การศึกษาฉบับง่าย-Education Made Easy

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ไตรสิกขา เดินหน้าไปกับชีวิตทั้งสามด้าน

ในเมื่อการศึกษาเป็นเรื่องของชีวิต คือการที่ชีวิตต้องพยายามเป็นอยู่ให้ดี และชีวิตก็ต้องเป็นอยู่ตลอดเวลาอย่างที่ว่ามานั้น มันก็เลยเป็นเรื่องของชีวิตทั้งกระบวนที่เป็นอยู่ ซึ่งเราจะแยกกระจัดกระจายออกไปไม่ได้

เพราะฉะนั้นเวลานี้จึงต้องย้ำบ่อยว่า ไตรสิกขาก็อยู่ที่ชีวิตของเราทั้งหมดนี่แหละ การที่ไตรสิกขามี ๓ อย่าง ก็เพราะตรัสไปตาม ๓ ด้านของชีวิต ที่เรียกง่ายๆ โดยใช้ศัพท์สมัยปัจจุบันมาเทียบ ว่าเป็นเรื่องของ พฤติกรรม จิตใจ ปัญญา

แต่ในเรื่องพฤติกรรม ขอย้ำว่า ความจริงมันเป็นศัพท์ที่อาจจะเข้าใจไม่ถึงกับตรงกันทีเดียว เพราะเป็นการเอาคำสมัยใหม่มาเทียบเท่านั้น

ที่ว่าพฤติกรรมนั้น ของพระหมายถึงการที่เราสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม หรือสิ่งรอบตัวทั้งหมด ซึ่งบางอย่างเราอาจจะใช้ศัพท์ปัจจุบันว่าพฤติกรรมไม่ถนัด เช่นการใช้ ตา หู จมูก ลิ้น คือใช้ตาดู – หูฟัง เป็นต้นนี้ เราจะเรียกว่าพฤติกรรมก็คงไม่ถนัด แต่ทั้งหมดนี้ก็เป็นเรื่องของการสัมพันธ์กับโลก ถ้าใช้ภาษาแบบพระก็ว่าสัมพันธ์กับโลก แต่เดี๋ยวนี้เขาใช้คำว่า “สิ่งแวดล้อม”

โลกก็คือทุกอย่างรอบชีวิต เดี๋ยวนี้โลกนั้นเรามาเรียกเป็นสิ่งแวดล้อม แยกเป็นสิ่งแวดล้อมทางวัตถุอย่างหนึ่ง และสิ่งแวดล้อมทางสังคมอย่างหนึ่ง แต่ภาษาพระเรียกว่าโลกหมดเลย

ชีวิตของเราสัมพันธ์กับโลก เราใช้ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ และใช้กายกับวาจาสัมพันธ์กับโลกนั้น ด้านนี้เราเรียกไปพลางก่อนว่า พฤติกรรม

เรื่องของสิ่งแวดล้อมหรือโลกทั้งหมดนี่ เราจะต้องสัมพันธ์ให้ดีให้ได้ผล เป็นด้านที่ ๑ ของชีวิต แน่นอนว่าชีวิตของเราด้านที่ ๑ คือการสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม หรือโลก หรือสิ่งภายนอก ทั้งมนุษย์ ทั้งวัตถุสิ่งของเครื่องใช้และธรรมชาติต่างๆ เราต้องสัมพันธ์แน่นอน จึงต้องสัมพันธ์อย่างดี อย่างได้ผล

ลึกลงไป การที่เราจะมีความสัมพันธ์กับสิ่งเหล่านี้และจะสัมพันธ์อย่างไรก็ขึ้นต่อเจตนา คือเจตจำนงของเรา ซึ่งประกอบด้วยแรงจูงใจ คุณภาพของจิตใจ และสภาพจิตใจที่มีความสุข-ความทุกข์เป็นต้น โดยเฉพาะความสุข และความทุกข์จะเป็นจุดหมายหลักในความสัมพันธ์ของเรา

การที่เรามีพฤติกรรม ทางกาย หรือทางวาจาก็ตาม การที่เราใช้ตาดู - หูฟังก็ตาม ลึกลงไปเรามักจะมุ่งเพื่อสนองความต้องการในแง่ของการหนีทุกข์และหาสุข ภาวะด้านจิตใจจึงมีอิทธิพลต่อการสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมตลอดเวลา คือเรามีเจตนาอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยมีแรงจูงใจอย่างใดอย่างหนึ่ง รวมความว่า จิตใจมีบทบาทตลอดเวลาที่เรามีความสัมพันธ์กับโลกภายนอกด้วยพฤติกรรมและอินทรีย์

ต่อไปอีกด้านหนึ่ง คือ พร้อมกันนั้นเอง เราจะมีความสัมพันธ์ได้แค่ไหน ก็อยู่ในขอบเขตที่เรามีความรู้ คือ ปัญญาของเรารู้เข้าใจเท่าไรอย่างไร และเรามีความเห็นอย่างไร เราก็สัมพันธ์ไปตามนั้นแค่นั้น เราเข้าใจว่าถ้าเราทำอย่างนี้จะเกิดผลดีแก่ชีวิตของเรา จะช่วยให้เราหนีทุกข์ หรือได้รับความสุข แล้วเราก็มีพฤติกรรมไปอย่างนั้นหรือสัมพันธ์อย่างนั้น เช่น เราคิดเห็นเข้าใจว่า ดูสิ่งนี้แล้วเราจะมีความสุข เราก็มีพฤติกรรมและใช้อินทรีย์ที่จะดูสิ่งนั้น อย่างนี้เป็นต้น

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.