ชาวพุทธกับชะตากรรมของสังคม

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

คำนำ

เมื่อนายป๋วย อึ๊งภากรณ์ ประธานกรรมการ ตลอดจนกรรมการอื่นๆ ของโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ จัดพิมพ์ชุมนุมบทความทางวิชาการ ถวายพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ในโอกาสที่พระชนม์ครบ ๘๐ พรรษาบริบูรณ์ในปี ๒๕๑๔ นั้น ได้อาราธนาพระศรีวิสุทธิโมลี (ประยุทธ์ ปยุตฺโต ป. ๙) เรียบเรียงเรื่องพุทธธรรม มารวมพิมพ์อยู่ในหนังสืออันขอประทานชื่อว่า วรรณไวทยากร นั้นด้วย ทั้งยังอาราธนาให้พระคุณท่านแสดงปาฐกถาธรรมในหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ณ วันคล้ายวันประสูติในเดือนสิงหาคมนั้นอีกด้วย ปรากฏว่าธรรมกถาที่ท่านแสดง และถ้อยคำที่ท่านรจนาเป็นที่ประทับใจผู้ฟังผู้อ่านกันมากหน้า จนแม้เล่มที่นำมาแยกตีพิมพ์ก็จำหน่ายหมดลงแล้ว ดังพระคุณท่านได้กรุณาแก้ไขให้จัดพิมพ์ขึ้นใหม่เป็นต่างหากออกไปอีกแล้ว

เรื่องพุทธธรรมนั้น พระคุณท่านได้แสดงถึงกฎธรรมชาติ และคุณค่าสำหรับชีวิต โดยแบ่งออกเป็นสองภาค คือ (๑) มัชเณนธรรมเทศนา ว่าด้วยหลักความจริงที่เป็นกลางตามธรรมชาติ และ (๒) มัชฌิมาปฏิปทา ว่าด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นกลางตามธรรมชาติ หรือทางสายกลาง อิทธิพลของหนังสือเล่มนี้มีมากเป็นประการใด จักไม่ขอเอ่ยถึงในที่นี้ เป็นแต่เพียงขอกล่าวว่าปาฐกถาโกมลคีมทองทุกเรื่อง ล้วนได้รับอิทธิพลจากหนังสือเล่มนี้ทั้งสิ้น (ดู อุดมคติเพื่อสังคม รวมปาฐกถาโกมลคีมทองในรอบ ๕ ปีที่ผ่านมา)

อนึ่ง พระคุณท่านได้ตั้งความหวังไว้ว่าจะเขียนต่อไปเป็นภาคที่ ๓ ว่าด้วยวิมุตติ หรือชีวิตเมื่อถึงจุดหมายแล้ว และต่อท้ายที่ว่าด้วยมัชฌิมาปฏิปทาที่นำมาประยุกต์ใช้ เป็นการแสดงวิธีที่จะนำหลักที่กล่าวมาแล้วในสองภาคมาใช้ปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เพื่อความดำรงอยู่ของบุคคลและสังคม

เมื่อคณะกรรมการโครงการตำราฯ ได้ทราบเจตนารมณ์ของพระคุณท่านเช่นนี้แล้ว จึงอาราธนาให้ท่านเรียบเรียงเรื่องราวในภาคต่อๆ ไป โดยขอให้นำไปแสดงบรรยายในวันคล้ายวันเกิดของพระสารประเสริฐ (ตรี นาคะประทีป) ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๑๖ หากเวลานั้นพระคุณท่านดำรงตำแหน่งอยู่ทั้งทางด้านการบริหารงานพระศาสนาและศาสนศึกษาตลอดจนการสอน จึงแสดงบรรยายได้เพียงตอนที่ว่าด้วย เกณฑ์วินิจฉัยความหมายและคุณค่าของพุทธธรรม ที่มูลนิธิโกมลคีมทองนำมาตีพิมพ์เป็นจุลสารแล้ว (โดยที่วันเฉลิมพระชนมพรรษาแห่งปีที่แสดงธรรมกถาคราวนี้เอง ที่พระคุณท่านได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ที่พระราชวรมุนี) และได้นำไปตีพิมพ์ซ้ำในที่อื่นๆ อีกบ้าง เช่นในเล่มที่รวมบทความของพระคุณท่านทางด้าน ปรัชญาการศึกษาไทย ที่สำนักพิมพ์เคล็ดไทยเคยจัดพิมพ์จำหน่ายแล้วเป็นต้น

ต่อมาเมื่อคณะกรรมการโครงการตำราฯ รับจัดพิมพ์รวมบทความวิชาการทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ เพื่อเป็นเกียรติแด่ ศาสตราจารย์ป๋วย อึ้งภากรณ์ ในโอกาสอายุครบ ๖๐ ปีเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๙ ก็ได้อาราธนาพระคุณท่านเรียบเรียงเรื่อง พุทธธรรม ที่เหลือให้จบบริบูรณ์ แต่ก็ไม่เป็นโอกาสที่พระคุณท่านจะสนองเจตนารมณ์ของคณะกรรมการได้ เพราะงานประจำและงานจรอื่นๆ ดังกล่าวแล้ว แม้พระคุณท่านจะได้รับอาราธนาไปสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยสวาทมัวรในสหรัฐอเมริกาแล้ว ก็ยังหาเวลาว่างได้ไม่เพียงพอ เพราะต้องช่วยบำรุงศรัทธาปสาทะของพุทธมามกชนคนไทย ทั้งในด้านธรรมโอสถและในด้านพิธีกรรม ตลอดจนต้องช่วยกิจการของวัดไทยต่างๆ ในสหรัฐอีกด้วย แต่พระคุณท่านก็ไม่ยอมเปลื้องปฏิญญา อยากจะเขียนเรื่องในทางวิชาการเพื่อนายป่วย อึ๊งภากรณ์ อยู่ตลอดมา

ภายหลังเมื่อท่านกลับมาประเทศไทยแล้ว และสามารถลาออกจากตำแหน่งต่างๆ ทางด้านบริหารได้หมดแล้ว จึงมีเวลาจับงานทางวิชาการด้านพระศาสนา ได้อย่างเต็มมือมากขึ้น และโดยที่พระคุณท่านปรารภอยากทำการเพื่อนายป๋วย อึ๊งภากรณ์ให้สมเจตนารมณ์ คณะกรรมการมูลนิธิโกมลคีมทอง จึงเห็นกันว่า ถ้าอาราธนาพระคุณท่านแสดงปาฐกถาประจำปีของมูลนิธิได้ ก็เท่ากับว่าใช้กระสุนดอกเดียวยิงนกได้หลายตัวคือ ๑) นายป๋วย อึ๊งภากรณ์ย่อมยินดีที่รู้ว่าท่านมีส่วนช่วยมูลนิธิฯ ในฐานที่เป็นรองประธานฯ แม้อยู่ห่างและชราอาพาธ คุณธรรมของท่านก็ยังบันดาลให้มูลนิธิได้มีปาฐกถาอย่างดีที่สุดเท่าที่จะมีได้ ๒) พระราชวรมุนีก็ย่อมยินดีที่ท่านได้ทำการสมตามเจตนารมณ์แล้ว และที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ ๓) สาธุชนย่อมได้ฟังได้อ่าน งานนิพนธ์ล่าสุดที่เหมาะแก่กาลสมัยเป็นอย่างยิ่ง

แม้พระคุณท่านจะยังไม่อาจเรียบเรียงเรื่องพุทธธรรมภาค ๓ ได้ตามปรารถนา เรื่องชาวพุทธกับชะตากรรมของสังคม นี้ ชื่อได้ว่าเป็นภาคหนึ่งในบั้นปลายแห่งพุทธธรรม อันว่าด้วยมัชฌิมาปฏิปทาภาคประยุกต์นั้นเอง เพราะเป็นการแสดงวิธีที่จะนำหลักจากพุทธธรรมมาใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อความดำรงอยู่ของบุคคล และสังคมโดยแท้ โดยที่ต่างก็จะได้รับความสุขร่วมกัน ให้สอดคล้องต้องกับแนวทางแห่งชีวิตที่จะเข้าถึงจุดหมายปลายทางนั้นแล

ในนามคณะกรรมการมูลนิธิโกมลคีมทอง ข้าพเจ้าขอขอบพระเดชพระคุณองค์ปาฐก ที่นอกจากจะแสดงธรรมกถาให้แล้ว ยังกรุณาตรวจแก้ต้นฉบับให้อย่างเสียสละเป็นอย่างมากอีกด้วย กับขอขอบพระคุณกรรมการสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่อนุญาตให้จัดงานปาฐกถาประจำปีขึ้น ณ สถานที่อันทรงเกียรติแห่งนั้น โดยที่มีผู้ฟังแน่นขนัดเป็นประวัติการณ์สำหรับปาฐกถาภาคภาษาไทยในสถาบันแห่งนั้นเลยทีเดียว พร้อมกันนี้ก็ขอขอบใจเจ้าหน้าที่ทุกคน ที่มีส่วนในการจัดปาฐกถา ในการถอดถ้อยคำจากเครื่องอัดเสียง ไปจนจัดพิมพ์เป็นเล่มให้แล้วเสร็จ กับขอจารึกไว้ด้วยว่ากลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคม ชุมนุมพุทธศาสตร์และประเพณี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และชมรมพุทธในอีกหลายสถาบัน ได้มีส่วนช่วยเหลือเกื้อกูลในการนี้มาก

ที่สุดนี้ ขอเชิญชวนท่านผู้อ่านทั้งหลาย ได้ร่วมใจกับพวกเราที่ใช้ความคิด ตลอดจนลงแรงและลงทุน ให้เกิดหนังสือนี้ ถ้าท่านเห็นว่าข้อเขียนนี้มีคุณค่า ขอได้ร่วมกับเรา แผ่ส่วนกุศลแด่นายโกมล คีมทอง เจ้าของนามมูลนิธินี้ จงทุกประการ หากเขามีญานวิถีจะหยั่งทราบได้อย่างหนึ่งอย่างใด ขอจงได้ร่วมอนุโมทนาด้วยเทอญ

ส. ศิวรักษ์
กรรมการผู้จัดการ
๙ มีนาคม ๒๕๒๓

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.