การศึกษาฉบับง่าย-Education Made Easy

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

อาชีวะเป็นแดนใหญ่ ทั้งโดยกิจกรรม และโดยกาลเวลา ในการที่จะเอาไตรสิกขามาพัฒนาชีวิตคน

๔. ต่อไป อาชีวปาริสุทธิศีล เป็น ศีลด้านอาชีวะ เรื่องของอาชีพการงานการเลี้ยงชีพ คือการที่จะได้จะมีปัจจัย ๔ มาเสพบริโภค ที่จริงท่านเอาปัจจยปฏิเสวนา ไปไว้ข้อสุดท้าย เพราะอะไร เพราะว่าเรามีอาชีพก่อน เราต้องรู้จักหาเลี้ยงชีพ จึงได้ปัจจัย ๔ มาบริโภค แล้วก็บริโภคให้เป็น แต่เด็กได้ของบริโภคจากพ่อแม่หามาให้ สำหรับเด็กก็เลยเน้นศีลด้านเสพบริโภค

อย่างไรก็ตาม เด็กๆ ก็ต้องเป็นอยู่ประพฤติตัวและทำหน้าที่ต่างๆ ให้สมกับการที่จะได้ของกินของใช้นั้นมาเสพบริโภค เพราะฉะนั้นเด็กก็ต้องมีอาชีวะที่ถูกต้อง เรียกว่า อาชีวปาริสุทธิศีล แปลตามตัวว่าศีลที่เป็นความบริสุทธิ์แห่งอาชีวะ ซึ่งเป็นศีลอีกหมวดหนึ่ง อย่างในมรรค ศีลประเภทนี้ก็คือสัมมาอาชีวะ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มาก คนมักมองข้ามเรื่องอาชีพ อย่าลืมว่าในมรรค สัมมาอาชีวะเป็นศีลข้อสำคัญ

บางทีศีล ๘ ท่านแสดงไว้สองชุด ศีล ๘ ที่เราเรียกกันว่าอุโบสถศีลนี้แบบหนึ่ง แล้วก็อาชีวัฏฐมกศีล ศีลมีอาชีวะเป็นที่ ๘ อีกชุดหนึ่ง ชุดหลังนี้จะเน้นเรื่องอาชีวะ คือการประกอบอาชีพให้ถูกต้อง

ในการประกอบอาชีพนั้น ก็ต้องดูว่าอาชีพต่างๆ ที่มนุษย์ตั้งกันขึ้นมานี้ ทุกอย่าง เขามีวัตถุประสงค์เพื่อจะแก้ปัญหาชีวิต หรือแก้ปัญหาสังคม หรือเพื่อการสร้างสรรค์อะไรสักอย่างหนึ่งทั้งนั้น ดังนั้นเมื่อเราทำอาชีพอะไร เราก็ต้องทำให้ได้ผลสมตามวัตถุประสงค์นั้น

ยกตัวอย่างง่ายที่สุดก็คือ อาชีพแพทย์มีเพื่ออะไร อ้าว! ก็เพื่อไว้ช่วยบำบัดโรค ช่วยคนไข้ให้หายป่วย ให้เขามีสุขภาพดี เพราะฉะนั้นคนประกอบอาชีพที่ถูกต้องตามความมุ่งหมายของอาชีพนี้ ก็คิดว่าฉันจะทำอาชีพนี้ให้ดีที่สุด ก็คือฉันจะช่วยให้คนไข้หายโรค ให้เขามีสุขภาพดี ส่วนเงินทองก็ได้มาประกอบ

เหมือนเป็นครูอาจารย์นี้ อาชีพของเราก็คือเพื่อจะช่วยให้เด็กมีการศึกษาดี มีชีวิตเจริญงอกงาม ถ้าเราคำนึงถึงวัตถุประสงค์ที่แท้ของอาชีพแล้ว ศีลและผลดีก็แทบจะมาทันทีเลย และเราก็จะรักวัตถุประสงค์นั้น และทำอาชีพด้วยความสุข ทุกอย่างจะสอดคล้องกัน แล้วชีวิตของเราก็สอดคล้องกับความเป็นจริง ไม่เกิดความขัดแย้ง แม้แต่ในใจตัวเอง ก็กลมกลืน ราบรื่น มีความสุข และทำได้ผลดีด้วย

จากนั้นก็หมายถึงว่าอาชีวะนี่ทำแล้วไม่เกิดโทษ ไม่ก่อการเบียดเบียนแก่ใคร ซึ่งก็เสร็จไปแล้วในตัว

แง่ต่อไปก็ให้อาชีพซึ่งใช้เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตของเรา วันหนึ่งตั้ง ๘ ชั่วโมง ๑๐ ชั่วโมงนี้ ให้เป็นแดนพัฒนาชีวิตของตัวเอง คนเราจะพัฒนาตัวเองได้ ก็ต้องอาศัยเวลา และอาศัยกิจกรรมในชีวิต เออ…อาชีพนี่เป็นงาน เป็นกิจกรรม เป็นเรื่องที่กินเวลาส่วนใหญ่ของชีวิต ถ้าเราพลาดมันไปเสียแล้ว เราจะเสียเวลาไปเยอะแยะเลย เพราะฉะนั้นเราก็เอาอาชีพนี่แหละเป็นแดน เป็นเวทีพัฒนาชีวิตของเรา เราก็พัฒนาไตรสิกขาไปเลยด้วยอาชีพนี่แหละ อย่างนี้เป็นต้น

อย่างน้อยที่สุด อาชีวปาริสุทธิศีล ก็คือไม่ให้อาชีพของเราไปก่อการเบียดเบียนเกิดโทษ ทำให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้ใด หรือทำให้สังคมเสื่อมเสีย (และไม่ทำให้ตัวเองสูญเสียหรือเสื่อมจากการพัฒนา)

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.