วินัย: เรื่องใหญ่กว่าที่คิด

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

วินัยกับศีล

อนึ่ง ควรจะเข้าใจคำศัพท์ที่มีความหมายใกล้เคียงกัน ในเรื่องวินัย

วินัย มีคำที่ใช้คู่กันคำหนึ่งคือ ศีล ซึ่งในภาษาไทยปัจจุบันเรานำไปใช้ในความหมายแคบๆ และบางทีก็แตกต่างห่างกันไกลกับคำว่าวินัย แต่ที่จริงศีลและวินัยเป็นคำที่คู่เคียงกันอย่างยิ่ง

ดังได้กล่าวแล้วว่า วินัยเป็นบัญญัติของมนุษย์ เป็นการจัดตั้งตามสมมติได้แก่การจัดระเบียบความเป็นอยู่และการจัดระบบสังคม ซึ่งแยกเป็นความหมาย ๓ อย่าง คือ

๑. การจัดระเบียบระบบ ก็เรียกว่าวินัย

๒. ตัวระเบียบระบบ หรือตัวกฎนั้น ก็เรียกว่าวินัย

๓. การฝึกคนให้ตั้งอยู่ในระบบระเบียบ ก็เรียกว่าวินัย

เมื่อคนปฏิบัติตามวินัย จนเกิดเป็นคุณสมบัติของเขาขึ้นมา คุณสมบัติที่เกิดขึ้นในตัวบุคคลนั้นเรียกว่า ศีล

ฉะนั้น ผู้มีศีล คือผู้ที่ตั้งอยู่ในวินัย การตั้งอยู่ในวินัย หรือที่ชอบเรียกในปัจจุบันว่า ความมีวินัยนี้ เรียกว่า ศีล เวลานี้เราใช้คำว่าศีลในความหมายแคบมาก ก็เลยต้องใช้คำว่าความมีวินัย ที่จริงความมีวินัยนั่นแหละ คือความหมายของคำว่าศีล

วินัยเป็นเรื่องข้างนอก เมื่อใดมันเกิดเป็นคุณสมบัติของคน คือ การตั้งอยู่ในวินัยกลายเป็นความประพฤติตามปกติของเขา ก็เรียกว่า ศีล แล้วต่อมาก็ใช้ปนกันไป ที่จริงศีลเป็นส่วนหนึ่งของระบบการศึกษา หรือการฝึกฝนพัฒนามนุษย์ ได้แก่การฝึกในระดับวินัย วินัยเป็นเครื่องฝึก ส่วนการปฏิบัติตนในการฝึกตามวินัยนั้นเป็นศีล ศีลเป็นเรื่องของตัวคน เป็นการพัฒนาตัวของคน เป็นคุณสมบัติของคน

วินัยเป็นคำกว้าง ใช้เป็นคำเอกพจน์อย่างเดียว หมายถึง ประมวลกฎเกณฑ์ หรือประมวลบทบัญญัติ คือระเบียบทั้งหมด แต่เมื่อแยกเป็นข้อๆ แต่ละข้อ เรียกว่า สิกขาบท แปลว่า ข้อศึกษา หรือข้อฝึกหัด วินัยเป็นเรื่องของการฝึกมนุษย์ เพราะฉะนั้น บทบัญญัติแต่ละข้อที่จัดวางขึ้นมาจึงถือเป็นข้อฝึกคนทั้งนั้น และจึงเรียกว่าสิกขาบท

ศีล ๕ เป็นศัพท์ชาวบ้าน ศัพท์ทางพระแท้ๆ เรียกว่า สิกขาบท ๕ เพราะเป็นข้อฝึกหัด ๕ ข้อ

ในระบบการฝึกคน ที่เรียกว่าการศึกษา ท่านจัดเป็น ๓ ด้าน คือ ศีล สมาธิ ปัญญา การฝึกในระดับต้นๆ เมื่อเรียกรวมๆ ก็เรียกว่าศีล การฝึกศีลคือฝึกให้มีศีลนั้นก็ทำด้วยวินัยนั่นเอง ฉะนั้นวินัยจึงเป็นเครื่องฝึกคนให้มีศีล ที่พูดกันว่าฝึกให้มีวินัยนั้นที่ถูกแท้ต้องพูดว่าฝึกให้มีศีลหรือฝึกด้วยวินัยให้มีศีล

ตอนนี้เอาเท่านี้ก่อน ถ้าอธิบายหลายศัพท์จะยิ่งยุ่ง

สรุปว่า การฝึกคนให้มีวินัย คือการฝึกคนให้มีศีลนั่นเอง การฝึกในขั้นนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับพฤติกรรม ซึ่งในระบบการศึกษาจะต้องโยงกันหมดกับการศึกษาส่วนอื่นทุกด้าน คือ ต้องโยงไปถึงสมาธิ ปัญญาด้วย จึงจะได้ผลจริง

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.