สถาปนาธรรมให้เกิดมีและยืนยงในสังคม

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

วิธีการสถาปนาธรรม

นอกจากการมาเล่าเรียน พยายามแสวงปัญญาเพื่อให้รู้เข้าใจธรรม และวิธีการที่จะดำรงรักษาธรรมแล้ว นักศึกษายังมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบต่อไปอีก อันเนื่องมาจากการที่ได้ศึกษาแล้วนั่นเองว่า เมื่อศึกษารู้ธรรมแล้ว จะต้องพยายามนำธรรมที่ได้ศึกษาเล่าเรียนรู้แล้วนั้นไปสถาปนาให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะที่เน้นกันขณะนี้ก็คือ ให้เกิดมีขึ้นในสังคม เริ่มด้วยการสถาปนาธรรมนั้นขึ้นในตน และเป็นผู้นำในการเข้าถึง และดำรงธรรม

ในการที่จะสถาปนาธรรม คือ ความจริง ความถูกต้อง ความดีงามให้เกิดขึ้นในสังคมนั้น มีสิ่งที่น่าคิดอีกอย่างหนึ่งคือ จุดหมายนั้นอยู่ที่การสถาปนาธรรม แต่ในการที่จะดำเนินไปสู่จุดหมายนั้นก็ต้องมีวิธีการ วิธีการอะไรเล่าจะช่วยให้ดำเนินไปถึงจุดหมายที่เราต้องการจนสถาปนาธรรมขึ้นได้ วิธีการนั้นโดยส่วนใหญ่ก็แบ่งได้เป็น ๒ อย่าง คือ วิธีการที่เป็นธรรม กับวิธีการที่เป็นอธรรม แม้จุดหมายจะเป็นธรรมแล้ว แต่วิธีการก็ยังไม่แน่ อาจจะเป็นวิธีการที่เป็นธรรม หรือวิธีการที่เป็นอธรรมก็ได้

ในวิธีการ ๒ อย่างนี้ เราจะเลือกทางไหน ถ้าตอบตามหลักก็บอกได้ทันทีว่า ต้องเลือกวิธีการที่เป็นธรรม แต่โดยปกติแล้วมนุษย์จะถูกยั่วยวนถูกคุกคาม ทำให้บางทีก็รู้สึกว่าเราจะต้องใช้แม้แต่วิธีการที่เป็นอธรรม หรือมีความรู้สึกเกี่ยงงอนกันว่า ก็ถ้าฝ่ายโน้นใช้วิธีการที่เป็นอธรรม เราจะใช้วิธีธรรมได้อย่างไร เพราะมนุษย์เกี่ยงกันอยู่อย่างนี้นั่นเอง รอวิธีที่เป็นธรรมจากผู้อื่นอยู่อย่างนี้นั่นเอง สังคมมนุษย์ตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์ยุคคนป่าเถื่อนจนกระทั่งถึงปัจจุบัน จึงได้หมุนเวียนเปลี่ยนวนอยู่ในสภาพเช่นนี้ คือ ลุ่มๆ ดอนๆ ดีชั่วเลวร้าย กลับไปกลับมาอยู่อย่างเดิม เพราะเราไม่สามารถ ขาดความเพียร ขาดความอดทน ในการที่จะใช้วิธีการที่เป็นธรรมให้บรรลุผลในการที่จะสถาปนาธรรมขึ้นให้ได้

การที่จะสถาปนาธรรมด้วยวิธีการที่เป็นธรรมนั้น เป็นสิ่งที่ต้องทำด้วยความอดทน ด้วยความเสียสละ ความเข้มแข็งและสติปัญญาอย่างสูง แต่เป็นสิ่งที่จะให้ผลยั่งยืน เพราะถ้ามนุษย์ ไม่เพียรพยายามในข้อนี้แล้ว มนุษย์ก็จะต้องเกี่ยงงอนกันอยู่ร่ำไป เมื่อฝ่ายหนึ่งบอกว่าใช้วิธีการที่เป็นอธรรมได้ อีกฝ่ายหนึ่งก็ย่อมอ้างสิทธิ์ที่จะใช้บ้าง แล้วมนุษย์ทั้ง ๒ ฝ่ายนี้ ก็จะใช้วิธีที่เป็นอธรรมเข้าห้ำหั่นซึ่งกันและกัน ประวัติศาสตร์ของมนุษย์จึงได้วนเวียนอยู่ในสภาพเช่นนี้ตลอดมา และเป็นการแสดงออกถึงความอ่อนแอของมนุษย์ด้วย ที่ไม่มีความสามารถในการใช้วิธีการที่เป็นธรรม ไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะเข้าถึงจุดหมายด้วยวิธีการที่เป็นธรรม จึงต้องหันกลับไปหาสัญชาตญาณเดิม คือ ความโกรธแค้น ความรุนแรง ใช้กำลังกายกำลังอาวุธเข้าคุกคามซึ่งกันและกัน เป็นอย่างนี้มาแต่โบราณ ตั้งแต่ยุคคนป่าจนกระทั่งปัจจุบัน

เพราะฉะนั้น ถ้าจะสถาปนาธรรมที่แท้จริงและให้ได้ผลแท้จริงก็จะต้องมีความอดทนเข้มแข็ง ใช้ปัญญา และมีความเสียสละเพียงพอในการที่จะใช้วิธีการที่เป็นธรรมด้วย ซึ่งหมายถึงการที่ต้องเป็นผู้มีความสามารถอย่างสูงกว่าปกติ ยิ่งถ้าทำสำเร็จได้ ในเมื่อต้องเผชิญกับวิธีการอันอธรรมด้วยแล้ว ก็ย่อมแสดงถึงความสามารถอย่างเยี่ยมยอดเหนือระดับสามัญ ควรแก่การกล่าวอ้างได้ว่า เป็นการสถาปนาธรรมอย่างบริสุทธิ์บริบูรณ์

ความสามารถใช้วิธีการที่เป็นธรรมนี้แหละจะเป็นวิธีการสร้างธรรมขึ้นได้อย่างถาวร เป็นการสถาปนาธรรมที่ถูกต้อง อย่างน้อยก็กล่าวได้ว่า เป็นความก้าวหน้าของมนุษย์ในวิถีทางแห่งการสถาปนาธรรม มิใช่เป็นเพียงการหมุนเวียนอยู่ในวงจร ดังนั้น จึงควรถือเป็นหลักด้วยว่า การพัฒนาความสามารถที่จะใช้วิธีการที่เป็นธรรมในการสถาปนาธรรมนี้ เป็นภารกิจอันสำคัญยิ่งของมหาวิทยาลัย ที่เป็นสถาบันขั้นอุดมศึกษาและสั่งสอนวิชาธรรมศาสตร์

จะเห็นได้ว่า ในยุคที่มีการพยายามสถาปนาธรรมนั้น เรามีความเร่าร้อนในการที่อยากจะให้ธรรมเกิดขึ้น และในสภาพเช่นนั้น ถ้าไม่ใช้สติและไม่มีความอดทนพอ ก็มักจะเกิดการใช้วิธีรุนแรงขึ้น การใช้วิธีรุนแรงนั้น ได้ผลักดันให้คนไม่น้อย ที่อยู่ ณ จุดเริ่มต้นอันใกล้เคียงบนฐานเดียวกัน เลื่อนตัวออกไปอยู่ ณ สุดทางตรงข้าม ด้วยวิธีการเช่นนี้ มนุษย์เราได้สร้างศัตรูขึ้นมามากมายโดยไม่จำเป็นและไม่สมควร จะเห็นว่าคนที่เราเรียกกันว่าคนตื่นแล้ว หรือผู้มีความสำนึกทางสังคมในบัดนี้ ส่วนใหญ่ก็เป็นผู้ที่อยู่ในฐานะได้เปรียบในสังคมปัจจุบัน เพียงแต่ว่าเขาเกิดสำนึกดีชั่วขึ้นมา เกิดความรู้สึกรับผิดชอบต่อสังคมของตนเองขึ้นในภายหลัง

ในเวลาเดียวกัน เพื่อนร่วมสังคม หรือแม้แต่ร่วมชนชั้นของเขา และอยู่ในฐานะเดียวกับเขา และฐานะแห่งความคิดเดิมก็ใกล้เคียงกับเขา อยู่ห่างจากจุดศูนย์กลางกันเพียงคนละเล็กคนละน้อย แต่ว่าผู้หนึ่งมีความสำนึกขึ้นแล้ว แทนที่เขาจะเพียรพยายามและพัฒนาความสามารถในการที่จะช่วยให้เพื่อนร่วมฐานะหรือใกล้ฐานะของเขาเกิดความเข้าใจ มีสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมเหมือนอย่างเขาด้วยวิธีการที่ดีที่สุด และยอมรับความไม่สามารถของตนเองบ้าง ในกรณีที่ยังทำความพยายามนั้นไม่ได้ผลเท่าที่ควร เขากลับเกิดความรู้สึกขัดใจต่อคนอื่น และก้าวร้าวต่อผู้อื่น ก็เลยกลายเป็นเครื่องผลักดันให้คนอื่นๆ นั้น เลื่อนฐานตนเองจากจุดที่ใกล้เคียงไปอยู่ ณ ปลายสุดทางตรงข้าม

คนปฏิปักษ์หรือคู่ปรปักษ์ที่ถูกสร้างขึ้นด้วยวิธีการเช่นนี้มีมากมาย แล้วถ้าหากว่าคนเหล่านั้นจะเป็นผู้ที่ทำลายสังคมแล้วไซร้ ก็ต้องถือว่าผู้ที่เกิดสำนึกทางสังคมในเบื้องต้นนั้นเองเป็นผู้สร้าง หรือมีส่วนอย่างสำคัญในการสร้างคนเหล่านั้นขึ้น เราอาจกล่าวได้ว่า เขานั่นแหละเป็นผู้สร้าง “ผู้ทำลาย” ขึ้นมาแล้วอย่างนี้ เราจะหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบได้หรือ คนในปัจจุบันนี้จำนวนมากมาย น่าจะได้ถูกสร้างขึ้นด้วยวิธีการเช่นนี้ ให้กลายเป็นผู้ทำลายและเป็นผู้ที่ควรถูกทำลาย

ดังนั้น ผู้ที่กระหายในวิธีรุนแรงจะต้องยอมรับความไม่สามารถหรือความบกพร่องของตน ว่าตนไม่รู้จักและไม่สามารถที่จะกระทำด้วยวิธีการที่ดีกว่านั้น การยอมรับความจริงนี้เป็นส่วนหนึ่งที่จะให้มีความก้าวหน้าในวิถีทางแห่งการสถาปนาธรรม ส่วนการไม่ยอมรับ ก็น่าจะต้องถือว่าเป็นความไม่ชอบธรรมอย่างหนึ่ง

เพราะฉะนั้น ในยุคแห่งการตื่นตัวนี้ พึงคำนึงว่าการตื่นตัวนั้นเป็นสิ่งที่ดี เรามีความสำนึกในความรับผิดชอบต่อสังคม ยิ่งถ้าหากว่าเป็นผู้อยู่ในฐานะที่เรียกว่าได้เปรียบคนอื่นอยู่แล้ว ก็ยิ่งดีใหญ่ เพราะเราสามารถที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น และช่วยนำทางผู้อื่นได้มาก แต่ที่เรามักจะเห็นว่าเป็นข้อบกพร่องอย่างหนึ่งก็คือ เมื่อตื่นตัวขึ้นเพื่อทำการแล้ว เรามักจะไม่มีความรู้ความเข้าใจเพียงพอสำหรับทำการ หรือความตื่นตัวกับความรู้อย่างถ่องแท้ในความจริงสำหรับที่จะทำการนั้น ไม่ทันซึ่งกันและกัน พูดง่ายๆ ว่า ความรู้ตามไม่ทันความตื่นตัว อันนี้อาจจะเป็นข้อบกพร่องอย่างหนึ่ง ถ้าหากว่าได้มีการทบทวนไว้เสมอก็คงจะเป็นประโยชน์มาก

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.