ชีวิตที่สมบูรณ์

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ถึงจะเป็นประโยชน์แท้ แต่ก็ยังไม่สมบูรณ์

แม้จะได้จะถึงประโยชน์สุข ๒ ระดับแล้ว แต่พระพุทธเจ้าก็ทรงเตือนว่ายังไม่สมบูรณ์ ไม่สมบูรณ์เพราะอะไร

แม้เราจะมีความดี เรามีความภูมิใจ มั่นใจในความดีของเรา แต่เราก็มีจิตใจที่ยังอยู่ด้วยความหวัง เรายังหวังอยากให้คนเขายกย่องนับถือ ยังหวังในผลตอบสนองความดีของเรา แม้จะเป็นนามธรรม เรามีความสุขด้วยอาศัยความรู้สึกมั่นใจภูมิใจอะไรเหล่านั้น เรียกง่ายๆ ว่ายังเป็นความสุขที่อิงอาศัยอะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง

ในระดับที่หนึ่ง ความสุขของเราอิงอาศัยวัตถุ หรือขึ้นต่อคนอื่นสิ่งอื่น

พอถึงระดับที่สอง ความสุขของเราเข้ามาอิงอาศัยความดีงาม และคุณธรรมของตัวเราเอง

อย่างไรก็ตาม ตราบใดเรายังมีความสุขที่อิงอาศัยอยู่ มันก็เป็นความสุขที่ยังไม่เป็นอิสระ เพราะยังต้องขึ้นต่ออะไรๆ อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่นถ้าเกิดมีกรณีขึ้นว่าเราทำความดีไปแล้วคนเขาไม่ยกย่องเท่าที่ควร เมื่อเราหวังไว้ ต่อไปเราก็รู้สึกผิดหวังได้

บางทีเราทำความดีแล้ว มาเกิดรู้สึกสะดุดขึ้นว่า เอ! ทำไมคนเขาไม่เห็นความดีของเรา เราก็ผิดหวัง หรือว่าเราเคยได้รับความชื่นชม ได้รับความยกย่องในความดี แต่ต่อมาการยกย่องสรรเสริญนั้นก็เสื่อมคลายจืดจางลงไป หรือลดน้อยลงไป ก็ทำใจเราให้ห่อเหี่ยวลงไปได้ จิตใจของเราก็ฟูยุบไปตามความเปลี่ยน แปลงภายนอก

ในทางตรงข้าม ถ้าเรามีจิตใจที่รู้เท่าทันความจริงของสิ่งทั้งหลาย รู้ตระหนักในกฎธรรมชาติว่ามันเป็นธรรมดาอย่างนั้นๆ แล้ว เราก็ทำจิตใจของเราให้เป็นอิสระได้ และมันจะเป็นอิสระจนถึงขั้นที่ว่า ความเปลี่ยนแปลงเป็นไปของสิ่งทั้งหลายตามกฎธรรมชาตินั้น มันก็เป็นเรื่องของธรรมชาติไป มันไม่มามีผลกระทบต่อจิตของเรา ใจของเราก็โปร่งก็โล่งผ่องใสอยู่อย่างนั้น

แม้ว่าสิ่งทั้งหลายจะเปลี่ยนแปลงไป เป็นทุกข์ และเป็นไปตามเหตุปัจจัย แต่ใจของเราก็เป็นอิสระอยู่ เป็นตัวของเราตามเดิม

เช่นเมื่อเรากระทบกับความไม่เที่ยงเป็นอนิจจัง สิ่งทั้งหลายเปลี่ยนแปลงไป เราก็รู้เท่าทันว่ามันจะต้องเป็นอย่างนั้นตามเหตุปัจจัย แล้วก็ดำรงใจเป็นอิสระอยู่ได้

หรือว่าเมื่อเรารู้ตระหนักตามที่มันเป็นว่าสิ่งทั้งหลายเป็นทุกข์ คือคงทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ เรารู้เท่าทันแล้ว ความทุกข์นั้นก็เป็นความทุกข์ของสิ่งเหล่านั้นอยู่ตามธรรมชาติของมัน ไม่เข้ามาเป็นความทุกข์ในใจของเรา

ปัญหาของมนุษย์นั้นเกิดจากการที่ไม่รู้เท่าทันความจริง แล้วก็วางใจต่อสิ่งทั้งหลายไม่ถูกต้อง จึงทำให้เราถูกกฎธรรมชาติเบียดเบียนบีบคั้นและครอบงำอยู่ตลอดเวลา

ความทุกข์ของมนุษย์นี้ รวมแล้ว ก็อยู่ที่การถูกกระทบกระทั่งบีบคั้นจากการเปลี่ยนแปลง ความไม่เที่ยงแท้แน่นอน ความตั้งอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ไม่คงทนถาวร เป็นไปตามเหตุปัจจัย ซึ่งฝืน ขัดแย้ง ไม่เป็นไปตามความปรารถนา

สิ่งทั้งหลายเปลี่ยนแปลงไป เราอยากให้เปลี่ยนไปอย่างหนึ่ง มันกลับเปลี่ยนไปเสียอีกอย่างหนึ่ง เราอยากจะให้มันคงอยู่ แต่มันกลับเกิดแตกดับไป อะไรทำนองนี้ มันก็ฝืนใจเรา บีบคั้นใจเรา เราก็มีความทุกข์

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.