนที่นึกคิดอยากได้ใคร่เอานั่นแหละคือกามแท้ ส่วนสิ่งวิจิตรสวยงามทั้งหลายมันก็ตั้งอยู่ตามปกติของมัน ทีนี้ถ้าหากพูดในความหมายขั้นสุดท้ายแล้ว กามจะไม่มีเหลือเลย เหลือแต่ตัวธรรมะอย่างเดียว ทุกอย่างเป็นธรรมะไปหมด ดังนั้น อาจจะต้องตั้งคำถามว่า เราจะพูดถึงเรื่องธรรมกับกามในระดับไหน? อาตมภาพได้แสดงความหมายไว้อย่างหนึ่งว่า ธรรมะในฐานะเป็นการปฏิบัติถูกต้องต่อกาม นี้ก็เป็นการพูดในระดับหนึ่ง

กามยังมีความหมายอย่างหยาบและอย่างละเอียด อย่างหยาบเป็นความหมายในภาษาไทย หมายถึงเรื่องเพศซึ่งเป็นความหมายที่แคบ แต่ความหมายทางพุทธธรรมหมายถึง กามคุณ คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่น่าชอบใจ ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ซึ่งกินความหมายครอบคลุมมาก มีพุทธพจน์ตรัสไว้ว่า สมณพราหมณ์ก็ยังเกี่ยวข้องกับกามอยู่ แต่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับกามก็มีหลายระดับ มีทั้งระดับที่ตกเป็นทาสของกามก็มี พวกนี้ต้องตกอยู่ในความทุกข์ ถูกกามบีบคั้น สำนวนท่านว่า ถูกมารทำเอาตามใจชอบ เพราะว่าความสุขความทุกข์ในใจคนขึ้นกับกาม คือ หมดอิสรภาพโดยสิ้นเชิง พวกนี้เป็นเหมือนเนื้อที่ติดบ่วง ชั้นที่ ๒ เหมือนกับเนื้อที่ไม่ติดบ่วง แต่นอนทับบ่วงอยู่ พวกนี้ได้แก่พวกที่ยังเสวยกามอยู่ แต่ปฏิบัติต่อกามอย่างถูกต้อง จึงไม่ถูกกามทำพิษเอามากนัก แต่ยังต้องมีความหวาดระแวงบ้าง ไม่พ้นจากอำนาจกามโดยสิ้นเชิง ส่วนพวกที่ ๓ นั้นเป็นเหมือนเนื้อที่อยู่ในป่าห่างไกลจากนายพรานชนิดที่มองไม่เห็นหลังแล้ว พวกนี้ชื่อว่าเป็นอิสระโดยสิ้นเชิง การที่จะเป็นอิสระได้นี้ ท่านว่าต้องได้ประสบกับปีติสุขอันประณีตและสูงกว่ากาม และมีพระสูตรเช่น มาคัณฑิยสูตร ได้ตรัสสำทับไว้ว่า พระพุทธองค์เองหากยังไม่ได้ประสบปีติสุขที่ประณีตสูงกว่ากามแล้ว จะปฏิญาณพระองค์ไม่ได้เลยว่า จะไม่หวนกลับมาสู่กามอีก ฉะนั้น เรื่องกามนี้จึงเป็นเรื่องใหญ่มาก ตราบใดที่เรายังไม่ได้ประสบกับปีติสุขที่ประณีตสูงกว่ากามแล้ว เราจะไม่หลุดพ้นเป็นอิสระจากกามแท้จริงได้ จนกระทั่งเห็นกามหมดความหมายไปเอง ตราบใดที่เรายังไม่ได้ประสบปีติสุขอย่างนั้น ถึงจะปฏิบัติธรรมแค่ไหนก็ตาม เราก็ยังอยู่ในระดับของผู้ฝึกหรือผู้พยายามปฏิบัติ เราอาจมีความภูมิใจหรืออาจยกย่องกันว่าท่านผู้นี้เพียรพยายามปฏิบัติตนเพื่ออิสระ ให้พ้นไปจากกาม แต่การพ้นไปจากกามนั้นยังไม่มีความหมายแท้จริง ตราบใดที่เรายังไม่ได้ไม่ได้ประสบความสุขที่ประณีตสูงส่งกว่ากามนั้น

มีพระสูตรอีก ๒ สูตร จะขอยกเรื่องในพระไตรปิฎกมาเล่าเป็นคติ หรือเพื่อประโยชน์ในทางปฏิบัติแก่ท่านที่เกี่ยวข้องกับทั้งเรื่องธรรมและเรื่องกาม พระสูตรหนึ่งเล่าว่า วันหนึ่งพระอานนท์ได้ไปที่บ้านของอุบาสิกาท่านหนึ่ง ชื่อว่า มิคสาลา เมื่อไปถึงบ้าน อุบาสิกาท่านนั้นก็พูดบ่นขึ้นมาว่า ธรรมะของพระพุทธเจ้านี้ จะให้ข้าพเจ้าเข้าใจอย่างไรกันแน่ พระอานนท์ก็ถามว่า ทำไม ท่านบ่นเรื่องอะไรหรือ อุบาสิกาก็เล่าบอกว่าเรื่องเป็นอย่างนี้ บิดาของข้าพเจ้าชื่อ ปุราณะ ท่านเป็นพรหมจารี ถือพรหมจรรย์ งดเว้นจากเรื่องของชาวบ้าน ไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องทางเพศเลย และบัดนี้ท่านถึงแก่กรรมไปแล้ว และในเวลาเดียวกันท่านอิสิทัต ซึ่งเป็นเพื่อนรักของบิดาของข้าพเจ้า ท่านผู้นี้ไม่ได้ถือพรหมจรรย์เลย ท่านเพียงแต่ว่ายินดีในคู่ครองของท่านเท่านั้น และท่านก็ถึงแก่กรรมไปแล้วเช่นเดียวกัน พระพุทธเจ้าได้ทรงพยากรณ์ว่า ทั้งท่านปุราณะบิดาของข้าพเจ้าและท่านอิสิทัต เพื่อนรักของบิดาข้าพเจ้านี้ เป็นผู้มีคติเสมอกัน นี้จะเป็นไปได้อย่างไรกัน ก็บิดาของข้าพเจ้าเป็นพรหมจารีถือพรหมจรรย์ จะมีคติเดียวกับท่านอิสิทัตซึ่งไม่ได้ถือพรหมจรรย์ ยังอยู่ครองเรือน และยินดีในคู่ครองของตนได้อย่างไรกัน พระอานนท์ฟังแล้วก็ไม่ได้ว่าอย่างไร นำความไปกราบทูลพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็ตรัสให้ฟังว่า เรื่องนี้อุบาสิกามิคสาลาไม่เข้าใจเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคลที่ท่านเรียกว่า ปุคคลปโรปริยญาณ แล้วพระองค์ก็ตรัสถึงความแตกต่างของบุคคลว่า บุคคลนี้อาจจะยิ่งทางโน้น หย่อนทางนี้ หลายคนก็มีหลายอย่าง แล้วตรัสสุดท้ายบอกว่า ท่านอิสิทัตและท่านปุราณะนั้นมีศีลเท่ากัน มีปัญญาเท่ากัน มีคติเสมอกัน นี้เป็นเรื่องที่นำมาเล่า อาจจะให้ข้อคิดบางประการ

อีกเรื่องหนึ่ง พระองค์ตรัสเรื่องอดีตของพระองค์กับพระสงฆ์คณะหนึ่ง เรื่องมีว่า เมื่อได้เสด็จไปถึงสถานที่แห่งหนึ่ง พระพุทธองค์ทรงแย้มพระโอษฐ์ คือยิ้มน้อยๆ พระสงฆ์ก็รู้ว่าเมื่อพระพุทธเจ้าทรงแย้มพระโอษฐ์น้อยๆ แล้วมักจะมีเรื่องน่าสนใจ ซึ่งควรได้ยินได้ฟัง พระภิกษุสงฆ์ก็ทูลถามพระองค์ว่า ทำไมพระองค์จึงแย้มพระโอษฐ์น้อยๆ เช่นนั้น พระองค์จึงตรัสเล่าให้ฟังว่า สถานที่นี้เคยเป็นเมืองใหญ่ในอดีตแห่งหนึ่ง ซึ่งเคยรุ่งเรือง และมีพระพุทธเจ้ามาอุบัติและมีอุบาสกท่านหนึ่งพร้อมด้วยคณะอุบาสกอีก ๕๐๐ คน ได้อยู่ในสถานที่นี้ด้วย วันหนึ่งท่านอุบาสกที่เป็นหัวหน้าชื่อ ภเวสี คิดได้ว่าเรากับลูกน้องบริวารทั้งหมดนี้ ยังไม่ได้บำเพ็ญศีลให้บริบูรณ์ ทีนี้เราเป็นหัวหน้าเขา เราควรจะทำอะไรให้เป็นพิเศษกว่าเขาบ้าง จึงตั้งใจว่าเราจะบำเพ็ญศีลให้บริบูรณ์ ท่านจึงบอกกับบริวารทั้งหลายว่า ให้ทราบไว้ด้วยว่าต่อไปนี้ข้าพเจ้าจะเป็นผู้บำเพ็ญศีลให้บริบูรณ์ ทีนี้ฝ่ายอุบาสกบริวารของท่านก็มาคิดกันว่า หัวหน้าของเราบำเพ็ญศีลได้บริบูรณ์ เราซึ่งเป็นบริวารเป็นผู้ประพฤติตามนี้ เราอยู่ในหมู่เดียวกัน เราก็ควรจะทำได้อย่างหัวหน้า ฉะนั้นเราจะบำเพ็ญศีลให้บริบูรณ์เช่นเดียวกัน ก็จึงพยายามปฏิบัติเป็นผู้บำเพ็ญศีลโดยบริบูรณ์เสมอกัน ต่อมาท่านภเวสีหัวหน้าก็มาคิดว่า บัดนี้เรากับลูกน้องบริวารทั้งหมดก็มีความประพฤติบำเพ็ญศีลได้บริบูรณ์เหมือนกัน เราเป็นหัวหน้าควรจะทำอะไรให้พิเศษกว่าบริวารบ้าง ท่านจึงคิดว่า เราจะประพฤติพรหมจรรย์ละ และท่านก็บอกแก่บริวารว่า แต่นี้ไปข้าพเจ้าจะประพฤติพรหมจรรย์ ทีนี้ฝ่ายบริวารของท่านก็คิดกันว่าหัวหน้าของเราก็ประพฤติพรหมจรรย์แล้ว พวกเราก็น่าจะทำได้อย่างหัวหน้าบ้าง จึงเลยตกลงกันว่าต่อไปนี้เราจะประพฤติพรหมจรรย์เหมือนกันหมดทุกคนด้วย ต่อมาหัวหน้าก็มาคิดว่า บริวารของเราก็ประพฤติได้อย่างเรา เราเป็นหัวหน้าควรจะสามารถทำอะไรได้พิเศษกว่าบ้าง ก็จึงบอกว่าต่อไปนี้เราจะรับประทานอาหารมื้อเดียว เป็นเอกภัตติโก งดกินในเวลาวิกาล ฝ่ายบริวารทั้งหลายพอทราบอย่างนั้นก็ไปคิดตกลงกันว่า เราเป็นพวกเดียวกันควรทำให้ได้เหมือนกัน จึงทานอาหารมื้อเดียว เป็นเอกภัตติกาหมด ทีนี้ต่อมาหัวหน้าก็มาคิดว่า บริวารก็ทำได้เหมือนเราหมด เราควรจะทำอะไรเป็นพิเศษกว่า จึงคิดว่าเราจะต้องออกบวช จึงไปหาพระสงฆ์และขอบวชเป็นพระภิกษุ ทีนี้ฝ่ายบริวารเห็นว่าหัวหน้าของเราก็บวชแล้ว เราเป็นคณะเดียวกันควรทำให้ได้เหมือนกันบ้าง ก็เลยออกบวชกันหมดทั้ง ๕๐๐ คน เรื่องก็จบ พระพุทธเจ้าก็ตรัสสรรเสริญชนกลุ่มนี้ว่า เขาพยายามบำเพ็ญคุณธรรมความดี ให้สูงยิ่งขึ้นๆ ไป ควรเป็นตัวอย่างได้อย่างหนึ่ง ที่อาตมภาพยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูด ก็เพื่อเป็นคติว่า เรื่องการถือพรหมจรรย์ก็ดี การรับประทานอาหารมื้อเดียวก็ดี สำหรับคฤหัสถ์ทั้งหลายก็เป็นข้อปฏิบัติพิเศษ ท่านเรียกว่าเป็นวัตร เป็นคนละตอนกับการบำเพ็ญศีลให้บริบูรณ์ จริงอยู่เราชาวบ้านเรียกอุโบสถศีลว่าเป็นศีล แต่ในพระไตรปิฎกท่านเรียกว่าเป็นวัตร วัตรคือข้อปฏิบัติพิเศษ เพื่อให้เคร่งครัดหรือดีมากยิ่งขึ้น วัตรนั้นบางทีเป็นข้อปฏิบัติเพื่อให้เหมาะสมกับบุคคลบางท่าน แต่มิใช่ข้อปฏิบัติทั่วไป ฉะนั้น สำหรับคฤหัสถ์แล้ว การบำเพ็ญศีลให้บริบูรณ์ไม่ใช่ว่าจะต้องมาถือพรหมจรรย์หรือว่าจะต้องมารับประทานอาหารมื้อเดียว งดอาหารในเวลาเย็นค่ำอะไรหรอก ถ้าพิจารณาเรื่องราวที่อาตมายกขึ้นมาพูดว่า อุบาสกภเวสีได้ประพฤติศีลให้บริบูรณ์ได้แล้ว ต่อไปท่านจึงคิดว่าเมื่อประพฤติศีลได้บริบูรณ์แล้วต่อไปนี้เราจะทำให้พิเศษกว่าบริวาร ท่านจึงถือพรหมจรรย์ และรับประทานอาหารมื้อเดียว อันนี้เป็นส่วนพิเศษขึ้นไป

หลักการที่เล่ามาตามพระสูตรนี้หมายความว่า คนทั่วไปนั้น เรามีหลักเกณฑ์ความประพฤติดีงามระดับกลางอย่างหนึ่งซึ่งนับว่าทุกคนควรประพฤติให้ได้ เพื่อเป็นคนดีมีศีลธรรม แต่ถ้าจะทำยิ่งกว่านั้นขึ้นไปแล้วก็ไม่ใช่เรื่องผิดถูก แต่เป็นเรื่องที่จะทำอะไรให้ดียิ่งขึ้นเป็นพิเศษออกไป สำหรับคนที่ประพฤติได้ดีกว่าเราก็ยกย่องให้เกียรติว่าท่านผู้นี้ประพฤติความดีในแง่นั้นๆ ได้เป็นส่วนพิเศษ ส่วนผู้ที่ประพฤติได้ก็ควรจะยกย่องท่านที่ไม่ได้ประพฤติอย่างตน แต่เขาก็ยังเป็นคนดีเช่นเดียวกัน เช่น ยกย่องคฤหัสถ์ที่มีสันโดษ ยินดีในคู่ครองของตนเท่านั้น ซึ่งเป็นวิธีปฏิบัติในทางพุทธศาสนา เพราะจะเอาข้อปฏิบัติพิเศษนี้เป็นหลักวัดความดีประเสริฐกันก็อาจไม่ถูกต้อง เพราะว่ายังมีแง่ต้องคิดหลายอย่าง เช่นการถือวัตรพิเศษ บางทีบางคนต้องถือข้อปฏิบัติเข้มงวดพิเศษด้วยเหตุผลเฉพาะกรณีเช่น เคยมัวเมาในเรื่องนั้นมาก่อน อยากจะฝึกตนงดเว้นให้สำเร็จก็ต้องเน้นด้านนั้นแข็งแรงเป็นพิเศษ จึงต้องถือวัตรเข้มงวดในเรื่องเช่นนั้น ดังนี้เป็นต้น มิใช่ว่าเป็นเรื่องที่จะทำดีวิเศษกว่ากัน

หรืออย่างพระพุทธเจ้าก็เคยประสบมาด้วยพระองค์เองแล้ว ในมหาสกุลุทายิสูตร คือมีผู้มาสรรเสริญพระองค์ว่าเป็นผู้ประพฤติความดีพิเศษอย่างนั้นอย่างนี้ สาวกทั้งหลายจึงได้เคารพบูชา พระพุทธเจ้าตรัสถามว่า ท่านเห็นข้าพเจ้าประพฤติอะไรดีเด่นพิเศษท่านจึงว่าอย่างนั้น ท่านผู้นั้นบอกว่า ๑. พระพุทธเจ้าทรงฉันอาหารน้อย ๒. ทรงสันโดษด้วยจีวร ๓. ทรงสันโดษในเสนาสนะ ๔. ทรงสันโดษในอาหารบิณฑบาต ๕. ทรงยินดีในที่สงัด พระพุทธเจ้าทรงตอบว่า ที่ท่านจะเอาเรื่องนี้มาเป็นเหตุสรรเสริญข้าพเจ้านั้นไม่ถูกต้อง หากท่านจะสรรเสริญข้าพเจ้าด้วยเหตุอย่างนี้แล้ว สาวกของข้าพเจ้าประพฤติได้ดีกว่าข้าพเจ้าทั้ง ๕ ข้อนี้หลายท่าน เช่นบางท่านฉันอาหารน้อยกว่าข้าพเจ้ามากมาย และสันโดษด้วยจีวร เสนาสนะ บิณฑบาตยิ่งกว่าข้าพเจ้า ในเรื่องยินดีในความสงัดก็เช่นเดียวกัน บางท่านก็ไปอยู่ป่าตลอดชีวิต วิเวกสงัดยิ่งกว่าข้าพเจ้ามากนัก ข้าพเจ้านี้ยังคลุกคลีด้วยหมู่ชนเป็นอันมาก อะไรทำนองนี้เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม คติของชาวพุทธก็คือ ให้รู้ว่าอะไรเป็นหลักกลางในระดับความประพฤติทั่วไป และเราพยายามประพฤติกันให้ได้ ส่วนข้อปฏิบัติที่เกินกว่านั้นแล้ว ใครประพฤติได้เราก็ยกย่อง ส่วนคนที่ประพฤติวัตรได้ก็ต้องรู้ว่าเราประพฤติด้วยเหตุใด อันนี้เป็นแง่ดีที่เราทำได้ ส่วนคนอื่นก็อาจทำดีในแง่อื่นๆ เราก็ควรจะส่งเสริมหรือยกย่องท่านเหล่าอื่นในแง่นั้นๆ ดังนั้นพระพุทธเจ้าจึงตรัสพระสูตรเช่น กามโภคีสูตร เป็นต้น เพื่อให้เราแยกแยะได้ว่า บุคคลนั้นๆ มีส่วนดี ส่วนเสียอย่างไรบ้าง ไม่ใช่ตีคลุมไปหมดทีเดียว ขอให้ระลึกหลักง่ายๆ ว่า เพียงแต่ปฏิบัติต่อกามให้ถูกต้องตามหลักเรื่องกามโภคี ๑๐ นั้น เราก็มีการประพฤติธรรมแล้วครบถ้วนตั้งแต่ขั้นโลกียะถึงโลกุตระ อาตมภาพก็ได้ชี้แจงมายืดยาว ก็ขอยุติลงเพียงเท่านี้ก่อน

คำกล่าวสรุปตอนท้าย

อาตมภาพขอบอกความรู้สึกว่า ไม่สู้สะดวกใจที่จะต้องสรุปในตอนท้ายการสนทนาเพราะเป็นเหมือนว่า เรื่องนี้ลงข้อยุติได้ในแนวหนึ่ง แต่เท่าที่พูดกันมา รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่มีขอบเขตกว้างขวางมาก อาตมภาพเองก็เห็นว่า ยังมีเรื่องที่จะต้องพูดถกเถียงกันอีกมากมายทีเดียวในหัวข้อนี้ และอยากขอแสดงความรู้สึกต่อไปด้วย เป็นความรู้สึกอย่างกว้างๆ ต่อสังคมชาวพุทธในปัจจุบันโดยทั่วๆ ไปไม่เฉพาะในที่ประชุมนี้เท่านั้นว่า แม้แต่การประกาศสอนเผยแพร่ธรรม เราก็มักจะเดินในทางสุดโต่ง สมัยหนึ่งเราอาจจะเคยหมกมุ่นวุ่นวายไปกับเรื่องโลก เรื่องกามกันมาก ต่อมาเราหันมาสนใจกันทางพระศาสนา และเมื่อมาสอนกันก็มักฉุดเลยไปเสียอีกทางหนึ่ง ไม่ยอมรับรู้เรื่องของชาวโลกที่เขาจะต้องเกี่ยวข้อง จะพูดแต่เรื่องนอกโลก ไม่สนใจความเป็นไปปกติในชีวิตของเขา แยกตัวออกไปเสียอีกทิศหนึ่ง ปฏิเสธการดำเนินชีวิตของเขาเสียทั้งหมด อันนี้ไม่ใช่เรื่องสุดโต่งในมัชฌิมาปฏิปทา แต่ก็เป็นสุดโต่งที่น่าระวังเหมือนกัน อันนี้เป็นความรู้สึกของอาตมภาพ

อีกข้อหนึ่ง อาตมภาพเห็นว่า แม้ว่าจะได้พูดกันไปอย่างไรก็ตาม อยากจะย้ำไม่ให้ลืม เรื่องเบื้องต้นหรือเรื่องพื้นฐานที่อาตมภาพได้พูดไปตอนต้นนั้นก็อยากจะนำมาย้ำอีก เกี่ยวกับเรื่องของคฤหัสถ์ชาวบ้าน เรื่องศีล ๕ ที่จะบริบรูณ์ได้นั้น ไม่ใช่จะต้องไปงดเว้นจากกาม จากการครองเรือนไปทีเดียว และเมื่อเราปฏิบัติถูกต้องอย่างนั้นก็เป็นธรรมะ อันนี้ก็อยากจะย้ำอีกว่า ที่ว่าปฏิบัติถูกต้องต่อกามนั้นเป็นธรรมะในความหมายชั้นหนึ่งแล้ว แม้แต่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนเรื่องกามโภคี ๑๐ ประเภท คือกามในความหมายของทรัพย์สมบัติ ให้เราแสวงหามาโดยชอบธรรม เมื่อได้มาแล้วให้เลี้ยงตนให้เป็นสุข ให้เลี้ยงคนที่อยู่ในความรับผิดชอบของเราให้เป็นสุข และให้เผื่อแผ่แบ่งปันช่วยเหลือบำเพ็ญประโยชน์แก่ผู้อื่นแล้วก็ให้ทำความดี ยิ่งกว่านั้นให้ทำจิตใจให้สงบ เป็นอิสระไม่ตกเป็นทาสของความหลงใหลในทรัพย์สมบัติและวัตถุต่างๆ เหล่านี้ก็เป็นเรื่องของการปฏิบัติต่อกามให้ถูกต้อง เป็นธรรมตั้งแต่โลกียะถึงโลกุตระ อาตมภาพว่า เราควรจะยอมรับความจริงว่าโลกนี้ได้มีการผลิตกาม เกี่ยวข้องกับกามอยู่ตลอดเวลา เราควรจะสอนเขาให้รู้ว่าควรจะปฏิบัติต่อกามอย่างไรในแต่ละขั้น แม้ตลอดจนการละจากกามนั้นก็เป็นการปฏิบัติต่อกามเช่นเดียวกัน แต่เป็นการปฏิบัติโดยความหมายถูกต้องอีกระดับหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเห็นแก่ประโยชน์สุขของพหูชนตามพระพุทธโอวาทแก่นักเผยแผ่ธรรมแล้ว ก็ควรจะคำนึงถึงสิ่งที่ชาวโลกทั่วไปเขาต้องเกี่ยวข้อง แนะนำธรรมในแง่ที่เป็นการปฏิบัติถูกต้องต่อกามตั้งแต่ระดับต้นๆ ให้มาก ไม่ควรจะเอาแต่เรื่องที่ตนเองสนใจเป็นประมาณ และที่อาตมภาพพูดว่าให้ระลึกถึงหลักเบื้องต้นเป็นจุดกลางไว้ก่อนนี้ เพื่อไม่ให้เราลืม แต่ไม่ได้หมายความว่าให้เราหยุดกันอยู่แค่นั้น เราก็ต้องเดินหน้าเรื่อยไปเหมือนกัน ระลึกว่าเราจะต้องปฏิบัติธรรมก้าวหน้า คนไหนปฏิบัติได้ยิ่งกว่านี้เราก็ให้เกียรติยกย่องสรรเสริญ

อนึ่ง อาตมภาพขอทบทวนเรื่องพุทธบริษัท ๔ อีกครั้ง ได้แก่ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ซึ่งมีวิถีชีวิตต่างกันไปบ้าง มีธรรมะที่ต้องปฏิบัติผิดแผกกันไปตามระดับของตน แต่ถึงอย่างนั้นก็ตามทุกบริษัทก็สามารถดำรงอยู่ทั้งในโลกียธรรมและโลกุตรธรรม โดยมีโลกุตรธรรมเป็นเป้าหมาย (อาจจะเป็นเรื่องที่เสมือนว่าน่าอนาถที่ในวงการพุทธศาสนา เรายังต้องมาขัดแย้งกันวุ่นวายเกี่ยวกับเรื่องโลกียธรรมและโลกุตรธรรมว่าแค่ไหนเพียงใด ใครควรเกี่ยวไม่ควรเกี่ยว ทั้งที่หลักในเรื่องนี้ก็ชัดเจนพอควรอยู่แล้ว เพียงแต่ยอมสละเวลาตรวจสอบหลักกันสักหน่อยเท่านั้น) ในฝ่ายคฤหัสถ์อย่างในมหาปรินิพพานสูตร เมื่อแสดงถึง อุบาสก อุบาสิกาบริษัท ก็กล่าวถึง อุบาสก อุบาสิกาบริษัท ทั้งฝ่ายที่มีครอบครัวและทั้งที่ไม่มีครอบครัว เพราะฉะนั้นอันนี้ก็เป็นการประนีประนอม ๒ ฝ่ายที่ได้พูดถกเถียงกันว่าถูกด้วยกันทั้งคู่ คืออุบาสกอุบาสิกามีทั้ง ๒ ฝ่าย ท่านบอกว่ามีทั้งคิหิโอทาตวสนาที่เป็นพรหมจารีก็มี ที่เป็นกามโภคีคือผู้บริโภคกามก็มี ฉะนั้น เรื่องขอบเขตของธรรมะนั้นมีหลายระดับ และกว้างขวางพอสมควร แต่เมื่อเผยแพร่หรือประกาศอะไรก็พยายามอย่าให้ลืมจุดพื้นฐานเบื้องต้น ซึ่งในระดับที่เกินจากพื้นฐานไปนี้ เราไม่ถึงกับพูดว่าใครถูกใครผิด แต่เราจะพูดในแง่ว่า ใครทำได้ดียิ่งขึ้น อันนั้นก็เป็นที่นิยมยกย่องและเราก็ควรปฏิบัติให้ยิ่งๆ ขึ้นไป

ทีนี้มีอีกอันหนึ่งที่เกี่ยวกับเรื่องกาม ที่เป็นพุทธพจน์ตรัสว่า สมณพราหมณ์เหล่าใดไม่รู้ส่วนดีของกามตามที่เป็นส่วนดี ไม่รู้ส่วนที่เป็นโทษของกามตามที่เป็นโทษ ไม่รู้ทางออกจากกามตามที่เป็นทางออกแท้จริง สมณพราหมณ์เหล่านั้นย่อมจะไม่เข้าถึงประโยชน์หรือจุดหมายของความเป็นสมณพราหมณ์ แม้แต่พระพุทธเจ้าเองก็จะยังไม่ชื่อว่าเป็นผู้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าหลักของพุทธศาสนาคือรู้ตามความเป็นจริง แม้จะเป็นส่วนดีหรือส่วนโทษต้องรู้ทั้ง ๒ อย่าง และรู้ตามที่เป็นจริง และพระองค์ได้ตรัสถึงพระองค์เองว่า พระองค์เองได้ทรงรู้ประจักษ์ชัดแล้วซึ่งคุณของกามตามที่เป็นคุณ โทษของกามตามที่เป็นโทษ และทางออกหรือเป็นอิสระตามที่เป็นทางหลุดพ้น ฉะนั้นพระองค์จึงสามารถปฏิญาณพระองค์เองได้ว่า พระองค์เป็นพระพุทธเจ้า ตรัสรู้แล้วซึ่งอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ เรื่องกามและธรรมะนั้นยังมีเรื่องที่จะพูดถึงอีกมากมาย แต่ต้องลงท้ายด้วยพุทธพจน์ดังที่กล่าวมาแล้ว และเมื่อเราถึงโลกุตรธรรมจริงๆ แล้ว กามมันไม่มีไปเอง เพราะว่าได้ยกพุทธพจน์มากล่าวแล้วว่า กามนั้นที่แท้อยู่ที่จิตของมนุษย์ไปคิดไปดำริ สิ่งทั้งหลายที่งดงามตระการนั้นมันดำรงอยู่ของมันตามปกติ ฉะนั้นเมื่อถึงโลกุตรธรรมแล้วกามมันไม่มี มีแต่ธรรม ฉะนั้นจึงไม่ต้องเป็นห่วง ส่วนผู้ที่จะบรรลุถึงโลกุตรธรรมจะต้องรู้จักวิธีปฏิบัติต่อกามให้ถูกต้องและนั่นแหละคือธรรมที่จะช่วยให้เราพ้นจากกาม เข้าถึงโลกุตรธรรม

อาตมภาพก็ขออนุโมทนาต่อที่ประชุมเพียงเท่านี้

จากภิกษุณี ถึงสิทธิสตรี10

การที่พระพุทธองค์ทรงตั้งภิกษุณีสงฆ์ขึ้นมีประโยชน์อย่างไรแก่สตรีและสังคมในสมัยนั้น

อันนี้ตอบอย่างสั้นๆ ว่า เป็นประโยชน์ทั้งในแง่ฐานะและการศึกษา ในแง่การศึกษาคือทำให้ผู้หญิงหรือสตรีได้มีโอกาสศึกษาเหมือนกับผู้ชาย คือวัดซึ่งเป็นที่อยู่ของพระก็มีทั้งพระผู้ชาย (ภิกษุ) และพระผู้หญิง (ภิกษุณี) เป็นศูนย์กลางของการศึกษาเล่าเรียน เมื่อไปบวชก็ได้ศึกษาเล่าเรียน แม้แต่ศัพท์ต่างๆ ที่ใช้เรียกก็จะมีเกี่ยวข้องกับการศึกษา เช่น สามเณรี คือเด็กหญิงที่ได้บวชเป็นสามเณร ก่อนจะบวชเป็นภิกษุณีก็เป็นสิกขมานา แปลว่าผู้กำลังศึกษา เมื่อเป็นภิกษุณีก็มีโอกาสศึกษาเล่าเรียนต่อไปอีกจนเป็นอุปัชฌาย์อาจารย์ วัดจึงกลายเป็นศูนย์กลางของการศึกษาเล่าเรียนสำหรับผู้หญิงด้วย เรื่องผลทางการศึกษานี้ปัจจุบันยังไม่มีการค้นคว้ากันละเอียดนัก แต่เป็นที่น่าสังเกตในหนังสือวิชาการอย่าง Encyclopaedia Britannica ก็กล่าวถึงการศึกษาของอินเดียสมัยโบราณ ตั้งแต่พุทธกาลว่าได้เจริญ เคยมีสถิติผู้รู้หนังสือสูงมาก โดยเฉพาะในสมัยพระเจ้าอโศก หลังจากนั้นพุทธศาสนาเสื่อมลง อินเดียก็ทรุดลงทางด้านการศึกษา จนกระทั่งก่อนได้รับเอกราช สถิติผู้รู้หนังสือของอินเดียต่ำอย่างยิ่ง

ในด้านฐานะของสตรีนี้ก็สัมพันธ์กับการศึกษาด้วย คือ สตรีมีฐานะดีขึ้นมากเมื่อเทียบกับสมัยก่อนหน้านั้น (ไม่ใช่วัดด้วยความต้องการในปัจจุบัน) ในตอนแรกพระพุทธเจ้าทรงตั้งภิกษุสงฆ์ก่อน ภิกษุณีสงฆ์ยังไม่มี ต่อมาเมื่อจะตั้งขึ้นก็ตั้งขึ้นด้วยความยากลำบาก ซึ่งตามทัศนะของอาตมาที่ได้อ่านเรื่องราวก็เห็นว่า ถ้าถือตามเหตุผลของสังคมสมัยนั้นพระพุทธเจ้าจะไม่ทรงยอมให้มีภิกษุณีสงฆ์ แต่ที่พระพุทธเจ้าทรงให้ผู้หญิงบวชก็โดยเหตุผลที่ว่า ผู้หญิงมีความสามารถที่จะบรรลุธรรม หมายความว่าพระพุทธเจ้ายอมรับว่าผู้หญิงสามารถจะเข้าถึงจุดหมายสูงสุดของพุทธศาสนาได้และด้วยเหตุผลนี้จึงให้บวช จึงเกิดภิกษุณีสงฆ์ขึ้น และแม้ภิกษุณีสงฆ์จะยังไม่มีฐานะเต็มที่เท่าพระภิกษุสงฆ์แต่ก็จะเห็นว่ามีฐานะสูงมาก อย่างเช่น ภิกษุณีได้รับความเคารพจากผู้ชายชาวบ้านทั่วไปมากราบมาไหว้ ในพระไตรปิฎกคัมภีร์วินัยก็มีเรื่องเกิดขึ้นว่า ตอนที่มีภิกษุณีสงฆ์ใหม่ๆ เมื่อผู้ชายไหว้ ภิกษุณีก็ยังไม่มีความมั่นใจในตัวเอง จึงถามพระพุทธเจ้าว่า ผู้ชายมาไหว้นี้ ภิกษุณียินดีในการไหว้ของเขาได้หรือไม่ พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่าได้ ในพระสูตรในพระไตรปิฎกนั้นเอง พระสูตรที่ภิกษุณีเป็นผู้แสดงก็มี เช่น จูฬเวทัลลสูตร นางภิกษุณีชื่อธัมมทินนาเป็นผู้แสดง ท่านตอบคำถามของอุบาสกซึ่งเป็นสามีเก่าชื่อวิสาขอุบาสก ตามเรื่องว่าวิสาขอุบาสกมาหากราบไหว้แสดงความเคารพพระธัมมทินนาเถรีแล้วถามปัญหาธรรม พระภิกษุณีก็ตอบชี้แจงให้อย่างแจ่มแจ้ง ต่อมาวิสาขอุบาสกไปกราบทูลเล่าเรื่องนั้นแด่พระพุทธเจ้า พระองค์ก็ตรัสสรรเสริญพระธัมมทินนาเถรีว่าเป็นผู้มีปัญญามาก ถึงแม้วิสาขอุบาสกทูลถามปัญหาเหล่านั้นกับพระองค์ ก็จะทรงตอบอย่างเดียวกับพระธัมมทินนาเถรี พระภิกษุณีชื่อเขมาเถรีก็มีชื่อเสียงมากว่าเป็นบัณฑิตเฉียบแหลมเป็นปราชญ์รอบรู้ แสดงธรรมได้วิจิตรคมคาย มีปฏิภาณดี พระเจ้าแผ่นดินแคว้นโกศลก็เคยเสด็จไปหากราบไหว้ถามปัญหากะภิกษุณีพระองค์นี้ และได้รับคำตอบชี้แจงที่พระพุทธเจ้าทรงยกย่องอย่างเดียวกัน นี้เป็นตัวอย่างแสดงว่าภิกษุณีมีความรู้มากสามารถแสดงธรรมแนะนำสั่งสอนประชาชนทุกชั้นทั้งหญิงชาย ได้รับความเคารพนับถือเป็นอย่างดี

ตามหลักการด้านสังคมของพุทธศาสนา จะเห็นว่ามีการแบ่งพุทธบริษัทออกเป็น ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ทั้ง ๔ ส่วนนั้นมีความสำคัญเป็นองค์ประกอบของชุมชนชาวพุทธด้วยกันทั้งหมด แต่ละส่วนได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้า เช่น ในฝ่ายภิกษุเรามีพระโมคคัลลาน์และพระสารีบุตรเป็นอัครสาวกซ้าย-ขวา ในฝ่ายภิกษุณีสงฆ์ก็เช่นเดียวกัน มีอัครสาวิกาฝ่ายขวาชื่อเขมาเถรี และอัครสาวิกาฝ่ายซ้ายชื่ออุบลวรรณาเถรี และจะมีภิกษุณีที่ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางปัญญา ในทางธรรมกถึก ในทางบำเพ็ญฌาน เป็นต้น แสดงว่าเป็นผู้มีความรู้ความสามารถได้รับความเคารพนับถือมาก หรืออย่างในหมู่อุบาสิกาเราก็เห็นชื่อนางวิสาขา ว่ามีบทบาทอย่างยิ่งในวงการพุทธศาสนา ในอรรถกถามีปรากฏว่าได้รับการยกย่องอย่างยิ่งจากสังคม เวลามีกิจการเรื่องราวทางสังคมก็ขาดไม่ได้ที่จะต้องเชิญนางวิสาขาไป แต่ไม่ค่อยพูดถึงสามีของนางด้วยซ้ำ พ่อผัวของนางวิสาขา ชื่อ มิคารเศรษฐีก็เคารพนางวิสาขามาก นางวิสาขามีฉายาเรียกว่า มิคารมารดา แปลว่า นางวิสาขาผู้เป็นมารดาของเศรษฐีมิคาระ คือพ่อผัวของนางวิสาขานี้เดิมเป็นมิจฉาทิฏฐิ อาศัยนางวิสาขาช่วยจึงกลับมาเข้าใจธรรมะในพุทธศาสนาได้ เศรษฐีมิคาระซึ่งเป็นพ่อผัวจึงเรียกนางวิสาขาเป็นแม่ นางวิสาขาจึงมีฉายาว่ามิคารมารดาต่อท้ายชื่อของตนสืบมา แสดงว่าเกียรติของผู้หญิงสมัยนั้นสูงมาก พอพุทธศาสนาเสื่อมลงก็กลายเป็นสังคมฮินดู ผู้หญิงก็หมดฐานะไม่สามารถเข้าถึงจุดหมายของศาสนาได้

เป็นไปได้หรือไม่ที่จะฟื้นฟูให้มีภิกษุณีสงฆ์ขึ้นในประเทศไทย จะมีอุปสรรคอย่างไรและควรสนับสนุนหรือไม่

พูดกันโดยหลักการแล้ว การจะมีภิกษุณีสงฆ์นั้นต้องสืบต่อกันมาจากครั้งพุทธกาล เพราะการบวชภิกษุณีต้องอาศัยสงฆ์ ๒ ฝ่าย เมื่อจะมีภิกษุณีบวชรูปหนึ่งก็ต้องมีภิกษุณีสงฆ์เป็นผู้รับเข้า ดังนั้นในเมื่อปัจจุบันภิกษุณีสายเถรวาททั้งหมดสูญไปเสียแล้ว จึงไม่มีผู้บวชให้ ดังนั้นโดยหลักการจึงเป็นไปไม่ได้ ทางเดียวที่จะเป็นได้คือสืบต่อจากทางมหายาน ทีนี้เราจะยอมรับหรือไม่ เพราะทางฝ่ายเถรวาทหมดไปแล้วจบแค่นั้น ถ้าบวชทางมหายาน ก็กลายเป็นภิกษุณีฝ่ายมหายาน ไม่ใช่เถรวาท กลายเป็นอีกเรื่องหนึ่งไป แม้แต่ภิกษุสงฆ์ก็เหมือนกัน ในประวัติศาสตร์ลังกาเองภิกษุสงฆ์ก็เคยสูญสิ้นไปจากลังกาเหมือนกัน ก็ทำอะไรไม่ได้ต้องมาขอภิกษุสงฆ์จากประเทศไทยไปบวชให้ แต่ยังเป็นฝ่ายเถรวาทด้วยกันก็จึงสืบต่อไปได้ จึงเรียกพระในลังกาสายที่ไปจากประเทศไทยว่าสยามวงศ์ ดังที่ทราบกันอยู่ในปัจจุบัน

ถ้าหากเป็นไปไม่ได้ว่าจะมีภิกษุณีสงฆ์ขึ้นดังเหตุผลที่กล่าวมาแล้ว ควรที่จะส่งเสริมบทบาทสตรีอย่างไรจึงจะมีโอกาสได้รับคุณค่าของชีวิตและสังคมที่พุทธศาสนาอาจเอื้ออำนวยให้ได้โดยสมบรูณ์

เราไม่ต้องไปติดอยู่ว่าจะต้องตั้งเป็นภิกษุณีสงฆ์ขึ้นก็ได้ หมายความว่า เราอาจตั้งสถาบันนักบวชผู้หญิงของพุทธศาสนาขึ้นในรูปอื่นแทนที่ภิกษุณี ในสมัยโบราณที่เกิดแม่ชีขึ้น อาตมาก็เห็นว่าเป็นความต้องการและเป็นความพยายามร่วมกันของสังคมและของผู้หญิงเอง ที่จะให้ผู้หญิงได้บรรลุจุดมุ่งหมายทางด้านศาสนาในเมื่อภิกษุณีสงฆ์สูญไปแล้ว แต่แม่ชีคงจะทำบทบาทแทนภิกษุณีได้เพียงบางอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แม่ชีในยุคหลังนี้เราต้องเข้าใจว่าได้เสื่อมลงมาทั้งในสภาพของตัวแม่ชีเอง กิจกรรมที่ดำเนินไปก็พร่ามัว และเสื่อมลงในด้านภาพพจน์ที่สังคมมีต่อแม่ชี ทางออกอย่างหนึ่งของเรื่องนี้ก็คือ ถ้าหากเราเห็นว่าจะฟื้นฟูฐานะบทบาทของแม่ชีได้ก็ต้องจัดตั้งขึ้นให้เป็นสถาบันที่ชัดเจน อย่างที่มีผู้พยายามทำอยู่บ้าง ต้องวางหลักวางระบบให้ดีให้มีการศึกษาอบรมและพัฒนาขึ้นไป แต่ถ้าไม่ชอบรูปแบบนี้ก็อาจจะคิดรูปแบบใหม่ขึ้นอีกให้ได้ผลตามวัตถุประสงค์โดยเลี่ยงไม่ต้องเป็นภิกษุณีสงฆ์

ในกรณีที่สันติอโศกมีแม่เณรขึ้นมาท่านเจ้าคุณเห็นเป็นอย่างไรครับ

อาตมายังไม่ได้ศึกษาชัดเรื่องสันติอโศก แต่รู้สึกว่ามีความพยายามจะทำเลียนแบบภิกษุณีสงฆ์อยู่ เรื่องนี้ควรจะเป็นการตกลงร่วมกันในสังคมหรือโดยสงฆ์ ถ้าทำเป็นเฉพาะกลุ่มชนก็อาจจะเกิดปัญหาขึ้นได้ ยิ่งถ้าเป็นกลุ่มชนที่มีลักษณะขัดแย้งก็ยิ่งจะเกิดปัญหามาก ควรจะเป็นการริเริ่มของส่วนรวม หรือถ้าเป็นของกลุ่มชนก็ควรเป็นกลุ่มที่พยายามประสานก็จะน่าพึงประสงค์ ดีกว่าเริ่มด้วยความแตกแยกออกไป เป็นอันว่าเรื่องนี้เรามีทางเลี่ยงแล้วแต่จะตกลงกัน และต้องพัฒนากันไป ต้องศึกษาเรื่องภิกษุณีในสมัยโบราณให้เห็นแนวทางแล้วก็ปรับเข้ากับสังคมปัจจุบัน ถ้าเราต้องการทำจริงๆ ก็เป็นไปได้ ประโยชน์ก็มีอยู่ อย่างไรก็ตามก็ต้องดูด้วยว่า แม้แต่ภิกษุสงฆ์เองเดี๋ยวนี้มีประโยชน์มีบทบาทในทางสังคมเหมือนกับในสังคมไทยสมัยก่อนหรือไม่ เหมือนกับภิกษุสงฆ์ในสมัยพุทธกาลหรือไม่ การตั้งภิกษุณีสงฆ์ก็เหมือนกัน เราตั้งขึ้นมาโดยมองเห็นประโยชน์เพียงในสมัยพุทธกาลกับสังคมไทยในอดีตยังไม่พอต้องดูปัจจุบันด้วย เราอาจจะต้องปรับปรุงฐานะและบทบาทของทั้งภิกษุสงฆ์และสถาบันนักบวชหญิงที่จะมีขึ้นแทนภิกษุณีสงฆ์นั้นไปพร้อมกันด้วยเลย

การที่มีผู้เสนอว่าควรฟื้นฟูภิกษุณีสงฆ์เพื่อทำหน้าที่ด้านการศึกษา และบริการสังคมเช่นเดียวกับแม่ชีของคาทอลิกนั้น ท่านเจ้าคุณเห็นด้วยหรือไม่ในบทบาทนี้

อันนี้ก็ไม่มีปัญหาอะไร อาตมาเห็นว่าเราไม่จำเป็นต้องตั้งเป็นภิกษุณีสงฆ์ก็ได้ เราพัฒนาสถาบันนักบวชหญิงรูปแบบอื่นขึ้นมาได้เพื่อทำงานนี้จะยิ่งสะดวกขึ้น เพราะกำหนดวินัยใหม่ให้เหมาะสมกับสภาพสังคมและหน้าที่การงานได้ ถ้าเป็นภิกษุณีสงฆ์ก็ต้องใช้วินัยเดิม ซิ่งมีสิกขาบท ๓๑๑ ข้อ ก็จะมีปัญหาขึ้นอีกเช่นว่าเป็นอยู่และทำงานในสภาพปัจจุบันไม่สะดวก

เวลานี้ไม่มีภิกษุณีสงฆ์ แต่มีอุบาสิกา ท่านเจ้าคุณคิดว่าอุบาสิกาในเมืองไทยทำหน้าที่สมบูรณ์ดีหรือไม่

เรื่องนี้ไม่เฉพาะอุบาสิกาหรอก สมัยนี้ความเป็นกลุ่มชนที่เรียกว่าอุบาสกอุบาสิกา ไม่ค่อยชัดเจนเหมือนสมัยโบราณ ดังนั้นน่าจะพูดรวมไปทั้งอุบาสกอุบาสิกา ถ้าจะว่าไม่น่าพอใจก็ต้องบอกว่าไม่น่าพอใจทั้งคู่ไม่เฉพาะฝ่ายใด ทั้งชาวพุทธทั่วไปหรืออุบาสกอุบาสิกาก็ไม่ค่อยรู้ด้วยว่าบทบาทของอุบาสกอุบาสิกาในสมัยพุทธกาลและสมัยโบราณของไทยเป็นอย่างไร ยิ่งมาในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างปัจจุบันนี้ รูปศัพท์อุบาสกอุบาสิกาก็ไม่ค่อยได้ใช้และบทบาทก็ไม่มีชัดเจน กลายเป็นบทบาทที่มีในชื่ออื่นตราอื่นแทน ความเป็นอุบาสกอุบาสิกาไปอิงอยู่กับตราตำแหน่งอื่น

ในทางพุทธศาสนา อุบาสกอุบาสิกาที่ดีมีหน้าที่อย่างไรครับ

ท่านบอกไว้แต่คุณลักษณะของอุบาสกอุบาสิกาที่ดีไว้ว่าเป็นอย่างไรอย่างในหมวดธรรมต่างๆ ก็มีกล่าวไว้เช่นว่า...

"...อุบาสก อุบาสิกา คือ ผู้ใกล้ชิดพระศาสนาอย่างแท้จริง ควรตั้งตนอยู่ในธรรม ที่เป็นไปเพื่อความเจริญของอุบาสก เรียกว่า อุบาสกธรรม ๗ ประการ คือ

  1. ไม่ขาดการเยี่ยมเยียนพบปะพระภิกษุ
  2. ไม่ละเลยการฟังธรรม
  3. ศึกษาในอธิศีล คือ ฝึกอบรมตนให้ก้าวหน้าในการปฏิบัติรักษาศีลขั้นสูงขึ้นไป
  4. พรั่งพร้อมด้วยความเลื่อมใส ในพระภิกษุทั้งหลาย ทั้งที่เป็นเถระ นวกะ และปูนกลาง
  5. ฟังธรรมโดยมิใช่จะตั้งใจคอยจ้องจับผิด หาช่องที่จะติเตียน
  6. ไม่แสวงหาทักขิไณยภายนอกหลักคำสอนนี้ คือ ไม่แสวงหาเขตบุญนอกหลักพระพุทธศาสนา
  7. กระทำความสนับสนุนในพระศาสนานี้เป็นที่ต้น คือ เอาใจใส่ทำนุบำรุงและช่วยกิจการพระพุทธศาสนา" และอีกหมวดหนึ่งกล่าวว่า "อุบาสก อุบาสิกาที่ดี มีคุณสมบัติที่เรียกว่า อุบาสกธรรม ๕ ประการ คือ
    1. มีศรัทธา เชื่อมีเหตุผล มั่นในคุณพระรัตนตรัย
    2. มีศีล อย่างน้อยดำรงตนได้ในศีล ๕
    3. ไม่ถือมงคลตื่นข่าว เชื่อกรรม ไม่เชื่อมงคล มุ่งหวังผลจากการกระทำ มิใช่จากโชคลาง หรือสิ่งที่ตื่นกันไปว่าขลังศักดิ์สิทธิ์
    4. ไม่แสวงหาทักขิไณยนอกหลักคำสอนนี้
    5. เอาใจใส่ทำนุบำรุงและช่วยกิจการพระพุทธศาสนา" ดังนี้เป็นต้น ...

แต่เรื่องหน้าที่ท่านไม่ได้ตราไว้เป็นส่วนเฉพาะต่างหากถ้าจะพูดถึงก็ต้องรวบรวมจากที่ตรัสสอนในที่หลายแห่ง อย่างไรก็ตามเรื่องบทบาทนั้นเราพอจะศึกษาได้จากเอตทัคคะในด้านต่างๆ เช่นเรามีอุบาสกที่เป็นเอตทัคคะในด้านธรรมกถึกเป็นนักแสดงธรรม เดี๋ยวนี้ไม่มีใครใช้คำนี้สำหรับคฤหัสถ์แล้ว เรียกแต่พระว่าเป็นธรรมกถึก แต่ในสมัยพุทธกาลมีอุบาสกที่เป็นเอตทัคคะเยี่ยมในทางธรรมกถึก หรือว่าอุบาสิกาก็มีผู้ที่เป็นเอตทัคคะในด้านเป็นพหูสูตเป็นผู้มีความรู้กว้างขวาง แสดงว่าในสมัยนั้นอุบาสิกามีการศึกษาดีมากเป็นพหูสูตจึงมีเอตทัคคะในด้านนั้นขึ้น

ขอทราบทัศนะท่านเจ้าคุณในเรื่องสิทธิสตรีบ้างครับ

เรื่องสิทธิสตรีนี้อาตมาเห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่ต้องพิจารณากันให้ชัดเจนและต้องใช้เหตุผลมาก บางทีอารมณ์เข้าไปแทรกมากเหมือนกัน เท่าที่ดูลักษณะอาการแสดงออกที่เป็นไปโดยเหตุผลก็มีอยู่บ้าง แต่มีไม่น้อยที่แสดงออกโดยใช้อารมณ์เหมือนกับว่ามีการแก่งแย่งชิงอำนาจกันระหว่างผู้หญิงผู้ชาย หรือมาวัดว่าใครจะแน่กว่ากัน หรือฉันก็ไม่กลัวเหมือนกันซึ่งไม่น่าจะเป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนและให้ผลดี เมื่อมีความรู้สึกอย่างนี้แล้วทำให้การพิจารณาปัญหาไม่มองตามความเป็นจริงเท่าที่ควร มักมีการเอียงสุดไปด้านใดด้านหนึ่ง ในอดีตเราอาจจะพูดว่าการที่ผู้ชายได้เปรียบเอาเปรียบนี้เป็นการเอียงสุดไปด้านหนึ่ง เวลานี้ที่ผู้หญิงจะริเริ่มทำอะไร ถ้าเข้าลักษณะที่ว่าเมื่อกี้นี้ก็เป็นการเอียงสุดไปอีกด้านหนึ่ง แทนที่จะหาจุดที่ถูกต้อง เช่นเราอาจจะพูดถึงว่าพวกผู้ชายชอบอ้างเรื่องธรรมชาติของผู้หญิงผู้ชายมาเป็นข้อที่ทำให้ผู้ชายเอาเปรียบ หรือรักษาความได้เปรียบไว้ พอถึงคราวฝ่ายผู้หญิงพูด เมื่อเห็นว่าผู้ชายยกเรื่องธรรมชาติความเป็นหญิงเป็นชายขึ้นอ้างเพื่อตัวจะได้เอาเปรียบ ผู้หญิงก็เลยมองข้ามเรื่องของธรรมชาติเสียเลย หันไปมองจุดอื่นที่จะเรียกร้องให้ได้สิทธิเท่าเทียมกัน ในแง่ธรรมชาตินั้น เราต้องยอมรับตามที่มันเป็นจริง ต้องมองและเอามาประกอบการพิจารณาอย่างหนึ่งด้วย จุดเสียของเดิมอยู่ที่ว่า ผู้ชายจับเอาเฉพาะแง่ที่เป็นประโยชน์แก่ตัว เพื่อเอาเปรียบได้เปรียบ จึงเป็นการเสียดุลย์หรือบิดเบือนคลาดเคลื่อนหรือบกพร่องไป ทีนี้เวลาเราแก้ปัญหาเราจะถือว่าผู้ชายเอาธรรมชาตินี้มาอ้างเพื่อเอาเปรียบแล้วเราไม่ชอบใจเราจะไม่มองเลยก็ไม่ได้ เราต้องยอมรับธรรมชาติตามเป็นจริง และเอามาเป็นเครื่องพิจารณาประกอบในการแก้ไขด้วย ถ้าหากการแก้ไขไม่ตั้งอยู่บนฐานแห่งความจริงที่มองอย่างรอบด้านและด้วยใจเป็นกลางแล้ว การแก้ปัญหานั้นไม่ได้ผลยั่งยืน ต้องคำนึงถึงความจริงและอย่าให้มีการบิดเบือนเอาความจริงนั้นไปเป็นประโยชน์สนองตามต้องการของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่มองในแง่ว่าจะเอาความแตกต่างมาเสริมเกื้อกูลอย่างไร

อีกอย่างหนึ่ง ถ้ายอมรับว่าผู้ชายมีโครงสร้างทางสรีรวิทยาที่โตใหญ่กว่าได้เปรียบ ทำให้ในอดีตผู้ชายมีโอกาสจะเอาเปรียบได้ ความเป็นมาของสังคมจึงออกมาในรูปว่าสตรีเสียเปรียบมีฐานะด้อยเรื่อยมา ถ้าเรามองในแง่การพัฒนาความเป็นมนุษย์หรืออารยธรรมที่แท้จะเห็นว่า มนุษย์พัฒนาเพื่อให้พ้นจากความป่าเถื่อน หรือความเป็นสัตว์ป่า ซึ่งเอาแรงกายหรืออำนาจเข้าว่า ใครแข็งแรงกว่ามีอำนาจมากอยู่ในภาวะได้เปรียบก็ข่มเหงเอาเปรียบ ส่วนมนุษย์ที่พัฒนาแล้วเจริญหรือมีอารยธรรม แทนที่จะถือกำลังกายหรืออำนาจเป็นใหญ่ก็เปลี่ยนมาถือคุณธรรมสติปัญญาความถูกต้องชอบธรรมและความเกื้อกูลกันเป็นหลักดำเนิน แทนที่จะเสวยความได้เปรียบเพื่อเอาเปรียบก็เปลี่ยนเป็นการช่วยจัดสรรโอกาส เพื่อให้ทุกคนสามารถพัฒนาศักยภาพของตน อย่างนี้จึงจะเป็นสังคมอารยชนที่เจริญแล้ว ตามหลักพุทธศาสนายอมรับว่าผู้หญิงก็มีความสามารถเข้าถึงจุดหมายคือบรรลุธรรมสูงสุดได้ มีสติปัญญาที่สามารถพัฒนาได้ ในเมื่อเราไม่เอาความได้เปรียบทางกายมาเอาเปรียบ แต่กลับพยายามช่วยเกื้อกูล โดยถ้าหญิงมีข้อที่เสียเปรียบอย่างไร ไม่ได้โอกาสจะพัฒนาชีวิต เราก็แก้ปัญหานั้นเสีย เพื่อสร้างเสริมบทบาทให้ผู้หญิงได้พัฒนาตัวเอง เพื่อเข้าถึงภาวะดีงามสูงสุดที่เขาสามารถจะเข้าถึงได้ อันนี้เป็นวิถีทางของสังคมของอารยชนที่ถูกต้องเป็นธรรม

ทีนี้ ในการพิจารณาว่าผู้หญิงมีฐานะด้อยถูกเอาเปรียบนั้นเหตุมาจากอะไร ต้องค้นหาเหตุต้นตอให้ได้จึงจะแก้ปัญหาได้ถูกต้อง เช่นเมื่อเทียบกันกับที่ศึกษาเรื่องชนชั้นอย่างนายทุนกรรมกรเขาบอกว่า เหตุที่นายทุนได้เปรียบเพราะนายทุนเป็นฝ่ายถือครองปัจจัยการผลิต ทีนี้ความได้เปรียบเสียเปรียบของหญิงชายเกิดจากอะไร ทำไมผู้ชายเอาเปรียบผู้หญิงได้ ต้องค้นให้เห็นเหตุ และเหตุนั้นจะไม่ใช่ชั้นเดียวอย่างในเรื่องนายทุนกับกรรมกรซึ่งเป็นปัญหาระหว่างคนกับคน ซึ่งอาจเป็นชายเหมือนกัน หรือเป็นหญิงเหมือนกัน แต่เรื่องนี้เป็นปัญหาระหว่างชายกับหญิงไม่ใช่เพียงแค่คนกับคน แต่คนผู้ชายกับคนผู้หญิง มีปัจจัยธรรมชาติเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งต้องยอมรับเอาเข้ามาพิจารณาด้วย เช่น ถ้าเราจะบอกว่าผู้ชายมีโอกาสทางสังคมมากกว่า เหตุผลเท่านั้นไม่พอ ต้องสาวต่อไปว่าการที่ผู้ชายมีโอกาสทางสังคมมากกว่านั้นมีเหตุจากอะไร ซึ่งอาจจะเป็นเหตุธรรมชาติก็ได้ เมื่อสืบไปถึงเหตุเบื้องต้นนั้นแล้วที่ว่าเหตุนี้เป็นช่องเอื้ออำนวยให้ผู้ชายเอาเปรียบผู้หญิง ช่องนี้เปิดอยู่จะปิดได้หรือไม่ ปิดได้ด้วยวิธีการทางธรรมชาติหรือทางสังคม ถ้าหากว่าปิดไม่ได้โดยธรรมชาติก็หมายความว่า ภาวะทางธรรมชาติจะเปิดโอกาสเอื้ออำนวยให้ผู้ชายมีโอกาสหรือฉวยโอกาสเอาเปรียบได้เสมอ ไม่วันใดก็วันหนึ่ง ในแง่นี้การแก้ปัญหาจะออกมาในรูปที่เอาจริยธรรมเป็นแกน ซึ่งจะไปสอดคล้องกับการพัฒนามนุษย์ให้พ้นจากความป่าเถื่อน แทนที่จะเอาพลังกายหรือเอาอำนาจมาใช้แข่งขันแก่งแย่งครอบงำกัน ก็หันมาสร้างสรรค์โอกาสในการพัฒนาสติปัญญาความรู้ความสามารถคุณธรรมให้เกื้อกูลกัน คือผู้หญิงผู้ชายจะต้องร่วมมือกันช่วยเหลือกัน เมื่อเห็นว่ามนุษย์จะเป็นฝ่ายไหนก็ตามมีความสามารถจะพัฒนาตนเองได้ ต้องพยายามสร้างเสริมโอกาสนั้นขึ้น นี่จะเป็นลักษณะสังคมอารยะที่พึงปรารถนา

สิ่งที่ขอย้ำในที่นี้ก็คือ การใช้พลังกายและอำนาจครอบงำกัน รวมทั้งการช่วงชิงแก่งแย่งแข่งอำนาจกันฝ่ายหนึ่ง กับการช่วยกันจัดสรรอำนวยโอกาสเพื่อให้ทุกคนสามารถพัฒนาศักยภาพของตนให้ถึงที่สุดฝ่ายหนึ่งสองอย่างนี้เป็นเครื่องวัดภาวะที่ยังป่าเถื่อนและภาวะที่พัฒนามีอารยธรรมของมนุษยชาติ ในขณะที่สังคมมนุษย์ยังเดินทางคืบหน้าถอยหลังกลับไปกลับมาอยู่กลางทางระหว่างความป่าเถื่อนกับความมีอารยธรรมอย่างปัจจุบันนี้ ซึ่งการใช้อำนาจยังมีบทบาทสำคัญอยู่มาก การเรียกร้องต่างๆ ก็ยังเป็นสิ่งที่ต้องยอมรับว่ามีความจำเป็นอยู่บ้าง เพราะอย่างน้อยก็ยังดีกว่าการถูกข่มเหงเหยียบย่ำโดยสิ้นเชิง และการใช้กำลังเข้าต่อสู้ห้ำหั่นทำลายกัน ซึ่งเป็นปลายสุดในทางเลวร้ายทั้งสองด้าน อย่างไรก็ตาม การเรียกร้องเป็นต้นนั้น จะดำเนินไปอย่างพอดีและชอบธรรมก็ต่อเมื่อผู้กระทำตระหนักในมาตรฐานวัดความป่าเถื่อนและความเจริญอย่างที่ได้กล่าวถึงข้างต้น

อีกอย่างหนึ่งที่ควรเน้นไว้ด้วย คือ เท่าที่สังเกต การเรียกร้องสิทธิสตรี (และการเรียกร้องอื่นๆ) เท่าที่ทำกันอยู่ มักดำเนินไปในลักษณะที่เป็นการส่งเสริมค่านิยมแห่งเกียรติยศอำนาจคือยอมรับหรือเชิดชูใฝ่ทะยานต่อการมีเกียรติยศอำนาจความสูงเด่นในสังคม การมีตำแหน่งใหญ่โต การเป็นผู้บริหาร มีทรัพย์สินบริวาร เป็นต้น ยอมรับเชิดชูว่าฐานะเหล่านี้เป็นสิ่งสูงส่งและให้เห็นว่างานบ้านและการทำหน้าที่ของแม่เป็นสิ่งต่ำต้อยด้อยค่า แทนที่จะทำในทางตรงข้าม กล่าวคือ ขอเสนอแนะว่าสิ่งที่น่ากระทำก็คือ การเรียกร้องสิทธิไปพลาง พร้อมกันนั้นก็พยายามลดถอนหรือทำลายค่านิยมแห่งเกียรติยศอำนาจ และเชิดชูค่าแห่งการทำหน้าที่ของมารดาและงานบ้าน ความจริง ไม่ว่าสังคมจะผันผวนเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร งานของแม่ก็ยังคงมีความสำคัญอยู่เรื่อยไป ต่อไปข้างหน้า ฐานะที่จำเจซ้ำซากนี้ ก็อาจปรากฏความสำคัญเป็นสิ่งสูงส่งที่สังคมยกย่องเชิดชูขึ้นได้อีก เมื่อว่าโดยประสิทธิภาพและผลดีต่อเด็กต่อความเจริญงอกงามของมนุษยชาติแล้ว มีใครจะทำหน้าที่ดูแลเด็กได้ดีกว่าสตรี ควรหรือที่สตรีจะปล่อยฐานะนี้ให้หลุดไปจากตน หรือยอมให้สังคมหยามฐานะนี้ว่าต่ำต้อยด้อยค่า ถ้าคนยังมีลูก ถึงหญิงจะเป็นรัฐมนตรีก็น่าจะเป็นแม่ที่ดีด้วย

ข้อที่เชื่อกันว่า ผู้หญิงเป็นเพศที่อารมณ์อ่อนไหวมีอิตถีภาวะอยู่มากจึงอ่อนแอกว่าผู้ชาย ในข้อนี้ทางพุทธศาสนากล่าวไว้ว่าอย่างไรครับ เป็นไปโดยธรรมชาติหรือว่าเป็นเพราะสังคมวัฒนธรรมหล่อหลอมขึ้น

รู้สึกว่าคนทั่วไปยอมรับกันอย่างนั้น ปัญหาที่ว่าเป็นไปโดยธรรมชาติแท้ หรือโดยการสั่งสมอบรม อันนี้สามารถโยงไปถึงเรื่องทางกายด้วย ผู้ที่อ่อนแอทางกายมีโอกาสหวั่นไหวได้ง่าย คือถ้ายอมรับว่าในทางสรีระผู้หญิงอ่อนแอกว่าชายแล้ว เมื่อสองคนนี้มาสัมพันธ์กันขึ้นฝ่ายที่อ่อนแอจะอ่อนไหวง่ายและจะแสวงหาการพึ่งพึงจากฝ่ายที่แข็งแรงกว่า อันนี้เป็นผลทางจิตวิทยา แล้วจึงสั่งสมมาเป็นวัฒนธรรมอีกทีหนึ่งหรือเปล่า เราจะมองว่าวัฒนธรรมเป็นเหตุที่มาของสภาพทางจิตวิทยา หรือว่าสรีรวิทยาเป็นจุดเริ่มต้นแล้วส่งผลมาทางจิตวิทยาแล้วจึงมาถึงวัฒนธรรม และวัฒนธรรมนั้นก็ย้อนกลับมาเสริมเหตุผลทางจิตวิทยาอีกทีหนึ่งก็ได้ ฉะนั้นต้องศึกษาให้ดี แต่ว่ามองกันอย่างง่ายๆ ก็เห็นได้ว่า ถ้าความอ่อนแอทางร่างกายเป็นจริง เมื่อเข้ามาสัมพันธ์กันทั้ง ๒ ฝ่าย ฝ่ายที่อ่อนแอกว่าก็ต้องหวั่นไหวกว่า สมมติว่า ๒ คนนี้ไปด้วยกันในการเผชิญภัย ความรู้สึกของผู้อ่อนแอก็ต้องหวังพึ่งผู้ที่แข็งแรงกว่า เมื่อเป็นเช่นนั้นความรู้สึกหวั่นไหวจึงย่อมมีโอกาสเกิดขึ้นแก่ผู้อ่อนแอได้ง่าย และในเมื่อปัจจัยทางสรีรวิทยาและจิตวิทยาให้ช่องแล้ว ถ้าไม่ระวังให้ดีวัฒนธรรมก็จะสั่งสมมากขึ้นในลักษณะที่กำหนดสภาพทางสรีรวิทยาและจิตวิทยานั้นให้อ่อนแอสมจริงและหนักแน่นยิ่งขึ้น แทนที่จะช่วยในทางตรงข้าม

เรื่องอิตถีภาวะ-ปุริสภาวะนี้เป็นเรื่องภายในจิตใจเท่านั้นหรือ ? ในคนๆ เดียวมีทั้ง ๒ ภาวะใช่หรือไม่ ?

เรื่องนี้อยู่ในอภิธรรม คือในเรื่องอุปาทายรูป ๒๔ และในเรื่องอินทรีย์ ๒๒ ส่วนในพระสูตรมีกล่าวถึงกระจายอยู่บ้าง และใช้ในความหมายง่ายๆ คือความเป็นหญิงเป็นชายอย่างที่ชาวบ้านพูดถึงแล้วก็เข้าใจกัน เช่น ในสังยุตตนิกายและเถรีคาถา ภิกษุณีท่านหนึ่งกล่าวถึงอิตถีภาวะว่า เมื่อจิตมีสมาธิดี มีปัญญาเห็นแจ้งธรรมอยู่ ความเป็นหญิงก็ไม่สำคัญหรือไม่มีความหมายอะไร ปัญหาจะมีก็แต่สำหรับคนที่ยังยึดติดถือมั่นอยู่ว่า เราเป็นหญิงเราเป็นชาย และในอังคุตตรนิกาย พระพุทธเจ้าตรัสถึงสภาพจิตที่ทำให้คนล่วงพ้นหรือไม่อาจล่วงพ้นจากความเป็นหญิงและจากความเป็นชาย (หมายความว่าผู้ที่หลุดพ้นแล้ว ไม่เกี่ยวเกาะยึดติดกับความเป็นหญิงและความเป็นชาย) ถ้าเราพูดแง่ละเอียดบางแง่ เราอาจพูดเป็นกลางๆ ได้ว่าเพราะมันมีอยู่ทั้งคู่จึงสามารถเกิดกลับไปกลับมาได้ ในอภิธรรมยอมรับว่า ผู้หญิงอาจเกิดเป็นผู้ชายได้ และผู้ชายอาจเกิดเป็นผู้หญิงได้ คือเกิดเป็นคนจริงๆ ไม่ใช่แค่รู้สึกในใจ แต่ในแง่ที่มาเกิดเป็นผู้หญิงผู้ชายก็แสดงให้เห็นชัดเจนอยู่ว่าอิตถีภาวะเด่นชัด หรือปุริสภาวะเด่นชัด หรือปุริสภาวะเด่นชัด จิตเป็นส่วนสำคัญและเป็นเหตุแสดงให้ปรากฏในสภาพชีวิตร่างกาย ภาวะนี้แทรกซึมอยู่ทั้งหมดในองคาพยพทั้งสิ้นของชีวิต

ที่เชื่อกันว่า ถ้าหากทำความชั่วชาตินี้แล้วจะไปเกิดเป็นผู้หญิงชาติหน้า แต่ถ้าผู้หญิงทำความดีชาตินี้แล้วจะไปเกิดเป็นชาย มีโอกาสบรรพชา อุปสมบท บรรลุธรรมในชาติหน้านั้น คตินี้ตรงตามหลักพุทธศาสนาหรือไม่

ถ้าเชื่ออย่างนั้นจริงก็คลาดเคลื่อน เรื่องนี้มีในอรรถกถา ไม่ใช่พระไตรปิฎกและเป็นเรื่องความดีความชั่วเกี่ยวกับทางเพศ ไม่ใช่เรื่องดีชั่วทั่วๆ ไป และการบรรลุธรรมก็ไม่จำกัดโดยเพศ ในอรรถกถาพูดไว้ว่าถ้าผู้ชายไปเจ้าชู้ผิดลูกผิดเมียเขาต่อไปจะไปเกิดเป็นผู้หญิง ส่วนผู้หญิงที่มีใจซื่อสัตย์ต่อสามี รักเดียวใจเดียวมั่นคง ต่อไปจะไปเกิดเป็นผู้ชายเป็นเรื่องดีชั่วทางเพศ ไม่ใช่ดีชั่วด้านอื่น ถ้ามองจากคตินี้ก็เห็นว่า ถ้าผู้ชายอ่อนไหววุ่นวายกับเรื่องทางเพศมากก็ไปเกิดเป็นผู้หญิง แต่ผู้หญิงที่จิตใจมั่นคง จะไปเกิดเป็นผู้ชาย

นี่ก็แสดงว่า สังคมสมัยนั้นยกย่องให้ความสำคัญแก่ผู้ชายเหนือกว่าผู้หญิง

มีค่านิยมกันมาอย่างนั้น แต่จะพูดคลุมเครือว่า ชายดีกว่าหญิงไม่ได้ และมีข้อสำคัญอีกประการหนึ่งว่าในการเข้าถึงธรรมสูงสุดไม่มีความเป็นชายเป็นหญิง ในพุทธศาสนาจึงพูดได้ในทำนองนี้ว่า ในตัวสิกขา โดยเฉพาะการปฏิบัติขั้นจิตปัญญาและในการเข้าถึงความหลุดพ้น ไม่ต้องพูดถึงความเป็นชายเป็นหญิง ความหลุดพ้นอยู่พ้นเหนือความเป็นชายเป็นหญิง

ขอกราบขอบพระคุณท่านเจ้าคุณที่กรุณาให้ข้อคิดความเห็นที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งนี้

ทำอย่างไรจะหายโกรธ

แยกพิมพ์เป็นเรื่องเดี่ยวแล้ว อ่านได้ที่ ทำอย่างไรจะหายโกรธ

การเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน

แยกพิมพ์เป็นเรื่องเดี่ยวแล้ว อ่านได้ที่ การเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน

พุทธธรรมกับการพัฒนาชีวิตบุคคล11

ขอเจริญพรท่านอาจารย์และอุบาสกอุบาสิกา สาธุชนทุกท่านทุกคน

เมื่อกี้นี้ได้มีพิธีถวายสักการะ ซึ่งอาตมาได้กล่าวว่า ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีงาม และท่านปราโมทย์ก็ได้ปรารภเรื่องนี้ให้รู้ความเป็นมาแล้ว ทีนี้ก็นึกขึ้นได้อีกอย่างว่า นอกจากจะเป็นการเนื่องด้วยการเข้าพรรษา ก็ไปตรงกับที่ท่านปราโมทย์พูดถึงคือ เป็นวันอาสาฬหบูชาด้วย วันอาสาฬหเป็นวันแสดงปฐมเทศนา วันนี้ เริ่มมีรายการสนทนาธรรมหรือแสดงธรรมในระยะเข้าพรรษานี้ นอกจากจะเนื่องด้วยการเข้าพรรษาแล้ว การริเริ่มขึ้นนี้ก็มาตรงกับการแสดงปฐมเทศนาด้วยก็นับว่า ยิ่งเป็นการประจวบที่ดีงาม จะถือเป็นฤกษ์งามยามดีอะไรก็ได้

วันนี้ให้พูดเรื่อง การพัฒนาชีวิต ชื่อเดิมดูเหมือนจะเป็นว่า "พุทธธรรมกับการพัฒนาชีวิต" และคณะผู้จัดนี้ก็ได้เรียกชื่อว่าเป็น "ปาฐกถาพิเศษ" เริ่มต้นนี่ก็ต้องต่อว่าคณะผู้จัดสัมมนาอีกเหมือนเคย คือให้ชื่อการพูดครั้งนี้ใหญ่เกินไปหน่อย อาตมานึกในการที่รับมาพูดว่ามาคุยธรรมกันสักครึ่งชั่วโมงคงพอ แต่รายการนี้จะให้พูดนานสักชั่วโมงครึ่ง แต่เวลาคุยกันไปมันอาจจะยืดไปถึงเวลาที่กำหนดไว้ก็ได้ แต่ให้ตั้งใจไว้ก่อนว่าเรื่องที่พูดนี้เป็นเรื่องไม่ใหญ่โตอะไรนัก เป็นเรื่องที่ค่อนข้างเล็กหน่อย

ในหัวเรื่องนี้ คำสำคัญก็คือคำว่าพัฒนา "พัฒนา" เป็นคำที่สำคัญในสมัยปัจจุบันนี้ ยุคนี้ในแง่หนึ่งเรียกว่าเป็นยุคของการพัฒนา คำว่าพัฒนาในหัวข้อนี้จะเอามาเชื่อมโยงกับพระพุทธศาสนา ก็อยากจะถามก่อนว่า คำว่าพัฒนานี้ในพุทธศาสนามีใช้หรือเปล่า ถ้าจะตอบก็บอกว่ามีเหมือนกัน พัฒนา, วัฒนะ ก็เป็นศัพท์ในทางภาษาบาลี แต่ถึงจะมีก็ไม่ใช่เป็นคำสำคัญ คือว่าไม่ใช่ศัพท์ธรรมะที่เด่น เรียกว่าเดิมนั้นในทางพระพุทธศาสนาไม่ได้ใช้คำว่า พัฒนา เรามาใช้คำว่าพัฒนากันอย่างกว้างขวาง ในสมัยเมื่อไม่นานมานี้เอง ในเมื่อให้มาพูดเรื่อง พุทธธรรมกับการพัฒนาก็จะต้องกลับไปค้นหาหลักในทางพุทธศาสนาว่าในทางพุทธศาสนากล่าวถึงการพัฒนาว่าอย่างไร และศัพท์ที่จะถือว่าตรงกันควรจะเป็นอะไร ถ้าเราไม่ค้นหาศัพท์เราก็อาจจะพูดได้ คือพูดไปว่า เดี๋ยวนี้เรามีการพัฒนาอย่างไร และทางพุทธศาสนาจะว่าอย่างไรกับการพัฒนาในสมัยปัจจุบัน อาจจะพูดกันได้ยาวนานทีเดียว แต่ถ้าให้มั่นลงไปให้กระชับก็ต้องกลับไปค้นหาศัพท์ ที่ใช้อย่างตรงทีเดียวว่าทางพุทธศาสนาใช้อย่างไร ในการค้นหาศัพท์อาตมาคิดว่า ต้องไปมองถึงระบบหรือกระบวนการปฏิบัติของพุทธศาสนาว่าเป็นอย่างไร กระบวนการปฏิบัติในพุทธศาสนาถือเป็นการฝึก เรารู้จักกันดีเรียกว่า "สิกขา" สิกขาเป็นภาษาบาลีตรงกับที่ไทยเราใช้ปัจจุบันว่า ศึกษา ซึ่งเป็นคำที่มาจากสันสกฤต สิกขาแปลว่า ฝึกอบรม คำว่า พัฒนาแปลว่าทำให้เจริญ การทำให้เจริญลักษณะหนึ่ง ก็อยู่ในขบวนการปฏิบัติของพุทธศาสนา แต่ถ้อยคำรู้สึกว่ายังไม่ตรงกัน ถ้าหาต่อๆ ไปอีก ก็มีคำหนึ่งคือคำว่า "ภาวนา" ภาวนาก็เป็นคำที่ใช้มากเหมือนกัน คำว่าภาวนานี้เราแปลกันในภาษาไทยง่ายๆ ว่า "เจริญ" เช่น สมถภาวนา แปลว่าเจริญสมถะ หรือสมาธิภาวนา ก็แปลว่าเจริญสมาธิ วิปัสสนาภาวนา ก็แปลว่า เจริญวิปัสสนา คำว่าพัฒนาก็แปลว่า เจริญหรือทำให้เจริญ ก็รู้สึกว่าไปกันได้ และถ้าว่ากันถึงคำว่าภาวนาก็เป็นข้อธรรมหลักในทางพุทธศาสนาทีเดียว

คำว่าภาวนาที่เราแปลว่าเจริญนี้ เป็นการแปลที่เข้าภาษาไทยเต็มที่และเป็นคำง่ายๆ ที่ใช้กันมาแต่โบราณ คำในสมัยเดิมท่านกินความหมายลึกซึ้งพูดแล้วคงเข้าใจกันดี แต่มาสมัยนี้มันอาจจะใช้ในความหมายที่ลึกซึ้งและกินความกว้างไม่เท่ากันทีเดียว เราก็เลยต้องหันไปดูตัวศัพท์ (เสียเวลาเรื่องศัพท์กันหน่อย อาตมาขอโอกาสว่า เราจะเบื่อหน่ายก็ต้องยอมเสียเวลาเรื่องการพูดความหมายศัพท์อะไรกันเล็กน้อย เป็นเรื่องของภาษา) ไปดูคำว่าภาวนา ก่อนจะแปลว่าเจริญ ภาวนาถ้าแปลตามตัวอักษรแปลว่า "การทำให้เป็นให้มี" หมายความว่าอันไหนที่ไม่เป็นก็ทำให้เป็นขึ้น อันไหนที่ไม่มีก็ทำให้มีขึ้น ซึ่งหมายความเลยไปถึงว่า การทำให้เพิ่มพูนขึ้น ทำให้กล้าแข็งขึ้นอะไรพวกนี้ เราจึงแปลกันอีกความหมายหนึ่งว่าฝึกอบรม คำว่าฝึกอบรมก็ไปใกล้กับความหมายของคำว่าสิกขา เพราะฉะนั้นสิกขากับภาวนา จึงเป็นคำที่ใช้อย่างใกล้เคียงกัน บางทีเหมือนกับแทนกันทีเดียว นี้เป็นการโยงเข้ามาหาตัวหลักใหญ่ในการปฏิบัติทางพุทธศาสนาที่พูดถึงเมื้อกี้ว่าสิกขา

ทีนี้สิกขาเรามีสาม อธิศีลสิกขา อธิจิตสิกขา อธิปัญญาสิกขา สามอย่างนี้เราเรียกง่ายๆ สั้นๆ ว่า ศีล สมาธิ ปัญญา แต่ชื่อเต็มเป็นอธิศีลสิกขา อธิจิตสิกขา อธิปัญญาสิกขา ไปดูทางฝ่ายภาวนา คำที่เราได้ยินบ่อยๆ ก็อาจจะเป็นสมาธิภาวนา หรืออาจจะเป็นสมถภาวนา วิปัสสนาภาวนา สมถภาวนาคือเจริญสมถะหรือฝึกอบรมสมถะ วิปัสสนาภาวนาคือ ฝึกวิปัสสนา เจริญวิปัสสนา แต่มันไม่ได้มีแค่นี้ยังมีชุดอื่นอีก ชุดหนึ่งมี กายภาวนา จิตภาวนา ปัญญาภาวนา อันนี้ชักใกล้เข้ามาแล้วลองเทียบกับชุดสิกขาสาม มีอธิศีลสิกขา ฝ่ายภาวนา เริ่มต้นด้วยกายภาวนา เรื่องกาย กับเรื่องอธิศีล นี่ใกล้กันแล้ว คือเป็นเรื่องด้านกายภายนอกเหมือนกัน อันที่สองอธิจิตสิกขา ทางภาวนาก็มีจิตภาวนา อธิจิตสิกขาก็คือฝึกเรื่องจิตเรื่องสมาธิ จิตภาวนาก็ฝึกอบรมเรื่องจิตเหมือนกันสุดท้ายอธิปัญญาสิกขา ทางฝ่ายนี้ก็มีปัญญาภาวนาเรียกได้ว่าเหมือนกัน อธิปัญญาก็ฝึกปัญญายิ่งขึ้นไป ทางฝ่ายนี้เป็นปัญญาภาวนาฝึกอบรมปัญญาเจริญปัญญา ก็เรียกว่าใกล้กันมากเกือบเหมือนกันเลย

สิกขา นี่เป็นระบบการฝึกฝนปฏิบัติอย่างที่เราเรียกว่าการศึกษา ส่วนในด้านที่จะพัฒนาบุคคล บุคคลฝึกตัวเองนี้เราเรียกว่าเป็นภาวนา ถ้าแปลให้เหมือนสมัยปัจจุบันที่เขาแปลเป็นภาษาอังกฤษ ลองโยงๆ ไปดูจะตรงกันหรือไม่ก็ลองวิเคราะห์กันทีหลัง เราแปลศึกษาว่า Education และเราแปลภาวนาหรือเจริญว่า Development

หันมาพูดเรื่องภาวนา เป็นอันว่าใกล้กับสิกขาแล้ว แต่เรื่องภาวนายังไม่จบแค่นั้น อาตมาจะแบ่งเป็นชุดต่างๆ แล้วชี้แจงความหมายของศัพท์ต่อไป ท่านมีภาวนาหลายชุด เมื่อกี้อาตมาพูดไปชุดหนึ่ง คือ ชุดกายภาวนา จิตภาวนา ปัญญาภาวนา แต่บางแห่งท่านพูดเพียงสอง คือ กายภาวนา และ จิตภาวนา ที่พูดอย่างนี้มีในบางพระสูตร อาตมาว่าเป็นการเทียบกันกับสมัยก่อน ในเมื่อมีผู้พูดถึงลัทธิอื่นๆ ซึ่งบอกว่ามีการฝึกอบรมกาย กายภาวนา และฝึกอบรมจิต จิตภาวนา เช่นในลัทธินิครนถ์การฝึกกาย หมายถึงการประพฤติวัตรต่างๆ ที่เรียกว่าเป็นอัตตกิลมถานุโยค เป็นการทรมานกาย ส่วนจิตภาวนาก็เป็นแบบของเขา พระพุทธเจ้าตรัสว่า กายภาวนาในพุทธศาสนาไม่ใช่อย่างนั้น จิตภาวนาไม่ใช่อย่างนั้นแล้วบอกใหม่ อันนี้เป็นการพูดโดยเทียบกับลัทธิอื่นๆ ก็มีสองอย่างคือกายภาวนาและจิตภาวนา แต่ในบางแห่งภาวนาจะมีเป็นสี่ อันนี้น่าสนใจ อาตมายกเอามาถือว่าเป็นชุดที่ครบถ้วนที่สุด เป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าตรัสในคำสอนของพระองค์เอง ไม่ได้เทียบกับคำสอนอื่นๆ เมื่อใช้เป็นคุณสมบัติบุคคล ท่านใช้ว่า ภาวิตกาโย ภาวิตสีโล ภาวิตจิตโต ภาวิตปัญโญ คือคำว่าภาวนานี้เวลาใช้เป็นคุณศัพท์มันเป็นภาวิตะ ภาวิตกาโย ผู้มีกายที่เจริญแล้วหรือฝึกอบรมแล้ว ภาวิตสีโล ผู้มีศีลที่ฝึกอบรมแล้วหรือเจริญแล้ว ภาวิตจิตโต ผู้มีจิตเจริญแล้วหรือมีจิตที่ฝึกอบรมแล้ว ภาวิตปัญโญ ผู้มีปัญญาที่เจริญแล้วหรือปัญญาที่ฝึกอบรมแล้ว

ถ้าเป็นคำนาม สี่อันนี้ก็คือ หนึ่งกายภาวนา เป็นคนก็เป็นภาวิตกายะเป็นตัวการกระทำเป็นกายภาวนา สอง คนเป็นภาวิตสีโล ตัวนามการกระทำเป็นศีลภาวนา สาม ภาวิตจิตโตเป็นคุณนามของบุคคล การกระทำก็เป็นจิตภาวนา และภาวิตปัญโญเป็นคุณสมบัติของบุคคล ตัวนามการกระทำก็เป็นปัญญาภาวนา เป็นอันว่าได้ชุดสี่ กายภาวนา ศีลภาวนา จิตภาวนา ปัญญาภาวนา นี้เรียกว่าเป็นการเจริญหรือพัฒนาที่ครบชุดสี่อย่าง แปลง่ายว่า การเจริญกาย เจริญศีล เจริญจิต เจริญปัญญา

พูดถึงภาวนานี้อาตมาได้เห็นหลักเกี่ยวกับความมุ่งหมายของการศึกษา ในสมัยปัจจุบันนี้เขาพูดถึงความมุ่งหมายของการศึกษาสี่อย่าง เรียกว่า Growth หรือ Development ก็ได้ ตรงกันเลยกับภาวนา ถ้าใช้คำว่า Growth ก็ได้ Growth เป็นสี่ ในการศึกษาสมัยใหม่เขาบอกว่ามี

๑. Physical Growth ความเจริญหรือความงอกงามทางกาย อันนี้จะตรงกับกายภาวนา โดยศัพท์ตรงกันเลยทีเดียว

๒. ของฝรั่งเป็น Social Growth หรือ Social Development ความงอกงามทางสังคม ของบาลีว่า ศีลภาวนา เจริญศีล ศีลคือระเบียบวินัย ความสัมพันธ์ทางสังคม เรื่องการปฏิบัติภายนอก ทางกาย วาจา เรียกว่าความสัมพันธ์ทางสังคม นั่นแหล่ะ ถ้าพูดภาษาสมัยใหม่ ก็ตรงกันอีก

๓. เขาบอกว่า Emotional Growth หรือ Emotional Development ความเจริญงอกงามทางอารมณ์ อารมณ์นี้เป็นศัพท์จากฝรั่ง แต่ก็ไม่หนีไปไหนหรอก ตรงกันคือจิตภาวนานั่นเอง แปลว่า เจริญจิต

๔. สุดท้ายของฝรั่งคือ Intellectual Growth หรือ Intellectual Development ความเจริญงอกงามทางปัญญา ของทางบาลีก็มี ปัญญาภาวนา แปลว่า เจริญปัญญา

แปลกที่ว่าทำไมมาตรงกัน ตรงกันอย่างไม่มีคลาดเคลื่อนเลย แต่แปลกอีกอย่างว่าของทางพระสี่อย่างนี้ไม่ได้พูดถึงกันมาเลย เราไปพูดถึง Growth หรือ Development ๔ อย่างในวงการศึกษาว่า เป็นความมุ่งหมายของการศึกษา ๔ ประการ

ทีนี้ ลองพิจารณาความหมายของภาวนา ๔ แต่ละข้อ

ข้อ ๑. กายภาวนา หรือเจริญกาย หมายถึงพัฒนาความสัมพันธ์ กับสภาพแวดล้อมด้านกายภาพ ท่านอธิบายไว้หลายอย่าง อย่างหนึ่งว่าหมายถึง อินทรียสังวร แปลว่าสำรวมอินทรีย์ ๖ แต่บางแห่งท่านเอาแค่ ๕ ยกเว้น "ใจ" ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย เวลาประสบอารมณ์ต่างๆ คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ไม่ให้ถูกครอบงำด้วยความยินดียินร้าย นี่เรียกว่าอินทรียสังวร อีกอย่างหนึ่ง บางทีท่านแปลกายภาวนาว่าได้แก่กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ในที่นี้อาตมาแปลว่า เรื่องที่เกี่ยวข้องกับทางกาย ได้แก่พวกการบริโภค การใช้สอยต่างๆ ซึ่งเป็นหลักสำคัญในทางพระพุทธศาสนา สิ่งที่เกี่ยวข้องในการบริโภค หนึ่ง ก็อาหาร เรื่องการกิน สอง เครื่องนุ่งห่มหรือการบริโภคจีวร สาม ก็เสนาสนะ การบริโภคเสนาสนะ คือที่อยู่อาศัย สุดท้าย คิลานเภสัช การใช้การบริโภคยา นี้ก็เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับกายโดยตรง และจัดอยู่ในศีลชนิดหนึ่งเรียกว่าปัจจัยปัจจเวกขณ หรือปัจจัยสันนิสิต ในกรณีที่ไม่มีศีลมาด้วย กายจะหมายถึงศีลทั้งหมดด้วย แต่เมื่อกายกับศีลมาด้วยกันคู่กันนี้ก็คล้ายๆ กับแบ่งส่วนหนึ่งออกจากศีลให้มีขอบเขตจำกัดแคบลง กายก็จะเป็นศีลส่วนจำเพาะ ซึ่งในกรณีนี้อาตมาถือเอาความหมายว่า สิ่งที่กายเกี่ยวข้องในการบริโภคหรือการกินอยู่เป็นเรื่องของกายภาวนา ถ้าอย่างนี้ก็จะเข้าหลักสำคัญในทางพุทธศาสนาเป็นหลักใหญ่ทีเดียว อาตมาเสนอให้มาช่วยกันศึกษาต่อไป กรณีนี้อาตมา เน้นความหมายไปที่การบริโภค การเจริญกายนี้เน้นการฝึกอบรมในเรื่องการกินอยู่ การเกี่ยวข้องกับปัจจัยสี่ ต่อไปศีล, จิต, ปัญญา ความหมายชัดอยู่แล้ว สมมติว่าตกลงกันได้อย่างนี้ก็เข้าความหมายที่ลึกลงไปได้

สมมติว่าตกลงกันแล้วอย่างนั้น กายภาวนาหรือการเจริญกาย คือการฝึกอบรมเกี่ยวกับการกินอยู่ การบริโภค การพัฒนาด้านกาย ในทางพุทธศาสนา ถือว่าสำคัญมาก เรามีหลักสำคัญในเรื่องนี้เรียก โภชเนมัตตัญญุตา ความรู้จักประมาณในการกิน รู้จักประมาณในการกินคืออะไร ถ้าแปลสมัยนี้โภชเนมัตตัญญุตาก็แปลว่ากินพอดี มัตตัญญุตารู้ประมาณรู้พอดี คำว่า มัตตะ แปลว่า พอดี ประมาณในการกินหรือกินพอดี หมายถึงอยู่ด้วย คือกินอยู่พอดี กินอยู่พอดีคืออะไรอาจจะเป็นเรื่องที่กำลังถกเถียงกัน แต่อาตมาว่าในทางธรรมะไม่มีปัญหาเลย ถ้าจะเอาหลัก ท่านแสดงไว้ชัดพอ โภชเนมัตตัญญุตา กินอยู่พอดีก็ต้องใช้โยนิโสมนสิการ เพราะท่านบอกไว้เลย กินพอดีก็คือ ปฏิสังขา โย...ที่พระท่านจะต้องท่อง ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายจึงฉันอาหารบิณฑบาตคือเราไม่ได้ฉันเพื่อสนุกสนานมัวเมาโก้หรูอะไรต่างๆ ไม่ใช่เพื่อบำรุงบำเรอปรนเปรอ แต่เพื่อให้ร่างกายเป็นอยู่ได้เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์ เพื่อเป็นอยู่ผาสุก อาตมาแปลว่า เพื่อให้ร่างกายมีสุขภาพดี เพื่อเกื้อหนุนชีวิตที่ดีงามหรือความประพฤติธรรม ให้ทำงานทำกิจของตนไปได้อยู่สุขสบาย นี่เรียกว่าใช้โยนิโสมนสิการ

ในกรณีที่เกี่ยวกับการบริโภคนี้มีหลักโยนิโสมนสิการที่เรียกว่า การพิจารณาคุณค่าแท้คุณค่าเทียม โภชเนมัตตัญญุตา คือใช้โยนิโสมนสิการในการบริโภคให้ได้คุณค่าแท้ ไม่เอาคุณค่าเทียม ในเรื่องอาหารคุณค่าเทียมคือคุณค่าที่ไม่ใช่คุณค่าแท้จริงต่อชีวิต เราเรียกว่าคุณค่าที่สนองตัณหา คุณค่าที่สนองตัณหาคืออะไร ก็คือกินเพียงเพื่ออร่อย กินเพื่อจะอวดมั่งอวดมี กินเพื่อโก้หรูสนุกสนานกินเพื่อมัวเมา นี้เรียกว่าคุณค่าเทียมคุณค่าสนองตัณหา ทีนี้พอมีโยนิโสมนสิการ ก็ใช้ปัญญาพิจารณาว่าอาหารนี้ให้อะไรที่เป็นคุณค่าที่แท้จริงแก่ชีวิต คุณค่าที่จะช่วยให้ร่างกายของเรามีสุขภาพดี กินไม่เกินสมควร ไม่มากไม่น้อยไป ได้คุณค่าประโยชน์ เราเรียกว่าได้คุณค่าแท้ ได้คุณค่าที่สนองปัญญา ที่รู้เข้าใจความจริงประโยชน์ความดีความควร เป็นโยนิโสมนสิการ ถ้าเป็นอย่างนี้เรียกว่ากินถูกต้อง เมื่อกินด้วยใช้ปัญญาอย่างนี้แล้ว มันก็เป็นโภชเนมัตตัญญุตาเองเลยเพราะฉะนั้นกินพอดีก็คือการกินอย่างใช้ปัญญา รู้คุณค่าที่แท้จริง กินเพื่อคุณค่าที่แท้จริงของสิ่งนั้นๆ ในเรื่องเครื่องนุ่งห่มก็เหมือนกัน เราต้องพิจารณาว่าเครื่องนุ่งห่มนี้ มนุษย์เราใช้เพื่ออะไรถ้าหากว่าใช้เพื่อปกปิดร่างกายเพื่อกันหนาวร้อนอะไรต่างๆ อย่างนี้เป็นเรื่องการใช้ปัญญา เป็นโยนิโสมนสิการเรียกว่าคุณค่าแท้ ถ้าหากเราใช้เพื่อจะอวดฐานะมั่งมีเป็นต้น มันก็จะกลายเป็นเรื่องตัณหา เรื่องคุณค่าเทียม ต้องแยกกันได้อย่างนี้

พอใช้โยนิโสมนสิการมันก็เป็นโภชเนมัตตัญญุตาเลย มันอยู่แค่นี้ไม่ต้องไปพูดถึงว่าจะกินน้อยเท่านั้นมากเท่านั้น ในแง่ของปริมาณแท้อาจจะบอกไม่ถูก เป็นเรื่องต้องว่ากันอีกชั้นหนึ่ง เอาหลักกลางก่อนต้องเอาที่คุณค่าของมันก่อนและเรื่องปริมาณมาว่ากันทีหลัง ถ้าเอาปริมาณมาว่าเลยมันคงจะยุ่ง ว่ากินแค่ไหนเรียกว่าพอดี คงจะจำกัดเป็นหลักตายตัวไม่ได้บางทีมันขึ้นกับกาลเทศะความต้องการตามสภาพและขนาดของร่างกายเป็นต้น ปัจจัยประกอบหลายอย่าง ต้องจับหลักอันนี้พระท่านใช้หลักนี้เลยว่าโภชเนมัตตัญญุตา คือปฏิสังขา โย... พิจารณาโดยแยบคายแล้วจึงฉันอาหาร คือฉันเพื่ออย่างนี้ๆ แล้วก็ว่าไป กินอยู่พอดีหลักอยู่ตรงนี้เราจับได้แล้ว เรื่องเสนาสนะที่อยู่อาศัยก็เหมือนกันขยายไปได้ทุกอย่างแม้แต่เทคโนโลยีต่างๆ

ทีนี้ในการพัฒนา อาตมาว่า ชั้นกายภาวนา ฝึกอบรมเจริญกายนี้สำคัญมากในการพัฒนา ถ้าพัฒนาบุคคลไม่ได้แล้ว กระบวนการพัฒนาก็ย่อมผิด การพัฒนาบุคคลนั้นต้องพัฒนาทั้งคนที่ทำงานและพัฒนาคนที่จะอยู่ในถิ่นที่พัฒนา และในการพัฒนาบุคคลนั้น ถ้าหากว่าชั้นที่หนึ่งคือกายภาวนาในแง่นี้ไม่สำเร็จ อาตมาว่าการพัฒนานั้นก็ล้มเหลวแล้ว ถ้าหากว่าการใช้ปัจจัยสี่หรือพวกวัตถุทั้งหลายและการรับความเจริญต่างๆ ทางเทคโนโลยี มุ่งจะเอามาเพื่อสนองตัณหา เพื่อวัตถุประสงค์เพียงจะปรนเปรอบำรุงบำเรอ อวดมั่งอวดมีแข่งขันเป็นต้น การพัฒนานั้นจะต้องเกิดปัญหามาก ล้มเหลว และอาตมามองในแง่ว่าการพัฒนาที่อาจจะเรียกว่าพัฒนาผิดหรือเป็นเพียงการทำให้ทันสมัยแต่ไม่พัฒนานั้น มันเป็นเรื่องที่ผิดมาตั้งแต่กายภาวนาเลย มันพลาดมาแต่ที่นี่เลย ยังไม่ต้องไปพูดถึงศีลภาวนา จิตภาวนา ปัญญาภาวนา มันพลาดเสียแล้วตั้งแต่ต้น

ขอรวบรัดผ่านไปก่อน เรื่องนี้ยังไม่หมดต้องคุยกันอีก ต่อไปเรื่องศีลภาวนา พัฒนาศีล เจริญศีล เรื่องศีลก็รู้กันอยู่แล้วแต่เรามาขยายความหมายให้คนสมัยปัจจุบันเข้าใจคือ เป็นระเบียบวินัยความสุจริตกาย วาจา และความสัมพันธ์ทางสังคม ศีลนี่มองได้สองด้าน ด้านภายในตัวเอง กับด้านภายนอก ด้านภายในคืออะไร ศีลคือการฝึกกายวาจาให้เดินเข้าสู่ทางที่ถูกต้องปราศจากโทษ เพื่อให้เป็นพื้นฐานในการฝึกอบรมจิตต่อไป ศีลภาวนาเป็นพื้นฐานแก่จิตภาวนา ท่านบอกว่าศีลที่ถูกต้องเป็นไปเพื่อสมาธิถ้าใช้ศัพท์พระก็ว่าสมาธิสังวัตตนิก นี่เป็นเรื่องวัตถุประสงค์ภายในศีลนั้นจะปฏิบัติอย่างไรๆ ถ้าไม่เป็นไปเพื่อสมาธิก็ล้มเหลวหมด ไม่ได้ดูที่การปฏิบัติภายนอกแค่นั้นแค่นี้ แต่ดูที่ว่าบรรลุเป้าหมายหรือไม่ อันนี้เป็นหลักสำคัญ คือมองศีลนี่มองสองแบบ หนึ่งมองในรูปแบบว่าเคร่งครัดเท่าไร เคร่งครัดนี้ก็ถูกต้องในแง่หนึ่ง เพราะมันมีหลักการกฎเกณฑ์ภายนอกที่จะเป็นข้อตกลงสำหรับรู้ร่วมกันว่าเอาแค่ไหน อย่างน้อยรูปแบบมันให้แล้ว รูปแบบนี่เป็นเรื่องสำคัญเหมือนกัน แต่อย่างไรก็ตามรูปแบบยังไม่ใช่เครื่องตัดสินที่แท้จริง ต้องดูว่าเข้าลักษณะสมาธิสังวัตตนิก เป็นไปเพื่อสมาธิหรือไม่ ถ้าไม่มีเป้าหมายนี้อยู่ การปฏิบัติอาจจะเคร่งครัดเลยเถิดไป เป็นไปได้เหมือนกัน อย่างลัทธินิครนถ์ก็ปฏิบัติเคร่งครัดเลยเถิดไป

ทีนี้ศีลในแง่ข้างนอก ศีลมองในแง่ประโยชน์ของสังคม ประโยชน์ทางสังคมเริ่มด้วยอะไร คือการไม่เบียดเบียนกันเป็นอย่างน้อย ศีลนี่มีหลักการด้านนอก อย่างน้อยไม่เบียดเบียนกัน ไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น ต่อจากนั้นเป็นศีลที่เกื้อกูลยิ่งขึ้นคือการช่วยเหลือทางสังคม อย่างพระท่านจัดเอาบุญกิริยาวัตถุข้อไวยาวัจจมัยกุศล บุญหรือกุศลที่เกิดจากการขวนขวายช่วยเหลือรับใช้อะไรต่างๆ (ไวยาวัจจะ) อย่างพวกที่ไปทำงานสังคมสงเคราะห์ ทำงานพัฒนา นี่เราถือว่าเป็นพวกทำไวยาวัจจมัยทั้นนั้น ไวยาวัจจะนี้เป็นเรื่องศีลชั้นบวก เรามีศีลที่เรียกว่าศีลชั้นลบคือไม่เบียดเบียนเป็นเกณฑ์อย่างต่ำ ถ้าใครยังไม่ไปทำอื่นก็ขออย่าเบียดเบียน ทีนี้ถ้าทำได้ดีกว่านั้นก็มาถึงขั้นไวยาวัจจมัยเป็นชั้นบวกไปช่วยเหลือ จะเรียกว่ารับใช้หรือบริการหรือจะใช้ศัพท์อะไรก็แล้วแต่ เป็นอันว่าเรื่องศีลนี่สองอย่าง มองข้างในมองข้างนอก ในด้านสังคมความสัมพันธ์ในลักษณะไม่เบียดเบียน ลักษณะช่วยเหลือเกื้อกูลและข้างใน มันจะสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ถ้าภายนอกดีก็จะช่วยให้จิตใจมีพื้นฐานที่จะทำให้สงบได้ อย่างน้อยสังคมที่สงบร่มเย็นมีสันติก็ทำให้คนมีสภาพแวดล้อมอำนวยแก่การฝึกอบรมทางจิตด้วย หรือตัวเองประพฤติศีลดี จิตตัวเองก็โปร่งเบาอิ่มใจเป็นพื้นที่จะสงบได้ง่าย เหมาะแก่การทำสมาธิ

ขอผ่านไปข้อที่สาม จิตภาวนา การฝึกอบรมจิตนี้ในขั้นสูง (ที่จริงก็ไม่ใช่สูงหรอกแต่เราใช้ศัพท์ทำให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นรูปแบบหรือจำกัด) จิตภาวนาก็เป็นเรื่องสมาธิภาวนา การฝึกบำเพ็ญสมาธิ หรือ สมถภาวนาเจริญสมถะ แต่เดี๋ยวนี้ พอพูดถึงสมถะคนก็ไปนึกว่าหงอยๆ ที่จริงหงอยนี่ตรงกันข้ามกับสมถะ ดีไม่ดีไปเข้าถีนมิทธนิวรณ์ สมถะมีจุดมุ่งหมายเพื่อการกำจัดถีนมิทธะซึ่งเป็นตัวนิวรณ์สำคัญ เป็นปฏิปักษ์แก่สมาธิเป็นปฏิปักษ์แก่สมถะ สมถะนั้นตัวสำคัญคือกำจัดนิวรณ์ กำจัดนิวรณ์ไม่ได้ไม่มีทางได้สมาธิ เป็นเกณฑ์วัดทีเดียวว่าถ้ามีนิวรณ์คือไม่มีสมาธิเพราะฉะนั้นมีความหดหู่ ซึม ท้อแท้คือลักษณะที่ไม่มีทางได้สมาธิ สมาธิต้องกำจัดอันนี้ด้วย เพราะฉะนั้นคนเข้าใจผิดมากมาย เอาสมถะเป็นหงอยไป ไปสร้างความรู้สึกทัศนคติกันอย่างนั้น บางทีคนที่บำเพ็ญเพียรทางจิตก็มีลักษณะสงบแต่ว่าสงบอย่างมีปัญญา สงบอย่างมีลักษณะท่วงทีของตัวเองในทางที่มีคุณภาพ ไม่ใช่สงบแบบหงอยอะไรไปอย่างนั้น ต้องระวังแยกกันให้ดีด้วย เป็นอันว่าฝึกอบรมจิตฝึกอบรมสมาธินี่เป็นพวกเดียวกัน พูดไปแล้วว่า สมาธิให้ความหมายในแง่ลบได้ สมาธิคืออะไรคือการกำจัดนิวรณ์ ถ้าพูดแค่นี้พอเลย กำจัดนิวรณ์ได้ปฏิบัติสมาธิก็สำเร็จ นิวรณ์มีห้า

๑. กามฉันทะ แปลว่า ความพอใจในกาม ความพอใจติดในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสสิ่งปรนเปรอทั้งหลาย คือใฝ่ในสิ่งที่พอใจอยากได้ทั้งหลายนั่นเอง นิวรณ์ห้าอีกชุดหนึ่งท่านใช้บ่อย เริ่มต้นด้วย อภิชฌาไม่ใช่เริ่มด้วยกามฉันท์ แต่ชุดที่เรารู้จักกันมากคือ เริ่มด้วยกามฉันท์นี้อภิชฌานี้เป็นไวพจน์ของกามฉันท์ แต่พูดทั้งสองศัพท์ เราจะเกิดความเข้าใจกว้างขึ้น บาลีหมายถึงอันเดียวกัน อภิชฌาแปลว่าความเพ่งเล็งอยากได้ ใจจ้องจะเอาโน่นเอานี่ คือโลภนั่นเอง โลภอยากได้นั่นได้นี่เป็นตัวนิวรณ์อย่างหนึ่งขัดขวางการทำงานของจิต อย่างน้อยมันทำไม่ให้จิตสงบ เรื่องนี้จะไปสัมพันธ์กับปัญญาภาวนาด้วย จิตจะไม่สงบไม่เป็นสมาธิไม่แน่วแน่ในเรื่องที่คิดพิจารณาเป็นต้น ถ้ามีกามฉันทะโลภอยากได้นั่นได้นี่ จ้องจะเอาโน่นเอานี่วุ่นวายกันอยู่ มันก็ฟุ้งหรือเขวออกไป

๒. พยาบาท คือความคิดที่มีความกระทบกระทั่ง ขัดเคืองแค้นใจไม่พอใจอะไรต่างๆ คิดแง่ร้ายมุ่งจะทำลาย พวกนี้เรียกว่าพยาบาท ทำให้จิตไม่สงบ ในขณะที่ต้องการสมาธิ ถ้าจิตมันร้อนก็ไม่สำเร็จ พยาบาททำให้จิตร้อน ความโกรธทำให้จิตร้อน เมื่อจิตร้อนกระวนกระวายมันก็สงบไม่ได้

๓. ถีนมิทธะ ตัวที่พูดถึงเมื่อกี้ ความหดหู่ ง่วงเหงา เฉาซึม ท่านบอกว่ามันเป็นทางกายกับทางใจ ทางกายคือความง่วงเหงาหาวนอนเป็นมิทธะ คือกายไม่สู้งาน เรียกว่าไม่สู้กิจก็ได้ ในทางจิตคือถีนะ ความหดหู่ ความซึมเศร้าเหงาหงอย สมาธิจะต้องมีลักษณะจิตสดชื่นผ่องใสกระปรี้กระเปร่าด้วย ถีนมิทธะทำให้จิตระย่อท้อถอย ห่อเหี่ยว ไม่ผ่องใส จึงทำให้ไม่เกิดสมาธิ

๔. ต่อไป อุทธัจจกุกกุจจะ แยกเป็นอุทธัจจะ ความฟุ้งซ่านจิตวุ่นวายพล่านไปในเรื่องต่างๆ กุกกุจจะ ความรำคาญใจ ความเดือดร้อนใจ เช่นว่าสิ่งที่ควรจะทำ เราไม่ได้ทำ เรื่องที่ไม่ควรทำเราได้ทำแล้ว นี่เป็นสิ่งที่จะมารบกวนจิตทำให้เป็นสมาธิไม่ได้ สงบไม่ได้ ผ่องใสไม่ได้

๕. สุดท้ายก็วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย ท่านใช้คำว่าสงสัยในกุศลธรรมในหลักความดีงาม ทำให้ใจไม่สามารถแล่นไปได้แม้แต่ในสิ่งที่ปฏิบัติ สิ่งที่เราทำเราเกิดไม่แน่ใจขึ้นมาว่า มันเป็นสิ่งดีงามมีคุณประโยชน์แท้หรือเปล่า พอเกิดความลังเลสงสัยเช่นนี้จิตก็ไม่สบายแล้วแล่นไปไม่ได้ งานนั้นเดินไม่เรียบคล่อง จิตไม่สามารถจับงานนั้นให้พุ่งไปได้ดี

ห้าอย่างนี้เป็นตัวนิวรณ์ ขัดขวางจิตไม่ให้สงบ ไม่ให้แน่วแน่ ไม่ให้เกิดสมาธิ สมาธิจะต้องกำจัดเจ้าห้าตัวนี้ให้ได้ กำจัดได้เมื่อไรสมาธิเกิดเมื่อนั้น นี่เป็นการมองในแง่ลบ ทีนี้มองในแง่บวกก็มองได้หลายอย่าง ท่านใช้ศัพท์เยอะแยะเหลือเกิน พรรณนาถึงสภาพจิตที่เป็นสมาธิว่าเป็นอย่างนั้นๆ อาตมาจะลองพูดให้สั้นด้วยคำพูดสมัยใหม่ซึ่งอาจจะใช้ว่าสมาธิคือฝึกจิตให้มีคุณภาพจิตดี ให้มีสมรรถภาพจิตดี ให้มีสุขภาพจิตดี จิตมีลักษณะสามอย่างนี่เรียกว่าเป็นจิตที่ได้รับการฝึกอบรมแล้ว เป็นจิตที่มีสมาธิ

จิตมีคุณภาพ คือประกอบด้วยคุณธรรม เช่นมีเมตตากรุณาเป็นต้น จิตมีสมรรถภาพคือจิตที่มั่นคง เข้มแข็งทนทาน ไม่เปราะไม่เสาะเป็นต้น ศัพท์พระท่านใช้คำว่า กรรมนียะ เหมาะแก่การใช้งาน แสดงว่าหลักการของสมาธินี่มุ่งเพื่อจุดหมายขั้นต่อไปคือสำหรับใช้ประโยชน์เป็นเครื่องมืออุปกรณ์ สุดท้ายมี สุขภาพจิต อย่างน้อยก็มีความผ่องใส มีความเบิกบานสดชื่นร่าเริงแจ่มใสนุ่มนวลอะไรพวกนี้เรียกว่าจิตเป็นสมาธิ อย่างไรก็ตามคุณสมบัติเหล่านั้นจะมารวมที่นี่ คือ "เหมาะแก่การใช้งาน" ใช้งานอะไร ท่านบอกว่า ใช้งานข้อสี่ไงเล่า คือปัญญาภาวนา ใช้งานทางปัญญา เอาไปคิดไปใช้ปัญญา เจริญปัญญาต่อไป ฉะนั้นสมาธิท่านจึงบอกว่าเป็นฐานแก่ปัญญา เป็นอันว่าพูดโดยย่อก็เท่านี้ สมาธิในแง่บวก มีคุณภาพประกอบด้วยคุณธรรมต่างๆ มีสมรรถภาพเข้มแข็งเหมาะแก่การใช้งาน มีสุขภาพ เบิกบานผ่องใสมีความสุข

ทีนี้เวลาฝึก ถ้าฝึกเพียงว่าให้จิตมันแน่วแน่อยู่ ก็ใช้วิธีได้เยอะแยะ เช่นกสิณ กสิณมุ่งจะทำให้จิตแน่วแน่มั่นคงอยู่กับอารมณ์หนึ่งเดียวที่กำหนด มุ่งกำจัดความฟุ้งซ่านต่างๆ วิธีฝึกที่เน้นคุณธรรมก็มี ก็มุ่งให้จิตแน่วแน่เหมือนกัน แต่เจริญคุณธรรมไปในตัวด้วย เช่น พรหมวิหารสี่ ซึ่งท่านนิยมเรียกว่า อัปปมัญญา ก็เป็นกรรมฐานฝึกจิตเหมือนกัน เป็นสมถะ ฝึกให้มีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ถ้าเรามองกว้างๆ เห็นตัวกรรมฐานเราจะเข้าใจสมาธิมากขึ้น ฝึกเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ก็เป็นการฝึกสมาธิ อย่างนี้เป็นต้น

ต่อไปข้อสุดท้าย ปัญญาภาวนา เจริญภาวนา ถ้าใช้ศัพท์เฉพาะจริงๆ ก็เป็นขั้นวิปัสสนาภาวนา การเจริญวิปัสสนา มุ่งให้รู้แจ้งสภาวะของสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง คือเข้าใจสิ่งทั้งหลายตามสภาวะหรือตามที่มันเป็น สิ่งทั้งหลายเป็นอย่างไร ก็รู้ตามที่มันเป็นอย่างนั้นแค่นั้น เกิดยถาภูตญาณทัศนะ รู้เห็นตามความเป็นจริง ขั้นสูงสุดคือรู้สภาวะของโลกและชีวิตตามเป็นจริง ทำให้จิตหลุดพ้นไปได้ รู้ตามเป็นจริงอย่างไร ท่านขยายว่ารู้ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทีนี้ต่ำลงมารู้ตามเป็นจริงคือคิดพิจารณามองเห็นตามเป็นจริง เรื่องสำคัญอยู่ที่ว่า คนเรานี่ใช้ปัญญาแต่ไม่เห็นตามความเป็นจริง มันมีตัวตนที่จะทำให้พิจารณาแล้วเห็นคลาดเคลื่อนหรือบิดเบือนไปจากความเป็นจริง เรียกแง่หนึ่งว่าทำให้เกิดมีอคติ คือการพิจารณามองสิ่งทั้งหลายอย่างเอนเอียง ปัญญาภาวนาจะต้องมาแก้อันนี้ การรู้เห็นตามความเป็นจริง จึงเริ่มต้นแต่การพิจารณามองเห็นรับรู้สิ่งทั้งหลายถูกต้องตรงตามที่มันเป็นจริง ไปจนกระทั่งรู้ลักษณะสภาวะทั้งหลายที่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จบสุดท้าย

ขั้นที่เราเน้นในที่นี้คงเป็นขั้นต้นคือ ขั้นของการรู้เห็นการพิจารณาสิ่งทั้งหลายถูกต้องตามความเป็นจริง การจะใช้ปัญญาให้ถูกต้องเห็นตรงตามความเป็นจริงก็ไปเข้าหลักที่พูดเมื่อกี้ คือนิวรณ์ที่สัมพันธ์กับสมาธิเป็นตัวที่ถูกสมาธิกำจัด สมาธินั้นทำให้จิตพร้อมที่จะใช้งานทางปัญญา เพราะฉะนั้นนิวรณ์ก็มาสัมพันธ์กับปัญญา เป็นตัวขัดขวางให้ใช้ปัญญาได้ไม่ถูกต้อง เวลาพระพุทธเจ้าตรัสถึงนิวรณ์ทรงเน้นในแง่ปัญญามากกว่าในแง่จิตด้วยซ้ำ ในพระไตรปิฎก นิวรณ์นี้จะมาคู่กับโพชฌงค์เป็นธรรมะฝ่ายปฏิปักษ์ต่อกัน นิวรณ์เป็นฝ่ายอกุศลเป็นตัวปิดบังปัญญาในแง่จิตท่านว่ามันกดทับจิต ครอบงำจิต ทำให้จิตไม่เปิดโล่งคับแคบ ที่ว่าเป็นตัวบังปัญญาตอนนี้สำคัญ ถ้าหากว่ามีนิวรณ์การพิจารณาสิ่งทั้งหลายมันจะไม่ตรงตามความเป็นจริง เริ่มตั้งแต่ถ้ามีความโลภเป็นอภิชฌาเพ่งเล็งอยากได้ผลประโยชน์ การพิจารณาเรื่องต่างๆ ก็เอนเอียงถูกความอยากได้นั้นลากไป ไม่พิจารณาตามเรื่องไม่เป็นอุเบกขา ถ้าในแง่บุคคลก็เกิดความลำเอียง ถ้าในแง่วัตถุก็เป็นเรื่องโลภ ทีนี้ถ้าเกิดพยาบาทมันก็ลำเอียงไปอีกด้านหนึ่ง ไปในแง่โทสาคติลำเอียงเพราะโกรธ ไม่เห็นตามความเป็นจริงเหมือนกัน ถ้ามีถีนมิทธะ จิตห่อเหี่ยวก็เป็นอันว่าใช้ปัญญาไม่ค่อยได้ มันซึมไปปัญญาไม่แล่น อุทธัจจะ กุกกุจจะ ใจฟุ้งซ่านส่ายพล่านอยู่ก็เสียคุณภาพไม่มั่นคงเข้มแข็ง จิตไม่แน่วแน่ไม่พร้อมจะใช้งานต่างๆ วิจิกิจฉา ลังเล ขัดแย้งในใจ ทำให้เข้าสู่เรื่องไม่ได้ เอากันง่ายๆ ว่า นิวรณ์นี่เป็นตัวทำให้คนเราใช้สติปัญญาไม่ได้ถูกต้องตามความเป็นจริง

ทีนี้พูดโยงมาถึงสมัยปัจจุบัน เรื่องนิวรณ์นั้นบางกรณีท่านยอมให้ว่าเป็นเทคนิค คนเรานี่บางทีมันประมาท คนที่มีความสุขอยู่สบายแล้วมักจะประมาท ธรรมะท่านสอนไม่ให้ประมาทแต่คนก็อดประมาทไม่ได้ยามประเทศชาติมีความสงบสุขชาวประชาก็มักประมาท ไม่เอาเรื่องเอาราวไม่ปรับปรุงเตรียมการ ดีไม่ดีก็หันไปมัวเมา เลยมายุ่งอยู่กับการสนุกสนานปรนเปรอนำสังคมไปสู่ความเสื่อม ความสุขเลยกลายเป็นตัวร้ายที่ทำให้เกิดความเสื่อม คนเรามักประมาทด้วยเหตุต่างๆ หลายๆ อย่าง ประเด็นก็คือความประมาทมัวเมาเป็นเรื่องร้ายแรงและขัดขวางการพัฒนา

เมื่อคนเราประมาทด้วยความสุขของตน ก็จะต้องมีการกระตุ้น กระตุ้นให้ไม่ประมาท วิธีกระตุ้นทำได้หลายอย่าง ถ้าผู้กระตุ้นทำในความหมายที่เป็นกุศล บางทีแม้จะใช้สิ่งที่ไม่เป็นกุศลมันก็ช่วยได้เหมือนกัน หลักธรรมบอกว่าอกุศลเป็นปัจจัยแก่กุศลได้ คนในโลกนี้จำนวนมากมีกิเลสชนิดที่ปกป้องตัวเอง ในขณะที่ยังไม่ตรัสรู้ยังไม่บรรลุ กำจัดกิเลสยังไม่ได้ กิเลสชนิดปกป้องตัวเองช่วยคนได้มาก เช่นความกลัว ความกลัวช่วยให้คนพ้นจากภัยอันตรายได้ แม้ว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่ปลอดภัยเพราะในหลายกรณีมันทำให้เราแย่ แต่บางกรณีมันช่วย หรืออย่างมานะ คนธรรมดาปุถุชนนี่ มานะช่วยได้มาก แต่มันก็ทำลายเราด้วย อย่างขัตติมานะ ก็ทำให้ต้องเพียรพยายาม ฉันจะต้องทำให้ได้เพราะฉันเป็นกษัตริย์ หรือไม่ต้องถึงกษัตริย์ คนธรรมดาเพราะมานะก็คิดว่าเราอยู่ในฐานะนี้ ฉันเป็นอย่างนี้ชั้นนี้ เห็นคนอื่นในฐานะด้อยกว่า เขาทำอย่างนั้นได้เราทำไม่ได้เราก็แย่ ก็ต้องบีบบังคับตัวเองเร่งรัดตัวเอง กิเลสพวกนี้ช่วยมนุษย์สามัญได้มากมาย เราต้องเห็นคุณค่าของมันบ้าง

โบราณเราเอามานะมาสับสนกับความเพียร อย่างผู้ใหญ่สอนเด็กว่าให้มีมานะพยายาม เอามานะมาคู่กับพยายามก็เพราะอันนี้ เพราะตัวมานะนี่มันเคยช่วยเรา แล้วนานๆ เลยสับสนเอามานะเป็นความเพียรไป แต่มานะเป็นเหตุให้คนเพียรได้ ทั้งที่มันเป็นกิเลส และคนธรรมดานี้ มานะเป็นตัวสำคัญทำให้ทำสิ่งที่ดีงามได้มาก ในทำนองเดียวกันเราอาจปลุกคนทำให้เกิดความโกรธไม่พอใจอะไรต่างๆ ทำให้โลภอยากได้โน่นได้นี่บ้าง แล้วจะได้ให้เขาคิดให้เขาเพียรพยายาม ที่สำคัญคือใช้ความคิด ไม่งั้นธรรมดาไม่คิดนั่งหงอย เพลินสบายประมาท ไม่เอาเรื่องเอาราว พอไปปลุกอย่างนี้แล้วคิดขึ้นมา สนใจเรื่องที่เขาให้คิด แต่อันตรายมาอยู่ตรงนี้ตอนที่ว่าพอถึงจุดควรหยุดไม่หยุด คือตอนที่คิดเขาควรจะระงับโลภะความอยากได้ หรือกามฉันทะ ระงับความโกรธความพยาบาท เพราะตอนใช้ปัญญาต้องบริสุทธิ์จากสิ่งเหล่านี้ พอจะคิดต้องหมดสิ่งเหล่านี้ ไม่มีความลำเอียง มองตามจริง

วิธีการสมัยใหม่ผิดกับพุทธศาสนาตรงนี้ คือไปปลุกให้คนโกรธหรืออยากได้ มันมี ๒ พวกในสมัยปัจจุบัน พวกหนึ่งปลุกให้คนโลภจะได้คิดอยากได้โน่นอยากได้นี่จะได้พัฒนา อีกพวกตรงข้ามปลุกให้โกรธจะได้ตื่นตัวที่จะแก้ไขสิ่งชั่วร้ายในสังคม สองพวกนี้ถ้ามองในแง่พุทธศาสนาเป็นที่สุดสองทาง พุทธศาสนาอาจจะยอมรับตอนต้นว่าปลุกได้ แต่ระวังที่สุดเลยมันจะผิด พอถึงจุดหยุดจะใช้ปัญญาต้องให้เขาพ้นจากสิ่งเหล่านี้ ถ้าไม่พ้นจากสองอันนี้จะคิดลำเอียง แล้วมองไม่เห็นตามเป็นจริง แล้วทีนี้ที่พลาดก็ตรงนี้เองคือ พวกที่ใช้ปัญญาโดยมีโลภะเป็นตัวนำก็จะคิดไปทางหนึ่ง ทำให้พัฒนาผิดพลาดเอาเข้าตัวไป อีกพวกหนึ่งคิดโดยเอาพยาบาทหรือโทสะเป็นตัวนำ ความคิดก็ลำเอียงไปอีกข้างหนึ่ง ทำให้ไม่เห็นตามความเป็นจริง มองอีกฝ่ายหนึ่งร้ายไปหมด คิดทำลายกันต่างๆ ผิดทั้งคู่ ในแง่ของพุทธศาสนาบอกว่าเราอาจจะยอมในแง่อุบายจุดไฟเริ่มได้ แต่พอถึงขั้นใช้ปัญญาแล้ว ต้องปราศจากทั้งฝ่ายโลภะทั้งฝ่ายโทสะ จึงจะมองเห็นตรงทั่วตลอด กำจัดโมหะได้แท้จริง นี้เป็นการพูดโดยย่อ โดยหลักการภาวนาสี่พูดจบแล้ว

เรื่องที่น่าจะพูดอีกก็คือ ในการฝึกอบรมปัญญา หรือปัญญาภาวนาที่ว่าให้รู้เห็นตามความเป็นจริงนั้น พอได้เห็นได้รู้ความเป็นจริงก็เกิดสัมมาทิฏฐิ ขอพูดอย่างย่อว่าตอนต้นเป็นโลกียสัมมาทิฏฐิความเห็นถูกต้องในขั้นที่เป็นโลกียะ คือความเห็นรู้เข้าใจสำนึกในหลักเหตุผล เหตุผลมันมาจากเหตุและผล คือความคิดที่ดำเนินตามแนวเหตุและผล แต่ว่าเหตุผลกับเหตุและผลไม่เหมือนกันนะ ระวังอย่าสับสน "เหตุและผล" ใช้ภาษาอังกฤษว่า Cause and Effect แต่ "เหตุผล" ใช้ภาษาอังกฤษว่า Reason "การคิดเหตุผล" ใช้ว่า Reasoning นี่ยังไม่ถึงขั้นเข้าถึงตัวความจริง แต่เป็นขั้นการคิดที่ตรงตามแนวเหตุและผล หรือจะเรียกอีกอย่างว่าคิดตามแนวของเหตุปัจจัยตามความสัมพันธ์สืบทอดของเหตุปัจจัย นี้เราเรียกว่าคิดอย่างมีเหตุผล แต่มันอาจจะไม่ใช่ตัวความจริง เพราะยังไม่ได้รู้เห็นเหตุและผลเอง ขั้นคิดเหตุผลยังไม่ถึงขั้นรู้เห็นเหตุและผล เป็นขั้นคิดตรงกับความจริงแต่ยังไม่ใช่ขั้นเข้าถึงตัวความจริง แยกตรงนี้ได้ พอรู้เห็นเหตุและผลก็ถึงความจริงเลย แต่คิดสอดคล้องกับเหตุและผลเป็นการคิดอย่างมีเหตุผล ความมีเหตุผลรู้เข้าใจเหตุผลเป็นขั้นโลกียสัมมาทิฏฐิ แต่พอถึงขั้นรู้เห็นเหตุและผลประจักษ์เองก็เป็นโลกุตรสัมมาทิฏฐิถึงจุดหมายของปัญญาภาวนา

ภาค ๒ คนหนุ่มสาวและนักศึกษา

ศาสนาจำเป็นสำหรับคนหนุ่มสาว?12

ถ้าพิจารณาในทางสังคม ปัญหานี้ก็ไม่สู้ยาก คนทุกคนไม่จำเพาะคนหนุ่มสาวเท่านั้นที่ต้องเกี่ยวข้องกับสังคม เมื่อเกี่ยวข้องกับสังคมก็ย่อมมีกิริยาและปฏิกิริยาต่อกันกับสังคม โดยเป็นผู้กระทำต่อสังคมฝ่ายหนึ่งและเป็นผู้ได้รับการกระทำจากสังคมฝ่ายหนึ่ง

ศาสนาเป็นส่วนประกอบและเป็นบ่อเกิดอันสำคัญของวัฒนธรรมชีวิตของบุคคลที่เจริญเติบโตขึ้นมาในสังคม ย่อมเป็นผลของการฝึกอบรมที่สืบเนื่องมาจากศาสนาด้วย และบุคคลนั้นย่อมอาศัยผลแห่งการอบรมนั้นเองเป็นอุปกรณ์ในการดำรงชีวิต และนำผลแห่งการฝึกอบรมนั้นมาแสดงออกต่อสังคม ส่วนในฝ่ายสังคม การฝึกอบรมและองค์ประกอบต่างๆ ในทางสังคม ที่เป็นเครื่องหล่อหลอมชีวิตของบุคคลนั้นก็ดี การกระทำของบุคคลทั้งหลายอื่นผู้ร่วมสังคม ที่แสดงออกต่อบุคคลนั้นก็ดี สภาพและลักษณะของสังคมที่บุคคลนั้นดำรงชีวิตอยู่ก็ดี ล้วนเป็นผลที่ศาสนาได้มีส่วนบันดาลให้เกิดขึ้น หรือช่วยชักนำให้เป็นไปด้วยทั้งสิ้น ความที่ศาสนาเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับบุคคล จึงเป็นเรื่องธรรมดาสามัญเสียจนบุคคลแทบไม่รู้สึกถึงคุณค่า ความข้อนี้อาจมีส่วนที่เปรียบได้กับอากาศที่แวดล้อม ซึ่งมนุษย์ใช้หายใจ หรือหย่อนลงมาเหมือนน้ำที่ใช้บริโภคโดยปกติเป็นของหาง่าย หรือไม่ต้องหา แม้จำเป็นก็เหมือนไม่สำคัญ ต่อเมื่อใดเกิดเหตุขาดแคลนหรือเสียคุณสมบัติปกติไป มนุษย์จึงจะรู้สึกถึงความเดือดร้อน และมองเห็นคุณค่าของมัน ที่ไม่มีราคา หรือราคาต่ำต้อย ว่ามีค่าแม้กว่าเพชรกว่าทองคำ ในแง่นี้ ศาสนาจึงเป็นสิ่งจำเป็นในการเป็นองค์ประกอบอย่างหนึ่งแห่งการดำรงชีวิตของบุคคล จำเป็นในการที่จะเข้าใจสังคมที่ตนดำรงชีวิตอยู่ และจำเป็นสำหรับการเข้าใจตัวของตัวเองอย่างแท้จริง

ถ้าพิจารณาในแง่ความหมายต่อชีวิตจิตใจอันเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับตนเองเป็นพิเศษ ศาสนาย่อมเป็นเครื่องกำหนดความเข้าใจของบุคคล ต่อคุณค่าและจุดหมายของชีวิต และย่อมมีส่วนบันดาลแม้แต่แนวความคิดในศาสนาใหม่ของผู้ที่ปฏิเสธศาสนาซึ่งมีอยู่เดิมในสังคมของตน แล้วคิดสร้างคุณค่าและจุดหมายของตนขึ้นมาใหม่

ในแง่นี้ ควรพิจารณากันใหม่แต่เริ่มต้น คำว่าศาสนาในที่นี้ คงมิใช่ศาสนาในความเข้าใจของบุคคลผู้ใดผู้หนึ่งโดยเฉพาะ และคำว่าคนหนุ่มสาวในที่นี้ คงมิได้หมายเพียงคนหนุ่มสาวที่เป็นนิสิตนักศึกษา หรือที่อ่านหนังสือเล่มนี้อยู่เท่านั้น จนถึงบัดนี้ ยังไม่ปรากฏว่ามีบุคคลใดสามารถให้นิยามคำว่า ศาสนาลงได้เป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นที่ยอมรับนับถือทั่วกัน เป็นที่แน่นอน สำหรับชาวบ้านและนักศึกษาบางคน ศาสนาหมายถึงพิธีกรรมต่างๆ นักบวชผู้ประกอบพิธีกรรม และวัดอันเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมเหล่านั้น สำหรับศาสนิกชนบางคน ศาสนาอาจหมายถึงคำสั่งสอนของพระศาสดาที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์ต่างๆ สำหรับนักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่บางคน ศาสนาอาจหมายถึงความรู้สึกซาบซึ้งดื่มด่ำ ในความเป็นไปอย่างมีระเบียบแห่งกฎเกณฑ์ต่างๆ ของธรรมชาติอันเป็นแรงบันดาลใจให้เขายอมพลีตนเพียรสืบค้นข้อเท็จจริงต่างๆ ในธรรมชาติเพื่อเข้าถึงจุดหมายที่ต้องการ และดื่มรสแห่งสัจจธรรมอันเป็นอมตะ

ศาสนาในความเข้าใจของคนหนึ่ง อาจไม่ใช่ศาสนาในความเข้าใจของอีกคนหนึ่ง และสิ่งที่มิใช่ศาสนาในความเข้าใจของคนหนึ่ง อาจเป็นศาสนาในความเข้าใจของอีกคนหนึ่ง ศาสนาในความเข้าใจของศาสนิกอาจไม่ใช่ศาสนาอย่างที่ปรากฏในคัมภีร์ และศาสนาที่เข้าใจตามคัมภีร์อาจไม่ใช่ศาสนาอย่างที่พระศาสดาทรงมุ่งสั่งสอน แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันสำหรับคนเหล่านั้นทุกคน คือการไขว่คว้าและยึดถือเอาคุณค่าอย่างใดอย่างหนึ่ง มาเป็นพลังนำทางในการดำรงชีวิตและชักจูงบัญชาการกระทำต่างๆ ของตน ท่ามกลางทะเลชีวิตที่เวิ้งว้าง ไม่รู้ต้นปลาย ขอบเขตตำแหน่งแห่งที่ ตลอดถึงความหมายแห่งตัวของตัวเอง

คนบางคนอาจกล่าวว่า เขาไม่พอใจกับศาสนาทุกศาสนา และประกาศตนเป็นผู้ไม่มีศาสนา แต่ในภาวะที่เข้าใจว่าตนไม่มีศาสนานั้นเอง อวิชชาได้ผลักดันให้เขาไขว่คว้าหาคุณค่าและจุดหมายขึ้นมาสำหรับตนเอง ตามระดับความรู้ความเข้าใจของเขาต่อความหมายของชีวิต ข้อนี้หมายความว่า เขามีศาสนาตามความหมายของเขาเอง ซึ่งไม่พ้นที่จะได้รับอิทธิพลจากศาสนาเดิมในวัฒนธรรมที่ได้ฝึกอบรมหล่อหลอมชีวิตเขาขึ้นมา และย่อมตรงกับศาสนาในใจของคนอื่นๆ ที่อยู่ในระดับใดระดับหนึ่งของวิวัฒนาการแห่งความเข้าใจทางศาสนา จะต่างกันก็แต่เพียงระดับแห่งตัณหา มานะ และทิฏฐิเท่านั้น เรื่องจึงกลายเป็นว่ามนุษย์ปุถุชนทุกคนไม่เฉพาะคนหนุ่มสาวเท่านั้น ถ้ามีสติปัญญาพอรู้คิดได้ มิใช่คนสติวิปลาส ย่อมเป็นผู้มีศาสนาในรูปใดรูปหนึ่ง ปัญหาจึงไม่อยู่ที่ว่าศาสนาจำเป็นสำหรับคนหนุ่มสาวหรือไม่ แต่อยู่ที่ว่าศาสนาที่เขามีควรจะเป็นอย่างไร และเขาควรจัดการกับศาสนาที่มีอยู่นั้นอย่างไร บุคคลผู้ไม่มีศาสนา คือไม่มีอย่างแท้จริง มิใช่เพียงไม่มีโดยความเข้าใจของตน ต้องเป็นผู้ที่ได้เข้าถึงความรู้แล้วอย่างแท้จริง จนพ้นสิ้นเชิงจากอวิชชา สามารถกล่าวยืนยันด้วยความจริงใจว่า ปราศจากความเคลือบแคลงสงสัยใดๆ ทั้งสิ้น ในเรื่องชีวิตของตน บุคคลเช่นนั้นนับว่าเป็นผู้ประเสริฐสุด หรือบุคคลในอุดมคติตามความหมายของพุทธศาสนาเพราะบุคคลนั้นเป็น "พุทธ" ผู้ตื่นแล้ว พ้นจากหลับและพ้นจากฝัน

จุดหมายสูงสุดของศาสนา คือ ความรู้แจ้งที่ทำให้หมดอวิชชา ซึ่งทำให้พ้นจากความติดข้องยึดมั่นอยู่ในทฤษฎีใดๆ ศาสนาที่แท้จึงได้แก่ศาสนาที่นำไปสู่ความรู้นั้น และศาสนาเช่นนี้เท่านั้น ที่สามารถทำบุคคลให้เป็นผู้ไม่มีศาสนาได้ หรือทำให้ศาสนาหมดความจำเป็นสำหรับบุคคลได้ จุดมุ่งหมายของศาสนาอย่างสามัญ คือการทำให้มนุษย์มีความสุขศาสนาที่ดีตามความหมายสามัญจึงได้แก่ ศาสนาที่มีอุดมคติกับการปฏิบัติเพื่ออุดมคติที่ตรงกัน คือให้ความสุขทั้งระหว่างปฏิบัติ และเมื่อถึงจุดหมาย

ศาสนาที่เคลื่อนคลาดจากความหมายมากที่สุด ก็คือศาสนา หรือระบบความเชื่อถือความเข้าใจใดๆ แม้ที่เรียกตนว่าเป็นปฏิปักษ์กับศาสนาซึ่งมีอุดมคติกับการปฏิบัติไม่ตรงกัน และซึ่งทำให้มนุษย์เกิดความยึดมั่นถือมั่นติดแน่นอยู่กับความคิดเห็นอย่างใดอย่างหนึ่ง จนไม่สามารถรับรู้และทำความเข้าใจอย่างอื่นได้ และเที่ยวแล่นไปบีบบังคับผู้อื่นให้มีความเห็นเหมือนกันกับตน

สำหรับคนหนุ่มสาว ศาสนาน่าจะมีความสำคัญและจำเป็นเป็นพิเศษในข้อที่ว่า ชีวิตซึ่งกำลังจะย่างก้าวออกมาแสดงบทบาทของมันอย่างแท้จริงนั้น กำลังกำหนดความเข้าใจของมันต่อคุณค่าและจุดหมายต่างๆ ความเข้าใจเหล่านี้ย่อมเป็นตัวการที่จะบันดาลบทบาททั้งปวงที่เขาจะแสดงสืบไป เมื่อเช่นนี้ ตราบใดที่ยังไม่สามารถรู้ความจริงถึงที่สุดจนปราศจากอวิชชาถึงขั้นไม่มีศาสนาได้ ตราบนั้น การสร้างความเข้าใจต่อความหมาย คุณค่า และจุดหมายต่างๆ ให้ดีที่สุด ก็ย่อมเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง และความจำเป็นของศาสนาสำหรับคนหนุ่มสาว ก็เกิดขึ้นโดยนัยนี้

อุดมคติของคนหนุ่มสาว13

ในการสัมมนานี้ ทางฝ่ายผู้จัดแจ้งไว้ว่า แม้ในสังคมไทยจะไม่นิยมการพูด แสดง หรือเปิดเผยคุณความดีของตนเอง แต่ผู้จัดสัมมนาประสงค์ให้การสัมมนาครั้งนี้เป็นกรณีพิเศษ ที่ต้องการให้ผู้พูดเปิดเผยเรื่องราวของตนและคุณสมบัติส่วนตัวที่ตนชอบใจแก่ผู้ร่วม เพื่อเป็นข้อคิดหรือคติแก่ผู้ร่วมสัมมนาต่อไป

อย่างไรก็ตาม ผู้พูดนี้ขอโอกาสที่จะแสดงในเอกสารเฉพาะข้อคิดเห็นบางประการ ที่ต้องการจะเสนอให้ผู้ร่วมสัมมนาพิจารณา ส่วนเรื่องเกี่ยวกับตนเองหากมีจะยกไว้ต่างหาก

ต่อไปนี้คือ ข้อคิดเห็นบางประการ ที่เสนอแก่คนหนุ่มสาวสมัยปัจจุบันเพื่อพิจารณา โดยหวังว่าอาจเป็นประโยชน์บ้างอย่างใดอย่างหนึ่ง

ความหมายของอุดมคติ

คำว่าอุดมคติ ไม่มีในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ไม่ใช่คำไทยแต่เดิม เป็นคำบัญญัติขึ้นเพื่อแทนคำต่างประเทศในภายหลัง เมื่อถือความเทียบเคียงจากคำต่างประเทศคำนั้น (คือ ideal) น่าจะได้ความว่าหลักการ แนวทาง หรือแบบอย่างการดำรงชีวิต ที่ถือว่าดีที่สุด หรือสิ่งที่ดีที่สุดซึ่งยึดถือเอาเป็นหลัก เป็นแนวทาง หรือเป็นแบบอย่างในการดำรงชีวิต ที่ต้องมีคำว่าถือหรือยึดถือ ก็เพราะไม่ใช่ของที่เป็นไปอย่างนั้นเองโดยธรรมดา หรือเป็นหลักความเป็นจริงโดยธรรมชาติ แต่เป็นเรื่องของความควร ซึ่งขึ้นต่อความเชื่อ ความเห็น ความเข้าใจ คำว่า ถือหรือยึดถือ อาจเปลี่ยนเป็น เชื่อ เห็น เข้าใจหรือยอมรับ เป็นต้นก็ได้ นอกจากนั้น บางทีคำว่าอุดมคติ มีความหมายเป็นจุดหมายหรือที่หมายไปก็มีคือหมายถึง สิ่งที่ยึดเอาเป็นจุดหมายสูงสุดของชีวิต

ความคิดเห็นที่เสนอในที่นี้มีเพียงว่า ท่าทีของบุคคลต่ออุดมคติที่ยึดไว้นั้นน่าจะมีสองแบบ คือ แบบที่ชอบใจถูกใจแล้วรับเอามายึดถือไว้ตนเอง ได้แต่เพียงมุ่งมั่นปฏิบัติให้เป็นไปอย่างนั้นอย่างเดียว พวกหนึ่ง กับแบบพิจารณามองเห็นเหตุผลด้วยตัวเอง เข้าใจชัดเจน แน่ใจ แล้วจึงยึดถือปฏิบัติตาม พวกหนึ่ง แบบแรก เรียกได้ว่าพวกศรัทธาบอด แบบหลังเป็นศรัทธาที่มีปัญญากำกับ ขอเสนอว่าอุดมคติ หรือคติใดๆ ก็ตามควรเป็นไปตามแบบหลัง ซึ่งจะทำให้ไม่เป็นการถือรั้น ไม่เป็นเหตุให้เที่ยวเบียดเบียนบีบคั้นคนอื่น และไม่เป็นเครื่องถ่วงปิดกั้นขัดขวางความก้าวหน้าทางปัญญาของตนเอง

ข้อเสนอที่ว่านี้ ดูเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ ใครๆ ก็ทราบ ไม่น่าจะต้องพูดไว้ แต่ในทางปฏิบัติ สิ่งที่ยึดถือไว้นี่แหละ มักกลับเป็นตัวการสำคัญที่กลับมาผูกมัดตัวเองไว้ หรือถ่วงขัดขวางไม่ให้สามารถก้าวหน้าต่อไปได้ จึงควรเป็นผู้พร้อมที่จะพิจารณาตรวจสอบคติ อุดมคติของตนได้เสมอ เพราะแท้จริงแล้ว อุดมคติที่ยึดไว้ก็เพื่อการก้าวหน้าไปหรือเพื่อให้ถึงความเป็นอิสระนั่นเอง

บางคราวอุดมคติกลับเป็นเครื่องผูกมัดหรือขัดขวางตนเองได้ ทำให้ดูเหมือนว่า อยู่โดยไม่มีอุดมคติหรือคติเลยจะดีกว่า ดูเผินๆ อาจจะเห็นอย่างนั้น แต่ความจริง มนุษย์ปุถุชนทุกคน ถ้าไม่ใช่คนเสียสติ ย่อมยึดถืออะไรบางอย่างเป็นเครื่องจูงใจในการดำเนินชีวิต และยึดถืออะไรบางอย่างเป็นตัวนำในการกระทำทุกๆ อย่าง แต่สิ่งหรือคตินี้เขายึดไว้อย่างมืดๆ มัวๆ ไม่ได้นำขึ้นมาสู่ความคิดหรือการใช้ปัญญา เช่นยึดเอาแต่ที่ตัวได้เข้าว่า ผลที่ออกไปนอกตัวใครๆ เป็นอย่างไรไม่ต้องคำนึง จึงกลับเป็นสิ่งที่เลวร้ายและก่อผลเสียหายได้มาก แม้แต่คนที่มีชีวิตอยู่อย่างเลื่อนลอยที่สุด ก็ไม่ใช่ลอยเรื่อยไปเฉยๆ เมื่อยังมีชีวิต คนก็ย่อมทำการต่างๆ ถ้าเฉยเลยหรือลอยเลย ก็ไม่มีชีวิต ไม่ใช่คน พวกที่อยู่อย่างเลื่อนลอยก็คือพวกที่ฉวยเอาคว้าเอาไปคราวๆ ทีๆ คือ ยึดถือเอาตามความรู้สึกไม่ใช่อยู่ด้วยความคิด ไม่ใช้ปัญญา สองพวกนี้อาจจะเรียกว่ามีคติได้เหมือนกัน แต่ไม่ใช่คติที่ดี ไม่ยอมรับกันว่าเป็นอุดมคติ ชีวิตที่ขาดแนวทางและกระทำการต่างๆ โดยมิได้คิดกะไว้ด้วยสติปัญญา ย่อมไม่เป็นระเบียบ จึงสับสนยุ่งเหยิง ว้าวุ่น ทั้งภายในและภายนอก เมื่อภายในใจแต่ละคนวุ่น สังคมก็ย่อมวุ่น และเมื่อสังคมวุ่นแต่ละคนก็ยิ่งวุ่นหนักขึ้นเป็นธรรมดา

รากฐานและความหมายที่แท้จริงของการแสดงออกอย่างเสรี

ปัจจุบัน มีความรู้สึกทั่วไปในหมู่คนรุ่นใหม่ว่า ควรมีการแสดงออกอย่างเสรี คือใครมีความรู้สึกมีความคิดเห็นอย่างไร ก็ควรมีโอกาสแสดงออกภายในขอบเขตอันควร ซึ่งจะเป็นการปฏิบัติชอบด้วยหลักประชาธิปไตย และจะเป็นทางส่งเสริมความก้าวหน้าแห่งวิทยาการเป็นต้น ในเรื่องนี้ ขอเสนอความคิดเห็นว่า การแสดงออกเสรีเช่นนี้ในรูปใดๆ ก็ตาม ถ้าขาดรากฐานที่อยู่ลึกซึ้งลงไปเป็นที่มาแล้ว ก็น่าจะไม่ให้เกิดผลสำเร็จที่ควรมุ่งหมาย แต่จะกลายเป็นการกระทำที่เลื่อนลอย หรือเป็นเพียงการแสดงด้วยอยากเด่น อวดโก้ แสดงปมเป็นต้นไป รากฐานที่ว่านี้ก็คือ การแสวงปัญญา ความใฝ่ธรรม หรือความใฝ่แสวงคุณค่าที่แท้จริง รากฐานอันนี้นอกจากจะทำให้การแสดงออกเสรีนั้น เป็นไปอย่างมีความรับผิดชอบ มั่นคง และนำไปสู่ผลสำเร็จอย่างแท้จริงแล้ว ยังเป็นแรงผลักดันอยู่ในตัวที่จะให้การแสดงออกอย่างเสรีนั้นเกิดมีขึ้นจนได้อีกด้วย

ถัดจากความใฝ่แสวงธรรม - สัจจะ - ปัญญา หรือคุณค่าที่แท้จริงซึ่งเป็นรากฐานนั้นขึ้นมา ยังมีองค์ประกอบสำคัญที่เป็นตัวกำกับการกระทำและการแสดงออกต่างๆ อีกชั้นหนึ่ง คือ การคิด การค้น และการทำอย่างจริงจัง ซึ่งหมายถึง การใช้สติปัญญาพิจารณาไตร่ตรองหาเหตุผลโดยรอบคอบ เที่ยงธรรม การศึกษา ค้นคว้าสอบสวนข้อเท็จจริงและความหมายของสิ่งต่างๆ อย่างละเอียดถี่ถ้วน และการลงมือกระทำการที่มั่นใจแล้ว ด้วยความแข็งขันแน่วแน่จริงจัง องค์ประกอบสามอย่างนี้น่าจะนำมาใช้กำกับการแสดงออกอย่างเสรีทั้งหลาย หรือควรสร้างขึ้นให้พร้อมก่อนจะมีการแสดงออกอย่างเสรีด้วยซ้ำไป เพราะเท่าที่มองเห็น การคิดค้น และทำอย่างจริงจังนี้ เป็นสิ่งที่เรายังขาดกันอยู่มาก ขาดเสียยิ่งกว่าการแสดงออกที่เข้าใจกันว่าเป็นความเสรีนั้นอีกเป็นไหนๆ

เมื่อไรใครจะเริ่มต้น

สิ่งที่พบเห็นบ่อยที่สุดอย่างหนึ่งในสมัยปัจจุบัน คือ การตำหนิติเตียนทัศนะที่ขัดแย้งตลอดจนถึงการโจมตี จากบุคคลต่อบุคคล หรือต่อคนอีกพวกหนึ่ง หรือต่อสถาบันต่างๆ โดยเฉพาะระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ การตำหนิและการแสดงทัศนะเหล่านี้ เมื่อเกิดจากความหวังดีเป็นการเตือนสติ เสนอแนะ แนะนำชี้ช่องทางให้ ตลอดถึงทำให้สำนึกโดยต้องให้มีการปรับปรุง ทำให้ดีขึ้น ย่อมเป็นประโยชน์และมีส่วนดีอยู่มาก แต่ถ้าจะให้ดีจริง เป็นประโยชน์ และเกิดผลสำเร็จจริง ควรจะมีความเอาจริงเอาจังกับปัญหาต่างๆ อย่างลึกซึ้งและแน่วแน่ในใจจริงไม่ใช่เพียงการโวยวายชั่วผ่านเผินหรือพ้นตา

เรื่องที่ติเตียน ขัดแย้ง โจมตีกันนั้น รวมแล้วคงมี ๒ ประเภทใหญ่ๆ ประเภทที่ ๑ คือความเห็นที่ไม่ลงรอยในเรื่องเดียวกัน หรือความรู้สึกขัดกันในสิ่งเดียวกัน เพราะมองเห็นสิ่งนั้น หรือเข้าเกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นสิ่งนั้น ด้วยสายตาและทัศนคติของผู้ผ่านประสบการณ์และได้รับการปลูกฝังอบรมมาคนละอย่าง ความจริงจังที่ต้องการเพื่อแก้ปัญหาในกรณีนี้ก็คือการศึกษาวิจัยปัญหาอย่างจริงจัง แสวงหาสืบค้นข้อเท็จจริงต่างๆ อย่างละเอียดด้วยความมุ่งมั่นอดทน และนำมาพิจารณาไตร่ตรองใช้ความคิดมองหาเหตุผลวินิจฉัยด้วยใจเป็นกลาง อาจลงเอยด้วยถือเอาข้างใดข้างหนึ่ง หรือประนีประนอมออมชอมกันสุดแต่จะสำเร็จประโยชน์เป็นผลดีทางใด

เรื่องประเภทที่ ๒ ที่ตำหนิติเตียน โจมตีกันอยู่เสมอ เป็นเรื่องธรรมดาสามัญ ที่ทุกคนรู้และเข้าใจ มองเห็นอย่างเดียวกัน ว่าอย่างไรผิด ดีชั่ว ควรไม่ควร เป็นประโยชน์ ไม่เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับความรับผิดชอบ ความสุจริตทุจริต และความผิดพลาดต่างๆ ว่าทำไมคนนั้น พวกนั้น สถาบันนั้น ทำอย่างนั้น คนนี้ทำอย่างนี้ ไม่ทำอย่างนั้นอย่างนี้ การติเตียนโจมตีประเภทนี้ เป็นภาพและเสียงชินหูชินตาในชีวิตประจำวัน จนดูเหมือนทุกคนเป็นเจ้าทุกข์ มีคนอื่นสิ่งอื่นสถาบันอื่นเป็นจำเลยเรื่อยไป เมื่อทุกคนเป็นเจ้าทุกข์ ผู้อื่นที่เป็นจำเลยจึงหาตัวไม่ได้ การลงมือทำหรือลงมือแก้ไขจึงไม่มี การกระทำอย่างนี้ก็คือการเกี่ยงกัน และการซัดทอดกัน ซึ่งแสดงว่าสังคมนั้นประกอบด้วยผู้ไม่มีความสำนึกในความรับผิดชอบทั้งสิ้น หรือไม่ก็เป็นสังคมของคนใจแคบที่ทุกคนไม่มีใครยอมทำก่อน เพราะกลัวตนเองจะเสียเปรียบ ซึ่งเป็นความรู้สึกที่น่าละอาย ความจริงทุกคนมีส่วนรับผิดชอบในปัญหาทุกอย่างที่กระทบกระเทือนสังคม หรืออาจพูดได้ว่าทุกคนมีส่วนรับผิดชอบในการทำให้ปัญหาแต่ละอย่างนั้นเกิดขึ้น ตามระดับและอัตราที่สัมพันธ์ใกล้หรือห่าง ตรงหรืออ้อมของแต่ละคนๆ ความจริงจังที่ต้องการในเรื่องนี้ก็คือการคิด สำรวจความรับผิดชอบนั้น ก่อนที่จะมองหาหรือบอกแก่ใครอื่นเพราะเมื่อว่าให้ธรรมดาแล้ว ใครรู้ สำนึก และเข้าใจก่อน คนนั้นต้องทำก่อน การกระทำต้องเริ่มต้นที่คนนั้น ก่อนจะเตือน ต่อว่า หรือตำหนิใครอื่น ต้องได้สำรวจแล้วว่า บทบาทในส่วนที่ตนจะพึงเกี่ยวข้องนั้นมีพร้อมอยู่แล้ว หรือได้เริ่มขึ้นแล้วด้วย ใครรู้ คนนั้นต้องเริ่ม ใครตระหนัก คนนั้นต้องลงมือ ผู้ที่รู้แล้วไม่ริเริ่มก่อน ย่อมควรได้รับการตำหนิมากที่สุด และก่อนคนอื่น เพราะถ้าไม่เริ่มที่ผู้รู้ตัวก่อน แล้วเมื่อไรใครจะเริ่ม จุดอ่อนที่สุดอย่างหนึ่งของสังคมไทยปัจจุบันน่าจะเป็นข้อนี้คือ ทุกคนรู้แต่ไม่มีใครเริ่ม ในกรณีคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ สมมติว่าถ้าคิดว่าคนรุ่นเก่านั้นหมดหวังสิ้นทางแก้ไขปรับปรุงแล้ว ความหวังสำหรับคนรุ่นใหม่ก็ยังมีอยู่อย่างสมบูรณ์ และเป็นความหวังที่คาดผลสำเร็จได้แน่นอนที่สุด คือ เริ่มที่ตนเอง การสร้างรุ่นของพวกตนไว้ให้พร้อมก่อนจะไม่ดีกว่าหรือ เพราะเป็นวิธีที่แน่ใจที่สุด และถึงอย่างไรก็ต้องทำอยู่ดี เพราะผู้ที่จะรับผิดชอบต่อสังคม ก็ต้องทำตนให้เป็นผู้พร้อมที่จะรับผิดชอบเสียก่อน

ซากเก่าของพวกตน กับ เปลือกใหม่จากพวกอื่น

ลักษณะเด่นอย่างหนึ่งของยุคปัจจุบัน ก็คือ คนรุ่นใหม่ได้เกิดขึ้นมาและมีชีวิตอยู่ท่ามกลางความระคนปนเประหว่างของเก่ากับของใหม่ ระหว่างสิ่งภายในที่คงเหลือจากอดีตกับสิ่งใหม่ที่หลั่งไหลมาจากภายนอก ทำให้ยากที่จะแยกแยะทำความเข้าใจได้ทั่วถึงและทันการที่จะเลือกเฟ้นยึดถือ และปรับตัวเข้าได้อย่างฉลาด จึงเป็นปัญหาหนักมาก ท่ามกลางความสับสนนั้น ถ้าไม่มีหลัก ก็จะไม่มีโอกาสตรวจดูสิ่งใดอย่างลึกซึ้งเพียงพอที่จะมองเห็นคุณค่าและความหมายที่แท้จริงได้ การมีชีวิตอยู่อย่างเลื่อยลอยแบบไขว่คว้าและยึดฉวยสิ่งที่สนองความต้องการ แบบพอให้ตื่นเต้นผ่านไปทีหนึ่งคราวหนึ่ง จึงเป็นสภาพที่ดาษดื่นจนเป็นลักษณะอย่างหนึ่งของสมัยปัจจุบัน เมื่อเวลาที่จะคิดตกลงกับตนเองก็ไม่พอเสียแล้วจะไปคิดเผื่อคนอื่นอย่างไร จึงตัวใครตัวมันมากขึ้น หรือแล้วแต่ตัวฉันรู้สึกหรือจะเอาอย่างไร ท่ามกลางสภาพเช่นนี้ ของตนเองที่มีภายในก็มีแต่ของเก่าแก่ที่เหลือจากอดีต ส่วนของใหม่ ก็มีแต่ของมาจากภายนอก น่าสงสัยว่าการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ของตนเองที่ควรยกขึ้นชูอวดได้ จะมีบ้างสักเท่าไร

สำหรับของภายในของตนเองนั้น ในเมื่อไม่มีหรือแทบไม่มีสิ่งที่สร้างสรรค์ขึ้นเองใหม่ ก็มีแต่ของที่เหลือมาจากอดีต ของที่เหลือมาจากอดีตนั้นเมื่อเวลาผ่านไปๆ และมีสิ่งใหม่ๆ จากภายนอกหนุนเนื่องเข้ามา ก็ย่อมเลือนลางสลายตัวไปเรื่อยๆ ที่คงรอดอยู่ได้ทั้งรูปร่างและแก่นสารโดยสมบูรณ์นั้นน้อยนัก ส่วนมากแม้เหลืออยู่ก็เป็นเพียงซากของอดีต ซากนั้นคือสิ่งที่หมดชีวิตสูญคุณค่าและความหมายเดิมที่แท้จริงของมันไปแล้ว บางทีก็มีคุณค่าและความหมายใหม่เกิดขึ้น ซึ่งมักจะไม่เป็นไปในทางที่ดีงามอย่างของเดิม หรือเหลือแต่ความหมายที่ผิวเผินชวนให้เข้าใจผิดและนำไปใช้ในทางที่ผิด ภาพที่คนรุ่นใหม่มองเห็นสำหรับของภายในของตนเองเหล่านี้ จึงมักเป็นเพียงซากของอดีต หรือความหมายที่ไขว้เขวเลือนราง ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดพลาดอย่างมากมาย ยิ่งความรู้สึกว่าเก่าทึมไม่น่าสนใจเข้าผสมด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้เกิดทัศนคติในทางผละหนี ทำให้ไม่มีโอกาสค้นหา และห่างเหินจากความหมายเดิมที่แท้จริงมากขึ้น

ส่วนของที่ประดังเข้ามาจากภายนอกนั้น หลายอย่างมีความใหม่ผสมจี้จุดความต้องการบางอย่างจึงมักทำให้ตื่นเต้นรับเอา โดยลืมที่จะตรวจดูคุณค่าและความหมายที่แท้จริงของมัน พร้อมกันนั้นของอีกหลายอย่างซึ่งละเอียดลึกซึ้งที่เข้ามาพร้อมๆ กันก็ถูกมองข้ามไป

ด้วยเหตุนี้ในปัจจุบันจึงมีลักษณะอาการหลายอย่างที่ทำให้เกิดความรู้สึกว่าเรากำลังเป็นที่สั่งสมของเสีย หรือสิ่งที่ต่ำทรามจากหนทางทั้งสองสาย คือ ด้านภายในก็รับช่วงมาแต่เพียงสิ่งที่เป็นซากพร้อมทั้งความหมายที่ผิวเผินและผิดเพี้ยนของอดีต ส่วนภายนอก ก็รับเข้ามาแต่รูปร่างที่เป็นเปลือกแห่งความจริง หรือพูดสั้นๆ ว่าได้แต่ซากเก่าของพวกตนกับเปลือกใหม่จากพวกอื่น

ความหวังสำหรับอนาคต อยู่ที่ว่าจะต้องสามารถสร้างสรรค์ปรุงแต่งสิ่งใหม่ หรือดัดแปลงสิ่งเก่าขึ้นมา ให้ตนอยู่ได้อย่างมีคุณค่าและมีความหมาย ซึ่งเหมาะสมกับตน การจะทำอย่างนี้ได้ต้องขึ้นกับความสามารถที่จะแยกแยะค้นหาและเลือกเฟ้นคุณค่าและความหมายต่างๆ อย่างถูกต้อง ซึ่งหมายถึงการที่จะต้องมีความเข้าใจในสิ่งต่างๆ อย่างลึกซึ้ง ที่กล่าวข้างต้นนั้นเป็นข้อเสนออย่างหนึ่ง สำหรับบำรุงสติให้เกิดความยั้งคิดที่จะพิจารณาแยกระหว่างสิ่งเทียมกับสิ่งแท้ส่วนหนึ่ง สิ่งสำคัญที่จะต้องย้ำไว้ในที่นี้อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งจะเป็นหลักในการดำรงอยู่ท่ามกลางความสับสนนี้ได้ ก็คือการคิด ค้น และลงมือทำอย่างจริงจัง โดยมีความใฝ่แสวงธรรม-สัจจะ-ปัญญาเป็นรากฐานอย่างมั่นคง

ถ้าเป็นอย่างนี้ ก็ต้องตามเขาอยู่เรื่อยไป

บรรดาซากแห่งอดีตของพวกเรานั้น พูดถึงเฉพาะในด้านพระพุทธศาสนาอย่างเดียวก็มีมากมาย แง่ที่ต้องการกล่าวถึงก็คือภาพที่ปรากฏในทางความประพฤติปฏิบัติ ความประพฤติปฏิบัติที่เห็นๆ กันอยู่ ซึ่งเรียกรวมๆ กันไปในนามว่าพระพุทธศาสนานั้นมีจำนวนมาก แต่จะต้องชะงักใจไว้ก่อนแต่ต้นว่า ภาพที่มองเห็นอาจจะไม่แสดงถึงตัวจริงหรือเนื้อแท้ก็ได้ หลายอย่างความหมายเดิมจวนจะหมดไป และจวนจะกลายเป็นซาก หลายอย่างกลายเป็นซากซึ่งคุณค่าและความหมายเดิมหมดไปนานแล้ว บางอย่างไม่ใช่แม้แต่ซากของตัว แต่เป็นซากอื่นแปลกปลอมเข้ามา ที่เป็นเช่นนี้ไม่ใช่เฉพาะความประพฤติปฏิบัติทั่วๆ ไป แต่รวมถึงความหมายของหลักด้วย ตามธรรมดาใครจะพูดว่าอะไรเป็นอะไรอย่างไรก็ต้องเรียนรู้ทำความเข้าใจสิ่งนั้นให้ชัดเสียก่อน แต่หลักธรรมต่างๆ ถูกคนทั้งหลายอ้างชื่อ ใช้เรียกและพูดถึงกันเป็นคำสามัญและบางคราวก็พร่ำเพรื่อ ถ้าผู้ใช้คำนั้นๆ จะหวนคิดสำรวจตนเองขึ้นมาว่า ศัพท์ธรรมที่ตนใช้อยู่ในความหมายที่ต้องการขณะนั้น ตนได้ศึกษาทำความเข้าใจในความหมายโดยวิธีการและจากแหล่งที่แน่ใจว่าถูกต้องแล้วหรือไม่ หรือนึกเพียงว่าตนเข้าใจความหมายจริงๆ หรือไม่ ก็อาจจะต้องชะงักขึ้นมาทันที ถ้าปรากฏว่าเราไม่เข้าใจหรือไม่แน่ใจ หรือเข้าใจเลื่อนลอยตามๆ กันมาก็หมายความว่า เรายังไม่ได้ก้าวไปไหนเลย ในด้านทัศนคติมูลฐานเกี่ยวกับการใช้สติปัญญาซึ่งจะเป็นที่มาแห่งความเจริญก้าวหน้าของวิทยาการ เพราะแสดงว่าเรายังคงติดอยู่พอใจอยู่แค่ส่วนที่ผิวเผินของสิ่งทั้งหลายแม้แต่ที่ตนต้องเกี่ยวข้องใช้อยู่เป็นประจำ ความใฝ่ในตัวปัญญาที่แทงซึ้งถึงตัวความจริงยังไม่มี หลักธรรมเหล่านี้ติดพันมากับประวัติของตัวเรา (ชาติเรา) แทรกอยู่ในวัฒนธรรมของเรา ถ้าจะเข้าใจตัวเราให้ชัดก็ต้องเข้าใจความหมายของหลักธรรมเหล่านี้ด้วย เราจะดำเนินต่อไปได้ดีที่สุดก็ต้องจัดการกับตัวเราเองให้ดีที่สุด จะจัดการกับตัวเราได้ดีที่สุด ก็ต้องรู้จักเข้าใจตัวเองให้ชัดเจนที่สุด ซึ่งรวมถึงเข้าใจหลักธรรมที่เรายึดถือกันมาด้วย

ชาวต่างประเทศที่เข้ามาวิจัยเรื่องราวเกี่ยวกับสังคมไทยนั้นมีมาก เป็นธรรมดาที่การวิจัยนั้นมักพาดพิงถึงเรื่องหลักธรรมที่คนไทยยึดถือด้วย ผลก็คือหลักธรรมที่เข้าไปรวมอยู่ในเรื่องที่วิจัยนั้น ถูกพิจารณาในความหมายที่อ้างกันอย่างผิวเผินทั่วไป จริงอยู่ผู้อื่นย่อมมองเห็นตัวเราชัดกว่าในบางกรณี และวิธีการวิจัยของเขาทำอย่างระเบียบและมีเหตุผล แต่ต้องไม่ลืมว่า เมื่อเขาวิจัยนั้น เขามักเอาตัวเขาเข้ามาเทียบ บางทีตัวของเขาเองนั้นเขาก็ไม่เข้าใจจริง อีกอย่างหนึ่งคนไม่จำเป็นต้องเดินไปสู่จุดหมายเดียวกันด้วยวิธีเดียวกัน นอกจากนั้น ในเมื่อมีผู้อื่นชี้จุดให้ ครั้นสะดุดใจแล้วตัวเราเองย่อมจะศึกษาจุดนั้นต่อไปได้ละเอียดชัดเจนกว่าผู้ชี้ การวิจัยของชาวต่างประเทศนั้นมีประโยชน์ การที่จะใช้ให้เป็นประโยชน์ก็คือ เราควรจะวิจัยต่อให้เลยออกไปลึกซึ้งละเอียดแน่ชัดยิ่งขึ้นไป แต่ภาพที่มองเห็นบ่อยก็คือ คนของเราเอ่ยอ้างถึงความคิดเห็นซึ่งเป็นผลจากการวิจัยของชาวต่างชาตินั้น โดยที่อาการแสดงออกมิได้ส่อให้เห็นว่าได้ใช้ความคิดอย่างจริงจังในเรื่องที่ตนเอ่ยอ้างถึงเลย ถ้าเป็นเช่นนี้ เราก็คงจะต้องเป็นผู้ตามหรือพูดให้แรงว่าเป็นทาสทางปัญญาอยู่เรื่อยไป

ซากเก่าที่ทำให้หลงติเตียนกันเอง

มีตัวอย่างหลักธรรมหลายข้อที่อ้างหรือพูดถึงกันบ่อยๆ โดยมิได้ศึกษาความหมายให้แน่ชัดลงไปก่อน และความหมายที่เข้าใจหรือนึกถึงในเวลาอ้างนั้น ไม่ค่อยถูกต้องตามความเป็นจริง เป็นเหตุให้เกิดทัศนคติไม่ดีต่อธรรมเหล่านั้น และเป็นเหตุให้ยกเป็นข้อโจมตีกันได้ เช่น

เมตตา แทนที่จะรู้ว่าเป็นหลักธรรมสำหรับปลูกฝังทัศนคติที่ดีต่อกันเพื่อการอยู่ร่วมกันด้วยดีในระหว่างเพื่อนมนุษย์ กลับเป็นเรื่องสำหรับปัดความรับผิดชอบไปให้ผู้ใหญ่หรือสำหรับอ้างเพื่อช่วยลูกน้อง

อุเบกขา แทนที่จะรู้ว่าเป็นหลักธรรมสำหรับธำรงความเที่ยงธรรมและความหนักแน่นมั่นคง กลับเป็นเครื่องอ้างสำหรับการนิ่งเฉย ไม่สนใจ หรือปัดความรับผิดชอบ

กตัญญู แทนที่จะรู้ว่าเป็นธรรมสำหรับรู้จักคุณค่าแห่งความดีของผู้อื่นแล้วช่วยต่อเติมเสริมความดีหรือคุณค่านั้นให้เพิ่มยิ่งขึ้น บางทีก็กลายเป็นเครื่องมือสมคบกันระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้

สันโดษ แทนที่จะรู้ว่าเป็นธรรมสำหรับตัดความฟุ้งเฟ้อสำรวย ป้องกันความฟุ้งซ่านเหินห่างจากหน้าที่และความทุจริต กลับเป็นเครื่องอ้างสำหรับละเลยภารกิจ และไม่เคยรู้เลยว่าอีกด้านหนึ่ง ความไม่สันโดษก็เป็นคุณธรรมที่สำคัญยิ่งเหมือนกัน

ผู้ที่อ้างถึงสิ่งใดโดยไม่ได้ตระหนักว่าตนได้ศึกษาสิ่งนั้นอย่างสมควรแล้ว ย่อมแสดงถึงการขาดความรู้สึกรับผิดชอบ และขาดความใฝ่ปัญญาที่แท้จริง นอกจากนี้ ขอเสนอให้ศึกษาคิดค้นอย่างจริงจังถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดคำปรัมปราพร้อมทั้งความหมายของมัน เช่น

"คนธัมมะธัมโม" แทนที่จะหมายถึงคนที่ดำรงธรรม ปฏิบัติหน้าที่ของตนครบถ้วนไม่บกพร่อง กลับกลายเป็นหมายถึงคนคร่ำครึ ถอนตัวหรือประพฤติธรรมด้วยปาก

"แพ้เป็นพระชนะเป็นมาร" มุ่งความหมายแท้จริงอย่างไร การนำมาใช้อ้างกันมีผลดีผลเสียอย่างไร ควรแก้ทัศนคติอย่างไร เพราะพระพุทธเจ้ามีแต่ทรงชนะมาร ไม่เคยแพ้ มารเป็นผู้แพ้ฝ่ายเดียว

"แข่งอะไรแข่งได้ แข่งบุญแข่งวาสนาแข่งไม่ได้" เกิดมาอย่างไรควรใช้เพียงใด เพราะตามหลักกรรมมุ่งให้เพียรพยายามแก้ไขปรับปรุงตนเอง เข้าสู่ผลสำเร็จด้วยการลงมือกระทำ มุ่งให้แข่งกับงานและแข่งกับตนเอง ไม่ได้มุ่งให้คนคอยคิดแข่งคน

ข้อสำคัญอย่างหนึ่ง ในการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับหลักธรรม นอกจากการศึกษาให้รู้ความหมายที่ถูกต้อง ก็คือการคำนึงถึงวัตถุประสงค์หรือจุดหมายของการปฎิบัติธรรมข้อนั้นๆ เพราะหลักจริยธรมทุกข้อสอนไว้เพื่อนำไปสู่จุดหมาย ถ้าปฎิบัติโดยขาดความตระหนักในจุดหมาย ย่อมกลายเป็นความงมงายและเกิดผลเสียหายได้ เช่น อดทน ก็ไม่ใช่อดทนเข้าไว้เฉยๆ แต่อดทนต้องมีเพื่ออะไรด้วย เช่น เพื่อให้นำตนเข้าถึงผลสำเร็จที่ต้องการได้ในที่สุด เป็นต้น

จุดที่พลาดและล้มเหลวของพวกเก่าและพวกใหม่

ปัจจุบันดูเหมือนจะตระหนักกันแล้วว่า อารยธรรมตะวันตกถ้ายังแล่นต่อไปในอาการและทิศทางเช่นนี้ จะไปสู่หายนะ ในเวลาเดียวกันทางฝ่ายเราเองก็รู้สึกว่าเท่าที่เป็นมา ไม่เจริญก้าวหน้าเท่าที่ควร อะไรเป็นความผิดพลาดหรือสาเหตุของความล้มเหลวของทางสองสายนี้ ในความเห็นของผู้เขียนว่า อารยธรรมตะวันตกล้มเหลวในส่วนที่เน้นเอาตัณหาเป็นแรงจูงใจในการกระทำหรือในการสร้างสรรค์ต่างๆ และผิดหวังในการใฝ่แสวงธรรมปัญญา ส่วนความผิดพลาดฝ่ายเราได้แก่การไม่นำเอาเป้าหมายของจริยธรรมออกมาแสดงให้ชัด ความคลุมเครือในเรื่องจุดหมายปลายทางของจริยธรรม ทำให้ขาดแรงจูงใจในการกระทำ เรามักพูดถึงความมุ่งหมายของการประพฤติศีลธรรมกันเพียงเพื่อความสงบสุขของสังคม จริงอยู่ ความสงบสุขในสังคมจะมีได้คนจะต้องมีศีลธรรม แต่จุดมุ่งหมายของการประพฤติศีลธรรมจะต้องไม่อยู่เพียงแค่นั้น เมื่อวินิจฉัยตามหลักพุทธศาสนา ศีลย่อมมีเพื่อประโยชน์แก่สมาธิ และนำไปสู่ปัญญา จุดหมายอันสูงที่ทำให้เกิดความใฝ่ธรรม ใฝ่แสวงปัญญา และสัจจะเพื่อคุณค่าที่แท้จริงนี้แหละ จึงจะเป็นแรงจูงใจให้รุดหน้าต่อไปจากขั้นศีลธรรม และช่วยให้ศีลธรรมเองมั่นคงด้วย แต่เพราะไม่มีแรงจูงใจนี้ ในที่สุดแม้แต่การประพฤติศีลเอง ก็มีแต่การเน้นการย้ำตัวพยัญชนะในพิธีหาได้มีการปฏิบัติเคร่งครัดจริงไม่ ภาพนี้เห็นได้ชัดโดยไม่ต้องบรรยาย

อะไรควรเป็นที่หมายของชีวิต (ทั้งส่วนตนและสังคม)

คนสมัยนี้จำนวนมากคงบอกว่า ความสุขเป็นที่หมายของชีวิต แต่ในทัศนะของผู้เขียนบทความนี้เห็นว่า ถ้าหมายถึงความสุขอย่างที่เข้าใจกันทั่วไปแล้ว อันนั้น ไม่ใช่ที่หมายของชีวิต เพราะทั้งไม่ถูกต้อง ไม่เป็นจริง และไปได้ไม่ตลอด หรือไม่มีทางสำเร็จทั้งชีวิตบุคคลและสังคม สิ่งที่จะต้องแสวงหาหรือที่หมายอันถูกต้องของชีวิต คือความเป็นอิสระของบุคคลและของสังคม ที่ทำให้พร้อมที่จะเสวยสุขหรือไม่เสวยได้ตามความต้องการ และดำรงอยู่ได้อย่างดีอย่างไม่มีทุกข์ โดยไม่ต้องขึ้นต่อความสุข ความสุขเป็นผลพลอยได้ หรือผลได้ในระหว่าง และผลที่ขึ้นต่อความพอใจ ความเป็นอิสระอันเกิดจากธรรมปัญญา ทำให้สร้างสุขเสวยสุขได้อย่างดี และไม่ทำให้ความสุขกลายเป็นทุกข์โทษ เรื่องนี้จะต้องพูดกันอีก

ธรรมสำหรับนักศึกษาแพทย์14

ขอเจริญพรท่านศาสตราจารย์คณบดีและท่านผู้เป็นประธานในที่นี้ ท่านอาจารย์และท่านนักศึกษาแพทยศาสตร์

ในเบื้องต้นนี้อาตมภาพต้องขออนุโมทนา ในการที่เรื่องคุณธรรมได้รับความสนใจจากสถาบันวิชาชีพชั้นสูง มีการนำมาตั้งเป็นปัญหาสำหรับพิจารณาและให้ขบคิดกันเช่นนี้ เรื่องคุณธรรมกับอาชีพแพทย์นี้มีความจำเป็นและเกี่ยวข้องกันอย่างไรนั้น เป็นเรื่องที่มองเห็นชัดกันอยู่แล้ว ซึ่งท่านผู้อภิปรายท่านอื่นๆ ก็ได้กล่าวถึงมาพอสมควร ในประเด็นที่ท่านมอบหมายให้อาตมภาพพูดถึงคือเรื่องที่ว่าเมื่อแพทย์ขาดธรรมแล้วจะมีลักษณะอย่างไร อันนี้อาตมภาพเห็นว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันไปถึงความจำเป็นของธรรมที่มีต่ออาชีพการแพทย์ด้วย เรื่องธรรมที่มีความจำเป็นต่ออาชีพแพทย์นั้น มันมีเป็นพิเศษมากกว่าที่มีอยู่ตามปกติ คือในอาชีพการงานทุกอย่างนั้นคุณธรรมเป็นเรื่องจำเป็นอยู่แล้ว อย่างน้อยเราจะเห็นได้ว่าเมื่อเราจะทำการงานอะไร ผู้ที่จะทำการงานนั้นจะต้องมีคุณธรรม เช่นความเอาใจใส่ต่อหน้าที่ ความรู้จักรับผิดชอบ ความซื่อสัตย์ เป็นต้น เหล่านี้เป็นคุณธรรมที่ช่วยให้การปฏิบัติงานเป็นไปด้วยดี แล้วก็เป็นสิ่งที่จำเป็นในการงาน ในอาชีพทุกอย่าง ไม่จำกัดเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ทีนี้สำหรับวิชาแพทย์นั้น คุณธรรมมีความจำเป็นเพิ่มขึ้นอีก ไม่เหมือนกับอาชีพอย่างอื่น ที่ว่ามีความจำเป็นเพิ่มขึ้นนั้นเพราะว่า คุณธรรมดูเหมือนว่าจะเป็นคุณสมบัติหรือเป็นส่วนประกอบอย่างหนึ่งของอาชีพแพทย์ทีเดียว

ความเป็นส่วนประกอบในอาชีพของแพทย์นั้นจะมองเห็นได้ง่าย เพราะว่าอาชีพแพทย์เป็นอาชีพที่ไม่ใช่เกี่ยวกับวัตถุ แต่เป็นอาชีพที่เกี่ยวข้องกับบุคคล เกี่ยวข้องกับชีวิต ทีนี้การที่จะเกี่ยวข้องกับชีวิตจิตใจนั้น เรื่องคุณธรรมเป็นเรื่องสำคัญมากกว่าการที่จะเกี่ยวข้องกับวัตถุอย่างอื่นๆ อย่างน้อยแพทย์มีหน้าที่ในการที่จะช่วยเหลือชีวิตมนุษย์ การช่วยเหลือนี้เป็นคุณธรรมอยู่แล้ว และการช่วยเหลือที่จะให้ได้ผลสำเร็จด้วยดีก็ต้องอาศัยคุณธรรม ซึ่งทำให้ผู้รับความช่วยเหลือนั้นเกิดความรู้สึกไว้วางใจ เกิดความรู้สึกที่จะมอบจิตใจให้คิดที่จะพึ่ง อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ ถ้าหากว่าคนที่ได้รับความช่วยเหลือมอบความไว้วางใจให้ คิดที่จะพึ่ง ก็คือเขามอบชีวิตของเขาไว้ในกำมือของแพทย์นั่นเอง เมื่อแพทย์ได้รับชีวิตของมนุษย์ไว้ในกำมือแล้ว คุณธรรมเป็นสิ่งสำคัญในการที่จะปฏิบัติต่อชีวิตนั้น

ฉะนั้น คุณธรรมจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับแพทย์มากยิ่งกว่าอาชีพอื่นๆ คนทั่วไปนั้นเมื่อเจ็บไข้ได้รับความทุกข์ทรมานก็นึกถึงแพทย์นึกถึงโรงพยาบาล พอมาถึงโรงพยาบาล แม้กำลังได้รับความเจ็บปวดทุกข์ทรมานเป็นอันมาก กำลังครวญครางอยู่ พอรู้ว่าถึงโรงพยาบาลบางทีก็หยุดคราง หยุดการโอดครวญ หยุดแสดงความเจ็บปวดได้ทันที เพราะเกิดความอบอุ่นใจขึ้น และยิ่งเมื่อได้เห็นนายแพทย์หรือพยาบาลด้วยก็เกิดความอบอุ่นใจมากยิ่งขึ้น ยิ่งได้เห็นสีหน้าของแพทย์ที่มีความรู้สึกโอบอ้อมอารี มีเมตตากรุณา แสดงให้เห็นน้ำใจที่จะช่วยเหลือเขาจากใจจริงแล้ว คนไข้นั้นก็เหมือนกับหายไปครึ่งหนึ่งแล้วจากโรคภัยไข้เจ็บนั้น เพราะฉะนั้นเรื่องคุณธรรมของแพทย์จึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่จะทำให้งานอาชีพของแพทย์สำเร็จผล และเป็นไปในทางที่จะเกิดประโยชน์แท้จริงสมกับหน้าที่ที่แพทย์ต้องรับผิดชอบอยู่

นอกจากแพทย์จะต้องมีความรู้สึกในทางเมตตากรุณาที่จะให้คนไข้เกิดความรู้สึกอบอุ่นใจแล้ว อาชีพของแพทย์ยังมีลักษณะบางอย่างที่ทำให้เกิดความน่าเบื่อหน่าย และอาจจะทำให้เกิดความหดหู่ได้ง่าย เพราะได้เห็นแต่สภาพที่ไม่น่าพึงพอใจ ไม่เจริญตาเจริญใจ ภาพของคนที่ได้รับความทุกข์ทรมานความเจ็บปวดต่างๆ และคนที่ป่วยไม่เป็นเวลา สิ่งเหล่านี้มีแต่บั่นทอนความสุขส่วนตัวของแพทย์ เช่นว่าคนป่วยอาจจะป่วยขึ้นมาเวลาหนึ่งเวลาใดก็ได้ แต่แพทย์ต้องเสียสละความสุขส่วนตัวมาช่วยเหลือคนเหล่านั้น ถ้าหากว่าแพทย์ไม่มีคุณธรรมแล้วความเบื่อหน่ายก็จะเกิดขึ้นได้ง่าย เกิดขึ้นจากการที่ได้เห็นภาพของคนเจ็บป่วยทุกข์ทรมานซึ่งเป็นภาพที่ไม่เจริญตาเจริญใจ แล้วก็เกิดจากการที่ว่าจะต้องเสียสละผลประโยชน์ความสุขส่วนตัวให้กับคนไข้ที่เจ็บป่วยไม่เลือกเวลาเหล่านั้น คุณธรรมมีความจำเป็นสำหรับแพทย์อย่างนี้ คือเป็นส่วนประกอบโดยตรงของอาชีพแพทย์ทีเดียว เป็นคุณสมบัติประจำตัวของแพทย์อย่างหนึ่ง

ส่วนการที่ว่าเมื่อแพทย์ขาดธรรมแล้วจะมีลักษณะอย่างไร เราสามารถอนุมานได้จากการที่ว่าธรรมมีความจำเป็นสำหรับแพทย์อย่างไรนั่นเอง จากที่อาตมภาพได้พูดมานี้จะเห็นว่าคุณธรรมสำคัญของแพทย์มี ๒ อย่างเป็นอย่างน้อยคือ ความเมตตากรุณา ซึ่งทำให้เกิดความอบอุ่นใจแก่คนไข้ แล้วก็ความเสียสละ ที่ต้องเสียสละความสุขส่วนตัวเพื่อที่จะมาช่วยเหลือเกื้อกูลแก่คนไข้เหล่านั้น โดยไม่เลือกกาลเวลา เมื่อแพทย์ทำหน้าที่ของตนได้โดยถูกต้องแล้ว แพทย์ซึ่งอยู่ในฐานะเป็นที่พึ่งของประชาชน อยู่ในฐานะที่ประชาชนรู้สึกว่าเป็นที่เคารพส่วนหนึ่งในสังคมอยู่แล้ว ถ้าแพทย์ได้มีคุณธรรมอย่างที่เขาต้องการ คือความเมตตากรุณาที่ให้เกิดความอบอุ่นใจ แล้วก็ความเสียสละอย่างนี้ด้วยแล้ว ความรู้สึกเคารพของประชาชนที่มีต่อแพทย์นั้น ก็จะมีขึ้นโดยสมบูรณ์ เมื่อแพทย์ขาดธรรม คุณสมบัติเหล่านี้ก็จะหายไป คือ ความเมตตากรุณาก็ดีความเสียสละก็ดี ก็จะหายไป บุคลิกบางอย่างของแพทย์ก็หย่อนลง บุคลิกเป็นเรื่องสำคัญที่ก่อให้เกิดความเชื่อถือ ความเคารพ แพทย์ที่มีคุณธรรมในตัวแล้ว เมื่อคนไข้เห็นก็มีความรู้สึกรักใคร่ตั้งแต่ต้นๆ ช่วยให้โรคภัยของเขาหายไปหลายส่วน แต่เมื่อแพทย์ขาดธรรม คุณสมบัติเหล่านั้นในตัวแพทย์ขาดไป บุคลิกของแพทย์ก็เปลี่ยนไป ฉะนั้นความอบอุ่นใจที่คนไข้จะมีขึ้นก็จะน้อยลง แล้วความสำเร็จผลในการรักษาเยียวยาก็อาจหย่อนลงไปได้ด้วยเหมือนกัน อันนี้อาตมภาพเห็นว่าเป็นเรื่องที่มองเห็นได้ไม่ยากนัก ในเรื่องที่ว่าเมื่อแพทย์ขาดคุณสมบัติขาดธรรมแล้วจะมีลักษณะอย่างไร เมื่อบุคลิกลักษณะความเชื่อถือไว้วางใจหย่อนแล้ว การทำหน้าที่ของตนเองของแพทย์นั้นก็จะบกพร่องไปด้วย คุณสมบัติของแพทย์ก็จะหย่อนลงไปด้วย

มีเหตุผลอย่างหนึ่งว่าแพทย์ก็เป็นผู้อยู่ในสังคม เป็นส่วนหนึ่งของสังคม อย่างในคำปรารภของท่านอาจารย์คณบดี พูดถึงว่าการที่เราจะดำรงคุณธรรม หรือการที่จะส่งเสริมคุณธรรมในอาชีพแพทย์นั้นจะทำได้ผลแค่ไหนเพียงไร ในเมื่อแพทย์ก็เป็นส่วนหนึ่งในสังคมนี้ เมื่อสังคมมีความเปลี่ยนแปลงเป็นไปในทางที่ไม่ดี ที่เราถือว่ามีคุณธรรมเสื่อมทรามลง ศีลธรรมเสื่อมทรามลง อิทธิพลของสังคมก็ย่อมมีผลต่อแพทย์แต่ละบุคคลไปด้วย ข้อนี้อาจจะทำให้การที่จะส่งเสริมคุณธรรมนั้นเป็นไปได้ยากหรือไม่สู้ได้ผล ในเรื่องนี้อาตมภาพเห็นว่าสังคมนั้นมีอิทธิพลต่อบุคคลแต่ละคนที่เป็นส่วนประกอบในสังคมนั้นแน่นอน เมื่อสังคมมีความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ไม่ดีก็ย่อมมีผลต่อความประพฤติปฏิบัติของบุคคลแต่ละคน แต่ในเวลาเดียวกันสังคมก็ประกอบขึ้นจากบุคคลนั่นเอง ถ้าหากว่าไม่มีบุคคลที่จะคิดในทางดำรงรักษาคุณธรรมไว้เลย ก็เท่ากับว่าเป็นการช่วยกันชักนำสังคมนั้นให้เสื่อมลงไปยิ่งขึ้น

มองในทางมุมกลับ แพทย์นั้นก็เป็นสิ่งแวดล้อมอย่างหนึ่งในสังคมเหมือนกัน คือสถาบันแพทย์เป็นสิ่งแวดล้อมอย่างหนึ่งในสังคมที่มีอิทธิพลต่อสังคมส่วนอื่นๆ ทั้งหมด ถ้าสถาบันแพทย์เป็นสถาบันที่ควรแก่ความเคารพนับถือเป็นที่พึ่งของประชาชน ก็เท่ากับเป็นการช่วยหน่วงเหนี่ยวสังคมไว้ไม่ให้ตกต่ำส่วนหนึ่งเหมือนกัน ฉะนั้นแทนที่เราจะไปเป็นผู้อยู่ใต้อิทธิพลของสังคม เราน่าจะกลับคิดในแง่ที่ว่าในฐานะที่แพทย์เป็นผู้นำเป็นอาชีพชั้นนำ เป็นอาชีพที่ได้รับความนับถือส่วนหนึ่งในสังคมนั้น เราควรจะเป็นสิ่งแวดล้อมที่ช่วยทำสังคมให้ดีขึ้น ไม่ใช่เป็นผู้ที่จะเปลี่ยนแปลงตามสังคมนั้นไปในทางเสื่อมลง สถาบันแพทย์นั้นโดยแท้จริงแล้ว เราจะต้องยอมรับว่าเป็นสถาบันที่ได้รับความรู้สึกจากประชาชนในทางที่ดีงามในทางที่สูง หากว่าสถาบันแพทย์ยังสามารถดำรงคุณธรรมไว้ได้แล้ว ฐานะของแพทย์ในสังคมก็อยู่ในความเคารพต่อไป แล้วก็เคารพนับถือยิ่งๆ ขึ้นด้วย วิชาการนั้นก็เป็นส่วนประกอบอย่างหนึ่งที่จะช่วยให้อาชีพแพทย์ได้มีผลก้าวหน้า แต่ในเวลาเดียวกันคุณธรรมก็เป็นส่วนประกอบที่ควบคู่กันซึ่งขาดเสียมิได้ ซึ่งช่วยให้สถาบันแพทย์หรืออาชีพของแพทย์นั้นมีความเจริญทั้งในด้านการปฏิบัติหน้าที่ได้ผล แล้วก็รักษาฐานะในความเชื่อถือของประชาชนไว้ด้วย อาตมภาพขอชี้แจงสั้นๆ ไว้เพียงเท่านี้ก่อน

เมื่อสักครู่นี้ อาตมภาพได้รับมอบให้พูดในประเด็นเกี่ยวกับการขาดธรรม ซึ่งเมื่อพูดในเรื่องนั้นก็ย่อมเป็นการพูดในแง่ที่เป็นอนิฏฐารมณ์ คือในทางที่ไม่น่าพึงพอใจ คราวนี้ได้รับประเด็นใหม่ในเรื่องธรรมที่มีคุณพิเศษสำหรับนักศึกษา และท่านผู้ดำเนินการอภิปรายต้องการให้พูดยกตัวอย่างธรรมที่จะมาใช้ประโยชน์ในทางประยุกต์เกี่ยวกับด้านนี้โดยตรงด้วย เรื่องธรรมที่มีคุณพิเศษสำหรับนักศึกษานั้น อาตมภาพเห็นว่า สำหรับนักศึกษาแพทย์เห็นจะแยกได้สองแง่ คือในฐานะที่ท่านเป็นนักศึกษาอย่างนักศึกษาทั่วไป ซึ่งมีหน้าที่ในการศึกษาเล่าเรียนค้นคว้าอย่างหนึ่ง และในฐานะที่เป็นนักศึกษาแพทย์ คือผู้ที่จะรับผิดชอบดำเนินงานในอาชีพของแพทย์ต่อไปอีกอย่างหนึ่ง สำหรับประเด็นแรกนั้นอาตมภาพขอยกไว้ก่อนคือในแง่นักศึกษาทั่วไปยังไม่ขอพูด จะพูดในแง่ที่ท่านเป็นนักศึกษาผู้เตรียมตัวที่จะเป็นแพทย์ต่อไป

ในตอนที่ผ่านมา อาตมภาพได้พูดถึงเรื่องคุณธรรม ซึ่งมีความจำเป็นสำหรับแพทย์ แล้วก็เกี่ยวโยงไปถึงการที่ว่าเมื่อแพทย์ขาดธรรมเหล่านั้นแล้วจะมีลักษณะเป็นอย่างไร อันนั้นก็เกี่ยวเนื่องมาถึงประเด็นข้อนี้ด้วย เพราะว่าการที่เราจะให้นักศึกษามีคุณธรรมหรือคุณพิเศษอย่างไรนั้นก็คือ ต้องเตรียมปลูกฝังธรรมที่จำเป็นสำหรับแพทย์ให้แก่นักศึกษาแพทย์นั่นเอง ฉะนั้นอันนี้ก็ไปเกี่ยวถึงข้อแรก อาชีพของแพทย์นั้นต้องเกี่ยวข้องกับคนมาก เกี่ยวข้องกับชีวิตจิตใจของบุคคลอย่างที่อาตมภาพได้พูดถึงในคราวก่อน ที่นี้การเกี่ยวข้องกับคนมากนั้นก็ย่อมได้พบอย่างที่เรียกว่า นานาจิตฺตํ คือว่าคนเรามีจิตใจต่างกัน ในเมื่อแพทย์ได้พบกับคนที่มีลักษณะจิตใจต่างๆ กัน ต่างคนก็หวังจะได้อย่างนั้นอย่างนี้ ก็ย่อมทำให้แพทย์อาจเกิดความเคร่งเครียดทางจิตใจ ในการทำงานก็เป็นเรื่องธรรมดาอย่างที่ท่านอาจารย์สุชีพได้กล่าวมาแล้ว คือว่าอาจจะแสดงอาการบางอย่างออกไปได้ในกาลบางคราวซึ่งแม้เป็นเรื่องที่มีเพียงน้อยเท่านั้น แต่ก็ทำให้มีคนนำไปพูดได้ ซึ่งเป็นข้อที่ควรเห็นใจเป็นอย่างยิ่ง อันนี้ก็เป็นความจริง และโดยเฉพาะผู้ที่มาเกี่ยวข้องกับแพทย์นั้นไม่ใช่คนที่มีนานาจิตฺตํอย่างทั่วๆ ไปเท่านั้น ยังเป็นจิตชนิดที่อ่อนแอเป็นจิตที่มีโรคแล้ว เวลาที่เป็นโรคทางกายนั้นเราต้องยอมรับว่าจิตใจก็เป็นโรคด้วย คือสุขภาพทางจิตก็จะไม่สมบูรณ์ด้วยเหมือนกัน ทีนี้นอกจากการที่ต้องเกี่ยวข้องกับคนที่มีอารมณ์จิตใจที่ต่างๆ กันตามปกติ ซึ่งผู้เกี่ยวข้องกับคนมาก จะต้องได้รับความเห็นใจแล้ว ยังไปเกี่ยวข้องกับคนที่มีสุขภาพทางจิตใจไม่ปกติเข้าอีกด้วย อันนี้ก็ย่อมต้องเห็นใจแพทย์มากยิ่งขึ้น ในการที่จะเห็นใจแพทย์นั้น อาตมภาพมองดูในส่วนมากเท่าที่ตนเองรู้สึกก็เห็นว่าแพทย์ส่วนมากยังเป็นผู้มีใบหน้าที่เยือกเย็น มีอารมณ์ที่สุขุม อันนี้มิใช่ว่าอาตมภาพจะมาพูดในที่ประชุมนี้ในสถาบันนี้เพื่อเอาใจ แต่ว่าเป็นสิ่งที่เกิดจากความรู้สึกที่ได้ประสบมา คือแพทย์ส่วนมากก็ยังเป็นผู้ที่มีความสุขุมเยือกเย็นโดยการเปรียบเทียบกับสถาบันหรือการอาชีพอย่างอื่นอยู่นั่นเอง แต่อย่างไรก็ดีในเมื่อแพทย์มีหน้าที่ที่จะเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมากที่มีอารมณ์ต่างๆ กัน โดยเฉพาะที่มีสุขภาพทั้งกายทั้งจิตต่ำลงอย่างนี้ แม้ว่าแพทย์ควรจะได้รับความเห็นใจก็จริง แต่ในเวลาเดียวกันเรามาพูดในแง่ของแพทย์เองในฐานะที่ว่าเป็นผู้ที่จะปรับปรุงตัวเอง คือเราจะทำงานอาชีพของเราให้ดีขึ้น เราก็ต้องพยายามที่จะปรับปรุงคุณภาพของตนให้ดีขึ้น คือรู้ว่าเราจะต้องเกี่ยวข้องกับคนมาก มีอารมณ์และจิตใจต่างๆ กัน โดยเฉพาะผู้ที่เป็นคนป่วยคนไข้แล้ว แพทย์ก็ต้องเตรียมใจที่จะฝึกอบรมคุณธรรมในการที่จะเป็นผู้สุขุมเยือกเย็นให้มีมากยิ่งกว่าผู้ที่จะไปประกอบอาชีพในด้านอื่นๆ เพราะฉะนั้นอันนี้แสดงถึงความจำเป็นมากยิ่งขึ้นไปอีกในการที่ว่าจะต้องให้แพทย์มีคุณธรรม คุณธรรมอะไรที่จะเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับแพทย์ อันนั้นก็เป็นคุณธรรมที่เราจะต้องปลูกฝังไว้สำหรับนักศึกษาแพทย์ คุณธรรมที่แพทย์จะต้องมีก็เป็นคุณธรรมพิเศษสำหรับนักศึกษาแพทย์ด้วย ที่จะต้องปลูกฝังตั้งแต่ยังศึกษาเล่าเรียนอยู่ ที่อาตมภาพพูดมาแล้วคุณธรรมเช่นความเมตตากรุณา ความเสียสละ เป็นเรื่องที่จะต้องปลูกฝังขึ้นในแพทย์ ในขณะที่ยังเป็นนักศึกษาแพทย์อยู่มีโอกาสมากกว่าตอนเป็นแพทย์แล้ว แล้วก็เป็นระยะเวลาที่จะต้องเตรียมตัวในการฝึกอบรมทั้งในด้านบุคลิกลักษณะ คุณสมบัติต่างๆ ที่จะไปเป็นแพทย์ที่ดีด้วย เพราะฉะนั้นก็เป็นเวลาที่เหมาะสมที่สุดที่จะปลูกฝังคุณธรรมเหล่านี้ ทั้งในด้านความสุขุมเยือกเย็น ความมีเมตตากรุณาและความรู้สึกเสียสละ รวมไปถึงความมีขันติคือความอดทน คุณธรรมเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้อย่างไร ในทางพระพุทธศาสนานั้นถือว่า การปลูกฝังคุณธรรมนั้นให้ปลูกฝังด้วยปัญญา คือให้เกิดจากความรู้ความเข้าใจของเราเอง

อาตมภาพเห็นว่าอาชีพของแพทย์หรือลักษณะงานของแพทย์นั้น มีโอกาสหรือมีสภาพที่อำนวยให้มีการปลูกฝังคุณธรรมได้มากกว่าอาชีพการงานอย่างอื่นๆ ส่วนมาก สิ่งที่ว่าเป็นสภาพที่อำนวยนี้ ที่มองเห็นได้ง่ายๆ ก็คือสภาพของคนเจ็บไข้ ซึ่งเป็นเพื่อนมนุษย์ของเราที่ได้รับความเจ็บป่วย ได้รับความทุกข์ทรมานต่างๆ อันนี้ก็เป็นสภาพที่เป็นโอกาสอำนวยให้เกิดการปลูกฝังคุณธรรม อีกอย่างหนึ่งก็คือการที่ได้เห็นสภาพธรรมดาของสังขารที่เป็นไปอย่างที่ในทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า ไตรลักษณ์ หรือ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา เมื่อมาเรียนแพทย์ นักศึกษาแพทย์จะเห็นลักษณะเหล่านี้ได้ดียิ่งกว่าที่เป็นนักศึกษาหรือทำการงานอาชีพอย่างอื่นๆ คือได้เห็นสภาพของชีวิตที่เป็นจริงว่าเมื่อชีวิตเกิดขึ้นมาแล้วจะมีความเป็นไปอย่างไร ความเจ็บไข้ได้ป่วย ความทุกข์ทรมานเป็นอย่างไร เราควรจะตั้งทัศนคติต่อสภาพที่อำนวยนี้อย่างไร ธรรมดาคนที่มีพื้นฐานทางคุณธรรมอยู่แล้วได้รับได้เห็นสภาพต่างๆ เหล่านี้ คุณธรรมอาจเกิดขึ้นได้เอง เช่นว่าเมื่อเห็นคนป่วยได้รับความทุกข์ทรมานก็อาจจะเกิดความเมตตาสงสารขึ้น ถ้ามีคุณธรรมในด้านนี้เป็นพื้น หรือได้เห็นสภาพของธรรมดาชีวิต ความเป็นไปในชีวิตที่เป็นสามัญ เกิด แก่ เจ็บ ตาย อย่างนี้ก็อาจจะทำให้เข้าถึง รู้ถึงความจริงได้ดีขึ้น แต่สำหรับคนทั่วไป สภาพเหล่านี้ไม่แน่นักว่าจะทำให้เกิดคุณธรรมที่ต้องการอย่างนี้ขึ้นได้ เพราะว่าความจำเจหรือว่าสิ่งที่ชักจูงในด้านอื่นอาจจะทำให้เขวไปก็ได้ เราจึงจะต้องมีการคอยสะกิด คอยผูกใจ คอยระมัดระวัง คอยพูดถึงกันไว้บ้าง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยให้สภาพอำนวยที่จะให้มีคุณธรรมอยู่แล้วเหล่านั้นเกิดเป็นผล คือมีคุณธรรมขึ้นได้อย่างแท้จริง อาตมภาพเห็นว่าแม้แต่ภาษิตของสถาบันแพทย์แห่งนี้ท่านผู้ตั้งก็คงจะได้นึกถึงเหตุผลข้อนี้ด้วย จึงได้ตั้งภาษิตขึ้นว่า “อตฺตานํ อุปมํ กเร” ซึ่งแปลว่า พึงกระทำตนให้เป็นอุปมา คือคอยเตือนใจแพทย์อยู่เสมอในเมื่อได้เห็นคนได้รับความทุกข์ทรมานว่า ให้เอาตนเองเข้าไปเปรียบเทียบว่าคนทั้งหลายเหล่านี้ก็รักชีวิต มีความรักสุข เกลียดทุกข์เหมือนกับตัวเรา ต้องการที่จะสงวนชีวิตของตนให้ยั่งยืน เมื่อแพทย์เอาตนเองเข้าไปเปรียบเทียบอย่างนี้แล้ว ก็เห็นใจเขา ก็จะช่วยเหลือเขาได้เต็มที่ ความเมตตากรุณาก็อาจจะเกิดขึ้น ความเสียสละช่วยเหลือก็อาจจะได้เกิดขึ้นด้วย แต่การที่จะนำตนเข้าไปเปรียบเทียบโดยตรงอย่างนี้ อาตมภาพเห็นว่าบางทีเรายังมองเห็นไม่ชัด ก็เอาสิ่งที่ใกล้ตัวเข้าไปเปรียบเทียบ ถ้าเรามองเห็นคนป่วยคนไข้ในระดับวัยเพศต่างๆ กัน ก็ให้นึกไปถึงบุคคลที่เรารักใคร่ เช่นบิดา มารดา ญาติ พี่น้อง แม้แต่บุตรธิดาของเรา ท่านที่ได้เห็นคนไข้แล้ว เมื่อเห็นคนที่สูงอายุหน่อยก็นึกไปถึงคุณพ่อ คุณแม่ของตนเอง คุณปู่ คุณย่าของตนเอง เมื่อเห็นเด็กอายุน้อยก็นึกถึงดังว่าเป็นลูกของตนเอง หรือนึกถึงพี่น้องของตนเอง อย่างนี้เป็นการเปรียบเทียบที่เนื่องกับตนก็จะช่วยให้คุณธรรมในทางเมตตากรุณาเกิดขึ้นได้ อาตมภาพเห็นว่าสภาพที่อำนวยนั้นไม่ใช่ว่าให้เกิดคุณธรรมได้เสมอไป บางทีชินชาไป เราจะต้องมีการชักจูงแนะนำสะกิดกันไว้ เพราะฉะนั้นการที่เรามีการพูด การอภิปรายอะไรกันบ้างนี่อาตมภาพเห็นว่าเป็นสิ่งซึ่งจะช่วยได้ แต่ว่าถึงโดยสภาพในลักษณะงานอาชีพของแพทย์แล้ว มีลักษณะอำนวยอยู่โดยตรงที่จะเกิดคุณธรรม

อาตมภาพขอสรุปว่า เรื่องนี้มีได้สองอย่าง คือ คุณธรรมในฐานะหน้าที่อย่างหนึ่ง และคุณธรรมในฐานะสิ่งซึ่งพึงปลูกฝังโดยการชักจูงอบรมอย่างหนึ่ง ในฐานะหน้าที่นั้นถ้าเรายอมรับว่าแพทย์ที่ดีจะต้องมีคุณสมบัติทั้งในทางวิชาการ คือการที่จะรู้วิชาแพทย์และรักษาตามวิชาการนั้นได้ และจะต้องมีคุณสมบัติในทางจรรยาในการที่จะสร้างบุคลิกให้ได้รับความเคารพนับถือจากประชาชนและคนไข้ด้วย ถ้าเรายอมรับว่าหน้าที่ของแพทย์จะทำได้โดยสมบูรณ์ แพทย์เองจะต้องมีคุณสมบัติอย่างนี้แล้ว ก็จะต้องทำให้ท่านผู้เป็นนักศึกษาแพทย์มีความสำนึกอยู่ในตัวเสมอว่า ถ้าปรารถนาที่จะบำเพ็ญหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์แล้วเราจะต้องมีทั้งวิชาการและทั้งคุณธรรม เมื่อแพทย์มีความสำนึกอย่างนี้แล้วก็จะเกิดความรู้สึกรับผิดชอบในการที่จะปลูกฝังคุณธรรมเหล่านี้ขึ้นในตน คุณธรรมต่างๆ นั้นเกิดขึ้นจากการที่ได้ทำบ่อยๆ และการที่ทำบ่อยนั้นๆ เกิดจากการที่ปรารภขึ้นในจิตใจของตน เกิดศรัทธาความเชื่อว่าอย่างนี้ดีแน่ ทีนี้เมื่อเห็นว่าท่านจะเป็นแพทย์ที่ดีได้จะต้องมีคุณสมบัติทั้งในด้านวิชาการและในทางคุณธรรม เมื่อท่านเชื่ออย่างนี้และยอมรับความจริงแล้ว ท่านก็ต้องตั้งใจตั้งแต่บัดนี้ว่าเราจะต้องเรียนทั้งวิชาการ แล้วจะต้องปลูกฝังคุณธรรมให้มีขึ้นในตน อย่างนี้เรียกว่าการอธิษฐานใจ เป็นคุณธรรมอย่างหนึ่งในพระพุทธศาสนา

การอธิษฐานนั้นหมายถึงการตั้งใจเด็ดเดี่ยวว่าจะทำอย่างนั้นให้ได้จริงๆ ไม่ใช่ความหมายว่าอธิษฐานขอให้ผลอย่างนั้นอย่างนี้เกิดขึ้นโดยไม่กระทำ ซึ่งเป็นการเข้าใจผิดพลาดในเรื่องคุณธรรมทางพระพุทธศาสนาอย่างหนึ่ง เมื่อเราอธิษฐานใจอยู่ตลอดเวลาว่าเราจะต้องเป็นแพทย์ที่ดี เป็นผู้มีคุณสมบัติของแพทย์ที่ครบถ้วน จะต้องทำหน้าที่ของแพทย์ให้สมบูรณ์ไม่บกพร่อง ถ้าตั้งใจอย่างนี้แล้วการคิดที่ว่าจะปลูกฝังคุณธรรมขึ้นมันก็ต้องมีขึ้นเอง เมื่อเห็นคนไข้มาก็จะไม่เกิดความเบื่อหน่าย เกิดความเมตตากรุณาสงสารขึ้นมาได้ในตัว เพราะความรู้สึกที่ว่าเราจะทำหน้าที่ของเราให้สมบูรณ์ แต่ทีนี้ถ้าว่าในทางตรงกันข้ามสภาพที่อำนวยเหล่านี้แหละอาจจะทำให้เกิดความเบื่อหน่ายขึ้นได้ ถ้าแพทย์ไม่ได้คิดอธิษฐานใจในการทำหน้าที่ของตนโดยสมบูรณ์ เช่นเห็นคนไข้ได้รับความทุกข์ทรมานมาก็เป็นสภาพที่ไม่เจริญตาเจริญใจ เป็นสภาพที่เข้ามาขัดขวางความสุขส่วนตน อันนี้ก็อาจจะทำให้เกิดความเบื่อหน่าย ความเบื่อหน่ายนั้นก็แสดงออกมาในทางหน้าที่ไม่ยิ้มแย้มแจ่มใส ต่อจากนั้นก็แสดงออกในการปฏิบัติต่อคนไข้ในทางที่ไม่น่าพึงใจ ทำให้เกิดความรู้สึกไม่ดีด้วยกันทั้งสองฝ่าย แล้วงานที่ปฏิบัติก็ได้ผลไม่เต็มที่ ทีนี้ถ้าเราจะทำงานให้ได้ผลให้เต็มที่เราบอกตัวเองว่าอันนี้เป็นหน้าที่ของแพทย์ เราจะทำหน้าที่ของแพทย์ให้สมบูรณ์ พอเราคิดว่าจะทำหน้าที่ของเราให้สมบูรณ์เท่านั้นแหละ คุณธรรมเหล่านี้มันจะเกิดมีขึ้นได้โดยอัตโนมัติ ในทางพระพุทธศาสนาถือว่าหน้าที่ก็คือธรรม ธรรมก็คือหน้าที่ ถ้าเราทำหน้าที่ของเราโดยสมบูรณ์แล้วอันนั้นคือการปฏิบัติธรรมที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับบุคคลแต่ละคน ธรรมนั้นอาจจะมีเป็นจำนวนมาก แต่ธรรมที่เกี่ยวข้องกับบุคคลแต่ละคนใกล้ชิดที่สุดคือหน้าที่ของตนเอง ธรรมอย่างอื่นอาจจะเกี่ยวข้องน้อยเราอาจใช้เพียงบางโอกาสเท่านั้น แต่เรื่องหน้าที่แล้วเป็นเรื่องจำเพาะแต่ละบุคคล ทุกคนมีหน้าที่อยู่แล้ว โอกาสที่จะปฏิบัติธรรมได้ดีที่สุดก็คือการทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด เพราะฉะนั้นคุณธรรมที่แพทย์จะต้องปลูกฝังให้ได้มากที่สุดตั้งแต่เป็นนักศึกษาแพทย์ก็คือ การอธิษฐานใจว่าเราจะทำหน้าที่ของแพทย์ให้สมบูรณ์ให้ดีที่สุด เมื่อตั้งใจอย่างนี้แล้วตั้งแต่เป็นนักศึกษา คุณธรรมต่างๆ ก็จะเกิดขึ้นได้เอง เพราะว่าท่านจะปฏิบัติธรรมอยู่ตลอดเวลา อันนี้เป็นข้อหนึ่ง

ทีนี้ในแง่ของการปลูกฝังอบรม เมื่อพูดในแง่สภาพที่อำนวยเมื่อกี้ สำหรับบางคนสภาพที่อำนวยเหล่านี้อาจจะกลายเป็นความจำเจชินชา จนไม่อาจให้เกิดความรู้สึกในการที่จะปลูกฝังคุณธรรมขึ้นก็ได้ ทั้งนี้สุดแต่ความคิดเห็นในเบื้องต้น เมื่อความคิดเห็นในเบื้องต้นเป็นอย่างไรแล้ว ความดำริ การกระทำ วาจาอะไรต่างๆ ก็ตามไปในทางนั้นด้วย ถ้าไม่มีการชักจูงในทางที่ดี พอเห็นสภาพที่ไม่ดีก็อาจจะมีสิ่งชักจูงในทางที่เสียเกิดขึ้น เช่นเห็นภาพคนไข้ที่ได้รับทุกข์ทรมานก็เกิดความเบื่อขึ้น พอเกิดความเบื่อนี่ถือว่ามีความเห็นผิดขึ้นหน่อยแล้วก็ชักจูงไปในทางที่ไม่ดี เมื่อเห็นภาพของการเจ็บการตายอะไรต่างๆ ซึ่งเป็นภาพที่เป็นอนิฏฐารมณ์ทั้งนั้น อาจชวนให้เกิดความเบื่อหน่าย คนที่จะเข้าสู่คุณธรรมก็ต้องอาศัยเหตุผลสองประการ คือ หนึ่งเกิดจากตนเอง ตนเองที่มีพื้นฐานคุณธรรมดีอยู่แล้วไม่ต้องมีใครมาชักจูงก็อาจจะเกิดเมตตา เกิดความรู้เข้าใจสภาพความจริงได้ ทีนี้สำหรับคนบางคนไม่เกิดความรู้สึกอย่างนั้นต้องอาศัยการชักจูงจากภายนอกก็เป็นเรื่องสำคัญเหมือนกัน ในเมื่อมีผู้มาพูดมาชักจูงสะกิดใจไว้เป็นบางคราว ก็ทำให้ผู้เป็นนักศึกษาแพทย์นั้นได้นึกถึงเรื่องที่ดีที่งามและหน้าที่ของตนขึ้น ไม่ทันที่จะปล่อยใจไปในทางเบื่อหน่ายนั้นแต่ฝ่ายเดียว อาจจะกลับมาทำในทางที่ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ของตนให้เต็มที่ หันกลับมาผูกใจไว้กับคุณธรรมได้ เพราะฉะนั้นการที่จะทำให้คุณธรรมของแพทย์เกิดขึ้นได้สมความปรารถนานั้น ก็เกิดจากการปลูกฝังของนักศึกษาแพทย์แต่ละคนในการคิดตั้งใจทำหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์อย่างหนึ่ง และการที่มาคอยช่วยกันสะกิดคอยพูดคอยตักเตือน ซึ่งก็อาจจะอาศัยการที่มีกิจกรรมต่างๆ เช่นการอภิปราย สัมมนา การเชิญบุคคลภายนอกมาบรรยายให้ฟังเป็นครั้งคราว ซึ่งนอกจากจะได้รับฟังเรื่องการสะกิดใจผูกใจไว้กับคุณธรรมแล้ว ก็ยังจะได้รับฟังความคิดของบุคคลภายนอกที่มีต่อสถาบันแพทย์ด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่มีประโยชน์อย่างหนึ่ง

สภาพที่อำนวยอีกอย่างหนึ่ง ที่ทำให้เกิดคุณธรรม คือเรื่องสภาพธรรมดาของชีวิตอันได้แก่เรื่อง อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา สิ่งเหล่านี้ความจริงมันเป็นเรื่องพื้นๆ แต่ว่าถ้าไม่มีการสะกิดกัน บางทีก็มองไม่เห็น ถ้าได้มีการพูดถึง คอยคิด คอยดำริกันอยู่บ้าง ก็ทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจในชีวิตที่เป็นจริง ทำลายความยึดมั่น ถือมั่น หรือทำให้น้อยลงได้บ้าง เมื่อทำลายความยึดมั่นถือมั่น ทำลายความผูกพัน ก็มองเห็นอนัตตา เห็นอนัตตาก็หมายถึงการที่มีความยึดมั่นในตัวตนน้อยลง มีความยึดมั่นในความคิดเห็นของตนน้อยลง มีทิฏฐิน้อยลง ตลอดจนกระทั่งมีความเห็นแก่ตัว เห็นแก่ความสุขส่วนตัวน้อยลงด้วย เพราะเห็นสภาพธรรมดาของชีวิตที่มันเป็นไป คือเข้าใจว่าสิ่งทั้งหลายมันเป็นอย่างนี้ เห็นสภาพอนัตตาแล้วว่าสิ่งทั้งหลายมันก็มีสภาพไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีตัวตนอะไร เมื่อทำลายความยึดมั่นในตัวตนแล้วก็จะทำงานด้วยเห็นอนัตตา ทำงานด้วยเห็นอนัตตาหมายความว่า ไม่ยึดมั่นกับตัวเองความคิดเห็นของตนเองเกินไปแต่ยึดถือเอาความถูกต้อง เอาธรรมเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่เอาตนเป็นที่ตั้ง อันนี้ก็เป็นเรื่องของคุณธรรมที่พึงปลูกฝังขึ้นในผู้เป็นนักศึกษาแพทย์ ซึ่งอาตมภาพเห็นว่ามีวิธีการที่ต้องทำทั้งตนเองและอาศัยการสะกิดการแนะนำ ชักจูงผูกใจจากภายนอกด้วย ทั้งสองอย่างประกอบกัน ขอเจริญพรยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ก่อน

บทบาทของนักศึกษาในการส่งเสริมค่านิยมพุทธ15

นิสิตนักศึกษาที่เป็นผู้แทนของกลุ่ม ชุมนุม หรือชมรมพุทธศาสนาในสถาบันต่างๆ

หัวข้อเรื่องที่ตั้งไว้คราวนี้ เหมือนกับจะฟ้องว่าค่านิยมในทางพุทธศาสนาไม่ค่อยได้รับความนิยมในสมัยปัจจุบัน จึงได้มีการตั้งหัวข้อเรื่องว่าบทบาทนักศึกษาในการเสริมสร้างค่านิยมในทางพุทธศาสนา ถ้าเรามองดูสภาพในปัจจุบันนี้และทบทวนถึงความเป็นไปในระยะไม่ช้าไม่นานนักนี้ อาจจะมีส่วนให้เห็นจริงว่าค่านิยมในทางพุทธศาสนานี้จะอ่อนๆ คือไม่ค่อยจะมี หรือว่าเคยมีแต่คงจะเสื่อมลงไปหรืออย่างไร เคยมีความรู้สึกกันมาและก็ได้พูดกันติดปากอยู่เสมอว่า คนเข้าวัดนี้เป็นคนล้าสมัย ไม่ทันสมัย อะไรต่างๆ เป็นคำที่ได้ฟังกันอยู่แล้วทุกท่านทราบอยู่แล้ว สมกับที่ว่าค่านิยมในทางพุทธศาสนานี้ยังไม่สู้ดี ไม่ค่อยได้รับความนิยม จึงได้จัดงานครั้งนี้ขึ้นเพื่อหาทางที่จะมาช่วยกันส่งเสริมบทบาทของนักศึกษาที่จะมาเร่งค่านิยมอันนี้

เรื่องค่านิยมในทางพุทธศาสนานั้น มีข้อที่น่าพิจารณาอยู่หลายอย่างเช่นว่า สิ่งที่เรียกว่าค่านิยมในทางพุทธศาสนานั้นเป็นค่านิยมพุทธจริงหรือไม่ ชาวพุทธควรจะยอมรับหรือไม่ ถ้าหากว่าจริงก็ดีไป ถ้าไม่จริงแล้วค่านิยมอะไรจึงจะจริง จะต้องมาช่วยกันกำหนดให้ถูกต้อง ต่อจากนั้นก็ต้องมาช่วยกันหาทางว่าจะทำให้เกิดมีขึ้นได้อย่างไร ที่ประชุมนี้เป็นที่ประชุมของผู้แทนชาวพุทธกลุ่มต่างๆ ทำหน้าที่ในการส่งเสริมพุทธศาสนาทั้งนั้น เมื่อกล่าวถึงบทบาทของนักศึกษาในการเสริมสร้างค่านิยมพุทธ คำว่านักศึกษาก็คงจะหมายถึงนักศึกษาที่เป็นตัวแทนของชาวพุทธนี่เอง คงจะไม่ได้หมายถึงนักศึกษาโดยทั่วไป เพราะถ้าจะหมายถึงนักศึกษาโดยทั่วไปก็คงเป็นไปไม่ได้ โดยเฉพาะถ้าเรายอมรับว่าพุทธศาสนายังไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควรแล้ว ก็ยิ่งเป็นไปไม่ได้ใหญ่ และยิ่งถ้าหากว่ามีความสับสนในเรื่องที่ว่าค่านิยมที่ถือว่าเป็นของพุทธศาสนานั้น เป็นของพุทธศาสนาจริงหรือไม่ และค่านิยมอะไรจริง แม้แต่ชาวพุทธเองก็ยังสับสนแล้ว เราจะไปหวังให้คนวงนอกมาช่วยได้อย่างไร ก็ต้องเริ่มจากคนวงในก่อน

สิ่งสำคัญก่อนอื่นก็คือ ผู้ที่จะทำหน้าที่ในการเสริมสร้างค่านิยมนี่เอง บุคคลที่ทำหน้าที่เสริมสร้างค่านิยมพุทธศาสนาจะต้องเป็นคนที่มีค่านิยมในทางพุทธศาสนาเสียก่อน ก่อนที่จะไปเสริมสร้างค่านิยมพุทธศาสนาให้แก่ผู้อื่น ก่อนที่จะมีค่านิยมในพุทธศาสนาก็ต้องเข้าใจว่าอะไรเล่าคือค่านิยมในทางพุทธศาสนา ถ้าสิ่งเหล่านี้เรายังไม่ชัดเจนแล้ว ก็รู้สึกว่าจะเจริญก้าวหน้าไปยาก

บุคคลผู้จะทำหน้าที่เสริมสร้างค่านิยมในกรณีนี้ก็คือนักศึกษาตามหัวข้อที่ตั้งไว้ เราลองมาพิจารณาดูก่อนว่านักศึกษาชาวพุทธคือใคร นักศึกษาชาวพุทธนี่ถ้าจัดเข้าในระบบสังคมของพุทธศาสนาก็อยู่ในพวกอุบาสกอุบาสิกาบริษัท เพราะในพระพุทธศาสนานั้น ท่านจัดชุมชนหรือสังคมชาวพุทธโดยแบ่งออกเป็นบริษัท ๔ คือ ภิกษุบริษัท ภิกษุณีบริษัท อุบาสกบริษัท และอุบาสิกาบริษัท ในเมื่อนักศึกษาที่เป็นคฤหัสถ์ในที่นี้เป็นอุบาสกและอุบาสิกา ก็เป็นชุมชนพุทธศาสนาส่วนหนึ่ง เรียกว่าฝ่ายคฤหัสถ์ เราเรียกรวมพระภิกษุ ภิกษุณี ว่าเป็นฝ่ายบรรพชิต และเรียกอุบาสก อุบาสิกาว่าเป็นคฤหัสถ์ ชาวพุทธฝ่ายคฤหัสถ์นี้มีหน้าที่อย่างไร มีบทบาทในทางพุทธศาสนาแค่ไหน เพียงไร เป็นสิ่งที่เราควรจะมีความแจ่มแจ้งชัดเจนก่อนที่จะทำบทบาทอะไรต่างๆ

เรากลับมาทบทวนกันอีกครั้งหนึ่งว่า อุบาสกอุบาสิกาบริษัทที่เป็นส่วนหนึ่ง เป็นครึ่งหนึ่งทีเดียวของชุมชนในพุทธศาสนา จะทำหน้าที่อย่างไร แต่จะต้องพิจารณากันตั้งแต่พระภิกษุ ภิกษุณี เป็นต้นไปทีเดียว ถ้าหากว่าเรามองภาพภิกษุ และภิกษุณี และหน้าที่ของท่านถูกต้อง อุบาสก อุบาสิกา ซึ่งเป็นส่วนประกอบอีกด้านหนึ่งของพุทธศาสนา ก็จะมองเห็นหน้าที่ของตนชัดขึ้นด้วย เพราะหน้าที่เหล่านี้ต้องสอดคล้องกัน ถ้าเราไม่เข้าใจขอบเขตของหน้าที่ฐานะของบริษัท ๔ ถ้าฝ่ายคฤหัสถ์ไม่เข้าใจฐานะหน้าที่ของฝ่ายบรรพชิต ก็จะนำไปสู่ความสับสน ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเรามองพระภิกษุสามเณรในพระพุทธศาสนา เหมือนอย่างมองพระสงฆ์ในศาสนาอื่นๆ อย่างนี้ก็เริ่มต้นแล้วที่เราจะมีความเข้าใจผิดพลาด ดูเหมือนว่าในปัจจุบันเราก็ชักจะมีความเข้าใจเช่นนั้นกันแล้ว โดยมองภิกษุสามเณรในบางแง่บางด้าน เหมือนอย่างศาสนาทั่วไปอื่นๆ เช่น พระบาทหลวงในศาสนาคริสต์ ท่านทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างพระผู้เป็นเจ้ากับมนุษย์ และการที่ใครจะไปเป็นพระบาทหลวงในคริสตศาสนานิกายโรมันคาทอลิกนั้นจะต้องได้รับกระแสเรียกจากพระผู้เป็นเจ้า คือได้รับการคัดเลือกจากพระองค์ พระบาทหลวงในคริสตศาสนาคือผู้ได้รับการคัดเลือกแล้วจากพระผู้เป็นเจ้า มีฐานะเป็นสื่อกลางระหว่างมนุษย์กับพระผู้เป็นเจ้า เป็นสื่อที่จะนำเอาโองการและพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้ามาถึงมนุษย์ และเมื่อได้รับแต่งตั้งเป็นบาทหลวงแล้วก็จะเป็นตลอดไป อันนี้เป็นความเข้าใจเกี่ยวกับบาทหลวงในศาสนาคริสต์

ทีนี้มาดูกันว่า พระสงฆ์ในพุทธศาสนาเป็นอย่างไร ในพระพุทธศาสนานั้นพระภิกษุสงฆ์เป็นผู้ปฏิบัติธรรม เป็นผู้ที่สมัครใจเอง เป็นผู้ที่คัดเลือกตัดสินใจเองว่า ตนต้องการจะปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา เมื่อตนเองเลื่อมใสศรัทธาแล้วก็มาขอสมัครเข้าพวก โดยพิจารณาเห็นว่าการดำเนินชีวิตฆราวาสนั้นไม่ปลอดโปร่ง ดังคำศัพท์ที่ท่านใช้ว่า สัมพาโธ ฆราวาโส บอกว่า เพศฆราวาสนี้คับแคบเป็นทางมาแห่งธุลี มีเรื่องวุ่นวายมาก อัพโภกาโส ปัพพัชชา ส่วนการบวชทรงเพศบรรพชิตนั้นปลอดโปร่ง โล่งแจ้ง ไม่มีห่วง ไม่มีกังวล เมื่อตัดสินใจเลือกเองแล้วก็สละฆราวาสมาอุทิศกายถวายชีวิตต่อการที่จะบำเพ็ญข้อปฏิบัติอย่างจริงจัง ส่วนคฤหัสถ์แม้จะไม่ได้บวช ก็สามารถประพฤติปฏิบัติธรรมได้ เพียงแต่ยังไม่ได้ตัดห่วงใยกังวลในเพศฆราวาสเท่านั้นเอง และเมื่อมาบวชแล้ว จะลาสิกขาจะบวชใหม่ก็ได้ หรือว่าฆราวาสที่ยังสมัครใจครองเรือนนั้น เกิดสมัครใจต้องการจะบวชก็บวชได้ ถ้ายังไม่บวชก็มีฐานะเป็นผู้ปฏิบัติธรรมเช่นเดียวกัน นี้ฐานะไม่เหมือนกับนักบวชอย่างน้อยก็ในคริสตศาสนานิกายโรมันคาทอลิก พระสงฆ์กับคฤหัสถ์ในพระพุทธศาสนาต่างก็เป็นผู้ปฏิบัติธรรมเพื่อไปสู่จุดมุ่งหมายของพระพุทธศาสนาด้วยกัน

มีคำศัพท์เรียกศาสนิกในพุทธศาสนาว่าเป็น สหธรรมิก อันนี้ศัพท์เดิมแปลว่า ผู้ประพฤติธรรมร่วมกัน ศาสนิกนั้นมี ๗ ประเภท ได้แก่ใครบ้าง ๑. ภิกษุ ๒. ภิกษุณี ๓. สิกขมานา (คือสามเณรีที่เตรียมจะบวชเป็นภิกษุณี) ๔. สามเณร ๕. สามเณรี ๖. อุบาสก ๗. อุบาสิกา ทั้งหมดนี้เป็นสหธรรมิก ๗ ประเภท เป็นผู้ประพฤติธรรมร่วมกัน ในวินัยสมัยต่อมาเรามาจำกัดเรียกสหธรรมิกเอาเฉพาะฝ่ายภิกษุสามเณรเป็นสหธรรมิก ๕ แต่ในคำเดิม สหธรรมิกหมายถึงผู้ประพฤติธรรมร่วมกันทั้งฝ่ายพระสงฆ์และฝ่ายคฤหัสถ์ เมื่อว่าในแง่ของหลักธรรมแล้วพระสงฆ์กับคฤหัสถ์นี่มีสิทธิเราเรียกได้ว่าเท่าเทียมกัน แต่ในเมื่อพระสงฆ์เป็นผู้มีเจตนาที่จะประพฤติปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง ถึงกับสละโลก สละความห่วงใยในเพศฆราวาสออกมา จึงน่าจะปฏิบัติธรรมได้เต็มที่ พวกเราในฐานะที่เป็นคฤหัสถ์ก็เลยร่วมมือกับท่าน ก็เลยเกิดการแบ่งงาน แบ่งหน้าที่กัน และหลักในวินัยก็สอดคล้องกันว่า คฤหัสถ์มีหน้าที่ช่วยเหลือ จุนเจือ อุปถัมภ์ด้วยปัจจัยสี่ช่วยความเป็นอยู่ทางด้านวัตถุ เรียกว่าอามิสทาน เพื่อจุนเจือชีวิตให้พระสงฆ์ได้หมดห่วงกังวลในด้านปัจจัย ๔ หรือเรื่องความเป็นอยู่ด้านวัตถุนั้น จะได้ตั้งใจปฏิบัติธรรมให้เต็มที่ต่อไป ทีนี้ส่วนพระสงฆ์ เมื่อตั้งใจปฏิบัติแล้วก็มีโอกาสที่จะได้บรรลุธรรม และมีความรู้ความเข้าใจในธรรมะลึกซึ้งกว่า และเมื่อพระสงฆ์ได้รับผลแล้วก็ควรที่จะได้มาสั่งสอนให้แก่ฆราวาสเผื่อแผ่ธรรมให้แก่ฆราวาส เราจึงมีหลักว่า พระสงฆ์มีหน้าที่เผื่อแผ่ธรรมทานให้แก่คฤหัสถ์ และยังมีข้อความในพระไตรปิฏก ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ว่า ทั้งฝ่ายพระสงฆ์และฝ่ายคฤหัสถ์นี้อาศัยซึ่งกันและกัน คฤหัสถ์เป็นฝ่ายอำนวยอามิสทาน พระสงฆ์เป็นฝ่ายอำนวยธรรมทาน เมื่อทั้งสองฝ่ายนี้อาศัยซึ่งกันและกัน แล้วก็พากันก้าวหน้าไปสู่จุดหมายของพระพุทธศาสนาได้ อันนี้ก็เป็นแนวปฏิบัติในทางพุทธศาสนา เป็นอันว่าอุบาสก อุบาสิกาบริษัทก็เป็นผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมในทางพุทธศาสนา มีฐานะคล้ายๆ พระสงฆ์นั่นเอง แต่ว่ายังมีความยินดี มีความห่วงใยในเพศฆราวาส ยังไม่พร้อมที่จะสละอุทิศตน ก็อยู่ครองเพศคฤหัสถ์ต่อไป แต่ฐานะที่เป็นศาสนิกหรือสหธรรมิกก็มีหน้าที่ประพฤติปฏิบัติธรรมร่วมกัน

ทีนี้ อุบาสก อุบาสิกาบริษัทนั้นก็มีความสำคัญในพระพุทธศาสนา สมัยพุทธกาลเราจะมองเห็นว่า ในอุบาสก อุบาสิกาบริษัทจะมีบุคคลที่มีความสามารถได้รับยกย่องจากพระพุทธเจ้าเป็นเอตทัคคะเช่นเดียวกับในภิกษุ และภิกษุณีบริษัท ตัวอย่างที่เราเคยได้ยินในฝ่ายภิกษุเช่นพระสารีบุตร อัครสาวกฝ่ายขวาเป็นเอตทัคคะ เป็นผู้ที่มีความสามารถมากที่สุดในทางปัญญา พระโมคคัลลานะเป็นอัครสาวกฝ่ายซ้าย ท่านได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางมีฤทธิ์ และยังมีพระสาวกองค์อื่นได้รับยกย่องในทางทิพยจักษุบ้าง ในทางธรรมกถึกบ้าง และทางอื่นๆ มากมายหลายด้าน ทีนี้ในทางภิกษุณีก็เช่นกัน มีนางเขมาภิกษุณีเป็นเอตทัคคะในทางปัญญาเป็นอัครสาวิกาฝ่ายขวา มีนางอุบลวรรณาเถรีเป็นอัครสาวิกาฝ่ายซ้าย เป็นเอตทัคคะมีความสามารถในทางฤทธิ์ อย่างนี้เป็นต้น ในฝ่ายอุบาสกอุบาสิกาบริษัท ก็มีเอตทัคคะ ขอยกตัวอย่าง ผู้ที่ได้รับยกย่องในฝ่ายอุบาสกและอุบาสิกา เช่น จิตตคฤหบดี ท่านผู้นี้เป็นเอตทัคคะในทางธรรมกถึก ธรรมกถึกหมายความว่ามีความสามารถในการแสดงธรรม พูดอย่างนี้อาจจะแปลกใจ เอ๊ะ เกี่ยวกับฆราวาสด้วยหรือนี่ นายหัตถกะได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะทางสงเคราะห์บริษัทด้วยสังคหวัตถุ ๔ คือเป็นนักสังคมสงเคราะห์ ทีนี้ในฝ่ายอุบาสิกาบริษัท ขุชชุตตราอุบาสิกาก็เป็นเอตทัคคะในทางพหูสูต พหูสูตคือเป็นผู้คงแก่เรียน มีความรู้มาก เรียนรู้พระพุทธศาสนาเชี่ยวชาญ ต่อไปนางสามาวดี เป็นเอตทัคคะทางเมตตา นางอุตตรานันทมารดาเป็นเอตทัคคะในทางนักฌาน บำเพ็ญฌาน เป็นนักบำเพ็ญฌานผู้สามารถจนได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะ นางสุปปิยาหรือสุปิยาอุบาสิกาได้รับยกย่องในทางคิลานุปัฏฐาก แปลว่าผู้พยาบาลไข้ นี่ก็เป็นตัวอย่าง ยังมีอีกหลายคนที่อาตมาไม่ได้ยกตัวอย่างให้ดู นี้คือภาพของพุทธศาสนาในสมัยพุทธกาล ถ้าเรามองตามภาพนี้ก็อาจจะว่า เอ๊ะ อุบาสกอุบาสิกาบริษัทนี้ก็มีความสำคัญพอสมควร

อนึ่ง พระพุทธเจ้าได้ตรัสสรรเสริญบุคคลบางท่านที่ควรเอาเป็นตัวอย่าง ถ้าใครอยากเป็นอุบาสกที่ดีก็ให้เอาตัวอย่างจิตตคฤหบดี กับท่านหัตถกะ ท่านทั้งสองนี้เป็นมาตรฐานในอุบาสกทั้งหลาย ถ้าหากจะออกบวช ก็ให้มองดูพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ เป็นมาตรฐาน ส่วนในหมู่อุบาสิกา ก็ให้มองดูนางขุชชุตตรา กับนางนันทมารดาสองคนนี้เป็นตุลาคือเป็นมาตรฐาน หรือเป็นแบบอย่าง และถ้าจะออกบวชก็ให้เอาอย่างนางอุบลวรรณา และนางเขมา ซึ่งเป็นภิกษุณีที่มีความสามารถได้รับยกย่องอย่างสูง นี้เป็นสิ่งที่อาตมายกมากล่าวเพื่อจะได้มองเห็นฐานะของอุบาสก อุบาสิกาบริษัท

อีกครั้งหนึ่งตอนพระพุทธเจ้าก่อนปรินิพพาน ได้ทรงพิจารณาฐานะของพุทธบริษัทกับความมั่นคงของพระพุทธศาสนา ตามเรื่องบอกว่ามารมาทวงว่าภาระของพระองค์สำเร็จหมดแล้ว เงื่อนไขที่ทำให้พระองค์รออยู่ก็เสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว ถึงเวลาที่พระองค์จะปรินิพพานได้แล้ว เงื่อนไขที่ตรัสไว้ในการที่จะทรงรอไม่ปรินิพพานมีอะไรบ้าง ก็เรื่องของบริษัท ๔ นี่แหละ เริ่มตั้งแต่ภิกษุไปจนถึงอุบาสิกา พระองค์ตรัสว่าตราบใดที่ในพุทธบริษัทยังไม่มีพระภิกษุเถระ (พระผู้ใหญ่) พระมัชฌิมะ (พระปานกลาง) พระนวกะ (พระบวชใหม่) ที่มีความรู้หลักแหลมในธรรมวินัย มีความกล้าหาญในธรรมะสามารถที่จะแก้ไขถ้อยคำกล่าวหาพระพุทธศาสนาได้ ตราบนั้นพระองค์จะไม่ปรินิพพาน ต่อมาก็กล่าวถึงภิกษุณีบริษัท ในภิกษุณีบริษัทก็เช่นเดียวกัน ถ้ายังไม่มีพระเถรี พระภิกษุณีปานกลางหรือบวชใหม่ก็ตาม ที่มีความสามารถเพียงพอ พระองค์ก็ยังไม่ปรินิพพาน ในฝ่ายอุบาสก อุบาสิกาก็เหมือนกัน ถ้าอุบาสก อุบาสิกายังไม่เป็นผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ความกล้าหาญในธรรมะเพียงพอ ยังไม่มีความสามารถที่จะแสดงธรรมในพุทธศาสนาได้ชัดเจน จนกระทั่งว่า เมื่อมีใครกล่าวหาหรือโจมตีแล้ว จะสามารถกล่าวแก้หักล้างได้ ถ้ายังไม่มีผู้สามารถเช่นนั้น ในหมู่อุบาสก อุบาสิกา พระองค์ก็ยังไม่ปรินิพพาน และตอนที่มารมานิมนต์ปรินิพพานก็บอกว่า บัดนี้ก็มีภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ที่มีความสามารถอย่างนี้ครบถ้วนทุกประการแล้ว เพราะฉะนั้น พระองค์ก็ควรปรินิพพานได้ ถ้าเราตีความก็คือว่า ขันธมาร ได้แก่พระวรกายของพระพุทธเจ้าได้มาเตือนพระองค์แล้ว บอกว่าพระองค์ได้เหน็ดเหนื่อยพระวรกายมากแล้ว ทรงพระชรา พระวรกายอ่อนแอลง ขันธ์ ๕ ได้มาเตือนพระองค์ว่าควรปรินิพพานแล้ว พระองค์เคยกำหนดไว้ว่า จะยังไม่ปรินิพพานจนกว่าพระองค์จะสามารถตั้งพระพุทธศาสนาได้มั่นคงแล้ว ตอนนั้นพระองค์พระชนมายุได้ถึง ๘๐ พรรษาแล้ว เพราะฉะนั้น เมื่อขันธมารมาเตือนอีก พระองค์ก็เลยทรงปลงอายุสังขารตั้งพระทัยที่จะปรินิพพาน นี้ก็เป็นข้อหนึ่งที่แสดงฐานะของพุทธบริษัท ซึ่งจะช่วยให้เรามองเห็นรูปร่างคร่าวๆ ว่า อุบาสก อุบาสิกาบริษัท ควรจะมีบทบาทต่อพระพุทธศาสนาอย่างไร

ทีนี้ หันมามองในปัจจุบัน นี่เป็นความรู้สึกในด้านตนเองมองว่าอุบาสกอุบาสิกาของไทยเราปัจจุบันนี้ออกจะพร่ามัวหน่อย คือไม่ค่อยมีรูปร่างให้เห็นชัด เราจะไปเอาอย่างประเพณีของสังคมที่ดำเนินมานั้นเห็นจะไม่ได้ สังคมไทยเราที่ผ่านมาเป็นสังคมแบบที่ว่าในชุมชนย่อย ในหมู่บ้าน มีวัด แล้วรอบๆ วัดนั้นก็มีชาวบ้านอยู่เป็นอุบาสก อุบาสิกาเกาะกลุ่มกันเหนียวแน่น ในวัดก็มีภิกษุบริษัท นอกวัดชาวบ้านก็เป็นอุบาสกอุบาสิกาบริษัท ในสภาพเช่นนั้นเราก็ไม่ต้องจัดตั้งขึ้นมาต่างหากให้เห็นชัดว่า เป็นอุบาสก อุบาสิกาบริษัท เพราะเขามีอยู่แล้ว แต่มาสมัยปัจจุบันนี้ สังคมได้เปลี่ยนแปลงไป จะเห็นว่าเราได้อยู่กันกระจัดกระจาย ในแต่ละชุมชนย่อยๆ นั้น คนก็มีความสัมพันธ์กัน แต่มีความแน่นแฟ้นไม่เหมือนเดิมกระจัดกระจายกัน คนในถิ่นนี้ไปรู้จักกับถิ่นโน้น ไปมีความสัมพันธ์ในหน้าที่การงานกับคนที่โน่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชุมชนเมือง อย่างในกรุงเทพฯ จะเห็นได้ชัดว่าสภาพความเป็นอยู่ไม่เหมือนเดิมแล้ว ฉะนั้นถ้าหากว่าใครจะทำกิจกรรมอะไรขึ้น ก็จะต้องมีการรวมกลุ่มกัน ถ้าหากว่าสังคมเป็นเช่นนี้แล้ว ในหมู่ชาวพุทธก็จะต้องเป็นเช่นนั้นเหมือนกัน ชาวพุทธจะต้องตั้งกันเป็นหลักเป็นฐานมั่นคง อันนี้มิใช่หมายความว่าปัจจุบันเราจะไม่มีอุบาสกอุบาสิกาบริษัทเสียเลย แม้กระทั่งที่มาประชุมในที่นี้ ก็ได้สร้างกันขึ้นเป็นกลุ่มก้อน แต่ละกลุ่มก้อนก็ทำหน้าที่เป็นอุบาสกอุบาสิกาบริษัทนั่นเอง แต่ถึงอย่างไรก็ยังดูว่าไม่ค่อยจะเหนียวแน่น ยังไม่เห็นเป็นชิ้นเป็นอันเท่าที่ควร ยังไม่มีอุบาสกอุบาสิกาบริษัทชนิดที่จะทำหน้าที่ได้เหมือนครั้งพุทธกาล เอตทัคคะหรืออะไรที่คล้ายๆ อย่างนั้นก็ไม่มี มารู้สึกอย่างหนึ่งว่าชาวพุทธคฤหัสถ์พากันฝากพระพุทธศาสนาไว้กับพระภิกษุสงฆ์ อันนี้ถ้าจะว่าไปในแง่หนึ่งก็ถูก เพราะว่าพระสงฆ์นั้นเป็นแกนกลางของพุทธบริษัท เพราะว่าเป็นผู้ที่ตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติทำหน้าที่ในทางพุทธศาสนาเต็มที่ แต่ถ้าพิจารณาดูตามหลักการของพระพุทธศาสนาแล้ว อุบาสก อุบาสิกาบริษัทนี้จะต้องมีบทบาทในพุทธศาสนาพอสมควร

ถ้ามองดูในด้านนิสิตนักศึกษาอันนี้ก็ต้องเห็นใจ เพราะว่านิสิตนักศึกษานั้นเป็นผู้ที่เข้ามาในสถาบันแล้ว ก็ทำหน้าที่อยู่ในชุมนุมหรือชมรมพุทธศาสนาหรือกลุ่มอะไรนี่ เป็นช่วงสั้นเพียงปีสองปีสามปี ซึ่งยังไม่ทันที่จะทำอะไรเป็นหลักฐานมั่นคง อย่างไรก็ตามถ้าหากว่ามีการสืบต่อที่ดี ก็น่าจะมีการกระทำอะไรที่เห็นเด่นเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา ถ้าหากว่าเราจะสร้างชุมชนชาวพุทธที่มีความหมายขึ้นมาแล้ว คนที่เป็นตัวแทนของอุบาสกอุบาสิกาชาวพุทธก็จะต้องเป็นคนที่ควรแก่การเคารพนับถือ เป็นผู้ที่ผู้อื่นมองเห็นความหมายเป็นที่ยอมรับในสังคม ถ้าหากว่าเป็นนิสิตนักศึกษาก็จะต้องเป็นคนที่นิสิตนักศึกษาอื่นๆ มองเห็นคุณค่าและความหมาย ในปัจจุบันอาตมาว่าเราจะต้องมองทั้งในด้านความประพฤติปฏิบัติและความรู้ ในด้านความรู้ก็เริ่มตั้งแต่ว่า ผู้เป็นตัวแทนชาวพุทธที่เป็นอุบาสกอุบาสิกาบริษัทนี้ จะต้องมีความรู้เรื่องพุทธศาสนาพอสมควร ความรู้ในด้านพุทธศาสนานี้ก็มองทั้งในแง่ของหลักธรรมคำสอน และในแง่ของสถาบันสังคม รวมไปถึงวัฒนธรรมและอื่นๆ ด้วย แต่ในปัจจุบันนี้ถ้าเราไปถามบางท่านในชุมนุมพุทธเกี่ยวกับเรื่องวัดวาอารามนี่ บางทีไม่ได้สนใจกันเลยก็มี เช่นว่า พระสงฆ์ในประเทศไทยมีเท่าไหร่ มีวัดกี่วัด อันนี้ก็ไม่ใช่คำถามที่จำเป็น แต่หมายความว่าคนที่จะมาเป็นตัวแทนของชาวพุทธนี่น่าจะเป็นผู้ที่มองเห็นสภาวการณ์พุทธศาสนาอย่างกว้างๆ แม้คำถามเหล่านี้จะให้คำตอบตายตัวไปเลยเป็นตัวเลขที่แน่นอนคงไม่ได้ และก็ไม่ใช่เรื่องจำเป็นที่จะต้องมาตอบมารู้กันทั้งหมด แต่อย่างน้อยถ้าพูดขึ้นก็ควรจะเข้าใจพอมองเห็นภาพ ว่าพุทธศาสนาในเมืองไทยเป็นอย่างไร มีพระภิกษุเท่านั้น สามเณรเท่านี้ เป็นใครมาจากไหน อยู่ในสภาพอย่างไร มีวัดวาอารามเท่านี้ ทำหน้าที่อะไร อันนี้อาตมามองเห็นว่าเป็นความจำเป็นอย่างหนึ่ง ผู้ฟังจะมองเห็นเป็นอย่างไรก็ลองมาพิจารณากันดู ตอนท้ายอาจจะใช้เวลาในการถกเถียงกันนิดหน่อยก็ได้ อาตมาเห็นว่าสิ่งนี้จำเป็นอยู่ ถ้าเราจะทำหน้าที่เป็นตัวแทนของชาวพุทธแล้วจะต้องมีความรู้ความเข้าใจพอสมควร ถึงขั้นสามารถกล่าวแก้ปรัปวาทได้ คือจะต้องมีความเข้าใจสถาบันพุทธศาสนาด้วย ไม่ใช่เฉพาะเพียงแต่ศึกษาธรรมอย่างเดียว แต่เป็นที่แน่นอนว่าธรรมะนั้นจะต้องศึกษา

ในส่วนของการศึกษาธรรมนี้ อาตมามีข้อคิดเห็นอย่างหนึ่งว่า จะต้องไม่ศึกษาเพียงเพื่อตัวเองอย่างเดียว จะต้องสามารถเอาไปใช้เผื่อแผ่หรือทำประโยชน์แก่ผู้อื่นด้วย ในชุมนุมพุทธกลุ่มพุทธนี่บางท่านอาจจะรู้สึกเหมือนกับว่า เป็นผู้ที่มาหาทางออกให้แก่ตัวเอง หรือหาความสงบสุขส่วนตัว ถ้ามีแค่นั้นอาตมาว่าไม่พอ ถ้าจะเป็นเพียงสมาชิก อาจจะพอได้ แต่ถ้าเป็นกรรมการ ซึ่งเป็นตัวแทนของนิสิตนักศึกษาชาวพุทธเป็นผู้ทำงาน แค่นั้นไม่พอ ขอให้นึกถึงพุทธพจน์ที่ตรัสเกี่ยวกับลักษณะที่เป็นธรรมดาของพระโสดาบัน แม้ว่าจะเป็นกรณีที่ตรัสเกี่ยวกับพระโสดาบันที่เป็นสงฆ์ แต่จะใช้สำหรับอุบาสกอุบาสิกาก็ได้ มีข้อหนึ่งบอกว่า พระโสดาบันนั้น ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจในพระพุทธศาสนาถูกต้องแล้ว ทั้งที่เป็นผู้เอาใจใส่ในกิจการของเพื่อนร่วมหมู่คณะ แต่ในขณะเดียวกันก็มีความฝักใฝ่ในไตรสิกขา เปรียบเสมือนแม่โคขณะที่เล็มหญ้ากินไป ก็เหลียวแลดูลูกน้อยไปด้วย ถ้ามองอย่างนี้ก็หมายความว่าในขณะที่ฝึกตนเอง คือทำประโยชน์ตนหมายถึงว่าประพฤติตนให้ก้าวหน้าไปนั้น ในเวลาเดียวกันก็ต้องเหลียวแลลูก ต้องเหลียวแลผู้อื่น คือเอาใจใส่ในเพื่อนภิกษุสามเณรด้วยกันด้วย ถ้าหากเป็นคฤหัสถ์ก็คือเอาใจใส่ในเพื่อนร่วมเกิดแก่เจ็บตายด้วยกันหมดทั้งสิ้น ทำหน้าที่เหมือนกับแม่ที่ดูแลลูกอ่อนด้วย อันนี้อาจเป็นคติสำหรับเสริมสร้างบทบาทนักศึกษาที่จะส่งเสริมค่านิยมทางพุทธศาสนาได้

นิสิตนักศึกษาที่จะทำหน้าที่เป็นชาวพุทธที่ดี ควรจะเป็นผู้ที่เขาเห็นว่ามีความหมายน่าเชื่อถือ เพราะถ้าหากว่าตัวบุคคลที่เป็นตัวแทนชาวพุทธนั้นน่าเชื่อถือ ค่านิยมพุทธนั้นก็น่าเชื่อถือไปด้วย เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องที่น่าคิดว่าจะทำให้เขานับถือได้อย่างไร จะต้องสร้างความน่าเชื่อถือให้มีขึ้นในตน จึงจะสามารถนำพระพุทธศาสนาและค่านิยมพุทธไปเผยแผ่ หากเรามีความสามารถขึ้นในตนแล้ว และมีค่านิยมชาวพุทธด้วย คนที่มีค่านิยมชาวพุทธนั้นมีความน่านับถือ มีการดำรงชีวิต ที่เป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น อันนี้ก็เป็นการเผยแผ่ค่านิยมพุทธไปในตัวนั่นเอง เรียกว่าแทบจะไม่ต้องพูดเลยก็ได้ เขาเห็นค่านิยมพุทธดีแล้วเขาก็พยายามเลียนแบบ ที่ว่ามานี้อาจจะเป็นเรื่องอุดมคติมากไปหน่อย แต่ตามหลักความเป็นจริงก็ควรเป็นเช่นนั้น เราจึงน่าจะพยายาม เรื่องตัวบุคคลนี้เราพูดกันมาแล้วพอสมควร

ทีนี้มาพูดกันเรื่องค่านิยมในพุทธศาสนาบ้าง ค่านิยมในพุทธศาสนานั้นคืออะไรและมีอะไรบ้าง พูดถึงเรื่องนี้แล้วรู้สึกว่ายากเหมือนกัน ค่านิยมพุทธในสมัยปัจจุบันนี้ ก็อย่างที่อาตมาได้กล่าวไว้ในตอนต้นว่า เรารู้สึกจะมีความสับสนกันพอสมควรว่าค่านิยมพุทธคืออะไร ถึงกับมีคนหลายกลุ่มหลายพวกมาโจมตีอย่างที่หลายท่านก็คงเคยได้ยิน ที่ฝรั่งมาดูพุทธศาสนามาดูคนไทยแล้วก็บอกว่า คนไทยได้รับอิทธิพลจากพุทธศาสนา คนไทยมีพฤติกรรมอย่างนี้เกิดจากคติหรือหลักธรรมในพุทธศาสนาว่าอย่างนี้ และการมีพฤติกรรมหรือมีความประพฤติอย่างนี้ๆ ไม่เอื้อที่จะก่อความเจริญแก่สังคมอะไรต่างๆ เช่น เรื่องทาน ทำให้ทำลายเศรษฐกิจบ้าง สันโดษทำให้ไม่พัฒนาเป็นต้น ยังไม่จำเป็นต้องมาสาธยายกันในวันนี้ แต่จะอย่างไรก็ตามก็มีข้อที่เราควรหาทางแก้ไข ถ้าหากค่านิยมพุทธเป็นค่านิยมที่ไม่น่านิยมอย่างที่เขาว่านี้แล้ว เราจะไปส่งเสริมค่านิยมพุทธให้ได้ผลอย่างไร พฤติกรรมในหมู่ชาวพุทธปัจจุบันนี้ เราควรจะคิดตกลงให้แน่นอนว่าจะเอากันอย่างไร ถ้าไม่เกิดความแน่นอนชัดเจนแม้ในหมู่ชาวพุทธเอง ในหมู่พวกเราที่อยู่ในชุมนุมพุทธเอง ก็จะเกิดความหักเหแตกต่างอย่างที่เห็นเป็นสำนักต่างๆ หลายสำนัก แล้วก็เกิดมีการโจมตีกันขึ้น คือผู้ที่ไปศึกษาในสำนักอย่างนั้น ก็เกิดความยึดถือในสำนักของตนแล้วก็มาโจมตีกัน แล้วก็เกิดความแตกแยกกัน เราควรพิจารณาว่าเราควรจะปฏิบัติอย่างไร ในด้านพฤติกรรมทั่วๆ ไป

อย่างเรื่องพระสงฆ์เราก็มีปัญหาว่า เดี๋ยวนี้พระสงฆ์ไปยุ่งกับของขลังเครื่องรางสิ่งศักดิ์สิทธิ์หมอดูอะไรต่ออะไร เรามาดูปัญหาเรื่องนี้กันแล้วก็เกิดความขัดแย้งกันเอง ในสังคมส่วนใหญ่ยังมีผู้ที่นิยมอย่างนั้น คนข้างนอกเอาไปว่าเป็นค่านิยมในพุทธศาสนา ส่วนในหมู่อีกพวกหนึ่งก็บอกว่านั่นไม่ใช่พุทธศาสนาจะต้องแก้ไขเสีย เป็นต้น ในสังคมที่สับสนอย่างนี้ก็ได้แต่ว่ากันไป โจมตีกันไป สภาพที่เป็นจริงก็คงอยู่อย่างเดิมหรือกลับทรุดลงอีกไม่ดีขึ้น จะหาข้อยุติได้อย่างไร เรื่องนี้อาตมาจะลองใช้วิธีสักอย่างมาพิจารณา คือวิธีที่พระพุทธเจ้าได้แสดงไว้เรียกว่า วิภัชชวาท แปลว่าการกล่าวจำแนกหรือแยกแยะ ในการที่จะตัดสินอะไรต่างๆ นี่ พระพุทธเจ้าจะทรงใช้วิธีแยกแยะ วิเคราะห์ออกไปว่าอะไรดี อะไรเสีย อะไรเสียด้านไหน ดีด้านไหนอย่างไร ดีมากกว่าเสีย หรือเสียมากกว่าดีอย่างไร เช่นในปัจจุบันนี้อย่างหมอดูนี่ เราจะเอาอย่างไรกับท่านดี สมมติว่าเราบอกว่าไม่เห็นด้วยกับพระหมอดู แล้วเราจะแก้ไขได้อย่างไร ยิ่งพูดยิ่งว่า กิจการพระหมอดูก็เหมือนยิ่งเจริญ ยิ่งว่ารุนแรง ชาวพุทธก็ยิ่งแตกแยก ทีนี้จะลองใช้วิธีที่ว่ามาพูดถึงเรื่องพระหมอดูว่า พระหมอดูมีหลายชนิดหลายประเภท

ประเภทที่หนึ่ง คือผู้ที่มีความโลภในลาภสักการะ แล้วก็เพียรพยายามที่จะใช้วิชาทำนายทายทักเพื่อแสวงหาลาภสักการะส่วนตัว พูดง่ายๆ ว่าใช้วิชาหมอดูเป็นเครื่องมือหาเลี้ยงชีพ

พระหมอดูประเภทที่สอง คือ ท่านที่เห็นว่าตัวเองไม่มีความสามารถที่จะสอนธรรมเพียงพอ เมื่อจะต้องสงเคราะห์ชุมชนชาวคฤหัสถ์ ก็ใช้วิชาหมอดูนี้เพื่อจะเป็นสื่อในการที่จะสอนธรรมะ เพราะว่าเป็นจิตวิทยาในการปลอบประโลมใจ แต่ไม่ได้มุ่งหมายหรือเห็นแก่ลาภสักการะ ไม่ทำตนให้ยึดติดกับสิ่งเหล่านี้ และมีความพยายามที่จะนำกลุ่มชนนั้นให้เข้าสู่ธรรมที่สูงขึ้นไป

ประเภทที่สาม ได้แก่ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการทำนายทายทัก คัดค้านพฤติกรรมของพระกลุ่มนี้ ติเตียนพระหมอดูอย่างเต็มที่ แต่ตนเองก็ไม่มีความสามารถในการที่จะสั่งสอนประชาชน ก็เลยได้แต่ติเตียน

ประเภทที่สี่ คือพระภิกษุที่มีความสามารถสั่งสอนผู้อื่นด้วย และก็ว่าการทำนายทายทักนี้ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นวิธีการที่ชอบธรรมในทางพระพุทธศาสนา เพราะฉะนั้นก็ยืนยันในหลักที่จะไม่ยอมใช้การทำนายทายทักด้วย

วิธีอย่างนี้เรียกว่า วิภัชชวาท เรามาดูว่าใน ๔ ประเภทนี้อย่างไหนดีมากดีน้อย อันไหนเสียมากเสียน้อย อันไหนควรแก้ไขก่อนแก้ไขหลัง อันไหนควรจัดการให้หมดไปโดยเร่งด่วน หรืออันไหนควรสนับสนุนให้ทำต่อก็ทำกันไป อาจจะแยกแยะกันมากกว่านี้ก็ได้ นี่เป็นวิธีของพระพุทธเจ้าเรียกว่าเป็นวิภัชชวาท

นี่อาจจะเป็นการเสนอแนวทางหนึ่งในด้านปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมก็ตามแก้ไขก็ตาม เมื่อแยกให้ชัดแล้วอาจเห็นทางปฏิบัติชัดเจนขึ้น และเริ่มปฏิบัติได้จริง ไม่ใช่อยู่แค่ด่าว่ากันไม่ไปไหน

ทีนี้อยากจะหันมาในเรื่องค่านิยม ว่าพุทธศาสนาของเรามีค่านิยมอะไร ค่านิยมอะไรที่เรียกว่าเป็นค่านิยมพุทธ อันนี้อาตมาเป็นเพียงผู้มาเสนอเท่านั้นเอง จะต้องขอให้ช่วยกันพิจารณา จะยอมรับหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ค่านิยมอันหนึ่งซึ่งเป็นที่แพร่หลายมาก ก็คือค่านิยมแห่งทาน การให้การบริจาครู้สึกกันว่าจะยอมรับได้ว่าเป็นค่านิยมทางพุทธศาสนา จะเห็นด้วยหรือไม่ตอนท้ายเราค่อยมาโต้เถียงกันอีกทีหนึ่ง ค่านิยมแห่งทานนี่เห็นได้ชัดว่าเป็นค่านิยมของไทย ซึ่งเป็นค่านิยมพุทธ ขอให้แยกก่อนว่าค่านิยมพุทธกว้างๆ ทั่วไปอย่างหนึ่ง แล้วก็มีค่านิยมพุทธไทยอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งไทยอาจจะมีต่างจากชาวพุทธอื่นๆ ก็ได้ ค่านิยมพุทธไทยอย่างหนึ่งก็คือค่านิยมแห่งทาน เราชอบและส่งเสริมให้มีการให้การบริจาคแบ่งปัน ในทางพุทธศาสนาเราหาหลักฐานยืนยันในเรื่องนี้ได้ไม่เฉพาะในเรื่องเวสสันดร ในเรื่องชาดกที่เป็นทานบารมีอย่างยิ่งเท่านั้น แม้ในเรื่องทั่วๆ ไปพุทธศาสนาก็สอนในเรื่องทรัพย์ ทั้งการเก็บทรัพย์ รักษาทรัพย์ หาทรัพย์และใช้จ่ายทรัพย์ พระพุทธศาสนานี่ไม่ค่อยห่วงในเรื่องหาทรัพย์และรักษาทรัพย์ ที่ว่าไม่ห่วงก็คือ ไม่ได้กีดกัน ยินดีส่งเสริมเรื่องการแสวงหาทรัพย์ด้วยความขยันหมั่นเพียร แต่ไปห่วงหรือใส่ใจอยู่กับเรื่องวิธีการแสวงหา ว่าชอบธรรมหรือไม่ เท่านั้นเอง อีกตอนที่สองก็คือมีมาแล้วจะใช้อย่างไร และตอนที่สองนี้เกี่ยวกับเรื่องทาน การมีทรัพย์และรู้จักใช้จ่ายทรัพย์เป็นจุดที่มาเกี่ยวข้องกับเรื่องทาน พระพุทธเจ้าไม่สนับสนุนให้มีการหามาเก็บดองไว้ แต่สนับสนุนให้หามาใช้เลี้ยงตนเองและคนที่ควรเลี้ยงให้เป็นสุข และเผื่อแผ่แบ่งปันทำความดีออกไปอีก อันนี้เป็นหลักทั่วไป และเรื่องนี้ปรากฏมากมายในพุทธศาสนา มีทั้งในพระไตรปิฎก เป็นพุทธพจน์เอง และในอรรถกถา เป็นนิทานชาดกเล่าเกี่ยวกับเรื่องพระไปทรมานเศรษฐี เรื่องอย่างนี้มีมากมาย

เศรษฐีในสมัยก่อนพุทธกาล ในชาดกเยอะแยะ ที่แสวงหาทรัพย์โดยชอบธรรมแล้วก็เอามาเก็บไว้ ตนเองก็มิได้ทำให้มีความสุข และก็ไม่ได้ใช้จ่าย อยู่อย่างลำบากแล้วก็ไม่นำทรัพย์ไปบำรุงเลี้ยงผู้อื่น ไม่เผื่อแผ่แบ่งปัน พระพุทธเจ้าทรงติเตียนมาก ในพระไตรปิฎกก็มีเรื่อง เช่น วันหนึ่งพระเจ้าปเสนทิโกศลมาเฝ้าพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงทักทายตรัสถาม พระเจ้าปเสนทิโกศลก็เล่าถวายว่า วันนี้พระองค์ได้จัดการเรื่องเศรษฐีผู้หนึ่งมีเงินทองมากมาย เขาตายแล้ว ก็ต้องไปขนเงินทองเข้าท้องพระคลัง อ้าวทำไมเป็นอย่างนั้น เพราะเศรษฐีเมื่อยังอยู่นั้นท่านเป็นคนขี้เหนียวเป็นอยู่อย่างลำบาก ไม่ทำให้ตนเองมีความสุข และก็ไม่บำรุงเลี้ยงคนอื่น ไม่ใช้ทรัพย์ทำความดี พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่าอย่างนั้นอสัตบุรุษได้ทรัพย์แล้วก็สูญเปล่า อันนี้เป็นการพูดอย่างย่อๆ คือให้เห็นว่าพระพุทธเจ้าไม่ทรงสนับสนุนการหาทรัพย์มาเก็บหวงไว้ พระองค์ตรัสถึงการใช้จ่ายทรัพย์ว่า เมื่อได้ทรัพย์มาแล้วก็ควรจะทำให้เป็นประโยชน์แก่ตนเองและแก่คนอื่น เผื่อแผ่แบ่งปัน และทำความดี อย่างในนิทานชาดกก็เปรียบเทียบว่าคนที่มีเงินแล้วเอาเก็บไว้ ไม่ใช้ทำประโยชน์ก็เหมือนกับนกมัยหก “มัยหก” แปลว่า ของข้า นกมัยหกนี้มันอยู่ที่ต้นไม้ชนิดหนึ่ง เรียกว่าต้นเลียบ ต้นเลียบเป็นอย่างไรก็คงจะไม่รู้จักกันหลายท่าน เมื่อต้นเลียบนี้มีผลสุกแล้ว นกมัยหกหวงลูกเลียบนี้ก็มาบินวนเวียนอยู่ที่ต้นเลียบ ปากก็ร้องว่า มัยหกๆ แปลว่า ของข้าๆ ในเวลาเดียวกันนั้น นกตัวอื่นก็มากินผลเลียบที่สุกนี้ แล้วพากันบินไป ผู้ที่แสวงหาทรัพย์มา มีทรัพย์แล้ว ไม่นำทรัพย์มาใช้ให้เป็นประโยชน์เหมือนกับนกมัยหก ได้แต่ร้องว่าของข้าๆ แม้ว่ามฤตยูมาพรากเอาตัวไปก็ยังร้องว่าของข้าๆ อยู่นั่นเอง

นอกจากนี้ เรื่องพระโมคคัลลานะไปปราบมัจฉริยโกสิยเศรษฐีก็ดี เรื่องอื่นทำนองนั้นก็ดี เรื่องเหล่านี้มีมากมาย คติเรื่องการที่จะใช้ทรัพย์ให้เป็นประโยชน์ก็คือ คนเราหาทรัพย์มา ก็เพื่อเป็นประโยชน์แก่ชีวิตแก่สังคม ในพระพุทธศาสนาเรียกว่าประโยชน์แก่ตน และประโยชน์แก่ผู้อื่น เพื่ออัตตัตถะ และปรัตถะ เป็นสิ่งที่เราจะเอามาใช้ให้เป็นประโยชน์ แต่มนุษย์บางคนเมื่อหาทรัพย์มาได้แล้วก็ลืมวัตถุประสงค์ข้อนี้เสีย ไม่ได้นำทรัพย์มาใช้ให้เป็นประโยชน์ กลายเป็นว่าเป็นทาสของทรัพย์เสียเอง นี่เป็นคติพื้นฐานของพระพุทธศาสนา ทีนี้เราจะเอายังไงกับทาน เราควรจะให้ทานอย่างไร เพื่อจะได้เป็นประโยชน์ ก็มีพุทธพจน์ตรัสว่า พึงวิจัยแล้วจึงให้หรือเลือกเฟ้นให้ พิจารณาให้นั้นคือจะให้อย่างไร จึงจะเป็นประโยชน์ นั้นก็เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณากันต่อไป สรุปว่าการให้เป็นค่านิยมพุทธไทยอย่างหนึ่ง

ต่อไปค่านิยมที่เราจะพิจารณาก็คือ ค่านิยมแห่งการไม่เบียดเบียนหรือเมตตา เมตตาก็คือธรรมที่ตรงกันข้ามกับความเบียดเบียน หรือเทียบปัจจุบันนี้ตรงกับที่มีการอ้างหลักเรื่องอหิงสานั่นเอง อหิงสาก็เป็นหลักหนึ่งในพุทธศาสนา เมตตากรุณาเป็นหลักที่เด่นชัด เรียกให้ครบชุดว่าพรหมวิหาร ๔ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เกี่ยวกับหลักธรรมชุดนี้ ก็มีฝรั่งโจมตีชาวพุทธโดยเฉพาะชาวพุทธไทยว่า สังคมไทยนี่สอนเมตตา สอนกรุณา แต่การสอนเมตตานั้นสอนอย่างไร ก็สอนให้แผ่เมตตา แผ่เมตตาคืออย่างไร คือการไปนั่งนิ่งๆ แล้วก็คิดตั้งใจขอให้เพื่อนสัตว์ทั้งหลายที่ร่วมเกิดแก่ เจ็บ ตาย ทั้งหมดทั้งสิ้น จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย เพียงแค่นี้ก็เป็นการทำความดีแล้ว ฝรั่งก็เลยโจมตีบอกว่า คนไทยพอไปนั่งนอนแผ่เมตตา ก็เป็นอันได้บำเพ็ญธรรมะทำความดีครบถ้วนเพียงพอแล้ว ไม่ต้องไปทำอะไร ในพุทธศาสนาคนทำความดีแบบ Passive ขออภัยใช้ภาษาอังกฤษ คือไม่ Active เลย ทำไมเขาจึงเห็นอย่างนี้ อันนี้อาจจะเป็นที่ความบกพร่องของเราเองก็ได้ ที่ปฏิบัติไม่ครบตามหลักพุทธศาสนา คือหลักของพุทธศาสนาต้องสอดคล้องกัน ถือว่าต้องเริ่มจากจิตใจ ต้องมีธรรมในใจเป็นสำคัญ ธรรมะในใจคือตัวพื้นฐาน แล้วแสดงออกมาภายนอกคืออะไร ก็คือสังหวัตถุ ๔ ถ้าเรามีพรหมวิหารในใจแล้วจะให้ได้ผลในทางปฏิบัติแท้จริง ก็ต้องแสดงออกมาภายนอกด้วย การแสดงออกมาภายนอกนี้ก็คือ สังคหวัตถุ ๔ มีอะไรบ้าง มีทาน ปิยวาจา อัตถจริยา สมานัตตตา

ทาน ก็ช่วยด้วยของ เผื่อแผ่ แสดงเมตตากรุณาออกมา ในทางที่จะเผื่อแผ่แบ่งปันทรัพย์หรือสิ่งของภายนอกตัว

ปิยวาจา ก็ได้แก่ช่วยด้วยถ้อยคำ คำแนะนำตักเตือน ไม่ใช่พูดเพราะเฉยๆ แค่นี้อาจจะบกพร่องไป คำพูดสุภาพก็เป็นปิยวาจา แต่ว่าเป็นปิยวาจาที่แท้เกิดจากใจที่มีเจตนาดี เจตนาดีเป็นเจตนาที่มีเมตตา เจตนาที่มีเมตตาก็คือต้องการให้ผู้อื่นได้รับประโยชน์และมีความสุข ให้เขาพ้นจากความทุกข์ เจตนาที่ดีแม้จะรุนแรงไปบ้างก็ไม่เสียปิยวาจา ยกตัวอย่างว่าแม่มีความรักลูก อันนี้เป็นธรรมดา แต่ลูกหัวดื้อ ชอบเที่ยวไป แม่ก็ว่าอย่าไปๆ หนูมันมีอันตรายทุกด้าน ลูกก็ไม่ยอมจะไป แม่ก็กล่าวคำแรงว่า ถ้าไปขอให้เสือกัดตายเลย คำที่แม่กล่าวอย่างนี้ไม่เสียปิยวาจา ทำไมล่ะ เพราะเจตนาดี แม่มีความรักจนกระทั่งโมโห พุทธศาสนาบอกว่าคนมีกิเลสนี่ โทสะเกิดจากโลภะก็มี โทสะเกิดจากราคะก็มี อย่างในกรณีนี้โทสะเกิดจากความรัก แม่นี้เจตนาดี ถึงจะโกรธก็ไม่ได้มีความประสงค์ร้ายต่อลูกเลย แต่ลูกไม่เชื่อฟัง ก็กล่าวคำรุนแรงออกไป ถือว่าไม่ผิดปิยวาจาอย่างนี้เป็นต้น เน้นที่เจตนา ปิยวาจาคือมีน้ำใจต้องการให้เขามีความสุขกล่าวคำสุภาพอ่อนโยน จริงใจ ทำให้ทั้งสองฝ่ายสบายด้วยกัน ก็เป็นปิยวาจา แต่เวลามีเรื่องราว เขาทำความผิด เราก็ต้องแนะนำตักเตือน นี่ก็เป็นปิยวาจา ดุว่าด้วยความหวังดีต้องการให้เขาดีมีความสุขก็ยังเป็นปิยวาจา

ต่อมาอัตถจริยา หมายถึงการทำกิจธุระต่างๆ ขวนขวายบำเพ็ญประโยชน์ช่วยเหลือรับใช้บริการ

สมานัตตตา หมายถึงการทำตัวให้เข้ากับเขาได้ เช่นว่าวางตนเสมอ เข้ากันได้ ไม่ถือตัว มีความยุติธรรม ร่วมมือ ร่วมกิจกรรม ร่วมทุกข์ ร่วมสุขเสมอหน้ากัน

สามข้อต้น จะเห็นว่ามากับเมตตากรุณาอย่างชัดเจน และถึงมุทิตาด้วย ส่วนข้อสุดท้ายก็มาคู่กับอุเบกขา มีอุเบกขาเป็นหลัก หมายความว่าในการบำเพ็ญความดีนั้นต้องทำให้ได้ทั้งภายในและภายนอก มีภายในเป็นฐานให้ภายนอกด้วย หากว่าไม่มีฐานอยู่ภายใน ไม่มีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา การช่วยเหลือที่เรียกว่าสังคหวัตถุ ๔ นั้นอาจจะทำด้วยเจตนาที่ไม่สุจริตก็ได้ อาจจะทำด้วยความหลอกลวง อาจจะทำด้วยเจตนาเพื่อประโยชน์ส่วนตนก็ได้ เพราะฉะนั้นจะต้องให้กลมกลืนกันทั้งภายในภายนอก ทำได้อย่างนี้ก็เท่ากับว่าปฏิบัติอย่างท่านหัตถกะ ซึ่งเป็นอุบาสกที่ได้รับยกย่องจากพระพุทธเจ้าให้เป็นเอตทัคคะในการสงเคราะห์บริษัท นี่เป็นเรื่องค่านิยมแห่งเมตตากรุณา

ต่อไปเรื่องค่านิยมแห่งความสันโดษ ในเมืองไทยก็เป็นที่รู้กันทั่วแล้วว่าไทยเราได้รับการสั่งสอนจากพระพุทธศาสนาให้มีความสันโดษ ทีนี้อาตมาอยากจะเติมว่าค่านิยมในทางพุทธศาสนาได้แก่ค่านิยมแห่งความสันโดษและไม่สันโดษ คือสันโดษในกรณีที่ควรสันโดษและไม่สันโดษในกรณีที่ไม่ควรสันโดษ เพราะว่าสันโดษอย่างเดียวนี่อาจจะขาดความสมบูรณ์ไปก็ได้ พระพุทธเจ้าเองก็ทรงย้ำในเรื่องความไม่สันโดษ แต่เราอาจจะมองข้ามไปเสีย สันโดษไม่ใช่สันโดษเฉยๆ สันโดษด้วยปัจจัย ๔ ที่ตนเองหามาได้เป็นของตน ด้วยเรี่ยวแรงความเพียรโดยชอบธรรม

ส่วนความไม่สันโดษ พระพุทธเจ้าก็ตรัสไว้มาก อย่างในอังคุตตรนิกายบอกว่า พระองค์เห็นประจักษ์คุณของธรรม ๒ ประการ คือความไม่สันโดษในกุศลธรรมทั้งหลาย กุศลธรรมคือสิ่งที่ดีงามทั้งหลายเป็นสิ่งที่พระองค์ไม่สันโดษ แล้วอีกอย่างหนึ่งก็คือความเพียรที่ไม่ระย่อ คือไม่ยอมถอย ถ้าทำอะไรก็มีอธิษฐาน คือมีความตั้งใจเด็ดเดี่ยว ตอนที่พระพุทธเจ้าจะสำเร็จโพธิญาณ พระองค์เล่าว่าเมื่อพระองค์ประทับนั่งที่ต้นโพธิ์นั้น พระองค์ได้อธิษฐานคือตั้งพระทัยเด็ดเดี่ยวว่า ถ้าไม่ได้ตรัสรู้แล้วถึงแม้เลือดเนื้อจะแห้งหมดไป ก็จะไม่ลุกขึ้นจากที่ประทับ อย่างนี้เป็นต้น หรืออย่างเวลาตรัสสอนพระโสดาบันว่า พระโสดาบันที่ตกอยู่ในความประมาท และไม่ประมาทนั้นอย่างไร พระโสดาบันที่มีความประมาทคือผู้ที่ได้ก้าวหน้าในคุณธรรมที่ทำให้เป็นพระโสดาบัน มีคุณสมบัติของพระโสดาบันแล้ว แต่สันโดษพอใจในคุณธรรมแค่นั้น ได้ชื่อว่าเป็นผู้ประมาท หรืออยู่อย่างผู้ประมาท ทีนี้ผู้ไม่ประมาทเป็นอย่างไร ได้แก่พระโสดาบันที่มีคุณสมบัติของพระโสดาบันแล้ว ไม่สันโดษด้วยคุณธรรมเพียงเท่านั้น แต่พยายามทำให้ก้าวหน้าต่อไป อย่างนี้เป็นต้น เรื่องความไม่สันโดษนี่มีอยู่มากหลาย เราสามารถนำมาพิจารณาศึกษากันได้ เป็นพุทธพจน์แท้ เพราะฉะนั้นเราต้องแยกกันให้ถูกว่า อันไหนเป็นสันโดษที่พระพุทธเจ้าทรงส่งเสริม อันไหนไม่ทรงสรรเสริญ

ต่อไปจะว่าด้วยเรื่องฉันทะ กับตัณหา รู้กันดีในวงการพุทธศาสนาว่า เราไม่ส่งเสริมตัณหา ตัณหาเป็นสมุทัย เป็นอริยสัจข้อที่ ๒ ดังพุทธพจน์ว่า ทุกฺขสมุทโย อริยสจฺจํ ปหาตพฺพํ สมุทัยแห่งทุกข์เป็นสิ่งที่พึงละเสีย เพราะฉะนั้นตัณหาท่านจึงให้กำจัด ตัณหาแปลว่าความอยาก อยากได้อะไรต่างๆ หลายคนก็เลยว่า ศาสนาสอนอย่างนี้ คนก็เลยไม่อยากได้อยากดีอะไร เพราะฉะนั้นเราก็ต้องแก้ไขคือส่งเสริมให้ชาวบ้านมีความอยากได้มากๆ จะได้พัฒนาประเทศชาติ อันนี้เป็นข้อสรุปของท่านผู้ที่กล่าวต่อว่าหลักของพระพุทธศาสนา บอกว่าเราจะต้องส่งเสริมการพัฒนาด้วยการส่งเสริมตัณหา ทีนี้ความอยากนี่คำศัพท์ที่เราใช้ทั่วๆ ไป ก็คือตัณหา แบ่งเป็นอยากได้ (กามตัณหา) อยากเป็น (ภวตัณหา) อยากไม่เป็น (วิภวตัณหา) อยากได้อยากเป็นนี่ไม่ใช่ของดีแน่ พุทธศาสนาบอกว่าคนเรามีแล้วไม่ต้องไปส่งเสริม ทุกคนมีตัณหา ตัณหาเป็นสิ่งที่เราจะต้องระงับไม่ใช่เพิ่ม ทีนี้เราจะแก้ปัญหาได้อย่างไร พุทธศาสนาไม่ให้อยากรวยหรือ อันนี้จะเป็นข้อที่ตันสำหรับเราละ เราหาทางออกไม่ได้หรือ ทีนี้มาดูในอิทธิบาท ๔ มีอะไร ยังไม่ต้องเข้าหลักเอาแค่ที่เราเห็นง่ายๆ ถ้าเรานึกเฉลียวใจขึ้นมาก็จะเห็นว่า อิทธิบาท ๔ เริ่มด้วย ฉันทะ ความพอใจ รักใคร่ในสิ่งนั้น เช่นกรณีที่เรารักใคร่ในศาสนา อยากรู้หลักพุทธศาสนา อยากปฏิบัติตามหลักพุทธศาสนา เราเรียกว่ามีฉันทะ ในพุทธศาสนานั้นท่านสอนฉันทะเป็นทางที่จะให้คนทำงาน แต่ถ้าไปสนับสนุนตัณหาคืออยากได้ อยากเป็น คนก็มีแต่อยากเอา แต่ไม่อยากทำ ท่านจึงให้ละตัณหาเสีย และให้ส่งเสริมฉันทะแทน แต่ฉันทะมี ๓ อย่าง คือ

๑. ตัณหาฉันทะ หรือกามฉันทะ พอใจกาม หรืออยากได้อยากเอา อันนี้เป็นอกุศล ไม่ดี

๒. กัตตุกัมยตาฉันทะ ความอยากทำ หรือฉันทะในการงาน อยากทำดีก็มี อยากทำไม่ดีก็มี อันนี้เป็นสิ่งที่พอจะเลือกสนับสนุนได้

๓. กุศลฉันทะ ฉันทะที่เป็นกุศล เรียกอีกอย่างว่า ธรรมฉันทะ คือ ฉันทะที่เป็นธรรม ฉันทะในธรรม อันนี้ดี

แม้แต่อยากได้นิพพานก็ใช้คำว่าฉันทะ ใครบอกว่าอยากได้นิพพานผิด บาลีก็มีว่า ฉนฺโท อรหตฺตปฺปตฺติยา ฉันทะเพื่อการบรรลุซึ่งพระอรหัตตผล อันนี้ก็เป็นฉันทะ ในอังคุตตรนิกาย พระพุทธเจ้าตรัสว่า ธรรม ๖ ประการเหล่านี้ เป็นสิ่งที่หาได้ยากในโลก ธรรมหกนี้มีอยู่ข้อหนึ่งว่า กุศลธรรมฉันทะ เป็นสิ่งที่หาได้ยาก ก็เป็นอันว่าพระพุทธศาสนาสอนส่งเสริมฉันทะ การที่จะเข้าถึงจุดหมายของพระพุทธศาสนาก็อาศัยฉันทะ เป็นแรงจูงใจที่สำคัญ พูดง่ายๆ ก็คือว่าสิ่งที่จะใช้เป็นแรงจูงใจในทางพุทธศาสนานั้นมิใช่ตัณหา ความอยากได้อยากเป็นนี่ทุกคนมีอยู่แล้ว แต่ความอยากทำ หรืออยากธรรมนี่สิหาได้ยาก ไม่ว่าจะเป็นความอยากทำงาน ความอยากสร้างความดี หรือความใฝ่รู้ ก็ตาม นี่แหละคือความอยากที่เป็นฉันทะ คนที่อยากแบบฉันทะหาได้ยาก คนอยากแบบตัณหาหาได้ง่าย จึงมีแต่คนอยากได้โดยไม่ต้องทำงาน อยากเป็นอะไรๆ โดยไม่ต้องทำความดีงาม ถ้าจะต้องทำงานก็สักว่าทำ ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ทำ พยายามหลีกเลี่ยงการทำ เพราะฉะนั้นถ้าไปส่งเสริมตัณหาเข้า อาจจะอยากทำ เพราะมันจำเป็นต้องทำ แต่ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ทำ เป็นทางให้เกิดความเกียจคร้านและทุจริต ถ้าพัฒนาด้วยตัณหาก็เป็นการพัฒนาที่ผิดพลาด ไม่ต้องไปส่งเสริม เพราะตัณหาเรามีทุกคน ไม่ต้องกลัวจะไม่มี มีอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเพียงแต่คอยคุมมันให้ดี

ในทางตรงข้าม ควรส่งเสริมฉันทะความอยากทำ ให้ทุกคนอยากทำงานนี้ดี อันนี้อาตมาว่าสำคัญ สร้างฉันทะให้มีขึ้น อยากจะทำงาน อยากจะทำสิ่งที่ดี ให้มีกุศลฉันทะ ธรรมฉันทะ เช่น อยากให้มีความสะอาด อยากจะเห็นความมีคุณภาพของพลเมือง อยากจะเห็นคุณความดีเกิดขึ้น อยากจะให้สังคมไทยเป็นสังคมที่ดี เป็นครูอยากให้นักเรียนดี เป็นนักเรียนอยากให้ได้ความรู้นำมาใช้ประโยชน์อะไรได้ นี้เรียกว่าใช้กุศลฉันทะ แล้วส่งเสริมฉันทะที่มันอยากทำ มันก็สอดคล้องไปกันได้ ทำให้เกิดการพัฒนาที่ถูกต้อง อันนี้เป็นค่านิยมพุทธศาสนาที่ว่าไม่ละตัณหาเฉยๆ แต่ให้ส่งเสริมฉันทะไปด้วย

ต่อไปเป็นเรื่องความไม่ประมาท หรืออัปมาทธรรม อัปปมาทธรรมนี้เป็นธรรมที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นยอดธรรม หรือรอยเท้าช้าง คือพระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ธรรมทั้งหลายรวมลงได้ในความไม่ประมาท เหมือนรอยเท้าสัตว์บกใหญ่เล็กทั้งหลายลงในเท้าช้าง อัปปมาทธรรมนั้นเป็นหลักของการกระตุ้นเตือนตนเอง ทำให้งดเว้น ยับยั้ง ไม่ตกไปในทางความชั่ว ไม่หลงลืม ไม่ปล่อยตัว ส่วนในทางความดีก็ไม่ละเลย ไม่ปล่อยปละละทิ้ง พยายามทำให้เกิดขึ้น ต้องมีความไม่ประมาทก่อน ถ้ามีความไม่ประมาทแล้ว ก็จะนำไปสู่ความก้าวหน้าได้ ความจริงธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นเหมือนรอยเท้าช้างมีหลายข้อ โยนิโสมนสิการก็ใช่ อริยสัจสี่ก็ใช่ แต่เฉพาะที่นี้ไปยกเอาอัปปมาทธรรมมาและก็น่าจะกำหนดเอาเป็นค่านิยมพระพุทธศาสนาไว้ด้วย ความไม่ประมาทคือไม่ขาดสติ ไม่ขาดสติก็มีความรับผิดชอบด้วยคือ ถ้าเป็นเรื่องที่จะผิดพลาด เราไม่ยอมถลำไปตาม แต่ถ้าโอกาสแห่งการทำความดีมาถึงก็ขมีขมันทำ ไม่ยอมให้ผ่านไปเปล่า ธรรมข้อนี้ควรเอามาใช้ไม่เฉพาะในกิจการงานต่างๆ แม้แต่ชีวิตก็ควรไม่ประมาทเหมือนกัน เราไม่รู้ว่าภายหน้าของเราจะเป็นอย่างไรเราก็ต้องไม่ประมาท ชีวิตของเราจะอยู่กันไปกี่วันเราก็บอกไม่ถูก ถ้ามีความไม่ประมาทพิจารณาชีวิตแล้วก็จะไม่หดหู่ไม่ท้อแท้ใจ เราพิจารณาแล้ว บังเกิดความไม่ประมาท เกิดความสังเวช

คำว่าสังเวช นี่เราเข้าใจกันว่าอย่างไร ถ้าเข้าใจคำว่าสังเวช หมายถึง ความสลดหดหู่ใจแล้วก็เลยกลายเป็นว่าทุเรศอะไรไปด้วย สังเวชนี่ถ้าไปดูหลักฐานที่ท่านสอนไว้จะเข้าใจ เช่นถ้าเราตกอยู่ในความประมาทแล้ว ต่อมาไปเห็นคนเจ็บใกล้จะตายเกิดความสังเวช ก็คือเกิดความได้คิดขึ้นว่าจะต้องรีบเร่งทำความดี ให้ไปดูหลักฐานในพระไตรปิฏกว่าเป็นอย่างนี้หรือไม่ เรามาเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าสังเวชนี่มันสลดหดหู่ใจ แต่ความจริงไม่ใช่ เห็นอะไรแล้วได้คิดขึ้นมา ว่าเราจะต้องรีบทำสิ่งที่เป็นคุณงามความดีเป็นกุศล ละความชั่ว อย่างนี้จึงจะเรียกว่าเป็นความสังเวช ถ้ามีใครมาถามว่าไปดูสถานที่ที่พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพานไปเพื่ออะไร ก็ตอบว่าเพื่อให้เกิดความสังเวช ความสังเวชได้คิด กระตุ้นเตือนใจ เร้าเตือนว่าแม้แต่พระพุทธเจ้าซึ่งเป็นมหาบุรุษก็ยังต้องปรินิพพาน สถานที่นี้เกี่ยวข้องกับพระองค์ เป็นเครื่องเตือนให้คิดเป็นเครื่องเตือนใจตนเอง ให้รีบขวนขวายปฏิบัติธรรมของพระองค์ เร่งทำความดีงามบำเพ็ญธรรมด้วยความไม่ประมาท อย่างนี้จึงจะเรียกได้ว่าเป็นสังเวชนียสถาน

จะพูดต่อไปอีกสักเล็กน้อย ค่านิยมพุทธมีหลายอย่าง วันนี้อาตมานำมาให้ช่วยกันคิดพิจารณาจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม ทีนี้ต่อไปก็คือ ค่านิยมแห่งการพึ่งตน

พอพูดถึงเรื่องพึ่งตน ทุกท่านบอกว่าใช่แล้วความรู้ง่ายๆ หลายท่านจำพุทธภาษิตได้ว่า อัตตา หิ อัตตโน นาโถ ตนแลเป็นที่พึ่งของตน หลักธรรมเรื่องการพึ่งตนนี้ท่านสอนเพื่อให้แต่ละคนมีความรับผิดชอบต่อตนเอง คือเราแต่ละคนนี้จะต้องพยายามพึ่งตนเอง แต่บางทีในการนำมาใช้ก็เกิดปัญหา อย่างเช่นฝรั่งบางคนเอาไปโจมตีว่าพุทธศาสนานี่สอนหลักอัตตา หิ อัตตโน นาโถ ตนพึ่งตน อันนี้สอดคล้องกับหลัก สุทธิ อสุทธิ ปัจจัตตัง ความบริสุทธิ์ ไม่บริสุทธิ์ เป็นของเฉพาะตน คนหนึ่งทำคนอื่นให้บริสุทธิ์ไม่ได้ หลักสองหลักนี้เข้ากัน สอดคล้องกันดี เมื่อสอดคล้องกันดี ก็มาเป็นอันตรายแก่ประเทศไทย อันตรายยังไง คนไทยบอกว่า มนุษย์แต่ละคนนี่ตัวใครตัวมัน อัตตา หิ อัตตโน นาโถ ก็คือหลักตัวใครตัวมันช่วยกันไม่ได้ ถ้าเราไปเห็นคนตกทุกข์ได้ยาก ก็ต้องนึกถึงหลักพึ่งตัวเองต้องบอกว่า เอ้า...ตัวทำไมไม่พึ่งตัวเล่า? ถ้าคุณพึ่งตัวคุณก็ไม่เป็นอย่างนี้ เขาบอกว่าหลักการอย่างนี้ไม่สนับสนุนให้มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แล้วยังไปคล้องจองกับหลักกรรมอีกด้วย หลักกรรมในพุทธศาสนาบอกว่า กรรมเก่า ใครทำมาอย่างไรก็ได้อย่างนั้น ใครเป็นอย่างไรเวลานี้ก็เป็นเพราะกรรมของเขาทำไว้ ต้องปล่อยให้เขารับกรรมของเขาเอง ไม่ต้องไปช่วย เขาก็ต้องพึ่งตน คือช่วยตัวเองไป คนชาวพุทธไทยก็ไม่คำนึงถึงกัน แล้วยังสอดคล้องกับหลักอุเบกขาอีก เมื่อเป็นกรรมของเขาเราก็ต้องมีอุเบกขา คือวางเฉยซะ ไม่ยินดียินร้ายเมื่อผู้อื่นถึงความวิบัติ ก็เลยจบกัน เป็นอันว่า หลักธรรมทั้งหลายสอดคล้องกันหมดเลย ทำให้คนไทยไม่ต้องขวนขวายช่วยเหลือกัน เขาไปเขียนหนังสือ เขียนตำราโจมตีอย่างนี้

ทีนี้ก็มาพูดถึงการพึ่งตนตามหลักพุทธศาสนาว่าเป็นอย่างใด อัตตา หิ อัตตโน นาโถ ถ้ามุ่งไปที่ธรรมะชั้นใน การเข้าใจสัจจธรรม การที่จิตใจของเราจะพ้นจากกิเลสจะพ้นจากความทุกข์ได้ในขั้นสุดท้าย คนอื่นใครเล่าจะมาช่วยได้ มันทำให้กันไม่ได้ ความบริสุทธิ์ไม่บริสุทธิ์นี่มันของเฉพาะตน เป็นของแน่นอน เป็นหลักสัจจะ นี่ทำให้เราต้องมีความรับผิดชอบต่อตนเอง ช่วยตนเอง แต่การพึ่งตนเองมิได้หมายความว่ามิให้ช่วยผู้อื่น และมิใช่ว่าคนอื่นช่วยอะไรไม่ได้เลย หลักธรรมที่ยืนยันมีมากมาย สังคหวัตถุเป็นต้น ก็เป็นหลักธรรมที่ให้ช่วยกันทั้งนั้น หลักธรรมที่คู่กับอันนี้ก็คือกัลยาณมิตร ให้เป็นกัลยาณมิตรของกันและกัน และกัลยาณมิตรนี่ก็เป็นหลักการสำคัญของพุทธศาสนา เรียกว่าเป็นปัจจัยแห่งสัมมาทิฏฐิและเป็นเบื้องต้นแห่งอริยมรรค ก่อนที่พระอาทิตย์จะอุทัยนั้น มีแสงอรุณให้เห็นได้ก่อนฉันใด การมีกัลยาณมิตรก็เหมือนกับเป็นแสงเงินแสงทอง เป็นนิมิตแห่งการเกิดขึ้นของอริยมรรค นี่หมายความว่า ในเรื่องของสังคม การช่วยเหลือกันและกันเป็นหลักสำคัญในพระพุทธศาสนา สำหรับตนเองเราต้องพยายามช่วยตัวเอง แต่สำหรับผู้อื่นเราต้องช่วยเขา ไม่ใช่คอยให้เขามาช่วยเรา ในขั้นสุดท้ายหรือชั้นในสุดแล้วทุกคนต้องช่วยตัวเองแน่นอน คนอื่นเขาจะมาช่วยอยู่ตลอดเวลาไม่ได้ และข้างในแท้ๆ เขาก็ช่วยไม่ได้ แต่ก่อนถึงนั่นจะต้องมีการช่วยเหลือกัน

ทีนี้ท่านบอกให้ทุกคนพึ่งตนอย่างไร พึ่งตนด้วยการทำตนให้เป็นที่พึ่งได้ อันนี้เพื่อจะได้ไม่ต้องให้คนอื่นมาช่วย เมื่อพึ่งตนได้ก็ไม่ต้องเป็นภาระแก่คนอื่น และคนที่พึ่งตนได้จึงจะช่วยเหลือคนอื่นได้ ถ้าพึ่งตนไม่ได้ ก็เป็นภาระของคนอื่น ถ้าคนส่วนมากในสังคมใดพึ่งตัวเองไม่ได้ สังคมนั้นก็ไม่ต้องคิดทำอะไรให้เจริญก้าวหน้า เหมือนเรือที่มีแต่รูรั่วมัวแต่คอยปะรูก็หมดมือหมดเวลา ถ้าทุกคนพึ่งตนไม่ได้ก็ไม่มีใครช่วยใครได้เลยและทำอะไรไม่ได้เลย

คนที่ไม่รู้จักพึ่งตน คนอื่นเขาไม่อยากมาช่วย แต่ถ้าเราพึ่งตนเองได้ดีแล้วเวลาเราพึ่งตนเองไม่ได้ คนอื่นเขาอยากช่วย เพราะฉะนั้นการได้พึ่งคนอื่นที่เขาอยากช่วยเป็นการพึ่งตนด้วย และมันก็เป็นความจริงอย่างนั้น หลักธรรมต่างๆ จะสอดคล้องกัน พระพุทธเจ้าตรัสหลักธรรมต่อกันเป็นทอด ต้องมองดูอย่างสัมพันธ์กัน พระพุทธเจ้าตรัสหลักธรรมสำหรับสร้างที่พึ่ง ได้แก่หลักธรรมที่ทำตนให้เป็นที่พึ่งได้ เรียกว่า นาถกรณธรรม ๑๐ ประการ ในหลักธรรม ๑๐ ประการนั้นมี สติ มีปัญญา มีสันโดษ มีความเพียร มีอะไรต่ออะไร และมีข้อหนึ่งว่า ขวนขวายเอาใจใส่ขยันช่วยเหลือกิจการของเพื่อนร่วมหมู่คณะ (กิงกรณีเยสุ ทักขตา) หลักข้อนี้แสดงว่าการที่จะพึ่งตนเองได้นั้นต้องช่วยเหลือคนอื่นด้วย เป็นอันว่าการที่จะพึ่งตนเองได้นั้น ในบรรดาธรรมะทั้งหลายที่จะต้องปฏิบัติ ธรรมข้อหนึ่งก็คือต้องเอาใจใส่ช่วยเหลือผู้อื่นด้วย เพราะฉะนั้นธรรมะของเราสัมพันธ์กัน ในที่สุดการพึ่งธรรมก็คือพึ่งตน การพึ่งตนก็คือพึ่งธรรม เพราะฉะนั้นในตอนที่พระพุทธเจ้าจะปรินิพพานจึงได้ตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย อัตตสรณา ธัมมสรณา จงมีตนเป็นที่พึ่ง จงมีธรรมเป็นที่พึ่ง จงมีตนเป็นประทีป และจงมีธรรมเป็นประทีป นี้แสดงว่าการพึ่งตนและพึ่งธรรมเนื่องอยู่ด้วยกัน อย่างเช่นที่ตรัสว่า ภิกษุพึ่งตนเองนั้นคืออย่างไร แล้วเฉลยว่า ภิกษุปฏิบัติตามหลักสติปัฏฐาน ๔ อย่างนี้ เรียกว่าพึ่งตน ถ้าพึ่งตนแล้วก็ต้องใช้สติปัญญา ต้องประพฤติปฏิบัติธรรม การประพฤติธรรมก็รวมทั้งการช่วยเหลือผู้อื่นด้วย เราต้องเข้าใจใช้ให้ถูก

ต่อไปค่านิยมแห่งการใช้ปัญญา พุทธศาสนาอย่างในเมืองไทยนี้ เรียกว่าเป็นแบบเถรวาท พุทธศาสนาเถรวาทนี่ ถือหลักธรรมข้อปัญญาเป็นเอก พระพุทธศาสนาแยกนิกายเป็นมหายานกับเถรวาท ทางฝ่ายมหายานบอกว่าเถรวาทอย่างในประเทศไทย ถือหลักปัญญาเป็นสำคัญ และก็หย่อนในด้านกรุณา มหายานเองก็หนักในด้านกรุณา แต่ก็หย่อนด้านปัญญา กรุณาก็คือความต้องการที่จะช่วยเหลือผู้อื่น ต้องการบำเพ็ญตนเป็นพระโพธิสัตว์ ไม่ยอมเข้าสู่ปรินิพพานจนกว่าจะได้ช่วยสรรพสัตว์ให้พ้นจากโอฆกันดารเสียก่อน แล้วพระโพธิสัตว์จึงจะเข้าปรินิพพานภายหลัง นี่เป็นค่านิยมทางฝ่ายมหายาน แต่ก็เป็นเพียงการเน้นต่างกันเท่านั้น

ทีนี้พระคุณของพระพุทธเจ้ามีปัญญาเป็นตัวการสำคัญ จะต้องใช้ปัญญาในการปฏิบัติธรรม ด้วยปัญญาจึงจะเข้าใจและเข้าถึงความจริง เพราะฉะนั้นในทางพุทธศาสนาจึงถือหลักว่าปัญญาสำคัญยิ่งนัก อย่างในสังยุตตนิกาย ก็บอกว่าในบรรดาธรรมทั้งหลายที่เป็นกุศลนี้ ปัญญาเป็นยอด คือเป็นหลักธรรมเอกที่จะทำให้ตรัสรู้หรือเข้าสู่จุดมุ่งหมายของพระพุทธศาสนา อันนี้ต่างกับศาสนาทั่วไปที่ยกศรัทธาเป็นใหญ่ถือศรัทธาเป็นหลักการสำคัญ พุทธศาสนาถือศรัทธาเป็นหลักการสำคัญเหมือนกัน แต่ในขั้นสุดท้ายจะต้องก้าวพ้นขั้นศรัทธา คือไปด้วยศรัทธาได้ในขั้นต้นๆ พระอริยบุคคลในขั้นต้นๆ จะมีศรัทธาเป็นหลักเด่น อย่างพระโสดาบันนี้มีองค์คุณลักษณะสำคัญ คือความเป็นผู้มีศรัทธาที่มั่นคง มีความเลื่อมใส ไม่วอกแวก ไม่คลอนแคลนในพระธรรม แต่พอเป็นพระอรหันต์แล้ว ก้าวพ้นขั้นศรัทธาคือเห็นชัดเห็นจริงด้วยตนเอง เหมือนอย่างที่พระพุทธเจ้าเคยตรัสถามพระสารีบุตรว่า ข้อธรรมอย่างนั้นอย่างนั้นเป็นอย่างไร พระสารีบุตรบอกว่าอย่างนั้นอย่างนั้น แล้วพระพุทธเจ้าตรัสถามว่า ที่เธอกล่าวอย่างนี้เป็นด้วยเชื่อตามที่ตถาคตกล่าวหรืออย่างไร พระสารีบุตรตอบว่า มิใช่เชื่อเพราะพระองค์ตรัส แต่เพราะได้รู้เห็นด้วยตนเอง แสดงว่าขั้นสุดท้ายแล้วต้องก้าวพ้นขั้นศรัทธา ในพุทธศาสนานี้ศรัทธาเป็นธรรมเครื่องนำทาง ในขั้นสุดท้ายต้องก้าวพ้นไป แต่ไม่ใช่ไม่เชื่อ ไม่เชื่อกับไม่ต้องเชื่อเป็นคนละอย่างกัน บอกไม่เชื่อ พระพุทธเจ้าตรัสอะไรก็ไม่เชื่อ อันนี้ไม่เชื่อเพราะไม่เห็นด้วย แต่ถ้ารู้เองเห็นเองแล้วก็ไม่ต้องไปเชื่อใคร ถ้าหากว่าคุณลืมตาแล้วเขาเอาผ้ามาให้ดู เขาบอกว่าคุณเชื่อไหม ผ้านี้มีสีเขียวสีแดง เราจะต้องบอกว่าเชื่อไหม ไม่ต้องเชื่อแล้ว เห็นเองแล้ว ผ้าสีเขียวสีแดง ทีนี้ถ้าเราหลับตาแล้วเขาเอาผ้าห่มมาแสดง บอกว่าเขียวหรือแดง คุณไม่เห็นคุณจะว่าเขียวหรือแดงได้อย่างไร ถ้าเขาถามว่าคุณเชื่อไหมว่าเขียว คราวนี้แหละเราจะต้องบอกว่าเชื่อหรือไม่เชื่อ เริ่มแต่ต้องลองพิจารณาดูว่าคนที่มาบอกเราเป็นคนน่าเชื่อไหม เรารู้จักไม่รู้จัก มีนิสัยอย่างไร ถ้ารู้จักเขา เขามาด้วยเหตุผลอะไร เชื่อดีหรือไม่เชื่อดี อย่างนี้เรียกว่าเชื่อหรือไม่เชื่อ เราหลับตาฟังเขาบอกไม่เห็นเองจึงต้องคิดว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่อ เขาบอกว่าเขียวเราอาจจะเชื่อว่าเขียว ถ้าเขาว่าแดง เราอาจจะไม่เชื่อว่าแดง แต่ถ้าเราลืมตาดูเอง แล้วเรามองเห็นเองนี่นะ เราต้องบอกว่าเชื่อไหม ก็ไม่ต้องแล้ว เห็นเองรู้เอง ธรรมในพระพุทธศาสนานี้ถ้ายังเป็นขั้นเชื่อ ก็ยังเป็นขั้นศรัทธา ในขั้นโสดาบันนี้ยังเป็นขั้นศรัทธาอยู่ ต่อจากนั้นปัญญาจะต้องเจริญขึ้นมาแทน จนถึงขั้นตรัสรู้ ปัญญาเป็นยอด

อย่างไรก็ตาม ไม่ควรตีความเลยเถิดเกินไป เช่นในกาลามสูตร ไม่ใช่แปลว่าไม่ยอมเชื่อใคร พระพุทธเจ้าตรัสธรรมมาให้พินิจไตร่ตรองดูก่อน ไม่ใช่ตรัสให้เชื่อ แต่บางคนแปล เลยไปว่า หมายความว่า พระพุทธเจ้าตรัสว่าไม่ให้เชื่อใครๆ หรืออะไรๆ เลยอย่างนี้ก็ยังมี ความจริงต้องบอกว่า ตำราว่าอย่างนี้ หลักฐานในตำราว่าอย่างนี้ อาจารย์บอกว่าอย่างนี้ ขนาดน่าเชื่ออย่างนี้ยังต้องพิจารณาด้วยปัญญาก่อน แล้วอย่างอื่นจะแค่ไหน คือท่านให้พิจารณาก่อน แต่รวมความก็คือถือปัญญาเป็นหลักธรรมข้อสำคัญ มีค่านิยมแห่งการใช้ปัญญา

ค่านิยมต่อไปคือ ค่านิยมแห่งการฝึกตน ซึ่งรวมถึงการสำรวจตัวเองด้วย สำรวจตัวเองจะมาด้วยกันกับฝึกตน พระพุทธเจ้าได้ตรัสย้ำว่า ทันโต เสฏโฐ มนุสเสสุ แปลว่า ในหมู่มนุษย์ คนที่ฝึกแล้วประเสริฐสุด หรือตรัสอีกทีว่า วิชชาจรณสัมปันโน โส เสฏโฐ เทวมานุเส หมายความว่า ผู้ที่ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะนั้นเป็นผู้ประเสริฐสุดในหมู่มนุษย์ทั้งปวง ไม่เฉพาะมนุษย์เท่านั้น แม้แต่เทวดาคนที่ฝึกตนเองแล้วก็ยังประเสริฐกว่า นี้เป็นค่านิยมแห่งการฝึกตน หลักการของพระพุทธศาสนามีว่า มนุษย์นี่เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ และฝึกได้ดีที่สุด ถ้าหากว่าไม่ฝึกแล้วอาจจะเลวที่สุด หรืออาจจะต่ำกว่าสรรพสัตว์ แต่เมื่อฝึกแล้วก็ประเสริฐสุด แม้แต่เทวดาหรือว่าพรหมยังต้องบูชาพระพุทธเจ้าผู้เป็นศาสดาเอก สัตถา เทวมนุสสานัง เป็นศาสดาทั้งของเทวดาและมนุษย์ เทวดายังต้องมาไหว้พระพุทธเจ้า เพราะผู้ที่ฝึกตนเองนั้นเป็นผู้ที่สูงสุด ในเมื่อเรามีค่านิยมว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ เราก็ต้องเห็นคุณค่าของการฝึก คือต้องเห็นคุณค่าของการศึกษา การศึกษานี่หมายถึงการศึกษาตามความหมายของพุทธธรรม การศึกษาในแง่ของพระพุทธศาสนาหมายถึงการฝึกตน ฝึกตนคือทำตนให้เจริญงอกงามหรือพัฒนาตน ทำให้ชีวิตดีขึ้นทั้งด้านความประพฤติ การอยู่ร่วมในสังคม จิตใจ และปัญญา

ค่านิยมอีกสองอย่างคือ ค่านิยมแห่งคุณค่าของชีวิต ที่ท่านฝากไว้ว่า ความเป็นโสดาบัน หรือ โสดาปัตติผล ประเสริฐกว่าแม้แต่ความเป็นเอกราชบนผืนแผ่นดิน แม้แต่การไปสวรรค์ ไปเทวโลก แม้แต่อิสราธิปัตย์ในโลกทั้งมวล ค่านิยมนี้มีความหมายอย่างไร ค่านิยมนี้หมายความว่า การปรับปรุงชีวิตของเรานี่มีคุณค่ามากกว่าผลได้ภายนอกทั้งหมด ไม่ว่าลาภ ยศ สรรเสริญ ความมั่งมี ความยิ่งใหญ่ การปรับปรุงชีวิตนี้เป็นสิ่งสำคัญสุดยอด เข้ากับเรื่องการฝึกตนเมื่อกี้นี้ ถ้าเราสร้างค่านิยมนี้ได้ เราก็จะเข้าถึงค่านิยมพุทธศาสนาอย่างอื่นได้ เพราะอันใดที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าเป็นสิ่งประเสริฐ ในคติพุทธศาสนาถือว่าเป็นสุดยอดดีเลิศ ที่สำรวจมานี่ก็มีหลายอย่าง ตามที่อาตมาได้อธิบายมาตั้งแต่ต้น ก็มายุติว่าการบรรลุโสดาปัตติผลนี่ถือว่าสำคัญยิ่งกว่าการได้เป็นผู้มีอำนาจ ยิ่งกว่าการได้รับการกราบไหว้บูชา ยิ่งกว่าสิ่งที่เป็นโลกธรรมซึ่งเป็นความสำเร็จภายนอก นี่คือการเห็นคุณค่าชีวิตของมนุษย์ การที่จะคิดปรับปรุงชีวิตให้ดีขึ้น ถ้าแต่ละคนมีค่านิยมนี้ ก็เท่ากับว่า แต่ละคนเห็นคุณค่าของการเข้าใจในชีวิตของตนเอง พยายามปรับปรุงส่งเสริมคุณค่าของชีวิต การที่จะไม่ทำชั่ว เพราะจะเป็นการทำลายคุณค่าของชีวิต ถ้าเราเห็นคุณค่าของชีวิตสุดยอดแล้วเราจะไม่กล้าทำความชั่ว เพราะกลัวจะมาทำลายคุณค่าชีวิต และเราจะต้องพยายามทำความดี ปรับปรุงส่งเสริมให้ชีวิตเจริญงอกงามขึ้นจนบรรลุถึงความดีงามหรือประโยชน์สูงสุด

สุดท้าย ค่านิยมแห่งความเป็นอิสระหรือความไม่ยึดติด เข้าใจกันทั่วไปว่าเป็นความไม่ยึดมั่น ความไม่ยึดติดถือมั่นในสิ่งต่างๆ สอดคล้องกับหลักไตรลักษณ์ สอดคล้องกับหลักปัญญา ความรู้เท่าทันสภาวะความเป็นจริงของสิ่งทั้งหลาย

ความเป็นอิสระ ไม่ยึดติดนี่ บางทีก็ต้องระวัง ไม่ให้เกิดความเข้าใจผิด ความเป็นอิสระมันใกล้กับความเป็นเสรี ความเป็นเสรีก็เป็นลักษณะอย่างหนึ่งของผู้ตรัสรู้แล้ว ผู้ที่ได้ตรัสรู้นี่เป็นเสรี คือมีความเสรีในจิตใจที่จะทำการต่างๆ ในแนวของปัญญา เป็นอิสระคือพ้นจากอำนาจของตัณหาอุปาทาน ความเป็นอิสระในที่นี้เรียกว่าไม่ยึดติดไม่ใช่เป็นอิสระเสรีที่ว่า ฉันอยากทำอะไร ก็ทำได้ อันนี้คนมักจะเข้าใจผิดว่าเป็นอิสระ คติในพุทธศาสนาไม่มีอย่างนั้น ความเป็นอิสระเสรีหมายความว่า ฉันรู้ว่าควรทำอะไร ก็ทำได้ เราเป็นอิสระเสรีตามเหตุผล เราดำเนินชีวิตตามเหตุผลได้ ปัญญาบอกว่าสิ่งนี้ดีงามก็ทำตามได้ ไม่ใช่ทำไปตามความดื้อรั้นของตนเอง แล้วบอกว่าอิสระเสรี คือฉันอยากจะทำอะไรก็ทำอย่างนั้น อันนี้ก็เห็นจะเป็นสิ่งที่เรียกว่าเสรีทาส คือความเป็นทาสอย่างเสรี หมายความว่าเราเป็นทาสของกิเลส แล้วก็เลยแสดงกิเลสได้อย่างเสรี ทีนี้ถ้าหากว่าเป็นอิสระในทางพระพุทธศาสนาก็หมายความว่า มีอิสระ มีความสามารถที่จะดำเนินไปตามทางแห่งเหตุผล ความดีงามและความถูกต้อง อันนี้เป็นอิสระอย่างแท้จริง ปัจจุบันนี้เรามาเน้นคติเรื่องความไม่ยึดมั่นถือมั่น เราไม่ยึดมั่นถือมั่น ไม่ยึดติดในสิ่งทั้งหลาย คือเราไม่ถือสิ่งต่างๆ ไปตามอำนาจกิเลสของเรา เราจะเป็นอิสระอย่างแท้จริง คำว่าไม่ยึดติดนี่จะมาสอดคล้องกับเรื่องความเป็นอิสระเสรี แต่ก็ต้องระวังเหมือนกัน ความเป็นอิสระเสรีไม่ยึดติดนี้จะต้องเกิดขึ้นด้วยปัญญา มิฉะนั้นอาจกลายเป็นความยึดมั่นในความไม่ยึดมั่น

คนเรานี่จะมีความยึดมั่นได้แม้กระทั่งในความไม่ยึดมั่น ความยึดมั่นในความไม่ยึดมั่นเป็นอย่างไร เรามีคำสอนธรรมว่า ไม่ควรยึดมั่น เราก็อยากจะประพฤติตามหลักธรรมข้อไม่ยึดมั่น แล้วก็ติดว่า ฉันจะต้องเป็นคนไม่ยึดมั่น ฉันจะต้องมีความประพฤติแสดงออก มีพฤติกรรมต่างๆ ซึ่งแสดงออกถึงความเป็นผู้ไม่ยึดมั่น เพราะฉะนั้นก็จะกระทำอะไรต่างๆ ที่แสดงให้เห็นว่าตนเป็นคนไม่ยึดมั่น ตอนนี้แหละที่จะเกิดความยึดมั่นใหม่ คือความยึดมั่นในความไม่ยึดมั่น แล้วจะทำให้เกิดความผิดพลาด นี้เป็นสิ่งสำคัญที่เราควรจะเตือนกันไว้ ความยึดมั่นในความไม่ยึดมั่นนี่เป็นของสำคัญทีเดียว เพราะมันเป็นตัวหลอกขั้นสุดท้าย ทำไมพระพุทธเจ้าจึงไปขัดกับพวกศาสดาเจ้าลัทธิทั้งหลาย ท่านเหล่านั้นเป็นผู้ประเสริฐ แต่ไปยึดติดทฤษฎีข้องอยู่นั่นไปไม่พ้น ท่านจึงเรียกทฤษฎีหรือทิฏฐินั้นๆ ว่า พรหมชาล แปลว่าตาข่ายดักพระพรหม คือร่างแหที่พวกศาสดาจารย์ผู้ประเสริฐพากันมาติดอยู่

ผู้ที่เรียนความไม่ยึดมั่นก็ต้องระวังว่าจะไปติดในความไม่ยึดมั่น การที่เราจะไม่ยึดมั่นสิ่งใดนี่ ที่แท้มันเกิดจากปัญญา คือรู้เข้าใจสิ่งนั้น รู้จนมองเห็นเกิดเป็นความตระหนักใจเองว่ามันมีสภาวะอันไม่น่าเอาไม่น่าเป็น เป็นเรื่องเหลวไหลที่จะทำอย่างนั้นๆ แล้วเราก็จะไม่ยึดติดมันเอง เป็นไปเอง โดยไม่ต้องคิดจะไม่ยึด ทีนี้คนธรรมดาเป็นปุถุชน เวลาบอกว่าเรายึดมั่นอะไรนี่ แต่ใจยังยึด ตัวกิเลสยังอยู่ ถึงปากจะบอกว่าไม่ยึด แต่ว่าใจมันก็ยังยึด ทีนี้เมื่อจะไม่ยึดก็จะบอกตัวเองว่า ฉันไม่อยากไม่ยึดมั่นนะ แล้วก็พยายามทำ พยายามแสดงความไม่ยึดมั่น เลยกลายเป็นหลอกตัวเอง ความจริงการไม่ยึดมั่นเป็นคติที่เป็นประโยชน์ นี่ไม่ใช่มาค้าน ความไม่ยึดมั่นเป็นสิ่งที่ดี ที่ถูกต้อง แต่มีทางพลาดได้คือไปยึดมั่นความไม่ยึดมั่น ความไม่ยึดมั่นที่เราเอามายึดมั่นนี้มันเป็นทฤษฎี เป็นภาพในใจ ขออภัยใช้ภาษาอังกฤษเป็น concept ของความไม่ยึดมั่นเท่านั้น เมื่อจะไม่ยึดมั่น ก็กลายเป็นการพยายามแสดงให้คนอื่นเห็นหรือไม่ก็เป็นการหลอกตัวเองว่าฉันไม่อยาก ฉันไม่ยึดมั่น ทีนี้สิ่งที่ควรทำตามเหตุผลก็ไม่ทำ สิ่งที่ทำก็เกินเลยไป ไม่พอดี และการหลอกตัวเองนี่เป็นอันตรายทั้งต่อตนเองและผู้อื่น เป็นการทรมานตัวเอง เพราะฉะนั้นถ้าเป็นความไม่ยึดมั่นที่เกิดจากของจริงแล้ว ก็จะพอดี

นี่คือค่านิยมต่างๆ เอาเป็นว่าค่านิยมแห่งความเป็นอิสระทางใจหรือความไม่ยึดมั่นถือมั่นนี้ เป็นค่านิยมสำคัญในทางพระพุทธศาสนาที่จะต้องทำให้กระจ่างชัด อาตมาก็ได้เสนอมาพอสมควร มีอะไรก็มาพิจารณาด้วยกัน ทีนี้ก็ได้ชื่อว่าเป็นที่ประชุมของท่านที่เป็นตัวแทนของชาวพุทธ เมื่อให้อาตมามาพูดในเรื่องค่านิยมในวันนี้ ชาวพุทธในที่ประชุมนี้ก็เลยเกิดหน้าที่ใหม่ที่จะต้องมาพิจารณาเรื่องค่านิยมว่า ในฐานะที่เราทำหน้าที่ของอุบาสก อุบาสิกา เราก็มาย้ำกันว่า การที่เราจะทำหน้าที่นี้ได้อย่างจริงๆ จังๆ สิ่งสำคัญยิ่งอย่างหนึ่งก็คือ จะต้องตกลงกันให้ได้ว่า ชาวพุทธเราควรมีค่านิยมอะไรบ้าง อะไรเป็นค่านิยมที่ไม่ถูกต้อง อะไรเป็นค่านิยมพุทธแท้จริง เมื่อตกลงหรือกำหนดได้แล้ว ก็ต้องเริ่มปฏิบัติให้เป็นเรื่องจริงหรือเป็นของมีจริงขึ้น โดยเฉพาะก็จะต้องเป็นผู้นำในการสร้างค่านิยมพุทธ ที่แสดงออกในความประพฤติ การปฏิบัติ การดำเนินชีวิต เพื่อจะนำให้คนอื่นมีความเชื่อถือ มีความนิยมนับถือ แล้วมีค่านิยมของชาวพุทธนี้ด้วย นี่แหละคือหนทางที่นำไปสู่การเป็นชาวพุทธที่แท้จริง ทีนี้เวลาต่อไปนี้ อาตมาเห็นว่า ถ้ายังเหลืออยู่ก็อาจจะมีการสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ขอเชิญท่านผู้ใดมีคำถามอะไรขอให้นำมาคุยกัน

พระสงฆ์โดยทั่วๆ ไป พุทธบริษัทต่อว่าว่าไม่น่านับถือแล้ว เพราะพระสงฆ์ที่เป็นตัวแทนของพระศาสนานี่ ไม่ค่อยเคร่งครัดต่อพระวินัย ซึ่งเราจะได้พบได้เห็น ได้ยิน ได้ฟังกันมาก ในเรื่องนี้เราจะมีวิธีแก้ไขอย่างไร และถ้าเราจะพูดเพื่อแก้ไขข้อสงสัยนี้ เราควรจะพูดอย่างไร อีกข้อหนึ่งครับ พระสงฆ์ที่วุ่นวายเกี่ยวกับการเมือง ถือว่าผิดวินัยไหม

เจริญพร คำถามนี้รู้สึกจะเป็นคำถามสามัญในยุคปัจจุบัน ถือเป็นการยอมรับสภาพนี้ตั้งแต่เริ่มแรก คือตอนต้น อาตมาได้ตั้งข้อสังเกตว่า ปัจจุบันนี้ค่านิยมพุทธศาสนาได้เสื่อมลงทั้งในด้านความนิยมและกำลัง เรายอมรับว่าเป็นอย่างนั้น ก็เป็นอันเท่ากับบอกว่าค่านิยมพุทธศาสนานี่เสื่อมไปแล้ว มีข่าวเรื่อย เรื่องพระภิกษุสงฆ์เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ อันนี้ก็มีการแก้ตัวและแก้ไขได้หลายอย่าง

การปฏิบัติในเรื่องนี้มี ๒ อย่าง อันหนึ่งคือพูดแก้ หรือพูดส่งเสริมว่าจริงหรือไม่อย่างนั้นอย่างนี้ อีกอย่างหนึ่งคือ พูดถึงท่าทีของเรา ท่าทีของเราต่อปัญหา การที่เราจะมาตอบแก้ว่าจริงไม่จริงนี่ จะแย้งจะค้านไปก็เสียเวลา ไม่มีประโยชน์เท่าไร ทะเลาะไปก็ยิ่งมากเรื่องกว่านี้อีก ทีนี้เราจะวางท่าทีอย่างไร โดยเฉพาะในที่นี้ ก็เป็นตัวแทนชาวพุทธ อุบาสก อุบาสิกาบริษัท ควรจะวางท่าทีต่อเรื่องนี้อย่างไร ท่าทีอย่างนี้ก็คือ ท่าทีแห่งความรู้ความเข้าใจ ท่าทีแห่งเหตุผล แต่ปัญญาหรือความรู้เหตุผลนี่เกิดขึ้นได้อย่างไร จะต้องมีความรู้อีกประเภทหนึ่งด้วย มันจึงจะมีปัญญาวินิจฉัยได้ว่า ควรจะทำอย่างไรดี ความรู้ที่ว่านี้คือความรู้ประเภทสุตะ และสุตะในที่นี้หมายถึงความรู้ความเข้าใจในสถานการณ์ปัจจุบัน

อาตมาขอย้ำเรื่องที่พูดมาแล้วตอนต้นว่า ท่านที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของชาวพุทธนี่ สิ่งหนึ่งที่สำคัญน่าจะต้องย้ำ คือความรู้เกี่ยวกับสถาบันพระพุทธศาสนา อันนี้เป็นปัญหาเรื้อรังมานาน อาตมาต้องขอติว่าผู้นำชาวพุทธเราไม่ค่อยรู้เกี่ยวกับสถาบันพุทธศาสนา เช่นอยู่ในกรุงเทพฯ นี่ วัดอยู่ข้างๆ วัดอยู่ท่ามกลางพวกเรา เราแทบไม่รู้จักเลยว่าพระนี่คือใคร มีความเป็นอยู่ พื้นเพ อะไรต่อมิอะไรอย่างไร ครั้งหนึ่งในสมัยก่อน ชาวบ้านอุบาสกอุบาสิกา ภิกษุสามเณร อยู่ด้วยกันใกล้ชิดกัน ก็เข้าใจซึ่งกันและกัน มีเรื่องอะไรเกิดขึ้นก็ทำความเข้าใจกันได้ ให้รู้ว่าเสียจุดไหน รู้ว่าต้องแก้ไขอย่างไร ทีนี้ปัจจุบันไม่รู้จักกันนี่ เวลาเกิดเรื่องอย่างนี้ ก็ตอบปัญหาก็ช่วยไม่ได้ ถ้ารู้จักกัน เข้าใจกันดีแล้ว มันจะมีคำตอบให้ตัวเองในใจ รู้จักแก้ปัญหานี้ โดยเฉพาะชาวพุทธที่เป็นอุบาสกอุบาสิกานี้ในยุคนี้รู้สึกว่าพระสงฆ์ท่านมีอุปสรรคในการประกาศธรรมในพระพุทธศาสนา แต่ท่านถนัดในการที่จะประกาศความเสื่อมในพระพุทธศาสนา ทีนี้อุบาสกอุบาสิกาก็เป็นบริษัทใหญ่เหมือนกัน แทนที่จะทำหน้าที่ในการเผยแผ่ส่งเสริม ก็กลับจะไปหวังจากพระ อุบาสกอุบาสิกาก็มีฐานะเป็นพุทธบริษัทประกาศศาสนาได้เช่นเดียวกัน จริงอยู่ เราต้องยอมรับฐานะและบทบาทที่ต่างกัน แต่ไม่ใช่อุบาสกอุบาสิกาบริษัทจะไม่มีฐานะบทบาทของตนเองในสมัยพุทธกาล มีเอตทัคคะทางโน้น ทางนี้เยอะแยะไป และพระพุทธเจ้าก็ยังทรงสนับสนุนว่าถ้าอุบาสกอุบาสิกายังไม่มีความรู้ความสามารถในทางธรรม ยังไม่เชี่ยวชาญพอที่จะประกาศหลักธรรมและแก้ข้อกล่าวหาต่อพระศาสนาได้ พระพุทธศาสนาก็ยังไม่ชื่อว่าเจริญมั่นคง

อุบาสกอุบาสิกาควรจะต้องมีสถาบันของตัวเองได้ มีกิจการทางสังคมที่ใหญ่โต เป็นฐานรองรับภิกษุบริษัทไว้อีกชั้นหนึ่ง แบ่งงานกับพระสงฆ์ ทำบทบาทที่พระสงฆ์ไม่เหมาะที่จะทำในสังคม ส่วนประกอบของสังคมที่ใหญ่นั้น ถ้าหากว่าเป็นส่วนประกอบที่ดีก็จะมาช่วยซึ่งกันและกัน อุบาสกอุบาสิกาบริษัทที่ดีก็จะมาช่วยภิกษุบริษัทให้ดีขึ้น ถ้าหากเรามาถือว่า พระสงฆ์นี่เป็นตัวสถาบันพุทธศาสนาทั้งหมดแล้ว ก็ไม่มีส่วนช่วย สองส่วนน่าจะมาช่วยซึ่งกันและกัน ถ้าส่วนหนึ่งตกลงไป อีกส่วนหนึ่งก็น่าจะมาช่วยพยุงขึ้น หลายครั้งหลายคราวที่อุบาสกอุบาสิกาจะสามารถค้ำชูไว้ได้ ถ้าเรารู้สึกว่าเรามีบทบาท เรามีภาระอยู่ บางครั้งเรามีความรู้สึกเหมือนว่าพระพุทธศาสนานี่เป็นของพระสงฆ์ฝ่ายเดียว เวลามีอะไรเกิดขึ้น ก็จะเหมือนกับว่า มีแต่พระสงฆ์เท่านั้นที่ทำหน้าที่ในพระพุทธศาสนา หรือถึงกับเห็นพระสงฆ์เป็นเจ้าของพุทธศาสนาเสียเลย เมื่อพระสงฆ์เสื่อม หรือมีพระทำไม่ดี ก็พูดว่าจะไม่นับถือพุทธศาสนา ทำราวกะว่าตนเองเป็นคนนอก ไม่ได้เป็นเจ้าของพุทธศาสนาด้วย ที่ถูกควรคิดว่ามีคนไม่ดีเข้าไปบวชทำลายศาสนาของเรา เราจะต้องช่วยแก้ไข เมื่อมีพระสงฆ์เป็นแกนกลาง ถ้าหากว่าส่วนนอกไม่เข้าทำหน้าที่เสียเลย จะเป็นอย่างไร การที่เราบอกว่าอุบาสกอุบาสิกาทำอะไรไม่ได้ นี่แสดงว่าอุบาสกอุบาสิกาบริษัทเสื่อมไปก่อนแล้ว ถ้าหากอุบาสกอุบาสิกาเสื่อม พระสงฆ์จะไม่เสื่อมได้ยาก ยกตัวอย่างง่ายๆ ชีวิตความเป็นอยู่ในสมัยโบราณ พระสงฆ์กับคฤหัสถ์อยู่ด้วยกัน พระสงฆ์สอนคฤหัสถ์ให้ทำความดี คฤหัสถ์คอยดูพระสงฆ์อยู่เรื่อยๆ พระสงฆ์ก็ประพฤติดี อุบาสกอุบาสิกามีความเคารพในพระสงฆ์ พระสงฆ์ก็ระวังตัวต้องตั้งใจประพฤติปฏิบัติตัวดี เมื่อประพฤติปฏิบัติตัวดีก็ได้รับความนับถือจากชาวบ้าน และสามารถสั่งสอนควบคุมชาวบ้านให้ประพฤติดี

ทีนี้ระบบนี้มันเสื่อมไปแล้ว ระบบการควบคุมโดยธรรมในพระพุทธศาสนาไม่มีเหลือ ความเสื่อมก็เกิดขึ้นได้ แต่ก่อนนี้พระจะไปไหน ไปสวดมนต์ไหน ไปทำอะไรที่ไหน เป็นอยู่อย่างไร ชาวบ้านก็รู้หมด เพราะว่าเขาใส่ใจ แต่เดี๋ยวนี้ชาวบ้านเอาแต่ประโยชน์ของตนเอง นิมนต์พระไปทำบุญบ้าน นี่มองแง่หนึ่งถือว่าชาวบ้านเอาประโยชน์ของตนเอง ฉันอยากทำบุญ ฉันก็รับพระมาทำบุญให้ฉัน พระจะทำอะไร อยู่อย่างไรก็ช่าง เราไม่ได้สนใจเลยว่าพระสงฆ์ที่ท่านมาเป็นใคร เป็นอย่างไร พอถึงเวลาท่านก็มาประกอบพิธีให้ นี่มองในแง่หนึ่งก็เหมือนกับว่า พวกเราเอาแต่เรื่องของตนเอง ฝ่ายพระบางส่วนพอไม่มีใครมาดูแล้ว ฉันจะทำอย่างไรก็ได้ ก็ขาดระบบควบคุม อาตมาก็เลยขอบอกว่าความจริงอุบาสกอุบาสิกาบริษัทนั่นแหละเสื่อมก่อน เสื่อมมานานแล้ว เสื่อมจนจะไม่มีเหลือเป็นชิ้นเป็นอันแล้ว ถึงเวลานี้พระสงฆ์ภิกษุบริษัทจึงเสื่อมบ้าง เมื่อกำแพงรอบนอกพังลงแล้ว ความเสื่อมจึงเข้ามาถึงภายใน ที่ว่ามานี้ท่านจะยอมรับหรือไม่ โทษกันเอง เสียเวลาและไม่มีประโยชน์ มาช่วยแก้ดีกว่า เรามาช่วยกันศึกษาว่ามันเป็นเพราะอะไร เอาสิ่งต่างๆ เหล่านี้มาวิเคราะห์ เมื่อรู้เข้าใจเหตุผลที่เป็นมาแล้วก็จะเกิดความเห็นใจ แต่ว่าถ้าเห็นใจเกินไปมันก็เสีย มันไม่รู้จักแก้ไข แต่ถ้าไม่รู้จักศึกษาก็ไม่รู้จักทางแก้ ก็แก้ไม่ถูกที่เหมือนกัน ในแง่ที่พระสงฆ์เสื่อมนี่ อาตมาว่าให้มองทั้งแง่ที่น่าเห็นใจด้วย ถ้าเราศึกษาเรื่องสถาบันสงฆ์ดีแล้ว เราก็เกิดความเห็นใจ ความรู้คือปัญญามันจะกลับมาทำให้เกิดกรุณา คือความที่เห็นอกเห็นใจแล้วก็จะเห็นพระคุณของพระพุทธเจ้าที่เป็นหลักใหญ่ คือ ปัญญาคุณและกรุณาคุณ (จะเพิ่มวิสุทธิคุณตามนิยมในเมืองไทยก็ได้) เมื่อพระพุทธเจ้ามีปัญญาสูงสุดแล้วก็เข้าใจทุกข์สุขของสัตว์มนุษย์ทั้งหลาย พระองค์ก็เกิดกรุณาอยากจะช่วยเหลือ เราก็เหมือนกัน ถ้าเราได้ศึกษาอะไร เราเห็นโจรแต่ละคนนี่น่าจะลงโทษให้หนัก แต่พอเราศึกษาชีวิตเขาแล้วว่าเขาเป็นอย่างนี้เพราะอะไร แล้วเราอาจจะพบข้อน่าเห็นใจ และเข้าใจว่าสภาพสังคมนี้น่าจะมีอะไรแก้ไขอีกเยอะแยะ ใจจะเกิดความเป็นอิสระขึ้นแล้วเห็นทางแก้ไขที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นอาตมาว่าอันนี้ต้องเริ่มด้วยปัญญา ชาวพุทธควรจะศึกษาเรื่องสถาบันพุทธศาสนาของตนเองให้เข้าใจดี ไม่ใช่รู้จักธรรมอย่างเดียว รู้จักว่าพระสงฆ์เป็นใครมาอย่างไร มีสภาพอย่างไร อะไรต่ออะไร เมื่อเข้าใจดีแล้ว ความเห็นใจและวิธีการแก้ไขจะตามมา คำถามเหล่านี้คุณจะตอบตัวเอง อาตมาจะไม่แก้ให้

พระสงฆ์วุ่นวายกับการเมืองนี่จะต้องแยกแยะ จะต้องใช้หลักวิภัชชวาทอีก พระพุทธเจ้าทรงติเตียนพระสงฆ์องค์เจ้าไม่ให้ยุ่งการเมือง แต่อีกด้านหนึ่งก็คือ พระมีหน้าที่สอนนักการเมือง อันนี้ไม่รู้ว่าจะเรียกว่าการเมืองหรือเปล่า ที่จริงไม่ว่าใครทั้งนั้น ท่านให้ทำหน้าที่ของตนให้ดี ถ้าเป็นนักการเมืองก็ให้เป็นนักการเมืองที่ดี จะเป็นอะไรก็ให้เป็นอย่างนั้นที่ดี ถ้าพระจะทำหน้าที่ที่ดีก็คือสอนนักการเมืองให้ทำหน้าที่ให้ดี สอนข้อปฏิบัติที่ทำให้มีการเมืองที่ดีที่ชอบธรรม

อันนี้ยกปัญหาที่กล่าวถึงเมื่อกี้อีกแล้ว อาตมาบอกว่าให้ศึกษากันก่อน ศึกษาแล้วเกิดปัญญาจะแก้ไขอะไรต่างๆ ได้ ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งในสังคมไทยขณะนี้ โดยเฉพาะในสังคมชาวพุทธคือความไม่รู้ ก็เลยไม่ทำหรือทำก็ไม่ถูกเรื่อง อาตมาขอย้ำว่า ในสังคมไทยเราไม่ค่อยรู้จักสังคมตัวเอง เราชอบหันไปมองข้างนอกก็เลยไม่รู้จักตัวเอง ตอนนี้เราจะสนับสนุนส่งเสริมค่านิยมชาวพุทธ ก็อยากจะให้ชาวพุทธนี่เป็นผู้ที่รู้จักสังคมไทยดีกว่าคนอื่น นักศึกษาชาวพุทธน่าจะเป็นส่วนที่รู้จักสังคมไทยดีกว่ากลุ่มอื่น เพราะว่าสังคมนี่รวมไปถึงสถาบันทางวัฒนธรรมต่างๆ ที่อยู่ภายใน ซึ่งมีพระพุทธศาสนาเป็นส่วนประกอบสำคัญ ถ้าเราจะแก้ไขคนไทย ก็ต้องรู้จักคนไทยให้ดี ปัจจุบันเราขาดความรู้ในเรื่องสังคมไทยอย่างมาก

วิธีการต้องอาศัยความรู้ การวางตัวของชาวพุทธที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นวิธีหนึ่งที่จะแก้ปัญหาก็คือการส่งเสริมสิ่งที่ดีขึ้นมาแล้ว สิ่งไม่ดีก็จะอ่อนลงไป จางหรือลดน้อยลงไปเอง นี่เป็นวิธีแก้ไขอย่างหนึ่ง ถ้าเราไม่ศึกษาให้ดี เราอาจจะแก้ผิด ถ้าจะแก้ระยะยาวเราต้องทำความรู้ความเข้าใจให้ถูกต้อง เมื่อชาวพุทธมีความรู้ก็จะมีความมั่นใจที่จะแสดงออก ถ้าทำอย่างจริงจัง ก็จะมีผลต่อบ้านเมือง

ขอตอบคำถามนี้รวบยอดอีกทีว่า ถ้าแม้พระสงฆ์จะทำตัวไม่น่านับถือ แต่ถ้าชาวพุทธชาวบ้านยังสามารถนับถือความเป็นชาวพุทธที่มีในตนเองได้ พุทธศาสนาก็จะยังอยู่ และจะแก้ไขพระสงฆ์ให้น่านับถือได้ต่อไป อันนี้เป็นคำถามที่ฝ่ายชาวบ้านจะต้องตอบเอง

อหิงสาของคานธี เกี่ยวข้องอย่างไรกับหลักพระพุทธศาสนา

หลักอหิงสาเรารู้กันดีว่ามีมหาตมะคานธีเป็นผู้ยึดมั่นเด่นมาก ถ้ามองในแง่ประวัติศาสตร์อหิงสาเป็นหลักธรรมเก่า

ในทางพระพุทธศาสนา อหิงสาก็เป็นธรรมข้อหนึ่ง แต่รูปที่ใช้บ่อยมักเป็นอวิหิงสา แปลว่าความไม่เบียดเบียน การไม่เบียดเบียนที่แสดงออกทางกายและวาจา มีคุณธรรมภายในเป็นพื้นฐานคือสัมมาสังกัปปะ ซึ่งแยกเป็นข้อย่อยข้อหนึ่งว่า อวิหิงสาสังกัปปะ ความดำริที่ปราศจากการเบียดเบียน อวิหิงสา เป็นคำควบคู่กับคำว่ากรุณา และหมายความตรงกับความกรุณาด้วย ในฐานะที่เป็นสัมมาสังกัปปะก็ย่อมต้องมาจากสัมมาทิฏฐิ มีความเข้าใจที่ถูกต้องหรือความเห็นชอบเป็นพื้นฐาน ถ้าต้องการทราบอหิงสาอย่างเป็นขบวนการของมหาตมะ คานธี เราก็ต้องศึกษาจากมหาตมะ คานธี อุดมการณ์ของมหาตมะ คานธี ยกหลักอหิงสานี้เป็นหลักเอกทีเดียว ถ้าจะตอบในแง่ประวัติศาสตร์จะยืดยาวไปกันไกลทีเดียว เพราะหลักอหิงสามีไม่เฉพาะในพุทธศาสนาเท่านั้น นิครนถ์ก็สอนอหิงสา เน้นมากด้วย อหิงสาในพระพุทธศาสนา มีหลักการที่แตกต่างกับของนิครนถ์ในแง่สำคัญบางอย่าง ส่วนมหาตมะ คานธีนั้น ท่านได้ศึกษาหลักธรรมต่างๆ ของชมพูทวีปเป็นอันมาก รวมทั้งหลักอหิงสาที่ท่านฝักใฝ่มาก ซึ่งแหล่งอิทธิพลเดิมที่สำคัญก็คงจะเป็นพระพุทธศาสนาและลัทธินิครนถ์นี่แหละ แล้วท่านเจาะจงพัฒนาความคิดเกี่ยวกับอหิงสาขึ้นเป็นพิเศษโดยเฉพาะ เพื่อใช้ให้ได้ผลทางปฏิบัติการอย่างเหมาะสมกับยุคสมัยของท่าน เรื่องนี้คงจะตอบสั้นๆ เพียงเท่านี้

คำอนุโมทนา

สำนักพิมพ์เทียนวรรณ มีฉันทะที่จะเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ได้อุตสาหะรวบรวมข้อเขียน บทความ และคำบรรยายในโอกาสต่างๆ ของผู้เขียน จัดประมวลเป็นหมวด แล้วขออนุญาตพิมพ์เป็นหนังสือเล่ม เฉพาะเล่มนี้ให้ชื่อว่า ค่านิยมแบบพุทธ ผู้เขียนไม่ขัดข้อง เพราะเป็นการช่วยกันเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ อันจะอำนวยประโยชน์ ทั้งในทางวิชาการ และในการเจริญกุศลธรรม

สิทธิในการพิมพ์เฉพาะครั้ง ได้มอบให้เปล่าแก่ผู้จัดพิมพ์ในแต่ละครั้ง เช่นเดียวกับหนังสืออื่นทุกเล่มของผู้เขียน เท่าที่ได้พิมพ์แล้ว ไม่ว่าโดยบุคคลหรือสถาบันใด ทั้งนี้ ด้วยถือว่า ความเจริญแพร่หลายแห่งธรรมและความงอกงามแห่งสัมมาปัญญาที่อาจเกิดมีขึ้นจากธรรมทานนั้น จักเป็นผลสนองที่มีคุณค่าสูงสุด

ขออนุโมทนาต่อสำนักพิมพ์เทียนวรรณ ที่ได้มีฉันทะและวิริยะดำเนินการจัดพิมพ์หนังสือนี้ขึ้นเผยแพร่ ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสำนักพิมพ์ในการบำเพ็ญประโยชน์ ตั้งต้นแต่คุณดุษฎี อังสุเมธางกูร ผู้เริ่มงานประมวลและจัดประเภทข้อเขียนคำบรรยายเหล่านั้น อันเกื้อกูลแก่การจัดพิมพ์ของสำนักพิมพ์ ขอกุศลกรรมร่วมกันนี้ จงอำนวยผลเพื่อประโยชน์สุขของพหูชน ตลอดกาลนาน

พระราชวรมุนี (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
๑๖ ธันวาคม ๒๕๒๖

1พิมพ์ครั้งแรกในหนังสือ อายุวัฒนกถา แจกเนื่องในงานวันเกิด ส.ศิวรักษ์ ครบรอบ ๕๐ ปี
2องฺ.ปญฺจก. ๒๒/๑๒๕-๖/๑๖๓.
3เช่น ที.ปา. ๑๑/๔๗/๘๐
4ดู สํ.ส. ๑๕/๓๗๙/๑๒๖; องฺ.ปญฺจก. ๒๒/๔๓/๕๓.
5ขุ.ธ. ๒๕/๑๒/๑๘.
6อ.งฺ. สตฺตก. ๒๓/๓๔/๓๓
7พิมพ์ครั้งแรกในหนังสือ โกมล คีมทอง อันเป็นหนังสือที่ระลึกในงานสังสการศพ นายโกมล คีมทอง ณ ฌาปนสถาน วัดประยุรวงศาวาส ๑ มิถุนายน ๒๕๑๔
8สะกดนามมหาวิทยาลัยโดยไม่มีการันต์ที่ ณ ตามแบบที่ใช้กันในช่วงปี พ.ศ. 2497–2514 -- ผู้จัดทำเว็บไซต์
9แสดงในที่ประชุมเสวนาของลุมพินีธรรมสมาคม ณ ศูนย์สารนิเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๒๔
10สัมภาษณ์โดยนายดุษฎี อังสุเมธางกูร แห่งคณะกรรมการศาสนาเพื่อการพัฒนา (ศ.พ.พ.) เมื่อ ๑๘ กันยายน ๒๕๒๖ พิมพ์ครั้งแรก นิตยสาร "สตรีทัศน์" ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๒๖ - มกราคม ๒๕๒๗
11แสดงเมื่อวันอาสาฬหบูชา ๕ กรกฎาคม ๒๕๒๕ ณ อุโบสถวัดทองนพคุณ ตามคำอาราธนาของชมรมพุทธ-ไทยปริทัศน์ พิมพ์ครั้้งแรกใน จดหมายเหตุกลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคม ฉบับที่ ๒๒ เดือนกันยายน ๒๕๒๕
12จากคอลัมน์ "คนหนุ่มรุ่นใหม่" สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ฉบับที่ ๒ ปีที่ ๘ ก.พ.- พ.ย. ๒๕๑๓ สุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการ
13พิมพ์ครั้งแรกในบันทึกการสัมมนา "อุดมคติของคนหนุ่มสาว" ๒๔-๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๑๔ ณ วัดอุโมงค์ เชียงใหม่ (มูลนิธิโกมลคีมทองจัดพิมพ์)
14เรียบเรียงจากการอภิปรายเรื่อง “ธรรมกับการศึกษาแพทยศาสตร์” ที่คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ร่วมกับนายแพทย์อวย เกตุสิงห์ (ผู้นำการอภิปราย) พระราชโมฬี วัดพระเชตุพน กิติวุฑโฒภิกขุ (มูลนิธิอภิธรรมมหาธาตุวิทยาลัย และจิตตภาวันวิทยาลัย) นายแพทย์ตันม่อเซี้ยง และนายสุชีพ ปุญญานุภาพ
พิมพ์ครั้งแรกใน สารศิริราช ปีที่ ๒๒ ฉบับที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๑๓ หน้า ๖๑๓ – ๖๖๘
15คำบรรยายแสดงแก่ที่ประชุมทางวิชาการศาสนาของชุมนุมพุทธศาสนาระดับอุดมศึกษาทั่วประเทศ ที่ มศว.บางแสน เมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๒๒ พิมพ์ครั้งแรกใน จุลสาร วิถี ปีที่๑ ฉบับที่ ๔-๕ ของชุมนุมศึกษาพุทธศาสตร์ และประเพณี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก.ย.-ต.ค. ๒๕๒๕
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง