คนไทยกับป่า

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

แนวคิดที่ครอบงำ
อยู่เหนืออารยธรรมยุคปัจจุบัน

เบื้องแรกเรามาดูสภาพชีวิตของมนุษย์ก่อน แล้วจึงค่อยย้อนไปหาหลัก คือ การที่จะสรุปวางหลักนั้นบางครั้งก็พูดยาก จะต้องดูความเป็นอยู่ของมนุษย์ก่อน

มนุษย์โดยทั่วไปในปัจจุบันนี้ ก็ดำเนินชีวิตตามแนวความคิด ซึ่งมาจากหรืออยู่ภายใต้อิทธิพลของอารยธรรมตะวันตก คือถือว่ามนุษย์จะมีความสุขต่อเมื่อมีวัตถุบำเรอพรั่งพร้อมที่สุด ยิ่งมนุษย์มีวัตถุบำเรอพรั่งพร้อมเท่าไร ก็จะมีความสุขมากเท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นความคิดที่เป็นฐานของการพัฒนาอุตสาหกรรม

แล้วการพัฒนาอุตสาหกรรมก็ไปโยงกับวิทยาศาสตร์ คือเอาความรู้วิทยาศาสตร์มาสร้างสรรค์พัฒนาเทคโนโลยี แล้วนำเทคโนโลยีนั้นมาใช้ในการพัฒนาอุตสาหกรรม

อุตสาหกรรมตั้งอยู่บนฐานของเทคโนโลยี แล้วเทคโนโลยีก็ต้องอาศัยวิทยาศาสตร์ แต่ทั้งหมดทั้งระบบทั้งกระบวนนี้ ก็มาจากฐานความคิดที่ว่า มนุษย์จะมีความสุขเมื่อมีวัตถุบำรุงบำเรอพรั่งพร้อมที่สุด

แล้วอันนี้ก็โยงไปหาความคิดที่จะพิชิตธรรมชาติ เพื่อจะได้เอาธรรมชาติมาจัดการจัดสรรและเอามาผลิตเป็นวัตถุบำเรอให้พรั่งพร้อมที่สุด

จะเห็นว่า ความคิดและพฤติกรรมทั้งหมดมาบรรจบกัน ณ จุดนี้ ความคิดแบบอุตสาหกรรมจึงตีโยงไปเข้ากับฐานความคิดเดิมที่ว่า มนุษย์แยกต่างหากจากธรรมชาติ จะต้องเป็นเจ้านายเข้าไปครอบครอง จัดการธรรมชาติ เอาธรรมชาติมาจัดสรรรับใช้สนองความต้องการของมนุษย์ คือไปเอาทรัพยากรธรรมชาติมาผลิตเป็นวัตถุบำรุงบำเรอความสุขของมนุษย์

ความคิด ๒ อย่างนี้มาบรรจบกันในการสร้างสรรค์อารยธรรมของตะวันตกที่นำมาสู่ปัญหาปัจจุบัน

สำหรับความคิด ๒ อย่างนี้ (คือ แนวความคิดความเข้าใจและท่าทีต่อธรรมชาติแบบแยกตัวต่างหากจากธรรมชาติ และจะเป็นผู้พิชิตธรรมชาติ กับ แนวคิดเกี่ยวกับการหาความสุขของมนุษย์แบบที่ว่าจะมีความสุขจริงต่อเมื่อมีวัตถุบำรุงบำเรอพรั่งพร้อมที่สุด) เมื่อกี้ได้พูดไปแล้วในเรื่องการมองมนุษย์แยกจากธรรมชาติ ตอนนี้จึงจะมองเฉพาะจุดที่ถือว่า มนุษย์จะมีความสุขต่อเมื่อมีวัตถุบำรุงบำเรอพรั่งพร้อม

เมื่อมนุษย์คิดว่า มนุษย์จะมีความสุขต่อเมื่อมีวัตถุบำรุงบำเรอพรั่งพร้อม ความคิดนี้ก็จะนำไปสู่พฤติกรรม โดยเป็นตัวกำหนดแนวทางของพฤติกรรมของเขา คือมนุษย์ก็จะพยายามหาวัตถุมาให้พรั่งพร้อมที่สุด

เมื่อมนุษย์สาละวนกับการแสวงหาวัตถุบำรุงบำเรอให้พรั่งพร้อม มนุษย์ก็จะมายุ่งกันอยู่กับกิจกรรมในหมู่มนุษย์เอง การยุ่งกันอยู่ในหมู่มนุษย์นี้ ก็คือการที่ต่างคนต่างก็พยายามหาวัตถุบำรุงบำเรอให้แก่ตัวเองให้มากที่สุด การวุ่นกันนั้นก็จะเป็นไปในลักษณะของการแข่งขันแย่งชิงและเบียดเบียนกัน แล้วก็เกิดปัญหาความเดือดร้อนในหมู่มนุษย์เอง

พร้อมกับการที่มนุษย์มัววุ่นวายยุ่งกันอยู่ในหมู่มนุษย์เองและก่อความทุกข์แก่กันและกันเองนี้ มนุษย์ก็จะห่างเหินจากธรรมชาติ เพราะไม่เห็นว่าธรรมชาติเป็นองค์ประกอบที่เป็นแก่นสารของชีวิตและความสุขของมนุษย์ นึกแค่จะเอาธรรมชาติมาผลิตเป็นวัตถุบริโภค ทำเป็นผลิตภัณฑ์ อุตสาหกรรมสำหรับบำรุงบำเรอความสุขให้มีความสะดวกสบาย

ยิ่งกว่านั้น การหาความสุขของมนุษย์แบบนี้ยังส่งผลตีกลับมาทำให้ความสัมพันธ์กับธรรมชาติเป็นไปในทางลบอีก คือ เมื่อมนุษย์ต้องแย่งชิงหาวัตถุบำรุงบำเรอให้พรั่งพร้อมที่สุด แหล่งที่จะได้วัตถุเหล่านี้มาก็ต้องไปเอาจากธรรมชาติ จึงทำให้มนุษย์ต้องไปสัมพันธ์กับธรรมชาติในลักษณะที่ต้องไปเบียดเบียนข่มเหงแย่งชิงเอาจากธรรมชาติอีก

เลยกลายเป็นว่า การที่มนุษย์แย่งชิงกันนั้น เท่ากับเป็นการสมคบกันทำลายธรรมชาติ การแย่งชิงเบียดเบียนซึ่งกันและกันในระหว่างมนุษย์นั้น มีความหมายเท่ากับว่ามนุษย์เหล่านั้นสมคบกันทำลายธรรมชาติ

ตกลงว่า ความสัมพันธ์แบบนี้มีผลเสียหมดตลอดทั้งสายเลย คือมนุษย์แต่ละคนถือว่าตัวเองต้องมีต้องหาวัตถุบำรุงบำเรอพรั่งพร้อมให้มากที่สุด ก็มาแย่งกันในหมู่มนุษย์ เสร็จแล้วผลรวมออกมาก็คือต้องไปเอาจากธรรมชาติ มนุษย์ก็ทำลายกันเอง แล้วพร้อมกันนั้นก็ร่วมกันทำลายธรรมชาติไปด้วย

ความสุขแบบนี้ไม่สมดุล ไม่มีดุลยภาพ เป็นความสุขแบบด้านเดียว แล้วก็นำไปสู่ปัญหาต่างๆ ซึ่งมองอีกด้านหนึ่งก็คือ การมีความทุกข์ทั้งในสังคม และกับธรรมชาติ

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.