กระบวนการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาคนสู่ประชาธิปไตย

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ข) หลักการของประชาธิปไตย ที่มีอยู่โดดเด่นในสังคมไทย

แม้แต่ในสังคมที่ถือกันว่าเป็นผู้นำทางด้านประชาธิปไตยในยุคปัจจุบัน คือประเทศอเมริกา เราจะได้ยินว่า เท่าที่เป็นมาตามประเพณี ประเทศอเมริกานี้ มีความภูมิใจเป็นอย่างยิ่งในคติหนึ่งแห่งชาติของเขา คือ melting pot ที่แปลว่าเบ้าหลอม เขาเคยภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่จะพูดว่า ประเทศอเมริกานี้ เป็นเบ้าหลอม ที่หลอมรวมผู้คน ต่างชาติ ต่างภาษา ต่างวัฒนธรรม ที่มาจากยุโรป ให้ประสานกลมกลืนเข้ามาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จนกระทั่งประเทศอื่นก็ยกย่องสรรเสริญ อย่างนางมาร์กาเรต แธตเชอร์ (Margaret H. Thatcher) อดีตนายกรัฐมนตรีของอังกฤษ เคยพูดในที่ประชุมใหญ่ๆ ยกย่องประเทศอเมริกาว่า มีคุณลักษณะพิเศษในการทำให้คนที่มีความแตกต่างหลากหลายมารวมเข้าด้วยกันเป็นอันหนึ่งอันเดียว

คติของประเทศอเมริกาเอง ซึ่งเป็นคำขวัญอยู่ในตราแผ่นดิน (Great Seal of the United States) ก็ใช้คำว่า E pluribus unum แปลว่า ความเป็นหนึ่งจากความหลากหลาย หรือจากหลายกลายเป็นหนึ่ง

ข้อความเหล่านี้เป็นคติที่สำคัญของประเทศอเมริกา หมายความว่า เบื้องหลังการที่เขาพูดโดดเด่นในเรื่องเสรีภาพและความเสมอภาคนั้น หลักการอย่างหนึ่งที่เป็นฐานรองรับ ให้ประเทศและสังคมของเขาอยู่ได้ก็คือ ความเป็น melting pot หรือเบ้าหลอมนี้ แต่ว่าคนไทยไม่ค่อยพูดถึง

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนี้ ในประเทศอเมริกา melting pot หรือเบ้าหลอมนั้นแตกเสียแล้ว แตกมาหลายปีแล้ว ก็เลยจะเอาแค่ให้เป็น mosaic คือ เมื่อหลอมรวมกลมกลืนเป็นอันเดียวกันไม่ได้ ก็เอาแค่เป็นเหมือนกระเบื้องชิ้นเล็กชิ้นน้อยมากมายที่มีสีสันแตกต่างกัน เอามาจัดเรียงกันเป็นระเบียบก็น่าดู แต่ตอนนี้แม้แต่ mosaic ก็ทำท่าว่าจะเป็นไม่ได้ คนอเมริกันเองบอกว่า สังคมของเขาจะเป็นได้แค่จานสลัด (salad bowl) คือเพียงแต่ปนเปคลุกกันไป

เวลานี้ อเมริกากำลังมีปัญหาในด้านภราดรภาพ คนรุ่นใหม่จำนวนมากไม่ชอบคติเบ้าหลอม คือ melting pot แต่กลายเป็นต่อต้านการหลอมรวม จึงเรียกง่ายๆ ว่าเบ้าหลอมแตกแล้ว และเกิดมีคติใหม่เรียกว่า multiculturalism คือให้มีความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรม แทนที่จะให้วัฒนธรรมทั้งหลาย เช่น ของคนดำกับของคนขาวเป็นต้น มาหลอมรวมกัน ก็ให้อยู่ร่วมกันด้วยดีมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวโดยรักษาวัฒนธรรมที่แตกต่างกันนั้นไว้

แต่ภาวะที่เป็นจริงในอเมริกาเวลานี้ก็คือ เขาอยู่ร่วมกันด้วยดีไม่ได้ และคนอเมริกันก็กำลังทะเลาะกันในเมืองนี้ บางคนถึงกับพูดว่าประเทศของเขาอยู่ในภาวะวิกฤติหรือสงครามทางวัฒนธรรม (cultural crisis หรือ cultural war; ลองอ่าน The De-valuing of America ของอดีต รมว.ศึกษาธิการของอเมริกา William J. Bennett, ๑๙๙๒)

เมื่อในอเมริกา melting pot ยังไม่ทันเป็นจริงก็มาแตกเสียแล้ว ประชาธิปไตยก็มาถึงระยะที่เป็นขาลง ตอนนี้เราพูดว่าประเทศไทยเป็นยุคเศรษฐกิจขาลง อเมริกาก็หวั่นใจว่าจะเข้ายุคประชาธิปไตยขาลง ถ้าแก้ปัญหานี้ไม่ตก ประชาธิปไตยก็จะอยู่ดีได้ยาก จึงไม่ใช่เรื่องที่จะไปภูมิใจแค่เพียงการมีเสรีภาพและความเสมอภาค เวลานี้ ปัญหาหนักคือ ความแตกแยกในสังคม

เรื่องที่กำลังพูดกันมาก คือ multiculturalism ที่แปลกันว่า ภาวะพหุวัฒนธรรมนั้น ก็พาให้การศึกษาตามไปด้วย คือการศึกษาจะสนองแนวทางของสังคม เพื่อหาทางให้คนต่างวัฒนธรรมมาอยู่ร่วมกันได้ ทำอย่างไรจะให้ความแตกต่างหลากหลายประสานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ นี้เป็นปัญหาที่หนักที่สุด ซึ่งประเทศที่ก้าวหน้าที่สุดขณะนี้ ก็ยังไม่สามารถแก้ไขได้ อเมริกากลายเป็นประเทศที่ล้าหลังในเรื่องนี้

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยเรา แม้จะมีปัญหาน้อยในเรื่องการแบ่งแยกกันอย่างนี้ แต่ก็ไม่ควรจะมัวเพลินอยู่กับเรื่องเสรีภาพและความเสมอภาคมากเกินไป จนกระทั่งลืมไปว่า ที่แท้แล้ว สิ่งที่จะมารองรับสังคมไว้นั้น ไม่มีทางเลี่ยง คือ สังคมต้องมีภราดรภาพ ซึ่งจะเรียกว่าสามัคคี เอกภาพ หรือจะเรียกอะไรก็แล้วแต่ จะต้องมีหลักการนี้ ดังนั้นการศึกษาปัจจุบันจะต้องมาเน้นเรื่องนี้

ประเทศไทยของเรามีปัญหาน้อยกว่าอเมริกา เราไม่มีคติ melting pot แต่เราก็มีภูมิหลังทางวัฒนธรรมที่น่าภูมิใจ แทบจะพูดได้ว่า อาจจะเป็นที่หนึ่งในโลก หรืออย่างน้อยก็เป็นประเทศที่มีปัญหาน้อยที่สุดประเทศหนึ่ง ในเรื่องความแตกแยกของประชาชนในสังคม เราต้องจับให้ได้ว่า อะไรที่เป็นตัวประสาน หรือเป็นหลักการที่เอื้อทางวัฒนธรรม ที่ทำให้เรามีความสามารถพิเศษในด้านนี้ แล้วก็อย่าปล่อยทื่อไป หลักการหรือแนวคิดนี้จะต้องนำเอามาใช้รักษาสังคมประชาธิปไตยให้ได้

พื้นฐานทางวัฒนธรรมของสังคมไทย มีคุณลักษณะที่เอื้อต่อภราดรภาพ หรือเอกภาพ อย่างเห็นได้ชัดอย่างน้อย ๒ ประการ คือ

๑. ในระดับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล คนไทยใช้ภาษาสื่อสารเรียกกันด้วยถ้อยคำที่ชักนำให้มองกันฉันญาติพี่น้อง พบคนสูงอายุก็เรียกคุณตา คุณยาย หรือตานั่น ยายนี่ พบคนรุ่นใกล้เคียงพ่อแม่ก็เรียกว่า ลุง ป้า น้า อา พบคนอายุใกล้เคียงกับตน ก็เรียกว่าพี่ว่าน้อง พบเด็กก็เรียกลูกเรียกหลาน

๒. ในระดับความสัมพันธ์ระหว่างหมู่หรือกลุ่มชน คนไทยให้เกียรติต้อนรับ และปรับตัวเข้ากับคนต่างเชื้อชาติต่างศาสนาได้อย่างประสานกลมกลืนมาก หากจะมีความรังเกียจเดียดฉันท์บ้าง เมื่อเทียบกับที่มีในสังคมอื่น ก็นับว่าน้อยอย่างยิ่ง ยากที่จะเกิดปัญหาเกี่ยวกับการแบ่งแยก

เสรีภาพและความเสมอภาคที่แท้จะประสานและเสริมกันกับภราดรภาพ แต่ถ้าไม่เป็นเช่นนั้น ถึงแม้ประชาชนมีเสรีภาพและความเสมอภาค เมื่อขาดภราดรภาพหรือสามัคคีเอกีภาพแล้ว ประชาธิปไตยก็ไม่อาจบรรลุจุดหมายในการที่จะสร้างสรรค์สังคมให้มั่นคงมีสันติสุข

ในขั้นสุดท้าย ภราดรภาพที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อคนมีการศึกษา ได้พัฒนาจิตใจและปัญญา รู้เข้าใจแจ้งในความจริงของโลกและชีวิต จนข้ามพ้นความรู้สึกแบ่งแยก กีดกัน คับแคบ หวงแหน ที่เรียกในทางธรรมว่า “มัจฉริยะ” ทั้ง ๕ ประการ เช่น วรรณมัจฉริยะ (ความหวงแหนกีดกั้นกันในเชิงแบ่งแยกชาติชั้นวรรณะ) เป็นต้นได้หมดสิ้น และในบรรยากาศแห่งภราดรภาพนี้ การใช้เสรีภาพและความเสมอภาคจึงจะนำประชาธิปไตยไปสู่จุดหมายที่เป็นประโยชน์สุขของประชาชนอย่างแท้จริง

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.