ช่วยให้ตายเร็ว หรือช่วยให้ตายดี

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ต้องยอมรับว่าเรายังรู้ไม่เพียงพอต่อความจริงของธรรมชาติ
จึงต้องปฏิบัติการด้วยความไม่ประมาท

ปัจจุบันนี้เรามีปัญหาซับซ้อนสืบเนื่องจากความเจริญก้าวหน้าทางการแพทย์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเจริญก้าวหน้าก็จริง แต่พร้อมกันนั้นอาจจะเป็นเพราะความไม่สมดุลในความเจริญนั้นด้วย จึงทําให้เกิดปัญหาขึ้นมา

พูดในแง่หนึ่งคล้ายๆ กับว่าเทคโนโลยีนั้นเจริญมาก ได้สร้างอุปกรณ์มาช่วยยืดชีวิตคน แต่ในเวลาเดียวกันอีกด้านหนึ่ง วิทยาศาสตร์กลับเจริญไม่พอที่จะให้ความรู้เกี่ยวกับชีวิตของคน คือแม้ว่าวิทยาศาสตร์จะเจริญ แต่ความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติที่วิทยาศาสตร์ค้นพบมา ยังไม่เพียงพอที่จะให้คําตอบที่ชัดเจนว่า ชีวิตคืออะไร ความตายเป็นอย่างไร ชีวิตจะดับสิ้นเมื่อไรแน่ ถึง เดี๋ยวนี้จะบอกอย่างนั้นอย่างนี้ เช่นบอกว่าคนตายเมื่อก้านสมองตายเป็นต้น ก็ยังอยู่เพียงในขั้นคาดหมาย เป็นเรื่องที่ยังไม่ได้รู้เด็ดขาด

นอกจากนั้น คําตอบของวิทยาศาสตร์ก็เป็นคําตอบแห้งๆ พูดเรื่องชีวิตอย่างไม่มีชีวิตชีวา เพราะพูดได้แต่เรื่องด้านร่างกาย ซึ่งเป็นเพียงด้านหนึ่งของชีวิต แต่เวลาคนมีปัญหา เรื่องมันจะมารวมอยู่ที่จิตใจ พอถึงตอนนี้วิทยาศาสตร์ก็เลยไปไม่ถึง

ทางพุทธศาสนาบอกว่า ชีวิตสิ้นสุดเมื่อจิตสุดท้ายดับไปในภพนี้ คือเมื่อจุติจิตดับ แต่ก็เป็นเรื่องนามธรรมที่มองไม่เห็น ก็อย่างที่พูดไปแล้วว่า ความรู้ของมนุษย์ แม้วิทยาศาสตร์จะมาช่วย ก็ได้เพียงในระดับของรูปธรรม คือด้านร่างกาย แต่ความรู้เรื่องชีวิต อย่างสมบูรณ์ ที่บรรจบกันทั้งด้านกายและด้านจิต ก็ยังไม่เพียงพอ

จึงได้พูดไว้เมื่อกี้ว่า ความเจริญทางเทคโนโลยีไปไกล ได้ช่วยให้มีอุปกรณ์ยืดชีวิตคน แต่วิทยาศาสตร์เจริญไม่พอที่จะให้ความรู้ที่สมบูรณ์เกี่ยวกับชีวิต เมื่อความรู้เรื่องชีวิตกับอุปกรณ์ที่มาทําต่อชีวิตไม่สมดุลกัน ก็ต้องเกิดปัญหา เรียกว่าเป็นปัญหาจากความไม่สมดุลในด้านความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติ กับการมีเครื่องมือที่ใช้จัดการกับธรรมชาติ

เป็นความใฝ่ฝันมานานแล้วที่มนุษย์ต้องการพิชิตธรรมชาติ โดยเฉพาะอารยธรรมปัจจุบันตามแนวคิดของตะวันตกที่มุ่งมั่นว่า จะต้องพิชิตธรรมชาติให้ได้ เพราะเชื่อว่าเมื่อไรมนุษย์พิชิตธรรมชาติได้ก็จะเป็นความสําเร็จที่สมบูรณ์ของมนุษย์ แต่ในการที่จะพิชิตธรรมชาตินั้นก็จะต้องรู้จักธรรมชาติอย่างแท้จริง แต่เวลานี้ เราก้าวในด้านหนึ่งล้ำไป คือเราสามารถประดิษฐ์อุปกรณ์ เทคโนโลยีที่จะใช้จัดการกับธรรมชาติได้มากมาย แต่พร้อมกันนั้น เรายังไม่มีความรู้ในธรรมชาติอย่างเพียงพอ เราจึงต้องมาประสบปัญหาอย่างนี้

การรู้ตระหนักถึงปัญหาเกี่ยวกับความไม่สมดุลหรือความไม่พร้อมเหล่านี้จะทําให้เราปฏิบัติต่อสถานการณ์ต่างๆ ได้ดีขึ้นโดยมีความไม่ประมาท คือจะปฏิบัติด้วยความระมัดระวัง ความไม่ประมาทในความหมายหนึ่งก็คือ อย่าไปตัดสินปุ๊บปั๊บเด็ดขาด ต้องเผื่อใจไว้ให้พร้อมที่จะมีการแก้ไขปรับปรุง คนเรามักมีความโน้มเอียงที่ชอบตัดสินอะไรว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ทั้งที่ยังไม่รู้จะแจ้ง และเมื่อตัดสินไปแล้ว ก็ยึดอยู่อย่างนั้น และใช้ข้อที่ยึดไว้นั้นเป็นเกณฑ์ตัดสินต่อไปโดยไม่หาความจริงต่อ

ลักษณะอย่างหนึ่งของการที่จะอยู่อย่างไม่ประมาท คือ อาจจะพูดเป็นสองขั้นว่า ในขั้นนี้เราทําได้เท่านี้ แต่เราเผื่อใจไว้ พร้อมที่จะแก้ไขปรับปรุงต่อไป ซึ่งจะทําให้ต้องมีการศึกษา ต้องมี การพัฒนาปัญญาให้ยิ่งๆ ขึ้นไป เพื่อว่าในภายหน้า ตัวเราก็ตาม ลูกหลานของเราก็ตาม จะได้ปฏิบัติต่อเรื่องนี้ได้ดีขึ้น

นอกจากนั้น ตอนนี้ถ้าจะมีการบัญญัติกฎหมายอะไร เราก็คงจะต้องเผื่อใจไว้เช่นเดียวกัน เช่นยอมรับว่า เรากําลังบัญญัติกฎหมายที่จะมาใช้ปฏิบัติต่อชีวิตนี้โดยที่เรายังไม่รู้ความจริงแท้ แน่นอน แม้ว่าบางครั้งเราอาจจะรอความรู้จริงไม่ได้ แต่เราจะทําอย่างไรให้ดีที่สุด

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.