พัฒนาคุณภาพชีวิต ด้วยจิตวิทยาแบบยั่งยืน

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

นอกจากเป็นระบบ ต้องสัมพันธ์กันครบตลอดวงจร

เรื่องต่อไปก็อย่างที่พูดเมื่อกี้ว่า จิตวิทยาแบบยั่งยืนนั้นจะต้องครบวงจรหรือไปตลอดสาย ความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรม จิตใจ และปัญญา เป็นระบบความสัมพันธ์ในชีวิตมนุษย์ ที่เป็นทั้งความจริง และจะต้องนำมาใช้ประโยชน์

ในการศึกษาวิเคราะห์ จะต้องดูว่าพฤติกรรมของคนสัมพันธ์กับคุณภาพหรือคุณธรรมในจิตใจของเขาอย่างไร และความรู้ที่เป็นด้านปัญญามีบทบาทเกี่ยวข้องอย่างไร แล้วก็นำมาใช้ประโยชน์ในเชิงปฏิบัติ ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น ในเรื่อง การสร้างวินัย ว่าเราจะสร้างวินัยได้อย่างไร

วินัยเป็นการมีพฤติกรรมที่เป็นระเบียบ สังคมมนุษย์จะอยู่ได้และเจริญด้วยดี คนต้องมีพฤติกรรมที่เป็นวินัย แต่พฤติกรรมที่เป็นวินัยจะเกิดขึ้นได้อย่างไร เราไม่ต้องการให้เป็นการบังคับ ก็ต้องมีการฝึก

การฝึกอย่างหนึ่งอาจจะเกิดขึ้นด้วยความเคยชิน ซึ่งเป็นวิธีการทางพฤติกรรมแท้ๆ ที่ดำเนินไปโดยแทบไม่ต้องรู้ตัว ชีวิตมนุษย์ส่วนใหญ่ที่เราอยู่กันนี่อยู่ด้วยความเคยชิน พฤติกรรมในการแสดงออกต่างๆ ก็เป็นไปตามความเคยชินแทบทั้งนั้น เพราะฉะนั้น วิธีฝึกวินัยอย่างแรกสุด ก็คือการสร้างพฤติกรรมเคยชินที่ดี

ในความเคยชิน ถ้ามนุษย์เกิดมีความพอใจในพฤติกรรมนั้น มีความสุขในการอยู่ในพฤติกรรมนั้น พฤติกรรมนั้นก็จะมีความแนบแน่นสนิทยิ่งขึ้น นี่คือองค์ประกอบด้านจิตใจมีบทบาทเข้ามาสัมพันธ์ด้วย

ทีนี้ต่อไปอีก ถ้ามนุษย์เกิดมีความรู้ในคุณค่าและเหตุผล คือ มองเห็นเหตุผลในการที่ตนควรจะต้องมีวินัยหรือมีพฤติกรรมอย่างนั้น แล้วก็เห็นคุณค่าว่าการมีพฤติกรรมอย่างนี้มีประโยชน์อย่างไร ความสุขความพอใจก็จะยิ่งเกิดมีมากขึ้น ความรู้นั้นก็ทำให้เกิดสภาพจิตที่คล้อยตาม

ที่พูดมานี้แสดงว่าทั้ง ๓ ด้านมีผลสัมพันธ์ต่อกัน ความรู้มีผลต่อจิต ทำให้เกิดคุณภาพจิตคือความพอใจ รู้คุณค่าแล้วก็มีความพอใจในสิ่งนั้น เมื่อมีความพอใจ เราก็มีความมั่นคงในพฤติกรรมนั้นยิ่งขึ้น

ดังนั้น การฝึกตามหลักพุทธศาสนา จึงใช้ระบบที่เรียกว่าต้องมีความสัมพันธ์ตลอดวงจร หมายความว่า ถ้าเราจะฝึกฝนพฤติกรรมมนุษย์ เราจะต้องได้คุณสมบัติทางจิตมาหนุน และให้ได้ปัญญามาเป็นปัจจัยช่วยนำด้วย ถ้าครบสามอย่างเมื่อไร ก็จะทำให้การพัฒนาเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง แต่ถ้าไม่ครบเราจะไม่มีความมั่นใจในพฤติกรรมนั้นจริง เพราะพฤติกรรมนั้นอยู่เพียงด้วยเป็นการแสดงออกภายนอก ซึ่งอาจจะเกิดจากการบังคับหรืออาจจะเป็นการจัดระเบียบภายนอก

แม้แต่เป็นความเคยชินก็ยังไม่เพียงพอ มนุษย์จะต้องมีความรู้สึกด้านจิตใจมาสนับสนุน คือสภาพจิตที่มีความสุขความพอใจเป็นต้น แล้วก็มีปัญญาคือความรู้ความเข้าใจ ที่จะทำให้เกิดความสอดคล้อง ความชัดเจน และความมั่นใจ

ยกตัวอย่างอีกเรื่องหนึ่ง เช่น การอนุรักษ์ธรรมชาติ ปัจจุบันเป็นยุคที่เราพูดถึงการอนุรักษ์ธรรมชาติกันมาก เพราะเป็นปัญหาใหญ่ การอนุรักษ์ธรรมชาตินี้เป็นพฤติกรรม คือ พฤติกรรมในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมให้อยู่ในสภาพที่ดี พฤติกรรมในการอนุรักษ์ธรรมชาตินี้ เวลาเราสอนกัน เราบอกว่าจะให้คนอนุรักษ์ธรรมชาติ เราจะบังคับพฤติกรรมของเขาไม่ได้ หรือไม่เพียงพอที่จะได้ผล เราต้องโยงไปหาด้านจิตใจด้วย คือต้องให้คนรักธรรมชาติ ถ้าคนรักธรรมชาติแล้วเขาก็จะอนุรักษ์ธรรมชาติเอง

อย่างไรก็ตาม ปัญหายังมีต่อไปอีกว่า ในกระบวนการทางจิตนี้ทำอย่างไรจะให้คนรักธรรมชาติ อันนี้เป็นปัญหาที่สำคัญกว่า หลักมีอยู่ว่า ถ้าเราปฏิบัติถูกต้องตามกระบวนการของธรรมชาติ สิ่งนั้นจะเป็นไปเองโดยไม่ต้องไปเรียกร้องหรือควบคุม ในระบบที่ไม่ครบถ้วนไม่สมบูรณ์จะต้องมีการควบคุม แต่ถ้าเป็นระบบที่เต็มสมบูรณ์เป็นบูรณาการ มันจะเป็นไปเองตามธรรมชาติ

เพราะฉะนั้น หลักพระพุทธศาสนาจึงบอกว่า จะต้องเข้าถึงตัวระบบความสัมพันธ์แห่งความเป็นเหตุปัจจัยในธรรมชาตินี้ให้ชัด แล้วสร้างมันขึ้นมา ให้เป็นไปตามเหตุปัจจัยนั้น จนกระทั่งถึงจุดที่ว่ามันเป็นไปเองตามธรรมชาติ ไม่ต้องไปเรียกร้อง หลักธรรมต่างๆ เป็นเรื่องของระบบเหตุปัจจัย ซึ่งถ้าทำเหตุปัจจัยขึ้นมาแล้ว เราไม่ต้องไปเรียกร้องอ้อนวอนว่าขอให้ผลที่ต้องการนั้นเกิดขึ้น เพราะมันจะเกิดขึ้นเอง ถึงใครจะไปบังคับไม่ให้มันเกิด มันก็ต้องเกิด

ในกรณีที่บอกว่า เราจะให้คนอนุรักษ์ธรรมชาติ และเราจะบอกว่าให้รักธรรมชาติ แต่ความรักธรรมชาติจะเกิดขึ้นอย่างไร ก็ต้องสร้างปัจจัยในทางจิต ซึ่งกระบวนการทางจิตจะบอกว่า ให้คนมีความสุขในการอยู่กับธรรมชาติ ถ้าเราสามารถทำให้เด็กมีความสุขจากการอยู่กับธรรมชาติ เด็กจะรักธรรมชาติเอง โดยไม่ต้องไปสอน แต่ถ้าเด็กไม่มีความสุขในการอยู่กับธรรมชาติแล้ว เราก็ต้องจ้ำจี้จำไชปากเปียกปากแฉะ และถึงอย่างนั้นความรักก็ไม่เกิดขึ้นจริง เพราะฉะนั้นจึงต้องทำเหตุปัจจัยตามหลักที่ว่า การทำให้เกิดผลจริงในชีวิตจิตใจมนุษย์ต้องเป็นไปตามกระบวนการของกฎธรรมชาติอย่างสมบูรณ์

เพราะฉะนั้นจะเห็นว่า กระบวนการของกฎธรรมชาตินี้โยงกันหมด ระหว่างพฤติกรรม จิตใจ และปัญญา เพราะว่าทั้งสามด้านนั้นเป็นส่วนหนึ่งๆ ของชีวิตของมนุษย์ ชีวิตมนุษย์ไม่ได้แยกออกเป็นเสี่ยงๆ เพราะว่าชีวิตนี้ประกอบด้วยปัจจัยที่เป็นองค์ประกอบมากมายมารวมกัน และปัจจัยเหล่านี้ก็ส่งผลต่อกัน

เป็นอันว่า เราจะให้คนรักธรรมชาติ เราต้องให้เขามีความสุขในการอยู่กับธรรมชาติ เราก็หาทางจัดสภาพแวดล้อมหรืออะไรต่างๆ ที่จะให้เด็กมีความสุขในการอยู่กับธรรมชาติ เมื่อใดเด็กมีความสุขในการอยู่กับธรรมชาติ เมื่อนั้นแหละไม่ต้องไปบอกแล้ว เด็กจะรักธรรมชาติเอง พอเด็กรักธรรมชาติแล้วเด็กก็อนุรักษ์ธรรมชาติอย่างเป็นไปเองเลย

ทีนี้ทำอย่างไรจึงจะให้เกิดภาวะเช่นนี้ การที่เป็นปัญหาก็เพราะปัจจุบันนี้เราได้สร้างเหตุปัจจัยที่ทำให้มนุษย์มีความรู้สึกแปลกแยกกับธรรมชาติ มนุษย์ปัจจุบันนี้มีความรู้สึกแปลกแยกกับธรรมชาติ เพราะเห็นว่าความสุขของมนุษย์เกิดจากการได้เสพวัตถุ มีวัตถุบำรุงบำเรอ ตา หู จมูก ลิ้น กาย โดยอาศัยเทคโนโลยีต่างๆ

บางทีเราได้พัฒนาเลยเถิดไปจนกระทั่งถึงขั้นที่มีความรู้สึกนึกเกลียดชังธรรมชาติ หรือรู้สึกว่าธรรมชาติเป็นตัวขัดขวางความสุข ทำให้เราไม่สามารถได้ความสุขที่ต้องการ

โดยเฉพาะในอารยธรรมปัจจุบัน ที่มีแนวคิดความเชื่อที่ปลูกฝังกันมานานอย่างไม่รู้ตัว ว่ามนุษย์จะต้องเอาชนะธรรมชาติ จึงจะมีความสำเร็จและความสุขสมบูรณ์ ทำให้เขามีความรักและเข้ากับธรรมชาติเพียงผิวเผิน และเพราะฉะนั้นคนปัจจุบันจำนวนมากจึงมีความโน้มเอียงที่จะทำลายธรรมชาติอยู่แล้ว แต่ถ้าเราสามารถสร้างสภาพจิตตามกระบวนการของเหตุปัจจัยที่ว่าข้างต้นนั้นขึ้นมาได้ การอนุรักษ์ธรรมชาติก็เป็นไปเอง

เมื่อเด็กสร้างความรู้สึกเป็นสุขในการอยู่กับธรรมชาติขึ้นมาได้ เด็กก็รักธรรมชาติ พอด้านจิตใจรักธรรมชาติแล้ว พฤติกรรมอนุรักษ์ธรรมชาติก็ตามมาเอง พร้อมกันนั้นเราควรทำให้เขาเกิดความรู้ความเข้าใจ รู้เหตุรู้ผล รู้คุณค่าของการที่จะอนุรักษ์ธรรมชาติด้วย เขาก็จะยิ่งรู้สึกมีความสุข มีความสบายใจและพอใจในการทำพฤติกรรมอย่างนั้น

ทั้งนี้เพราะคนเรานั้น ถ้ามองเห็นว่าการกระทำของตนมีคุณค่าเป็นประโยชน์ เป็นสิ่งที่ดีที่ถูกต้อง เขาก็จะมีความพอใจยิ่งขึ้น พร้อมด้วยความมั่นใจ ซึ่งจะทำให้พฤติกรรมอนุรักษ์ธรรมชาตินั้นสนิทแนบแน่นลึกลงไปและมั่นคง อย่างนี้ก็จะเป็นความสัมพันธ์กันทั้งสามด้าน คือทั้งพฤติกรรม ทั้งจิตใจ และปัญญา จึงเป็นจิตวิทยาที่มีผลแท้จริง และเป็นจิตวิทยาแบบยั่งยืน นี้ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.