ถ้าเราพัฒนาความสามารถที่จะมีความสุขด้วย พร้อมกันไปกับการพัฒนาความสามารถในการหาสิ่งบำรุงความสุข มันก็จะมีดุลยภาพ แล้วสองด้านนี้ก็จะมาเสริมกันด้วย เพราะว่าเมื่อเราพัฒนาความสามารถที่จะมีความสุขได้มากขึ้น เราก็มีความสุขง่ายขึ้น เมื่อเราสุขง่ายขึ้น แล้วเรามีของบำรุงความสุขมากขึ้น ความสุขมันก็ท่วมท้นเป็นทวีคูณเลย
แต่ที่มันเสียหรือล้มเหลวไปไม่เป็นอย่างนั้น ก็เพราะสาเหตุนี้แหละ คือการที่เราพัฒนาด้านเดียว เราได้แต่พัฒนาความสามารถที่จะหาสิ่งบำรุงความสุข แต่เราไม่ได้พัฒนาความสามารถที่จะมีความสุข บางทีความสามารถนี้กลับค่อยๆ หมดไปด้วยซ้ำ
คนจำนวนมากอยู่ไปๆ ในโลก ก็ค่อยๆ หมดความสามารถที่จะมีความสุข ในเมื่อเขาหมดความสามารถที่จะมีความสุข สิ่งบำรุงความสุขก็ไม่มีความหมาย
อันนี้คือชีวิตที่ขาดดุลยภาพ เพราะเรามัววุ่นอยู่กับประโยชน์สุขระดับที่หนึ่งอย่างเดียว ขาดการพัฒนาเพื่อประโยชน์สุขระดับที่สอง และระดับที่สาม
ในทางธรรม ท่านไม่ได้มองข้ามการพัฒนาในระดับที่หนึ่ง อันนั้นท่านเรียกว่าการพัฒนาในระดับศีล คือการพัฒนาความสามารถที่จะหา ตลอดจนจัดสรรและจัดการกับสิ่งบำรุงความสุข แต่ระดับต่อไปซึ่งอย่าได้มองข้าม ก็คือการพัฒนาความสามารถที่จะมีความสุข
ถ้าเราพัฒนาความสามารถที่จะมีความสุข หรืออย่างน้อยเราไม่สูญเสียมันไป เราก็จะเป็นคนที่มีความสุขได้ไม่ยาก หรือกลับจะเป็นคนที่สุขง่ายขึ้นๆ ด้วย คนที่มีความสามารถอย่างนี้จะอยู่อย่างไรก็สุขสบาย สุขสบายตลอดเวลาเลย และยิ่งอยู่ไปก็ยิ่งสุขง่ายขึ้น ยิ่งมีของมาก็ยิ่งสุขกันใหญ่
ฉะนั้นจึงควรทบทวนดูว่า ถ้าหากเรามีอะไรต่ออะไรมากมายแล้ว ก็ยังไม่มีความสุข ก็คงจะเป็นเพราะสาเหตุอันนี้ด้วย คือเราชักจะหมดความสามารถที่จะมีความสุข
การปฏิบัติธรรมนั้น ในความหมายหนึ่งก็คือการพัฒนาความสามารถที่จะมีความสุข เป็นการทำให้คนเป็นสุขได้ง่ายขึ้น
ฉะนั้นโยมที่ปฏิบัติธรรมจะต้องนึกถึงความหมายที่ว่านี้ ถ้าเราปฏิบัติธรรม เราจะมีความสามารถที่จะมีความสุขได้มากขึ้น และง่ายขึ้น จะต้องเป็นคนที่สุขง่ายขึ้น
แล้วสองด้านนี้เราไม่ทิ้งเลยสักอย่าง เราจะเป็นคนที่สมบูรณ์ เพราะว่าในด้านความสามารถที่จะมีความสุข เราก็เป็นคนที่มีความสุขได้ง่ายขึ้น และในด้านการหาวัตถุบำรุงความสุข เราก็มีความสามารถที่จะหาได้เพิ่มขึ้น เมื่อเป็นอย่างนี้เราก็มีความสุขกำลังสอง