พุทธธรรมกับปรัชญาการศึกษาไทยในยุคโลกาภิวัตน์

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

โลกาภิวัตน์ใหม่ที่กำลังตามติดมา

สภาพโลกาภิวัตน์สำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่มักมองข้ามกันไป ซึ่งควรพูดถึงไว้ด้วย แม้จะยังไม่บรรยาย ก็คือสภาพจิตป่วย ซึ่งอาจจะยังอยู่ในขั้นแพร่ขยาย ยังไม่เป็นโลกาภิวัตน์เต็มตัว เพราะเป็นสภาพที่ตามโลกาภิวัตน์อื่นมา

เมื่อสังคมตะวันตกเจริญด้วยอุตสาหกรรม ในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่เน้นการแข่งขันมุ่งหาผลประโยชน์ ก็ปรากฏว่าผู้คนมีอาการป่วยหรือไม่สบายทางจิตเพิ่มขึ้นๆ โดยเฉพาะความเครียด (stress) ที่กำลังเป็นปัญหาเด่นนำอย่างหนึ่ง

เมื่อระบบเศรษฐกิจแบบแข่งขันนั้นแพร่ไปเป็นโลกาภิวัตน์ สภาพจิตเครียดก็พลอยตามไปด้วย เวลานี้ในสังคมที่ก้าวสู่การพัฒนา ผู้คนก็พากันมีสภาพจิตเครียดเพิ่มขึ้นทั่วไป อีกไม่ช้าคงจะถือว่า ความเครียดเป็นโลกาภิวัตน์อย่างหนึ่งได้ชัดเจน

ความเครียดเป็นอาการไม่สบายหรือป่วยทางจิต เป็นภาวะแห่งความทุกข์อย่างหนึ่งแต่เป็นภาวะที่โยงไปสู่ปัญหาด้านอื่นต่อไปอีกทั้งชีวิตด้านกายและสังคม ทางด้านกายวงการแพทย์รู้กันดีว่าความเครียด (stress) นั้น ทั้งทำให้เป็นโรคและซ้ำเติมโรคที่เป็นอยู่แล้วให้รุนแรงยิ่งขึ้น คนที่เครียดมากจะเสี่ยงต่อการเป็นโรคได้ทุกชนิด ตั้งแต่ความดันโลหิตสูง โรคแผลในกระเพาะอาหาร ไปจนถึงมะเร็ง ส่วนในทางสังคม คนเครียดก็ทำให้เกิดบรรยากาศไม่ปลอดโปร่งในการอยู่ร่วมกันหรือทำงานร่วมกัน และทำให้เกิดความขัดแย้ง ตลอดจนทะเลาะเบาะแว้งได้ง่าย

นอกจากความเครียดแล้ว อาการไม่ปกติทางจิตจำพวกเดียวกันก็เพิ่มมากขึ้นควบคู่มากับความเจริญสมัยใหม่ ที่น่าสังเกตยิ่งคือภาวะซึมเศร้า (depression) ซึ่งนำไปสู่การฆ่าตัวตายในยุคปัจจุบันจำนวนมาก

เมื่อสังคมอเมริกันเจริญด้วยอุตสาหกรรม แต่ละคนมุ่งหน้าทำงานทำการไม่มีเวลาเอาใจใส่กัน คนแก่ถูกทอดทิ้งเหงาว้าเหว่ได้ฆ่าตัวตายมีสถิติค่อนข้างมากเป็นเรื่องเก่ามีมานานแล้ว แต่บัดนี้สังคมอเมริกันมีความมั่งคั่งพรั่งพร้อมขึ้น ได้ผ่านพ้นยุคอุตสาหกรรมมาเป็นสังคมบริโภค (consumer society) กลับมีปัญหาใหม่ คือเด็กวัยรุ่นหนุ่มสาวฆ่าตัวตายมาก

สถาบันสุขภาพจิตแห่งชาติของอเมริกา (National Institute of Mental Health) แสดงสถิติออกมาว่า ในช่วงเวลา ๓๐ ปี จาก ค.ศ. ๑๙๕๐ ถึง ๑๙๘๐ สถิติวัยรุ่นอเมริกัน อายุระหว่าง ๑๕-๑๙ ปี ฆ่าตัวตายเพิ่มสูงขึ้น ๓ เท่าตัว (๓๐๐%) การฆ่าตัวตายกลายเป็นสาเหตุการตายอันดับ ๒ ของเด็กวัยนั้น ปัญหาว่า เด็กวัยรุ่นกำลังแข็งแรงสดใสอยู่ในวัยสนุกสนานแสวงหาความสุข และสังคมก็มั่งคั่งพรั่งพร้อม มีสิ่งบำรุงบำเรอที่จะสนองความต้องการทุกอย่าง ทำไมเด็กเหล่านั้นจึงฆ่าตัวตายหนีสิ่งบำเรอความสุขไปเสีย

เมื่อประเทศญี่ปุ่นพัฒนาเศรษฐกิจเจริญมั่งคั่งอย่างรวดเร็ว ในระบบทุนนิยมแข่งขันนั้น พอเจริญมากขึ้นก็ปรากฏว่าเด็กหนุ่มสาวชาวญี่ปุ่นก็ฆ่าตัวตายมากขึ้น เหมือนเอาอย่างสังคมอเมริกัน

เหตุปัจจัยของปัญหานี้ย่อมโยงอยู่กับสภาพโลกาภิวัตน์อื่นๆ โดยเฉพาะระบบเศรษฐกิจและสังคม ที่ส่งผลต่อด้านจิตใจ อย่างน้อยก็เหมือนจะฟ้องว่า คนในสังคมที่เจริญมั่งคั่งผู้คนหาได้มีความสุขไม่ และเรื่องนี้ย่อมเป็นปัญหาสำคัญของการศึกษาด้วย ในฐานะที่มีหน้าที่พัฒนามนุษย์และสร้างสรรค์อารยธรรม

ในเรื่องนี้มีข้อน่าสังเกตอย่างหนึ่งด้วยว่า ชาวตะวันตกมีชื่อว่ามีภูมิหลังทางสภาพจิตหรือนิสัยใจคอบางอย่างที่ดี เช่น ความใฝ่รู้ และสู้สิ่งยาก แต่ทั้งที่อารยธรรมตะวันตกแพร่หลายไปทั่วโลก สภาพจิตแบบใฝ่รู้ สู้สิ่งยาก หาได้แพร่หลายไปไม่ แต่สภาพจิตที่แพร่หลายเป็นโลกาภิวัตน์ กลับเป็นอาการเครียด และซึมเศร้า เป็นต้น ที่เป็นเครื่องแสดงถึงความเสื่อมและความทุกข์มากกว่าความเจริญและความสุข

สภาพจิตป่วยนี้ อาจจะเป็นผลปลายสุดของอารยธรรมปัจจุบัน ซึ่งหมายถึงเป็นภัยคุกคามต่ออารยธรรมนั้นเอง เป็นปัญหาโดยตรงที่เรียกร้องปรัชญาการศึกษาที่แท้ที่จะมาให้ความแจ่มกระจ่าง และบอกทางแก้ไข

นี่เป็นตัวอย่างของสภาพโลกาภิวัตน์ต่างๆ ที่เราจะต้องเกี่ยวข้องรู้เท่าทัน และปฏิบัติให้ถูกต้อง ปรากฏว่าสภาพโลกาภิวัตน์ทุกอย่างที่กล่าวมานี้เป็นสภาพที่มีปัญหาแฝงอยู่ บางอย่างก็เป็นตัวปัญหาหรือก่อปัญหา เท่ากับมันฟ้องว่าการพัฒนามนุษย์ที่ผ่านมานั้นมีอะไรบกพร่องอยู่ คือการพัฒนาโลกก็บกพร่องแล้ว ยังส่อมาถึงในตัวมนุษย์ว่า ในชีวิตจิตใจมีความบกพร่องอะไร แล้วมันก็เลยฟ้องไปถึงการศึกษาว่า การศึกษามีความบกพร่องอะไร จึงทำให้เกิดการพัฒนาที่มีผลเป็นอย่างนี้ นี้คือสภาพโลกาภิวัตน์ที่เอามาพูดเป็นตัวอย่าง ต่อจากนี้เราก็จะมาพูดถึงเรื่องการศึกษากันต่อไป

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.