วินัย: เรื่องใหญ่กว่าที่คิด

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

วิธีเสริมสร้างวินัย

• สร้างวินัยด้วยการทำให้เป็นพฤติกรรมเคยชิน

วิธีฝึกวินัยที่ดีที่สุดอาศัยธรรมชาติของมนุษย์ คือใช้ธรรมชาติของมนุษย์มาเป็นเครื่องช่วย คือทำให้เป็นไปตามธรรมชาติ หรือสอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์นั้นเอง หมายความว่ามนุษย์ที่ดำเนินชีวิตโดยทั่วไปนี้อยู่กันด้วยความเคยชิน ที่เราเป็นอยู่กันทุกวันนี้ เมื่อพบเห็นอะไรแล้ว จะปฏิบัติการอะไรอย่างไร เราทำไปตามความเคยชินกันเป็นส่วนใหญ่

ความเคยชินเกิดจากอะไร ก็เกิดตามธรรมดาของธรรมชาติหรือตามธรรม คือความเป็นไปตามเหตุปัจจัยในการดำเนินชีวิตของมนุษย์นั่นเอง มนุษย์ทำพฤติกรรมอะไร อย่างไร พอทำไปแล้วครั้งสองครั้งก็เริ่มมีแนวโน้มที่จะชินอย่างนั้น และก็จะทำอย่างนั้นซ้ำไปซ้ำมาๆ จนชิน พอชินแล้วก็ยึดมั่นแล้วก็เกิดความพึงพอใจในพฤติกรรมที่เคยชินนั้น พอชินแล้วก็เปลี่ยนแปลงแก้ไขยาก ยิ่งยึดมั่นแล้วก็ยิ่งถอนยาก และปุถุชนก็จะมีเหตุผลมาปกป้องตนเองเสียด้วย ทำให้ไม่ยอมเปลี่ยน ฉันจะต้องยึดแบบนี้ ใครจะมาบอกให้ทำอย่างอื่นไม่เอา ฉะนั้นเราจึงต้องถือโอกาสใช้ความเคยชินของมนุษย์ให้เป็นประโยชน์แก่ตัวเขา

เราต้องยอมรับว่ามนุษย์ทั้งหลายส่วนใหญ่อยู่ด้วยความเคยชิน จริงอยู่มนุษย์นั้นเป็นสัตว์ที่ต้องฝึกและฝึกได้ แต่เราก็ต้องยอมรับด้วยว่าการที่จะฝึกคนนี้ต้องใช้ความสามารถและต้องมีระบบในการฝึกซึ่งต้องสอดคล้องกับธรรมชาติ บางทีก็เหน็ดเหนื่อยพอสมควร ถ้าเขาลงเคยชินอย่างไรแล้วก็แก้ยาก เรายอมรับความจริงนี้เสียก่อน เมื่อเรายอมรับความเคยชินเป็นสำคัญแล้ว เราก็ใช้ความเคยชินเป็นการฝึกขั้นแรก คือฝึกให้เป็นพฤติกรรมเคยชิน โดยถือว่าต้องสร้างวินัยให้เป็นพฤติกรรมเคยชิน

วิธีที่ ๑ นี้ก็คือ เมื่อเขาเริ่มต้นชีวิต เข้าสู่สังคม เข้าสู่ชีวิตใหม่ เข้าสู่หมู่ใหม่ เราก็ถือโอกาสตอนนั้น โดยรู้ทันความจริงว่าคนเราเมื่อมีชีวิตอยู่เขาต้องมีการเคลื่อนไหว เขาจะมีการเคลื่อนไหว คือมีพฤติกรรมนั้น ในเวลาที่เจอประสบการณ์ หรือมีสถานการณ์เกิดขึ้น ซึ่งเขาจะต้องมีปฏิกิริยาตอบสนองอย่างใดอย่างหนึ่ง คือเขาจะต้องทำอย่างใดอย่างหนึ่ง เคลื่อนไหวอย่างใดอย่างหนึ่ง มีพฤติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง และเมื่อเขาทำอย่างใดอย่างหนึ่งลงไปแล้ว เมื่อเขาเจอสถานการณ์อย่างนั้นอีก เขาจะมีแนวโน้มที่จะทำพฤติกรรมอย่างนั้นซ้ำอีก พอทำอย่างนั้นหลายครั้งเข้า แล้วเขาก็จะชิน และพฤติกรรมอย่างนั้นก็กลายเป็นพฤติกรรมเคยชินของเขา

ก่อนที่จะเกิดเป็นพฤติกรรมเคยชินนั้น ถ้าพฤติกรรมที่เขาทำครั้งแรกเป็นพฤติกรรมที่ไม่ดี ก็เท่ากับว่าเราเสียเปรียบหรือเริ่มเสียโอกาสแล้ว แล้วก็มีหวังว่าพฤติกรรมนั้นจะกลายเป็นพฤติกรรมเคยชินของเขาต่อไป ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ ทีนี้พอเคยชินแล้ว คราวนี้เราก็ลำบาก แก้ไขยาก เขาก็จะมีพฤติกรรมเคยชินอย่างนั้นติดตัวไป ฉะนั้น เพื่อชิงให้เกิดพฤติกรรมที่ดีไว้ก่อน และกันพฤติกรรมที่ไม่ดีไม่ให้เกิดขึ้น เรารีบเอาพฤติกรรมที่ดีที่เราเรียกว่าวินัย คือพฤติกรรมเคยชินที่ดีเข้าไปให้เสียก่อน พอพฤติกรรมที่ดีเข้าไปเป็นตัวเลือกที่ ๑ และเขาจับเอาพฤติกรรมนั้นได้แล้ว ก็มีแนวโน้มว่าพอเจอสถานการณ์อย่างนั้นครั้งที่ ๒ เขาก็จะทำอย่างนั้น พอ ๓ - ๔ ครั้ง คราวนี้ลงตัวแล้วกลายเป็นพฤติกรรมเคยชินที่ดี คราวนี้ก็สบายแล้ว ฉะนั้นจึงควรใช้วิธีพื้นฐานในการสร้างวินัยซึ่งไม่ต้องลงทุนลงแรงอะไรมากนี้ ถ้าเราไม่ทำเราก็ต้องเสียโอกาส ถึงอย่างไรมันก็ต้องเคยชินไปทางใดทางหนึ่งอยู่แล้ว เราก็ชิงให้ชินไปในทางที่ดีเสียเลย ฉะนั้นจึงเอาพฤติกรรมเคยชินมาเป็นพื้นฐาน เป็นวิธีการเบื้องต้นในการสร้างวินัย โดยการทำให้เกิดพฤติกรรมเคยชินที่ดี

หลักการนี้ใช้ได้ดีกับเด็กๆ เพราะเขาเพิ่งเข้ามาสู่โลก ยังไม่มีพฤติกรรมเคยชินอะไรทั้งนั้น เราก็เริ่มให้อันที่ดีเข้าไปเสียก่อนเลย ฉะนั้นตัวแบบจึงมาจากพ่อแม่ ถ้าพ่อแม่มีวินัยดีก็มีหวังว่าลูกจะมีวินัยดีด้วย เมื่อมีคนมาเข้าสู่ชุมชนใหม่ มาโรงเรียนใหม่ ถ้าคนที่อยู่ก่อนประพฤติกันอย่างไร คนที่มาใหม่ก็พลอยตามไป ในเวลาที่มีสถานการณ์อย่างนี้ๆ คนทำงานเก่า หรือหัวหน้าเคยทำกันอย่างไร คนที่มาเข้างานใหม่ก็จะทำตามอย่างนั้น แล้วเขาก็จะเคยชินต่อไปเขาก็จะทำอย่างนั้น มีพฤติกรรมอย่างนั้น โดยไม่ต้องคิดไม่ต้องรู้ตัว เพราะฉะนั้นถ้าหัวหน้างานเป็นคนมีปัญญา มีสติสัมปชัญญะดี ก็รีบนำทางพฤติกรรมที่พึงประสงค์ในตอนแรกให้ดี พอได้ทำอย่างใดแล้วคนใหม่นั้นก็จะติด เกิดเป็นพฤติกรรมที่เคยชิน เป็นวินัย ก็สบายไปเลย แต่ถ้าตอนแรกไม่ใช้โอกาส มัวปล่อยให้เขามีพฤติกรรมเคยชินอย่างอื่นไปแล้ว คราวนี้ก็จะแก้ไขได้ยาก ต้องยุ่งยากลำบากใจเรื่อยไป

• ใช้วินัยที่ลงตัวแล้วคือวัฒนธรรมมาช่วย

วัฒนธรรมก็มาช่วยในเรื่องนี้ เพราะวัฒนธรรมเป็นปัจจัยอย่างหนึ่งที่สร้างวินัยแบบพฤติกรรมเคยชิน เช่นพ่อแม่พาเด็กไปในสถานที่ที่ต้องให้บริการแก่คนจำนวนมาก พ่อแม่ไปเข้าแถวรอคิว เด็กก็ไปเข้าแถวด้วย พอเจอครั้งแรกแกก็เข้าแถว ต่อไปครั้งที่ ๒ เด็กก็เข้าแถว ต่อไปครั้งที่ ๓ ก็เข้าแถว จากนั้นเด็กก็เข้าแถวรอคิวเอง โดยไม่ต้องตั้งใจฝึก ไม่ต้องไปสอนให้ปากเปียกปากแฉะ วัฒนธรรมเข้าแถวก็มีมาเองจากการถ่ายทอดตามความเคยชิน นี่คือวินัยที่กลายเป็นวิถีชีวิต

ถ้าในหมู่คณะของเราปฏิบัติอะไรให้วินัยลงตัวเป็นวัฒนธรรมไปแล้ว คนที่เข้ามาสู่วัฒนธรรมนั้น สู่ชุมชนนั้นใหม่ ก็จะเป็นไปอย่างนั้นเอง เพราะฉะนั้นสำหรับพฤติกรรมเคยชินโดยวิธีของวัฒนธรรมนี้ ในสังคมที่เขาสร้างสรรค์ถ่ายทอดเรื่องระเบียบวินัยมาก่อน เขาก็ได้เปรียบ เพราะว่าคนรุ่นหลังเข้าสู่วินัยโดยติดพฤติกรรมเคยชินไปเอง แต่ถ้าเรายังไม่มีวัฒนธรรมอย่างนั้น เราก็ต้องอาศัยมีผู้นำที่รู้หลักการอันนี้แล้วนำไปใช้ อย่างไรก็ตาม อันนี้เป็นวิธีพื้นฐานเท่านั้น ต้องพูดถึงวิธีอื่นต่อไป

• สร้างวินัยให้ได้ผลด้วยระบบสัมพันธ์ขององค์รวม

การฝึกวินัย (คือฝึกให้เป็นศีล) นั้น จะได้ผลดีต้องอาศัยระบบความสัมพันธ์ขององค์ประกอบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาบูรณาการกันด้วย คือเป็นระบบองค์รวมที่องค์ร่วมจะต้องประสานกัน หมายความว่าในการฝึกฝนพัฒนามนุษย์หรือการศึกษานี้จะต้องให้องค์ประกอบ ๓ ส่วน คือด้านพฤติกรรม ด้านจิตใจ และด้านปัญญา ประสานไปด้วยกัน ทำให้เกิดองค์รวมที่สมบูรณ์ แล้วสิ่งที่ฝึกนั้นก็จะกลายเป็นชีวิตจริงของเขา ฉะนั้นเวลาเราฝึกทำอะไรอย่างหนึ่งจึงต้องดูทั้งสามด้าน คือ

๑. ด้านพฤติกรรม ถ้าเขามีพฤติกรรมที่ดีด้วยความเคยชินก็ดีแล้ว

๒. ด้านจิตใจ ถ้าเขามีความพึงพอใจ หรือมีความสุขในการทำพฤติกรรมนั้น พฤติกรรมนั้นจะมั่นคงยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นทางด้านจิตใจ จะต้องคอยดูว่าทำอย่างไรจะให้เขาตั้งอยู่ในวินัยด้วยความสุข มีความพึงพอใจ

๓. ด้านปัญญา ถ้าเขามีความรู้เข้าใจเหตุผล มองเห็นคุณค่า มองเห็นประโยชน์ของการกระทำหรือพฤติกรรมนั้น ความรู้ความเข้าใจนั้นก็จะมาหนุนองค์ประกอบฝ่ายจิตใจ ทำให้เขายิ่งมีความพึงพอใจและความสุขในการปฏิบัติตามพฤติกรรมนั้นยิ่งขึ้นไปอีก

ทั้งด้านปัญญาคือความรู้ความเข้าใจนั้น และด้านจิตใจคือความสุขความพอใจ ต่างก็มาหนุนให้พฤติกรรมดีงามนั้นยิ่งหนักแน่นมั่นคงลงตัว

ฉะนั้น องค์ประกอบสามส่วนนี้จึงเสริมซึ่งกันและกัน พฤติกรรม สภาพจิตใจ และปัญญา สามอย่างนี้จะต้องพัฒนาด้วยกัน ถ้าทำไปทื่อๆ อาจจะกลายเป็นการบังคับ ถ้าการบังคับเกิดขึ้น จิตใจของคนไม่มีความสุข พอจิตใจของคนไม่มีความสุข เขาจะทำด้วยความจำใจ และพร้อมที่จะละเมิด แล้วต่อไปก็อาจจะเกิดปัญหา ทีนี้ถ้าไม่ทำด้วยปัญญา ต่อไปเขาเรียนรู้ไปทางอื่น เขาไม่เห็นเหตุผลในเรื่องนี้ เขาก็สงสัย ทำให้เขาเกิดความลังเลที่จะทำ ฉะนั้น ต้องให้ได้ทั้ง ๓ ส่วน นี่คือต้องมีทั้ง ศีล สมาธิ ปัญญา จะต้องฝึกวินัยให้ได้องค์ประกอบสัมพันธ์กันพร้อมทั้ง ๓ ด้านนี้

• สร้างวินัยโดยใช้ปัจจัยอื่นช่วยเสริม

วินัยจะทำให้เกิดความสุข และประพฤติปฏิบัติด้วยความพึงพอใจ โดยใช้ปัจจัยอย่างอื่นมาช่วยอีกก็ได้ เช่นมีกัลยาณมิตร ขอยกตัวอย่างว่า ถ้าครูอาจารย์น่ารัก ทำให้เด็กมีความอบอุ่นสบายใจ เด็กก็อยากจะเชื่อฟังครูอาจารย์ที่เขารักเคารพ และศรัทธานั้น พอพูดอะไรลูกศิษย์ก็อยากทำอยู่แล้ว และเขาก็มีความสุขที่จะทำตามด้วย วินัยก็เกิดได้ง่าย เพราะฉะนั้น ศรัทธา และความรัก จึงเป็นปัจจัยสำคัญ ศรัทธาและความรักนี้พ่วงอยู่กับความมีกัลยาณมิตร แต่อันนี้ที่จริงเป็นองค์ประกอบที่จะมาเสริม เอามาพูดแทรกเสียก่อน เพื่อยกตัวอย่างให้เห็น

ความเป็นกัลยาณมิตร เป็นตัวเสริมในการสร้างวินัยจากพฤติกรรมที่เคยชินได้โดยทำหน้าที่หนุนองค์ประกอบทั้ง ๓ ด้าน คือ

- เป็นต้นแบบที่ดีของพฤติกรรม (ศีล)

- มีความรัก ทำให้เกิดความอบอุ่น มีความเป็นกันเอง พร้อมทั้งศรัทธาและความสุข (จิตใจ)

- กัลยาณมิตร รู้เหตุรู้ผล สามารถบอกได้ว่าทำอย่างนั้นแล้วมีผลอย่างไร ทำให้เด็กเข้าใจเหตุผลและเห็นคุณค่าในสิ่งที่ทำ (ปัญญา)

• สร้างวินัยด้วยแรงหนุนของสภาพจิตใจ

อีกวิธีหนึ่งซึ่งเอาปัจจัยด้านจิตใจมานำ คือการตั้งเป็นอุดมคติในจิตใจ ทำให้ใจมีความฝักใฝ่มุ่งมั่นอย่างแรง เช่นชนชาติหนึ่งตั้งเป้าหมายใฝ่ฝันว่า ชาติเราจะต้องยิ่งใหญ่ มีชื่อเสียงปรากฏไปทั่วโลกว่าเป็นชาติที่มีวินัย เพื่อให้ชาติของเรายิ่งใหญ่ ขอให้คนของเราปฏิบัติอย่างนี้ๆ ด้วยความที่มีเป้าหมายอย่างแรง เป็นอุดมคติ ใฝ่ตั้งใจจริงอย่างนี้ ก็ทำให้คนปฏิบัติตามวินัยได้ แต่วินัยแบบนี้อาจจะทำให้เลยเถิด เช่นใช้กิเลสรุนแรง ทำให้คนมีความภูมิใจว่า แหม หมู่คณะของเรา นี่ยอดเลย การใช้วิธีการนี้มักทำให้เกิดความคิดเปรียบเทียบ และมักจะนำมาปลุกใจกันว่า หมู่คณะของเรารักษาวินัย มีวินัยดี เห็นไหม เทียบกับโรงเรียนอื่นโน้น โรงเรียนของเรามีชื่อเสียง ใครๆ ก็นิยม ไปไหนก็มีเกียรติ เราก็ภาคภูมิใจตัวเองว่า โรงเรียนของเราเป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียง มีเกียรติ มีวินัย ถ้าใช้วิธีเร้าอย่างนี้ ท่านเรียกว่าเร้ามานะ

มานะในระดับต้นๆ นี้เป็นความภูมิใจ แต่ถ้าแรงไปจะกลายเป็นดูถูกดูหมิ่นคนอื่น ตลอดจนเป็นการแข่งขันแย่งชิงความเป็นใหญ่ มุ่งความเด่นความดัง ซึ่งมีภัยอันตรายอยู่ด้วย เพราะฉะนั้น ถ้าจะใช้มัน ก็ใช้ได้แต่ในขั้นต้น แล้วต้องรีบเปลี่ยนไปใช้ปัจจัยตัวอื่นที่เป็นฝ่ายดี ถ้าใช้มานะตลอดไป จะก่อให้เกิดปัญหาในระหว่างมนุษย์ คือรักษากลุ่มของตัวได้ แต่ทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งกับกลุ่มอื่น แล้วทำให้เกิดสภาพจิตไม่ดี คือการดูถูกดูแคลน ความทะนงตัวหยิ่งลำพอง ตลอดจนการคิดกำจัดคนอื่นต่อไปอีก ไม่ประกอบด้วยปัญญาที่แท้จริง บางสังคม บางประเทศ บางกลุ่มก็รักษาวินัยด้วยมานะนี้ แม้แต่ทำคุณความดีอื่นๆ ก็ด้วยมานะนี้ เป็นการทำตนให้อยู่ในระบบการแข่งขันไปในตัว อย่างน้อยก็ต้องอาศัยความรู้สึกภูมิใจเข้าช่วย และเมื่อภูมิใจในกรณีอย่างนี้แล้วก็มักจะต้องพอง วิธีนี้ทางธรรมจึงไม่สนับสนุน ถ้าจะใช้ก็ต้องระวัง โดยรีบสร้างปัจจัยที่ดีมาสืบทอดต่อไปอย่างที่กล่าวแล้ว

• สร้างวินัยโดยใช้กฎเกณฑ์บังคับ

อีกวิธีหนึ่งคือการสร้างวินัยโดยใช้กฎหมาย หรือกฎเกณฑ์ บังคับควบคุม โดยมีการลงโทษ วิธีนี้ก็สร้างวินัยได้แต่เป็นวิธีที่ไม่ดีและไม่ถูกต้อง ไม่เข้ากับหลักการของธรรม เป็นวิธีการที่ไม่ถูกธรรม คือไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของกฎธรรมชาติ มนุษย์จะมายัดเยียดเอาศีลใส่ให้แก่กันไม่ได้ ศีลเกิดจากการฝึกให้มีขึ้นในตัวคน ฉะนั้นการกดหรือบีบบังคับนี้ ถ้าอำนาจยังอยู่ก็อยู่ได้ แต่พออำนาจที่กดบีบหมดไปเมื่อไร คนก็จะละเมิดวินัย คราวนี้ยิ่งปั่นป่วนเสียหายหมด ฉะนั้นในสังคมที่อยู่ได้ด้วยกฎข้อบังคับ แล้วใช้อำนาจบีบบังคับกัน ถึงแม้จะมีวินัยอยู่ได้ แต่เมื่อไรอำนาจที่กดบีบนั้นหายไป สังคมนั้นก็ปั่นป่วนอีก ไม่ได้ผลอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตาม การใช้กฎเกณฑ์ข้อบังคับนี้ บางครั้งได้ผล ในเมื่อกฎเกณฑ์นั้นไม่บีบบังคับรุนแรงเกินไป และมีช่วงเวลายาวพอที่จะให้คนผ่านเข้าสู่ความเคยชินจนเขาไม่รู้ตัว พอกลายเป็นความเคยชินไปแล้ว ก็เข้าสู่กฎธรรมชาติตามวิธีแรก คือเป็นวินัยพื้นฐานที่เกิดขึ้นโดยการสร้างพฤติกรรมเคยชิน มันกลายเป็นเรื่องของความเคยชินตามธรรมชาติ ที่มารับทอดจากการใช้อำนาจบีบบังคับ อันนั้นต่างหากที่ได้ผล

การใช้กฎหมายหรือกฎเกณฑ์ข้อบังคับมาฝึกวินัยให้คนมีศีลนี้ มีวิธีที่จะทำให้ได้ผลได้ โดยต้องไม่ให้อยู่แค่เป็นการใช้อำนาจกดบีบบังคับและลงโทษ แต่ต้องให้จิตใจของคนเกิดความรู้สึกสำนึกว่าเป็นการฝึก โดยให้เขารู้เข้าใจมองเห็นเหตุผลและประโยชน์ของการปฏิบัติตามกฎข้อบังคับนั้นๆ ความรู้ความเข้าใจและจิตสำนึกในการฝึกนี้จะทำให้เขาเกิดมีความพึงพอใจหรือความเต็มใจขึ้นมาในระดับหนึ่งที่จะทำตาม และก็ทำให้ได้ผล ซึ่งก็คือทำให้เข้าสู่ระบบการศึกษาที่แท้จริง โดยมีองค์ประกอบสามส่วน คือพฤติกรรม สภาพจิตใจ และปัญญา เข้ามาประสานกัน

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.