รากฐานพุทธจริยศาสตร์สำหรับสังคมไทยร่วมสมัย

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

คฤหัสถ์ กับคฤหัสถ์

ข้อแนะนำในทางปฏิบัติ สำหรับจัดระเบียบคณะสงฆ์นั้น ปรากฏอยู่ในพระวินัยปิฎกโดยเฉพาะ แต่สำหรับสังคมคฤหัสถ์ หามีหมวดใดรวบรวมข้อแนะนำไว้ให้โดยเฉพาะไม่ ถึงแม้ว่าศีลห้าที่ให้เว้นจากการฆ่า การลักขโมย การประพฤติผิดทางกาม การกล่าวเท็จ และการเสพสิ่งมึนเมา จะเป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นกฎเกณฑ์ทางศีลธรรมขั้นพื้นฐานสำหรับคฤหัสถ์ก็ตาม แต่หากจะกำหนดรวบรวมข้อปฏิบัติสำหรับคฤหัสถ์กันขึ้น ศีลห้านี้ก็จัดเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น จนแม้พระพุทธพจน์ใน สิคาโลวาทสูตร ที่พระพุทธโฆษาจารย์ พระอรรถกถาจารย์คนสำคัญ จัดให้เป็นวินัยบัญญัติสำหรับคฤหัสถ์ (คิหิวินัย) ก็เป็นเพียงพระสูตรที่ทรงแสดงแก่บุคคลผู้หนึ่งเพียงในวาระหนึ่งโดยเฉพาะ และไม่ครบถ้วนสิ้นเชิงพอที่จะเป็นประมวลวินัยบัญญัติสำหรับคฤหัสถ์ได้ คำสอนทำนองเดียวกันก็ปรากฏอยู่ทั่วไปในส่วนอื่นๆ ของพระสุตตันตปิฎก ที่สำคัญที่สุดก็คือ พระธรรมเทศนาในสิคาโลวาทสูตรนี้ พระองค์มิได้ทรงบัญญัติขึ้นด้วยพระพุทธอาณา ดั่งในกรณีวินัยสงฆ์ ความทั้งหมดนี้ ย่อมสนับสนุนสมมติฐานที่ว่า สังคมคฤหัสถ์ที่ครอบคลุมกว้างขวางกว่านั้น ย่อมเปิดกว้างเกินไปต่อสภาพอันแปรเปลี่ยนของกาลเทศะ พุทธศาสนาจึงไม่เห็นควร ที่จะให้ตกอยู่ในอาณัติของกฎเกณฑ์ตายตัวใดๆ นี่ย่อมหมายความว่า ควรจะกำหนดแต่กฎเกณฑ์พื้นฐานและความคิดหลักการอย่างกว้างๆ ส่วนที่พ้นจากนี้ไป ควรให้ผู้คนกำหนดกฎเกณฑ์รายละเอียดกันเอง ตามแต่สภาพการณ์ที่ต่างกันออกไป โดยมีพื้นฐานอยู่บนกฎเกณฑ์ พื้นฐานความคิด และหลักการดังกล่าว เพื่อให้เหมาะสมกับสังคมของตน

อันที่จริง พุทธจริยศาสตร์ในระดับศีลธรรมและสังคมนั้น มิได้ลงรายละเอียด ดังในระดับความหลุดพ้นส่วนบุคคล ซึ่งเป็นส่วนจบสิ้นสมบูรณ์หรือส่วนสำเร็จ ตลอดทุกยุคทุกสมัยในประวัติศาสตร์ มนุษย์ต่างประสบสิ่งต่างๆ ผิดแผกกันออกไปมากมายหลายด้าน ฉะนั้น พุทธจริยศาสตร์ทางศีลธรรมและสังคมจึงอาศัยมรดกต่างๆ ในทางจริยธรรมเข้ามาประกอบได้มากมาย โดยปรับปรุงประยุกต์จารีตประเพณีทั้งหลายมาใช้ ดังที่พระพุทธเจ้าทรงยอมรับจริยธรรมในอดีตอันปรากฏอยู่ในนิทานชาดกต่างๆ การจะผนวกเอาจารีตประเพณีมาใช้นี้ ย่อมต้องอาศัยทั้งการขัดเกลา ปรับปรุง เสริมให้สมบูรณ์ ตลอดจนจัดแจงกำหนด ความคิด ค่านิยม และการปฏิบัติอย่างเก่า ให้เข้ารูปเข้ารอยกับกระบวนพัฒนาการทางจริยธรรมของชาวพุทธ โดยวิธีเหล่านี้ สิ่งเก่าก็จะถูกประมวลลงในกฎเกณฑ์พื้นฐาน ความคิดและหลักการของพุทธจริยศาสตร์ การที่จะทำเช่นนี้ได้ ไม่ใช่เรื่องง่าย ย่อมต้องอาศัยมาตรฐานและหลักเกณฑ์ที่รัดกุมในการวินิจฉัย ความข้อนี้เราจะพิจารณากันภายหลัง

กล่าวโดยสรุป ชาดกทั้งหลายย่อมเป็นแหล่งสำคัญ ที่คฤหัสถ์จะได้เรียนรู้พุทธจริยศาสตร์ทางสังคม กระนั้นก็ดี คำสอนที่ปรากฏในชาดกก็กระจัดกระจายและไม่เป็นระบบพอ นอกเหนือไปจากแหล่งอื่นๆ แหล่งที่พอจะใช้เป็นเกณฑ์ในการวินิจฉัยความคิดหลักทางพุทธจริยศาสตร์ได้ ก็เห็นจะเป็นสิคาโลวาทสูตร ที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ คำสอนในพระสูตรนี้มีสาระสำคัญดังนี้1

๑. เว้นจากการประพฤติผิด (กรรมกิเลส) ๔ ประการ (ตรงกับศีล ๔ ข้อต้น)

๒. เว้นจากการประกอบอกุศลกรรม อันมีมูลมาแต่ อคติทั้งสี่ ได้แก่ ฉันทาคติ โทสาคติ โมหาคติ และภยาคติ

๓. เว้นจากอบายมุข ๖ อัน ได้แก่ ติดสิ่งมึนเมา เที่ยวกลางคืน เที่ยวดูการละเล่น เล่นการพนัน คบเพื่อนชั่ว และเกียจคร้าน

๔. รู้จักแยกแยะมิตรเทียม อันได้แก่ มิตรปอกลอก มิตรประจบ มิตรสอพลอ และมิตรพาสู่อบาย และมิตรแท้อันได้แก่ มิตรสงเคราะห์ มิตรร่วมทุกข์ร่วมสุข มิตรแนะประโยชน์ และมิตรมีน้ำใจ

๕. รู้จักสะสมทรัพย์ และแบ่งใช้เป็นสี่ส่วน ส่วนหนึ่งสำหรับการกินอยู่และบำเพ็ญกิจหน้าที่ต่อผู้อื่น สองส่วนสำหรับประกอบอาชีพตน และอีกส่วนหนึ่งสำหรับยามคับขัน

๖. รู้จักปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ถูกต้องตามฐานะในระบบความสัมพันธ์ต่างๆ อันได้แก่ บุตร-บิดามารดา ศิษย์-ครู ภรรยา-สามี มิตร-มิตร บ่าว-นาย หรือลูกจ้าง-นายจ้าง ตลอดจน พระ-คฤหัสถ์

๗. รู้จักดำรงตนให้ตั้งมั่นตามหลักความประสานกลมกลืนในสังคม (สังคหวัตถุ) อันได้แก่ ทาน ปิยวาจา อัตถจริยา และ สมานัตตตา

ที่น่าสังเกตเป็นพิเศษก็คือ พระพุทธองค์ทรงเอ่ยถึงมิตรและการสมาคมไว้บ่อยครั้งด้วยกัน เพียงในพระสูตรข้างต้น คำว่า "มิตรและการสมาคม" มีปรากฏอยู่ถึง ๕ แห่ง ได้แก่ การคบมิตรชั่วเป็นอบายมุข การแยกแยะระหว่างมิตรแท้และมิตรเทียม ความสัมพันธ์ระหว่างมิตรต่อมิตร ในฐานะข้อปฏิบัติต่อทิศเบื้องซ้าย การที่พระสงฆ์ในฐานะทิศเบื้องบน พึงปฏิบัติต่อบุคคลดังมิตรแนะประโยชน์ (ข้อแตกต่างมีเพียงว่า ในกรณีของพระสงฆ์มีข้อปฏิบัติเพิ่มอีก ๒ ประการ) ตลอดจนพื้นฐาน ๔ ประการ แห่งสามัคคีธรรมในสังคม (สังคหวัตถุ) ซึ่งสอดคล้องกับหลักการอันมิตรพึงปฏิบัติต่อกันในฐานะทิศเบื้องซ้าย คำแนะนำเกี่ยวกับการคบมิตรและการสมาคมนี้ ยังพบได้หลายแห่งในชาดก หากพิจารณาความข้างต้น ควบคู่ไปกับความสำคัญของกัลยาณมิตรในการเจริญมรรคมีองค์แปด2แล้ว จะเห็นได้ว่า การสมาคมกับบัณฑิตก็ดี กัลยาณมิตรก็ดี การอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมทางสังคมที่ดีก็ดี ล้วนเป็นสิ่งสำคัญในพุทธจริยศาสตร์ ทั้งในระดับศีลธรรม ทางสังคม และในระดับการเจริญโลกุตตรมรรคส่วนบุคคล

ยิ่งไปกว่านั้น ที่พึงสังเกตอีกประการหนึ่งก็คือ การที่ข้อปฏิบัติของสงฆ์ต่อคฤหัสถ์ สอดคล้องต้องกันกับข้อปฏิบัติของมิตรแนะประโยชน์ กับการที่หลัก ๔ ประการแห่งความประสานกลมกลืนในสังคม ต้องกับข้อปฏิบัติอันคฤหัสถ์พึงกระทำต่อมิตรของตน ประการต้นย่อมมีนัยว่า พระสงฆ์ก็เป็นดั่งกัลยาณมิตรสำหรับคฤหัสถ์ ส่วนประการหลังย่อมช่วยให้เราสรุปได้ว่า ในพุทธจริยศาสตร์ มนุษย์ล้วนเป็นมิตรต่อกัน และแต่ละคนพึงปฏิบัติต่อคนอื่นเยี่ยงมิตรปฏิบัติต่อมิตร

1ที.ปา. ๑๑/๑๗๒-๒๐๖/๑๙๔-๒๐๗
2ตัวอย่างเช่น สํ.ม. ๑๙/๕-๑๓๙/๒-๓๘; องฺ.เอก. ๒๐/๗๒-๑๒๘/๑๖-๒๕; ขุ.อิติ. ๒๕/๑๙๕/๒๓๗ (ความข้อนี้จะพูดถึงโดยละเอียดภายหลัง)
The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.