คนไทยกับป่า

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

การแก้ปัญหาระดับปัญญา:
พอคนมีความสุขอย่างอิสระ ป่าก็ได้รับการอนุรักษ์เต็มที่

ผลดีที่สืบเนื่องต่อไป คือ การที่ได้ปฏิบัติอย่างนี้ ก็จะโยงเข้าไปสู่การเข้าถึงชีวิตดีงามแท้ที่เป็นอิสระ เพราะว่า เมื่อเราบริโภคด้วยปัญญา เรามองเห็นคุณค่าและประโยชน์ที่แท้จริงแก่ชีวิตจากการบริโภคนั้น เราก็ได้ความพึงพอใจในการบริโภคอย่างนั้น

ตรงข้ามกับคนที่ไม่ใช้ปัญญาในการบริโภค เมื่อเขาไม่มองดูที่คุณค่าต่อชีวิตที่แท้จริงต่อชีวิต เพราะมัวมุ่งแต่จะหาความสุขจากความเอร็ดอร่อย เขาก็ไม่มีความพอใจและไม่มีความสุขในการบริโภคเพื่อคุณค่าที่แท้อย่างนั้น เขาจะมีความสุขต่อเมื่อได้กินอร่อยอย่างเดียว

ส่วนคนที่บริโภคด้วยปัญญา จะกินเพื่อเอาคุณค่าที่แท้ พอเขามองเห็นว่ากินอะไรแค่ไหนจะเป็นประโยชน์ที่แท้จริงแก่ชีวิตแล้ว เขาก็มีความพอใจในการบริโภคสิ่งนั้นแค่นั้น เพราะเมื่อเขากินเพื่อเอาคุณค่าแท้แก่ชีวิต เขาก็สมปรารถนาที่จะได้ประโยชน์แก่ชีวิต และเขาก็มีความสุขในการบริโภคอย่างนั้นด้วย

อันนี้ก็เป็นพัฒนาการของชีวิตอีกขั้นหนึ่ง ซึ่งทำให้เขารู้จักชีวิตดีงามที่เป็นอิสระมากขึ้น เขาเริ่มมีความสุขโดยไม่ต้องขึ้นต่อวัตถุบำรุงบำเรอมากนัก และรู้ด้วยว่ามันมีโทษอย่างไรในการกินแบบบำรุงบำเรอให้เต็มที่นั้น เขามองเห็นว่า เมื่อบริโภคไม่เป็น แม้แต่กินอาหารก็ยังเป็นโทษเลย การบริโภคสิ่งอื่นๆ อย่างขาดปัญญาและท่าทีที่ถูกต้อง จะมีโทษอีกเท่าไหน

ด้วยปัญญาและความสุขอย่างนี้ ชีวิตก็เป็นอิสระดีขึ้น

มนุษย์ที่รู้จักกินรู้จักบริโภคให้พอดี นอกจากมีความสุขแบบเป็นอิสระมากขึ้นแล้ว ก็ไม่ต้องทุ่มเทเวลา แรงงาน และความคิดไปให้กับการสาละวนหาสิ่งบำเรอผัสสะประสาท จึงสามารถนำเอาเวลา แรงงาน และความคิด ที่จะใช้ในการหาวัตถุบำรุงบำเรอลิ้นเป็นต้นนั้น ไปใช้ทำสิ่งอื่นที่ดีเป็นประโยชน์ยิ่งขึ้นไป เช่น การพัฒนาจิตใจ พัฒนาคุณภาพชีวิต และพัฒนาสังคม เป็นต้น

ด้วยการพัฒนาคนอย่างที่ว่ามานี้ การอนุรักษ์ธรรมชาติก็ได้ผลขึ้นมาเองทันที โดยไม่ต้องตั้งใจอนุรักษ์เลย เพราะว่า ชีวิตมนุษย์เป็นอิสระมากขึ้น มีความสุขโดยไม่ต้องขึ้นกับวัตถุบำรุงบำเรอที่จะต้องคอยเอาจากธรรมชาติ แต่มีความสุขแบบที่เป็นธรรมชาติ ซึ่งเกิดจากจิตใจของตัวเองที่เป็นมิตรสนิทสนมกับธรรมชาติ ตลอดจนเข้าถึงความจริงแห่งธรรมชาติของโลกและชีวิตด้วยปัญญาที่สว่างแจ้ง

เมื่อปัญญาเกิดขึ้น ความพอใจและความสุขอย่างใหม่ก็เกิดขึ้นทันที มนุษย์ก็เป็นอิสระมากขึ้น ธรรมชาติก็ปลอดภัยมากขึ้น มีโอกาสอยู่ดีมากขึ้น ชีวิตก็ได้ประโยชน์จากตุณค่าแท้ที่มันต้องการ สังคมก็ไม่ต้องเบียดเบียนแย่งชิงกันมาก ธรรมชาติก็ค่อยรอดจากการถูกผลาญ ประสานไปด้วยกันทั้งหมด

นี่แหละคือหนทางแห่งดุลยภาพที่เกื้อกูลต่อทุกฝ่าย เช่นว่า เมื่อกินพอดีด้วยพฤติกรรมที่เกิดจากปัญญา ชีวิตก็ดีด้วย สังคมก็ดีด้วย ธรรมชาติแวดล้อมก็ดีด้วยหมด

เป็นอันว่า ในระบบการพัฒนาที่จะให้มีการอนุรักษ์ธรรมชาติอย่างเป็นธรรมชาติ โดยมีความประสานกลมกลืนนั้น เบื้องต้น คนจะต้องมีท่าทีที่เกิดจากรากฐานทางความคิดใหม่ที่ถูกต้อง คือ การมองมนุษย์เป็นส่วนร่วมอยู่ในระบบความสัมพันธ์ของธรรมชาติที่เป็นไปตามเหตุปัจจัย มองสิ่งทั้งหลายสัมพันธ์กันหมด มีอะไรเกิดขึ้นก็ส่งผลกระทบต่อกัน ที่เรียกสั้นๆ ว่า อิทัปปัจจยตา

จากนั้น แนวความคิดที่นำไปสู่ความเกื้อกูลต่อกันและกันก็จะเกิดขึ้น คือ ทำให้มองเห็นประโยชน์ของแต่ละฝ่ายที่ไปประสานกับประโยชน์ของฝ่ายอื่น ในลักษณะที่ว่า สิ่งที่ดีแก่มนุษย์ หรือสิ่งที่ดีแก่ชีวิต ก็ดีแก่สังคมด้วย และดีแก่ธรรมชาติด้วย สิ่งที่ดีแก่ธรรมชาติ ก็ดีแก่สังคมมนุษย์ และดีแก่ชีวิตมนุษย์ด้วย ถ้าถึงขั้นนี้ก็เป็นอันว่าหมดปัญหา

ที่พูดมานี้ คือ แนวทางการแก้ปัญหาธรรมชาติแวดล้อมเป็นขั้นๆ ๓ ระดับ คือ ระดับพฤติกรรม ระดับจิตใจ และระดับปัญญา โดยที่ทั้ง ๓ ระดับนั้นจะต้องประสานกลมกลืนและเกื้อกูลกันด้วย เพราะมันอาศัยซึ่งกันและกัน

ขอย้ำตั้งแต่ระดับเริ่มต้นว่า เมื่อมีพฤติกรรมเคยชินอย่างใด คนก็มักจะติดในพฤติกรรมนั้น จะไม่อยากหรือไม่รู้ตัวที่จะแก้พฤติกรรมนั้น เขาจะทำพฤติกรรมนั้นไปโดยไม่รู้ตัว หรือมีความยึดมั่นในพฤติกรรมของตนว่าดีแล้ว และมีความโน้มเอียงที่จะปกป้องพฤติกรรมนั้น

เมื่อใครคนใดคนหนึ่งมีพฤติกรรมเคยชินแล้ว คนอื่นลองมาจะแก้ซิ จะเกิดปัญหาทีเดียว

เพราะฉะนั้น ถ้าต้องการให้คนมีพฤติกรรมที่ดี ที่เอื้อต่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ ถ้าเป็นไปได้ เราต้องรีบให้เขาเคยชินกับพฤติกรรมที่ดีนั้นตั้งแต่ยังเป็นเด็ก หรือตั้งแต่เริ่มเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องราว กิจกรรม หรือกรณีนั้นๆ แล้วพฤติกรรมที่ต้องการก็จะลงตัวและอยู่ตัว

ยิ่งถ้าเขาได้ความสุขจากพฤติกรรมแบบนั้น พฤติกรรมของเขาก็ยิ่งยั่งยืน และถ้าเขาเห็นคุณค่า เห็นประโยชน์ เห็นเหตุผลในการมีพฤติกรรมอย่างนั้น พฤติกรรมที่พึงประสงค์ก็ยิ่งหนักแน่นมั่นคง

เพราะฉะนั้น ทั้งพฤติกรรม ทั้งจิตใจ และทั้งปัญญา จะต้องประสานเสริมกันตลอดทุกขั้น

เมื่อใดคนมีปัญญารู้แจ้งชัดในระบบความสัมพันธ์แห่งดุลยภาพของชีวิตของมนุษย์ ของสังคม และของธรรมชาติ อย่างชัดเจนทั่วตลอดแล้ว ก็จะทำให้พฤติกรรมและจิตใจประสานสอดคล้องกันไปด้วย เพราะว่าเมื่อปัญญาคนเห็นอย่างไรแล้ว จิตใจก็จะปรับไปตาม พฤติกรรมที่มีจิตใจนั้นเป็นฐาน ก็จะเป็นของแท้จากในตัวของเขาเอง

ถ้าปัญญาเห็นชัดเจนทั่วตลอดจริงๆ จิตใจก็จะปรับตามถึงขั้นที่มีความพอใจและเป็นสุขในแนวทางที่ปัญญาชี้บอก เมื่อจิตใจพอใจและเป็นสุขอย่างนั้นแล้ว พฤติกรรมก็จะอยู่ตัวและยั่งยืนต่อไป

เพราะฉะนั้น การพัฒนามนุษย์จึงต้องประสานกันทั้ง ๓ ระดับ ทั้งพฤติกรรม จิตใจ และปัญญา อย่างที่ได้กล่าวมา

อันนี้เป็นการแก้ปัญหาที่พูดในขั้นหลักการ ซึ่งคิดว่าการดำเนินการในระดับปฏิบัติการ ก็จะต้องตั้งอยู่บนฐานของหลักการนี้

คิดว่าได้พูดมาก็ยาวนานแล้ว และนิสิตที่มา ก็ได้ช่วยกันขุดดิน ปลูกต้นไม้กัน ก็เหนื่อยกันมากพอสมควร แล้วยังต้องมานั่งทนฟังอีก ดังนั้นก็ควรจะพูดให้มาถึงจุดสุดท้ายเสียที

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.