ตอบ ดร.มาร์ติน: พุทธวินัยถึงภิกษุณี

...ขอเน้นว่า ในเรื่องอย่างนี้ เรามุ่งที่ข้อมูลความรู้ ให้ทั่วถึง ให้ถูกต้อง ถ่องแท้ แน่ ชัด เท่าที่จะเป็นไปได้ เช่น ให้รู้หลักการ ให้รู้ความเป็นมาเป็นไป ให้ขัดเจน จะได้เป็นฐานของการพิจารณาวินิจฉัย หรือตัดสินใจให้ดีที่สุด เราไม่มุ่งที่ความคิดเห็น...
...ในเรื่องความคิดเห็นนั้น ถึงจะมีบ้าง ก็เป็นความคิดเห็นสืบเนื่อง หรือเป็นข้อสรุปตามหลักการ เช่นบอกว่า ในเรื่องนี้ มีหลักการของเดิมว่าอย่างนี้ และถ้าว่าตามหลักการนั้น เรื่องจะเป็นอย่างนี้ ส่วนว่าจะเอาตามหลักการหรือไม่ ก็ให้ไว้ไปพิจารณากันเอา พุดรวมๆ ว่า มุ่งที่ความรู้ ส่วนการคิดจนถึงการตัดสินใจ ไว้เป็นเรื่องของส่วนรวมที่พร้อมที่สุด ตอนนี้ ถ้าให้ความคิดเห็น ก็เป็นความคิดเห็นเพื่อประกอบความรู้...

LanguageThai
Sourcefrom การสนทนาธรรม for ดร. มาร์ติน ซีเกอร์ at วัดญาณเวศกวัน on/in 2547
Development
  • คำนำ

     

    ก่อนอื่น ผมขอกราบขอบพระคุณพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณอาจารย์ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต) เป็นอย่างสูง ที่ท่านไม่เพียงแต่เป็นแรงบันดาลใจของผมในการศึกษาพระธรรมวินัย หากยังเมตตาผมอย่างมาก ตลอดระยะเวลา ๑๐ กว่าปีที่ผมรู้จักท่านมา ตั้งแต่ผมได้มีโอกาสกราบนมัสการท่านครั้งแรก สมัยที่ผมบวชเป็นพระในพระพุทธศาสนาเถรวาทไทย ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๔๐-๒๕๔๓ ทุกครั้งท่านเจ้าคุณอาจารย์มีความกรุณาเป็นอย่างยิ่งในการตอบปัญหาอันมากมายของผมเกี่ยวกับพระธรรมวินัย

    แม้กระทั่ง เมื่อผมลาสิกขาแล้ว และขณะศึกษาต่อในระดับปริญญาโทและเอก ผมก็ยังมีความสนใจมากในการศึกษาพระพุทธศาสนาตามแนวหนังสือ “พุทธธรรม” ของท่านเจ้าคุณอาจารย์ ทั้งยังรู้สึกตลอดมาว่า ยิ่งศึกษา “พุทธธรรม” และหนังสืออื่นๆ ของท่าน ก็ยิ่งทวีความประทับใจและความซาบซึ้งมากขึ้นในแนวความคิดและวิธีการอธิบายของท่านเจ้าคุณอาจารย์ เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา กอปรกับความสนใจที่มากขึ้นตามลำดับในการศึกษาพระธรรมวินัยที่บรรจุไว้ในพระบาลีและความเป็นเถรวาทในเชิงศาสนศึกษาและวัฒนธรรมศึกษา ด้วยเหตุนี้ ผมจึงตัดสินใจที่จะศึกษาผลงานและบทบาททางสังคมของท่านในระดับลึก โดยทำวิจัยระดับปริญญาเอกเกี่ยวกับท่านเจ้าคุณอาจารย์ในฐานะเป็นพระเถรวาทที่พยายาม “รักษา” พระธรรมวินัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิด “กรณี” หรือปัญหาทางศาสนาขึ้นในสังคมไทย

    ระหว่างทำงานวิจัยชิ้นนี้ช่วงปี พ.ศ. ๒๕๔๔-๒๕๔๗ ผมได้มีโอกาสสัมภาษณ์ท่านเจ้าคุณอาจารย์เชิงลึกถึง ๗ ครั้ง งานวิจัยดังกล่าว มีบทหนึ่งที่เกี่ยวกับปัญหาการบวชภิกษุณีเถรวาทในเมืองไทยด้วย

    นับแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๗ ทางมหาวิทยาลัยลีดส์ ประเทศอังกฤษ ได้รับผมเป็นอาจารย์ประจำ ผมได้มีโอกาสทำวิจัยและสอนเกี่ยวกับบทบาทของผู้หญิงในพระพุทธศาสนาเถรวาท ทั้งยังมีโครงการวิจัยเกี่ยวกับปัญหาการบวชภิกษุณีเถรวาทในเมืองไทยและบทบาทของแม่ชีไทยหลายโครงการอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เป็นเหตุให้ยังคงได้โอกาสกราบนมัสการท่านเจ้าคุณอาจารย์เพื่อสัมภาษณ์เพิ่มเติม

    ในสุดท้าย เมื่อเห็นว่า ท่านเจ้าคุณอาจารย์ให้ข้อมูลมากมายและน่าสนใจ ผมจึงกราบเรียนปรึกษาท่านว่า น่าจะเผยแพร่การสัมภาษณ์บางส่วน วัตถุประสงค์ขณะนำเสนอมีสองข้อด้วยกัน คือ

    ๑. ตอนทำวิจัยอันเนื่องด้วยปัญหาการบวชภิกษุณีเถรวาทในเมืองไทย และบทบาทของแม่ชีไทย เห็นว่า บางครั้งมีคนอ้างท่านเจ้าคุณอาจารย์ในลักษณะต่างๆ โดยการหยิบคำพูดของท่านมาโดยมิได้พิจารณาบริบทอย่างทั่วถึง หรือไม่ตลอดสาย บ่อยครั้งถึงกับสรุปท่าทีของท่านในเรื่องนี้อย่างไม่ครบถ้วน และที่ร้ายกว่านั้น ถึงขั้นบิดเบือนข้อมูลจริง

    ด้วยเหตุนี้ ผมจึงเห็นว่า จะยังประโยชน์อย่างยิ่ง ถ้าสามารถรวบรวมคำอธิบายของท่านเจ้าคุณอาจารย์เกี่ยวกับปัญหาการบวชภิกษุณีเถรวาทในเมืองไทยและบทบาทของแม่ชีไทย พร้อมกับแนวความคิดของท่านเกี่ยวกับความเป็นเถรวาทที่มีความสำคัญในบริบทนี้ให้ครบถ้วน เมื่อเห็นขาดการอธิบายที่ไหนหรือมีคนติท่านหรือสรูปท่านเกี่ยวกับเรื่องนี้ผิด ผมก็ได้สัมภาษณ์ท่านเจ้าคุณอาจารย์เพิ่มเติม เพื่อช่วยให้เกิดความเข้าใจในประเด็นเหล่านี้มากขึ้น

    ๒. เมื่อเห็นว่า ท่านเจ้าคุณอาจารย์มีความอุตสาหะวิริยะ ได้เอาใจใส่ให้ข้อมูลความรู้ความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้อย่างมาก และยังได้เสียสละเวลาอันมีค่ายิ่งของท่าน ในการตอบคำถาม แม้ว่าผมหาวิธี “share (แบ่งปัน)” ข้อมูลเหล่านี้กับผู้ที่สนใจเรื่องนี้ โดยการเขียนวิทยานิพนธ์และบทความทางวิชาการ ส่งพิมพ์ในวารสารวิชาการต่างๆ ที่เป็นภาษาอังกฤษ กระนั้น ผมเห็นว่า ยังเป็นการเผยแพร่เฉพาะในวงจำกัด เพราะฉะนั้น การเผยแพร่ในรูปแบบหนังสือนี้ ย่อมมีประสิทธิภาพมากกว่า

    ในการรวบรวมครั้งนี้ ไม่เพียงแต่การสัมภาษณ์ท่านของผมเท่านั้น หากยังได้ค้นหาการสัมภาษณ์เพิ่มเติม ที่มีคณะอื่นมาสัมภาษณ์ท่านเกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วย

    เมื่อรวบรวมเสร็จแล้ว ผมจึงได้ถวายบทถอดความยาวประมาณ ๖๕ หน้าแก่ท่าน พร้อมกับคำถามและ Comments เพิ่มเติมแนบไปด้วย เพื่อขออนุญาตท่านเจ้าคุณอาจารย์ได้ตรวจทาน และพิมพ์เผยแพร่

    เมื่อท่านเจ้าคุณอาจารย์ติดต่อและให้ผมดูต้นฉบับใหม่ที่ท่านได้ปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อความสมบูรณ์จนมีขนาดมากกว่า ๖ เท่าของบทถอดความเดิมที่ผมถวายไปนั้น ยิ่งสร้างความประทับใจและซาบซึ้งใจในความเมตตาและความเอาใจใส่ของท่าน และเห็นคุณค่าของเนื้อหาหนังสือนี้มากยิ่งขึ้น

    สุดท้ายนี้ ขอขอบคุณคุณนริศ จรัสจรรยาวงศ์ เพื่อนสหธรรมิกของผม ที่สละเวลานำผมไปกราบนมัสการท่านเจ้าคุณอาจารย์หลายครั้ง พร้อมทั้งมีส่วนร่วมในการเตรียมและร่วมสัมภาษณ์ท่านเจ้าคุณอาจารย์ อีกทั้งขอขอบพระคุณอาจารย์ธนภณ สมหวัง (มหาวิทยาลัยศรีปทุม) คุณสุทธิรักษ์ สุขธรรม แห่งธรรมสภา และ ขอบใจคุณพฤกษา สุขธรรม สำหรับการถอด เทป นอกจากนี้ขอขอบคุณ คุณอัจฉราวรรณ Seeger ภรรยาของผมสำหรับความช่วยเหลือในการเตรียมคำถามเพื่อสัมภาษณ์ท่านเจ้าคุณอาจารย์ตั้งแต่ผมยังเป็นนักศึกษาปริญญาเอก

    ผมดีใจอย่างยิ่งที่ได้เห็นหนังสือเล่มนี้สู่บรรณพิภพ ทั้งมั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่า เนื้อหาจักให้ประโยชน์มหาศาลสำหรับคนที่สนใจศึกษาพระธรรมวินัย ความเป็นเถรวาท เพศภาวะในเถรวาท และบทบาททางศาสนาของแม่ชีไทย

     

    ด้วยความซาบซึ้งในเมตตาของท่านเจ้าคุณอาจารย์

    Dr Martin Seeger

    University of Leeds, UK

    20 October 2010

     

  • หนังสือ "ตอบ ดร. มาร์ติน : พุทธวินัย ถึง ภิกษุณี" พิมพ์ครั้งแรก (ออกพรรษา ๒๕๕๓) เป็นหนังสือที่พระเดชพระคุณพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ให้สัมภาษณ์กับ ดร. มาร์ติน ซีเกอร์ ครั้งแรก เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๔๗ และครั้งที่สอง ปีพุทธศักราช ๒๕๕๑
First publishing 2553
Latest publishing onPublishing no. 5 September 2554
ISBN978-616-90770-0-8
Dewey no.No related data

หนังสือที่เกี่ยวข้องกัน

Found matched 3 books
The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.