การศึกษาฉบับง่าย-Education Made Easy

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

มอง Child-Centered Education อย่างไร จึงจะเอามาใช้หรือไม่ใช้ อย่างเท่าทัน

อีกอย่างหนึ่งที่อยากพูดไว้ คือ เราอยู่ท่ามกลางความเป็นจริงของกระแสสังคม เมื่อสังคมโดยเฉพาะในด้านการศึกษามีความเคลื่อนไหวอย่างไร ว่าโดยเชิงประวัติเป็นมาอย่างไร มันเสื่อมลงและเจริญขึ้นอย่างไร Child-Centered Education แข่งกับ Teacher and Subject-Centered Education อย่างไร มันชนะกันตอนไหน ด้วยเหตุผลอะไร เราก็ต้องรู้ ต้องทันด้วย

ในเชิงประวัติศาสตร์ การศึกษาแบบที่เรียกว่า "มีเด็กเป็นศูนย์กลาง" นี้ เราเอามาจากอเมริกา

Child-Centered Education ออกมาสู่การปฏิบัติตั้งแต่ปี ๑๘๗๕ ซึ่งถือเป็นปีแรกที่ใช้ แล้วก็มาพัฒนามากในยุคของ จอห์น ดิวอี้ ซึ่งเป็นผู้ที่ควรเรียกว่า เป็นหัวหอก หรือเป็นผู้นำในเรื่อง Progressive Education

• ต่อมาหลังปี ๑๙๐๐ Child-Centered Education ก็แย่ลง โดยเฉพาะพอรัสเซียส่งดาวเทียมสปุตนิกขึ้นไป เมื่อปี ๑๙๕๗ Child-Centered Education ก็ตกวูบเลย คนอเมริกันพากันติเตียนว่า Child-Centered Education ทำให้เด็กอ่อนวิชา บุคลิกภาพก็อ่อนแอ ไม่เข้มแข็ง เรียกง่ายๆ ว่าไม่สู้สิ่งยาก ตามใจเด็กมากเกินไป เน้นที่การสนองความต้องการของเด็ก ถึงตอนนี้ Teacher and Subject-Centered Education ก็เฟื่องฟูขึ้นมาอีก ตั้งแต่ปี ๑๙๕๗ เป็นต้นมา

• แต่มาถึงระยะ ๑๙๘๐ เอาอีกแล้ว คนอเมริกันบอกว่าเด็กมี alienation มีความแปลกแยก มีจิตใจที่ไม่สบาย มีความทุกข์ เครียด อะไรพวกนี้ Teacher and Subject-Centered Education ไม่ดีแล้ว ก็เลยหันกลับมา Child-Centered Education อีก ฝรั่งก็เลยแกว่งเป็นลูกตุ้ม แกว่งไป แกว่งมา แกว่งซ้าย แกว่งขวา ใครจะแกว่งตามอย่างไร ก็แกว่งไป

น่าพิจารณาว่าเรื่องนี้บางทีมันกลายเป็นสุดโต่งทั้ง ๒ อย่าง ทางที่ถูกมันน่าจะเป็นมัชฌิมาได้หรือเปล่า มัชฌิมาปฏิปทาก็คือการปฏิบัติจัดดำเนินการที่สอดคล้องกับความเป็นจริงของธรรมดา การศึกษาที่แท้ก็ต้องสอดคล้องกับความเป็นจริงของธรรมดา

พูดถึงการศึกษาที่สอดคล้องกับความเป็นจริงของธรรมดา ธรรมดานั้นเราต้องรู้ด้วยปัญญาใช่ไหม ? นี่ก็คือสัมมาทิฏฐิ เมื่อรู้เข้าใจความเป็นจริงของธรรมดาแล้ว ก็จัดให้สอดคล้องกับความเป็นจริงได้ เรียกว่า มัชฌิมา คือพอดีกับความจริง เมื่อพอดีกับความจริงก็เป็นมัชฌิมา

เพราะฉะนั้น การศึกษาในพุทธศาสนาเป็นมัชฌิมา ซึ่งคงไม่ใช่ Child-Centered Education ไม่ใช่ Teacher and Subject-Centered Education ทั้งนั้นแหละ (หรือจะบอกว่าใช่ ก็ต้องทั้งสองอย่างเลย โดยประสานกันอย่างพอดี)

สองอย่างนั้น ดีไม่ดีจะเป็นสุดโต่ง ๒ ทาง

อย่างที่เขาบอกว่าให้ค้นเอาศักยภาพของเด็กขึ้นมา เราก็บอกว่าให้ระวังนะ ศักยภาพของเด็กน่ะดีแล้ว แต่อย่าลืมศักยภาพของชีวิตด้วยนะ เรื่องของคนเราไม่ใช่มีแค่ศักยภาพของเด็ก บางทีเราคิดแคบไป เราต้องดูด้วยว่าศักยภาพของชีวิตหรือศักยภาพของความเป็นมนุษย์นี่คืออะไร

อีกตัวอย่างหนึ่ง Child-Centered Education จะเน้นเรื่องความแตกต่างของเด็กในด้านความถนัดอะไรพวกนี้ แต่อย่าลืมว่าเด็กต่างกัน ไม่ใช่ในเรื่องความถนัดอย่างเดียว

ทางพุทธศาสนาให้แยก ความแตกต่างระหว่างบุคคล เป็น ๒ ด้าน คือ

๑. ด้านอธิมุติ คือเรื่องความถนัด ความสนใจ ความพอใจ และภูมิหลังอะไรต่างๆ ตลอดจน ความเคยชินที่ลงตัวอยู่ตัว ซึ่งท่านเรียกว่า “วาสนา” อย่างยกตัวอย่างเมื่อกี้ว่าไปห้างสรรพสินค้า คนหนึ่งเข้าร้านเครื่องบันเทิง คนหนึ่งเข้าร้านหนังสือเป็นต้น อย่างนี้เรียกว่าไปตามวาสนา

๒. ด้านอินทรีย์ คือ ระดับการพัฒนา เช่นว่า มีศรัทธา มีสติ มีสมาธิ มีปัญญาแค่ไหน

พระพุทธเจ้าจะสอนคน ต้องทรงรู้ความแตกต่างระหว่างบุคคลทั้ง ๒ ด้าน คือ

• ด้านอธิมุติ เรียกว่า นานาธิมุตติกญาณ

• ด้านอินทรีย์ เรียกว่า อินทริยปโรปริยัตตญาณ

แต่ที่ได้ยินพูดกันอยู่ เวลาพูดถึงความแตกต่างของเด็ก มักจะไปเน้นเรื่องความถนัด เรามักจะพูดถึงด้านเดียว แต่ที่จริงความแตกต่างต้องครบ ๒ ด้าน ด้านอินทรีย์นี้ต้องฝึกทุกคน ต้องพยายามให้ได้มากที่สุดสูงสุด ไม่ใช่ไปดูแต่ด้านความถนัดอย่างเดียว

ทีนี้ศักยภาพของเด็ก กับศักยภาพของความเป็นมนุษย์ บางทีก็ไม่ใช่อันเดียวกัน เราจะต้องพยายามให้เด็กทุกคนเข้าถึงสุดยอดแห่งศักยภาพของมนุษย์ ใช่ไหม? ไม่ใช่เอาแค่ศักยภาพของตัวเขาเท่านั้น…

เรื่องนี้เป็นตัวอย่าง แต่รวมความก็คือว่า เรื่องของยุคสมัย เช่นเรื่องของแนวคิดต่างๆ ที่เข้ามา เราต้องทันและเอามาวิเคราะห์กัน ความเท่าทันสถานการณ์นี้จึงเป็นเรื่องใหญ่เรื่องหนึ่ง

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.