วินัย: เรื่องใหญ่กว่าที่คิด

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ความหมายของวินัย
พัฒนาไปตามการพัฒนาของคน

กฎกติกานั้น มีขึ้นมาเพื่ออะไร กฎกติกาเป็นส่วนของสังคม มีขึ้นมาเพื่อผลประโยชน์แก่สังคม เพื่อชีวิตแต่ละชีวิตที่จะมาอยู่ร่วมกันด้วยดี โดยมีโอกาสที่จะดำเนินไปได้อย่างสะดวกคล่องตัวดังที่กล่าวแล้วตั้งแต่ต้นว่า วินัยเป็นเครื่องจัดสรรโอกาส เพราะฉะนั้น กฎเกณฑ์กติกาโดยสาระที่แท้ จึงเป็นเครื่องมือจัดสรรเอื้ออำนวยโอกาสนั่นเอง และมันจึงสัมพันธ์โดยตรงกับเสรีภาพ

ฉะนั้น เมื่อเราเริ่มพัฒนาคน ความเข้าใจความหมายของวินัย กฎเกณฑ์ กติกา ก็จะค่อยๆ พัฒนาไปด้วย

ตอนแรก คนไม่มีความพร้อมเพราะไม่มีปัญญา ไม่มีความเข้าใจเหตุผล พอเห็นกฎเกณฑ์กติกาของสังคม ก็เห็นเป็นเรื่องบีบบังคับตน กีดกั้นการที่ตนจะทำอะไรตามชอบใจ ฉะนั้นสำหรับคนที่ยังไม่พัฒนา วินัยจะมีความหมายเป็นเครื่องบังคับ ตลอดจนกีดขวางความพอใจของตัวเองของเขา ในขั้นนี้ปัญญาก็ไม่มี จิตใจก็ไม่พร้อม จำใจ ฝืนใจ และขึ้งเคียด หรือไม่ก็ท้อแท้เป็นทุกข์ พฤติกรรมก็ขัดแย้ง

ต่อมาเมื่อเขาเริ่มพัฒนาขึ้น และมองเห็นเหตุผล วินัยจะมีความหมายเป็นเครื่องฝึกมนุษย์ ในขั้นนี้ เขามีปัญญาพอที่จะรู้เข้าใจเหตุผลและคุณค่าของกฎเกณฑ์กติกานั้น จิตใจก็ยอมรับ และอาจจะเต็มใจ หรือถึงกับมีความสุขที่จะปฏิบัติตาม พฤติกรรมก็สอดคล้อง

ในที่สุด เมื่อมนุษย์พัฒนาดีแล้ว วินัยจะเปลี่ยนความหมายเป็นเรื่องของสิ่งหมายรู้ร่วมกัน สำหรับที่จะได้ปฏิบัติถูกต้อง ว่าจะดำเนินชีวิตกันอย่างไร จะอยู่ร่วมกันอย่างไร และจะดำเนินกิจการร่วมกันอย่างไร ซึ่งจะต้องลงตัวเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง จึงจะเป็นไปด้วยดี และนี่คือความหมายที่แท้ของกฎเกณฑ์กติกา เหมือนอย่างพระอรหันต์ทั้งหลาย แม้จะมีกฎเกณฑ์กติกามากมาย แต่ท่านไม่รู้สึกเป็นเรื่องบังคับ ไม่ต้องฝืนใจ เพราะเข้าใจเหตุผลและความมุ่งหมายว่าที่มีกติกากันนี้ก็เพื่อประโยชน์ในการอยู่ร่วมกัน จะได้สะดวกคล่องตัว เพราะไม่อย่างนั้นแล้วก็ไม่รู้ว่าจะเอาอย่างไร แล้วก็จะขัดข้องจะวุ่นวาย

ยกตัวอย่างเช่นว่า พระอรหันต์มาอยู่ร่วมกันในวัดสัก ๒๐ ท่าน กระจายกันอยู่องค์ละกุฏิ จะมาฉันพร้อมกันเมื่อไร จะมาประชุมกันเมื่อไร ก็ต้องวางข้อตกลงเป็นกติกา เช่นตั้งกติกาว่า เวลา ๐๗.๐๐ น. ตีระฆังให้หมายรู้ว่ามาฉัน เมื่อมาแล้ว เวลาจะนั่ง ตกลงกันว่านั่งเรียงลำดับอย่างนี้ ใครนั่งก่อนนั่งหน้านั่งหลัง ก็ต้องเป็นระเบียบวางไว้จึงจะเรียบร้อยสบาย นี้แหละเรียกว่าเป็นกติกาสังคม ซึ่งแม้แต่พระอรหันต์ ก็ต้องวางไว้ แต่สำหรับผู้ที่พัฒนาแล้วอย่างนี้ กฎเกณฑ์กติกาทั้งหลายกลายเป็นเพียงเครื่องหมายรู้ร่วมกัน เพื่อจัดสรรความเป็นอยู่และกิจการให้เกิดมีโอกาสที่จะดำเนินไปอย่างดีงามเรียบร้อยคล่องตัว และท่านเหล่านั้นก็ยินดี เต็มใจที่จะปฏิบัติ ในขั้นนี้ ท่านผู้ปฏิบัติมีปัญญารู้เข้าใจเหตุผล ความมุ่งหมาย และคุณค่าโดยสมบูรณ์ และสามารถปรับปรุงกฎเกณฑ์กติกาให้สอดคล้องตามธรรมอยู่เสมอ จิตใจคล้อยไปตามอย่างโปร่งโล่งผ่องใส พฤติกรรมก็สงบราบรื่น

ฉะนั้น จึงบอกว่าความหมายของวินัยเปลี่ยนไปตามการพัฒนาของมนุษย์ คนที่ยังไม่พัฒนา ไม่มีการศึกษา ก็มองวินัยเป็นเรื่องของการบังคับ พอเริ่มมีการพัฒนาก็มองว่าเป็นเครื่องฝึก เพื่อชีวิตในสังคมที่ดีงาม รับการฝึกด้วยใจยินดีเพื่อให้ชีวิตเจริญพัฒนา และสังคมมีสันติสุข พอพัฒนาดีแล้ววินัยก็กลายเป็นเครื่องหมายรู้ร่วมกัน สำหรับการเป็นอยู่ร่วมในสังคม เพื่อให้ชีวิตและสังคมประสานสอดคล้องและเกื้อกูลกลมกลืน

ในสังคมประชาธิปไตยที่แท้ วินัยจะเป็นอย่างนี้ ถ้าเราไม่พัฒนาคน สังคมประชาธิปไตยซึ่งอยู่ได้ด้วยกฎเกณฑ์ กติกา ก็จะเกิดมีความขัดแย้งกันระหว่างความหมายของเสรีภาพกับวินัย แล้วสังคมนั้นก็จะต้องปั่นป่วน ฉะนั้น ถ้าจะให้คนมีเสรีภาพในความหมายว่า ทำอะไรได้ตามชอบใจเท่าที่ไม่ละเมิดกฎหมาย หรือไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น มนุษย์ก็จะต้องวางกฎเกณฑ์กติกามากขึ้นๆ แล้วคนก็จะต้องอยู่ด้วยกฎ พออยู่ด้วยกฎต่อไปนานๆ เข้า คำว่า กฎ ก็กลายเป็น กด กลายเป็นกดดัน หรือกดบีบบังคับ แล้วกดไปกดมา ในที่สุดสังคมประชาธิปไตย ก็ต้องยุติด้วยการเอากฎมากดแบบนี้ แล้วก็หนีการใช้อำนาจลงโทษไปไม่พ้น ผลที่สุดก็กลายเป็นเผด็จการด้วยกฎ/กด ฉะนั้น ประชาธิปไตยนั้นในที่สุด ถ้าคนไม่เข้าถึงสาระของประชาธิปไตย ก็จะกลายเป็นเผด็จการชนิดหนึ่ง คือเผด็จการด้วยกฎอย่างที่ว่ามาแล้ว

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.