สถาบันสงฆ์กับสังคมไทย

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

บทบาทที่สูญเสียไป

บทบาทของวัดและพระสงฆ์ดังกล่าวข้างต้น มีความเป็นมาอันมั่นคงเป็นเวลานาน จนกระทั่งเมื่อความเจริญแบบตะวันตกเข้าสู่ประเทศไทยเมื่อประมาณ ๗๐-๘๐ ปีมานี้ จึงเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้น และเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ถึงอาจให้บทบาทที่กล่าวมานั้นสูญสลายไปทั้งหมดก็ได้

ความเปลี่ยนแปลง และสูญสลายแห่งบทบาทนี้ เริ่มจากเมืองหลวงก่อนแล้วขยายเข้าสู่สังคมแบบตัวเมือง ที่เจริญตามกันขึ้นในท้องถิ่นต่างๆ และโดยที่สังคมชนบททั้งหลายก็กำลังขยายตัว ไปในทางที่จะก้าวขึ้นมาเป็นสังคมแบบตัวเมืองด้วยกันทั้งนั้น จึงเป็นที่น่าวิตกว่า บทบาทของพระสงฆ์จะค่อยสูญสลายไปจนหมดสิ้น

มูลเหตุของความเปลี่ยนแปลงและสูญสลายของบทบาทเหล่านี้ เท่าที่มองเห็น คือ

๑. ความเจริญแบบตะวันตก นำสถาบันต่างๆ แบบใหม่ เข้ามารับเอาบทบาทเดิมของวัดไปดำเนินการเสียหมด เช่น มีโรงเรียนตามระบบการศึกษาของชาติมาแทนบทบาทที่ ๑ มีกิจการสงเคราะห์ของรัฐบาลแทนบทบาทที่ ๒ มีโรงพยาบาล โรงแรม สโมสร โรงมหรสพ สถานเริงรมย์ อย่างบาร์ ไนท์คลับ ระบบการศาล ฯลฯ มารับบทบาทข้ออื่นๆ ต่อไป แยกกระจายบทบาททางสังคมของวัดเดิมออกไปทั้งหมด แต่ข้อนี้เป็นสาเหตุเพียงเผินๆ ไม่ลู้สำคัญ เพราะการดำรงฐานะของวัดและพระสงฆ์ ไม่ขึ้นอยู่กับบทบาทเหล่านี้ทั้งหมด บทบาทบางอย่างเป็นเพียงส่วนประกอบหรือฝากไว้ และบางอย่างถึงคงไว้ก็ควรเปลี่ยนรูปได้

๒. การไม่เข้าไปพิจารณาต้อนรับความเจริญอย่างใหม่ร่วมกัน กล่าวคือ เมื่ออารยธรรมแบบตะวันตกเข้ามานั้น พระสงฆ์กับประชาชนซึ่งสัมพันธ์กันอยู่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มาผละออกจากกันเสีย พระสงฆ์ไม่ยอมรับรู้และเกี่ยวข้องกับผู้มาใหม่ พยายามยึดถือและฝืนเอาสภาพเดิมให้คงอยู่ในท่ามกลางสังคมที่เปลี่ยนแปลงนั้นให้จงได้ ปล่อยให้ประชาชนออกไปสัมพันธ์กับผู้มาใหม่โดยลำพัง ปรับตัวเข้าหาและรับความเจริญแบบใหม่นั้นโดยลำพัง ขาดการเหนี่ยวรั้งจากพระสงฆ์ซึ่งเคยเป็นผู้แนะแนวทางมาแต่เดิม

๓. การสูญเสียภาวะผู้นำทางปัญญาของพระสงฆ์ สิ่งหนึ่งที่สำคัญยิ่งซึ่งความเจริญแบบใหม่นำเข้ามา คือวิชาการสาขาต่างๆ อันเป็นที่มาของความเจริญแบบใหม่นั้น สังคมคฤหัสถ์ตื่นเต้นที่จะเข้ารับศึกษาวิชาการเหล่านี้ ส่วนสังคมพระสงฆ์นั้นตรงข้าม มิได้มองดูวิชาการเหล่านั้นในฐานะความรู้ต่างๆ ที่สร้างเสริมสติปัญญามนุษย์ให้รู้จักสิ่งที่อยู่แวดล้อมตนดีขึ้น หรือในฐานะอุปกรณ์สำหรับช่วยให้มนุษย์ดำเนินชีวิตอยู่ในโลก และมีความสัมพันธ์ต่อกันได้สะดวกยิ่งขึ้น มิได้เห็นวิชาการเหล่านั้นในฐานะสิ่งที่จะนำเอามารองรับเสริมส่งหลักธรรมในพระศาสนา กลับเห็นเป็นของประหลาดอันพึงรังเกียจ ทั้งที่วิชาการเหล่านี้ ก็เป็นวิชาการพวกเดียวกับความรู้เดิมที่ท่านเคยรู้ เคยใช้ทำประโยชน์ และแนะนำชาวบ้านมาแล้วนั่นเอง เป็นแต่มีระเบียบแบบแผน และกว้างขวางแปลกรูปออกไปอีกเท่านั้น และต่อมาพระสงฆ์เองก็ยอมรับและยินดีบริโภคใช้สอยวัสดุอุปกรณ์และบริการต่างๆ อันเป็นผลิตผลของวิชาการเหล่านั้น และยังได้พอใจที่จะอาศัยความรู้อันเป็นชิ้นส่วนเล็กน้อยเกี่ยวกับวิชาการเหล่านั้น มาเป็นเครื่องมือประกอบในการบริโภคใช้สอยอุปกรณ์และบริการเหล่านั้นด้วย

ดังได้กล่าวแล้วข้างต้นว่า ความเชื่อถือของประชาชนต่อพระสงฆ์นั้นเกิดจากความเป็นผู้นำทางปัญญา เพราะแต่ก่อนพระสงฆ์รู้วิชาการต่างๆ กว้างขวางยิ่งกว่าชาวบ้าน เป็นผู้สอนวิชาการเหล่านั้นแก่ชาวบ้าน และพระสงฆ์รู้สภาพความเป็นไปต่างๆ ในสังคม เข้าใจความรู้สึกนึกคิดจิตใจของชาวบ้านทั้งหมด มองเห็นภาพสังคมของชาวบ้านทั่วถึงชัดเจน เหมือนคนยืนบนที่สูง มองเห็นภาพความเป็นไปภายล่างทั้งหมด คำพูดชี้แจงแนะนำต่างๆ ของพระสงฆ์จึงมีค่าสูง ยิ่งเมื่อรวมเข้ากับความบริสุทธิ์ของพระสงฆ์ซึ่งชาวบ้านเห็นว่า ท่านเป็นผู้มีคุณธรรม พูดด้วยหวังประโยชน์อย่างเดียวแล้ว ความเชื่อถือก็ยิ่งมั่นคงกลายเป็นความเคารพเชื่อฟัง วางใจสนิททีเดียว

การที่พระสงฆ์ไม่ยอมรับรู้ ไม่ยอมเกี่ยวข้องกับวิชาการที่มากับความเจริญแบบใหม่ทั้งที่ความจริงก็เกี่ยวอยู่นั้น ทำให้เกิดการฝืนแบบทื่อๆ ต่อสภาพการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทำให้ไม่มีการปรับปรุงระบบการศึกษาหรือแม้แต่ส่วนประกอบภายในระบบการศึกษาของตน ไม่เข้าใจสภาพปัจจุบันของสังคม และมองไม่เห็นภาพของตนเองภายในวงล้อมของสังคมว่าเป็นอย่างไร นอกจากนี้ มีผลตามมาอีกอย่างน้อย ๒ ประการ คือ

๑. เมื่อเวลาผ่านไป สังคมคฤหัสถ์ที่ไปสัมพันธ์กับผู้มาใหม่และเรียนรู้วิชาการใหม่ๆ นั้น ยิ่งเหินห่างกันออกไป หันมาดูสังคมสงฆ์ที่อยู่ในวงล้อมของตน เห็นเป็นของแปลกประหลาด คร่ำครึ ไม่สามารถเข้าใจ เหมือนผู้ที่เกิดอยู่คนละยุคคนละสมัย หรือใช้ภาษาพูดคนละภาษา พระสงฆ์ขาดความรู้อันเป็นสื่อกลางที่รู้ร่วมกัน สำหรับชักนำคนเหล่านั้นเข้าหาหลักธรรมทางศาสนาที่เขายังไม่รู้ จึงหาทางเข้าสัมพันธ์กันไม่ได้ ยิ่งห่างเหินจากกัน และไม่เข้าใจกันมากขึ้น ยิ่งกว่านั้นยังเข้าใจผิด กล่าวร้ายต่อกันอีกด้วย เสียงที่ว่าพระสงฆ์ไม่ทำงาน เอาเปรียบชาวบ้าน ฯลฯ ก็เกิดขึ้นโดยนัยนี้

๒. สังคมทั่วไปเห็นว่า วิชาการแผนใหม่เป็นความรู้ของผู้เจริญแล้ว ผู้ใดไม่รู้ก็เป็นคนคร่ำครึ เมื่อพระสงฆ์ไม่รู้วิชาการเหล่านี้ ฐานะของพระสงฆ์ในความรู้สึกของคนรุ่นใหม่ก็ลดต่ำลง เห็นไปว่า พระสงฆ์เป็นผู้ด้อยทางสติปัญญา ไม่เกิดความระลึกถึงด้วยความรู้สึกศรัทธานิยมนับถือ ไม่เห็นเหตุชักจูงให้อยากเข้ามาเกี่ยวข้อง นอกจากนั้นยังเห็นว่าวิชาการที่พระสงฆ์เล่าเรียนกันอยู่ ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการดำเนินชีวิตและช่วยเหลือสังคมได้ เกียรติ ฐานะ และคุณค่าของการศึกษาพระปริยัติธรรมก็ลดต่ำลง ผู้สำเร็จการศึกษาออกไปไม่ได้รับการยกย่อง กลับถูกเหยียดหยาม ไม่กล้าประกาศตน เห็นสถาบันสงฆ์กลายเป็นสิ่งที่ไม่มีความหมาย

 

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.