วินัย: เรื่องใหญ่กว่าที่คิด

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

องค์ประกอบร่วมในการเสริมสร้างวินัย

ขอทบทวนเรื่องที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ความมีวินัย หรือตั้งอยู่ในวินัย ที่เรียกว่าศีลนั้น เป็นแสงเงินแสงทองอย่างหนึ่งของชีวิตที่ดีงาม หรือเป็นรุ่งอรุณของการศึกษา

ได้บอกไว้แล้วว่า แสงเงินแสงทองนี้มี ๗ อย่าง เหมือนกับสเปกตรัม คือแสงนั้นประกอบด้วยสีต่างๆ ๗ สี แสงอาทิตย์ตอนรุ่งอรุณก็ประกอบด้วยแสงเงินแสงทอง ๗ สี กล่าวคือองค์ประกอบสำคัญ ๗ ประการ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ แต่ในที่นี้จะไม่พูดหมด เพียงแต่ให้หลักการว่า องค์ประกอบอย่างหนึ่งจะเกิดขึ้นโดยสัมพันธ์กับองค์ประกอบอื่น ซึ่งจะมาช่วยเสริมกัน ฉะนั้นในการสร้างวินัย เราก็อาศัยองค์ประกอบในชุดของมันนี้มาช่วยหนุน องค์ประกอบสำคัญที่เกี่ยวข้องใกล้ชิดมาก ขอพูดในที่นี้ ๓ อย่าง คือ

๑. กัลยาณมิตร ความมีกัลยาณมิตรนี้ช่วยมาก เพราะเป็นผู้นำและเป็นแบบอย่าง เริ่มตั้งแต่การช่วยสร้างพฤติกรรมเคยชิน

กัลยาณมิตรเป็นบุคคลที่มีการฝึกฝนพัฒนาดีแล้ว ในความหมายหนึ่งก็คือเขามีศีล มีวินัย ทำให้เด็กได้แบบอย่างที่ดี ถึงแม้เด็กไม่รู้ไม่เข้าใจ แต่พอกัลยาณมิตรทำอะไร แกก็ทำตาม แกก็ได้พฤติกรรมเคยชินที่มีวินัยไปเอง

กัลยาณมิตร นอกจากให้แบบอย่างที่ดีในด้านพฤติกรรมเคยชินแล้ว กัลยาณมิตรยังมีคุณสมบัติทางจิตใจด้วย โดยมีคุณธรรม เช่น เมตตา มีความรักความปรารถนาดี ทำให้เด็กศรัทธา เกิดความอบอุ่นใจ เมื่อคุณครูที่รักบอกให้ทำอะไร เด็กก็ยินดีปฏิบัติตามด้วยความรัก ด้วยศรัทธา จิตใจก็อบอุ่น มีความสุข

นอกจากนั้น คุณครูผู้เป็นกัลยาณมิตรก็มีปัญญา รู้เหตุรู้ผล สามารถอธิบายให้เด็กรู้ด้วยว่า ที่เราทำกันอย่างนี้ ประพฤติอย่างนี้ มีเหตุผลอย่างไร มีประโยชน์อย่างไร มีคุณค่าอย่างไร เด็กก็ได้พัฒนาปัญญาไปด้วย ทำให้พฤติกรรมยิ่งแนบแน่นสนิท เพราะฉะนั้น องค์ประกอบข้อกัลยาณมิตรจึงสำคัญมาก

๒. ฉันทะ คือความรักดี ใฝ่ดี ใฝ่รู้ ใฝ่สร้างสรรค์ เด็กที่มีฉันทะจะใฝ่รู้ใฝ่สร้างสรรค์ ปรารถนาในสิ่งที่ดีงาม ต้องการให้ชีวิตของตนดีงาม ต้องการให้ทุกสิ่งที่ตนเข้าไปเกี่ยวข้องดีงามไปหมด ต้องการให้สังคม ชุมชน โรงเรียนของตนดีงาม อยากให้ชั้นเรียนเรียบร้อยดีงาม อยากให้ความดีงามเกิดขึ้นในชีวิตในสังคม ความใฝ่ดีคือฉันทะนี้สำคัญมาก จัดเป็นแสงเงินแสงทองอีกอย่างหนึ่ง

ในข้อแรก เด็กยังต้องอาศัยกัลยาณมิตร ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอก แต่พอฉันทะเกิดขึ้นเด็กก็ได้ปัจจัยภายในตัวเอง ตอนนี้เด็กมีแรงจูงใจใฝ่ดีใฝ่สร้างสรรค์อยู่ในตัว เด็กจะอยากทำทุกอย่างที่ดีงามและทำทุกอย่างที่ตนเข้าไปเกี่ยวข้องให้ดีไปหมด วินัยนั้นเป็นเครื่องทำให้สังคมดีงาม ทำให้ชีวิตดีงาม พอเด็กนั้นรู้อย่างนี้ เขามีความใฝ่ดีอยู่แล้วก็ปฏิบัติตามหรือฝึกตัวตามวินัยนั้นทันที

คนที่มีฉันทะนี้ อยากให้ทุกสิ่งที่ตนเข้าไปเกี่ยวข้องอยู่ในภาวะที่ดีที่สุดของมัน เมื่อเห็นเพื่อนมนุษย์ก็อยากให้เพื่อนมนุษย์นั้นอยู่ในภาวะที่ดีที่สุดของเขา ความมีฉันทะต่อเพื่อนมนุษย์ก็แสดงออกเป็นเมตตา คืออยากให้เพื่อนมนุษย์อยู่ในภาวะที่เอิบอิ่มแข็งแรงสมบูรณ์มีความสุขอย่างดีที่สุดของเขา ฉันทะนี้ดีอย่างยิ่ง จึงต้องสร้างขึ้นมา ถ้าฉันทะเกิดขึ้นก็เป็นแสงเงินแสงทองของชีวิต ไม่ว่าจะปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมอะไร ก็มีหวังสำเร็จ ถ้าฉันทะเกิดขึ้น

๓. อัตตสัมปทา แปลว่า การทำตนให้ถึงพร้อม หรือการทำตนให้เพียบพร้อมสมบูรณ์ หมายถึงการทำตนให้เข้าถึงความพร้อมสมบูรณ์แห่งศักยภาพของตน คือต้องการจะพัฒนาตนเองให้สมบูรณ์ หรือต้องการทำชีวิตของตนให้ถึงความสมบูรณ์ ซึ่งจะเกิดเป็นจิตสำนึกในการฝึกฝนพัฒนาตน หรือจิตสำนึกในการศึกษา

เมื่อเด็กมีจิตสำนึกในการศึกษา มีจิตสำนึกในการพัฒนาตน หรือจิตสำนึกในการฝึกตน หรือจิตสำนึกในการเรียนรู้ขึ้นมาเมื่อไร ก็มีหวังที่จะก้าวหน้า เพราะเขาพร้อมที่จะรับและบุกฝ่าเดินหน้าไปในสิ่งที่ดีงามทุกอย่าง ฉันทะนั้นใฝ่ดีอยู่แล้ว คราวนี้ยังแถมมีจิตสำนึกในการที่จะฝึกฝนพัฒนาตนอีก เด็กจะเรียนรู้ว่ามนุษย์เรานี้ไม่เหมือนสัตว์ทั้งหลายอื่น มนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องฝึกต้องพัฒนา เราจะต้องฝึกฝนพัฒนาตน

พระพุทธศาสนาสอนว่ามนุษย์เป็นทัมมะ คือเป็นสัตว์ที่จะต้องฝึกหรือฝึกได้ พระพุทธเจ้ามีพุทธคุณข้อหนึ่งว่า อนุตตโร ปุริสทัมมสารถิ ซึ่งเราท่องกันแม่น แปลว่า ทรงเป็นสารถีฝึกทัมมะ คือฝึกบุคคลหรือสัตว์ที่ต้องฝึก ผู้ยอดเยี่ยม มนุษย์เรานี้จะดีจะประเสริฐ ก็ด้วยการฝึก มนุษย์มีศักยภาพในการฝึกสูงสุด ฝึกแล้วจะประเสริฐจนเป็นพุทธะก็ได้ ซึ่งแม้แต่เทวดาและพระพรหมก็น้อมนมัสการ ฉะนั้น มนุษย์จะต้องมีความภูมิใจและมั่นใจในศักยภาพนี้ โดยมีจิตสำนึกในการฝึกตนและจะต้องพยายามฝึกตน

พอสร้างจิตสำนึกในการฝึกตนขึ้นมาได้แล้วก็สบาย จิตสำนึกในการฝึกตนนี้เป็นแกนของการศึกษา ไม่ว่าจะเจออะไร ก็จะมองเป็นเวทีของการฝึกตนไปหมด งานการ วิชาการ บทเรียน หรือประสบการณ์ สถานการณ์อะไรก็ตาม เขาจะมองเป็นเครื่องฝึกตัวไปหมด เมื่อเด็กมีตัวอัตตสัมปทาแล้วเราก็สบายใจได้ คราวนี้ไม่ต้องไปจ้ำจี้จ้ำไชอะไรอีก เขาเจออะไรเขาจะมองเป็นโอกาสที่จะฝึกตน ที่จะทำให้เขาได้เรียนรู้ เขาจะสู้หมด งานยาก วิชาการยาก เขาจะชอบ เพราะอะไรก็ตามที่ยากก็จะยิ่งช่วยให้เขาได้ฝึกตนมาก คนที่มีจิตสำนึกในการฝึกตน เจออะไรยาก ยิ่งวิ่งเข้าหา ส่วนคนทั่วไปที่ไม่มีจิตสำนึกนี้ พอเจองานยาก เจอวิชายากก็ถอย แล้วก็มีแต่ผลร้ายตามมา คือ

๑. เกิดความท้อแท้ ไม่เต็มใจ แล้วก็ขาดความสุข เสียสุขภาพจิต

๒. ไม่ตั้งใจ ก็เลยทำอะไรไม่ค่อยได้ผล

ส่วนคนที่มีจิตสำนึกในการฝึกฝนพัฒนาตน พอเจออะไรที่ยาก ก็มองเห็นว่าเป็นเครื่องฝึกตัวที่จะทำให้พัฒนาตนได้มาก และเกิดความรู้สึกว่ายิ่งยากยิ่งได้มาก ระหว่างของยากกับของง่าย เด็กพวกนี้จะเข้าหาของยาก เพราะยิ่งยากยิ่งได้มาก ทำให้ฝึกตนได้ดี เขาจะมองเห็นว่าถ้าเราผ่านสิ่งที่ยากได้แล้ว เราก็จะทำสิ่งที่ง่ายได้แน่นอน และจะทำให้เราได้สะสมประสบการณ์ความชำนาญในการทำงานเพิ่มขึ้นๆ ผลดีที่เกิดขึ้น คือ

๑. มีความเต็มใจ พอใจ ยินดีที่จะทำ ซึ่งทำให้เขามีความสุขในการที่จะทำงานหรือเล่าเรียนศึกษา

๒. มีความตั้งใจ ซึ่งทำให้ทำได้ผล

พูดสั้นๆ ว่า ทั้งงานก็ได้ผล และคนก็เป็นสุข นี้คือสิ่งที่พึงปรารถนาในการทำงาน

ถ้าปลูกจิตสำนึกในการฝึกตนนี้ขึ้นมาแล้ว วินัยก็จะมีความหมายเป็นการฝึกตน ซึ่งทำให้การฝึกวินัยเป็นเรื่องง่าย ไม่ใช่เรื่องลำบากอะไร เป็นอันว่าต้องสร้างจิตสำนึกในการฝึกตนนี้ เพื่อทำให้เด็กสู้กับสิ่งที่ยาก และเข้าหาสิ่งที่ยาก โดยมีความเต็มใจและความสุข

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.