สถาบันสงฆ์กับสังคมปัจจุบัน

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

บันทึกที่ ๑: ว่าด้วย การวิเคราะห์ปัญหา (เพิ่มเติม)
และลู่ทางแก้ไขปัญหาการศึกษาของสถาบันสงฆ์

 

จากความเท่าที่กล่าวมาในบันทึกที่ ๑ นี้ จะเห็นว่า คุณค่าของสถาบันสงฆ์ที่มีอยู่ในปัจจุบันนั้น เมื่อมองในแง่ของสิ่งที่สังคมขาดแคลน ก็เป็นคุณค่าที่มากมายและสำคัญยิ่ง แต่ถ้ามองในแง่ของภาวะที่ควรจะเป็น ก็เป็นคุณค่าที่มีไม่มากเท่าที่ควร ทั้งนี้ เพราะเป็นคุณค่าที่เกิดจากสภาพซึ่งมีปัญหาอยู่ในตัว

เมื่อได้กล่าวถึงปัญหาไว้แล้ว ก็เห็นว่าควรวิเคราะห์ปัญหานั้นให้ชัดเจนขึ้นอีกสักเล็กน้อย และชี้แนะลู่ทางในการแก้ปัญหาไว้ด้วย ตามที่นึกเห็น และเท่าที่เข้ากับปัญหาเฉพาะหน้าโดยตรง

ปัญหาเกิดจากความไม่รู้ และการไม่ยอมรับรู้

ต้นตอของปัญหาที่กล่าวมานั้นมีอยู่อย่างเดียว คือ การที่รัฐและคณะสงฆ์ ตลอดถึงสังคมส่วนรวม ไม่รับรู้สภาพความจริงที่เป็นอยู่ จึงทำให้การแก้ปัญหาไม่มีจุดเริ่มต้น และไม่อาจทำได้สำเร็จ

ดูเหมือนว่าทุกคนและทุกฝ่ายจะสร้างมโนภาพเตรียมไว้สำหรับนำมาอ้างแก่กัน (รวมทั้งอ้างกับตนเองด้วย) ว่าพระภิกษุสามเณรทุกรูป คือผู้สละโลกแล้วโดยสิ้นเชิง ไม่ยุ่งเกี่ยวกับสังคม เข้าถึงความสงบแล้วโดยสมบูรณ์ พอเข้าโบสถ์บวชเสร็จออกมา ก็บริบูรณ์เหมือนผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป

ในเวลาเดียวกัน เมื่อมองถึงความสัมพันธ์ระหว่างพระสงฆ์กับสังคม ก็จะเพ่งมองด้วยมโนภาพที่ว่า สถาบันสงฆ์เป็นสถาบันที่แยกขาดออกไปต่างหากจากส่วนอื่นๆ ของสังคม ประกอบด้วยบุคคลที่ล้วนสละโลกแล้ว มีคุณสมบัติสมบูรณ์ พร้อมที่จะทำหน้าที่เป็นตัวแทนของสถาบันของตน สถาบันนี้ได้ทำอะไรที่เป็นการช่วยเหลือเกื้อกูลแก่สังคมส่วนใหญ่ คือสังคมคฤหัสถ์บ้าง

บางครั้ง ความนึกคิดตามมโนภาพ ๒ อย่างนี้ ก็ขัดแย้งกันเอง ทำให้เสียงที่ติเตียนพระสงฆ์ กับเสียงที่เรียกร้องบริการจากสถาบันสงฆ์ ไม่สอดคล้องกัน

แต่จะเพ่งมองด้วยมโนภาพอย่างไหนก็ตาม ย่อมรวมความได้ว่า คนเหล่านี้มองแต่สิ่งที่ตนต้องการจะให้เป็น โดยไม่ยอมศึกษาเหตุผลว่า ถ้าจะให้เป็นอย่างนั้น สภาพของสถาบันสงฆ์จะต้องเป็นอย่างไร สภาพความจริงที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเป็นอย่างไร อำนวยโอกาสที่จะให้เป็นอย่างที่ต้องการนั้นได้หรือไม่ เราได้ทำอะไรที่เป็นการวางพื้นฐานเพื่อให้สถาบันสงฆ์เป็นอย่างนั้นบ้างแล้วหรือไม่

ถ้าจะใช้คำรุนแรง ก็ต้องว่า แทบทุกคนและทุกฝ่ายมองปัญหาด้วยอาการหลอกลวง และเข้าเกี่ยวข้องกับปัญหาด้วยอาการเห็นแก่ได้

พอจะแน่ใจได้ว่า มโนภาพที่กล่าวนี้ มีขึ้นเด่นชัด ในระยะที่รัฐรับเอาระบบการศึกษามาจัดดำเนินการเอง และคณะสงฆ์ตกลงเลิกให้การศึกษาสำหรับพลเมืองแล้ว

เมื่อไม่รับรู้สภาพความจริง และสร้างมโนภาพสำหรับนำมาอ้างแก่กันอย่างนี้ ทางฝ่ายคณะสงฆ์ ซึ่งแต่เดิมเคยทำหน้าที่เป็นสถาบันการศึกษาทั้งในสังคมไทยเดิม และในสังคมไทยยุคเริ่มรับอารยธรรมตะวันตก ก็ได้หันมาจำกัดขอบเขตแห่งความมุ่งหมาย และแนวความคิดในการจัดการศึกษาของตนให้แคบเข้า โดยมีความรู้สึกและแสดงอาการประดุจมีสภาพความจริงอยู่ว่า พระภิกษุสามเณรทุกรูปเข้ามาบวชด้วยความตั้งใจสละโลกแล้ว และมุ่งอุทิศตนต่อพระศาสนาโดยสิ้นเชิง และถือว่าผู้บวชยอมรับข้อกำหนดที่จะให้ทำหน้าที่อยู่สืบศาสนา ไม่สึกหาลาเพศอย่างแน่นอน

คณะสงฆ์หันเข้าหานโยบายการศึกษาที่จะผูกมัดพระเณรไว้

เมื่อรู้สึกอย่างนี้ และต้องการแสดงอาการให้เห็นว่ารู้สึกอย่างนั้น ทางฝ่ายคณะสงฆ์จึงหันเข้าบีบรัดระบบการศึกษาของตนเอง

จะเห็นได้ว่า ในตอนเริ่มปรับปรุงการศึกษาใหม่ๆ ซึ่งรัฐกับคณะสงฆ์ยังไม่แยกจากกันในการให้การศึกษานั้น หลักสูตรและเนื้อหาวิชาปริยัติธรรม มีจุดมุ่งและแนวการจัดทำอยู่ที่ว่าจะนำเอาหลักธรรมวินัยออกมาเปิดเผย ทำให้เป็นที่รู้ที่เข้าใจเข้าถึงกันได้กว้างขวางลึกซึ้ง และง่ายขึ้นสำหรับผู้ที่เข้ามาศึกษาในเวลานั้น แต่ต่อมาภายหลังแนวความคิดกลับกลายเป็นมุ่งที่จะผูกมัดผู้ศึกษาให้ยึดมั่นอยู่กับเนื้อหาวิชาในหลักสูตรและในตำราให้มากที่สุด ด้วยกลัวว่าผู้ศึกษาจะห่างเหินออกไปจากหลักศาสนา

(แนวความคิดเดิม จับอยู่ที่หลักสูตรและเนื้อหาวิชาว่า จะทำหลักสูตรและเนื้อหาวิชาอย่างไรให้ผู้เรียนรู้เข้าใจและได้ประโยชน์ที่สุด แนวความคิดตอนหลัง จับอยู่กับผู้เรียนว่า ทำอย่างไรจึงจะให้ผู้เรียนผูกตนอยู่กับหลักสูตรที่มีอยู่แล้วนั้นได้มากที่สุด)

ทั้งสองอย่างนี้ ดูเผินๆ สภาพที่มองเห็นก็คล้ายกัน คือ หลักสูตรเนื้อหาวิชาหลังจากเริ่มปรับปรุงตอนแรกแล้ว มีอยู่อย่างไรก็มีอยู่อย่างนั้น คงอยู่อย่างเดิม แต่ผลที่ปรากฎแก่การศึกษาก็คือ การเปิดเผยความรู้และสร้างเสริมความเข้าใจไม่ก้าวหน้าเพิ่มขึ้น พร้อมนั้นเนื้อหาวิชาที่ให้เรียนก็ห่างไกลจากความสัมพันธ์กับสภาพชีวิตที่แท้จริงของสังคมออกไปทุกทีๆ

จากหลักสูตรที่เป็นกลาง เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจธรรมวินัยก็แฝงความรู้สึกเข้าไปว่า หลักสูตรสำหรับผู้ไม่สึก จากนั้นก็สำทับเข้าไปอีกว่า เป็นหลักสูตรสำหรับทำให้ไม่สึก หรือหลักสูตรกันสึก1

เมื่อถือเหมือนว่าผู้บวชทุกคนไม่สึก และคำนึงอยู่แต่จะจัดเนื้อหาวิชาสำหรับผู้ไม่สึก จนกลายเป็นวิชาสำหรับป้องกันสึก (ความจริงเป็นระบบกีดกันหรือปิดกั้นหนทางไม่ให้สึกมากกว่า) อย่างนี้แล้ว ก็ลืมนึกถึงสภาพความจริงเกี่ยวกับประเพณีการบวช แล้วก็ปล่อยทิ้งให้เป็นไปตามเดิม ไม่เข้าไปเกี่ยวข้องจัดการ

ผู้บวชนั้น เข้ามาบวชตั้งแต่เป็นเด็ก มีความเข้าใจร่วมกับพ่อแม่ของตนในชนบทว่าบวชเพื่อได้รับการศึกษา ไม่ตระหนักชัดในความมุ่งหมายขั้นสูงของการบวช เคยเข้าใจมาอย่างไร ก็เข้าใจไปอย่างนั้น

(ดูเหมือนจะปล่อยปละละเลยยิ่งกว่าเดิมด้วยซ้ำ เพราะเดิมผู้ให้บวชยังตระหนักอยู่บ้างว่าบวชแล้วจะต้องให้เรียน แต่ตอนหลังนี้ จุดหมายมีแต่ส่วนที่เป็นอุดมคติไกลตัว จุดหมายใกล้ตัวที่เป็นทางปฏิบัติไม่มี เลยกลายเป็นเลื่อนลอยมากขึ้น จนถึงขั้นสักว่าบวช เป็นการเปิดโอกาสให้แก่ผู้มีเจตนาเข้ามาบวชแอบแฝงหาความสุขสบายโดยตรงมากขึ้น)

สภาพการดำรงเพศของผู้บวชก็คงเดิม คือร้อยละ ๙๕ จะลาสิกขาเวียนกลับเข้าสู่สังคมคฤหัสถ์ตามเดิม

การไม่รับรู้สภาพความจริงของคณะสงฆ์ (ถึงจะมีท่านที่รับรู้บ้าง ก็น้อย และท่านที่รับรู้นั้น ก็มักไม่ค่อยแน่ใจตนเอง หรือมักแสดงอาการที่ขัดๆ เหมือนกับอำพรางการรับรู้นั้น) ทำให้เกิดสภาพขัดขืน และการไม่เข้าไปจัดการแก้ไขสิ่งที่เป็นปัญหาให้เสร็จสิ้นไป คือทำการเหมือนว่าพระเณรทุกรูปไม่สึก ทั้งที่ส่วนใหญ่ (ความจริงคือแทบทั้งหมด) จะต้องสึกอย่างแน่นอน

ทางฝ่ายรัฐ ซึ่งได้สร้างมโนภาพร่วมกันมากับคณะสงฆ์ เมื่อรับเอาการศึกษาสำหรับพลเมืองมาดำเนินการทั้งหมด และไม่สามารถจัดบริการการศึกษาได้ทั่วถึง ตามความมุ่งหมายที่ตั้งไว้ จนกระทั่งระบบการศึกษาของตนได้กลายเป็นบริการสำหรับผู้ได้เปรียบทางเศรษฐกิจและทางภูมิศาสตร์ไปเสียดังที่กล่าวแล้ว ก็ได้หาทางแก้ปัญหา พยายามขยายบริการการศึกษาแก่คนยากจนชาวชนบทให้มากขึ้น แต่ก็ยังแก้ปัญหาไม่ได้ผลที่น่าพอใจ

รัฐไทย สังคมไทย มองปัญหาของคนไทย
โดยปิดตาออกไปจากสถาบันสงฆ์

ตลอดเวลาที่แก้ปัญหาอยู่นี้ มโนภาพที่ทางฝ่ายรัฐสร้างไว้ต่อสถาบันสงฆ์ ได้กลายเป็นเครื่องพรางตาตนเองและสกัดกั้นไว้ไม่ให้สืบค้นหรือแม้แต่มองปัญหาเข้ามาถึงข้างในสถาบันสงฆ์

รัฐรู้แต่เพียงว่า เด็กจบประถมสี่แล้ว ส่วนใหญ่ โดยเฉพาะเด็กชาวชนบท ได้หลุดหายออกไปจากระบบการศึกษา รัฐนึกได้เพียงว่า เด็กเหล่านั้น คงจะกลับไปทำไร่ไถนาอยู่กับพ่อแม่ทั้งหมด หารู้ตัวไม่ว่า เด็กจำนวนประมาณแสนคนที่ยังมีจิตใจใฝ่ในการศึกษา หรือที่พ่อแม่มีสำนึกในทางการศึกษาอยู่บ้าง ได้เข้ามาสู่สถาบันสงฆ์เพื่อความมุ่งหมายนั้น

ความไม่รู้ไม่ตระหนักเช่นนี้ เป็นเหตุให้รัฐไม่ติดตามเอาใจใส่ต่อการศึกษาและการดำเนินชีวิตของเยาวชนในวัยเรียนเหล่านี้อีกต่อไป และไม่มีความคิดเชื่อมโยงที่จะหาทางประสานประโยชน์จากช่องทางนี้ด้วย

รัฐมองไม่ถึงสถาบันสงฆ์จึงไม่รู้จักสังคมไทย
แล้วก็แบ่งแยกคนไทยเสร็จไปในตัว 

ส่วนทางด้านสังคมส่วนใหญ่ การไม่รับรู้สภาพความจริงและสร้างมโนภาพไว้เช่นนั้น ก็นำไปสู่ทัศนคติที่เพ่งมองและตั้งข้อรังเกียจต่อภิกษุสามเณรที่เล่าเรียนแล้วลาสิกขาออกมา ในแง่ต่างๆ เช่นว่า เอาเปรียบสังคม แย่งอาชีพชาวบ้าน เป็นต้น2

1ในกรณีนี้ ถ้าทำได้จริงอย่างนั้น ก็จะเป็นความดีงามอย่างยิ่ง แต่ทั้งนี้ ต้องหมายความว่า ทำให้พอใจไม่สึก ไม่ใช่ทำให้ต้องจำใจไม่สึก (เพราะถูกกักไว้ หมดทางไป จึงทนอยู่)
2เมื่อจะเขียนบันทึกเพิ่มเติมนี้ ได้อ่านข้อเขียนสั้นๆ เรื่อง “ดวงแก้วหมอง” ใน น.ส.พ. ประชาธิปไตย ฉบับ ๘ ก.ย. ๑๗ ตำหนิพระเณรที่เรียนหนังสือแล้วลาสิกขา ถึงขนาดว่า เป็นขอทานที่ชาวพุทธต้องกราบไหว้ ข้อเขียนนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ยืนยันถึงการขาดความรู้ ความเข้าใจเช่นนี้ในระดับปัญญาชน ซึ่งไม่เข้าใจเลยลงไปจนถึงเหตุผลในการกราบไหว้
The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.