ชาวพุทธกับชะตากรรมของสังคม

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

คำกล่าวนำ
ของ
กรรมการผู้จัดการ มูลนิธิโกมลคีมทอง

พระคุณเจ้าท่านประธานกรรมการมูลนิธิโกมลคีมทองท่านอดีตนายก สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ท่านกรรมการสยามสมาคม ตลอดจนท่านผู้มีเกียรติที่เคารพทั้งหลาย

ในนามของประธานฝ่ายจัดรายการสยามสมาคม กระผมขอต้อนรับท่านทั้งหลาย ณ สถานที่แห่งนี้ ในวันนี้ สมาคมได้ตั้งมาครบ ๗๕ ปีบริบูรณ์แล้ว จำเพาะสถานที่แห่งนี้เอง ห้องประชุมนี้ก็มีอายุเกือบ ๕๐ ปี แต่เป็นครั้งแรกที่สมาคมได้พยายามปรับปรุงห้องนี้ขึ้น โดยให้มีเครื่องปรับอากาศ ทั้งนี้เพราะความจำเป็นบังคับ ไม่ใช่เพราะว่าตื่นเต้นกับเครื่องยนต์กลไกสมัยใหม่ ความจำเป็นบังคับก็เพราะเหตุว่าการจราจรในสมัยปัจจุบันนั้น ไม่ใช่รบกวนเฉพาะให้สิ่งเลวร้ายทางจมูก ทางตาเท่านั้น แต่ให้สิ่งเลวร้ายในทางหูด้วย โดยเฉพาะการประชุม ณ ที่สมาคมแห่งนี้ มักจะมีหลัง ๒ ทุ่ม ถึง ๓ ทุ่ม ๔ ทุ่ม พอรถสิบล้อออกวิ่งแล้ว การพูดในที่ประชุมแห่งนี้เกือบไม่ได้ยินกันเลย ก็เลยมีความจำเป็นที่จะหาเงินมาทำห้องปรับอากาศสมาคมแห่งนี้ ถึงแม้ดูท่าทางเป็นสมาคมใหญ่ก็จริง แต่เงินมีน้อย เดชะบุญมีคนบริจาค เมื่อสร้างห้องประชุมแห่งนี้ครั้งแรกก็เรี่ยไร การติดเครื่องปรับอากาศครั้งนี้ก็เรี่ยไร จากสมาชิกและผู้ปรารถนาดีทั้งหลาย ตั้งแต่องค์อนูปถัมภกเป็นต้นมา ก็ได้ทำสำเร็จเรียบร้อยแล้ว รู้สึกวันนี้จะเป็นวันแรกที่ห้องประชุมแห่งนี้สำเร็จเรียบร้อยดี พอจะใช้การได้อย่างเต็มที่ จึงถือได้ว่าเป็นนิมิตดีของสมาคม ที่ได้อาราธนาพระภิกษุสงฆ์ผู้ทรงศีลมา ณ ที่นี้ เพื่อมาแสดงธรรมในวันนี้ นี่กระผมกล่าวในนามของสยามสมาคม แต่การจัดปาฐกถาในวันนี้นั้น เจ้าภาพที่แท้จริงเป็นมูลนิธิโกมลคีมทอง มูลนิธินี้ตั้งมาเข้าปีที่ ๙ ได้จัดปาฐกถามา ๕ ครั้งแล้ว ครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๖ ทางมูลนิธิถือว่าปาฐกถาโกมลคีมทองประจำปีนั้นเป็นปาฐกถาที่สำคัญ การเลือกปาฐกที่จะมาแสดงนั้น มีคณะกรรมการคัดเลือก ต้องการผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้ซึ่งทรงจริยวุฒิด้วย และเชื่อว่าปาฐกถาจะให้ความคิดความอ่านเป็นพิเศษจากที่เคยได้ยินๆ กันอีกด้วย ปาฐกถาครั้งแรกที่มูลนิธิจัดนั้น ศาสตราจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นผู้แสดง แสดงเรื่อง ‘อุดมคติ’ ในปาฐกถาอันนั้นเอง ศาสตราจารย์ป๋วยได้เอ่ยถึงพระธรรมเทศนา ซึ่งท่านปาฐกในวันนี้ได้แสดงไว้เป็นครั้งแรก แต่เมื่อโกมล คีมทอง เพิ่งถึงแก่กรรมล่วงลับไปได้เพียง ๗ วัน และพระธรรมเทศนาชิ้นนั้นเอง นอกจากจะมีพลังในทางสติปัญญาแก่ผู้อ่านผู้ฟังแล้ว มูลนิธิยังได้นำพระธรรมเทศนานั้น รวมกับบทความอื่นๆ นำมาตีพิมพ์เป็นหนังสือเล่มใหญ่ จำหน่ายในงานพระราชทานเพลิงศพโกมล คีมทอง และหนังสือเล่มนี้เองที่เป็นต้นทุนที่มาในการจัดตั้งมูลนิธิ ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำคัญในอันที่จะส่งเสริมอุดมคติของคนหนุ่มสาว ต้องการให้หนุ่มสาวมีทัศนคติในทางรับใช้สังคมมากยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า พระคุณเจ้ารูปนี้ ที่รับอาราธนามาเป็นองค์ปาฐกในวันนี้ มีบุญคุณแก่มูลนิธินี้มาแต่ต้น ความจริงพระคุณเจ้ามีบุญคุณแก่โกมล คีมทอง มาก่อนแต่เขายังมีชีวิตอยู่ด้วยซ้ำ เพราะโกมล คีมทองได้เป็นกรรมการตัวตั้งตัวตีอยู่ในชมรมปริทัศน์เสวนา ศึกษิตเสวนา ซึ่งได้เคยพึ่งใบบุญของพระคุณเจ้าปาฐกในวันนี้มา นี่กล่าวในข้อที่พระคุณเจ้าเกี่ยวข้องกับมูลนิธิ ซึ่งไม่แต่พระธรรมเทศนาชิ้นนั้นเท่านั้น งานเขียนชิ้นอื่นของพระคุณเจ้ารูปนี้ เช่น ปาฐกถาที่พระคุณเจ้าแสดงให้แก่มูลนิธิอื่น มูลนิธิฯ ก็เคยขอนำมาตีพิมพ์เป็นจุลสาร เพื่อเผยแพร่ความคิดความอ่าน และเป็นทุนเข้ามูลนิธิด้วย

ว่าจำเพาะบทบาทของพระคุณเจ้ากับสยามสมาคมนั้นก็มีมานาน พระคุณเจ้าปาฐกในวันนี้ เคยเกี่ยวข้องกับสยามสมาคมมาแต่ครั้งท่านยังเป็นพระมหาประยุทธ์ เปรียญธรรม ๙ ประโยค โดยได้มาร่วมในการสัมมนาพระพุทธศาสนากับสังคมไทย เมื่อปี ๒๕๑๒ อันเป็นสัมนาครั้งแรกที่สมาคมจัดขึ้นเป็นภาษาไทย และก็ปรากฏว่าผู้ได้ยินได้ฟังได้รับความประเทืองใจ ประเทืองความคิด กันเป็นอันมากในโอกาสนั้น ต่อจากนั้นมาเมื่อพระคุณเจ้าได้เป็นพระราชาคณะที่พระศรีวิสุทธิโมลีแล้ว ก็ได้มาร่วมในการสัมมนา ซึ่งสถาบันอันต่อมาได้กลายเป็นสมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับสยามสมาคมจัดขึ้น ในเรื่องเอกลักษณ์ของไทยในอนาคตอีกด้วย ณ การสัมมนานั้นพระคุณเจ้าก็ได้มีส่วนแสดงทัศนคติอย่างมีประโยชน์เป็นอย่างมาก ทัศนคติทั้งสองนี้ได้ตีพิมพ์ปรากฏแล้วทั้งคู่ เพราะฉะนั้นสำหรับพระคุณเจ้าจึงไม่ได้เป็นผู้ที่แปลกใหม่สำหรับสมาคม และสำหรับมูลนิธิฯ

สยามสมาคมนั้น โดยที่สมาชิกส่วนใหญ่เป็นชาวต่างประเทศ ปาฐกถาจึงมักเป็นไปในภาษาอังกฤษ พระคุณเจ้าก็เคยรับอาราธนามาแสดงปาฐกถา มาอภิปราย เป็นภาษาอังกฤษ ที่สมาคมแห่งนี้ และที่อื่นๆ ไม่เฉพาะแต่ภายในประเทศ หากรวมทั้งในอัศดงคตประเทศด้วย กระผมไม่ต้องประสงค์ที่จะพรรณนาเกี่ยวกับพระคุณเจ้ารูปนี้ให้ยืดยาวมากไปนัก แต่อยากจะเรียนให้กับท่านผู้ฟังที่อาจจะไม่รู้จักพระคุณเจ้ามากนัก แต่เพียงเล็กน้อย ว่าพระคุณเจ้ารูปนี้ได้รับการศึกษาอย่างเป็นทางการเพียงภายในประเทศนี้เท่านั้น นอกจากจบเปรียญธรรม ๙ ประโยคแล้ว ยังได้เป็นบัณฑิตจากมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย แต่ก็เป็นที่น่าอัศจรรย์ใจว่า ผู้ที่จบการศึกษาเพียงภายในประเทศเท่านั้น เท่าที่ปรากฏแก่กระผม รู้สึกจะมีเพียงผู้เดียว ที่ได้เชิญไปเป็นศาสตราจารย์ในต่างประเทศ และที่ปรากฏแก่กระผมอีกเหมือนกัน เท่าที่ทราบ เวลานี้สถาบันศึกษาศาสนาแห่งโลกที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา ต้องการอาราธนาพระคุณเจ้าไปเป็นผู้เชี่ยวชาญประจำที่นั่น ไม่ทราบว่าท่านจะรับหรือไม่รับ แต่เพียงการอาราธนาเท่านั้นก็ถือว่าเป็นเกียรติอย่างยิ่งแก่วงการคณะสงฆ์ไทย และวงการการศึกษาของประเทศไทยแล้ว เพราะอย่าว่าแต่คนซึ่งจบเพียงในประเทศเลย คนที่จบจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ก็ยังไม่ปรากฏว่ามีใครได้รับเชิญจากสถาบันแห่งนั้น ณ มหาวิทยาลัยแห่งนั้น ที่กระผมกราบเรียนโดยย่นย่อนี้ ท่านทั้งหลายคงเห็นด้วยกับกระผมว่า นับเป็นเกียรติอย่างยิ่ง สำหรับพวกเราทั้งหลาย โดยเฉพาะมูลนิธิฯ ที่ได้พระคุณเจ้ามาแสดงปาฐกถาในวันนี้ ปาฐกถาครั้งแรกที่ศาสตราจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์แสดงนั้น แสดงด้วยการรับเชิญจากมูลนิธิโกมลฯ กับสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แม้สยามสมาคมจะไม่ได้เป็นเจ้าภาพร่วมจริงจังนักในคราวนี้ แต่สมาคมก็ถือว่าเป็นเกียรติ ที่พระคุณเจ้ารับอาราธนามาแสดง ณ ที่นี้ ในนามของสมาคม และในนามของมูลนิธิโกมลฯ กระผมขอกราบเรียนอาราธนา พระเดชพระคุณ ท่านเจ้าคุณ พระราชวรมุนี แสดงธรรมกถา ณ กาลบัดนี้

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.