ความเป็นกัลยาณมิตรของหลวงปู่ชา

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ไม่ยอมให้มืด ให้แต่ดวงประทีป

คำสอนของหลวงพ่อชานั้น มีลักษณะพิเศษอย่างที่ได้กล่าวมานี้ และนอกจากนั้น ท่านยังมีลักษณะที่น่าสรรเสริญอีกอย่างหนึ่ง คือการที่ไม่ได้ส่งเสริมในเรื่องเครื่องรางของขลัง แม้ว่าท่านจะเป็นพระอาจารย์ที่ได้รับความเคารพนับถือในเรื่องกรรมฐาน ซึ่งคนทั่วไปมักจะเอาไปสัมพันธ์โยงใยกับอำนาจจิตพลังจิต และมักจะมองไปในแง่ของความศักดิ์สิทธิ์ และเลยไปจนกระทั่งถึงเรื่องวัตถุมงคล เครื่องที่จะนำเอาโชคเอาชัยมาโดยวิธีที่เป็นของขลัง แต่หลวงปู่ชาท่านไม่ได้สนับสนุนในเรื่องนี้ ดังที่ปรากฏว่า แม้แต่ในพิธีพระราชทานเพลิงศพนี้ ก็ไม่มีการจัดในเรื่องนี้ขึ้น อันนี้ถือได้ว่าเป็นลักษณะพิเศษอย่างหนึ่ง นับว่าเป็นการปฏิบัติตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างเคร่งครัด ถือว่าเป็นแบบอย่างได้ดีทีเดียว

ถ้าว่าโดยรวบรัด หลวงปู่ชานั้นก็คือพระภิกษุในพระพุทธศาสนา เป็นพระเถระเป็นมหาเถระองค์สำคัญ ที่ได้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า พูดง่ายๆ ว่าเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้านั้นเอง แต่ว่าเป็นลูกศิษย์ที่มีความสามารถ นอกจากปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าด้วยตนเองแล้ว ก็ยังสามารถเอาคำสอนของพระพุทธเจ้ามาแจกจ่ายชี้แจงสั่งสอนแนะนำผู้อื่นให้เข้าใจตาม และปฏิบัติตามด้วย เรียกได้ว่าเป็นผู้เชิดชูประทีปธรรม หรือดวงประทีปแห่งธรรมของพระพุทธเจ้าให้สุกใสสว่างต่อไป ฉะนั้นเมื่อท่านสามารถเชิดชูดวงประทีปนี้ขึ้น ให้ส่องสว่างได้แล้ว ท่านทำหน้าที่เสร็จแล้ว ก็ส่งต่อดวงประทีปนี้ให้กับลูกศิษย์ลูกหาหรือคนรุ่นหลัง เพื่อช่วยกันทำหน้าที่เชิดชูดวงประทีปนั้น เอาไปส่องสว่างให้เกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชนสืบต่อไป

บัดนี้ หลวงปู่ชาได้ทำหน้าที่ของท่านแล้ว ท่านก็ส่งต่อดวงประทีปนี้มาให้แก่เหล่าพุทธบริษัท ท่านที่เป็นลูกศิษย์ลูกหาทั้งหลาย จะต้องนึกถึงหน้าที่ในการที่จะนำเอาดวงประทีปนี้ มาส่องสว่างให้เกิดประโยชน์สมตามความมุ่งหมายต่อไป อย่างน้อยก็นำมาส่องสว่างแก่ทางดำเนินชีวิตของตนเอง และถ้าสามารถก็นำไปส่องสว่างทางชีวิตให้แก่โลกให้แก่สังคม เพื่อความอยู่เย็นเป็นสุขกันต่อไป

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.