ชีวิตที่สมบูรณ์

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ประโยชน์สุขที่สมบูรณ์จะเกิดขึ้นได้
จิตใจต้องมีอิสรภาพ

การตั้งหลักในใจ เพื่อเป็นจุดเริ่มให้ปัญญามานำจิต หรือเพื่อให้จิตเข้าสู่กระแสปัญญา อีกวิธีหนึ่ง คือการมองตามคุณค่า หมายความว่า เมื่อพบเห็นเจอะเจอหรือเกี่ยวข้องกับบุคคล สิ่งหรือสถานการณ์ใดๆ ก็ไม่ให้มองตามชอบใจไม่ชอบใจของตัวเรา แต่มองดูคุณโทษ ข้อดีข้อเสีย และประโยชน์ที่จะเอามาใช้ให้ได้จากสิ่งหรือบุคคลนั้น

การมองตามคุณค่าของสิ่งนั้นๆ ก็ตรงข้ามกับการมองตามชอบใจไม่ชอบใจ หรือชอบชังของตัวเรา เช่นเดียวกับการมองตามเหตุปัจจัย แต่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้ประโยชน์จากประสบการณ์หรือสถานการณ์ที่เราเกี่ยวข้องทุกอย่าง โดยเฉพาะในการที่จะเอามาพัฒนาชีวิตจิตใจของเราให้ก้าวหน้าดีงามสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

ไม่ว่าพบเห็นประสบอะไร ก็หาประโยชน์หรือมองให้เห็นประโยชน์จากมันให้ได้ อย่างที่ว่า แม้แต่ได้ฟังคำเขาด่า หรือพบหนูตายอยู่ข้างทาง ก็มองให้เกิดมีประโยชน์ขึ้นมาให้ได้

การมองตามเหตุปัจจัย เป็นวิธีมองให้เห็นความจริง ส่วนการมองตามคุณค่า เป็นวิธีมองให้ได้ประโยชน์ แต่ทั้งสองวิธีเป็นการมองตามที่สิ่งนั้นเป็น ไม่ใช่มองตามความชอบชังของตัวเรา

การมองตามที่มันเป็น เป็นกระแสของปัญญา เอาปัญญาที่รู้ความจริงมานำชีวิต ส่วนการมองตามชอบใจไม่ชอบใจหรือตามชอบชังของเรา เป็นกระแสของตัณหา เอาตัณหาที่ชอบชังมานำชีวิต

การมองตามเหตุปัจจัย ซึ่งเป็นการมองหาความจริง เป็นการมองตามที่สิ่งนั้นมันเป็นของมันตามสภาวะแท้ๆ เรียกว่าเป็นขั้นปรมัตถ์ เป็นเรื่องของการที่จะเข้าถึงประโยชน์สุขระดับที่สามโดยตรง ส่วนการมองตามคุณค่า ซึ่งเป็นการมองให้ได้ประโยชน์ แม้จะเป็นการมองตามที่สิ่งนั้นเป็น แต่ก็ไม่ถึงกับตามสภาวะแท้ๆ เรียกว่ายังอยู่ในขั้นที่เกี่ยวกับสมมติ เป็นวิธีปฏิบัติสำหรับประโยชน์สุขในระดับที่สอง แต่ในตอนก่อนนั้นไม่ได้พูดไว้ จึงพูดไว้ในตอนนี้ด้วย เพราะเป็นเรื่องประเภทเดียวกัน

เป็นอันว่า ให้ใช้หลักของปัญญา นี้เป็นวิธีเบื้องต้นที่จะให้ปัญญามานำชีวิต ต่อไปเราก็จะมีแต่กระแสปัญญา กระแสความรู้เหตุปัจจัย เราก็จะดำเนินชีวิตที่ปราศจากปัญหาและมีจิตใจเป็นอิสระ จนกระทั่งสิ่งทั้งหลายที่เกิดขึ้นเป็นไปตามกฎธรรมชาติ มีความไม่เที่ยง เป็นอนิจจัง คงอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ เป็นทุกขัง ไม่มีตัวตนยั่งยืนตายตัว แต่เป็นไปตามเหตุปัจจัย เมื่อเรารู้เข้าใจอย่างนี้แล้ว สิ่งทั้งหลายที่เป็นอย่างนั้น มันก็เป็นไปตามกฎธรรมชาติ โดยที่ว่ามันก็เป็นของมันอย่างนั้นเอง แต่มันไม่ดึงหรือลากเอาจิตใจของเราเข้าไปทับกดบดขยี้ภายใต้ความผันผวนปรวนแปรของมันด้วย

เราก็ปล่อยให้ทุกข์ที่มีอยู่ตามธรรมดาของธรรมชาติ เป็นทุกข์ของธรรมชาติไปตามเรื่องของมัน ไม่กลายมาเป็นทุกข์หรือก่อให้เกิดทุกข์ในใจของเรา

ถ้าใช้ปัญญาทำจิตใจให้เป็นอิสระถึงขั้นนี้ได้ ก็เรียกว่ามาถึงประโยชน์สุขระดับสูงสุด ซึ่งเป็นระดับที่ ๓

ระดับที่ ๓ ได้แก่ ประโยชน์สุขที่เป็นนามธรรม ขั้นที่เป็นโลกุตตระ เป็นเรื่องของจิตใจที่เป็นอิสระอยู่เหนือกระแสโลก เนื่องจากมีปัญญาที่รู้เท่าทันความจริงของโลกและชีวิต อย่างที่ว่าอยู่ในโลกแต่ไม่ติดโลก หรือไม่เปื้อนโลก เหมือนใบบัวไม่ติดน้ำ หรือไม่เปียกน้ำ เรียกด้วยภาษาวิชาการว่า ปรมัตถะ แปลว่า ประโยชน์สูงสุด

ผู้ที่พัฒนาปัญญาไปถึงประโยชน์สูงสุดนี้ นอกจากอยู่ในโลกโดยที่ว่าได้รับประโยชน์ขั้นที่หนึ่งและขั้นที่สองสมบูรณ์แล้ว ยังไม่ถูกกระทบกระทั่ง ไม่ถูกกฎธรรมชาติเข้ามาครอบงำบีบคั้นด้วย

ฉะนั้น ความทุกข์ที่มีในธรรมชาติก็มีไป แต่มันไม่มาเกิดเป็นความทุกข์ในใจเรา อนิจจังก็เป็นไปของมัน ใจเราไม่ผันผวนปรวนแปรไปด้วย จึงมาถึงขั้นที่เรียกว่าถูกโลกธรรมกระทบก็ไม่หวั่นไหว

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.