สถาบันสงฆ์กับสังคมปัจจุบัน

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

สภาพสถาบันสงฆ์ บอกสภาพชนบทไทย
สถาบันสงฆ์ช่วยชาวชนบทและคนยากจน ให้มีโอกาสในการศึกษา

ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมในแง่นี้ ได้ทำให้สถาบันสงฆ์ปัจจุบันมีสภาพอย่างที่เห็นๆ กันอยู่ ซึ่งแปลกไปจากสมัยก่อน

วัดในสมัยก่อน มีลูกเจ้านาย ขุนนาง เศรษฐี ลูกคนสามัญ อยู่รวมกันมาก จะสำรวจได้ง่ายๆ จากชื่อสมภารวัดต่างๆ เมื่อไม่นานมานี้

แต่เดี๋ยวนี้ ลูกเจ้านาย ลูกขุนนาง ลูกคหบดี เกือบไม่มีแล้ว มีก็บวช ๓ เดือนเป็นอย่างมาก เหลือใคร ก็เหลือแต่ลูกชาวไร่ชาวนาในชนบท ดูง่ายๆ ลองไปสำรวจวัดทุกวัดในกรุงเทพฯ

ปัจจุบันนี้ ใครไม่รู้จักสถาบันสงฆ์ ก็ไม่รู้จักชนบทไทย ถ้านับพระที่บวชนานเกินกว่าพรรษาขึ้นไป จะเป็นพระจากชนบท ๙๐% แล้วเป็นลูกชาวไร่ชาวนาทั้งนั้น ในด้านการศึกษาก็เหมือนกัน จะเป็นนักธรรมตั้งแต่ชั้นโทขึ้นไป (ชั้นตรีมีพระนวกะบวช ๓ เดือนปนมาก) ก็ตาม บาลีก็ตาม ตลอดจนมหาวิทยาลัยสงฆ์ก็ตาม ๙๐ กว่าเปอร์เซนต์เป็นพระชาวชนบทและเกิดในตระกูลชาวไร่ชาวนา1 ตรงข้ามโดยสิ้นเชิงกับสถิติการศึกษาฝ่ายบ้านเมือง หรือของคฤหัสถ์

นี่หมายความว่า การศึกษาของพระ ทั้งที่ถูกปล่อยปละละเลย เหลือมาตามประเพณีนี้เอง ก็ได้ช่วยกู้หรือค้ำจุนสังคมไว้ ด้วยการทำหน้าที่สำคัญเกินกว่าที่จะคาดคิดกัน คือการช่วยแก้ปัญหาสำคัญที่ระบบการศึกษาของรัฐเท่าที่ผ่านมาได้สร้างขึ้นไว้แก่สังคมไทย ด้วยการอำนวยโอกาสในการศึกษาเล่าเรียนแก่ชาวนาและชาวชนบทที่ยากจน ช่วยให้มีความเสมอภาคแห่งโอกาสในการได้รับการศึกษา ในขณะที่ระบบการศึกษาของบ้านเมืองดูเหมือนจะ กำลังทำลายความเสมอภาคนี้ลงทุกวันๆ แม้โดยไม่เจตนา

ถ้าไม่มีวัด ชาวชนบทและคนยากจนมากมายเท่าใด จะไม่มีโอกาสได้เล่าเรียน วัดในกรุงเทพฯ นอกจากให้โอกาสในการศึกษาแก่ชาวชนบทในเพศพระภิกษุสามเณรแล้ว ยังเป็นที่พักพิงของเด็กชนบทให้ได้มีโอกาสเล่าเรียนศึกษากันอีกไม่น้อย

พระเณรเรียนที่มหาจุฬาฯ มาจากชนบทร้อยละ ๙๙
นิสิต นศ. ในมหาวิทยาลัยคฤหัสถ์ มาจากชนบทไม่ถึงร้อยละ ๙

ถ้าสำรวจสถิตินิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยที่ว่าเป็นลูกชาวนาไม่ถึง ๖ เปอร์เซนต์นั้น2 ในจำนวนนี้คงจะเป็นผู้ที่วัดช่วยให้โอกาสอยู่หลายส่วนทีเดียว นอกจากให้โอกาสโดยตรงแล้ว ศิษย์วัดเหล่านี้ สำเร็จการศึกษาไปแล้ว มีฐานะทางสังคมดีขึ้นมา ยังช่วยญาติพี่น้องต่างจังหวัดเข้ามาเล่าเรียนต่อๆ ไปอีก ตระกูลผู้มีฐานะดีในกรุงปัจจุบันไม่น้อยได้สืบมาในรูปนี้

ถ้าวัดไม่ได้ทำบทบาทนี้ไว้ การศึกษาจะถูกจำกัดอยู่ในวงคนกรุงและผู้มีฐานะเศรษฐกิจดีมากกว่านี้อีกเท่าใด การผูกขาดของฝ่ายหนึ่ง และความไร้ที่หวังของอีกฝ่ายหนึ่ง ย่อมหมายถึงการแตกแยกของสังคมด้วยอย่างแน่นอน

๔. เมื่อรัฐแยกเอาการศึกษาออกไปดำเนินการเองฝ่ายเดียวต่างหาก ตัดขาดจากสถาบันสงฆ์แล้ว ในเวลาที่พูดว่าดำเนินการศึกษาของรัฐก็ดี ให้การศึกษาแก่ประชาชนก็ดี เหมือนว่าจะมีความรู้สึกกันพระสงฆ์ออกไว้ต่างหาก หรือยกเว้นสถาบันสงฆ์เสมอไป

เมื่อรัฐปล่อยการศึกษาของพระสงฆ์ให้เป็นไปตามลำพัง ไม่รับผิดชอบด้วยแล้ว ก็เท่ากับตัดพระภิกษุสามเณรจำนวน ๓ แสนรูป ออกจากระบบการศึกษาของรัฐไปด้วย ทำนองยกขึ้นเป็นพลเมืองพิเศษ แล้วรัฐก็ตั้งใจทุ่มเททุนและกำลังงานให้แก่ระบบการศึกษาที่เรียกว่าเป็นของรัฐไปฝ่ายเดียว

คนมี เข้าเรียนเป็นนิสิต นศ. ในมหาวิทยาลัย รัฐให้ปีละ ๘๐๐ ล้าน
คนจนบ้านนอก เข้าเรียนเป็นพระเณรในวัด รัฐให้ปีละ ๒ ล้าน

แต่ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า ผู้ได้รับการศึกษาตามระบบของรัฐ โดยเฉพาะในระดับสูงๆ ก็คือ ผู้มีโอกาสเหนือกว่า และได้เปรียบทางสังคมอยู่แล้ว การลงทุนของรัฐจึงเป็นการระดมความช่วยเหลือให้แก่ผู้ได้เปรียบ ให้ได้เปรียบยิ่งขึ้น

โดยเฉพาะที่จะเห็นง่ายๆ คือระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งมีนิสิตนักศึกษาทั้งหมด ๗๒,๕๐๑ คน รัฐลงทุนให้การศึกษาด้วยงบประมาณ (พ.ศ. ๒๕๑๖) เป็นเงิน ๘๖๑,๙๐๗,๙๐๐.๐๐ บาท โดยเฉลี่ย รัฐใช้เงินผลิตบัณฑิตชั้นปริญญาตรีหัวละประมาณ ๕๐,๐๐๐.๐๐ บาท3

หันมาดูการศึกษาฝ่ายสถาบันสงฆ์บ้าง ปัจจุบันสถาบันสงฆ์มีพระภิกษุสามเณรประมาณ ๓ แสนรูป ได้กล่าวแล้วว่าจะต้องมองภาพพระภิกษุสามเณรส่วนใหญ่ ในฐานะประชาชนที่เข้ามารับบริการจากสถาบันสงฆ์

ถ้าแยกจำนวน ๓ แสนนี้ออกดู จะเห็นชัดขึ้น ใน ๓ แสนรูปนั้น คิดคร่าวๆ เป็นพระนวกะบวชตามประเพณี ๓ เดือนในพรรษาประมาณ ๑ แสนรูป จัดเป็นผู้เข้าไปรับบริการจากสถาบันสงฆ์ทั้งหมด จากนั้นเป็นสามเณร ๑ แสนรูป

แน่นอนว่า สามเณร ๑ แสนรูปนั้น ทั้งโดยวัยและภาวะ ต้องเป็นนักเรียน เป็นผู้ไปรับประโยชน์ ใช้บริการของสถาบันสงฆ์บ้าง เป็นผู้เตรียมตัวทำบทบาทต่อสังคมบ้าง เราจะไปหวังให้สามเณรเหล่านี้ทำบทบาทอะไรในฐานะบทบาทของพระสงฆ์ต่อชุมชน ย่อมไม่ได้

พระที่ทำหน้าที่ต่อสามเณร ๑ แสนรูป และต่อพระนวกะ ๑ แสนรูปนี้ ก็คือให้การศึกษาแก่ประชาชน ทำบริการสังคมอยู่แล้ว เป็นภาระหนักพอสมควร

ยังเหลืออีก ๑ แสนรูป เป็นพระหนุ่มๆ วัยเรียนอายุสัก ๒๑-๒๘ ปี กำลังเล่าเรียนอยู่อีกมากมาย อีกส่วนหนึ่งเป็นพระทำงาน เป็นเจ้าอาวาส เจ้าคณะผู้ปกครองบ้าง เป็นครูบ้าง บางส่วนที่ไม่ได้ทำงานบวชอาศัยวัด ก็มีบ้าง หรือที่เป็นคนแก่ไปไม่ไหว มาบวชเฝ้าวัดอยู่ ก็มี

โดยเฉพาะลักษณะพิเศษของสถาบันสงฆ์ ในสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงอยู่ปัจจุบันนี้ มีอัตราส่วนไม่สมดุลกันระหว่างพระผู้สอนกับพระผู้เรียน คือพระผู้เรียนหรือรับการฝึกมีอัตราส่วนสูงเกินกว่าพระผู้สอนและพระทำงานอย่างมากมาย

มองดูเหตุผลเพียงแค่นี้ก็จะเห็นว่า เพียงพระสงฆ์ที่จะทำบทบาทในนามของสถาบันสงฆ์ จะให้บริการแก่ประชาชนที่มารับบริการในรูปของพระภิกษุสามเณรอย่างเดียว ก็หนักมากอยู่แล้ว

นอกจากนั้น การที่อัตราส่วนระหว่างผู้สอนและผู้เรียนไม่สมดุลกันนี้ ยังก่อให้เกิดปัญหาสังคมอย่างอื่นๆ เกี่ยวกับความประพฤติของพระภิกษุสามเณรเป็นต้นอีกด้วย ซึ่งจะต้องถือว่า ประชาชนที่เข้ามารับบริการจากสถาบันสงฆ์ เข้ามาสร้างปัญหาให้แก่สถาบันสงฆ์ ในขณะที่สถาบันสงฆ์เองอยู่ในสภาพอ่อนเปลี้ย เพราะขาดแคลนกำลังบุคคลและมีระบบการศึกษาที่ถูกปล่อยปละละเลย เป็นต้น

นอกจากนั้น ควรสังเกตด้วยว่า จำนวนประชาชนที่บวชเข้ามารับบริการ เป็นสามเณรบ้าง เป็นภิกษุบ้าง กับจำนวนที่รับบริการแล้ว (บางทียังไม่ได้ทำอะไรให้สถาบันสงฆ์เลย) ลาสิกขาออกไปทำงานให้แก่รัฐนั้น มีการหมุนเวียนปีละจำนวนมากมาย

การศึกษาของสถาบันสงฆ์ทั้งหมดนี้ ในเมื่อรัฐไม่ถือเป็นการศึกษาของรัฐแล้ว ก็หาทางช่วยเหลือในแง่อื่น โดยถือว่าเป็นบริการสังคมอย่างหนึ่ง ในหมวดสาธารณูปการ แล้วส่งงบประมาณมาอุดหนุน

สำหรับสถาบันสงฆ์ที่มีพระภิกษุสามเณร ๓ แสนรูป เป็นนักเรียนอยู่สักสองแสนรูปนั้น เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๒ รัฐให้งบประมาณราว ๑ ล้าน ๕ แสนบาท มาเมื่อ ๔-๕ ปีนี้ เพิ่มขึ้นเป็นปีละราว ๒ ล้าน ๕ แสนบาท สำนักเรียนส่วนมากได้รับงบประมาณช่วยปีละ ๑๐๐ ถึง ๒๐๐ บาท สำนักชั้นพิเศษในกรุงฯ ได้รับปีละ ๕๐๐ บาท มีที่ได้เกิน ๕๐๐ บาทอยู่ ๒๐ แห่ง สูงสุดก็ ๑,๔๕๐ บาท (มีแห่งเดียว)

ไปเรียนในระบบของรัฐ ๕ แสนคน รัฐให้ ๑,๕๐๐ ล้านบาท
มาเรียนในระบบของวัด ๒.๕ แสนรูป รัฐให้ไม่ถึง ๒ ล้านบาท

เมื่อมองในแง่สังคมตามสภาพปัจจุบัน ข้อเท็จจริงและเหตุผลต่างๆ เท่าที่กล่าวมา และที่จะกล่าวต่อไป จะให้แง่คิดหลายอย่าง เช่น

(๑) ในเมื่อการศึกษาของสถาบันสงฆ์เป็นการศึกษาที่อำนวยแก่ชาวชนบทผู้ยากจน แต่รัฐให้งบประมาณเพียงเล็กน้อย ส่วนการศึกษาในระบบของรัฐเอง ซึ่งผู้รับการศึกษาส่วนมากมีโอกาสและฐานะดีอยู่แล้ว แต่รัฐใช้งบประมาณจำนวนมากมาย (พ.ศ. ๒๕๑๒ งบประมาณการศึกษาทั้งหมด ยกเว้นประถมศึกษา มีนักเรียนนิสิตนักศึกษา ๔๗๗,๒๕๙ คน งบประมาณ ๑,๕๖๔.๓๐ ล้านบาท)4 ก็กลายเป็นว่า รัฐใช้เงินภาษีอากรของประเทศส่วนใหญ่มาบำรุงเอาใจคนจำนวนน้อยที่ได้เปรียบทางสังคมอยู่แล้ว และทอดทิ้งการศึกษาสำหรับชาวนาในชนบทซึ่งเป็นชนส่วนใหญ่

เงินที่รัฐลงทุนเพื่อผลิตนักศึกษาให้สำเร็จปริญญาตรี ประมาณ ๕๐ คน ยังมากกว่าเงินที่รัฐลงทุนเพื่อการศึกษาของพลเมืองที่เป็นพระภิกษุสามเณรทั่วประเทศจำนวน ๒-๓ แสนรูปด้วยซ้ำไป

(๒) ด้วยงบประมาณหรือเงินลงทุนเพียงปีละ ๑ ล้าน ๕ แสนบาท จนถึง ๒ ล้าน ๕ แสนบาท สำหรับพลเมืองในฐานะพระภิกษุสามเณร ๒-๓ แสนรูป เช่นนี้ จะคาดคั้นสถาบันสงฆ์ให้ทำงานได้มากมายเพียงใด และจะให้การศึกษาของพระสงฆ์มีประสิทธิภาพแค่ใด

ยิ่งถ้ายอมรับกันว่า ขณะนี้สถาบันสงฆ์อยู่ในสภาพที่กำลังเสื่อมโทรมด้วยแล้ว ทำหน้าที่ได้แค่นี้ ช่วยได้แค่นี้ ก็ยังดี

การให้การศึกษาเท่าที่เป็นไปได้ตามบุญตามกรรม อาจจะขาดประสิทธิภาพไปบ้าง แต่ถ้าไม่มีสถาบันนี้ช่วยอยู่ ชาวนาชนบทและคนยากจนจะไม่มีโอกาสได้รับการศึกษาสูงขึ้นมาได้จากที่ไหนเลย

(๓) การศึกษาของพระสงฆ์ที่มีเงินลงทุนเล็กน้อย แต่ยังดำเนินอยู่ได้เช่นนี้ นอกจากเป็นเพราะทำไม่ให้เป็นล่ำเป็นสันเกินไป จะได้ไม่สิ้นเปลืองมากแล้ว ก็เป็นเพราะได้รับการอุปถัมภ์บำรุงจากประชาชนเป็นสำคัญ

การบำรุงของประชาชนนี้มาในรูปของการถวายปัจจัยสี่แก่พระภิกษุสามเณรผู้เรียนและผู้สอนเป็นส่วนบุคคล ตามความสัมพันธ์ระหว่างพระสงฆ์กับคฤหัสถ์บ้าง มาในรูปการบำรุงกิจการต่างๆ เช่น ทุนมูลนิธิ การบริจาคสร้างโรงเรียน เป็นต้นบ้าง กล่าวได้ว่าเป็นผลได้จากค่านิยมในการทำบุญ ซึ่งเป็นวิธีเฉลี่ยรายได้โดยสมัครใจอย่างหนึ่ง

ส่วนในฝ่ายการศึกษาของรัฐ ทุนดำเนินการก็มาจากประชาชนเช่นเดียวกัน แต่เป็นไปในรูปของภาษีอากรที่รัฐเป็นผู้จัดสรร

นิสิตนักศึกษาและนักเรียน จึงได้รับเงินหรือความช่วยเหลือจากประชาชนโดยทางอ้อม ซึ่งมักไม่รู้ตัวว่าตนได้ใช้จ่ายเงินของรัฐโดยทางภาษีอากรเป็นจำนวนมากมาย และในบรรดาผู้เรียนทุกประเภทนั้น แน่นอนว่านิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างๆ เป็นผู้ได้รับเงินจากประชาชนมาใช้ประโยชน์มากที่สุด

ในเมื่อข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า นิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่เป็นผู้มาจากตระกูลมีฐานะดีในเมือง จึงกลายเป็นว่า ผู้ที่มีเปรียบทางสังคมอยู่แล้ว มีโอกาสเหนือกว่าอยู่แล้ว กลับได้เปรียบมากขึ้น และได้โอกาสมากขึ้น

1พระนิสิต นักศึกษา และนักเรียนที่มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตั้งแต่ชั้นบาลีอบรมศึกษาปีที่ ๑ ขึ้นไป ตามสถิติ พ.ศ. ๒๕๑๑ จำนวน ๖๗๘ รูป เกิดในต่างจังหวัด ร้อยละ ๙๙.๗๑; สถิติ พ.ศ. ๒๕๑๖ จำนวน ๙๗๕ รูป มาจากครอบครัวกสิกร ร้อยละ ๙๑.๖๙

ต่อไปนี้เป็นสถิตินิสิตนักศึกษาฝ่ายพระกับฝ่ายคฤหัสถ์ จำแนกโดยอาชีพของบิดามารดา แม้จะต่างโดย พ.ศ. และประเภทบุคคล แต่ก็พอช่วยให้มองเห็นภาพที่ต้องการได้ (พระนิสิต=พระนิสิตคณะพุทธศาสตร์ มหาจุฬาฯ พ.ศ. ๒๕๑๖; นักศึกษา = นักศึกษาที่สอบเข้าได้ในคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ. ๒๕๑๑)

ค้าขาย รับราชการ เกษตรกรรม ลูกจ้าง อื่นๆ รวม
พระนิสิต ๑๐๑ ๑๐๙
นักศึกษา ๓๑ ๔๙ ๑๐๔

2ตัวเลข ๖ เปอร์เซนต์นั้น หมายถึงผู้มาจากครอบครัวที่มีอาชีพเกษตรกรรมทั้งหมด ในจำนวนนี้ เมื่อแยกออกไปอีก จึงคงจะมีลูกชาวนาเพียงประมาณร้อยละ ๑-๓; จำนวนศิษย์วัดทั่วประเทศ พ.ศ. ๒๕๑๓ มี ๑๑๗,๘๑๕ คน (มากกว่าสถิติสามเณรเล็กน้อย) ในจำนวนนี้เป็นศิษย์วัดในกรุงเทพฯ ๘,๘๕๖ คน ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องเป็นนักเรียนนักศึกษาร้อยละ ๙๙
3ทุนที่ใช้ในการผลิตนี้ต่างกันไปตามสาขาวิชาที่ศึกษา คิดคร่าวๆ ระหว่าง ๑๐,๐๐๐ ถึง ๒๐๐,๐๐๐ บาท
4ตัวเลขงบประมาณนี้ ไม่รวมเงินงบประมาณสำหรับงานบริหารการศึกษาอีก ๒๑๕ ล้านบาทเศษ; เทียบการศึกษาสองฝ่ายให้เห็นชัดดังนี้ (สถิติ พ.ศ. ๒๕๑๒)

จำนวนคน งบประมาณ/ล้านบาท
-นิสิต นักศึกษา และนักเรียนชั้นมัธยมขึ้นไป ๔๗๗,๒๕๙ ๑,๕๖๔.๓๐
-ภิกษุสามเณรเรียนนักธรรม บาลี มหาวิทยาลัยสงฆ์ ๒๓๑,๗๓๐ ๑.๕๘

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.