คุณบิดามารดา สุดพรรณนามหาศาล

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ถ้าธรรมไพบูลย์นำหน้า อามิสไพบูลย์ก็พาสู่สันติสุข

ฉะนั้น ตามหลักที่ถูกต้อง เมื่อมีอามิสไพบูลย์ก็ต้องให้อามิสไพบูลย์นั้นเป็นพื้นฐานแก่ธรรมไพบูลย์ เวลานี้ในบ้านเมืองของเราที่เคยมีเศรษฐกิจดีพอสมควร สถานการณ์ก็เปลี่ยนไป คนที่ยากจนก็มาก คนที่มั่งมีก็ตกยาก พบความทุกข์กันอย่างทั่วถึง ซึ่งจะต้องเข้มแข็งมีกำลังใจแก้ไขปัญหากันต่อไป แต่อย่างน้อยเราก็ได้ส่วนหนึ่ง เพราะถ้าเทียบกับบางประเทศ ประเทศเราก็มีฐานะเศรษฐกิจดีไม่น้อย คนไทยเราเคยอยู่กันสุขสำราญ ถึงขนาดที่ว่าฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยเลยเถิดไป พอตกต่ำลงมา ทั้งที่ยังดีกว่าหลายประเทศ ก็รู้สึกเป็นทุกข์หนัก ปัญหาอยู่ที่ว่า ในยามที่พรั่งพร้อมสุขสบาย เราเอาสภาพอามิสไพบูลย์ ที่มีความพรั่งพร้อมทางวัตถุนั้นมาเป็นฐานให้แก่ธรรมหรือเปล่า หรือเกิดความหลงละเลิงมัวเมาไปในทางตรงข้าม อันนี้เป็นจุดแยกที่สำคัญ

ถ้ามีความพรั่งพร้อมทางวัตถุแล้ว ความพรั่งพร้อมของวัตถุกลายเป็นปัจจัยให้เราเกิดความประมาทมัวเมา อันนั้นก็เป็นทางเสื่อม แต่ถ้าเอาอามิสไพบูลย์ที่มีวัตถุพรั่งพร้อมนั้นมาเป็นอุปกรณ์เสริมธรรม สร้างสรรค์ความดีงามทำประโยชน์ให้ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข มีความสามัคคีกัน ก็กลายเป็นความเจริญงอกงามยิ่งขึ้นไปอีก การกระทำอย่างนี้ก็เหมือนอย่างพระเจ้าอโศกมหาราชตอนที่พระองค์มีอำนาจและกลับพระทัยหันมาประพฤติธรรมแล้ว

พระเจ้าอโศกมหาราชนั้น ตอนแรกพระองค์ก็เป็นราชาที่เหี้ยมโหด เรียกว่า พระเจ้าจัณฑาโศก แปลว่าอโศกผู้ดุร้าย คือคิดแต่จะแสวงหาความยิ่งใหญ่และการบำรุงบำเรอความสุขของตน ยกกองทัพไปรุกรานรบราฆ่าฟันประเทศอื่น เพื่อตัวจะได้เป็นใหญ่ และแย่งชิงทรัพย์สมบัติของคนอื่น พอปราบเขาได้ตนเองก็เป็นใหญ่สมปรารถนา แต่เมื่อพระองค์ได้มาสดับธรรมก็เปลี่ยนพระทัยกลับใจใหม่ แลเห็นว่าเราจะแสวงหาทรัพย์สมบัติหาความยิ่งใหญ่ไปทำไม ไม่มีสาระแท้จริง แล้วยังก่อความทุกข์ยากเดือดร้อนแก่คนมากมาย

แต่ก่อนนี้หาทรัพย์สมบัติมาเพื่อบำรุงบำเรอปรนเปรอตนเอง และไปปราบปรามเขาเพื่อตัวจะได้เป็นใหญ่ แต่ตอนนี้เห็นว่าทรัพย์และอำนาจไม่มีความหมาย มองเห็นว่าเป็นการไม่ถูกต้องชอบธรรมที่จะไปแย่งชิงเงินทองเขาและไปปราบปรามเบียดเบียนเขา

ทีนี้ พระเจ้าอโศกจะทำอย่างไร ลองทายกันดู พระเจ้าอโศกจะสละทรัพย์สมบัติและสละความยิ่งใหญ่นั้นทั้งหมด หรืออย่างไร พระเจ้าอโศกคิดออกว่าไม่จำเป็น ไม่ต้องสละโภคทรัพย์และความยิ่งใหญ่ แต่พระองค์เปลี่ยนใหม่ เอาทรัพย์สมบัติและอำนาจความยิ่งใหญ่มาเป็นอุปกรณ์ของธรรม แต่ก่อนนี้ ใช้ทรัพย์และอำนาจเป็นเครื่องมือหาสิ่งบำเรอความสุขสำราญของตนและแสดงความยิ่งใหญ่ แต่คราวนี้เอาทรัพย์และอำนาจนั้นมาใช้ในแนวทางใหม่ ให้เป็นเครื่องมือแผ่ขยายธรรม สร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม และประโยชน์สุข แก่ประชาชนและโลกทั้งหมด

การปฏิบัติของพระเจ้าอโศกนี้ เป็นคติสำคัญเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมในเรื่องทรัพย์สมบัติและยศศักดิ์อำนาจ คนบางคนมีความคิดดี มีสติปัญญาความสามารถ แต่ไม่มีทรัพย์สินเงินทอง ไม่มีอำนาจ จะทำอะไรก็ทำได้นิดเดียวและสำเร็จยาก เพราะไม่มีเครื่องมือในการทำงาน ไม่มีคนเชื่อฟัง แต่ในทางตรงข้าม ถ้ามีทรัพย์และอำนาจ พอมีความคิดดีๆ ก็เอาทรัพย์และอำนาจนั้นมาใช้ในทางทำความดีและทำการสร้างสรรค์ ก็ออกเป็นงานเป็นการได้ผลดีอย่างกว้างขวางและสำเร็จทันทีเลย เพราะฉะนั้น ถ้าเรารู้จักใช้ คือเอามาเป็นเครื่องมือของธรรม หรือรับใช้ธรรม ทรัพย์สินเงินทองและอำนาจก็กลายเป็นสิ่งที่มีประโยชน์

พระเจ้าอโศกก็ได้เปลี่ยนทันทีว่า ต่อไปนี้จะเอาทรัพย์สมบัติและอำนาจมาใช้เป็นอุปกรณ์เผยแผ่ธรรม ขยายความดีงามและประโยชน์สุขออกไปในโลก ทรงประกาศไว้ในศิลาจารึกมีสาระสำคัญว่า ยศ (ความยิ่งใหญ่ อำนาจ ตลอดจนทรัพย์สมบัติ) ไม่มีความหมาย ถ้ามันไม่เป็นไปเพื่อช่วยให้คนประพฤติธรรม เพราะฉะนั้น พระองค์ก็เลยส่งเสริมการเผยแผ่ธรรม สนับสนุนการประกาศพระศาสนาเป็นการใหญ่ การที่เราได้พบเห็นพระพุทธศาสนาในประเทศไทย ก็เป็นผลมาจากการปฏิบัติธรรมของพระเจ้าอโศก ที่ได้ทรงใช้ทรัพย์สมบัติและยศอำนาจในทางที่ถูกต้องตามหลักธรรม คือใช้เป็นอุปกรณ์เผยแพร่ธรรม

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.