กระบวนการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาคนสู่ประชาธิปไตย

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ประชาธิปไตย ทำให้คนมีโอกาสศึกษา
การศึกษา ทำให้คนเข้าถึงโอกาสในสังคมประชาธิปไตย

ที่พูดมานี้เป็นแง่มุมต่างๆ ที่จะเห็นได้ว่า การปกครองระบอบประชาธิปไตย จำเป็นต้องอาศัยการศึกษา เพื่อทำให้คนมีคุณภาพ เพราะคุณภาพของประชาธิปไตยขึ้นอยู่กับคุณภาพของประชาชน และในเวลาที่มองประชาธิปไตย ก็อย่ามองแค่การปกครอง อย่ามองแค่ว่า อ้อ นี่เราเป็นประชาธิปไตย ประชาชนได้ขึ้นมาเป็นผู้ปกครอง แล้วก็หยุดเท่านั้น โดยนึกว่านี่เราเก่งเราได้เป็นใหญ่แล้ว สิ่งที่สำคัญก็คือจะต้องมองว่า เราปกครองเพื่ออะไร เราควรจะมองไปให้ถึงจุดหมายของการปกครอง

การปกครองนั้น ก็คือการที่เรามาจัดสรรสังคม เพื่อสร้างสรรค์สังคมให้เจริญมั่นคงมีสันติสุข และให้แต่ละคนมีโอกาสพัฒนาศักยภาพ เพื่อให้ชีวิตเจริญงอกงามบรรลุประโยชน์สุขที่สูงประเสริฐ และมาร่วมสร้างสรรค์สังคมกันต่อไปอีก ตรงนี้แหละที่ว่าเป็นตัวจุดหมาย

ที่พูดมานี้เป็นการตอบคำถามที่ว่าเราปกครองกันเพื่ออะไร ซึ่งสำคัญกว่าการที่จะมาภูมิใจกันอยู่แค่ว่าเราได้มาปกครอง เราได้มีสิทธิ์มีเสียงแล้ว มาเน้นกันอยู่แค่นั้น ถ้าอย่างนี้ก็จะเป็นเพียงเหมือนกับว่า เราได้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ แต่ไม่เคยคิดว่าจะเอามันไปใช้ทำอะไร

ตอนนี้ก็คิดว่า พอสมควรแล้วสำหรับเรื่องการศึกษากับประชาธิปไตย

ขอเน้นอีกทีว่า การปกครองแบบประชาธิปไตยนั้น จะต้องอาศัยการศึกษา อย่างน้อยก็เป็นการนำเอาการศึกษามาช่วยเตรียมคนให้พร้อม ที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการของสังคมประชาธิปไตย อันนี้คือสาระที่สำคัญที่สุด คือการเตรียมคนให้เขาพร้อมที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในสังคมประชาธิปไตย หรือในกระบวนการประชาธิปไตยทั้งหมด

ถ้าไม่มีการเตรียมคนอย่างนี้ กระบวนการประชาธิปไตยก็จะกลายเป็นกระบวนการที่ล้มเหลว เพราะว่าบุคคลที่เป็นส่วนร่วมซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนกระบวนการนั้น ไม่มีคุณภาพ ไม่มีความพร้อม

อย่างน้อย การศึกษาก็ทำให้คนได้เข้าถึงโอกาสในสังคมประชาธิปไตย เราบอกว่าประชาธิปไตยจัดสรรสังคมให้เกิดมีโอกาสแก่บุคคลแต่ละคนแล้ว แต่คนที่ไม่มีการศึกษา ก็ไม่สามารถเข้าถึงหรือใช้โอกาสนั้น คือไม่สามารถได้รับประโยชน์จากสังคมประชาธิปไตย เช่น ถ้าบุคคลใดไม่รู้หนังสือ โอกาสที่มีอยู่มากมายในสังคมประชาธิปไตย ก็ไม่เป็นประโยชน์แก่เขา ดังนั้น ในขั้นที่หนึ่ง เราจึงพูดว่า การศึกษาช่วยให้คนเข้าถึงโอกาส และสามารถได้ประโยชน์จากสังคมประชาธิปไตยนั้น

ในขั้นต่อไป เมื่อคนมีการศึกษาดี เขาก็สามารถนำศักยภาพของตนออกมาร่วมสร้างสรรค์สังคมอย่างที่กล่าวข้างต้นแล้ว ดังนั้นจึงพูดต่อไปอีกว่า การศึกษาช่วยให้คนสามารถใช้โอกาส ที่จะทำประโยชน์แก่สังคมประชาธิปไตย

ในที่สุด เมื่อพูดโดยรวมก็คือ การศึกษาเข้ามาช่วยให้การปกครองตามระบอบประชาธิปไตยมีคุณภาพที่แท้จริง และสัมฤทธิ์ผลตามวัตถุประสงค์ของประชาธิปไตย ถ้ามิฉะนั้นประชาธิปไตยก็อาจจะเป็นเพียงชื่อ เป็นเพียงแต่ระบบในอุดมคติที่ไม่สามารถบรรลุผลได้เลย เพราะฉะนั้นจึงกล่าวว่า ปัจจัยที่จะให้สังคมประชาธิปไตยบรรลุผลสำเร็จ ก็คือการศึกษา

ในทางกลับกัน ประชาธิปไตยก็ให้โอกาสแก่ทุกคนที่จะเข้าถึงการศึกษาอย่างเสมอภาคด้วย หมายความว่า เมื่อเรามีการปกครองแบบประชาธิปไตย ประชาธิปไตยก็เปิดโอกาสให้กับคนที่จะเข้าถึงการศึกษาได้ เพราะฉะนั้นในความหมายหนึ่ง การสร้างสรรค์สังคมประชาธิปไตย ก็คือการสร้างสรรค์สังคมที่เอื้อต่อการศึกษา หรือจะใช้คำที่กำลังนิยมกันว่า สร้างสรรค์สังคมให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้

ถึงตอนนี้แหละสังคมประชาธิปไตยก็จะเข้าถึงหลักการที่แท้จริง ซึ่งมาบรรจบกับที่นิยมพูดกันเวลานี้ที่ว่า เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ เพราะที่แท้แล้วสังคมประชาธิปไตยนี่แหละจะต้องเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ เพราะคนจะต้องพัฒนาตัวให้มีสติปัญญา ที่จะมาร่วมในการดำเนินกระบวนการประชาธิปไตยให้สัมฤทธิ์ผลไปถึงจุดหมายได้

ถ้ามองในแง่นี้ก็น่ายินดีว่า ปัจจุบันคนให้ความสำคัญแก่คำว่า “สังคมแห่งการเรียนรู้” เพราะที่จริงนั้น สังคมประชาธิปไตย กับสังคมแห่งการเรียนรู้ ก็คือคนละด้านของเรื่องเดียวกัน

เรื่องความสัมพันธ์ระหว่าง สังคมประชาธิปไตย กับการศึกษา ก็ได้ใช้เวลาไปมากแล้ว เป็นอันว่า เพื่อให้คนเป็นส่วนร่วมที่ดีของสังคมประชาธิปไตย และสามารถได้รับประโยชน์จากสังคมประชาธิปไตย แล้วก็ช่วยให้ประชาธิปไตยดำเนินไปด้วยดีสู่จุดหมาย เราต้องอาศัยการศึกษา

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.