วินัย: เรื่องใหญ่กว่าที่คิด

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

วินัย
เรื่องที่ใหญ่กว่าที่คิด1

เป็นที่ทราบกันดีว่า ความขาดวินัยเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทย ขณะนี้เราต้องการสร้างสรรค์ประชาธิปไตย และวินัยก็เป็นองค์ประกอบอย่างหนึ่งของประชาธิปไตย ถ้าเราไม่สามารถสร้างวินัยให้แก่คนในชาติได้ การพัฒนาประชาธิปไตยก็หวังผลสำเร็จได้น้อย เพราะว่าในประเทศประชาธิปไตยนั้นสังคมอยู่ได้ด้วยกฎเกณฑ์และกติกา คนต้องเคารพหลักการ กฎเกณฑ์ และกติกา และความเคารพกฎเกณฑ์และกติกาของสังคมนั้น ก็คือความหมายอย่างหนึ่งของความมีวินัย ถ้าไม่มีวินัย ไม่มีความเคารพกฎเกณฑ์กติกาของสังคม ประชาธิปไตยก็ขาดรากฐานที่สำคัญ จะเป็นไปด้วยดีไม่ได้ จึงเป็นเรื่องที่ควรเอาใจใส่ โดยเฉพาะในทางการศึกษาจะต้องหาทางสร้างสรรค์ปลูกฝังพัฒนาประชาธิปไตยให้สำเร็จบนพื้นฐานของความมีวินัย

 

ที่มาและความหมายของวินัย

ก่อนที่จะพูดถึงวิธีการสร้างวินัย ควรจะเข้าใจความหมายของวินัยสักเล็กน้อย

คำว่า วินัย เป็นคำใหญ่มาก มีความหมายกว้างกว่าที่เราใช้กันทั่วไปมาก และเป็นคำศัพท์ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในพระพุทธศาสนา มักใช้ควบคู่กับคำว่า ธรรม ดังที่มีคำเรียกพระพุทธศาสนาว่า “ธรรมวินัย” และคำทั้งสองนี้มีความหมายสัมพันธ์กัน

พระพุทธศาสนาถือว่าความจริงของสิ่งทั้งหลายเป็นเรื่องธรรมดา มีอยู่แล้วในธรรมชาติ ไม่ว่าพระพุทธเจ้าจะเกิดหรือไม่เกิด มันก็เป็นอย่างนั้นเป็นธรรมดา ธรรมชาติและธรรมดานี่แหละ คือ ธรรม

พระพุทธเจ้าทรงค้นพบธรรมคือความจริงนั้นแล้วก็ทรงนำมาประกาศเผยแพร่ สั่งสอนชี้แจงแสดงให้เข้าใจง่าย หน้าที่ของพระพุทธเจ้าเกี่ยวกับธรรมก็เพียงค้นพบและเอามาประกาศและสั่งสอน เพราะธรรมเป็นความจริงที่มีอยู่แล้วในธรรมชาติ

การที่จะให้ความจริงของธรรมชาติมีผลในทางปฏิบัติ เป็นประโยชน์แก่หมู่มนุษย์ในสังคม ก็ต้องนำหลักความจริงคือธรรมนั้นมาจัดตั้ง วางเป็นระบบระเบียบ โดยนำเอาหลักความจริงที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นเรื่องของกฎแห่งเหตุปัจจัย หรือความเป็นไปตามเหตุปัจจัยของสิ่งทั้งหลายที่เกิดขึ้น โดยเป็นเหตุเป็นผลแก่กันนั้น พูดสั้นๆ ว่า เอาหลักเกณฑ์ในกฎธรรมชาตินั้น มาวางรูปเป็นกฎในหมู่มนุษย์ จากกฎในธรรมชาติก็มาเป็นกฎในหมู่มนุษย์ การจัดตั้งวางระบบระเบียบในหมู่มนุษย์นี้แหละเรียกว่า วินัย

กฎของธรรมชาติเรียกว่า “ธรรม” กฎของมนุษย์เรียกว่า “วินัย”

กฎ ๒ อย่างนั้นมีความสัมพันธ์กัน คือ

ประการที่ ๑ โดยหลักการสำคัญ วินัย ต้องตั้งอยู่บนฐานของธรรม คือ ต้องมีความจริงในธรรมชาติเป็นฐานอยู่ ถ้าไม่มีความจริงในธรรมชาติเป็นฐาน วินัยก็ไม่มีความหมาย

ประการที่ ๒ การที่เราจัดวางกฎเกณฑ์ที่เป็นเหตุเป็นผลขึ้นในหมู่มนุษย์ ก็เพื่อจะให้ได้ผลตามธรรม และมีความมุ่งหมายเพื่อธรรม นั่นเอง คือเพื่อจะให้การทำตามธรรมนั้นเกิดผลเป็นจริงในหมู่มนุษย์ เราจึงได้วางกฎเกณฑ์ของมนุษย์ขึ้นมา พูดให้เข้าใจง่ายขึ้นว่า เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่ามนุษย์จะปฏิบัติตามและได้ประโยชน์จากกฎธรรมชาติ หรือใช้กฎธรรมชาติให้เป็นประโยชน์ได้ดีที่สุด เราจึงวางกฎมนุษย์ขึ้นมา

กฎธรรมชาติมีอยู่เป็นธรรมดา ส่วนกฎมนุษย์นั้นเป็นกฎสมมติ สมมติ คือ การตกลงร่วมกัน หรือยอมรับร่วมกัน สมมติ มาจาก “สัง” + “มติ” มติ แปลว่า การยอมรับ หรือการตกลง “สัง” แปลว่า ร่วมกัน “สมมติ” จึงมีความหมายว่า ข้อตกลงร่วมกัน ตรงกับภาษาอังกฤษ ว่า convention

“สมมติ” ไม่ใช่สิ่งเหลวไหล แต่เป็นสิ่งที่เกิดจากความรู้เข้าใจในหลักความจริงที่เป็นเหตุเป็นผล แล้วนำความรู้นั้นมาจัดวางเป็นข้อกำหนดเพื่อสนองความต้องการของมนุษย์ เช่น เมื่อเราจ้างคนขุดดิน ก็จะมีการวางกฎเกณฑ์แห่งเหตุและผลขึ้นมา กฎที่เราวางขึ้นนั้น เป็นกฎของมนุษย์ คือเป็นกฎสมมติ แต่เราวางกฎสมมตินั้นขึ้น โดยอาศัยความรู้ในความเป็นเหตุเป็นผลที่มีจริงเป็นจริงอยู่ในกฎธรรมชาติ เพราะฉะนั้น จึงมีกฎ ๒ กฎซ้อนกันอยู่ คือกฎธรรมชาติที่เป็นความจริงแท้ กับกฎมนุษย์ที่เป็นสมมติ

กฎของธรรมชาติ คือการขุดดินเป็นเหตุ การเกิดหลุมเป็นผล กฎของธรรมชาตินี้เรียกสั้นๆ ว่า ธรรม ส่วนในหมู่มนุษย์ เราให้คนมาขุดดิน เราให้เงินเขา ๓,๐๐๐ บาท ต่อเดือน เรียกว่าเขาได้เงินเดือน ๓,๐๐๐ บาท ก็วางเป็นกฎของมนุษย์ขึ้น คือ การขุดดินเป็นเหตุ การได้เงินเดือน สามพันบาทเป็นผล การวางเป็นกฎในหมู่มนุษย์ขึ้นนี้ เรียกว่า วินัย ซึ่งเป็นความจริงขึ้นมาได้เพราะมนุษย์ยอมรับ จึงเป็นสมมติ ไม่ใช่ความจริงแท้

ความจริงแท้คืออะไร

การขุดดินเป็นเหตุ อะไรเป็นผลกันแน่ ผลที่แท้จริงคือหลุม หรือโพรง หรืออะไรก็ได้ที่เป็นเรื่องของดินที่ถูกขุด ซึ่งจัดว่าเป็นผลตามธรรมชาติแน่นอน ไม่มีผิดเพี้ยน หลุมจะเกิดได้ต้องมีการขุด และการขุด ก็เป็นเหตุให้เกิดหลุม เป็นเหตุเป็นผลที่แท้จริง

ส่วนการขุดดินแล้วได้เงิน ๓,๐๐๐ บาท เป็นกฎของมนุษย์ ซึ่งก็เป็นเหตุเป็นผล แต่กฎธรรมชาตินั้นแน่นอน ถ้าต้องการผลต้องทำเหตุ ส่วนกฎของมนุษย์นั้นไม่แน่นอน ไม่จริง แต่ดูเหมือนเป็นจริง มองดูก็เป็นเหตุเป็นผล จะได้เงิน ๓,๐๐๐ บาท ก็ต้องขุดดิน แต่ที่จริงไม่ได้มีความจริงนี้อยู่ในธรรมชาติเลย ความจริงอันนี้อยู่ที่คนสมมติ เรียกว่าเป็นความจริงโดยสมมติคือเกิดจากการยอมรับร่วมกันในเงื่อนไข ถ้าไม่มีการยอมรับร่วมกันเมื่อไร กฎของมนุษย์จะหายไปทันที

ถ้าฝ่ายขุดได้ขุดแล้ว แต่ฝ่ายให้เงินไม่ยอมจ่ายเงิน หรือฝ่ายขุดไม่ได้ขุด แต่ฝ่ายให้เงินเกิดใจดีให้เงินโดยไม่ต้องขุด ความเป็นเหตุเป็นผลก็หมดไป เมื่อขาดสมมติ กฎมนุษย์ก็หายไป

สรุปได้ว่า ๒ กฎนี้แยกได้ในเรื่องเดียวกัน ในการขุดดินนั้นกฎธรรมชาติที่เป็นความจริงแท้ คือ ธรรม ได้แก่การขุดดินแล้วทำให้เกิดหลุม และกฎของมนุษย์ที่เป็นความจริง โดยสมมติหรือโดยยอมรับร่วมกัน คือ วินัย ได้แก่การขุดดินทำให้ได้เงินเดือน ๓,๐๐๐ บาท

สองอย่างนี้สัมพันธ์กันอย่างไร

กฎของมนุษย์ตั้งขึ้นได้และจะมีความหมาย ต้องอิงอาศัยความจริงของกฎธรรมชาติ เราจะต้องมีความมุ่งหมายอย่างหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่บนฐานของธรรมคือตัวความจริงของธรรมชาติ เราต้องการให้มีการขุดดิน เพื่อว่าเราจะได้หลุม แสดงว่าความประสงค์ที่แท้นั้นมีอยู่ในธรรมชาติ เป็นตัวธรรม แต่ที่เราตั้งเป็นเงื่อนไข เป็นกฎ เป็นข้อสมมติในหมู่มนุษย์ขึ้นมา ก็เพื่อประโยชน์ในสังคมของเรา กล่าวคือ ในสังคมนั้น การที่มนุษย์จะอยู่ได้ จะต้องมีปัจจัยเลี้ยงชีพ แม้ว่าที่จริงเราจะต้องการหลุม แต่หลุมจะเกิดขึ้นได้ ถ้าเราไม่ยอมรอให้มีเหตุที่เป็นไปในธรรมชาติเอง ก็ต้องเอาคนมาขุด ทีนี้คนที่มาขุดหลุมก็ต้องการเงินเลี้ยงชีพ จึงต้องตั้งกฎของมนุษย์อย่างที่กล่าวแล้วขึ้นมา และเราก็ยอมรับกัน โดยยอมปฏิบัติตาม ก็เกิดเป็นวินัยขึ้นมา

โดยนัยนี้ วินัยจึงตั้งอยู่บนฐานของธรรม และมันจะมีผลจริงต่อเมื่อคนมีธรรม ถ้าคนไม่มีธรรม เช่น คนที่ขุดดินไม่อยากขุดดิน แต่อยากได้เงิน การขุดดินเป็นเพียงเงื่อนไขที่ทำให้เขาได้เงิน เขาก็จะฝืนใจขุด ถ้าเขาเลี่ยงได้ เขาจะเลี่ยง โดยไม่ขุดดิน แต่จะเอาเงิน ปัญหาจะเกิดตามมามากมาย เช่น เขาขุดดินโดยไม่เต็มใจและไม่ตั้งใจ ขาดความสุข ขาดความพึงพอใจในการปฏิบัติตามวินัย ไม่สนใจ ไม่จริงจัง ไม่ได้ผล ตลอดจนอาจทำการทุจริต เพื่อให้ได้เงินโดยไม่ต้องขุดดิน ฉะนั้น งานก็ไม่ได้ผล คนก็ไม่มีความสุข

ถ้าสามารถโยงวินัยกับธรรมให้สอดคล้องเป็นอันเดียวกันได้ หมายความว่าเรารู้ทันสมมติ คือกฎเกณฑ์ที่มนุษย์สร้างขึ้นมา โดยให้ขุดดินแล้วได้เงิน ๓,๐๐๐ บาท แต่พร้อมกันนั้นเราก็มีความต้องการในผลที่แท้จริงของตัวเหตุ คือต้องการหลุมด้วย โดยมองเห็นคุณค่าว่าหลุมนั้นมีประโยชน์อย่างไร ถ้ามีความต้องการในตัวผลที่แท้จริงตามธรรมอย่างนี้ คนก็จะทำการขุดดินด้วยความตั้งใจ เพราะฉะนั้นจึงสรุปได้ว่า ถ้าเมื่อใดการปฏิบัติเข้าถึงตัวธรรม วินัยก็จะได้ผลไปเองโดยธรรมชาติ การทำงานจะดำเนินไปอย่างจริงจังโดยไม่ต้องมีการบังคับควบคุมกัน เพราะว่าคนที่ขุดดินนั้นเขาทำด้วยความต้องการที่จะให้เกิดหลุม เขาก็จะขุดดินเอง ส่วนการที่จะได้เงินตอบแทนก็เป็นเรื่องต่างหาก เขาจะทำงานคือการขุดดินนั้น ด้วยความเต็มใจและตั้งใจ พร้อมทั้งมีความพอใจและความสุขด้วย ฉะนั้น งานก็ได้ผล คนก็เป็นสุข แต่ถ้าเขาไม่ต้องการหลุมคือผลที่เกิดจากเหตุตามธรรมชาตินั้น ก็จะเกิดปัญหา มนุษย์ก็จะต้องสร้างระบบการควบคุม ที่เป็นระบบสมมติขึ้นมาบังคับควบคุมกันเป็นชั้นๆ ซึ่งทั้งวุ่นวายและไม่ได้ผลดีจริง นี่คือความสัมพันธ์ระหว่างธรรมกับวินัย

ความสัมฤทธิ์ผลของวินัย

เป็นอันว่า พระพุทธเจ้าทรงค้นพบธรรม และเพื่อให้ธรรมคือความจริงตามกฎธรรมชาตินั้น อำนวยผลเป็นประโยชน์แก่หมู่มนุษย์ จึงทรงวางวินัยขึ้นมาเป็นกฎเกณฑ์ในหมู่มนุษย์ วินัยนั้นมีความหมายเป็นการจัดระเบียบชีวิตและการจัดระบบสังคมทั้งหมด เช่น การจัดระบบเศรษฐกิจ ในเรื่องความเป็นอยู่เกี่ยวกับปัจจัย ๔ เป็นต้น จัดระบบสังคมว่าเราจะอยู่กันอย่างไร จัดระบบการบริหารการปกครอง การพิจารณาตัดสินคดี ฯลฯ นี้คือความหมายเดิมแท้ของวินัย ซึ่งมีขอบเขตกว้างขวางมาก

แต่ถ้ามองวินัยในความหมายของความเป็นระเบียบ เช่นว่าจะต้องเคร่งครัดในการเดินทาง ในการจราจร หรือวินัยในการอยู่ร่วมกันในหมู่คณะ ในสถาบัน ในโรงเรียน และในชั้นเรียน เป็นต้น อย่างที่เข้าใจกันส่วนมากในปัจจุบัน ก็เป็นเพียงส่วนเล็กน้อยของวินัย ซึ่งขอเรียกว่าเป็นวินัยในความหมายที่แคบ

วินัยที่แท้ ในความหมายที่กว้าง คือระบบระเบียบทั้งหมดของชีวิตและสังคมมนุษย์นั้น จะตั้งอยู่ได้ดีเป็นผลสำเร็จได้ ต้องอาศัยความเข้าใจพื้นฐานที่กล่าวแล้ว คือต้องมองวินัยโยงลงไปถึงธรรม หรือโยงวินัยกับธรรมเข้าด้วยกันได้เป็นเบื้องแรกก่อน

การที่เราสามารถจัดวินัย (ระเบียบชีวิตและระบบสังคม) ได้สำเร็จ เป็นความสามารถพิเศษของมนุษย์ เพราะว่าสัตว์ทั้งหลายอื่นไม่มีความสามารถนี้ แต่การที่จะตั้งวินัยได้สำเร็จก็ต้องเข้าถึงธรรมก่อน คือเข้าถึงความจริงของกฎธรรมชาติ แล้วจึงสามารถมาตั้งกฎเกณฑ์ของมนุษย์ที่เรียกว่าวินัยได้สำเร็จและได้ผล

พระพุทธเจ้าทรงเข้าถึงความจริงของธรรมชาติคือธรรมแล้ว ทรงสามารถนำความรู้ในธรรมนั้นมาจัดตั้งวางระบบในหมู่มนุษย์ให้สำเร็จผลตามธรรมนั้น คือจัดตั้งวินัยได้ด้วย จึงได้รับพระนามว่าเป็น สัมมาสัมพุทธ ส่วนท่านที่เข้าถึงความจริง แต่ไม่สามารถจัดระบบระเบียบสังคมมนุษย์ให้คนจำนวนมากได้รับประโยชน์จากธรรมนั้นได้ ก็เป็นเพียงพระปัจเจกพุทธ เพราะฉะนั้นการจัดตั้งวินัยจึงเป็นความสามารถพิเศษอีกชั้นหนึ่ง

ตามปกติ ธรรม ท่านใช้คำว่า แสดง เพราะเป็นความจริงที่มีอยู่ตามธรรมดา หน้าที่ของเราก็เป็นเพียงการแสดงไปตามที่มันเป็นจริง ถ้าบัญญัติก็หมายความว่าเอามาจัดระบบหรือวางเป็นหลักในการที่จะปฏิบัติอีกทีหนึ่ง ส่วน วินัย เป็นเรื่องของการบัญญัติ คือเป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริงในธรรมชาติ แต่เป็นความสามารถที่เอาความจริงตามธรรมชาตินั้นมาจัดวางให้เป็นระเบียบระบบแบบแผน เพื่อให้สังคมมนุษย์ดำรงอยู่ด้วยดีตามธรรมนั้น

การที่มนุษย์จัดวางวินัยได้ จึงเป็นความสามารถพิเศษอย่างหนึ่ง

ในหมู่มนุษย์ที่พัฒนาแล้ว การปฏิบัติตามวินัยก็คือการเอาประโยชน์จากธรรมมาใช้ได้นั่นเอง เมื่อเราปฏิบัติตามวินัยได้อย่างดี บนพื้นฐานแห่งธรรมแล้ว ก็จะทำให้สังคมมนุษย์เป็นไปด้วยดี หลักการนี้จึงแสดงถึงความหมายหลายอย่าง ในความสัมพันธ์ระหว่างธรรมกับวินัย เช่น

๑. วินัยที่ถูกต้อง จะต้องตั้งอยู่บนฐานของความจริงในธรรมชาติ ถ้ามิฉะนั้นวินัย (ระบบการจัดตั้งในสังคมมนุษย์) ก็จะไม่จริงจัง ไม่ได้ผล ไม่มั่นคง

๒. วินัยต้องมีความมุ่งหมายเพื่อธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ความชอบธรรม ความเป็นธรรม ความดีงามของสังคม

ถ้าคนที่บัญญัติจัดวางสิ่งที่เรียกว่าวินัย เช่น กฎหมาย เป็นต้น ในสังคมมนุษย์ มีเจตนาไม่ดี มีน้ำใจไม่เป็นธรรม เช่น เห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตัว เป็นต้น ก็อาจจะจัดวางกฎหมายที่ไม่ชอบธรรม ไม่สอดคล้องกับธรรม คือ ไม่เป็นไปตามและไม่เป็นไปเพื่อความดีงามที่เป็นหลักความจริง หรือมีความรู้เข้าใจไม่เพียงพอ ขาดปัญญา รู้ไม่เท่าถึงหลักความจริงคือตัวธรรมในธรรมชาติ การวางกฎหมายหรือบัญญัติวินัยนั้นก็จะบกพร่อง แล้วผลที่ต้องการก็จะไม่เกิด เช่น ในสภาผู้แทนราษฎร เราต้องการออกกฎหมาย เราก็ต้องเข้าถึงความจริงก่อน ต้องรู้หลักการ เข้าใจชัดว่าความถูกต้องความดีงามเป็นอย่างไร อะไรเป็นความมุ่งหมายของการออกกฎหมายนั้น ปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในเรื่องนั้นเป็นอย่างไร แล้วก็มีเจตนาดี มีใจเป็นธรรม ถ้ามีเจตนาจะเอาผลประโยชน์ส่วนตนขึ้นมา กฎหมายก็ยุ่งไม่เป็นธรรม คือไม่สอดคล้องกับธรรม เสียความสัมพันธ์ระหว่างวินัยกับธรรม วินัยคือการตรากฎหมายก็ไม่สัมฤทธิ์ผล

เพราะฉะนั้น การบัญญัติวินัย คือการจัดตั้งรูปแบบ วางระบบระเบียบต่างๆ ของสังคม เช่น ออกกฎหมาย จึงมีองค์ประกอบที่สำคัญ ๒ อย่าง คือ

๑. มีปัญญา คือ เข้าถึงตัวธรรม รู้ความจริงในเรื่องนั้นๆ รู้ความถูกต้องดีงามที่พึงต้องการ

๒. เจตนาดี คือ เจตนาบริสุทธิ์ถูกต้องดีงาม มุ่งผลที่สอดคล้องตามธรรมที่รู้นั้น

วินัยกับศีล

อนึ่ง ควรจะเข้าใจคำศัพท์ที่มีความหมายใกล้เคียงกัน ในเรื่องวินัย

วินัย มีคำที่ใช้คู่กันคำหนึ่งคือ ศีล ซึ่งในภาษาไทยปัจจุบันเรานำไปใช้ในความหมายแคบๆ และบางทีก็แตกต่างห่างกันไกลกับคำว่าวินัย แต่ที่จริงศีลและวินัยเป็นคำที่คู่เคียงกันอย่างยิ่ง

ดังได้กล่าวแล้วว่า วินัยเป็นบัญญัติของมนุษย์ เป็นการจัดตั้งตามสมมติได้แก่การจัดระเบียบความเป็นอยู่และการจัดระบบสังคม ซึ่งแยกเป็นความหมาย ๓ อย่าง คือ

๑. การจัดระเบียบระบบ ก็เรียกว่าวินัย

๒. ตัวระเบียบระบบ หรือตัวกฎนั้น ก็เรียกว่าวินัย

๓. การฝึกคนให้ตั้งอยู่ในระบบระเบียบ ก็เรียกว่าวินัย

เมื่อคนปฏิบัติตามวินัย จนเกิดเป็นคุณสมบัติของเขาขึ้นมา คุณสมบัติที่เกิดขึ้นในตัวบุคคลนั้นเรียกว่า ศีล

ฉะนั้น ผู้มีศีล คือผู้ที่ตั้งอยู่ในวินัย การตั้งอยู่ในวินัย หรือที่ชอบเรียกในปัจจุบันว่า ความมีวินัยนี้ เรียกว่า ศีล เวลานี้เราใช้คำว่าศีลในความหมายแคบมาก ก็เลยต้องใช้คำว่าความมีวินัย ที่จริงความมีวินัยนั่นแหละ คือความหมายของคำว่าศีล

วินัยเป็นเรื่องข้างนอก เมื่อใดมันเกิดเป็นคุณสมบัติของคน คือ การตั้งอยู่ในวินัยกลายเป็นความประพฤติตามปกติของเขา ก็เรียกว่า ศีล แล้วต่อมาก็ใช้ปนกันไป ที่จริงศีลเป็นส่วนหนึ่งของระบบการศึกษา หรือการฝึกฝนพัฒนามนุษย์ ได้แก่การฝึกในระดับวินัย วินัยเป็นเครื่องฝึก ส่วนการปฏิบัติตนในการฝึกตามวินัยนั้นเป็นศีล ศีลเป็นเรื่องของตัวคน เป็นการพัฒนาตัวของคน เป็นคุณสมบัติของคน

วินัยเป็นคำกว้าง ใช้เป็นคำเอกพจน์อย่างเดียว หมายถึง ประมวลกฎเกณฑ์ หรือประมวลบทบัญญัติ คือระเบียบทั้งหมด แต่เมื่อแยกเป็นข้อๆ แต่ละข้อ เรียกว่า สิกขาบท แปลว่า ข้อศึกษา หรือข้อฝึกหัด วินัยเป็นเรื่องของการฝึกมนุษย์ เพราะฉะนั้น บทบัญญัติแต่ละข้อที่จัดวางขึ้นมาจึงถือเป็นข้อฝึกคนทั้งนั้น และจึงเรียกว่าสิกขาบท

ศีล ๕ เป็นศัพท์ชาวบ้าน ศัพท์ทางพระแท้ๆ เรียกว่า สิกขาบท ๕ เพราะเป็นข้อฝึกหัด ๕ ข้อ

ในระบบการฝึกคน ที่เรียกว่าการศึกษา ท่านจัดเป็น ๓ ด้าน คือ ศีล สมาธิ ปัญญา การฝึกในระดับต้นๆ เมื่อเรียกรวมๆ ก็เรียกว่าศีล การฝึกศีลคือฝึกให้มีศีลนั้นก็ทำด้วยวินัยนั่นเอง ฉะนั้นวินัยจึงเป็นเครื่องฝึกคนให้มีศีล ที่พูดกันว่าฝึกให้มีวินัยนั้นที่ถูกแท้ต้องพูดว่าฝึกให้มีศีลหรือฝึกด้วยวินัยให้มีศีล

ตอนนี้เอาเท่านี้ก่อน ถ้าอธิบายหลายศัพท์จะยิ่งยุ่ง

สรุปว่า การฝึกคนให้มีวินัย คือการฝึกคนให้มีศีลนั่นเอง การฝึกในขั้นนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับพฤติกรรม ซึ่งในระบบการศึกษาจะต้องโยงกันหมดกับการศึกษาส่วนอื่นทุกด้าน คือ ต้องโยงไปถึงสมาธิ ปัญญาด้วย จึงจะได้ผลจริง

วินัยเป็นการจัดสรรโอกาส

วินัยนี้มักจะเข้าใจกันในความหมายเชิงลบ คือไปเข้าใจเป็นเครื่องบังคับควบคุม ซึ่งยังไม่ถูกต้อง เรียกว่าเป็นความหมายสำหรับคนที่ยังไม่ได้พัฒนา

ความหมายที่ต้องการของวินัยเป็นความหมายเชิงบวก กล่าวคือวินัยเป็นการจัดสรรโอกาส ทำให้ชีวิตและสังคมมีระบบระเบียบ และมีโอกาสเกิดขึ้น ทำให้ทำอะไรๆ ได้คล่อง ดำเนินชีวิตได้สะดวก ดำเนินกิจการได้สะดวก ถ้าชีวิตและสังคมไม่มีระเบียบ ไม่เป็นระบบ ก็จะสูญเสียโอกาส ในการที่จะดำเนินชีวิตและทำกิจการของสังคมให้เป็นไปด้วยดี ตลอดจนทำให้การพัฒนาได้ผลดี

ทำไมจึงต้องจัดระเบียบ ทำไมจึงต้องมีวินัย

ถ้าชีวิตวุ่นวาย การเป็นอยู่ของมนุษย์สับสนหาระเบียบไม่ได้ โอกาสในการดำเนินชีวิตก็จะหายไป เช่นในที่ประชุมนี้ ถ้าเราไม่มีระเบียบเลย โต๊ะเก้าอี้ก็วางเกะกะทั่วไป คนก็เดินกันไปเดินกันมา อาตมภาพพูดนี่ ก็ฟังกันไม่รู้เรื่อง สับสน แม้แต่เมื่ออยู่ในบ้านของเรา ถ้าสิ่งของตั้งวางไม่เป็นระเบียบกระจัดกระจายอยู่ตรงโน้นตรงนี้ แม้แต่จะเดินก็ยาก เดินไปก็เตะโน่น ชนนี่ กว่าจะถึงประตูก็เสียเวลาตั้งหลายนาที แต่พอเราจัดของให้เป็นระเบียบ ตกลงกันว่าตรงนี้เป็นทางเดินก็เว้นไว้เป็นช่องว่าง เราเดินพรวดเดียวก็ถึงประตู ทำให้สะดวกรวดเร็ว

กิจการต่างๆ ต้องมีระเบียบหรือต้องอาศัยวินัยมาจัดสรรโอกาสทั้งนั้น ที่เห็นได้ง่ายๆ เช่น เมื่อแพทย์จะผ่าตัด ศัลยแพทย์จะต้องการวินัยมาก จะต้องจัดระเบียบเครื่องมือที่ใช้ตามลำดับการทำงานอย่างเคร่งครัดทีเดียว ต้องตกลงกันไว้ก่อนว่า ขั้นตอนใดจะใช้เครื่องมือไหน และส่งเครื่องมือให้ถูกต้อง คนนี้ยืนตรงนี้ จังหวะนี้ ถึงเวลาไหนส่งเครื่องมืออันไหน เพราะอยู่ในช่วงของความเป็นความตาย พยาบาลที่จัดเตรียมเครื่องมือ ต้องพร้อมและต้องจัดให้ถูกลำดับทุกอย่าง ผิดนิดไม่ได้ เพราะงานนั้นต้องเป็นไปตามเวลาที่จำกัด ฉะนั้นในกิจการที่ยิ่งมีความสำคัญ มีความซับซ้อน มีความเป็นความตายเข้ามาเกี่ยวข้อง วินัยจะยิ่งต้องมีความเคร่งครัดแม่นยำมากยิ่งขึ้น

ในสังคมวงกว้างออกไป ถ้าชีวิตคนไม่ปลอดภัย สังคมไม่มีความเป็นระเบียบ มีโจร มีขโมย มีการทำร้ายกัน เราจะไปไหนเวลาไหน ก็ไม่สะดวก เพราะกลัวว่าถ้าไปเวลานี้ หรือผ่านสถานที่จุดนั้นแล้ว อาจจะถูกทำร้ายได้ เมื่อคนไม่กล้าเดินทาง มีความหวาดระแวง กิจการงานของสังคมและการดำเนินชีวิตของบุคคล ก็หมดความคล่องตัว ทำให้ขัดข้องไปหมด

โดยนัยนี้ วินัยจึงช่วยจัดทำให้เกิดระบบระเบียบในชีวิตและสังคมขึ้น ทำให้เกิดความคล่องตัว จะทำอะไรต่ออะไรก็ได้ผล ฉะนั้น การจัดวางวินัยจะต้องคำนึงถึงความมุ่งหมายนี้อยู่เสมอ เช่นต้องตรวจสอบว่า การจัดวางวินัยของเรามีความมุ่งหมายชัดเจนหรือไม่ที่จะช่วยให้ชีวิตและกิจการงานเป็นไปได้ด้วยดี เกิดมีโอกาส และทำให้มั่นใจว่า เมื่อเราจัดระบบระเบียบเรียบร้อยดีแล้ว โอกาสในการพัฒนาชีวิตจะเกิดขึ้น ความเป็นอยู่และกิจการต่างๆ จะเป็นไปด้วยความคล่องตัว นำไปสู่จุดหมายดีงามที่ต้องการ

ในการพัฒนามนุษย์ระยะยาว ถ้าไม่มีวินัยเป็นฐาน ก็จะทำให้เกิดความขัดข้องวุ่นวายสับสน ฉะนั้นเราจึงจัดวางวินัยเพื่อความมุ่งหมายระยะยาวในการพัฒนามนุษย์ด้วย และด้วยเหตุนี้วินัยจึงเป็นเรื่องสำคัญในสังคมประชาธิปไตย เพราะประชาธิปไตยต้องการโอกาสเหล่านี้ ในการที่จะให้มนุษย์มาสื่อมาแสดงออก เพื่อนำเอาศักยภาพของตัวเองออกมาร่วมในการสร้างสรรค์สังคมอย่างได้ผล

สรุปว่า วินัยมีความหมายเชิงบวก คือ เป็นการจัดสรรโอกาสให้ชีวิตและสังคมดำเนินไปโดยสะดวก คล่องตัว ได้ผล มีประสิทธิภาพ และเป็นโอกาสแก่การพัฒนามนุษย์ด้วย

ความสำคัญของวินัย อยู่ที่การฝึกคนให้มีศีล ศีลนั้นมีความสำคัญมาก เมื่อคนตั้งอยู่ในวินัยอย่างที่เรียกกันว่าเป็นคนมีวินัยแล้ว พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งในสิ่งที่เรียกว่า แสงเงินแสงทองของชีวิตที่ดีงาม ซึ่งมี ๗ ประการด้วยกัน ความมีวินัยหรือศีลนี้เป็นรุ่งอรุณของการศึกษา หรือแสงเงินแสงทองนั้นอย่างหนึ่ง

พระพุทธเจ้าตรัสว่า เมื่อพระอาทิตย์จะอุทัย ย่อมมีแสงเงินแสงทองขึ้นมาก่อน ฉันใด ชีวิตที่ดีงามจะเกิดขึ้น โดยมีความถึงพร้อมด้วยศีลหรือความมีวินัยนี้เป็นสิ่งบ่งบอกเบื้องแรกด้วย ฉันนั้น ถ้าคนตั้งอยู่ในวินัยมีศีลแล้ว ก็มั่นใจได้ว่าชีวิตที่ดีงามจะเกิดขึ้น เท่ากับว่าพระพุทธเจ้าตรัสให้คำรับรองไว้ว่าศีลหรือความมีวินัยเป็นรุ่งอรุณของการศึกษา เป็นสัญญาณว่ามนุษย์จะมีการพัฒนาและมีชีวิตที่ดีงามต่อไป

วิธีเสริมสร้างวินัย

• สร้างวินัยด้วยการทำให้เป็นพฤติกรรมเคยชิน

วิธีฝึกวินัยที่ดีที่สุดอาศัยธรรมชาติของมนุษย์ คือใช้ธรรมชาติของมนุษย์มาเป็นเครื่องช่วย คือทำให้เป็นไปตามธรรมชาติ หรือสอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์นั้นเอง หมายความว่ามนุษย์ที่ดำเนินชีวิตโดยทั่วไปนี้อยู่กันด้วยความเคยชิน ที่เราเป็นอยู่กันทุกวันนี้ เมื่อพบเห็นอะไรแล้ว จะปฏิบัติการอะไรอย่างไร เราทำไปตามความเคยชินกันเป็นส่วนใหญ่

ความเคยชินเกิดจากอะไร ก็เกิดตามธรรมดาของธรรมชาติหรือตามธรรม คือความเป็นไปตามเหตุปัจจัยในการดำเนินชีวิตของมนุษย์นั่นเอง มนุษย์ทำพฤติกรรมอะไร อย่างไร พอทำไปแล้วครั้งสองครั้งก็เริ่มมีแนวโน้มที่จะชินอย่างนั้น และก็จะทำอย่างนั้นซ้ำไปซ้ำมาๆ จนชิน พอชินแล้วก็ยึดมั่นแล้วก็เกิดความพึงพอใจในพฤติกรรมที่เคยชินนั้น พอชินแล้วก็เปลี่ยนแปลงแก้ไขยาก ยิ่งยึดมั่นแล้วก็ยิ่งถอนยาก และปุถุชนก็จะมีเหตุผลมาปกป้องตนเองเสียด้วย ทำให้ไม่ยอมเปลี่ยน ฉันจะต้องยึดแบบนี้ ใครจะมาบอกให้ทำอย่างอื่นไม่เอา ฉะนั้นเราจึงต้องถือโอกาสใช้ความเคยชินของมนุษย์ให้เป็นประโยชน์แก่ตัวเขา

เราต้องยอมรับว่ามนุษย์ทั้งหลายส่วนใหญ่อยู่ด้วยความเคยชิน จริงอยู่มนุษย์นั้นเป็นสัตว์ที่ต้องฝึกและฝึกได้ แต่เราก็ต้องยอมรับด้วยว่าการที่จะฝึกคนนี้ต้องใช้ความสามารถและต้องมีระบบในการฝึกซึ่งต้องสอดคล้องกับธรรมชาติ บางทีก็เหน็ดเหนื่อยพอสมควร ถ้าเขาลงเคยชินอย่างไรแล้วก็แก้ยาก เรายอมรับความจริงนี้เสียก่อน เมื่อเรายอมรับความเคยชินเป็นสำคัญแล้ว เราก็ใช้ความเคยชินเป็นการฝึกขั้นแรก คือฝึกให้เป็นพฤติกรรมเคยชิน โดยถือว่าต้องสร้างวินัยให้เป็นพฤติกรรมเคยชิน

วิธีที่ ๑ นี้ก็คือ เมื่อเขาเริ่มต้นชีวิต เข้าสู่สังคม เข้าสู่ชีวิตใหม่ เข้าสู่หมู่ใหม่ เราก็ถือโอกาสตอนนั้น โดยรู้ทันความจริงว่าคนเราเมื่อมีชีวิตอยู่เขาต้องมีการเคลื่อนไหว เขาจะมีการเคลื่อนไหว คือมีพฤติกรรมนั้น ในเวลาที่เจอประสบการณ์ หรือมีสถานการณ์เกิดขึ้น ซึ่งเขาจะต้องมีปฏิกิริยาตอบสนองอย่างใดอย่างหนึ่ง คือเขาจะต้องทำอย่างใดอย่างหนึ่ง เคลื่อนไหวอย่างใดอย่างหนึ่ง มีพฤติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง และเมื่อเขาทำอย่างใดอย่างหนึ่งลงไปแล้ว เมื่อเขาเจอสถานการณ์อย่างนั้นอีก เขาจะมีแนวโน้มที่จะทำพฤติกรรมอย่างนั้นซ้ำอีก พอทำอย่างนั้นหลายครั้งเข้า แล้วเขาก็จะชิน และพฤติกรรมอย่างนั้นก็กลายเป็นพฤติกรรมเคยชินของเขา

ก่อนที่จะเกิดเป็นพฤติกรรมเคยชินนั้น ถ้าพฤติกรรมที่เขาทำครั้งแรกเป็นพฤติกรรมที่ไม่ดี ก็เท่ากับว่าเราเสียเปรียบหรือเริ่มเสียโอกาสแล้ว แล้วก็มีหวังว่าพฤติกรรมนั้นจะกลายเป็นพฤติกรรมเคยชินของเขาต่อไป ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ ทีนี้พอเคยชินแล้ว คราวนี้เราก็ลำบาก แก้ไขยาก เขาก็จะมีพฤติกรรมเคยชินอย่างนั้นติดตัวไป ฉะนั้น เพื่อชิงให้เกิดพฤติกรรมที่ดีไว้ก่อน และกันพฤติกรรมที่ไม่ดีไม่ให้เกิดขึ้น เรารีบเอาพฤติกรรมที่ดีที่เราเรียกว่าวินัย คือพฤติกรรมเคยชินที่ดีเข้าไปให้เสียก่อน พอพฤติกรรมที่ดีเข้าไปเป็นตัวเลือกที่ ๑ และเขาจับเอาพฤติกรรมนั้นได้แล้ว ก็มีแนวโน้มว่าพอเจอสถานการณ์อย่างนั้นครั้งที่ ๒ เขาก็จะทำอย่างนั้น พอ ๓ - ๔ ครั้ง คราวนี้ลงตัวแล้วกลายเป็นพฤติกรรมเคยชินที่ดี คราวนี้ก็สบายแล้ว ฉะนั้นจึงควรใช้วิธีพื้นฐานในการสร้างวินัยซึ่งไม่ต้องลงทุนลงแรงอะไรมากนี้ ถ้าเราไม่ทำเราก็ต้องเสียโอกาส ถึงอย่างไรมันก็ต้องเคยชินไปทางใดทางหนึ่งอยู่แล้ว เราก็ชิงให้ชินไปในทางที่ดีเสียเลย ฉะนั้นจึงเอาพฤติกรรมเคยชินมาเป็นพื้นฐาน เป็นวิธีการเบื้องต้นในการสร้างวินัย โดยการทำให้เกิดพฤติกรรมเคยชินที่ดี

หลักการนี้ใช้ได้ดีกับเด็กๆ เพราะเขาเพิ่งเข้ามาสู่โลก ยังไม่มีพฤติกรรมเคยชินอะไรทั้งนั้น เราก็เริ่มให้อันที่ดีเข้าไปเสียก่อนเลย ฉะนั้นตัวแบบจึงมาจากพ่อแม่ ถ้าพ่อแม่มีวินัยดีก็มีหวังว่าลูกจะมีวินัยดีด้วย เมื่อมีคนมาเข้าสู่ชุมชนใหม่ มาโรงเรียนใหม่ ถ้าคนที่อยู่ก่อนประพฤติกันอย่างไร คนที่มาใหม่ก็พลอยตามไป ในเวลาที่มีสถานการณ์อย่างนี้ๆ คนทำงานเก่า หรือหัวหน้าเคยทำกันอย่างไร คนที่มาเข้างานใหม่ก็จะทำตามอย่างนั้น แล้วเขาก็จะเคยชินต่อไปเขาก็จะทำอย่างนั้น มีพฤติกรรมอย่างนั้น โดยไม่ต้องคิดไม่ต้องรู้ตัว เพราะฉะนั้นถ้าหัวหน้างานเป็นคนมีปัญญา มีสติสัมปชัญญะดี ก็รีบนำทางพฤติกรรมที่พึงประสงค์ในตอนแรกให้ดี พอได้ทำอย่างใดแล้วคนใหม่นั้นก็จะติด เกิดเป็นพฤติกรรมที่เคยชิน เป็นวินัย ก็สบายไปเลย แต่ถ้าตอนแรกไม่ใช้โอกาส มัวปล่อยให้เขามีพฤติกรรมเคยชินอย่างอื่นไปแล้ว คราวนี้ก็จะแก้ไขได้ยาก ต้องยุ่งยากลำบากใจเรื่อยไป

• ใช้วินัยที่ลงตัวแล้วคือวัฒนธรรมมาช่วย

วัฒนธรรมก็มาช่วยในเรื่องนี้ เพราะวัฒนธรรมเป็นปัจจัยอย่างหนึ่งที่สร้างวินัยแบบพฤติกรรมเคยชิน เช่นพ่อแม่พาเด็กไปในสถานที่ที่ต้องให้บริการแก่คนจำนวนมาก พ่อแม่ไปเข้าแถวรอคิว เด็กก็ไปเข้าแถวด้วย พอเจอครั้งแรกแกก็เข้าแถว ต่อไปครั้งที่ ๒ เด็กก็เข้าแถว ต่อไปครั้งที่ ๓ ก็เข้าแถว จากนั้นเด็กก็เข้าแถวรอคิวเอง โดยไม่ต้องตั้งใจฝึก ไม่ต้องไปสอนให้ปากเปียกปากแฉะ วัฒนธรรมเข้าแถวก็มีมาเองจากการถ่ายทอดตามความเคยชิน นี่คือวินัยที่กลายเป็นวิถีชีวิต

ถ้าในหมู่คณะของเราปฏิบัติอะไรให้วินัยลงตัวเป็นวัฒนธรรมไปแล้ว คนที่เข้ามาสู่วัฒนธรรมนั้น สู่ชุมชนนั้นใหม่ ก็จะเป็นไปอย่างนั้นเอง เพราะฉะนั้นสำหรับพฤติกรรมเคยชินโดยวิธีของวัฒนธรรมนี้ ในสังคมที่เขาสร้างสรรค์ถ่ายทอดเรื่องระเบียบวินัยมาก่อน เขาก็ได้เปรียบ เพราะว่าคนรุ่นหลังเข้าสู่วินัยโดยติดพฤติกรรมเคยชินไปเอง แต่ถ้าเรายังไม่มีวัฒนธรรมอย่างนั้น เราก็ต้องอาศัยมีผู้นำที่รู้หลักการอันนี้แล้วนำไปใช้ อย่างไรก็ตาม อันนี้เป็นวิธีพื้นฐานเท่านั้น ต้องพูดถึงวิธีอื่นต่อไป

• สร้างวินัยให้ได้ผลด้วยระบบสัมพันธ์ขององค์รวม

การฝึกวินัย (คือฝึกให้เป็นศีล) นั้น จะได้ผลดีต้องอาศัยระบบความสัมพันธ์ขององค์ประกอบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาบูรณาการกันด้วย คือเป็นระบบองค์รวมที่องค์ร่วมจะต้องประสานกัน หมายความว่าในการฝึกฝนพัฒนามนุษย์หรือการศึกษานี้จะต้องให้องค์ประกอบ ๓ ส่วน คือด้านพฤติกรรม ด้านจิตใจ และด้านปัญญา ประสานไปด้วยกัน ทำให้เกิดองค์รวมที่สมบูรณ์ แล้วสิ่งที่ฝึกนั้นก็จะกลายเป็นชีวิตจริงของเขา ฉะนั้นเวลาเราฝึกทำอะไรอย่างหนึ่งจึงต้องดูทั้งสามด้าน คือ

๑. ด้านพฤติกรรม ถ้าเขามีพฤติกรรมที่ดีด้วยความเคยชินก็ดีแล้ว

๒. ด้านจิตใจ ถ้าเขามีความพึงพอใจ หรือมีความสุขในการทำพฤติกรรมนั้น พฤติกรรมนั้นจะมั่นคงยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นทางด้านจิตใจ จะต้องคอยดูว่าทำอย่างไรจะให้เขาตั้งอยู่ในวินัยด้วยความสุข มีความพึงพอใจ

๓. ด้านปัญญา ถ้าเขามีความรู้เข้าใจเหตุผล มองเห็นคุณค่า มองเห็นประโยชน์ของการกระทำหรือพฤติกรรมนั้น ความรู้ความเข้าใจนั้นก็จะมาหนุนองค์ประกอบฝ่ายจิตใจ ทำให้เขายิ่งมีความพึงพอใจและความสุขในการปฏิบัติตามพฤติกรรมนั้นยิ่งขึ้นไปอีก

ทั้งด้านปัญญาคือความรู้ความเข้าใจนั้น และด้านจิตใจคือความสุขความพอใจ ต่างก็มาหนุนให้พฤติกรรมดีงามนั้นยิ่งหนักแน่นมั่นคงลงตัว

ฉะนั้น องค์ประกอบสามส่วนนี้จึงเสริมซึ่งกันและกัน พฤติกรรม สภาพจิตใจ และปัญญา สามอย่างนี้จะต้องพัฒนาด้วยกัน ถ้าทำไปทื่อๆ อาจจะกลายเป็นการบังคับ ถ้าการบังคับเกิดขึ้น จิตใจของคนไม่มีความสุข พอจิตใจของคนไม่มีความสุข เขาจะทำด้วยความจำใจ และพร้อมที่จะละเมิด แล้วต่อไปก็อาจจะเกิดปัญหา ทีนี้ถ้าไม่ทำด้วยปัญญา ต่อไปเขาเรียนรู้ไปทางอื่น เขาไม่เห็นเหตุผลในเรื่องนี้ เขาก็สงสัย ทำให้เขาเกิดความลังเลที่จะทำ ฉะนั้น ต้องให้ได้ทั้ง ๓ ส่วน นี่คือต้องมีทั้ง ศีล สมาธิ ปัญญา จะต้องฝึกวินัยให้ได้องค์ประกอบสัมพันธ์กันพร้อมทั้ง ๓ ด้านนี้

• สร้างวินัยโดยใช้ปัจจัยอื่นช่วยเสริม

วินัยจะทำให้เกิดความสุข และประพฤติปฏิบัติด้วยความพึงพอใจ โดยใช้ปัจจัยอย่างอื่นมาช่วยอีกก็ได้ เช่นมีกัลยาณมิตร ขอยกตัวอย่างว่า ถ้าครูอาจารย์น่ารัก ทำให้เด็กมีความอบอุ่นสบายใจ เด็กก็อยากจะเชื่อฟังครูอาจารย์ที่เขารักเคารพ และศรัทธานั้น พอพูดอะไรลูกศิษย์ก็อยากทำอยู่แล้ว และเขาก็มีความสุขที่จะทำตามด้วย วินัยก็เกิดได้ง่าย เพราะฉะนั้น ศรัทธา และความรัก จึงเป็นปัจจัยสำคัญ ศรัทธาและความรักนี้พ่วงอยู่กับความมีกัลยาณมิตร แต่อันนี้ที่จริงเป็นองค์ประกอบที่จะมาเสริม เอามาพูดแทรกเสียก่อน เพื่อยกตัวอย่างให้เห็น

ความเป็นกัลยาณมิตร เป็นตัวเสริมในการสร้างวินัยจากพฤติกรรมที่เคยชินได้โดยทำหน้าที่หนุนองค์ประกอบทั้ง ๓ ด้าน คือ

- เป็นต้นแบบที่ดีของพฤติกรรม (ศีล)

- มีความรัก ทำให้เกิดความอบอุ่น มีความเป็นกันเอง พร้อมทั้งศรัทธาและความสุข (จิตใจ)

- กัลยาณมิตร รู้เหตุรู้ผล สามารถบอกได้ว่าทำอย่างนั้นแล้วมีผลอย่างไร ทำให้เด็กเข้าใจเหตุผลและเห็นคุณค่าในสิ่งที่ทำ (ปัญญา)

• สร้างวินัยด้วยแรงหนุนของสภาพจิตใจ

อีกวิธีหนึ่งซึ่งเอาปัจจัยด้านจิตใจมานำ คือการตั้งเป็นอุดมคติในจิตใจ ทำให้ใจมีความฝักใฝ่มุ่งมั่นอย่างแรง เช่นชนชาติหนึ่งตั้งเป้าหมายใฝ่ฝันว่า ชาติเราจะต้องยิ่งใหญ่ มีชื่อเสียงปรากฏไปทั่วโลกว่าเป็นชาติที่มีวินัย เพื่อให้ชาติของเรายิ่งใหญ่ ขอให้คนของเราปฏิบัติอย่างนี้ๆ ด้วยความที่มีเป้าหมายอย่างแรง เป็นอุดมคติ ใฝ่ตั้งใจจริงอย่างนี้ ก็ทำให้คนปฏิบัติตามวินัยได้ แต่วินัยแบบนี้อาจจะทำให้เลยเถิด เช่นใช้กิเลสรุนแรง ทำให้คนมีความภูมิใจว่า แหม หมู่คณะของเรา นี่ยอดเลย การใช้วิธีการนี้มักทำให้เกิดความคิดเปรียบเทียบ และมักจะนำมาปลุกใจกันว่า หมู่คณะของเรารักษาวินัย มีวินัยดี เห็นไหม เทียบกับโรงเรียนอื่นโน้น โรงเรียนของเรามีชื่อเสียง ใครๆ ก็นิยม ไปไหนก็มีเกียรติ เราก็ภาคภูมิใจตัวเองว่า โรงเรียนของเราเป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียง มีเกียรติ มีวินัย ถ้าใช้วิธีเร้าอย่างนี้ ท่านเรียกว่าเร้ามานะ

มานะในระดับต้นๆ นี้เป็นความภูมิใจ แต่ถ้าแรงไปจะกลายเป็นดูถูกดูหมิ่นคนอื่น ตลอดจนเป็นการแข่งขันแย่งชิงความเป็นใหญ่ มุ่งความเด่นความดัง ซึ่งมีภัยอันตรายอยู่ด้วย เพราะฉะนั้น ถ้าจะใช้มัน ก็ใช้ได้แต่ในขั้นต้น แล้วต้องรีบเปลี่ยนไปใช้ปัจจัยตัวอื่นที่เป็นฝ่ายดี ถ้าใช้มานะตลอดไป จะก่อให้เกิดปัญหาในระหว่างมนุษย์ คือรักษากลุ่มของตัวได้ แต่ทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งกับกลุ่มอื่น แล้วทำให้เกิดสภาพจิตไม่ดี คือการดูถูกดูแคลน ความทะนงตัวหยิ่งลำพอง ตลอดจนการคิดกำจัดคนอื่นต่อไปอีก ไม่ประกอบด้วยปัญญาที่แท้จริง บางสังคม บางประเทศ บางกลุ่มก็รักษาวินัยด้วยมานะนี้ แม้แต่ทำคุณความดีอื่นๆ ก็ด้วยมานะนี้ เป็นการทำตนให้อยู่ในระบบการแข่งขันไปในตัว อย่างน้อยก็ต้องอาศัยความรู้สึกภูมิใจเข้าช่วย และเมื่อภูมิใจในกรณีอย่างนี้แล้วก็มักจะต้องพอง วิธีนี้ทางธรรมจึงไม่สนับสนุน ถ้าจะใช้ก็ต้องระวัง โดยรีบสร้างปัจจัยที่ดีมาสืบทอดต่อไปอย่างที่กล่าวแล้ว

• สร้างวินัยโดยใช้กฎเกณฑ์บังคับ

อีกวิธีหนึ่งคือการสร้างวินัยโดยใช้กฎหมาย หรือกฎเกณฑ์ บังคับควบคุม โดยมีการลงโทษ วิธีนี้ก็สร้างวินัยได้แต่เป็นวิธีที่ไม่ดีและไม่ถูกต้อง ไม่เข้ากับหลักการของธรรม เป็นวิธีการที่ไม่ถูกธรรม คือไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของกฎธรรมชาติ มนุษย์จะมายัดเยียดเอาศีลใส่ให้แก่กันไม่ได้ ศีลเกิดจากการฝึกให้มีขึ้นในตัวคน ฉะนั้นการกดหรือบีบบังคับนี้ ถ้าอำนาจยังอยู่ก็อยู่ได้ แต่พออำนาจที่กดบีบหมดไปเมื่อไร คนก็จะละเมิดวินัย คราวนี้ยิ่งปั่นป่วนเสียหายหมด ฉะนั้นในสังคมที่อยู่ได้ด้วยกฎข้อบังคับ แล้วใช้อำนาจบีบบังคับกัน ถึงแม้จะมีวินัยอยู่ได้ แต่เมื่อไรอำนาจที่กดบีบนั้นหายไป สังคมนั้นก็ปั่นป่วนอีก ไม่ได้ผลอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตาม การใช้กฎเกณฑ์ข้อบังคับนี้ บางครั้งได้ผล ในเมื่อกฎเกณฑ์นั้นไม่บีบบังคับรุนแรงเกินไป และมีช่วงเวลายาวพอที่จะให้คนผ่านเข้าสู่ความเคยชินจนเขาไม่รู้ตัว พอกลายเป็นความเคยชินไปแล้ว ก็เข้าสู่กฎธรรมชาติตามวิธีแรก คือเป็นวินัยพื้นฐานที่เกิดขึ้นโดยการสร้างพฤติกรรมเคยชิน มันกลายเป็นเรื่องของความเคยชินตามธรรมชาติ ที่มารับทอดจากการใช้อำนาจบีบบังคับ อันนั้นต่างหากที่ได้ผล

การใช้กฎหมายหรือกฎเกณฑ์ข้อบังคับมาฝึกวินัยให้คนมีศีลนี้ มีวิธีที่จะทำให้ได้ผลได้ โดยต้องไม่ให้อยู่แค่เป็นการใช้อำนาจกดบีบบังคับและลงโทษ แต่ต้องให้จิตใจของคนเกิดความรู้สึกสำนึกว่าเป็นการฝึก โดยให้เขารู้เข้าใจมองเห็นเหตุผลและประโยชน์ของการปฏิบัติตามกฎข้อบังคับนั้นๆ ความรู้ความเข้าใจและจิตสำนึกในการฝึกนี้จะทำให้เขาเกิดมีความพึงพอใจหรือความเต็มใจขึ้นมาในระดับหนึ่งที่จะทำตาม และก็ทำให้ได้ผล ซึ่งก็คือทำให้เข้าสู่ระบบการศึกษาที่แท้จริง โดยมีองค์ประกอบสามส่วน คือพฤติกรรม สภาพจิตใจ และปัญญา เข้ามาประสานกัน

วินัยในฐานะเป็นองค์ประกอบของประชาธิปไตย

การฝึกวินัยนี้ มีความหมายอีกอย่างหนึ่งด้วย คือเราถือว่าวินัยเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของประชาธิปไตย ถ้าไม่มีวินัย ประชาธิปไตยก็ตั้งอยู่ยาก เพราะประชาธิปไตยเป็นการปกครองของประชาชน ประชาชนปกครองกันเอง ประชาชนจะปกครองกันเองได้ ประชาชนทุกคนต้องปกครองตนเองได้ คนที่ปกครองตนเองได้คือคนที่มีวินัย คนที่ไม่มีวินัยจะปกครองตนเองไม่ได้ เมื่อปกครองตนเองไม่ได้แล้ว จะไปร่วมกันปกครองเป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร ประชาธิปไตยก็ไปไม่รอด

สรุป ประชาธิปไตยคือการปกครองของประชาชนที่แต่ละคนปกครองตนเองได้

การที่จะทำให้คนปกครองตนเองได้ ต้องทำให้คนมีวินัย คือมีศีล หรือตั้งอยู่ในวินัย แต่สาเหตุของความขาดวินัยอย่างหนึ่งมันมาจากปัญหาเกี่ยวกับหลักการของประชาธิปไตยเสียเอง กล่าวคือ มีองค์ประกอบอยู่อย่างหนึ่งที่สำคัญมากของประชาธิปไตยคือเสรีภาพ ทีนี้ ถ้าคนเข้าใจความหมายของเสรีภาพไม่ถูกต้อง เสรีภาพนั้นก็จะมาขัดแย้งกับวินัย เหมือนกับในบางสังคมที่มีปัญหาการขาดวินัยเกิดขึ้น เพราะคนไปยึดถือเสรีภาพในทางที่ผิด คือไม่เข้าถึงความหมายของเสรีภาพ นึกว่า เสรีภาพ คือการทำได้ตามใจชอบ เพราะฉะนั้นการตามใจตนเองได้ ทำตามใจชอบได้ ก็คือการมีเสรีภาพ แล้วบอกว่าเสรีภาพคือองค์ประกอบของประชาธิปไตย เมื่อเข้าใจเสรีภาพอย่างนี้ วินัยก็มีไม่ได้ กลายเป็นว่า คนพวกนี้เอาข้ออ้างจากหลักการของประชาธิปไตยมาทำลายประชาธิปไตย ฉะนั้นเมื่อคนไม่เข้าถึงสาระของประชาธิปไตยก็เกิดความขัดแย้งในตัวมันเอง นี่คือการเข้าใจความหมายของเสรีภาพผิด

เสรีภาพนั้นไม่ใช่การทำตามชอบใจ เรามักจะให้ความหมายของเสรีภาพในแง่ที่เป็นการทำได้ตามปรารถนา ภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย หรือกติกาของสังคมบ้าง การทำได้ตามพอใจเท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่นบ้าง แต่นั่นยังไม่ใช่ความหมายที่เป็นสาระของประชาธิปไตย เป็นเพียงความหมายในเชิงปฏิบัติเท่านั้น

ที่จริง เสรีภาพในฐานะที่เป็นหลักการอย่างหนึ่งของประชาธิปไตย ย่อมมีความหมายที่สอดคล้องกับความมุ่งหมายของประชาธิปไตย ประชาธิปไตยนั้นเป็นระบบการปกครองอย่างหนึ่ง การปกครองทุกอย่างมีความมุ่งหมายเพื่อจัดสรรสังคมให้อยู่ดีมีสันติสุข เราเห็นว่าประชาธิปไตยเป็นระบบการปกครองที่ดีที่สุดที่จะให้บรรลุจุดหมายนี้ เราจึงตกลงกันให้มีการปกครองแบบประชาธิปไตย โดยให้ประชาชนร่วมกันปกครอง โดยทุกคนมีส่วนร่วมในการปกครองนั้น และเพื่อให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการปกครอง เราจึงต้องให้ประชาชนมีเสรีภาพ เพื่อให้ประชาชนเหล่านั้นทุกๆ คนสามารถนำเอาสติปัญญาความรู้ความสามารถของเขาออกมาร่วมสร้างสรรค์สังคม ถ้าคนไม่มีเสรีภาพ สติปัญญาความรู้ความสามารถของเขาก็ถูกปิดกั้นไม่มีโอกาสออกมาร่วมสร้างสรรค์สังคม

โดยนัยนี้ เสรีภาพที่เป็นหลักการของประชาธิปไตย จึงมีความหมายว่าเป็นการมีสิทธิโอกาสที่จะนำเอาศักยภาพของบุคคลแต่ละคน ออกมาช่วยเป็นส่วนร่วมในการเสริมสร้างประโยชน์สุขให้แก่สังคม เสรีภาพที่แท้จริงอยู่ที่นี่ เสรีภาพที่เข้าใจผิดก็คือ การที่แต่ละคนจะเอาแต่ผลประโยชน์เข้าตัวเอง เสรีภาพกลายเป็นมีความหมายว่า ฉันจะเอาอะไรก็ต้องได้ตามที่ฉันต้องการ แต่ที่จริงนั้นเสรีภาพมีไว้เป็นองค์ประกอบของประชาธิปไตย เพื่อให้การปกครองนั้นสร้างสรรค์ประโยชน์สุขแก่สังคมได้จริง โดยการจัดการเอื้ออำนวยโอกาสให้บุคคล แต่ละคนมาช่วยกันเสริมสร้างสังคมได้

ถ้าบุคคลไม่มีเสรีภาพ ความคิดความเห็น สติปัญญาของเขาก็ไม่มีโอกาสที่จะมามีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สังคม แต่เมื่อเขามีเสรีภาพ สติปัญญา ความคิดเห็นที่ดีของเขาก็ออกมาช่วยสร้างสรรค์สังคมที่ดีงามขึ้นได้ ประชาธิปไตยก็สำเร็จ แต่ประชาธิปไตยที่ไม่ถูกต้องก็เพี้ยนไป กลายเป็นระบบแก่งแย่งผลประโยชน์ของปัจเจกชน ที่แต่ละคนก็มองเสรีภาพในความหมายว่าฉันจะเอาอะไรก็ต้องเอาให้ได้ ถ้าเป็นอย่างนี้ประชาธิปไตยก็อยู่ไม่รอด

ฉะนั้นจะต้องมองความหมายของเสรีภาพใหม่ว่าเสรีภาพคือการมีสิทธิโอกาสที่จะใช้ศักยภาพของแต่ละคนในการมีส่วนร่วมที่จะสร้างสรรค์สังคม อันนี้เป็นความหมายที่แท้จริง เพราะสอดคล้องกับความมุ่งหมายของประชาธิปไตยซึ่งเป็นระบบการจัดตั้งเพื่อสังคม

เรื่องความหมายของศัพท์เหล่านี้จะต้องทำความเข้าใจทั้งนั้น เพราะมีความสำคัญ และสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ถ้าเราเข้าใจพลาด การปลูกฝังคุณสมบัติต่างๆ ก็คลาดเคลื่อนหมด ฉะนั้นการจะปลูกฝังวินัยได้สำเร็จจะต้องสัมพันธ์สอดคล้องกับหลักการอื่นๆ ที่เป็นองค์ประกอบทั้งหลายของประชาธิปไตย ถ้าจะให้วินัยเป็นองค์ประกอบของประชาธิปไตย ทั้งตัวมันเองและองค์ประกอบข้ออื่นๆ ของประชาธิปไตยก็ต้องมีความหมายที่ถูกต้อง แล้วมาจับสัมพันธ์กันอย่างสอดคล้องกลมกลืน มันจึงจะประสานกันไปได้ ฉะนั้น เสรีภาพจึงเป็นคำหนึ่งที่จะต้องเข้าใจความหมายให้ถูกต้อง

เมื่อเข้าใจความหมายของเสรีภาพถูกต้องแล้ว ก็จะเห็นว่า วินัยเป็นการจัดสรรโอกาสที่จะทำให้เสรีภาพของเราอำนวยผลเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่สังคมได้อย่างแท้จริง แล้วคนก็จะมีใจยินดีที่จะประพฤติตามวินัย ทำให้เกิดความเคารพกฎเกณฑ์กติกา คือเคารพวินัยนั่นเอง

ความหมายของวินัย
พัฒนาไปตามการพัฒนาของคน

กฎกติกานั้น มีขึ้นมาเพื่ออะไร กฎกติกาเป็นส่วนของสังคม มีขึ้นมาเพื่อผลประโยชน์แก่สังคม เพื่อชีวิตแต่ละชีวิตที่จะมาอยู่ร่วมกันด้วยดี โดยมีโอกาสที่จะดำเนินไปได้อย่างสะดวกคล่องตัวดังที่กล่าวแล้วตั้งแต่ต้นว่า วินัยเป็นเครื่องจัดสรรโอกาส เพราะฉะนั้น กฎเกณฑ์กติกาโดยสาระที่แท้ จึงเป็นเครื่องมือจัดสรรเอื้ออำนวยโอกาสนั่นเอง และมันจึงสัมพันธ์โดยตรงกับเสรีภาพ

ฉะนั้น เมื่อเราเริ่มพัฒนาคน ความเข้าใจความหมายของวินัย กฎเกณฑ์ กติกา ก็จะค่อยๆ พัฒนาไปด้วย

ตอนแรก คนไม่มีความพร้อมเพราะไม่มีปัญญา ไม่มีความเข้าใจเหตุผล พอเห็นกฎเกณฑ์กติกาของสังคม ก็เห็นเป็นเรื่องบีบบังคับตน กีดกั้นการที่ตนจะทำอะไรตามชอบใจ ฉะนั้นสำหรับคนที่ยังไม่พัฒนา วินัยจะมีความหมายเป็นเครื่องบังคับ ตลอดจนกีดขวางความพอใจของตัวเองของเขา ในขั้นนี้ปัญญาก็ไม่มี จิตใจก็ไม่พร้อม จำใจ ฝืนใจ และขึ้งเคียด หรือไม่ก็ท้อแท้เป็นทุกข์ พฤติกรรมก็ขัดแย้ง

ต่อมาเมื่อเขาเริ่มพัฒนาขึ้น และมองเห็นเหตุผล วินัยจะมีความหมายเป็นเครื่องฝึกมนุษย์ ในขั้นนี้ เขามีปัญญาพอที่จะรู้เข้าใจเหตุผลและคุณค่าของกฎเกณฑ์กติกานั้น จิตใจก็ยอมรับ และอาจจะเต็มใจ หรือถึงกับมีความสุขที่จะปฏิบัติตาม พฤติกรรมก็สอดคล้อง

ในที่สุด เมื่อมนุษย์พัฒนาดีแล้ว วินัยจะเปลี่ยนความหมายเป็นเรื่องของสิ่งหมายรู้ร่วมกัน สำหรับที่จะได้ปฏิบัติถูกต้อง ว่าจะดำเนินชีวิตกันอย่างไร จะอยู่ร่วมกันอย่างไร และจะดำเนินกิจการร่วมกันอย่างไร ซึ่งจะต้องลงตัวเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง จึงจะเป็นไปด้วยดี และนี่คือความหมายที่แท้ของกฎเกณฑ์กติกา เหมือนอย่างพระอรหันต์ทั้งหลาย แม้จะมีกฎเกณฑ์กติกามากมาย แต่ท่านไม่รู้สึกเป็นเรื่องบังคับ ไม่ต้องฝืนใจ เพราะเข้าใจเหตุผลและความมุ่งหมายว่าที่มีกติกากันนี้ก็เพื่อประโยชน์ในการอยู่ร่วมกัน จะได้สะดวกคล่องตัว เพราะไม่อย่างนั้นแล้วก็ไม่รู้ว่าจะเอาอย่างไร แล้วก็จะขัดข้องจะวุ่นวาย

ยกตัวอย่างเช่นว่า พระอรหันต์มาอยู่ร่วมกันในวัดสัก ๒๐ ท่าน กระจายกันอยู่องค์ละกุฏิ จะมาฉันพร้อมกันเมื่อไร จะมาประชุมกันเมื่อไร ก็ต้องวางข้อตกลงเป็นกติกา เช่นตั้งกติกาว่า เวลา ๐๗.๐๐ น. ตีระฆังให้หมายรู้ว่ามาฉัน เมื่อมาแล้ว เวลาจะนั่ง ตกลงกันว่านั่งเรียงลำดับอย่างนี้ ใครนั่งก่อนนั่งหน้านั่งหลัง ก็ต้องเป็นระเบียบวางไว้จึงจะเรียบร้อยสบาย นี้แหละเรียกว่าเป็นกติกาสังคม ซึ่งแม้แต่พระอรหันต์ ก็ต้องวางไว้ แต่สำหรับผู้ที่พัฒนาแล้วอย่างนี้ กฎเกณฑ์กติกาทั้งหลายกลายเป็นเพียงเครื่องหมายรู้ร่วมกัน เพื่อจัดสรรความเป็นอยู่และกิจการให้เกิดมีโอกาสที่จะดำเนินไปอย่างดีงามเรียบร้อยคล่องตัว และท่านเหล่านั้นก็ยินดี เต็มใจที่จะปฏิบัติ ในขั้นนี้ ท่านผู้ปฏิบัติมีปัญญารู้เข้าใจเหตุผล ความมุ่งหมาย และคุณค่าโดยสมบูรณ์ และสามารถปรับปรุงกฎเกณฑ์กติกาให้สอดคล้องตามธรรมอยู่เสมอ จิตใจคล้อยไปตามอย่างโปร่งโล่งผ่องใส พฤติกรรมก็สงบราบรื่น

ฉะนั้น จึงบอกว่าความหมายของวินัยเปลี่ยนไปตามการพัฒนาของมนุษย์ คนที่ยังไม่พัฒนา ไม่มีการศึกษา ก็มองวินัยเป็นเรื่องของการบังคับ พอเริ่มมีการพัฒนาก็มองว่าเป็นเครื่องฝึก เพื่อชีวิตในสังคมที่ดีงาม รับการฝึกด้วยใจยินดีเพื่อให้ชีวิตเจริญพัฒนา และสังคมมีสันติสุข พอพัฒนาดีแล้ววินัยก็กลายเป็นเครื่องหมายรู้ร่วมกัน สำหรับการเป็นอยู่ร่วมในสังคม เพื่อให้ชีวิตและสังคมประสานสอดคล้องและเกื้อกูลกลมกลืน

ในสังคมประชาธิปไตยที่แท้ วินัยจะเป็นอย่างนี้ ถ้าเราไม่พัฒนาคน สังคมประชาธิปไตยซึ่งอยู่ได้ด้วยกฎเกณฑ์ กติกา ก็จะเกิดมีความขัดแย้งกันระหว่างความหมายของเสรีภาพกับวินัย แล้วสังคมนั้นก็จะต้องปั่นป่วน ฉะนั้น ถ้าจะให้คนมีเสรีภาพในความหมายว่า ทำอะไรได้ตามชอบใจเท่าที่ไม่ละเมิดกฎหมาย หรือไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น มนุษย์ก็จะต้องวางกฎเกณฑ์กติกามากขึ้นๆ แล้วคนก็จะต้องอยู่ด้วยกฎ พออยู่ด้วยกฎต่อไปนานๆ เข้า คำว่า กฎ ก็กลายเป็น กด กลายเป็นกดดัน หรือกดบีบบังคับ แล้วกดไปกดมา ในที่สุดสังคมประชาธิปไตย ก็ต้องยุติด้วยการเอากฎมากดแบบนี้ แล้วก็หนีการใช้อำนาจลงโทษไปไม่พ้น ผลที่สุดก็กลายเป็นเผด็จการด้วยกฎ/กด ฉะนั้น ประชาธิปไตยนั้นในที่สุด ถ้าคนไม่เข้าถึงสาระของประชาธิปไตย ก็จะกลายเป็นเผด็จการชนิดหนึ่ง คือเผด็จการด้วยกฎอย่างที่ว่ามาแล้ว

องค์ประกอบร่วมในการเสริมสร้างวินัย

ขอทบทวนเรื่องที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ความมีวินัย หรือตั้งอยู่ในวินัย ที่เรียกว่าศีลนั้น เป็นแสงเงินแสงทองอย่างหนึ่งของชีวิตที่ดีงาม หรือเป็นรุ่งอรุณของการศึกษา

ได้บอกไว้แล้วว่า แสงเงินแสงทองนี้มี ๗ อย่าง เหมือนกับสเปกตรัม คือแสงนั้นประกอบด้วยสีต่างๆ ๗ สี แสงอาทิตย์ตอนรุ่งอรุณก็ประกอบด้วยแสงเงินแสงทอง ๗ สี กล่าวคือองค์ประกอบสำคัญ ๗ ประการ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ แต่ในที่นี้จะไม่พูดหมด เพียงแต่ให้หลักการว่า องค์ประกอบอย่างหนึ่งจะเกิดขึ้นโดยสัมพันธ์กับองค์ประกอบอื่น ซึ่งจะมาช่วยเสริมกัน ฉะนั้นในการสร้างวินัย เราก็อาศัยองค์ประกอบในชุดของมันนี้มาช่วยหนุน องค์ประกอบสำคัญที่เกี่ยวข้องใกล้ชิดมาก ขอพูดในที่นี้ ๓ อย่าง คือ

๑. กัลยาณมิตร ความมีกัลยาณมิตรนี้ช่วยมาก เพราะเป็นผู้นำและเป็นแบบอย่าง เริ่มตั้งแต่การช่วยสร้างพฤติกรรมเคยชิน

กัลยาณมิตรเป็นบุคคลที่มีการฝึกฝนพัฒนาดีแล้ว ในความหมายหนึ่งก็คือเขามีศีล มีวินัย ทำให้เด็กได้แบบอย่างที่ดี ถึงแม้เด็กไม่รู้ไม่เข้าใจ แต่พอกัลยาณมิตรทำอะไร แกก็ทำตาม แกก็ได้พฤติกรรมเคยชินที่มีวินัยไปเอง

กัลยาณมิตร นอกจากให้แบบอย่างที่ดีในด้านพฤติกรรมเคยชินแล้ว กัลยาณมิตรยังมีคุณสมบัติทางจิตใจด้วย โดยมีคุณธรรม เช่น เมตตา มีความรักความปรารถนาดี ทำให้เด็กศรัทธา เกิดความอบอุ่นใจ เมื่อคุณครูที่รักบอกให้ทำอะไร เด็กก็ยินดีปฏิบัติตามด้วยความรัก ด้วยศรัทธา จิตใจก็อบอุ่น มีความสุข

นอกจากนั้น คุณครูผู้เป็นกัลยาณมิตรก็มีปัญญา รู้เหตุรู้ผล สามารถอธิบายให้เด็กรู้ด้วยว่า ที่เราทำกันอย่างนี้ ประพฤติอย่างนี้ มีเหตุผลอย่างไร มีประโยชน์อย่างไร มีคุณค่าอย่างไร เด็กก็ได้พัฒนาปัญญาไปด้วย ทำให้พฤติกรรมยิ่งแนบแน่นสนิท เพราะฉะนั้น องค์ประกอบข้อกัลยาณมิตรจึงสำคัญมาก

๒. ฉันทะ คือความรักดี ใฝ่ดี ใฝ่รู้ ใฝ่สร้างสรรค์ เด็กที่มีฉันทะจะใฝ่รู้ใฝ่สร้างสรรค์ ปรารถนาในสิ่งที่ดีงาม ต้องการให้ชีวิตของตนดีงาม ต้องการให้ทุกสิ่งที่ตนเข้าไปเกี่ยวข้องดีงามไปหมด ต้องการให้สังคม ชุมชน โรงเรียนของตนดีงาม อยากให้ชั้นเรียนเรียบร้อยดีงาม อยากให้ความดีงามเกิดขึ้นในชีวิตในสังคม ความใฝ่ดีคือฉันทะนี้สำคัญมาก จัดเป็นแสงเงินแสงทองอีกอย่างหนึ่ง

ในข้อแรก เด็กยังต้องอาศัยกัลยาณมิตร ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอก แต่พอฉันทะเกิดขึ้นเด็กก็ได้ปัจจัยภายในตัวเอง ตอนนี้เด็กมีแรงจูงใจใฝ่ดีใฝ่สร้างสรรค์อยู่ในตัว เด็กจะอยากทำทุกอย่างที่ดีงามและทำทุกอย่างที่ตนเข้าไปเกี่ยวข้องให้ดีไปหมด วินัยนั้นเป็นเครื่องทำให้สังคมดีงาม ทำให้ชีวิตดีงาม พอเด็กนั้นรู้อย่างนี้ เขามีความใฝ่ดีอยู่แล้วก็ปฏิบัติตามหรือฝึกตัวตามวินัยนั้นทันที

คนที่มีฉันทะนี้ อยากให้ทุกสิ่งที่ตนเข้าไปเกี่ยวข้องอยู่ในภาวะที่ดีที่สุดของมัน เมื่อเห็นเพื่อนมนุษย์ก็อยากให้เพื่อนมนุษย์นั้นอยู่ในภาวะที่ดีที่สุดของเขา ความมีฉันทะต่อเพื่อนมนุษย์ก็แสดงออกเป็นเมตตา คืออยากให้เพื่อนมนุษย์อยู่ในภาวะที่เอิบอิ่มแข็งแรงสมบูรณ์มีความสุขอย่างดีที่สุดของเขา ฉันทะนี้ดีอย่างยิ่ง จึงต้องสร้างขึ้นมา ถ้าฉันทะเกิดขึ้นก็เป็นแสงเงินแสงทองของชีวิต ไม่ว่าจะปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมอะไร ก็มีหวังสำเร็จ ถ้าฉันทะเกิดขึ้น

๓. อัตตสัมปทา แปลว่า การทำตนให้ถึงพร้อม หรือการทำตนให้เพียบพร้อมสมบูรณ์ หมายถึงการทำตนให้เข้าถึงความพร้อมสมบูรณ์แห่งศักยภาพของตน คือต้องการจะพัฒนาตนเองให้สมบูรณ์ หรือต้องการทำชีวิตของตนให้ถึงความสมบูรณ์ ซึ่งจะเกิดเป็นจิตสำนึกในการฝึกฝนพัฒนาตน หรือจิตสำนึกในการศึกษา

เมื่อเด็กมีจิตสำนึกในการศึกษา มีจิตสำนึกในการพัฒนาตน หรือจิตสำนึกในการฝึกตน หรือจิตสำนึกในการเรียนรู้ขึ้นมาเมื่อไร ก็มีหวังที่จะก้าวหน้า เพราะเขาพร้อมที่จะรับและบุกฝ่าเดินหน้าไปในสิ่งที่ดีงามทุกอย่าง ฉันทะนั้นใฝ่ดีอยู่แล้ว คราวนี้ยังแถมมีจิตสำนึกในการที่จะฝึกฝนพัฒนาตนอีก เด็กจะเรียนรู้ว่ามนุษย์เรานี้ไม่เหมือนสัตว์ทั้งหลายอื่น มนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องฝึกต้องพัฒนา เราจะต้องฝึกฝนพัฒนาตน

พระพุทธศาสนาสอนว่ามนุษย์เป็นทัมมะ คือเป็นสัตว์ที่จะต้องฝึกหรือฝึกได้ พระพุทธเจ้ามีพุทธคุณข้อหนึ่งว่า อนุตตโร ปุริสทัมมสารถิ ซึ่งเราท่องกันแม่น แปลว่า ทรงเป็นสารถีฝึกทัมมะ คือฝึกบุคคลหรือสัตว์ที่ต้องฝึก ผู้ยอดเยี่ยม มนุษย์เรานี้จะดีจะประเสริฐ ก็ด้วยการฝึก มนุษย์มีศักยภาพในการฝึกสูงสุด ฝึกแล้วจะประเสริฐจนเป็นพุทธะก็ได้ ซึ่งแม้แต่เทวดาและพระพรหมก็น้อมนมัสการ ฉะนั้น มนุษย์จะต้องมีความภูมิใจและมั่นใจในศักยภาพนี้ โดยมีจิตสำนึกในการฝึกตนและจะต้องพยายามฝึกตน

พอสร้างจิตสำนึกในการฝึกตนขึ้นมาได้แล้วก็สบาย จิตสำนึกในการฝึกตนนี้เป็นแกนของการศึกษา ไม่ว่าจะเจออะไร ก็จะมองเป็นเวทีของการฝึกตนไปหมด งานการ วิชาการ บทเรียน หรือประสบการณ์ สถานการณ์อะไรก็ตาม เขาจะมองเป็นเครื่องฝึกตัวไปหมด เมื่อเด็กมีตัวอัตตสัมปทาแล้วเราก็สบายใจได้ คราวนี้ไม่ต้องไปจ้ำจี้จ้ำไชอะไรอีก เขาเจออะไรเขาจะมองเป็นโอกาสที่จะฝึกตน ที่จะทำให้เขาได้เรียนรู้ เขาจะสู้หมด งานยาก วิชาการยาก เขาจะชอบ เพราะอะไรก็ตามที่ยากก็จะยิ่งช่วยให้เขาได้ฝึกตนมาก คนที่มีจิตสำนึกในการฝึกตน เจออะไรยาก ยิ่งวิ่งเข้าหา ส่วนคนทั่วไปที่ไม่มีจิตสำนึกนี้ พอเจองานยาก เจอวิชายากก็ถอย แล้วก็มีแต่ผลร้ายตามมา คือ

๑. เกิดความท้อแท้ ไม่เต็มใจ แล้วก็ขาดความสุข เสียสุขภาพจิต

๒. ไม่ตั้งใจ ก็เลยทำอะไรไม่ค่อยได้ผล

ส่วนคนที่มีจิตสำนึกในการฝึกฝนพัฒนาตน พอเจออะไรที่ยาก ก็มองเห็นว่าเป็นเครื่องฝึกตัวที่จะทำให้พัฒนาตนได้มาก และเกิดความรู้สึกว่ายิ่งยากยิ่งได้มาก ระหว่างของยากกับของง่าย เด็กพวกนี้จะเข้าหาของยาก เพราะยิ่งยากยิ่งได้มาก ทำให้ฝึกตนได้ดี เขาจะมองเห็นว่าถ้าเราผ่านสิ่งที่ยากได้แล้ว เราก็จะทำสิ่งที่ง่ายได้แน่นอน และจะทำให้เราได้สะสมประสบการณ์ความชำนาญในการทำงานเพิ่มขึ้นๆ ผลดีที่เกิดขึ้น คือ

๑. มีความเต็มใจ พอใจ ยินดีที่จะทำ ซึ่งทำให้เขามีความสุขในการที่จะทำงานหรือเล่าเรียนศึกษา

๒. มีความตั้งใจ ซึ่งทำให้ทำได้ผล

พูดสั้นๆ ว่า ทั้งงานก็ได้ผล และคนก็เป็นสุข นี้คือสิ่งที่พึงปรารถนาในการทำงาน

ถ้าปลูกจิตสำนึกในการฝึกตนนี้ขึ้นมาแล้ว วินัยก็จะมีความหมายเป็นการฝึกตน ซึ่งทำให้การฝึกวินัยเป็นเรื่องง่าย ไม่ใช่เรื่องลำบากอะไร เป็นอันว่าต้องสร้างจิตสำนึกในการฝึกตนนี้ เพื่อทำให้เด็กสู้กับสิ่งที่ยาก และเข้าหาสิ่งที่ยาก โดยมีความเต็มใจและความสุข

วินัยในระบบการสร้างสรรค์อภิบาลโลก

วินัยนั้นเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติด้วย เรื่องนี้เป็นไปตามหลักการที่แยกเป็นธรรมฝ่ายหนึ่งกับวินัยฝ่ายหนึ่ง ตามหลักการนี้ มนุษย์เราดำเนินชีวิตอยู่ในโลกโดยมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ที่แยกง่ายๆ เป็นสองส่วน คือ

๑. ความสัมพันธ์กับมนุษย์ด้วยกัน

๒. ความสัมพันธ์กับความจริงของกฎธรรมชาติ

ในด้านหนึ่ง ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์เราก็ต้องรักษาให้ดี แต่พร้อมกันนั้นอีกด้านหนึ่ง ความสัมพันธ์ถูกต้องกับโลกของธรรมชาติ เราก็ละเลยไม่ได้ เพราะถึงอย่างไร ทั้งชีวิตเราและคนอื่นทุกคน รวมทั้งสังคมทั้งหมด ก็ต้องอยู่ภายใต้กฎธรรมชาติทั้งนั้น เราจะต้องมีความสัมพันธ์ทั้งสองด้านนี้ให้ถูกต้อง เพื่อให้ชีวิตที่ดีงามดำเนินไปด้วยดี บุคคลก็มีความสุข และสังคมก็อยู่เรียบร้อย

ถ้าเราเอาแต่ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน ละเลยหลักการแห่งเหตุและผลตามความจริงของกฎธรรมชาติ ความอยู่ดีนี้ก็ไม่สมบูรณ์ไม่มั่นคง สังคมก็จะปั่นป่วนภายหลัง หรือจะเอาแต่ความจริงของกฎธรรมชาติอย่างเดียว ละเลยความสัมพันธ์ที่ดีงามและความเกื้อกูลมีน้ำใจต่อกันระหว่างมนุษย์ โลกก็แห้งแล้ง แล้วก็จะทำให้อยู่กันไม่เป็นสุขเท่าที่ควรอีก เพราะฉะนั้นจะต้องคำนึงทั้ง ๒ ด้าน คือมนุษย์จะต้องรักษาทั้งความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันเอง และรักษาความสัมพันธ์กับกฎธรรมชาติไว้ ด้วยเหตุนี้พระพุทธเจ้าจึงประทานหลักเกณฑ์ที่ทำให้เกิดดุลยภาพ ซึ่งเมื่อเราปฏิบัติตามก็จะเกิดระบบองค์รวมที่สมบูรณ์ขึ้น เป็นดุลยภาพระหว่างความสัมพันธ์ในหมู่มนุษย์เองกับระบบของความสัมพันธ์กับธรรมชาตินั่นเอง ความสัมพันธ์นี้ โดยสรุปก็คือ

ก) เราจะต้องรักษาความสัมพันธ์ที่ดีงามระหว่างมนุษย์ด้วยกันเองคือตัวเรากับมนุษย์คนอื่น ว่าเราจะต้องมีความเกื้อกูลช่วยเหลือมีน้ำใจต่อกัน ในสถานการณ์ ๓ อย่าง คือ

๑. ในยามที่เขาอยู่เป็นปกติสุข เราก็มีไมตรีจิตมิตรภาพ มีความปรารถนาดี เรียกว่า เมตตา

๒. ในยามที่เขาตกต่ำลงเดือดร้อนเป็นทุกข์ประสบปัญหา เราก็เห็นใจพลอยหวั่นใจด้วย ปรารถนาจะช่วยเหลือปลดเปลื้องให้เขาพ้นจากความทุกข์ เรียกว่า กรุณา

๓. ในยามที่เขาขึ้นสูงประสบความสำเร็จได้ดีมีสุข เราก็มีความยินดีด้วยพลอยส่งเสริมสนับสนุน เรียกว่า มุทิตา

สำหรับมนุษย์เราก็มี ๓ สถานการณ์นี่แหละ และทางธรรมท่านก็ให้หลักที่จะปฏิบัติไว้พร้อม คือ ยามปกติเราก็ใช้เมตตา ในยามที่เขาตกต่ำเราก็ใช้กรุณา ยามเขาขึ้นสูงเราก็ใช้มุทิตา นี่คือความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์

อย่างไรก็ตาม ต้องระวังไม่ให้ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ไปกระทบต่อตัวธรรม ตัวหลักการ ตัวความจริงความดีงามที่เป็นเหตุเป็นผลในกฎธรรมชาติ ตลอดจนความจริงความดีงามตามกฎเกณฑ์แห่งเหตุผลที่มนุษย์ได้มาจัดวางเป็นกฎในหมู่มนุษย์คือวินัย หมายความว่า ถ้าความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์นี้ไปกระทบต่อตัวหลักการที่เป็นตัวธรรมหรือวินัยที่พูดไปแล้ว เราจะต้องหยุดความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ใน ๓ ข้อข้างต้นนั้น เพื่อเปิดโอกาสให้แก่การทำหน้าที่ของธรรมวินัย อันนี้เป็นจุดที่สำคัญมาก คือจะต้องให้ตัวธรรมตัววินัยนั้นได้แสดงหลักแสดงผลออกมา หมายความว่า มนุษย์จะต้องปฏิบัติตามตัวหลักการตัวกฎเกณฑ์ที่เป็นความจริงหรือที่ตกลงไว้ คือตัวธรรม ตัววินัยนั้น ตอนนี้กฎเกณฑ์แห่งจริยธรรม และหลักการแห่งความจริงความถูกต้อง ความดีงาม ตลอดจนกฎหมายกติกาสังคมจะต้องออกมาได้รับการปฏิบัติ นี้คือสถานการณ์ที่ ๔ ซึ่งวางลงเป็นหัวข้อได้ คือ

ข) ๔. ในกรณีที่ความสัมพันธ์ช่วยเหลือเกื้อกูลกันระหว่างบุคคลในข้อ ๑-๒-๓ จะส่งผลกระทบเสียหายหรือทำลายหลักการแห่งความจริงความถูกต้องความดีงาม ความเป็นธรรม ความชอบธรรม ในธรรมดาแห่งธรรมชาติ (ธรรม) ก็ดี ที่บัญญัติจัดวางเป็นกฎหมาย กฎเกณฑ์กติกาในสังคมมนุษย์ (วินัย) ก็ดี เราจะต้องหยุดหรือระงับการปฏิบัติในข้อ ๑-๒-๓ เสีย และปล่อยให้มีการปฏิบัติตามหลักการแห่งธรรมและวินัย เพื่อให้ธรรมตั้งอยู่ในโลกต่อไป การปฏิบัติในกรณีนี้ คือการมีท่าทีเป็นกลาง โดยวางเฉยต่อบุคคล ไม่เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงขัดขวางการแสดงผลของธรรมหรือวินัย คือให้บุคคลนั้นรับผลตามธรรมตามวินัย เรียกว่า อุเบกขา

ถ้ามนุษย์มีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันอย่างเดียวโดยไม่คำนึงถึงหลักการแห่งธรรมวินัย ก็จะเกิดผลร้าย คือมีการช่วยเหลือกันระหว่างบุคคลจนกระทั่งมองข้ามกฎเกณฑ์กติกาของสังคม อันนี้จะเห็นได้ในบางสังคม ที่เน้นความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลเป็นใหญ่ คนมีน้ำใจต่อกันช่วยเหลือเกื้อกูลกันมาก จนแม้แต่จะละเมิดกฎเกณฑ์กติกา ก็ไม่เอาใจใส่ มองข้ามไปเลย ไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์กติกาเหล่านั้น ทำให้หลักการทั้งในความจริงของธรรมชาติและในสังคมมนุษย์ที่เรียกว่าธรรมวินัย เลือนลางจางหายลงไป กลายเป็นว่า หมู่มนุษย์ไม่ปฏิบัติตามธรรมและวินัย เหมือนกับร่วมกันหรือสมคบกันทำลายตัวธรรมตัววินัยลงไปเสีย แล้วผลร้ายก็จะเกิดแก่สังคมของมนุษย์เองในระยะยาว

ในทางตรงข้าม ถ้าเราจะเอาแต่กฎเกณฑ์กติกา ละเลยการช่วยเหลือเกื้อกูลระหว่างบุคคล มีความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลน้อย คนไม่เอาใจใส่กัน ก็จะกลายเป็นระบบตัวใครตัวมัน ทุกคนรับผิดชอบต่อกฎเกณฑ์กติกา ต่อหลักการ ต่อตัวธรรม ตัววินัย กฎหมายหรือกติกาว่าอย่างไรก็ทำตามนั้น คุณจะทำอะไรคุณทำไป แต่อย่าให้ผิดกฎ ผิดระเบียบนะ ฉันจัดการทันที ในระหว่างนี้ตัวใครตัวมัน ไม่เกื้อกูล ไม่ช่วยเหลือ ไม่มีน้ำใจ ในสังคมแบบนี้ ก็เอียงไปอีก ชีวิตแห้งแล้ง ขาดความอบอุ่น มนุษย์จะมีความเครียด จิตใจไม่สบาย และถ้าขาดความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์จนเกินควรถึงขีดหนึ่ง คนจะเริ่มเกิดโทสะ แค้นเคืองว่าไม่มีใครเอาใจใส่กันเลย ไม่ช่วยเหลือกันเลย คราวนี้ไม่เอาละ หลักการกฎเกณฑ์กติกาก็ทำลายมันเลย ก็เสียอีก ฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้มีดุลยภาพระหว่างความสัมพันธ์ในหมู่มนุษย์กับความสัมพันธ์กับกฎธรรมชาติ ซึ่งถ้ารักษาไว้ให้พอดี สังคมก็จะสมดุล โลกมนุษย์ก็มีสันติสุข

ที่ว่ามานี้เกี่ยวข้องกับวินัยตรงไหน ก็ตรงที่ว่าวินัยนั้นอยู่ในส่วนของกฎเกณฑ์กติกาที่เนื่องมาจากธรรม หมายความว่า เราจะต้องให้ความสำคัญแก่วินัย ที่เป็นมาตรฐานของสังคม เช่นกฎหมาย กฎเกณฑ์ กติกา และระเบียบต่างๆ อย่าให้ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลไปเด่นเหนือวินัย

ในบางสังคมเหตุสำคัญที่วินัยไม่สามารถเกิดขึ้นก็เพราะว่าประชาชนเอาความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลมากเกินไป มีการอุปถัมภ์กัน ช่วยเหลือกัน จนกระทั่งคนจำนวนหนึ่งที่ไม่พัฒนาตน ก็ได้แต่คอยรอพึ่งพาคนอื่น เพราะสามารถหวังความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่ ญาติมิตร เพื่อนฝูง เป็นต้น ได้เราไม่ต้องทำก็ได้ เดี๋ยวคนนั้นคนนี้ก็มาช่วยเอง เราทำผิดหน่อยไม่เป็นไร เดี๋ยวไปบอกเจ้านาย ถึงอย่างไรท่านก็เมตตา ก็เลยไม่ต้องปฏิบัติตามกฎของสังคม ในกรณีอย่างนี้ การช่วยเหลือเกื้อกูลที่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลเป็นตัวเด่นเกินไป สังคมก็เสียดุลยภาพ เพราะคนขาดอุเบกขา กฎเกณฑ์กติกาหลักการทั้งตามธรรมชาติและของสังคมคือตัวธรรมวินัยถูกละเลย

ส่วนในบางสังคม ความสัมพันธ์มีน้ำใจช่วยเหลือกันระหว่างบุคคลนี้ เขาไม่เอาใจใส่ เขาเอาแต่หลักการและตัวกฎเกณฑ์กติกา เรื่องตัวคนไม่เกี่ยว ทุกคนรับผิดชอบตัวเอง ว่าไปตามกฎ จนกระทั่งเลยเถิด ก็กลายเป็นตัวใครตัวมันอย่างที่ว่าแล้ว

ฉะนั้น การปฏิบัติในเรื่องนี้จึงยาก ธรรมยากตรงนี้แหละ คือต้องคอยระวังว่าทำอย่างไรจึงจะเกิดความพอดี นี้คือความพอดีอย่างหนึ่งที่เป็นมัชฌิมาปฏิปทา ได้แก่ดุลยภาพ ระหว่างความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ กับความสัมพันธ์กับกฎธรรมชาติ และอันนี้ก็คือหลักพรหมวิหารนั่นเอง

พรหมวิหารประกอบด้วย

๑. เมตตา ความรักความปรารถนาดีมีไมตรีกันยามปกติ

๒. กรุณา ความพลอยหวั่นใจเห็นใจอยากช่วยเหลือยามเขาตกต่ำเดือดร้อน

๓. มุทิตา ความพลอยยินดีอยากส่งเสริมสนับสนุนยามเขาขึ้นสู่ความดีงาม ความสุขความสำเร็จ

๔. อุเบกขา ความวางใจเป็นกลางไม่ก้าวก่ายแทรกแซง เมื่อเขาจะต้องรับผิดชอบ ตามธรรม ตามวินัย

สามข้อแรกวางไว้สำหรับรักษาความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในหมู่มนุษย์ ที่บอกสั้นๆ ว่า ยามเขาอยู่ดีเป็นปกติเรามีเมตตาไมตรี ยามเขาตกต่ำเรามีกรุณา ยามเขาได้ดีมีสุขเราก็มีมุทิตา นี้เป็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ซึ่งถ้าสังเกตจะเห็นว่าเป็นเรื่องที่หนักไปทางด้านความรู้สึก ไม่ต้องใช้ปัญญา

แต่พอความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์นี้ส่งผลเสียหายไปกระทบต่อตัวธรรม ตัววินัย ตัวหลักการ ตัวกฎกติกาขึ้นมา เราต้องหยุดความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล เพื่อรักษาตัวธรรมตัววินัยนั้นไว้ ตอนนี้ไม่ใช้ความรู้สึก แต่ต้องใช้ปัญญามาก เอาความรู้มาปรับหรือแม้แต่ระงับความรู้สึก ดังที่เคยยกตัวอย่างบ่อยๆ เช่นว่า เด็กคนหนึ่งไปประสบความสำเร็จในการลักขโมยเงินเขา ได้เงินมา ๓,๐๐๐ บาท ตามหลักของความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา ถ้าเราเอาแค่ ๓ ข้อ เราต้องแสดงข้อไหน เราก็ต้องแสดงมุทิตา พลอยยินดีด้วย ชื่นชมกันใหญ่ว่า หนูเก่งนะ โชคดีนะ คราวหน้าขอให้ได้มากกว่านี้ สนับสนุนเลย มุทิตาในกรณีอย่างนี้ผิดใช่ไหม

มุทิตาในกรณีข้างต้นนั้นไม่ถูกต้อง เพราะว่าความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลไปทำลายหลักธรรมและวินัยของสังคม ฉะนั้นจึงต้องหยุดความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลไว้แล้วให้ปฏิบัติตามธรรมวินัย คือดำเนินการตามหลักการ กฎเกณฑ์ กติกา ถ้าหมู่มนุษย์ปฏิบัติอยู่ในดุลยภาพอันนี้สังคมก็จะไม่เสียหลักและจะดำรงอยู่ได้ด้วยดี

เป็นอันว่า การที่จะรักษาวินัยไว้ได้ เราจะต้องให้ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลมีขอบเขต มิฉะนั้นวินัยก็จะสำเร็จยาก วินัยจึงอาศัยพรหมวิหารข้อที่ ๔ คือ อุเบกขา

อุเบกขาคือต้องวางทีเฉยดู ไม่เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซง ช่วยเหลือส่งเสริมบุคคลให้เสียกระบวนการของธรรมวินัย ให้หลักการหรือกฎเกณฑ์แห่งธรรมและวินัยได้แสดงตัวของมันออกมาด้วยปฏิบัติการแห่งปัญญาที่เรียบสงบไม่หวั่นไหวไปตามความรู้สึก อุเบกขา แปลว่า วางทีเฉยดู ไม่ใช่เฉยทิ้ง ไม่ใช่เฉยเมย ไม่ใช่เฉยเมิน แต่เฉยมอง คือคอยมองดูอยู่ ถ้าเกิดการพลาดพลั้ง เพลี่ยงพล้ำเมื่อใด ก็พร้อมที่จะเข้าไปแก้ไขทันที ถ้าถึงเวลาต้องช่วยเหลือเมื่อไรก็เข้าไปช่วยเหลือทันที แต่ที่เฉยมองก็เพราะจะเปิดโอกาสให้การปฏิบัติจัดการต่างๆ ดำเนินไปตามความรับผิดชอบของเขา ต่อตัวหลักเกณฑ์กติกาแห่งธรรมและวินัย

อุเบกขานี้เข้าใจผิดกันมากและปฏิบัติได้ยากกว่าข้ออื่นๆ สามข้อแรกหนักในด้านความรู้สึก ปฏิบัติได้โดยแทบไม่ต้องใช้ปัญญาเลย แสดงไปตามสถานการณ์ที่ปรากฏ แต่อุเบกขานี้ยาก ต้องมีปัญญา ดังคำแปลของมันที่ว่า คอยมองดูอยู่ มาจาก อุป = คอยเข้าไปใกล้ๆ และ อิกข = มอง จึงแปลว่าคอยมองดูอยู่ หรือดูอยู่ใกล้ๆ หมายความว่า เฉยมอง ไม่ใช่เฉยเมย ไม่ใช่เฉยเมิน ที่เฉยมองก็หมายความว่า ไม่ขวนขวายช่วยเหลือบุคคลนั้นให้เป็นการก้าวก่ายแทรกแซงกระบวนการของธรรมและวินัย เพราะต้องการจะให้มีการปฏิบัติไปตามธรรมและวินัย ถ้าเราเปิดโอกาสให้คนได้รับผิดชอบต่อการกระทำของเขาตามหลักข้ออุเบกขานี้ ก็จะเป็นปัจจัยที่สำคัญในการสร้างวินัย ซึ่งทำให้สังคมมีดุลยภาพ

เมื่อคนมีคุณสมบัติทั้ง ๔ ประการนี้ ท่านเรียกว่ามี พรหมวิหาร ซึ่งแปลว่าธรรมประจำใจของพระพรหม บุคคลผู้นั้นจะเป็นผู้อยู่ในฐานะเป็นพรหม

พระพุทธศาสนาถือว่า มนุษย์ทุกคนควรทำตัวให้เป็นพรหม พระพรหมนั้นตามหลักคำสอนของศาสนาพราหมณ์ถือว่าเป็นผู้สร้างโลก และบำรุงเลี้ยงรักษาโลกไว้ พูดสั้นๆ ว่าเป็นผู้สร้างสรรค์และอภิบาลโลก พระพุทธศาสนาสอนว่าอย่าไปรอพระพรหมที่เป็นเทพเจ้านั้นเลย ถ้าเรารอพระพรหมนั้นเราอาจจะมัวเพลินกับการก่อความยุ่งยากเดือดร้อนวุ่นวาย ทำลายโลก แล้วก็รอให้พระพรหมมาสร้างโลกใหม่อยู่เรื่อยไป

พระพุทธเจ้าสอนให้เราทุกคนเป็นพรหม เมื่อเราเป็นพรหมแล้วเราจะได้ช่วยกันสร้างโลกนี้ แล้วเราทุกคนก็มาช่วยกันบำรุงรักษาทำให้โลกนี้อยู่ด้วยดี เจริญมั่นคง เมื่อเรามีคุณสมบัติ ๔ ประการนี้ เราจะเป็นพรหม เพราะทุกคนจะเป็นผู้ที่สร้างสรรค์อภิบาลโลกนี้ ดำรงรักษาโลกนี้ให้อยู่ในสันติสุข

มนุษย์ที่เป็นพรหมก็คือมนุษย์ที่พัฒนาแล้ว ซึ่งมีคุณสมบัติ ๔ ประการ อันเรียกว่าพรหมวิหาร ที่จะรักษาความสัมพันธ์อันดีงามระหว่างมนุษย์ไว้ได้ โดยมีดุลยภาพพอดีกับการรักษาความสัมพันธ์กับกฎธรรมชาติ กล่าวคือ มนุษย์เองก็อยู่ร่วมกันด้วยดี และหลักความจริงแท้ที่เป็นตัวธรรมพร้อมทั้งกฎที่มนุษย์ได้จัดวางขึ้นเป็นวินัย ซึ่งเป็นระเบียบระบบในหมู่มนุษย์ ก็คงอยู่ได้ด้วย

1ปาฐกถาที่สถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร วันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๓๘ (เดิมมีชื่อเรื่องว่า ‘วินัยของคนในชาติ: ความหมายและวิธีปลูกฝัง’ ได้เปลี่ยนชื่อใหม่ให้สอดคล้องกับเนื้อหามากขึ้น)
The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.