กระบวนการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาคนสู่ประชาธิปไตย

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

๓. กระบวนการเรียนรู้ในระบบสัมพันธ์ปัจจัยภายใน-ภายนอก

ปัจจัยที่ช่วยในการเรียนรู้มีหลายอย่าง แต่เมื่อจัดประเภทก็มี ๒ พวก คือ ปัจจัยภายนอก กับปัจจัยภายใน และในบรรดาปัจจัยภายนอก-ภายในที่มีมากนั้น ปัจจัยที่เป็นแกน คือ

๑. ปัจจัยภายนอก ได้แก่ ปรโตโฆสะ (เสียงจากผู้อื่น/สื่อข้างนอก) ที่ดี ที่เอื้อหรือเกื้อหนุน โดยเฉพาะกัลยาณมิตร คือ บุคคลหรือประสบการณ์ของบุคคลที่ดีมีปัญญา

๒. ปัจจัยภายใน ได้แก่ โยนิโสมนสิการ (การรู้จักมอง รู้จักคิด รู้จักพิจารณา คิดเป็น หรือคิดถูกทางถูกวิธี)

คนจะมีการศึกษาจริง ต่อเมื่อเขามีโยนิโสมนสิการ ซึ่งจะทำให้เขารู้จักเรียนรู้ ดำเนินชีวิตได้ดี ปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายอย่างได้ผล และพึ่งตนเองได้

สำหรับคนทั่วไป การเรียนรู้ การที่จะรู้จักดำเนินชีวิตให้ดี การที่จะปฏิบัติต่อสิ่งและสถานการณ์ทั้งหลายอย่างได้ผล ต้องอาศัยการช่วยเหลือแนะนำของผู้อื่น ที่หวังดีและมีประสบการณ์มากกว่า ซึ่งเรียกว่ากัลยาณมิตร

การช่วยเหลือที่ดีที่สุดของกัลยาณมิตร (ปัจจัยภายนอก) คือการชักนำกระตุ้นเร้าให้ผู้เรียนเกิดมีโยนิโสมนสิการ (ปัจจัยภายใน)

เรื่องปัจจัยภายนอก และปัจจัยภายใน หรือเรื่องกัลยาณมิตร และโยนิโสมนสิการนี้ เป็นเรื่องใหญ่มาก และโยงเอากระบวนการเรียนรู้ ๒ ระบบแรก (ทั้งระบบสัมพันธ์ของชีวิต ๓ ด้าน และระบบสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางอินทรีย์ ๖) เข้ามาใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด จึงมิใช่โอกาสที่จะนำมาบรรยายในที่ซึ่งมีเวลาจำกัดอย่างนี้ นอกจากพูดพอเป็นการตั้งเค้าให้เห็นแนวเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อกี้นี้ได้พูดถึงกระบวนการเรียนรู้ในระบบที่ ๒ ซึ่งใช้อินทรีย์สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม และได้พูดมาถึงตอนที่เกี่ยวข้องกับความสุข-ความทุกข์ จึงจะขอพูดถึงการเรียนรู้ในระบบที่ ๓ นี้ เฉพาะแง่ที่โยงกับเรื่องความสุขในกระบวนการเรียนรู้ อีกสักหน่อย

ในหัวข้อที่ผ่านมา ได้พูดให้เห็นว่า กระบวนการเรียนรู้ เป็นกระบวนการพัฒนาความสุขด้วย เช่น จากภาวะพื้นฐานที่บุคคลหาความสุขด้วยการเสพ/บริโภค ซึ่งจะสุขเมื่อไม่ต้องทำ และเมื่อทำก็เป็นทุกข์ คนที่เรียนรู้จะพัฒนาขึ้นมาสู่ภาวะที่มีความสุขจากการศึกษา ซึ่งจะทำให้เขาหาความสุขจากการเรียนรู้ และจากการสนองความต้องการที่จะทำ (ให้ดี) แล้วความสุขจากการศึกษานี้ก็จะยิ่งมาหนุนการเรียนรู้ให้ก้าวหน้า และผู้เรียนรู้ก็จะยิ่งพัฒนา

ในการพัฒนา “ความสุขจากการศึกษา” นี้ โยนิโสมนสิการมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง ตั้งแต่เป็นตัวเริ่มต้นกระบวนการ และช่วยได้ทุกสถานการณ์ไปจนตลอด แม้กระทั่งพลิกสถานการณ์ให้กลับจากเสียเป็นได้ และกลับจากร้ายเป็นดี

ด้วยโยนิโสมนสิการในแง่ความสุข-ความทุกข์นี้ แม้เพียงแค่รู้จักมองทุกข์เป็นบททดสอบจิตปัญญา และมองปัญหาเป็นแบบฝึกหัด คนก็จะนำชีวิตเข้าสู่มิติใหม่แห่งความสุข และเปิดขยายโอกาสแห่งการพัฒนาตนเองออกไปอย่างมากมาย

ในเวลาที่เกินเลยไปบ้างนี้ ขอพูดถึงกระบวนการเรียนรู้ระบบที่ ๓ ในแง่ที่สัมพันธ์กับการพัฒนาความสุขไว้สักหน่อย เป็นการสืบต่อจากหัวข้อก่อนในกระบวนการเรียนรู้ระบบที่ ๒ ดังนี้

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.