กระบวนการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาคนสู่ประชาธิปไตย

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ประชาธิปไตย จัดสรรสังคมให้มีโอกาสสูงสุด

ต่อไปอีกแง่หนึ่งคือ การปกครองระบอบประชาธิปไตยนั้น เป็นระบบการจัดสรรสังคมเพื่อให้เกิดโอกาสดีที่สุดในการสร้างสรรค์ ที่จะทำให้ชีวิตและสังคมบรรลุประโยชน์สุขสูงสุด สิ่งสำคัญที่ประชาธิปไตยช่วยให้เกิดขึ้น ก็คือ โอกาส

การปกครองหลายแบบมีปัญหา เพราะกลายเป็นการตัดโอกาส หรือทำให้เสียโอกาส หรือทำให้ไม่เกิดโอกาส

โอกาสนั้นมองได้หลายอย่าง แต่โอกาสสำคัญซึ่งประชาธิปไตยที่ดีจะต้องอำนวยให้มี ๒ อย่าง คือ

๑. โอกาสพัฒนาตน หรือโอกาสที่จะพัฒนาศักยภาพของบุคคล คือประชาชนทุกคนจะมีโอกาสพัฒนาศักยภาพของตน ให้ชีวิตเจริญงอกงาม บรรลุประโยชน์สุขสูงสุด

ในขณะที่ศักยภาพไม่สามารถพัฒนาได้เพราะถูกปิดกั้น บั่นรอน หรือจำกัดด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง ประชาธิปไตยก็มาเอื้อโอกาสนี้ ทำให้เราได้โอกาสที่จะพัฒนาตัวเอง พัฒนาชีวิต และพัฒนาศักยภาพของตน (เช่นด้วยบริการทางการศึกษา)

๒. โอกาสร่วมสร้างสรรค์สังคม คือ การที่ประชาชนเหล่านั้นแต่ละคน มีโอกาสที่จะนำเอาศักยภาพของตนออกไปร่วมสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าและประโยชน์สุขให้แก่สังคม (เช่น ด้วยการมีสิทธิเสรีภาพในการเลือกตั้ง และสมัครรับเลือกตั้ง)

การปกครองหลายแบบมีปัญหาที่เป็นข้อบกพร่องอย่างสำคัญ คือ จะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ได้กลายเป็นการปิดกั้นโอกาส ทำให้ความรู้ ความสามารถ ความถนัดจัดเจน สติปัญญา ที่มีอยู่ในประชาชนมากมาย แต่ละคนๆ ไม่มีโอกาสนำออกมาใช้เป็นส่วนร่วมสร้างสรรค์พัฒนาสังคม เป็นความสูญเสียโอกาสของบุคคล และเป็นการสูญเปล่าของทรัพยากรสังคม ประชาธิปไตยมาแก้ไขจุดอ่อนข้อนี้ ทำให้ศักยภาพที่มีอยู่ของบุคคลทุกคนมีโอกาสนำออกมาใช้ในการร่วมสร้างสรรค์พัฒนาสังคม

แต่ถ้าที่ใดปกครองแบบประชาธิปไตยแล้วไม่เกิดโอกาสและไม่ได้ประโยชน์จากโอกาสทั้งสองนี้ ก็เป็นเครื่องฟ้องว่าประชาธิปไตยนั้นไม่สัมฤทธิ์ผล

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.