พุทธธรรมกับปรัชญาการศึกษาไทยในยุคโลกาภิวัตน์

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ข่าวสารข้อมูลมากมาย: ทั่วถึง หรือท่วมทับ

ต่อไป โลกาภิวัตน์ที่สองซึ่งเป็นที่ทราบกันดีมากก็คือ เรื่องข่าวสารข้อมูล ซึ่งมีความสำคัญจนกระทั่งถือว่ายุคปัจจุบันนี้เป็นยุคข่าวสารข้อมูล และสังคมที่พัฒนาแล้วทั้งหลายก็เรียกกันว่าเป็นสังคมข่าวสารข้อมูล หรือจะเรียกว่าสังคมสารสนเทศก็แล้วแต่ โดยภาษาอังกฤษที่เป็นตัวของเดิมเขาใช้ว่า information age และสังคมนั้นก็เป็นสังคม information society อันเป็นสังคมที่ถือว่าอยู่ในยุคบริการ เป็นยุคที่ข้ามพ้นอุตสาหกรรมแล้ว

เราจะต้องรู้ตัวว่าสังคมของเราอยู่ในโลกยุคนี้จริง โลกมาถึงยุคนี้จริง แต่สังคมของเราหาได้ถึงอย่างนั้นไม่ เพราะสังคมของเรายังเป็นสังคมคละผสม เป็นสังคมเกษตรก็ยังไม่พ้น กำลังพยายามเข้าสู่ความเป็นสังคมอุตสาหกรรมก็ยังไม่เต็มตัว สังคมข่าวสารข้อมูลก็พลอยกับเขาบ้าง โดยที่ภาวะของสังคมข่าวสารข้อมูลก็มีอิทธิพลต่อเรามาก เราได้โผล่เข้าไป แต่เราก็ยังไม่พ้นจากอุตสาหกรรม ที่แท้ยังถึงไม่เต็มตัวด้วยซ้ำ ก็กลายเป็นว่า สังคมของเรามีลักษณะพิเศษจะไปเอาตัวอย่างจากสังคมที่เขาพัฒนาแล้วมาใช้ไม่ได้ มันไม่เหมือนกัน

ในการที่จะพัฒนาสังคมหรือแก้ปัญหาสังคม จะต้องรู้ตระหนักว่าสังคมของเรามีลักษณะพิเศษไม่เหมือนเขา จะไปถือว่าเราอยู่ในยุค information แล้วจะเอาอย่างเขา เป็นอย่างเขา หรือใช้วิธีแก้ปัญหาแบบเขา ย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะสังคมของเรานั้นปนกันไปหมด เป็นทั้งสังคมเกษตร สังคมอุตสาหกรรม สังคมข่าวสารข้อมูล อย่างในสังคมอเมริกันเวลานี้ คนที่ทำงานในภาคเกษตรกรรมมีเพียง ๒% แต่ในประเทศอย่างจีนแดงมีคนทำงานในภาคเกษตรกรรม ๖๙% สังคมไทย เมื่อไม่กี่ปีมานี้ก็แถวๆ ๗๐ กว่าเปอร์เซนต์ แต่เวลานี้อาจจะลดลงเยอะ เพราะเราก้าวเข้าสู่สภาพอุตสาหกรรมไว ชนบทของเราเปลี่ยนแปลงเร็วมาก เราจะก้าวเข้าไปมีวิถีชีวิตอุตสาหกรรม ซึ่งก็ยังไม่ใช่สังคมข่าวสารข้อมูลอย่างของเขาที่เรียกว่า post-industrial คือผ่านพ้นอุตสาหกรรมไปแล้ว เราจะต้องรู้จักสังคมของเราให้ดี อันนี้ก็เป็นแง่หนึ่ง

เรื่องข่าวสารข้อมูลนั้นยังมีแง่มองที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ความเกี่ยวข้องกับข่าวสารข้อมูลนั้นเป็นปัญหาใหญ่แม้แต่ในสังคมที่พัฒนาแล้ว เรามักจะมองแต่ในแง่ดี แง่บวก แง่ภูมิใจว่าเดี๋ยวนี้มีข่าวสารข้อมูลมากมายพรั่งพร้อม มีข่าวเกิดที่ไหนเรารู้ทุกแห่งไปทั่วถึงกันหมด และรู้ทันทีด้วย เกิดเหตุการณ์นี้ปั๊บในประเทศอเมริกา ในประเทศรัสเซีย ในทวีปแอฟริกา ไม่ว่าที่ไหนเกิดเดี๋ยวเดียว เราก็รู้หมด เมื่อมองในแง่บวก ก็จะภูมิใจว่าเรานี่เป็นคนมีสติปัญญา มนุษย์ยุคนี้มีความรู้มากมายดีกว่ามนุษย์ยุคก่อน แต่ความจริงนั้น ข่าวสารข้อมูลถ้าปฏิบัติไม่ถูกก็จะมีผลเสียมากกว่าดี ดังนั้นในยุคนี้ เมื่อพัฒนาคนไม่ถูกและไม่ทันก็จะมีปัญหามากขึ้น ดังที่ปรากฏแม้แต่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว คือปัญหาเกี่ยวกับการรับข้อมูลและการใช้ข้อมูล เช่น รับข้อมูลไม่เป็น รับแล้วไม่สามารถเข้าถึงความจริงของมัน เกิดความพร่ามัว หรือถึงกับหลง และถูกหลอก เลยกลายเป็นเหยื่อของข่าวสารข้อมูล เวลานี้คนในยุคปัจจุบันสามารถใช้ข่าวสารข้อมูลเป็นเครื่องมือในการหลอกกันได้มาก และเอาคนเป็นเหยื่อ เช่น ระบบการโฆษณาเป็นต้น เพราะฉะนั้นมนุษย์ในยุคนี้อาจจะกลายเป็นทาสของข่าวสารข้อมูลมากกว่าเป็นนายก็ได้ ถ้าไม่รู้จักพัฒนา อันนี้ก็เป็นหน้าที่ของการศึกษา ภาวะไม่พัฒนาด้านนี้มีมากมาย เช่นรับไม่เป็น ไม่สามารถเข้าถึงเนื้อหาสาระความเป็นจริงของมัน จับประเด็นไม่ได้ ไม่สามารถเลือกคัดเจาะลึก ไม่ต้องพูดถึงจะมาใช้ แม้แต่จะสื่อสารก็ไม่เป็นแล้ว ก็เลยไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ เช่นไม่สามารถสร้างสรรค์ความรู้ความคิดใหม่ๆ จากข่าวสารข้อมูลนั้น อันนี้เป็นข้อบกพร่องในการเกี่ยวข้องกับข่าวสารข้อมูล

สภาพอีกอย่างหนึ่งก็คือ ในขณะนี้ข่าวสารข้อมูลมีมากจนกระทั่งท่วมทับมนุษย์ มนุษย์อยู่ภายใต้ทะเลแห่งข่าวสารข้อมูล คนในประเทศที่พัฒนาแล้ว เกิดปัญหาในเรื่องนี้มาก คือจะปฏิบัติอย่างไร ไม่รู้จะรับอย่างไรไหว ขยะข้อมูลก็มากมาย ถ้าไม่รู้จักเลือกไม่รู้จักรับก็จะเกิดสภาพอย่างหนึ่งที่เรียกว่าสภาพสมองเมื่อย คือข่าวสารมากจนกระทั่งรับไม่ไหว สมองล้าหมด เมื่อล้า ผลที่สุดคนก็จะปล่อยเลยตามเลย ไม่รู้จะเอาอะไรดี ฟังไม่ไหว ยิ่งไม่มีความสามารถในการรับด้วย เลือกคัดก็ไม่เป็น เลยไม่ทันมัน เมื่อไม่ทันมัน สมองก็เมื่อยก็ล้า ก็เลยปล่อยเลยตามเลย เพราะฉะนั้น จึงไม่แน่ว่าจะดี ต้องระวังให้มาก การศึกษาจะต้องพัฒนาคนให้ทัน ให้มีความสามารถที่จะรับมือกับข่าวสารข้อมูล และใช้มันอย่างเป็นนาย ไม่ใช่เป็นทาส

สภาพจิตอีกอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นในสังคมที่พัฒนาแบบนี้คือ ความกระวนกระวายต่อข้อมูล เพราะเหตุว่าชีวิตต้องพึ่งข่าวสารข้อมูลมากขึ้น กลายเป็นว่าชีวิตของเรานี้ไม่เป็นอิสระ ต้องขึ้นต่อข่าวสารข้อมูล ในวิถีชีวิตและการงาน ถ้าไม่ทันต่อข่าวสารข้อมูลแล้วตัวเองจะด้อย ยิ่งอยู่ในระบบแข่งขันในสังคมอย่างปัจจุบันนี้ ที่เป็นระบบผลประโยชน์ แบบทุนนิยม การที่จะแข่งขันได้ชัยชนะจะต้องทันต่อข่าวสารข้อมูลและมีข้อมูลเหนือกว่าเขา ทำให้เกิด anxiety คือภาวะกังวลและกระวนกระวาย ดังที่มีหนังสือบางเล่มใช้คำว่า information anxiety มาล้อเลียนคำว่า information society กลายเป็นความกระวนกระวายกลุ้มกังวลว่า เรื่องข่าวสารข้อมูลนี้ ตัวจะทันเขาหรือเปล่า มีอะไรเกิดขึ้นใหม่ ตัวรู้ทั่วถึงหรือเปล่า ตัวจะดำเนินธุรกิจได้ชัยชนะไหม นี่คืออันตรายที่ว่าถ้าการศึกษาไม่ทันกับยุคสมัยแล้วมนุษย์จะลำบากมาก

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.